[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 14 เมษายน 2555 16:21:50



หัวข้อ: พระธรรมปาโมกข์ รูปที่ ๕ : พระศาสนโศภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 14 เมษายน 2555 16:21:50






พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์



(http://www.gongtham.net/my_data/number_meakong/01_jam.jpg)
พระศาสนโศภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล) วัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร



พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๕
(แจ่ม  จตฺตสลฺโล)

พระศาสนโศภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล)  วัดมกุฎกษัตริยาราม  เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี  เกิดในสกุลถาวรบุตร  เมื่อวันอังคารที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๘   ตรงกับขึ้น ๑๔ ค่ำ  เดือน ๖  ปีกุน  เวลา ๐๗.๓๐ น.  โยมบิดาชื่อ พ่วง โยมมารดาชื่อ เอี่ยม  โยมบิดาเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)  บ้านเดิมอยู่ที่บ้านตำหนัก อ.เมือง จ.เพชรบุรี   เมื่อเยาว์วัยท่านเล่าเรียนอักขรสมัยที่วัดสนามพราหมณ์  อ.เมือง  จ.เพชรบุรี

ท่านเล่าว่า โยมบิดาของท่านมีพื้นเพเดิมเป็นชาวสุพรรณบุรี  ปู่ชื่อขาว  เป็นน้องชายของปู่เจ้าพระยมราช (ปั้น  สุขุม)  เปรียญทวดเดียวกัน  เป็นตระกูลกรมการเมืองสืบกันมา ถือศักดินาที่มีศักดิ์และมีนาจริง ๆ ไม่ใช่มีแต่ศักดิ์ไม่มีนาเหมือนขุนนางเดี๋ยวนี้  จะว่าเป็นลูกชาวนาก็ถูกเหมือนกัน ท่านเล่าต่อไปว่าพวก (ญาติ) ของท่านเข้ามาได้ดี ๓ คน คือ ท่านได้ดีทางพระ ๑  เจ้าพระยายมราชได้ดีทางราชการ ๑  เจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก (พระมารดาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์)  ได้ดีทางผู้หญิง ๑  ฉะนั้น ท่านกับเจ้าพระยายมราชจึงรักใคร่นับถือกันฉันญาติตลอดมา

ท่านเล่าว่าท่านมีชื่อมาตามลำดับถึง ๓ ชื่อ คือทีแรกเขาเรียกกันว่า “จ่า”  เพราะเมื่อเป็นเด็กชอบเล่นเป็นจ่าเพื่อน จ่าฝูง  ภายหลังเขาเรียกกันว่า “แปลก”  เพราะชอบเล่นอะไรแปลก ๆ  ต่อมาเมื่อเป็นสามเณรจึงชื่อ “แจ่ม”  ท่านได้แต่งเป็นกลอนไว้ว่า “เดิมชื่อแปลก  แรกชื่อจ่า  มาชื่อแจ่ม”
เรื่องนามสกุล  ท่านเล่าปู่ของท่านชื่อขาว  ตาชื่อคง  แต่เมื่อพระสานพันธุกิจ (จอน)  น้องของท่านขอพระราชทานนามสกุล  เอาชื่อตามาเป็นชื่อปู่เสีย  จึงได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “ถาวรบุตร”
เมื่ออายุ ๑๘ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๓๕   เข้ามาอยู่วัดมกุฏกษัตริยาราม  ในสำนักพระครูวินัยธร (แสง)  ฐานานุกรมของพระพรหมมุนี (กิตฺติสาโร แฟง)   และบรรพชาเป็นสามเณรในเดือน ๗ ข้างขึ้นแห่งปีนั้น  ต่อมาได้อุปสมบทเมื่อวันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะแม  ตรงกับวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๘  พระพรหมมุนี (กิตฺติสาโร แฟง ปธ.๗)  ครั้งเป็นพระธรรมปาโมกข์ เป็นพระอุปัชฌาย์  พระธรรมปาโมกข์ (วราสโย ถม ปธ.๗) ครั้งเป็นพระราชกวี  เป็นพระกรรมวาจาจารย์  และพระมหานุนายก (มนาปจารี ดี) ครั้งเป็นพระครูปลัดชื่อนั้น  เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่อบรรพชาอุปสมบทอยู่ที่วัดมกุฏกษัตริยาราม  ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจากพระมหาทอง  เปรียญ ๗ ประโยค เมื่อเป็นสามเณร ๓ พรรษา และเป็นภิกษุ ๒ พรรษา  แล้วย้ายไปอยู่วัดวัดบวรนิเวศวิหาร ๓ พรรษา  ได้เรียนในสำนักพระศาสนดิลก (คำ)  เข้าสอบพระปริยัติธรรมในมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้เปรียญตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐  ได้เปรียญโท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ และได้เปรียญเอก (เทียบ ๗ ประโยค) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒   ครั้นสอบได้เปรียญเอกแล้วจึงกลับมาอยู่วัดมกุฏกษัตริยารามในปีนั้น และเป็นครูสอนปริยัติธรรมต่อมา

ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระอริยมุณี  เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้เป็นคณาจารย์เอกทางรจนาและแปลพระสูตร เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชกวี เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๗  เป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๒ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๔   เลื่อนขึ้นเป็นพระธรรมปาโมกข์   เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๖   และได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระศาสนโศภณ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑


ประกาศสถาปนา
ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนายุกาลเป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๗๑ พรรษา ปัจจุบันนสมัยสูรยคตินิยม นาคสมพัตสร พฤศจิกายนมาส ษัษฐสุรทิน มงคลวาร โดยกาลชบริจเฉท

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียมหาราชรวิวงศ อสัมภินพงศพีรกษัตร บุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรัตนบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสำศุทธเคราหณี จักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร มหามกุฏวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิธอุต์กฤษฏนิบุณ อดุลยกฤษฏาภินีร์หาร บูรพาธิการสุสาธิต ธันยลักษณวิจิตรเสาภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานท สนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช วิชัยยุทธศาสตรโกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญานประดิภานสุนทร ประวรศาสโนปสดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพ  โยมจร  บรมเชษฐโสทรสมมต  เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ  นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร  ศรีรัตโนปลักษณ มหาบรมราชาภิเษกาภิษิกต์  สรรพทศทิค  วิชิตโดโชไชย  สกลมไหศวรยมหาสวามินทร  มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชันยาศรัย  พุทธาทิไตรรัตนศรณารักษ  วิศิษฏศักตอัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบุณยการ สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกรมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชดำริว่า พระสงฆ์ซึ่งดำรงสมณคุณใหญ่ยิ่ง สมควรจะเลื่อนอิสสริยฐานันดรในสมณศักดิ์ มีอยู่หลายองค์ บัดนี้ จวบกาลมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ควรจะสถาปนาอิสสริยยศพระสงฆ์ขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ตามตำแหน่ง

จึ่งทรงพระราชดำริว่า พระธรรมปาโมกข์   เป็นผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกสุตาคมลัทธรรม สอบไล่ได้ถึงชั้นบาเรียนเอกในมหามกุฏราชวิทยาลัย เทียบชั้นบาเรียนเอก ๗ ประโยค ทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระราชาคณะตำแหน่ง พระอริยมุนี พระราชกวี พระเทพกวี พระธรรมปาโมกข์ เป็นลำดับมา ก็สังวรสมณวัตรและรักษาประเพณีในราชการเรียบร้อย สมควรแก่ตำแหน่งสืบมาโดยลำดับ และมีเกียรติศัพท์เป็นที่นิยมแห่งพุทธบริษัททางแปลพระคัมภีร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงสรรเสริญไว้ว่าเป็นผู้เอาใจใส่ในการแปล และรจนาหนังสือต่าง ๆ เพื่อเพิ่มประโยชน์ให้แก่ผู้ถือศาสนาร่วมกัน ภิกษุเช่นนั้นชื่อว่ายังพระศาสนาของพระศาสดาให้รุ่งเรือง ในคราวที่จัดตำแหน่งฝ่ายปริยัตติ์เป็นคู่กับบริหารนั้น จึ่งได้ทรงพระกรุณาโปรดยกให้เป็นพระคณาจารย์เอกในทางรจนาและแปลพระคัมภีร์ มีตำแหน่งเทียบเท่าเจ้าคณะมณฑล พระธรรมปาโมกข์เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์เรียบร้อย  โดยอากัปปกิริยาสงบสงัดมั่นคงในศีลสมบัติ มิได้ย่อท้อต่ออุมาทิภัย ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพเป็นที่น่าเลื่อมใส ได้กระทำคุณประโยชน์ในทางทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และการศึกษาให้เจริญ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมและนักธรรม เป็นแม่กองสอบนักธรรมสนามมณฑลราชบุรี และสนามสาขาแห่งสนามหลวง เป็นกรรมการสนามหลวงตั้งแต่ยังตั้งกองสอบไล่อยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามตลอดมาจนบัดนี้ และทำกิจในสุตาคมมาด้วยดีไม่ย่อหย่อน ชำระพระไตรปิฎกบาลีอันควรแก้ไขพิมพ์ขึ้นใหม่ และเป็นธุระในการพิมพ์พระคัมภีร์อรรถกถา ชำระต้นฉบับให้ถูกต้องเป็นเบื้องต้น จนตรวจใบพิมพ์เป็นที่สุด อาศัยปรีชาญาณในพระคัมภีร์พุทธสมัยนี้ พระธรรมปาโมกข์ มีพิจิตรปฏิภาณโวหารเทศนาไพเราะสุขุม เป็นที่บูชาเลื่อมใสคุรุสถานีย์แห่งบรรพชิตและคฤหัสถชน ทั้งนี้สมควรจะเป็นที่พระราชาคณะผู้ใหญ่ในตำแหน่งได้

จึ่งมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสิงหนาทดำรัสสั่งให้สถาปนาพระธรรมปาโมกข์ เป็นพระราชาคณะตำแหน่งเจ้าคณะรองธรรมยุตติกา มีราชทินนามตามจารึกในหิรัณยบัฏว่า พระศาสนโศภณ วิมลญาณอดุลยตรีปิฎกคุณประสาธนวิภูสิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสีสถิต ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม ราชวรวิหาร พระอารามหลวง เจ้าคณะรองธรรมยุตติกา มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ
       พระครูปลัดอรรถจริยานุกิจ พิพิธธรรมโกศล วิมลสุตาคม อุตดมคณานุนายก ตรีปิฎกญาณวิจิตร ๑
       พระครูวินัยธร ๑
       พระครูธรรมธร ๑
       พระครูพิสิษฐสรเวท พระครูคู่สวด ๑
       พระครูพิเสษสรวุฑฒิ พระครูคู่สวด ๑
       พระครูสังฆวุฑฒิกร ๑
       พระครูสมุห ๑
       พระครูใบฎีกา ๑
ขอพระคุณทั้งปวงผู้รับราชทินนามเพิ่มอิสริยยศในครั้งนี้ จงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกาณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะ และในพระอารามตามสมควรแก่กำลัง และอิสสริยยศที่พระราชทานนี้ และขอจงจิรสถิติกาล เจริญอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ วุรุฬหิไพบูลย์ในพระพุทธศาสนา เทอญ

นอกจากท่านจะเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเจ้าอาวาสมาถึง ๓๘ ปีแล้ว ยังได้ทำกิจพระศาสนาอีกเป็นอันมาก คือ
       ๑.  เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมในสำนักวัดมกุฏกษัตริยารามมาหลายปี จนศิษย์สามารถเป็นครูสอนแทนได้
       ๒. เป็นครูสอนนักธรรมเป็นองค์แรกของวัดมกุฏกษัตริยาราม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นต้นมา จนศิษย์สามารถเป็นครูสอนแทนได้เช่นเดียวกัน
       ๓. เป็นผู้สอนธรรมวินัยและโดยเฉพาะวินัยบัญญัติแก่ภิกษุสามเณรผู้บวชใหม่ในพรรษามาจนถึงปีสุดท้ายก่อนถึงมรณภาพ
       ๔. เป็นกรรมการสนามหลวงในการสอบบาลี ตั้งแต่ยังตั้งกองสอบไล่อยู่ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๑
       ๕. เป็นกรรมการสนามหลวงฝ่ายนักธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๕๖ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๑
       ๖. เป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ ๒๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๔ จนถึงมรณภาพ (พ.ศ. ๒๔๖๗)
     ๗. เป็นแม่กองธรรมสนามมณฑลราชบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๔ และเป็นแม่กองธรรมสาขาสนามหลวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗
      ๘. เป็นแม่กองธรรมสนามหลวงทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงลาพักเพราะอาพาธ
ท่านเป็นผู้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการสอบนักธรรมหลายอย่าง เช่น กำหนดวันสอบ  การออกข้อสอบ (วิชาละ ๗ ข้อแทน ๑๔ ข้อ)  วิธีสอบ การบัญชี ระเบียบข้อบังคับ หลักสูตร (ใช้พุทธศาสนสุภาษิตเล่ม ๒ สำหรับเรียงความแก้กระทู้ธรรมชั้นโท และเล่ม ๓ สำหรับนักธรรมชั้นเอก)  เริ่มประมวลประกาศระเบียบบัญชี พร้อมทั้งปัญหาและเฉลยจัดพิมพ์เป็นเล่ม สำหรับแจกแก่คณะกรรมการ ซึ่งยังคงใช้ตลอดมาจนถึงทุกวันนี้
      ๙. เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และเป็นรองประธานมหาเถรสมาคมบัญชาการแทนพระองค์เจ้าพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ และได้บริหารงานแทนประธานมหาเถรสมาคมอีกหลายครั้ง
      ๑๐. เป็นสมาชิกสังฆสภาโดยตำแหน่ง ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ และได้รับเลือกเป็นรองประธานสังฆสภา เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๕

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘ ท่านได้รับอาราธนาให้ตรวจชำระคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถากับปกรณ์วิเสส คือ อปทาน พุทธวงศ์ จริยาปิฎก ในคัมภีร์ขุททกนิกาย อัฏฐสาลินี อรรถกถา อภิธัมมสังคณี และมิลินทปัญหา

เมื่อทำบุญอายุครบ ๖๐ ปี ท่านได้หล่อพระพุทธรูปด้วยทองสำริดนั่งขัดสมาธิแบบปาละไว้ ๑ องค์ และสร้างแทนหินอ่อนสำหรับตั้งพระพุทธรูปนั้นไว้ในพระวิหารคด เพื่อเป็นที่บรรจุอัฐิของท่าน

ท่านมีโรคลำไส้ประจำตัว ภายหลังได้อาพาธเกี่ยวกับโรคไต และโรคหัวใจพิการ ถึงมรณภาพที่กุฏิเจ้าอาวาส เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ ตรงกับแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา เวลา ๐๒.๓๐ นาฬิกา  สิริอายุได้ ๗๐ ปี ๕ เดือน ๗ วัน   ๕๑ พรรษา  เป็นเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม ได้ ๒๖ ปี ๔ เดือน ๒๕ วัน

วัดมกุฏกษัตริยารามถือเอาวันมรณภาพของท่านคือวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน เป็นวันบำเพ็ญกุศลถวายอดีตเจ้าอาวาสทุกองค์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๙ เป็นต้นมาตราบจนทุกวันนี้

ชั่วหรือดีที่ทำ กรรมทั้งหลาย
ไม่หนีหายสูญสิ้น ไปถิ่นไหน
ย่อมอยู่ดีกินดี ไม่มีภัย
รวมเก็บไว้ที่จิต ติดตัวเรา
อนิจจังทั้งนั้น ไม่ทันคิด
พอเห็นฤทธิ์อนิจจัง ลงนั่งเหงา
ว่าโอ้โอ๋อกเอย เอ๋ยอกเรา
มามัวเมานิจจัง จีรังกาล
                     
                                                      
....อุทานธรรม (พระศาสนโศภน)





รวบรวมเรียบเรียง โดย กิมเล้ง :http://www.sookjai.com (http://www.sookjai.com)

ข้อมูล
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕
- http://www.mua54.org (http://www.mua54.org)
- http://www.gigcomputer.net (http://www.gigcomputer.net)





.