หัวข้อ: วัดหนองป่าพง หลวงพ่อชา สุภทฺโท ๒๐ ปี แห่งการละสังขาร เริ่มหัวข้อโดย: -NWO- ที่ 27 มกราคม 2555 15:42:01 วัดป่าหลวงพ่อชา สุภทฺโท ๒๐ ปี แห่งการละสังขารกับพลังศรัทธาที่เพิ่มพูน
(http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2012/01/26/bfh65bhj5aafae6ae9j56.jpg) พระโพธิญาณเถร หรือหลวงพ่อชา สุภทฺโท อดีตเจ้าอาวาสผู้ก่อตั้งวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ละสังขารไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๕ เป็นการจากเพียงร่างที่เสื่อมสิ้นตามกาลเวลาเท่านั้น ส่วนคำสอนและข้อวัตรปฏิบัติของท่านมิได้สูญหายไปด้วย ยังคงเป็นร่มเงาแห่งโพธิญาณ ที่แผ่ปกคลุมให้ความร่มเย็นแก่สานุศิษย์และบุคคลทั่วไปจวบจนทุกวันนี้ วัดหนองป่าพง ปัจจุบันมีพระราชภาวนาวิกรม หรือหลวงพ่อเลี่ยม ฐิธมฺโม เป็นเจ้าอาวาส โดยทุกๆ ปีได้กำหนดให้มีการปฏิบัติธรรม ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ มกราคม โดยมีพระภิกษุสงฆ์ สามเณรจากวัดสาขาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มาร่วมปฏิบัติธรรมกันจำนวนมาก ถึงแม้จะละสังขารไปนาน ๒๐ ปีแล้ว ศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนจากทั่วประเทศที่มีความเลื่อมใสศรัทธา ยังเดินทางมาร่วมชุมนุมกันจำนวนมากนับหมื่นนับแสนคน เพื่อมาปฏิบัติธรรมตามข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่ชา มีการนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม ทำวัตรเช้า เย็น ฟังพระธรรมเทศนา และกิจกรรมการกุศล เช่น ตั้งโรงทาน กิจกรรมเผยแผ่ธรรมมะ ให้สาธุชนได้รับความสะดวก และมีความสงบสุขทั้งกาย และใจ บรรยากาศทั่วไป ได้มีพระธุดงค์กรรมฐาน สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และหลวงปู่ชา สุภัทโท เดินทางมาปักกลดปฏิบัติธรรม ตลอดจนมีนิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้พร้อมใจกัน นุ่งขาว ห่มข่าว มาจับจองสถานที่ปฏิบัติธรรม กันตลอดทั้งวัน จนทำให้บริเวณวัดหนองป่าพง แน่นขนัดไปด้วย พุทธศาสนิกชน ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาหลวงปู่ชา ในปีที่หลวงพ่อชามรณภาพ (พ.ศ.๒๕๓๕) วัดหนองป่าพงมีวัดสาขาในประเทศไทย ๘๒ แห่งและในต่างประเทศ ๘ แห่ง นอกจากนั้นยังมีอีก ๕๑ สำนักสงฆ์เป็นสาขาสำรอง ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาตามระเบียบการรับสาขาจากคณะสงฆ์วัดหนองป่าพง แต่เป็นสำนักสงฆ์ที่ลูกศิษย์ของหลวงพ่อปกครองอยู่ ปัจจุบันมีสาขาของวัดหนองป่าพงโดยในปัจจุบันวัดหนองป่าพงมีวัดสาขาจำนวน ๑๙๗ สาขา สำนักสาขาสำรอง ๔๕ สาขา และสาขาสำรวจ ๒๓ สาขา และสำนักสาขาต่างประเทศอีก ๑๕ สาขา รวมทั้งสิ้น ๒๗๙ แห่ง สาขาส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉพาะในจังหวัดอุบลราชธานีมี ๖๑ แห่ง นอกนั้นกระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย เอกลักษณ์ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของวัดสาขาของวัดหนองป่าพง มีอยู่ ๒ อย่าง คือ ๑.วัตรปฏิบัติ ความเคร่งในศีล และตั้งมั่นในธรรม และ ๒.สภาพความร่มรื่นของวัดที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ สมกับชื่อ “วัดป่า” โดยมีวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี เป็นแม่แบบ โดยหลวงพ่อชาได้ให้หลักการไว้ให้มุ่ง "สร้างวัดภายใน" เสียก่อน คือ สร้างกายวาจาใจ ที่มีวัตรปฏิบัติดี ท่านเคยกล่าวด้วยว่า "ให้พระสร้างคน แล้วคนจะสร้างวัด" สำนักวัดหนองป่าพงและสาขาน้อยใหญ่ อันเป็นวัดซึ่งมุ่งประโยชน์ด้านปฏิบัติ เพื่อนำผู้คนไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง ลูกศิษย์ลูกหาทั้งที่เป็นพระและฆราวาส ล้วนเป็นผู้ทรงธรรมวินัย และคนที่ท่านได้สร้างมานั้น ก็ได้ขยายบุญเขตกว้างขวางออกไปเรื่อยๆ โดยมีภาพลักษณ์ของหลวงพ่อเป็นตัวอย่าง เหตุผลในการขยายสาขามีหลายประการ เป็นต้นว่า เพื่ออนุเคราะห์ญาติโยม ผู้ต้องการสร้างวัดป่าใกล้บ้านของตนเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ การส่งพระออกไปตามคำนิมนต์ของชาวบ้านอย่างนี้ถือเป็นการตอบสนองความต้องการของสังคม และเป็นการเผยแผ่ธรรมะไปสู่ชนบทที่ได้ผลอย่างถาวร สำหรับพระเถระที่รับผิดชอบเป็นเจ้าสำนักในแต่ละวัด ท่านก็ได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ศึกษามา สร้างประโยชน์แก่พระศาสนามากขึ้น การที่หลวงพ่อคอยส่งคนเก่าออกจากวัดหนองป่าพงไปเรื่อยๆ ก็ทำให้มีที่ว่างสำหรับคนใหม่อยู่เสมอ การหมุนเวียนพระภิกษุสามเณรจึงเป็นเหตุให้คณะสงฆ์ได้เพิ่มขึ้นอย่างราบรื่น วัดสาขาและวัดป่านานาชาติ การก่อตัวของวัดสาขาเริ่มครั้งแรกใน พ.ศ.๒๕๐๑ หลังจากหลวงพ่อได้รับนิมนต์จากชาวบ้านเก่าน้อย ต.ธาตุ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเคยมาจำศีลที่วัดหนองป่าพงเป็นประจำ ให้ไปจำพรรษาที่ป่าละเมาะใกล้บ้านเก่าน้อย หลวงพ่อพอใจกับศรัทธาอันแรงกล้าของชาวบ้านมาก และเมื่อออกพรรษากลับไปวัดหนองป่าพง ท่านได้จัดส่งศิษย์อาวุโสในขณะนั้นคือ พระอาเที่ยง ให้ไปอยู่แทน พระอาจารย์เที่ยง จึงกลายเป็นเจ้าอาวาสของวัดใหม่ชื่อวัดป่าอรัญญวาสี และได้อยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้ วัดป่าอรัญญวาสีนี้นับว่าเป็นสาขาที่ ๑ ของวัดหนองป่าพง ต่อมาสาขาอื่นๆ ได้เกิดขึ้นตามลำดับ ส่วนมากมีลักษณะการเกิดคล้ายกับสาขาที่ ๑ แต่ในบางกรณีลูกศิษย์หลวงพ่อออกธุดงค์พบที่สัปปายะ และตัดสินใจปักหลักอยู่ที่นั่นจนกลายเป็นสำนักสงฆ์ หรือไม่อย่างนั้นชาวบ้านที่เลื่อมใสในปฏิปทาของพระสายวัดหนองป่าพงแล้ว ขอให้หลวงพ่อส่งลูกศิษย์ไปอยู่เป็นประจำ บางครั้งญาติโยมขอให้พระผู้เป็นญาติกลับไปโปรดที่บ้านเกิดของท่านเอง จุดกำเนิดของวัดป่านานาชาตินั้น ต้องย้อนไปเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๐ ปัจจุบันนี้ วัดป่านานาชาติ ได้มีพระภิกษุสามเณรชาวต่างชาติมาจำพรรษาจำนวนมาก เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย และปฏิบัติทางวิปัสสนากรรมฐาน พระภิกษุในวัดเกือบทุกรูป จะสามารถพูดภาษาไทย สวดภาษาบาลีได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทำให้เป็นที่เคารพศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม วัดใดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นวัดสาขาของวัดหนองป่าพง ใช่ว่าจะเป็นสาขาได้ตลอดไป หากทำผิดระเบียบ ไม่ยอมรับมติของคณะสงฆ์ ของวัดหนองป่าพง และสาขา รวมทั้งกฎของมหาเถรสมาคมก็มีสิทธิถูกตัดออกจากเป็นวัดสาขา เช่น กรณีวัดนาป่าพง ต.ลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี โดยมีพระอธิการคึกฤทธิ์ โสตถิผโล เป็นเจ้าอาวาส เพราะได้กระทำสังฆกรรมทางพระวินัย โดยสวดพระปาฏิโมกข์เพียง ๑๕๐ ข้อ และวัดโพธิญาณ เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีพระวิสุทธิสังวรเถร (พรหมวํโส) เป็นประธานสงฆ์ พ้นสภาพจากการเป็นสำนักสาขาของวัดหนองป่าพง เพราะบวชภิกษุณี ข่าวจาก คม ชัด ลึก |