[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 26 เมษายน 2555 19:51:36



หัวข้อ: พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๑๒ : สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม)
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 26 เมษายน 2555 19:51:36
พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์



(http://www.sookjai.com/index.php?action=dlattach;topic=33354.0;attach=2234;image)

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม  อุฑาฒิโม) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร



พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๑๒
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม  อุฑาฒิโม)



สมเด็จพระมหาวีรวงศ์   นามเดิมว่า ทิม  ฉายา  อุฑาฒิโม  นามสกุล พันธุเลปนะ  เกิดในรัชกาลที่ ๕  ในวันอาทิตย์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะโรง  จุลศักราช ๑๒๖๖  ตรงกับวันที่ ๑๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๔๗  ณ บ้านดอนสะแก  ตำบลโคกโคเฒ่า  อำเภอเมือง  จังหวัดสุพรรณบุรี  โยมบิดาชื่อ อ่อน  โยมมารดาชื่อ เทศ  ชื่อสกุลเดิมว่า พันทา  ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น พันธุเลปนะ  เป็นบุตรคนที่ ๗  ในจำนวนพี่น้อง ๙ คน

เมื่ออายุได้ ๙ ปี ไปอยู่ที่วัดชายทุ่ง  ตำบลโคกหม้อ  บ้านนี้เป็นภูมิลำเนาเดิมของบรรพบุรุษ ได้เริ่มต้นเล่าเรียนศึกษาที่นั่น โดยมีอาจารย์ขันทองเป็นผู้ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด  พออายุได้ ๑๑ ปี ก็บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดชายทุ่งนั่นเอง  และได้เรียนอักษรสมัยอยู่ในสำนักพระอาจารย์แสง สมภารวัดชายทุ่ง จนมีความรู้ขั้นต้นสมควรแก่วัย  บวชเณรอยู่ได้ ๑ ปี ก็ลาสิกขา

พระคุณท่านมาอยู่วัดราชประดิษฐ์ฯ นี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘  ซึ่งยังเยาว์วัยมาก  โดยอาจารย์แสงแห่งวัดชายทุ่ง ได้นำพามาฝากเป็นศิษย์ของท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (แย้ม  อุปวิกาโส)  แต่ครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี คุณแม่ทองดี ข้าหลวงในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตน์ศิริเชษฐ์ (พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดี  พระราชธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)  เป็นผู้ให้อุปการะอบรมสั่งสอนในตอนนั้น

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๓  ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดราชประดิษฐ์ฯ และได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมและความรู้วิทยาการสมัยใหม่ เพิ่มเติมจากที่ได้เคยเล่าเรียนมาบ้างแล้วนั้น ลุถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๗  อายุครบ ๒๐ ปี ก็ได้อุสมบทที่วัดราชประดิษฐ์ฯ นี้เอง พระพรหมมุนี (อุปวิกาสเถร)  เป็นพระอุปัชฌายะ  พระอมรโมลี (อาบ อุปคุตฺโต)  วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ แล้วได้สอบความรู้พระปริยัติธรรมทั้งนักธรรมและบาลี จนได้เป็นเปรียญ ๕ ประโยค นักธรรมโท แล้วปฏิบัติหน้าที่เป็นอาจารย์สอนธรรมและบาลีของสำนักเรียนนี้ควบคู่ไปกับปฏิบัติศาสนกิจอื่น ๆ อีกเพื่อสังคมส่วนรวม

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๘  พระคุณท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯ  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระเมธาธรรมรส เมื่อวันที่ ๑  มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙  ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล


เมื่อถึงรัชกาลปัจจุบัน ปี พ.ศ. ๒๔๙๐  ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์  มีศักดิ์และสิทธิ์ในการให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลบุตรได้อย่างถูกต้องตามพระวินัยพุทธานุญาตและตามกฎหมายคณะสงฆ์  และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม

ครั้นถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๑  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระเทพเมธากร

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๙  ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปาโมกข์

ครั้นมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๐  จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระธรรมปาโมกข์ ขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามที่จารึกในหิรัณยบัฏว่า “พระธรรมปัญญาจารย์ ปริยัติญาณโสภณ  วิมลศีลาจารวัตร  พุทธบริษัทปสาทกร  สุนทรธรรมวินัยวาที  ตรีปิฏกวิภูสิต ยติคณิสสร  บวรสังฆาราม  คามวาสีสถิต”  ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร พระอารามหลวง....

พระธรรมปัญญาจารย์ ดำรงตำแหน่งบริหารการพระศาสนาและปฏิบัติงานเกี่ยวกับกิจการคณะสงฆ์หลายอย่าง นอกจากเป็นเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯ แล้ว ยังเป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฝ่ายบรรพชิต  กรรรมการมหาเถรสมาคมคณะธรรมยุต  กรรมการหาทุนในโครงการพัฒนาลุมพินีขององค์การสหประชาชาติ  เป็นประธานด้านสาธารณูปการ  สร้างวัด  สร้างโบสถ์  สร้างพระพุทธรูปประธานในต่างจังหวัด ฯลฯ ลุถึง ปี พ.ศ. ๒๕๓๖  ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาพระธรรมปัญญาจารย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ  มีราชทินนามตามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จาตุรงคประธานวิสุต  พุทธกิจโจปการวัฒนานุการี คัมภีรญาโณภาสราชโหราธิบดี  ศรีธรรมวิสุทธอุปวิกาสวรางกูร  ไพบูลปาพจนวราลงกรณ์  ธรรมยุตติณิสสร  บวรสังฆาราม  คามวาสี  อรัญยวาสี”  สมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ มีฐานานุศักดิ์ตั้งฐานานุกรมได้ ๑๐ รูป คือ
- พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์ สุนทรธรรมปฏิภาณนายกปิฎกธรรมรักขิต ๑
- พระครูวินัยธร ๑
- พระครูธรรมธร ๑
- พระครูวิมลสรสิทธิ์   พระครูคู่สวด ๑
- พระครูสิลิฐสรคุณ   พระครูคู่สวด ๑
- พระครูบรรณวัตร   พระครูรองคู่สวด ๑
- พระครูพันธกิจ   พระครูรองคู่สวด ๑
- พระครูสังฆบริคุต ๑
- พระครูสมุห์ ๑
- พระครูใบฎีกา ๑

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่  ได้ทรงสมณเพศประพฤติพรตพรหมจรรย์ คือ ระบอบการครองชีวิตอันประเสริฐที่ทุกข์เข้าถึงได้โดยยาก  เจริญชนมายุจนได้เป็นพระเถระผู้ใหญ่แล้ว  จริยาวัตรที่ท่านประพฤติปฏิบัติมาสมกับเป็นพระเถระพระผู้ใหญ่  ซึ่งเป็นหลักในพระศาสนาผู้มีเกียรติคุณเพียบพร้อมด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิจริง ๆ ท่านยิ่งเจริญด้วยวัยมากขึ้น คุณธรรมในใจก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่าท่านเป็นผู้ชอบระเบียบประณีต มีอัธยาศัยงาม ใจสูงและมั่นคงจริง ๆ แม้จะอยู่ในปัจฉิมวัยชราภาพมากแล้ว แต่ดูท่านกระฉับกระเฉงคล่องแคล่วแข็งแรงสมบูรณ์ เปล่งปลั่งผ่องใสอิ่มเอิบกระปรี้กระเปร่า ความทรงจำก็ดีมากยังไม่เลอะเลือน ประสาทหูประสาทตายังอยู่ในสภาพดี ซึ่งหายากในวัยของคนอายุปูนนี้ หลายคนไม่ยอมเชื่อว่าพระเดชพระคุณจะมีชนมายุถึงเกือบ ๙๖ ปี
 
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์มีชื่อเสียงมากในทางโหราศาสตร์ ท่านมีความรู้แตกฉานทางพยากรณ์ศาสตร์เป็นพิเศษ  ทั้งมีผู้พอใจในการพยากรณ์ของท่านมากมาย พระเดชพระคุณท่านเจริญรอยตามพระอุปัชฌาย์ของท่าน คือท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (อุปวิกาสเถร)  ผู้มีความชำนาญด้านโหราศาสตร์เป็นเยี่ยมมาก  จนถือกันว่าเป็นปรมาจารย์แห่งโหราศาสตร์ทีเดียว เรื่องนี้เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักโหราศาสตร์และในวงการของผู้สนใจศึกษาในศาสตร์นี้ ทั้งในสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่และยุคต่อมา



ศาสนกิจ

๑.  งานด้านปกครอง
ได้รับภาระและหน้าสำคัญเกี่ยวกับการบริหารหมู่คณะ และคณะสงฆ์ส่วนรวม ได้เป็นผู้จัดการบริหารวัดราชประดิษฐ์ฯ ในตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๘ เป็นต้นมา

 ๒.  งานเผยแผ่พระศาสนา
พระเดชพระคุณได้แนะนำสั่งสอนคนทุกชั้น ทุกเพศทุกวัย ให้เกิดศรัทธาปสาทะและสัมมาทิฏฐิ  นำคนให้มีสัมมาทิฏฐิในทางพระพุทธศาสนา  ในชีวิตและหลักในการดำเนินชีวิตอันถูกต้อง งานเผยแผ่อีกประการหนึ่ง คือ การจัดส่งพระเปรียญ พระนักธรรม พระฐานานุกรม ผู้ทรงความรู้ความสามารถไปเป็นครูอาจารย์ สอนธรรม สอนบาลี ช่วยงานพระศาสนา ปฏิบัติกิจคณะสงฆ์ด้านต่าง ๆ  ในสำนักต่าง ๆ และในต่างจังหวัด ซึ่งไม่เพียงทำหน้าที่ศาสนทายาทของพระสงฆ์เท่านั้น  ยังนำแบบแผนและขนบธรรมเนียมอันดีงามของวัดไปเผยแผ่ให้ปรากฎในสำนักอื่นอีกด้วย

๓.  เรื่องการศึกษา
ท่านเป็นพระเถระที่ใฝ่การศึกษาหาความรู้อย่างมาก และตลอดเวลา ไม่ว่าวิชาการสมัยใหม่อื่นใดไม่ขัดกับพระธรรมวินัยไม่ผิดกฎกติกาของวัด อันจะส่งตนให้เจริญก้าวหน้าและเป็นประโยชน์แก่ชาติ พระศาสนา และส่วนรวมต่อไป

๔. งานนวกรรมก่อสร้างและปฏิสังขรณ์
ในฐานะเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐ์ฯ  พระเดชพระคุณได้ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบประการหนึ่งของภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาส  ตามที่ศาสดาตรัสไว้ในปัญจนนิบาต อังคุตตรนิกายว่า สามารถปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมให้สวยงามเป็นรมณียสถาน เรียกว่ารู้จักซ่อมแซมเสนาสนะอันเป็นที่อยู่อาศัยไม่ปล่อยปละละเลยเอาไว้ เพราะหน้าที่ประการนี้นั่นเอง จึงทำให้มีเสนาสนะที่อยู่อาศัยกุฏิสงฆ์สังฆาวาส  สะอาดเรียบร้อยดี มีอาคารโรงเรียนพระปริยัติธรรมแบบถาวร มีห้องสมุด ห้องประชุม ห้องพักครูอาจารย์ พร้อมมีเสนาสนะสงฆ์แบบสมัยใหม่ให้ความสะดวกสบายเป็นเสนาสนะสัปปายะ ไม่ลำบากในการบำเพ็ญเนกขัมมปฏิบัติ

๕. งานด้านสาธารณูปการ
พระเดชพระคุณได้แผ่ขยายงานสาธารณูปการ สร้างวัด สร้างพระอุโบสถ สร้างพระประธาน จัดสร้างสาธารณูปโภคในที่อื่น ๆ กระจายงานออกไปถึงชนบทกันดารในต่างจังหวัดอีกมากมาย เพียงแต่ท่านออกปากชักชวนผู้มีศรัทธาไปร่วมสร้างที่โน่น ปฏิสังขรณ์ที่นี่ ซ่อมอุโบสถที่จังหวัดโน้น สร้างวัดที่จังหวัดนี้ เหล่าทายกทายิกาผู้ใจบุญทั้งหลายก็เต็มใจร่วมบำเพ็ญกุศลตามกำลังเสริมสร้างบารมีกับท่านพระเดชพระคุณ นำพุทธบริษัทบำเพ็ญสาธารณูปการแก่วัดวาอารามต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลดีแก่ชาติและศาสนา ที่สำคัญก็มี
๑. วัดเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
๒. วัดพรหมรังสี  อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี
๓. วัดนาบุญเฉลิมราษฎร์  บางกระดี่ อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
๔. วัดทรงธรรม อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี
๕. วัดวชิราลงกรณ์ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
๖. วัดอมรินทราราม อ.เมือง จ.ราชบุรี
๗. วัดไตรรัตนาราม อ.เมือง จ.สุรินทร์
๘. วัดสาลโคดม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี
๙. วัดชายทุ่ง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
๑๐. วัดบางกุ้ง หรือวัดบางหมัน อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ฯลฯ

สำหรับวัดโคกโคเฒ่า อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี อันเป็นวัดบ้านเกิดนั้น พระเดชพระคุณก็ช่วยอุปการะสม่ำเสมอตามกาลอันสมควร นำกฐินไปทอดบ้าง รวบรวมจตุปัจจัยถวายวัดไม่เจาะจงว่าให้สร้างหรือปฏิสังขรณ์อะไร   แล้วแต่ท่านเจ้าอาวาสจะนำไปใช้จ่ายตามที่เห็นเหมาะเห็นควร

เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ครั้งเป็นพระธรรมปัญญาจารย์ เคยอาพาธด้วยโรคทางเดินอาหาร คราวอายุก่อน ๙๐ ปี และเป็นอาพาธทางมือไม่ทำงานขาดความรู้สึก ได้ทำการพยาบาลจากโรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า  และทำการรักษากายวิภาคบำบัดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตึก ภปร. อาการทุเลาหายอาพาธปี พ.ศ. ๒๕๓๖  เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าสถาปนาเป็น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และเป็นมหาเถรสมาคมโดยตำแหน่ง และได้ปฏิบัติศาสนกิจ ประชุมมหาเถรสมาคมในตามวาระบางคราว แต่เมื่ออายุท่านเพิ่มขึ้น จึงได้พักการประชุม  แต่ในทางมหาเถรสมาคมได้ส่งรายงานการประชุมถึงเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์มาตลอด แต่ด้วยวัยชราสูงอายุต้องเข้าออกโรงพยาบาลตรวจร่างกายเสมอ และได้พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นคนไข้หลวงหลายครั้ง แต่ด้วยวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๓  พยาบาลจึงต้องนำท่านเข้าโรงพยาบาลโดยฉันพลันอีกครั้งหนึ่ง  โดยนำสมเด็จเข้ารับการรักษาที่ห้อง ไอ.ซียู. ด้วยอาการไม่รู้สึกตัว  นายแพทย์รุ่งนิรันดร์ พร้อมพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่โรงพยาบาลทำการช่วยชีวิตให้ระบบหายใจทำงานได้ ทั้งได้ใช้เครื่องช่วยหายใจ (ออกซิเจน)  และถวายอาหารและเภสัชทางสายยาง เนื่องจากชราภาพ ทั้งขาดความรู้สึกและโรคแทรกซ้อน จึงทำให้ร่างกายไม่รับทั้งอาหารและเภสัช  นายแพทย์ทราบว่าเป็นการทรมานต่อสังขารและร่างกายเจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์

เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์มรณภาพที่โรงพยาบาลศิริราช  วันอังคารที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๓  เวลา ๑๔.๓๐ น. ด้วยอาการสงบ  รวมการพักรักษาครั้งสุดท้ายที่โรงพยาบาลศิริราช ๗ วัน รวมอายุ ๙๖ ปี







กิมเล้ง :  http://www.sookjai.com (http://www.sookjai.com)
ข้อมูลคัดลอกจาก
- อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน), ๒๕๔๕









.