หัวข้อ: พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๙ : พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 เมษายน 2555 20:22:12 พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ (http://www.watbowon.com/Monk/ja/05/prommunee2.jpg) พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร พระธรรมปาโมกข์ รูปที่ ๙ (ผิน สุวโจ) พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) เกิดในสกุล ธรรมประทีป เป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวนบุตรหญิงชาย ๗ คน ของโยมบิดามารดร โยมบิดาชื่อ นายห้อย โยมมารดาชื่อ นางฮวด เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๓๗ ตรงกับวันศุกร์แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย เวลา ๑๕.๓๐ น. ณ ตำบลบ้านแหลมใหญ่ อำเภอบ้านปรก (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมือง) จังหวัดสมุทรสงคราม ตระกูลเดิมนับถือศาสนาคริสต์ และมีอาชีพทำการประมง ญาติทางฝ่ายบิดาและมารดาของท่านเป็นคริสต์ศาสนิกชนที่เคร่งครัด และมีญาติบางคนได้บวชเป็นบาทหลวงและนางชีในศาสนาคริสต์ด้วย สมัยเมื่อยังเยาว์วัยท่านเคยไปสวดมนต์ไหว้พระในโบสถ์คริสต์กับญาติบ้างกับผู้ปกครองบ้าง และได้เคยรับศีลล้างบาปตามประเพณีของศาสนาคริสต์ แต่ด้วยเหตุที่ศาสนาคริสต์ไม่ต้องด้วยอัธยาศัยของท่าน เพราะเคยได้รับความสลดใจหลายอย่างเกี่ยวกับการกระทำของพวกเด็กชาวคริสต์ที่กระทำต่อพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า เมื่อเห็นพระภิกษุสามเณรเดินบิณฑบาต ก็มักจะพากันกล่าววาจาหยาบคายต่าง ๆ ซึ่งท่านเองก็พลอยไปกับเขาด้วยในบางครั้ง ท่านเล่าว่า เคยฝันเห็นโบสถ์ในพระพุทธศาสนาลอยมาในอากาศบ้าง ฝันเห็นอุบาสกอุบาสิกานุ่งขาวห่มขาวนั่งสวดมนต์กันบ้าง ฝันเห็นตนเองปีนกำแพงเข้าไปในโบสถ์บ้าง ปกติเป็นคนมีนิสัยกลัวบาปตกนรก ไม่เชื่อในคำสอนของศาสนาคริสต์ในข้อที่ว่าฆ่าสัตว์ไม่บาปเพราะพระเจ้าสร้างมาให้เป็นอาหารของมนุษย์ ท่านมีความเห็นว่าคำสอนเช่นนี้ ไม่ยุติธรรม เมื่ออุปนิสัยน้อมมาในทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ในที่สุดท่านจึงได้เข้ารับการบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดพวงมาลัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ขณะมีอายุได้ ๑๖ ปี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ โดยท่านพระครูธรรมธร (แก้ว พฺรหฺมสาโร) เป็นผู้บวชให้ ท่านจึงเป็นคนเดียวในตระกูลที่หันมานับถือพระพุทธศาสนา แล้วเล่าเรียนอยู่ในวัดนั้นเป็นเวลาปีเศษ ก็ลาสิกขาออกไปเรียนภาษาไทยที่วัดเกตุการาม ตำบลโรงหีบ อำเภอบางคณฑี จังหวัดสมุทรสงคราม ครั้นอายุได้ ๑๙ ปี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ ได้กลับเข้ามาบรรพชาเป็นสามเณรเป็นครั้งที่ ๒ ณ วัดเกตุการามโดยมี พระมหาสมณวงศ์ (แท่น โสมทตฺโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชเป็นสามเณรอยู่ ๑ พรรษา อายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดเกตุการามนั้น โดยมีพระพุทธวิริยากร (จิตต์ ฉนฺโน) วัดสัตตนารถปริวัตร เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอุดมธีรคุณ (เพิ่ม อุชุโก) พระครูธรรมธร อินทร ภาสกโร วัดเกตุการาม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วก็อยู่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติที่วัดเกตุการามนั้น ๔ พรรษา ในพรรษาที่ ๓ สอบได้นักธรรมชั้นตรี พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้ย้ายเข้ามาศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงครองวัด โดยอยู่ในความปกครองของพระเทพกวี (มณี ลิมกุล) แต่เมื่อยังเป็นที่พระมหานายก ซึ่งเป็นชาวจังหวัดสมุทรสงครามด้วยกัน การขบฉันในสมัยนั้นนับว่าอัตคัด สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงต้องทรงแบ่งเครื่องเสวยประทานเป็นครั้งคราวเสมอ การศึกษาเล่าเรียนของท่านก็เจริญก้าวหน้าไปเป็นลำดับ สอบได้นักธรรมและเปรียญชั้นต่าง ๆ ในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร ตามลำดับดังนี้ -พ.ศ. ๒๔๖๔ สอบได้นักธรรมชั้นโท และเปรียญธรรม ๓ ประโยค - พ.ศ. ๒๔๖๕ สอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค - พ.ศ. ๒๔๖๖ สอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค - พ.ศ. ๒๔๖๗ สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค - พ.ศ. ๒๔๖๙ สอบได้นักธรรมชั้นเอก ในสมัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงครองวัด ได้โปรดตั้งเป็นพระครูสังฆบริบาล ฐานานุกรมในพระองค์ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระครูวินัยธรรม ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชริญาณวงศ์ทรงครองวัด โปรดให้เลื่อนเป็นพระครูธรรมธร ฐานานุกรมในพระองค์ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๗ ในรัชกาลที่ ๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระสุพจนมุนี เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๗ แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพมุนี เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๘๙ ถึงพ.ศ. ๒๔๙๐ ในรัชกาลปัจจุบัน เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมปาโมกข์ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๐ และทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองที่พรหมมุนี เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ มีสำเนาพระบรมราชโองการสถาปนา ดังนี้ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รังสิต กรมขุนชัยนาทนเรนทร ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยที่ทรงพระดำริเห็นว่า (คราวเดียวกับสถาปนาพระธรรมไตรโลกาจารย์ (อาจ) วัดมหาธาตุ เป็นพระพิมลธรรม) อนึ่ง พระธรรมปาโมกข์ เป็นพระเถระสมบูรณ์ด้วยคุณธรรม มีปรีชาญาณ ได้ศึกษาแตกฉานในมคธปริวรรตน์และอรรถธรรมวินัย สอบไล่ได้สำเร็จภูมิเปรียญธรรม ๖ ประโยค ได้เป็นฐานานุกรมผู้ใกล้ชิดในสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตำแหน่งพระครูสังฆบริบาล และพระครูธรรมธร ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระราชาคณะตำแหน่งพระสุพจนมุนี พระเทพมุนี และพระธรรมปาโมกข์ โดยลำดับ ก็ได้รับภาระพระพุทธศาสนา และสังวรรักษาสมณวัตรระเบียบปฏิบัติประเพณีราชการได้เรียบร้อยสมควรแก่ตำแหน่งเป็นอย่างดี มีความอุตสาหะวิริยะอย่างแรงกล้าในการประกอบพุทธศาสนกิจ เป็นหิตานุหิตประโยชน์ แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล อาทิ ในด้านการศึกษา เริ่มด้วยเป็นเจ้าหน้าที่ทะเบียนแห่งสำนักเรียน เป็นอุทเทศาจารย์สอนพระปริยัตติธรรม และเป็นกรรมการจัดการศึกษาแห่งสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นผู้ช่วยแม่กองสอบนักธรรมสนามมณฑลอยุธยาและสนามมณฑลราชบุรี เป็นผู้ช่วยแม่กองสอบนักธรรมและบาลีสนามหลวง เป็นกรรมการตรวจสอบนักธรรมและบาลีสนามหลวง นอกจากนี้พระธรรมปาโมกข์ยังได้รับภาระเป็นหัวหน้าศาสนาจารย์สอนธรรมจรรยาแก่นักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ คือ โรงเรียนมัธยมวัดบวรนิเวศ โรงเรียนสตรีวิทยา โรงเรียนเบญจมราชาลัย โรงเรียนสวนสุนันทาวิทยาลัย โรงเรียนเพ็ชรบุรีวิทยาลงกรณ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนลีฟวิง อนึ่งกรณียกิจเกี่ยวด้วยมหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์อันเป็นบ่อเกิดแห่งการศาสนศึกษา พระธรรมปาโมกข์ก็ได้รับภาระเป็นกรรมการ เป็นอนุกรรมการชำระแบบเรียน เป็นกรรมการอำนวยการออกหนังสือธรรมจักษุและกรรมการตรวจเลือกพระสูตร เป็นหัวหน้ากองบำรุงพระปริยัตติธรรม เป็นหัวหน้ากองบัญชาการ เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิ เป็นประธานกรรมการสภาการศึกษามหาวิทยาลัยทางพระศาสนา พระธรรมปาโมกข์เป็นผู้ประกอบด้วยอุตสาหะวีรยาธิคุณ ได้พยายามศึกษาค้นคว้าหลักธรรมในคัมภีร์บาลีปกรณ์ทั้งหลาย จนเข้าถึงความเป็นผู้ฉลาดสามารถในคันถธุระวิธีพุทธสมัย ตั้งอยู่ในวิษัยพหุลศรุตบัณฑิต รอบรู้แตกฉานเชี่ยวชาญในพระปริยัติธรรมอย่างซาบซึ้งถึงขนาดสามารถจัดการศึกษาเผยแผ่พระพุทธศาสนาและอนุศาสน์อบรมสั่งสอนสิกขกามบุคคล ตลอดจนการชำระตำราแก้ไขทำแบบเรียนให้เป็นฉะบับที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าของนักศึกษาเป็นอันมาก นับว่าได้บำเพ็ญกรณียกิจซึ่งยากที่บุคคลทั่วไปจะพึงกระทำ นำมาซึ่งความเจริญงอกงามไพบูลย์ เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่อเนกนิกรชนพุทธบริษัท ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ และบรรพชิตดั่งพรรณนามา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดยกเป็นพระคณาจารย์เอกในทางคันถธุระ ดั่งปรากฏอยู่แล้ว ในส่วนบริหาร พระธรรมปาโมกข์ก็เริ่มรับภาระปฏิบัติมาแต่ครั้งอยู่ในระหว่างการศึกษาเบื้องต้น คือรับตำแหน่งเป็นฐานานุกรมในสมเด็จพระมหาสมณเจ้าดังกล่าวแล้ว เป็นเสนาสนะคาหาปกะและปฏิคมแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นกรรมการและรองประธานกรรมการคณะธรรมยุตติกา เป็นกรรมการเถรสมาคม เป็นกรรมการร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช ๒๔๘๔ เป็นพระอุปัชฌายะในคณะธรรมยุตติกา เป็นสมาชิกสังฆสภา และเป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ พระธรรมปาโมกข์ได้บริหารกิจการตามหน้าที่ ซึ่งได้รับภาระดังกล่าวได้เรียบร้อยเป็นผลดีตลอดมา จึงประจักษ์อยู่ทั่วไปว่าเป็นผู้เจริญยิ่งด้วยคุณธรรมวิทยาสามารถ มีปรีชาฉลาดในการอบรมสั่งสอนศีลธรรมจรรยาเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญภิยโยภาพไปตลอดจิรัฏฐิติกาล บัดนี้พระธรรมปาโมกข์ก็เจริญด้วยวรรษายุกาล สมบูรณ์ด้วยรัตตัญญูเถรกรณธรรม มั่นคงอยู่ในพรหมจรรย์เนกขัมมปฏิบัติ เป็นอจลพรหมจริยาภิรัต มีวัตตจริยาเป็นที่น่าเลื่อมใส เป็นหลักอยู่ในคณะธรรมยุตติการูปหนึ่ง จึงสมควรยกย่องให้ดำรงในสมณฐานันดรสูงขึ้น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้สถาปนาพระธรรมปาโมกข์เป็นที่รองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัณยบัฏว่า พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฎกธรรมาลงกรณ์ อุดมคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร พระอารามหลวง มีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฑฒนพรหมจริยคุณ สมบุณคณาธิปัติ วินยานุวรรตสังฆานุนายก ปิฎกธรรมรักขิต ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพุทธพากยประกาศ ๑ พระครูคู่สวด ๑ พระครูธรรมศาสนอุโฆษ ๑ พระครูคู่สวด ๑ พระครูสังฆวิจิตร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑ ขออาราธนาพระคุณ ผู้ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณฐานันดรเพิ่มอิสสริยยศในครั้งนี้ จงรับธุระพระพุทธศาสนาเป็นภาระสั่งสอน ช่วยระงับอธิกรณ์ และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะและในพระอารามตามสมควรแก่กำลังและอิสสริยยศซึ่งพระราชทานนี้ และจงเจริญ อายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสด์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนา เทอญ ประกาศ ณ วันที่ ๔ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พระพรหมมุนี (ผิน) เป็นพระเถระที่มีบทบาทสำคัญในการคณะสงฆ์ด้านต่าง ๆ เป็นอันมาก ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการคณะสงฆ์มาโดยลำดับ อาทิ - พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นพระคณาจารย์เอกทางคันถธุระ - พ.ศ. ๒๔๘๖ เป็นผู้อำนวยการมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ - พ.ศ. ๒๔๘๘ ร่วมกับสุชีโวภิกขุ (คืออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ) ดำเนินการจัดตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งประกาศตั้งเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ นับเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของไทย และได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มาตั้งแต่เริ่มตั้งจนตลอดชนมชีพของท่าน - พ.ศ. ๒๔๘๕ เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ - พ.ศ. ๒๔๙๓ เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ สมัยที่ ๒ - พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การเผยแผ่ สมัยที่ ๓ - พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็นเจ้าคณะธรรมยุตภาค ๑-๒-๖ - พ.ศ. ๒๕๐๑ เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ - พ.ศ. ๒๔๙๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พระพรหมมุนี (ผิน) ได้เป็นพระอาจารย์ถวายธรรมวินัยแด่พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดเวลาแห่งการทรงผนวช พระพรหมมุนี (ผิน) ปกครองวัดบวรนิเวศวิหารอยู่ ๔ ปี ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๔ สิริชนมายุได้ ๖๖ ปี ๘ เดือน รวบรวมเรียบเรียง โดย กิมเล้ง : http://www.sookjai.com (http://www.sookjai.com) ข้อมูล - อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕ - http://www.watbowon.com (http://www.watbowon.com) . |