[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
05 ธันวาคม 2567 09:46:17 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม กับ "เรื่อง พระปฐมเจดีย" (รวม ๓ ตำนาน)  (อ่าน 21080 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5774


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 05 ตุลาคม 2557 13:11:34 »

.


พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม
องค์ปัจจุบันนี้ เป็นองค์ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔
โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างครอบองค์เดิมที่ชำรุดหักพังลง งานไม่ทันแล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคต
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) โปรดฯ ให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ

พระปฐมเจดีย์
ตามรอยอารยธรรมการเผยแพร่พุทธศาสนาเข้ามายังแผ่นดินสุวรรณภูมิ

นครปฐม เป็นเมืองแห่งปูชนียสถานเก่าแก่ที่สำคัญคือ  “พระปฐมเจดีย์"  ซึ่งมีความสูงเสียดฟ้า และมีประวัติความเป็นมายาวนาน นับเป็นร่องรอยแห่งแรกของการเผยแพร่อารยธรรมพุทธศาสนาเข้ามายังแผ่นดินสุวรรณภูมิ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทั้งยังเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์มากมายไปด้วยผลไม้และอาหารขึ้นชื่อนานาชนิด  
 
ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์
พระปฐมเจดีย์ หรือเดิมเรียกว่า พระธมเจดีย์ มีฐานะเป็นมหาธาตุหลวง ของแผ่นดินสุวรรณภูมิ อยู่ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ พระอารามหลวงชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครปฐม

นักปราชญ์ในทางโบราณคดีมีความเห็นพ้องต้องกันว่า พระปฐมเจดีย์สร้างในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อทรงส่งสมณทูต ได้แก่ พระโสณะเถระและพระอุตระเถระ มาประกาศพระพุทธศาสนาที่นครปฐมเป็นครั้งแรก ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า พระธมเจดีย์องค์นี้ อาจเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเมื่อคราวที่พระสมณทูตในพระเจ้าอโศกมหาราชเดินทางมาเผยแผ่ศาสนายังสุวรรณภูมิก็เป็นได้ เพราะพระเจดีย์เดิมมีลักษณะทรงโอคว่ำแบบเจดีย์อินเดีย หรือทรงมะนาวผ่าซีก แบบเดียวกับพระสถูปสาญจี แต่ปรากฏว่ามียอดเป็นแบบปรางค์ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า อาจมีเจ้านายพระองค์ใดมาบูรณะไว้ก็เป็นได้ ซึ่งตรงกับความในศิลาจารึกหลักที่ ๒ (ศิลาจารึกวัดศรีชุม) ของ พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ อันได้กล่าวไว้ว่า พระมหาเถรศรีศรัทธาฯ ท่านทรงได้แวะมาบูรณะพระธมเจดีย์องค์นี้ ก่อนที่ท่านจะเดินทางกลับเมืองราด เมื่อคราวที่ท่านเสด็จกลับจากศึกษาพระพุทธศาสนาที่ลังกา ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระราชทานนามใหม่ว่า พระปฐมเจดีย์ด้วยทรงเชื่อว่านี่คือเจดีย์แห่งแรกของสุวรรณภูมิ นั่นเอง

จากเอกสารเก่าที่บันทึกเรื่องนี้ไว้มีประวัติว่า
- พระปฐมเจดีย์ สร้างเมื่อ พ.ศ. ๕๐๐ ก็มี พ.ศ. ๑๐๐๐ ก็มี พ.ศ. ๑๑๘๕ ก็มี พ.ศ. ๑๒๖๔ ก็มี พ.ศ. ๑๖๓๐ ก็มี
- มีความสูง ๔๐ วา ๕ ศอก
- มีพระแท่นบรรทม ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทม
- เป็นที่บรรจุพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้ว องค์หนึ่ง บรรจุพระบรมธาตุ หนึ่งทะนาน
- มีปรากฎก่อนพบพระพุทธบาท พระพุทธฉาย กว่าพันปี

ในเรื่องนี้ นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีบางท่านได้ระบุว่า พระปฐมเจดีย์ไม่ได้เป็นเจดีย์ที่เก่าที่สุดของสุวรรณภูมิ แต่เป็นพระมหาธาตุหลวง ในยุคทวารวดีมากกว่า เนื่องด้วยเหตุผลประกอบหลายประการ โดยเฉพาะการค้นพบเจดีย์ที่มีอายุเก่าแก่กว่าพระธมเจดีย์ และหลักฐานลายลักษณ์อักษรที่ระบุว่า " พระเจดีย์องค์นี้ เดิมขอมเรียก พระธม " ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาวขอมจริงๆ หรือชาวลวรัฐ ซึ่งสมัยนั้นเราก็เรียกว่าขอม เช่น ขอมสบาดโขลญลำพง คำว่า ธม สำหรับชาวขอมนั้น แปลว่า ใหญ่ ตรงกับคำเมืองว่า หลวง ซึ่งเราก็เรียกพระนครธม ว่า พระนครหลวง ด้วยเหตุผลเดียวกัน



องค์พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๔-๗    
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จธุดงค์มานมัสการพระปฐมเจดีย์ ทรงเห็นเป็นเจดีย์ยอดปรางค์ สูง ๔๒ วา เป็นพระเจดีย์ใหญ่ยอดปรางค์ ตอนหนึ่ง ฐานล่างกลมเป็นรูประฆัง ตอนหนึ่ง น่าจะทำมาหลายคราว คนทั่วไปเรียกว่า พระปทม เนื่องด้วย เชื่อว่าพระพุทธเจ้าได้เคยเสด็จมาบรรทมที่นั่น จากฝีมือทำอิฐและก่อ แสดงว่าเป็นของทำมาเก่าแก่หลายครั้ง ที่เนินใหญ่เป็นกองอิฐหักลงมา เมื่อขุดลงไปสักสองสามศอกพบอิฐยาวศอกหนึ่ง หน้าใหญ่สิบสองนิ้ว หน้าน้อยหกนิ้ว ก่อเป็นพื้น น่าจะเป็นองค์พระเจดีย์เดิมหักพังลงมา แล้วมีการก่อพระเจดีย์ออกบนเนินเรียงรายอยู่สี่วิหาร

มีวิหารพระนาคปรก วิหารพระไสยาสน์ วิหารไว้พระพุทธรูปต่างๆ และวิหารพระป่าเลไลย์ วิหารหลวงพระอุโบสถอยู่บนพื้นแผ่นดิน ตั้งแต่หลังเกาะสูงประมาณมีถึงห้าวา หลังเกาะขึ้นไปเป็นองค์พระเจดีย์กลม ๑๔ วา ๒ ศอก ปรางค์สูง ๒๐ วา ยอดนพศูลสูง ๘ ศอก รวมความสูงตั้งแต่หลังเกาะถึงยอดนพศูลสูง ๘ ศอก รวมความสูง ตั้งแต่หลักเกาะถึงยอดนพศูล ๔๐ วา ๒ ศอก

เมื่อทรงลาผนวชได้เสวยราชสมบัติแล้ว ในราว พ.ศ. ๒๓๙๖ ได้โปรดให้ก่อพระเจดีย์ใหม่ ห่อหุ้มองค์เดิมไว้สูง ๑๒๐ เมตร กับ ๔๕ เซนติเมตร พร้อมสร้างวิหารและคตพระระเบียงโดยรอบ งานไม่ทันแล้วเสร็จก็สวรรคต  

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) โปรดให้ปฏิสังขรณ์ จัดสร้างหอระฆัง และประดับกระเบื้องจนสำเร็จ  

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) โปรดปฏิสังขรณ์พระวิหารหลวง เขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่างๆ ไว้ที่ผนัง รื้อมุขวิหารด้านทิศเหนือสร้างใหม่ เพื่อประดิษฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๗) โปรดให้สร้างพระอุโบสถใหม่


.


องค์พระปฐมเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ ๕
ภาพจาก : วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี

ขณะเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงผนวชอยู่นั้น ได้เสด็จออกธุดงค์ทั่วไปหลายแห่งในพระราชอาณาจักร ครั้งหนึ่งในป่าทึบ ทรงเห็นพระเจดีย์เก่ามหึมาอยู่ในที่รกร้างและทรุดโทรม  ซึ่งบัดนี้เราเรียกว่า พระปฐมเจดีย์  แต่ในสมัยนั้น หายสูญไปในท่ามกลางต้นไม้เถาวัลย์

เมื่อทอดพระเนตรเห็น ก็แน่พระทัยว่า เป็นพระเจดีย์เก่าแก่โบราณที่สุดและใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ครั้นเสด็จกลับกรุงเทพฯ ก็กราบบังคมทูลสมเด็จพระเชษฐาธิราช รัชกาลที่ ๓ ให้ทรงทราบ  แต่สมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ตรัสตอบว่า อยู่ห่างไกลเกินไปจากไม่ว่าที่ไหนๆ ฉะนั้น จะไปทำการบูรณะซ่อมแซมก็จะเสียเวลาและเปลืองพระราชทรัพย์เปล่าๆ

ครั้นเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ สมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ตั้งพระราชหฤทัยจะบูรณะพระปฐมเจดีย์ให้จงได้ ในที่สุดก็โปรดให้มีการก่อสร้างให้สูงขึ้น ครอบพระเจดีย์โบราณซึ่งทรุดโทรมอยู่นั้น และทรงประดับกระเบื้องสีแสด ดังเราเห็นอยู่ทุกๆ วันนี้ฯ

ในระหว่างเวลาที่ทำการซ่อมแซมและสร้างใหม่อยู่นั้น เสด็จออกไปทอดพระเนตรคราวใด "มีพระราชอุตสาหะทรงอิฐ ๑ แผ่นบ้าง ๒ แผ่นบ้าง เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปทางสะพานนั่งร้านก่อทุกครั้ง น่าเสียดายที่การบูรณะก่อสร้างองค์พระปฐมเจดีย์นั้นไม่ทันสำเร็จในรัชกาลที่ ๔  และมาสำเร็จเรียบร้อยในรัชกาลที่ ๕  
[อ้างอิง : พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ เจ้าชีวิต บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔) จำกัด หน้า ๒๐๙]

การบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์
นับแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงทำการบูรณะต่อเติมในครั้งนั้นแล้ว จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร้อยปีเศษ มิได้มีการบูรณะใหญ่ๆ เลย นอกจากการซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ ที่ชำรุดเป็นบางส่วนเท่านั้น จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ทางวัดพบว่าตัวองค์พระปฐมเจดีย์มีรอยแตกร้าวหลายแห่ง กระเบื้องที่ประดับหลุดร่วง จึงได้แจ้งเรื่องไปยังรัฐบาล   รัฐบาลก็มอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้พิจารณาดำเนินการ และมอบให้กรมโยธาธิการส่งช่างผู้เชี่ยวชาญไปสำรวจตรวจสอบ ซึ่งใช้เวลาอยู่ประมาณ ๙ ปี และในที่สุดก็ลงความเห็นว่าองค์พระปฐมเจดีย์มีความชำรุดมาก ควรดำเนินการบูรณะเป็นการด่วน

เมื่อรัฐบาลได้ทราบความจริงและพิจารณาเห็นว่าพระมหาเจดีย์แห่งนี้เป็นเจดีย์สำคัญ เมื่อสมบัติที่มีค่ายิ่งสมควรที่จะต้องรักษาให้ยืนยงคงอยู่ตลอดไป จึงได้อนุมัติงบประมาณให้โดยมีกรมโยธาธิการกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าของโครงการระยะที่ ๑-๒ และกรมศิลปากรกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าของโครงการระยะที่ ๓ ได้ลงมือทำการซ่อมแซมบูรณะตั้งแต่วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๑๘ สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๔ สิ้นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน ๒๔,๖๒๕,๓๗๕ บาท (ยี่สิบสี่ล้านหกแสนสองหมื่นห้าพันสามร้อยเจ็ดสิบห้าบาทถ้วน)


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)
โปรดฯ ให้เขียนภาพพระเจดีย์องค์เดิมและภาพต่างๆ ไว้ที่ผนังพระวิหารหลวง


เจดีย์จำลองพระปฐมเจดีย์องค์เก่าเดิม อยู่ด้านทิศใต้ของพระปฐมเจดีย์

รายละเอียดองค์พระปฐมเจดีย์
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นพระเจดีย์ใหญ่ รูประฆังคว่ำ ปากผายมหึมา โครงสร้างเป็นไม้ซุง รัดด้วยโซ่เส้นมหึมา ก่ออิฐถือปูน ประดับด้วยกระเบื้องปูทับ ประกอบด้วยวิหาร ๔ ทิศ กำแพงแก้ว ๒ ชั้น
- สูงจากพื้นดินถึงยอดมงกุฎ ๑๒๐.๔๕ เมตร
- ฐานโดยรอบวัดได้  ๒๓๕.๕๐ เมตร
- ปากระฆังวัดเส้นผ่านศูนย์กลางได้ ๕๖.๖๔ เมตร
- จากปากระฆังถึงสี่เหลี่ยมสูง ๒๘.๑๐ เมตร
- สี่เหลี่ยมด้านละ ๑๘.๘๐ เมตร
- ปล้องไฉนสูงจากสี่เหลี่ยมถึงยอด ๔๑.๔๐ เมตร
- ปล้องไฉนทั้งหมดมี ๒๗ ปล้อง
- เสาหารมี ๑๖ ต้น







http://www.komchadluek.net/media/img/size_photo_slide/2012/11/08/dkbjbceagkkbea78hikhh.jpg
พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม กับ "เรื่อง พระปฐมเจดีย" (รวม ๓ ตำนาน)

ภาพจาก : เว็บไซต์ คม ชัด ลึก
องค์พระปฐมเจดีย์ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ทางวัดกำหนดให้มีงานเทศกาล
นมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงวันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒
รวม ๙ วัน ๙ คืน เป็นประจำทุกปี

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 กันยายน 2558 17:47:12 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5774


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 05 ตุลาคม 2557 14:12:02 »

.


พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราช ปูชนียบพิตร
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้
ณ พระวิหารด้านทิศเหนือ องค์พระปฐมเจดีย์


รัชกาลที่ ๖ มีพระราชประสงค์ให้สร้างพระร่วงโรจนฤทธิ์ มีพระอุทรพลุ้ยออกมา
เนื่องด้วยพระองค์มีพระวรกายค่อนข้างจะทรงพระเจริญ (ภาษาสามัญว่า อ้วน)
พระพุทธรูปองค์นี้จึงมีพุทธลักษณะพิเศษแตกต่างจากที่เคยพบเห็นโดยทั่วไป
และกล่าวกันว่าช่างต้องแก้ไขในส่วนพระอุทรกันหลายครั้งทีเดียว จึงเป็นที่พอพระราชหฤทัย


พระร่วงโรจนฤทธิ์

ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระยุพราช เสด็จประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ ได้ทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณเป็นอันมาก แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง จมในพื้นวิหารวัดโบราณในเมืองศรีสัชนาลัย (สุโขทัย) กอปรด้วยพระลักษณะงดงามเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย แต่ชำรุดมาก เหลืออยู่แต่พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาทที่ยังดีไม่ชำรุด  จึงโปรดให้เชิญลงมากรุงเทพฯ ครั้งเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ จึงโปรดให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ทำรูปหุ่นขี้ผึ้ง ปฏิสังขรณ์ปั้นให้บริบูรณ์เต็มองค์

ตั้งการพระราชพิธีเททองหล่อที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ เป็นพระยืนปางห้ามญาติ ศิลปะสุโขทัย หล่อด้วยทองเหลืองหนัก ๑๐๐ หาบ สูงจากพระบาทถึงพระเกศา ๑๒ ศอก ๔ นิ้ว ประทับยืนบนฐานโลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว พระหนุเสี้ยม นิ้วพระหัตถ์ พระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น ยื่นไปข้างหน้า มีพระอุทรพลุ้ย  

ครั้นแล้วเสร็จอัญเชิญประดิษฐานไว้ที่ซุ้มวิหารทิศตรงบันไดใหญ่เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๕๘ ทรงถวายพระนามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร” ตามประกาศกระแสพระบรมราชโองการ ลงวันที่ ๑๒ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๖๖ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าในพระราชพินัยกรรม ให้บรรจุพระอังคารของพระองค์ท่านไว้ในใต้ฐานพระนี้ด้วย






พระพุทธนรเชษฐ์ เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร
วัดปฐมเจดีย์  กรมศิลปากรอัญเชิญมาประดิษฐานไว้
ณ มณฑลลานชั้นลด ด้านทิศใต้ องค์พระปฐมเจดีย์

พระพุทธนรเชษฐ์
ประดิษฐาน ณ ลานชั้นลด (กะเปาะ) ด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ สร้างในสมัยทวารดี (พ.ศ. ๑๑๐๐-๑๖๐๐) ชาวบ้านเรียกว่า พระขาว หรือหลวงพ่อขาว มีลักษณะและขนาดเช่นเดียวกันกับองค์ที่ประดิษฐานในพระอุโบสถ

เดิมอยู่ที่โบราณสถานวัดทุ่งพระเมรุ นครปฐม ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณสองกิโลเมตร เป็นองค์หนึ่งในจำนวนพระพุทธรูปศิลาขาว ๔ องค์ ซึ่งนายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรกล่าวไว้ในหนังสือ “พระพุทธรูปศิลาขาว สมัยทวารวดี” ว่า พระพุทธรูปศิลาเนื้อหินขาว ๔ องค์ ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระเมรุจังหวัดนครปฐมนั้น ในสมัยอยุธยาตอนต้น ราวรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ หรือรัชกาลสมเด็จพระราเมศวรได้ขนย้ายกันมาประดิษฐานไว้ในวัดพระยากง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกือบครบ ๓ องค์ คงทิ้งไว้ที่เดิม ๑ องค์ กับชิ้นส่วนบางท่อน ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ได้นำองค์ที่คงอยู่ ณ ที่เดิมนั้นไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ กับในรัชกาลที่ ๕ ได้นำชิ้นส่วนที่เหลือไปจัดตั้งไว้ ณ ระเบียงพระปฐมเจดีย์ ส่วนที่นำไปไว้ในวัดพระยากงนั้น ต่อมาราว ๒๐ ปีมานี้ ได้มีผู้ศรัทธานำบางส่วนมาประกอบเป็นองค์ไว้ที่วัดขุนพรหม ส่วนที่ยังคงอยู่ที่วัดพระยากงก็มีคนใจร้ายทุบทำลายพระเศียร ๒ พระเศียร ให้แตกแยกจากกันเพื่อสะดวกแก่การขนย้าย แล้วนำมาขายไว้ ณ ร้านค้าของเก่าในเวิ้งนครเกษม และกรมศิลปากรได้นำมาคืนประกอบเข้า แล้วนำไปจัดตั้งแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาด้วยความร่วมมือของผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากรได้นำพระพุทธรูปองค์ที่วัดขุนพรหม กับชิ้นส่วนจากวัดพระยากง มาประกอบเต็มองค์โดยถูกส่วนสัดได้ ๓ องค์ จัดตั้งแสดงไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา องค์หนึ่ง ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หนึ่งองค์ และอีกองค์หนึ่งถวายพระนามว่า “พระพุทธนรเชษฐ์เศวตอัศมมัยมุนี ศรีทวารวดีปูชนียบพิตร” ซึ่งได้นำมาประดิษฐานไว้เป็นที่สักการะบูชา ณ ลานชั้นลดด้านทิศใต้ขององค์พระปฐมเจดีย์ เมื่อรวมองค์ที่ประดิษฐานอยู่แล้วในพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ด้วยกันก็เป็นครบสี่องค์








พระบรมฉายาทิสลักษ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ประดิษฐานที่ผนังพระวิหารหลวง วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม


พระอังคารพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,
พระอัฐสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดา
และ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี  
ประดิษฐานไว้ในฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 กันยายน 2558 17:55:04 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5774


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 05 ตุลาคม 2557 15:12:03 »

..


 เรื่องพระปฐมเจดีย์
ท่านเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ  บุนนาค)  
เรียบเรียงไว้แต่ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชดำริว่า ที่เมืองนครชัยศรี มีพระเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งเป็นพระเจดีย์ยอดปรางค์ตอนหนึ่ง ฐานล่างกลมเป็นรูประฆังตอนหนึ่ง พิเคราะห์ดูเห็นจะทำมาหลายคราว ราษฎรเรียกว่า พระปทม ด้วยความประสงค์ของคนทั้งหลายว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทมอยู่ที่นั้น แต่เห็นว่าจะไม่ถูกด้วยได้ทอดพระเนตรเห็นหนังสือเก่าๆ เห็นเขียนไว้ว่า พระปฐมเจดีย์

เมื่อแต่ก่อนยังไม่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้เสด็จไปนมัสการหลายครั้ง เป็นมหาเจดีย์ใหญ่กว่าพระเจดีย์ในประเทศไทยทุกๆ แห่ง สืบดูทั้งพระราชอาณาจักร ฝ่ายเหนือ ตั้งแต่เชียงแสน เชียงใหม่ ตลอดลงมาฝ่ายใต้ จนถึงเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองลาว เมืองเขมร ฝ่ายตะวันออก พระสถูปเจดีย์ ซึ่งจะโตใหญ่กว่าพระปฐมเจดีย์ไม่มี พิเคราะห์ดูเห็นจะเป็นของเก่ามาช้านาน ก่อนพระเจดีย์ในประเทศไทย จึงได้เรียกว่า พระปฐมเจดีย์

ทอดพระเนตรดูฝีมือทำอิฐและก่อ เห็นจะเป็นของทำแล้วเก่าแก่มาหลายครั้งหลายคราว ที่เนินใหญ่เป็นกองอิฐหักลงมา ได้ชัณสูตรขุดลงไปดูลึกสองศอกสามศอกบ้าง พบอิฐยาวศอกหนึ่งหน้าใหญ่สิบสองนิ้ว หน้าน้อยหกนิ้ว ก็เป็นพื้นอยู่ พิเคราะห์ดูเห็นว่าจะเป็นองค์พระปฐมเจดีย์เดิมจะหักพังลงมา มีผู้ศรัทธามาเกลี่ยอิฐให้เป็นเกาะขึ้น แล้วมาก่อเป็นพระเจดีย์กลมขึ้นอีกคราวหนึ่งเหมือนอย่างพระเจดีย์ในเกาะลังกา

ครั้นนานมา ยอดจะหักลงมาอีก จะมีผู้ศรัทธาปฏิสังขรณ์ขึ้นอีกคราวหนึ่ง จะเห็นว่าพระเจีย์ยอดแหลมจะไม่ถาวรมั่นคงจึงเกลี่ยที่ให้เสมอเพียงไหล่แล้วก่อองค์ปรางค์ต่อตั้งขึ้นไปแทนยอด ที่ริมขอบเว้นที่ก่อกำแพงแก้วไว้เห็นที่ทักษิณ ก่อบันไดลงมาถึงพื้นเนินเก่า พิเคราะห์ดูบันไดก่อทับองค์ระฆังเข้าไว้ เห็นจะเป็นของทำทีหลัง แต่วิหารอยู่ด้านตะวันออก บนเนินเรียงกันอยู่ทั้งสี่วิหาร วิหารพระนาคปรกวิหารหนึ่งอยู่ข้างทิศตะวันออกเฉียงใต้ถัดมาถึงวิหารพระไสยาสน์วิหารหนึ่ง วิหารไว้พระพุทธรูปต่างๆ วิหารหนึ่ง วิหารพระป่าเลไลย์ที่สุดด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแถวกันมา แล้วมีพระเจดีย์ย่อมๆ อีกหลายองค์ ไม่เป็นฝีมือในหลวงสร้าง เป็นฝีมือราษฎรชาวบ้านทำเล็กๆ ใหญ่ๆ เป็นของทำทีหลังแน่ทีเดียว ที่ของเดิมแท้ๆ วิหารหลวงพระอุโบสถอยู่ที่พื้นแผ่นดินวิหาร อยู่ตรงเก๋งจีนและพลับพลาทรงโปรยลงไป ด้วยเสาศิลาแลงมีปรากฏอยู่หลายต้น พระอุโบสถนั้นก็ตรงพระอุโบสถเดี๋ยวนี้ลงไป กุฏิสงฆ์อยู่หน้ากะเปาะข้างทิศใต้ด้วยได้เห็นของสำคัญหลายอย่างคือ สระน้ำและถนนอิฐปูเป็นพื้นที่ จอมปลวกใหญ่ก็รื้อได้พระพุทธรูปในนั้นยังปรากฏอยู่ วัดเดี๋ยวนี้ที่พระสงฆ์อยู่เป็นของย้ายมาทีหลัง

เมื่อแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่องค์พระปรางค์เห็นจะเป็นของหลวง ได้โปรดให้วัดองค์พระตั้งแต่แผ่นดินขึ้นไปถึงหลังเกาะสูงสี่วาบ้างห้าวาบ้าง ด้วยแผ่นดินไม่เสมอกัน ตั้งแต่หลังเกาะขึ้นไป เป็นองค์พระเจดีย์กลมสูงสิบสี่วาสองศอก องค์ปรางค์สูงยี่สิบวา ยอดนพศูลขึ้นไปแปดศอก รวมตั้งแต่หลังเกาะขึ้นไปตลอดยอดนพศูลคิดได้สี่สิบวาสองศอก

พระปฐมเจดีย์ นี้ จะมีกษัตริย์แต่โบราณตั้งเป็นเมืองหลวงอยู่ที่นั้น สร้างขึ้นก่อนพระเจดีย์ทั้งปวงในประเทศไทย จึงสืบได้ความในหนังสือเก่าๆ ว่า สร้างเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๕๖๙ ปีบ้าง สร้างเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑,๑๘๕ ปีบ้าง สร้างเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑,๒๖๔ ปีบ้าง สร้างเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑,๖๓๓ ปีบ้างไม่ถูกกัน มีกำหนดนับว่าสูงสี่สิบห้าวาศอก ว่าเป็นที่แท่นพระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทมอยู่ที่นั้นและได้บรรจุพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้วองค์หนึ่ง ครั้งหนึ่งบรรจุพระบรมธาตุอีกทะนานหนึ่ง อีกครั้งหนึ่งบรรจุพระบรมธาตุร้อยพระองค์ได้ความไม่ถูกกัน จะคิดเอาเป็นแน่ทีเดียวก็สงสัยอยู่ แต่เห็นว่าจะสร้างเมื่อครั้งกษัตริย์ศรีธรรมาโศกราชแจกพระบรมธาตุไปในประเทศทั้งปวงที่นับถือพระพุทธศาสนาเหมือนกัน ในครั้งนั้น พระพุทธศักราชล่วงได้ ๒๑๘ ปี ภายหลังเห็นว่าจะมีผู้สถาปนาเพิ่มเติม คงจะมีพระบรมธาตุบรรจุไว้เป็นแน่ไม่เป็นที่สงสัยเลย พระปฐมเจดีย์มีหนังสือเก่าๆ ว่า มีปรากฏก่อนที่คนได้พบพระพุทธบาท พระฉายกว่าพันปีไม่ควรที่จะทิ้งให้รกร้างอยู่ จึงได้ถวายพระพรแด่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบแล้วดำรัสว่าเป็นของอยู่ในป่ารก จะทำขึ้นก็เห็นไม่เป็นประโยชน์อันใดนัก ครั้นได้ทรงสดับพระกระแสว่าไม่โปรดแล้ว ก็ทรงพระจินตนาไว้ว่า จะทรงสถาปนาปฏิสังขรณ์ขึ้นไว้ให้จงได้

ก็ครั้งนี้ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ควรจะกระทำตามพระราชประสงค์ไว้แต่เดิม จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ช่างทหารใน ต่อตัวอย่างถวาย เป็นรูปพระเจดีย์กลมฐานทักษิณไม่มี ก่อเป็นหน้ากระดานและช่องกระจกขึ้นไปจนถึงบัวถลา แล้วชักลูกแก้วเข้าไปทั้งสามชั้น จึงตั้งบัวกลมปากระฆัง ตัวอย่างพระเจดีย์ตามรูปเดิมเสร็จแล้ว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ คือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ เป็นแม่กองเจ้าของการให้ พระศรีสมบัติ หลวงพิทักษ์โยธา หลวงนราเรืองเดช เจ้ากรมไพล่หลวงอาสาใหม่ หลวงโยธาไพจิตร ช่างทหารใน ออกไปเป็นนายงานทำ ได้ลงมือถางต้นไม้บนองค์พระ และถางที่ ขุดคลอง

ครั้นมาถึงวันอังคาร เดือนยี่ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช ๑๒๑๕ ปี เพลายามเศษ เห็นที่องค์พระปรางค์เป็นดวงกลมออกจากซุ้มคูหาฝ่ายอุดรทิศ ดวงโตเท่าผลส้มเกลี้ยง มีรัศมีสว่างขึ้นไปเบื้องบนถึงยอดนพศูล เบื้องต่ำถึงชั้นทักษิณเดิมแล้วก็หายไป ได้จัดการทำมาได้ปีเศษ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ให้ซื้อเอาอิฐ มีผู้มารื้อขายที่วัดเก่าๆ บ้าง และให้ทำขึ้นบ้าง ก่อฐานขึ้นไปได้แปดศอก

ครั้นมาถึง ณ วันเดือนหก ขึ้น ๑๐ ค่ำ ปีเถาะ สัปตศก สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ถึงแก่พิราลัย จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยารวิวงศ์ ซึ่งแปลงชื่อมาเป็น เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี เป็นแม่กองเจ้าของการทำต่อไป จึงพระราชทานเมืองนครชัยศรี ซึ่งขึ้นกรมมหาดไทย มาขึ้นกรมท่าด้วย

เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ จึงได้เกลี้ยกล่อมพวกรามัญมารับจ้างทำอิฐบ้าง ที่เป็นทาสลูกหนี้ผู้มีชื่อ ก็ช่วยมาให้ทำอิฐ หลายสิบครั้งรับจ้างคิดหักค่าตัวให้ได้จ้างจีนเผาปูนและจีนก่อขึ้นไป จึงให้ พระสุธรรมไมตรี เป็นกงสีจ่ายเงินค่าจ้างแรงจีนและค่าจ้างมอญทำอิฐ แลดูการเบ็ดเสร็จทั่วไป ให้ พระศรีธรรมสาสน์ เป็นผู้ช่วยซื้อของส่ง นายงานเก่า พระศรีสมบัติก็เลื่อนไปที่ พระยาศรีสรราช หลวงพิทักษ์โยธา หลวงนราเรืองเดช เป็นเจ้ากรมไพร่หลวง ราชการมีมากให้กลับเข้ามารับราชการเสียในกรุง จึงตั้งนายงานใหญ่ ขุนหมื่นในกรมท่าหมื่นบำรุงเจดีย์ หนึ่ง หมื่นชำนาญชลธี หนึ่ง ทหารปืน หลวงศักดาเดช เจ้ากรมขุนยงสงคราม ปลัดกรม และขุนหมื่น เป็นนายงานรองบ้าง เป็นเสมียนบ้าง อีกสามสิบนายได้สร้างพระเจดีย์เล็กๆ ไว้บนยอดเขาคนละองค์มีชื่อปรากฏอยู่ในฐานพระเจดีย์นั้นแล้ว ได้ช่วยกันคุมคนหัวเมือง เมืองนครชัยศรี เมืองสมุทรสงคราม เมืองสมุทรสาคร เมืองราชบุรี เมืองพนัสนิคมมีจำนวนคนผลัดเปลี่ยนเป็นสี่ปลัด ได้เดือนละสองร้อย ก่อขึ้นไปได้สูงสิบวา

ครั้น ณ วันอังคาร เดือน ๕ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีมะเมีย สัมฤทธิศก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จโดยพยุหยาตราทางชลมารค มาขึ้นที่วัดชัยพฤกษมาลา ด้วยครั้งนั้น คลองมหาสวัสดิ์ คลองเจดีย์บูชา ขุดยังไม่แล้ว แล้วเสด็จทางสถลมารค ไปประทับแรมที่พลับพลาท่าหวด ราตรีหนึ่ง ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เสด็จทางชลมารคด้วยเรือกระบวน ขึ้นที่ปากคลองเจดีย์บูชาแล้วเสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค ประทับพลับพลาค่ายหลวง จึงโปรดให้กระทำเครื่องสักการะบูชาต่างๆ เป็นอันมาก ครั้นเวลาบ่ายห้าโมงเศษ เสด็จขึ้นประทับพลับพลาบนเนินฐานพระปฐมเจดีย์ ฟังพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทักษิณรอบหนึ่ง แล้วทรงจุดดอกไม้เพลิงกระทำสักการะบูชา พอจุดฝักแคก็เห็นดวงย้อยออกมาตามซุ้มคูหาข้างบุรพทิศ รัศมีขาวตกลงมา หายไปที่หลังวิหารพระไสยาสน์เก่าซึ่งอยู่ที่วิหารหลวงเดี๋ยวนี้ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการที่เฝ้าอยู่บนนั้น ได้เห็นก็เป็นอันมาก คนจำพวกที่อยู่ไกลได้เห็นก็ว่า ดวงดาวตกใกล้จนถึงลานพระบ้าง ถึงหลังพระราชวังบ้าง ที่อยู่ใกล้ก็เห็นตกไกลออกไป ที่อยู่ไกลก็เห็นตกใกล้เข้ามาเสมอเพียงตัวอยู่ก็เป็นการอัศจรรย์อย่างหนึ่ง ครั้น ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๑๑ ค่ำ มีการสมโภชต่างๆ และมีละครผู้หญิงข้างใน และเวียนเทียนด้วย แล้วพระราชทานเงินพระคลังเดิม เป็นส่วนพระราชกุศลอีกสามสิบชั่ง พระราชทานแก่คนทำการแล้วทรงโปรยทานแจกราษฎรที่มาเชยชมพระบารมี อยู่ที่ทางเสด็จพระราชดำเนินสิ้นพระราชทรัพย์เป็นอันมาก

ฝ่ายพระบรมวงศาข้าราชการ มีจิตเลื่อมใสศรัทธาบริจาคทรัพย์เข้าในส่วนพระราชกุศล ตามศรัทธาแทบทุกคน แล้วโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เรียกว่า พระปฐมเจดีย์ ตามหนังสือเก่าๆ ด้วยทรงเห็นว่าพระเจดีย์นี้มีขึ้นก่อนพระเจดีย์ในประเทศไทย แล้วทรงพระราชอุทิศยกคนบ้านพระปฐมเจดีย์ ชายฉกรรจ์ถวายเป็นข้าพระร้อยยี่สิบหกคน ตั้งเจ้ากรมเป็นที่ ขุนพุทธเกษตรานุรักษ์ ตั้งปลัดกรมเป็น ขุนพุทธจักรรักษา หมื่นถานาธิบาล สมุห์บัญชี ยกค่านาและสมพักศรที่ใกล้องค์พระเป็นกัลปนาขึ้นวัด บางปีก็ได้ค่านาสามชั่งบ้าง สองชั่งเศษบ้าง สามพักศรบางปีก็ได้ชั่งสิบตำลึงบ้าง สองชั่งบ้าง ทรงถวายนิตยภัตด้วย แล้วก็เสด็จพระราชดำเนินกลับพระนคร

ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน ๖ ขึ้น ๕ ค่ำ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินออกไปทอดพระเนตรพระปฐมเจดีย์ ครั้น ณ วันอังคาร เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ได้ตั้งการสวดพระพุทธมนต์ ทรงจุดดอกไม้เพลิงกระทำสักการะบูชา ครั้นรุ่งขึ้นก็มีการสมโภช แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระแท่นดงรังแล้วเสด็จกลับพระนคร ได้ก่อขึ้นไปอีกสูงเจ็ดวาสองศอก รวมเป็นสิบเจ็ดวาสองศอก ครั้นมาถึงปีวอกโทศก เดือน ๘ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลากลางคืนได้ยินเสียงร้องไห้เซ็งแซ่ในที่องค์พระ จนชาวบ้านตกใจ ครั้งรุ่งขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ฝนตกหนักทั้งกลางวันกลางคืน อิฐที่ก่อนั้นหนักตัวก็เลื่อนทรุดลงมารอบตัว เพราะฐานทักษิณไม่มี ข้างบนหนัก ข้างล่างบางเพียงสามศอกสี่ศอกทรงกันไว้ไม่อยู่ต้องรื้อออกเสียทำใหม่ จึงโปรดให้ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังสีสุริยพันธุ์ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุติ ซึ่งสถิตอยู่วัดบวรนิเวศน์พระองค์หนึ่ง กรมขุนราชสีหวิกรม พระองค์หนึ่ง คิดตัวอย่างถวายแล้วทรงแนะนำตัวอย่างแล้วโปรดให้ถมพื้นที่ลุ่มดอนขึ้นมาให้เป็นเสมอกัน ไขส่วนสูง วัดด้วยวาทองธารพระกร ตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปเสมอพื้นหน้าพระระเบียงกลม สูงสี่วาสองศอกบ้างห้าวาบ้าง แต่พื้นหน้าพระระเบียงขึ้นไปถึงทักษิณที่หนึ่ง สูงหกศอกคืบสองนิ้วตั้งแต่พื้นทักษิณที่หนึ่งขึ้นไปถึงฐานบัวคว่ำ สูงแปดศอกคืบ ตั้งแต่ทักษิณที่สองขึ้นไปถึงปากระฆัง สูงเก้าวาคืบนิ้ว องค์ระฆัง สูงสิบสี่วาสี่นิ้ว บัลลังก์ สูงสามวาคืบหกนิ้วตั้งแต่บัลลังก์ถึงฝาละมี สูงห้าวาคืบสิบเอ็ดนิ้ว ปล้องไฉนยี่สิบเจ็ดปล้องสูงสิบห้าวาสองศอกคืบห้านิ้ว บัลลังก์บัวแวง สูงสามวาคืบหกนิ้ว ฐานทองเหลืองสูงสองศอกคืบสองนิ้ว ยอดนพศูลขึ้นไปตลอดยอดมงกุฎสูงสามวานิ้ว คิดรวมตั้งแต่พื้นดินขึ้นไปตลอดยอดมงกุฏคิดได้เป็นสามเส้นคืบหกนิ้ว ก่อฐานใหญ่รอบห้าเส้นสิบหกวาสามศอก ทักษิณที่หนึ่งก่อออกมากว้างห้าวา ตั้งแต่ลูกแก้วหลัวบัวถลาขึ้นไปก่อกว้างสี่วาบ้าง สี่วาเศษบ้าง ตลอดถึงทักษิณที่องค์ปรางค์ตั้งอยู่ก่อกว้างเจ็ดวาบ้าง เจ็ดวาสองศอกบ้าง ลดเข้าไปทุกทีจนกระทั่งที่ตั้งเวที ที่นั้นกว้างสามวาที่ปล้องไฉนนั้นกว้างห้าศอกจนตลอดยอดปรางค์ ฐานล่างถ้าจะชักเป็นสี่เหลี่ยมด้านหนึ่งยาวสองเส้นเจ็ดวา เท่ากับฐานกระเปาะทำไว้ทั้งสี่ด้าน ครั้นตัวอย่างตกลงแล้ว พระฤกษ์เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๒๒ ปีวอก โทศก จะได้ก่อพระฤกษ์ จึงรับสั่งว่ามีราชการอยู่ที่ในกรุงเสด็จออกไปไม่ได้ จึงโปรดให้ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์พรหมจรรย์ธรรมวรยุติ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ออกไปก่อพระฤกษ์ องค์พระปฐมเจดีย์นั้นก่อขึ้นแล้ว ที่ชั้นทักษิณที่หนึ่ง ปักเสานางเรียงรอบองค์ แล้วมีเสาปักเป็นเขาทรายค้ำเสานางเรียงด้วย ชั้นทักษิณที่สองมีแต่เขาทรายค้ำ ไม่มีเสานางเรียงที่ตรงบัวถลาแห่งหนึ่ง รัดตั้งแต่ท้องไม้ลูกแก้ว ถึงบัวคลุมถูกปากระฆังอีกห้าชั้นที่กลางองค์ระฆังมีเสานางเรียงรัดสายโซ่อีกสามรอบ ที่คอถลามีเสานางเรียงตีนเสาเชิงเรียงนั้นใส่ปลอกไม้ซากชั้นหนึ่ง แล้วรัดสายโซ่อีกห้ารอบ ปลายเสานั้นเอาไม้ซากสิบนิ้วสี่เหลี่ยม สับปากกันเป็นปลอกปลายเสาอีกชั้นหนึ่ง ลูกแก้วปล้องไฉน หลังฝาละมีรัดสายโซ่ที่ท้องไม้อีกแปดรอบ แล้วก่ออิฐถือปูนหุ้มการที่ทำในบริเวณองค์พระนั้น ได้ก่อวิหารไว้สี่ทิศ ประดิษฐานรูปพระปฏิมากรทั้งสี่บ้าง วิหารใหญ่ข้างทิศบูรพานั้น ห้องนอกไว้พระพุทธรูปมารวิชัยได้ตรัสห้องในไว้พระแท่นที่นมัสการ มุขหน้าไว้พระพุทธรูปฉลองพระองค์ วิหารทิศทักษิณห้องนอกไว้พระเทศนาธรรมจักรโปรดปัญจวัคคีย์ ห้องหลังไว้พระนาคปรกซึ่งเป็นของเดิม  มุขหลังไว้รูปพระยาพาน ทิศประจิมนั้นทำวิหารพระพุทธไสยาสน์ใช้ของเก่าหลังหนึ่ง พระพุทธไสยาสน์เดิมยาวสี่วา องค์ใหม่ยาวแปดวาสองศอก วิหารห้องเบื้องหลังไว้พระนิพพานพระองค์หนึ่ง วิหารทิศอุดรนั้น ห้องนอกไว้พระประสูติ ห้องเบื้องหลังไว้พระป่าเลไลย์ ซึ่งเป็นของเดิม มุขหลังไว้พระรูปพระยากง แล้วชักระเบียงกลมล้อมรอบถึงกันทั้งสี่ด้าน จดจารึกกถาธรรมยกไว้ทุกห้อง รอบนอกนั้น ก่อหอระฆังรายรอบไปชั้นหนึ่ง ชั้นล่างก่อกำแพงถมดินกระเปาะขึ้นมาทั้งสี่ทิศ บนกระเปาะด้านข้างตะวันออก ทำโรงธรรมข้างหนึ่ง ประดิษฐานพระคันธารราฐ ซึ่งได้มาแต่วัดทุ่งพระเมรุด้านใต้ บนกระเปาะจำลองรูปพระปฐมเจดีย์เดิมไว้ข้างตะวันออก องค์หนึ่งสูงเก้าวาคืบ ยอดนพศูลศอกคืบสองนิ้ว ต่ำกว่าองค์เดิมอยู่ยี่สิบหกวาศอกสองนิ้ว ข้างตะวันนั้น ได้จำลองรูปพระเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราชที่เรียกว่า พระบรมธาตุใหญ่ศักดิ์สิทธิ์ ทำขึ้นไว้เดิมของท่านสูงสามสิบเจ็ดวาสองศอกตลอดยอดพุ่ม จำลองใหม่สูงสิบวาสองศอกคืบ ยอดนพศูลสามศอกนิ้วกึ่ง ต่ำกว่าองค์เดิมยี่สิบหกวาคืบนิ้วกึ่ง เพื่อให้สัปบุรุษเห็นจะได้ส่งใจไปนมัสการพระธาตุเมืองนคร กระเปาะด้านตะวันตกนั้น ชั้นบนได้ประดิษฐานพระมหาโพธิเมื่อครั้ง พระอาจารย์ดี พระอาจารย์เทพ ออกไปเกาะลังกาได้เข้ามา ชั้นช่างประดิษฐานไม้สำคัญที่ควรจะกระทำสักการะบูชาเป็นที่ระลึก คือ ไม้อัชปาลนิโครธ แปลว่าไม้ไทร ที่พระพุทธเจ้าฉันมธุปายาส ได้ตรัสแล้วเสด็จไปเสวยวิมุติสุขอยู่ที่นั้นอีกคราวหนึ่งถึงเจ็ดวัน แล้วเสด็จไปอาศัยอยู่ใต้ร่มไม้มุจลินท์ คือไม้จิก คราวนั้นฝนตกหนักพระยานาคขึ้นมาทำกายวงล้อมพระพุทธเจ้า แล้วเลิกพังพานปกเบื้องบน ฝนก็ไม่รั่วน้ำก็ไม่ท่วมเข้าไปได้ พระองค์อยู่ใต้ร่มไม้จิกเจ็ดวันแล้วเสด็จมาประทับอยู่ใต้ร่มไม้ราชายตนะ คือไม้เกตุ ครั้งนั้นได้รับสตูก้อนสตูผง ของนายตปุสสภัลลิกะพ่อค้าเกวียน ตั้งแต่ได้ตรัสสี่สิบแปดวัน มาเสวยพระกระยาหารในวันที่สี่สิบเก้า และ ไม้พหูปุตตนิโครธ คือไม้กร่างที่พระองค์ได้พบพระมหากัสสปในร่มไม้นั้น สาลุรุกโข คือไม้รัง เป็นที่พระองค์ได้ประสูติในร่มไม้นั้นอย่างหนึ่ง ปรินิพพานในใต้ต้นรังอย่างหนึ่ง เป็นสองอย่างด้วยกัน ไม้ชมพู คือไม้หว้า เมื่อพระองค์ยังเยาว์อยู่ ตามเสด็จพระราชบิดาไปแรกนาขวัญ ได้ประทับอยู่ในร่มไม้นั้น ก็ได้พิจารณากรรมฐานถึงปฐมฌาน เป็นปฐมที่หนึ่ง ครั้งนั้นเกิดอัศจรรย์หลายอย่างจนแผ่นดินไหว เงาไม้ก็มิได้ย้ายไปตามพระอาทิตย์ ไม้อัมพวา คือไม้มะม่วง ที่พระองค์ได้กระทำยมกปาฏิหาริย์ในยอดไม้มะม่วงนั้น ไม้ที่พรรณนามานี้ก็คล้ายๆ กันกับไม้พระศรีมหาโพธิ เรียกว่า สัตตมหาสถาน จึงเอามาประดิษฐานไว้เป็นที่ระลึกด้วย กระเปาะข้างทิศเหนือนั้นก็ทำเป็นคลังหลังหนึ่ง โรงประโคมหลังหนึ่ง ระหว่างกระเปาะทำเป็นภูเขาไว้ทั้งสี่ทิศ หน้าภูเขาออกมามีรั้วเหล็กล้อมชั้นหนึ่ง หน้ารั้วเหล็กออกมาทำเป็นฐานพระมหาโพธิทั้งสี่ทิศ ได้ผลมาแต่เมืองพุทธคยาบุรี ว่าเป็นหน่อเดิมที่พระได้ตรัส พระมหาโพธิต้นนั้นมีพระระเบียงล้อมถึงเจ็ดชั้น พวกพราหมณ์หวงแหนอยู่แน่นหนา เจ้าเมืองอังกฤษจึงได้ไปขอเอาผลและใบถวายเข้ามาทรงเพาะได้งอกงามดี ประทานให้ไปปลูกที่วัดหลวงทุกวัด หน้าชานพระมหาโพธิออกมาชักกำแพงปีกกามีหลังคา พอคนอาศัยได้บรรจงกระเปาะออกมาทั้งสี่ทิศ มีมุมมีหอกลองหลังหนึ่ง หอระฆังหลังหนึ่งสลับกันทั้งสี่มุมคิดจะมิให้ของโบราณเสื่อมสูญไปเที่ยวเก็บศิลาใหญ่อยู่ในป่าในรกเอาไว้ให้ดูทุกสิ่ง แล้วตั้งพระราชาคณะไปอยู่ชื่อ พระสนิทสมณาาคุณ พระครูชื่อ พระปฐมเจติยานุรักษ์ เสด็จพระราชดำเนินออกไปครั้งไร ก็ทรงพระราชดำริแนะนำให้กระทำทุกครั้ง แล้วมีพระราชอุตสาหะ ทรงอิฐแผ่นหนึ่งบ้างสองแผ่นบ้าง เสด็จพระราชดำเนินไปทางสะพานนั่งร้านทรงก่อทุกครั้ง แล้วเปลื้องพระภูษาทรงสพักขึ้นทำธงบูชาที่ก่อนั้นด้วย จนองค์พระสูงขึ้นไปถึงปล้องไฉนชั้นที่ห้า และเมื่อพระยังไม่พังนั้น เมื่อปีมะโรง อัฐศก วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๒ ค่ำ เห็นที่องค์พระปรางค์เป็นดวงช่วงออกมาทางซุ้มคูหาทิศเหนืออีก คราวหนึ่ง

ครั้นมาถึงวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น ๗ ค่ำ เห็นรัศมีส่องไปทางองค์พระปรางค์ เหมือนแสดงดอกไม้เทียนจับอยู่ที่องค์พระได้เห็นด้วยกันมาก ในเดือนอ้าย ปีมะโรง อัฐศก เห็นอัศจรรย์สองครั้ง การที่ปาฏิหาริย์นั้นมีทุกปี ปีละสองครั้งบ้าง สามครั้งบ้าง ถ้าสมโภชเวียนเทียนเมื่อใด ก็เป็นทุกคราว และที่ปฐมเจดีย์มีเหตุอัศจรรย์หลายอย่าง คือที่องค์พระปรางค์ บางทีเดือนมืดก็บังเกิดเป็นรัศมีเหมือนบุคคลเอาผ้าขาวเข้าไปหุ้มไว้ แล้วก็หายไปทีละน้อยๆ แล้วก็สว่างขึ้นทีละน้อยๆ จนเต็มกำลัง และเห็นขึ้นไปตลอดยอดนพศูล บางทีก็สว่างซีกหนึ่ง บางทีสว่างข้างล่างมืดข้างบน แล้วสว่างข้างบนมืดข้างล่าง เมื่อจะสว่างนั้นก็เป็นรัศมีเรืองขึ้นทีละน้อยๆ สว่างเต็มกำลังตลอดจนนพศูล แล้วมีรัศมีโรยอ่อนลงมาทีละน้อยๆ จนมืดไปทั้งองค์พระปรางค์ แล้วก็ค่อยมีรัศมีเรืองๆ ขึ้นมาอีกดังกล่าวมาแล้ว เป็นอยู่สองทุ่มสามทุ่มบ้างแล้วจึงหายไปทีเดียว บางทีก็เห็นเป็นดวงติดอยู่ปลายยอดนพศูลมีรัศมีแดงเหลืองเขียว สีต่างๆ ค่อยๆ เลื่อนลงมาทีละน้อย หายไปในช่องคูหา บางทีดูที่องค์พระปรางค์มืดเป็นปกติ แต่ขอบริมนั้นมีรัศมีขาวสว่างรุ่งเรืองขึ้นไปตลอดยอด บางทีก็ได้ยินเสียงโห่ร้อง ครั้นขึ้นไปชัณสูตรดูก็ไม่เห็นผู้ใด บางทีก็ได้ยินเสียงฆ้องชัยเหมือนบุคคลตีอยู่ในองค์ พระเจดีย์ บางทีใช่เวลาสัปบุรุษขึ้นนมัสการ พวกทำงานก็ได้กลิ่นธูปเทียน หอมตระหลบไป บางจำพวกมิอาจที่จะขึ้นไปบนทักษิณได้ ก็นั่งกราบไหว้อยู่แต่พื้นดิน ครั้นถามก็ว่า นมัสการที่นี้ก็ได้บุญเหมือนกัน คนผู้นั้นจะกลัวบาปว่าพระบรมธาตุอยู่ข้างล่าง หรือจะกลัวอย่างไรก็ไม่รู้จักน้ำใจเขา และการที่กล่าวด้วยอัศจรรย์องค์พระ ปีหนึ่งก็เป็นหลายครั้งหลายคราวทุกปี จะว่าด้วยอำนาจพระพุทธเจ้าหรือพระบรมสารีริกาติ หรือจะว่าอำนาจเทพยดา หรือวจะว่าไฟฟ้าดินขึ้นกินกัน ก็สุดแล้วแต่ปัญญาท่านผู้ใดจะคิดเห็น การที่กล่าวมานี้ก็เป็นความจริง มีพยานโดยมาก

และปีฉลู สัปตกศก เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานผ้ากฐินแล้ว ประทับอยู่สองราตรี ก็ได้ทอดพระเนตรเห็นปาฏิหาริย์ในที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการได้เห็นด้วยกันมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระปีติโสมนัสรับสั่งว่าเหมือนผีหลอกไม่รู้ที่จะว่าอย่างไรได้ เห็นจะเป็นไฟธาตุกินอยู่ในอิฐปูน ถูกน้ำฝนเข้าก็เกิดเป็นรัศมีขึ้น มีรับสั่งดังนี้ เพื่อจะมิให้คนที่ไม่ถือศาสนาพากันติเตียนได้แต่ทองทศทองพิศมีอยู่ในฉลองพระองค์เท่าใดก็เทออกพระราชทานให้เป็นส่วนพระราชกุศลจนสิ้น

ยังปาฏิหาริย์อีกอย่างหนึ่ง พวกชาวยุโรปออกไปเที่ยวดูหลายพวกหลายเหล่า บางพวกก็มีศรัทธาแบกอิฐขึ้นไปก่อ แล้วก็นั่งกราบไหว้ บางพวกก็รู้ว่ากาไหล่ยอดนพศูล ก็เอาทองมาเข้าด้วย ได้ทองสี่ตำลึงกึ่งบ้าง บางพวกแจ้งว่าต้องการสายโซ่รัดองค์พระ ไปถามซื้อก็พลอยยินดีให้เปล่าๆ และโต๊ะบ้าง หญิงบ้าง พวกแขกพากันไปนมัสการก็มีบ้าง ครั้นไถ่ถามว่าพวกแขกมานับถือดังนี้ไม่กลัวบาปหรือ เขาตอบว่า เป็นที่พระเจ้าแท้แก่ของเขาที่ล่วงไปนานแล้วเสด็จมาบรรทมอยู่ที่นี้ คนโบราณจึงก่อพระเจดีย์ทับไว้ กราบไหว้ที่พระพุทธเจ้าบรรทมต่างหาก จะมีบาปมาแต่ไหนซึ่งการเป็นดังนี้ เป็นอัศจรรย์ จึงต้องกล่าวไว้ บางพวกที่ออกปากว่าไปเที่ยวเล่นที่พระปฐมเจดีย์เป็นที่สนุกคนผู้นั้นก็ไม่เห็นองค์พระเจดีย์ เห็นแต่วัดและวังและสถานที่อื่นๆ ที่องค์พระนั้น เห็นเป็นป่าไผ่ไปหมด เป็นดังนี้ก็มีบ้าง ภายหลังการปาฏิหาริย์มีเนืองๆ ขึ้น จึงมีผู้กล่าวคำว่า พระปฐมเจดีย์ มีรัศมีสว่างเพราะด้วยธาตุไฟกินอยู่ในปูนจึงเป็นเช่นนี้ ด้วยตำราฝรั่งเขาเขียนว่า ฝาสุภเรศ (คงจะหมายถึงฟอสฟอรัส) เป็นของมีรัศมี ไม่เป็นพระบรมธาตุปาฏิหาริย์ดอก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ กรมหมื่นอลงกฏกิจปรีชา พระยาอนุชิตชาญไชย พระวิสูตรโยธามาตย์ เอาเครื่องมือทำฝาสุภเรศและต้นดอกไม้เทียน ดอกไม้ตาด ออกไปชัณสูตร ก็ว่าธาตุไฟเกิดขึ้นเองดอก ไม่ใช่พระปาฏิหาริย์ ครั้นตกลงกันดังนั้นแล้ว เจ้าหญิงและหม่อมห้ามในกรมหมื่นอลงกฏบุตรภรรยาพระยาอนุชิตพากันไปเที่ยวข้างหลังพระกับบ่าวไพร่มีแมลงผึ้งจำพวกหนึ่งมาต่อยเอา จนถึงแก่ถอดเสื้อและผ้าวิ่งหนีบ้าง ทั้งนายและบ่าว ดูน่าสังเวชนัก ต่อแมลงผึ้งหายไปหมดแล้วมีผู้เอาผ้าไปส่งให้ จึงได้นุ่งห่มกลับมาเรือ ผึ้งต่อยครั้งนั้นยับเยินวิ่งหนีจนศีรษะกระทบไม้แตกก็มี ที่วิ่งหนีไปถูกขวากในไร่จีนก็มี ที่วิ่งเข้าไปซ่อนอยู่ในโรงเจ๊กก็มี ครั้นจะกลับมาก็กลัวผึ้ง จึงรออยู่จนพลบค่ำจึงกลับมาได้ในขณะนั้น ได้ให้ไปชัณสูตรดู ไม่เห็นแมลงผึ้งอยู่ที่ไหน ตั้งแต่ทำมาได้สิบปีแล้วก็ไม่มีผึ้งที่ไหนทำร้ายผู้ใด ตั้งแต่พากันว่ากล่าวดังนั้นแล้ว ที่องค์พระก็ไม่เห็นมีการอัศจรรย์สิ่งไรอีกเลย

แล้วโปรดให้สร้างพระราชวังที่ประทับไว้คู่กันกับวัดชื่อว่า วังปฐมนคร เพราะเหตุด้วยที่เมืองนั้นแต่โบราณเป็นเมืองหลวงของชาวไทยมาแต่เดิม ชื่อว่า เมืองนครชัยสิน สังเกตได้ที่พระเจดีย์ใหญ่ยังปรากฏอยู่ในป่าเป็นหลายตำบลแล้วที่วัดสังเกตได้ ติดเนื่องกันไปไม่ขาดระยะ ยิ่งกว่ากรุงเก่า  ที่วังเดิมนั้น อยู่ข้างตะวันตกพระปฐมเจดีย์ ห่างประมาณสามสิบเส้นมีฐานปราสาท  และท้องพระโรง โบสถ์พราหมณ์ สระน้ำ กำแพงชั้นใน กำแพงชั้นนอก ก็ยังปรากฏอยู่บ้าง แต่เดี๋ยวนี้พวกจีนไปตั้งทำไร่รื้อทลายที่ส่ำเสียเป็นอันมาก และคลองซึ่งขุดตั้งแต่ทำนาเข้าไปถึงท่าวัง เลยไปจนถึงวัดพระงาม กว้างห้าวาบ้าง กว้างหกวาบ้าง เจ็ดวาบ้าง แปดวาบ้าง แยกเป็นสายขึ้นสองสายยาวสี่ร้อยสี่สิบแปดเส้น ลึกห้าศอกบ้าง หกศอกบ้าง เจ็ดศอกบ้าง แปดศอกบ้าง เป็นแห่งๆ ตามที่สูงและที่ต่ำ คิดค่าขุดคลอง เงินหกร้อยเจ็ดชั่งสิบเอ็ดตำลึง สองบาทสองสลึงเฟื้อง ค่าขุดตอไม้เงินร้อยสิบสามชั่ง สามตำลึงสองบาทสลึงเฟื้อง ค่าเกลี่ยดิน เงินสิบชั่งสี่ตำลึง ค่าแก้คลองคดให้ตรง ห้าสิบสามชั่งตำลึงสองบาทสลึงเฟื้อง รวมเป็นเงินแปดร้อยสี่ชั่งสิบตำลึงสามบาทสองสลึง ประทานชื่อคลองเจดีย์บูชา แล้วตัดทางทำถนนขึ้นอีกสายหนึ่งไว้เผื่อเสด็จฤดูแล้ง ตั้งแต่ช่องสเดาถึงวัง เป็นทางร้อยห้าสิบเส้น ค่าแรงจีนถม กว้างสี่วาสูงศอกหนึ่ง สองศอก สามศอกบ้าง ตามที่ลุ่มและที่ดอนรวมเงินยี่สิบแปดชั่งห้าตำลึงสองบาทเฟื้อง และการที่สร้างพระปฐมเจดีย์และพระราชวังนั้น บริจาคพระราชทรัพย์คำปูน ค่าทราย ค่าอิฐ ค่าแรงจีนธารณะเจ้านายข้าราชการ ราษฎร ทองกาไหล่ยอดนพศูล สิ้นไปเท่าใดยังมิได้คิดบัญชีด้วยการยังไม่เสร็จต่อเมื่อการเสร็จจะมีแจ้งจารึกไว้ในแผ่นศิลาต่อไปภายหน้าฯ


ข้อมูล : หนังสือ ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
ฉบับ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
       - พระยามหาอรรคนิกร และฉบับนายทอง
       - พระยาราชสัมภารากร และฉบับตาปะขาวรอต
เจ้าของ พระธรรมปริยัติ เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
วัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ และอนุรักษ์เรื่องราวความเป็นมาต่างๆ ในอดีตของพระปฐมเจดีย์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 กันยายน 2558 17:56:37 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5774


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 05 ตุลาคม 2557 15:24:38 »

.
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/8f/Phra-Pathom-Chedi_Thailand.jpg
พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม กับ "เรื่อง พระปฐมเจดีย" (รวม ๓ ตำนาน)

ภาพถ่ายเก่าองค์พระปฐมเจดีย์ในปี พ.ศ. ๒๔๖๘
ภาพจาก วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี

ตำนานพระปฐมเจดีย์
ฉบับพระยามหาอรรคนิกร และฉบับนายทอง

ได้ค้นหาเรื่องพระปฐมเจดีย์ และเรื่องพระประโทณเจดีย์ ได้ความในหนังสือพงศาวดารเมืองเหนือได้ที่พระยามหาอรรคนิกร ฉบับที่ ๑ ได้ที่นายทอง ฉบับ ๑ รวม ๒ ฉบับ มีความคล้ายคลึงกัน จึงเก็บเอาความรวมเป็นฉบับเดียวกันเข้าไว้เพื่อจะให้สัปบุรุษทั้งหลายรู้ความบุราณ จะเท็จจริงประการใด ข้าพเจ้าผู้ได้จดหมายนี้ตัดสินไม่ได้ ยังมีตำนานนิทานว่าไว้สืบๆ กันมา แต่ก่อนพระนครไชยศรียังมิได้ตั้งเมือง มีตำบลบ้านพราหมณ์อยู่ เรียกว่าบ้านโทณะพราหมณ์ ซึ่งเอาโทณะ คือ ทะนานทอง ที่ตวงพระบรมธาตุพระพุทธเจ้า มาบรรจุไว้ในเรือนหินนั้นแล ว่าเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑,๑๓๓ พรรษา

ครั้นอยู่มายังมีพระยาองค์หนึ่ง ชื่อ ท้าวศรีสิทธิไชย พรหมเทพ มาแต่เมืองมโนหัน ต่อเมืองยศโสธร ท้าวเธอจึงมาสร้างเมืองนครไชยศรีขึ้นเป็นเมืองใหญ่ และอยู่มาเจ้าเมืองลังกาจะใคร่ได้หน่วยโทณะ อันตวงพระธาตุของสมเด็จพระพุทธเจ้านั้น มาไว้ในลังกาทวีป เธอจึงไปหาพระยากัลยาดิศเถรเจ้า จึงว่าข้าพเจ้าจะขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าไปว่ากล่าวด้วยพระเจ้าเมืองนครไชยศรี ขอเอาโทณะที่ตวงพระบรมธาตุมาไว้ในเมืองลังกานี้เถิด และชาวเมืองลังกาทั้งปวงจะได้นมัสการไปเบื้องหน้าแล

ดับนั้น พระมหากัลยาดิศเถร ก็รับอาราธนา แล้วเธอก็มาแต่ลังกาทวีปถึงพอจวนค่ำ เธอก็เข้าอาศัยอยู่ในอารามแห่งหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นเพลาเช้า พระกัลยาดิศเถรเจ้าก็ไปบิณฑบาต ทำภุตตากิจเสร็จแล้วก็เข้าไปหาพระเจ้าศรีสิทธิไชยๆ ก็นิมนต์ให้นั่งที่สถานบังควรแห่งหนึ่ง

ดับนั้น พระมหากัลยาดิศเถร ก็รับอาราธนา แล้วเธอก็มาแต่ลังกาทวีปถึงพอจวนค่ำ เธอก็เข้าอาศัยอยู่ในอารามแห่งหนึ่ง ครั้นรุ่งขึ้นเพลงเช้า พระกัลยาดิศเถรเจ้าก็ไปบิณฑบาต ทำภุตตากิจเสร็จแล้วก็เข้าไปหาพระเจ้าศรีสิทธิไชยๆ ก็นิมนต์ให้นั่งที่สถานบังควรแห่งหนึ่ง

ดับนั้น พระยานมัสการแล้ว ถามว่า พระผู้เป็นเจ้ามาแต่อารามใด พระกัลยาดิศเถรเจ้าก็แจ้งความแต่หลังให้พระเจ้าศรีสิทธิไชยฟัง

ดับนั้น พระยาก็ว่ากับพระกัลยาดิศเถรว่า พระผู้เป็นเจ้าจะใคร่ได้โทณะอันตวงพระบรมธาตุไปก็จะเป็นไรมี แต่ข้าพเจ้าไม่มีสิ่งใดเป็นที่ไหว้ที่บูชาเลย ขอพระผู้เป็นเจ้ารับพระบรมสารีริกธาตุมาให้ข้าพเจ้าไว้สักการบูชาสักทะนานหนึ่งเถิด แล้วข้าพเจ้าจึงจะให้ลูกโทณะแก่พระผู้เป็นเจ้า พระกัลยาดิศเถรก็รับว่าจะไปขอพระบรมสารีริกธาตุมาให้พระกัลยาดิศเถรกับพระยาศรีสิทธิไชยก็รับปฏิญาณซึ่งกันและกันแล้วพระผู้เป็นเจ้าก็กลับไปสู่เมืองลังกา จึงเข้าไปแจ้งความแก่พระเจ้าแผ่นดินลังกาว่า พระยาศรีสิทธิไชยขอรับพระบรมสารีริกธาตุแห่งสมเด็จพระพุทธสักทะนานหนึ่งจึงจะให้หน่วยโทณะนั้นแล

ดังนั้น พระยาลังกาได้ฟังถ้อยคำดังนั้น ก็มีความยินดีจึงนำเอาพระบรมสารีริกธาตุ ให้แก่พระกัลยาดิศเถรเจ้านั้นทะนานหนึ่ง ครั้นว่าพระมหาเถรเจ้าได้รับพระสารีริกธาตุแล้ว เธอก็กลับมาถึงเมืองนครชัยศรี พระผู้เป็นเจ้าก็เอาพระบรมสารีริกธาตุเข้าไปให้แก่พระยาศรีสิทธิไชยๆ ได้รับพระบรมสารีริกธาตุทะนานหนึ่ง จึงหาหมู่พราหมณ์ทั้งหลายมาจะขอเอาทะนานที่ตวงพระบรมธาตุให้แก่พระกัลยาดิศเถรเจ้า และหมู่พราหมณ์ทั้งหลายจึงขัดแข้งไว้มิให้หน่วยโทณะแก่พระยา จึงว่าหมู่พราหมณ์ซึ่งเป็นปู่ย่าตายายมาแต่ก่อนสั่งไว้ว่า ท้าวพระยาสามลราชและเทวดาอินทร์พรหม ท่านมาชิงเอาพระบรมสารีริกธาตุไปสิ้นแล้ว ยังเหลืออยู่แต่โทณะเปล่าได้มาไว้เป็นที่ไหว้บูชาแต่เท่านี้ และบัดนี้ข้าพเจ้าจะเอาหน่วยโทณะให้แก่พระองค์มิได้เลย

ดับนั้น พระยาศรีสิทธิไชย ได้ฟังหมู่พราหมณ์ว่าก็ขัดเคืองจึงยกรี้พลออกไปตั้งเป็นเมืองอยู่ต่างหาก ให้ชื่อเมืองว่า ปาวัน แล้วท่านจึงให้สร้างพระปฐมไสยาสน์องค์หนึ่งใหญ่ยาวมหึมา จะเป็นพระปฐมเจดีย์หรือๆ จะเป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ก็ไม่ได้ความชัด พระยาศรีสิทธิไชยเธอจึงเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในนั้นแล้ว พระยานั้นจึงหักหาญเอาหน่วยโทณะนั้น ส่งให้แก่พระกัลยาดิศเถรเจ้าเธอก็รับเอาหน่วยโทณะนั้นไปเมืองลังกา พระเจ้าแผ่นดินลังกาก็บรรจุไว้ในสุวรรณเจดีย์ และพระปฐมเจดีย์นั้นอยู่เหนือพระประโทณเจดีย์อันอยู่ในเรือนศิลานั้น เดิมเมื่อแรกสร้างพระปฐมเจดีย์นั้น พระพุทธศักราชล่วงได้พระวัสสาหนึ่งจะเป็นผู้ใดสร้างหาแจ้งไม่

ครั้นอยู่มาถึงพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑.๑๙๙ พรรษา มีกษัตริย์องค์หนึ่งเป็นใหญ่อยู่ในเมืองละโว้ ชื่อ กากะวรรณ ดิศราช นั้น เธอได้ก่อพระเจดีย์ล้อมเรือนศิลาที่บรรจุพระทะนานทอง คือ โทณะอันตวงพระบรมธาตุ นั้น แล้วจึงให้นามว่า พระประโทณเจดีย์ พระประโทณเจดีย์สร้างเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑,๑๙๙ พรรษา ได้ความแต่เท่านี้

ดับนั้น กษัตริย์ผู้หนึ่ง ชื่อ ภาลีธิราช เป็นเชื้อวงศ์พระยาอินทราไทธิราช เป็นใหญ่ในเมืองสุโขทัย ยกรี้พลมารบเอาเมืองนครชัยศรีได้แล้ว ท้าวเธอจึงภิเษกบุตรชายทั้งสองคน คนหนึ่งชื่อ กาลีบดีใจ ให้ไปกินเมืองนครหลวงต่อแดนเมืองยศโสธร คนหนึ่งชื่อ ใสทองสม ให้กินเมืองนครชัยศรี บางแห่งว่าเมืองราชบุรี พระยาพี่น้องทั้งสองคนนี้บริบูรณ์ไปด้วยราชสมบัติ พระยาพี่น้องนั้นมีเหตุด้วยฆ่าพระยาภาลีธิราชผู้บิดาเสีย แล้วแปลกพระมารดาของตัวไปกระทำความไม่ดีกับมารดา พระยาทั้งสองพี่น้องจึงสังเวชพระทัยนัก จึงคิดกันมาซ่อมแปลงวัดพระสังฆรัตนธาตุพระอารามบ้านธรรมศาลา ที่พระยาศรีสิทธิไชยสร้างไว้แต่ก่อน แล้วใช้ให้ราชบุรุษผู้หนึ่ง ออกไปรับพระบรมธาตุพระพุทธเจ้ามาได้ ๑๐๐ พระองค์ แล้วหล่อพระเจดีย์ด้วยเบญจโลหะสูง ๑ วา และพระยาภาลีบดีใจให้เอาแก้วอันมีราคามาก ชื่อแก้วสารพะมีบรรจุไว้ด้วยพระบรมธาตุที่ในกลางพระเจดีย์สูง ๑ ตั้ง อยู่เบื้องหลังพระปฐมเจดีย์ และพระยาพี่น้องสร้างพระจงกรมองค์หนึ่ง พระสมาธิ ๔ องค์ ไว้ ๔ ทิศ แล้วจึงไว้ฆ้องใหญ่ลูกหนึ่ง ปากกว้าง ๓ ศอก ไว้ระหว่างประตูทั้ง ๔ ด้าน ครั้นสร้างฉลองแก้ว ในหนังสือฉบับหนึ่งว่า เมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑,๒๓๔ พรรษา ไม่ถูกกัน แล้วพระยาภาลีบดีใจ พระยาใสทองสมยกทัพขึ้นไปเมืองลำพูน ไปนมัสการพระบรมธาตุพระพุทธเจ้าถึงสามปี แล้วยกทัพกลับลงมาเมืองใต้ จึงปรายเงินปรายทองต่างข้าวตอกดอกไม้ถวายพระบรมธาตุมาทุกๆ ตำบล แต่เมืองลำพูน ลำปาง ลงมาทางเดิมบางนางบวช จนถึงเมืองนครชัยศรี สิ้นเก้าปีสิ้นอายุ บ้านเมืองก็สืบกษัตริย์ต่อๆ กัน มาอีกหลายชั่วแล

จะกล่าวถึง มหาไหล่ลาย เป็นบุตรนายเชนกษัตริย์ เป็นเชื้อวงศ์พระยาศรีสิทธิไชย เมื่อมหาไหล่ลายยังไม่ได้บวช เป็นมหาดเล็กพระเจ้าแผ่นดินละโว้ แล้วกระทำชู้ด้วยนางพระสนมของพระยาๆ เธอจับได้จึงสักไหล่เสียข้างหนึ่งแล้วส่งไปเป็นตะพุ่นหญ้าม้า จึงได้นามปรากฏว่ามหาไหล่ลาย ครั้นอยู่มามหาไหล่ลายกับนายเชนกษัตริย์ ผู้บิดาหนีไปถึงเมืองหลวงต่อแดนเมืองเชียงใหม่ มหาไหล่ลายไปหาท่านเจ้าอธิการจะขอบวชเป็นภิกษุ พระสงฆ์ไม่บวชให้ มหาไหล่ลายขอบวชเป็นสามเณรครั้นอยู่มารู้ข่าวว่าจะมีสำเภาไปถึงเมืองลังกา เจ้าเณรไหล่ลายก็โดยสารสำเภาไป ครั้นสำเภาไปถึงปากน้ำลังกาเข้า เจ้าเณรไหล่ลายก็เอาบาตรกับไม้เท้าลงในกะโล่ ก็ลอยเข้าไปถึงเมืองลังกาในวันเดียวนั้น เจ้าเณรไหล่ลายก็ไปอาศัยพระภิกษุผู้เฒ่าอยู่ พระภิกษุผู้เฒ่าพาไปหาพระสังฆราชาฯ จึงถามว่า เจ้าเณรมาในลังกานี้เพื่อประโยชน์สิ่งใด เจ้าเณรแจ้งว่าจะขอบวชเป็นภิกษุ พระสงฆ์ทั้งปวงว่าเจ้าเณรนี้เป็นนักโทษ ท่านจึงสักไหล่เสียข้างหนึ่ง จึงหนีออกมาจากเมืองชมพู จะบวชให้นั้นมิได้

ดับนั้น เจ้าเณรไหล่ลายจึงว่า พระผู้เป็นเจ้าจงนำข้าพเจ้าไปนมัสการไปมหิยังคณเจดีย์ด้วยเถิด พระสังฆราชาและสงฆ์ทั้งปวงจึงนำสามเณรมาถึงต้นพระมหาโพธิ กระทำทักษิณสามรอบ แล้วกิ่งพระมหาโพธิข้างทักษิณทิศ ก็น้อมลงมาให้เจ้าเณรไหล่ลายจับใส่เศียรเกล้า แล้วพระสารีริกธาตุก็เสด็จออกมาปาฏิหาริย์ตั้งอยู่เหนือศีรษะเจ้าเณร มีพระรัศมีต่างๆ พระสงฆ์ทั้งปวงเห็นประจักษ์แก่ตาแล้ว ก็ให้อุปสมบทเจ้าเณรไหล่ลายเป็นภิกษุ พระมหาไหล่ลายจึงเที่ยวไปนมัสการพระพุทธบาทกับเจดีย์อื่นๆ ทั่วแล้วจะกลับมาเมืองชมพู พระสังฆราชาก็ให้พระบรมธาตุ ๖๕๐ พระองค์ให้ไปบรรจุไว้ในเมืองทวีปโพ้นเถิด สมณะชีพราหมณาจารย์ท้าวพระยาประชาราษฎรทั้งปวง จะได้นมัสการบูชาสืบไป เมื่อหน้ากว่าพระศาสนาจะได้ ๕,๐๐๐ พรรษาแล มหาไหล่ลายรับพระบรมสารีริกธาตุพระเจ้าได้ ๖๕๐ พระองค์ กับพระศรีมหาโพธิแล้ว ก็อำลาพระสังฆราชาและสงฆ์ทั้งปวง กลับมายังชมพูทวีป มาถึงเมืองนครชัยศรี วัดพระเชตุพนแล้วมหาไหล่ลายจึงเอาพระธาตุมาบรรจุไว้ในพระมหาเจดีย์นั้นบ้าง ในพระสมาธิบ้าง ในพระเสดาทั้ง ๔ บ้าง เป็นพระธาตุ ๑๖ พระองค์ แล้วเอามาบรรจุไว้ในพระไสยาสน์นอกพระประธานใหญ่นั้น ๓๖ พระองค์ บรรจุไว้ในพระมหาโพธิเทพารักษ์นั้น ๓๖ พระองค์ บรรจุไว้ในพระป่าเลไลยก์ ๓๖ พระองค์ เอาขึ้นไปบรรจุไว้ในครองเมืองชัยนาท ๓๖ พระองค์และผลมหาโพธิ มหาไหล่ลายเอามาแต่ลังกา ปลูกไว้ริมหนองทะเลนอกวัดเขมาปากน้ำ จึงได้ปรากฏชื่อมหาโพธิมาแต่เมืองลังกานั้นแล มหาไหล่ลายบรรจุไว้วัดหน้าพระธาตุเมืองโยธยา ๑๖ พระองค์ ในพระพุทธบาท ๓๖ พระองค์ ในเขานครสวรรค์ ๓๖ พระองค์ บรรจุไว้ที่มหาโพธิ ซึ่งมหาไหล่ลายเอามาปลูกไว้ในอ่างทอง ๓๖ พระองค์ อยู่ในเมืองนครสวรรค์ เอาไปบรรจุไว้ในป่าดาผีคุด ๓๖ พระองค์ มหาเถรไหล่ลายขึ้นไปถึงเมืองสุโขทัย เอาบรรจุไว้ในพระธาตุหินตั้ง ๓๖ พระองค์ เอาบรรจุไว้ในต่อม ๓๖ พระองค์ เอาขึ้นไปบรรจุไว้ เมืองหลวงสวงแก้ว ๓๖ พระองค์ เอามาบรรจุไว้ในวัดเสนาสน์ ๓๖ พระองค์ ในบูรพาราม ๓๐ พระองค์ บรรจุไว้ในวัดมหาสถาน ๓๐ พระองค์ และสามอารามนี้อยู่แดนเมืองพิษณุโลกนั้น มหาเถรไหล่ลายเที่ยวไปบรรจุพระบรมธาตุสิ้นแล้วกลับมาอยู่เมืองละโว้เล่า เมื่อมหาไหล่ลายบรรจุพระบรมธาตุนั้น พระพุทธศักราชได้ ๑,๔๓๒ พรรษา และยังมีตำนานนิทานพระอรหันต์ ทำนายไว้แต่ก่อนว่า เมื่อพระพุทธศาสนาได้ ๑,๐๐๐ ปีก็ดี ๒,๐๐๐ ในเมื่อหน้าจะปรากฏสุขเกษม แต่ทว่าอาวาสทั้งสองนิ้วคือ พระประโทณแห่งหนึ่ง คือ พระปทมแห่งหนึ่ง คือ พระธาตุกุกกุสนธ์ แห่งหนึ่ง คือว่า พระปทมศรีแห่งหนึ่งจะมีอายุ ๕,๐๐๐ ปี ส่วนว่าพระปฐมเจดีย์นั้นมีอายุไปถึง ๑๒๐ ปีบ้าง ๔๘๖ ปีบ้าง จะมีผู้มาซ่อมแปลง ครั้นพระศาสนาพระพุทธเจ้าได้ ๒,๓๐๐ ปีก็ดี ๒,๔๐๐ ปีก็ดี ๒,๕๐๐ ปีก็ดี ๒,๙๐๐ ปีก็ดี ๓,๗๐๐ ปีก็ดี ขึ้นไปจนถึง ๓,๙๐๐ ปีก็ดี อันมีเศษทุกๆ ปีขึ้นไป แล้วจะมีบรมกษัตริย์และพระยาสามลราชและเทพยดาทั้งหลาย และสมณชีพราหมณ์ก็จะชวนกันก่อสร้างขึ้นให้รุ่งเรือง ทุกๆ แห่งว่าอารามที่เหลือขึ้นไปกว่านั้น เมื่อหน้าก็จะถอยเป็นป่าใหญ่ เสียแล

พระอรหันต์เจ้าทำนายไว้อีกว่า เมื่อพระพุทธศักราชได้ ๒,๒๐๐ ปีเศษ ๑๒ ปีขึ้นไปจนถึง ๓,๒๐๐ ปีเศษ ว่าในพระประโทษเจดีย์นั้น ยังมีพระมหาเถรเจ้าองค์หนึ่ง ถือเอาเศวตฉัตรเป็นเพดานกั้นอยู่มิได้ขาดแต่แรกเกิดมา ว่ามหาเถรเจ้าองค์นี้ดุจทำนายพระเจ้าว่า เมื่อขณะนั้นยังมีนางราชธิดาองค์หนึ่งนั้นเป็นสาวพรหมจารีหาผัวมิได้ พุทธทำนายว่า นางองค์นี้จะออกมาจากประตูพระปฐมไสยาสน์ อันว่าพระเจ้าเสด็จออกมากระทำยมกปาฏิหาริย์ กับเบญจโลหะอันบรรจุพระบรมธาตุไว้ ๑๐๐ พระองค์นั้น เสด็จออกมากระทำให้ปรากฎแก่ตาสมณชีพราหมณ์ทั้งหลายและเทพยดาท้าวพระยา ก็แลเห็นประจักษ์แก่ตาด้วยพระรัศมีออกมาต่างๆ เป็นหลายประการ และครั้นนางราชธิดาออกมาจากประตูนั้น นางก็ลั่นฆ้องใหญ่ทั้ง ๔ ประตู อันท่านไว้ สำหรับโบราณนั้นแล คนทั้งหลายครั้นได้ยินฆ้องใหญ่ จึงรู้สำคัญว่า มีที่นั้นแล

เครื่องบริโภคของท้าวพระยาทั้งหลายอันมาบรรจุถวายพระธาตุมาแต่ก่อนนั้น ย่อมมีสำคัญอยู่ทุกๆ แห่ง อันว่าพระประโทณเจดีย์ ปฐมเจดีย์นั้น เป็นที่โอฬารึกนักหนา ฝ่ายว่า ท้าวพระยาทำพระปฐมเจ้านั้น ก็ได้เป็นประธานอันใหญ่เพราะชาวโยนก คือลาวพุงดำอุปถัมภนาการมา ถ้าบุคคลผู้ใดๆ มาไหว้บูชาได้มากวาดวัด ได้มากวาดแผ้วให้บริบูรณ์เหมือนหนึ่งได้รักษาพระธาตุในลังกาโพ้น

และบุคคลผู้ใดๆ ได้มารักษาพระประโทณเจดีย์ พระปฐมเจดีย์ พระธาตุพระเจ้านั้นแล เสมือนหนึ่งได้รักษาพระกุกกุสนโธเจ้าแล พระโกนาคมและพระพุทธกัสสปเจ้าแล สมณชีพราหมณ์เจ้าก็ดี และภิกษุสามเณรก็ดี และท้าวพระยามหาสามลราชก็ดี กุฎมพีเข็ญใจชนบทบ้านนอกเมืองป่าก็ดี และได้มาปรนนิบัติก่อสร้างพระพุทธทั้งสามแห่งนี้ เสมือนหนึ่งมาปรนนิบัติพระโกนาคมเจ้า เมื่อยังมีพระชนมายุอยู่ ไม่เสียทีที่เกิดมานั้นแล

อันนี้ก็เป็นจารีตแต่พระอริยบุตร สัปบุรุษแต่โบราณนั้นแล อันว่าพระอรหันต์เจ้าทั้ง ๔ พระองค์ กับพระยาศรีธรรมโศกราชย่อมได้เอาพระธาตุพระเจ้าอย่างใหญ่น้อยก็ดี เดิมแต่ ๑,๐๐๐ ปี หนึ่งมาโพ้นทีเดียวแล อันว่าบุคคลผู้ใดและเทพยดาทั้งหลายได้มานมัสการพระปฐมเจดีย์ พระประโทณเจดีย์ คือ พระกุกกุสนธ์ศรีสักยมุนีโคดม คือ พระปฐมเจดีย์ทั้งสามฝ่ายนั้น ผิดกันทั้ง ๔ พระองค์นั้นแล

บุรุษชายก็ดีหญิงก็ดี ท้าวพระยาสามลราชก็ดี ภิกษุสามเณรก็ดี ตาปะขาวยายชีก็ดี ผู้มีบุญหาบุญมิได้ก็ดี ได้มาชวนกันก่อสร้างมิให้ร่วงโรย ได้ปรนนิบัติพระธาตุพระเจ้าอันพระอรหันต์เจ้าและเทพยดาเจ้าทั้งหลายเอาไปไว้ทุกหัวเมือง เมืองเหนือเมืองใต้ก็ดี บุรุษชายหญิงผู้นั้นจะล้ำเลิศประเสริฐกว่าคนทั้งปวง อันว่าพระสารีริกธาตุพระเจ้าพระอรหันต์เจ้า และเทพยดาท้าวพระยารับเอาไปไว้ ๑๒ หัวเมืองก็ดี จะรุ่งเรืองอยู่นั้น แต่ศาสนาได้ ๘๐๐ ปีปลายบ้าง ๑,๐๐๐ ปีบ้าง ๑,๒๐๐ ปีบ้าง กว่านั้นลงไปจะถอยเป็นป่าใหญ่เสียสิ้นทุกแห่งแล

นิทานตำนานฉบับนี้ ไม่ได้ว่าถึงพระยากงพระยาพานเลย เรื่อง พระยากงพระยาพานก็ไม่ได้ว่าถึงเรื่องนี้เหมือนกัน ให้ท่านผู้มีสติปัญญาตรึกตรองเอาเถิด


ข้อมูล : หนังสือ ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
ฉบับ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
      - พระยามหาอรรคนิกร และฉบับนายทอง
      - พระยาราชสัมภารากร และฉบับตาปะขาวรอต
เจ้าของ พระธรรมปริยัติ เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
วัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ และอนุรักษ์เรื่องราวความเป็นมาต่างๆ ในอดีตของพระปฐมเจดีย์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 05 ตุลาคม 2557 15:26:54 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5774


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 05 ตุลาคม 2557 15:36:21 »

.

ตำนานพระปฐมเจดีย์
ฉบับพระยาราชสัมภารากร  และฉบับตาปะขาวรอต

ข้าพเจ้าคิดจะให้คนทั้งหลายรู้ความโบราณ จึงได้สืบแสวงหาหนังสือเก่าๆ ได้ความที่พระยาราชสัมภารากรฉบับหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องตาปะขาวรอตจดหมายไว้ ได้ที่พระวิเชียรปรีชาฉบับหนึ่งความคล้ายคลึงกัน จึงคัดรวมเป็นเรื่องเดียวกันเข้าไว้ จะจริงหรือเท็จประการใดก็ไม่แจ้ง ขอให้ท่านผู้อ่านหนังสือนี้ตรึกตรองเอาเถิด และในจดหมายของตาปะขาวรอต อายุ ๗๙ ปี ซึ่งเป็นรากเหง้าอยู่ที่บ้านพระปฐมเจดีย์นี้แต่แกได้จดหมายไว้ว่า

ยังมีพระยาองค์หนึ่ง ชื่อ ท้าวสิการาช ได้ครองราชย์สมบัติในเมืองศรีวิชัย คือเมืองนครชัยศรี มีบุตรชายองค์หนึ่งชื่อ พระยากง ครั้นพระยาสิการาชสวรรคตแล้ว พระยากงได้ครองราชย์สมบัติแทนบิดาในเมืองศรีวิชัยนั้น ในหนังสือบางแห่งว่า พระยากงครองเมืองกาญจนบุรี ตาปะขาวรอตว่าพระยากงครองเมืองศรีวิชัย พระยากงมีพระมเหสี ประสูติพระราชกุมารออกมา โหราพฤฒาจารย์ดูลักษณะทำนายว่า พระราชกุมารองค์นี้จะมีบุญญาธิการมากแต่จะกระทำปิตุฆาต พระยากงจึงรับสั่งให้เอาพระราชกุมารไปทิ้งเสีย ราชบุรุษก็เอาราชกุมารไปทิ้งไว้ในป่าไผ่ริมบ้านยายพรหมๆ ก็ได้กุมารนั้นไปเลี้ยงไว้ หารู้ว่าเป็นบุตรของผู้ใดไม่ ยายพรหมมีบุตรหลานมาก ยายหอม เมียตาโฉมน้องยายพรหมหามีบุตรไม่ ยายพรหมจึงเอากุมารนั้นไปให้กับยายหอมๆ จึงเลี้ยงกุมารนั้นไว้ ในหนังสือบางแห่งว่าพระมเหสีส่งกุมารไปให้ยายหอมเลี้ยงไว้ ยายหอมเอากุมารไปให้พระยาราชบุรีเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ตาปะขาวรอตว่า ยายหอมเลี้ยงไว้จนโต กุมารจึงลายายหอมขึ้นไปเมืองเหนือถึงสุโขทัย พอช้างพระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยอาละวาดสลัดหมอควาญ ไล่แทงผู้คนนักหามีผู้ใดจับช้างนั้นได้ไม่ กุมารก็เข้าไปดู ช้างอาละวาดไล่แทงกุมารๆ จึงจับงาช้างกดลงไว้กับดิน คนทั้งปวงจึงจับช้างนั้นได้ แล้วเอาความเข้าไปกราบทูลกับพระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยๆ ให้หากุมารนั้นเข้ามาถามว่า ท่านเป็นบุตรของผู้ใด กุมารนั้นจึงกราบทูลว่า หาทราบว่าผู้ใดเป็นบิดามารดาไม่ พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยจึงเลี้ยงดูกุมารนั้นไว้เป็นบุตรบุญธรรม พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยดูจดหมายเหตุ รู้ว่ากุมารองค์นี้จะมีบุญญาธิการมากจะได้ครองราชสมบัติในเมืองใต้ พระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยจึงจัดแจงให้กุมารนั้นตั้งอยู่บ้านเจ็ดเสมียน ซ่องสุมผู้คนได้เป็นอันมาก จึงยกมาตั้งอยู่บ้านเล่า ได้รี้พลอีกรวมกันประมาณสี่หมื่น แล้วยกมาบ้านยายหอม แล้วไปตั้งเมืองอยู่ที่ป่าแดง จึงมีหนังสือเข้าไปถึงพระยากง ให้พระยากงออกมาชนช้างกัน ความในหนังสือบางแห่งว่า พระกุมารไปเป็นบุตรบุญธรรมอยู่กับพระยาราชบุรีๆ ครั้นถึงเทศกาลเอาดอกไม้ทองเงินไปถวายพระยากงทุกปีมิได้ขาด พระกุมารบุตรบุญธรรมจึงถามว่าทำไมจึงเอาดอกไม้ทองเงินไปให้กับพระยากาญจนบุรีด้วยเหตุใด พระยาราชบุรีบิดาเลี้ยงจึงว่า เราเป็นเมืองขึ้นแก่เขา บุตรบุญธรรมจึงตอบว่าไม่เอาไปให้เขานั้นจะเป็นประการใด พระยาราชบุรีว่าไม่ได้ เขาจะว่าเราคิดขบถ จะยกทัพลงมาจับเราฆ่าเสีย บุตรบุญธรรมจึงว่ากลัวอะไร พระยาราชบุรีก็นิ่งอยู่ ครั้นถึงปีกำหนดจะถวายดอกไม้ทองเงินแล้ว พระยาราชบุรีก็งดไว้ไม่ส่งดอกไม้ทองเงินไปถวาย พระยากงเจ้าเมืองกาญจนบุรีเห็นว่าพระยาราชบุรีเป็นขบถ ก็เกณฑ์กองทัพลงมาจะจับพระยาราชบุรีฆ่าเสีย ครั้นพระยาราชบุรีรู้ดังนั้น จึงเกณฑ์คนประจำหน้าที่ให้บุตรบุญธรรมเป็นแม่ทัพยกออกมารับทัพพระยากาญจนบุรี ครั้นพระยากงเจ้าเมืองกาญจนบุรียกกองทัพมาใกล้ประมาณ ๑๐ เส้น ให้ตั้งค่ายมั่นลงไว้ แล้วมีหนังสือให้คนถือเข้าไปถึงพระยาราชบุรีเป็นใจความว่าให้พระยาราชบุรีออกมาหาเรา แม้มิออกมาหาเราๆ จะปล้นเอาเมือง พระยาราชบุรีทราบดังนั้น จึงปรึกษาบุตรบุญธรรมว่า จะคิดประการใดดี กุมารนั้นว่า จะขออาสาสู้ชนช้างกับข้าศึก พระยาราชบุรีก็จัดช้างพลายงอนสูงหกศอกผูกเครื่องมั่นเป็นนายทัพ ครั้นได้ฤกษ์ก็ยกออกไป พระยากงก็ประชุมรี้พลยกออกมารบกันที่แขวงเมืองนครชัยศรี กุมารนั้นก็ยกออกไปปะทะกันที่กลางมรรคา พระยากงกับกุมารก็ชนช้างกันที่นั้น พระยากงเสียที กุมารก็ฟันด้วยของ้าวถูกพระยากงคอขาดกับคอช้างพระที่นั่ง ที่อันนั้นจึงเรียกว่าถนนขาดมาจนทุกวันนี้ กุมารจึงยกรี้พลเข้าไปตั้งอยู่เมืองพระยากง คิดจะเอามเหสีพระยากงซึ่งเป็นมารดานั้นเป็นภรรยา เทพยดาจึงนิรมิตเป็นสัตว์ บางแห่งก็ว่าเป็นแพะ บางแห่งก็ว่าเป็นวิฬาร์แม่ลูกอ่อนนอนขวางบันไดปราสาทอยู่ เมื่อกุมารจะเข้าไปหาพระมเหสีนั้น เดินข้ามสัตว์แม่ลูกไป ลูกสัตว์จึงว่ากับแม่ว่าท่านเห็นเราเป็นสัตว์เดรฉานท่านจึงข้ามเราไป แม่สัตว์จึงว่ากับลูกว่า นับประสาอะไรกับเราเป็นสัตว์เดรฉาน แต่มารดาของท่านๆ ยังจะเอาเป็นเมีย กุมารได้ฟังดังนั้นก็อัศจรรย์ใจมีความสงสัยขึ้น ครั้นเข้าไปถึงพระมเหสีกุมาร จึงตั้งสัจจาธิษฐานว่า ถ้าแลนางคนนี้ เป็นมารดาข้าพเจ้าจริงอย่างสัตว์แม่ว่าแล้ว ขอให้น้ำนมไหลออกมาจากถันยุคลทั้งคู่เถิด ถ้าแลมิใช่มารดาข้าพเจ้าแล้ว อย่าให้มีน้ำนมปรากฏออกมาเลย พอกุมารตั้งสัจจาธิษฐานดังนั้นแล้ว ก็เห็นชีรธาราไหลออกมาจากถันยุคลทั้งคู่ กุมารเห็นก็ไต่ถามรู้ความว่าเป็นมารดาแน่แล้ว ก็เข้าดื่มกินน้ำนมแล้วแจ้งความว่าพระยากงเป็นพระราชบิดา จึงโกรธยายหอมว่า หาบอกว่าเราเป็นบุตรพระยากงไม่ เราจึงได้กระทำปิตุฆาตกรรม แล้วกุมารก็ยกไปบ้านยายหอมจับยายหอมฆ่าเสีย ยายหอมเมื่อจะตายนั้นก็รำเย้ยให้ ครั้นตายแล้วแร้งลงกินศพยายหอม คนจึงเรียกที่อันนั้นว่า อีรำท่าแร้ง บ้านยายหอมก็เรียกว่า โคกยายหอม มาจนทุกวันนี้ คนทั้งปวงจึงเรียกว่า พระยาพาน ด้วยเหตุฆ่าบิดากับยายหอมผู้มีคุณเสีย หนังสือบางแห่งว่า เมื่อประสูตินั้น เจ้าพนักงานเอาพานทองรับ พระพักตร์กระทบพานเป็นแผลอยู่ จึงเรียกว่า พระยาพาน ครั้นพระยาพานไปครองราชย์สมบัติในเมืองศรีวิชัยแล้ว จึงปริวิตกว่าฆ่าบิดากับยายหอมผู้มีคุณเสีย โทษหนักอยู่ เมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๕๖๙ พรรษา พระยาพานจึงประชุมพระอรหันต์และสงฆ์ทั้งปวงว่า ดิฉันได้กระทำปิตุฆาตกรรมจะทำกุศลสิ่งใดกรรมนั้นจึงจะเบาลง พระอรหันต์เจ้าทั้งหลายจึงว่าขอให้มหาบพิตรจัดแจงสร้างพระมหาเจดีย์ใหญ่สูงชั่งยกเขาเหินเถิด กรรมอันนั้นจึงจะค่อยเบาบางลง หนังสือบางแห่งว่าพระอรหันต์ที่มาประชุมนั้นท่านชื่อ พระคิริมานนท์ ชื่อ พระองค์คุลิมาล และที่ประชุมพระอรหันต์นั้นจึงเรียกว่าธรรมศาลามาจนทุกวันนี้ พระยาพานราชให้จัดแจงทำรากจะก่อพระเจดีย์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบรรทมในที่สวมแท่นไว้ ท้าวมหาพรหมจึงเอาฆ้องตีสามโหม่งดังกระหึ่มไปจนค่ำ มาหนุนไว้ใต้แท่นพระบรรทมด้วย พระยาพานจึงก่อพระเจดีย์ขึ้นเป็นลอมฟางสูงชั่วนกเขาเหินหาทักษิณมิได้ แล้วบรรจุพระทันตธาตุ คือ พระเขี้ยวแก้วไว้ด้วยพระองค์หนึ่ง สร้างเสร็จแล้วมีการฉลองเจ็ดวันเจ็ดคืน แล้วจึงถวายเขตแดนโดยรอบชั่วเสียงร้องแล้วถวายข้าพระโยมสงฆ์เป็นจำนวนสำมะโนครัว ๕๕๕ ครัว แล้วพระยาพานยกทัพขึ้นไปเมืองลำพูน ไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุพระพุทธเจ้าถึงสามปี แล้วก็ยกทัพกลับลงมาเมืองใต้ จึงปรายเงินปรายทองต่างข้าวตอกดอกไม้ ถวายพระธาตุมาทุกๆ ตำบลมาแต่เมืองลำพูนลำปาง ลงมาทางเดิมบางนางบวช ลงมาจนถึงเมืองนครชัยศรีสิ้นเก้าปี พระยาพานสิ้นอายุแล้ว โหม่งดังกระหึ่มไปจนค่ำ จึงยกรี้พลมาขุดฆ้องที่ฝังไว้ใต้แท่นพระบรรทม ขุดลงไปถึงฆ้อง ๆ นั้นก็ทรุดลงไป พระเจดีย์ก็ทรุดพังลงไปด้วยหาได้ฆ้องไม่ เจ้าเมืองหงสาและอำมาตย์ปรึกษากันว่า เรามากระทำกรรมดังนี้ไม่สมควร จะต้องทำใช้เสียใหม่จึงจะคุ้มโทษได้ จึงก่อเป็นองค์ปรางค์ต่อตั้งขึ้นบนหลังองค์ระฆังเดิมที่พัง มีทักษิณรอบยังหาสูงเท่าเก่าไม่ จึงสร้างพระเจดีย์รอบวิหารกับทั้งอุโบสถเพิ่มเติมลงอีก พระเจ้าหงสาองค์นี้ สืบถามพวกมอญว่าพระเจ้าหงสาลิ้นดำที่ได้ยกมาตีกรุงศรีอยุธยา เธอได้เที่ยวปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ไว้ทุกหัวเมือง การอันนี้พิเคราะห์ดูจะไม่จริง ถ้าพระเจ้าหงสาลิ้นดำมาทำขึ้นไว้ก็คงจะทำให้เห็นเป็นฝีมือมอญ ด้วยจะไว้เกียรติยศให้ปรากฏในแผ่นดิน นี่ทำเป็นองค์ปรางค์อย่างเขมรเป็นที่สงสัยอยู่และที่พระบรรทมแต่ก่อนเจ้าอธิการชื่อ พระอุทายีเถร เป็นสมเด็จเจ้า มีเจ้ากรมปลัดกรม ข้าพระรักษาพระบรรทมขุนภูมิเทพอุโบสถ หมื่นเทพอุโบสถ ขุนนคร ขุนชัย ขุนธรรมรักษา หมื่นธรรมรักษา หมื่นรัศมี ขุนศรัทธาอากาศ หมื่นศรัทธาอากาศ และเรื่องราวพระบรรทม สร้างต่อๆ กันมานั้น เป็นอักษรเฉียงมีอยู่สองเล่มสมุดจีน ชาวบ้านพระบรรทมหามีผู้ใดอ่านออกไม่ พระสงฆ์พาหนังสือเฉียงเข้าไปแปล ณ กรุง ศูนย์เสียได้ประมาณ ๗๐ ปีเศษแล้ว แต่พระประโทณเจดีย์นั้น มีจดหมายในหนังสือไตรภูมิว่าสร้างเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑,๑๙๙ พรรษา

และท่านผู้ที่ได้มานมัสการพระปฐมเจดีย์นี้ พระสงฆ์ก็ดี คฤหัสถ์ก็ดี ถ้าพบปะหนังสือเก่าๆ ความวิเศษละเอียดออกไปจากนี้แล้ว ขอให้ท่านเอาไปให้ที่บ้านเจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดีด้วย จะได้คิดอ่านร้อยกรองเพิ่มเติมเข้าไว้อีก


ข้อมูล : หนังสือ ประวัติองค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
ฉบับ - เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
      - พระยามหาอรรคนิกร และฉบับนายทอง
      - พระยาราชสัมภารากร และฉบับตาปะขาวรอต
เจ้าของ พระธรรมปริยัติ เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร
วัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ และอนุรักษ์เรื่องราวความเป็นมาต่างๆ ในอดีตของพระปฐมเจดีย์




ต้นมหอกคินีต้นนี้  เจ้าจอมเอิบปลูก
เมื่อตามเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มาประพาศณที่นี้ ณวันที่ ๑ สิงหาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๒๓
(คัด - โดยคงตัวสะกดเดิม)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 กันยายน 2558 17:58:07 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.523 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 16 พฤศจิกายน 2567 21:57:21