[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 17:41:17 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า:  1 [2]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประมวญ "ชาดก" ในพระพุทธศาสนา  (อ่าน 26393 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1117


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 49.0.2623.110 Chrome 49.0.2623.110


ดูรายละเอียด
« ตอบ #20 เมื่อ: 11 เมษายน 2559 09:38:34 »



อุรคชาดก
ว่าด้วยงูผู้มีคุณธรรมสูง

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภการผูกเวรของคนมีเวร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้
 
ได้ยินว่า มหาอำมาตย์สองคนเป็นหัวหน้าทหารเป็นเสวกของพระเจ้าโกศล เห็นกันและกันเข้าก็ทะเลาะกัน การจองเวรของเขาทั้งสองเป็นที่รู้กันทั่วนคร พระราชา ญาติและมิตรไม่สามารถจะทำให้เขาทั้งสองสามัคคีกันได้
 
อยู่มาวันหนึ่ง ในเวลาใกล้รุ่งพระศาสดาทรงตรวจดูเผ่าพันธุ์สัตว์ที่ควรแนะนำให้ตรัสรู้ ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรคของเขาทั้งสอง วันรุ่งขึ้น เสด็จสู่กรุงสาวัตถีเพื่อบิณฑบาตเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ประทับยืนที่ประตูเรือนของคนหนึ่ง เขาออกมารับบาตรแล้วนิมนต์พระศาสดาให้เสด็จเข้าไปภายในเรือน ปูอาสนะให้ประทับนั่ง พระศาสดาประทับนั่งแล้วตรัสอานิสงส์แห่งการเจริญเมตตาแก่เขา ทรงทราบว่ามีจิตอ่อนแล้ว จึงทรงประกาศอริยสัจ เมื่อจบอริยสัจเขาตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล พระศาสดาทรงทราบว่าเขาบรรลุโสดาแล้ว ให้เขาถือบาตรทรงพาไปประตูเรือนของอีกคนหนึ่ง อำมาตย์นั้นก็ออกมาถวายบังคมพระศาสดากราบทูลว่า ขอเชิญเสด็จเข้าไปเถิดพระเจ้าข้า แล้วทูลเสด็จเข้าไปยังเรือนอัญเชิญให้ประทับนั่ง อำมาตย์ที่ตามเสด็จก็ถือบาตรตามเสด็จพระศาสดาเข้าไปพร้อมกับพระศาสดา  พระศาสดาตรัสพรรณนาอานิสงส์เมตตา ๑๑ ประการทรงทราบว่าเขามีจิตสมควรแล้ว จึงทรงประกาศสัจธรรม

เมื่อจบแล้ว อำมาตย์นั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล อำมาตย์ทั้งสองบรรลุโสดาบันแล้ว ก็แสดงโทษขอขมากันและกัน มีความสมัครสมานบันเทิงใจ มีอัธยาศัยร่วมกันด้วยประการฉะนี้ วันนั้นเองเขาทั้งสองบริโภคร่วมกัน เฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระศาสดาเสวยภัตตาหารเสร็จแล้วได้เสด็จกลับพระวิหาร อำมาตย์สองคนนั้นก็ถือดอกไม้ของหอมเครื่องลูบไล้และเนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น ออกไปพร้อมกับพระศาสดา เมื่อหมู่ภิกษุแสดงวัตรแล้ว พระศาสดาทรงประทานสุคโตวาทแล้วเสด็จเข้าพระคันธกุฏี
 
ในเวลาเย็นภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันถึงกถาแสดงคุณของพระศาสดาในธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย พระศาสดาทรงฝึกคนที่ฝึกไม่ได้ พระตถาคตทรงฝึกมหาอำมาตย์ทั้งสองซึ่งวิวาทกันมาช้านาน พระราชาและญาติมิตรเป็นต้นก็ไม่สามารถจะทำให้สามัคคีกันได้ เพียงในวันเดียวเท่านั้น พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้น กราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราได้ทำให้ชนทั้งสองเหล่านี้สามัคคีกันมิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนเราก็ทำชนเหล่านี้ให้สามัคคีกัน แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสว่า
 
ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี เมื่อเขาประกาศมีมหรสพในกรุงพาราณสีได้มีการประชุมใหญ่ พวกมนุษย์เป็นอันมากและเทวดา นาค ครุฑ เป็นต้น ต่างประชุมกันเพื่อชมมหรสพ ในสถานที่แห่งหนึ่งที่เมืองพาราณสีนั้น

พญานาคจำพญาครุฑไม่ได้ จึงพาดมือลงไว้เหนือจะงอยปากพญาครุฑ พญาครุฑนึกในใจว่า ใครเอามือวางบนจะงอยปากของเราเหลียวไปดูรู้ว่าเป็นพญานาค พญานาคมองดูก็จำได้ว่าเป็นพญาครุฑ จึงหวาดหวั่นต่อมรณภัย ออกจากพระนครหนีไปทางท่าน้ำ พญาครุฑก็ติดตามไปด้วยคิดว่า จักจับพญานาคนั้นให้ได้
 
ในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์เป็นดาบสอาศัยอยู่ ณ บรรณศาลาใกล้ฝั่งแม่น้ำนั้น เพื่อระงับความกระวนกระวายในตอนกลางวันจึงนุ่งผ้าอุทกสาฏก (ผ้าอาบน้ำ) วางผ้าเปลือกไม้ไว้ที่นอกฝั่งแล้วลงอาบน้ำ พญานาคคิดว่า เราจักได้ชีวิตเพราะอาศัยบรรพชิตนี้ จึงแปลงเพศเดิม เนรมิตเพศเป็นก้อนมณีเข้าไปอาศัยอยู่ในผ้าเปลือกไม้ พญาครุฑติดตามไป เห็นพญานาคนั้นเข้าไปอาศัยอยู่ในผ้าเปลือกไม้นั้น ก็ไม่จับต้องผ้าเปลือกไม้เพราะความเคารพ จึงปราศรัยกะพระโพธิสัตว์ว่า ท่านขอรับ ข้าพเจ้าหิว ท่านจงเอาผ้าเปลือกไม้ของท่านไป ข้าพเจ้าจักกินพญานาคนี้ เพื่อประกาศความนี้ จึงกล่าวคาถาแรกว่า :
พญานาคผู้ประเสริฐกว่างูทั้งหลาย ต้องการจะพ้นไปจากสำนักของข้าพเจ้าจึงแปลงเพศเป็นก้อนแก้วมณี เข้าไปอยู่ในผ้าเปลือกไม้นี้ ข้าพเจ้าเคารพยำเกรงเพศของพระคุณเจ้า ซึ่งเป็นเพศประเสริฐนัก แม้จะหิวก็ไม่อาจจะจับพญานาคซึ่งเข้าไปอยู่ในผ้าเปลือกไม้นั้นออกมากินได้
 
พระโพธิสัตว์ทั้ง ๆ ที่ยืนอยู่ในน้ำได้สรรเสริญพญาครุฑแล้วกล่าวคาถาที่สองว่า :
ท่านเคารพยำเกรงผู้มีเพศอันประเสริฐ แม้จะหิวก็ไม่อาจจะจับนาค ซึ่งเข้าไปอยู่ในผ้าเปลือกไม้นั้นออกมากินได้ ขอท่านจงเป็นผู้อันพรหมคุ้มครองแล้ว ดำรงชีวิตอยู่สิ้นกาลนานเถิด  อนึ่ง ขอภักษาหารอันเป็นทิพย์จงปรากฏแก่ท่านเถิด พระโพธิสัตว์ทั้งๆ ที่ยืนอยู่ในน้ำ กระทำอนุโมทนาแล้วขึ้นนุ่งผ้าเปลือกไม้ พาสัตว์ทั้งสองไปอาศรมบทแสดงถึงคุณของการเจริญเมตตา แล้วได้กระทำให้สัตว์ทั้งสองนั้นสามัคคีกัน ร่วมกันด้วยความสุข

พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้วประชุมชาดกว่าพญานาคและพญาครุฑในครั้งนั้นได้เป็นอำมาตย์ผู้ใหญ่ทั้งสองในบัดนี้ ส่วนดาบสได้เป็นเราตถาคตนี้แล.


จบ อุรคชาดก

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1117


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 49.0.2623.112 Chrome 49.0.2623.112


ดูรายละเอียด
« ตอบ #21 เมื่อ: 20 เมษายน 2559 14:44:35 »



พิลารโกสิยชาดก
ให้ทานไม่ได้เพราะเหตุ ๒ อย่าง

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภ ภิกษุผู้มีทานเป็นเครื่องปลื้มใจรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้.

ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นฟังพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วบวชในพระศาสนา นับแต่บวชแล้วเป็นผู้มีทานเป็นเครื่องปลื้มใจ มีอัธยาศัยยินดีในการให้ทาน ถ้ายังไม่ได้ให้บิณฑบาตที่ตนได้มาแก่ผู้อื่นก่อนแล้วตนก็ยังไม่ฉัน โดยที่สุดได้เพียงน้ำดื่มมา ถ้ายังไม่ให้แก่ผู้อื่นก่อนแล้ว ตนก็ไม่ดื่ม ได้เป็นผู้ยินดียิ่งในทานด้วยอาการอย่างนี้.

ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายพากันพรรณนาคุณของภิกษุรูปนั้นในธรรมสภา พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันถึงเรื่องอะไรเมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว รับสั่งให้เรียกภิกษุนั้นมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอมีทานเป็นเครื่องปลื้มใจ มีอัธยาศัยยินดีในการให้ทาน จริงหรือ เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระเจ้าข้า จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนภิกษุนี้ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใส แม้แต่หยดน้ำมันก็ไม่เอาปลายหญ้าคาจิ้มให้ใคร คราวนั้นเราทรมานเขาทำให้หมดพยศ ให้ตั้งอยู่ในผลแห่งทาน แม้ในภพต่อๆ มา ก็ยังละทานวัตรนั้นไม่ได้ ภิกษุทั้งหลายทูลอาราธนาให้ตรัสเรื่องราว จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้:

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลเศรษฐี เจริญวัยแล้วรวบรวมทรัพย์ไว้ได้มาก ครั้นบิดาล่วงลับไปก็ได้ตำแหน่งเศรษฐี วันหนึ่งตรวจตราดูทรัพย์สมบัติแล้วคิดว่า ตัวทรัพย์ยังปรากฏอยู่ แต่ผู้ที่ทำให้ทรัพย์เกิดขึ้นตายไปหมดแล้ว เราควรสละทรัพย์นี้ให้ทาน จึงให้สร้างโรงทานบำเพ็ญทาน เป็นการใหญ่ตลอดชีวิต

กาลเมื่อจะสิ้นอายุได้ให้โอวาทแก่บุตรไว้ว่า เจ้าอย่าตัดทานวัตรนี้เสีย แล้วตายก็ไปเกิดเป็นท้าวสักกะ ณ ดาวดึงส์พิภพ แม้บุตรของเศรษฐีนั้นก็ให้ทานเช่นนั้นเหมือนกัน แล้วกล่าวสอนบุตรอย่างนั้นเช่นเดียวกัน ครั้นสิ้นอายุก็ได้เกิดเป็นจันทเทพบุตร บุตรในชั้นต่อๆ มาก็ได้กระทำเช่นนั้น เหมือนเช่นที่บรรพบุรุษได้สั่งสอนไว้ บุตรในลำดับต่อจากนั้นเกิดเป็น สุริยเทพบุตร บุตรของเขาได้เกิดเป็นมาตลีสังคาหกเทพบุตร บุตรของเขาได้เกิดเป็นคนธรรพ์เทพบุตร ชื่อปัญจสิขะ แต่บุตรชั้นที่ ๖ เป็นคนไม่มีศรัทธา มีจิตกระด้าง ไม่รักการให้ทาน เป็นคนตระหนี่ เขาให้คนรื้อโรงทานเผาเสีย ให้โบยตีพวกยาจกไล่ไปสิ้น แม้หยาดน้ำผึ้งเพียงแค่หยดจากปลายหญ้าคาก็ไม่รินให้แก่ใครๆ

ในกาลครั้งนั้น ท้าวสักกเทวราชตรวจตราดูบุพกรรมของพระองค์ ใคร่ครวญว่า วงศ์ทานของเรายังเป็นไปอยู่หรือไม่หนอ ทรงทราบว่า บุตรของเราบำเพ็ญทานเกิดเป็นจันทเทพบุตร บุตรของจันทเทพบุตรเกิดเป็นสุริยเทพบุตร บุตรของสุริยเทพบุตรเกิดเป็นมาตลีเทพบุตร บุตรของมาตลีเทพบุตรเกิดเป็นปัญจสิขเทพบุตร แต่บุตรชั้นที่หกได้ตัดวงศ์ทานนั้นเสีย ครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงมีพระดำริว่า เราจักทรมานเศรษฐีผู้มีใจลามกนี้ให้รู้จักผลทานแล้วจักมา

พระองค์จึงรับสั่ง ให้หาจันทสุริย มาตลีและปัญจสิขเทพบุตรมาตรัสว่า ดูก่อนสหาย เศรษฐีชั้นที่ ๖ ในวงศ์ของพวกเราตัดวงศ์ตระกูลขาดเสียแล้ว ให้เผาโรงทาน ให้ขับไล่พวกยาจกไปเสีย ไม่ให้อะไรแก่ใครๆ มาเถิดท่านทั้งหลาย พวกเราจักไปทรมานเศรษฐีนั้น ดังนี้แล้วได้เสด็จไปยังกรุงพาราณสีพร้อมด้วยเทพบุตรทั้ง ๔ นั้น.

ขณะนั้น เศรษฐีไปเฝ้าพระราชา แล้วมาแลดูระหว่างถนน อยู่ที่ซุ้มประตูที่ ๗ ท้าวสักกะตรัสกะเทพบุตรทั้ง ๔ ว่า เวลาเราเข้าไปแล้ว ท่านทั้งหลายจงตามเข้าไปโดยลำดับ ดังนี้แล้วไปยืนอยู่ในสำนักเศรษฐีตรัสว่า

     ดูก่อนมหาเศรษฐีผู้เจริญ ท่านจงให้โภชนะแก่ข้าพเจ้าบ้าง
     เศรษฐีกล่าวว่า ท่านพราหมณ์ ที่นี้ไม่มีภัตสำหรับท่าน ไปที่อื่นเถิด
     ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านมหาเศรษฐีผู้เจริญ เมื่อพราหมณ์ทั้งหลายขอภัต ท่านควรให้
     เศรษฐีตอบว่า ท่านพราหมณ์ ภัตนี่หุงสุกแล้วก็ดี ที่จะพึงหุงก็ดี ไม่มีในเรือนของเรา ท่านจงไปที่อื่นเถิด
     ท้าวสักกะตรัสว่า ท่านมหาเศรษฐี เราจักกล่าวสรรเสริญท่านอย่างหนึ่งท่านจงฟัง
     เศรษฐี ตอบว่า เราไม่ต้องการความสรรเสริญของท่าน ท่านจงไปเถิดอย่ายืนอยู่ที่นี้เลย
   ท้าวสักกะทำเป็นไม่ได้ยินคำของเศรษฐี ได้ตรัสคาถา ๒ คาถาว่า:
     [๑๔๔๓] สัตบุรุษทั้งหลายแม้ไม่หุงกินเอง ได้โภชนะมาแล้ว ย่อมปรารถนาจะให้ท่านหุงโภชนะ ไว้มิใช่หรือ ไม่พึงให้โภชนะนั้น ไม่สมควรแก่ท่าน
     [๑๔๔๔] บุคคลให้ทานไม่ได้ด้วยเหตุ ๒ อย่างคือ ความตระหนี่ ๑ ความประมาท๑ บัณฑิตผู้รู้แจ้ง เมื่อต้องการบุญพึงให้ทานแท้.


ความแห่งคาถานี้ว่า ท่านมหาเศรษฐีผู้เจริญ สัตบุรุษทั้งหลายผู้สงบแล้ว แม้ไม่หุงกินเองก็ปรารถนาจะให้โภชนะแม้ที่ได้มาด้วยการภิกขาจาร ย่อมไม่บริโภคผู้เดียว. ส่วนท่าน ทั้งๆ ที่ท่านหุงอยู่ก็ไม่ให้ การที่ท่านไม่ให้นั้นไม่เหมาะแก่ท่านเศรษฐีนั้น ฟังธรรมกถาของปัญจสิขเทพบุตรแล้ว กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นไปเถิดท่านจงเข้าไปนั่งในเรือน จะได้หน่อยหนึ่ง ปัญจสิขเทพบุตรได้ไปนั่งในสำนักของพราหมณ์เหล่านั้น

เศรษฐีได้ฟังคำท้าวสักกะแล้วกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงเข้าไปนั่งที่เรือนเถิด จักได้หน่อยหนึ่ง ท้าวสักกะได้เข้าไปนั่งสวดสรรเสริญอยู่ ลำดับนั้น จันทเทพบุตรได้มาขอภัตกะเศรษฐีนั้นและเมื่อเศรษฐี กล่าวว่า ภัตสำหรับท่านไม่มีจงไปเสียเถิด จึงกล่าวว่า ท่านมหาเศรษฐี พราหมณ์คนหนึ่ง นั่งอยู่แล้วภายในเรือน เห็นจะมีสวดพราหมณ์กระมัง เราจักเข้าไปสวดบ้าง แม้เศรษฐีจะกล่าวว่า ไม่มีสวดพราหมณ์ ท่านจงออกไป ก็กล่าวว่า ท่านมหาเศรษฐีเชิญท่านฟังบทสรรเสริญก่อน แล้วกล่าวคาถา ๒ คาถาว่า:
    [๑๔๔๕] คนผู้ตระหนี่กลัวยากจน ย่อมไม่ให้อะไรๆ แก่ผู้ใดเลย ความกลัวจนนั่นแลจะเป็นภัยแก่คนผู้ไม่ให้ คนตระหนี่ย่อมกลัวความอยากข้าว อยากน้ำ ความกลัวนั้นแหละ จะกลับมาถูกต้องคนพาลทั้งในโลกนี้และโลกหน้า.
     [๑๔๔๖] เพราะเหตุนั้น บัณฑิตพึงครอบงำมลทิน กำจัดตระหนี่เสียแล้ว พึงให้ทานเถิด เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า.

เศรษฐีได้ฟังคำของจันทเทพบุตรแม้นั้นแล้วกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไปจักได้หน่อยหนึ่ง

จันทเทพบุตรเข้าไปนั่งใกล้ท้าวสักกะ ต่อจากนั้นสุริยเทพบุตรปล่อยให้เวลาล่วงไปหน่อยหนึ่งแล้วมา เมื่อขอภัตได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า:
     [๑๔๔๗] ทานผู้ให้ได้ยาก เพราะต้องครอบงำความตระหนี่ก่อน แล้วจึงให้ได้ อสัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมไม่ทำทานตามที่สัตบุรุษทำแล้ว ธรรมของสัตบุรุษอันคนอื่นรู้ได้ยาก.
     [๑๔๔๘] เพราะเหตุนั้น คติจากโลกนี้ของสัตบุรุษ กับอสัตบุรุษจึงต่างกันอสัตบุรุษย่อมไปนรก สัตบุรุษย่อมไปสวรรค์.


ขึ้นชื่อว่าทาน บุคคลให้ได้ยาก เพราะผู้ที่จะให้ทานนั้นต้องละความตระหนี่เสียก่อนจึงให้ได้

เศรษฐีไม่เห็นว่าจะมีของอะไรที่ควรหยิบยื่นให้ไปได้ จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไปนั่งอยู่ในสำนักพราหมณ์ทั้งหลาย จักได้หน่อยหนึ่ง ต่อแต่นั้นมาตลีเทพบุตรปล่อยให้เวลาล่วงไปหน่อยหนึ่งแล้ว มาขอภัต ในระหว่างที่เศรษฐีตอบว่า ไม่มีนั่นแหละ ได้กล่าวคาถาที่ ๗ ว่า:

     [๑๔๔๙] บัณฑิตพวกหนึ่ง ย่อมให้ไทยธรรมแม้มีส่วนเล็กน้อยได้ สัตว์พวกหนึ่ง แม้มีไทยธรรมมาก ก็ให้ไม่ได้ ทักขิณาทานที่บุคคลให้จากของเล็กน้อยก็นับว่าเสมอด้วยการให้จำนวนพัน.

เศรษฐีกล่าวกะมาตลีเทพบุตรแม้นั้นว่า ถ้าเช่นนั้น ท่านจงเข้าไปนั่งเถิด ต่อจากนั้นปัญจสิขเทพบุตร ปล่อยให้เวลาล่วงไปหน่อยหนึ่ง แล้วมาขอภัต เมื่อเศรษฐีกล่าวว่า ไม่มีไปเสียเถิด จึงกล่าวว่า เราไม่เลยไป ในเรือนนี้เห็นจะมีสวดพราหมณ์กระมัง เมื่อจะเริ่มธรรมกถาแก่เศรษฐี จึงกล่าวคาถาที่ ๘ ว่า:
     [๑๔๕๐] แม้ผู้ใดเที่ยวไปขออาหารมา ผู้นั้นชื่อว่า ประพฤติธรรม อนึ่ง บุคคลผู้เลี้ยงบุตรและภรรยาของตน เมื่อไทยธรรมมีน้อยก็เฉลี่ย ให้แก่สมณะและพราหมณ์ บุคคลนั้นชื่อว่า ประพฤติธรรม ยัญที่คนตั้งแสนฆ่าสัตว์มาบูชาแก่คนผู้ควรบูชาจำนวนพัน ยัญของคนเช่นนั้น ย่อมไม่ถึงแม้
เสี้ยวแห่งผลทาน ของคนเข็ญใจผู้ยังไทยธรรมให้เกิดโดยชอบให้อยู่.

ลำดับนั้น เศรษฐีได้กำหนดฟังถ้อยคำของปัญจสิขเทพบุตรแล้ว ทีนั้นเศรษฐีเมื่อจะถามถึงเหตุแห่งการบูชาอันไร้ผล กะปัญจสิขเทพบุตร นั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๙ ว่า:
     [๑๔๕๑] เพราะเหตุไร ยัญนี้ก็ไพบูลย์ มีค่ามาก จึงไม่เท่าค่าแห่งผลทานของบุคคลที่ให้โดยชอบธรรมเล่า ไฉนยัญที่คนตั้งแสนฆ่าสัตว์มาบูชา แก่แก่คนที่ควรบูชาจำนวนพันๆ จึงไม่เท่าแม้ส่วนเสี้ยวแห่งผลทาน ของคนเข็ญใจผู้ยังไทยธรรม ให้เกิดโดยชอบให้อยู่

ลำดับนั้น ปัญจสิขเทพบุตรเมื่อจะกล่าวแก่เศรษฐีนั้น ได้กล่าว คาถาสุดท้ายว่า:
     [๑๔๕๒] เพราะว่า คนบางพวกตั้งอยู่ในกายกรรมเป็นต้น อันไม่เสมอกัน ทำสัตว์ให้ลำบากบ้าง ฆ่าให้ตายบ้าง ทำให้เศร้าโศกบ้าง แล้วจึงให้ทาน ทักขิณาทานนั้น มีหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา พร้อมทั้งอาชญา จึงไม่เท่าถึงส่วนเสี้ยวแห่งผลทานที่บุคคลให้แล้วโดยชอบธรรม เพราะอย่างนี้
ยัญที่คนตั้งแสนฆ่าสัตว์มาบูชายัญ แก่คนที่ควรบูชาจำนวนพันๆ จึงไม่เท่าถึงส่วนเสี้ยวแห่งผลทาน ของคนเข็ญใจผู้ยังไทยธรรมให้เกิดโดยชอบให้อยู่.

เศรษฐีนั้น ฟังธรรมกถาของปัญจสิขเทพบุตรแล้ว กล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นไปเถิดท่านจงเข้าไปนั่งในเรือน จะได้หน่อยหนึ่ง ปัญจสิขเทพบุตรได้ไปนั่งในสำนักของพราหมณ์เหล่านั้น

ลำดับนั้น พิลารโกสิยเศรษฐีเรียกทาสีคนหนึ่ง มาสั่งว่า เจ้าจงให้ข้าวลีบแก่พราหมณ์เหล่านี้ คนละทะนาน นางทาสีถือทะนานข้าวเปลือกเข้าไปหาพราหมณ์แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงเอาข้าวเปลือกเหล่านี้ไปหุงกิน ณ ที่ใดที่หนึ่ง

พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวว่า พวกเราไม่ต้องการข้าวเปลือก พวกเราไม่จับต้องข้าวเปลือก

นางทาสีบอกเศรษฐีว่า ได้ยินว่าพราหมณ์ทั้งหลายไม่จับต้องข้าวเปลือก

เศรษฐีกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นเจ้าจงให้ข้าวสารแก่พราหมณ์เหล่านั้น

นางทาสีได้ถือเอาข้าวสารไปให้พวกพราหมณ์แล้ว กล่าวว่า ท่านพราหมณ์ทั้งหลาย ขอพวกท่านจงรับเอาข้าวสารเถิด

พราหมณ์ทั้งหลายกล่าวว่า พวกเราไม่รับของดิบ

นางทาสีบอกเศรษฐีว่า ข้าแต่นายได้ยินว่า พราหมณ์ทั้งหลายไม่รับของดิบ

เศรษฐีกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เจ้าจงคดข้าวสำหรับโคกินใส่กะโหลกไปให้แก่พวกพราหมณ์เหล่านั้น

นางทาสีได้คดข้าวสุกสำหรับโคกินใส่กะโหลกไปให้พราหมณ์เหล่านั้นแล้ว พราหมณ์ทั้ง ๕ ปั้นข้าวเป็นคำๆ ใส่ปาก ทำให้ข้าวติดคอแล้วกลอกตาไปมา นอนทำเป็นตายหมดความรู้สึก ทาสีเห็นดังนั้นคิดว่า พราหมณ์จักตาย จึงกลัวไปบอกเศรษฐีว่า ข้าแต่นาย พราหมณ์เหล่านั้น ไม่อาจจะกลืนข้าวสำหรับโคได้ พากันตายหมดแล้ว.

เศรษฐีนั้นคิดว่า คราวนี้คนทั้งหลายจักติเตียนเราว่า เศรษฐีนี้ มีใจชั่ว ให้นางทาสีให้ข้าวสำหรับโคแก่พวกพราหมณ์ผู้สุขุมาลชาติ พวกพราหมณ์เหล่านั้นไม่อาจกลืนข้าวนั้นได้ จึงตายหมด

ลำดับนั้น เศรษฐีจึงกล่าวกะทาสีว่า เจ้าจงรีบไปเอาข้าวสำหรับโคในกะโหลก เหล่านั้นมาเสีย แล้วจงคดข้าวสาลีที่โอชารสไปให้ใหม่ นางได้กระทำตามนั้นแล้ว เศรษฐีเรียกพวกคนเดินถนนมาบอกว่า เราให้ทาสีนำ อาหารตามที่เราเคยบริโภคไปให้พวกพราหมณ์เหล่านี้ พราหมณ์เหล่านี้ มีความโลภบริโภคคำใหญ่ๆ จึงติดคอตาย ท่านทั้งหลายจงรู้ว่าเราไม่มีความผิด แล้วให้ประชุมบริษัท.

เมื่อมหาชนประชุมกันแล้ว พราหมณ์ทั้งหลายลุกขึ้นแลดูมหาชน แล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงดูเศรษฐีนี้กล่าวเท็จ เศรษฐีกล่าวว่าได้ให้ข้าวสำหรับตนบริโภคแก่พวกเรา ความจริงเศรษฐีได้ให้ข้าวสำหรับโคกินแก่พวกเราก่อน เมื่อพวกเราทำเป็นนอนตาย จึงให้ทาสีไปคดข้าวนี้ ส่งมาให้

กล่าวดังนี้แล้วจึงคายข้าวที่อมไว้ในปากลงบนพื้นดินแสดงแก่มหาชน มหาชนพากันติเตียนเศรษฐีว่า แน่ะคนอันธพาลเจ้าทำวงศ์ตระกูลของตนให้พินาศ ให้เผาโรงทาน ให้จับคอพวกยาจกขับไล่ไป บัดนี้เมื่อจะให้ข้าวแก่พวกพราหมณ์สุขุมาลชาติเหล่านี้ ได้เอาข้าวสำหรับโคกินให้ เมื่อเจ้าจะไปปรโลก เห็นจะเอาสมบัติในเรือนของเจ้าผูกคอไปด้วยกระมัง.

ขณะนั้น ท้าวสักกะถามมหาชนว่า ท่านทั้งหลายรู้ไหมว่าทรัพย์ ในเรือนนี้เป็นของใคร มหาชนตอบว่าไม่รู้ ท้าวสักกะถามว่า พวกท่านเคยได้ยินไหมว่าครั้งกระโน้น ในพระนครนี้มีมหาเศรษฐี เมืองพาราณสี สร้างโรงทานแล้วบำเพ็ญทานเป็นการใหญ่
มหาชนตอบว่า ถูกแล้ว พวกเราได้ยิน

ท้าวสักกะกล่าวว่า เราคือเศรษฐีคนนั้น ครั้นให้ทานแล้วไปเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช แม้บุตรของเราก็มิได้ทำลายวงศ์ตระกูล ได้ให้ทานแล้วเกิดเป็นจันทเทพบุตร บุตรของจันทเทพบุตรเกิดเป็น สุริยเทพบุตร บุตรของสุริยเทพบุตรเกิดเป็นมาตลีเทพบุตร บุตรของมาตลีเทพบุตรเกิดเป็นคนธรรพ์เทพบุตรชื่อปัญจสิขะ บรรดาเทพบุตรเหล่านั้น ผู้นี้คือจันทเทพบุตร ผู้นี้คือสุริยเทพบุตร ผู้นี้คือมาตลีสังคาหกเทพบุตร ผู้นี้คือคนธรรพ์เทพบุตร ชื่อปัญจสิขะ ผู้เป็นบิดาของเศรษฐีผู้มีใจลามกนี้ กุศลทานที่มีคุณมากอย่างนี้ บัณฑิตควรทำแท้

ขณะกำลังกล่าวอยู่นั้น เพื่อจะตัดความสงสัยของมหาชน เทพบุตรทั้งหลายจึงเหาะไปในอากาศ ยืนเปล่งรัศมีกายงามรุ่งเรืองอยู่ด้วยอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ทำพระนครทั้งสิ้นให้สว่างไสวอยู่.

ท้าวสักกะเรียกมหาชนมาตรัสว่า พวกเราละทิพยสมบัติของตนมา ก็เพราะพิลารโกสิยเศรษฐีผู้มีใจลามก ผู้สืบสกุลวงศ์คนสุดท้ายนี้ เศรษฐีใจลามกคนนี้ ทำลายวงศ์ตระกูลของตน ให้เผาโรงทาน ให้จับคอพวกยาจกขับไล่ไป ตัดวงศ์ของพวกเราเสีย เขาไม่ให้ทานไม่รักษาศีล จะพึงเกิดในนรก พวกเรามาเพื่ออนุเคราะห์เศรษฐีนี้ เมื่อจะทรงประกาศคุณแห่งทาน ได้แสดงธรรมแก่มหาชน.

แม้พิลารโกสิยเศรษฐี ก็ได้ประคองอัญชลีขึ้นเหนือเศียร ให้ปฏิญญาแก่ท้าวสักกะว่า ข้าแต่พระองค์ตั้งแต่นี้ไป ข้าพระองค์จักไม่ทำลายวงศ์ตระกูลที่มีมาแต่โบราณ จักบำเพ็ญทาน ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ถ้ายังไม่ได้ให้อาหารที่ได้มา แม้ที่สุดจนน้ำและไม้ชำระฟันแก่ผู้อื่นก่อน ข้าพระองค์จักไม่บริโภคเลย

ท้าวสักกะทรงทรมานเศรษฐีนั้นทำให้หมดพยศ ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ แล้วพาเทพบุตรทั้ง ๔ ไปสู่วิมานของตนๆ แม้เศรษฐีนั้นครั้นดำรงอยู่ตลอดชีวิตแล้ว ก็ได้ไปเกิดในดาวดึงส์พิภพ.

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนภิกษุนี้ไม่มีศรัทธา ไม่ให้ทานแก่ใครๆ แต่เราได้ทรมานเธอให้รู้จักผลทานอย่างนี้ แม้เกิดในภพต่อๆ มาก็ยังละจิตคิดจะให้ทานนั้นไม่ได้ แล้วทรงประชุมชาดกว่า เศรษฐีในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้เป็นทานบดี.


จบ พิลารโกสิยชาดก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 เมษายน 2559 15:02:44 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1117


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.94 Chrome 50.0.2661.94


ดูรายละเอียด
« ตอบ #22 เมื่อ: 04 พฤษภาคม 2559 16:35:46 »



สุธาโภชนชาดก
ว่าด้วยของกินอันเป็นทิพย์

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงพระปรารภภิกษุผู้มีอัธยาศัยในการบำเพ็ญทานรูปหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีดังนี้

ได้ยินว่า ภิกษุรูปนั้นเป็นกุลบุตรคนหนึ่งในเมืองสาวัตถี ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา มีจิตเลื่อมใสแล้ว จึงออกบวชกระทำศีลให้บริบูรณ์ประกอบด้วยธุดงคคุณ มีเมตตาจิตแผ่ไปในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่ประมาทในการบำรุงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ วันละ ๓ ครั้ง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยมรรยาท มีอัธยาศัยชอบในการให้ทาน ได้บำเพ็ญสาราณียธรรมจนครบบริบูรณ์แล้ว ภิกษุรูปนั้นเมื่อปฏิคาหกทั้งหลายยังมีอยู่ ย่อมให้สิ่งของที่ตนได้แล้วจนหมดสิ้น แม้ตนเองถึงกับอดอาหาร เพราะฉะนั้น เธอจึงได้ปรากฏในหมู่ภิกษุว่าเป็นผู้มีอัธยาศัยในการจำแนกทาน ยินดียิ่งในทาน

ต่อมาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุชื่อโน้นเป็นผู้มีอัธยาศัยในการจำแนกทาน ยินดียิ่งแล้วในทาน ตัดความโลภเสียได้แล้ว มีน้ำประมาณเพียงซองมือหนึ่งที่ตนได้มาก็ถวายแก่เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายจนหมด เธอมีอัธยาศัยดุจพระโพธิสัตว์

พระศาสดาทรงได้ยินถ้อยคำนั้นด้วยพระโสตธาตุเพียงดังทิพย์ จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎีเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เมื่อชาติก่อนเป็นผู้ไม่ให้ทานเป็นประจำ เป็นผู้ตระหนี่ ไม่ให้ของอะไรๆ แก่ใครๆ แม้หยาดน้ำมันด้วยปลายหญ้า ต่อมาเราได้ทรมานเธอกระทำให้หมดพยศ พรรณนาผลแห่งทาน ให้ตั้งอยู่ในทานแล้ว เธอได้รับพรในสำนักแห่งเราว่า แม้ได้น้ำมาเล็กน้อยเพียงซองมือหนึ่ง ยังมิได้ให้ทานแล้ว ก็จักไม่ดื่มน้ำนั้น ด้วยผลแห่งการที่ได้รับพรในสำนักของเรานี้ เธอจึงเป็นผู้มีอัธยาศัยในการจำแนกทาน เป็นผู้ยินดียิ่งแล้วในทาน ครั้นตรัสฉะนี้แล้ว ทรงดุษณีภาพนิ่งอยู่ เมื่อพวกภิกษุผู้ฉลาดด้วยอนุสนธิในเรื่องเทศนาเหล่านั้น กราบทูลอาราธนา จึงทรงนำอดีตนิทานมาตรัสดังต่อไปนี้

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นคฤหบดีคนหนึ่ง เป็นผู้มั่งคั่งมีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติประมาณ ๘๐ โกฏิ ภายหลังพระราชาได้ทรงพระราชทานตำแหน่ง เศรษฐีแก่พระโพธิสัตว์นั้น เศรษฐีนั้นได้เป็นผู้อันพระราชาทรงบูชาแล้ว และอันชาวเมืองชาวชนบทนับถือบูชาแล้ว วันหนึ่ง เธอแลดูสมบัติของตนแล้ว คิดว่ายศนี้เรามิได้นอนหลับอยู่ได้แล้วหรือว่าเราทำกายทุจริตเป็นต้นไว้ในอดีตภพแล้วได้มาก็หามิได้ เราบำเพ็ญกายสุจริตเป็นต้นให้บริบูรณ์แล้วจึงได้มา แม้ในอนาคตกาลเล่า เราก็ควรจะกระทำที่พึ่งของเรา เธอจึงไปยังสำนักของพระราชากราบทูลว่า ขอเดชะ ทรัพย์ในเรือนของข้าพระองค์มีอยู่ถึง ๘๐ โกฏิ ขอพระองค์จงรับทรัพย์นั้นไว้ เมื่อพระราชาตรัสสั่งว่าเราไม่มีความต้องการทรัพย์ของท่าน ทรัพย์ของเราก็มากมายอยู่แล้ว ตั้งแต่นี้ไปท่านปรารถนาสิ่งใดก็จงถือเอาสิ่งนั้นเถิด จึงกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระองค์จะได้ให้ทรัพย์ของข้าพระองค์เป็นประโยชน์อย่างไรดีหนอ ลำดับนั้น พระราชาจึงตรัสว่า ท่านจงกระทำตามความพอใจเถิด

ดังนี้ เธอจึงให้สร้างศาลาทานขึ้น ๖ แห่ง คือที่ประตูพระนคร ๔ แห่ง ที่ท่ามกลางพระนคร ๑ แห่ง และที่ประตูเรือนของตน ๑ แห่ง กระทำการบริจาคทรัพย์วันละหกแสน บำเพ็ญมหาทานอยู่ทุกๆ วัน เธอให้ทานอยู่อย่างนี้จนตลอดชีวิต แล้วสั่งสอนพวกลูกๆ ว่า เจ้าอย่าได้ตัดทานวงศ์นี้ของเราเสีย ครั้นสิ้นชีวิตแล้วได้ไปบังเกิดเป็นท้าวสักกเทวราช แม้บุตรของเศรษฐีนั้นก็ให้ทานเหมือนบิดา ฉะนั้น ครั้นทำลายขันธ์ก็ไปบังเกิดเป็นพระจันทเทพบุตร บุตรของพระจันทเทพบุตรก็บำเพ็ญทานเหมือนบิดา ได้บังเกิดเป็นสุริยเทพบุตร แล้วบุตรแห่งสุริยเทพบุตรนั้นบำเพ็ญทานเหมือนบิดาก็ได้บังเกิดเป็นพระมาตลีเทพบุตร บุตรแห่งพระมาตลีก็บำเพ็ญทานเหมือนบิดาบังเกิดเป็นปัญจสิขเทพบุตร

ส่วนบุตรคนที่ ๖ แห่งปัญจสิขเทพบุตรนั้นได้เป็นเศรษฐีมีนามว่า มัจฉริยโกสิยะ มีทรัพย์สมบัติถึง ๘๐ โกฏิ เศรษฐีนั้นเป็นคนตระหนี่เหนียวแน่น มานึกว่าบิดาและปู่ของเราเป็นคนพาลทิ้งทรัพย์ที่แสวงหามาด้วยความลำบากเสียแล้ว ส่วนเราจักรักษาทรัพย์ไว้ จักไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ เลย จึงให้รื้อโรงทานทั้ง ๖ แห่งนั้นเผาไฟเสียสิ้น ลำดับนั้น พวกยาจกมาประชุมกันที่ประตูเรือนของเศรษฐีนั้น ยกแขนทั้งสองขึ้นร้องคร่ำครวญด้วยเสียงอันดังว่า ข้าแต่มหาเศรษฐีขอท่านจงอย่ากระทำทานวงศ์แห่งบิดาและปู่ของตนให้ฉิบหายเสียเลย ท่านจงให้ทานเถิด

มหาชนได้ยินก็พากันติเตียนเศรษฐีนั้นว่า มัจฉริยโกสิยเศรษฐี ตัดทานวงศ์ของตนเสียแล้ว เศรษฐีนั้นก็มีความละอายได้ตั้งคนรักษาไว้เพื่อคอยห้ามยาจกผู้มาที่ประตูเรือน พวกยาจกเหล่านั้นหมดที่พึ่งก็มิได้มองดูประตูเรือนของเศรษฐีนั้นอีกเลย  นับแต่นั้นมาเขาก็รวบรวมทรัพย์เองทีเดียว ไม่บริโภคด้วยตนเอง ทั้งไม่ให้บุตรและภรรยาเป็นต้นบริโภคอีกด้วย ตนเองบริโภคข้าวปลายเกรียนปนรำ มีน้ำส้มพะอูมเป็นกับข้าว นุ่งผ้าเนื้อหยาบที่ช่างหูกทอ สักว่าเป็นดังรากไม้ผลไม้ กั้นร่มใบตาล ใช้รถเก่าคร่ำคร่าเทียมด้วยโคแก่เป็นยานพาหนะ ทรัพย์อันเป็นของเศรษฐีผู้เป็นอสัตบุรุษนั้นได้เป็นดังสุนัขได้ผลมะพร้าวด้วยประการฉะนี้

วันหนึ่ง มัจฉริยโกสิยเศรษฐีนั้น เมื่อจะไปสู่ที่เฝ้าพระราชาคิดว่า เราจะไปชวนอนุเศรษฐีไปด้วย จึงได้ไปยังเรือนของอนุเศรษฐีนั้น ในขณะนั้น อนุเศรษฐีแวดล้อมด้วยบุตรธิดากำลังบริโภคข้าวปายาสที่ปรุงด้วยของที่เจือด้วยเนยใสใหม่ น้ำผึ้งสุกและน้ำตาลกรวด อนุเศรษฐีนั้น ครั้นเห็นมัจฉริยโกสิยเศรษฐีมาจึงลุกจากอาสนะ กล่าวว่า เชิญท่านมหาเศรษฐี มานั่งที่บัลลังก์นี้ เชิญบริโภคข้าวปายาสด้วยกัน มหาเศรษฐีพอเห็นข้าวปายาสนั้นก็เกิดน้ำลายไหล อยากจะใคร่บริโภคบ้าง แต่มาคิดอย่างนี้ว่าถ้าเราบริโภคเราก็จะต้องกระทำสักการะตอบแทนในเวลาที่อนุเศรษฐีไปยังเรือนของเรา เมื่อเป็นเช่นนี้ทรัพย์ของเราก็จักพินาศ เราจักไม่บริโภคละ

ลำดับนั้นมหาเศรษฐี แม้ถูกอนุเศรษฐีอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ จึงกล่าวกะอนุเศรษฐีนั้นว่า เราพึ่งบริโภคมาเดี๋ยวนี้เอง เรายังอิ่มอยู่แล้วมิได้ปรารถนาจะบริโภค แต่เมื่ออนุเศรษฐีบริโภคอยู่ มหาเศรษฐีนั่งมองดูอยู่มีน้ำลายไหลออกจากปาก เมื่อเสร็จภัตกิจของอนุเศรษฐี จึงไปยังพระราชนิเวศน์ด้วยกัน กลับจากพระราชนิเวศน์มาถึง เรือนของตนถูกความอยากในรสแห่งข้าวปายาสบีบคั้นอยู่ จึงคิดว่าถ้าเราจักพูดว่าเราอยากบริโภคข้าวปายาส มหาชนก็จะพลอยอยากบริโภคกับเราด้วย สิ่งของเป็นอันมากมีข้าวสารเป็นต้นก็จักหมดเปลืองไป เราจักไม่บอกแก่ใครๆ มหาเศรษฐีนั้นคิดถึงแต่ข้าวปายาสอยู่อย่างเดียว ทำคืนและวันให้ล่วงไป มิได้บอกแก่ใครๆ เพราะกลัวทรัพย์จะหมด อดกลั้นความอยากไว้ เมื่อไม่อาจจะอดกลั้นโดยลำดับได้ก็เป็นผู้มีโรคผอมเหลืองเกิดขึ้น แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ มหาเศรษฐีก็ไม่บอกใครเพราะกลัวทรัพย์จะหมดไปในเวลาต่อมาก็เป็นผู้หมดกำลัง จึงเข้าไปสู่ที่นอนแล้วแอบซ่อนนอนอยู่  

ลำดับนั้น ภรรยาจึงเข้าไปใกล้มหาเศรษฐีนั้นแล้วเอามือบีบนวดพลางถามว่า
- ข้าแต่นาย ท่านไม่สบายเป็นอะไรไปหรือ
- ไม่เป็นอะไรหรอกนางผู้เจริญ
- ความไม่สบายในร่างกายของท่านเองมีอยู่หรือ
- ความไม่สบายในร่างกายของเราก็ไม่มี
- ข้าแต่นาย ท่านเป็นผู้ผอมเหลืองเกิดขึ้นแล้ว ท่านมีความคิดอะไรบ้างหรือ หรือว่าพระราชากริ้วท่านหรือพวกลูกๆ กระทำการดูหมิ่น หรือความอยากอะไรบังเกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน
- เออความ อยากเกิดขึ้นแล้วแก่เรา
- ถ้าเช่นนั้นขอท่านจงบอกมาเถิด
- ท่านจักอาจรักษาถ้อยคำของเราไว้ได้หรือ
- ถ้าเป็นวาจาที่ข้าพเจ้าควรจะรักษา ข้าพเจ้าก็จักรักษาไว้

แม้เมื่อภรรยากล่าวรับรองอยู่อย่างนี้ มหาเศรษฐีก็ไม่อาจจะบอกได้เพราะกลัวเสียทรัพย์ ครั้นถูกภรรยารบเร้าอยู่บ่อยๆ จึงได้บอกว่าดูก่อนนางผู้เจริญ วันหนึ่งเราเห็นอนุเศรษฐีบริโภคข้าวปายาสที่ปรุงด้วยของอันเจือด้วยเนยใสใหม่ น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด นับแต่วันนั้นมาก็เกิดอยากจะบริโภคข้าวปายาสอย่างนั้นบ้าง

ดูก่อนท่านผู้เป็นอสัตบุรุษ ตัวท่านยากจนนักหรือ ข้าพเจ้าจักหุงข้าวปายาสให้เพียงพอแก่ชาวพระนครทั้งสิ้น

คราวนั้น ได้เป็นดุจดังว่ากาลที่มหาเศรษฐีถูกตีที่ศีรษะด้วยท่อนไม้ เขาโกรธภรรยามาก กล่าวว่า เรารู้อยู่ว่าท่านเป็นผู้มีทรัพย์มากถ้าว่าทรัพย์ที่นำมาจากเรือนสกุลของท่านมีอยู่ ท่านจงหุงข้าวปายาสแจกแก่ชาวเมืองทั้งหลายเถิด

- ถ้าเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะหุงให้พอแก่ชาวบ้านผู้อยู่ในถนนเดียวกัน
- ประโยชน์อะไรด้วยชนเหล่านั้นแก่ท่าน พวกเขาก็จงกินของของตนเองซิ
- ถ้าอย่างนั้นข้าพเจ้าจะหุงให้พอแก่ชนผู้อยู่รอบเรือนข้างละเจ็ดๆ ตั้งแต่เรือนนี้ไป
- ท่านจะประโยชน์อะไรด้วยชนเหล่านั้น
- ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะหุงให้เฉพาะท่านและข้าพเจ้าเพียงสองคนเท่านั้น
- ตัวท่านเป็นอะไรเล่า ข้าวปายาสนี้ไม่สมควรแก่ท่าน

ครั้นภรรยากล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะหุงให้พอแก่ท่านคนเดียวเท่านั้น

มหาเศรษฐีจึงกล่าวว่า ก็ถ้าท่านจะหุงเฉพาะเราคนเดียวแล้ว จงอย่าหุงในเรือนนี้เลย ด้วยว่าเมื่อท่านหุงในเรือนนี้ชนมากมายก็คอยหวังจะบริโภค ก็ท่านจงเอาแป้งข้าวสารของเราแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน น้ำตาลกรวดสักหยิบมือหนึ่ง นมเนยและน้ำผึ้งอย่างละขวดกับภาชนะสำหรับหุงใบหนึ่งให้แก่เรา เราจักเข้าไปสู่ป่า หุงในที่นั้นแล้วบริโภค

ภรรยาได้กระทำตามคำสั่งทุกประการ เศรษฐีให้คนใช้เอาผ้าห่อของนั้นทั้งหมดแล้วให้ถือไปส่ง แล้วกล่าวว่าเจ้าจงไปยืนอยู่ในที่โน้นส่งคนใช้ไปข้างหน้าแล้วไปแต่ผู้เดียว เอาผ้าคลุมแปลงเพศไม่ให้ใครรู้จักไปถึงที่ป่านั้น ให้คนใช้ทำเตาที่โคนกอไม้แห่งหนึ่งริมแม่น้ำ ให้หาฟืนและน้ำมาแล้วบอกว่าเจ้าจงไปยืนอยู่ที่หนทางแห่งหนึ่ง ถ้าเห็นใครๆ มา พึงให้สัญญาแก่เรา อนึ่ง เมื่อเวลาที่เราร้องเรียกเจ้าจึงค่อยมา ส่งคนใช้ไปแล้วจึงติดไฟหุงข้าวปายาส

ในขณะนั้น ท้าวสักกเทวราชทรงทอดพระเนตรสิริสมบัติของพระองค์อย่างนี้คือ เทพนครอันประดับแล้วประมาณหมื่นโยชน์ ถนนแล้วด้วยทองคำหกสิบโยชน์ เวชยันตปราสาทสูงพันโยชน์ สุธรรมาสภากว้างห้าร้อยโยชน์ อาสน์หินอ่อนมีสีเหลืองดุจผ้ากัมพลเหลืองกว้างใหญ่หกสิบโยชน์ เศวตฉัตรมีพวงดอกไม้ทองเวียนรอบห้าร้อยโยชน์ นางเทพอัปสรนับได้สองโกฏิครึ่ง และอัตภาพอันประดับตกแต่งแล้ว ครั้นทรงเห็นฉะนี้จึงใคร่ครวญว่า ยศนี้เราได้มาเพราะกระทำอะไรหนอ จึงได้ทรงเห็นทานที่พระองค์บำเพ็ญให้เป็นไปเมื่อเป็นเศรษฐีในเมืองพาราณสี

ในลำดับนั้น จึงทรงตรวจดูต่อไปว่า ชนทั้งหลายมีบุตรของเราเป็นต้นเกิดแล้วในที่ไหน ได้ทอดพระเนตรเห็นที่เกิดของชนทั้งปวงคือ บุตรของเราได้เกิดเป็นจันทเทพบุตร บุตรของจันทเทพบุตรเกิดเป็นสุริยะ บุตรของสุริยะเกิดเป็นมาตลี บุตรของมาตลีเกิดเป็น ปัญจสิขคันธัพพเทพบุตร จึงทรงตรวจดูต่อไปว่า บุตรของปัญจสิขเทพบุตร เป็นเช่นไร ก็ได้ทรงเห็นบุตรของปัญจสิขเทพบุตรเป็นผู้เข้าไปตัดวงศ์ทานของพระองค์เสีย

ลำดับนั้น พระองค์จึงทรงปริวิตกว่า ผู้นี้เป็นอสัตบุรุษ เป็นผู้ตระหนี่ มิได้บริโภคด้วยตนเอง ทั้งไม่ให้แก่ชนเหล่าอื่นด้วย เข้าไปตัดทานวงศ์ของเราเสีย ทำกาลกิริยาแล้วจักไปบังเกิดในนรก เราจักให้โอวาทแก่เขา จักให้ประดิษฐานทานวงศ์ของเราต่อไป จักทำเหตุอันจะให้เขามาเกิดในเทพนครนี้

ท้าวเธอจึงให้เรียกจันทเทพบุตรเป็นต้นมา แล้วจึงมีบัญชาสั่งว่า เธอทั้งหลาย จงมา เราจักไปยังมนุษยโลกด้วยกัน มัจฉริยโกสิยเศรษฐีเข้าไปตัดวงศ์ของพวกเราเสียแล้ว ให้เผาโรงทานเสียสิ้น ตนเองก็ไม่บริโภค พวกชนเหล่าอื่นก็ไม่ให้เขาเลย ก็บัดนี้เขาเป็นผู้ใคร่จะบริโภคข้าวปายาส คิดว่าเมื่อหุงข้าวปายาสในเรือนก็จะต้องให้ข้าวปายาสแก่คนอื่นบ้าง จึงเข้าป่าหุงกินแต่คนเดียว เราจักทรมานเศรษฐีนี้ กระทำให้รู้จักผลของทานแล้วจักกลับมา ก็แต่ว่าเศรษฐีนี้เมื่อถูกพวกเราทั้งหมดขออยู่พร้อมๆ กัน ก็จะพึงตายเสียในที่นั้นทีเดียว ในเวลาที่เราไปขอข้าวปายาสนั่งอยู่ก่อนแล้ว พวกท่านพึงแปลงเป็นพราหมณ์ไปขอโดยลำดับเถิด

ครั้นสั่งแล้วท้าวเธอก็เนรมิตเพศเป็นพราหมณ์เข้าไปหาเศรษฐีนั้นก่อน แล้วถามว่า หนทางที่จะไปยังเมืองพาราณสีไปทางไหน ท่านผู้เจริญ

ลำดับนั้น มัจฉริยโกสิยเศรษฐีจึงกล่าวกะท้าวเธอว่า ท่านเป็นคนบ้าหรือ จึงไม่รู้จักแม้จนกระทั่งทางไปเมืองพาราณสี จะมาทำอะไรทางนี้เล่า จงไปทางโน้นซิ

ท้าวสักกะทรงสดับถ้อยคำของเขาแล้วทำเป็นเหมือนไม่ได้ยิน ตรัสถามว่า ท่านพูดว่าอย่างไร แล้วก็เดินกระเถิบเข้าไปใกล้เขาอีก แม้เศรษฐีนั้นก็ร้องตะโกนว่าแน่ะพราหมณ์หูหนวกคนร้าย ท่านจะมาทำไมทางนี้เล่า จงไปข้างหน้าซิ

ลำดับนั้นท้าวสักกะจึงกล่าวกะเขาว่า ดูก่อนท่านผู้เจริญท่านร้องเอะอะทำไม ควันและไฟยังปรากฏอยู่ ท่านคงหุงข้าวปายาสสุกแล้วชะรอยว่าคงจะนิมนต์พราหมณ์ทั้งหลายมาฉันในที่นี้ ในเวลาที่พวกพราหมณ์ฉันแล้ว แม้ข้าพเจ้าก็จักพลอยได้บริโภคสักหน่อยหนึ่ง ท่านไม่นิมนต์ข้าพเจ้าบ้างหรือ

เศรษฐีตอบว่า การนิมนต์พวกพราหมณ์ในที่นี้ไม่มีเลย ท่านจงไปข้างหน้าเถิด

ท้าวสักกะจึงกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นท่านโกรธข้าพเจ้าทำไม ในเวลาที่ท่านบริโภคแล้ว ข้าพเจ้าก็คงจักได้บริโภคบ้างสักเล็กน้อย

ลำดับนั้นเศรษฐีหมายเอาอาหารที่ตนขอภรรยาได้มาแล้ว จึงกล่าวกะท้าวสักกะนั้นว่า ข้าพเจ้าจักไม่ให้แม้เพียงเมล็ดเดียวแก่ท่าน ภัตนี้มีน้อยพอข้าพเจ้าบริโภคเพียงคนเดียวเท่านั้น อนึ่ง ก็ภัตนี้ข้าพเจ้าก็ต้องขอเขาจึงได้มา ท่านจงแสวงหาอาหารของท่านจากที่อื่นเถิด แล้วกล่าวคาถาว่า ข้าพเจ้าจะไม่ซื้อจะไม่ขาย อนึ่ง แม้ความสั่งสมของข้าพเจ้า ในที่นี้ก็ไม่มีเลย ภัตรมีนิดหน่อย ทั้งหาได้แสนยากยิ่งนัก ข้าวสุกแล่งหนึ่งนี้หาพอแก่เราสองคนไม่

ท้าวสักกะได้ทรงสดับคำนั้น จึงรับสั่งว่าข้าพเจ้าจักกล่าวโศลกสักบทหนึ่งด้วยเสียงอันไพเราะให้ท่าน ขอท่านจงฟังโศลกคาถาสรรเสริญคุณนั้น เมื่อเศรษฐีนั้นกำลังคัดค้านห้ามปรามอยู่ที่เดียวว่า ข้าพเจ้ามิได้มีความต้องการด้วยโศลกคาถาสรรเสริญของท่าน ท้าวเธอก็ได้กล่าวว่า บุคคลควรแบ่งของน้อยให้ตามน้อย ควรแบ่งของส่วนกลางให้ตามส่วนกลาง ควรแบ่งของมากให้ตามมาก การไม่ให้เสียเลยหาควรไม่ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าจะบอกกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะผู้บริโภคคนเดียวหาได้ความสุขไม่

มัจฉริยโกสิยเศรษฐี สดับคำของท้าวสักกะนั้นแล้วจึงกล่าวว่า ดูก่อนพราหมณ์ ท่านพูดจาน่าพอใจมาก เมื่อข้าวปายาสสุกแล้วท่านจักได้หน่อยหนึ่ง ท่านจงนั่งลงเถิด ท้าวสักกะจึงนั่งลง ณ สถานที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อท้าวสักกะนั่งแล้ว จันทเทพบุตรจึงเข้าไปใกล้เศรษฐีโดยทำนองนั้นทีเดียว ยังถ้อยคำให้เป็นไปเหมือนอย่างนั้น เมื่อเศรษฐีนั้นคัดค้านห้ามปรามอยู่ ได้กล่าวว่า บุคคลใดเมื่อแขกนั่งแล้วบริโภคโภชนะอยู่แต่ผู้เดียว พลีกรรมของบุคคลผู้นั้นย่อมไร้ผลทั้งความเพียรแสวงหาทรัพย์ก็ไร้ประโยชน์

ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอบอกกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและบริโภค เพราะผู้บริโภคคนเดียวหาได้ความสุขไม่

เศรษฐีฟังคำของจันทเทพบุตรนั้นแล้ว ก็ได้กล่าวถ้อยคำอย่างนั้นเหมือนกัน แล้วจึงพูดด้วยความลำบากยากแค้นว่า ถ้าอย่างนั้นท่านจงนั่งลงเถิด ท่านจักได้หน่อยหนึ่ง จันทเทพบุตรไปนั่งในสำนักของท้าวสักกะ  

ในลำดับนั้น สุริยเทพบุตรจึงเข้าไปบอกเศรษฐีนั้นโดยทำนองนั้นเหมือนกัน แล้วจึงกล่าวเหมือนอย่างนั้น เมื่อเศรษฐีนั้นกำลังคัดค้านห้ามปรามอยู่ทีเดียว ได้กล่าวว่าผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้วมิได้บริโภคโภชนะแต่ผู้เดียว พลีกรรมของผู้นั้นย่อมมีผลจริง ทั้งความเพียร แสวงหาทรัพย์ก็ย่อมมีประโยชน์โดยแท้ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจะขอกล่าวกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานและจงบริโภค เพราะผู้บริโภคคนเดียวหาได้ความสุขไม่

เศรษฐีได้สดับคำของสุริยเทพบุตรนั้นแล้ว จึงพูดด้วยความลำบากยากเย็นว่าถ้าอย่างนั้นท่านจงนั่งลงเถิด จักได้หน่อยหนึ่ง สุริยเทพบุตรนั้นจึงไปนั่งในสำนักจันทเทพบุตร

ลำดับนั้น มาตลีเทพบุตร จึงเข้าไปหาเศรษฐีนั้นโดยอุบายอย่างเดียวกันนั้นแล แล้วกล่าวถ้อยคำเหมือนอย่างนั้น เมื่อเศรษฐีนั้นกำลังคัดค้านห้ามปรามอยู่ทีเดียว ก็ได้กล่าวว่า ก็บุรุษไปสู่สระแล้วบูชาที่แม่น้ำชื่อพหุกาก็ดี ที่สระชื่อคยาก็ดี ที่ท่าชื่อโทณะก็ดี ที่ท่าชื่อติมพรุก็ดี ที่ห้วงน้ำใหญ่ มีกระแสอันเชี่ยวก็ดี การบูชาและความเพียรของเขาในที่นั้นๆ ย่อมมีผลมีกำไรได้ ผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้วไม่บริโภคโภชนะแต่คนเดียว จะกล่าวว่าไร้ผลนั้นไม่ได้ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าจะขอพูดกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้าจงให้ทานด้วย จงบริโภคด้วย เพราะผู้กินคนเดียวหาได้ความสุขไม่

เศรษฐีสดับคำของมาตลีเทพบุตรนั้นแล้ว ประหนึ่งถูกยอดภูเขาทับ จึงพูดด้วยความลำบากใจว่าถ้าอย่างนั้นท่านจงนั่งลงเถิด จักได้หน่อยหนึ่ง มาตลีเทพบุตรจึงไปนั่งในที่ใกล้กับสุริยเทพบุตร ในลำดับนั้น ปัญจสิขเทพบุตรจึงเข้าไปหาเศรษฐีโดยทำนองนั้นอีก แล้วกล่าวถ้อยคำเหมือนอย่างนั้น เมื่อเศรษฐีกำลังคัดค้านห้ามปรามอยู่ทีเดียว จึงกล่าวว่า ผู้ใดเมื่อแขกนั่งแล้ว บริโภคโภชนะอยู่แต่ผู้เดียว ผู้นั้นเท่ากับกลืนกินเบ็ดอันมีสายยาวพร้อมทั้งเหยื่อ ดูก่อนโกสิยเศรษฐี เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอบอกกะท่าน ท่านจงขึ้นสู่หนทางของพระอริยเจ้า จงให้ทานด้วย จงบริโภคด้วย เพราะผู้กินคนเดียวหาได้ความสุขไม่

มัจฉริยโกสิยเศรษฐีได้สดับคำนั้น ทอดถอนใจอยู่ด้วยกำลังแห่งความทุกข์ทีเดียว กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านจงนั่งลงเถิด จักได้หน่อยหนึ่ง ปัญจสิขเทพบุตรจึงไปนั่งในที่ใกล้มาตลีเทพบุตร เมื่อพราหมณ์ทั้ง ๕ คนเหล่านั้นพอนั่งพร้อมกันเท่านั้น ข้าวปายาสก็สุกพอดีด้วยประการฉะนี้ ลำดับนั้นโกสิยเศรษฐี จึงยกข้าวปายาสนั้นลงจากเตาแล้วกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงนำใบไม้มาให้เราเถิด พราหมณ์เหล่านั้นมิได้ลุกขึ้น นั่งอยู่ในที่เดิมนั่นแลเหยียดมือไปนำใบย่างทรายมาจากป่าหิมวันต์ โกสิยเศรษฐีเห็นใบไม้ใหญ่นัก จึงพูดว่า ข้าวปายาสนี้ เราควรจะให้แก่ท่านในใบไม้เหล่านี้ไม่มี ท่านจง
นำใบตะเคียนเป็นต้นมา พราหมณ์เหล่านั้นก็นำเอาใบไม้ทั้งหลายมาแล้ว ใบไม้แต่ละใบที่นำมานั้นใหญ่ประมาณเท่าโล่ของทหาร โกสิยเศรษฐีนั้นจึงเอาทัพพีตักข้าวปายาสให้แก่พราหมณ์ทั้งหมดคนละทัพพี แม้ในเวลาที่ให้แก่พราหมณ์ปัญจสิขอันเป็นคนสุดท้ายกว่าพราหมณ์ทั้งหมด ข้าวปายาสนั้นก็หาปรากฏว่าพร่องลงไปถึงก้นหม้อไม่

เศรษฐีนั้นครั้นให้แก่พราหมณ์ทั้ง ๕ คนแล้ว ส่วนตนนั่งจับหม้อไว้ ในขณะนั้นปัญจสิจเทพบุตรจึงลุกขึ้นแปลงร่างเป็นสุนัขเข้าไปยืนข้างหน้าพราหมณ์เหล่านั้นถ่ายปัสสาวะแล้วก็ไป พวกพราหมณ์เอามือปิดข้าวปายาสของตนไว้หยาดน้ำปัสสาวะกระเซ็นถูกหลังมือของโกสิยเศรษฐี พวกพราหมณ์จึงเอาเต้าน้ำไปตักน้ำเอามาเกลี่ยข้าวปายาส กระทำประดุจจะบริโภค โกสิยเศรษฐี จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงให้น้ำแก่ข้าพเจ้าบ้าง ข้าพเจ้าล้างมือแล้วจักบริโภค ท่านจงนำน้ำของท่านมาล้างมือแล้วบริโภคเองเถิด ข้าพเจ้าให้ข้าวปายาสแก่พวกท่านแล้ว ท่านจงให้น้ำแก่ข้าพเจ้าสักหน่อยหนึ่งเถิด พวกเราชื่อว่าย่อม ไม่กระทำกรรมคือการให้ก้อนข้าวตอบก้อนข้าว (ท่านให้ก้อนข้าวเราและเราให้ก้อนข้าวตอบ)

เศรษฐีกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นท่านทั้งหลายจงช่วยดูหม้อข้าวนี้ เราไปล้างมือแล้วจักกลับมาแล้วจึงลงไปสู่แม่น้ำ ในขณะนั้นสุนัขจึงถ่ายปัสสาวะลงไว้จนเต็มหม้อข้าว เศรษฐีนั้นกลับมาเห็นสุนัขกำลังถ่ายปัสสาวะ จึงถือเอาท่อนไม้ใหญ่มาขู่ตวาดสุนัขนั้นอยู่ สุนัขนั้นกลับเป็นสัตว์ใหญ่โตประมาณเท่าม้าอาชาไนยไล่ติดตามเศรษฐีนั้น แล้วแปลงร่างเป็นสัตว์มีสีต่างๆ เป็นสีดำบ้าง สีขาวบ้าง สีคล้ายทองคำบ้าง ด่างบ้าง ต่ำบ้าง สูงบ้าง เป็น สัตว์มีสีต่างๆ อย่างนี้ ไล่ติดตามมัจฉริยโกสิยเศรษฐีไป

เศรษฐีมีความกลัวต่อมรณภัย จึงเข้าไปหาพวกพราหมณ์ แม้พวกพราหมณ์เหล่านั้นก็พากันเหาะขึ้นไปยืนอยู่บนอากาศ เศรษฐีเห็นอิทธิฤทธิ์ของพวกพราหมณ์เหล่านั้น จึงกล่าวว่า พราหมณ์เหล่านี้มีผิวพรรณงามจริงหนอ เหตุไฉน สุนัขของท่านนี้จึงเปล่งรัศมีสีต่างๆ ได้ ข้าแต่พราหมณ์ พวกท่านใครเล่าจะบอกข้าพเจ้าได้

ท้าวสักกเทวราชทรงสดับคำนั้น จึงตรัสว่าผู้นี้คือจันทเทพบุตร ผู้นี้คือสุริยเทพบุตร และผู้นี้คือมาตลีเทพสารถีมาแล้วในที่นี้ เราคือท้าวสักกะ เป็นจอมของเทวดาพวกไตรทศ ส่วนสุนัขแลเราเรียก ปัญจสิขเทพบุตร

ท้าวสักกเทวราชครั้นตรัสแล้ว เมื่อจะทรงชมเชยยศของปัญจสิขเทพบุตร นั้นจึงตรัสว่า ฉิ่ง ตะโพน และเปิงมาง ย่อมปลุกเทพบุตรผู้หลับแล้วนั้นให้ตื่นและตื่นขึ้นแล้วย่อมเพลิดเพลินใจ เศรษฐีได้สดับคำของท้าวสักกะนั้น จึงถามว่า ข้าแต่ท้าวสักกะ ปัญจสิขเทพบุตรนี้ได้ทิพยสมบัติเห็นปานนี้ เพราะทำกรรมอะไรไว้ เมื่อท้าวสักกะจะทรงแสดงว่าบุคคลผู้ไม่ให้ทานเป็นปกติ มีกรรมอันเป็นบาป มีความตระหนี่ จะไปเทวโลกไม่ได้ ย่อมไปเกิดในนรก จึงตรัสว่าชนเหล่าใดผู้มีความตระหนี่เหนียวแน่น มักบริภาษสมณพราหมณ์ทั้งหลาย ชนเหล่านั้นทอดทิ้งสรีระร่างกายไว้ในโลกนี้แล้วเมื่อกายแตกย่อมไปสู่นรก

ท้าวสักกะครั้นตรัสแล้ว หวังจะทรงแสดงการได้เฉพาะซึ่งเทวโลกของบุคคลทั้งหลายผู้ตั้งอยู่ในธรรม จึงตรัสอีกว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งหวังสุคติ ตั้งอยู่แล้วในธรรมคือความสำรวมและความจำแนก ชนเหล่านั้นทอดทิ้งสรีระร่างกายไว้ในโลกนี้แล้ว เมื่อกายแตกย่อมไปสู่สุคติ  ท้าวสักกะครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว หวังจะทรงประกาศแก่เศรษฐีนั้นว่า ดูก่อนโกสิยเศรษฐี พวกเรามายังสำนักของท่านเพื่อต้องการข้าวปายาสก็หาไม่ แต่พวกเราเอ็นดูท่านจึงพากันมาด้วยความกรุณา จึงตรัสว่าตัวท่านนั้นชื่อโกสิยะมีความตระหนี่ มีธรรมอันลามก เป็นญาติของเราทั้งหลายในชาติก่อน เราทั้งหลายพากันมาในที่นี้เพื่อประโยชน์แก่ท่านผู้เดียว ด้วยคิดว่าโกสิยะนี้อย่าได้มีธรรมอันลามกไปนรกเลย

โกสิยเศรษฐีสดับคำนั้นก็มีจิตยินดีว่า ได้ยินว่าเทพบุตรเหล่านี้ใคร่ประโยชน์แก่เรา ปรารถนาจะยกเราขึ้นจากนรก ให้ประดิษฐานบนสวรรค์ จึงกล่าวว่า ก็ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ประโยชน์แก่ข้าพเจ้าโดยแน่แท้ เพราะเหตุที่มาตามพร่ำสอนข้าพเจ้าอยู่เนืองๆ ข้าพเจ้านั้นจักกระทำตามคำทั้งหมดที่ท่านผู้แสวงหาประโยชน์กล่าวแล้วทุกประการ ข้าพเจ้านั้นจะเว้นจากความเป็นคนตระหนี่เสียในวันนี้แหละ อนึ่ง ข้าพเจ้าจะไม่พึงกระทำบาปอะไรๆ อนึ่ง ชื่อว่าการไม่ให้ของอะไร ๆ จะไม่มีแก่ข้าพเจ้าอีก อนึ่ง ข้าพเจ้าได้น้ำมาแม้ประมาณเพียงซองมือหนึ่ง ถ้ายังมิให้ทานก่อนแล้วจะไม่ดื่มกินน้ำนั้นเลย ข้าแต่ท้าววาสวะ ก็เมื่อข้าพเจ้าให้อยู่อย่างนี้ตลอดกาลทั้งปวง แม้โภคทรัพย์ทั้งหลายของข้าพเจ้า จักหมดไป ข้าแต่ท้าวสักกะ แต่นั้นข้าพเจ้าจักละกามทั้งหลายที่ยังคงมีอยู่อย่างนี้ไปแล้วจักบวช

ท้าวสักกะทรงทรมานมัจฉริยโกสิยเศรษฐี กระทำให้หมดพยศ ให้รู้จักผลแห่งทาน ให้ตั้งอยู่ในศีล ๕ ด้วยธรรมเทศนาแล้ว จึงพากันเสด็จกลับเทพนครของพระองค์พร้อมด้วยเทพบุตรเหล่านั้น ฝ่ายมัจฉริยโกสิยเศรษฐีเข้าไปยังพระนคร ขอพระบรมราชานุญาตแล้ว ให้ทรัพย์แก่ยาจกทั้งหลาย ด้วยคำว่า ท่านทั้งหลายจงถือเอาทรัพย์จนเต็มภาชนะที่ตนถือมาแล้วๆ นั้นเถิด แล้วออกจากเรือนไปในขณะนั้น ไปสร้างบรรณศาลในระหว่างแม่น้ำคงคาและชาตสระแห่งหนึ่ง ที่ข้างทิศทักษิณ แต่หิมวันตประเทศแล้วจึงบรรพชา มีรากไม้และผลไม้ในป่าเป็นอาหาร ได้อยู่ในที่นั้นเป็นเวลานานตลอดกาลถึงชรา

ในกาลนั้นธิดาของท้าวสักกะมีอยู่ ๔ นาง คือ นางอาสา นางศรัทธา นางสิริ นางหิริ นางทั้ง ๔ นั้นถือเอาของหอมและระเบียบดอกไม้อันเป็นทิพย์มากมายไปยังสระอโนดาตเพื่อประสงค์จะเล่นน้ำ ครั้นเล่นน้ำในสระนั้น แล้วจึงพากันนั่งอยู่บนพื้นมโนศิลา ในขณะนั้นพราหมณ์ดาบสชื่อนารทะ ไปยังพิภพดาวดึงส์ เพื่อต้องการจะพักผ่อนในกลางวันจึงกระทำที่อยู่ในกลางวัน ในสวนนันทวันและสวนจิตรลดาวัน แล้วถือเอาดอกปาริฉัตตกะเพื่อบังเงาประหนึ่งร่มไปยังกาญจนคูหาอันเป็นที่อยู่ของตน โดยที่สุดแห่งพื้นมโนศิลา  ลำดับนั้นพวกนางเทพธิดาทั้ง ๔ เห็นดอกไม้ในมือของดาบสนั้นจึงพากันขอว่า ข้าแต่มหามุนีผู้ประเสริฐ ถ้าดอกปาริฉัตตกะนี้พระผู้เป็นเจ้าไม่เจาะจงแล้วก็จงให้แก่พวกข้าพเจ้าเถิด คติทั้งปวงจงสำเร็จแก่พระผู้เป็นเจ้า ขอพระผู้เป็นเจ้าจงให้แก่พวกข้าพเจ้าดุจท้าววาสวะฉะนั้นเถิด

นารทดาบสเห็นนางเทพธิดาทั้ง ๔ พากันขอดอกไม้นั้น จึงกล่าวว่าท่านพูดถ้อยคำชวนทะเลาะ เราหามีความต้องการด้วยดอกไม้เหล่านี้สักน้อยหนึ่งไม่ บรรดาพวกเจ้าทั้ง ๔ นางใดประเสริฐกว่า นางนั้นก็จงประดับดอกไม้นั้นเถิด

นางเทพนารีทั้ง ๔ นั้น ครั้นได้สดับคำของดาบส จึงกล่าวว่าข้าแต่นารทดาบสผู้สูงสุด พระผู้เป็นเจ้านั่นแล จงพิจารณาดูพวกข้าพเจ้าปรารถนาจะให้แก่นางใด จงเริ่มให้แก่นางนั้น ก็บรรดาพวกข้าพเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจักให้แก่นางใดนางนั้นแลพวกข้าพเจ้าสมมุติว่าเป็นผู้ประเสริฐสุด

นารทดาบสสดับคำของ นางทั้ง ๔ นั้น เมื่อจะเจรจากะนางเหล่านั้น จึงกล่าวว่า ดูก่อนนางผู้มีกายอันงาม คำนี้ไม่สมควร ใครเล่าเป็นพราหมณ์ ใครกล่าวการทะเลาะ ถ้าพวกท่านยังไม่ทราบในที่นี้ว่า ตนประเสริฐหรือธรรมประเสริฐ ก็จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นใหญ่กว่าภูตเถิด  นางเทพธิดาเหล่านั้นที่นารทดาบสได้กล่าวขึ้น เป็นผู้มีความโกรธแค้นอย่างยิ่ง เป็นผู้มัวเมาแล้วด้วยความเมาในผิวพรรณ จึงไปสู่สำนักแห่งท้าวสหัสนัยน์ แล้วทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งภูตว่า บรรดาพวกหม่อมฉัน ใครเล่าเป็นผู้ประเสริฐกว่ากัน  ท้าวปุรินททะผู้ประเสริฐกว่าเทวดา ผู้อันเทวดากระทำอัญชลีแล้ว ทรงเห็นพระธิดาทั้ง ๔ นั้นมีใจพะวักพะวงอยู่จึงตรัสว่า ดูก่อนธิดาผู้งามเลิศ พวกเจ้าทั้งปวงเป็นผู้เช่นเดียวกัน จงยกไว้ก่อน ในที่นี้ใครเล่าหนอได้กล่าวการทะเลาะขึ้น

ลำดับนั้น นางเทพนารีทั้ง ๔ เมื่อจะกราบทูลแด่ท้าวสักกะนั้นจึงกล่าวว่า นารทมหามุนีใดผู้เที่ยวไปยังโลกทั้งปวงดำรงอยู่ในธรรม มีความเพียร บากบั่นมั่นอยู่ในความสัตย์อย่างแท้จริง ท่านนั้นได้บอกแก่พวกหม่อมฉัน ณ ที่ภูเขาคันธมาทน์ ซึ่งเป็นภูเขาอันประเสริฐว่า ถ้าพวกท่านยังไม่ทราบในที่นี้ว่าตนประเสริฐหรือธรรมประเสริฐก็จงไปทูลถามท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งภูตเอาเองเถิด
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 พฤษภาคม 2559 16:38:15 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1117


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.94 Chrome 50.0.2661.94


ดูรายละเอียด
« ตอบ #23 เมื่อ: 04 พฤษภาคม 2559 16:37:19 »



สุธาโภชนชาดก
ว่าด้วยของกินอันเป็นทิพย์ (ต่อ)

ท้าวสักกเทวราชทรงสดับดังนั้น จึงทรงพระดำริว่า นางทั้ง ๔ นี้ ล้วนเป็นธิดาของเราทั้งหมด ถ้าเราจักกล่าวนางคนหนึ่งในบรรดานางเหล่านี้ ว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยคุณเป็นผู้สูงสุดแล้วไซร้ นางที่เหลือก็จักโกรธเราไม่อาจตัดสินความเรื่องนี้ได้ เราจักส่งธิดาของเราทั้ง ๔ เหล่านี้ ไปยังสำนักของโกสิยดาบส ในหิมวันตประเทศ เธอจักวินิจฉัยความเรื่องนี้แก่นางเหล่านี้เอง จึงตรัสบอกว่า พ่อจะตัดสินความของเจ้าทั้งหลายไม่ได้ในหิมวันตประเทศมีดาบสองค์หนึ่งชื่อว่า โกสิยะ พ่อจักมอบสุธาโภชน์ไปถวายแก่เธอ เธอนั้นเมื่อยังไม่ให้แก่ผู้อื่นก่อนแล้ว ตนเองก็จักไม่บริโภค และก็เมื่อจะให้ เธอก็จะใคร่ครวญเสียก่อนแล้วจึงให้แก่บุคคลผู้มีคุณ ในบรรดาเจ้าทั้งหลาย นางคนใดได้รับภัตจากมือของเธอ นางคนนั้นจักเป็นผู้สูงสุด แล้วจึงตรัสว่าดูก่อนเจ้าผู้มีกายอันงดงาม มหามุนีผู้อยู่ในป่าใหญ่โน้น ยังมิได้ให้ก่อนแล้ว หาบริโภคภัตไม่ เมื่อโกสิยดาบสจะให้ก็พิจารณาเสียก่อนแล้วจึงให้ ถ้าเธอจักให้แก่นางคนใดนางคนนั้นแลเป็นผู้ประเสริฐ

ท้าวสักกะส่งนางทั้ง ๔ ไปยังสำนักของดาบส ด้วยประการฉะนี้ แล้วให้เรียกมาตลีเทพบุตรมา เมื่อจะส่งไปยังสำนักของดาบสนั้น จึงตรัสว่า ก็โกสิยดาบสนั้นอยู่ในทิศทักษิณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา ข้างหิมวันตบรรพตโน้น โกสิยดาบสนั้นมีน้ำดื่มและโภชนะหาได้ยาก ดูก่อนเทพสารถี ท่านจงนำสุธาโภชน์ไปให้ถึงเธอ  มาตลีเทพสารถีนั้นรับคำสั่งของท้าวสักกเทวราชแล้ว ก็ไปยังอาศรมบทนั้น มีกายอันมิได้ปรากฏให้เห็น ได้ถวายสุธาโภชน์แก่ดาบสนั้น ก็เมื่อจะถวายได้วางถาดสุธาโภชน์ลงในมือของเธอ ผู้ประกอบความเพียรอยู่ตลอดราตรี บำเรอไฟในเวลาใกล้รุ่ง เมื่อราตรีสว่างแล้ว ยืนนอบน้อมนมัสการพระอาทิตย์กำลังขึ้นสู่ท้องฟ้า โกสิยดาบสรับโภชนะนั้นแล้ว ยืนกล่าวว่าก็เมื่อเราบำเรอไฟที่เราบูชาแล้ว ยืนอยู่ใกล้พระอาทิตย์ซึ่งแรกขึ้น มีแสงสว่าง บรรเทาความมืดในโลกอันสูงสุดเสียได้ ท้าววาสวะผู้ครอบงำภูตทั้งหมด หรือว่าใครเล่ามาวางภัตขาวสะอาดลงในฝ่ามือของเรา ภัตนี้ขาวสะอาดมีพรรณขาวประดุจสังข์ขาวน่าดูยิ่งกว่าปุยนุ่น สะอาดมีกลิ่นหอมน่ารักใคร่ ยังไม่เคยมีเลย แม้เราเองก็ยังไม่เคยเห็นมาก่อน ด้วยชาตจักษุของเรา เทวดาองค์ไหนเล่ามาวางไว้ในฝ่ามือของเรา

ลำดับนั้น มาตลีเทพสารถีจึงตอบว่า ข้าแต่มหามุนี ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ข้าพเจ้าถูกท้าวสักกะผู้เป็นจอมแห่งเทวดา ใช้ให้นำสุธาโภชน์มาโดยด่วน พระคุณเจ้าจงรู้จักข้าพเจ้าว่า ชื่อมาตลีเทพสารถี และจงบริโภคภัตอันอุดม ขอพระคุณเจ้า อย่าได้ห้ามเสียเลยว่าเราจักไม่บริโภคภัตนี้ดังนี้ จงฉันเถิด อย่ากระทำความชักช้าเลย เพราะสุธาโภชน์ที่บริโภคแล้วนั้น ย่อมขจัดบาปธรรมได้ถึง ๑๒  ประการ คือ ความหิว ๑ ความกระหาย ๑ ความกระสัน ๑ ความกระวนกระวาย ๑ ความเหน็ดเหนื่อย ๑ ความโกรธ ๑ ความเข้าไปผูกโกรธ ๑ ความวิวาท ๑ ความส่อเสียด ๑ ความ หนาว ๑ ความร้อน ๑ ความเกียจคร้าน ๑ ภัตนี้มีรสอันสูงสุด

โกสิยดาบสสดับคำนั้นแล้ว เมื่อจะกระทำให้แจ้งซึ่งการสมาทานวัตรของตน จึงกล่าวว่า ดูก่อนมาตลีเทพสารถี ก็เรานั้นเมื่อยังไม่ได้ให้ทานก่อนแล้วจึงบริโภคย่อมไม่สมควร วัตรของเรานี้เป็นวัตรอันอุดม อนึ่ง การบริโภคคนเดียวพระอริยเจ้าไม่บูชาแล้ว ก็ชนผู้มิได้แบ่งให้ผู้อื่นแต่บริโภคเสียแต่ผู้เดียวย่อมไม่ประสบความสุขเลย  โกสิยดาบสครั้นกล่าวแล้ว มาตลีเทพบุตรจึงได้ถามว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พระคุณเจ้าเห็นโทษอะไรในการไม่ให้คนอื่นเสียก่อนแล้วบริโภค จึงได้สมาทานวัตรนี้  โกสิยดาบสจึงตอบว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งเป็นผู้ฆ่าหญิง คบหาภรรยาของชายอื่น ประทุษร้ายต่อมิตร อนึ่ง ย่อมฆ่าสมณพราหมณ์ผู้มีวัตรอันดีงาม ชนเหล่านั้นทั้งหมดทีเดียว มีความตระหนี่เป็นที่ห้า ชื่อว่าเป็นผู้เลวทราม เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าไม่ให้ก่อนแล้วจึงไม่ดื่มแม้จนกระทั่งน้ำ ข้าพเจ้านั้น ให้ทานแก่หญิงหรือชายที่ผู้ รู้สรรเสริญแล้ว เพราะท่านเหล่านั้นเป็นผู้มีศรัทธา รู้ถ้อยคำที่ปฏิคาหก ขอปราศจากความตระหนี่ สมมติว่าเป็นผู้สะอาดและมีความสัตย์ในโลกนี้

มาตลีสดับคำนั้น จึงยืนแสดงกายให้ปรากฏ ในขณะนั้น นางเทพกัญญาทั้ง ๔ เหล่านั้น ได้มายืนอยู่ในทิศทั้ง ๔ คือ นางสิริยืนอยู่ในทิศปราจีน นางอาสายืนอยู่ในทิศทักษิณ นางศรัทธายืนอยู่ในทิศประจิม นางหิริยืนอยู่ในทิศอุดร

พระศาสดาเมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น จึงตรัสคาถาว่า ลำดับนั้น นางเทพกัญญาทั้ง ๔ คือ นางอาสา นางศรัทธา นางสิริ และนางหิริ ผู้มีผิวพรรณประดุจทองคำ ได้ไปยังอาศรมซึ่งเป็นที่อยู่ของโกสิยดาบสนั้น โกสิยดาบสได้เห็นนางเทพกัญญาทั้งปวงนั้น จึงได้กล่าวกับนางเทพกัญญาทั้ง ๔ ต่อหน้ามาตลีว่า ดูก่อนเทวดาในบูรพาทิศ ท่านมีชื่อว่าอย่างไร จงบอกไป ท่านเป็นผู้มีสรีระอันงดงามดุจดาวประกายพรึกอันประเสริฐกว่าดาวทั้งหลาย ดูก่อนท่านผู้มีร่างกายคล้ายกับรูปทองคำ ท่านจงบอกแก่เราว่า ท่านเป็นเทวดาอะไร

นางสิริได้สดับคำดังนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้ามีชื่อว่า นางสิริเทวี เป็นผู้ไม่เสพคบหาสัตว์ลามกอันหมู่มนุษย์บูชาแล้วทุกเมื่อ มาสู่สำนักของ ท่านเพราะความทะเลาะกันด้วยเรื่องสุธาโภชน์ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอท่านจงแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้ข้าพเจ้าบ้าง ข้าแต่มหามุนีผู้สูงสุดกว่าผู้บูชาทั้งหลาย ข้าพเจ้าปรารถนาความสุขแก่นรชนใด นรชนนั้นบันเทิงอยู่ด้วยสรรพกามสมบัติทั้งหลาย ท่านจงรู้จักข้าพเจ้าว่า สิรี ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ขอท่านจงแบ่งสุธาโภชน์ให้ข้าพเจ้าบ้างเถิด   โกสิยดาบสสดับคำนั้น จึงกล่าวว่า นรชนทั้งหลายผู้มีความเพียรประกอบด้วยศิลปะวิทยาและความประพฤติดี ความรู้และการงานของตน เป็นผู้ท่านละทิ้งเสียแล้ว ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร กิจที่มีความขาดแคลนอันใดที่ท่านทำแล้ว กิจนั้นไม่ดีเลย เราเห็นนรชนผู้เป็นบุรุษเกียจคร้าน บริโภคมาก ทั้งมีตระกูลต่ำ มีรูปแปลก ดูก่อนนางสิรี นรชนที่ท่านรักษาไว้แม้สมบูรณ์ด้วยชาติ ผู้มีโภคทรัพย์ มีความสุข ย่อมใช้เหมือนทาส เพราะฉะนั้น เรารู้จักท่านเป็นผู้ไม่มีสัจจะ ไม่รู้สิ่งที่ควรและไม่ควรแล้ว และเสพคบหาเป็นผู้หลงนำผู้รู้ให้ตกไปตามนางเทพธิดาเช่นท่านย่อมไม่สมควรอาสนะและน้ำ สุธาโภชน์จักมีแต่ไหนเล่า จงไปเสียเถิด ท่านไม่ชอบใจแก่เรา

นางสิรีเทพธิดานั้น ครั้นถูกโกสิยดาบสนั้นห้ามแล้ว ก็อันตรธานหายไปในที่นั้นนั่นเอง ลำดับนั้น โกสิยดาบสนั้นเมื่อจะเจรจากับนางอาสาเทพธิดา จึงกล่าวต่อไปว่า ใครนั่นเป็นผู้มีฟันขาว สวมกุณฑลมีร่างกายอันวิจิตร ทรงเครื่องประดับเกลี้ยงเกลาทำด้วยทองคำ นุ่งห่มผ้ามีสีดังสายน้ำหยด ย่อมงดงามเหมือนดังประดับช่อดอกไม้มีสีแดงดุจเปลวไฟไหม้หญ้าคา ฉะนั้น ท่านเป็นเหมือนนางเนื้อทรายคะนอง ที่นายขมังธนูยิงผิดแล้ว มองดูอยู่ดุจทำเขลา ฉะนั้น ดูก่อน นางเทพธิดาผู้มีดวงตาอันขาว ในที่นี้ใครเป็นสหายของท่าน ท่านอยู่ในป่าใหญ่ แต่ผู้เดียวไม่กลัวหรือ

ในลำดับนั้น นางอาสาจึงตอบว่าข้าแต่โกสิยดาบส ในที่นี้สหายของข้าพเจ้าย่อมไม่มี ข้าพเจ้าเป็นเทวดามีชื่อว่า อาสา เกิดในดาวดึงส์พิภพมาสู่สำนักของท่าน เพราะหวังสุธาโภชน์ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐ ท่านจงแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้แก่ข้าพเจ้าบ้างโกสิยดาบสสดับคำนั้น เมื่อจะแสดงว่า ท่านให้ความหวังด้วยความสำเร็จผลแห่งความหวังแก่บุคคลที่ท่านชอบใจ หาให้แก่ผู้ที่ท่านไม่ชอบใจไม่ ความพินาศแห่งความปรารถนาที่ท่านตั้งใจไว้โดยชอบมิได้มี ดังนี้ ได้กล่าวว่าพ่อค้าทั้งหลายมีความหวังแสวงหาทรัพย์ ย่อมขึ้นเรือแล่นไปในทะเล อนึ่ง พ่อค้าเหล่านั้นย่อมจมในท่ามกลางมหาสมุทรนั้น ในกาลบางครั้งเขามีทรัพย์สิ้นไป ทั้งทรัพย์อันเป็นต้นทุนก็สูญหายไปแล้วก็กลับมา ชาวนาทั้งหลายย่อมไถนาด้วยความหวังหว่านพืชก็กระทำโดยแยบคาย เขาไม่ได้ประสบผล อะไรๆ จากข้าวกล้านั้น เพราะเพลี้ยตกลงบ้าง เพราะฝนแล้งบ้าง ในภายหลัง นรชนทั้งหลายผู้แสวงหาความสุขทำความหวังข้างหน้า ย่อมทำการงานของตนเพื่อนาย นรชนเหล่านั้นถูกศัตรูเบียดเบียนแล้ว ไม่ได้ประโยชน์อะไรๆ ย่อมหนีไปสู่ทิศทั้งหลาย เพื่อประโยชน์แก่นายอีก สัตว์ผู้แสวงหาความสุขเหล่านี้ เป็นผู้ใคร่จะไปสวรรค์ ละทิ้งธัญชาติทรัพย์และหมู่ญาติเสียแล้ว ย่อมทำความเพียรอันเศร้าหมองตลอดกาลนาน เดินทางผิดย่อมไปสู่ทุคติเพราะความหวัง เพราะฉะนั้น ท่านชื่อว่า อาสาที่เขาสมมติว่าเป็นผู้มักกล่าวให้เคลื่อนคลาดจากความจริง ดูก่อนนางอาสา ท่านจงนำความหวังในสุธาโภชน์ในตนออกเสีย นางเทพธิดาเช่นท่านยังไม่สมควรอาสนะและน้ำสุธาโภชน์ จักมีแต่ที่ไหนเล่า ท่านจงไปเสียเถิด ท่านไม่เป็นที่ชอบใจของเรา

แม้นางอาสานั้น ครั้นถูกโกสิยดาบสห้ามเสียแล้ว จึงอันตรธานหายไป ในลำดับนั้นโกสิยดาบสเมื่อจะเจรจากับนางศรัทธา จึงกล่าวคาถาว่า ท่านผู้มียศ รุ่งเรืองอยู่ด้วยยศ ดูก่อนนางผู้มีร่างกายคล้ายทองคำ เราขอถามท่าน ท่านจงบอกเราว่า ท่านเป็นเทวดาอะไร

ลำดับนั้น นางศรัทธาจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้ามีชื่อว่าศรัทธาเทวีที่มนุษย์บูชาแล้ว เป็นผู้ไม่เสพคบสัตว์ผู้ลามกในกาลทุกเมื่อมาสู่สำนักของท่านเพราะวิวาทด้วยสุธาโภชน์ ข้าแต่ท่านผู้มีปัญญาอันประเสริฐท่านจงแบ่งสุธาโภชน์นั้นให้ข้าพเจ้าบ้างเถิด

ลำดับนั้น โกสิยดาบสจึงกล่าวว่ากะนางศรัทธานั้นว่า ก็บางคราวมนุษย์ทั้งหลายถืออาการให้บ้าง การฝึกฝนบ้าง การบริจาคบ้าง การสำรวมบ้าง ย่อมกระทำด้วยความเชื่อ แต่มนุษย์พวกหนึ่งกระทำโจรกรรมบ้าง พูดเท็จบ้าง ล่อลวงบ้าง กล่าวส่อเสียดบ้าง ท่านอย่าประกอบต่อไปเลย บุรุษผู้มีความเพ่งเล็งในภรรยาทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยศีล ผู้มีวัตรในการปฏิบัติสามีดีแล้ว และเป็นผู้เสมอกัน ย่อมนำความพอใจในนางกุลธิดาออกเสีย เพราะเขาทำความเชื่อตามคำของนางกุมภทาสีอีก ดูก่อนนางศรัทธา ตัวท่านนั่นแล ให้ชนอื่นเสพคบภรรยาของผู้อื่น ท่านย่อมทำบาป ละทิ้งกุศลเสีย นางเช่นท่านไม่สมควรแก่อาสนะและน้ำ สุธาโภชน์จักมีแต่ไหนเล่า ท่านจงไปเสีย ท่านไม่เป็นที่ชอบใจของเรา  นางศรัทธานั้น ก็ได้อันตรธานหายไปในที่นั้นเอง ฝ่ายโกสิยดาบสเมื่อจะเจรจากับนางหิรีผู้ยืนอยู่ด้านทิศอุดร จึงได้กล่าวว่า เมื่ออรุณขึ้นไปในที่สุดแห่งราตรี นางเทพธิดาใดเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งรูปอันงดงามปรากฏอยู่ ดูก่อนเทวดา ท่านเปรียบเหมือนนางเทพธิดานั้น จะพูดกะเราหรือ ท่านจงบอกแก่เราว่าท่านเป็นนางอัปสรอะไร ท่านมีชื่อว่าอย่างไร ยืนอยู่ประดุจเถาวัลย์ดำในฤดูร้อนและประดุจเปลวไฟที่ห้อมล้อมอยู่ด้วยใบไม้สีแดง ถูกลมพัดแล้วดูงามฉะนั้น ท่านเป็นผู้ราวกะว่าจะพูดแต่มิได้เปล่งวาจาออกมา แลดูอยู่เหมือนนางเนื้อเขลา ฉะนั้น

ลำดับนั้น นางหิรีเทพธิดานั้น จึงกล่าวคาถาว่า ข้าพเจ้ามีชื่อว่านางหิรีเทวี ได้รับการบูชาแล้วในหมู่มนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ไม่เสพสัตว์ผู้ลามกในกาลทุกเมื่อ มายังสำนักของท่านเพราะวิวาทกันด้วยเรื่องสุธาโภชน์ ข้าพเจ้านั้นมิอาจที่จะขอสุธาโภชน์กะท่านได้ เพราะการขอของหญิงดูเหมือนจะเป็นของน่าละอาย

โกสิยดาบสได้สดับคำนั้น จึงได้กล่าวว่า ดูก่อนนางผู้มีกายงดงาม ท่านจักได้ตามธรรมคือตามสภาพ ตามอุบายที่ชอบคือตามเหตุนี้เป็นธรรมดาทีเดียว ก็สุธาโภชน์นั้นท่านจะได้เพราะการขอก็หาไม่ สุธาโภชน์นี้ท่านจะไม่ได้เพราะการขอเลย นางเทพธิดาทั้ง ๓ นอกนี้ไม่ได้แล้วเพราะเหตุนั้นแล เพราะฉะนั้นเราพึงเชื้อเชิญท่านผู้มิได้ขอสุธาโภชน์นั้น ท่านต้องการสุธาโภชน์ใดๆ  เราจะให้สุธาโภชน์นั้นๆ แก่ท่าน ดูก่อน นางผู้มีสรีระคล้ายทองคำ วันนี้เราขอเชิญท่านไปในอาศรมของเรา เราจะบูชาท่านด้วยสรรพรส ครั้นบูชาท่านแล้วจึงจักบริโภคสุธาโภชน์

ในกาลนั้น โกสิยดาบสก็ได้เชิญให้นางหิรีเทพธิดาเข้าไปสู่อาศรมอันน่ารื่นรมย์ มีน้ำและผลไม้สมบูรณ์ ณ ที่ใกล้อาศรมสถานนั้นมากไปด้วยหมู่รุกขชาตินานาชนิด อันผลิดอกออกผล มีทั้งมะม่วง มะหาด ขนุน ทองกวาว มะรุม อีกทั้งต้นโลท และบัวบก การะเกด จันทน์กะพ้อ และหมากหอมแก่ ล้วนกำลังออกดอกบานสะพรั่ง ในที่นั้นมากไปด้วยต้นไม้ชนิดใหญ่ๆ คือต้นรัง ต้นกุ่ม ต้นหว้า ต้นโพธิ์ ต้นไทร อีกทั้งมะซาง ราชพฤกษ์ แคฝอย ไม้ย่างทราย ไม้จิก และลำเจียก ต่างก็มีกิ่งอันห้อยย้อยลงมา กำลังส่งกลิ่นหอมฟุ้งน่ายวนใจนัก ถั่วแระ อ้อยแขม ถั่วป่า ตะโก ข้าวฟ่าง ลูกเดือย ถั่วขาวเล็ก กล้วยมีเมล็ด กล้วยไม่มีเมล็ด ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ราชดัด และข้าวสารอันเกิดเอง ก็มีอยู่ในอาศรมนั้นมากมาย ก็เบื้องหน้าด้านทิศอุดรแห่งอาศรมสถานนั้น มีสระโบกขรณีอันงามราบรื่น มีพื้นท่าขึ้นลงเรียบเสมอกัน มีน้ำใสจืดสนิทไม่มีกลิ่นเหม็น อนึ่ง ในสระโบกขรณีนั้น มีปลาต่างชนิด คือ ปลาดุก ปลากะทุงเหว ปลากราย กุ้ง ปลาตะเพียน ปลาฉลาด ปลากา ว่ายเกลื่อนกลาดไปในสระโบกขรณีที่มีขอบคัน พากันแหวกว่ายอย่างสบายทั้งเหยื่อก็มาก และที่ใกล้เคียงสระโบกขรณีนั้น มีนกต่างชนิด คือหงส์ นกกระเรียน นกยูง นกจากพราก นกออก กระเหว่าลาย นกยูงทอง นกพริกและนกโพระดกมากมาย ล้วนมีขนปีก อันงดงาม พากันจับอยู่อย่างสบาย ทั้งอาหารก็มีมาก ในที่ใกล้เคียงสระโบกขรณีนั้น มีปาณชาติและหมู่เนื้อ ต่างๆ มากมาย คือราชสีห์ เสือโคร่ง ช้าง หมี เสือ ปลา เสือดาว แรดและโคลาน กระบือ ละมั่ง กวาง เนื้อทราย หมูป่า ระมาด หมูบ้าน กวางทอง แมว กระต่าย วัวกระทิง เป็นอันมากล้วนงามวิจิตรหลากหลาย พื้นดินและหินเขาดารดาษงามวิจิตรไปด้วยดอกไม้ ทั้งฝูงนกก็ส่งเสียงร้องกึกก้อง เป็นที่อาศัยของหมู่ปักษี

นางหิรีเทพธิดานั้นมีผิวพรรณงาม ทัดดอกไม้เขียว ผูกช้องผมเรียบร้อยดีแล้วด้วยหญ้าคาอันสะอาด มีกลิ่นหอม ได้เดินเข้าไปยังอาศรมที่มีเก้าอี้นั่งลาดด้วยหนังเสืออชินะตั้งไว้ที่ประตูบรรณศาลา และโกสิยดาบสก็ได้พูดกะนางหิรีเทพธิดาว่า ดูก่อนนางงาม เชิญท่านนั่งบนอาสนะนี้ตามสบายเถิด

ในกาลนั้น เมื่อนางนั่งเก้าอี้แล้ว โกสิยดาบสมหามุนีได้รีบนำสุธาโภชน์มาพร้อมกับน้ำ ด้วยใบบัวอันสดที่นำมาจากสระโบกขรณีมาให้แก่นางตามความประสงค์ นางหิรีเทพธิดารับสุธาโภชน์นั้นด้วยมือทั้งสองแล้ว จึงกล่าวกะโกสิยฤาษีว่า ข้าแต่มุนีผู้ประเสริฐ เอาเถิด ข้าพเจ้าเป็นผู้ได้ชัยชนะที่พระผู้เป็นเจ้าบูชาแล้ว จะพึงไปสู่ไตรทิพยสถานในบัดนี้

นางหิรีเทพธิดานั้นเมื่อโกสิยดาบสกล่าวอนุมัติแล้วก็กลับไป ณ สำนักของท้าวสหัสนัยน์ ทูลว่า ข้าแต่ท้าววาสวะ สุธาโภชน์นี้โกสิยดาบสได้ให้แก่ข้าพเจ้าแล้ว ขอพระบิดาจงประทานความชำนะให้แก่หม่อมฉันเถิด แม้ท้าวสักกะก็ได้ทรงบูชานางหิรีนั้น

ในกาลนั้น เทวดาทั้งหลายพร้อมด้วยพระอินทร์ ได้พากันบูชานางหิรีเทพธิดานั้น ท้าวสักกะได้ประทานเก้าอี้ทองคำให้แก่นาง เมื่อนางเข้าไปยังเก้าอี้ทองคำเพื่อต้องการนั่งในกาลใด ในกาลนั้นท้าวสักกะและเทวดาที่พากันบูชานางผู้นั่งบนเก้าอี้นั้น ด้วยการประนมหัตถ์เป็นต้น

ท้าวสักกะครั้นบูชานางอย่างนี้แล้ว จึงทรงดำริว่า เพราะเหตุอะไรเล่าหนอ โกสิยดาบสจึงไม่ให้แก่นางเทพธิดาที่เหลือ ได้ให้สุธาโภชน์แก่นางหิรีนี้ผู้เดียว ท้าวเธอจึงส่งมาตลีเทพสารถีไปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อต้องการจะรู้

มาตลีเทพสารถีนั้นรับบัญชาของท้าวสักกะนั้นแล้วจึงได้ขึ้นรถไพชยนต์ไป ครั้นเมื่อถึงยังอาศรมของโกสิยดาบสก็กระทำอัญชลีแล้วกล่าวว่า ข้าแต่โกสิยดาบส ข้าพเจ้าเป็นทูตของพระอินทร์ ท่านได้ตรัสถามท่านว่า ข้าแต่โกสิยดาบส เพราะเหตุไรนางหิรีจึงได้สุธาโภชน์แต่ผู้เดียว

โกสิยดาบสสดับคำของมาตลีนั้นแล้ว จึงได้กล่าวว่า ดูก่อนมาตลีเทพสารถี นางสิรีเทพธิดากล่าวตอบข้าพเจ้าว่าแน่ ส่วนนางศรัทธากล่าวตอบข้าพเจ้าว่าไม่เที่ยง แต่นางอาสาเรา สมมติว่าเป็นผู้กล่าวให้คลาดเคลื่อนจากความจริง ส่วนนางหิรีเป็นผู้ตั้งอยู่ในคุณอันประเสริฐ กล่าวคือนางสิรีตอบกะเราว่าแน่ เพราะคบชนที่ถึงพร้อมแล้ว ด้วยศิลปศาสตร์เป็นต้นบ้าง ชนที่ไร้จากคุณเช่นนั้นบ้าง ส่วนนางศรัทธาตอบกะเราว่า ไม่เที่ยง เพราะบุคคลละวัตถุนั้นๆ แล้วจึงไปบังเกิดขึ้นในที่อื่น เพราะอาการที่มีแล้วกลับไม่มี ฝ่ายนางอาสาพูดตอบกะเราว่า พวกชนผู้มีความต้องการด้วยทรัพย์ แล่นเรือไปยังมหาสมุทร พอขาดทุนหมดแล้วจึงกลับ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าเป็นผู้พูดให้ผิด ส่วนนางหิรีเป็นผู้ตั้งอยู่ในคุณอันบริสุทธิ์และในคุณอันประเสริฐ กล่าวคือเป็นผู้มีหิรีและโอตตัปปะเป็นปกติ

เมื่อโกสิยดาบสจะพรรณนาคุณของนางหิรีนั้นในบัดนี้ จึงกล่าวว่า นางกุมารีก็ดี หญิงที่สกุลรักษาแล้วก็ดี หญิงแก่ที่ไม่มีสามีก็ดี หญิงมีสามีก็ดี เหล่านี้ได้รู้ฉันทราคะที่เกิดขึ้นแรงกล้าในบุรุษทั้งหลายแล้ว ห้ามกันจิตของตนเสียได้ด้วยความละอายใจ เปรียบเหมือนนักรบเหล่าใดที่ต้องสละชีวิตในสนามรบ อันกำลังต่อสู้ด้วยลูกศรและหอก เมื่อพวกนักรบแพ้แล้วในระหว่างผู้ที่ล้มไปอยู่และหนีไป ย่อมกลับมาด้วยความละอายใจ พวกนักรบที่แพ้สงครามเหล่านั้นเป็นผู้มีใจละอาย ย่อมมารับนายอีก ฉะนั้น นางหิรีนี้เป็นผู้มีปกติห้ามชนเสียจากบาป เหมือนทำนบเป็นสถานที่กั้นกระแสน้ำเชี่ยวไว้ได้  ฉะนั้น ดูก่อนเทพสารถี เพราะฉะนั้นท่านจงทูลตามคำที่เรากล่าวแล้วนั้นแด่พระอินทร์ว่า นางหิรีนั้น อันท่านผู้ประเสริฐบูชาแล้วในโลกทั้งปว ฉะนั้น มาตลีสดับคำนั้น จึงกล่าวว่า ข้าแต่โกสิยะผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ท้าวมหาพรหม ท้าวมหินทรเทวราชหรือท้าวปชาบดี ใครเล่าจะเข้าใจความเห็นข้อนี้ของท่าน

นางหิรีนี้ เป็นธิดาของท้าวมหินทรเทวราช ย่อมได้สมมติว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแม้ในหมู่เทวดาทั้งหลาย

เมื่อมาตลีกำลังกล่าวอยู่อย่างนี้ทีเดียว ธรรมคือความเสื่อมได้บังเกิดขึ้นแล้วแก่โกสิยดาบสในขณะนั้นนั่นเอง ลำดับนั้น มาตลีจึงกล่าวว่า ข้าแต่โกสิยะ ท่านปลงอายุสังขารเสียได้แล้ว แม้ธรรมคือการเคลื่อนก็ถึงพร้อมแก่ท่านแล้ว ท่านจะมีประโยชน์อะไรด้วย มนุษยโลกเราจะไปยังเทวโลกด้วยกันเถิด ดังนี้ เป็นผู้ปรารถนาจะนำโกสิยดาบสนั้นไปในเทวโลกนั้น จึงกล่าวว่าเชิญเถิด ท่านจงมา จงขึ้นรถคันนี้อันเป็นของข้าพเจ้าไปสู่ไตรทิพย์ในกาลบัดนี้เถิด ข้าแต่ท่านผู้มีโคตรเสมอด้วยพระอินทร์ ทั้งพระอินทร์ก็ทรงหวังท่านอยู่ ท่านจงถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์ในวันทีเดียว

เมื่อมาตลีนั้นกำลังพูดอยู่กับโกสิยดาบสด้วยประการฉะนี้ทีเดียว โกสิยดาบสก็จุติจากอัตภาพนั้นบังเกิดเป็นอุปปาติกเทพบุตรขึ้นยืนอยู่บนทิพยรถ ลำดับนั้น มาตลีจึงนำท่านไปยังสำนักของท้าวสักกะ ท้าวสักกะพอเห็นท่านก็มีพระทัยยินดี ได้ประทานนางหิรีเทวีซึ่งเป็นธิดาของพระองค์ให้เป็นอัครมเหสีของท่านแล้ว โกสิยเทพบุตรนั้นได้มีอิสริยยศมากมายหาประมาณมิได้  

พระศาสดาทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงตรัสว่า ขึ้นชื่อว่ากรรมของสัตว์ผู้มีคุณไม่ทราม ย่อมหมดจดได้อย่างนี้ แล้วจึงตรัสว่าสัตว์ทั้งหลาย ผู้ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาป ย่อมหมดจดได้ด้วยอาการอย่างนี้ อนึ่ง ผลของกรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมไม่เสื่อมสูญไป สัตว์เหล่าใดเหล่าหนึ่งได้เห็นสุธาโภชน์แล้ว สัตว์เหล่านั้นทั้งหมดทีเดียวถึงความเป็นสหายกับพระอินทร์แล้ว

พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นก็หาไม่ ถึงเมื่อก่อนตถาคตก็ได้ทรมานภิกษุผู้ไม่ยินดียิ่งแล้วในการให้ทานผู้มีความตระหนี่อันกระด้างนี้แล้วเหมือนกัน แล้วทรงประมวลชาดกว่า นางเทพธิดาชื่อว่หิรีในกาลนั้นได้เป็นนางอุบลวรรณา  โกสิยดาบสได้เป็นภิกษุเจ้าของทาน  ปัญจสิขเทพบุตรเป็นอนุรุทธะ  มาตลีเทพสารถีเป็นอานนท์  สุริยเทพบุตรเป็นกัสสป  จันทเทพบุตรเป็นโมคคัลลานะ  นารทดาบสได้เป็นสารีบุตร  วนท้าวสักกเทวราชได้เป็นเราตถาคตเอง ด้วยประการฉะนี้แล.


จบ สุธาโภชนชาดก

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 พฤษภาคม 2559 16:38:57 โดย Maintenence » บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1117


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.102 Chrome 50.0.2661.102


ดูรายละเอียด
« ตอบ #24 เมื่อ: 13 พฤษภาคม 2559 11:41:42 »

.



มูลปริยายชาดก
กาลเวลากินสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ สุภควัน อาศัยอุกกัฏฐธานีทรงปรารภ มูลปริยายสูตร ตรัสพระธรรมเทศนานี้ ดังนี้
 
ได้ยินว่า ในกาลนั้นมีพราหมณ์ ๕๐๐ จบไตรเพทแล้วออกบวชในพระศาสดาเรียนพระไตรปิฏก เป็นผู้มัวเมาด้วยความทะนงตนคิดว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้พระไตรปิฏก แม้เราก็รู้พระไตรปิฏก
 
เมื่อเป็นอย่างนี้ เรากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต่างกันอย่างไร จึงไม่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ อยู่มาวันหนึ่ง พระศาสดาเมื่อภิกษุเหล่านั้นประชุมกันในสำนักของพระองค์ ตรัสมูลปริยายสูตรประดับด้วยภูมิ ๘ ภิกษุเหล่านั้นกำหนดอะไรไม่ได้ จึงมีความคิดว่าพวกเราทะนงตนว่าไม่มีใครฉลาดเท่ากับพวกเรา แต่บัดนี้พวกเราไม่รู้อะไรเลย ชื่อว่าผู้ฉลาดเช่นกับพระพุทธเจ้าย่อมไม่มี ชื่อว่าพระพุทธคุณน่าอัศจรรย์

ตั้งแต่นั้นมาภิกษุเหล่านั้นก็หมดความทะนงตน สิ้นความหลงผิด ดังงูพิษที่ถูกถอนเขี้ยวแล้วฉะนั้น
 
พระศาสดาประทับอยู่ ณ อุกกัฏฐธานี ตามพระสำราญแล้วเสด็จไปกรุงเวสาลี ตรัสโคตมกสูตรที่โคตมกเจดีย์ ทั้งหมื่นโลกธาตุหวั่นไหวแล้ว ภิกษุเหล่านั้นฟังโคตมกสูตรนั้นแล้วได้บรรลุพระอรหัต เมื่อจบมูลปริยายสูตรพระศาสดายังประทับอยู่ ณ อุกกัฏฐธานีนั่นเอง ภิกษุทั้งหลายประชุมสนทนากันในโรงธรรมว่า อาวุโสทั้งหลายน่าอัศจรรย์พระพุทธานุภาพ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำให้ภิกษุเหล่านั้นเป็นพราหมณ์ออกบวชมัวเมาด้วยความทะนงตนอย่างนั้น หมดความทะนงตนด้วยมูลปริยายเทศนา
 
พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร

เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนเราก็ได้ทำภิกษุเหล่านั้นผู้มีหัวรุนแรงด้วยความทะนงตนให้หมดความทะนงตนแล้วทรงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า
 
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ครั้นเจริญวัยสำเร็จไตรเพท เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์ สอนมนต์แก่มาณพ ๕๐๐ มาณพทั้ง ๕๐๐ นั้น ครั้นเรียนจบศิลปะผ่านการซักซ้อมสอบทานในศิลปะทั้งหมดแล้ว เกิดกระด้างด้วยความทะนงตนว่า พวกเรารู้เท่าใด แม้อาจารย์ก็รู้เท่านั้นเหมือนกันไม่มีความพิเศษกว่ากัน ไม่ไปสำนักอาจารย์ ไม่กระทำวัตรปฏิบัติ ครั้นวันหนึ่งเมื่ออาจารย์นั่งอยู่โคนต้นพุทรา พวกมาณพเหล่านั้นประสงค์จะดูหมิ่นอาจารย์จึงเอาเล็บมือเคาะต้นพุทราพูดว่า ต้นไม้นี้ไม่มีแก่น พระโพธิสัตว์ก็รู้ว่าดูหมิ่นตน จึงกล่าวกะอันเตวาสิกว่า เราจักถามปัญหาพวกท่านข้อหนึ่ง มาณพเหล่านั้นต่างดีอกดีใจกล่าวว่า จงถามมาเถิด พวกผมจักแก้ อาจารย์เมื่อจะถามปัญหา ได้กล่าวคาถาแรกว่า: กาลย่อมกินสัตว์ทั้งปวงกับทั้งตัวเองด้วย ก็ผู้ใดกินกาล ผู้นั้นเผาตัณหาที่เผาสัตว์ได้แล้ว สัตว์ผู้กินกาลนั้น หมายถึงพระขีณาสพ เพราะยังกาลปฏิสนธิต่อไปให้สิ้นด้วยอริยมรรค
 
พวกมาณพเหล่านั้นฟังปัญหานี้แล้ว ไม่มีผู้สามารถจะรู้ได้แม้สักคนเดียว ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์จึงกล่าวกะมาณพเหล่านั้นว่า พวกท่านอย่าได้เข้าใจว่าปัญหานี้มีอยู่ในไตรเพท พวกท่านสำคัญว่าอาจารย์รู้สิ่งใด เราก็รู้สิ่งนั้นทั้งหมด จึงได้เปรียบเราเช่นกับด้วยต้นพุทรา พวกท่านมิได้รู้ว่า เรารู้สิ่งที่พวกท่านยังไม่รู้อีกมาก จงไปเถิด เราให้เวลา ๗ วัน จงช่วยกันคิดปัญหานี้ตามกาลกำหนด มาณพเหล่านั้นไหว้พระโพธิสัตว์แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตน แม้คิดกันตลอด ๗ วัน จึงพากันมาหาอาจารย์ไหว้แล้วนั่งลง เมื่ออาจารย์ถามว่า พวกท่านมีหน้าตาเบิกบาน รู้ปัญหานี้หรือ กล่าวว่า ยังไม่รู้ พระโพธิสัตว์เมื่อจะตำหนิมาณพเหล่านั้นอีก จึงถามปัญหาที่ ๒ ว่า :  ศีรษะของนรชนปรากฏว่า มีผมดำยาวปกคลุมถึงคอ บรรดาคนทั้งหลายนี้จะหาคนที่มีปัญญาสักคนก็ไม่ได้
 
พระโพธิสัตว์ติเตียนพวกมาณพเหล่านั้นว่า พวกท่านเป็นคนโง่ มีแต่ช่องหูเท่านั้น ไม่มีปัญญา ฉะนี้แล้วจึงแก้ปัญหา มาณพเหล่านั้นฟังแล้วกล่าวว่าอาจารย์เป็นผู้ยิ่งใหญ่อย่างน่าอัศจรรย์ ขอขมาอาจารย์แล้วต่างก็หมดความทะนงตนปรนนิบัติพระโพธิสัตว์ตามเดิม
 
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว แล้วทรงประชุมชาดกว่า มาณพทั้ง ๕๐๐ ในครั้งนั้นได้เป็นภิกษุเหล่านี้ ส่วนอาจารย์คือเราตถาคตนี้แล

 
จบ มูลปริยายชาดก
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า:  1 [2]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.289 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 23 พฤศจิกายน 2567 13:23:00