หัวข้อ: นักธุรกิจไฮโซติดดินเมินวัตถุนิยม ยึดวิถีพอเพียงเป็นคำตอบสุดท้ายของชีวิต เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 05 มกราคม 2555 21:12:35 (http://www.thairath.co.th/media/content/2012/01/02/227546/hr1667/600.jpg)ศุภลักษณ์ ตัณฑาภิชาติ
แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานแนวพระราช ดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไว้กว่า 3 ทศวรรษมาแล้ว แต่แก่นความคิดของหลักปรัชญาพอเพียงก็ไม่เคยล้าสมัย ยังเป็นคำตอบสุดท้ายให้กับการแก้ปัญหาในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะในยุคที่สังคมไทยกำลังมัวเมากับลัทธิบริโภคนิยม จนหลงลืมความสุขแบบพออยู่พอกินตามวิถีไทยดั้งเดิม ซึ่งเป็นรากเหง้าของคนไทยมาแต่โบร่ำโบราณ ทุกวันนี้ขณะที่หนุ่มสาวชนบทจำนวนมากทิ้งถิ่นท้องไร่ท้องนามุ่งหน้าสู่เมืองกรุงเพื่อหางานทำ กลับมีนักธุรกิจชาวกรุงแท้ๆจำนวนไม่น้อยที่สวนกระแสสังคมออกสู่ชนบท หันไปจับจอบจับเสียมขุดดินและทำนาปลูกข้าว เพื่อเติมเต็มความฝันที่อยากเป็นเกษตรกร...ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและเพียงพอในช่วงบั้นปลายชีวิต (http://www.thairath.co.th/media/content/2012/01/02/227546/1667/o2/420.jpg) ตัวอย่างของผู้ที่น้อมนำหลักปรัชญาพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดำเนินชีวิตอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ต้องยกให้พีอาร์รุ่นเก๋า ศุภลักษณ์ ตัณฑาภิชาติ ประธานบริษัทคิธแอนด์คิน คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ที่ยืนกรานว่า เรื่องปลูกผักปลูกข้าวนั้นทำมาหลายปีแล้ว เพราะมีที่ดินอยู่ที่ภูพิมาน เขาใหญ่ และเป็นคนที่มองว่าเรื่องแบบนี้น่าจะทำเองได้ แม้จะมีที่ดินผืนน้อยๆ ก็สามารถปลูกต้นกล้วย ปลูกผัก และปลูกข้าวบนผืนดินที่เหลือ 20 ตร.ว.ไว้ทานเองได้ “เราทำเองดีอย่าง สามารถควบคุมเรื่องคุณภาพได้ รวมทั้งความสะอาด ไม่มีสารเคมี และเป็นความภูมิใจและสุขใจเมื่อยามที่ได้เห็นผลผลิตออกมาแต่ละครั้ง” จากจุดเริ่มต้นเล็กๆที่สร้างความสุขให้กับผู้ทำ ยามนี้การปลูกผักปลูกข้าวของ “คุณศุภลักษณ์” ดูจะเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เพราะได้พื้นที่แห่งใหม่แถวเขาใหญ่กว่า 7 ไร่ “พอได้ที่ใหม่เลยขยายเรื่องการปลูกผัก ปลูกข้าวให้มากขึ้น เป็นการปลูกข้าวไร่ที่ได้มีการพัฒนาพันธุ์แล้วว่าเหมาะกับพื้นที่ที่เป็นเขา ใช้น้ำน้อย ทนต่อสภาพความแล้งและแสงแดดได้ดีกว่าข้าวที่ปลูกกันทั่วไป เป็นข้าวที่นิยมนำมาทำเป็นข้าวกล้อง ซึ่งตรงกับคอนเซปต์ของตัวเองอยู่แล้วว่า ข้าวกล้องให้คุณค่าทางสารอาหารสูง ที่สำคัญคืออยากให้คนรอบข้างเห็นว่า คนปลูกข้าวไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ชาวนา ใครก็ปลูกกินเองได้ ควรเอาพื้นที่ว่างมาปลูกอะไรก็ได้ให้เกิดประโยชน์ ดีกว่าปล่อยที่ดินให้ว่างไว้โดยไม่ทำอะไร” เจ๊ใหญ่แห่งวงการพีอาร์บอกถึงการมาจับเคียวเกี่ยวข้าวแทน (http://www.thairath.co.th/media/content/2012/01/02/227546/1072/o3/420.jpg)พรตพิมล ศุขะวณิช แต่ไม่ใช่อยู่ๆนึกจะปลูกข้าวแล้วเอาพันธุ์ข้าวอะไรมาปลูกก็ได้ ที่ทำอยู่ทุกวันนี้คุณศุภลักษณ์บอกว่า มีการศึกษาจากตำรามาเป็นอย่างดี และยังได้ปรึกษาผู้รู้ของกรมการข้าวด้วยว่า ต้องใช้ข้าวพันธุ์ไหนที่จะปลูกในสภาพที่ดินแบบนี้ ซึ่งตอนนี้นาข้าวของพีอาร์รุ่นเก๋าสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว เหลือแค่หาที่สีข้าวแบบมือ และมองหาซื้อเครื่องสีเล็กๆมาทำเองต่อไป แรงบันดาลใจที่ทำให้ผันตัวเองมาทำไร่ทำนา คุณศุภลักษณ์บอกว่า ความจริงแล้วคือ “ความสุข” ที่ได้ทำ ได้อยู่กับธรรมชาติ เป็นความสุขที่หาได้โดยไม่ต้องถามเรื่องการลงทุนว่าคุ้มค่ามั้ย! แค่ได้เห็นการเจริญเติบโตของต้นไม้และนาข้าวที่ทำเองกับมือ ก็ถือเป็นความสุขที่สุดแล้ว ที่สำคัญคืออยากให้คนที่ผ่านไปผ่านมาเห็นแล้วนำไปใช้ประโยชน์บ้าง โดยเกิดไอเดียที่จะปลูกผัก หรือปลูกข้าวไว้กินเอง เป็นการพึ่งตนเองโดยไม่ทำลายผืนดิน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพราะทุกวันนี้มันก็แย่อยู่แล้ว หากเราช่วยกันคนละนิด บ้านโน้นนิด บ้านนี้หน่อย ทุกๆบ้านทำเหมือนกัน เราก็จะได้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีกลับคืนมา (http://www.thairath.co.th/media/content/2012/01/02/227546/1504/o4/420.jpg)รุจิตร สุธนะเสรีพร อีกหนึ่งรุ่นเดอะที่หันมาใส่ใจในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถึงกับหันมาลงมือปลูกข้าวและพืชผักสวนครัวทานเอง ก็คือ อดีตนักออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พรตพิมล ศุขะวณิช ที่มีโอกาสได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านมาเกือบทั่วเมืองไทยในช่วงเวลา 7 ปีของการทำงาน ก่อนจะหันไปทำธุรกิจของตัวเอง ด้วยการสร้างอพาร์ตเมนต์ให้เช่า เมื่อธุรกิจประสบความสำเร็จ เขาจึงวางแผนชีวิตไว้ว่า จะทำงานแค่เดือนละ 10 วัน ที่เหลืออีก 20 วันขอท่องเที่ยวเก็บเกี่ยวความสุขให้ชีวิต แต่เผอิญระหว่างเที่ยวก็เกิดความคิดขึ้นมาได้ว่า ควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพด้วย เพราะเริ่มเห็นคนรอบข้างจากไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ โดยเริ่มจากการอ่านตำรับตำราอาหารเพื่อสุขภาพ และไปพักผ่อนอยู่กับธรรมชาติที่บ้านต่างจังหวัดใน อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จนเป็นจุดเริ่มต้นของการทำการเกษตร “ส่วนใหญ่ผมจะใช้ชีวิตอยู่กับชุมชนใน อ.แม่แตง ก็อยากให้ชุมชนและหมู่บ้านปลอดจากการเผาใบไม้ แต่อยู่ๆไปบอกเขาเขาคงไม่ทำหรอก ก็เริ่มจากตัวเองก่อน ด้วยการเอาใบไม้ที่ร่วงในบ้านมาเข้าเครื่องป่นและหมักทำเป็นปุ๋ยกลับคืนสู่ผืนดิน ทำให้ต้นไม้งอกงาม แล้วก็เอาความคิดนี้ไปคุยกับเจ้าอาวาสในชุมชน ท่านก็ช่วยต่อยอดแนวคิดนี้ให้เรา บอกชาวบ้านอย่าเผาใบไม้ แต่ให้นำมาให้ที่วัดเพื่อทำเป็นปุ๋ย ทางวัดก็นำมาหมักเป็นปุ๋ยขายในราคาถูก พอเราทำอะไรเพื่อชุมชน เขาก็เกิดความเชื่อมั่นในตัวเรา ว่าไม่ได้ทำเพราะหวังชื่อเสียงหรือเงินทอง และยิ่งได้ทำอะไรกับชุมชนมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้เราอยากเห็นเขามีวิถีชีวิตและสุขภาพที่มั่นคง อยากเห็นเขาหันมาทำการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ต้องใช้สารเคมี จะได้เป็นการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมในดิน เพราะสารเคมีไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเลย ถ้าเกษตรกรไม่ใช้สารเคมี สิ่งแวดล้อมจะได้กลับสู่ธรรมชาติและอยู่กับเราไปนานๆ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ทำนาอยู่แล้ว แต่อยากให้เขาหันมาทำนาปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี และปลูกเป็นข้าวกล้อง เพื่อวิถีชีวิตและสุขภาพที่มั่นคง ผมจึงทดลองปลูกข้าวกล้องบนพื้นที่ของผมเอง 2 ไร่ เพื่อให้ชาวบ้านได้เห็นว่า การทำนาแบบผมไม่ต้องใช้ของแพง แต่ได้ผลผลิตที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ปลูกแล้วก็เก็บเกี่ยวไว้ทานเอง ถ้าชาวบ้านจะหันมาทำการเกษตรแบบเกษตรอินทรีย์ ผมก็ยินดีที่จะเข้าไปช่วยต่อยอด” หนุ่มใหญ่เล่าถึงที่มาของการทำนาปลูกข้าว (http://www.thairath.co.th/media/content/2012/01/02/227546/0836/o5/420.jpg)วิลิต เตชะไพบูลย์ แนวคิดการใช้ชีวิตให้กลับมาสู่ธรรมชาติแบบนี้ คุณพรตพิมลบอกว่า ไม่เคยคิดมาก่อนหรอก เพิ่งจะมาคิดได้เมื่ออายุมากขึ้น จึงอยากขอใช้ช่วงหนึ่งของชีวิตตอบแทนคุณแผ่นดิน โดยเริ่มจากจุดเล็กๆที่ตัวเอง และขยายสู่ชุมชน ดีกว่าคิดแล้วไม่ทำอะไรเลย แม้จะเป็นการทำที่ต้องล้มลุกคลุกคลาน แต่ก็มีความสุข ในเมื่อเป็นสิ่งที่ทำแล้วไม่เดือดร้อนใคร ก็ทำไปเถอะ และพร้อมที่จะต่อยอดช่วยเหลือชาวบ้านต่อไปเรื่อยๆ สำหรับนักธุรกิจหญิงเก่งแห่งวงการเครื่องสำอาง เจ้าแม่ซิสเล่ย์เมืองไทย รุจิตร สุธนะเสรีพร ซึ่งแบ่งภาคชีวิตไปสัมผัสวิถีพอเพียงด้วยการทำนาปลูกข้าวกินเองมานานนับสิบปี เล่าว่า จุดเริ่มต้นมาจากชาวบ้านเขาอยากขายที่ดินซึ่งเป็นที่นา จึงซื้อเอาไว้ ส่วนหนึ่งให้ชาวบ้านที่ขายนั่นแหละเช่า อีกส่วนทำไว้กินเอง ซึ่งค่าเช่านาไม่ได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะแลกกันกับให้ชาวบ้านมาดูแลที่นาและสวนของตนมากกว่า วันว่างตนจึงเข้ามาชื่นชมผลผลิต แม้ไม่ได้ลงมือทำเอง แต่ก็มีความภาคภูมิใจแบบสุดๆๆ “กินข้าวมื้อแรกที่เป็นของเราเองมีความสุขมาก ปกติเป็นคนกลัวแป้งนะ พอกินของเราเองเสียดายกินจนเกลี้ยง ขนาดไม่ได้ลงมือปลูกเอง แต่มันเป็นความภูมิใจ แล้วเราก็เชื่อได้ว่าข้าวเราสะอาดปลอดภัย ผลไม้ของเราก็เช่นกัน ทุกวันนี้ไม่เคยซื้อข้าวคนอื่นกิน กินของตัวเอง พอเหลือก็แจกเพื่อนฝูง คนที่เรารัก คงไม่ได้ขยายเป็นการค้าเพราะยังไม่มีเวลา การเป็นชาวนาต้องมีความสามารถและอดทน แค่เราได้มาสัมผัสวิถีชีวิตแบบนี้เราก็มีความสุขแล้ว เพราะเวลาเราคาดหวังกับคน ทำให้เรามีความทุกข์ ถ้าเราอยู่กับธรรมชาติ ไม่ต้องคาดหวัง มีความสุขจะตาย และเวลาชาวบ้านเขามีอะไร เขาก็มาบอกบุญ เป็นสังคมแบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นความสุขที่หาไม่ได้อีกแบบหนึ่ง ซึ่งทุกวันนี้ชีวิตคนเรา ถ้าอยู่อย่างพื้นบ้านที่สุด สุขภาพแข็งแรง ไม่เครียด อยู่ตามสภาพ นี่แหละที่เรียกว่า พอเพียงของตัวเอง” คุณรุจิตรพูดอย่างภูมิใจ ส่วนหนุ่มพอเพียงของแท้ที่สร้างความฮือฮาเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว วิลิต เตชะไพบูลย์ ทายาทตระกูลดังที่หันหลังให้ธุรกิจพันล้าน ไปเป็น “ชาวนา” อย่างเต็มตัว ในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งในช่วงนั้นใครอาจจะคิดว่าเขาบ้า! เขาเพี้ยน! วันนี้เขาได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสุขใจอย่างพอเพียงที่เขาต้องการแล้ว “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็จะตัดสินใจเช่นนี้ เพราะผมรู้ความต้องการของตัวเองว่า เราสนใจในเรื่องชนบท พอเข้ามาทำงานธุรกิจ ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องใช้ชีวิตแบบแข่งขัน ที่ไม่มีช่องว่างของการเป็นมนุษย์ เราน่าจะมีทางรอดทางอื่นโดยที่ไม่ต้องเครียดขนาดนั้น เลยพยายามศึกษา เตรียมตัวมาเรื่อยๆ จนเริ่มต้นปี 2543 ผมทิ้งทุกอย่างไปใช้ชีวิตที่อยากเป็น เป็นชีวิตของคนธรรมดาอย่างมีความสุข พอใจในตัวเอง และอิ่มอกอิ่มใจกับผลผลิตที่เราได้เห็น” ในช่วงแรกเขาเล่าว่า ได้รับเสียงค้านจากคนรอบข้าง ทั้งครอบครัวและพี่น้อง แต่ก็ดึงดัน ในขณะที่ชาวบ้านในชุมชนเขาก็ว่าเราจะไปรอดไหม ทำเล่นๆหรือเปล่า แต่เราไม่สนใจ เริ่มต้นลงมือทำ ไม่รู้สึกว่ายาก เพราะเตรียมตัวไว้แล้ว เพียงเปลี่ยนความคุ้นเคย เพราะบ้านไม่มีไฟฟ้า น้ำประปา อาบน้ำกันจากบ่อ แล้วจุดตะเกียงกัน เดินเท้าเปล่าตามท้องทุ่ง พอไปสักระยะ ทักษะเริ่มมี เลยชิน โดยทำนาหว่าน ปลูกผักกินเอง จนวันนี้ผลิตผลงอกเงย จากที่นา 8 ไร่ ที่สวนอีก 8 ไร่ สามารถนำไปจำหน่าย สร้างรายได้ให้ครอบครัวอย่างเป็นสุข ในชื่อของ “บริษัท นาลิต จำกัด” พร้อมกันนี้ยังได้ขยายงานสร้างกลุ่มฟื้นฟูเกษตรเมืองเพชร มีเครือข่ายทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคกลาง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน “ผมว่าคงมีคนคิดเหมือนกันแบบผมเยอะ แต่อาจจะยังไม่ลงมือทำ ผมเพียงเริ่มก่อนเขาเท่านั้นเอง” ถ้าชีวิตรู้จักคำว่า “พอประมาณ” ใจรู้จักคำว่า “พอ และเผื่อแผ่” เราก็จะได้สัมผัสความสุขอย่างแท้จริงเช่นเขาและเธอเหล่านั้น. ทีมข่าวหน้าสตรี โดย: ทีมข่าวหน้าสตรี 3 มกราคม 2555, 05:45 น. |