[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 14:19:09 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: สิทฺธารฺถ เคาตมะ - พระโคตมพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก  (อ่าน 1851 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5798


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 97.0.4692.99 Chrome 97.0.4692.99


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 02 กุมภาพันธ์ 2565 15:33:28 »



สิทฺธารฺถ เคาตมะ - พระโคตมพุทธเจ้า
มหาศาสดาโลก

พระโคตมพุทธเจ้า (ออกเสียง: โค-ตะ-มะ) พระนามอื่น อังคีรส มีพระนามเดิมในภาษาบาลีว่า สิทฺธตฺถ โคตม หรือในภาษาสันสกฤตว่า สิทฺธารฺถ เคาตมะ (อ่านว่า /สิดทาด —/) เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน ผู้เป็นศาสดาของศาสนาพุทธ สาวกของพระองค์ไม่นิยมออกพระนามโดยตรง แต่เรียกตามพระสมัญญาว่า "ภควา" (พระผู้มีพระภาคเจ้า)

คัมภีร์พุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายานบันทึกตรงกันว่า พระโคตมพุทธเจ้าทรงประสูติ ๖๒๓ ปี ก่อนคริสต์ศักราช พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ระหว่าง ๘๐ ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ ๕๔๓ ปี ก่อนคริสตกาลตามตำราไทยซึ่งอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และตรงกับ ๔๘๓ ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล

พระโคตมพุทธเจ้าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะและพระนางสิริมหามายาแห่งแคว้นสักกะ โคตมโคตร อันเป็นราชสกุลวงศ์ที่ปกครองกรุงกบิลพัสดุ์มาช้านาน ก่อนออกผนวชทรงดำรงพระอิสสริยยศเป็นรัชทายาท เมื่อเสด็จออกผนวชและบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ทรงได้รับการถวายพระนามต่างๆ อาทิ พระศากยมุนี, พระพุทธโคดม, พระโคดมพุทธเจ้า ฯลฯ แต่ทรงเรียกพระองค์เองว่า ตถาคต แปลว่า พระผู้ไปแล้วอย่างนั้น คือ ทรงปฏิญาณว่า ทรงพ้นจากทุกข์ทั้งปวง สำเร็จแล้วซึ่งอรหัตผล



เทพเจ้าทุกชั้นฟ้าชุมนุมกันอัญเชิญเทพบุตรโพธิสัตว์ให้จุติมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

เมื่อพระเวสสันดรโพธิสัตว์สวรรคตแล้ว เสด็จไปอุบัติเป็นสันตุสิตเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต เมื่อก่อนพุทธกาลเล็กน้อย เทวดาทุกสวรรค์ชั้นฟ้ามาประชุมปรึกษากันว่า ใครจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  

ต่างก็เล็งว่า พระโพธิสัตว์สถิตอยู่ในชั้นดุสิตจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงพากันไปทูลเชิญให้จุติลงมาโปรดสัตวโลก เพื่อให้สมกับพระปณิธานที่ตั้งไว้ว่า ทรงบำเพ็ญบารมีมาในชาติใดๆ ก็มิได้ทรงมุ่งหวังสมบัติอันใด นอกจากความเป็นพระพุทธเจ้า

ก่อนที่พระโพธิสัตว์อันสถิตอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดุสิต จะได้ทรงตรัสรู้บรรลุธรรมเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อโปรดชาวโลกนั้น พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านได้ทรงบำเพ็ญบารมี ๑๐ ประการ  อันได้แก่

      ๑. พระเตมีย์    ทรงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี      คือ ความอดทนสูงสุด
      ๒. พระมหาชนก      ทรงบำเพ็ญวิริยะบารมี    คือ ความพากเพียรสูงสุด
      ๓. พระสุวรรณสาม    ทรงบำเพ็ญเมตตาบารมี    คือ ความเมตตาสูงสุด
      ๔. พระเนมิราช    ทรงบำเพ็ญอธิษฐานบารมี    คือ ความมีจิตที่แน่วแน่สมบูรณ์
      ๕. พระมโหสถ      ทรงบำเพ็ญปัญญาบารมี    คือ ความมีปัญญาสูงสุด
      ๖. พระภูริทัต    ทรงบำเพ็ญศีลบารมี    คือ ความมีศีลที่สมบูรณ์สูงสุด
      ๗. พระจันทกุมาร      ทรงบำเพ็ญขันติบารมี    คือ ความอดกลั้นสูงสุด
      ๘. พระนารทพรหม    ทรงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี    คือ การมีอุเบกขาสูงสุด
      ๙. พระวิธูรบัณฑิต    ทรงบำเพ็ญสัจจะบารมี คือ ความมีสัจจะสูงสุด
      ๑๐. พระเวสสันดร ทรงบำเพ็ญทานบารมี    คือ การรู้จักการให้ทานสูงสุด

บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงความอัศจรรย์เหล่านั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า ครั้งใด เราชื่อว่าท้าวสันดุสิตอยู่ในหมู่เทพชั้นดุสิต ครั้งนั้น หมื่นโลกธาตุ ก็พากันประคองอัญชลีอ้อนวอนเราว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ พระองค์เมื่อบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ มิใช่ปรารถนาสมบัติท้าวสักกะ มิใช่ปรารถนาสมบัติมาร มิใช่ปรารถนา สมบัติพรหม มิใช่ปรารถนาสมบัติจักรพรรดิ แต่พระองค์ ปรารถนา
ความเป็นพระพุทธเจ้าบำเพ็ญเพื่อช่วยขนสัตว์ข้ามโอฆสงสาร

ด้วยเหตุนั้น ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า (เทวดาในหมื่นโลกธาตุทูลวอนว่า) ข้าแต่พระมหาวีระ นี้เป็นกาลสมควรสำหรับพระองค์ ขอพระองค์โปรดอุบัติในครรภ์พระมารดา ขอพระองค์เมื่อจะทรงช่วยมนุษยโลกพร้อมเทวโลกให้ข้ามโอฆสงสาร โปรดจงตรัสรู้อมตบทเถิด

ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ แม้ถูกเทวดาทั้งหลายทูลวอนขอ ก็มิได้ประทานปฏิญญาคำรับรองแก่เทวดาทั้งหลาย แต่ทรงตรวจดูมหาวิโลกนะ ๕ คือกำหนดกาล ทวีป ประเทศ ตระกูล พระชนมายุของพระชนนี

บรรดามหาวิโลกนะ ๕ นั้น ทรงตรวจดูกาลก่อนว่า เป็นกาลสมควร หรือยังไม่เป็นกาลสมควร ในกาลนั้น อายุกาล (ของสัตว์) สูงกว่าแสนปีขึ้นไป ยังไม่ชื่อว่า กาล เพราะเหตุไร เพราะทุกข์มีชาติชรามรณะเป็นต้นไม่ปรากฏ ก็ธรรมดา พระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่ชื่อว่าพ้นจากไตรลักษณ์ ไม่มีเลย  เมื่อพระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสว่า อนิจจัง ทุกขัง ดังนี้ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสเรื่องอะไร แต่นั้น การตรัสรู้ก็ไม่มี เมื่อการตรัสรู้นั้นไม่มี คำสั่งสอนก็ไม่เป็นนิยยานิกกะนำสัตว์ออกจากทุกข์ เพราะฉะนั้น กาลนั้น จึงไม่เป็นกาลสมควร

แม้อายุกาล (ของสัตว์) ต่ำกว่าร้อยปี ก็ยังไม่เป็นกาลสมควร เพราะเหตุไร เพราะกาลนั้น สัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนาแน่น และโอวาทที่ประทานแก่สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสหนาแน่น ไม่อยู่ในฐานะควรโอวาท เพราะฉะนั้น กาลแม้นั้นก็ไม่เป็นกาลสมควร อายุกาลอย่างต่ำตั้งแต่แสนปีลงมา อย่างสูงตั้งแต่ร้อยปีขึ้นไป ชื่อว่า กาลสมควร

บัดนี้ มนุษย์ทั้งหลายมีอายุร้อยปี เพราะเหตุนั้น ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์ทรงเห็นว่า เป็นกาลที่ควรบังเกิด

ต่อนั้น ทรงตรวจดูทวีป ทรงเห็นทวีปว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมบังเกิดในชมพูทวีปเท่านั้น ธรรมดาชมพูทวีปเป็นทวีปใหญ่มีเนื้อที่ประมาณหมื่นโยชน์

เมื่อทรงตรวจดูประเทศ ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายบังเกิดในประเทศไหนหนอ ก็ทรงเห็นมัชฌิมประเทศ

ต่อจากนั้นก็ทรงตรวจดูตระกูลว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายบังเกิดในตระกูลที่โลกสมมติ บัดนี้ ตระกูลกษัตริย์เป็นตระกูลที่โลกสมมติ จำเราจักบังเกิดในตระกูลกษัตริย์นั้น พระราชาพระนามว่า สุทโธทนะจักเป็นพระชนกของเรา

แต่นั้นก็ตรวจดูพระชนนีว่า สตรีนักเลงสุราเหลวไหลจะเป็นพุทธมารดาไม่ได้ จะต้องเป็นสตรีมีศีล ๕ ไม่ขาด ดังนั้นพระราชเทวีพระนามว่า มหามายานี้ก็เป็นเช่นนี้ พระนางเจ้ามหามายานี้จักเป็นชนนีของเรา เมื่อทรงนึกว่าพระนางเจ้าจะทรงมีพระชนมายุได้เท่าไร ก็ทรงเห็นว่าได้ต่อไปอีก ๗ วัน หลังครบทศมาสแล้ว

ครั้งทรงตรวจมหาวิโลกนะ ๕ ประการนี้แล้ว ก็ประทานปฏิญญาแก่เทวดาทั้งหลายว่าเป็นกาลสมควรที่เราเป็นพระพุทธเจ้า ทรงดำรงอยู่ในภพดุสิตนั้นตลอดชนมายุแล้วจุติจากภพดุสิตทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์พระนางเจ้ามายาเทวีในราชสกุลศากยะ




วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ซึ่งเป็นเวลาที่พระเจ้าสุทโธทนะ (พระบิดา) กับพระนางสิริมหามายา (พระมารดา) ได้อภิเษกสมรสไม่นาน

คืนวันเดียวกันนั้น พระนางสิริมหามายากำลังบรรทมหลับสนิทในแท่นที่บรรทมแล้ว ทรงสุบินนิมิตว่าพระนางไปอยู่ในป่าหิมพานต์ ได้มีช้างเผือกเชือกหนึ่งลงมาจากยอดเขาสูงเข้ามาหาพระนาง

ปฐมสมโพธิพรรณาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า"...มีเศวตหัตถีช้างหนึ่ง ชูงวงอันจับบุณฑริกปทุมชาติสีขาวเพิ่งบานใหม่ มีเสาวคนธ์หอมฟุ้งตรลบแล้วร้องโกญจนาทเข้ามาในกนกวิมาน แล้วกระทำประทักษิณพระองค์อันบรรทมถ้วนสามรอบ แล้วเหมือนดุจเข้าไปในอุทร ฝ่ายทักษิณปรัศว์แห่งพระราชเทวี..."

ภายหลังโหราจารย์ประจำราชสำนักทำนายว่าเป็นสุบินนิมิตที่ดี จะมีพระราชโอรสผู้ประเสริฐอุบัติบังเกิด และเมื่อพระมารดาทรงครรภ์แล้ว ปฐมสมโพธิได้พรรณาตอนที่พระโพธิสัตว์เสด็จอยู่ในพระครรภ์พระมารดาว่า    "...เหมือนดุจด้ายเหลือง อันร้อยเข้าไปในแก้วมณีอันผ่องใส เมื่อปรารถนาจะทอดพระเนตรในขณะใด ก็เห็นพระโอรสนั่งเป็นบัลลังก์สมาธิ (นั่งขัดสมาธิ) ผันพระพักตร์มาข้างหนึ่งพระอุทรแห่งพระมารดา ดุจสุวรรณปฎิมาอันสถิตอยู่บนฝักอ่อนในห้องแห่งกลีบปทุมชาติ แต่โพธิสัตว์มิได้เห็นองค์ชนนี..."

วันที่พระโพธิสัตวเจ้าเสด็จลงสู่พระครรภ์ กวีผู้แต่งเรื่องเฉลิมพระเกียรติได้พรรณาว่า มีเหตุมหัศจรรย์เกิดขึ้นเหมือนกับตอนประสูติ ตรัสรู้ และตรัสปฐมเทศนา จะต่างกันบ้างก็แต่ในรายละเอียดเท่านั้น เช่นว่า กลองทิพย์บันลือลั่นทั่วท้องเวหา คนตาบอดกลับมองเห็น คนหูหนวกกลับได้ยิน   

ตอนนั้น ถ้าจะถ่ายทอดพระพุทธเจ้าออกจากวรรณคดี มาเป็นพระพุทธเจ้าในพุทธประวัติก็ว่า กลองทิพย์บันลือลั่นนั้น คือ  'นิมิต' หมายถึง พระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าที่จะแผ่ไปทั่วโลก คนตาบอด หูหนวก คือ  คนที่มีกิเลส ได้สดับรสธรรมแล้วจะหายตาบอด หูหนวก หรือมีปัญญารู้แจ้งมองเห็นทางพ้นทุกข์นั้นเอง



ทารกที่เห็นนั่นคือเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้าในเวลาต่อมา ซึ่งพอประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ก็ทรงพระดำเนินด้วยพระบาทไปได้ ๗ ก้าว พร้อมกับทรงยกพระหัตถ์ขวาและเปล่งพระวาจา เบื้องใต้พระบาทมีดอกบัวรองรับ พระวาจาที่ทรงเปล่งออกมานั้น กวีท่านแต่งไว้เป็นภาษาบาลี แปลถอดใจความเป็นภาษาไทยได้ว่า "เราจะเป็นคนเก่งที่สุดในโลกคนหนึ่ง ซึ่งจะหาผู้ใดเสมอเหมือนไม่มี ชาติที่เกิดนี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่ได้เกิดต่อไปในเบื้องหน้าอีกแล้ว"

กลุ่มสตรีที่อยู่ในท่านั่งบ้าง คุกเข่าบ้าง นั้นคือบรรดานางพระกำนัลที่ตามเสด็จพระนางมายา ส่วนรูปสตรีที่ยืนหันหลังให้ต้นไม้ใหญ่นั้นคือพระมารดา พระหัตถ์ขวาของท่านเหนี่ยวกิ่งไม้ ต้นไม้ใหญ่นี้คือต้นสาละ ที่แต่ก่อนมาเคยแปลกันว่าไม้รังหรือเต็งรังอย่างที่มีอยู่ในบ้านเรา แต่ภายหลังได้เป็นที่รู้กันว่า สาละไม่ใช่ไม้รัง และไม่มีในป่าเมืองไทย เป็นไม้พันธุ์ในตระกูลยางซึ่งมีอยู่ในอินเดียที่คนอินเดียนิยมใช้ปลูกบ้านสร้างเรือนอยู่กัน มีมากในเขาหิมาลัย

สถานที่ประสูตินี้เรียกว่า 'ลุมพินี' อยู่นอกเมืองกบิลพัสดุ์ เวลานี้อยู่ในเขตประเทศเนปาล

แทรกเรื่องอื่นเข้าบ้างเล็กน้อย กล่าวคือเมืองพระประยูรญาติของพระพุทธเจ้ามีสองเมือง คือกบิลพัสดุ์และเทวทหะ กบิลพัสดุ์เป็นเมืองพ่อของพระพุทธเจ้า นี้ว่าอย่างภาษาสามัญ ส่วนเทวทหะเป็นเมืองแม่ พระบิดาของพระพุทธเจ้าอยู่ที่เมืองกบิลพัสดุ์ ส่วนพระมารดาเดิมอยู่ที่เมืองเทวหะ กษัตริย์และเจ้านายจากสองเมืองนี้ต่างเป็นญาติเกี่ยวดองกันโดยทางอภิเษกสมรส

เมื่อพระนางมายาจวนครบกำหนดประสูติ จึงทูลลาพระสามี คือพระเจ้าสุทโธนะ เพื่อประสูติพระโอรสที่เมืองอันเป็นราชตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมพราหมณ์ที่ว่าสตรีเวลาจะคลอดลูกต้องไปคลอดที่บ้านพ่อแม่ของตน พระนางมายาเสด็จไปถึงระหว่างทางยังไม่ทันถึงเมืองเทวทหะ ทรงประชวรเสียก่อน จึงประสูติที่นั่น

วันที่พระพุทธเจ้าประสูตินั้นคือ วันเพ็ญกลางเดือน ๖




ผู้ที่มุ่นมวยผมเป็นชฎา และมือทั้งสองประนมแค่อกที่เห็นอยู่นั้นคือ 'อสิตดาบส' หรือบางแห่งเรียกว่า 'กาฬเทวินดาบส' ท่านดาบสผู้นี้บวชเป็นฤาษีอยู่ข้างเขาหิมพานต์ หรือที่ทุกวันนี้เรียกว่าเขาหิมาลัยนั่นเอง ท่านเป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้าสุทโธทนะและของราชตระกูลนี้ และเป็นผู้คุ้นเคยด้วย

เมื่อท่านทราบข่าวว่าพระเจ้าสุทโธทนะ ประมุขกษัตริย์กรุงกบิลพัสดุ์ทรงมีพระราชโอรสใหม่ จึงออกจากอาศรมเชิงเขา เข้าไปเยี่ยมเยียนเพื่อถวายพระพรยังราชสำนัก พระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบข่าวว่าท่านดาบสมาเยี่ยมก็ทรงดีพระพระทัยนักหนา จึงตรัสสั่งให้นิมนต์ท่านนั่งบนอาสนะแล้วทรงอุ้มพระราชโอรสออกมาเพื่อให้นมัสการท่านดาบส

พอท่านดาบสได้เห็นเจ้าชายสิทธัตถะ ก็ทำกริยาผิดวิสัยสมณะ ๓ อย่าง คือ ยิ้มหรือแย้ม หรือที่ภาษากวีในหนังสือปฐมสมโพธิเรียกอย่างหนึ่งว่า หัวเราะแล้วร้องไห้ แล้วกราบแทบพระบาทของเจ้าชายสิทธัตถะ

ท่านยิ้มเพราะเห็นพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะต้องด้วยตำรับมหาบุรุษลักษณ์ ท่านเห็นว่า คนที่มีลักษณะอย่างนี้ ถ้าอย่างครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพแผ่ไปไกล แต่ถ้าได้ออกบวชจะได้เป็นพระศาสดาผู้มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ที่ท่านร้องไห้ก็เพราะเชื่อแน่ว่าเจ้าชายราชกุมารนี้จะต้องออกบวช เพราะเหตุที่เชื่ออย่างนี้ เลยนึกถึงตัวท่านเองว่า เรานี่แก่เกินการณ์เสียแล้ว เลยเสียใจว่ามีบุญน้อยไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า และที่กราบไหว้พระบาทราชกุมารที่เพิ่งประสูติใหม่ ก็เพราะเหตุเดียวที่กล่าวนี้

ฝ่ายเจ้านายในราชตระกูลได้เห็นและได้ทราบข่าวว่า ท่านดาบสกราบพระบาทราชกุมาร ต่างก็มีพระทัยนับถือพระราชกุมารยิ่งขึ้น จึงทูลถวายโอรสของตนให้เป็นบริวารของเจ้าชายสิทธัตถะ ตระกูลละองค์ๆ ทุกตระกูล




ภายหลังเจ้าชายราชกุมารผู้พระราชโอรสประสูติได้ ๕ วันแล้ว  พระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาได้โปรดให้มีการประชุมใหญ่ ผู้เข้าประชุมมีพระญาติวงศ์ทั้งฝ่ายพระบิดาและฝ่ายพระมารดา  มุขอำมาตย์ ราชมนตรี และพราหมณ์ผู้รอบรู้ไตรเวท เพื่อทำพิธีมงคลในการนี้คือพราหมณ์ มีทั้งหมด ๑๐๘ แต่พราหณ์ผู้ทำหน้าที่นี้จริงๆ มีเพียง ๘ นอกนั้นมาในฐานะคล้ายพระอันดับ พราหมณ์ทั้ง ๘ มีรายนามดังนี้  คือ

      ๑. รามพราหมณ์   ๒. ลักษณพราหมณ์
      ๓. อัญญพราหมณ์   ๔. ธุชพราหมณ์
      ๕. โภชพราหมณ์ ๖. สุทัตตพราหมณ์
      ๗. สุยามพราหมณ์         ๘. โกณทัญญพราหมณ์

ที่ประชุมลงมติขนานพระนามพระราชกุมารว่า 'เจ้าชายสิทธัตถะ' ซึ่งเป็นมงคลนาม มีความหมายสองนัย นัยหนึ่งหมายความว่า ผู้ทรงปรารถนาสิ่งใดจะสำเร็จสิ่งนั้นดังพระประสงค์ อีกนัย
หนึ่งหมายความว่าพระโอรสพระองค์แรกสมดังที่พระราชบิดาทรงปรารถนา แปลให้เป็นเข้าสำนวณไทยในภาษาสามัญก็ว่า ได้ลูกชายคนแรกสมตามที่ต้องการ

พระนามนี้ คนอินเดียทั่วไปในสมัยนั้นไม่นิยมเรียก แต่นิยมเรียกพระโคตรแทน 'พระโคตร' ตรงกับภาษาไทยทุกวันนี้ว่า 'นามสกุล' คนจึงนิยมเรียกพระราชกุมารว่า 'เจ้าชายโคตมะ' หรือ 'โคดม'

พร้อมกันนี้ พราหมณ์ทั้ง ๘ ก็พยากรณ์พระลักษณะ คำพยากรณ์แตกความเห็นเห็นเป็น ๒ กลุ่ม พราหมณ์ ๗ คน ตั้งแต่หมายเลข ๑ ถึงหมายเลข ๗ ตามรายนามที่ระบุไว้แล้ว มีความเห็นเป็นเงื่อนไขในคำพยากรณ์ ถ้าเจ้าชายนี้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติจักได้ทรงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงมีพระบรมเดชานุภาพมาก แต่ถ้าเสด็จออกทรงผนวชจักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาเอกของโลก

มีพราหมณ์หนุ่มอายุเยาว์คนเดียวที่พยากรณ์เป็นมติเดียวโดยไม่มีเงื่อนไขว่า พระราชกุมารนี้จักเสด็จออกทรงผนวชและได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน พราหมณ์ผู้นี้ต่อมาได้เป็นหัวหน้าพระปัญจวัคคีย์ ออกบวชตามเสด็จพระพุทธเจ้าและได้เป็นพระอรหันตสาวกองค์แรกที่รู้จักกันในนามว่า 'พระอัญญาโกณทัญญะ' ที่เหลืออีก ๗ ไม่ได้ตามเสด็จออกบวชเพราะชรามาก อยู่ไม่ทันสมัยพระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวช



เจ้าชายสิทธัตถะโคตมะมีพระชนมายุ ๗ ปี พระราชบิดาตรัสให้ขุดสระโบกขรณี ๓ สระภายในพระราชนิเวศน์ ให้เป็นที่สำราญพระทัยพระโอรส สระโบกขรณี คือ สระที่ปลูกดอก
บัวประทับในสระ แล้วพระราชทานเครื่องทรงคือ จันทน์สำหรับทาผ้าโพกพระเศียร ฉลองพระองค์ผ้าทรงสะพัก พระภูษาทั้งหมดเป็นของมีชื่อมาจากเมืองกาสีทั้งนั้น

ในภาพนี้ เป็นตอนที่เจ้าชายประทับนั่งสมาธิอยู่ใต้ต้นไม้ ที่ภาษาปฐมสมโพธิเรียกว่า 'ชมพูพฤกษ์' ซึ่งคนไทยเราเรียกต้นหว่า  เหตุที่เจ้าชายมาประทับอยู่ใต้ต้นหว้าแห่งนี้ ก็เพราะพระราชบิดาทรงจัดให้มีพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญที่ทุ่งนานอกเมืองกบิลพัสดุ์ตามพระราชประเพณี พระราชบิดาซึ่งเสด็จแรกนาด้วยพระองค์เอง หรือจะเรียกว่าทรงเป็นพระยาแรกนา ได้โปรดให้เชิญเสด็จเจ้าชายไปด้วย

ภาพนี้ เจ้าชายประทับนั่งขัดสมาธิอยู่ลำพังพระองค์เดียว ไม่เห็นพระสหาย พระพี่เลี้ยง และมหาดเล็กอยู่เฝ้าเลย เพราะทั้งหมดไปชมพระราชพิธีแรกนากัน เจ้าชายเสด็จอยู่ลำพังพระองค์ภายใต้ต้นหว้าที่กวีท่านพรรณาไว้ว่า "กอปรด้วยสาขาแลใบ อันมีพรรณอันเขียว ประหนึ่งอินทนิลคีรี มีปริมณฑลร่มเย็นเป็นรมณียสถาน..."  พระทัยอันบริสุทธิ์และอย่างวิสัยผู้จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าในภายหน้า ได้รับความวิเวกก็เกิดเป็สมาธิขั้นแรกที่เรียกว่า "ปฐมฌาน"

แรกนาเสร็จตอนบ่าย พระพี่เลี้ยงวิ่งมาหาเจ้าชาย ได้เห็นเงาไม้ยังอยู่ที่เดิมเหมือนเวลาเที่ยงวันไม่คล้อยตวงตะวันก็เกิดอัศจรรย์ใจ จึงนำความไปกราบพระเจ้าสุทโธนะให้ทรงทราบ พระราชบิดาเสด็จมาทอดพระเนตรก็เกิดความอัศจรรย์ในพระทัย แล้วก็ทรงออกพระโอษฐ์อุทานว่า  "กาลเมื่อวันประสูติ จะให้น้อมพระองค์ลงถวายนมัสการพระกาฬเทวินดาบสนั้น ก็ทำปาฎิหาริย์ขึ้นไปยืนเบื้องบนชฎาพระดาบส อาตมก็ประณตเป็นปฐมวันทนาการครั้งหนึ่งแล้ว ครั้งนี้อาตมก็ถวายอัญชลีเป็นทุติยวันทนาการคำรบสอง"

พระเจ้าสุทโธทนะทรงไหว้พระพุทธเจ้าที่สำคัญ ๓ ครั้งด้วยกัน ครั้งแรกเมื่อภายหลังประสูติที่ดาบสมาเยี่ยม เห็นท่านดาบสไหว้ก็เลยไหว้ ครั้งที่สองก็คือครั้งทรงเห็นปาฏิหาริย์ ครั้งที่สามคือภายหลังพระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวช ได้สำเร็จพระพุทธเจ้า แล้วเสด็จกลับไปโปรดพระพุทธบิดาครั้งแรก



เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระชนมายุพอสมควรแล้ว พระราชบิดาจึงทรงส่งไปศึกษาศิลปวิทยาที่สำนักครูที่มีชื่อว่า 'วิศวามิตร'  เจ้าชายทรงศึกษาการใช้อาวุธ และการปกครองได้ว่องไวจนสิ้นความรู้ของอาจารย์

ภาพนี้ เป็นตอนเจ้าชายสิทธุตถะทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปี และทรงศึกษาศิลปวิทยาจบแล้ว พระราชบิดาจึงตรัสสั่งให้สร้างปราสาท ๓ ฤดู จำนวน ๓ หลัง ให้ประทับเป็นที่สำราญพระทัย ปราสาทหลังที่หนึ่งเหมาะสำหรับประทับในฤดูหนาว หลังที่สองสำหรับฤดูร้อน และหลังที่สามสำหรับประทับในฤดูฝน

หลังจากนั้น พระราชบิดาได้ทรงแจ้งไปยังพระญาติวงศ์ทั้งสอง คือฝ่ายพระมารดาและฝ่ายพระบิดาให้จัดส่งพระราชธิดามาเพื่อคัดเลือกสตรีผู้สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชาย ทั้งนี้เพราะพราะราชบิดาทรงต้องการจะผูกมัดพระราชโอรสให้เสด็จอยู่ครองราชสมบัติมากกว่าที่จะให้เสด็จออกทรงผนวช แต่พระญาติวงศ์ทั้งปวงเห็นว่า ควรจะให้เจ้าชายได้แสดงความสามารถในศิลปศาสตร์ที่ทรงเล่าเรียนมาให้เป็นที่ประจักษ์แก่หมู่พระญาติก่อน พระราชบิดาจึงอัญเชิญพระญาติวงศ์มาประชุมกันที่หน้าพระมณฑปที่ปลูกสร้างขึ้นใหม่ ณ ใจกลางเมืองเพื่อชมเจ้าชายแสดงการยิงธนู ธนูที่เจ้าชายยิงมีชื่อว่า 'สหัสถามธนู'  แปลว่า ธนูที่มีน้ำหนักขนาดที่คนจำนวนหนึ่งพันคนจึงจะยกขึ้นได้ แต่เจ้าชายทรงยกธนูนั้นขึ้นได้ ปฐมสมโพธิให้คำอุปมาว่า 'ดังสตรีอันยกขึ้นซึ่งไม้กงดีดฝ้าย'

บรรดาพระญาติวงศ์ทั้งปวงได้เห็นแล้วต่างชื่นชมยิ่งนัก แล้วเจ้าชายทรงลองดีดสายธนูก่อนยิง เสียงสายธนูดังกระหึ่มครึ้มคราวไปทั้งกรุงกบิลพัสดุ์ จนคนทั้งเมืองที่ไม่รู้และไม่ได้มาชมเจ้าชายยิงธนู ต่างถามกันว่านั่นเสียงอะไร

เป้าที่เจ้าชายยิงธนูวันนั้น คือ ขนหางทรายจามรีที่วางไว้ในระยะหนึ่งโยชน์ ปรากฏว่า เจ้าชายทรงยิงถูกขาดตรงกลางพอดี ทั้งนี้ท่านว่า 'ด้วยพระเนตรอันผ่องใสพร้อมด้วยประสาททั้ง ๕ อันบริสุทธิ์อันปราศจากมลทิน' พระญาติวงศ์ทั้งปวงจึงยอมถวายพระราชธิดาซึ่งมีนางพิมพายโสธรารวมอยู่ด้วย เพื่อคัดเลือกเป็นพระชายา



พระบิดาทรงอภิเษกสมรสพระสิทธัตถะกับพระนางพิมพายโสธรา

พระญาติวงศ์ของพระพุทธเจ้านั้นมีสองฝ่าย คือฝ่ายพระมารดาและฝ่ายบิดา ทั้งสองฝ่ายอยู่คนละเมือง มีแม่น้ำโรหิณีไหลผ่านเป็นเขตกั้นพรมแดนพระญาติวงศ์ฝ่ายมารดามีชื่อว่า 'โกลิยวงศ์'  ครองเมืองเทวทหะ พระญาติวงศ์ฝ่ายพระบิดาชื่อ 'ศากยวงศ์'  ครองเมืองกบิลพัสดุ์

ทั้งสองนครนี้เกี่ยวดองเป็นพระญาติกัน มีความรักกันฉันพี่น้องร่วมสายโลหิต ต่างอภิเษกสมรสกันและกันเสมอมา สมัยพระพุทธเจ้าผู้ทรงอยู่ในฐานะประมุขครองเมืองเทวทหะ คือพระเจ้าสุปปพุทธะ ส่วนผู้ครองเมืองกบิลพัสดุ์ คือ พระเจ้าสุทโธทนะ

พระชายาของพระเจ้าสุปปพุทธะ มีพระนามว่าพระนางอมิตา เป็นกนิษฐภคินี คือน้องสาวคนเล็กของพระเจ้าสุทโธทนะ กลับกันคือ พระชายาของพระเจ้าสุทโธทนะหรือพระมารดาของพระพุทธเจ้า มีพระนามว่าพระนางมายา พระนางเป็นน้องสาวของพระเจ้าสุปปพุทธะ ทั้งสองทรงอภิเษกสมรสกับพระภคินีของกันและกัน พระเจ้าสุปปพุทธะมีโอรสและพระธิดาอันเกิดกับพระนางอมิตาสองพระองค์ พระโอรส คือเทวทัต พระธิดา คือพระนางพิมพายโสธรา

ปฐมสมโพธิว่าพระนางพิมพายโสธราเป็นผู้หนึ่งในจำนวน ๗ สหชาติของพระพุทธเจ้า สหชาติคือ สิ่งที่เกิดพร้อมกันกับวันที่พระพุทธเจ้าเกิด ๗ สหชาตินั้น คือ
       ๑. พระนางพิมพายโสธรา
       ๒. พระอานนท์
       ๓. กาฬุทายีอำมาตย์
       ๔. นายฉันนะ  มหาดเล็ก
       ๕. ม้ากัณฐกะ
       ๖. ต้นพระศรีมหาโพธิ์
       ๗. ขุมทองทั้ง ๔ (สังขนิธี, เอลนิธี, อุบลนิธี, บุณฑริกนิธี)

พระญาติวงศ์ทั้งสองฝ่ายทรงเห็นพร้อมกันว่า พระนางพิมพายโสธราทรงพร้อมด้วยคุณสมบัติทุกอย่าง สมควรจะอภิเษกสมรสกับเจ้าชายสิทธัตถะ พระราชพิธีอภิเษกสมรสจึงได้มีขึ้นในสมัยที่ทั้งเจ้าชายและเจ้าหญิงทรงมีพระชนมายุได้ ๑๖ ปีพอดี

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 02 กุมภาพันธ์ 2565 16:23:29 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5798


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 97.0.4692.99 Chrome 97.0.4692.99


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 09 กุมภาพันธ์ 2565 13:21:42 »



พระสิทธัตถะเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช ซึ่งเทพยดานิรมิตให้ทอดพระเนตร ทรงหยั่งเห็นความแก่ ความเจ็บ ความตาย ครอบงำมหาชนอยู่ทุกคน ไม่ล่วงพ้นไป

พระเจ้าสุทโธทนะผู้มีพระราชบิดา และ พระญาติวงศ์ทั้งปวงปรารถนาที่จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จอยู่ครองราชสมบัติ  มากกว่าที่จะให้เสด็จออกบรรพชาอย่างที่คำทำนายของพราหมณ์บางท่านว่าไว้  จึงพยายามหาวิธีผูกมัดพระโอรสให้เพลิดเพลินในกามสุขทุกอย่าง แต่เจ้าชายสิทธัตถะทรงมีพระอัธยาศัยเป็นนักคิดสมกับที่ทรงเกิดมาเป็นพระศาสดาโปรดชาวโลก จึงทรงยินดีในความสุขนั้นไม่นาน พอพระชนมายุมากขึ้นจนถึง ๒๙ ก็ทรงเกิดนิพพิทา คือความเบื่อหน่าย

ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรู้สึกในพระทัยเช่นนั้น อยู่ที่ทรงเห็นสิ่งที่เรียกว่า เทวฑูตทั้ง ๔ ระหว่างทางในวันเสด็จประพาสพระราชอุทยานนอกเมืองด้วยรถม้าพระที่นั่ง พร้อมด้วยสารถีคนขับ เทวฑูตทั้ง ๔ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และนักบวช  ทรงเห็นคนแก่ก่อน

ปฐมสมโพธิบรรยายลักษณะของคนแก่ไว้ว่า "มีเกศาอันหงอก แลสีข้างก็คดค้อม กายนั้นง้อมเงื้อมไปในเบื้องหน้า มือถือไม้เท้าเดินมาในระหว่างมรรควิถี มีอาการอันไหวหวั่นสั่นไปทั่วทั้งกาย ควรจะสังเวช..." ก็ทรงสังเวชสลดพระทัย เช่นเดียวกับเมื่อทรงเห็นคนเจ็บและคนตายในครั้งที่สอง และที่สาม เมื่อเสด็จประพาสพระราชอุทยาน ทรงปรารภถึงพระองค์ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น ทรงพระดำริว่า สภาพธรรมดาในโลกนี้ย่อมมีสิ่งตรงกันข้ามคู่กัน คือมีมืดแล้วมีสว่าง มีร้อนแล้วมีเย็น เมื่อมีทุกข์  
ทางแก้ทุกข์ก็น่าจะมี

ในคราวเสด็จประพาสพระราชอุทยานครั้งที่ ๔ ทรงเห็นนักบวช "นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ กอปรด้วยอากัปกิริยาสำรวม..." เมื่อทรงเห็นนักบวชก็ทรงเกิดพระทัยน้อมไปในทางบรรพชา ทรงเปล่งอุทานออกมาว่า "สาธุ ปัพพชา"  สองคำนี้เป็นภาษาบาลี   แปลให้ตรงกับสำนวนไทยว่า "บวชท่าจะดีแน่" แล้วก็ตัดสินพระทัยว่า จะเสด็จออกบวชตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา


550
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5798


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 98.0.4758.102 Chrome 98.0.4758.102


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 25 กุมภาพันธ์ 2565 13:52:19 »


เจ้าชายสิทธัตถะทรงสดับคำนิมิต “นิพพาน” จากพระนางกีสาโคตมี

... พระโพธิสัตว์เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชนิเวศน์พร้อมหมู่อำมาตย์ ส่วนขัตติยนารีที่ประทับ
อยู่ช่องพระบัญชร คือ พระนางกีสาโคตมี ผู้กล่าวตรัสชมพระสิริโฉมของพระโพธิสัตว์ กระทั่งพระ
โพธิสัตว์ได้คำนิมิต “นิพพาน” ผู้หมดทุกข์ (คือมีความสุข)...พระนางกีสาโคตมี เป็นพระธิดา
ของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี พระน้านางของเจ้าชายสิทธัตถะ  และเป็นคนละคนกับ
พระกีสาโคตมีเถรี เอตทัคคะภิกษุณีผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง ซึ่งแต่เดิมพระกีสาโคตมี เกิดในสกุล
คนเข็ญใจ ในกรุงสาวัตถี


ภาพพุทธประวัติ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 25 กุมภาพันธ์ 2565 13:54:51 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5798


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 98.0.4758.102 Chrome 98.0.4758.102


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 02 มีนาคม 2565 15:17:44 »




เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นสาวสนมกรมใน มีอาการน่ารังเกียจทรงเบื่อหน่ายกามคุณ ๕

ตั้งแต่เจ้าชายสิทธัตถะทอดพระเนตรเห็นเทวฑูตทั้งสี่แล้ว ทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ว่าจะเสด็จออกบรรพชาเป็นต้นมา  แม้ว่าภายหลังจากนั้นจะทรงเกิดบ่วงขึ้นในพระทัย คือทรงมีพระโอรสและมีความรัก แต่ความที่ตั้งพระทัยไว้ว่าจะเสด็จออกบวชก็ไม่เปลี่ยนแปลง

ในคืนวันเสด็จกลับจากพระราชอุทยาน ปฐมสมโพธิพรรณาไว้ตอนหนึ่งว่า "...วันนั้น สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์มีพระทัยยินดียิ่งนักในบรรพชา กอปรด้วยพระปัญญาเป็นปราชญ์อันประเสริฐ ปราศจากอาลัยในเบญจกามคุณ  มิได้ยินดีในฟ้อนขับแห่งนางทั้งหลายอันเป็นที่เจริญหฤทัย เห็นปานดังนั้นก็หยั่งลงสู่นิทรารมณ์ประมาณมุหุตหนึ่ง.."  ("มุหุตหนึ่ง" คือครู่หนึ่ง)

ภายในปราสาทที่เจ้าชายประทับอยู่ สว่างรุ่งเรืองด้วยประทีปโคมไฟที่ "ตามด้วยน้ำมันหอมส่งสว่างขจ่างจับแสงแก้วแสงทอง..."  ทรงเห็นอาการวิปลาสปราศจากอาการสำรวมของบรรดาสาวสนมกรมในที่กำลังนอนระเกะระกะหลับใหลเป็นดุจป่าช้าผีดิบ

ปฐมสมโพธิพรรณาไว้ว่า  "แลนางบางจำพวกก็นอนกลิ้งเกลือก มีเขฬะ (น้ำลาย) อันหลั่งไหล นางบางเหล่าก็นอนกรนสำเนียงดังเสียงกา นางบางหมู่ก็นอนเคี้ยวทนต์ นางบางพวกก็นอนละเมอเพ้อฝันจำนรรจาต่างๆ บางหมู่ก็นอนโอษฐ์อ้าอาการวิปลาส บางเหล่านางก็นอนมีกายเปลือยปราศจากวัตถาสำแดงที่สัมพาธฐานให้ปรากฏ..."

ความสลดสังเวชเบื่อหน่ายกามคุณ ๕ ก็เกิดขึ้น ทำให้การปลุกเร้าเกิดพุทธภาวะมากขึ้น ทรงคิดหาหนทางพ้นทุกข์

จึงออกพระโอษฐ์ลำพังพระองค์ว่า  "เราจะออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ในสมัยราตรีนี้" แล้วเสด็จไปยังพระทวารปราสาท  และตรัสเรียกมหาดเล็กเฝ้าพระทวารว่า  "ใครอยู่ที่นั่น"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 มีนาคม 2565 15:34:15 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5798


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 13 มีนาคม 2565 15:33:22 »



พระสิทธัตถะกุมารเสด็จหนีออกบรรพชา

ครั้นพระสิทธัตถะทรงน้อมพระทัยเสด็จออกบรรพชาเช่นนั้น ก็ทรงเห็นมีทางเดียว คือ เสด็จหนีออกจากพระนคร ตัดความอาลัย ความเยื่อใยในราชสมบัติ พระชายา และพระโอรส กับทั้งพระประยูรญาติ ตลอดราชบริพารทั้งสิ้น ด้วยหากจะทูลพระราชบิดาก็คงจะถูกทัดทาน ยิ่งมวลพระประยูรญาติทราบเรื่องก็จะรุมกันห้ามปราม การเสด็จออกซึ่งหน้า ไม่เป็นผลสำเร็จได้

เมื่อทรงตั้งพระทัยเสด็จหนีเช่นนั้นแล้ว ในเวลาราตรีนั้น เสด็จบรรทมแต่หัวค่ำ ไม่ทรงใยดีในการขับประโคมด้วยดุริยางค์ดนตรีของพวกราชกัญญาทั้งหลายที่ประจงจัดถวายบำรุงบำเรอทุกประการ

เมื่อพระสิทธัตถะทรงตื่นบรรทมในเวลาดึกสงัดแห่งราตรีนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นนางบำเรอฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรีเหล่านั้น นอนหลับอยู่เกลื่อนภายในปราสาท ซึ่งสร้างด้วยแสงประทีป บางนางอ้าปาก กัดฟัน น้ำลายไหล บางนางผ้านุ่งหลุด บางนางกอดพิณ บางนางก่ายเปิงมาง บางนางบ่น ละเมอ นอนกลิ้งกลับไปมา ปรากฏแก่พระสิทธัตถะ ดุจซากศพ อันทิ้งอยู่ในป่าช้าผีดิบ ปราสาทอันงามวิจิตรแต่ไหนแต่ไรมาได้กลายเป็นป่าช้าปรากฏแก่พระสิทธัตถะ

ในขณะนั้น เป็นการเพิ่มกำลังความดำริในการออกบรรพชาในเวลาย่ำค่ำเพิ่มขึ้นอีก ทรงเห็นบรรพชาเป็นทางที่ห่างอารมณ์อันล่อให้หลงและมัวเมา เป็นช่องที่จะบำเพ็ญปฏิบัติ เป็นประโยชน์ตนและผู้อื่น ทรงตกลงพระทัยเช่นนี้ก็เตรียมแต่งพระองค์ทรงพระขรรค์ รับสั่งเรียกนายฉันนะ อำมาตย์ ให้เตรียมผูกม้ากัณฐกะ เพื่อเสด็จออกในราตรีนั้น

ครั้นตรัสสั่งแล้วก็เสด็จไปยังปราสาทพระนางพิมพาเทวี เพื่อทอดพระเนตรราหุลกุมาร พระโอรสพระองค์เดียวของพระองค์ เผยพระทวารห้องบรรทมของพระนางพิมพาเทวี เห็นพระนางบรรทมหลับสนิท พระกรกอดโอรสอยู่ ทรงดำริจะอุ้มพระโอรสขึ้นชมเชยเป็นครั้งสุดท้าย ก็เกรงว่าพระนางพิมพาจะทรงตื่นบรรทม เป็นอุปสรรคขัดขวางการเสด็จออกบรรพชา

จึงตัดพระทัยระงับความเสน่หาในพระโอรส เสด็จออกจากห้องเสด็จลงจากปราสาท พบนายฉันนะเตรียมม้าพระที่นั่งไว้พร้อมดีแล้ว ก็เสด็จขึ้นประทับม้ากัณฐกะ มีนายฉันนะตามเสด็จหนึ่งคน เสด็จออกจากพระนครในราตรีกาล ซึ่งเทพยดาบรรดาลเปิดทวารพระนครไว้ให้เสด็จโดยสวัสดี
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.869 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 16 ธันวาคม 2567 00:32:43