หัวข้อ: ‘2583’ อุกกาบาตพุ่งชนโลก!?! ตื่นตระหนกมหาวิบัติภัยล้างโลกบนฐานแห่งความจริง เริ่มหัวข้อโดย: มดเอ๊ก ที่ 07 มีนาคม 2555 07:47:23 (http://pics.manager.co.th/Images/555000003080801.JPEG)
แม้เหตุอุกกาบาตพุ่งชนโลกครั้งร้ายแรงที่สุดตามที่มีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อถือข้อมูลได้ จะล่วงเลยมากว่า 65 ล้านปีแล้ว แต่บทเรียนแห่งมหาวิบัติภัยในครั้งนั้นก็ยังสร้างความน่าสะพรึงกลัวแก่มนุษยชาติเสียทุกครั้งไป ยิ่งมีข่าวคราวของวัตถุไม่พึ่งประสงค์บนท้องฟ้าอย่าง ‘อุกกาบาต’ จ่อพุ่งชนโลกทีไร...ความตื่นกลัวก็เข้าปกคลุมไปทุกอาณาเขตของโลก เพราะนั้นเท่ากับว่าจุดจบของสรรพสิ่งบนโลกใกล้เข้ามาทุกที แต่อย่างน้อยวิทยาการในยุคปัจจุบัน ก็สามารถทำให้ชาวโลกสามารถรับรู้ข้อเท็จจริงได้ทันท่วงที เมื่อไม่นานมานี้เอง องค์การนาซา (องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ของประเทศสหรัฐอเมริกา) ก็ได้ออกมาเปิดเผยว่า จะมีอุกกาบาตชื่อ ‘2011 เอจี 5’ พุ่งชนโลกในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2040 หรือในพ.ศ.2583 มีขนาดความกว้างประมาณ 140 เมตร คาดการณ์ว่าหากอุกกาบาตลูกนี้ตรงดิ่งบริเวณพื้นที่ชุมชนจะทำให้สิ่งมีชีวิตล้มตายนับล้านโดยเฉพาะมนุษย์ แต่ทางองค์การนาซาก็ยอมรับถึงความไม่แน่นอนว่า ระยะอีก 28 ปีข้างหน้านั้น ความเสี่ยงที่ ‘2011 เอจี 5’ จะพุ่งชนโลกในการคิดคำนวณ ณ ปัจจุบันมีความเสี่ยง 1 : 625 แต่อนาคตความเสี่ยงที่มันจะพุ่งชนโลกอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงก็เป็นไปได้ทั้งนั้น เบื้องต้นทางนาซาเองยังไม่มีข้อมูลของอุกกาบาตลูกนี้เสียเท่าไหร่นัก ว่ากันว่าจะมีการตรวจสอบกันอีกครั้งในปีหน้า และจะมีการคำนวณความเสี่ยงกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่องค์การนาซาแถลงออกมาครั้งนี้ ก็สั่นสะเทือนประชาคมโลกไม่น้อย ด้านสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ก็สนองตอบในเรื่องอุกกาบาตพุ่งชนโลกโดยการระดมมันสมองของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำเร่งหาทางออกของวิบัติภัยที่จ่อทำลายโลก ทำความรู้จัก ‘อุกกาบาต’ หากกำหนดนิยามของคำว่า 'อุกกาบาต' ง่ายๆ ก็คงต้องบอกว่า มันคือวัตถุขนาดเล็กที่ล่องลอยอยู่ในห้วงอวกาศ และถูกแรงดึงดูดให้ตกลงมาบนพื้นโลก ซึ่งช่วงที่อยู่ในอวกาศ มันจะถูกขนานนามว่า 'สะเก็ดดาว' มีขนาดตั้งแต่ก้อนหินขนาดใหญ่เรื่อยไปถึงละอองฝุ่น และเมื่อมันเคลื่อนที่ไปสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ต่างๆ จะทำให้ความร้อนและแสงสว่าง จนคนจำนวนมากเรียกมันว่า 'ดาวตก' ซึ่งแสงที่ว่านั้น มาจากแรงเสียดทานระหว่างสะเก็ดดาวกับชั้นบรรยากาศนั่นเอง เพราะเมื่อสะเก็ดดาวหลุดเข้ามาจะเกิดการแตกตัวเป็นไอออน และหากมีสะเก็ดใดตกลงมาถึงพื้นโลก ก็จะเปลี่ยนไปเรียกว่า 'อุกกาบาต' แทน ซึ่งองค์ประกอบของอุกกาบาตนั้นจะแตกต่างกันออกไป แต่หลักๆ ที่พบมี 3 ชนิดคือ หิน เหล็ก และเหล็กปนหิน แต่ส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นชนิดหิน ซึ่งก้อนหินใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อ ‘จีหลิง’ ตกที่อำเภอจีหลิง ประเทศจีน เมื่อ 8 มีนาคม พ.ศ.2519 หนักเกือบ 2,000 กิโลกรัม ส่วนอุกกาบาตชนิดเหล็ก ก้อนใหญ่ที่สุดที่พบคือ ‘โฮบา เวสท์’ หนักประมาณ 66 ตัน ตกกลางป่าในแอฟริกาตะวันออกเฉียงใต้ โดยอุกกาบาตชนิดหินส่วนใหญ่มีลักษณะเหมือนหินบนโลก และมักกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมของโลก เพราะฉะนั้นจึงมีแต่ ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า หินก้อนใดที่เป็นอุกกาบาตกันแน่ อย่างไรก็ดี การตกลงมาของอุกกาบาตของโลกนั้นมีหลายแสนหลายล้านครั้งแล้ว และแต่ละก้อนคนก็จะนำมาสู่ผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป โดยครั้งที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ส่งผลกระทบมากที่สุด ก็คือเมื่อ 65 ล้านปีก่อน ที่ว่ากันว่า อุกกาบาตพุ่งชนโลก จนสัตว์ในตำนานอย่างไดโนเสาร์สูญพันธุ์ โดยข้อเขียนของ ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน ราชบัณฑิตสาขาฟิสิกส์ ระบุว่า ในปี 2523 หลุยส์ อัลวาเรซ และวอลเตอร์ อัลวาเรซ นักวิทยาศาสตร์ 2 พ่อลูก ได้นำเสนอผลงานทางวิชาการที่ชื่อว่า ‘การสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เมื่อ 65 ล้านปีก่อนหรือที่เรียกว่าการสูญพันธุ์ยุคครีตาเชียส-เทอร์ทิอารี’ โดยมีเนื้อหาว่า “...ได้มีอุกกาบาต หรือดาวหางขนาดใหญ่ลูกหนึ่ง ตกลงมาชนโลก พลังระเบิดครั้งนั้น มีความรุนแรง เทียบเท่ากับการระเบิดของลูกระเบิดปรมาณู หนึ่งแสนลูกพร้อมกัน....และเมื่ออุกกาบาตลูกนั้นพุ่งชนโลก ฝุ่นละอองธุลีหินและดินต่างๆ ได้พุ่งกระจัดกระจายสู่ท้องฟ้า เมฆฝุ่นได้บดบังแสงอาทิตย์ มิให้ส่งกระทบโลกนานเป็นปี ส่วนแผ่นดิน เมื่ออุกกาบาตชน ได้ลุกไหม้ทำให้เกิดไฟป่าลุกท่วมโลก นอกจากนี้ก๊าซไนโตรเจน ไอน้ำ และคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ ได้รวมตัวกันเป็นฝนกรด ตกรดพืชและสัตว์ต่างๆ ทำให้สัตว์และพืช หลายชนิดล้มตาย ตัวไดโนเสาร์ เมื่อขาดอาหารจึงได้ล้มตายมากมายจนสูญพันธ์ในที่สุด สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อ่อนแอกว่าจึงมีโอกาสวิวัฒนาการตนขึ้นจนเป็น เจ้าโลกในที่สุด...” นอกจากนี้ อุกกาบาตยักษ์ยังทำให้เกิดหลุมขนาดใหญ่ขึ้นมาหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ตก โดยมีการบันทึกว่า หลุมใต้น้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งลึกกว่า 400 กิโลเมตร ก็เป็นผลงานของอุกกาบาต หรือแม้แต่ในทะเลทรายอริโซน่า ซึ่งเกิดเมื่อ 20,000 ปีก่อน ก็เกิดหลุมปริศนากว้างถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งว่ากันว่า การเกิดแต่ละครั้งจะเกิดการระเบิดที่แรงมาก บางคนก็โชคร้ายเจอลูกอุกกาบาตตกใส่เสียชีวิตก็มี ส่วนในประเทศไทยเองก็มีหลักฐานว่า เกิดเหตุอุกกาบาตแบบหินตกใส่เหมือนกัน โดยในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2466 มีรายงานว่าลูกอุกกาบาตตกที่ตำบลดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม โดยแตกออก 2 ก้อน น้ำหนักรวม 32 กิโลกรัม ปัจจุบันแสดงอยู่ที่ท้องฟ้าจำลอง และอีกครั้งเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2524 ที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นอุกกาบาตชนิดเนื้อหินเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ก็ยังมีหลักฐานแน่ชัดว่า อุกกาบาตจะมีพลังเพียงพอในการทำลายโลก อย่างที่หลายคนและภาพยนตร์บางเรื่องจินตนาการเอาไว้ ‘ดาราศาสตร์’ ศาสตร์แห่งการคาดคะเน “ดาวเคราะห์น้อย ‘2011 เอจี 5’ มันเกิดขึ้นเนื่องจากมีการพูดคุยกันในที่ประชุมของสหประชาชาติในคณะกรรมการเฝ้าระวังวัตถุที่เข้ามาใกล้โลก (Near-Earth Objects) เขาก็เอ่ยถึงดาวเคราะห์น้อย 2011 เอจี 5 และก็พูดถึงความเป็นไปได้ว่าในอีก 28 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ.2583 ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะชนโลก แต่โอกาสที่จะเป็น 1 : 625 ไม่ใช่ว่าชนแน่นอน ต้องขออธิบายว่าเจ้าดาวเคราะห์ดวงนี้ มันเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่บัญชีที่เขาจัดว่าอยู่ในบัญชีวัตถุใกล้โลก หรือเป็นวัตถุที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อโลกของเราได้ เป็นหนึ่งในเจ็ดพันกว่าดวง” รศ. บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ อธิบายถึงปรากฏการณ์อุกกาบาตจ่อพุ่งชนโลกในอีก 28 ปี ข้างหน้าที่องค์การนาซาได้ออกมาแถลงต่อชาวโลก ชึ่งดาวเคราะห์ดวงนี้พบเมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว โคจรเป็นวงรีโดยจุดที่ไกลที่สุดจะเลยดาวอังคารออกไป และจุดที่ใกล้ที่สุดมันจะอยู่แถวดาวศุกร์ และจะผ่านวงโคจรของโลกเราด้วย มีวงโคจรรอบละประมาณ 1.7 ปี เพราะฉะนั้นทุกๆ 1.7 ปี มันจะเข้ามาตัดกับวงโคจรของโลกเรา แต่ว่าช่วงเวลาต่างๆ มันจะไม่ใกล้โลกเพราะโลกเองก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ ฉะนั้นเวลาที่ผ่านวงโคจรโลกอาจไม่ได้อยู่ตำแหน่งนั้น มีการคำนวณวงโคจรและมีข้อสรุปว่าอาจจะมีความเป็นไปได้ว่า ในปี พ.ศ. 2583 โลกกับดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อาจจะอยู่ใกล้กันมากและก็มีความเป็นไปได้มันจะเฉียดชนโลก แม้จะยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า ดาวเคราะห์น้อย 2011 เอจี 5 จะพุ่งชนโลกตามที่คาดคะเนกันไว้หรือไม่ แต่ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่โดยอย่างองค์การนาซา องค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีบนอวกาศและองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางด้านดาราศาสตร์และอวกาศของประเทศสหรัฐอเมริกา ย่อมผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์และความน่าเชื่อถือในระดับหนึ่ง “ส่วนใหญ่ข่าวที่ออกมาจากทางองค์การนาซานั้น จะค่อนข้างน่าเชื่อถือ เพียงแต่ว่าเมื่อมีข่าวออกมาแล้วความเข้าใจของสังคม หรือของประชาชนจะถูกต้องตามที่นาซาเปิดเผยมาหรือไม่ การเข้ามาของดาวเคราะห์น้อยในแต่ละครั้ง วงโคจรมันเปลี่ยนไปหมดมันไม่ได้เข้ามาเหมือนเดิมตลอด ถ้าคงที่แบบที่คำนวณกันมันก็อาจมีโอกาสเข้าใกล้อาจจะเฉียดชนได้ แต่ว่าวงโคจรของดาวเคราะห์น้อยที่เข้ามาในแต่ละครั้งมันเปลี่ยนไปตลอดเวลา เพราะฉะนั้นนาซาก็บอกว่า ประมาณเดือนกันยายนปีหน้าจะมีการคำนวณอีกครั้ง ซึ่งวงโคจรมันอาจจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่นและอาจมีการสรุปว่า จริงๆ แล้วมันอาจจะห่างมากก็ได้ เพราะการคำนวณจะไม่เหมือนกันสักครั้งเดียว ดังนั้น ทำนายว่าอีก 28 ปีแล้วชนแน่ๆ มันไม่น่าเชื่อถือ มันเป็นอะไรที่เราไม่ต้องกังวลเพราะว่าวงโคจรมันเปลี่ยนตลอดเวลา” จะว่าไปแล้ววิบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นกับโลกอย่างกรณีอุกกาบาตพุ่งชนโลก อย่างองค์การนาซาก็จะมีหน่วยงานติดตามวัตถุที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อโลกของเรา มีรายชื่อเต็มไปหมดซึ่งตรงนี้ก็มีการเผยแพร่ รศ. บุญรักษา กล่าวทิ้งท้ายว่า การป้องกันโลกจากวัตถุนอกโลกที่อาจพุ่งชนโลกนั้นต้องมีการวิจัยและพัฒนาในด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งก็มีความมั่นใจว่าในอนาคตมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีสมองล้ำเลิศก็คงจะสามารถปกป้องโลกของเราไว้ได้ “พอเฝ้าระวัง แน่นอนเขาก็ต้องคิดเทคโนโลยีเฝ้าระวัง ถ้าหากมีดวงใดดวงหนึ่งเข้ามาใกล้โลกและเกิดควงสว่านชนโลกเรา มันก็มีความเป็นไปด้ที่เขาจะจัดการตรงนี้ มันก็มีการพูดกันเยอะเลยว่าจะทำอย่างไรดีหากมีการพุ่งชนโลก มีการเสนอว่าก็ยิงจรวดไปทำลายมันอย่าง 2011 เอจี 5 มันก็ขนาดประมาณ 100 กว่าเมตร มันก็ไม่ใหญ่มาก แต่การยิงทำลายมันก็ค่อนข้างจะอันตรายเพราะว่าโอกาสที่มันจะกระจายชนเราก็มีสูง เพราะฉะนั้นดาราศาสตร์หรือนักวิทยาศาสตร์ก็เสนอถึงการเปลี่ยนวงโคจร อาจจะใช้รังสีที่มันมีพลังงานสูงที่จะผลักวัตถุก้อนนี้มันเบี่ยงวงโคจรที่จะไม่ชนโลก เป็นวิธีการที่ไม่ทำลายมันและมันไม่ชนเรา” คิดกันตามหลักความเป็นจริง ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ แทนไท ประเสริฐกุล เมื่อได้ยินข่าวว่าองค์การนาซาออกมาเตือนเรื่องอุกาบาตจะชนโลกในปี พ.ศ.2583 เขาก็แสดงความคิดเห็นว่ามันเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์น่าสนใจ และน่าตื่นเต้นแต่ไม่ใช่เรื่องให้ตื่นตระหนก ต้องดูกันในรายละเอียดด้วยเพราะโอกาสในการชนคือ 1 ใน 600 กว่าๆ ถือว่าค่อนข้างน้อย ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนยังไงคงต้องศึกษาเส้นทางโคจรอีก “ลูกนี้มีความเสี่ยง เขาก็จะมีการจดบันทึกไว้อยู่แล้ว คนก็อาจจะตกใจกันทีหนึ่ง ซึ่งถ้าลูกนี้มันจะชนโลก ภารกิจในการหยุดยั้งไม่ให้อุกาบาตชนก็จะน่าสนใจ ปกติดูจากหนังอาจจะแค่เอาลูกระเบิดไปฝังอุกกาบาตแล้วจบ แต่จริงๆ มันไม่ได้ง่ายอย่างงั้น ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ‘เดธ ฟรอม เดอะ สกาย’ เขาเล่าให้ฟังว่า การป้องกันโลกมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น อุกกาบาตบางลูกแข็งมาก เป็นเหล็กทั้งก้อน ต่อให้ระเบิดโดยนิวเคลียร์ก็แทบไม่เกิดอะไรกับมันเลย บางลูกเป็นรูพรุนแรงระเบิดก็กระจาย ไม่เสียรูปทรง หรือหากเราระเบิดมันได้จริง มันกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย มันอาจจะซับซ้อนกว่าเดิม ชนสองจุดอาจจะเสียหายมากกว่าจุดเดียว” สำหรับองค์การนาซานั้น จะมีการแจ้งเตือนทุกครั้งที่มีวัตถุที่โคจรเข้ามาใกล้โลก ในมุมมองของ แทนไท ถือเป็นองค์กรที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ “ในทางประวัติศาตร์ก่อตั้งขึ้นจากการแข่งขันในช่วงสงครามเย็น แต่เขามีการจดรายงานเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว ปัจจุบันทิศทางของนาซาเขาก็ยังเป็นผู้นำของโลกในการอวกาศอยู่ องค์กรนาซาก็ถือว่ามีคุณูปการเยอะ ผมค่อนข้างจะมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กรนี้ แต่มันก็ยังมีดีเบท (โต้แย้ง) อยู่ว่า การสำรวจอวกาศควรเป็นเรื่องของเอกชนได้แล้ว หรือการส่งหุ่นหรือคนออกไปอวกาศดี” ........... การออกมาแสดงข้อมูลขององค์การนาซาในครั้งนี้ ก็คงถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติหากตรวจพบวัตถุใดเข้าใกล้โลก ซึ่งที่แน่ๆ คงไม่ได้ต้องการให้เกิดความแตกตื่น...เพียงแต่ต้องการสร้างความตื่นตัวในการเปิดรับข่าวสารข้อมูลความเป็นไปของสถานการณ์โลก ‘ดาวเคราะห์น้อย 2011 เอจี 5’ แม้จะมีการคาดการณ์ว่าจ่อพุ่งชนโลกในปี พ.ศ. 2583 แต่ก็ต้องยอมรับว่าในศาสตร์ของดาราศาสตร์นั้น การโคจรของดวงดาวในระบบสุริยะไม่ได้มีความแน่นอนหรือคงที่เสมอไป อย่างไรก็ตาม พัฒนาการทางด้านวิทยาศาสตร์อาจเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยปกป้องโลกใบนี้ไว้ได้ >>>>>>>>>>>> ……….. เรื่อง : ทีมข่าว CLICK http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000029266 (http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000029266) |