หนูดี-วนิษาถ่ายทอดความคิดที่ตกผลึก ถึงการใช้ประโยชน์และควบคุมอำนาจ หลังจากเข้าร่วมงานภาวนา "ศิลปะของอำนาจ" นำโดยหลวงปู่ติช นัท ฮันห์
หนูดีมาอยู่ที่ภูเขางาม รีสอร์ท จังหวัดนครนายก เพื่อร่วมงานภาวนา "ศิลปะของอำนาจ" นำโดยท่านเจ้าอาวาสวัดพลัม ประเทศฝรั่งเศส หลวงปู่ติช นัท ฮันห์ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ชาวเวียดนามวัยกว่า 80 ปี
งานภาวนาครั้งนี้ เน้นผู้เข้าร่วมที่เป็นนักธุรกิจหรือผู้บริหารเท่านั้น เพราะเรื่องราวที่พูดเกี่ยวข้องกับการดูแล "อำนาจ" แต่เมื่อมองไปที่รายละเอียดอย่างลึกซึ้งแล้ว หนูดีพบว่า นี่เป็นเรื่องราวที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ แม้ว่าจะไม่ใช่นักธุรกิจก็ตาม
"อำนาจ" ในความหมายของหลวงปู่และความหมายของศาสนาพุทธ ก็คือ เรื่องของ "พละ 5" หรือ กำลังทั้งห้า ที่ประกอบด้วย อำนาจแห่งศรัทธา อำนาจแห่งความเพียร อำนาจแห่งสติ อำนาจแห่งสมาธิและอำนาจแห่งความเห็นแจ้ง เมื่อเรามีสิ่งเหล่านี้ครบ ก็เท่ากับว่าเรามีพลังและอำนาจ อำนาจเหล่านี้จะไม่ทำให้ใครทุกข์ ในทางตรงกันข้ามกลับทำให้เรามีความสุขได้อย่างมากและอย่างลึกซึ้ง
เช้าวันแรก เราพูดคุยกันถึงอำนาจที่เป็นพื้นฐานของความสุข คือ "มหาปัญญา" ฟังดูแล้วยิ่งใหญ่มาก แต่หลวงปู่บอกว่า มหาปัญญาก็แปลได้ง่ายๆ ว่า "ความเข้าใจ" แต่เราจะเข้าใจเรื่องอะไรกันดี ในเมื่อโลกนี้มีเรื่องให้ทำความเข้าใจมากมาย ท่านบอกว่า เรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจนั้น ก็คือ ความทุกข์ของเราเอง เมื่อทำความเข้าใจถึงก้นบึ้งของความทุกข์ได้ นั่นก็คือ การเกิดขึ้นแล้วของมหาปัญญา
เมื่อหันกลับมามอง มาเข้าใจความทุกข์ว่ามีธรรมชาติอย่างไร เกิดขึ้นมาได้อย่างไร สิ่งมหัศจรรย์สองสิ่งจะเกิดขึ้น สิ่งแรกก็คือ เราจะมีความสุขมากขึ้น เพราะความทุกข์หายไป และสิ่งที่สองก็คือ สามารถอยู่ตรงนั้นได้เพื่อช่วยให้คนอีกคนหนึ่งหายทุกข์ ในสายตาหนูดีแล้ว นี่คือสาระสำคัญของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ คือ การได้ทำให้ทุกข์ของเราเบาบางจนจางหาย กับการช่วยคนอื่นๆให้ทุกข์น้อยลง ถ้าเกิดมาแล้วไม่ได้ทำอย่างอื่นเลย ได้ทำแค่สิ่งนี้ หนูดีก็ถือว่าเกิดมาคุ้มแล้ว
แต่ความทุกข์มีอยู่ทุกที่ แม้แต่คนที่มีชีวิตสมบูรณ์ที่สุดแล้ว หนูดีคิดว่าความทุกข์มันเป็นของ Built-in หรือ สร้างมาคู่กับความเป็นมนุษย์ เช่น อย่างน้อยเราก็ต้องหิว ง่วง เหนื่อย ปวดเมื่อย ขี้เกียจ เจ็บป่วย คือ ต่อให้เรามีชีวิตสุดยอดเพียงไหน แต่ความทุกข์ก็เหมือนจะรอเราอยู่ที่มุมตึกข้างหน้าเสมอ ในเมื่อหนีไม่ได้ ก็ป่วยการจะหนีค่ะ สู้กันแบบแมนๆ เลยดีกว่า
หนูดีพบสิ่งหนึ่งที่แปลกประหลาดมากหลังจากปฏิบัติธรรมก็คือ พอเราตั้งใจดูความทุกข์แบบเอาจริงเอาจัง ไม่เลี่ยงไม่หลบอีกต่อไป กลับพบว่า ความทุกข์เกิดขึ้นยากมาก ทั้งๆ ที่เมื่อก่อน อะไรนิดอะไรหน่อยก็ทำให้รำคาญไปจนถึงขั้นทุกข์ได้
หนูดีเลยมีทฤษฎีเล็กๆ ส่วนตัวว่า
"เมื่อเราไม่กลัวความทุกข์ ความทุกข์ก็เลยกลัวเราเสียเอง" เพราะเมื่อก่อนเราวิ่งหาความสุข เรียนให้ดีก็เพราะอยากมีความสุข แต่พอสอบได้คะแนนต่ำ คราวนี้ทุกข์แบบเต็มๆ หนูดีมาสังเกตตัวเองเมื่อก่อน เหมือนเป็นลูกโป่ง คือ เวลามีความสุขก็เหมือนเป่าลมเข้าไปเต็มที่ ลอยล่องอยู่บนฟ้า เหมือนอยู่เหนือความทุกข์ทั้งหมด แต่พลิกแค่นาทีเดียว เอาวัตถุแห่งความสุขของหนูดีออกไป ก็พร้อมจะพลิกกลับไปอยู่อีกขั้ว คือ ทุกข์มหาศาลได้ทันที
หนูดีนับว่าโชคดีที่เกิดมาเป็นคนพุทธ และเมื่อได้ลองปฏิบัติแบบตั้งใจจริงไม่กี่ปีเท่านั้นเอง โดยเอา "หัวใจ" ของตัวเองเป็นเครื่องมือทำการทดลอง เฝ้าตามดูความทุกข์และความสุข แล้วก็บอกตัวเองว่า พอเสียทีกับอาการสุขมากทุกข์มาก เพราะตามไม่ทัน เดี๋ยวจะหัวใจวายตายไปเสียก่อน
เมื่อเริ่มมาพิจารณาความทุกข์ของตัวเอง พบว่า จริงๆ แล้วความสุขแอบอยู่ข้างๆ ความทุกข์นั่นเอง ขณะเดียวกัน ความทุกข์ก็แอบอยู่ข้างๆ ความสุขนั่นเอง มันเป็นสองด้านของเหรียญ
เมื่อเรามีความทุกข์ เช่น ความโกรธ พระพุทธเจ้าไม่แนะนำให้เก็บกดอารมณ์นั้นไว้ และไม่แนะนำให้ระเบิดอารมณ์นั้นออกไป ท่านแนะนำให้เราหันไปมองอารมณ์นั้นโดยปราศจากความกลัว ซึ่งหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ แนะนำให้เรา "โอบกอดความโกรธ" นั้นไว้ เป็นคำที่เห็นภาพและน่าทำตามที่สุด คือ สมมติว่า ความโกรธเป็นลูกตัวเล็กๆ ที่กำลังร้องไห้จ้า และเราเป็นแม่ที่เต็มไปด้วยความรัก ให้เอาพลังความรักเข้าไปโอบกอดจนความโกรธนั้นหยุด ซึ่งเท่าที่หนูดีลองทำ ได้ผลทุกครั้ง 100%
อีกอำนาจที่พูดถึงคือ "อำนาจแห่งความรัก" เพราะว่าความรักจะทำให้เราเป็นอิสระอย่างแท้จริง เมื่อมองความโกรธของตัวเองด้วยความรัก ความเมตตา ความโกรธจะจางหาย แต่เมื่อมองคนอื่นที่ทำให้เราโกรธด้วยรักเมตตา ความโกรธที่เรามีต่อเขาก็จะเริ่มจาง คนเราถ้าไม่ทุกข์ ก็ทำให้คนอื่นทุกข์ไม่ได้ หลวงปู่บอกว่า ใครทำให้เราทุกข์ ให้แค้นใจ แปลว่าคนนั้นเขาทุกข์อยู่ เขาเป็นเหยื่อความทุกข์ของเขา และเราก็เป็นเหยื่อความทุกข์ของเขาเช่นกัน แต่ถ้าเปลี่ยนตัวเองจาก "ผู้ถูกกระทำ" มาเป็น "ผู้เยียวยา" เราก็จะพ้นทุกข์ และช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ได้ด้วยในขณะเดียวกัน
นี่ละค่ะ "อำนาจที่แท้จริง" ในความหมายของศาสนาพุทธ
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ