หัวข้อ: สมาธิกับญาน? :ภูเตศวร เริ่มหัวข้อโดย: เงาฝัน ที่ 24 กรกฎาคม 2555 23:35:52 สมาธิกับญาน? (http://www.aia.or.th/practice.jpg) สิ่งที่อยากจะพูดจะกล่าวในวันนี้คือคำว่า สมาธิกับฌาน ที่เราท่านต่างได้ยินได้ฟังกันมาชินหู โดยเฉพาะเวลาสนทนาธรรมและร่วมปฏิบัติธรรม เช่น การปฏิบัติธรรมให้ได้ผลต้องทำสมาธิภาวนา หรือคุณได้สมาธิขั้นไหนแล้ว จิตตั้งมั่นในสมาธิแค่ไหน ฯลฯ ส่วนฝ่ายหนึ่งอาจถนัดอยู่กับ การกล่าวที่เกี่ยวข้องกับ ‘ฌาน’ เช่นพระสงฆ์องค์นี้องค์นั้นได้ฌานแล้ว คุณได้ฌานขั้นไหน ฯลฯ ดังกล่าวข้างต้นก็ยังมีอีก “พระองค์นี้ท่านสำเร็จสมาธิขั้นสูง” เพราะประการดังกล่าว จึงทำให้หลายคนสงสัย ‘ฌาน’ กับ ‘สมาธิ’ ต่างกันอย่างไรกันแน่ เพราะบางครั้ง ในการปฏิบัติจิตได้กล่าวถึงสมาธิ บางครั้งบางกล่าวถึงฌาน จนยากแยกแยะกลายเป็นความสับสนไป ครั้งแรกไม่อยากเขียนถึงเรื่องนี้ เพราะหลายปีที่ผ่านมา ธรรมะ ๕ นาทีได้เดินทางมายาวไกลจนรู้สึกว่าปัญหาแห่งคำถามนี้เป็นปัญหาที่ตื้นเขิน แต่เมื่อทบทวนไปมาหลายคราก็ได้ความรู้ว่า ‘ปลาใหญ่มักตายน้ำตื้น’ เหมือนหลาย ๆ ครั้งของการปฏิบัติภาวนาที่ไม่ประสบความสำเร็จ มักเกี่ยวข้องกับความวิตกลังเลสงสัยในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เสมอ เหมือนเครื่องยนต์กลไกใหญ่ที่ไม่อาจทำงานได้ เพียงแค่เม็ดทราย เล็ก ๆ เข้าไปอยู่ในเครื่อง สมาธิและฌาน ในพระพุทธศาสนามีมากมายหลายประเภทและพิสดาร แต่ที่พระบรมศาสดาทรงตรัสไว้เป็นมาตรฐานในการเจริญเพื่อทิพยอำนาจนั้น ได้แก่ ฌาน ๔ ประการ ที่เรียกตามลำดับว่า ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ‘ฌาน ๔ ประการนี้ตรัสเรียกว่า สัมมาสมาธิ’ สมาธิกับฌาน มีความหมายกว้างแคบกว่ากัน คือสมาธิมีความหมายกว้างกว่าฌาน จากความสงบของใจตั้งแต่ขั้นต่ำ ๆ เพียงชั่วขณะหนึ่งจนถึงขั้นสงบสูงสุดไม่มีอารมณ์กำหนดสามารถเรียกว่าสมาธิได้ทั้งนั้น เช่น ความสงบเล็กน้อยชั่วขณะ เรียกว่า ขณิกสมาธิ สมาธิระดับนี้เกิดขึ้นได้น้อย เช่นเวลาทำงานอ่านหนังสือ ขับรถอย่างมีสติจดจ่อ เป็นสมาธิที่มีได้แต่สามัญชนทั่วไป อุปจารสมาธิ ความสงบใกล้ต่อความเป็นฌาน หรือที่เรียกว่าสมาธิขั้นเฉียดฌาน อัปปนาสมาธิ ความสงบแน่วแน่เป็นฌาน สุญญตสมาธิ สงบว่างโปร่ง อนิมิตตสมาธิ สงบไม่มีอารมณ์ปรุงแต่ง อัปปณิหิตสมาธิ สงบไม่มีที่ตั้งลงคือหาฐานรองรับความสงบเยี่ยงนั้นไม่มี สมาธิเหล่านี้เป็นสมาธิชั้นสูงมีได้แก่คนบางคนเท่านั้น ส่วน ‘ฌาน’ มีความหมายจำกัดวงแคบ ๆ คือมีองค์หรืออารมณ์เป็นเครื่องกำหนดโดยเฉพาะเป็นอย่าง ๆ ไปเช่น ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน สี่อย่างนี้เป็นรูปฌาน สูงขึ้นไปเป็นอรูปฌาน เช่นอากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญยตนะ อากิญจัญญายตนะ และเนวสัญญานาสัญญายตนะ ข้อกำหนดแห่งฌานมีอารมณ์ขึ้นต้นไม่กำหนด แต่มีองค์เป็นเครื่องหมาย คือจิตเพ่งพินิจจดจ่ออยู่ในอารมณ์เดียวจนสงบลง มีองค์แห่งฌานปรากฏขึ้นครบห้าก็เป็นปฐมฌาน ดังคำแปลจากพระบาลีดังนี้ สงัดเงียบจากกามสงัดเงียบจากอกุศลธรรมแล้วเข้าปฐมฌาน ซึ่งมีวิตก วิจาร มีปีติและสุขเกิดจากความวิเวกอยู่ ทุติยฌาน ระงับวิตก วิจาร แล้วเข้าทุติยฌาน ซึ่งมีความผ่องใสภายใน มีความเด่นเป็นดวงเดียวของจิตใจมีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ ตติยฌาน สำรอกปีติแล้วเข้าตติยฌาน ซึ่งเป็นผู้วางเฉย มีสติสัมปชัญญะและเสวยสุขด้วยกายที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า ผู้วางเฉยมีสติอยู่เป็นสุขดังนี้ จตุตถฌาน ละลุขละทุกข์ได้ ดับโสมนัสโทมนัสแล้วเข้าจตุตถฌาน ซึ่งไม่มีสุขไม่มีทุกข์ มีแต่อุเบกขากับสติและความบริสุทธิ์ของจิตเท่านั้น คำว่า ‘อารมณ์ของฌาน’ ยังต้องทำความเข้าใจต่ออีกถ้าผู้บำเพ็ญกำหนดอารมณ์ขั้นต้น โดยมี อสุภะเป็นอารมณ์เรียกว่าอสุภฌาน เมตตาฌาน กำหนดเมตตาเป็นอารมณ์ เรียกว่าเมตตาฌาน มีสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ อนุสสติเป็นอารมณ์ เช่นพุทธานุสติ เทวตานุสติ อานาปานสติ เป็นต้น อุตส่าห์ว่ามาถึงตรงนี้แล้วก็ขอพูดถึงการเข้าถึงฌานแบบง่าย ๆ เข้าใจง่าย ๆ กันดีกว่า ว่าการจะทำอะไรให้สำเร็จได้ ก่อนอื่นก็ต้องทำความเข้าใจในอุปสรรคนั้นเสียก่อน อุปสรรคแห่งฌานมี นิวรณ์ ๕ คือ ‘กามฉันทะ’ ความติดใจในกามคุณ ‘พยาบาท’ คือความขุ่นแค้น ‘ถีนมิทธะ’ ความท้อแท้ซึมเซา ‘วิจิกิจฉา’ ความลังเลสงสัย กิเลสห้าประการนี้แม้อย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาครองใจ จะเสียอำนาจ เสียกำลัง เสียปัญญาไปทันที ในนิวรณ์ ๕ ข้อแรกคือกามคุณ และกามคุณมีอยู่ ๕ อย่าง คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ พระพุทธเจ้าตรัสเรียกกามคุณนี้ว่า ‘สัมพาธ’ คือสิ่งคับแคบ เมื่อใจไปอยู่กับสิ่งคับแคบก็เกิดความรู้สึกคับแคบขึ้นในใจ ฉะนั้น ฌานตั้งแต่ปฐมฌานไป ตรัสเรียกว่า ‘โอกาสาธิคม’ คือความว่างโปร่งหรือช่องว่าง ใจที่เข้าไปถึงความสงบว่างโปร่ง เมื่อกามคุณทั้ง ๕ ยังมีอำนาจยั่วใจให้เกิดกำหนัด ขุ่นแค้น ท้อใจ อ่อนใจ ทำให้ใจอ่อนเปลี้ย เป็นสองจิตสองใจขึ้น เหมือนทางแยกที่ไม่รู้จะไปทางไหนถูก กามคุณและกิเลสลักษณะดังกล่าวนี้ยังมีอำนาจเหนือใจ จิตจะสงบเป็นสมาธิเป็นฌานไม่ได้อย่างแน่นอน และถ้าเมื่อใดกามคุณ ๕ สงบลง นิวรณ์ ๕ ดังกล่าวถูกขจัดได้ เมื่อนั้นจิตจะสงบเป็นสมาธิเป็นฌาน ถึงสภาพโปร่งใจที่เรียกว่าโอกาสาธิคมทันที ปฐมฌานที่กำหนดลักษณะเบื้องต้นว่า สงัดจากกามและอกุศลธรรมก็หมายถึงสงัดจากกามคุณ ๕ นิวรณ์ ๕ นั่นเอง ใครทำได้อย่างนี้ในเวลาปฏิบัติสมาธิภาวนานั่นแหละถึงจะเรียกว่า ‘ได้ฌาน’ ครับผม ไม่ใช่เห็นอะไรวูบ ๆ วาบ ๆ ก็เหมาส่ง ตัวข้าสำเร็จแล้ว รู้แล้ว ทั้ง ๆ ที่ความจริงข้านั่นแหละเสร็จตัวกิเลสซะแล้ว เพราะมัวแต่ปรุงแต่ง วิตกวิจารณ์ไปตามอารมณ์ปราศจากสมาธิสัมปชัญญะอันแน่วแน่คอยควบคุม ท้ายสุดกลายเป็นนั่งปรุงนั่งแต่งหลงผิดเสียเวลาอันมีค่าไปเปล่า ๆ ! (http://www.dhamma5minutes.com/product_images/dhamma5minutes_com_P190_s_3629.jpg) ภูเตศวร http://www.dhamma5minutes.com/webboard.php?id=38&wpid=0019 |