[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 11 เมษายน 2555 13:33:52



หัวข้อ: พระธรรมปาโมกข์ รูปที่ ๒ : พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 เมษายน 2555 13:33:52
พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์

(http://www.dhammajak.net/board/files/paragraph__588.jpg)
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ กรุงเทพมหานคร  


พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๒
พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า


พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์  สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธ   เป็นพระราชวงศ์ในราชสกุลชมพูนุท  พระนามเดิมว่าหม่อมเจ้าภุชงค์   พระนามฉายาว่า สิริวฑฺฒโน พระองค์มีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าภุชงค์ เป็นพระโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์  กับหม่อมปุ่น  ประสูติเมื่อ ณ วันศุกร์   แรม ๗ ค่ำ เดือนอ้าย  ปีมะแม  จุลศักราช ๑๒๒๑  หรือตรงกับวันที่ ๑๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๒  ที่วังหน้าวัดราชบพิธฯ   มุมถนนราชบพิธกับถนนเฟื่องนคร   ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)    เป็นหม่อมเจ้าชายใหญ่  ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๓  กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์    เมื่อยังทรงพระเยาว์ได้เล่าเรียนอักขรสมัยในสำนักเจ้าจอมมารดาสัมฤทธ  ซึ่งเป็นย่า  

ถึงรัชกาลที่ ๕  เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔  พอเกสากันต์แล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้ตามเสด็จไปในเรือที่นั่งบางกอกคราวเสด็จประพาสอินเดีย  จนถึงเมืองสิงคโปร์    แล้วให้ทรงอยู่ศึกษาเล่าเรียนที่โรงเรียน Raffles เมืองสิงคโปร์  กับหม่อมเจ้าองค์อื่น ๆ ที่ไปในคราวเดียวกัน   หลังจากนั้น ๙ เดือน  เสด็จกลับพระนคร   พอดีกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษสำหรับเจ้านายขึ้น   จึงมีรับสั่งให้ทรงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสอนภาษาที่นี่โดยไม่ได้เสด็จกลับไปสิงคโปร์อีก   นอกจากนี้ยังทรงศึกษาอักษรขอมจากพระยาศรีสุนทรโวหาร  (น้อย อาจารยางกูร) จนทรงผนวชในปี พ.ศ. ๒๔๑๖

ครั้นพระชนมายุได้ 14 พรรษา เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖  ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ขณะดำรงพระยศเปนกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์เปนพระอุปัชฌาย์   พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากรขณะดำรงพระยศเปนหม่อมเจ้าพระราชาคณะเป็นพระอาจารย์     ทรงผนวชแล้วประทับ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม      ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงผนวชประทับอยู่ที่วัดพระพุทธรัตนสถาน ๑๕ วัน  เวลาเสด็จบิณฑบาตก็โปรดให้ตามเสด็จด้วยทุกคราว จนเสด็จลาผนวช  

ครั้นออกพรรษาแล้ว  ทรงศรัทธาในสมณเพศจึงไม่ลาผนวช  จับเล่าเรียนภาษาบาลีต่อพระครูบัณฑรธรรมสโมธาน (สด)  แต่ยังเป็นอาจารย์ให้นิสสัยพระและให้ศีลสามเณรอยู่วัดราชบพิธ  และเรียนหนังสือไทยต่อพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น) ต่อมาอีก  ครั้นพระครูบัณฑรธรรมสโมธานไปครองวัดนรนารถ จึงเรียนพระปริยัติธรรมต่อมากับหลวงญาณภิรมย์ (โพ) บ้าง และอาจารย์รอดบ้าง และได้เรียนภาษาสังสกฤตต่อพราหมณ์ซึ่งโปรดให้มาสอนอยู่คราว ๑  ครั้นพระชัณษาใกล้จะครบอุปสมบท  จึงทรงศึกษาพระวินัยแลเล่าสวดมนต์และปาฏิโมกข์จนจบ

เมื่ออายุครบอุปสมบท ได้โปรดให้อุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ)เป็นพระอุปัชฌาย์   สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) วัดราชประดิษฐ์  ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดมเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณกร ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่หม่อมเจ้าพระราชาคณะเป็นพระบรรพชาจารย์   ได้รับพระนามฉายาว่า "สิริวฑฺฒโน" ผนวชแล้วกลับมาประทับที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามตามเดิม

ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๒๒  โปรดให้ทรงอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  สมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ) เป็นพระอุปัชฌาย์  ทรงผนวชแล้วกลับมาอยู่วัดราชบพิธตามเดิม  เล่าเรียนพระปริยัติธรรมต่อขุนปรีชานุสาสน์ (โต)  และอาจารย์รอดต่อมา  แล้วไปเรียนต่อสมเด็จพระสังฆราช (สา)  แต่เมื่อยังเป็นที่พระธรรมวโรดม ที่วัดราชประดิษฐ์บ้าง

ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๒๕  โปรดให้เข้าแปลพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์  ได้แปลถวายหน้าพระที่นั่งวัน ๑  ได้เป็นเปรียญ ๔ ประโยค  ได้พระราชทานตาลิปัตรเปรียญพื้นตาดปักดิ้นเป็นเกรียติยศ  ต่อมาถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๒๙  ได้เข้าแปลพระปริยัติธรรมที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามอีกครั้ง ๑  ได้อีกประโยค ๑  รวมเป็น ๕ ประโยค

ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๓๐  ทรงตั้งเป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ  มีราชทินนามว่า หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต  คราวเดียวกับทรงตั้งพระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากรที่วัดราชบพิธ  เมื่อวันพฤหัสบดีเดือน ๑๒ แรม ๑๐ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน  

ถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒  ทรงเลื่อนสมณศักดิเป็นชั้นธรรม  ตำแหน่งพระธรรมปาโมกข์ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๑๐ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๘

ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๔๙  ทรงสถาปนาเป็นพระองค์เจ้า  และมีสมณศักดิเสมอพระพรหมมุนี  เจ้าคณะรองในคณะกลาง เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ มีสำเนาประกาศดังนี้


คำประกาศ
ศุภมัสดุ พระพุทธสาสนกาล  เปนอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๔๘ พรรณนา ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม ตุรังคสังวัจฉระ ไพศาขมาศสุกรปักษ์ นวมีดิถีภุมวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ พฤษภาคมมาศ ปฐมมาสาหคุณพิเศษปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ ฯลฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริห์ว่า หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรตเปนพระโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลภูลสวัสดิ์ ถ้า
ดำรงอยู่ในฆราวาสได้รับราชการดี ก็จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเปนพระองค์เจ้าให้เปนพระเกียรติยศตามราชประเพณีมีมา  หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรตนี้  โดยว่าทรงผนวชมิได้รับราชการแผ่นดินก็บริบูรณ์ด้วยวิจารณญาณ  ชำนาญในพระปริยัติธรรม เปนเปรียญ ๕ ประโยค ทรงคุณวุฒิวิริยภาพ ขวนขวายในธุระพระพุทธสาสนา ได้เคยเปนผู้ตรวจชำระพระไตรปิฎกที่ตีพิมพ์แลเปนสภานายกแห่งมหามกุฎราชวิทยาลัย  ได้สั่งสอนพุทธมามกชนทั้งคฤหัสถ์แลบรรพชิต  ให้เข้าใจในกิจที่ควรปฏิบัติตามพุทธโอวาท  ประกอบด้วยมารยาตรควรแก่สมณวัตร  ปกครองสมณบริษัทโดยเรียบร้อย  มีอัธยาไศรยเมตตาต่อสหธรรมมิกพรหมจารรย์มั่นคงในพุทธสาสนา  เปนอจลพรหมจริยาภิรัต  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สถาปนาเปนหม่อมเจ้าพระราชาคณะ  แลต่อมาก็ได้ทรงรับอิศริยศักดิเพิ่มตำแหน่งเปนหม่อมเจ้าพระราชาคณะผู้ใหญ่เทียบยศเสมอเทพ  ภายหลังได้ทรงรับอิศริยยศตำแหน่งพระธรรมปาโมกข์  ได้รักษาสมณศักดิทั้งประเพณีราชการเรียบร้อยตลอดมา  ควรเปนสมณทายาทในสมณวงศ์ดำรงคุณธรรมสัมมาปฏิบัติ  ย่อมเปนที่เคารพนับถือแห่งพุทธสาสนิกบริสัช  แลได้เปนพระกรรมวาจาจารย์ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเมื่อทรงผนวชเปนภิกษุ แลเปนผู้ถวายสรณแลศีลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเมื่อทรงผนวชเปนสมเณรหลายพระองค์ แลเปนพระอุปัธยาจารย์แห่งกุลบุตรเปนอันมาก  อนึ่งพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้ทรงผนวชในพระพุทธสาสนา และดำรงคุณธรรมดังกล่าวมาแล้ว ในเวลานี้ก็มีน้อยพระองค์ สมควรเพิ่มพระอิศริยยศในราชตระกูลแลสมณศักดิให้ยิ่งขึ้น

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาเลื่อนอิศริยยศหม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรตเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า มีราชทินนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าพระสถาพรพิริยพรต อังคีรสสาสนธำรง ราชวรพงศ์ศักดิพิบุลย์ สุนทรอรรถปริยัติโกศล โสภณศีลสมาจารวัตร มัชฌิมคณานุนายก สาสนดิลกบพิตร อัชนาม สถิต  ณ วัดราชบพิธสถิตย์มหาสิมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง ทรงศักดินา ๓๐๐๐ มีตำแหน่งสมณศักดิที่พระพรหมมุนี เจ้าคณะรองในคณะกลาง มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๘ ตำลึง มีถานานุศักดิควรตั้งถานานุกรมได้ ๘ รูป คือ

พระครูปลัดพิพัฒน์พรหมจริยคุณ สมบุรณคณาธิปัติ มัชฌิมสังฆานุนายก ปิฎกธรรมรักขิต มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๒ ตำลึง ๑
พระครูวินัยธร ๑
พระครูวินัยธรรม ๑
พระครูพุทธพากย์ประกาศ ๑
พระครูธรรมสาสน์อุโฆษ ๑
พระครูสังฆบริหาร ๑
พระครูสมุห์ ๑
พระครูใบฎีกา ๑  รวม ๘ รูป

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธสาสนา เปนภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์พระภิกษุสงฆ์สามเณรในคณะตามสมควรแก่พระกำลังแลอิศริยยศซึ่งพระราชทานนี้  จงเจริญพระชนมายุพรรณ ศุข พละ ปฏิภาณ คุณสารสมบัติ สรรพศิริสวัสดิ์พิพัฒน์สถาพร จิรฐิติกาลในพระพุทธสาสนาเทอญฯ

ถึงรัชกาลที่ ๖ เมื่อปีจอ พ.ศ. ๒๔๕๓  โปรดให้ตั้งการพิธีตั้งกรมที่วัดราชบพิธ  ทรงสถาปนาเปนพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมณศักดิเสมอสมเด็จพระพุฒาจารย์เมื่อ ณ วันที่ ๒๒ มกราคม

เพราะเหตุสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิญาณวโรรส สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ ครั้นถึงวันที่ ๒๐ สิงหาคม จึงทรงสถาปนา พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรศิริวัฒน์ เป็นพระเจ้าวรวงศเธอและทรงเลื่อนสมณศักดิขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้าตำแหน่งสกลสังฆปรินายก มีประกาศพระบรมราชโองการดังนี้


ประกาศ
สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า
มีพระบรมราชโองการ ในพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ประกาศทราบทั่วกัน

ด้วยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายกปธานาธิบดีสงฆ์สิ้นพระชนม์ล่วงลับไปเสียแล้ว ทรงพระราชดำริห์ว่า พระวรวงศเธอ กรมหมื่นชินวรศิริวัฒน์ สมเด็จเจ้าคณะใหญ่หนกลาง ทรงมีคุณูปการในทางพุทธสาสนกิจ สมควรจะดำรงตำแหน่งสนองพระองค์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสสืบไปได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ สถาปนาคำนำพระนามและฐานันดรศักดิขึ้น เปนพระเจ้าวรวงศเธอ กรมหมื่นชินวรศิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ดำรงตำแหน่งสกลสังฆปรินายกปธานาธิบดีแห่งสงฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักรสืบไป

พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พระพุทธศักราช ๒๔๖๔ เปนปีที่ ๑๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

ถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ ในรัชกาลที่ ๗ ทรงพระกรุณาโปรดให้เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศเธอ กรมหลวง

พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐  สิริพระชนมายุได้ ๗๗ พรรษา ๕ เดือน ๙ วัน ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา ๑๕ ปี ๘ เดือน ๕ วัน




กิมเล้ง : http://www.sookjai.com (http://www.sookjai.com)





.



หัวข้อ: Re: พระธรรมปาโมกข์ รูปที่ 2 : พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 11 เมษายน 2555 13:37:14




     ยังมีต่ออีกนะ   รูปที่ ๓......ถึง ๑๔   (:SL:)   (:SL:)   (:SL:)   โปรดติดตาม





.