.อังคุลิมาลปริตรบรรยาย (ต่อ)สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชนิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑
ก็จบพระอังคุลิมาลสูตรเพียงเท่านั้นและในพระสูตรนี้ก็มีเกล็ดธรรมและเรื่องที่ควรจะแสดงกล่าวคือ ที่ท่านได้เปล่งอุทานขึ้นดังที่ได้แปลมาแล้วนั้น ท่านเปล่งขึ้นจากจิตใจที่มีความสำนึก ในข้อที่ท่านได้นั่งเสวยวิมุตติสุข คือความสุขอันเกิดจากวิมุตติ คือความหลุดพ้น โดยที่ท่านได้มองเห็นผลที่เปรียบเทียบกัน ว่าในระหว่างที่ท่านได้เป็นโจรดุร้าย ฆ่ามนุษย์ มีเลือดเปื้อนมืออยู่นั้น ชื่อว่าอยู่ในสมัยที่มีความประมาท ประกอบกรรมที่เป็นบาปอกุศลอย่างเต็มที่ เหมือนอย่างดวงจันทร์ที่อยู่ในหมอกเมฆมืดมิดไม่ปรากฏความสว่าง จิตใจก็ถูกห้วงกิเลสพัดไป คือมุ่งที่จะฆ่าเขาเท่านั้น เพื่อที่จะตัดเอานิ้วมือมาร้อยเป็นพวงรวมเอาไว้ แต่ว่าบัดนี้ท่านได้เข้ามาบวชแล้ว เป็นผู้ที่เว้นขาดจากบาปกรรมทั้งหมด ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท จึงเหมือนอย่างดวงจันทร์ที่พ้นจากหมอกเมฆแล้ว ส่องสว่างแล้ว และได้มีความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้นอยู่ดั่งนี้
ตรงกันข้ามกับในเวลาที่เป็นโจรนั้นต้องเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา จิตใจเองก็แข็งกระด้าง มุ่งที่จะฆ่าเขาเท่านั้น ไม่มีที่จะอ่อนโยน จึงไม่มีความสุขแม้แต่น้อย แต่ว่าบัดนี้ก็ตรงกันข้าม แต่แม้เช่นนั้นก็ยังต้องรับผลของกรรมคือการที่เที่ยวฆ่าเขานั้น และก็ได้มีศัตรูอยู่เป็นอันมาก เป็นศัตรูที่เกิดขึ้นเพราะกรรมของท่านเอง เมื่อไปเบียดเบียนเขาเขาก็ต้องโกรธ ต้องพยาบาท ต้องจองเวร พ่อแม่พี่น้องของผู้ที่ถูกท่านฆ่า ก็จะต้องโกรธ ต้องพยาบาท ต้องจองเวร เพราะฉะนั้น เมื่อท่านไปทำร้ายใครเข้าคนหนึ่ง ไปฆ่าใครเข้าคนหนึ่ง คนที่ถูกฆ่านั้นเองก็กลายเป็นศัตรูขึ้นมา ในเมื่อมีความโกรธจองเวรบรรดาญาติพี่น้องพ่อแม่ของคนนั้นก็เป็นศัตรูขึ้นมา เมื่อไปทำร้ายไปฆ่าใครเขามากขึ้น ก็เพิ่มศัตรูมากขึ้น และนอกจากนี้กรรมที่ทำนั้นเองเป็นศัตรู เมื่อท่านเดินไปบิณฑบาต เมื่อเป็นพระอรหันต์สิ้นกิเลสแล้ว ใครเขาโยนท่อนไม้ไปที่ไหน โยนก้อนหินก้อนดินไปที่ไหน สิ่งที่เขาโยนไปนั้น ก็ให้มาตกต้องกายของท่าน ทำให้ท่านต้องศีรษะแตกเลือดไหล บาตรแตก ผ้าสังฆาฏิจีวรก็ขาดกะรุ่งกะริ่ง เหล่านี้ก็คือว่ากรรมนั้นเองเป็นศัตรู ต้องมาตามสนอง แต่แม้เช่นนั้นท่านก็เป็นผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว จิตใจมีความสุขเต็มที่แล้ว ได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่งแล้ว ท่านมีสรณะแล้วและท่านก็ได้เป็นผู้ที่มาดีแล้ว คือมาสู่ที่ ดี คือมาสู่พระพุทธเจ้าเท่ากับมาสู่ที่ดีๆ และก็เป็นการมาการไปที่ไม่เปล่าปราศจากประโยชน์
เพราะท่านก็ได้มาถึงเอาประโยชน์ของการมาไว้ได้ด้วยการที่ปฏิบัติในธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกไว้ดีแล้ว ท่านได้มีความเห็นอันถูกต้อง ได้มีการปฏิบัติอันถูกต้อง ได้บรรลุถึงวิชชาทั้ง ๓ โดยลำดับแล้ว ได้ปฏิบัติกระทำพุทธศาสนาคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วดั่งนี้ ท่านได้เห็นผลที่เทียบเคียงกันดังนี้ ท่านจึงได้เปล่งอุทานตามที่แปลนั้นขึ้น เพราะฉะนั้น คำอุทานที่แปลของท่านนั้น จึงเป็นข้อธรรมที่เป็นประโยชน์ และข้อหนึ่งที่น่าจะอธิบายเพิ่มอีกเล็กน้อยก็คือว่า ท่านบริโภคโภชนะไม่มีหนี้ ก็โดยที่การบริโภคปัจจัย ๔ มีบิณฑบาตเป็นต้นนั้น ท่านแสดงไว้ว่า มี ๔ อย่าง คือ
๑. เถยยบริโภค บริโภคอย่างขโมยมาบริโภคก็ได้แก่การบริโภคปัจจัย ๔ ของผู้ทุศีลทั้งหลาย ซึ่งรับบริโภคปัจจัย ๔ ของผู้ที่เขามีศรัทธาถวายเพราะว่าเขามุ่งถวายแก่ผู้มีศีล ไม่ใช่เขามุ่งถวายแก่ผู้ที่ทุศีล เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติตนเป็นผู้ทุศีลบริโภคปัจจัย ๔ จึงชื่อว่าเถยยบริโภคที่บริโภคโดยความเป็นขโมย
๒. อิณบริโภค บริโภคเป็นหนี้ คือเหมือนอย่างกู้หนี้เขามาบริโภคใช้สอย ก็ได้แก่การบริโภคของผู้มีศีลนั่นแหละ แต่ว่ามิได้พิจารณา คือมิได้พิจารณาในขณะรับโดยความเป็นธาตุ หรือโดยความเป็นของปฏิกูล มิได้พิจารณาในขณะบริโภคตามบทพิจารณาที่สวดกัน คือ ปฏิสังขาโยทั้ง ๔ บท และมิได้พิจารณาในขณะที่บริโภคแล้ว ด้วยบท อชฺชมยา ทั้ง ๔ บท ถ้าในขณะที่กำลังบริโภคนั้นมิได้พิจารณา เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่า อิณบริโภค บริโภคเป็นหนี้
๓. ทายัชบริโภค คือบริโภคโดยความเป็นทายาท ก็ได้แก่การบริโภคของเสขบุคคลทั้งหลาย เพราะว่าเสขบุคคลทั้งหลายนั้น ได้นับเนื่องเข้าในสังฆคุณโดยตรง ก็นับว่าเป็นทายาทโดยตรงในพุทธศาสนาแล้ว เหมือนอย่างจะพูดได้ว่า เป็นบุตรของพระพุทธเจ้าผู้เป็นศากยะแล้ว
๔. สามิบริโภค บริโภคโดยความเป็นเจ้าของก็ได้แก่การบริโภคของพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านพระองคุลิมาลท่านกล่าวว่า ท่านบริโภคโภชนะทั้งหลายไม่มีหนี้ ก็หมายความว่าในขณะที่ท่านยังไม่เป็นพระอรหันต์ เมื่อท่านเข้ามาบวชแล้วท่านก็เป็นผู้มีศีลพิจารณาบริโภค และเมื่อท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็บริโภคในลักษณะที่เป็นสามิบริโภคนั้นจึงเป็นผู้ที่บริโภคโภชนะไม่มีหนี้จะแสดงตำนานแห่งอังคุลิมาลปริตร คือพระปริตรเกี่ยวแก่เรื่องพระองคุลิมาลต่อ ได้แปลความในอังคุลิมาลสูตรไปตามพระบาลีตั้งแต่ต้นจนจบแล้ว จะได้อธิบายความเกี่ยวแก่ที่ท่านพระองคุลิมาก็ได้กล่าวอุทานในขณะที่ท่านนั่งเสวยวิมุตติสุข คือความสุขอันเกิดจากวิมุตติ ความหลุดพ้น และได้แสดงความบางข้อในคาถาอุทานของท่าน เกี่ยวแก่ที่ว่าบริโภคโภชนะไม่มีหนี้ จะได้แสดงเรื่องของท่านต่อ คือเรื่องของท่านนี้ ก็น่าคิดว่าท่านเมื่อเป็นโจรได้ฆ่าคนเป็นอันมาก แต่ทำไมจึงได้มาบวชและได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ คนที่ทำกรรมบาปหยาบช้ามากฆ่าคนเป็นอันมาก ไม่น่าที่จะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ ในข้อนี้ก็จะต้องกล่าวถึงหลักทางพุทธศาสนาที่ท่านแสดงไว้ว่า บุคคลเช่นไรสำเร็จได้ บุคคลเช่นไรสำเร็จไม่ได้ บุคคลที่สำเร็จได้นั้นต้องเป็นจำพวกที่เรียกว่า เวเนยยะ อันแปลว่าผู้ที่พึงแนะนำได้ ดังที่ไทยเราเรียกกันว่า เวไนย หมู่แห่งบุคคลที่พึงแนะนำได้ เรียกว่า เวไนยนิกร ก็ได้แก่บุคคลที่เป็นผู้มีสติปัญญาอยู่ในระดับต่างกัน ๓ จำพวก คือผู้ที่มีสติปัญญาไว ฟังแต่เพียงหัวข้อธรรมที่ยกขึ้นแสดงได้ทันที เป็นจำพวกที่หนึ่ง บุคคลจำพวกที่เมื่อยกหัวข้อขึ้นแสดงแล้วต้องอธิบายถึงจะเข้าใจได้ ก็เป็นจำพวกที่สอง บุคคลจำพวกที่เมื่อยกหัวข้อขึ้นแสดงแล้วต้องอธิบาย และอธิบายหลาย ๆ หนดังทีเรียกว่าพร่ำสอนบ่อยๆ จึงจะเข้าใจได้ ก็เป็นจำพวกที่สาม สามจำพวกนี้สำเร็จได้ ส่วนอีกจำพวกหนึ่งเป็นผู้ที่มีสติปัญญาทึบมาก แนะนำเท่าใดก็รู้ไม่ได้ นี่เป็นจำพวกที่สี่ ที่แปลว่าสอนให้สำเร็จไม่ได้ ท่านแสดงบุคคลไว้ ๔ จำพวกดังนั้น ก็มุ่งทางปัญญาที่จะรู้ธรรมได้หรือไม่ได้เป็นที่ตั้ง สามจำพวกข้างต้นนั้นมีปัญญาที่จะรู้ธรรมได้ก็เรียกว่าสำเร็จได้ อนึ่ง บุคคลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิดิ่งลงก็สอนไม่ได้เหมือนกัน ก็สำเร็จไม่ได้ แต่บุคคลที่ไม่ใช่เป็นมิจฉาทิฏฐิที่ดิ่งลง คือเป็นมิจฉาทิฏฐิก็ตาม แต่ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิดิ่งลง ยังพอสอนให้กลับความเห็นได้ดั่งนี้ ก็สอนให้สำเร็จได้ แต่ว่าถ้ามีมิจฉาทิฏฐิ ดิ่งลงคือกลับความเห็นไม่ได้ก็สำเร็จไม่ได้
อนึ่ง บุคคลที่มีมานะคือความถือตัวจัด ไม่ยอมรับคำสั่งสอน ก็สอนให้รู้ธรรมไม่ได้เหมือนกัน เพราะมีมานะแรงดังเช่นท่านอาจารย์สญชัยของท่านพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ เมื่อก่อนที่ท่านมาพบพระพุทธศาสนา เมื่อท่านทั้งสองมาพบพระอัสสชิ ได้ดวงตาเห็นธรรม ก็ได้มาชักชวนอาจารย์ให้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแต่ท่านอาจารย์มีมานะแรงถือตัวแรง ว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ จะกลับมาเป็นลูกศิษย์อีกนั้นเป็นไปไม่ได้ ไม่ยอม จนถึงที่มีแสดงไว้ว่า บรรดาคนฉลาดก็ให้ไปหาพระพุทธเจ้า แต่คนโง่ก็ให้ไปหาท่านก็แล้วกัน เพราะว่าคนโง่นั้นก็มากกว่าคนฉลาด ท่านก็ย่อมมีลูกศิษย์มาก ก็เป็นอันว่าสำเร็จไม่ได้ คือมีมานะแรง
อนึ่ง จำพวกที่ทำบาปจนถึงอนันตริยกรรมทั้ง ๕ ก็เข้าถึงธรรมสำเร็จไม่ได้เหมือนกัน แต่ว่าถ้าทำบาปแม้จะฆ่ามนุษย์จำนวนมาก แต่มิใช่ฆ่าพ่อฆ่าแม่ มิใช่ฆ่าพระอรหันต์ มิได้ทำโลหิตุปบาทแก่พระพุทธเจ้า คือไม่ได้กระทำอนันตริยกรรมทั้ง ๕ ก็ยังมีโอกาสสำเร็จได้ แต่ถ้าทำอนันตริยกรรมทั้ง ๕ แล้วเข้าถึงธรรมสำเร็จไม่ได้ หลักทางพระพุทธศาสนาท่านแสดงไว้ดั่งนี้
ท่านพระองคุลิมาลนั้นไม่ได้เข้าในลักษณะต้องห้ามดั่งนี้ คือว่าท่านเป็นบุคคลที่มีพื้นทางปัญญาอยู่ใน ๓ จำพวกข้างต้นนั้น จึงมีสติปัญญาพอที่จะรู้ธรรมเข้าถึงธรรมสำเร็จได้ และท่านก็มิได้มีมิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดที่ดิ่งลง ยังกลับตัวได้ดังเช่นพระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า พระองค์หยุดแล้วแต่ท่านองคุลิมายังไม่หยุด ก็เป็นข้อที่สะกิดใจท่านเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อท่านได้ถามว่าหมายความว่าอย่างไร พระพุทธองค์ก็ทรงบอกว่า ได้หยุดการฆ่าการทำร้ายต่าง ๆ แต่องคุลิมาลนั้นยังไม่หยุด ยังฆ่ายังทำร้าย องคุลิมานี่เองก็ได้สติ ก็เลยทิ้งอาวุธทั้งปวงลงเหว ก็เข้าขอบวชกับพระพุทธเจ้า ก็แสดงว่าในขณะที่ท่านเที่ยวฆ่าคนนั้นก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือเห็นผิดแต่ไม่ใช่ดิ่งลง เมื่อพระพุทธเจ้ามาตรัสสะกิดใจก็ได้คิด ได้ละความเห็นผิด สำนึกตนว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงหยุดแล้วจริง ๆ แต่ว่าองคุลิมาลนั้นยังไม่หยุด จึงได้ตัดสินใจหยุด ก็หยุดได้ทันที ก็แสดงว่ากลับมาเป็นสัมมาทิฏฐิได้ และก็ไม่มีมานะที่ถือตัวว่าเป็นผู้วิเศษเหมือนอย่างอาจารย์สญชัยของท่านพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะที่ยังไม่ได้บวชนั้น ยอมตนมาเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า และแม้ท่านจะทำบาปกรรมเป็นอันมาก บาปกรรมที่ทำนั้นก็ยังไม่เป็นอนันตริยกรรม ยังมิได้ฆ่าพ่อฆ่าแม่
ในตอนนี้ก็ควรจะเล่าเรื่องที่แสดงไว้ในอรรถกถาขยายความจากพระสูตรที่มีความย่อว่า ท่านพระองคุลิมาลนั้นก็เป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิตในกรุงสาวัตถีนั่นแหละ ซึ่งมีบิดาชื่อว่าคัคคะ มารดาชื่อว่ามันตานี เพราะฉะนั้น เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสถาม และท่านได้ตอบให้ทราบชื่อของบิดามารดาของท่าน พระเจ้าแผ่นดินก็รับสั่งเรียกท่านว่า ท่านพระคัคคมันตานีบุตร ที่แปลว่าท่านผู้เป็นบุตรของคัคคพราหมณ์และมันตานีพราหมณ์ เอาชื่อของพ่อแม่มาเป็นชื่อของลูก เหมือนอย่างพระสารีบุตร ที่จริงก็เป็นชื่อของแม่ คือลูกของนางสารี ก็มาเป็นพระสารีบุตร พระเจ้าแผ่นดินก็เรียกพระองคุลิมาลว่าคัคคมันตานีบุตร แต่ว่าโหรดูฤกษ์เกิดของท่านว่าเกิดในโจรฤกษ์ เด็กคนนี้ต่อไปจะต้องเป็นโจร ทีแรกบิดามารดาคิดจะไม่เลี้ยง แต่ความทราบถึงพระเจ้าแผ่นดิน ก็ถามว่า เป็นโจรแก่ราชอาณาจักร หรือว่าเป็นโจรของชาวบ้านชาวเมืองธรรมดา โหรก็ตอบว่าเป็นโจรของชาวบ้านชาวเมืองธรรมดาเท่านั้น ไม่เป็นโจรทำลายราชอาณาจักร พระเจ้าแผ่นดินก็รับสั่งให้เลี้ยงไว้เถิด บิดามารดาจึงเลี้ยงไว้ แล้วก็ตั้งชื่อว่าอหิงสกะ ที่แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียนใคร ก็จะตั้งชื่อให้ดีนั่นเอง และเมื่อเติบโตขึ้น บิดามารดาก็ส่งท่านไปเรียนที่สำนักทิศาปาโมกข์ ท่านก็ได้เข้าไปเรียนในสำนักมีชื่อเสียงที่หนึ่ง ท่านได้ตั้งใจเรียนดีด้วย ปฏิบัติอาจารย์ดีด้วย เป็นที่รักใคร่ของอาจารย์ ลูกศิษย์อื่นๆ ก็ริษยา จึงไปยุอาจารย์ว่า อหิงสกมาณพนี้คิดทำลายอาจารย์อย่างนั้น ๆ ถือตัวว่าอาจารย์รัก ถือตัวว่าเรียนเก่ง
ทีแรกอาจารย์ก็ไม่เชื่อ เมื่อลูกศิษย์ที่ริษยาไปยุบ่อยเข้า อาจารย์ก็ชักจะคล้อยตามว่าอหิงสกมาณพคิดจะทำร้ายอาจารย์จริง ฉะนั้น เมื่อสอนๆ ไปจนใกล้จะจบ อาจารย์ก็บอกว่าจะศึกษาให้จบศิลปศาสตร์นั้นจำจะต้องไปประกอบกรรมสำคัญอย่างหนึ่ง คือจะต้องไปฆ่าคน เมื่อฆ่าคนหนึ่งแล้วก็ตัดนิ้วร้อยเป็นพวงไว้นับให้ได้พันหนึ่ง เมื่อฆ่าคนได้พันคนแล้วก็ให้นำนิ้วมือมาให้อาจารย์ อาจารย์ก็จะประสิทธิ์ประสาทวิชาให้ในที่สุด เป็นอันจบวิชาสูงสุด อหิงสกมาณพอยากจะได้วิชาที่สูงสุดเชื่ออาจารย์ ก็ออกไปเป็นโจรฆ่ามนุษย์ เก็บนิ้วมือมาร้อยไว้ ๆ ในเรื่องก็เล่าว่า ในบางคราวนิ้วมือก็หายไป เน่าไปบ้าง หายไปบ้าง จำนวนก็หายไป ก็ต้องไปฆ่าคนใหม่เพื่อจะให้ได้นิ้วมือที่ตัดมาครบถึงพัน และที่อาจารย์ทำอย่างนั้นก็ด้วยคิดว่า ถ้าลูกศิษย์คนนี้ไปทำอย่างนี้แล้ว ก็จะต้องพบคนที่มีฝีมือดีฆ่าตาย หรือไม่เช่นนั้นทางบ้านเมืองก็จะต้องปราบปรามฆ่าให้ตาย เป็นอันว่าอาจารย์ก็ไม่ต้องไปกำจัดลูกศิษย์ ลูกศิษย์ไปทำกรรมอย่างนี้ก็ถูกเขากำจัดเอง แต่ในเรื่องนี้นั้นบางท่านก็สันนิษฐานว่าได้มีลัทธิบางลัทธิในขณะนั้นสอนอย่างนั้น คือสอนให้ฆ่าคนเท่านั้นเท่านี้ แล้วจึงจะสำเร็จวิชา เพราะฉะนั้น ถ้าลัทธิของอาจารย์เป็นอย่างนั้น อาจารย์ก็คงจะบอกไปตามลัทธิ ไม่ใช่เป็นอย่างที่พระอรรถกถาจารย์เล่าก็ได้
อย่างไรก็ตามเมื่ออหิงสกมาณพได้ไปฆ่าคนมากมายเข้าๆ แล้วก็ตัดนิ้วมาร้อยเป็นพวงก็เลยได้ชื่อว่าองคุลิมาล มีมาลาคือระเบียบแห่งนิ้ว เหมือนอย่างพวงดอกไม้ ก็คือมาลาแห่งดอกไม้ เรียกว่าเป็นพวงนิ้วมือ องคุลิมาลก็แปลว่าพวงนิ้วมือ และตามเรื่องก็เล่าว่า บิดามารดาขององคุลิมาลก็เดือดร้อนเป็นอันมาก ที่ลูกไปเป็นโจรเช่นนั้น จนถึงกับมารดาตัดสินใจว่าจะออกไปพบบุตร และแนะนำบุตรให้กลับตัว และถ้ามารดาขององคุลิมาลออกไปพบก็เกรงว่าองคุลิมาลจะต้องฆ่าแม่ เพราะได้นิ้วมือยังไม่ครบพันและใกล้จะครบพัน และในตอนหลังๆ องคุลิมาลก็ได้นิ้วมือยากเข้า เพราะคนพากันเกรงกลัว ไม่กล้าที่จะเดินทางออกไปในถิ่นที่องคุลิมาลอาศัยอยู่ คนในถิ่นที่องคุลิมาลอาศัยอยู่ ก็พากันอพยพหนี องคุลิมาลเองก็คงไม่กล้าเข้าบ้านเข้าเมืองโดยตรง เพราะกลัวจะถูกทหารทำลาย ก็ต้องหลบอยู่ในป่า ก็เป็นอันว่าได้นิ้วมือยังไม่พอหรือใกล้จะพอ จนถึงกับที่พระอาจารย์เขียนไว้ว่า ขาดอีกนิ้วเดียวก็จะได้ครบพัน ทีนี้ถ้ามารดาเดินออกไป องคุลิมาลก็คงจะต้องฆ่าแม่เพื่อให้ได้นิ้วมือครบพัน และถ้าฆ่าแม่แล้วก็เป็นอันว่าได้ทำอนันตริยกรรม เมื่อทำอนันตริยกรรมแล้วก็เป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าโปรดไม่ได้ เพราะเป็นมหันตกรรมอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าได้ทอดพระเนตรอุปนิสัยขององคุลิมาลว่า อุปนิสัยของมรรคและผลมีอยู่ และพระองค์ไปโปรดทันเวลา คือออกไปก่อนที่แม่จะไป และเมื่อโปรดพระองคุลิมาก็ได้แล้ว ก็เป็นอันว่าจะได้ช่วยองคุลิมาลไม่ให้ทำอนันตริยกรรม และได้ช่วยให้ละอกุศลธรรมได้ด้วย กลับตัวได้มาเป็นคนดีต่อไป จึงเสด็จออกไปโปรดพระองคุลิมาลได้สำเร็จ
ท่านเล่าไว้อย่างนี้ และในบทที่สวดนั้น ก็สวดบทที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้พระองคุลิมาลไปแสดงแก่หญิงมีครรภ์ คือแต่บทที่ว่า ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส พระก็สวดเท่านี้ ดังที่ได้แสดงคำแปลไปแล้ว