หัวข้อ: ลิงหลอกเจ้า : ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ( โดย เชอเกรียม ตรุงปะ ) เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 มิถุนายน 2553 19:50:44 (http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20091217220120_b.jpg)
ลิงหลอกเจ้า วัตถุนิยมทางศาสนา เรามาที่นี้กันเพื่อร่ำเรียนทางศาสนธรรม ๑. ข้าพเจ้ายอมรับในความจริงใจของการแสวงหาเช่นนี้ แต่ข้าพเจ้ามีความกังขาในตัวธรรมชาติของการแสวงหา ปัญหานั้นก็คือว่าอัตตามักจะบิดเอาสิ่งต่าง ๆ มาใช้ แม้แต่ศาสนธรรมก็เถอะ อัตตาพยายามจะรับเอาและปรับคำสอนทางศาสนธรรมให้เป็นประโยชน์แก่ตัวมันอยู่เสมอ คำสอนจะถูกปฏิบัติประหนึ่งว่าเป็นสิ่งภายนอก ภายนอก “ตัวฉัน” เป็นปรัชญาที่เราพยายามจะเลียนแบบ ๒. ปกติเรามักไม่น้อมตนเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับหลักธรรมคำสอน เราไม่ยอมตัวเป็นหลักธรรมคำสอน ดังนั้นหากครูบาอาจารย์ของเราพูดถึงการสลัดอัตตา เราก็พยายามจะเลียนแบบการสลัดอัตตา เราศึกษารายละเอียดของการปฏิบัติ วางท่าให้เหมาะสม แต่เราไม่ต้องการจะสละส่วนใดส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของเราอย่างจริงจังเลย เรากลายเป็นนักแสดงที่ชำนาญ และขณะที่ทำหูหนวกเป็นใบ้กับความหมายที่แท้จริงของคำสอน เราก็หาที่พักพิงอย่างสบายในการแสร้งเดินตามหนทางนั้น เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกว่าการกระทำของเรากับคำสอนไม่ลงรอยกันหรือขัดแย้งกัน เราจะตีความสถานการณ์ไปในทางที่จะกลบเกลื่อนความขัดแย้ง ผู้ตีความก็คืออัตตา ที่เล่นบทที่ปรึกษาทางศาสนธรรม สถานการณ์จะเหมือนกับประเทศที่ศาสนจักรและรัฐแยกจากกัน หากนโยบายของรัฐต่างไปจากคำสอนของศาสนจักร ปฏิกิริยาที่เป็นไปเองก็คือกษัตริย์จะเข้าพบพระสังฆราช ผู้เป็นที่ปรึกษาของพระองค์และขอพร พระสังฆราชจะหาเหตุผลความชอบธรรมให้และถวายพระพรแด่พระราชา โดยแสร้งทำประหนึ่งว่าพระราชาทรงเป็นผู้ปกปักรักษาศรัทธาในพระศาสนาไว้ จิตใจของแต่ละปัจเจกบุคคลก็เป็นไปเช่นนั้น อัตตาจะเป็นทั้งกษัตริย์และพระสังฆราช ถ้าประสงค์ศาสนธรรมอันแท้จริง เราจะต้องเลิกหาเหตุผลให้แก่มรรควิถีทางศาสนธรรมกับการกระทำของเรา อย่างไรก็ตาม การจัดการกับการหาเหตุผลดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทุกสิ่งทุกอย่างถูกมองผ่านม่านกรองที่ปรัชญาและหลักเหตุผลของอัตตาสร้างขึ้น โดยทำให้ทุกอย่างดูประณีตแน่วแน่และสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เราพยายามหาคำตอบที่สร้างความชอบธรรมแก่ตัวเราเองในทุกปัญหา เราจะพยายามทำทุกแง่มุมของชีวิตของเราที่อาจสับสนได้ให้เข้ากับกรอบความนึกคิดของเรา เพื่อที่จะยืนยันความแน่นอนแก่ตัวเราเอง ความพยายามของเราดูจริงจังและขมึงทึง มุ่งมั่นและจริงใจ จนยากที่จะสงสัยมันได้เราไว้ใจใน “ความซื่อตรง” ของทีปรึกษาทางศาสนธรรมของเราเสมอ ไม่ว่าเราจะใช้อะไรเป็นเครื่องสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นปัญญาญาณในคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ แผนผังหรือแผนภูมิต่าง ๆ การคำนวณทางคณิตศาสตร์ สูตรสำเร็จของหมู่คณะนิกาย ศาสนาที่ยึดถือความเชื่อของตนเอย่างเอาเป็นเอาตาย จิตวิทยาอันลุ่มลึก หรือกลไกอื่นใดก็ตาม เมื่อใดที่เราเริ่มประเมิน ชั่งใจว่าเราควรหรือไม่ควรทำสิ่งนี้หรือสิ่งนั้น เมื่อนั้นเราได้เอาความรู้และการปฏิบัติของเราเข้าไปพัวพันกับการแบ่งแยกจัดประเภท ที่ข้างหนึ่งตีกับอีกข้างหนึ่ง และนั่นก็คือวัตถุนิยมทางศาสนธรรม เป็นมิจฉาทิฐิของที่ปรึกษาทางศาสนธรรมของเรา เมื่อใดก็ตามที่เราตั้งข้อสังเกตแยกแยะสิ่งต่าง ๆ เป็นสองฝ่าย เช่นว่า “ฉันกำลังทำอย่างนี้ เพราะฉันอยากจะบรรลุสภาพจิตสำนึกแบบนั้น ๆ สภาวะการเป็นอยู่เช่นนั้น” เราจะแยกตัวเราเองโดยอัตโนมัติจากสิ่งที่เราเป็นอยู่ในความเป็นจริง ถ้าเราถามตัวเราเองว่า “มันผิดตรงไหนที่จะประเมิน ที่จะเข้าข้างใดข้างหนึ่ง” คำตอบก็คือเมื่อเราตัดสินใจเช่นนั้นแล้ว ขั้นต่อไปเราก็จะพูดกับตัวเองว่า “ฉันควรจะทำอย่างนี้และไม่ควรทำอย่างนั้น” ก็หมายความว่าเรากำลังห่างจากสิ่งที่เราเป็นอยู่จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียบง่ายยิ่ง สิ่งที่เรียบง่ายนั้นหมายถึงการรับรู้อัตตาตามสภาพธรรมชาติที่ยังไม่ตกแต่งเสแสร้ง ถ้ามีอะไรมากกว่านี้ในจิตใจของเรา ก็หมายถึงว่าเราได้สวมชุดเกราะเหล็กที่หนาและหนักมากให้กับอัตตาของเรา เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมองให้เห็นว่า ประเด็นหลักของการปฏิบัติทางศาสนธรรมใด ๆ ก็คือการก้าวออกจากระบบข้าราชการ (Bureaucracy) ของอัตตา นี้หมายถึงการก้าวออกจากความต้องการอยู่ร่ำไปของอัตตา ที่อยากได้ความรู้ ศาสนากุศลธรรม การตัดสินใจ ความสบายที่สูงส่งยิ่งขึ้น ที่เป็นศาสนธรรมยิ่งขึ้น ที่พ้นจากโลกียะมากขึ้น หรืออะไรก็ตามที่อัตตาในแต่ละขณะกำลังแสวงหาอยู่ เราจะต้องก้าวออกจากวัตถุนิยมทางศาสนธรรม ถ้าเราไม่ก้าวออกจากวัตถุนิยมทางศาสนธรรม และยังปฏิบัติมันอยู่ เราจะพบว่าตัวเราเองเป็นเจ้าเข้าเจ้าของมรรควิถีทางศาสนธรรมมากมายมหาศาลอยู่ตลอดไป เราอาจจะรู้สึกว่าการสั่งสมทางศาสนธรรมนี้เป็นสิ่งมีค่า เราได้ศึกษามามากมาย เราอาจจะได้ศึกษาปรัชญาตะวันตกหรือปรัชญาตะวันออก ทำโยคะหรือบางทีได้ศึกษากับครูผู้ยิ่งใหญ่นับเป็นโหล ๆ เราได้บรรลุและได้ร่ำเรียน เราเชื่อว่าเราได้สะสมความรู้กองพะเนิน แม้กระนั้นก็ดี แม้เราจะได้ศึกษาส่งเหล่านี้ทั้งหมดแล้ว ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่จะต้องละทิ้ง มันเป็นเรื่องแปลกยิ่ง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เป็นไปไม่ได้ดอกกระมัง แต่โชคร้ายที่มันเป็นเช่นนั้น การสะสมความรู้และประสบการณ์มากมายก่ายกองของเรา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอัตตา เป็นส่วนหนึ่งของลักษณะอันครอบคลุมของอัตตา เราแสดงสิ่งเหล่านั้นต่อโลก และด้วยการกระทำเช่นนั้น เท่ากับเป็นการยืนยันต่อตัวเราเองว่าเราดำรงอยู่อย่างมั่นคงและปลอดภัย ในฐานะบุคคลที่ใฝ่หาศาสนธรรม แต่เราก็เพียงได้สร้างร้านขึ้นร้านหนึ่ง เป็นร้านโบราณวัตถุ เราอาจจะเชี่ยวชาญในโบราณวัตถุฝ่ายตะวันออก หรือโบราณวัตถุของคริสเตียนสมัยกลาง หรือโบราณวัตถุจากอารยธรรมยุคต้น ๆ แม้กระนั้นการกระทำของเราก็เป็นได้เพียงการดำเนินกิจการร้านค้าเท่านั้น และก่อนที่เราจะหาอะไรมาไว้ในร้านจนมากมายก่ายกอง ห้องของเรายังสวยงามอยู่ มีกำแพงที่ขาวเกลี้ยงเกลากับพื้นห้องเรียบ ๆ มีตะเกียงลุกไหม้สว่างไสวอยู่ดวงหนึ่งบนเพดาน มีศิลปวัตถุชิ้นหนึ่งอยู่กลางห้องและเป็นสิ่งงดงาม ใคร ๆ ที่มาต่างชมว่ามันสวย ทั้งตัวเราเองก็เห็นเช่นนั้น แต่เรากลับไม่พอใจและคิดไปว่า “เจ้าวัตถุชิ้นนี้ทำให้ห้องของฉันงดงาม แต่ถ้าฉันได้โบราณวัตถุมาอีก ห้องของฉันจะงามกว่านี้” ดังนั้นเราจึงเริ่มสะสมและลงเอยด้วยความรกรุงรัง เราสำรวจไปทั้งโลกเพื่อหาวัตถุอันงดงาม อินเดีย ญี่ปุ่นนานาประเทศ และทุกครั้งเราได้พบโบราณวัตถุเพราะเหตุว่าเรากำลังยุ่งอยู่กับวัตถุชิ้นหนึ่งในขณะหนึ่ง เราจะเห็นว่ามันสวยงามและคิดว่ามันจะงดงามในร้านของเรา แต่เมื่อเรานำวัตถุชิ้นนั้นกลับบ้าน วางมันไว้ที่นั่น มันกลับกลายเป็นการเพิ่มกองขยะความงามของวัตถุมิได้ฉายแสงออกมาอีก เพราะมันถูกห้อมล้อมด้วยของสวยงามนานาชนิด มันไม่มีความหมายอะไรอีก แทนที่ห้องจะเป็นห้องที่เต็มไปด้วยวัตถุอันสวยงาม เรากลับได้ร้านสะสมเศษขยะ ! การเดินหาซื้อของอย่างเหมาะสม ไม่ได้หมายถึงการสะสมข้อมูลหรือความสวยงามเป็นสำคัญ แต่หมายถึงการชมชอบของแต่ละชิ้นได้อย่างเต็มที่ นี่สำคัญมาก ถ้าคุณชมชอบของสวยงามชิ้นหนึ่งได้จริง ๆ คุณจะเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับมันอย่างสมบูรณ์และหลงลืมตัวคุณเอง มันเหมือนกับการดูภาพยนตร์ที่น่าสนใจชวนติดตาม จนลืมไปว่าคุณกำลังเป็นผู้ดูอยู่ชั่วขณะนั้นไม่มีโลกอยู่ ภาวะของคุณทั้งหมดคือภาพยนตร์ฉากนั้น มันเป็นการแสดงตนเข้าเกี่ยวข้องกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเต็มพร้อม ปกติเราได้ลิ้มรสมัน เคี้ยวมัน กลืนมันอย่างเหมาะควรหรือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นวัตถุแห่งความงามนั้น คำสอนทางศาสนธรรมนั้น หรือเราเพียงแต่ถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการสะสมอันมหาศาลและกำลังพอกพูนของเรา ข้าพเจ้าเน้นประเด็นนี้มากเพราะรู้ว่าพวกเราทุกคนมาศึกษาและปฏิบัติสมาธิภาวนา มิใช่เพื่อการทำเงินมาก ๆ แต่เพราะเราต้องการจะเรียนรู้อย่างแท้จริง ต้องการพัฒนาตัวเราเอง แต่หากเราถือเอาความรู้เป็นประหนึ่งโบราณวัตถุ เป็นเสมือน “ปัญญาญาณโบราณกาล” ที่มีไว้สะสม เราจะเดินไปผิดทาง ถ้ามองในแง่การสืบทอดนิกายสายต่าง ๆ ความรู้มิได้รับการส่งทอดต่อ ๆ กันมาแบบวัตถุโบราณ หากเป็นไปในรูปที่ครูผู้หนึ่งประสบกับความจริงของคำสอน แล้วส่งทอดเป็นแรงบันดาลใจแก่ศิษย์ของเรา แรงบันดาลใจนั้นจะปลุกศิษย์ให้ตื่นขึ้น ดุจเดียวกับที่ครูของเขาได้ตื่นขึ้นแล้วก่อนหน้าเขา ครั้นแล้วศิษย์ก็จะส่งทอดคำสอนต่อไปยังศิษย์คนอื่น ๆ เป็นกระบวนการไปเช่นนี้ คำสอนนั้นทันสมัยอยู่ตลอดเวลา มันไม่ใช่ “ปัญญาญาณโบราณกาล” ไม่ใช่ตำนานเก่าแก่ คำสอนไม่ใช่ข้อมูลที่สิบทอดกันมา ไม่เหมือนกับนิทานพื้นบ้านที่ปู่เล่าให้หลาน ๆ ฟังสืบต่อกันมา มันไม่ได้เป็นมาอย่างนั้น แต่มันเป็นตัวประสบการณ์อันแท้จริง มีคำกล่าวอยู่ในคัมภีร์ของธิเบตว่า “ความรู้จะต้องถูกนำมาเผา ทุบ และตีดั่งทองบริสุทธิ์ เราจึงจะเอามันมาสวมเป็นเครื่องประดับได้” ดังนั้น เมื่อคุณได้รับคำสอนทางศาสนธรรมจากผู้อื่น คุณจะต้องไม่รับมาอย่างเซื่อง ๆ แต่จะต้องเผามันทุบมันด้วยค้อน ตีมันจนกระทั่งสีสันอันสว่างไสวเรืองรองของทองคำปรากฏขึ้น แล้วคุณก็จะประดิษฐ์ประดอยมันเป็นเครื่องประดับ ตามแบบที่คุณชอบและสวมใส่มัน เพราะฉะนั้นธรรมะ จึงประยุกต์ใช้ได้กับทุกวัย ทุกคน เป็นสิ่งที่มีชีวิตเพียงแต่เลียนแบบครูบาอาจารย์ของคุณเท่านั้นยังไม่พอ มันไม่ใช่การพยายามถอดแบบครูของคุณออกมา คำสอนนั้นเป็นประสบการณ์ที่รู้ได้เฉพาะบุคคล ตรงสู่ผู้รับทอดคำสอนนั้น ๆ ในปัจจุบัน บางทีผู้อ่านอาจจะคุ้นเคยกับเรื่องราวของนโรปะ ติโลปะ มารปะ มิลาเรปะ และกัมโปปะ ตลอดจนครูคนอื่น ๆ ของนิกายคากิว (Kagyu) มาบ้างแล้ว มันเป็นประสบการณ์อันมีชีวิตสำหรับพวกเขา และเป็นประสบการณ์อันมีชีวิตของผู้ถือนิกายคนปัจจุบัน มีเพียงรายละเอียดของเหตุการณ์ในชีวิตของพวกเขาเท่านั้นที่แตกต่างกัน คำสอนนั้นมีลักษณะอุ่นและสดแบบขนมปังอบ ขนมปังที่ยังอุ่น ร้อน และใหม่สด ผู้อบจะต้องรู้จักประยุกต์ความรู้และวิธีการทำขนมปังให้เข้ากับแป้งสาลีและเตาอบของเขา และตัวเขาเองจะต้องประสบกับความสดของขนมปัง และจะต้องหั่นมันสด ๆ และกินมันอุ่น ๆ เขาจะต้องทำให้คำสอนเป็นของเขา และปฏิบัติเอง มันเป็นกระบวนการที่มีชีวิต ไม่มีการหลอกลวงกันในรูปการสะสมความรู้ เราจะต้องทำไปด้วยประสบการณ์ของปัจเจกบุคคล เมื่อเราสับสนเราไม่สามารถหันกลับไปหากองความรู้ที่เราสะสมไว้และหาข้อยืนยันหรือคำปลอบโยนได้ ในทำนองที่ว่า “ครูและคำสอนทั้งหมดอยู่ฝ่ายเดียวกับฉัน” มรรควิถีทางศาสนธรรมไม่ได้เป็นไปเช่นนั้น มันเป็นหนทางอันเปล่าเปลี่ยวของปัจเจกบุคคล หัวข้อ: Re: ลิงหลอกเจ้า : ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ( โดย เชอเกรียม ตรุงปะ ) เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 มิถุนายน 2553 19:51:20 (http://su-usedbook.tarad.com/shop/s/su-usedbook/img-lib/spd_20091217230349_b.jpg)
ถาม : ท่านคิดว่าวัตถุนิยมทางศาสนธรรมเป็นปัญหาเฉพาะของอเมริกันหรือเปล่า ตอบ : เมื่อใดก็ตามที่คำสอนมาจากนอกบ้านนอกเมือง ปัญหาวัตถุนิยมทางศาสนธรรมจเข้มข้นยิ่งขึ้น ขณะนี้ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อเมริกาเป็นผืนดินอันอุดมที่พร้อมสำหรับคำสอน และเพราะว่าอเมริกานี้อุดมสมบูรณ์ กำลังแสวงหาศาสนธรรม จึงเป็นไปได้ที่อเมริกาจะบันดาลให้เกิดปราชญ์จอมปลอมขึ้น ปราชญ์จอมปลอมนี้จะมีไม่ได้ถ้าไม่มีใครสนับสนุนให้เขาทำเช่นนั้น มิฉะนั้นพวกเขาจะกลายเป็นโจรปล้นธนาคารหรือมหาโจร เพราะพวกเขาต้องการร่ำรวยและมีชื่อเสียง ด้วยเหตุที่อเมริการ่ำร้องหาศาสนธรรมกันมาก ศาสนาจึงกลายเป็นวิธีรวยลัดและเด่นดังได้ง่าย ดังนั้นเราจึงเห็นปราชญ์จอมปลอม ในรูปนักศึกษา เชละ (Chela) ตลอดจนครูบาอาจารย์ถื่นถม ข้าพเจ้าคิดว่าอเมริกาในขณะนี้เป็นดินแดนที่น่าสนใจไม่น้อย ถาม : ท่านเคยยอมรับครูบาอาจารย์ของศาสนธรรมท่านใดเป็นครูหรือเปล่า หมายถึงครูบาอาจารย์ทางศาสนธรรมที่ยังมีชีวิตอยู่ ตอบ : เวลานี้ไม่มี ข้าพเจ้าทิ้งคุรุและครูอาจารย์ของข้าพเจ้าไว้ในธิเบตแต่ในทางกายนะ ส่วนคำสอนนั้นยังอยู่กับข้าพเจ้าและยังดำเนินต่อไป ถาม : แล้วตอนนี้ท่านดำเนินตามใครล่ะ ตอบ : สถานการณ์เป็นเสียงของคุรุของข้าพเจ้า เป็นการดำรงอยู่ในปัจจุบันของคุรุของข้าพเจ้า ถาม : หลังจากที่พระพุทธศากยมุนีได้ตรัสรู้แล้ว ยังมีร่องรอยของอัตตาหลงเหลือในพระองค์เพื่อจะได้ใช้ในการสั่งสอนหรือเปล่า ตอบ : การสั่งสอนนั้นเพียงแต่ปรากฏขึ้น ท่านไม่ได้อยากที่จะสอนหรือไม่อยากสอน พระองค์ประทับนั่งอยู่ใต้ร่มไม้และเสด็จไปตามริมฝั่งน้ำ ครั้นแล้วพระองค์ทรงพบบุคคลผู้หนึ่ง พระองค์ทรงเริ่มแสดงธรรม ไม่มีทางอื่น คุณอยู่ที่นั่น เป็นบุคคลที่เปิดอยู่ (open person) ครั้นแล้วสถานการณ์ก็เปิดเผยตัวมันเอง และการสั่งสอนก็เริ่มขึ้น นั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่า “พุทธจริยา” (Buddha Activity) ถาม : มันเป็นเรื่องยากที่จะไม่ให้เกิดความอยากได้อยากมีศาสนธรรม ความอยากได้นี้เป็นสิ่งที่จะก่อร่างขึ้นในการดำเนินไปตามมรรคหรือเปล่า ตอบ : คุณจะต้องปล่อยให้แรงกระตุ้นในครั้งแรกดับลง แรงกระตุ้นครั้งแรกของคุณที่มีต่อศาสนธรรมอาจจะผลักคุณเข้าสู่ภาวะทางศาสนธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หากคุณกระทำการด้วยแรงกระตุ้นนั้น แรงกระตุ้นจะค่อย ๆ ดับลงและถึงขั้นหนึ่ง จะเริ่มน่าเบื่อและตายตัว นี้เป็นข่าวสารที่เป็นประโยชน์ เห็นไหมว่า คุณจำเป็นจะต้องสัมพันธ์กับตัวคุณเอง กับประสบการณ์ของคุณ อย่างจริงจัง ถ้าเราไม่สัมพันธ์กับตัวเราเอง มรรควิถีทางศาสนธรรมจะเป็นหนทางที่อันตราย จะกลายเป็นความบันเทิงภายนอกล้วน ๆ มากกว่าที่จะเป็นประสบการณ์ส่วนตนที่งอกงามขึ้นเอง ถาม : ถ้าเราตัดสินใจแสวงหาทางออกจากความไม่รู้ เราอาจจะสมมติไปเลยได้ว่า อะไรก็ตามที่เราทำแล้วรู้สึกดีงาม จะไปเป็นประโยชน์กับอัตตาและมักจะขวางกั้นมรรคาไว้ อะไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าถูกต้องจะเป็นเรื่องที่ผิด และอะไรก็ตามที่ทำแล้วไม่รู้สึกกลับหัวกลับหางจะเผาผลาญเรา มีหนทางออกจากอาการที่ว่านี้หรือไม่ ตอบ : หากคุณกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนถูกต้อง ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นผิด เพราะว่าทั้งผิดและถูกนั้นต่างเป็นเรื่องนอกประเด็นทั้งคู่ คุณไม่ได้กำลังกระทำการอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าฝ่าย “ดี” หรือฝ่าย “ชั่ว” แต่คุณกำลังกระทำการร่วมกับผลรวมทั้งหมด ไปพ้นจาก “นี่” และ “นั่น” ผมอาจพูดได้ว่ามีเพียงการกระทำที่สมบูรณ์ ไม่มีการกระทำเพียงบางส่วน แต่อะไรก็ตามที่เราทำแล้วเกี่ยวโยงกับดีหรือชั่ว จะดูเหมือนว่าเป็นเพียงการกระทำบางส่วน ถาม : ถ้าเรากำลังสับสนมากและพยายามหาทางออก มันอาจจะดูคล้ายกับว่าเรากำลังพยายามหนักเกินไป แต่หากเราไม่พยายามเสียเลย เราจะมองสิ่งนั้นว่าเป็นการหลอกลวงตัวเองอยู่หรือเปล่า ตอบ : ใช่ และนั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องอยู่อย่างพยายามจนหนักเกินไป หรือไม่พยายามเอาเสียเลย เราจะต้องกระทำการชนิดที่เป็น “สายกลาง” อันเป็นสภาวะอย่างสมบูรณ์ของ “การเป็นอย่างที่คุณเป็น” เราอาจจะอธิบายสิ่งนี้ได้มากมาย แต่เราจะต้องกระทำมันอย่างจริงจัง ถาคุณเริ่มใช้ชีวิตโดยทางสายกลาง คุณจะเห็นมันเอง คุณจะพบมันเอง คุณจะต้องยอมให้ตัวคุณไว้ใจตัวคุณเอง ไว้ใจปัญญาของคุณเอง เราเป็นบุคคลที่มหัศจรรย์ เรามีหลายสิ่งหลายอย่างที่วิเศษมหัศจรรย์อยู่ในตัวเรา เราเพียงแต่ปล่อยให้ตัวเราเป็นสิ่งช่วยเหลือภายนอกช่วยอะไรไม่ได้ หากคุณไม่เต็มใจปล่อยให้ตัวคุณเองเติบโต คุณจะตกสู่กระบวนการทำลายตัวเองด้วยความสับสน มันเป็นการทำลายตัวเองมากกว่าการทำลายโดยใครคนใดคนหนึ่ง นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมการทำลายนั้นจึงมีประสิทธิภาพยิ่ง เพราะมันเป็นการทำลาย ถาม : อะไรคือศรัทธา มีประโยชน์หรือเปล่า ตอบ : ศรัทธาอาจจะเป็นไปโดยจิตใจที่เรียบง่าย เป็นการไว้ใจ เป็นความงมงาย (Blind Faith) หรืออาจเป็นความมั่นใจอย่างเฉียบขาดที่ไม่มีอะไรมาทำลายได้ความงมงายนั้นขาดแรงบันดาลใจ เป็นอาการเซื่อง ๆ ไม่สร้างสรรค์ แม้จะไม่เป็นไปในทางทำลายเสมอไป มันไม่สร้างสรรค์เพราะศรัทธากับตัวคุณเองไม่มีความเกี่ยวดองกัน ไม่มีการสื่อสารกัน คุณเพียงแต่ยอมรับความเชื่อทั้งหมดอย่างบอด ๆ อย่างเซื่อง ๆ ส่วนศรัทธาที่เป็นความมั่นใจ จะมีเหตุผลที่มีชีวิตชีวาที่ทำให้มั่นใจ คุณจะไม่คาดหวังว่าจะมีสูตรสำเร็จที่ส่งมาให้คุณอย่างแปลกพิสดาร แต่คุณจะกระทำการกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่อย่างปราศจากความกลัว ปราศจากความลังเลสงสัยในการเกี่ยวพันกับตัวคุณเอง วิธีนี้เป็นวิธีที่สร้างสรรค์และเป็นไปโดยนัยบวกอย่างยิ่ง หากคุณมีความมั่นใจอย่างเฉียบคม คุณจะแน่ใจในตัวเองยิ่ง จนคุณไม่ต้องตรวจสอบตัวเอง มันเป็นความมั่นใจอย่างถึงที่สุด (absolute) เป็นความเข้าใจถ่องแท้ถึงสิ่งที่กำลังเป็นไปในปัจจุบัน ฉะนั้นคุณจึงไม่ต้องลังเลที่จะหันไปทางอื่น หรือไม่ลังเลกับวิธีอื่น ๆ อีกเมื่อจัดการกับสิ่งต่าง ๆ ตามที่จำเป็นต่อสถานการณ์ใหม่ ๆ ในแต่ละสถานการณ์ ถาม : อะไรจะนำเราไปในมรรควิถี ตอบ : โดยปกติ ไม่มีอะไรเป็นเครื่องนำทางที่ตายตัว อันที่จริงถ้ามีใครกำลังนำคุณอยู่ นั่นกลับเป็นเรื่องน่าสงสัยเพราะคุณกำลังพึ่งพิงอยู่กับสิ่งภายนอก การเป็นในสิ่งที่คุณเป็นอย่างแท้จริงในตัวของคุณเองจะกลายเป็นเครื่องนำทางเอง แต่ไม่ใช่ในความหมายของผู้พิทักษ์อุดมการณ์ เพราะคุณไม่มีเครื่องชี้นำที่จะต้องตาม คุณไม่ต้องตามก้นใคร แต่แล่นเรือไปเรื่อย ๆ พูดอีกนัยหนึ่ง เครื่องนำทางมิได้เดินไปข้างหน้าคุณ แต่เดินไปกับคุณ ถาม : ท่านจะพูดอะไรบ้างได้ไหม เกี่ยวกับหนทางที่การทำสมาธิภาวนาสามารถลัดวงจรปราการของอัตตาได้ ตอบ : กลไกป้องกันของอัตตาก่อให้เกิดการตรวจสอบตัวเอง ซึ่งเป็นการสังเกตตัวเองแบบที่ไม่จำเป็น การทำสมาธิภาวนาไม่ได้มีรากฐานอยู่บนการใจจดใจจ่ออยู่กับบางสิ่งบางอย่างเฉพาะเจาะจง ดังเช่นการตรวจสอบตัวเองแต่การทำสมาธภาวนาเป็นการน้อมตนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับมรรควิถีอันใดก็ตามที่คุณกำลังใช้อยู่ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีความพยายามที่จะต้องปกป้องตัวเองในการปฏิบัติสมาธิภาวนา ถาม : ผมดูเหมือนจะอยู่ในกองขยะทางศาสนธรรม ผมจะทำให้มันเป็นห้องเรียบ ๆ ง่าย ๆ ที่มีวัตถุอันสวยงามอยู่ชิ้นหนึ่งได้อย่างไร ตอบ : การที่คุณจะพัฒนาให้ชื่นชมในสิ่งที่คุณสะสมได้ คุณจะต้องเริ่มต้นจากชิ้นใดชิ้นหนึ่ง เราจะต้องหาบันไดก้าวแรกอันเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจ บางทีคุณอาจจะไม่ต้องไปยุ่งกับชิ้นที่เหลืออยู่ในกองของคุณเลย ถ้าคุณศึกษาวัตถุสักชิ้นหนึ่ง วัตถุชิ้นเดียวกันนั้นอาจจะเป็นป้ายบอกชื่อถนนที่คุณไปเอามาดื้อ ๆ มันอาจเป็นสิ่งที่ไม่มีความสลักสำคัญถึงขั้นนั้นได้ แต่เราจะต้องเริ่มจากสิ่งใดสิ่งหนึ่ง มองให้เห็นความธรรมดาสามัญลักษระหยาบกร้านของวัตถุนี้จากกองขยะหรือวัตถุโบราณชิ้นนี้ ถ้าเราสามารถเริ่มด้วยเพียงสิ่งหนึ่ง นั่นก็เท่ากับกับมีวัตถุชิ้นหนึ่งในห้องว่าง ผมคิดว่าปัญหามันอยู่ที่การหาบันไดก้าวแรก เรามีข้าวของสะสมไว้มากมายก่ายกอง เพราะเหตุนี้ปัญหาส่วนใหญ่ของเราจึงอยู่ที่เราไม่รู้จะเริ่มที่ไหนดี เราจะต้องปล่อยให้สัญชาตญาณของเราตัดสินเอาว่า ชิ้นไหนเป็นชิ้นแรกที่เราจะหยิบขึ้นมา ถาม : ทำไมท่านจึงคิดว่าคนเรามักปกป้องอัตตาของตัวเองกันนัก ทำไมจึงเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะปล่อยวงอัตตาของเรา ตอบ : คนเรากลัวความว่างเปล่าของความว่าง หรือความพลัดพรากจากพวกพ้องบริษัทบริวาร ความพลัดพรากจากเขา การที่จะไม่มีใครสัมพันธ์ด้วยไม่มีอะไรเกี่ยวดองด้วย เป็นประสบการณ์ที่น่าหวาดหวั่นมาก เพียงคิดดังนี้ก็สามารถสร้างความตื่นตระหนกให้ได้อย่างสุดขีด แม้จะไม่ใช่ตัวประสบการณ์ที่แท้จริงก็ตาม มันเป็นเพียงการกลัวความว่าง กลัวว่าเราจะไม่สามารถทอดสมอตัวเราเองลงบนพื้นดิน ว่าเราจะสูญเสียความเป็นตัวตนที่เที่ยงแท้แน่นอนและแน่นหนา นี่สามารถเป็นเรื่องที่คุกคามขู่เข็ญขนาดหนักเอาการทีเดียวการยอมจำนน ถึงตรงนี้ เราอาจจะมาถึงข้อสรุปที่ว่า เราจะต้องทิ้งการเล่นเกมวัตถุนิยมทางศาสนธรรมกันเสียที นั่นก็คือเราควรจะเลิกพยายามปกป้องหรือปรับปรุงตัวเราเอง เราคงจะพอเห็นได้ราง ๆ แล้ว ว่าการต่อสู้ดิ้นรนของเรานั้นเป็นเรื่องไร้สาระ และเราอาจจะปรารถนาที่จะยอมจำนน อันเป็นการละทิ้งความพยายามที่จะปกป้องตัวเราเองอย่างสิ้นเชิง อันเป็นการละทิ้งความพยายามที่จะปกป้องตัวเราเองอย่างสิ้นเชิง แต่พวกเราสักกี่คนจะทำเช่นนี้ได้จริง ๆ จัง ๆ มันไม่ได้เรียบและง่ายอย่างที่เราคิด เราปล่อยวางและเปิดเผยเราเองได้จริง ๆ จัง ๆ สักแค่ไหน ถึงจุดไหนที่เราจะหันมาปกป้องตัวเราเอง ในบทนี้ เราจะพูดถึงการยอมจำนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างการทำความเข้าใจสภาพพิกลพิการทางจิต กับการปฏิบัติธรรมร่วมกับคุรุหรือครูบาอาจารย์ของเรา การยอมจำนนต่อ “คุรุ” อาจจะหมายถึงการเผยจิตใจของเราต่อสถานการณ์ชีวิต หรือต่อครูบาอาจารย์คนใดคนหนึ่งก็ได้ อย่างไรก็ดี หากแบบแผนการดำรงชีวิตและแรงบันดาลใจของเรากำลังมุ่งไปสู่การคลี่คลายแห่งจิตใจ เราก็จะได้พบคุรุส่วนตัวของเราอย่างแน่นอนเช่นกัน ดังนั้น ที่เราจะสนทนาต่อไปนี้เราจะเน้นไปที่การสัมพันธ์กับครูบาอาจารย์ของเรา ความยุ่งยากประการหนึ่งในการยอมวางคลายต่อคุรุก็คือบัญญัติล่วงหน้าที่เราวางไว้เกี่ยวกับตัวเขา และความคาดหวังของเราว่าอะไรจะเกิดขึ้นในการปฏิบัติธรรมร่วมกับเขา ความคิดที่ว่าเราอยากจะประสบเช่นนั้นเช่นนี้กับครูบาอาจารย์ของเรา จะเข้าครอบงำเรา “ฉันอยากจะเข้าใจไอ้นี่” นั่นย่อมเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะเข้าใจมัน ฉันอยากจะประสบกับสภาวะเช่นนี้ เพราะมันตรงกับที่ฉันหวังและดึงดูดใจฉันได้” ดังนั้นเราจึงพยายามจัดสิ่งต่าง ๆ ให้เข้าร่องเข้ารอย พยายามจัดสภาพให้เข้ากับความคาดหวังของเรา และเราไม่อาจจะยอมวางความคาดการณ์ของเราสักน้อยหนึ่งกับสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดได้ ถ้าเราแสวงหาคุรุหรือครูบาอาจารย์สักคนหนึ่ง เราก็คาดว่าเขาจะเป็นประหนึ่งเทวดา ท่าทางสงบ เงียบขรึม เป็นคนเรียบง่ายแต่ฉลาดหลักแหลม ครั้นเมื่อเราพบว่าเขาไม่เข้ากับความคาดหวังของเรา เราจะเริ่มไม่พอใจ เราจะเริ่มสงสัย ในอันที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์อย่างแท้จริง จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องละทิ้งบัญญัติที่เราวางไว้ล่วงหน้าเกี่ยวกับความสัมพันธ์นั้น ตลอดจนเงื่อนไขต่าง ๆ ของการเปิดเผยและยอมจำนน “การยอมจำนน” หมายถึงการเปิดเผยตัวเราเองอย่างสิ้นเชิง พยายามไปให้พ้นจากแรงดึงดูดใจและความคาดหวัง การยอมจำนนยังหมายถึงการยอมรับสภาพอันหยาบกร้านเหลวไหลและน่าสะดุ้งของอัตตาของเรา ทั้งยอมรับและทั้งยอมคลายออก โดยปกติเราจะเห็นเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับสภาพอันหยาบกร้านของอัตตา แม้ว่าเราอาจจะเกลียดตัวเราเอง ขณะเดียวกันเราจะพบว่าการเกลียดตัวเองของเรานั้นก็เป็นการยึดครองอย่างหนึ่ง แม้เราไม่ชอบตัวเราเอง และการประณามตัวเองก็ทำให้เราเจ็บปวด แต่เราก็ยังไม่สามารถสลัดมันทิ้งไปโดยสิ้นเชิงอีกด้วย หากเราละทิ้งการวิพากษ์วิจารณ์ตนเอง เราจะรู้สึกว่าเรากำลังสูญเสียการยึดครองของเราไป คล้ายกับว่ามีใครกำลังมาแย่งงานของเราไป เราไม่มีอะไรยึดครองอีกต่อไป หากเราต้องคลายทุกสิ่งทุกอย่าง จะไม่มีอะไรให้เรายึดไว้ได้อีก โดยพื้นฐานแล้วการประเมินตนเองและการวิพากษ์วิจารณ์ตนเองเป็นแนวโน้มของสภาพพิกลพิการที่มาจากการที่เราไม่มีความมั่นใจอย่างเพียงพอในตัวเราเอง “ความมั่นใจ” ในที่นี้หมายถึงความเข้าใจในสิ่งที่เราเป็น รู้ในสิ่งที่เราเป็น รู้ว่าเราพร้อมที่จะเปิดเผยตัวเราเองได้ เราพร้อมที่จะคลายคุณลักษณ์อันหยาบกร้านพิกลพิการของอัตตาของเรา และก้าวออกจากความดึงดูดใจทั้งหลาย ก้าวออกจากความคิดคาดการณ์ล่วงหน้าทั้งหลาย เราจะต้องยอมปล่อยวางความหวังและความคาดคิดของเรา ตลอดจนความกลัว แล้วก้าวอาด ๆ ตรงสู่ความขัดข้องใจกระทำการร่วมกับมัน ตรงดิ่งเข้าไปและทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของเรา ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ยากยิ่งที่จะกระทำ ความขัดข้องใจเป็นสัญลักษณ์ที่ดีของปัญญาในขั้นต้น จะเปรียบกับอะไรก็คงจะไม่ได้ มันเป็นปัญญาที่แหลมคม เฉียบขาด ชัดแจ้งและตรงแน่ว หากเราสามารถเปิดเผยตัวเราเองได้ เราจะเห็นได้ทันทีว่าความคาดหวังของเรานั้นเป็นเรื่องไร้สาระ เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพความเป็นจริงที่เรากำลังเผชิญอยู่ สิ่งนี้จะก่อให้เกิดความรู้สึกขัดข้องใจโดยอัตโนมัติ ความขัดข้องใจเป็นรถข้าศึกที่ดีที่สุดที่จะใช้บนเส้นทางแห่งธรรมะ ความขัดแย้งใจจะไม่ยืนยันความมีอยู่และความฝันของอัตตาของเรา อย่างไรก็ตามถ้าเรายังง่วนอยู่กับวัตถุนิยมทางศาสนธรรม ถ้าเรายังเห็นศาสนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการสะสมความรู้และคุณธรรมของเรา ถ้าศาสนธรรมเป็นหนทางหนึ่งของการสร้างตัวเราเองขึ้นมา แน่ล่ะกระบวนการทั้งหมดของการยอมจำนนจะบิดเบี้ยวไป หากเราเห็นศาสนธรรมเป็นหนทางสร้างความสะดวกสบายให้เรา เมื่อเราประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจ น่าขัดข้องใจ เราจะพยายามหาเหตุผลให้มัน “แน่ละ นี่จะต้องเป็นการกระทำด้วยปัญญาญาณของท่านอาจารย์ เพราะฉันรู้ว่าท่านอาจารย์ไม่ทำสิ่งเลวร้ายเป็นแน่ ท่านอาจารย์เป็นการดำรงลงไปนั้นก็เพื่อฉัน เพราะท่านอยู่ฝ่ายเดียวกับฉัน ดังนั้นฉันจึงพร้อมที่จะเปิดเผย ฉันจะยอมจำนนได้อย่างปลอดภัย ฉันรู้ว่าฉันกำลังมุ่งหน้าไปตามมรรคาอันถูกต้อง” ทัศนะดังกล่าวดูจะมีบางสิ่งบางอย่างไม่ถูกต้องนัก อย่างดีที่สุดมันก็ดูง่ายและเซื่อง แท้ที่จริงเรากำลังถูกตรึงอยู่กับแง่มุมที่น่าเกรงขาม อันเป็นแหล่งบันดาลใจ ทรงภูมิและเต็มไปด้วยสีสันของ “ท่านอาจารย์” เราไม่กล้ามองในแง่มุมอื่น เราสร้างความฝังใจว่าอะไรก็ตามที่เราประสบ ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการทางศาสนธรรมของเรา “ฉันทำได้แล้ว ฉันประสบมันแล้ว ฉันเป็นบุคคลที่ก่อร่างสร้างตัวเองขึ้นมา ฉันรู้ทุกอย่าง อย่างน้อยก็เพราะฉันได้อ่านหนังสือมากมายก่ายกอง และทั้งหมดต่างยืนยันความเชื่อของฉัน ความถูกต้องของฉัน ความคิดของฉัน ทุกสิ่งทุกอย่างสมพงษ์กันไปหมด” อีกทางหนึ่งที่เราไม่ยอมจำนน ก็เพราะเรารู้สึกว่าเรานี้เป็นผู้ดีมีตระกูล หัวสูง และเป็นคนมีเกียรติ “แน่นอน เราไม่อาจจะมอบตัวเราเองให้แก่ความจริงอันแสนจะสามัญและสกปรกนี้ได้” เรารู้สึกว่าทุกย่างก้าวของมรรคาที่เราก้าวไปจะต้องเป็นกลีบบัว ฉะนั้นเราจึงสร้างระบบเหตุผลที่ตีความทุกสิ่งทุกอย่างเข้าข้างตัวเราเอง หากเราล้มลง เราก็สร้างที่ทางที่จะล้มไว้เสียอ่อนนุ่มซึ่งจะกันไม่ให้ขวัญเสีย การยอมจำนนไม่ได้รวมถึงการเตรียมที่ล้มอันอ่อนนุ่ม หากหมายเพียงการล้มสู่ผืนดินที่แข็งลงสู่ท้องทุ่งที่รกเป็นพงและตะปุ่มตะป่ำ เมื่อเราเปิดเผยตัวเราเองได้แล้ว เราก็จะล้มลงสู่สิ่งที่เป็นอยู่ แต่เดิมนั้น การยอมจำนนจะมีสัญลักษณ์ด้วยการก้มลงกราบ ซึ่งเป็นกาการตกลงสู่ผืนดินในท่วงทีที่ยอมจำนน ขณะเดียวกันเราจะเผยจิตใจของเราและยอมจำนนโดยสิ้นเชิง ด้วยการแสดงตนเข้ากับส่วนที่ต่ำที่สุดของที่ต่ำ ตระหนักในลักษณะอันหยาบและกร้านของเรา เมื่อเราได้แสดงตนเข้ากับส่วนที่ต่ำที่สุดของที่ต่ำแล้ว เราจะไม่มีอะไรต้องสูญเสียอีก เราตระเตรียมตัวเราให้เป็นภาชนะอันว่างเปล่า พร้อมที่จะรับคำสั่งสอน ในทางพุทธ มีคำกล่าวเบื้องต้นว่า “ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง”* ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง นี้เป็นตัวอย่างแห่งการยอมจำนน เป็นตัวอย่างของการยอมรับการแข็งขืนของเรา ว่าเป็นเพียงสิ่งหนึ่งที่เราขนแต่งขึ้นและเปิดเผยมันออก ข้าพเจ้าขอถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง-ธรรมะ “กฎแห่งความเป็นไป” ชีวิตตามที่เป็นจริง ฉันเต็มใจที่จะเปิดดวงตาของฉันแก่สภาพของชีวิตตามที่มันเป็น ฉันจะไม่มองมันสูงส่งเป็นศาสนธรรมหรือลี้ลับ แต่ฉันพร้อมที่จะเข้าใจสภาพการณ์ของชีวิตอย่างที่มันเป็นจริง ข้าพเจ้าขอถึงพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง “สงฆ์” หมายถึง “หมู่แห่งบุคคลผู้ดำเนินตามมรรควิถีทางศาสนธรรม” “หมู่มิตร” ฉันเต็มใจที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในสภาพแวดล้อมของชีวิตทั้งหมดกับเพื่อนร่วมจาริกของฉัน หัวข้อ: Re: ลิงหลอกเจ้า : ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ( โดย เชอเกรียม ตรุงปะ ) เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 มิถุนายน 2553 19:51:47 (http://theland.wikispaces.com/file/view/Spiritual_Materialism.jpg/31016761/Spiritual_Materialism.jpg)
*พุทธํ สรณํ คจฉามิ ธมมํ สรณํ คจฉามิ สงฆํ สรณํ คจฉามิ กับเพื่อนร่วมทางแสวงหาของฉัน กับผู้ร่วมเดินไปกับฉัน แต่ฉันจะไม่พึ่งพิงพวกเขา ฉันเพียงแต่เต็มใจที่จะร่วมเดินไปกับพวกเขา การพึ่งพิงผู้อื่นขณะที่เราดำเนินไปตามมรรควิถีนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้าในกลุ่มชนทุกคนต่างพึ่งพิงกันและกัน เมื่อใครคนหนึ่งเกิดล้มลง ทุก ๆ คนจะล้มลงไปด้วย ดังนั้นเราจึงไม่พึ่งพิงผู้ใด เราเพียงแต่เดินไปด้วยกันเคียงข้างกัน อย่างเสมอบ่าเสมอไหล่ กระทำการร่วมกัน ไปด้วยกัน มรรควิถีแห่งการยอมจำนนเช่นนี้ ความคิดในการเข้าถึงที่พึ่งดังนี้ เป็นสิ่งที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อนมาก การถึงเป็นที่พึ่งอย่างผิด ๆ นั้น รวมถึงการแสวงหาที่ปกป้องคุ้มกัน การบูชาขุนเขาก็ดี เทพเจ้าพระอาทิตย์ก็ดี เทพเจ้าพระจันทร์ก็ดี การยกสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าศักดิ์สิทธิ์เพียงเพราะสิ่งนั้นดูเหมือนจะยิ่งใหญ่กว่าเราก็ดี การถึงเป็นที่พึ่งเช่นนี้ไม่ผิดอะไรกับกิริยาอาการของเด็ก ๆ ที่พูดว่า “ถ้าแกตีฉันฉันจะฟ้องแม่” โดยคิดว่าแม่ของเขานั้นเป็นบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ เป็นแบบอย่างของผู้ทรงอำนาจ ถ้าเขาถูกรังแก เขาจะหันไปของความช่วยเหลือจาแม่ของเขาโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่มีอะไรทำลายให้รอบรู้และมีอำนาจเต็ม เด็กเชื่อว่าแม่ของเขาสามารถคุ้มกันเขาได้ เพราะแม่ของเขาเป็นผู้เดียวที่จะช่วยเขาได้ การถึงเป็นที่พึ่งแบบพึ่งแม่พึ่งพ่อนี้เป็นการแพ้ตัวเองอย่างแท้จริง ผู้ที่ขอถึงเป็นที่พึ่งไม่ได้มีกำลังพื้นฐานเลยแม้แต่น้อย ไม่มีแม้แต่กำลังใจ เขาง่วนอยู่แต่การชั่งน้ำหนักอำนาจว่าอันนี้มากกว่าอันนี้น้อยกว่า ถ้าเราเล็ก คนที่ใหญ่ก็จะบีบคั้นเราได้ เราหาที่พึ่งก็เพราะเราไม่พร้อมที่จะเล็กและไร้ที่คุ้มกันได้ เรามักขอร้องว่า “ฉันเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อย แต่ฉันตระหนักในคุณลักษณ์อันใหญ่ยิ่งของท่าน ฉันอยากจะบูชาและเข้าร่วมความใหญ่ยิ่งของท่าน ดันนี้ขอท่านจงโปรดปกป้องฉันด้วยเถิด” การยอมจำนนไม่ใช่เรื่องของการต่ำต้อยและโง่เขลา และก็ไม่ใช่การอยากยกระดับสูงขึ้นหรืออยากเข้าถึงความลุ่มลึก มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับระดับหรือการประเมินค่า แทนที่จะเป็นเช่นนั้น เรายอมจำนนเพราะเราต้องการจะสื่อสารกับโลก “ตามที่มันเป็น” เราไม่ต้องจัดตัวเราว่าเป็นนักเรียนหรือคนไร้เดียงสาเรารู้ว่าเรายืนอยู่ที่ใด ฉะนั้นเราจึงมีท่าทีของการยอมจำนน ของการเปิดเผย ซึ่งหมายถึงการสื่อสาร เชื่อมโยง เป็นการสื่อสารโดยตรงกับสิ่งที่เรายอมจำนน อับอายต่อคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะดิบหรือหยาบกร้านหรือสะอาดและสวยงามก็ตาม เราไม่กังวลกับลักษณะอันหยาบกร้าน ดูสวยงามและสะอาดที่เราสะสมไว้อย่างรุ่มรวย พื้นฐานของการยอมจำนนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการบูชาอำนาจภายนอก หากหมายถึงการทำงานด้วยกันด้วยแรงบันดาลใจ เพื่อว่าเราจะกลายเป็นภาชนะที่เปิดให้ความรู้ไหลรินเข้ามาได้ ดังนั้นการเปิดเผยและการยอมจำนนจึงเป็นการตระเตรียมที่จำเป็น สำหรับการกระทำการร่วมกับมิตรในทางศาสนธรรม เราตระหนักในความร่ำรวยที่เรามีอยู่โดยพื้นฐาน มากกว่าที่จะมัวเสียใจกับสภาพอันแร้นแค้นของตัวเราที่เราวาดขึ้น เรารู้ว่าเรามีคุณค่าพอที่จะรับคำสั่งสอน มีคุณค่าพอที่จะโยงใยตัวเราเข้ากับความมั่งคั่งของโอกาสในการเรียนรู้ http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=45&s_id=3&d_id=3 (http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=45&s_id=3&d_id=3) หัวข้อ: Re: ลิงหลอกเจ้า : ลอกคราบวัตถุนิยมทางศาสนา ( โดย เชอเกรียม ตรุงปะ ) เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 15 มิถุนายน 2553 19:52:13 (http://dailylight.files.wordpress.com/2008/08/trungpa-ok.jpg)
ถ้าเธอคิดจะเลียนแบบ ลีลา ท่าทาง ภายนอก ของฉันละก็ เธอเลียนแบบดวงจิตของฉันให้ได้ซะก่อนสิ - จาก ตรุงปะ คุรุบ้าผู้ปรีชาญาณ - เล่ม ลิงหลอกเจ้าผลงานชิ้นนี้ หายากมาก ต้นฉบับผมยังหาไม่ได้เลย ได้มาเป็นฉบับซีร็อก อ่านแล้ว ไม่ผิดหวัง ตรงกับจริตตัว ที่นำมาลงเป็นส่วนหนึ่งใน เล่มเท่านั้น ยังมีอีก หลายบท หาอ่าน หาเสพ ลิ้มลอง เองละกัน |