[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 19:01:47 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก เวบบอร์ด ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

  แสดงกระทู้
หน้า: [1]
1  สุขใจในธรรม / ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 / = เกิดมาทำไม !!! เมื่อ: 12 มิถุนายน 2553 18:24:40

เกิดมาทำไม

ชยสาโรภิกขุ


ในเมืองไทย หากถึงวันเกิด ก็มักจะไปทำบุญทำทานตามประเพณีและธรรมเนียมอันงดงามของชาวพุทธ ในขณะที่ชาวพุทธตะวันตกบางคน เคยออกความเห็นว่าชาวพุทธไม่ควรฉลองวันเกิด เพราะจุดมุ่งหมายในชีวิตของชาวพุทธคือการเห็นโทษในการเกิด เขาถือว่าการเกิดไม่ใช่สิ่งที่ดี อันนี้ก็เป็นทัศนะอันหนึ่ง แต่ถ้าเรามองในแง่หนึ่ง เป็นการฉลองการมีบุญพอที่จะเกิดเป็นมนุษย์ ซึ่งพระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์มีน้อยมาก ชีวิตของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง

นักวิชาการชาวตะวันตกบางคน เคยตำหนิพระพุทธศาสนาว่า เป็นศาสนาที่มองชีวิตในแง่ร้าย แต่ผู้ใดลงมือปฏิบัติธรรมย่อมเห็นว่าความเป็นจริงแล้ว พระพุทธศาสนามองชีวิตของมนุษย์ในแง่ดี มองในแง่สร้างสรรค์ อาจดีกว่าศาสนาอื่นด้วยซ้ำไป คือเราเชื่อในความสามารถของมนุษย์ ศาสนาอื่นนั้นมักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญแก่ชาติปัจจุบัน หากมองเป็นแค่อารัมภบทก่อนขึ้นสวรรค์นิรันดรหรือตกนรกนิรันดร ไม่เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ที่จะพ้นจากความทุกข์ในชาตินี้ แต่ทางพระพุทธศาสนาเห็นว่า ชาตินี้สำคัญที่สุดแล้ว การที่เราเกิดเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ประเสริฐ เพราะว่าเรามีความสามารถพิเศษบางอย่าง ซึ่งสัตว์ที่เกิดในภพอื่นหรือภูมิอื่นไม่มี คือเรามีความสามารถในการละความชั่ว บำเพ็ญกุศลความดี และการชำระจิตใจของตน

ชีวิตที่สมบูรณ์ของมนุษย์ ต้องประกอบไปด้วยการกระทำเหล่านี้ ต้องมีการละ ต้องมีการบำเพ็ญ ต้องมีการชำระ ฉะนั้นในการฉลองวันเกิด เราก็ฉลองในฐานะที่การเกิดครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้เรามาพบกับพระพุทธศาสนา ได้มาสัมผัสกับหลักสัจธรรมความจริง และได้มีความคิดวิเคราะห์ชีวิตของตนว่า เราเกิดมาทำไม และสิ่งสูงสุดในชีวิตคืออะไรหรือควรจะเป็นอย่างไร

การพิจารณาในเรื่องความเป็นอยู่ของตัวเอง เรื่องคุณภาพชีวิตของตน คือจุดเริ่มต้นของการภาวนา การภาวนาคือการพัฒนาย่อมอาศัยจิตสำนึกในความเป็นมนุษย์ของเราทุกแง่ทุกมุม เพื่อให้มีแนวทางปรับการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับกฎของธรรมชาติ ความทุกข์คือความขัดแย้งระหว่างความรู้สึกนึกคิด การพูด และการกระทำของเรากับความจริงของธรรมชาติ ความทุกข์นี้จึงหายไปโดยสิ้นเชิงด้วยพลังของปัญญาเท่านั้น เราไม่สามารถกำจัดความทุกข์นี้ได้ด้วยวิธีการ อย่างอื่น การอ้อนวอนพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ดี การกลบเกลื่อนความทุกข์ด้วยความมัวเมาเพลิดเพลินในความสุขทางเนื้อหนังก็ดี ล้วนเป็นแค่การบรรเทาชั่วคราว เพราะไม่ได้แก้ที่เหตุ

อะไร ๆ ก็เหมือนกัน ไม่ดูก็ไม่เห็น ไม่เห็นก็ไม่เข้าใจ เราไม่ยอมมองด้านในก็ไม่เห็นตัวเอง ไม่เห็นก็ไม่เข้าใจ คนจำนวนไม่น้อยจึงชอบพูดว่า เขาไม่เห็นว่าศาสนามีความจำเป็นอะไรแก่ชีวิต เขามีความสุขพอสมควรแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรนักหนา และไม่เคยสร้างความเดือดร้อนแก่ใคร ๆ (พอกล่าวคำนี้ ผู้ใกล้ชิดมักจะต้องอมยิ้มหรือส่ายหัวนิด ๆ) คนที่มองอย่างนี้ มักขอให้หาความสุขแบบชาวบ้านก่อน คือ เขามองธรรมะเป็นยาสมุนไพรขม ๆ ที่ควรเอาไว้ในอนาคตโน้น ตอนจวนหมดบุญ รักษาทางอื่นไม่ได้ผล ไม่มีทางเลือกแล้วจึงค่อยลอง นี่คือความประมาท ทำไม เพราะมองไม่เห็นเนื้อร้ายที่เกิดที่หัวใจเสียแล้ว ซึ่งธรรมะเท่านั้นที่ขจัดได้ เป็นความคิดที่เกิดจากการไม่มองด้นใน ไม่ดูก็ไม่เห็นปัญหาที่ซ่อนเร้นอยู่แล้ว และคอยบั่นทอนคุณภาพชีวิตตลอดเวลา

ความยึดติดเกิดที่ไหน ความเครียดและความกลัวเกิดที่นั้น ผู้อยู่ในโลกไม่รู้เท่าทันโลก ไม่ศึกษาและปฏิบัติธรรมคือไม่สนใจธรรมชาติของตัวเอง ไม่สนใจธรรมชาติของตัวเองย่อมเป็นเหยื่อนของมันอยู่เรื่อย อย่างเช่นกลัวตาย เป็นต้น และกลัวการพลัดพรากจากสิ่งที่ให้ความสุขแก่ชีวิต

ตราบใดที่เขาสามารถสัมผัสหรือเก็บสิ่งที่เขาสำคัญมั่นหมาย ว่าเป็นความสุขหรืออำนวยความสุข เราก็ประมาทและหมกมุ่นในสิ่งนั้น แต่เมื่อมีเหตุการณ์ใดที่ทำให้เขาต้องพลัดพราก หรือแค่คุกคามว่าจะต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้น เขาจะเป็นทุกข์เป็นร้อน ไม่มีที่พึ่ง เพราะไม่พร้อม ไม่เคยซ้อม ไม่เคยตระหนักว่าเป็นเรื่องธรรมดาว่า ความสุขที่เกิดจากสิ่งที่ไม่แน่นอน ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนเหมือนกัน

ความสุขที่อาศัยการกระตุ้นจากข้างนอกเป็นของเปราะ ขาดความมั่นคง เป็นความสุขที่หลอกให้เราหลง และผู้ที่จะเอาจริงเอาจังกับความสุขอย่างนี้มาก ก็ย่อมตาบอดต่อความจริงของธรรมชาติ ที่ท่านเรียกว่าไตรลักษณ์ จึงไม่ฉลาดในการบริหารอารมณ์ตัวเองเท่าที่ควร

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมคือผู้กล้าทวนกระแสโลก ต้องเด็ดเดี่ยวไม่ยอมหนีจากความทุกข์ ไม่หลับหูหลับตาต่อความจริง ไม่เอาหูไปบาร์เอาตาไปห้าง กำลังใจในการปฏิบัติจะเกิดได้อย่างไร ก็เกิดด้วยการพิจารณาเห็นโทษ และความไร้แก่นสารสาระของชีวิตที่ขาดธรรมะ ต้องสังเกตเห็นว่า การฝากความหวังในชีวิตไว้กับความสุขจากสิ่งนอกตัว ก่อให้เกิดความว้าเหว่เบื่อหน่ายและกังวลเป็นเงาตามตัวความสุขนั้นอยู่ตลอด เวลา การเก็บกดหรือวิ่งหนีจากเงานี้ทำให้เหน็ดเหนื่อย บางครั้งอาจแน่นหน้าอกวิงเวียนหรือตัวสั่นอย่างฉับพลันก็ได้ ความรู้สึกว่าชีวิตของเราไม่มีความหมายห้ามไม่อยู่ เป็นโทษของการวิ่งตามวัตถุและความสุขทางเนื้อหนังมากเกิดไป

นักปฏิบัติต้องเห็นชัดว่า ความสุขทางเนื้อหนังไม่สามารถตอบสนองความต้องการอันแท้จริงของมนุษย์ คือความสงบที่เต็มไปด้วยปัญญาและกรุณา ความสงบนี้หลวงพ่อชาเคยเรียกว่า “บ้านที่แท้จริง” แต่พฤติกรรมของคนในสังคมปัจจุบันเรียกได้ว่าเป็นอาการต่าง ๆ ของคนคิดถึงบ้าน แต่ไม่รู้จักบ้าน น่าสงสารเนอะ

ฉะนั้น คนส่วนมากไม่กล้ารับรู้โทษของกาม เพราะเขาปล่อยให้กามเป็นชีวิตจิตใจของเขาทีเดียว เขากลัวว่าความสุขแบบนี้หมดไปเมื่อไร ชีวิตจะไม่มีอะไรเหลือ แต่นักปฏิบัติกล้ารับรู้ต่อโทษของกาม เพราะเห็นว่ามีสิ่งที่สูงกว่า เชื่อมั่นว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นสิ่งมีค่า ไม่ควรเสียเวลากับสิ่งเปล่าประโยชน์ เราเกิดมาเพื่อแสวงหาปัญญา เพื่อความดับทุกข์ เพื่อบรรลุถึงสุดยอดของการวิวัฒนาการของสิ่งมี ชีวิตคือ “อมตธรรม” ความไม่เกิดไม่ตาย

ถึงแม้ว่าเราจะไปไม่ถึงในชาตินี้ อย่างน้อยเราก็ควรตั้งเข็มทิศเอาไว้ เรามาศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพราะเห็นว่ามีคำสอนที่ทนต่อการพิสูจน์ ให้คำแนะนำชี้แจงในการเผชิญหน้ากับความจริงของชีวิตที่ชัดเจนและละเอียดอ่อน ให้วิธีการปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ ให้กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกฎธรรมชาติ ไม่เกิดโทษ ธรรมะสำคัญขนาดนี้ การเกิดเป็นมนุษย์ในประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ต้องถือว่าเป็นโชคเป็นลาภอย่างยิ่ง เมื่อเราระลึกถึงและพินิจพิจารณาในสาระของชีวิตของตน ความรู้สึกใหม่หลายอย่างย่อมปรากฏขึ้น เกิดซาบซึ้งดื่มด่ำในบางสิ่งบางอย่าง ข้อหนึ่งที่จะเห็นชัดอยู่ในใจคือ ความรู้สึกต่อความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันของสิ่งทั้งหลายในชีวิต การไตร่ตรองในเรื่องนี้ทำให้เกิดปัญญา ไม่ยึดมั่นถือมั่น

อีกประการหนึ่ง การพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์กับคนอื่นย่อมนำไปสู่ความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มี พระคุณต่อเรา ส่วนมากเรามักจะมองว่าความสำนึกในบุญคุณของผู้มีอุปการคุณต่อเราว่าเป็นธรรม พื้นฐาน ไม่ใช่เรื่องสูงฟังยากเหมือนอนัตตา แต่ที่จริงแล้วความกตัญญูกตเวทีอันแท้จริงเกิดขึ้นและเข้มแข็ง เพราะความเข้าใจในเรื่องอนัตตาคือความระลึกรู้อยู่ว่า เราไม่ใช่ศูนย์กลางของโลก ไม่ได้อยู่ในโลกนี้คนเดียว ความสุขทั้งหมดที่เราเคยเสวยในชาตินี้ย่อมอาศัยคนอื่น สัตว์อื่น หรือสิ่งอื่นไม่มากก็น้อย ในชีวิตของเรานั้น เคยไหม เคยมีความสุขแม้แต่นิดเดียวที่ไม่ได้อาศัยคนอื่นเป็นปัจจัย ขอตอบแทนว่าไม่เคย แล้วเมื่อชีวิตเราไม่มีอะไรที่ไม่ขึ้นอยู่กับคนอื่นหรือสิ่งอื่น เราจะถือตัวถือตนได้อย่างไร แล้วเราจะหาตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรได้ที่ไหน

วันเกิดของเราควรเป็นวันที่เราคำนึงว่า เป็นวันที่คุณแม่ผ่านการทรมานเพื่อเรา การคลอดลูกมักทำให้มีทุกขเวทนารุนแรง ความสุขของเราในชีวิตนี้เกิดขึ้น เพราะคุณแม่ของเรายอมทนต่อความทุกข์ความทรมาน และไม่ใช่เฉพาะวันคลอดเท่านั้นที่ท่านลำบาก ร่างกายท่านผิดปกติตลอดเก้าเดือน และก็ไม่ได้สิ้นสุดในวันคลอดด้วย แต่ท่านยังยอมรับความลำบากหลาย ๆ อย่างในการเลี้ยงดูเรา ด้วยความภาคภูมิใจ ฉะนั้นวันเกิดของเราควรจะเป็นวันแม่ของเราด้วย

อาตมาเคยฟังนิทานของชาวธิเบตเรื่องความรักของแม่ เขาเล่าว่า มีเศรษฐีคนหนึ่งมีภรรยาสองคน ภรรยาหลวงไม่มีลูกและกำลังอิจฉาภรรยาคนที่สองซึ่งเพิ่งมีลูกชายคนแรก ลูกยังเป็นทารกอยู่ เศรษฐีก็ตาย สงสัยว่าบ้านเขาคงอยู่ห่างไกลจากคนอื่น เพราะยังไม่มีใครทราบว่ามีลูก เมียหลวงจึงวางแผนชั่วร้าย คือยืนยันกับแขกที่งานศพว่าเด็กเป็นลูกของเขา ไม่ใช่ของเมียน้อย เนื่องจากกฎหมายของธิเบตกำหนดว่า ทรัพย์สมบัติของเศรษฐีทั้งหมดต้องตกเป็นของลูกชายคนเดียว

เมียหลวงและเมียน้อยพร้อมกับลูก พากันเข้าไปในเมืองหลวง โดยทั้งสองคนต่างยืนกรานว่าเด็กเป็นลูกของตน คดีขึ้นศาล ผู้พิพากษาฟังผู้หญิงทั้งสองคนพูด ต่างคนต่างร้องไห้ของความยุติธรรม ผู้พิพากษาดูไม่ออกว่าใครพูดจริงใครพูดเท็จ ท่านจึงสั่งให้ผู้หญิงไปจับลูก คนละแขน แล้วให้ดึง ท่านสั่งว่าคนที่เป็นแม่จริงจะต้องดึงแรงกว่าคนที่ไม่ใช่แม่ ทั้งสองก็ทำตามคำสั่งผู้พิพากษา ดึงไปดึงมา เด็กเล็ก ๆ ก็ร้องไห้ ทรมาน เมียน้อยเห็นลูกร้องไห้ ทนไม่ไหวก็เลยปล่อย ยอมแพ้ดีกว่าจะให้ลูกเป็นทุกข์อย่างนี้ ถ้าดึงต่อไปอีก ลูกอาจจะถึงตายได้ ก็จำเป็นต้องปล่อยแขนของลูก เมียหลวงก็ร้อง ไชโย! ชนะแล้ว ยิ้มบาน แต่ผู้พิพากษากลับสั่งเจ้าหน้าที่เอาลูกไปให้เมียน้อย

เมียหลวงแชมป์ชักเย่อลูกก็งง ทำไม เขาร้อง อย่างนี้ไม่ยุติธรรม เขาแย้ง ผู้พิพากษาดุ บอกว่า พอแล้ว ยุติธรรมแล้ว ผู้ยอมปล่อยนั้นแหละต้องเป็นแม่จริง คนนั้นแสดงความรักของแม่ เพราะเห็นความทุกข์ของลูกเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าความต้องการหรือความรู้สึก ของตัวเอง ในที่สุดเมียน้อยก็ได้ลูกกลับมา และได้ทรัพย์สมบัติตามกฎหมาย... จบ แต่อาตมาไม่อยากให้จบตรงนี้ ถ้าอาตมาเป็นผู้เขียน ตอนท้ายเรื่องจะให้ผู้เป็นแม่จริงแบ่งสมบัติไว้ให้เมียหลวงสักครึ่งหนึ่ง เพราะชนะแล้วควรให้อภัย น่าเห็นใจเมียหลวงว่า เขาทำน่าเกลียดอย่างนี้เพราะไม่มีลูกและกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง เดี๋ยวนี้เขาเป็นแม่หม้ายเสียแล้ว ไม่มีใครดูแล ไม่มีใครเลี้ยง ถ้าเมียน้อยไม่ช่วยเขา ใครจะช่วย ยิ่งขึ้นศาลในเรื่องอื้อฉาวก็ต้องตกเป็นขี้ปากของสังคมแน่ ๆ คงเป็นที่รังเกียจของชาวบ้าน

ฉะนั้น ก็ต้องให้อภัยเขา และเชิญเขากลับมาอยู่ด้วยกันต่อ ช่วยกันดูแลลูก ถ้าภรรยาคนที่สองทำอย่างนี้ เรียกว่าน่าชม เป็นนัก ปฏิบัติธรรม คือมีทั้งความรักของแม่ และทั้งความรักที่ประกอบด้วยธรรม คือเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์

ในการภาวนา เราเปิดจิตใจของเรากว้างออกไปรับรู้ในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เปรียบเสมือนกับห้องที่อับ ๆ และมืดสนิท ซึ่งเราเปิดหน้าต่างเปิดประตูให้แสงสว่างและอากาศเข้าไป ถ้าเราไม่พิจารณาความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ชีวิตย่อมถูกกิเลสครอบงำอยู่เสมอ พุทธศาสนาของเราถือว่ามนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ไม่ใช่ว่าพอเกิดแล้วปั๊บเราประเสริฐทันที เราจะประเสริฐได้ก็ด้วยการฝึก ความประเสริฐเป็นเป้าหมาย เป็นสิ่งที่เราบรรลุได้ แต่มันทำยากลำบากเหมือนกัน

หลวงพ่อชาเคยสอนอยู่เสมอว่า ความทุกข์ในโลกมีสองอย่าง คือความทุกข์ที่เป็นไปเพื่อความทุกข์ และความทุกข์ที่เป็นไปเพื่อความดับทุกข์ ความทุกข์ประเภทที่สองนั้นเราต้องยอมรับ พระพุทธองค์เคยตรัสว่า “ทุกข์เป็นเหตุให้เกิดศรัทธา ศรัทธาเป็นเหตุให้เกิดความปิติปราโมทย์ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความสุข และความสุขเป็นเหตุให้จิตเข้าถึงความสงบได้”

นี่เป็นข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งที่เราไม่ควรลืม เราปฏิบัติเพื่อกำหนดรู้ความทุกข์โดยจิตที่เข้มแข็งพอจะกำหนดรู้ทุกข์ได้ จิตที่ประกอบด้วยความสุขจะเป็นจิตที่เข้มแข็ง ถ้าจิตใจของเรายังหิวโหยขาดความสุข จิตนั้นจะอ่อนแอและจิตนั้นจะบรรลุสัจธรรมไม่ได้

พระพุทธองค์เคยตรัสไว้ว่า “ผู้มีปีติในธรรมย่อมเป็นสุข” คนเราต้องยกทุก ๆ เรื่องในชีวิตประจำวันขึ้นสู่ธรรมะ เพราะถ้าเรารู้จักมองทุกอย่างเป็นธรรมะ ชีวิตก็จะมีแต่ความสุข

เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแพร่ไปในประเทศต่างๆ สถาบันสงฆ์และแนวการสอนแปรเปลี่ยนไป ที่ประเทศจีนท่านเน้น เรื่องปรัชญาไปเสียมาก สุดท้ายเกิดปฏิกิริยาจากผู้ที่ต้องการสนับสนุนฝ่ายปฏิบัติ ผลอย่างหนึ่งคือการปรากฏขึ้นของนิกายเซ็น พวกนี้ทิ้งหนังสืออ่านแต่ใจ

ข้อหนึ่งที่อาจารย์เซ็นเห็นว่ามีปัญหา คือการที่นักวิชาการในสมัยนั้นยกธรรมะขึ้นมาเป็นเรื่องสูงเกินไป จนกระทั่งคนทั่วไปรู้สึกว่าเหลือวิสัยของคนธรรมดา ฉะนั้น เพื่อสอนให้คนเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ พระเซ็นชอบใช้คำพูดสั้น ๆ ให้ผู้ฟังสะดุ้ง โดยถือว่าจิตใจเราสะดุ้ง ก็สามารถรับของใหม่ได้ง่ายขึ้น

ครั้งหนึ่งมีอุบาสกคนหนึ่งถามอาจารย์เซ็นว่า พระพุทธเจ้าคืออะไร พุทธภาวะคืออะไร ท่านตอบทันควันว่า พุทธภาวะคือขี้หมา เหตุผลในการ ตอบอย่างนี้คือ ท่านยกสิ่งที่คนทั่วไป เห็นว่าสกปรกหรือต่ำต้อยที่สุด และเปรียบเทียบกับสิ่งที่คนทั่วไปเชื่อว่าสูงสุด เพื่อให้เข้าใจว่าสิ่งที่บริสุทธิ์ไม่ได้อยู่ห่างจากสิ่งสกปรกหรือธรรมดา

ถ้ามองด้วยปัญญา เราจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสัมผัสได้ด้วยตาหูจมูกลิ้นกายใจนั้น ล้วนแล้วแต่มีลักษณะอันเดียวกันคือเกิดขึ้นแล้วดับไป การประจักษ์แจ้งในธรรมชาติของประสบการณ์ของเราคือการปรากฏของพุทธภาวะ ฉะนั้น พุทธภาวะจึงไม่ใช่สิ่งลึกลับที่เราจะหยั่งรู้ได้ ไม่จำเป็นต้องรอออกบวชไปอยู่ในป่าในเขา แต่เป็นความเข้าใจเรื่องสิ่งธรรมดา ที่อยู่กับเราตลอดเวลา อาบน้ำ แปรงฟัน ทำกับข้าว ทานข้าว ล้างจาน ขับรถ เดินไปเดินมา ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นโอกาสที่เราจะเข้าใจธรรมะได้ เพราะธรรมะไม่ใช่สิ่งลึกลับจนเกินไป เป็นสิ่งสูงสุดก็จริง แต่เป็นสิ่งสูงสุดที่อยู่ในสิ่งต่ำสุดได้ด้วย

นักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษคนหนึ่งเคยบอกว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะการค้นพบข้อมูลใหม่ ๆ แต่เกิดขึ้นจากการมองข้อมูลเก่าด้วยสายตาใหม่ ก็คล้าย ๆ กับ ความก้าวหน้าในการประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติไม่ได้อยู่นอกเหนือจากชีวิตประจำวันของเรา คนเราต้องพยายามมีธรรมะอยู่ในใจตลอดเวลา เพราะธรรมะเป็นเครื่องแก้กิเลส และกิเลสเกิดได้ทุกเวลานาที

ตามหลักปริยัติ เราถือว่าธรรมะประกอบด้วยแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ มีให้เลือกเยอะ แต่เราต้องรู้จักเลือกธรรมะที่เหมาะกับเหตุการณ์ปัจจุบัน บางครั้งเราจำเป็นต้องใช้ธรรมะที่ลึกซึ้ง บางครั้งเราก็ต้องใช้ธรรมะพื้น ๆ สำคัญแต่ว่า ได้ผลไหม

โดยปรกติในชีวิตประจำวัน เมื่อเกิดอารมณ์หงุดหงิดไม่พอใจ เราชอบระบายความรู้สึกออกไป โดยการดุหรือพูดอะไรให้คนอื่นเจ็บใจ แต่ถ้าเรารู้สึกตัวแล้วไม่พูดอย่างนั้น เราก็จะได้ธรรมะหลายข้อ ความรู้สึกตัวว่า กำลังหงุดหงิดคือตัวสติ และการที่ไม่ทำตามความรู้สึกนั้นคือความอดทน เมื่อความเศร้าหมองในใจเราหาย เกิดสำนึกในความไม่เที่ยงของอารมณ์ ความไม่เป็นตัวเป็นตนของอารมณ์ นั่นคือตัวปัญญา การปฏิบัติในชีวิตประจำวันเป็นอย่างนี้

ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เราควรพิจารณาบ่อย ๆ ก็คือความเบื่อ ตัวนี้จะเป็นตัวที่มีผลต่อชีวิตประจำวันอย่างมาก คนทั่วไปทำหลายสิ่งหลายอย่างเพียงเพราะเบื่อ หรือเพราะกลัวการเบื่อ การภาวนาเป็นโอกาสที่ดีเราจะมารู้จักกิเลสตัวนี้ พิจารณาดูความรู้สึกว่า เบื่อคืออะไร มีอาการอย่างไร สังเกตตัวเบื่อนี้ในระหว่างการภาวนา แล้วจะสามารถจับความรู้สึกนี้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น บางทีอาจหยิบหนังสือธรรมะขึ้นมาอ่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ให้ดูเจตนาของเราในขณะที่เราหยิบหนังสือธรรมะขึ้นมาอ่าน หรือว่าหยิบเทปมาฟัง อาจเป็นได้ว่าเป็นอาการของความเบื่อมากกว่าการใฝ่ธรรม นั่งสมาธิไม่สงบ เบื่อ และอยากลุกหนีความจากความรู้สึกนั้น จึงหาหนังสืออ่านแทน ไม่ปล่อยวางอารมณ์ที่เป็นเหตุของทุกข์ ในการปฏิบัติไม่ใช่ว่าห้ามไม่ให้อ่านหนังสือ ห้ามไม่ให้ฟังเทปเลย เพียงแค่เตือนให้รู้จักเจตนาของตัวเอง ตัวความเบื่อนี้สำคัญ

การภาวนา คือ การสร้างความคุ้นเคยกับตัวเอง นักภาวนาต้องดูตัวเองอยู่เสมอว่าในขณะนี้มีอะไรอยู่บ้าง โดยไม่หลวงว่าสิ่งที่เห็นเป็นของตัวเป็นของตน คือไม่มองด้านในผ่านแว่นสี คือความรู้สึกว่าเรา หรือของเรา มนุษย์ส่วนมากมักห่างไกลจากตัวเอง ไม่รู้จักเลย บางคนชอบบ่นว่าคนอื่นไม่รู้จักเขาหรือไม่เข้าใจเขา แต่ตัวเขาเองก็ไม่เข้าใจตัวเองเท่าไร แล้วทำไมคนอื่นจะต้องเข้าใจ น่าจะเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

นักปฏิบัติผู้เฝ้าสังเกตจิตใจ จะต้องเห็นว่าอารมณ์ใดเกิดบ่อย อารมณ์ใดเกิดไม่ค่อยบ่อย จะต้องเห็นความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์ต่าง ๆ เช่น จะสังเกตว่าเวลาเครียดหรือกลัว ความโกรธมักจะวิ่งตามมาเป็นเพื่อน ตอนโกรธเรามักจะเพลินในความโกรธ แล้วทำหรือพูดในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อตัวเองหรือคนอื่น หรือเวลามีใครยกย่องสรรเสริญ เราจะรู้สึกดีใจสบายใจ

ในการปฏิบัติธรรม เราเพียรพยายามมองอาการของจิต เช่น นี้เป็นเรื่องธรรมะ ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือไม่ต้องมีคำว่า “ฉัน” หรือคำว่า “เรา” เข้าไปยุ่ง เกี่ยวเลย มีแต่ธรรมะล้วน ๆ อย่างเช่น ความโกรธเกิดขึ้นแล้วมีผลอย่างนั้นอย่างนี้ ผลที่เกิดขึ้นนั้นก็กลายเป็นเหตุของอารมณ์อย่างอื่น เช่น ความเดือดร้อน เป็นต้น ขาดสติแล้ว กิเลสเหมือนปฏิกิริยาลูกโซ่ ตามหลัก ปฏิจจสมุปปบาท

มองใจตัวไม่เป็น เห็นสิ่งที่ดีก็เหลิง หรือถือตัวว่าเราดีเราเก่ง เห็นสิ่งที่ไม่ดีก็ตกใจ หรือถือตัวว่าเราเลวเราไม่เก่ง เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกับเป็นสมบัติของเรา การภาวนาอย่างนี้ผิดทาง เป็นการสร้างอัตตาตัวตน ไม่ใช่การโค่นหรือการทำลาย เราเพียงแต่ได้อัตตาตัวตนใหม่ ทิ้งของเราแล้ว เอาของใหม่ไว้แทน

ความเพียรคือการทำความรู้สึกตัว ว่าจิตใจของเราผิดปกติไหม เอนเอียงไปทางไหนไหม เอนเอียงไปทางชอบ เอนเอียงไปทางไม่ชอบไหม หนักไปทางโลภไหม หนักไปทางโกรธไหม หนักไปทางหลงไหม รับรู้อยู่โดยไม่ถือว่าตัวเราเป็นอย่างนั้นจริง ๆ สักแต่ว่า ยอมรับว่าสิ่งเหล่านั้นมีอยู่ ประคับประคองความรู้ตัวอย่างนี้ไว้เรื่อย ๆ แล้วปล่อยในสิ่งที่ควรปล่อย สนับสนุนสิ่งที่ควรสนับสนุน จิตใจจะเข้มแข็งขึ้นโดยลำดับ โดยเฉพาะต่อความรู้สึกของคนอื่น

คนที่ไม่รู้จักตัวเอง มักแสวงหาความมั่นคงจากความรู้สึกของคนอื่น เราอาจจะเคยก็ได้ คนรอบข้างชอบหรือมีความสุขก็สบาย มีใครไม่ชอบก็ไม่สบาย ต้องพยายามทำให้ทุกคนรัก ให้ทุกคนชอบ ดิ้นรนที่จะเป็นที่รักของคนทุกคน ถ้าอยู่ในออฟฟิศหรือในที่ ๆ มีสักสิบคน รู้สึกว่าเขาชอบเราเก้าคน มีคนเดียวที่ไม่ชอบ ก็แทบจะอยู่ไม่ได้ ทุกข์ สงสัยว่าเรามีอะไรเขาจึงไม่ชอบ มีใครเข้าใจเรา ผิดหรือโกรธ จะมีความรู้สึกว่าตัวเรา ตัวตนของเราถูกกระทบอย่างแรง

แต่คุณค่าของคนเราไม่ได้ถูกกำหนดด้วยสายตาของคนอื่น เขากล่าวหาในสิ่งที่ไม่จิรง คุณค่าของเราก็ยังมีเหมือนเดิม เป็นสิ่งที่เรากำลังสัมผัสอยู่ คนอื่นจะเห็นหรือไม่เห็น เป็นเรื่องของเขา ส่วนเรื่องของความรัก อาตมาว่าความรักมันเหมือนกับไวรัสตัวหนึ่ง ไม่ใช่คนรักกันเพราะบุคลิกตรงกัน ดวงตรงกัน ฯลฯ เท่าไรหรอก มันคล้ายกับเป็นปฏิกิริยาทางเคมี หรือไวรัสตัวหนึ่งมากกว่า ติดไวรัสกัน ติดไวรัสนั้นตลอดชีวิตก็มี หรืออาจจะติดไวรัสไปอาทิตย์สองอาทิตย์ก็ยังมี พอหายแล้วก็ไม่รักเสียแล้ว

มองอย่างนี้อาจจะแรงไปหน่อย แต่สิ่งที่ต้องระวังคือการเชื่อว่าเขารักเรา เราต้องเป็นคนดี เพราะตามเหตุผลนี้ถ้าเผื่อเขาเกิดไม่รักเรา ก็หมายความว่าเราต้องเป็นคนไม่ดีซิ สุขภาพจิตเราจะแย่ ที่แท้มันไม่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคนอื่นเลย เราก็ต้องรู้จักตัวเองว่าเรามีอะไรอยู่ โดยไม่เข้าข้างตัวเอง ให้เราระลึกอยู่เสมอว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในใจเราไม่ใช่ของตายตัว คือคำว่าบุคลิกหรือจริตนิสัยก็เป็นเพียงแค่ชื่อตามความเคยชินต่าง ๆ ซึ่งเราเปลี่ยนได้ ถ้าเรามีศรัทธาและเห็นคุณค่าในการเปลี่ยน

ศรัทธาเป็นเรื่องสำคัญ สำคัญมากทีเดียว ความพากเพียรก็ดี ความอดทนก็ดี ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากศรัทธาและความเชื่อมั่นในคุณค่าของการประพฤติปฏิบัติ มีโยมฝรั่งคนหนึ่งเคยอยู่ที่นี่ เขาเคยติดเฮโรอีนมาหลายปี เขาพยายามทุกวิถีทางที่จะเลิกแต่เลิกไม่ได้ มาเมืองไทยเขาไปรักษาที่วัดถ้ำกระบอก พอออกจากวัดแล้วก็ลงไปกรุงเทพฯ ซื้อเฮโรอีน ไม่ได้เรื่องเลย นานมาแล้วเขาเคยมาเที่ยววัดป่านานาชาติสองครั้ง มาครั้งนี้เขาถือว่าเป็นความหวังสุดท้าย เขามาอยู่ที่นี่ สนทนากับพระ เริ่มศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง เขาเกิดศรัทธาแล้วเลิกยาเสพติดได้

ทุกวันนี้บางทีเดินผ่านพระพุทธรูป น้ำตาเขาไหล เขาก็แปลกไม่เคยคิดว่าความซาบซึ้งอย่างนี้จะเกิดขึ้นในชีวิตเขาได้ แล้วศรัทธาแรงกล้านี้ไม่งมงายด้วย เป็นศรัทธาที่เกิดด้วยเหตุผล เขาอ่านหนังสือแล้วสงสัยข้อไหนก็มาถาม อาตมาก็ตอบ แล้วเขาก็จะร้อง อ้อ! อย่างนี้เอง เขาบอกว่าสมัยที่เขาติดเฮโรอีนเคยอ่านหนังสือปรัชญา หนังสือศาสนาทั้งตะวันออกตั้งเยอะแยะ รู้สึกว่าดี รู้สึกว่าลึกซึ้ง แต่ยังไม่มีถึงขั้นเห็นโทษในวิถีชีวิต เพียงแต่รับไว้เป็นปรัชญาประดับความรู้เฉย ๆ แต่ตอนนี้เกิดศรัทธาแล้ว เขาก็พร้อมที่จะอดทนต่อกิเลส ปรับปรุงแก้ไขตัวเอง ตั้งใจดีมาก แล้วได้ผล อาตมาบอกเขาว่า ทุกวันนี้ คนติดเฮโรอีนกันงอมแงม ต่อไปนี้นี้ท่านอาจจะช่วยพวกนี้ได้ดี ใช้ประสบการณ์เลวร้ายเพื่อประโยชน์เพื่อนมนุษย์ เขาดีใจ

ส่วนโยมก็เป็นผู้มีศรัทธามานานแล้ว และวันเกิดปีนี้ ขอให้ระลึกถึงความตายบ้าง เพราะวันนี้เหมือนกับหลักกิโลข้างทางอีกกิโลหนึ่ง ทุกวันนี้อาตมาอยู่ที่วัดภูจ้อมก้อม พิจารณาน้ำในห้วยอยู่ทุกวัน ช่วงหน้าฝนน้ำไหลเชี่ยว บางวันเกือบจะข้ามไม่ได้ บางวันน้ำถึงระดับหน้าอก ข้ามก็อันตราย พอเข้าหน้าหนาวนับวันน้ำก็แห้งไปหมดไป ระลึกว่าชีวิตของเราก็เหมือนกัน นับวันมันก็หมดไปแห้งไป เหี่ยวไป พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราพิจารณาเรื่องความเกิดดับในชีวิตประจำวัน ส่วนมากเราจะจับจ้องแต่ความเกิด เพราะมันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เราไม่ค่อยชอบดูความดับความสิ้นไปของสิ่งต่าง ๆ แต่การหัดมาดูเรื่องความดับ ย่อมเกิดปัญญามากกว่าการดูการเกิด

การสังเกตเห็นความดับของอารมณ์ ความดับของความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ ทำให้สลดสังเวชในการเวียนว่ายตายเกิด และนำไปสู่ นิพพิทา ความเบื่อหน่าย นิพพิทา หรือความเบื่อหน่ายนี้เป็นความรู้สึกที่เยือกเย็น ไม่มีโทสะเข้าไปแอบแฝงเลย เป็นความรู้สึกหมดสนุกในการยึดมั่นถือมั่น

ในชีวิตประจำวัน การยึดมั่นถือมั่น มักปรากฏในหลายรูปแบบ อย่างเช่นการที่เราจะหมายมั่นปั้นมือว่าต้องเป็นอย่างนั้นให้ได้ ต้องเป็นอย่างนี้ให้ได้ คนนั้นก็ต้องเป็นอย่างนั้น คนนี้ก็ต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ คิดอย่างนี้แล้วเราจึงชอบพยายามบังคับให้คนอื่นหรือสิ่งอื่นเป็นไปตามใจเรา เมื่อเราเห็นว่าความคิดอย่างนี้เป็นการเบียดเบียน เป็นการทรมานตัวเองโดยเปล่าประโยชน์ และเป็นความพยายามที่ลม ๆ แล้ง ๆ ไม่มีวันที่เราจะสำเร็จได้ เราก็ยอมปล่อย ในขณะที่เราเห็นความโง่ในความยึดมั่นถือมั่นนั้นอย่างชัดแจ้ง ท่านให้ชื่อว่า นิพพิทา เป็นปัญญาที่ทำให้เกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัดยินดีในสังขาร เพราะเล็งเห็นโทษของการยึดมั่น เป็นเหตุให้เราเข้าถึงความหลุดพ้นในที่สุด



2  สุขใจในธรรม / ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 / อกรรมกิริยา-สยัมภู-อู่ หวุย เมื่อ: 28 พฤษภาคม 2553 20:18:08


อกรรมกิริยา-สยัมภู-อู่ หวุย
ท่านเขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)


เมื่อกายของเราตื่น จิตของเราตื่น เกิดอาการสัมผัสทุกสิ่งทุกอย่างว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่สิ่งที่อยู่ในห้วง จินตภาพทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเป็นสิ่งที่สัมผัสได้โดยตรง เช่น เมฆ ท้องฟ้า ต้นไม้

เมื่อจิตสำนึกของมนุษย์ตื่นขึ้น เขาก็สัมผัสความจริงของทุกสิ่งทุกอย่างด้วยจิตใจอันใหญ่กว้าง ความคิดแคบๆ หรือจิตเล็ก ๆ ภายใต้ความคิด "ตัวของฉัน" "ของข้าพเจ้า" แตกสลาย

เมื่อ จิตสำนึกเล็ก ๆ แตกสลายก็กลายเป็นจิตสากล จิตซึ่งกว้างใหญ่ไพศาล ความคิดความอ่านไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายใต้แวดวงของชาติ ศาสนา ที่จำกัดอีกแล้ว จิตสำนึกที่แผ่ออกไปไม่มีของเขตนั้นเอง เป็นรากฐานดั้งเดิมซึ่งได้กลายเป็นสภาพใหม่ จิตสำนึกเล็ก ๆ ยังอยู่เพียงเป็นร่องรอยของความจำ

ในการปฏิบัติเพื่อการตื่นทั้งกาย และจิตนั้น จำเป็นต้องเร้าความรู้สึกตัวให้มาก เพื่อให้มันตื่น ไม่ใช่การสะกดให้มันนิ่ง การสะกดตัวเองให้นิ่งจะส่งผลไปอีกทางหนึ่ง อาจจะรู้เห็นบางสิ่งบางเรื่อง ไม่ใช่ทุกสิ่ง รู้จักบางสิ่ง เช่นความสงบ ความมักน้อยสันโดษ

รู้จักศีลที่เกิดจากการควบคุมบังคับตนเอง แต่ไม่รู้จักศีลที่เกิดจากการปล่อยไม่ต้องมัวควบคุม อาจจะรู้กฎเกณฑ์ที่ตัวเองบังคับควบคุม แต่จะไม่รู้จักการอยู่เหนือกฎเกณฑ์ มีกฎเกณฑ์โดยไม่ต้องรักษากฎเกณฑ์

การเจริญสติในเบื้องต้นนั้น ย่อมหมายถึง ความรู้ตัวในการกระทำกายกรรม คือการเคลื่อนไหวทางกาย คำพูดคือวจีกรรมและมโนกรรม คืออาการคิด ซึ่งเป็นการกระทำ ทางจิตใจ

เมื่อ เจริญสติเราตื่นตาตื่นใจ เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของกาย คำพูด ความคิดของเรา ถ้าเรารู้เท่าทันคิดนึกเรื่องใด ๆ ก็ไม่ต้องไปสนใจ แต่เราเห็นอาการคิดซึ่งเป็นอาการหนึ่ง การสัมผัสทุกสิ่งทุกอย่างหรือการรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง มันเกิดจากธาตุรู้ซึ่งเป็นหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาพอันเดียวภายในตัวมนุษย์เอง

เมื่อ เร้าความรู้สึกตัวให้ปรากฏเด่นชัดแล้ว ชีวิตจิตใจจะเป็นเหมือนเรด้ามีประสิทธิภาพสูง สามารถจับการเคลื่อนไหวของทุกสิ่งตามที่เป็นจริง การสัมผัสอาการได้ตามที่เป็นจริงนั้น มีความสำคัญมากทีเดียว เพราะว่าความคิดก็สิ้นสุดลง เมื่อความคิดสิ้นสุดลงด้วยพลังของสติที่พัฒนาเป็นสมาธิที่เป็นเอง นิสัยเก่าก็ถูกตัดขาด และมีการเรียบเรียงระเบียบของมันใหม่

ความคิด มีอยู่ ๒ ลักษณะ ลักษณะแรก เราเรียกว่าความคิด อันหลังคือ อาการคิด

ตาม ธรรมดา ถ้าเราเฝ้าดูความคิด เราก็จะคิดว่าเรากำลังดูความคิด เราคิดเรื่องหนึ่งเรื่องใด แล้วเราก็ไปดูความคิดเข้า เราก็เลยคิดว่าเรากำลังดูความคิด ดังนั้นจึงเกิดความคิดซ้อนความคิด ดังนี้ไม่ใช่การเจริญสติ เรียกว่าเป็นผู้ใช้ความคิด ขบคิด ผลก็คือการได้เป็นนักคิด ดังนี้ ไม่ใช่การเห็นความคิด แต่เป็นการรู้คิด มีความคิดเห็นอย่างนั้นอย่างนี้

เมื่อรู้ว่ามีความคิดอยู่ในจิตใจ นั่นยังไม่เป็นการเจริญวิปัสสนาที่บริสุทธิ์ ส่วนการเฝ้าดูนั้น เห็นเพียงอาการเท่านั้น เพียงรู้สึกมันคิดวูบวาบไปแล้วไม่ได้สนใจ มันคิดดีคิดถูกนั้น ไม่สำคัญอะไร เพราะว่าเมื่อเห็นอาการของมัน มันจะตกไปทันที คลื่นระลอกใหม่ของอาการคิดก็จะปรากฏขึ้น

ผู้เจริญสติ เช่นนี้ จะเข้าใจซึ้งถึงความหมายของปัญญาอันเหนือคิดและจะพัฒนาไปเป็นญาณ

เห็น ความคิดนั้นไม่เห็นอะไรเลย เห็นเพียงอาการเท่านั้น เมื่อสติตระหนักรู้ว่องไว สัมผัสการเต้นของหัวใจ เสียงที่เข้ามาทางหู เปลือกตาที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่

เมื่อเราเดินจงกรมอยู่ เราจะเห็นตัวเอง สัมผัสตัวเอง เห็นลมหายใจคืออิริยาบถย่อยๆ ซึ่งเป็นไปในอาการใหญ่ ๆ คือการก้าวย่าง ซ้อนกันอยู่  ครั้งก่อนผมได้กล่าวว่า สาระสำคัญของการปฏิบัติการเจริญสติภาวนานั้น คือการไม่เป็นไปในอำนาจของความคิดนึก แล้วยกอุปมาว่าเหมือนกับเราไม่เป็นไปตามอำนาจแห่งรถยนต์

ถ้าเราขับรถ ยนต์ คอยประคองพวงมาลัย ประคองส่วนต่าง ๆ ของเครื่องจักร ที่จะทำให้รถยนต์แล่นไปตามต้องการ ในการขับรถยนต์จุดยากเย็นที่สุดคือ เรามัวไปบังคับส่วนใดส่วนหนึ่งอยู่

ถ้าหากว่าเราจะเริ่มขับรถยนต์ ก่อนหน้านั้นเราขับรถยนต์ไม่เป็น เราไม่อยากมีรถยนต์ แม้เรานั่งรถยนต์ของเพื่อนหลายสิบครั้ง หลายร้อยครั้ง แต่เราก็ขับไม่เป็น ถ้าเราไม่สังเกตนี้แสดงว่าเราไม่มีปัญหากับรถยนต์ รถจะเครื่องเสีย ชำรุด เราไม่มีปัญหาเลย เพราะเราไม่ใช่เจ้าของรถยนต์ เราไม่ต้องการเป็นเจ้าของด้วยจิตสำนึก

ผู้ขับรถยนต์ไม่เป็นและไม่ ต้องการจะขับรถยนต์ จะไม่มีปัญหากับรถยนต์ ซึ่งเปรียบกับคนทั่วไปไม่สนใจธรรมะ แล้วไม่ต้องการปฏิบัติด้วย เขาก็ไม่มีปัญหา เพราะเมื่อเขามีปัญหา เขาก็ไม่รู้ไม่ชี้ แต่ปัญหาก็อยู่ที่นั่นเหมือนคนขับรถยนต์ ไม่เป็น เขาจึงไม่เป็นจนวินาทีสุดท้าย

พอจะขับรถยนต์ขึ้นมา ซื้อรถมาแล้วก็ลงมือศึกษามัน จึงเริ่มมีปัญหากับรถยนต์ เราจะควบคุมมันบังคับมันให้ เป็นไปตามที่เราต้องการ เราเริ่มศึกษาแต่ละกรณี เราเริ่มศึกษาพวงมาลัยคลัตช์ เกียร์ ต้องไปเกี่ยวข้องต่อสู้กับมัน ที่จะควบคุมดูแลให้จงได้ ไม่ช้าไม่นานเราสามารถควบคุมดูแล ให้รถยนต์ทำงานสอดคล้องกลมกลืน

ในที่สุดเราก็เป็นคนหนึ่งที่ขับรถ ยนต์ได้ เมื่อเราขับรถยนต์เป็นแล้ว จิตสำนึกเราก็สิ้นปัญหาเกี่ยวกับการขับรถยนต์ เช่นเดียวกับคนขับรถยนต์ไม่เป็น แต่คนขับรถยนต์ไม่เป็น ไม่มีประสบการณ์เลยในการต่อสู้เพื่อขับเป็น แต่เมื่อเราขับเป็นแล้วเราก็ไม่มีอะไรกับมันเหมือนกัน

จุดยากเย็นที่ สุดในการขับรถยนต์เป็นคือ เราใส่ใจสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยเฉพาะมากเกินไป เช่น เรากุมพวงมาลัยแน่นด้วยความหวาดกลัวเราก็ลืมดูไฟท้ายไฟหน้า ลืมดูกระจก ลืมส่วนอื่น ๆ จุดนี้เองเป็นจุดที่ยากที่สุด

ความไม่ใส่ใจในจุดใด จุดหนึ่ง มีการประคับประคองทุก ๆ ส่วนไว้ ซึ่งอันนี้คือจุดที่คลี่คลายและกลมกลืน

การขี่จักรยานหรือสามล้อ ถ้าเราควบคุมมากเกินไป การทำเช่นนั้นทำให้เกิดอุปสรรค ฉันใดก็ฉันนั้น ในการเจริญสติจุดที่แก้ไขยากที่สุด คือจุดที่เราเพ่งที่จุดหนึ่งจุดใดนั้นเอง ดังนั้น นักภาวนาทั้งหลายมักมีคำถามว่า ผมจะเอาจิตไปไว้ที่ตรงไหน

การขับรถ ยนต์เป็นนั้นมันต้องใช้เวลา คนกล้าหาญหน่อยก็เป็นเร็ว บางคนหัดเช้าเย็นก็ขับได้ บางคนเป็นเดือนกว่าจะขับได้ บางคนอาจจะเป็นปีเพราะความกลัว กว่าจะเปลี่ยนความใส่ใจที่ละจุดในการกุมพวงมาลัย หรือเหยียบคลัตช์เป็นการประคองดูรวม ๆ
แตะ ๆ ต้อง ๆ มันเท่านั้น ไม่ใช่ยึดถือ

ต้องใช้เวลา ช่วงหนึ่งสำหรับศิลปะแห่งการปล่อยวางนี้ แต่ว่าในการเจริญภาวนา ไม่เหมือนกับการขับรถยนต์เสียทีเดียว เพราะในตัวมนุษย์เรามีภาวะซึ่งเป็นเองอยู่แล้ว ผู้ที่ขับรถยนต์เป็น ถ้าเราไปถามเขา ๆ จะว่าไม่เห็นมีเรื่องอะไร เรื่องง่าย ๆ เป็นแล้วมันจะเป็นไปเอง แทบจะบอกให้เป็นทฤษฎีไม่ได้ ขึ้นนั่งในรถยนต์แล้วมันเป็นไปเอง


ผมเคยนั่งคุยกับเพื่อนในรถ เขาขับรถเขาฟังผมพูดไปด้วย ทั้งตอบโต้ปัญหาต่าง ๆ เป็นชั่วโมง สังเกตว่าเขาทำได้ดีทั้ง ๒ อย่าง เขาเข้าใจปัญหา เขาขับรถยนต์ได้อย่างดีด้วย นั้นแสดงว่าเขาเข้าถึงความชำนาญอันนั้นแล้ว แต่ความชำนาญมีเรื่องต้องระมัดระวังว่า เป็นความชำนาญซึ่งทำลายความรู้สึกสด ๆ ใหม่ ๆ ไปหรือเปล่า

ส่วนในร่างกายชีวิตจิตใจของเรา มีสภาวะซึ่งเป็นเองอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าใครทำถูกเรื่องเข้า สภาพเป็นเองจะปรากฏขึ้นอย่างฉับพลันฉันนั้น ดังนั้น ช่วงปฏิบัติแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนปฏิบัติช่วงสั้นได้ผล บางคนปฏิบัติเป็น ๑๐ ปี ๆ ก็ยังไม่ปรากฏผลที่น่าพอใจเพราะอุปนิสัยชอบยึดถือนั้นเอง ชอบยึดถืออันหนึ่งอันใด อันนั้นก็จะเป็นอุปสรรคแท้ที่จริง

โลกทั้ง หมด จักรวาลทั้งหมด ชีวิตสังคมล้วนแต่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่ ธรรมชาติทั้งหมดเป็นไปเอง โดยหลักธรรมของพุทธศาสนาเรา ไม่มีหลักคิดของเรื่องพระผู้สร้างผู้ควบคุมและผู้ทำลาย ถือว่าธรรมชาตินั้นเป็นเอง เด็ก ๆ ตั้งแต่นอนแบเบาะกินข้าว กินน้ำ กินนม กินขนม ก็เติบโตขึ้นมาเอง หรืออายุขัยของเราก็เคลื่อนไหวขึ้นมาเปลี่ยนแปลงไปจนมาเท่านี้

สภาพ เป็นเองนี้ ภาษาบาลีสันสกฤตเรียก สยัมภู หรือ สยาม ซึ่งเป็นชื่อของประเทศเรา ความเป็นเอง หมายถึงอิสรภาพ เหมือนคนขับรถยนต์เป็นและเป็นเอง เป็นไปเอง แสดงว่าเขามีอิสรภาพแล้ว

ใน การเจริญสติภาวนานั้น เป้าหมายที่สำคัญที่สุด คือการเข้า ถึงสภาพเป็นเอง ได้แลเห็นและซึมซาบในสภาวะนั้น แล้วการภาวนาก็บรรลุผลสำเร็จคือสภาพเป็นเอง เช่นเห็นตาที่กะพริบเอง ความคิดที่คิดขึ้นมาเอง การเคลื่อนไหว แม้แต่ถ้อยคำก็เป็นไปเอง ทุกสิ่งทุกอย่างเมื่อเห็นตัวมันเอง ช่วงชีวิตไม่ใช่ความทุกข์ทรมานอีกต่อไป ดังนั้น จึงเรียกเป็นสุขได้ สุขที่เกิดจากการหมดสิ้นการแสวงหา เมื่อเห็นความเป็นเองแล้ว

เมื่อ เราปฏิบัติการเคลื่อนไหว ถ้าเราได้สอดใส่เจตนาเพ่งเล็งแรงกล้าอยู่ หรือพยายามที่จะกำหนด นั้นคือจุดอ่อนของเรา เป็นจุดซึ่งแก้ยากที่สุด ดังนั้น คนทั่วไปชอบที่จะสะกดจิตตัวเองอยู่เรื่อย ๆ เมื่อเราเคลื่อนมือก็ไปกำหนดมันเข้า อย่างนี้เท่ากับไปขัดแย้งกับความเป็นเอง ควรปฏิบัติเล่น ๆ

ทำเหมือน ไม่ได้ทำอะไร แต่ขอให้ทำ ทำในความหมายไม่กระทำ เป็นการกระทำกรรมที่ไร้เจตนา หากทำกรรมผลก็ตามมา กรรมนั้นตัดสินโดยเจตนา เจตนาให้สงบมันก็กลายเป็นความสงบ ติดอยู่แค่ความสงบนั้น การเจริญสติแบบที่แนะนำอยู่นี้ ให้ปฏิบัติเฉย ๆ สุขก็ไม่เอาทุกข์ก็ไม่เอา ไม่ต้องไปสนใจ จะปรากฏเป็นสุขก็ได้ ทุกข์ก็ได้ ให้เหลือแต่การเคลื่อนไหวล้วน ๆ ความรู้สึกล้วน ๆ บนฐานของการเคลื่อนไหว

ทำ อย่างนี้มันจะเข้าสู่ความเป็นเองอย่างรวดเร็ว แท้ที่จริงการละกิเลสต่าง ๆ นั้น มันละของมันเอง โดยจิตใจสิ้นปรารถนามัน สภาพเป็นเองนั้น ปรากฏขึ้นแทนที่ มันก็ละของมันเอง

นิสัยใหม่คือความขยัน ความซื่อตรง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเอง เมื่อเราเร้าความรู้สึกตัว เห็นตัวเองเดินไปเดินมา หายใจเข้าหายใจออก แต่ไม่ได้เห็นอันหนึ่งอันใดโดยเพ่งเล็งจำเพาะ เห็นรอบ เห็นกว้าง ๆ

ใน การปฏิบัติชนิดรวมศูนย์ทุกชนิด จะเป็นอุปสรรคในการเห็นความเป็นเอง เช่น การกระทำให้สงบแบบสมถะ กำหนดเอาลมหายใจเข้าออก หรือเพ่งต่อนิมิตอันหนึ่งอันใด สิ่งเหล่านั้นเป็นอุปสรรคต่อความเป็นเองทั้งสิ้น

ถ้าเราไปทำให้มัน สงบโดยเจตนา พอเกิดสงบ มันหวังอยู่แล้ว อยากได้อยู่แล้วก็ตะครุบทันที การปฏิบัติเช่นนั้น ชื่อว่ายังพัวพันกับกรรม ไม่พ้นกรรมไปได้ นั่นเป็นการปฏิบัติสมถะ ปฏิบัติเช่นนี้ จะไม่รู้จักศีลที่แท้จริง ศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นเอง ซึ่งมีอยู่แล้วในตัวชีวิต ผู้เจริญสมถะจะไม่รู้จัก

ผู้ เจริญสมถะแม้จะได้ความสงบ แต่ในความสงบเช่นนั้น ไม่มีอิสระภาพเลย มีแต่ความสงบด้วยอำนาจการกดข่มกิเลสอาสวะไว้เหมือนนักโทษอยู่ในคุก ต่อมาผู้คุมให้ย้ายไปอยู่อีกคุกหนึ่ง ซึ่งลูกกรงคุกทำด้วยทองคำ แต่เขาก็ยังคงเป็นนักโทษไม่ค้นพบอิสรภาพการเจริญสมถะนั่งหลับตาสะกดจิตตัว เองนี้ เป็นการปฏิบัติตามรอยอุททกะ – อาฬารดาบส ซึ่งไม่ใช่วิธีของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าได้ออกจากสำนักดาบสทั้งสอง นั้นด้วยเห็นว่า ผลของการกระทำยังอาพาธได้ แล้วจะเรียกความสงบว่ามรรคผล นิพพานได้อย่างไร

ในการเจริญสมถะและวิปัสสนานั้น มีรากฐานที่ต่างกัน โดยทั่วไปแล้ว เราเข้าใจว่า เจริญสมถะจนสามารถระงับนิวรณ์ได้ ต่อจากนั้นยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา คือพิจารณาสิ่งทั้งปวงโดยเฉพาะขันธ์ ๕ ตามนัยนะแห่งพระไตรลักษณ์ ความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

ทางทฤษฏีเราเรียนเช่นนี้ แต่ในภาคปฏิบัติไม่เป็นเช่นนั้น บุคคลเจริญสมถะแล้วยากจะเข้าสู่วิปัสสนา คือการเจริญวิปัสสนานั้น เราตั้งต้นที่สติไม่ใช่ความสงบ จะสงบก็ได้ไม่สงบก็ได้ขอให้รู้ตัว คิดดีก็ได้ คิดร้ายก็ได้ กายเคลื่อนไหวอย่างไร ก็รู้ด้วยอาการอย่างนั้น นั่งอยู่ก็รู้อาการนั่ง โดยไม่ต้องพูดซ้ำว่ากำลังนั่งอยู่

การพูดซ้ำกำหนดหนอ เป็นการกระทำที่ล้อหลอกความจริง เดินอยู่ก็รู้อิริยาบถที่เคลื่อนไหว นั่ง นอน เคลื่อนมือ เมื่อคิดนึกไปให้รู้ให้เห็น ให้รู้ให้เห็นทันท่วงที ชนิดสัมผัสได้ พอคิดวูบไปก็รู้ตัวเดี๋ยวนั้น การรู้การเห็นเช่นนี้เรียกว่าเจริญสติ

โดยทั่วไปเรามักจะรู้กันแล้ว ว่า จิตใจมีการตรึกนึกมีความคิด เรารู้แบบคิดซ้อนคิดอย่างนี้ ยังไม่เห็น ถ้าเห็นความคิดแล้ว กระแสสืบต่อความคิดจะขาดสะบั้นลง และไม่มีคำพูดแม้แต่คำเดียวที่ปรากฏขึ้นในจิต แต่ความคิดก็ยังคงเป็นความคิด เรานั่งอยู่เราหิวเราคิดขึ้นมาว่าจะไปหาอาหารมาใส่ท้อง ความคิดเช่นนี้ไม่มีปัญหา เพราะสัมพันธ์กับความเป็นจริง

แต่ความคิด ปรุงแต่งที่เป็นปัญหา คือเราคิดโดยไม่รู้ตัว ส่วนความคิดที่เราเห็นแล้ว แสดงว่าเราควบคุมไว้ได้แล้ว เราอยู่เหนือมันแล้ว เช่นเดียวกับเราหมุนพวงมาลัยรถ รถก็หมุนไปตามที่เราคาดหวัง แสดงว่าเรามีอิสระในการกระทำนั้น ให้มันรู้ตัว ตื่นตาตื่นใจจะสงบก็ได้ไม่สงบก็ได้ ถ้าเราไปตั้งเป้าจะให้สงบเมื่อใด เราจะพลาดทันที เราต้องเข้าใจว่าเราต้องเร้าความรู้สึกตัว สงบก็ได้ไม่สงบก็ได้ ให้รู้ให้เห็นให้สัมผัสมันได้

ทุกคนอาจจะยัง เข้าใจ ผิดต่อธรรมชาติธรรมดาของทะเล เช่นเข้าใจว่าทะเลแท้ต้องไม่มีคลื่นเลย นี้เข้าใจผิดมาก ไม่มีทะเลไหนในโลกนี้ที่ราบเรียบเป็นหน้ากลองตลอดเวลาได้ แต่ทะเลที่บ้าคลั่งครืนโครมนั้นก็ไม่ใช่สิ่งถาวร สภาพปกติของทะเลคือการมีคลื่นลมบ้าง ไม่มีบ้าง คลื่นใหญ่บ้างเล็กบ้าง

สภาพ ปกติของชีวิตจิตใจก็เหมือนกัน ต้องมีความคิดนึกผ่านเข้ามา ถ้าเราคิดว่าสภาพปกติคือการนั่งไม่คิดอะไรเลย นั่นเป็นการเข้าใจผิด ดังนั้น ให้รู้สึกตัว ดูเข้าไปในใจตัวเอง อย่าเข้าไปในความคิด อย่ามุ่งที่จะหยุดยั้งความคิด เมื่อเผลอเข้าไปในความคิดแล้ว ก็กลับมารู้สึกตัวอีก อย่ามุ่งจะหยุดความคิด

ความคิดนั้นเป็นพลังทำ ให้เกิดสมาธิ คือเมื่อเรารู้ตัว ก็เป็นการทวนกระแสความคิด ก่อเกิดพลังสมาธิขึ้นตามธรรมชาติ กลับมารู้สึกตัว ทำอยู่อย่างนี้เรียกเจริญสติภาวนา เพื่อการรู้แจ้งรู้จริงต่อตัวเองและสิ่งที่เกี่ยวกับตัวเอง ทำเช่นนี้ สังเกตเช่นนี้มากเข้า นานเข้า ความรู้สึกตัวก็นำหน้า ความคิดก็ถอยร่นมาอยู่ข้างหลัง

เมื่อความคิดเข้ามาก็รู้สึกตัว ตื่นตัว กล้าท้าทายความคิดทุกรูปแบบ ไม่หวั่นไหวไปกับความคิด เพราะความรู้สึกตัวมีกำลังเหนือกว่า จากความรู้สึกอันนั้นเราจะเรียนรู้ชีวิตและที่สุดของมัน

ชีวิตคือการ รู้สึกตัว ไม่รู้สึกตัวก็ไม่มีชีวิต พระพุทธเจ้าตรัสว่าผู้ประมาท ชื่อว่าตายแล้ว ผู้ที่ประมาทคือผู้ที่เข้าไปในความคิดเรื่อย ๆ โดยไม่รู้สึกตัว ชื่อว่าเดินห่างจากชีวิตแท้ออกไปทุกที เมื่อเจริญสติ ถ้าเราทำตามปัจฉิมโอวาทครั้งสุดท้ายของพระพุทธเจ้า อันเปรียบเหมือนมรดกสำคัญ ซึ่งทรงตรัสเป็นครั้งสุดท้ายด้วยความห่วงใยผู้คน ผ่านทางภิกษุที่รายล้อมท่านอยู่

ในวาระสุดท้ายคือ เธอทั้งหลายจงอย่าประมาท คำพูดสั้น ๆ นี้ มีความหมายใหญ่หลวงนัก ผู้ที่จับแก่นความหมายนี้ได้ ก็กล่าวได้ว่า
ได้รับมรดกของพระพุทธเจ้า แสดงว่ารู้ตัวรู้สึกตัว ไม่เป็นไปตามอำนาจแห่งความนึกคิด จนอยู่เหนือความคิดนั้น

เราเดินจงกรม ยกมือ เราอย่าไปสนใจการยกครั้งต่อไป แต่ขอให้เคลื่อนไหวไว้ รูปแบบของการเคลื่อนไหวทำไว้ให้มาก แต่อย่าไปสนใจมัน บัดนี้ บนฐานของความรู้สึกตัว ดูเข้าไปในจิตใจของตัวเอง อย่าเป็นไปตามอำนาจความคิด เมื่อความคิดเกิดขึ้น เราก็จะลืมตัว

สติที่เราเรียกกลับมา คือความรู้สึกตัว เราก็หลุดออกจากความคิด เดี๋ยวเราก็เผลอตัวเข้าไปในความคิดอีก นี้คือการต่อสู้ของเรา รู้ตัวบ้าง ลืมตัวบ้าง นี้เป็นการปฏิบัติที่เป็นธรรมชาติ  ถ้านั่งนิ่งรู้ตัวตลอดเวลา อาจเกิดอาการผิดเพี้ยนได้ เพราะในเบื้องต้นของการเจริญสติคือรู้ตัว แต่เมื่อมันพัฒนาไปไกล มันจะถึงจุดที่ลืมตัว

การที่เราลืมตัวอย่าง รู้ตัว เป็นเป้าหมายของเรา เพราะมันจะเข้าสู่ความเป็นเอง  การที่เรารู้ตัวนี้ เป็นปัญหาซ้อนอยู่ในตัวด้วย เพราะรู้ตัวเข้าแล้วเราก็เริ่มทุกข์ ก่อนหน้าจะมาปฏิบัติเราไม่ทุกข์ เราสนุก เรามีอะไรกลัดกลุ้ม เราก็ไปเที่ยวหรือคุยกับเพื่อน เราก็สบาย เราไม่รู้จักความทุกข์

แต่ถ้าเรารู้ตัวมาก ๆ เราจะเป็นทุกข์ ทุกข์ที่ต้องรู้ตัว ทุกข์ในตัวเอง จากความทุกข์ หากเรามีสติ มันจะแปรเปลี่ยนเป็นสมาธิ จากทุกข์ มันจะเคี่ยวจนคลี่คลายออกเป็นการรู้ตัว แบบไม่กำหนดเลย

รู้ตัวแบบไม่รู้ตัว ไม่รู้ตัวแบบรู้ตัว ขึ้นเหนือกฏเกณฑ์แห่งการปฏิบัติ เป็นการปฏิบัติชนิดเหนือการปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติแต่ปฏิบัติอยู่ ดังนั้น ปฏิบัติให้มากจึงจะเข้าใจเหนือการปฏิบัติ

เหมือน ขับรถยนต์มาก ๆ วันหนึ่งจะรู้สึกว่าเหมือนไม่ได้ทำอะไร ปราชญ์จีนโบราณเรียกสภาวะนี้ว่า อู่หวุย หรือเรียกเป็นภาษาบาลีว่าอกรรมกิริยา ทำแต่ไม่ได้ ทำอะไร ไม่ถอย ไม่สู้ ไม่อยู่ ไม่หนี...นั้นคือเป็นเอง

การปฏิบัติธรรมเบื้องต้น เจริญสติบนฐานของการเคลื่อนไหวให้รู้ตัว เมื่อรู้ตัวแล้วทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากการรู้ตัวนี้คืออริยสัจจ์ ไฟทุกข์จะโทรมลง สันติภาพอยู่ที่นั่น เบื้องหลังความทุกข์นั่นเอง

คนทั่วไปทุกข์ด้วย อำนาจของกิเลส แต่นักภาวนาทุกข์เพราะไม่ได้บรรลุภูมิธรรมที่เหนือกว่า แต่ก็ทุกข์เหมือนกัน จิตเกี่ยวข้องกับความทุกข์เพียงรู้เฉย ๆ แต่สาเหตุความทุกข์นั้นต้องขุดรากกำจัดมัน

เช่นเดียวกับเราต้มน้ำให้ เดือด บอกเด็กผู้ไม่รู้อะไรไปทำน้ำอย่าให้เดือด เด็กคนนั้นเอามือไปตบน้ำให้สงบ มือก็พองไหม้ เจ็บปวดและไม่สำเร็จด้วย เด็กที่รู้เดียงสา เขาจะไปเอาฟืนออก ในที่สุดน้ำก็เย็นเอง เพราะว่าธรรมชาติของความชุ่มเย็นนั้นเป็นเนื้อหาดั้งเดิม เป็นสาระดั้งเดิมของน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น

สาระชีวิต ก็คือความสงบ ตัวเรานี้เป็นตัวสงบ ความสงบสิงสู่อยู่ทั่วสรรพางค์กาย ในชีวิตนี้คือความเงียบสงัด นี้คือสาระแก่นสารของชีวิต แต่มาถูกไฟอวิชชา ความโง่ ความลืมตัว มาแผดเผาเข้า กลายเป็นชีวิตที่เดือดพล่าน ทุกข์ทรมานทุรนทุราย

ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่เป็นทุกข์ จะคิดจะทำอะไรสักนิดก็กังวลขึ้นมา คิดจะเดินทาง คิดจะแต่งงานหย่าร้าง แทบจะกล่าวได้ว่าคิดจะทำอะไรเท่านั้น ความกังวลก็ตามมา ในที่สุดความวิตกกังวลก็ครองเรือนใจ นั้นเหมือนเชื้อโรคร้าย หรือเหมือนปลวกกัดกินบ้านเรือนจนพังทลายลง



(ที่มา : “อกรรม กิริยา-สยัมภู-อู่หวุย” ในช่วงชีวิต-ช่วงภาวนา โดย เขมานันทะ :
พิมพ์ ครั้งแรก โดย ธรรมสภา, พ.ศ. ๒๕๓๖, หน้า ๘๕-๙๕)
3  สุขใจในธรรม / ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 / Re: ~* การทำความรู้สึกตัว *~ เมื่อ: 05 พฤษภาคม 2553 18:16:52
กุญแจดอกเอก

ธรรมะของหลวงพ่อเทียน
คัดลอกจากหนังสือ "ปกติ : หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภและสิ่งที่ฝากไว้"

ธรรมชาติแห่งพุทธะในตัวคนแต่ละคน อาจเปรียบได้กับผลไม้แต่ละผล หรือเมล็ดข้าวเปลือก ถ้าหากได้เอาลงเพาะในดินที่ชุ่มเย็น มีเงื่อนไขต่างๆพอเหมาะ ก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้น ให้ดอกออกผลได้เช่นกัน ส่วนจะช้าหรือเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพของข้าวเมล็ดนั้น ๆ เป็นเหตุปัจจัย

การตรัสรู้ เหมือนดอกไม้อาศัยแสงตะวัน เมื่อตะวันส่องแสงมายังพื้นโลก เมื่อความร้อนกับความเย็นกระทบกัน จึงเกิดความอบอุ่น ดอกไม้ก็เลยบานได้ตามต้องการ

พุทธะหรือโพธิจิตนี้ เมื่อได้รับการกระตุ้นระดับหนึ่ง จะตื่นขึ้นและผลิบาน จึงเรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งมนุษย์ทุกคนไปถึงได้ *

การเจริญสติ อันเป็นฐานของการเจริญสมาธิ เจริญปัญญา จะทำให้ธาตุพุทธะในตัวเราแตกตัว และเบ่งบาน

การรู้สึกตัวนั้น เป็นไม้ขีดไฟ เทียนไขนั้นก็คือ มันคิดเรารู้ เราพยายามจุดสองอย่างนี้ จุดแล้วก็สว่างขึ้นมา ก็เดินหนีออกจากถ้ำ ไม่เข้าไปอยู่ในถ้ำ ถึงจะต้องเข้าไปอยู่ในถ้ำ ก็ต้องไม่ให้มันมืดต่อไป ต้องรู้สึกตัวทันที นี่แหละคือการปฏิบัติธรรม

การรู้สึกตัวนี้ ให้รู้สึกลงไป เมื่อมันไหวขึ้นมาให้รู้สึกตามความเป็นจริงที่มันเคลื่อนไหวนั้น เมื่อมันหยุดก็ให้รู้สึกทันทีว่ามันหยุด อันนี้เรียกว่า สงบ สงบแบบรู้สึก

เราจะสร้างโบสถ์สักหลังหนึ่ง ยังไม่เท่าเราพลิกมือขึ้นอย่างนี้ครั้งเดียว แล้วรู้สึกตัว ทำอย่างนี้ดีกว่าการสร้างโบสถ์หลังหนึ่ง เพราะอันนี้มันรู้แต่สร้างโบสถ์ ไม่รู้อะไรเลย

ความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้เป็นรากเหง้าของบาป

การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ ๆ มันไม่มี แสวงหาตัวเรานี้ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น

ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ เราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้นเรียกว่า ความสงบ

ความสงบมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น เป็นความสงบจาก โทสะ โมหะ โลภะ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นแก่เรา สติจะมาทันที เนื่องจากสติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่นั่นแล้ว โทสะ โมหะ โลภะ จึงไม่มี ถ้าบุคคลใดไม่เจริญสติ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บุคคลนั้นจะไม่มีมัน ทั้งที่มันมีอยู่ที่นั่นแล้ว

เพียงแต่เคลื่อนไหวทีละครั้งและรู้ เมื่อเธอไม่รู้ปล่อยมันไป เมื่อรู้ปล่อยมันไป บางครั้งเธอรู้ บางครั้งเธอไม่รู้ มันเป็นเช่นนั้น แต่ให้รู้

การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย คือการเจริญสติ สมาธิคือการตั้งใจ

ใช้สติดูจิตใจ ไม่ว่าความคิดอะไรเกิดขึ้น เห็นมันทันที และเราจะรู้ถึงความหลอกลวง รู้ทันเวลา รู้การป้องกัน และรู้การแก้ไข รู้ถึงการเอาชนะความคิดปรุงแต่ง ศีลจะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเอง ไม่ใช่คนดอกที่รักษาศีล แต่ศีลต่างหากที่รักษาคน

ให้ลืมตาทำเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ มันเป็นการไหลไปตามธรรมชาติของมัน ตาก็ไม่ต้องบังคับให้มันหลับ ให้มันกระพริบขึ้นลงได้ตามธรรมชาติ เหลือบซ้าย แลขวาก็ได้ มันจึงเป็นการปฏิบัติธรรมกับธรรมชาติ และมันก็รู้กับธรรมชาติจริงๆ

ถ้ารู้สึกในการเคลื่อนไหวได้ ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ซักเสื้อผ้า ล้างถ้วย ล้างชาม ถ้ารู้สึกที่มันเคลื่อนมันไหวในขณะนั้น ก็เป็นการปฏิบัติธรรมได้

พุทธศาสนาคือ มารู้สึกต่อการเคลื่อนการไหวในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั่นแหละ คือมันรู้สึกในการเคลื่อนไหวของกายและใจ เป็นญาณเข้ามารู้ รู้สึกที่เนื้อที่ตัวตื่นตัว มันจะเป็นใหญ่ในตัวของมันได้เอง รู้สึกใจตื่นใจ มันจะเปลี่ยนแปลงเป็นใหญ่ในใจของมันได้เอง เมื่อมันเปลี่ยนแปลง มันก็เหมือนกับเราหงายของที่คว่ำขึ้นมา มันก็เห็นว่า มีอะไรอยู่ที่ตรงนั้น

คำว่าติดต่อกันเหมือนลูกโซ่นั้น ไม่ใช่แต่ว่านั่งอยู่ในห้องกรรมฐานเพียงอย่างเดียว จะไปไหนมาไหน อาบน้ำ ซักเสื้อ ซักผ้า ก็ให้มีสติดูการเคลื่อนไหวของรูปกาย และมีสติดูจิตดูใจอยู่เสมอ นั่นแหละท่านเรียกว่า ปฏิบัติให้ติดต่อเหมือนลูกโซ่

ทันทีที่ความคิดเกิดขึ้น ปัดมันทิ้งออกไปทันที และให้มาอยู่กับความรู้สึกตัว

ความคิดยิ่งเร็ว สติปัญญาก็ยิ่งเร็ว ความคิดยิ่งลึก สติปัญญาก็ยิ่งลึก ถ้าทุกวันสองอย่างนี้ยิ่งลึกเท่ากันแล้วกระทบกัน แตกโพละออกมาเลย เรียกว่า โพลงตัวออกมา ซึ่งสภาวะอันนี้มันมีอยู่แล้วในคนทุกคน

วิธีแห่งการปฏิบัติ คือการรู้สึกตัวเท่าทันความคิด ร่างกายของเราทำงานไปตามหน้าที่ แต่จิตของเราจะต้องดูความคิด

การเห็น การรู้ ความคิด เป็นสองสิ่งที่แตกต่างกัน การรู้คือการเข้าไปในการคิดและความคิดก็คงดำเนินต่อไป เมื่อเราเห็นความคิด เราสามารถหลุดออกมาจากความคิดนั้นได้

เมื่อเราเห็นความคิดในทุกขณะ ไม่ว่ามันจะคิดเรื่องใดก็ตาม เราเอาชนะมันได้ทุกครั้งไป แล้วเราจะมาถึงจุดหนึ่ง ที่บางสิ่งภายในจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

การรู้ความคิด จึงเป็นความรู้ของ อวิชชา  สำหรับผู้มีปัญญา การรู้และการเห็น สามารถแยกออกจากกันได้ นั่นคือวิชชา ปัญญาและวิชชาจะแยกความคิดออกจากกันได้ และนั่นคือที่สุดของทุกข์

ตัวนึกคิดนี่แหละคือสมุทัย มรรคคือการเอาสติมาดูความคิด นี่คือข้อปฏิบัติ

การที่เราเห็นความคิดนี่เอง เป็นต้นทางพระนิพพานแล้ว เมื่อมันคิดวูบขึ้นมา เราก็เห็นปั๊บ อันกระแสความคิดนี้มันไวนัก ไวกว่าแสง ไวกว่าเสียง ไวกว่าไฟฟ้า ไวกว่าอะไรทั้งหมด เมื่อได้เห็นสมุฏฐานความเร็ว ความไวของความคิดแล้ว เรียกว่า อรรถบัญญัติ

ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนการวิดน้ำออกไปจากก้นบ่อ ทำอย่างนี้นานๆ เข้า สติจะเต็มและสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิด ที่เรียกว่า ปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด
ให้รู้จักสมุฏฐานของความคิด เมื่อเรารู้จักสมุฏฐานของความคิดแล้ว เราจะได้ปฏิบัติจุดนี้เข้าไป เมื่อเราปฏิบัติจุดนี้แล้ว มันจะไปตามทางของมันเอง เมื่อไปตามทางนั้นแปลว่าเห็นถูกต้อง ก็ต้องถึงจุดหมายปลายทาง

ที่เราต้องการความสงบหรือพุทธะ เราไม่ต้องไปทำอะไรให้มาก เพียงให้ดูต้นตอของชีวิต เมื่อมันคิดมา อย่าเข้าไปในความคิด ให้ตัดความคิดออกให้ทัน

วิธีการยกมือขึ้น คว่ำมือลง เป็นวิธีเจริญสติ เป็นวิธีเจริญปัญญา เมื่อได้สัดได้ส่วนสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นเองไม่ยกเว้นใคร ๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ เด็ก ๆ ก็ทำได้ ผู้ใหญ่ก็ทำได้ นุ่งผ้าสีอะไรก็ทำได้ ถือศาสนาลัทธิอะไรก็ทำได้ เรียกว่า ของจริง

วิธีที่จะจัดการกับ ความโลภ ความโกรธ ความหลงนั้น เราไม่ต้องไปคิดหาว่า ความโกรธ ความโลภ ความหลง อยู่ที่ไหน เราเพียงกลับเข้ามาดูจิตดูใจของเรา ก็จะทำลายความโกรธ ความโลภ ความหลงได้เอง

ศีลคือความปกติ ศีลคือผลของจิตใจที่เป็นปกติ นี้เป็นสิ่งเดียวกับสติ สมาธิ ปัญญา วิธีการปฏิบัติคือ การรู้สึกตัวเท่าทันความคิด เมื่อความคิด ความทุกข์ หรือความสับสนเกิดขึ้น อย่าได้พยายามหยุดมัน แต่ให้สังเกตมัน

หนทางไปสู่ความสิ้นสุดของทุกข์นี้ เป็นหนทางที่ง่าย เหตุที่ยาก เพราะเราไม่รู้มันอย่างแท้จริง เราจึงมีแต่ความลังเล และสงสัย

พระพุทธเจ้าก็คือ คนทุกคน เพราะพืชพันธุ์ที่จะทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่แล้วในคนทุกคนไม่ยกเว้น

ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม พระธรรมนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเห็นสิ่งนี้อย่างแท้จริง เราจะอยู่เหนือความเชื่อที่งมงายทั้งหลาย ตัวเราเท่านั้นที่จะนำชีวิตของเราเอง มิใช่ใดอื่นนี้คือ จุดเริ่มต้นของความสิ้นสุดแห่งทุกข์

พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอะไรเลย เพราะมันมีอยู่แล้วทั้งนั้น ขอเพียงว่าให้เรารู้สึกตัวเท่านั้นเอง ความรู้สึกตัวก็มีอยู่แล้ว 

แท้จริงแล้วนั้น กิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นใจอย่างชัดเจน โมหะก็จะไม่มีอยู่

ธรรมะคือมนุษย์ เมื่อเรารู้ธรรมะ เราก็จะเข้าใจว่า ทุก ๆ สิ่งนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ทุก ๆ สิ่งคือสมมุติ นี้คือปัญญาที่เกิดขึ้น

การเห็นตัวเราตามที่เป็นจริง คือการเห็นธรรมะ ฉะนั้นการเห็นธรรมก็คือ เห็นในขณะที่เรากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด เห็นอย่างนี้เห็นธรรมแท้ ๆ ไม่แปรผัน

4  สุขใจในธรรม / ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 / Re: ~* การทำความรู้สึกตัว *~ เมื่อ: 05 พฤษภาคม 2553 18:16:30
ชั่วอึดใจเดียว

จากหนังสือชุดอิสรภาพแห่งชีวิต
เรื่อง สำหรับผู้เห็นความคิด
โดย บุรัญชัย จงกลนี


 
เตือนจิตสะกิดใจ 2 : ชั่วอึดใจเดียว

          มีการสนทนาซักถามโต้ตอบระหว่างผู้มาปฏิบัติธรรมกับ หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ส่งผลได้อย่างรวดเร็ว ชนิดที่เรียกได้ว่า “ ชั่วอึดใจเดียว ” ดังมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ปุจฉา : ความสงบที่หลวงพ่อพูดถึงคืออะไรครับ ?

วิสัชนา : ความสงบที่เราสนใจกันนั้น โดยมากคนไปทำมันขึ้นมาให้สงบ ส่วนคำว่า สงบในพุทธศาสนาคือการจบเรื่องกัน หยุดแสวงหา ไม่ศึกษาอะไรที่ไหนอีกแล้ว

ปุจฉา : หมายถึงปล่อยวางใช่ไหมครับ?

วิสัชนา : จะหมายถึงปล่อยวางก็ได้ คำพูดมันเป็นเพียงการสมมุติ คือเรื่องมันจบกัน คือหมดการศึกษาอะไรต่อไปอีก หยุดการเดินหน้า หยุดการถอยหลัง หยุดการไป การมา ทั้งหมด แต่คนเรามักจะพยายามไปสร้างความสงบให้เกิดขึ้น โดยเข้าใจว่าต้องนั่งเอามือประสานกันที่หน้าตักแล้วหลับตาลงจึงจะสงบ นั่นไม่ใช่ความสงบ นั่นเราไปสร้างมันขึ้นมา ความสงบมันมีอยู่แล้ว อย่างคนเรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ นี่ก็เรียกว่าสงบได้ ไม่คิดอะไรใช่ไหม คือเฉย ๆ อยู่ ลักษณะนี้แหละสงบ ใครพูดอะไรก็ต้องได้ยินและรู้เรื่อง ตามองก็เห็น นี่ก็เรียกว่าสงบ ไม่ต้องไปทำอะไร แต่จะหลับตาก็ได้ไม่หลับตาก็ได้ ไม่ได้ห้าม หน้าที่ของตาคือสามารถมองเห็น เราก็ให้มันทำตามหน้าที่ของมันเท่านั้นเอง อย่าไปฝืนมัน ถ้าไปฝืนธรรมชาติของมัน มันก็ไม่สงบ

ปุจฉา : ผมพยายามทำใจให้ปล่อยวางให้สงบ

วิสัชนา : นั่นแหละมันไม่เข้าใจ อันความพยายามทำความปล่อยวางนั่นแหละ เราไปจับมันเข้าไว้แล้ว เราไม่รู้ความคิดแล้ว เราไปคิดมันขึ้นมาว่า “จะปล่อยวาง” มันจึงเป็นสองเรื่องแล้ว มันเป็นความคิดสองชั้นแล้วนั่นน่ะ มันไม่รู้จักวิธีปล่อยวาง มันทุกข์นะ เมื่อเราไปคิดพยายามปล่อยวางมัน มันเป็นสองทุกข์เข้าไปแล้ว หนึ่งมันคิดไปตามเรื่องของมัน สองเราพยายามปล่อยวางมัน เป็นสองทุกข์เข้าแล้วนะ ไม่ใช่ให้เราพยายามมัน ที่เราไปพยายามนั่นแหละ เราไปทำให้มันทุกข์แล้ว

ปุจฉา : แล้วจะทำอย่างไรครับ ?

วิสัชนา : เราเพียงรู้ ไม่คิด คือพอดีเราคิดขึ้นมา เราปล่อยทันที มาทำความรู้สึกตัว กำมือเข้ามา แบมือออกไปก็ได้ แล้วเราจะได้รู้สถานที่ที่ตรงนั้นเองที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ว่า ทุกข์ให้กำหนดรู้ สมุทัยต้องละ นิโรธทำให้แจ้ง มรรคต้องเจริญ แต่นี่เราไม่รู้ตัว พอมันคิดแล้วเราก็ไปคิดอีก มันก็เลยเป็นสองชั้น ทีนี้พอมันคิดเราก็มาทำความรู้สึกตัว มันจะวางของมันเอง

ปุจฉา : ประโยชน์ของมันล่ะครับ ?

วิสัชนา : ประโยชน์หรือผลของมันคือ ความไม่มีทุกข์ ซึ่งมันมีในคนทุกคนอยู่แล้ว เมื่อมันคิดขึ้นมา เราอย่าพยายามให้มันหยุด อย่าไปห้าม เรามารู้สึกตัว แล้วมันจะวางความคิดมาอยู่กับความรู้สึกตัว มันจะหยุด ทำบ่อย ๆ ทำไปแล้วคุณจะรู้เอง และ เมื่อคุณรู้คุณจะร้องอ๋อ คุณรู้เองแล้วคุณจะต้องแจ้ง ไม่ใช่หลวงพ่อพูดแล้วคุณจะรู้ได้ ก็รู้ได้แต่รู้ได้เพียงสัญญา

ปุจฉา : หลุดพ้นไปใช่ไหมครับ ?

วิสัชนา : เมื่อมันยังไม่แจ้ง มันก็พ้นไปไม่ได้

ปุจฉา : ที่หลวงพ่อพูดว่าให้พลิกมือ หรือให้รู้สึกตัวนี้ เพื่อให้มันปล่อยจากความคิด โดยปกติคนทั่ว ๆ ไปเวลาทุกข์ขึ้นมาก็ไปฟังเพลง ไปดูหนัง ไปเดินเล่น อันนั้นมันต่างไปจากที่หลวงพ่อแนะนำอย่างไร เพราะวิธีนั้น ก็ลืมของเขาได้เหมือนกัน

วิสัชนา : มันต่างกัน อันนั้นเขาเรียกว่า “ระงับได้” เคยเห็นโคลนตมไหม พอวัวควายเดินเหยียบน้ำเหยียบตมลงไป น้ำมันต้องขุ่นใช่ไหม อย่างที่เราไปดูหนังดูละครหรือเราไปนั่งทำความสงบ ตมตะกอนนั้นมันไม่ออก มันยังขังอยู่ที่นั่น มันพร้อมจะผุดขึ้นมา ส่วนอันนี้มันคนละเรื่องกัน อย่างที่หลวงพ่อพูด พอมันคิด เราทำความรู้สึกตัว มันจะวางความคิดเหมือนเราเหมือนกับเราเอาน้ำในขวดที่มีตะกอนไปกรอง ตะกอนอยู่ส่วนตะกอน น้ำอยู่ส่วนน้ำ จริง ๆ แล้วน้ำไม่ได้ขุ่น น้ำมันก็เป็นน้ำ ตะกอนก็อยู่ส่วนตะกอน อย่างที่เราว่าจิตใจเราคิดมันทุกข์ แต่ความจริงใจมันไม่ได้ทุกข์ แต่เราไปเข้าใจว่ามันทุกข์ มันไม่ใช่ใจทุกข์นะ ตัวทุกข์นั้นคือตัวคิดนั่นเอง พอดี มันคิดปุ๊ป เราก็เลยเข้าไปในความคิด แล้วเราหยุดมันไม่เป็น มันจึงคิดต่อเรื่อยไป แล้วเราก็ไปหาวิธีระงับโดยการไปเที่ยวเตร่แต่ความจริงสิ่งนั้นไม่สามารถที่จะระงับทุกข์ได้ เป็นเพียงเราไปทำให้มันลืมชั่วคราวเท่านั้นเอง

ปุจฉา : คือพิจารณาว่า สิ่งนี้ไม่ควรยึดมั่น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ควรปล่อยวางใช่ไหมครับ ?

วิสัชนา : ไม่ใช่ นั่นมันเพิ่มขึ้นมาเป็นสองคิดแล้ว นี่มันเป็นสองทุกข์แล้ว " พอดีมันคิดปุ๊ป เรารู้สึก มันหายไปเอง ถ้าไปพิจารณาว่าเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา มันเป็นวิตกวิจารณ์ เป็นคิดไปแล้ว "

ปุจฉา : พอคิดปุ๊ป ก็รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวอันนี้ต่างหากที่มีผลให้มันหยุดเองใช่ไหมครับ ?

วิสัชนา : ใช่ นั่นแหละ ข้อสำคัญทำให้มันรู้ มันเป็น ไม่ใช่ให้มันรู้โดยสัญญา คิดรู้เอาจากการศึกษา จากตำรา หรือ จากการตรองเอาตามเหตุตามผล

ปุจฉา : สรุปว่า ความคิดที่อยู่ใต้โมหะ ( ความไม่รู้สึกตัว) นี่เราต้องปัดมันไปเลยใช่ไหมครับ ?

วิสัชนา : ปัดไปเลย

ปุจฉา : แต่ความคิดที่เป็นไปด้วยสติปัญญา เราต้องคิดเพื่อการเพื่องานของเรา เราต้องคิดใช่ไหมครับ?

วิสัชนา : อันนั้นถ้าไม่คิดก็ทำไม่ได้ ต้องคิด เราจะปลูกบ้านหรือซื้อของ เสื้อผ้า หรือจะซื้ออะไรก็ตาม มันต้องคิดมันจะคุ้มค่าเงินเราไหม เราซื้อแล้วจะไปทำอะไรมันต้องคิด อันนี้ถ้าไม่คิด เขาว่าเป็นคนบ้า ให้เข้าใจอันนั้นต้องใช้สติปัญญา ต้องวิพากษ์วิจารณ์นะ มิฉะนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมามันจะแก้ไม่ได้ เช่น มีคนมาขโมยของ เราต้องรู้ว่า เป็นหญิงหรือชาย มีอายุประมาณเท่าไร แต่ที่หลวงพ่อพูดนี้ พูดถึงการปฏิบัติไม่ได้พูดเรื่องการเรื่องงาน คือเมื่อมันคิด ขึ้นมา ตัดทันที อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ คิดดีคิดชั่วไม่ต้องคิด แต่จะสร้างบ้านเรือน ไปสอนหนังสือ มันต้องคิด ต้องมีโครงการ แต่ ” ความคิดที่หลวงพ่อพูดให้ตัด มันเป็นความคิดที่นำมาซึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนความคิดที่เราตั้งใจคิดขึ้นมาเพื่อการงานนั้น ไม่นำมาซึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ มันคิดด้วยสติปัญญา ความคิดจึงมีสองอย่างด้วยกัน ”

ปุจฉา : เวลาเดินไปไหนมาไหน เราควรปฏิบัติอย่างไรครับ?

วิสัชนา : เดินไปเฉย ๆ นี่แหละ เดินไปสัก 10 ก้าว รู้ครั้งนึงก็ยังดี ถ้าเดิน 10 ก้าวรู้ 5 ครั้ง ก็ยิ่งดี ถ้าไม่รู้สักครั้งก็เต็มทีแล้ว ต้องรู้ รู้ก้าวนึงสองก้าวก็ยังดีไปถึงที่ที่จะไป 100ก้าว รู้สึกสัก 10 ก้าว ก็ยังดี ดีกว่าไม่รู้เลย ทำอย่างนี้มันจะสะสมเอาไว้ ความรู้อันนี้มันจะค่อยมากขึ้นมากขึ้น เวลาเดินไปอย่าเอาสติมากำหนดที่เท้ามากเกินไป ให้คอยดูความคิด ดูต้นไม้หรือดูคนคนเดินผ่านไปผ่านมาตามถนนหนทางก็ได้ ถ้ามันคิดแว๊บขึ้นมา ให้ทิ้งไปเลย อย่าเข้าไปในความคิด ถ้าเข้าไปในความคิด มันจะพาคิด เช่น คนนั้นเป็นผู้หญิง คนนี้ผู้ชาย สวยไม่สวย ผิวดำผิวขาว ใส่เสื้อสีนั้นสีนี้ ไม่ต้องคิด อันนั้นมันเป็นวิตกวิจารณ์ เห็นแล้วหญิงก็ช่างชายก็ช่าง ให้เฉย ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไร กลับมาที่ความรู้สึกตัวที่กายเราต่อไป
5  สุขใจในธรรม / ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 / Re: ~* การทำความรู้สึกตัว *~ เมื่อ: 05 พฤษภาคม 2553 18:16:14
ภาค ๓ : อุปสรรคและการแก้ไข

            การที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน แบบที่พวกเรากำลังทำกันอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นปัญหาบางอย่าง จึงจะเล่าให้ฟัง คือแนะนำวิธีที่จะไปแก้ปัญหา ที่มันเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติธรรม

ความตึงเครียด-มึนหัว-เวียนหัว-แน่นหน้าอก ฯลฯ

            ถ้าหากเราปฏิบัติเบื้องแรก เรามักจะจ้อง บางคนต้องการอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากมี อันนี้เป็นการเข้าใจยังไม่ตรงครับ เมื่อเราจ้อง อยากรู้ อยากเห็น อยากมี มันมีความตึงเครียด บางคนก็มึนหัว มึนศีรษะ แน่นหน้าอก แสดงว่าการกระทำนั้นไม่ตรงแล้วครับ
          ข้อที่สอง คือ มันคิด(คิดมาก) เราบ่อยากให้มันคิด ไปบังคับกดมันไว้ บ่ให้มันคิด มันก็เลยทำพิษให้เรา
          วิธีแก้มัน ก็ต้องทำให้มันสบาย มองไปไกล ๆ แล้วก็ทำความรู้สึกเบา ๆ น้อย ๆ อย่าไปเพ่งมาก เราเดินให้มันสบาย ทำจังหวะ ก็ทำให้มันสบาย ทำเป็นจังหวะ ให้รู้สึกตัว สายตาต้องมองไกล ๆ


ความง่วง

            ถ้ามันง่วงนอนมาก ต้องไปหาวิธีทำการทำงาน ทำอะไรก็ได้ ถอนหญ้าก็ได้ ล้างหน้าล้างตาก็ได้ ไปอาบน้ำก็ได้ ซักเสื้อ ซักผ้าก็ได้ ให้เราหาวิธีแก้ ว่าอย่างนั้นแหละครับ เพราะมันเป็นอุปสรรค

ความสงบ (แบบสมถะ)

            ความสงบแบบบ่รู้(ไม่รู้)นั้น เรียกว่าเป็นปิติ ยินดีในความสงบอันนั้น เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติแบบนี้บ่ใช่ว่าจะให้มันสงบดิ๊(นะ)นี่ ให้มันรู้สึกตัวอยู่เสมอ เคลื่อนไหวอยู่เสมอ

วิปัสสนูฯ

            เมื่อรู้อันนี้(อารมณ์รูป-นาม) ก็แปลว่าภาคต้นจบกันแค่นี้ แล้วคนมาติดแค่นี้แหละ นึกว่าตัวเองรู้ธรรมขั้นสูง...มันเกิดความรู้ รู้นั้นรู้นี้ รู้ไปไม่มีทางสิ้นจบ แล้วก็ภูมิใจในความรู้ตัวเอง เลยไม่ได้ดูความคิด มันคิด...ก็เลยเข้าไปในความคิด
          วิปัสสนูนี้มันอยากเว้า(พูด) มันเป็นคนชอบเว้า(พูด) จิตใจมันไม่อ่อนโยนครับ
          อันวิปัสสนูนั้น รู้แล้วมันหลงมันลืมครับ แล้วจิตใจมันกล้าแข็ง ไม่ลงเอยกับใครทั้งนั้น "กูพูดถูกแล้ว" "ใครจะมาดีเหนือกู" มันเป็นอย่างนั้นครับ อันนี้เป็นความรู้ของวิปัสสนู
          บัดนี้ตอนแก้ ถ้าหากไม่มีใครแนะนำเราต้องทำจังหวะให้มันสบาย...อย่าไปเพ่งอย่าไปจ้อง อย่าไปอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากมี...ให้มันมีความรู้สึกน้อย ๆ เบา ๆ พอดีมันคิดปุ๊บ เราก็มาอยู่กับการเคลื่อนไหว ให้มันอยู่กับการเคลื่อนไหวให้มาก


จิตนญาณ

          บัดนี้มารู้ตอนนี้แล้ว(รู้อารมณ์ปรมัตถ์) มันเป็นปีติ "ใจดี" เย็นอกเย็นใจ...อันนี้เป็นจินตญาณ มันรู้นิ่ม ๆ รู้นั้น รู้นี้ รู้แล้วสบายใจ
          ปีติตามตำราท่านว่ามันดี ปีติ-ความอิ่มใจ ปีติ-ความยินดี ปีติ-ความพอใจ ท่านว่าอย่างนั้น แต่อันนี้(วิธีนี้) ปีติต้องเป็นอุปสรรค เป็นการขัดขวางไม่ให้เราเดินทางต่อไปถึงที่สุดได้
          มันจะเกิดปีติมันจะไปอยู่กับปีติ อย่าให้มันไปอยู่ แต่มันห้ามบ่ได้ เฮาต้องมาทำความรู้สึกให้มาก บัดนี้ ทำให้แรง ๆ จักหน่อย(ทำแรง ๆ สักหน่อย) เพราะเราจะดึงเอา...ออกจากปีติอันนั้น ให้มารู้สึกอันนี้ ทำช้า ๆ ให้มันเป็นจังหวะ เป็นจังหวะไป ทำช้า ๆ ได้ดีมากอันนี้...พอดีรู้สึกมากเข้า ๆ ปีติก็จางไป ๆ มันเป็นอย่างนั้น ก็เลยมาเป็นปกติ

          อันนี้ มันจะแน่นหน้าอกหรือเวียนหัว มีความตึงเครียดเข้ามาเป็นบางอย่างนะครับ-อันนี้ เราต้องมาทำให้มันสบาย ๆ มองไกล ๆ ครับ วิธีแก้ก็ต้องมองไกล ๆ ทำความรู้สึกเบา ๆ ไม่ใช่ว่ามันเป็นแล้วจะไปหยุดไปเซามัน ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องเร่งความเพียร ทุ่มเทเข้า- ความเพียรนี่ ไม่ต้องท้อถอย ไม่ต้องอ่อนแอ
          ทำ แต่ว่าให้นอนครับ แต่ว่าตอนนี้ต้องให้นอน แต่บางคนไม่อยากนอน อยากเร่งความเพียร ไม่ ไม่ดีอย่างนั้นครับ ถึงเวลานอนก็ต้องนอน ถ้าหากเป็นกลางวัน-ไม่นอน


วิปลาส

            วิปลาส ก็แปลว่า เห็นผิดเป็นถูก เห็นนรกเป็นสวรรค์ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว อันนั้นตัวหนังสือ แต่ความจริงวิปลาสนี้ คือมันไปพบเอากับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เรานึกว่าเราได้ เราก็เลยวางอันนั้นไว้ที่นี่ เราก็ไปอยู่ที่นั่น เราไม่ได้มามองที่ตรงนี้ เหมือนกับผู้ร้ายจะมาเอาของเรานี่ละครับ พอดีผู้ร้ายเอาไปแล้ว(เรา)ก็มาหาของ มันไม่เห็นมันไม่เจอครับ นี่ก็แปลว่า มันปิดเราไว้
          เราไม่ต้องไปครับ พอดีมันถึงที่สุดของทุกข์ก็ตาม จะถึงอะไรก็ตามแหละ
          มันถึงที่สุดแล้ว มันจึงรู้ครับ ก็เลยเป็นวิปลาสที่ตรงนี้ครับ แต่ผมเป็น ผมไปติดความสุขครับ เพราะไม่เคยเป็น ไม่เคยมี อย่างนี้
          ผมเดินไป กำลังเดินจงกรม นึกว่ามันสูงขึ้นไปประมาณสักเมตรโน่นแหละครับหรือสองเมตรโน่นแหละครับ เหินดินคือย่าง(ลอยขึ้น เหมือนเดิน)อยู่ในอากาศนี่แหละครับ มันเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงเดินบนดินนั่นแหละครับ แต่มันเป็นในใจครับ...ก็เลยติดความสุขอันนั้น ไม่นานผมก็เลย "เอ๊ะ !" ทำไมเป็นอย่างนี้"
          ผมก็เลยหวนกลับเข้ามาดู "อารมณ์" ครับ ตอนนี้ต้อง(ทบ)ทวน"อารมณ์" แต่ไม่ต้อง(ทบ)ทวนอารมณ์ของรูป-นามครับ
          เมื่อมา(ทบ)ทวน"อารมณ์" เห็น "อารมณ์" เข้าใจ"อารมณ์"แล้ว ความสุขอันนั้นก็ค่อยจางไป ๆ หรือลดน้อยลง ๆ ก็จะมาอยู่ปกติเองครับ ให้มันเป็นปกติครับ

สรุปวิธีแก้ไข

            ถ้ามันตึงเครียด เวียนหัว หนักอกหนักใจนั้น เราต้องทำเบา ๆ อย่าไปเพ่ง ถ้าไปเพ่งแล้ว มันจะแน่นเข้า มันแก้ไม่ได้ ทำให้มันสบาย มองไกล ๆ ถ้ามองไกลแล้ว มันคลายออกไป-ความรู้นั้น ความหนักอกหนักใจมันจะคลายออกไปเองครับ
          จินตญาณก็เช่นเดียวกัน ให้แก้อย่างนั้น...
          วิปัสสนูกับจินตญาณนั้น ต้องแก้ "วิธีทำ" แต่ว่า(ทบ)ทวนอารมณ์น้อยครับ แต่เรื่องรูป-นามนั้นก็ต้องให้มันแจ่มใส
          ตอนวิปลาสนี่ ต้อง(ทบ)ทวน "อารมณ์"ครับ เมื่อ "อารมณ์"แจ่มใสขึ้นมาแล้ว ความตึงเครียดก็ลดน้อยไปทันที
          แต่ให้มันคิดนะ ห้ามไม่ได้-ความคิดนี่ครับ แต่มันจะคิด รู้-เห็น-เข้าใจ-เป็น-มี
          หากท่านทั้งหลายไปปฏิบัติธรรมะ ต้องพยายามระวังตัวเอง อย่าให้ครูบาอาจารย์ระวังให้ เมื่อผิดปกติแล้วต้องหยุด หยุดทันที หยุดอะไร ? หยุดการกระทำนั่นแหละ เมื่อเราหยุดการกระทำแล้ว สิ่งที่มันเป็นขึ้นมาภายในจิตใจนั้น มันจะค่อยลดไปลดไปเอง



บทท้าย

            การปฏิบัติธรรมะ ถ้าหากเข้าใจแล้ว ไม่ยาก ที่มันยากมันเหนือวิสัยนั้น คือเราไม่เข้าใจเท่านั้นเอง
          ท่านพูดไว้ดีแล้ว แต่เรามันไม่เข้าใจไปทำของง่าย ๆ ให้มันยุ่ง ทำของสบาย ๆ ให้มันลำบากขึ้นมา เมื่อไปทำให้มันยุ่งมันลำบากแล้ว ก็ทำไม่ได้
          พระพุทธเจ้าท่านสอนของจริงที่มันมีอยู่ในคน ไม่ใช่สอนของที่มันไม่มีจริง และก็สอน(สิ่ง)ที่คนสามารถทำได้ และพระพุทธเจ้าก็เว้นสิ่งที่คนทำไม่ได้

          วิธีนี้จึงเป็นวิธีง่าย ๆ ไม่ต้องไปศีกษากับตำรับตำรามาก เพราะมันมีในตัวคน เพราะว่าตัวคนทุกคนต้องรู้การเคลื่อนไหวของตัวเอง และการเคลื่อนไหวของจิตใจตัวเอง ถึงเรามีสติ-ต้องรู้
          ในขณะที่เราไม่มีสตินั้น มันก็เคลื่อนไหวอยู่อย่างนั้น รูปกายก็เคลื่อนไหว จิตใจมันก็นึกก็คิด แต่ว่าเราไม่รู้ เมื่อไม่รู้ มันสร้างขึ้นมาให้เราเห็น สิ่งที่ไม่จริง
          ดังนั้น วิธีการปฏิบัติแบบนี้ จึงไม่มีวิธีการอื่นใด นอกจากทำความรู้สึก นอกจากทำความตื่นตัวแล้ว ไม่มีอะไร แต่วิธีอื่นนั้นมีมาก เช่น ไปรักษาศีล หรือไปทำความสงบ(สมถะกรรมฐาน) อันนั้นมันไม่ใช่เกี่ยวข้องเรื่องนี้
          อันนี้(วิธีนี้) ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรทั้งหมด ทำไมไม่เกี่ยวข้อง ? เพราะมันมีอยู่แล้วในตัวเรา มาศึกษาให้รู้ "ของจริงที่มีอยู่ในตัวเรา" นี่เอง

          คำว่าเจริญสตินี่ ทุกส่วนให้มันทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์ของมัน ไม่ต้องไปฝืนธรรมชาติของมัน
          การปฏิบัติวิธีนี้คือ เป็นวิธีที่จะเอาไปใช้กับการกับงาน จึงว่าไม่ได้ให้ฝืนธรรมชาติ
          ตา เป็นหน้าที่ของมองให้เห็น
          หู เป็นหน้าที่ของฟังเสียง
          จมูก เป็นหน้าที่ของที่จะรู้ว่าเหม็นหอม
          แล้วการเคลื่อนไหวของกายนี้ ต้องให้มันเป็นไปตามธรรมชาติหน้าที่ของมัน ไม่ต้องฝืนมัน "แต่ให้มันรู้เท่าทัน" เท่านั้นเอง

          การทำจังหวะ การทำความรู้สึกตัว มันทำให้เราเกิดปัญญา ปัญญาไม่ใช่เป็นปัญญานึกคิด (แต่)เป็นปัญญาเกิดขึ้นมาจากกฎของธรรมชาติมันจริง ๆ เรียกว่า ปัญญาญาณของวิปัสสนาภาวนา
          เกิดปัญญาเป็นอย่างไร ? เกิดปัญญารู้สูตรสำเร็จสูตรหนึ่ง สูตรของมันไม่ต้องไปศึกษาเล่าเรียนในพระไตรปิฎก
          คำว่า สูตรสำเร็จนี่หมายถึง ความสำเร็จมาจากตัวมันเอง เหมือนกับเพชรหรือทองคำที่เจือปนอยู่กับตมเลน เรามาร่อนมาแยกออกไปแล้ว มันเหลือแต่เพชรล้วน ๆ สูตรเหล่านี้เราต้องปฏิบัติให้มันแสดงขึ้นมาเอง ยืนมั่นคงถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรผัน
          สูตร ๆ นี้มีแล้วในคนทุกคนไม่ยกเว้น...เมื่อสำเร็จแล้ว ก็ต้องมีญาณเกิดขึ้นว่า "ชาติสิ้นแล้ว ภพสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจอื่นไม่มี" กิจ...การศึกษาพระพุทธศาสนา จบตรงนี้

          "ตัดผมครั้งเดียว" ก็หมายถึง สิ่งที่มันเป็นกฎของธรรมชาติ มันเข้าสู่สภาพของมัน รูปนี้ก็เข้าสู่สภาพเดิมของมัน จิตใจก็เข้าสู่สภาพของมัน อืมม์...อันนี้แหละ มันบ่ยาว มันบ่สั้น มันบ่ปรากฏขึ้นมา...มันรู้จัก มันจืดมันถอน เพิ้น(ท่าน)จึงว่า เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ เป็นสิ่งที่เคารพนับถือ เป็นสิ่งที่บ่เคยมีมาก่อน เรื่องหมู่(แบบ)นี้จึงว่าคาดคิดบ่ได้-เรื่องธรรมะ มันต้องปฏิบัติให้มัน "เป็น"
          นิพพาน คือ มันเข้าสู่สภาพของมัน แค่นั้นเอง ไม่มีเรื่องอะไร
          มันเบาทั้งหมดเลย มันเบากาย เบาใจ เบาชีวิต เบาไปทั้งหมดเลยครับ คือมันไม่มีอันใด(อะไร)มาติดพัน มาติดมาพัน มันไม่มีอันใด(อะไร)มาเกาะมาข้องมันครับ คือมันเรียกว่ามันไม่มีอันใด(อะไร) ตัวชีวิตของเราจริง ๆ นี่ครับ ตัวจิตใจของเราจริง ๆ มันเป็นอย่างนั้น
          อันนี้ทุกคนต้องจำไว้ ถ้าเราไม่รู้นะ เราไม่รู้-ไม่เห็น-ไม่เป็น-ไม่มี เดี๋ยวนี้ เราจะประสบเอา(ตอน)จวนจะหมดลมหายใจนี่เลย เมื่อจวนจะหมดลมหายใจ ซึ่งขณะ...หลวงพ่อเข้าใจว่าวินาที หรือ ๒ วินาที หรือ ๕ นาที เราจะประสบเรื่องนี้ล่วงหน้า แล้วจึงหมดลมหายใจลง อันนี้แหละสัจจะแท้ เรียกว่า สัจจธรรม
          เมื่อเฮาเห็นสภาพนี้(อาการเกิด-ดับ) เฮาจิ(จะ)รู้จักสภาพหรือสภาวะเฮาจิ(จะ)ตายนี่แหละ มันต้องเป็นอย่างซั้น(นั้น) มันต้องเป็นอย่างซี้(นี้) ฮู้(รู้)จักวิธีตายทันทีแต่ทุกคนก็ต้องมานี้ หนีจากนี้ไปบ่ได้ เพราะทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตายนี่ คนเกิดมาในโลกนี้บ่ตายบ่มีจัก(สัก)คน อันนี้เรียกว่าสัจจะแท้ บ่เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนแปลงไปบ่ได้ ถึงจะมีผู้รู้...มันก็เป็นอย่างซั้น(นั้น) บ่มีผู้รู้...มันก็เป็นอย่างซั้น(นั้น)
          ดังนั้น สาวกของพระพุทธเจ้า จึงรู้จัก "วิธีตาย"
          คนทุกคนต้องตาย ต้องไปประสบอันนี้ ถ้าเราไม่รู้จักอันนี้ เราจะไปโลกียธรรม ถ้าเรารู้จักอันนี้ มันจะเป็นทางออก ไปทางนี้...สอนกันให้รู้จัก ให้มันเห็น ให้มันรู้ให้มันเข้าใจ
          ตัวเองมั่นใจว่าจะสอนเรื่องนี้ จะพูดเรื่องนี้ ให้คนผู้ที่มีปัญญาฟัง คนที่มีปัญญายังอ่อนก็เป็นธรรมดา คนผู้ที่มีปัญญาเข้มแข็ง ก็จะสามารถที่จะรู้เรื่องนี้ได้ หากไม่รู้ในขณะนี้(ตอน)จวนจะตายหรือหมดลมหายใจ ต้องประสบเรื่องนี้จริง ๆ แต่เรารู้ไว้วันนี้ มันจะดีกว่าบ้างไหม ?

          เมื่อมาทำความรู้สึกตัว...ตื่นตัว รู้สึกใจ...นึกคิด...รู้ เป็นปกติ มันสามารถพาให้เราเดินมาถึงจุดนี้ได้ นี้เรียกว่า ทางเดินไปคนเดียว เป็นทางเอก ทาง ๆ นี้ ไม่ซ้ำรอยใคร
          เรื่องรูป-นามนี่ หลวงพ่อ(ว่า)บ่เกิน ๕ มื้อ(วัน)หรอก ภายใน ๑๐ มื้ออย่างนาน-รู้ ถ้าตั้งใจทำแล้ว รู้จริง ๆ
          จะทำให้จิตใจเปลี่ยนไปนี่ อยู่ในเกณฑ์เดือนหนึ่ง ผู้ทำจริงทำจังนี่ เดือนหนึ่งหรือสามเดือนนี่แหละ-รู้ ในเกณฑ์ทำให้จิตใจเปลี่ยนแปลงสภาพหนึ่ง เรียกว่า ขั้นต้น อันนี้
          จะทำให้มันถึงที่สุดของทุกข์นั้น หลวงพ่อคิดว่าบ่เกิน ๓ ปี ถ้าเป็นคนจริงนะ ครั้นเป็นคนบ่จริง ๑๐ ปีก็บ่รู้เป็นอย่างนั้น
          หลวงพ่อเคยท้าทายคนมา บ่มากก็น้อย ต้องรู้



คำเตือน

            การปฏิบัติธรรมะให้มันเข้ารูปเข้ารอย ไม่ใช่ว่าจะทำไปตามอารมณ์ ทำไปตามความเห็น ทำไปตามความคิด อันนั้นใช้ไม่ได้ มันทำไปตามอารมณ์ตัวเองแล้วอันนั้น ทำไปตามความคิดของตัวเองแล้ว ทำไปตามความเห็นตัวเองแล้ว นั่นไม่ใช่ ท่านจึงว่าให้(เชื่อ)ฟัง เชื่อฟังคำแนะนำของคนที่เป็น "ช่าง"
          การเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญานี้ ต้องมีการงดเว้นการพูดการคุยกัน ไม่ต้องพูดต้องคุยกัน
          แล้วก็ต่อไป ก็งดเว้นจากสิ่งเสพติดทุกประเภททีเดียว เช่น บุหรี่ หรือน้ำชา กาแฟ เหล่านี้ก็งดเว้นทั้งหมดเลย
          ถ้าเราไม่งดเว้นจากสิ่งเหล่านี้มันก็ทำให้จิตใจเราคลุกคลีกับสิ่งเหล่านั้น ก็เลยไม่รู้ตัวเอง
          พวกเราถ้าหากปฏิบัติจริง ต้องพยายามทำจริง ๆ อย่าเป็นคนหลอกตัวเอง
          อย่าไปนั่งนิ่ง ๆ ให้มาทำจังหวะ เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
          การปฏิบัตินั้นอย่าไปเพ่งมัน เพียงทำให้มันสบาย ๆ มองทางโน้นมองทางนี้ ให้มันคิด อย่าไปห้ามความคิด
          ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ ต้องเห็นอย่างนี้ ต้องรู้อย่างนี้และเข้าใจอย่างนี้ (ดูภาคผนวก) เห็นอย่างอื่น ไม่ถูกต้อง


ภาคผนวก : อารมณ์วิปัสสนา

อารมณ์ รูป - นาม

            รูป นาม รูปทำ นามทำ รูปโรค นามโรค
          ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา
          สมมุติ
          ศาสนา พุทธศาสนา
          บาป บุญ

         
อารมณ์ ปรมัตถ์

            วัตถุ ปรมัตถ์ อาการ
          โทสะ โมหะ โลภะ
          เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
          กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม
          ศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์
          กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ
          การทำชั่วด้วย - กาย เป็นบาปกรรมอย่างไร ถ้านรกมีจริง จะไปตกนรกขุมไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำชั่วด้วย - วาจา เป็นบาปกรรมอย่างไร ถ้านรกมีจริง จะไปตกนรกขุมไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำชั่วด้วย - ใจเป็นบาปกรรมอย่างไร ถ้านรกมีจริง จะไปตกนรกขุมไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำชั่วด้วย - กาย วาจา ใจ พร้อมกันเป็นบาปกรรมอย่างไร ถ้านรกมีจริง จะไปตกนรกขุมไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำดีด้วย - กาย เป็นบุญกุศลอย่างไร ถ้าสวรรค์นิพพานมีจริง จะไปอยู่ชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำดีด้วย - วาจา เป็นบุญกุศลอย่างไร ถ้าสวรรค์นิพพานมีจริง จะไปอยู่ชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำดีด้วย - ใจ เป็นบุญกุศลอย่างไร ถ้าสวรรค์นิพพานมีจริง จะไปอยู่ชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          การทำดีด้วย - กาย วาจา ใจ พร้อมกัน เป็นบุญกุศลอย่างไร ถ้าสวรรค์นิพพานมีจริง จะไปอยู่ชั้นไหน นานกี่ปีกี่เดือนกี่วัน
          อาการ "เกิด - ดับ" (ที่สุดของทุกข์)




..·.¸¸·´¯`·.¸¸.ஐ ..¤¸¸.·´¯`·.¸·.*¤.•:*´¨`*:•.☆۩ ۞ ۩ ۩ ۞ ۩☆•:*´¨`*:•.¤*..·.¸¸·´¯`·.¸¸¤..ஐ.¸¸.·´¯`·.¸·..
6  สุขใจในธรรม / ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 / Re: ~* การทำความรู้สึกตัว *~ เมื่อ: 05 พฤษภาคม 2553 18:15:51
ภาค ๒ : การเดินทาง

            เราต้องพยายามทำไปแต่ต้น ๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอน อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้นั้น ถ้าหากเราไม่ทำอย่างนี้ ไม่แก้ตรงนี้ก่อนแล้ว...ไปยาก การปฏิบัติธรรมจะไม่ก้าวหน้า
          การปฏิบัติธรรมจะก้าวหน้า ต้องเริ่มแต่ต้น ๆ


การปฏิบัติเบื้องต้น

            คนใหม่นี่ต้องทำจังหวะมาก ๆ ทำช้า ๆ นาน ๆ ไปพอดีมันรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เรียกว่ารู้เรื่องรูปเรื่องนามนี้ บัดนี้ต้องเดินจงกรมให้มาก การเดินจงกรมนั้นก็ดี แต่ว่ามันสู้การทำจังหวะไม่ได้ คนใหม่การทำจังหวะต้องทำช้า ๆ นิ่ม ๆ หรือทำอ่อน ๆ นี่ ถ้าทำแรงทำไว ๆ มันกำหนดบ่ทัน สติเฮาบ่ทันแข็งแรง จึงว่าทำช้า ๆ อ่อน ๆ ทำให้เป็นจังหวะ ๆ ให้รู้สึกว่ามันหยุด มันนิ่งก็ให้รู้สึก มันไหวไปไหวมา ก็ให้มันรู้สึก
          ทำให้มันเข้าใจ ทำจังหวะช้า ๆ แล้วก็รู้...เบื้องต้นให้รู้จักรูป-นาม ให้เรารู้จริง ๆ เรื่องรูป-นามนี้ เรื่องความคิดไม่ต้องห้ามมันเลย ให้มันคิด...
          มันเกิดปิติ...อันความปิตินี้มันดึงเราออกไป ให้มันไม่รู้รูปนามนี่เอง มันจะไปอยู่กับอารมณ์(ของปิติ) เมื่อมันไปอยู่กับอารมณ์ ก็เลยไม่รู้รูป-นาม เมื่อไม่รู้รูป-นามนาน ๆ เข้า ก็เศร้าหมองขุ่นมัวไป
          บัดนี้มันคิด คิดแล้วก็แล้วไป เรามาทำความรู้สึกกับรูป-นาม ให้มันรู้รูป-นามนี่แหละ ต้องให้รู้อยู่เสมอวิธีปฏิบัติอย่างนี้ แต่ให้มันคิด ห้ามคิดไม่ได้...
          ให้มันคิด ถ้ามันไม่คิด มันจะเป็นอันตราย หรือมันมึนหัว หรือแน่นอกแน่นใจ ให้มันคิด แต่เราทำให้มันสบาย ไม่ต้องวิตกกังวลอะไร รู้ก็ได้ ไม่รู้ก็ได้ บัดนี้ เราต้องรู้กับรูป-นาม นี่มันเป็นรูป เป็นนาม เป็นรูปทำ(อาการทางกาย) เป็นนามทำ(อาการทางใจ)...ให้รู้อยู่กับอารมณ์เหล่านี้(ทบ)ทวนกลับไปกลับมา...รู้อยู่ในวงนี้ทั้งหมด อันนี้เรียกว่า อารมณ์ รูป-นาม ให้(ทบ)ทวนอารมณ์อันนี้ แล้วก็มันคิดก็แล้วไป เมื่อรู้สึกตัว ก็มาอยู่กับอารมณ์อันนี้ ทวนกลับไปกลับมา ไม่ต้องหลงไม่ต้องลืม นี่ ให้มันฝังแน่นหรือแนบแน่นอยู่กับความรู้สึกอันนี้
          เมื่อมันคิดขึ้นมา ก็มาทำความรู้สึก เดินจงกรมมันก็จะเดินเร็ว เพราะว่ามันไปตามอารมณ์มาก ทำจังหวะ...มันก็จะทำไวขึ้นเร็วขึ้น นี่ แต่เราพยายามทำให้มันรู้สึกตัว ก็ช้า(ลง)ไป บางทีก็หลงไป เข้าไปในความคิด ก็(ทำ)ไวขึ้น มันไปเพ่ง...เราต้องทำช้า ๆ ใช้เวลานานก็ช่างมัน
          เราต้องปฏิบัติเรื่อย ๆ อย่าเห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ถ้าเราไปนึกว่าเหน็ดเหนื่อยแล้วหยุด อันนั้นเรียกว่าไม่ติดต่อไม่สัมพันธ์กัน มันไม่โยงกันตั้งแต่ต้นจนปลาย


การเห็นความคิด เห็นจิต เห็นใจ

            รู้เรื่องรูป-นามแล้ว  อย่าเอาสติมาใช้รูป-นาม ให้เอาสติคอยดูความคิด
          ให้ดูอยู่ตรงนี้แหละ แต่อย่าไปบังคับมัน เพียงทำเล่น ๆ ดูเล่น ๆ
          เมื่อเราปฏิบัติรู้รูป-นามแล้ว ก็ทำจังหวะให้มันเร็วขึ้น เดินจงกรมให้มันเร็วขึ้น (แต่ไม่ถึงกับวิ่ง)
          มันคิดแล้วรู้ รู้แล้วทิ้งเลย อย่าไปตามความคิด
          พอดีมันคิดปุ๊บ ดีใจก็ตาม เสียใจก็ตาม ทำความรู้สึกตัว เมื่อเราทำความรู้สึกตัวแล้ว ความคิดมันถูกหยุดทันที

          แต่ทีแรกเรายังไม่เคย มันก็ต้องคิดไปก่อน ลากไปเหมือนแมวกับหนูนี่เอง หนูตัวโตมีกำลัง แมวตัวเล็ก เรียกว่าความรู้สึกตัวเรามันน้อย เป็นอย่างนั้น เมื่อหนูออกมาแมวมันไม่เคยกลัวนี่มันก็จับหนู หนูก็ตื่นไป แล่นไปวิ่งไป แมวก็ติดหนูไป เป็นอย่างนั้น นาน ๆ มาแมวมันเหนื่อยไป (มัน)ก็วางมัน(เอง) ความคิดที่มันคิดไปร้อยอันพันอย่าง มันค่อยเซาผู้เดียวมัน(มันหยุดเอง) อันนั้น เป็นอย่างนั้น

          บัดนี้พอดีเฮาให้อาหารแมว เรียกว่าอาหาร ถ้าหากพูดตามภาษาภาคปฏิบัติก็ว่า เราทำความรู้สึกตัว ก็เรียกว่าเป็นอาหาร เป็นอาหาร(ของ)สติ หรือเป็นอาหารแมว(สติปัญญา)หรือว่าทำความรู้สึกตัว แล้วแต่จะพูด...ให้เราทำความรู้สึกตัวมาก ๆ พอดีมันคิดปุ๊บ ความรู้สึกตัวมันจะไป ความคิดก็หยุดทันที...

          ถ้าหากว่า(ความคิด)มันมาแรง เราก็ต้องกำ(มือ)แรง ๆ กำแรง ๆ กำมือแรง ๆ หรือ จะทำวิธีไหนก็ตามแหละ ทำให้มันแรง เมื่อความแรงดันเข้ามาพอแล้ว มันหยุดเองมัน...
          ทำบ่อย ๆ ทำมาก ๆ เมื่อมันคิดขึ้นมาปุ๊บ มันจะรู้ทันที เหมือนกับที่หลวงพ่อเคยพูดให้ฟังบ่อย ๆ ว่า มีเก้าอี้ตัวเดียว บัดนี้เราก็มีสองคน คนหนึ่งเข้าไปมีแรงดันไว้ คนไปทีหลังก็เข้าไปไม่ได้ เป็นอย่างนั้น บัดนี้คนไปทีหลังนั่งไม่ได้ ก็คือ แต่ก่อนนั้นเรามีแต่ความ "ไม่รู้" ไปอยู่กับความ "รู้" นั้นไม่มี บัดนี้เราพยายามฝึกหัดความ "รู้" นั้นเข้าไปมาก ๆ แล้ว ความ "ไม่รู้" นั้นก็ลดน้อยไป ๆ

          ให้มันคิด มันยิ่งคิดก็ยิ่งรู้มากขึ้น รู้มากขึ้น มันจะทันความคิด เอ้า ! สมมุติให้ฟัง มันคิด ๑๐๐ เรื่อง เราจะรู้เรื่องเดียว - ทีแรก บัดนี้มันคิด ๑๐๐ เรื่องเราจะรู้ ๑๐ เรื่อง บัดนี้มันคิดมา ๑๐๐ เรื่อง เราจะรู้มันถึง ๒๐ มันก็ เหลืออยู่ ๘๐ สมมุติเอาเป็นสิบ ๆ เข้าไปนะครับอันนี้ บัดนี้มันรู้ ๘๐ แล้ว เรายังไม่รู้ ๒๐ บัดนี้ ตอนนี้ต้องทำความเพียรให้มากนะ บัดนี้มันรู้ถึง ๙๐ ยังไม่รู้ ๑๐ เดียว มันรู้ถึง ๙๕ เรื่อง มันคิดขึ้นมาปุ๊บ.. ทันปั๊บได้ ๙๕ เรื่อง ยังไม่รู้ ๕ เรื่อง อันยังไม่รู้ทันความคิดนะครับ สมมุติบัดนี้เราต้องพยายามทุ่มเทความเพียร บัดนี้ทุ่มเทจริง ๆ ทำโดยไม่ท้อถอยไม่ย่อหย่อน แต่ห้ามนอนบัดนี้ กลางวันไม่ต้องนอน เด็ดขาดได้เท่าไรยิ่งดีครับ กลางคืนต้องนอน

          พอดีมัน คิดปุ๊บ...ทันปั๊บ...คิดปุ๊บ...ทันปั๊บ มันไปไม่ได้ มันจะทำให้จิตใจเราเปลี่ยนแปลงที่ตรงนี้แหละ ความเป็นพระอริยบุคคลจะเกิดขึ้นที่ตรงนี้ หรือเราจะได้ต้นทางที่ตรงนี้ ได้กระแสพระนิพพานที่ตรงนี้

          จิตใจของเรามืดตื้ออยู่แต่ก่อน มันไม่รู้จักทางไป บัดนี้พอดีทันอันนี้แล้ว มันจะสว่างขึ้นภายในจิตใจ แต่ไม่ใช่สว่างที่ตาเห็นนะครับ จิตใจมันจะสว่างขึ้น เบาอกเบาใจ เรียกว่า "ตาปัญญา" อันนี้(เป็น)ลักษณะปัญญาญาณของวิปัสสนาเกิดขึ้น

          เราต้องทำจังหวะ เดินจงกรม ทำช้า ๆ ก็ได้ ทำไวก็ได้ ทำให้มันถูกจริตครับ
          ต้องทำความเพียรขึ้นให้มาก "เดินไป" เรียกว่าไม่ใช่เดินด้วยเท้า (คือ)ให้ปัญญามันเดินไป ให้ปัญญาเดินเข้าไปรู้ "อารมณ์" โดยไม่ต้องศึกษาเล่าเรียนจากครูอาจารย์ ไม่ต้องไปศีกษาเล่าเรียนจากตำรับตำราที่ไหน

          แล้วก็จะรู้ไปเป็นขั้นเป็นตอนไปเป็นพัก ๆ เรียกว่า เป็นปฐมฌาน เป็นปัญญาเข้าไปรู้นะ เป็นทุติยฌาน เป็นตติยฌาน เป็นจตุตถฌาน เป็นปัญจมฌานขึ้นไป เป็นอย่างนั้น
          ปัญญาของญาณวิปัสสนา เข้าไปรู้ เข้าไปเห็น เรียกว่ายาน(ญาณ) จึงเป็นพาหนะขนส่ง แล้วมันจะเบาไป เป็นขั้นเป็นตอนไปครับ มันเป็นอย่างนั้น
          รู้-เห็น-เข้าใจอย่างนี้แล้ว มันจะไวความคิดนะครับ นี่ "อารมณ์" มันอันนี้ เรียกว่าเป็นพัก ๆ ไป
          มันจะเห็นว่าตนตัวเรานี่แหละ มันถึงที่สุดแล้ว ญาณย่อมมี ท่านบอกไว้อย่างนี้ "ถึงที่สุดแล้ว ญาณย่อมมีนะครับ มันปรากฏขึ้นมาเอง" เมื่อผมเป็นอย่างนี้ ผมก็เลยรู้ว่า พระพุทธเจ้าตัดผมครั้งเดียว ผมก็เลยเห็น-เลยเข้าใจ-เป็น-มี

          มัน "เป็น" แล้วนะครับ จึงจะรู้นะครับ อย่าไปรู้ล่วงหน้านะ ถ้าไปรู้ล่วงหน้าแล้ว มันเป็นความรู้ มันเป็นจินตญาณ มันรู้เอาเอง มันคิดเอาเอง อันนั้นไม่ใช่ "เป็น" ไม่ใช่ "มี" มันรู้นะ – อันนั้น
          อันที่ผม "เป็น" ผม "มี" นี่ มันไม่รู้ครับ มันเห็น-มันเป็น-มันมี ครับ มัน "มี" มัน "เป็น" แล้ว มันจึงรู้ญาณจะเกิดขึ้น คือญาณเกิดขึ้นแล้ว มันจึงรู้ครับ
          พอดีผมเห็น-รู้-เข้าใจอันนี้แล้ว โอ ! พระพุทธเจ้าตัดผมครั้งเดียวนั้น ไม่ใช่ตัดผมจริง ๆ คืออันนี้แหละ มันขาดออกจากกันครับ เลือดทุกหยดจะหวนกลับทั้งหมด เชือกที่เราผูกไว้นั้นนะครับ มันจะกลับเข้าไปสู่หลักเดิม มันทั้งหมด อันนี้แหละครับ มันจะรู้-เห็นมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ เรียกว่าอาการความเปลี่ยนแปลงไป เบาไม่มีอะไรหมดตัวละครับ เรียกว่า "จบ" ถึงที่สุดแล้วญาณย่อมมี มันถึงที่สุดแล้วครับ มันจึงรู้ครับ


คำแนะนำ(เพิ่มเติม)

            อันตัวความคิดนี้มีอยู่ ๒ ประเภท
          ความคิดชนิดหนึ่ง มันคิดขึ้นมาแวบเดียว มันไปเลย อันนั้นมันเป็นเรื่องความคิด ความคิดอันนี้มันนำโทสะ โมหะ โลภะ เข้ามา
          อัน(ความคิด)ที่เราตั้ง(ใจ)คิดขึ้นมานั้น มันไม่นำโทสะ โมหะ โลภะ อันนั้นมันตั้ง(ใจ)คิด มาด้วยสติปัญญา

          วิธีนี้ไม่ต้องห้ามความคิด ให้มันคิด มันยิ่งคิดเรายิ่งรู้ มันคิดมากเท่าไรก็ดีแล้ว เราจะรู้มากขึ้น บางคนรำคาญ ว่าจิตใจฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิ แน่ะ ! เข้าใจไปอย่างนั้น ดีแล้ว จิตใจฟุ้งซ่านรำคาญมาก ให้มันคิด มันยิ่งคิดเรายิ่งรู้ แต่ทำความรู้สึกให้มากอย่าหยุดทำความรู้สึก แต่อย่าเพ่ง
          ที่มันคิด เราไม่ต้องห้ามมัน แต่ก็หลบตัวมาอยู่(กับ)ความรู้สึก ให้มันคิด พอดีมันคิด เราก็หลบตัวมาอยู่ความรู้สึก ความรู้สึกนี่แหละ จะได้ทำลายความไม่รู้ตัวนี้
          การดูความคิดนี่แหละ เป็นหลักสำคัญ โดยมากคนมันพลาดที่ตรงนี้ เมื่อมันคิดขึ้นมา เราก็เลยเข้าไปในความคิด ไปวิพากษ์วิจารณ์อันนั้นอันนี้ บทนั้นบทนี้ นั้นเรียกว่า เราเข้าไปในความคิด ไม่ใช่ตัดความคิดได้ มันรู้คิด-อันนั้น ไม่ใช่ว่าเห็นความคิด มันรู้เข้าไปในความคิด

          เมื่อเข้าไปในความคิดแล้ว มันก็เลยปรุงแต่งเป็นเรื่องเป็นราว เขาเรียกว่าสังขารปรุงแต่ง
          ถ้าเราไปนั่งเฝ้า ไม่มีการเคลื่อนไหว มันเข้าไปในความคิด พอดีมันคิดขึ้นมา มันก็เลยไปรู้กับ(เรื่อง)ความคิดเลย เรียกว่า รู้ "เข้า" ไปในความคิด ไม่ใช่รู้ "ออก" จากความคิด
          อันนั้นเพราะมันไม่มีอัน(อะไร)ดึงไว้ ดังนั้น จึงมีการฝึกหัดการเคลื่อนไหวของรูป(กาย) ให้รูป(กาย)เคลื่อนไหวอยู่เสมอ เราคอยให้มันมีสติรู้อยู่กับการเคลื่อนไหวของรูป(กาย) พอดี-ใจคิดขึ้นมา เราจะเห็น เราจะรู้

          วิธีนี้เห็นอันใด(อะไร) ไม่ได้เห็นผีเห็นเทวดา เห็นพระพุทธรูป เห็นดวงแก้ว ที่สุดเห็นพระพุทธเจ้าก็ไม่ถูกต้อง เพราะจิตของเรามันคิดออกไป เราไม่เห็นความคิด มันถูกปรุง คือจิตใจมันปรุงเอง มันปรุงเพราะเราไม่เห็น "ต้นตอของความคิด" นี่เอง

          ใจของเรานี่มันเร็ว เราไม่เห็นมันคิด มันคิดปุ๊บออกไปนี่ มันไปแสดงเป็นผี เป็นสีเป็นแสง เป็นเทวดา เป็นนรกเป็นสวรรค์ แล้วแต่มันจะแสดงเรื่องใด เราต้องเห็นตามภาพที่จิตใจมันแสดงนั่นเอง มันเป็นมายาของจิตใจ เราเรียกว่าเป็นกลไกของจิตใจ...

          จึงว่า สิ่งที่เห็น(ผู้เห็น)นั้น(เห็น)จริง แต่สิ่งที่ถูกเห็นนั้นไม่จริง มันจึงแก้ทุกข์ไม่ได้ ถ้าหากเห็นของจริงแล้ว มันต้องแก้ทุกข์ได้
          อันนี้แหละลัดสั้นที่สุด มันคิดปุ๊บ...เห็นปั๊บขึ้นมา อันนี้แหละเป็นการปฏิบัติธรรมแท้ ๆ อันที่เราทำจังหวะนั้น เป็นวิธีการครับ เพราะว่าคนมีระดับสติปัญญาไม่เหมือนกันครับ ถ้าหากคนมีปัญญาจริง ๆ แล้ว ดูความคิด มันคิดปุ๊บ...เห็นปั๊บ นี่เป็นการปฏิบัติธรรม


7  สุขใจในธรรม / ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4 / ~* การทำความรู้สึกตัว *~ เมื่อ: 05 พฤษภาคม 2553 18:15:30
การทำความรู้สึกตัว

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/352.gif
http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/tien2.jpg
http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/352.gif


หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ (พันธ์ อินทผิว)


บทนำ

            ธรรมะที่ผมว่าอยู่นี้ ไม่ใช่ของใครทั้งหมด เป็นสากล เป็นของทุกคน ไม่ใช่เป็นของศาสนาพุทธ ไม่ใช่เป็นของศาสนาพราหมณ์ ไม่ใช่เป็นของศาสนาคริสต์ ไม่ใช่ของคนไทย ไม่ใช่ของคนจีน ไม่ใช่ของคนฝรั่ง ไม่ใช่ของคน ญี่ปุ่น ไต้หวันทั้งนั้น เป็นของผู้รู้
          ใครรู้ก็เป็นของคนนั้น ใครไม่รู้ไม่เป็นของคนนั้น ไม่ว่าศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ ศาสนาอะไรก็ตาม มันมีในคนทุกคน
          ไม่ใช่ว่ารู้แล้ว จะสงวนลิขสิทธิ์ไม่ให้คนอื่นทำได้ ไม่ใช่อย่างนั้น
          รู้แล้วทำลายก็ไม่ได้เพราะมันทำลายไม่ได้ มันไม่มีอะไรจะไปทำลายมันได้
          แล้วจะไม่ให้คนอื่นรู้มันก็ไม่ได้ เพราะเป็นหน้าที่ของคนที่ทำรู้เอง
          เรารู้แล้ว จะทำลายมัน ทำลายไม่ได้ เพราะมันเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา

          คนโบราณบ้านหลวงพ่อเคยสอนเอาไว้ว่า “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ พระนิพพานก็อยู่ที่ใจ” ใจมันอยู่ที่ไหน? เราเคยเห็นใจเราบ้างไหม? ไม่เคยเห็น เมื่อไม่เคยเห็น เราก็ต้องศึกษาต้องปฏิบัติให้รู้ว่า ใจเราคืออะไร?
          นรก คือความร้อนอกร้อนใจ มีทุกข์แล้วในขณะไหนเวลาใด ความทุกข์อันนั้นมันจางคลายไป เราก็ขึ้นสวรรค์ โกรธมาเที่ยวหน้า ตกนรกอีกแล้ว แน่ะ...


            บัดนี้เราอยู่แต่เพียงสวรรค์ ไม่ไปตกนรก แต่ว่าไม่รู้จักทิศทางออก ทำอยู่กับโลกียธรรม...เมื่อเราหาทางออกจากโลกียธรรมไม่ได้ เราก็ต้องหมุนเวียนอยู่ในโลกียธรรม ทำดีกับโลกเป็นวิสัยของคน เป็นวิสัยของสัตว์โลก เป็นวิสัยของสัตว์ ยังไม่เป็นวิสัยของมนุษย์ ยังไม่เป็นวิสัยของพระอริยบุคคล ให้เข้าใจอย่างนั้น
          เมื่อเราพ้นทุกข์ได้แล้ว นั่นแหละเป็นวิสัยของโลกุตตรธรรม

          อัน (ที่)เป็นพระพุทธเจ้า คือ จิตใจสะอาด จิตใจสว่าง จิตใจสงบ จิตใจบริสุทธิ์ จิตใจผ่องใส จิตใจว่องไว นั่นแหละคือจิตใจของพระพุทธเจ้า ก็มีในคนทุกคน ไม่มียกเว้นเลย
          น้ำกับตมเลนนั้น มันไม่ใช่อันเดียวกัน ตมเลนต่างหาก (ที่)ทำให้น้ำขุ่น (แต่)น้ำมันไม่ได้ขุ่น จิตใจเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้จักอย่างนั้นแล้ว เราจะค่อย ๆ ตามไป พระพุทธเจ้าท่านจึงว่า อันจิตใจสะอาด จิตใจสว่าง จิตใจสงบ จิตใจบริสุทธิ์ ถ้าจิตใจบริสุทธิ์แล้ว ขี้ตมฝุ่นไม่สามารถทำให้น้ำขุ่นได้อีก จิตใจเราก็ผ่องใส ขี้ตมก็จะเป็นตะกอนทะลุออกก้นโน้น จิตใจว่องไว มันก็เบา สามารถมองเห็นอะไรได้ทุกอย่าง
          โลกียธรรมกับโลกุตตรธรรมจึงอยู่ด้วยกัน ถ้าหากเรารู้โลกุตตรธรรมจริง ๆ แล้ว ก็แยกกันได้หรือออกจากกันได้ (แต่)ถ้าเรายังไม่รู้จริง ๆ จะแยกกันไม่ได้

          ธรรมที่ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นั่นน่ะ ทำให้พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า มันมีมาก่อนพระพุทธเจ้า คือตัวที่มันจิตใจเป็นปกติอยู่เดี๋ยวนี้นี่แหละ
          ในขณะนี้ที่นั่งฟังหลวงพ่อพูดอยู่ในขณะนี้นี่ลักษณะชีวิตจิตใจของท่านเป็นอย่างไร?
          มันก็เฉย ๆ
          เฉย ๆ เรามีสติรู้ไหม? ถ้าเรามีสติรู้ ลักษณะเฉย ๆ นี่ อันนี้แหละที่ท่านว่า ความสงบ ทำงาน พูด คิดอะไรก็ได้ แต่ไม่ต้องไปยุ่งอะไรให้มันมาก
          ลักษณะ(นี้) สอนกันนิดเดียวเท่านั้น แต่คนไม่เข้าใจ...ไปทำของง่าย ๆ ให้มันยาก ทำของสะดวกสบาย ให้มันยุ่งขึ้นมา
          ลักษณะเฉย ๆ นี่ ไม่ต้องไปทำอะไรมันเลย
          ลักษณะเฉย ๆ นี่ มันมีในคนทุกคนเลย แต่เราไม่เคยมาดูที่ตรงนี้...ลักษณะเฉย ๆ นี้ท่าน(เรียก)ว่า อุเบกขา วางเฉย

          ความทุกข์เกิดขึ้น เพราะเราไม่เห็นความคิดนั่นแหละ ตัวความคิดจริง ๆ นั้น มันก็ไม่ได้มีความทุกข์ ที่มันมีทุกข์เกิดขึ้น คือเราคิดขึ้นมา เราไม่ทันรู้ ไม่ทันเห็น ไม่ทันเข้าใจความคิดอันนั้น มันก็เลยเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลงไป เมื่อมันเป็นโลภ เป็นโกรธ เป็นหลงไป มันก็นำทุกข์มาให้เรา
          ความจริง ความโกรธ-ความโลภ-ความหลงนั้น มันไม่มี ตอนมันมีนั้นคือเราไม่ได้ดู "ต้นตอของชีวิตจิตใจ" นี้เอง มันก็เลยโผล่ออกมา

          บัดนี้มาทำความรู้สึกตัว มันคิด...เห็น-รู้-เข้าใจ ตัวนี้เป็นตัวสติ เป็นตัวสมาธิ เป็นตัวปัญญา เราเรียกว่า "ความรู้สึกตัว" (เมื่อ)เรารู้สึกตัวแล้ว ความคิดจะไม่ถูกปรุงแต่งไป ถ้าหากเราไม่เห็นความคิดแล้ว มันจะปรุงแต่งเรื่อยไปเลย
          อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติอย่างลัด ๆ อึดใจเดียวก็ได้

         
ภาค ๑ : การทำความรู้สึกตัว

ความรู้สึกตัว

            สติ หมายถึงความระลึกได้ ไม่ใช่ระลึกชาติที่แล้วชาติก่อนนะ ระลึกได้เพราะการเคลื่อน การไหว การนึก การคิดนี่เอง
          จึงว่า สติ-ความระลึกได้สัมปชัญญะ-ความรู้ตัว
          บัดนี้ เราไม่ต้องพูดอย่างนั้น เพราะคนไทยไม่ได้(พูด)ว่าสติ
          "ให้รู้สึกตัว" นี่! หลวงพ่อพูดอย่างนี้ ให้รู้สึกตัว การเคลื่อน การไหว กระพริบตาก็รู้ หายใจก็รู้ นี่จิตใจมันนึกคิดก็รู้ อันนี้เรียกว่า ให้มีสติก็ได้ หรือว่าให้รู้สึกตัวก็ได้
          ความรู้สึกตัวนั้น จึงมีค่ามีคุณมาก เอาเงินซื้อไม่ได้ ให้คนอื่นรู้แทนเราไม่ได้ เช่นหลวงพ่อกำ(มือ)อยู่นี่ คนอื่นมองเห็นว่าความรู้สึก(ของ)หลวงพ่อเป็นอย่างไร? รู้ไหม? ไม่รู้เลย แต่คนอื่นมองเห็นว่า หลวงพ่อกำมือ แต่ความรู้สึก(ที่)มือหลวงพ่อสัมผัสกันเข้านี่ คนอื่นไม่รู้ด้วย คนอื่นทำ หลวงพ่อก็เห็น แต่หลวงพ่อรู้นำ(ด้วย)ไม่ได้
          นี้แหละใบไม้กำมือเดียว คือให้รู้การเคลื่อนไหวของรูปกายภายนอก และให้รู้การเคลื่อนไหวของจิตใจ มันนึกคิด

การสร้างจังหวะ

            การเจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญานั้นต้องมี "วิธีการ" ที่จะนำตัวเราไปสู่ตัวสติ ตัวสมาธิ ตัวปัญญาได้ การทำทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีวิธีการ จึงจะเข้าถึงจุดหมายปลายทางได้
          ดังนั้น การมาที่นี่ต้องพยายาม ไม่ต้องนั่งนิ่ง ๆ สอนกันแนะนำกันให้มีวิธีทำ โดยเคลื่อนไหวอยู่เสมอ ทำเป็นจังหวะ
          วิธีทำนั้นก็ต้องนั่ง แต่ไม่ต้องหลับตา อันนี้มีวิธีทำนั่งพับเพียบก็ได้ นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งเก้าอี้ก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ ทำความรู้สึกตัว
          พลิกมือขวาตะแคงขึ้น...ทำช้า ๆ...ให้รู้สึก ไม่ใช่(พูด)ว่า "พลิกมือขวา" อันนั้นมากเกินไป เพียงแต่ว่าให้รู้สึกเท่านั้นเอง พลิกมือขึ้น...ให้รู้สึก หยุดไว้ ยกมือขึ้น...ให้รู้สึก ให้มันหยุดก่อน ให้มันหยุด มันไหวไป...ให้รู้ ขึ้นครึ่งตัวนี่...ให้มันรู้ แล้วก็เอามาที่สะดือ
          อันนี้มีจังหวะซ้าย-ขวา เป็น ๖ จังหวะ เวลาเอามือออกมาก็ซ้าย-ขวา รวมกันเข้ามี ๘ จังหวะ อันนี้เป็นจังหวะ เป็นจังหวะ
          การเจริญสตินั้น ท่านว่าให้ทำบ่อย ๆ ทำบ่อย ๆ ก็ทำความรู้สึกนี่เอง เมื่อพูดถึงความรู้สึกแล้ว ก็พูดวิธีปฏิบัติพร้อม ๆ กันไป ทุกคนทำตามอาตมาก็ได้



http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S2.jpg

เอามือเรามาวางไว้บนขาทั้งสองข้างนั้นเอง คว่ำมือไว้ ตามเท่าที่อาตมาได้ทำ ทำอย่างนี้

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S3.jpg

พลิกมือขวาตะแคงขึ้น ทำช้า ๆ ให้มีความรู้สึกตัว อันความรู้สึกตัวนั้น ท่านเรียกว่าสติ 

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S4.jpg

ยกมือขวาขึ้นครึ่งตัว แล้วก็รู้สึกว่ามันไหวขึ้นมา แล้วก็มันหยุดนิ่ง ก็รู้สึกตัว 

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S5.jpg

  บัดนี้ เลื่อนมือขวามาที่สะดือเรา เมื่อมือมาถึงสะดือ ก็มีความรู้สึกว่ามันหยุดแล้ว เราก็รู้

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S6.jpg

  พลิกมือซ้ายตะแคงขึ้นที่ขาซ้าย ชันไว้ แล้วก็มีความรู้สึก

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S7.jpg

ยกมือซ้ายขึ้นครึ่งตัว ให้มีความรู้สึก หยุดไว้

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S8.jpg

บัดนี้ เลื่อนมือซ้ายเข้ามาทับมือขวาที่สะดือ แล้วก็รู้สึก
อันนี้เรียกว่า การเจริญสติ อันความรู้สึกนั้น ท่านเรียกว่า ความตื่นตัว
หรือว่าความรู้สึกตัว เรียกว่าสติ 

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S9.jpg

  เลื่อนมือขวาขึ้นหน้าอก ทำช้า ๆ มาถึงหน้าอกแล้ว เอาหยุดไว้

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S10.jpg

  เลื่อนมือขวาออกมาตรงข้าง ไหวมาช้า ๆ อย่างนี้ เมื่อมาถึงที่ตรงข้าง แล้วหยุด

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S11.jpg

  แล้วก็ลดมือขวาลงที่ขาขวา ตะแคงเอาไว้ ให้รู้สึกตัว

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S12.jpg

คว่ำมือขวาลงที่ขาขวา ให้มีความรู้สึกตัว 

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S13.jpg

เลื่อนมือซ้ายขึ้นหน้าอก ให้มีความรู้สึก   

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S14.jpg

เอามือซ้ายออกมาตรงข้าง ให้มีความรู้สึกตัว 

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S15.jpg

ลดมือซ้ายออกที่ขาซ้าย ตะแคงเอาไว้ ให้มีความรู้สึกตัว 

http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/S16.jpg


คว่ำมือซ้ายลงที่ขาซ้าย ให้มีความรู้สึกตัว
ทำต่อไปเรื่อย ๆ...ให้รู้สึก

            อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติ เป็นการเจริญสติ เราไม่ต้องไปศึกษาเล่าเรียนในพระไตรปิฎกก็ได้ การไปศึกษาเล่าเรียนในพระไตรปิฎกนั้น มันเป็นพิธีคำพูดเท่านั้น มันไม่ใช่เป็นการปฏิบัติเพื่อความเห็นแจ้ง การปฏิบัติเพื่อความเห็นแจ้งทำอย่างนี้แหละ
          เวลาลุกขึ้นมี ๗ จังหวะ-วิธีลุก เวลานั่งลงมี ๘ จังหวะ-วิธีนั่ง แต่วิธีนอนตะแคงซ้าย ตะแคงขวา ลุกทางหงาย อันนั้นก็มีจังหวะ เช่นเดียวกัน
          หรือจังหวะกราบ...เมื่อผมมาเข้าใจ คำว่า เบญจางคประดิษฐ์ หมายถึง ๕ จังหวะ เมื่อรู้อย่างนี้ ก็ยกมือไหว้ตัวเอง ไหว้ตัวเองก็มี ๕ จังหวะเช่นเดียวกัน


การเดินจงกรม

            เดินจงกรมก็หมายถึง เปลี่ยนอิริยาบถนั่นเอง ให้เข้าใจว่า เดินจงกรมเพื่ออะไร ? (เพื่อ)เปลี่ยนอิริยาบถ คือนั่งนานมันเจ็บแข้งเจ็บขา บัดนี้เดินหลาย(เดินมาก) มันก็เมื่อยหลังเมื่อยเอว นั่งด้านหนึ่ง เขาเรียกว่าเปลี่ยนอิริยาบถ เปลี่ยนให้เท่า ๆ กัน นั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง อิริยาบถทั้ง ๔ ให้เท่า ๆ กัน แบ่งเท่ากัน หรือไม่แบ่งเท่ากันก็ได้เพราะว่าเราไม่มีนาฬิกานี่ น้อยมากอะไร ก็พอดีพอควร เดินเหนื่อยแล้วก็ไปนั่งก็ได้ นั่งเหนื่อยแล้วลุกเดินก็ได้
          เวลาเดินจงกรมไม่ให้แกว่งแขน เอามือกอดหน้าอกไว้หรือเอามือไขว้ไว้ข้างหลังก็ได้
          เดินไปเดินมา ก้าวเท้าไปก้าวเท้ามา ทำความรู้สึก แต่ไม่ได้พูดว่า "ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ" ไม่ต้องพูด เพียงเอาความรู้สึกเท่านั้น
          เดินจงกรม ก็อย่าไปเดินไวเกินไป อย่าไปเดินช้าเกินไป เดินให้พอดี
          เดินไปก็ให้รู้...นี่เป็นวิธีเดินจงกรม ไม่ใช่ว่าเดินจงกรม เดินทั้งวันไม่รู้สึกตัวเลย อันนั้นก็เต็มทีแล้ว เดินไปจนตาย มันเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่เดินอย่างนั้น
          เดินก้าวไป ก้าวมา "รู้" นี่(เรียก)ว่าเดินจงกรม


การเจริญสติในชีวิตประจำวัน

            การเจริญสตินี้ต้องทำมาก ๆ ทำบ่อย ๆ นั่งทำก็ได้ นอนทำก็ได้ ขึ้นรถลงเรือ ทำได้ทั้งนั้น
          เวลาเรานั่งรถเมล์นั่งรถยนต์ก็ตาม เราเอามือวางไว้บนขา พลิกขึ้น-คว่ำลงก็ได้ หรือเราไม่อยากพลิกขึ้น- คว่ำลง เราเพียงเอามือสัมผัสนิ้วอย่างนี้ก็ได้ สัมผัสอย่างนี้ ให้มีความตื่นตัว ทำช้า ๆ หรือจะกำมือ-เหยียดมืออย่างนี้ก็ได้


http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/images1.jpg
http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/images3.jpg
http://i209.photobucket.com/albums/bb210/wisarn/images2.jpg

            ไปไหนมาไหน ทำเล่น ๆ ไป ทำเพื่อความสนุก นี่อย่างนี้ ทำมือเดียว อย่าทำพร้อมกันสองมือสามมือ ทำมือขวา มือซ้ายไม่ต้องทำ ทำมือซ้ายมือขวาไม่ต้องทำ
          "ไม่มีเวลาที่จะทำ" บางคนว่า
          "ทำไม่ได้ มีกิเลส" เข้าใจอย่างนั้น
          อันนี้ ถ้าเราตั้งใจแล้วต้องมีเวลา มีเวลาเพราะเราหายใจได้ เราทำการทำงานอะไร ให้มีความรู้สึกตัว เช่น เราเป็นครูสอนหนังสือ เวลาเราจับดินสอเอามาเขียนหนังสือ...เรามีความรู้สึกตัว เขียนตัวหนังสือไปแล้ว...เราก็รู้
          อันนี้เป็นการเจริญสติแบบธรรมดา ๆ ศึกษาธรรมะกับธรรมชาติ
          เวลาเราทานอาหาร เราเอาช้อนเราไปตักเอาข้าวเข้ามาในปากเรา...เรามีความรู้สึกตัวในขณะที่เราเคี้ยวข้าว...เรามีความรู้สึกตัว กลืนข้าวเข้าไปในท้องไปในลำคอ...เรามีความรู้สึกตัว อันนี้เป็นการเจริญสติ


ทำให้ติดต่อกันเหมือนลูกโซ่

            ที่อาตมาพูดนี้ อาตมารับรองคำสอนของพระพุทธเจ้า และรับรองวิธีที่อาตมาพูดนี้ รับรองจริง ๆ ถ้าพวกท่านทำจริง ๆ แล้ว ทำให้มันติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ หรือเหมือนนาฬิกาที่มันหมุนอยู่ตลอดเวลา
          แต่ไม่ใช่ว่าทำอย่างนี้ ให้มันเหมือนลูกโซ่หมุนอยู่เหมือนกับนาฬิกานี่ ไม่ให้ไปทำการทำงานอื่นใดทั้งหมด ให้ทำความรู้สึก ทำจังหวะ เดินจงกรม อยู่อย่างนี้ตลอดเวลาหรือ – ไม่ใช่อย่างนั้น
          คำว่า "ให้ทำอยู่ตลอดเวลา" นั้น (คือ)เราทำความรู้สึก ซักผ้าซักเสื้อ ถูบ้านกวาดบ้าน ล้างถ้วยล้างจาน เขียนหนังสือ หรือซื้อขายก็ได้ เพียงเรามีความรู้สึกเท่านั้น แต่ความรู้สึกอันนี้แหละ มันจะสะสม เอาไว้ทีละเล็กทีละน้อย เหมือนกับเราที่มีขันหรือมีโอ่งน้ำ หรือมีอะไรก็ตามที่มันดี ที่รองรับมันดี ฝนตกลงมา ตกทีละนิดทีละนิด เม็ดฝนน้อย ๆ ตกลงนาน ๆ แต่มันเก็บได้ดีน้ำก็เลยเต็มโอ่งเต็มขันขึ้นมา
          อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำความรู้สึก ยกเท้าไป ยกเท้ามา ยกมือไป ยกมือมา เรานอนกำมือ เหยียดมือ ทำอยู่อย่างนั้น หลับแล้วก็แล้วไป เมื่อนอนตื่นขึ้นมา เราก็ทำไป หลับแล้วก็แล้วไป ท่านสอนอย่างนี้ เรียกว่าทำบ่อย ๆ อันนี้เรียกว่า เป็นการเจริญสติ


สรุปวิธีปฏิบัติ

            ถ้าทำจังหวะให้ติดต่อกันเหมือนลูกโซ่ มีความรู้สึกอยู่ทุกขณะ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด เคลื่อนไหว อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนั้น
          แต่เรามาทำเป็นจังหวะ พลิกมือขึ้น คว่ำมือลง ยกมือไป เอามือมา ก้ม เงย เอียงซ้าย เอียงขวา กระพริบตา อ้า ปาก หายใจเข้า หายใจออก รู้สึกอยู่ทุกขณะ จิตใจมันนึกมันคิด รู้สึกอยู่ทุกขณะ
          อันนี้แหละวิธีปฏิบัติ คือให้รู้ตัว ไม่ให้นั่งนิ่ง ๆ ไม่ให้นั่งสงบ คือให้มันรู้
          รับรองว่าถ้าทำจริง ในระยะ ๓ ปี อย่างนาน ทำให้ติดต่อกันจริง ๆ นะ อย่างกลาง ๑ ปี อย่างเร็วที่สุดนับแต่ ๑ ถึง ๙๐ วัน อานิสงส์ไม่ต้องพูดถึงเลย ความทุกข์จะลดน้อยไปจริง ๆ ทุกข์จะไม่มารบกวนเรา


หน้า: [1]
Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.541 วินาที กับ 27 คำสั่ง