หัวข้อ: ทำไมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ จึงเหมือนกับ คำสอนของฮวงโป เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 26 กรกฎาคม 2553 14:19:12 [ คัดลอกจากบอร์ดเก่า โพสท์โดย อ.มดเอ็กซ์ ]
(http://www.tpa.or.th/tpanew/health/images/book01.jpg) คำสอนของหลวงปู่ดูลย์กับฮวงโป ถาม ผมสงสัยว่าทำไมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์จึงเหมือนกับคำสอนของฮวงโป ตอบ เพราะหลวงปู่ยืมถ้อยคำของท่านฮวงโปมาใช้ เรื่องนี้สืบเนื่อง จากท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนีเป็นผู้นำหนังสือ "คำสอนฮวงโป" ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสแปลไว้ไปถวายให้หลวงปู่พิจารณา หลวงปู่เห็นว่าท่านฮวงโปบัญญัติถ้อยคำไว้ตรงกับสภาวะดีแล้ว และท่านอาจารย์พุทธทาสก็แปลไว้ดีแล้ว จึงนำคำสอนมากล่าวสอนเพียงบางส่วนเท่าที่เห็นว่าผู้ปฏิบัติควรทราบ มาในชั้นหลังนี้ได้ทราบว่ามีผู้ตำหนิท่านว่าละเมิดลิขสิทธิ์ คือนำหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาสไปพิมพ์แจกเป็นหนังสือ "จิตคือพุทธะ" ความจริงหลวงปู่ไม่เคยเขียนหนังสือธรรมะ และไม่เคยพิมพ์หนังสือธรรมะแจก มีแต่กล่าวธรรมให้ผู้สนใจฟังอย่างไม่มีรูปแบบและครั้งละไม่กี่คนเท่านั้น และท่านก็ไม่ได้ต้องการชื่อเสียง เกียรติยศหรือได้รับผลประโยชน์อะไร เพียงต้องการให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์เท่านั้น ส่วนการพิมพ์หนังสือ "จิตคือพุทธะ" ก็เป็นเรื่องที่ลูกศิษย์ลูกหาทำกันเองในชั้นหลัง ถ้าจะว่ามีความบกพร่องที่ไม่มีเชิงอรรถหรือบรรณานุกรมอ้างอิงถึงหนังสือแปลของท่านอาจารย์พุทธทาส ก็ขอให้ว่าลูกศิษย์เถอะ ผู้เฒ่าอายุร่วมร้อยปีท่านไม่เข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์อะไรหรอก เหมือนท่านอ่านหนังสือแล้วเห็นว่าถูกต้องดี และสอดคล้องกับธรรมที่ท่านรู้เห็นมาด้วยการปฏิบัติ ท่านก็นำมาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังเท่านั้นเอง ถาม คำสอนของเว่ยหล่างฮวงโปไม่ใช่คำสอนในฝ่ายเถรวาทของเรา จะใช้ได้หรือครับ โดยเฉพาะบางอย่างฟังแล้วพิกลมาก เช่น เรื่องจิตกับสภาวะที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน พอจะมีคำสอนในฝ่ายเถรวาทของเราเทียบเคียงได้บ้างไหมครับ ตอบ คำสอนทั้งหลายนั้นจะใช้ได้หรือไม่ได้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้สอน แต่อยู่ที่ตัวเนื้อหาของคำสอนเองต่างหาก โดยเฉพาะคำสอนในเรื่องแนวทางการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์นั้น หากสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ต้องถือว่าใช้ได้ แต่หากขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้ผู้สอนจะเป็นฝ่ายเถรวาทเอง ก็ต้องถือว่าใช้ไม่ได้ ดังนั้นเราไม่ควรยอมรับหรือปฏิเสธคำสอนของผู้ใดด้วยเหตุผลที่ว่า เขาเป็นเถรวาทหรือมหายาน แต่ควรดูที่เนื้อหาของคำสอนนั้นเป็นสำคัญ สำหรับคำสอนที่ว่า "จิตกับสภาวะที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน" นั้น โดยถ้อยคำหรือพยัญชนะแล้ว ไม่มีปรากฏในคำสอนของฝ่ายเถรวาทแน่นอน และโดยเนื้อหาหรืออรรถะถ้าเราตีความตรงตามตัวอักษร ก็ไม่ถูกต้องตามคำสอนของฝ่ายเถรวาทด้วย เพราะจิต (จิตในจิตอันเป็นภายใน) ก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง สภาวะที่แวดล้อมอยู่ได้แก่ จิตในจิตอันเป็นภายนอก เจตสิก รูป (ทั้งที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครอง) และนิพพาน ต่างก็เป็นสภาวธรรมต่างหากออกไปจากกัน จะเป็นสิ่งเดียวกับจิต (จิตในจิตอันเป็นภายใน) ไม่ได้เลย แต่ถ้าพิจารณาถึงสิ่งที่ท่านฮวงโปต้องการสื่อแล้ว คำสอนดังกล่าว ก็น่าฟังมาก คือท่านไม่ได้สอนว่าจิต เจตสิก รูป นิพพานและบัญญัติเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ท่านกล่าวถึงความรู้สึกของผู้ที่สามารถปล่อยวาง ความยึดถือจิตได้แล้ว ซึ่งจะรู้สึกว่าธรรมทั้งปวง ทั้งภายในและภายนอก เป็นสิ่งเดียวรวดคือเป็นอนัตตา ทั้งนี้จิตกับสิ่งแวดล้อมเป็นคนละสิ่งโดยสภาวะ แต่มีลักษณะอันเดียวกันคืออนัตตลักษณะ หากพิจารณาถึงคำสอนในฝ่ายเถรวาทเอง ที่พอจะเทียบเคียงกับสภาวธรรมตามความมุ่งหมายของท่านฮวงโปได้บ้าง ก็มีปรากฏในอรรถกถาว่าด้วยพาหิยสูตร คือพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า "จักขุวิญญาณ ย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง หลงในรูปที่มาปรากฏฉันใด เราจักตั้งชวนจิตไว้โดยประมาณแห่งจักขุวิญญาณอย่างนี้ว่า ชวนจิตของเราจักเป็นเพียงจักขุวิญญาณเท่านั้น เพราะเว้นจากราคะเป็นต้น" จุดนี้พระอรรถกถาจารย์กล่าวถึงจักขุวิญญาณจิตว่าปราศจากกิเลส และสิ่งที่จักขุวิญญาณจิตเห็นนั้น นักปฏิบัติจะพบว่า มันคือรูปที่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนและปราศจากน้ำหนัก แต่เมื่อเห็นรูปแล้ว ชวนจิตที่เกิดตามมากลับเป็นมหากุศลจิตบ้าง หรือเป็นอกุศลจิตบ้าง และจิตเกิดความยึดถือรูปนั้น จึงเกิดน้ำหนักแห่งความเป็นตัวตนขึ้น ในจิตใจ ดังนั้นรูปภายนอกจึงว่างไร้น้ำหนัก แต่จิตภายในกลับหนัก นับว่าจิตกับสภาวะที่แวดล้อมอยู่เป็นคนละอย่างกัน แต่ถ้าชวนจิตที่เกิดตามมาเป็นเหมือนจักขุวิญญาณจิตเมื่อใด คือ ทำหน้าที่รู้อย่างเดียว ไม่ปรุงแต่งกุศลหรืออกุศล (แต่จิตอย่างนี้แหละเป็นมหากุศลจิตชั้นยอดทีเดียว) ชวนจิตจะไม่มีน้ำหนักแห่งความเป็นตัวตน หรือน้ำหนักแห่งความยึดถือขันธ์ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ทันทีว่า รูปอันเป็นสิ่งแวดล้อมภายนอกก็ว่าง และจิตเองก็ว่างเสมอกัน อาตมาคิด ว่าท่านฮวงโปต้องการเล่าถึงสภาวะตรงนี้ ในขณะที่คัมภีร์ฝ่ายเถรวาทของเราไม่ได้เล่าถึงสภาวะที่เป็นผล แต่เล่าถึงส่วนที่เป็นการทำเหตุ คือการฝึกเจริญสติไปจนกระทั่งชวนจิตว่างเปล่าจากกิเลส เช่นเดียวกับจักขุวิญญาณจิต อันจะทำให้ได้เห็นธรรมภายในและธรรมภายนอกว่างจากความเป็นตัวตนเสมอกันหมด พระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช |