เวลานั่งสมาธิเราตั้งใจว่า เอาละ จะเอาให้มันแน่ ๆ ดูที เปล่า ! วันนั้นไม่ได้เรื่องเลย แต่คนเราชอบทำอย่างนั้น บางคืนพอเริ่มนั่งก็นึกว่า เอาละวันนี้อย่างน้อยตีหนึ่งจึงจะลุก คิดอย่างนี้ไม่นานหรอก เวทนามันรุมเอาเกือบตาย
มันจะดีเวลานั่งโดยไม่ต้องกะต้องเกณฑ์ ไม่มีที่จุดที่หมาย ทุ่มหนึ่ง สองทุ่ม สามทุ่ม ก็ช่างมัน นั่งไปเรื่อยๆ วางเฉยไว้ อย่าบังคับมัน อย่าไปหมายมั่น อย่าไปบังคับหัวใจว่า จะเอาให้มันแน่ ๆ มันก็ยิ่งไม่แน่ ให้เราวางใจสบาย ๆ หายใจก็ให้พอดี อย่าเอาสั้น เอายาว อย่าไปแต่งมัน กายก็ให้สบาย ทำเรื่อยไป
มันจะถามเราว่า จะเอากี่ทุ่ม จะเอานานเท่าไหร่ มันมาถามเรื่อย เราต้องตวาดมัน เฮ้ย อย่ามายุ่ง ต้องปราบมันไว้เสมอ เพราะพวกนี้มีแต่กิเลส มากวนทั้งนั้น อย่าเอาใจใส่มัน ต้องตัดมันไว้อย่างนี้ แล้วเราก็นั่งเรื่อยไป ตามเรื่องของเรา วางใจสบาย ก็เลยสงบ
ถ้าเราทำภาวนา อย่าให้กิเลตัณหามันรู้เงื่อนรู้ปลายได้
จิตของเราก็เหมือนควาย อารมณ์คือต้นข้าว ผู้รู้ก็เหมือนเจ้าของ ควายจะต้องกินต้นข้าว ต้นข้าวเป็นของที่ควายจะกิน เวลาเราไปเลี้ยงควาย ทำอย่างไร ปล่อยมันไป แต่เราพยายามดูมันอยู่ ถ้ามันเดินไปใกล้ต้นข้าว เราก็ตวาดมัน ควายได้ยินก็จะถอยออก แต่เราอย่าเผลอนะ ถ้ามันดื้อไม่ฟังเสียง ก็เอาไม้ค้อนฟาดมัน มันจะได้กินต้นข้าวหรือ แต่เราอย่าไปนอนหลับกลางวันก็แล้วกัน ถ้าขืนนอนหลับ ต้นข้าวหมดแน่ ๆ
เราการปฏิบัติก็เช่นกัน เมื่อเราดูจิตของเราอยู่ ผู้รู้ดูจิตเจ้าของ ผู้ใดที่ตามดูจิต ผู้นั้นจักพ้นจากบ่วงมาร จิตอันหนึ่ง ผู้รู้อันหนึ่ง รู้ออกมาจากจิตนั่นแหละ ผู้รู้จะตามดูจิต ผู้รู้นี้จะเกิดปัญญา จิตนั้นคือความนึกคิด ถ้าพบอารมณ์นั้นก็แวะไป ถ้าพบอารมณ์อีกมันก็แวะไปอีก มันเข้าจับทันที เหมือนกับควายนั่นแหละ
เมื่อมันเข้าจับ ผู้รู้ต้องสอนต้องพิจารณา จนมันทิ้ง อย่างนี้จึงสงบได้ จับอะไรมาก็มีแต่ของไม่น่าเอา มันก็หยุดเท่านั้น มันก็ขี้เกียจเหมือนกัน เพราะมีแต่ถูกด่าถูกว่าเสมอ ทรมานมันเข้า ทรมานเข้าไปถึงจิต หัดมันอยู่อย่างนี้แหละ
เขาว่าเราทำผิด แต่เราไม่ผิดดังเขาว่า เขาพูดไม่ถูก ก็ไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไม เพราะเขาพูดไม่ถูกตามความจริง ถ้าเราผิดดังเขาว่า ก็ถูกดังเขาว่าแล้ว ไม่รู้จะไปโกรธเขาทำไมอีก ถ้าคิดได้ดังนี้ รู้สึกว่าสบายจริงๆ มันเลยไม่มีอะไรผิด ล้วนแต่เป็นธรรมทั้งหมด อาตมาปฏิบัติอย่างนี้ ถ้าปฏิบัติอย่างนี้มันลัดตรงจริง ๆ
เราจะไม่เอาใจใส่ทั้งความสุข และความทุกข์ จะวางมัน สัมมาปฏิปทา ต้องเดินสายกลาง สงบจากความสุข ความทุกข์ ความดีใจ เสียใจ นี้คือลักษณะปฏิบัติ ถ้าใจเราเป็นอย่างนี้แล้ว หยุดได้ หยุดถามได้ ไม่ต้องไปถามใคร
ต้องเป็นผู้ละ พูดจาน้อย มักน้อย เป็นคนละทิฏฐิมานะทั้งหลายทั้งปวง คนพูดผิดก็ฟังได้ คนพูดถูกก็ฟังได้หมด
ดูจิตดูใจเรา คล้ายๆ กับว่า จิตมันวางเป็นปกติ ถ้ามันเคลื่อนออกจากปกติ เช่น มันคิดมันนึกต่างๆ นั่นเป็นสังขาร สังขารนี้มันจะปรุงเราต่อไป ระวังให้ดี ให้มันรู้ไว้ ถ้ามันเคลื่อนออกจากปกติแล้ว ไม่เป็นสัมมาปฏิปทาหรอก
อาตมาเห็นว่าจิตนี้เหมือนกับจุดๆ เดียวเท่านั้น อันที่เรียกว่าเจตสิกนั่นเป็นแขก แขกมาพักอยู่ตรงนี้ คนนั้นมาเยี่ยมเราบ้าง คนโน้นมาเยี่ยมเราบ้าง มาพักอยู่ตรงนี้ เราจึงเรียกพวกนั้น ที่ออกจากจิตของเรามา เป็นเจตสิกหมด
ทีนี้เรามาทำจิตของเราให้เป็นผู้รู้ ตื่นอยู่ คอยรักษาจิตของเราอยู่ ถ้าแขกมาเมื่อไหร่ โบกมือห้าม มันจะมานั่งที่ไหน มีที่นั่งที่เดียวเท่านั้น เราก็พยายามรับแขกอยู่ตรงนี้ตลอดวัน พูดถึงอาคันตุกะ แขกที่จรมาปรุงมาแต่งต่างๆ นานา ให้เราเป็นไปตามเรื่องของมัน อาการของจิตที่เป็นไปตามเรื่องของมัน
นี่แหละเรียกว่า เจตสิก มันจะเป็นอะไร จะไปไหนก็ช่างมัน ให้เรารู้จักอาคันตุกะที่มาพัก ที่รักแขกมีเก้าอี้ตัวเดียวเท่านั้นเอง เราเอาผู้หนึ่งไปนั่งไว้แล้ว มันก็ไม่มีที่นั่ง มันมาที่นี่ มันก็จะมาพูดกับเรา ครั้งนี้ไม่ได้นั่ง ครั้งต่อไปก็จะมาอีก มาเมื่อไหร่ก็พบแต่ผู้นี้นั่งอยู่ ไม่หนีสักที มันจะทนมากี่ครั้ง ไฟอยู่บ้านเขา ไปจับมันก็ร้อน ไฟอยู่บ้านเรา ไปจับมันก็ร้อนเหมือนกัน
ถาม ผมได้พากเพียรอย่างหนักในการปฏิบัติกรรมฐาน แต่ยังไม่มีที่ท่าว่าจะได้ผลคืบหน้าเลย
ตอบ เรื่องนี้สำคัญมาก อย่าพยายามที่จะเอาอะไรๆ ในการปฏิบัติ ความอย่างแรงกล้าที่จะหลุดพ้นหรือรู้แจ้งนั้นจะเป็นความอยากที่ขวางกั้นท่าน ก็ได้ จะเร่งความเพียรทั่งกลางคืนกลางวันก็ได้ แต่ถ้าการฝึกปฏิบัตินั้นยังประกอบด้วยความที่อยากจะบรรลุเห็นแจ้งแล้ว ท่านจะพบความสงบไม่ได้เลย แรงอยากจะเป็นเหตุให้เกิดความสงสัยและความกระวนกระวายใจ ไม่ว่าท่านจะฝึกปฏิบัตินานเท่าใดหรือนานสักเพียงใด ปัญญา (ที่แท้) จะไม่เกิดขึ้นจากความอยากนั้น ดังนั้นจงเพียงแต่ละความอยากเสีย จงเฝ้าดูจิตและกายอย่างมีสติแต่อย่ามุ่งหวังที่จะบรรลุถึงอะไร อย่ายึดมั่นถือมั่นแม้ในเรื่องการฝึกปฏิบัติหรือในการรู้แจ้ง
credit by........................
http://se-ed.net/http://sunset-3155.blogspot.com/