พระเจ้าเลียบโลก ตอน อานิสงส์บูชาพระบาทรังรุ้่ง(พระพุทธบาทสี่รอย) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมายังมีพระราชาองค์หนึ่งมีพระนามว่า มังราย เสวยราชย์ในนครเชียงใหม่ ได้ทรงสดับตรังฟังข่าว พระพุทธบาทรังรุ้งเป็นที่ประเสริฐยิ่งนัก จึงทรงมีพระราชศรัทธาใคร่สักการบูชาเป็นอย่างยิ่ง จึงเสด้จไปพร้อมด้วยพระราชเทวีและเสนาอำมาตย์บริวารทั้งหลาย ตามลำดับหนทางจนกระทั่งบรรลุถึงเชิงเขาแล้วเสด็จขึ้นไปสักการบูชาพระพุทธบาทและพระชินธาตุด้วย พระราชปสาทศรัีทธาเลื่อมใสเป็นอันมาก ทรงบังเกิดอัศจรรย์พระทัยยิ่งนัก จึงมีพระราชอาชญาให้คนทั้งหลายวัดระยะดูรอบเชิงเขานั้นมี ๓๗๐ วา ตั้งแต่เชิงภูเขาวัดตามระยะทางเดินสูง ๔๒๗ วา วัดทอดดิ่งลงมาได้ ๑๒๕ วา วัดตรงดิ่งลงมาจนถึงฝั่งแม่น้ำคงไกล ๕๐๐ วา วัดตั้งแต่สพเพาไปถึงรอยพระพุทธบาทได้ ๒๕ วา รอยพระพุทธบาทพระพุทธเจ้ากกุสันธะยาว ๑ วา ๓ ศอก รอยพระพุทธบาทโกนาคมนะยาว ๑ วา ๒ ศอก รอยพระพุทธบาทพระพุทธเจ้ากัสสปะยาว ๑ วา ๑ ศอก รอยพระพุทธบาทพระพุทธเจ้าโคตมะยาว ๑ วา ๑ คืบ ปลายพระบาทเสมอกัน
เมื่อพระยามังรายถวายนมัสการสักการบูชาแล้ว ก็พาเสนาบริวารกลับลงมาตามลำดับ เสด็จมาถึงป่าแห่งหนึ่งจะหาที่พักไม่มี เพราะเป็นป่าแขมป่าเลา (แฝก) และเป็นน้ำทั่วไปทั้งสิ้น ในที่นั้นภายหลังจะแปรชื่อว่า พูเลายางคำ นับตั้งแต่พระยามังรายเสด็จลงจากพระพุทธบาท และออกจากพูเลายางคำ ไม่มีที่พักผ่อนเลยจนกระทั่งถึงป่าแห่งหนึ่ง จึงประทับพักแรมอยู่ในระหว่างป่านั้น ป่าแห่งนั้นเลยปรากฏชื่อว่า ป่ามังราย จนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้
พระยามังรายเสด็จออกจากที่ประทับพักแรมนั้นมาถึงเมืองแห่งหนึ่ง คนทั้งหลายก็พากันมาเหง้อ (ชะเง้อ) ดูพระยาที่นั้น นับตั้งแต่นั้นมาเมืองนั้นจึงได้ชื่อว่า เมืองเหง้อ (เมืองชะเง้อ)
นับตั้งแต่พระยามังรายเสด็จไปนมัสการรอยพระพุทธบาทและเสด็จกลับคืนมาสู่นครเชียงใหม่แล้ว ก็ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติตราบสวรรคต ราชวงศ์ลูกหลานเสวยราชสมบัติสืบสันติวงศ์ต่อมาตามลำดับนับได้ ๗ รัชกาล ในสมัยกาลครั้งนั้น ยังมีผ้าขาวผู้หนึ่งอยู่บ้านทุงโนมังราย ที่นั้นมีปรกติไปอุปัฏฐากพระพุทธบาทเป็นประจำ มีวันหนึ่งเป็นวันเพ็ญเดือน ๗ (เหนือ) ผ้าขาวนั้นก็ไปนมัสการพระพุทธบาทและเข้าสมาธิภาวนาอยู่แล้วรำพึงในใจว่า "เหตุไฉน คนทั้งหลายจึงไม่มานมัสการกราบไหว้พระพุทธบาทอันประเสริฐนี้หนอ" ในขณะนั้นเทวดาทรงทราบวาระจิตแห่งผ้าขาวผู้นั้น จึงนิมิตตนเป็นภิกษุรูปหนึ่ง นั่งภาวนาอยู่ในชะง่อนหินที่เชิงเขา ผ้าขาวผู้นั้นลงจากภูเขามาได้เห็นภิกษุป่ารูปนั้นจึงถามท่านว่า "ในปัจจุบันนี้ สมณพราหมณ์และคนทั้งหลายทำไมจึงไม่มานมัสการกราบไหว้พระพุทธบาทอันประเสริฐนี้หนอ" ภิกษุรูปนั้นจึงตอบว่า "ดูรา ผ้าขาว แต่ก่อนนี้คนทั้งหลายเขาพากันมานมัสการพระพุทธบาทเป็นอันมากจริง แต่ว่าอันตรายทั้งหลายมักบังเกิดแ่กเขา เขาทั้งหลายก็มีความหวาดกลัว เพราะเหตุนั้น ต่อมาเขาก็เลยไม่มานมัสการอีก เพราะว่าคนทั้งหลายนั้นมีจิตใจต่างกัน ลงคนมารอยพระพุทธบาทนี้ด้วยใจคดเลี้ยว ไม่เลื่อมใสศรัทธาในรอยพระพุทธบาท เขามีความประมาทมาก ฆ่าสัตว์ ลักของท่าน เล่นชู้ สนส่อให้ท่านทะเลาะวิวาทกัน กล่าวคำผสุสวาจา และคำอันหาประโยชน์มิได้ และชอบดื่มสุรายาเมาไม่นิยมยินดีในรอยพระพุทธบาท อันตรายทั้งหลายจึงบังเกิดแก่เขา เมื่อเขาตายไปบางคนก็ต้องไปตกนรก" ผ้าขาวก็ถามต่อไปว่า "ต่อไปภายภาคหน้าพระพุทธบาทนี้ยังจะรุ่งเรืองหรือไม่ " ภิกษุรูปนั้นจึงตอบว่า
"ดูรา ผ้าขาว ท่านจงไปบอกแก่คนทั้งหลายที่จะมานมัสการรอยพระพุทธบาทที่นี้ว่า มนุษย์หญิง ชาย คฤหัสถ์ นักบวชทั้งหลายที่จะมานมัสการรอยพระพุทธบาทและพระชินธาตุ ที่นี้จงเป็นผู้สังวรในอินทรีรย์ทั้ง ๖ คือรักษาปาก หู ตา รักษาจมูก และลิ้น รักษากายและใจ อย่าให้บาปบังเกิดขึ้นได้โดยแท้ อย่าทะเลาะวิวาทกัน อย่าฆ่าสัตว์ อย่าลักของท่าน อย่ามายาสาไถย อย่าเล่นชู้ อย่าโกหกพูดเท็จ อย่ากล่าวคำผรุสวาจา อย่ากล่าวคำที่หาประโยชน์มิได้ อย่าดื่มสุรายาเมา และอย่าถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ สั่งน้ำมูกถ่มน้ำลายเชิงเขาพระพุทธบาทด้านตะวันตก ให้ไปถ่ายหรือไปถ่มได้ตะวันออกของพระพุทธบาทโน้นเถิด ประการหนึ่งถ้าเป็นผู้หญิงขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทนั้น ห้ามล่วงล้ำเข้าไปในเขตรั้วล้อมพระพุทธบาท ห้ามโปรยข้าวตอก ดอกไม้บนรอยพระพุทธบาทและรูพระธาตุ ให้ไว้ที่พระอรหันต์นั่งนั้นหากสมควรแล อย่าเอาเทียนติดก้อนหินที่พระพุทธเจ้าประทับนั่ง อย่าตีกลองสะบัดชัย อย่ากางทุงแร(ธงแพร) ใกล้้พระบาท เพราะลมจะเพิกพัดถูกใส่ไฟ ไฟจะไหม้รอยพระพุทธบาท จะเป็นบาปมากนัก หากว่าผู้ใดกระทำสิ่งไม่ชอบไม่ควร เทวดาจะไม่ชอบใจ และพระธาตุก็ไม่แสดงปาฏิหาริย์ อย่าถากไม้ อย่าเอาเปลือกไม้แต่เชิงเขาขึ้นมาข้างบน ซึ่งเข้าใจว่าจะเป็นบุญกุศล จะกลายเป็นสิ่งไม่ดี เพราะว่าต้นไม้เหล่านั้นมีเทวดารักษาทุกต้น จะเป็นที่ไม่ชอบใจของเทวดาทั้งหลาย เขาจะกริ้ว ให้โทษแก่ผู้ฝ่าฝืนหากว่าใครไม่เชื่อ ยังขืนตัดฟันต้นไม้ ก็จักได้รับบาดเจ็บเหมือนดั่งต้นไม้ หากว่าตัดฟันต้นไม้จนตาย ก็ต้องตายเช่นเดียวกับต้นไม้ เมื่อนมัสการกราบไหว้พระพุทธบาทเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะลงจากภูเขาให้จัดการปัดกวาดเก็บขยะให้เรียบร้อยแล้วจึงลงมาเถิด
เวภารปาทธาตุนิฏฐิตา กล่าวถึงเรื่องพระพุทธบาทและพระชินธาตุ อันมีอยู่บนภูเขาเวภารบรรพตคือ เขารังรุ้ง ก็จบเพียงเท่านี้
ต่อไปนี้จักได้แสดงถึงเรื่องพระธาตุที่ประดิษฐานอยู่ที่เมืองฝาง ผู้มีปัญญาพึงรู้ดังต่อไปนี้เทอญ ยังมีภูเขาหินลูกหนึ่ง ชื่อ ดอยผาตุบ สมัยเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาสั่งสอนเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ได้เสด็จมาถึงที่นี้ตรัสว่า "เมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้ว จงนำเอาธาตุตถาคตมาประดิษฐาน ณ ที่นี้เถิด" พระมหาอานันทเถระเจ้าและพระยาอโศก ก็ทูลขอเอาพระเกศาธาตุจากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ทรงลูบพระเศียรได้เกศามาเส้นหนึ่งมอบให้พระมหาอานันทเถระเจ้า พระมหาอานันเถระเจ้าจึงเอาพระเกศาธาตุเส้นนั้นประดิษฐานไว้ในถ้ำดอยผาตุบนั้น พระพุทธองค์จึงทรงเสด็จสีหไสยาสน์ที่นั้นคืนหนึ่ง จากนั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จไปสู่ดอยท่าข้ามเมืองเยิง ตามลำดับหนทางจนไปบรรลุถึงพระเชตวันมหาวิหารอยู่ต่อมาอีก ๑ พรรษา พระพุทธองค์ก็เสด็จเข้าสู่ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา ก็มีในครั้งนั้นแล
หลังจากสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้วนานได้ ๒๑๘ ปีพระยาอโศกธรรมราชาก็ทรงแจกพระธาตุของพระพุทธเจ้า และพระธาตุของพระพุทธองค์มาประดิษฐานอยู่ในดอยผาตุบที่เมืองฝาก ในเวลานั้นมีพระอรหันต์ ๓ องค์ มานิพพานในที่นั้น พระอินทร์จึงให้วิษณุกรรมเทวบุตร มานิมิตอุโมงค์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระชินธาตุ แล้วจุดประทีปบูชาไว้ด้านในประตูถ้ำ อันมีทางฝ่ายแม่น้ำ เทวดาได้เอาหินก้อนใหญ่มาปิดประตูถ้ำไว้ พระธาตุที่ประดิษฐานอยู่ในถ้ำผาตุบที่นั้น ก็รุ่งเรืองยิ่งนัก เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลายจนตลอดไปถึงสิ้น ๕,๐๐๐ วัสสา แลตำนานถ้ำผาตุบก็จบเพียงเท่านี้แล
ยังมีในสมัยครั้งหนึ่ง เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพระมหากรุณาธิคุณเป็นอันมากประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ในโฆสิตาราม (บางฉบับว่านิโครธสิตอาราม) อันมีในเมืองโกสัมพี ก็ทรงเล็งทิพยจักขุญาณมองเห็นลัวะ ๒ คนผัวเมีย อยู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อว่า ลุคคามะ ในดอยถ้ำด่านยางจวง (บางฉบับว่า ด่านยางเจาะ) ลัวะทั้ง ๒ คนผัวเมียนั้นเป็นผู้มีบุญสมภารอันเคยสร้างมาแต่บุรพชาติเป็นอันมาก ควรแก่การถึงมรรคผลธรรมอันวิเศษ เมื่อทรงทราบเช่นนั้นแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงห่มผ้าและทรงถือบาตร เสด็จไปประทับนั่งอยู่ที่โคนไม้นิโครธต้นหนึ่งในดอยครอม แล้วก็ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีทั้ง ๖ ประการ คือ ขาว เขียว เหลือง แดง หงสบาท และสีแก้วผลึก มีวรรณะดังแก้วไพฑูรย์น้ำทองคำ อยู่ที่ข้างทางเดิน ลัวะทั้งสองคนผัวเมียเดินมาถึงที่นั้นก็แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีมีวรรณะต่างๆ แผ่ซ่านออกไปทั่วทิศ ดูโอภาสรุ่งเรืองยิ่งนัก เขาทั้งสองก็บังเกิดศรัทธาปสาทะเลื่อมใส มีความโสมนัสยินดีเป็นอันมาก จึงพากันเข้าไปถวายอภิวาทกราบไหว้องค์พระพุทธเจ้าแล้วก็น้อมถวายห่อข้าวแก่พระพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับเอาห่อข้าวนั้นแล้ว แล้วก็ทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นภาษาทมิฬ คือภาษาชาวป่า แก่ลัวะสองผัวเมียนั้น ในเรื่องอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ประการ ลัวะทั้งคู่ก็ได้ตรัสรู้มรรคผลธรรม บังเกิดอจลศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ทรงถือห่อข้าวนั้นแล้วก็ทรงประทับนั่งเหนือผ่าด่านก้อนนั้น ทรงผินพระพักตร์ไปทางด่านยางจวง เพื่อจักเสวยโภชนาหาร ในเวลานั้นพระอินทร์ทรงแทราบแล้วก็สเด็จลงมาจากฟากฟ้า เพื่อปรนนิบัติสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแทงพระขรรค์เพชรไปที่หินก้อนหนึ่งทางทิศเหนือ ในทันใดนั้นน้ำก็พุ้งออกมาจากหินก้อนนั้น ได้เอาน้ำนั้นถวายพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธองค์ทรงบริโภคแล้ว ก็เสด็จขึ้นไปเหยียบรอยพระบาทไว้เหนือหินก้อนนั้น ซึ่งมีสัณฐานเหมือนดังช้างหมอบ เพื่อไว้ให้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย คือรอยพระบาทอันมีอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งผาด่านที่นั้น พระพุทธเจ้าเสด็จกลับคืนไปสู่เมืองโกสัมพีประทับอยู่ในนิโครธสติตอาราม
เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว มีพระอรหันต์ ๗ องค์ นำเอาพระธาตุมาบรรจุในประเทศยางจวงนั้น เป็นไปดั่งพระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ทุกประการ เมื่อจะบรรจุพระบรมธาตุนั้นได้พร้อมกันกับด้วยท้าวพระยาเสนาอำมาตย์ทั้งหลาย ตลอดถึงชาวเมืองทั้งมวลได้ขุดหลุมลึกลงไป ๗ วา แล้วจึงอัญเชิญพระบรมธาตุลงบรรจุในที่นั้นเพื่อให้เป็นที่สักการบูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย
ยังเทวดาองค์หนึ่งชื่อว่า อาหัสสักกะ ได้อยู่รักษาพระธาตุและพระบาทของพระพุทธเจ้า เทวดาองค์นั้นคือหลานของพระยาอโศกธรรมราช เมื่อได้จุติจากชาติที่เป็นหลานของพระยาอโศกแล้ว ก็ได้มาเกิดเป็นเทวดาอยู่รักษารอยพระบาทและพระธาตุยางจวง ที่นั้น ก็มีแลธาตุกณฺฑํ นิฏฐิตํ กัณฑ์ที่กล่าวถึงพระธาตุ จบเพียงเท่านี้
จบผูกที่ ๑
http://www.sanggadjai.com/index.php?topic=2614.0