[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => สมถภาวนา - อภิญญาจิต => ข้อความที่เริ่มโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 27 กรกฎาคม 2553 14:11:13



หัวข้อ: เรื่องของ " นิมิต " จากหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน
เริ่มหัวข้อโดย: หมีงงในพงหญ้า ที่ 27 กรกฎาคม 2553 14:11:13
[ โดย อ.มดเอ็กซ์ จากบอร์ดเก่า ]



นิมิต

 

 
 
นิมิต

 
 
 
 
 
แปลว่าเครื่องหมาย คือรูปเครื่องกำหนดจิต จับเป็นอารมณ์นิมิตนี้ส่วนใหญ่เป็นเครื่องหมายของกสิณ แต่ทว่า กรรมฐานหมวดอื่น ๆก็มีเหมือนกัน เช่น อสุภกรรมฐานก็มีรูปอสุภนิมิต อาหาเรปฏิกูลสัญญาก็มีรูปอาหารเป็นนิมิต อย่างนี้ รวมความว่านิมิตนั้น แยกออกเป็น ๒ อย่างคือ นิมิตที่เป็นเครื่องหมายกำหนดนิมิตจำเป็นที่นักปฏิบัติจำเป็นต้องกำหนดอย่างหนึ่ง นิมิตเลื่อนลอย เป็นนิมิตตัดรอนความดีที่นักปฏิบัติควรละประการหนึ่ง จะขออธิบายในนิมิตทั้งสองพอเข้าใจไว้ดังต่อไปนี้
 
 
นิมิตจำเป็นต้องรักษา นิมิตที่จำเป็นต้องรักษาคือ กรรรมฐานหมวดใดที่มีนิมิตเป็นอารมณ์ เช่นกสิณ เป็นต้น เมื่อเริ่มปฏิบัติกรรมฐานกองนั้น ทานให้ถือนิมิตอะไรเป็นสำคัญ ต้องรักษานิมิตนั้นให้มั่นคง คือกำหนดภาพนั้นให้ติดใจ จะกำหนดรู้เมื่อไรให้เห็นได้ชัดเจนแจ่มใสตามสภาพเดิมที่กำหนดจดจำไว้ อย่างนี้ท่านเรียกว่า " บริกรรมนิมิต " จัดเป็นสมาธิได้ในสมาธิเล็กน้อย ที่เรียกว่า " ขณิกสมาธิ "
 
นิมิตใดที่นักปฏิบัติเพ่งกำหนดจดจำไว้ มีความชำนาญมากขึ้น จนภาพนิมิตนั้นชัดเจนแจ่มใสสามารถบังคับให้สูงต่ำ ใหญ่เล็ก ได้ตามความประสงค์ แล้วต่อไปนิมิตนั้นค่อยเปลี่ยนสีจากสีเดิมไปทีละน้อย ๆ จนกลายเป็นสีใสสะอาด อย่างนี้ท่านเรียกว่า " อุคคหนิมิต " ถ้าเรียกเป็นสมาธิก็เรียกว่า " อุปจารฌาน "
 
นิมิตใดที่นักปฏิบัติเพ่งพิจารณากำหนดอยู่จนติดตาติดใจ จนนิมิตนั้นกลายจากสีเดิม มีสีขาวใสสวยสดงดงาม มีประกายคล้ายดาวประกายพรึก อารมณ์จิตแนบสนิทไม่เคลื่อนไหว ลมหายใจอ่อนระรวย ภาพนิมิตที่สดสวยนั้นหนาทึบเป็นแท่ง อารมณ์จิตไม่กวัดแกว่ง ไปตามเสียงที่เข้ามากระทบโสตประสาท แม้เสียงจะดังกังวานเพียงใด จิตใจก้ไม่หวันไหว คงมีอารณ์สงบเงียบ กำหนดจำนิมิตไว้ได้ดี อาการอย่างนี้เรียกเป็นนิมิต ท่านเรียกว่า " ปฏิภาคนิมิต " ถ้าเรียกเป็นสมาธิท่านเรียกว่า " อัปปนาสมาธิ "
 
ถ้าเป็นฌาน ท่านเรียกว่า่ " ปฐมฌาน " นิมิตตามที่ท่านกำหนดให้ยึดถือตามกฏของปฏิบัติกรรมฐานกองนั้น ๆ อย่างนี้ เป็นนิมิตที่จำเป็นต้องกำหนดจดจำและทำให้ถึงขั้นถึงระดับ นิมิตที่จำต้องละ นิมิตที่จำต้องละก็คือ นิมิตเลื่อนลอย เมื่อจิตมีสมาธิเล็กน้อย เช่น ขณิกสมาธิ ตอนปลายใกล้จะถึงอุปจารสมาธิก็ดี หรือจิตเข้าสู่สมาธิก็ดี
 
 
(http://www.agalico.com/board/attachment.php?attachmentid=545&stc=1&d=1129021221)

ตอนนี้จิตเราจะเริ่มเห็นสิ่งที่เป็นทิพย์ เพราะอารมณ์นิวรณ์เริ่มสงัดจากจิต จิตก็จะเริ่มเห็นภาพบ้าง แสงสีต่าง ๆ บ้าง ความสว่างไสวบ้าง ซึ่งเป็นของใหม่ของจิต เพราะเป็นของใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนั่นเอง ความปลาบปลื้มลิงโลดจึงปรากฏมีแก่นักปฏิบัติที่ประสบพบเห็น พากันละอารมณ์ภาวนา หรือการพิจารณาเสีย ปล่อยใจให้เลื่อนลอยไปตามภาพหรือแสงสีที่เห็น จนภาพนั้นเลือนรางหายไป
 
วันต่อไปถ้าทำไม่เห็น เพราะมีความติดอกติดใจในภาพและแสงสีนั้น นั่งคิดนอนมองใคร่จะได้เห็นภาพและแสงอีก เมื่อความใคร่เกิดขึ้นแทนที่จะได้เห็นอีกกับไม่ได้ประสบพบเห็น บางรายเมื่อไม่ได้เห็นภาพอีก ถึงกับเสียอกเสียใจ ถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ กลายเป็นโรคประสาทหลอนไปก็มี จัดว่าเป็นความเสียหายหนักของนักปฏิบัติ ทางที่ถูกแล้ว สำหรับภาพนอกองค์กรรมฐานที่กำหนดเดิมนั้น ท่านสอนไม่ให้สนใจ เพราะกรรมฐานกองที่ปฏิบัติอยู่นั้น เป็นกรรมฐานที่มีนิมิตอะไรเป็นอารมณ์ก็ต้องยึดถือนิมิตเดิมเป็นสำคัญ
 
ถ้ามีนิมิตอื่นแปลกปลอมเข้ามาก็ต้องกำจัดไปเสีย วิธีกำจัดก็ไม่สนใจไยดีในภาพนั้นๆ นั่นเอง เพราะถ้าสนใจเข้า จักทำให้สมาธิฟั่นเฟือน ควรถือว่าเป็นนิมิตทำลายความดี ไม่ควรคบหาสมาคม ให้ยึดถือนิมิตที่กำหนดเดิมเป็นสำคัญ
ถ้ากรรมฐานที่กำลังปฏิบัติอยู่ เป็นกรรมฐานไม่มีนิมิตเป็นอารมณ์
ถ้ามีนิมิตเกิดแทรกขึ้นมาก็จงตัดทิ้งไปเสียอย่าสนใจเพราะกรรมฐานใดที่ไม่มีนิมิตเป็นอารมณ์

 
เมื่อปรากฏนิมิตแทรกขึ้นมาต้องถือว่านิมิตนั้นเป็นศรัตรูของกรรมฐานที่กำลังปฏิบัติอยู่[/SIZE]นักปฏิบัติที่เอาดีถึงระดับฌานไม่ได้ ก็เพราะมาติดอกติดใจหลงใหลใฝ่ฝันในนิมิตเป็นสำคัญ ความจริงจิตที่จะเห็นนิมิตได้นั้นก็เป็น่จิตที่เริ่มเข้าระดับดีบ้างแล้ว คือเริ่มมีสมาธิเล็กน้อย การเห็นภาพก็เพราะจิตเริ่มมีสมาธิ แต่ที่เห็นนิมิตแล้วทิ้งคาถาภาวนาหรือทิ้งการกำหนดลมหายใจเข้าออก ปล่อยให้ใจเลื่อนลอยไปตามภาพนิมิตนั้นเป็นการบ่อนทำลายนิมิตและสมาธิโดยตรง
 
การเห็นจะทรงอยู่ได้นานก็เพราะสมาธิ ทรงตัวนาน ถ้าเห็นแวบเดียวหายไป ก็แสดงว่าจิตเรามีสมาธินิดเดียว ที่ภาพนั้นหายไป ไม่ใช่ภาพนั้นหนีไป ความจริงไม่ได้หนี สมาธิเราไม่ทรงตัวต่างหาก เมื่อสมาธิสลายตัว จิตก็มีอารมณ์มืดเพราะไม่มีสมาธิ จิตที่มีอารมณ์สว่างสามารถเห็นภาพได้ก็เพราะจิตมีสมาธิ
 
ถ้านักปฏิบัติรู้เท่าทันแล้ว เมื่อเห็นภาพแทนที่จะมั่นใจในภาพ กลับกำหนดอารมณ์ในสมาธิให้มากขึ้น โดยไม่สนใจ ภาพเลยอย่างนี้ ภาพนั้นจะชัดเจนแจ่มใสอยู่ได้นานจนกว่าสมาธิจะเคลื่อน ขอสรุปย่อเข้าเพื่อเข้าใจง่ายว่า ภาพนิมิตใดที่นอกเหนือไปจากภาพนิมิตที่กรรมฐานนั้นๆ มีกฏให้กำหนดแล้ว ถ้าปรากฏมีขึ้นในขณะเจริญสมาธิ ท่านไม่ให้สนใจกับภาพนั้น ๆ เลย มุ่งหน้ากำหนดภาวนาไปตามปกติ ภาพนั้นจะทรงอยู่หรือหายไปอย่างไรก็ช่าง อย่างนี้จึงจะถูกต้อง และเข้าถึงระดับฌานได้รวดเร็วตรงตามความประสงค์ในการปฏิบัติสมาธิเพื่อดำรงฌาน
 
 
(จากหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน โดย โฮมเพ็จศรัทธาธรรม)