ตอนโทณพราหมณ์ห้ามทัพแล้วแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ได้กล่าวถึงราชรถดังสำนวนพรรณนาอันไพเราะ ดังนี้
“ในขณะนั้น กษัตริย์ในเมืองโมรีนคร อันสถิตอยู่ ณ ที่ใกล้ป่าปิปผลิวันได้ทราบว่าพระทศพลเข้าสู่พระปรินิพพาน จึงส่งราชทูตให้ถือพระราชสาส์นมาถึงกษัตริย์มัลลราช ณ เมืองกุสินาราย ขอส่วนพระบรมธาตุ แล้วเสด็จยกพยุหยาตราตามมาในภายหลัง ครั้งนั้น กษัตริย์กุสินารายจึงแจ้งเหตุว่า ส่วนพระสารีริกธาตุนั้นปันแจกกันสิ้นแล้ว ท่านจงนำเอาพระอังคารไปสักการบูชาเถิด แลกษัตริย์โมรีนครก็เชิญพระอังคารไปกระทำสักการบูชา ดำดับนั้น กรุงอชาตสัตตุราช เมื่อจะอัญเชิญพระบรมธาตุจากเมืองกุสินารายไปสู่กรุงราชคฤห์ แลในที่ระหว่างพระนครทั้งสองนั้นกำหนดมรรคาได้ ๑๒๕ โยชน์ แลทางในระหว่างนั้น พระองค์ให้ชนทั้งหลายปราบให้ลื่นราบเสมอเป็นอันดี มีประมาณโดยกว้างได้ ๘ อุศุภ แลตกแต่งอย่างมรรคาอันมาแต่งมกุฏพันธนเจดีย์ จนถึงที่สันฐาคารศาลาซึ่งพระยามัลลราชทั้งหลายในเมืองกุสินารายตกแต่งนั้น แล้วให้ตั้งร้านตลาดรายเรียงไปตามสองข้างมรรคาจนตลอด ๑๒๕ โยชน์ เพื่อจะยังรี้พลทั้งหลายมิให้เป็นทุกข์ลำบาก ด้วยจะอดอยากอาหารในหนทางแล้ว ให้อัญเชิญพระหีบทองซึ่งใส่พระบรมธาตุขึ้นประดิษฐานบนบัลลังก์ราชรถ แลให้สันนิบาตหมู่ชนทั้งหลายบรรดาอยู่ในปริมณฑลทั่วพระราชอาณาเขต แห่งกรุงราชคฤห์ทั้ง ๕๐๐ โยชน์นั้นมาพร้อมกันทั้งสิ้นแล้ว ให้ยาตรารถทรงพระบรมธาตุไปจากเมืองกุสินาราย ให้เล่นการสาธุกีฬนักขัตฤกษ์บูชาไปตามระยะทาง เบื้องว่าเห็นดอกไม้ป่าออกบานในที่ใด ก็ให้หยุดรถพระบรมธาตุอยู่กระทำสักการบูชาในที่นั้น กว่าจะสิ้นดอกไม้ที่บาน แล้วชักรถไปถึงที่ประมาณสุดแอก ก็ให้หยุดสมโภชอยู่เจ็ดวันๆ แต่กระทำโดยนิยมดังนี้ แลเชิญพระสารีริกธาตุมาถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ล่วงไป ก็ยังไม่ถึงเมืองราชคฤห์”พระมหาชนก คัมภีร์ชาดก พระราชนิพนธ์แปลของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนพระมหาชนกกล่าวถึงราชยานเนรมิต ซึ่งท้าวสักกเทวราชเนรมิต สำหรับช่วยพระมเหสีอริฏฐชนกที่กำลังหลบหนีพระโปลชนกไปเมืองกาลจัมปากะ พระมเหสีเทวีเป็นพระมารดาพระโพธิสัตว์ จึงประกอบด้วยบุญบารมีอันสูงส่ง ราชยานที่ท้าวสักกเทวราชเนรมิตขึ้นมีตั้งเตียงสำหรับประทับนั่งจึงถูกต้องตามประเพณีวงศ์กษัตริย์ ดังบทพรรณนาโวหาร ความว่า
“พระนางเธอเสด็จออกทางพระทวารด้านทิศอุดรไม่รู้จักหนทางเพราะไม่เคยเสด็จไป ณ ที่ไหนเลย ทั้งไม่สามารถจะทรงกำหนดทิศทางได้ จึงประทับ ณ ศาลาแห่งหนึ่ง จะได้ตรัสถามด้วยทรงคิดว่า คนที่จะเดินทางไปเมืองกาลจัมปากะคงจะมีเพราะเคยได้ยินแต่ชื่อเมืองกาลจัมปากะว่ามีอยู่เท่านั้น แต่สัตว์ที่เกิดในพระครรภ์ของพระเทวีนั้น มิใช่สัตว์สามัญเป็นพระมหาสัตว์มีบารมีเต็มเปี่ยมแล้วมาบังเกิด ด้วยเดชานุภาพแห่งพระมหาสัตว์นั้น บันดาลให้ภพของท้าวสักกเทวราชสำแดงอาการร้อน ท้าวสักกเทวราชทรงอาวัชชนาการก็ทรงทราบเหตุนั้น ทรงดำริว่า สัตว์ผู้ทรงถือปฏิสนธิในพระคัพโภทรของพระนางเธอมีบุญญาธิการมาก จำอาตมะจะต้องไปยังสำนักพระเทวีนั้น จึงทรงนิมิตยานมีเครื่องปกปิดแล้วจัดตั้งเตียงไว้ในยานนั้น แล้วแปลงเพศเป็นคนแก่ ขับยานไปหยุดอยู่ที่ประตูศาลาที่พระนางเธอประทับอยู่ แล้วทูลถามพระเทวีว่า คนที่จะไปยังกาลจัมปากะนครมีอยู่หรือ พระเทวีได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสตอบว่า คุณพ่อเจ้าขา ดิฉันจะไปค่ะ ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า ถ้าเช่นนั้นก็เชิญแม่ขึ้นมาบนยานเถิด พระมหาเทวีเสด็จออกมาแล้วตรัสว่า
คุณพ่อเจ้าขา ดิฉันมีครรภ์แก่ไม่สามารถจะขึ้นยานได้ จะขอเดินตามคุณพ่อไปข้างหลัง แต่ขอฝากกระเช้าคุณพ่อไป ท้าวสักกเทวราชตรัสว่า แม่พูดอะไรไม่มีใครจะรู้จักขับยานเช่นข้าพเจ้าเลย แม่อย่ากลัวไปเลย เชิญขึ้นมานั่งบนยานนี้เถิด ด้วยเดชานุภาพแห่งพระโอรสของพระนางเธอ ในขณะที่พระนางจะเสด็จขึ้นยาน แผ่นดินก็นูนขึ้นดุจลูกหนังอัดลมแน่น ฉะนั้นจากที่สุดยาน พระนางเธอก็เสด็จขึ้นบรรทม ณ พระแท่นบรรทมมีศิริ”
อีกตอนหนึ่งกล่าวถึงการปล่อยปุสราชรถหลังจากพระเจ้าโปลชนกแห่งกรุงมิถิลาเสด็จทิวงคตแล้วว่า
“ลำดับนั้น ท่านปุโรหิตาจารย์ จึงกล่าวกะเสนาอมาตย์ราชบริพารว่าท่านทั้งหลายอย่าวิตกเลย เราควรเสี่ยงปล่อยบุศยราชรถไป เพราะพระราชาที่เชิญเสด็จมาด้วยบุศยราชรถ เป็นผู้สามารถจะครองราชย์สมบัติในชมพูทวีปได้ทั้งสิ้น เสนามาตย์ราชบริพารทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในต่างเห็นพร้อมกัน จึงให้ตกแต่งพระนครแล้วเทียมม้าสี่มีสีดุจดอกโกมุทที่ราชรถอันเป็นมงคล ลาดเครื่องลาดอันวิจิตรเบื้องบน ให้ประดิษฐานเครื่องราชกกุธภัณฑ์ห้าประการแวดล้อมด้วยจาตุรงคินีเสนา ชนทั้งหลายประโคมเครื่องดนตรี ข้างหน้าราชรถที่พระราชาเป็นเจ้าของ ประโคมเบื้องหลังราชรถที่ไม่มีเจ้าของ เพราะฉะนั้น ท่านปุโรหิตาจารย์จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงประโคมดนตรีทั้งปวงหลังราชรถ แล้วประพรมสายหนังเชือก แอก ประตัก ด้วยพระเต้าทองคำซึ่งใส่น้ำมงคลเต็มเปี่ยมแล้วสั่งราชรถว่า การครองราชย์สมบัติเป็นบุญแห่งผู้ใด จงไปสู่สำนักแห่งผู้นั้น แล้วเสี่ยงปล่อยราชรถนั้นไปฯ
ลำดับนั้น ราชรถทำประทักษิณพระราชมณเฑียรสถานแล้วขึ้นไปสู่ทางใหญ่แล่นไปโดยเร็ว ชนทั้งหลายมีเสนาบดีเป็นต้น พากันคิดว่าขอบุศยราชรถจงแล่นมายังสำนักเราเถิด ราชรถแล่นล่วงเคหสถานทั้งปวงไป ทำประทักษิณพระนครแล้วแล่นออกไปทางประตูทิศบูรพาบ่ายหน้าตรงไปยังพระราชอุทยาน ครั้งนั้นชนทั้งหลายเห็นราชรถแล่นไปโดยเร็ว จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงยังราชรถให้กลับ ท่านปุโรหิตาจารย์จึงห้ามว่า อย่าให้กลับเลย ถึงแล่นไปตั้งร้อยโยชน์ก็อย่าให้กลับเลย ราชรถแล่นเข้าไปยังพระราชอุทยาน ทำประทักษิณแผ่นศิลามงคล แล้วหยุดอยู่เป็นดังคอยเตรียมรับเสด็จให้ขึ้น
ปุโรหิตาจารย์ เห็นพระโพธิสัตว์เจ้าบรรทมอยู่ จึงเรียกเหล่าอำมาตย์มากล่าวว่า ท่านทั้งหลายมีท่านผู้หนึ่งนอนอยู่บนแผ่นศิลาเป็นมงคลปรากฏอยู่ แต่ว่าเราทั้งหลายยังไม่รู้ว่า ท่านผู้นี้จะมีปัญญาสมควรแก่พระมหาเศวตฉัตร์หรือไม่ ถ้าว่าท่านผู้นี้มีปัญญาก็จักไม่ลุกขึ้นและจักไม่แลดู ถ้าเป็นคนกาลกรรณีจักกลัวจักตกใจ ลุกขึ้นสะทกสะท้านแลดูแล้วจักหนีไป ขอท่านทั้งหลายจงประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันโดยเร็ว คนทั้งหลวงทั้งปวง ก็ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันทั้งร้อย ในขณะนั้นแล เสียงดนตรีเหล่านั้น ประหนึ่งเสียงกึกก้องทั่วไปในท้องสมุทรสาคร พระมหาสัตว์ตื่นบรรทมด้วยเสียงดนตรีนั้น เปิดพระเศียรทอดพระเนตรเห็นมหาชนแล้วทรงจินตนาการว่า เศวตฉัตร์มาถึงเราแน่แล้ว คลุมพระเศียรเสียอีก พลิกพระองค์บรรทมโดยข้างเบื้องซ้าย ฝ่ายท่านปุโรหิตาจารย์เปิดผ้าคลุมพระบาทตรวจดูลักษณะแล้วกล่าวว่า อย่าว่าแต่เพียงทวีปเดียวเท่านี้เลย ท่านผู้นี้สามารถครองราชสมบัติในมหาทวีปทั้งสี่ได้ กล่าวฉะนี้แล้วให้ประโคมดนตรีอีก ลำดับนั้น พระมหาสัตว์เปิดผ้าคลุมพระพักตร์อีก พลิกพระองค์บรรทมเบื้องขวา ทอดพระเนตรมหาชน ท่านปุโรหิตาจารย์ให้มหาชนหลีกห่างออกไปแล้ว ประคองอัญชลีก้มหน้ากราบทูลว่า ขอเดชะ ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทได้เสด็จลุกขึ้นเถิด ราชสมบัติมาถึงใต้ฝ่าพระบาทแล้ว พระเจ้าข้าฯ
ลำดับนั้น พระมหาสัตว์จึงถามท่านปุโรหิตาจารย์ว่า พระเจ้าอยู่หัวของท่านไปไหนเสียเล่า เมื่อปุโรหิตาจารย์กราบทูลว่า เสด็จทิวงคตเสียแล้ว จึงตรัสถามว่า พระราชโอรสหรือพระราชภาดาของพระเจ้าอยู่หัวไม่มีหรือ ปุโรหิตกราบทูลว่า ขอเดชะ พระราชโอรสไม่มี มีแต่พระราชธิดาอยู่องค์หนึ่ง เมื่อพระโพธิสัตว์ได้สดับคำของท่านปุโรหิตาจารย์ดังนั้นแล้ว จึงรับสั่งว่า ถ้าอย่างนั้นก็ดีแล้ว เราจักครองราชสมบัติ จึงเสด็จลุกขึ้นประทับนั่ง ณ แผ่นศิลาเป็นมงคล แต่นั้นชนทั้งหลายมีเสนามาตย์ราชปุโรหิตาจารย์เป็นต้น ก็ถวายอภิเษกพระมหาสัตว์เจ้า ณ สถานที่นั้น พระโพธิสัตว์เจ้าทรงพระนามว่า มหาชนกราชา ท้าวเธอประทับ ณ ราชรถอันประเสริฐ เสด็จเข้าพระนครด้วยสิริโสภาคอันใหญ่หลวง เสด็จขึ้นยังพระราชนิเวศน์ ทรงพิจารณาว่า เสนาบดีเป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหลายเหล่านั้น แล้วเสด็จถึงข้างฝ่ายใน มหาเวสสันดรชาดก ในมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์ทานกัณฑ์ กล่าวถึงการบริจาคสัตสดกมหาทาน และการยกราชรถให้พวกเหล่าพราหมณ์ เป็นบทพรรณนาโวหารที่มีความไพเราะ และบรรยายให้เห็นภาพพจน์อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ดังนี้ ”โสณฺฑานํ เทถ วารุณี กลัวว่านักเลงสุราบานจะติฉัน เธอก็ให้พระราชทานสิ่งทุกประการ แล้วให้จ่ายแจกสัตตสดกมหาทาน เป็นต้นว่า คชสารเจ็ดร้อย สพฺพาลงฺการภูสิเต ประดับอาภรณ์พู่ห้อยหูดูเฉิดฉาย ดารารายรัตคนทอง ตาข่ายกรองปกกระพองหัตถี คามณีเยหิ มีนายหัตถาจารย์ขี่ประจำคอ มือถือขอคร่ำสุวรรณ คชสารแต่ละตัวนั้นเรี่ยวแรงร้ายคำรณ มาตงฺเค เกิดในป่าต้นหางปกส้นสมตระกูลหัตถี สตฺต อสฺสสเต ทตฺวา ให้จ่ายแจกอัสดรราชพาชี เลือกที่ตัวดีเรืองณรงค์องอาจ สินฺธเว สีฆวาหเน เกิดแต่ชาติสินธพควบขี่ตีตลบตะลุยไล่ อยู่ปืนไฟไม่ถอยถด ลางตัวก็ย่างพยศย่ำซ้ำรอยอยู่กับที่ ล้วนแต่ชาติพาชีระวางใน เครื่องอานใส่ประไพพร้อมย่อมเจริญตา คามณีเยหิ มีนายม้าถือไม้แส้ทุกคนหมด สตฺต รถสเต ทตฺวา ให้จ่ายแจกราชรถอันบรรจงพร้อมไปด้วยดุมกำกงอลงกรณ์ งอนแอกแปรกบัลลังก์สุวรรณฉลุฉลักเป็นชั้นช่อห้อย สพฺพาลงฺการภูสิเต ประดับด้วยเพชรพลอยย้อยระยับสลับสี เทียมด้วยสินธพพาชีทั้งคู่ นายสารถีถือธนูดูสง่าตากรอกกลมในราชรถนั้นนางสนมนั่งเสงี่ยม ยุคลถันนั้นก็ทัดเทียมปทุมทอง วิมลพักตร์ก็ผุดผ่องละอองนวล ดูน่าจะเชยชวนยวนวิญญาณ์ นิกฺขรชฺชูหิ อลงฺกตา ประดับด้วยเครื่องอาภรณ์พรายพรรณ ดังสุรางค์นางสวรรค์ในชั้นฟ้า สตฺตา เธนุสเต ทตฺวา ให้จ่ายแจกโคนมอีกเจ็ดร้อยมิได้ขาดทั้งทาสทาสีก็สิ้นเสร็จ”
อนึ่ง ในทานกัณฑ์ยังได้กล่าวถึงตอนพระเวสสันดร มัทรี กัณหาและชาลี ต้องถูกเนรเทศออกจากพระนคร พระองค์เสด็จโดยราชรถแก้วอันงดงาม พรั่งพร้อมด้วยแก้วแหวนอันงดงามบรรทุกใส่ในราชรถ ลักษณะที่กล่าวถึงเช่นนี้ จึงทำให้เห็นประเพณีเด่นชัดยิ่งขึ้นว่า ราชรถ คือพาหนะของพระราชาหรือใช้สำหรับผู้ที่เป็นวงศ์กษัตริย์ หรือวงศ์เทพเท่านั้น ดังบทพรรณนาโวหารความว่า
จตฺตาโร ขตฺติยา ปางเมื่อกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ทรงพระโศกาตั้งแต่เวลาประถมยามเสวยความเวทนา จนเวลาอรุณรังสีทิพากร ฝ่ายพระเวสสันดรจอมกษัตริย์ จึงตรัสสั่งชาวพนักงาน ให้เบิกอลังการแก้วแหวานอันสุกสด บรรทุกใส่ในราชรถแก้ว แล้วให้ประทับกับเกยมาศ”
หรืออีกบทหนึ่งกล่าวว่าพระเวสสันดรทรงราชรถทองซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับราชรถของพระอาทิตย์ ความว่า
“สั่งแล้วกษัตริย์ทั้งสี่พระองค์ขึ้นทรงราชรถทอง ฝ่ายสินธพเรืองรองผยองย่างอย่างพยศ ชักราชรถออกจากทวารวัง เสียงกงกำก็กึงกังดังก้อง ดังจะเลื่อนลอยล่องด้วยกำลังม้า ฝูงสหชาตโยธาถวายบังคมบรมจักราธิราช มนตรีสี่อำมาตย์ราชนิกูลส่งเสด็จทุกกระทรวง เหล่ายาจกนั่งตามถนนหลวงเนืองแน่น ท้าวเธอโปรยแก้วแหวนให้เป็นทานทุกถ้วนหน้า จึงสั่งสหชาตโยธาให้กลับคืนพระนคร”
การกล่าวถึงราชรถจะพบว่าถ้าเป็นราชาผู้ครองนครหรือเป็นรัชทายาทที่จะสืบราชบัลลังก์ต่อมักจะใช้ พิชัยราชรถ ดังพรรณนาโวหารข้อความว่า ”ท้าวเธอตรัสแล้วก็ชักพิชัยราชรถแก้วหันกลับมากลางทาง”
พระเวสสันดรตั้งพระทัยไว้ว่าพระองค์จะบริจาคทุกสิ่งเป็นทาน เมื่อพระองค์ถูกเนรเทศไปอยู่เขาวงกต พระนางมัทรี กัณหา ชาลี ซึ่งเป็นที่สนิทเสน่หาก็เสด็จตามไปด้วย ทุกพระองค์ทรงราชรถเทียมม้าตามอิสริยศักดิ์ แต่ก็มีพราหมณ์มาขอม้าไป เทพเจ้าต้องเนรมิตละมั่งทองรองรับแอกแบกราชรถไว้ แต่ในที่สุดพระองค์ก็ทรงยกราชรถให้พราหมณ์ชราที่ทูลขอ ดังบทพรรณนาโวหารความว่า
”จตฺตาโร พฺราหฺมณา ยังมีพราหมณ์ชราร่างสี่คนวิ่งตามมาร้องทูลขออัสสวราม้ามรกต ท้าวเธอก็เปลื้องจากราชรถให้เป็นทาน งอนแอกรถก็บันดาลไม่ตกลง ฝ่ายเทพเจ้าทั้งสี่พระองค์ทรงกำลังนฤมิตเป็นละมั่งทองเข้ารองแอกแบกราชรถไว้
ยังมีพราหมณ์เข็ญใจผู้หนึ่ง ครั้นมาทูลขอรถ ท้าวเธอก็มอบให้หมดทุกสิ่งของ เทพเจ้าละมั่งทองก็อันตรธาน”
นครกัณฑ์ยังได้กล่าวถึงขบวนราชรถซึ่งพระเจ้ากรุงสัญชัยจัดไปเชิญเสด็จพระเวสสันดรและพระนางมัทรีกลับเมือง พรรณนาโวหารตอนนี้แสดงให้เห็นประเพณีการจัดขบวนรถ
”รถิกา พลรถงอนงามเยียระยง เสนารถขึ้นดำรงบนบัลลังก์
เป็นสองกับสารถีนั่งเบื้องหน้า ขับอาชาเยื้องย่าง อีกทหารสองข้างสอง
คนพลรักษารถ เป็นสี่สิ้นทั้งหมดรถหนึ่งมี สามารถทวาทสโยธีโดย
ขบวน จัดเป็นรถานีก ถ้วนกระบวนหนึ่งซึ่งตกแต่ง ตามตำแหน่งรถ
พยุหยาตรา
ปตฺติกา หนึ่งพลโยธาเดินเท้า ไต่เต้าตามกันชั้นละสี่ จัดเป็นองค์
ปัตตานีกโยธีหมู่หนึ่งพึงคณนา นับพลหัยรถคชโยธาเดินเท้า สิ้นทั้งสี่
เหล่าเข้าขบวน คิดเป็นทวยหาญหกสิบถ้วน กระบวนหนึ่งซึ่งไตร่ตรวจ
เป็นหมู่หมวดโดยนิยมดังนี้ สิริดุรงครถคชหัตถี สิ่งละหมื่นสี่สี่พรรณ
ปันออกเป็นสามกระบวน คิดเป็นทวยทหารหกหมื่นหกพันหกร้อยหก
สิบหกจำนวนจำแนกกอง เศษเหลือสิ่งละสองสิ้นทั้งสามเหล่า” พระวอสีวิการ จิตรกรรมฝาผนังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
เสลี่ยง วอ สีวิกา เสลี่ยง คือคานหาม เป็นเครื่องประกอบอิสริยยศ วอ เป็นยานที่มีลักษณะเป็นรูปเรือนหลังคาจั่ว สำหรับเจ้านายหรือข้าราชการฝ่ายในนั่ง มีคานรับอยู่ข้างใต้คู่หนึ่ง ใช้คนหาม ส่วน สีวิกา หมายถึง วอ ดังนั้น เสลี่ยง วอ และสีวิกา จึงเป็นยานประเภทที่ต้องใช้คนหามเช่นเดียวกัน บทละครเรื่องรามเกียรติ์ ได้กล่าวถึงวอ และสีวิกา ไว้หลายตอน เช่น
ตอนทศกัณฐ์ได้ประทานราชธิดานาคพระบิตุรงค์ขึ้นทรงราชรถ | | งามศักดิ์งามยศงามสง่า |
พระบุตรีนั้นทรงสีวิกา | | งามดั่งนางฟ้าสุราลัย |
พร้อมฝูงอนงค์นาคี | | โยธีเพียบพื้นแผ่นดินไหว |
ออกจากบาดาลกรุงไกร | | ไปโดยวิธีทางจร |
ตอนพระพรตแผลงศรอัคนิวาต พระพรตได้แผลงศรอัคนิวาตเป็นลมกรดถูกกองทัพยักษ์และพิชัยรถของท้าวจักรวรรดิพังพินาศ พระพรตให้พิเภกส่งศพท้าวจักรวรรดิเข้าเมืองมลิวัน นางวัชนีสูรผู้เป็นมเหสีนั่งวอแก้วอันงดงามเสด็จไปเฝ้าพระพรตพร้อมพระธิดา เมื่อนั้น | | นางวัชนีสูรเสน่หา |
ได้ฟังเสนีผู้ปรีชา | | ก็พาพระธิดาผู้ยาใจ |
ลงจากวอแก้วแพรวพรรณ | | พร้อมฝูงกำนัลน้อยใหญ่ |
ตามกันย่างเยื้องคลาไคล | | เข้าไปพลับพลารูจี |
การที่นางวัชนีสูรนั่งวอแก้วนี้ เป็นการแสดงความอ่อนน้อมต่อพระพรต และเป็นประเพณีที่ปรากฏให้เห็นว่าศักดิ์ของขัตติยนารี เมื่อเสด็จไปที่ใดจะใช้วอ และติดตามด้วยขบวนของนางสนมกำนัล ดังตัวอย่างอีกตอนหนึ่งว่าขึ้นทรงวอแก้วแกมสุวรรณ | | พร้อมหมู่กำนัลซ้ายขวา |
ฝ่ายสุพิณสันเสนา | | นำเสด็จกัลยารีบจร |
ปฐมสมโพธิกถา กล่าวถึงตอนพระนางสิริมหามายาเสด็จไปกรุงเทวทหะว่า พระนางทรงสุวรรณสีวิกาพระวอทอง แวดล้อมด้วยข้าทาสบริวารตามเสด็จอย่างสมพระเกียรติ แต่เมื่อเสด็จถึงสวนลุมพินีวันซึ่งอยู่ระหว่างกรุงเทวทหะกับกรุงกบิลพัสดุ์ พระนางก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ขณะประพาสป่านั้น ในสำนวนพรรณนาโวหารตอนนี้กล่าวถึงสุวรรณสีวิกา พระวอทอง และบางตอนใช้คำว่าสีวิกายาน
“อนึ่ง พระครรภ์อันเป็นที่สถิตแห่งพระมหาบุรุษเหมือนกุฏิอันใส่ไว้ซึ่งพระเจดีย์ บมิควรที่สัตว์อื่นจะมาบังเกิดร่วมในที่นั้นสืบไป อนึ่ง พระพุทธมารดาก็ไม่ควรจะตั้งอยู่ในที่พระอัครมเหสีจะร่วมรสสังวาสกับบุรุษสืบไป เหตุดังนั้นจึงทิวงคต และสิริมหามายาทรงครรภ์พระโพธิสัตว์อยู่ถ้วนทศมาส ครุวราดุจบาตรอันรองไว้ซึ่งน้ำมันมิได้มีพระกายลำบาก ครั้นพระครรภ์บริบูรณ์แล้ว มีพระทัยปรารถนาจะเสด็จขึ้นไปสู่เมืองเทวทหนคร อันเป็นชาติภูมิแห่งพระองค์ จึงกราบทูลพระราชสามี พระราชสามีก็ทรงพระอนุญาต จึงดำรัสสั่งให้ตกแต่งมรรควิถีที่จะเสด็จตั้งแต่กรุงกบิลพัสดุ์ไปตราบเท่าถึงเมืองเทวทหนคร ครั้นเพลาบุพพัณหสมัยในวันวิสาขบุรณมีเพ็ญเดือน ๖ พระราชเทวีก็กราบถวายบังคมลามาทรงสุวรรณสีวิกาพระวอทอง แวดล้อมด้วยมหันตบริวารยศอันกอปรด้วยสิริโสภาคย์ออกจากพระนคร ไปโดยมัคคมรรคาอันประดับถึงป่าไม้รัง อันชื่อว่าลุมพินีวันอันมีอยู่แทบหนทางในระหว่างพระนครทั้งสอง แต่ใกล้ไปข้างเมืองเทวทหนคร เป็นที่รมณียฐานพิศาลสรรพแสนสนุก บริบูรณ์ด้วยสรรพรุกขบุปผาผลาชาติมีประการต่างๆ บ้างเผด็ดดอกออกผลเผยสุคนธรสหอมฟุ้งขจรจบบริเวณจังหวัดพนัสประเทศฐาน และหมู่ไม้ทั้งหลายเป็นบริวารแวดล้อมดงรังต้นอันสูงสะพรั่งพื้นผลิช่อแลผลทรงเสาวคนธรสมาลี อาเกียรณ์ด้วยนานาคณะปักษีมีมยุระโกกิลาเป็นอาทิ ร้องแข่งขานบรรสานเสนาะมธุรศัพท์จับใจ มีทั้งห้วยธารละหานห้องอุทกอาจิณสินธุสระน้อยใหญ่อเนกนานา กาลเมื่อมันทวาตาพานพัดพฤกษ์สาขาก็แกว่งกวัดดุจกรอันกวักทักถามว่า พระราชเทพีจะเสด็จไปสู่ประเทศที่แห่งใด เชิญเสด็จมาเสวยสิริสุขาภิรมย์หฤทัย ในพนสณฑ์นี้ เป็นที่รมณียฐานสำราญยิ่งนัก เมื่อพระราชเทพีได้ทัศนาการสาลวันก็มีพระทัยปรารถนาจะเที่ยวประพาสในป่านั้น อมาตย์ทั้งหลายก็เชิญเสด็จแวะออกจากมรรคาเข้าสู่ป่ารัง ก็เสด็จลงจากสุวรรณสีวิกายาน แวดล้อมด้วยนางพระพี่เลี้ยงแลนารีราชบริวารทั้งหลายดำเนินไปถึงใต้ต้นมงคลสาลพฤกษ์ พระกมลปรารถนาจะทรงจับซึ่งกิ่งรังก็มิอาจเอื้อมพระหัตถ์ขึ้นไปถึง ขณะนั้นกิ่งรังเหมือนมีจิตกรุณาก็บันดาลอ่อนน้อมค้อมลงมาดุจยอดหวายอันต้องเพลิง พอถึงพระหัตถ์พระราชเทวีก็ทรงจับเอากิ่งรัง พอเกิดลมกรรมชวาตหวั่นไหวประชวรพระครรภ์”
ที่กล่าวถึงคำว่า เสลี่ยง มีปรากฏในวรรณคดีเรื่อง สุวรรณหงส์ ตอนนางเกศสุริยงอาสาชุบชีวิตสุวรรณหงส์ กล่าวถึงท้าวสุทัณฑ์นุราชสั่งให้เสนานำเสลี่ยงใส่โกศหามมาให้นางเกศสุริยงทำพิธี ดังความว่า | | อย่าช้าจงทำตามคำพราหมณ์ |
โกศศพลูกกูอยู่ที่ไหน | | เอาเสลี่ยงออกไปใส่หาม |
ผูกม่านมุขลดให้งดงาม | | ทำตามพราหมณ์สั่งเดี๋ยวนี้ |
เมรุท้าวทศรถ จิตรกรรมที่ระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมรุนกสดายุ จิตรกรรมที่ระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระเมรุมาศ ความงามของพระเมรุมาศมีกล่าวถึงใน บทละครเรื่องรามเกียรติ์ หลายตอน อาทิเช่น เมรุท้าวทศรถ กล่าวถึงการจัดพระบรมศพดังนี้ ครั้นรู้ว่าพระองค์สวรรคต | | ต่างตนกำสรดสะอื้นไห้ |
ก็ตามพระสิทธาขึ้นไป | | ยังไพชยนต์รัตน์รูจี |
ครั้นถึงห้องแก้วสุรกานต์ | | องค์พระอาจารย์ทั้งสองศรี |
ให้เอาสุคนธวารี | | อันมีกลิ่นตลบโอฬาร์ |
ใส่สาครรัตน์โสรจสรง | | ชำระศพองค์บรมนาถา |
ประดับเครื่องทรงอลงการ์ | | โดยศพมหาจักรพรรดิ |
ครั้นเสร็จเชิญเข้าพระโกศแก้ว | | แล้วตั้งภายใต้เศวตฉัตร |
เหนือแท่นพรายพรรณสุวรรณรัตน์ | | เครื่องสูงเป็นขนัดรูจี |
นางสนมหกหมื่นสี่พัน | | โศกาจาบัลย์อึงมี่ |
ชาวประโคมก็ประโคมทุกนาที | | มิได้เว้นว่างเวลา |
เมรุมาศของอินทรชิต ทศกัณฐ์ให้นำศพของพระราชโอรสคืออินทรชิตไปไว้ที่เขานิลกาลา และให้นำพิชัยราชรถมาใช้เคลื่อนศพ แต่การจุดไฟเผาศพนั้นทศกัณฐ์ใช้อิทธิฤทธิ์ของหอกแก้วกวัดแกว่งไปมาให้มีรัศมีไฟเกิดขึ้น และใช้จุดไฟเผาศพ ดังบทพรรณนาโวหารว่า บัดนั้น | | จึ่งมโหทรมารยักษา |
ก้มเกล้ารับราชบัญชา | | ก็เอาโกศรัตนาพรายพรรณ |
เข้ามาแล้วเชิญพระศพ | | ลูกเจ้าจอมภพไอสวรรย์ |
ใส่ลงกับสุคนธ์จุณจันทน์ | | ตามบัญชาการอสุรี |
แล้วเชิญขึ้นยังพิชัยรถ | | อลงกตจำรัสรัศมี |
ประโคมด้วยดุริยางคดนตรี | | นำไปยังที่บรรพตา |
เมื่อนั้น | | ทศเศียรสุริย์วงศ์ยักษา |
กับนางมณโฑกัลยา | | ทั้งสุวรรณกันยุมายุพาพาล |
สามกษัตริย์เสด็จยุรยาตร | | ลงจากปราสาทฉายฉาน |
อันนางพระสนมบริวาร | | ตามเสด็จขุนมารออกไป |
ครั้นถึงซึ่งนิลกาลา | | มหาบรรพตเขาใหญ่ |
จึ่งให้ยกศพลงตั้งไว้ | | ที่ในเชิงตะกอนรูจี |
บัดนั้น | | ฝ่ายเจ้าพนักงานยักษี |
ก้มเกล้ารับราชวาที | | อสุรีทำตามพระบัญชา |
เมื่อนั้น | | ท้าวยี่สิบกรยักษา |
พระหัตถ์จับหอกแก้วกาลา | | อันมีเดชาดั่งเพลิงกัลป์ |
กวัดแกว่งสำแดงแผลงฤทธิ์ | | รัศมีชวลิตฉายฉัน |
เข้ายังเชิงตะกอนพรายพรรณ | | กุมภัณฑ์ก็จุดเข้าทันที |
ขบวนศพอินทรชิต มีรถฤๅษีนำ
จิตรกรรมที่ระเบียบ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
เมรุมาศของทศกัณฐ์ เป็นพระเมรุมาศที่ถูกต้องตามประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา และจากบทพรรณนาโวหารที่บรรยายถึงความงามของพระเมรุมาศ อาจสรุปได้ว่าเมรุมาศของทศกัณฐ์มีลักษณะเหมือนกับพระเมรุมาศในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และการเชิญพระศพได้กล่าวถึงมหาพิชัยราชรถและราชรถน้อย ซึ่งมีปรากฏในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่นเดียวกัน จึ่งให้ตั้งมหาเมรุมาศ | | อันโอภาสพรรณรายฉายฉาน |
สี่มุขห้ายอดดั่งวิมาน | | สูงตระหง่านเงื้อมง้ำอัมพร |
ทั้งเมรุทิศเมรุแทรกรายเรียง | | ดูเพียงสัตภัณฑ์สิงขร |
มีชั้นอินทร์พรหมประนมกร | | รายรูปกินนรคนธรรพ์ |
ประดับด้วยราชวัติฉัตรธง | | พนมแก้วแถวองค์สลับคั่น |
ชั้นในพระเมรุทองนั้น | | มีบัลลังก์รัตน์รูจี |
เพดานปักทองเป็นเดือนดาว | | แสงวาวด้วยแก้วมณีศรี |
ทั้งระย้าพู่พวงดวงมาลี | | ก็เสร็จตามมีพระบัญชา |
บัดนั้น | | พระยาพิเภกยักษา |
จึ่งให้เชิญพระศพเจ้าลงกา | | ขึ้นมหาพิชัยราชรถ |
ประดับด้วยเครื่องสูงเศวตฉัตร | | กรรชิงรัตน์พัดโบกอลงกต |
ขนัดพลเกณฑ์แห่เป็นหลั่นลด | | รถโยงรถนำเรียบเรียง |
กลองชนะปี่ฆ้องก้องกึก | | พันลึกครึกครั่นสนั่นเสียง |
แตรงอนแตรฝรั่งเป็นคู่เคียง | | สำเนียงเอิกเกริกเป็นโกลา |
จึ่งให้เคลื่อนรถทรงบรมศพ | | พระจอมภพธิราชยักษา |
โดยกระบวนไปตามรัถยา | | ยังมหาเมรุมาศรูจี |
ครั้นถึงจึ่งให้เชิญพระโกศแก้ว | | อันเพริศแพรวจำรัสรัศมี |
ขึ้นเบญจารัตน์มณี | | ในที่พระเมรุอลงการ |