[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะจากพระอาจารย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: Maintenence ที่ 14 พฤศจิกายน 2567 16:25:41



หัวข้อ: พระอริยสัจ ๔ โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
เริ่มหัวข้อโดย: Maintenence ที่ 14 พฤศจิกายน 2567 16:25:41
.
(http://www.sookjaipic.com/images_upload_2/18254790413710_464790389_1131972661644222_676.jpg)

พระอริยสัจ ๔
โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
วัดญาณสังวรารามวรมหาวิหาร จ.ชลบุรี


อริยสัจทั้ง ๔ ข้อนี้เกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้ ข้อที่ ๑ ต้องศึกษา การจะศึกษาก็ต้องใช้ข้อที่ ๔ คือการเจริญมรรค เช่นนั่งสมาธิ เจริญปัญญา พิจารณาความแก่ความเจ็บความตายอยู่เรื่อยๆ เป็นการเจริญมรรค เป็นการกำหนดรู้ทุกข์ กำหนดรู้ความจริงของร่างกายและจิตใจ เมื่อรู้ความจริงแล้วความหลงก็หายไป ความอยากที่เกิดจากความหลงก็หายไป เพราะเห็นแล้วว่าถ้าเป็นความอยากที่ฝืนความจริง ก็จะไม่ได้ดังใจ จะทุกข์ทรมานใจ จิตก็วางเฉยกับเรื่องของร่างกาย มีหน้าที่ดูแลก็ดูไป อาบน้ำอาบท่า รับประทานอาหาร แต่งเนื้อแต่งตัว เจ็บไข้ได้ป่วยก็หาหมอหายารักษากันไป แต่ใจจะสดชื่นเบิกบานแจ่มใสตลอดเวลา ใจไม่หลงไม่ยึดติดกับร่างกาย ไม่คิดว่าเป็นตัวเราของเรา ไม่อยากให้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยไม่ตาย เมื่อไม่มีความคิดเหล่านี้อยู่ในใจแล้ว ใจก็สบาย

นี่คือการทำหน้าที่หรือทำกิจในอริยสัจ ๔ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ทุกขสัจที่ต้องกำหนดรู้ที่ต้องศึกษา พระองค์ได้ทรงกำหนดรู้ได้ศึกษาแล้ว ได้ทำกิจข้อที่ ๑ แล้ว สมุทัยที่ต้องละก็ทรงละแล้ว นิโรธที่ต้องทำให้แจ้งก็ทรงทำให้แจ้งแล้ว มรรคที่ต้องเจริญให้สมบูรณ์ ก็เจริญอย่างสมบูรณ์แล้ว มีสติปัญญาเต็มที่ ที่สามารถนำไปละสมุทัยได้แล้ว ทุกข์ที่มีอยู่ในใจก็ดับโดยสิ้นเชิง เป็นนิโรธขึ้นมาในใจ หัวใจของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงนี้ อยู่ที่กิจในพระอริยสัจ ๔

แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงหัวใจ หรือรากของพระศาสนาได้ ก็ต้องเข้ามาทางกิ่งทางต้นก่อน หัวใจของพระพุทธศาสนาก็คือการพิจารณาอริยสัจ ๔ ให้เกิดสติปัญญา ถ้ายังไม่มีสมาธิก็ต้องเจริญสมาธิก่อน ถึงจะเข้าสู่สติปัญญาขั้นนี้ได้ ถ้าไม่มีสมาธิก็ต้องรักษาศีลไปก่อน ถ้าไม่มีศีลก็ต้องให้ทานไปก่อน เพราะจะสนับสนุนกันเป็นเหมือนขั้นบันได ทานจะสนับสนุนให้การรักษาศีลเป็นไปได้ง่ายดาย ศีลจะทำให้การทำสมาธิเป็นไปได้ง่ายดาย สมาธิจะทำให้การเจริญสติปัญญาเป็นไปได้ง่ายดาย สติปัญญาก็จะทำให้จิตหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างง่ายดาย เป็นขั้นต่อเนื่องกัน

เรื่องพระอริยสัจ ๔ เป็นขั้นสุดท้าย ขั้นสติปัญญา ถ้าสามารถเจริญสติปัญญาได้ในขณะที่ฟัง ก็สามารถตัดตัณหาที่มีอยู่ในใจได้เลย อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระอริยสัจ ๔ ครั้งแรกให้แก่พระปัญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณฑัญญะก็ปรากฏมีดวงตาเห็นธรรมขึ้นมา สิ่งใดมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา ร่างกายนี้มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมมีการดับไปเป็นธรรมดา พอจิตเข้าใจหลักนี้แล้ว ก็จะตัดความกลัวตายได้ รู้อยู่ในใจว่าไม่กลัวตายแล้ว ร่างกายของใครจะตาย จะไม่รู้สึกอะไร ร่างกายของคนที่เรารักเคารพบูชาเช่นของครูบาอาจารย์ ก็รู้ว่าเป็นเพียงส่วนประกอบของท่านเท่านั้น ไม่ใช่ตัวท่าน ตัวท่านคือใจของท่าน ไม่ได้ตายไปกับร่างกาย รู้ว่าร่างกายของท่านและของเรา ไม่อยู่เหนือกฎของอนิจจัง

อนิจจังก็คือการเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ใจที่จะรับความจริงนี้ได้ต้องเป็นใจที่มีสมาธิ ตั้งอยู่ในอุเบกขาธรรมแล้ว พอได้ยินได้ฟังแล้วก็ไม่เกิดความสะทกสะท้านต่อความตายแต่อย่างใด จะรู้สึกเฉยๆ เป็นกับตายเท่ากัน เพราะใจปล่อยวางร่างกายได้ ใจไม่ได้เป็นร่างกาย รู้ว่าร่างกายมาจากธาตุ ๔ ดินน้ำลมไฟ นี่คืออานิสงส์ของการได้เข้าหาพระพุทธศาสนา ได้ตรงนี้ ได้ที่ใจ ไม่ได้ลาภยศสรรเสริญสุข พวกเราไม่ต้องการลาภยศสรรเสริญสุข เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ได้อะไรมาเดี๋ยวก็ต้องจากไปหมด แต่สิ่งที่เราต้องการคือการหลุดพ้นจากความทุกข์นี้ จะไม่หมดไปจากใจ เมื่อหลุดแล้วหลุดเลย ไม่กลับไปหาความทุกข์อีก ไม่เหมือนการเจ็บไข้ได้ป่วยทางร่างกาย ที่รักษาหายแล้ว ก็ยังกลับไปเจ็บไข้ได้ป่วยได้อีก วันนี้หายจากโรคนี้ พรุ่งนี้ก็มีโรคใหม่ให้รักษาอีก แต่ถ้าใจหายจากทุกข์ด้วยปัญญา ด้วยการเห็นสัจธรรมความจริง เห็นอริยสัจ ๔ เห็นไตรลักษณ์แล้ว จะไม่กลับไปทุกข์กับอะไรอีกต่อไป เพราะความทุกข์ของใจเกิดจากความหลง ไม่เห็นอริยสัจ ๔ ไม่เห็นไตรลักษณ์นั่นเอง เหมือนกับคนที่ถูกเอาผ้าปิดตาแล้วปล่อยให้เดินไป ก็จะเดินไปชนนั่นชนนี่ เหยียบนั่นเหยียบนี่ พอเอาผ้าที่ปิดตาออกแล้ว ก็จะไม่ไปชนไม่ไปเหยียบอะไรอีกแล้ว เพราะเห็นสิ่งที่อยู่ข้างหน้าอยู่ข้างหลังอยู่รอบตัวแล้ว ดวงตาเห็นธรรมก็เป็นแบบนี้ เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนิจจังทุกขังอนัตตา เมื่อเห็นแล้วก็จะไม่เข้าใกล้

สิ่งที่เป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา จะไม่ยินดี ลาภยศสรรเสริญสุขเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา จะไม่ยินดี พระขีณาสพผู้หลุดพ้นจากความทุกข์แล้ว จะไม่กลับไปหาลาภยศสรรเสริญสุขอีกเลย .