. จันทรุปราคาเหนือแม่น้ำโขง ในค่ำคืนวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๗
ที่บริเวณฐานปฏิบัติการผาตั้ง หมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๔๕ อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย
จุดที่เราชมคืนแรกนี้ ได้คุยกับชาวบ้านแล้วก็ถอดใจอยู่พอสมควร ชาวบ้านเล่าว่า จุดนี้เป็น "จุดเสี่ยง"
บั้งไฟไม่ขึ้นให้เห็นมาสองสามปีแล้ว แต่วันนี้มีการทำพิธีบวงสรวงอาจจะได้เห็น
ครั้นจะวกกลับไปชมที่อำเภอโพนพิสัย ระยะทางก็ห่างไกลร้อยกว่ากิโลเมตร ที่สำคัญ ณ เวลาขณะนั้น
ชาวบ้านผู้นั้นบอกว่ารถไม่สามารถเข้าไปที่จุดชมบั้งไฟที่อำเภอโพนพิสัยได้แล้ว (ขณะนั้นเวลาหลังเที่ยงไม่นานนัก)
จุดชมบั้งไฟที่อำเภอโพนพิสัยและอำเภอรัตนวาปี เป็นสถานที่ที่มีจำนวนบั้งไฟขึ้นสูงที่สุด
ผู้คนต้องมาปูเสื่อจับจองพื้นที่รอชมกันตั้งแต่เมื่อวาน (ก่อนวันออกพรรษา ๑ วัน)
ผลที่สุด จึงบอกชาวบ้านแถวนั้นว่าขอเสี่ยงรอชมที่อำเภอสังคม...เผื่อจะมีบุญได้เห็นกับเขาบ้าง
ซึ่งก็สมความปรารถนา บั้งไฟพญานาคปรากฎให้เห็นในค่ำนั้้น ๓ ลูก
บั้งไฟพญานาค ปรากฏให้เห็นเป็นลูกไฟสีแดง มีความ
สว่างและเรืองแสงท่านที่ยังไม่เคยเห็น ไม่ต้องจินตนาการให้ยุ่งยากใจ เพียงมองดูไฟท้ายรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์
ที่เปิดไฟท้ายสีแดง วิ่งในที่มืดยามค่ำคืน
"บั้งไฟพญานาค" มีสีสันอย่างไรอย่างนั้น พอบั้งไฟพญานาคโผล่พ้นแม่น้ำให้เห็น รู้สึกขนลุกซู่ รู้สึกปีติ ว่าเรามีวาสนาได้เห็นสิ่งแปลกตา
ชมปรากฎการณ์ บั้งไฟพญานาคปี ๒๕๕๗ (๘-๙ ตุลาคม ๒๕๕๗) หนองคาย เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่งของไทย เป็นเมืองชายแดนอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ประมาณ ๗,๓๓๒.๓ ตารางกิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๓๖๕ เมตร อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตรงข้ามท่าเดื่อ ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ห่างจากเวียงจันทน์ประมาณ ๒๔ กิโลเมตร เป็นประตูสู่เมืองเวียงจันทร์ เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เชื่อมระหว่างสองประเทศ
นักท่องเที่ยวสามารถขับรถยนต์จากชายแดนประเทศไทย ข้ามไปยังประเทศลาวได้อย่างสะดวก และจากหนองคายสามารถมองเห็นทิวทัศน์ ป่าเขาลำเนาไพร บ้านเรือน ของลาวได้ชัดเจนตลอดแนวแม่น้ำโขง โดยเฉพาะที่อำเภอศรีเชียงใหม่
หนองคายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยังสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติและประวัติศาสตร์ศาสตร์ กรมศิลปากรได้เคยสำรวจและขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ พบเครื่องใช้ภาชนะดินเผา และเครื่องประดับต่างๆ ที่บ้านโคกคอน ตำบลโคกคอน อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย
ด้วยธรรมชาติอันสวยงาม สงบร่มเย็น ผู้คนส่วนใหญ่มีจิตใจละเอียดอ่อน โอบอ้อมอารี เป็นสัปปายะ เหมาะสมเกื้อกูลแก่การบำเพ็ญประคับประคองรักษาจิตแก่ผู้ปฏิบัติธรรม พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ, หลวงปู่บัวพา ปัญญาภาโส พระอริยคณาจารย์ สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ จึงเลือกอาศัยสิ่งแวดล้อมของผืนแผ่นดินหนองคายเป็นสถานที่บำเพ็ญสมณธรรม
หนองคายมีประวัติความเป็นมายาวนานประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) เจ้าอนุวงศ์ ผู้ครองนครเวียงจันทน์ ได้ตั้งตัวเป็นกบฎ ยกกองทัพผ่านหัวเมืองรายทางมาจนถึงนครราชสีมา ทางกรุงเทพฯ ได้โปรดให้เจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพมาปราบ โดยมีท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) เจ้าเมืองยโสธร และพระยาเชียงสา เป็นกำลังสำคัญในการช่วยทำศึกจนได้รับชัยชนะ สามารถจับตัวเจ้าอนุวงศ์ไปกรุงเทพฯ จนสำเร็จ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ท้าวสุวอธรรมา (บุญมา) เป็นพระปทุมเทวาภิบาล ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองหนองคายคนแรก และให้เมืองเวียงจันทน์ขึ้นตรงต่อเมืองหนองคาย โดยจัดตั้งเมืองใหญ่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง คอยควบคุมพื้นที่และเลือกสร้างเมืองที่บ้านไผ่ แล้วตั้งชื่อเมืองว่า "หนองคาย" ตามชื่อหนองน้ำใหญ่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๔ ภายหลังกบฏฮ่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม เป็นข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวพวน ตั้งที่ทำการมณฑลอยู่ที่เมืองหนองคาย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ไทยเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้าโขงให้แก่ฝรั่งเศส และได้ระบุในสัญญาว่าห้ามมิให้ไทยตั้งหรือนำกองทัพทหารอยู่ในเขต ๒๕ กิโลเมตร จากชายแดน กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมจึงทรงย้ายที่ทำการมณฑลฯ ไปอยู่บริเวณบ้านเดื่อหมากแข้ง และตั้งเป็นมณฑลอุดรธานี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติปกครองพื้นที่ขึ้นโดยให้ยกเลิกระบอบเจ้าปกครองทั่วประเทศ ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ ๒๔๕๘ กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีคำสั่งสถาปนาเมืองข้าหลวงปกครอง ซึ่งต่อมาเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด และในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้มีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นจังหวัดและอำเภอ
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ได้มีพระราชบัญญัติตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ. ๒๕๕๔ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๔) มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๔ โดยให้แยกอำเภอบึงกาฬ อำเภอปากคาด อำเภอโซ่พิสัย อำเภอพรเจริญ อำเภอเซกา อำเภอบึงโขงหลง อำเภอศรีวิไล และอำเภอบุ่งคล้า แยกออกจากจังหวัดหนองคายบั้งไฟพญานาค มหัศจรรย์แห่งลุ่มน้ำโขง
พลบค่ำของวันออกพรรษา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี 'หนองคาย' เป็นอีกจุดหมายหนึ่งที่นักท่องเที่ยวมากมายมหาศาลจากทั่วประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันในการเฝ้ารอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ในพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขงของจังหวัดหนองคาย
บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ ที่เกิดพุ่งขึ้นกลางแม่น้ำโขง สามารถเห็นได้จากทั้งฝั่งประเทศไทยและฝั่งประเทศลาว มีลักษณะเป็นดวงไฟขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือไปจนถึงขนาดเท่าไข่ห่านหรือผลส้ม มีสีแดงอมชมพูออกสีบานเย็น หรือสีแดงทับทิม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีการตกลงมา เดิมชาวหนองคายเรียกว่า “บั้งไฟผี” ส่วนชาวเวียงจันทน์เรียก “ดอกไม้ไฟน้ำ”
บั้งไฟพญานาคจะเริ่มปรากฏให้เห็นจากเหนือผิวน้ำ ตั้งแต่ระดับ ๑-๓๐ เมตร พุ่งเป็นแนวตรงสูงขึ้นไปประมาณระดับ ๕๐-๑๕๐ เมตร เป็นเวลาประมาณ ๕-๑๐ วินาที แล้วจะดับหายวับไปในอากาศ ทั้งที่ดวงไฟยังมีขนาดเท่าเดิม ไม่ได้หรี่เล็กลงแล้วค่อยๆ ดับ เกิดเฉพาะช่วงตั้งแต่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปจนถึงเวลาประมาณ ๒๓.๐๐ นาฬิกา ของคืน “วันออกพรรษา” ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี
ตามความเชื่อของชาวหนองคายได้เชื่อมโยงพุทธประวัติครั้งพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ พระองค์ได้เสด็จเผยแผ่ศาสนาไปทั่วชมพูทวีป พญานาคเกิดความเลื่อมใสและศรัทธายิ่ง จึงจำแลงกายเป็นบุรุษขอบวชเป็นสาวก ค่ำคืนหนึ่งพญานาคีเผลอหลับใหลคืนร่างเดิม พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่อง จึงขอให้ลาสิกขา เนื่องจากเป็นสัตว์เดรัจฉาน จะบวชเป็นภิกษุไม่ได้ พญานาคียอมตามคำขอ แต่ขอว่ากุลบุตรที่จะบวชให้เรียกขานว่า “นาค” เพื่อเป็นเกียรติศักดิ์ศรีแก่พญานาคก่อนค่อยเข้าโบสถ์ จากนั้นเป็นต้นมาจึงเรียกกุลบุตรทั้งหลายที่จะบวชว่า “พ่อนาค”
ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดนางสิริมหามายา พุทธมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเวลา ๑ พรรษา จนดับขันธ์ปรินิพพาน และเสด็จสู่โลกในวันออกพรรษานี้ พร้อมผายพระกรออกเป็นพระพุทธรูปปางเปิดโลก ชาวพุทธเชื่อกันว่า สวรรค์ มนุษย์ และบาดาล จะเปิดถึงกันในวันนี้ เหล่าพญานาคทั้งหลายต่างพ่นลูกไฟถวายชื่นชมยินดี จึงเป็นที่มาของ ”บั้งไฟพญานาค” ตามความเชื่อและศรัทธา
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ พบว่าการทับถมของซากพืช ซากสัตว์ ทำให้ปริมาณก๊าซมีเทนใต้น้ำโขงสะสมมาก อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บั้งไฟพญานาคมีปริมาณมากตามมา.ระหว่างการเฝ้ารอชมบั้งไฟที่อำเภอสังคม คณะเราได้อาศัยอาหารพื้นบ้าน
ที่ชาวบ้านในละแวกนั้นนำมาขายโดยปลูกเพิงเล็กๆ พอกันแดดกันน้ำค้าง
ปรุงขายให้นักท่องเที่ยวตั้งแต่เช้าหลายสิบร้านไก่ย่างแห้งๆ แต่รสชาติเด็ดปรุงรสได้กลมกล่อม
ส้มตำน้ำปลา เกิดมาเพิ่งจะเคยเห็นได้กิน ชาวหนองคายตำส้มตำสูตรนี้ได้อร่อยทุกร้าน
เครื่องปรุงมีไม่กี่อย่าง วิธีทำไม่ยาก ใส่พริกสดสีแดงลงครก โขลกเบาๆ พอแตก จึงใส่มะละกอสับ
ใส่ถั่วฝักยาว มะเขือเทศ ปรุงรสด้วยน้ำปลาดี น้ำตาลปีบ น้ำตาลทรายไม่ฟอกสี และน้ำมะนาว
(เท่าที่สังเกต ชาวอีสานใช้น้ำตาลปีบ + น้ำตาลทรายปรุงรสส้มตำ และไม่ใส่กระเทียมเหมือนภาคกลาง)
ตำซั่ว
ปลาบึกย่าง ยัดใบเตยในท้องปลาก่อนย่าง ดับกลิ่นคาวและทำให้หอมน่ากิน
ยามเย็นล่องเรือสำปั้นลำน้อย หาปลาในลำน้ำโขง
วิถีชาวชนบทแบบเรียบง่ายของชาวอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
สำหรับค่ำคืนวันถัดมา เราย้ายจุดไปชมที่อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
ปีนี้ วันออกพรรษาของประเทศลาวตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งก็คือวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๗
และบั้งไฟพญานาคก็จะปรากฏให้เห็นอีกเช่นกัน ดังนั้น ปี ๒๕๕๗ จึงมีปรากฎการณ์บั้งไฟติดต่อกัน ๒ วันแสงไฟและพลุสว่างไสว ที่เห็นในฝั่งตรงข้ามแม่น้ำโขง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
คือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ชาวลาวต่างเฝ้ารอชมปรากฎการณ์บั้งไฟพญานาค
มีการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ บูชาวันเปิดโลกเช่นเดียวกับคนไทย
ประชาชนจับจองที่นั่งริมฝั่งแม่น้ำโขงรอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค
จุดที่ ๒ (คืนที่สอง) ที่อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
รถโดยสารข้ามแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างประเทศไทย-ลาว
(ค่าโดยสารข้ามฟาก คนละ ๒๕ บาทไทย )
รถโดยสารกำลังวิ่งบนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขง
ข้อมูลเปรียบเทียบปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ประจำปี ๒๕๕๗ข้อมูล ณ วันที่ ๘-๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๗หมายเหตุ จำนวนลูกไฟเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดหนองคาย วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๗จำนวน ๑ วัน ๔๐๔ ลูก นักท่องเที่ยว (โดยประมาณ) ๒๔๐,๓๐๐ คน
จำนวนบั้งไฟขึ้นสูงที่สุดที่อำเภอรัตนวาปี จำนวน ๔๔๓ ลูก ถัดมาที่อำเภอโพนพิสัย จำนวน ๓๗ ลูกข้อมูลจาก ที่ทำการปกครองจังหวัดหนองคาย (กลุ่มงานความมั่นคง)
โทร. ๐๔๒-๔๑๒๔๔๕, ๐๔๒-๔๑๑๕๕๔