[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้

สุขใจในธรรม => เกร็ดศาสนา => ข้อความที่เริ่มโดย: Kimleng ที่ 25 พฤศจิกายน 2556 14:09:36



หัวข้อ: ปุจฉา-วิสัชนา : ห้ามผู้หญิงเข้าไปในพระธาตุเจดีย์ของถิ่นล้านนา
เริ่มหัวข้อโดย: Kimleng ที่ 25 พฤศจิกายน 2556 14:09:36
(http://www.sookjaipic.com/images/8031592621_1.jpg)
พระมหาธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน

พระธาตุ : ห้ามผู้หญิงเข้า

ปุจฉาและวิสัชนา ว่าด้วยการห้ามผู้หญิงผ่านเข้าไปในบริเวณพระเจดีย์ธาตุของถิ่นล้านนาในเว็บไซต์เชียงราย โฟกัสระบุว่า ครั้งเรียนวัฒนธรรมล้านนากับศาสตราจารย์เกียรติคุณ มณี พยอมยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. ๒๕๔๙  ผู้รอบรู้ยิ่งในล้านนาคดี ท่านอาจารย์เล่าว่า

"ตั้งแต่บรรพกาลมาแล้ว ในตำนานจามเทวีวงศ์ กล่าวถึงเรื่องสงครามระหว่างขุนหลวงวิลังคะ ซึ่งเป็นเจ้าเมือง กับพระนางจามเทวี (พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญชัย) เนื่องมาจากว่าขุนหลวงวิลังคะพึงใจในพระนางจามเทวี อยากจะอภิเษกสมรส แต่พระนางจามเทวีคงจะไม่ทรงปรารถนา จึงได้บอกว่า ถ้าเจ้าพี่สามารถออกแรงพุ่งสะเน่า ซึ่งเป็นหอกซัดจากเมืองพิงค์มาตกบริเวณหน้าลานพระราชวังจะอภิเษกสมรสด้วย

แต่ชาวบ้านก็กลัวว่าจะพุ่งสะเน่าไปตกในเวียงได้จริง เลยใช้วิธีการแยบยล โดยเอาผ้าถุงซึ่งเปื้อนเลือดประจำเดือนของพระนางจามเทวี ไปทำเป็นพระมาลา (หมวก) พร้อมกับทำหมากพลู โดยป้ายน้ำที่เป็นประจำเดือนที่ใบพลู จากนั้นส่งไปบรรณาการขุนหลวงวิลังคะ พอขุนหลวงฯ สวมหมวกนั้น แล้วก็เคี้ยวหมาก อำนาจฤทธิ์ที่เคยเบ่งกำลังพุ่งสะเน่าไปไกลเป็น ๒๐-๓๐ กิโลเมตร ก็ลดน้อยถอยลงมาก พุ่งออกมาแค่นอกเวียงพิงค์ไม่ถึงกิโลฯ จึงเป็นเหตุให้เกิดความเชื่อกันมา"

และด้วยเชื่อว่าประจำเดือนของผู้หญิงจะทำให้เสื่อมเกียรติยศ เสื่อมมนต์ จึงไม่เหมาะควรให้ผ่านเข้าไปในอาณาพระบรมธาตุซึ่งประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุอันศักดิ์สิทธิ์อยู่ และยังมีความเชื่อว่า หากผ่านเข้าไปหญิงผู้นั้นจะตกขึด (หมายถึงกาลกิณี เสนียด จัญไร) จะไม่สบาย จะมีความวิบัติต่างๆ

เรื่องเดียวกันนี้ บางเอกสารเล่าว่า หลวงมิลังคะ (ไม่ใช่ขุนวิลังคะ) ผู้นำเผ่าลัวะเกิดหลงใหลพระสิริโฉมแห่งพระนางจามเทวี จึงได้แต่งทูตมาสู่ขอ แต่พระนางจามเทวีไม่ทรงสนพระทัยและไม่ให้คำตอบใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเหตุให้หลวงมิลังคะยกไพร่พลมาประชิดเมือง พระนางจึงทรงพระดำริว่า ถ้าจะรบกับหลวงมิลังคะบ้านเมืองคงย่อยยับแน่ จึงออกอุบายแก่หลวงมิลังคะว่า หากหลวงมิลังคะพุ่งเสน้า (ธนู) จากดอยสุเทพมาตกกลางเมืองลำพูน พระนางจะทรงตกลงเป็นพระมเหสี หลวงมิลังคะถือธนูขึ้นดอยสุเทพ บริกรรมคาถาอาคมแล้วพุ่งเสน้ามา เพียงครั้งแรกก็ตกที่นอกเมืองทางทิศตะวันตก ห่างกำแพงเมืองเพียงไม่กี่วา สถานที่เสน้าตกนี้เรียกกันว่า หนองเสน้า ในเวลาต่อมา

พระนางจามเทวีทรงเห็นเช่นนั้นก็หวั่นพระทัยเกรงว่าหากให้พุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ ๒ และ ๓ คงจะมาตกกลางเมืองแน่ จึงทรงออกอุบายให้ข้าราชบริพารนำซิ่นในมาตัดเย็บเป็นหมวกส่งไปให้หลวงมิลังคะ ข้างหลวงมิลังคะพอได้รับของฝากก็ดีใจเป็นที่สุด รีบสวมหมวกแล้วออกพุ่งเสน้าเป็นครั้งที่ ๒ และ ๓ ปรากฏว่า เสน้าลอยไปตกห่างตัวเมืองยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า จึงพบว่าเสียรู้และถูกทำลายคาถาอาคมเสียแล้ว หมดกำลังใจที่จะพุ่งเสน้าต่อไป พระนางจามเทวีจึงมิได้เป็นราชินีของชาวลัวะด้วยเหตุดังกล่าว

และจากเว็บไซต์แม่ญิงล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า เจดีย์ เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นของที่ศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นบริเวณรอบองค์เจดีย์จึงนิยมทำกำแพงแก้วกั้นไว้เป็นบริเวณลาน (ข่วง) เจดีย์ บุคคลใดประสงค์จะเข้าไปที่ลานในกำแพงแก้วเพื่อกราบไหว้บูชา หรือเข้าไปทำความสะอาด ถ้าสวมหมวกจะต้องถอดออก ถ้าสวมรองเท้าต้องถอดรองเท้า และที่ห้ามเข้าไปในบริเวณลานเจดีย์คือผู้หญิง ถือว่าถ้าผู้หญิงเข้าไปจะทำให้เสียความศักดิ์สิทธิ์ แต่คนโบราณก็ไม่ได้กล่าวว่าเพศหญิงเป็นเพศต่ำ


ข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสด