[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

นั่งเล่นหลังสวน => สุขใจ ไปเที่ยว => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 08 ธันวาคม 2555 14:33:48



หัวข้อ: สักการะพระเจ้าเก้าตื้อ ที่วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 ธันวาคม 2555 14:33:48
(http://www.sookjaipic.com/images_upload/43359603981176_2.jpg)
วัดสวนดอก
ตำบลสุเทพ  อำเภอเมือง  จังหวัดเชียงใหม่

วัดสวนดอก ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ อยู่ห่างจากประตูสวนดอกไปทางทิศตะวันตก ๘๐๐ เมตร มีเนื้อที่ ๓๕ ไร่ ๒ งาน ๔๔ ตารางวา เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย แต่เดิมบริเวณวัดนี้เป็นอุทยานดอกไม้ของกษัตริย์ มีชื่อเรียกว่า “สวนดอกไม้พะยอม” (ในอดีตมีต้นพะยอมอยู่มาก)

จากศิลาจารึกวัดพระยืน หลักที่ ๖๒ จ.ศ.๗๓๒ (พ.ศ.๑๙๑๓) ได้กล่าวไว้ว่า วัดสวนดอกสร้างในปี พ.ศ.๑๙๑๔  หลังจากที่พระเจ้ากือนาธรรมิกราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์มังราย  ผู้ครองนครเชียงใหม่  ทรงส่งสมณฑูต  มีหมื่นเงินกองปะขาวยอด และปะขาวสาย  ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพญาลิไทแห่งกรุงสุโขทัย อาราธนาพระสุมนเถระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายอรัญวาสีในอาณาจักรล้านนา  หลังจากที่พระสุมนเถระพำนักที่วัดพระยืน เมืองหริภุญชัย (ลำพูน) ในปี พ.ศ.๑๙๑๒ อีกหนึ่งปีต่อมา พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงสร้างวัดในบริเวณสวนดอกไม้ในเมืองเชียงใหม่ขึ้น และพระราชทานนามว่า "วัดบุปผาราม"  ซึ่งเป็นภาษาบาลี แปลเป็นภาษาไทยหมายถึง วัดสวนดอก เพื่อเป็นที่พำนักของพระสุมนเถระ และทรงแต่งตั้งพระสุมนเถระเป็นพระสังฆราช  นาม “พระมหาสุมนสุวรรณรัตนสามี”  ต่อมาชาวบ้านนิยมเรียกวัดบุปผารามกันอย่างง่ายๆ ว่า "วัดสวนดอก"
 

ตำนานมูลศาสนา กล่าวว่าวัดแห่งนี้มีขนาดกว้าง ๓๑๑ วา ยาว ๓๓๑ วา มีอาณาเขตเท่ากับวัดเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี ซึ่งอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐีสร้างถวายพระพุทธเจ้า  ทรงโปรดให้สร้างพระอุโบสถ คือวัดพระเจ้าเก้าตื้อ นอกจากนี้ ยังทรงโปรดให้สร้างเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระนำมาจากกรุงสุโขทัย การสถาปนานิกายรามัญวงศ์โดยพระสุมนเถระ ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของการตื่นตัวทางสติปัญญาและวัฒนธรรม นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของอาณาจักรล้านนา

วัดบุปผาราม หรือ วัดสวนดอก เป็นพระอารามหลวงในความอุปถัมภ์ของกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายมาโดยตลอด มีกาลสมัยที่รุ่งเรืองเพราะการอุปถัมภ์ค้ำชูจากเหล่าขุนนางและกษัตริย์  และถึงกาลทรุดโทรมลงด้วยภัยสงครามจากพม่าและการสิ้นราชวงศ์มังราย  วัดนี้จึงกลายสภาพเป็นวัดร้างไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง  ต่อมาวัดสวนดอกได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่อีกครั้งในรัชสมัยพระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เจ้าเจ็ดตน) และได้รับการทำนุบำรุงจากเจ้านายฝ่ายเหนือ และประชาชนชาวเชียงใหม่ตลอดมา


วัดสวนดอก ได้รับการบูรณะครั้งสำคัญ ๒ ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๕๐ เมื่อพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน  และต่อมาอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นการบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระวิหารโดย ครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/74962413186828_1.jpg)
พระบรมธาตุเจดีย์วัดสวนดอก (Pagoda or Chedi at Wat Suan Dok) สร้างในสมัยพระเจ้ากือนา เมื่อ พ.ศ. ๑๙๑๖  
เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่พระสุมนเถระนำมาจากกรุงสุโขทัย องค์พระเจดีย์สูง ๒๔ วา
เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ศิลปะลังกาผสมสุโขทัย ยังมีทางขึ้นเจดีย์ทั้ง ๔ ด้าน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/95639777721630_3.JPG)
เจดีย์อนุสาวรี (กู่) ครูบาเจ้าศรีวิชัย สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐
ครูบาศรีวิชัย ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๑
ที่วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน ขณะมีอายุได้ ๖๐ ปี ๙ เดือน ๑๑ วัน และตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลา ๑ ปี (บางท่านก็ว่า ๓ ปี)  
จากนั้นได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ที่วัดจามเทวี อ.เมือง จ.ลำพูน  จนถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙  
จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่อพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้นจึงได้มีการแบ่งอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ตามที่ต่างๆ
เช่น ที่วัดจามเทวี จ.ลำพูน  วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่  วัดพระแก้วดอนเต้า จ.ลำปาง  วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา
วัดพระธาตุช่อแฮ จ.แพร่  และที่วัดบ้านปาง จ.ลำพูน  อันเป็นวัดดั้งเดิมของท่าน

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/57933572183052_3.jpg)
กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ (Reliquaries of Northern Thai Royalty)
อนุสาวรีย์ซึ่งบรรจุพระอัฐิของอดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่
กู่เจ้านายฝ่ายเหนือ คืออนุสาวรีย์บรรจุพระอัฐิ:พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงให้อัญเชิญรวบรวมพระอัฐิของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ และพระประยูรญาติ มาประดิษฐานรวมกัน  
ปัจจุบันบรรจุพระอัฐิของอดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ทั้ง ๙ พระองค์ และพระอัฐิพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
รวมทั้งอัฐิของเจ้านายผู้ถือกำเนิดโดยตรงจากเจ้าหลวงเชียงใหม่



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/86344745010137_1.JPG)
พระเจ้าเก้าตื้อ
 พระประธานประจำพระอุโบสถวัดสวนดอก
ประวัติพระเจ้าเก้าตื้อ พระเจ้าเก้าตื้อ พระประธานในพระอุโบสถวัดสวนดอก หรือวัดบุบผาราม  หล่อด้วยโลหะมีน้ำหนัก ๙ โกฏิตำลึง  หรือ ๙,๐๐๐ กิโลกรัม ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามที่สุดของแผ่นดินล้านนา
 
คำว่า ตื้อ เป็นหน่วยวัดน้ำหนักโลหะของล้านนาในสมัยโบราณ  เป็นคำภาษาไทยเหนือ แปลว่า หนักพันชั่ง (๑ ตื้อ เท่ากับ ๑,๐๐๐ กิโลกรัม บางตำราว่า ๑ ตื้อ หนักเท่ากับ ๑,๒๐๐ กิโลกรัม)
 
ในพงศาวดารโยนกกล่าวว่า พระเจ้าเมืองแก้ว หรือพระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๓  แห่งราชวงศ์มังราย ผู้ครองอาณาจักรล้านนา โปรดฯ ให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้น เพื่อเป็นพระองค์ประธานในวัดพระสิงห์  โดยได้เริ่มทำการหล่อในวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีชวด ฉอศก จุลศักราช ๘๖๖ (พ.ศ. ๒๐๔๗)  เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนฝีมือช่างล้านนาและสุโขทัย  หน้าตักกว้าง ๘ ศอก หรือ ๓ เมตร  สูง ๔.๗๐ เมตร  องค์พระมีที่ต่อ ๘ แห่ง นับเป็นท่อนได้ ๙ ท่อน  ใช้เวลานานถึง ๕ ปีนับตั้งแต่ลงมือหล่อพระพุทธรูป แต่ไม่สามารถทำการเคลื่อนย้ายได้  จึงได้ถวายเรือนหลวงของพระองค์ บริเวณใกล้ ๆ กับพระอารามวัดบุบผารามหรือวัดสวนดอกเป็นพระวิหาร พระราชทานชื่อว่า "วัดเก้าตื้อ"  ครั้นถึงวันพุธเดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๘๗๐ (พุทธศักราช ๒๐๕๒) จึงได้มีการชักพระพุทธปฏิมากรองค์นี้ เข้าประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถในวัดสวนดอก หรือวัดบุบผารามซึ่งต่อมาภายหลังได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยครูบาเจ้าศรีวิชัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕  

และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ  ในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒/๗๕  ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘



(http://www.sookjaipic.com/images_upload/39044088621934_2.JPG)
หลวงพ่อโตประจำวิหาร องค์ประธาน สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๑๙๑๖ ในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช  
หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดเท่าพระวรกายของพระเจ้ากือนา  หน้าตักกว้างสองเมตรครึ่ง
เรียกชื่อตามภาษาถิ่นล้านนาว่า "พระเจ้าค่าคิง" ตำนานกล่าวถึงการสร้างพระเจ้าค่าคิงว่า
"พญากือนาธรรมิกราช ได้เอาราชเรือนหลวงของพระองค์มาสร้างมหาวิหารหลังหนึ่ง
อันประณีตวิจิตรงดงามยิ่ง พร้อมทั้งหล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่งด้วยทองสำริดไว้
ในพระวิหารเป็นพระประธาน สำเร็จในปี พ.ศ. ๑๙๑๖


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/43447395289937_11.JPG)
พระพุทธรูปทรงเครื่ององค์ซ้ายและองค์ขวา ของหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปนั่งปางมารวิชัย
ฉลองพระองค์และสวมมงกุฎด้วยเครื่องขัตติยราช ทรงทรมานพระยามหาชมพู
(พระทรงเครื่อง มีการทำหลายแบบ)  
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ในพระเวฬุวัน  
ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย  ครั้งนั้น พระยาชมพูวดี ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์
ที่มีบุญญาธิการและฤทธานุภาพมาก ได้มาคุกคามและรบกวนพระเจ้าพิมพิสารอยู่เสมอ
พระเจ้าพิมพิสารจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่เวฬุวัน ขอพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
พระพุทธองค์ทรงเล็งพระญาณเห็นว่า จะโปรดพระยามหาชมพูได้
 จึงทรงเนรมิตพระเวฬุวันให้เป็นดังดุจเมืองสวรรค์ และทรงเนรมิตพระองค์เอ
งเป็นเจ้าราชาธิราช ทรงเครื่องราชาภรณ์ครบทุกประการ และดำรัสสั่งให้พระอินทร์
แปลงเป็นราชฑูตไปเชิญพระยามหาชมพูมาเฝ้าที่พระเวฬุวันมหาวิหาร  
ทรงแสดงธรรมโปรดจนพระยามหาชมพูหมดทิฐิมานะ  
ขอบรรพชาอุปสมบทพร้อมด้วยพระมเหสีและพระราชโอรส

 (http://www.sookjaipic.com/images_upload/70378144623504_4.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/32595740631222_5.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/50954132899641_2.JPG)
พระอุโบสถที่ประดิษฐานพระเจ้าเก้าตื้อ

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/69120472959346_4.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/24764407757255_5.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/22623413180311_5_1.JPG)
กุฏิสงฆ์ข้างพระอุโบสถวัดสวนดอก

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/58015105293856_6.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83818372090657_7.JPG)

(http://www.sookjaipic.com/images_upload/83216871983475_8.JPG)



หัวข้อ: Re: ประวัติวัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 08 ธันวาคม 2555 15:31:17
(https://encrypted-tbn3.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcQOBp3g8r7NlAp0_ndI9PpK1rgEXnkqHPWv0yUG8zOI1DLnMtB-4Q)
เจ้าดารารัศมี
พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  
พระราชชายาเจ้าดารารัศมี  พระภริยาเจ้าพระองค์หนึ่ง ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีบทบาทสำคัญในการผนวกแผ่นดินล้านนาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย

พระราชชายาเจ้าดารารัศมีทรงเป็นพระธิดาองค์สุดท้องในพระเจ้าอินทวิชยานนท์  เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ พระองค์ที่ ๗  ประสูติแต่แม่เจ้าเทพไกรสร เมื่อวันอังคารที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๖ ณ คุ้มหลวงกลางเวียง  มีพระนามที่เรียกขายกันในหมู่พระญาติใกล้ชิดว่า อึ่ง   เข้ารับราชการในพระราชสำนักฝ่ายใน  ในตำแหน่งเจ้าจอม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๙ ซึ่งเป็นไปตามพระบรมราโชบายในอันที่จะประสานสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรทั้งสองให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น   ต่อมา ทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ  โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระราชชายา พ.ศ. ๒๔๕๑  มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่งคือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี  แต่ประชวรสิ้นพระชนม์เสียเมื่อทรงมีพระชนมายุเพียง ๓ พรรษา  นำความเศร้าโศกอาลัยมาสู่พระบรมชนกนาถและพระชนนีเป็นที่ยิ่ง  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงถึงกับตรัสว่า “...ฉันผิดเอง ลูกเขาควรเป็นเจ้าฟ้าแต่ฉันลืมตั้ง จึงตาย...”   และหลังจากนั้น พระราชชายาฯ ก็มิได้มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาไว้เชยชมอีกเลย

เมื่อพระราชชายาฯ  ถวายตัวเข้ารับราชการฝ่ายใน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่า  ในครั้งนั้น พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ทรงห่วงใยพระธิดา ด้วยเห็นว่ายังทรงเยาว์วัยนัก  เกรงจะไม่รู้จักวางองค์ให้เหมาะสม  พระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้ทรงฝากฝังพระธิดาน้อยกับพระองค์ด้วยความห่วงใยว่า “เสด็จเจ้า ข้าเจ้าฝากนังอึ่งด้วยเน้อ  ถ้าทำอันหยังบ่อถูกบ่ต้อง  เสด็จเจ้าก็จงเรียกตัวมาเกกหัวเอาเตอะ...”  


(http://library.cmu.ac.th/ntic/popup/popup081253/dara_web2.jpg)
พระเจ้าอินทวิชยานนท์ กับ แม่เจ้าเทพไกรสร
พระบิดา พระมารดา ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี
แต่กาลต่อมาก็ได้พิสูจน์ว่า พระราชชายาฯ ทรงเป็นกุลสตรีที่มีน้ำพระทัยอาจหาญเด็ดเดี่ยว แม้จะทรงตกมาอยู่ท่ามกลางบุคคลที่มิใช่พระญาติวงศ์แต่เมื่อพระชนมายุยังน้อย ก็ทรงสามารถดำรงองค์อยู่ได้อย่างสมพระเกียรติ  ประกอบกับทรงมีพระสติปัญญาที่เฉลียวฉลาด พระสิริโฉมงดงาม น้ำพระทัยโอบอ้อมอารี  พระอิริยาบถอ่อนโยนนุ่มนวลอันเป็นแบบฉบับของสตรีล้านนา  พระตำหนักของพระราชชายาฯ  จะแปลกกว่าพระตำหนักอื่นคือ ยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีของชาวล้านนาอย่างเคร่งครัด  ตั้งแต่การแต่งกาย  พระราชชายาฯ และคุณข้าหลวงต่างก็ยังคงนุ่งซิ่นพื้นเมือง  พูดคำเมือง  รับประทานอาหารแบบเมืองเหนือ

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิสมัย  ดิศกุล  พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึง พระอัธยาศัยและพระสติปัญญาของพระราชชายาฯ ไว้ด้วยความชื่นชมว่า
“....ทุกคนที่ได้เคยเฝ้าพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ที่ในพระบรมมหาราชวังในเวลาที่ประทับอยู่ในหมู่เจ้าจอมมารดาผู้ใหญ่ด้วยกันก็ดี ได้เฝ้าในเวลาเสด็จประทับเป็นประธานอยู่ในหมู่ข้าราชการทั้งใต้และเหนือในเมืองเชียงใหม่ก็ดี  ถ้าไม่ดูให้ดี ก็จะรู้ไม่ได้เลยว่า พระราชชายาฯ ในที่ ๒ แห่งนั้นพระองค์เดียวกัน   ทั้งนี้ เพราะทรงสามารถแยกกาลเทศะได้เป็นยอดเยี่ยม  

พระราชชายาฯ ในพระบรมมหาราชวังไม่ทรงมียศมีศักดิ์  ไม่มีความสำคัญอันใด  สมกับคำที่พวกเจ้าจอมเรียกกันว่า เจ้าน้อย  เจ้าน้อยไม่มีความรู้อะไร  เจ้าน้อยนั่งนิ่ง ๆ อมยิ้มในสิ่งที่ไม่มีสาระรอบตัวเองได้อย่างสบาย  ทุกคนในที่นั้นก็ไม่มีใครรู้จักพระองค์ท่าน นอกจากคำว่า เจ้าน้อย

แต่ถ้าผู้ใดไปเฝ้าที่เมืองเชียงใหม่  ผู้นั้นจะได้เฝ้าเจ้าหญิงผู้เป็นหลักของบ้านเมือง  ประทับอยู่ในระหว่างข้าราชการทั้งฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือ  เวลาตรัสกับพวกใต้ ก็ตรัสภาษาใต้ชัดเจน  ถ้าหันไปตรัสทางฝ่ายเหนือก็ชัดเป็นฝ่ายเหนือไม่มีแปร่ง  ตรัสไต่ถามทุกข์สุข  และแนะนำทั้งในทาง.ราชการ และส่วนตัว  ด้วยความเหมาะสมแก่พระเกียรติยศ....”

ทรงรู้การควรและไม่ควรประพฤติปฏิบัตินั้น ปรากฏดังครั้งที่มีพระประสูติกาลพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี  พระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าตาทรงดีพระทัย ส่งอ่างสรงน้ำทำด้วยทองคำมาประทานพระนัดดา  แต่พระราชชายาฯ ไม่ทรงนำมาใช้  ได้ถวายอ่างทองคำแก่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ให้สมเด็จเจ้าฟ้าลงสรงแทน

ภายหลังเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต  พระราชชายาเจ้าดารารัศมี  ได้กราบบังคมทูลลาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จกลับมาประทับ ณ เชียงใหม่ บ้านเกิดเมืองนอน ใน พ.ศ. ๒๔๕๗  ทรงประทับอยู่ที่ซึ่งเงียบสงบ ณ ตำหนักดาราภิรมย์  อำเภอแม่ริม  ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๑๔ กิโลเมตร  จนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๖  รวมพระชนมายุ ๖๐ พรรษา


(http://www.sookjaipic.com/images_upload/92434182514746_1.JPG)