[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 15 กรกฎาคม 2553 14:05:08



หัวข้อ: อานิสงส์จะเกิดผลต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติเท่านั้น (หลวงปู่พุทธอิสระ)
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 15 กรกฎาคม 2553 14:05:08
[ บทความเดิมโดย อ.มดเอ็กซ์ บอร์ดเก่า ]


อานิสงส์จะเกิดผลต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติเท่านั้น

(http://www.dhamma-isara.org/asset/banner1_r1_c1.jpg) (http://"http://www.dhamma-isara.org/index.htm")


จงตั้งใจสลัดอารมณ์ ความวุ่นวายใด ๆ ทั้งหลายที่เป็น “ ขยะหยากเยื่อหยากไย่ ” ของความคิด สติ และดวงจิต สลัดให้หลุด หยุดมันให้ได้ แล้วก็สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ดูดเอากลิ่นอายแห่งความเบิกบาน พลังแห่งชีวิต และเสรีภาพอันยิ่งใหญ่ ซึ่งเป็นเสรีภาพที่เราปลดปล่อย ขยะ “ หยากเยื่อหยากไย่ ” ฝุ่นละอองแห่งดวงจิต รวมทั้งความคิดทั้งหลายได้ เราจะเล่นเกม และเล่นสนุกกับกิริยาท่าทาง และกระบวนการแห่งความคิด อันเยอะแยะมากมาย ลองมาหาความเพลิดเพลินเบิกบานสำราญใจด้วยการวางภาระทั้งหลายให้จบสิ้น และหมดลงไปในบัดดล กลายเป็นบุคคลผู้เปล่า ผู้ปราศจาก เปล่าและว่าง ปราศจากความคิดอ่านทั้งปวงผนึกกายและใจให้แนบแน่นกันเป็นหนึ่งเดียว โดยไม่ให้ความคิดมาแยกออกจากกาย ผูกกายกับใจให้รวมเป็นหนึ่ง ฝึกได้ขนาดนี้ อย่างนี้และถึงขั้นนี้ จนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต เราจะได้มีสติดำรงมั่นในจิตวิญญาณที่ใสสะอาด มีทางแห่งสุขคติภพเป็นที่ไปในวาระสุดท้ายของชีวิต

เมื่อจิตเราไม่เศร้าหมอง ไม่ขุ่นมั่ว ไม่ฝักใฝ่ ไม่ดิ้นรน ไม่ขัดข้อง ไม่กระเสือกกระสน และไม่แสวงหา ถือว่าเป็นหนทางปิดกั้น “ อบายภูมิ ” เพราะพระศาสดาทุกพระองค์ทรงกล่าวว่า “ ผู้ไม่ดิ้นรนจนเกินพอดี ไม่กระเสือกกระสนแสวงหา คือผู้สันโดษยินดีในสิ่งที่พึงมีพึงได้ ย่อมพบทางสบาย ผ่อนคลายอิสระ สัตว์ทั้งหลายที่เที่ยวเดือดร้อนดิ้นรน กระเสือกกระสนและแสวงหานั้น เป็นกิริยาของอสูรกาย เดรัจฉาน เปรต และสัตว์นรก รวมทั้งกริยาอาการของผู้ทุกข์ไม่รู้จบสิ้น.. ”

สมณะ นักบวช พระ หรือผู้สงบ ผู้หยุด ผู้ไม่วิ่ง ผู้สันโดษ ผู้ไม่แสวงหา เป็นสภาวะของ “ เนกขัม ” ถือการออกบวชแห่งจิตวิญญาณเป็นหนทางอันบริสุทธิ์ใสสะอาด เป็นความสงบ และสันติ เป็นความรู้สึกสุข เสรีภาพ และเป็นเสรีภาพที่ได้รับการปลดปล่อยจากจิตวิญญาณที่หิ้วอยู่ – หุ้มอยู่ – จมอยู่ ในกองขยะหยากเยื่อหยากไย่ทั้งหลายในและนอกกายเรา...


โปรดกรุณาปลดปล่อยตนเองออกจาก “ คุกแห่งอารมณ์ ” ไม่มีผู้ใดในโลกมาขังเราได้ ถ้าเราไม่ขังตัวเราเอง พวกเราทุกคนกำลังตกเป็นทาส เป็นนักโทษที่มี “ คุก ” เป็นเครื่องจองจำ นั่นก็คือ “ อำนาจแห่งกรรม ” และ “ การกระทำที่ไร้ความไตร่ตรองและพิจารณา ”

ในขณะเดียวกัน เราก็ “ ติดคุก ” อยู่ลึก ๆ ซึ่งมันซ่อนอยู่ในดวงใจเล็ก ๆ เป็น “ คุก ” ที่มีอำนาจผูกให้เราตกอยู่ในความหลง ความโกรธ ความโลภ และความสับสนวุ่นวาย คุกชนิดนี้มันยิ่งใหญ่กว่า “ คุก ” ที่ชาวโลกสร้างมันขึ้นมา เพื่อขังมหาโจรเสียด้วยซ้ำ เพราะว่าสัตว์ตนใด “ ติดคุกแห่งอารมณ์ ” เขาจะไม่มีวันได้ออก ไม่มีใครบอกได้ว่า เขาจะ “ ออกจากคุก ” เมื่อไหร่ อย่างไร จนกว่าเขาจะสามารถหาทางออกได้ ด้วยตัวของเขาเอง เพราะสรรพสัตว์ที่ “ ติดในคุกอารมณ์ ” จึงต้องอุบัติ “ พระพุทธเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ” มาทำหน้าที่เป็นนายทวารไปไขกุญแจ ปลดปล่อยสรรพสัตว์พ้นจากโทษทัณฑ์ และบ่วงกรรม ความเป็นทาสของความหลงโง่งมงาย

เราชาวศากยะ และตระกูลวงศ์แห่งพระศาสดา มีหน้าที่ปลดปล่อยตนเอง แล้วก็ปลดปล่อยสรรพสัตว์ที่ไม่ใคร่ระวัง สติรู้ตัวทั่วพร้อมให้พ้นบ่วงแห่งกรรม และทุกข์โทษภัยทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นจากอารมณ์ใจที่ไม่ได้มีการพัฒนาและฝึกฝน และไม่ได้ระแวดระวังด้วยความรู้สึกที่ได้จากตาเห็น หูฟัง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ไม่มีสติรู้ทั่วพร้อม เราปล่อยให้ตัวเองติด “ คุก ” และส่งเสริมให้วิญญาณ “ ติดคุก ” อีกต่างหาก โดยการหลงใหลลื่นถลาไปกับ “ ตาเห็นรูปสวย ” “ หูฟังเสียงเพราะ ” “ จมูกได้กลิ่นหอม ” “ ลิ้นรับรสอร่อย ” “ กายถูกต้องสัมผัสที่ชอบ ” ลองมาใช้เวลาอันน้อยนิดสมมติว่าจะปลดปล่อยตัวเองออกจาก “ คุก ” แห่งความวุ่นวาย สับสน และหงุดหงิด โดยการมีสติควบคุม สิ่งที่เกิดจากตาเห็น หูฟัง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายสัมผัส อย่าปล่อยให้มันมามีอำนาจเหนือจิตใจของตนเอง

วิธีการปลดปล่อยตนเองก็คือ หยุดคิด หยุดพูด หยุดทำ หยุดพฤติกรรมต่าง ๆ และอย่าปล่อยให้ความรู้สึกใด ๆ ปรากฎขึ้นในขณะนี้ยกเว้นมีความรู้สึกว่า “ กายรวมใจเป็นผนึกแนบแน่น ” มีสติสัมปชัญญะคือความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ภายในกาย จงอย่าปล่อยให้อารมณ์ใด ๆ เกิดขึ้นภายในกายนี้ ในเวลานี้เป็นอันขาด เมื่อเราทำได้ถือว่าเป็นผู้ที่ฝึกตนเองที่พร้อมจะปลดปล่อยวิญญาณให้เป็นอิสระ..ได้ในลำดับตน



จากหนังสือทำวัตร-สวดมนต์แปล
หลวงปู่พุทธอิสระ
วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม