[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 19:15:25 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติหลวงพ่อสด พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  (อ่าน 8537 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 5.0 Firefox 5.0


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 11 กรกฎาคม 2554 13:41:56 »




ประวัติหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี
พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร


            

 บทความเบื้องต้น
         เมื่อการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานสัตตมวาร และปัญญาสมวารล่วงแล้ว มีท่านที่เคารพนับถือมาขอร้องให้พิมพ์ประวัติของเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี แจกจ่ายแก่ท่านที่เคารพนับถือและศิษยานุศิษย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ต่อไป และบางท่านก็ปรารถนาจะร่วมการกุศลในการพิมพ์นั้นด้วย

         เมื่อความต้องการของส่วนมากเป็นเช่นนั้น เห็นว่าจำต้องรวบรวมความเป็นไปตั้งแต่ต้นจนอวสาน จดเหตุการณ์อันเป็นจริงเท่าที่รู้และได้เห็น และต้องวางตนเป็นกลางไม่ให้มีคำยกย่องจนผิดความจริง แม้ความจริงนั้น ๆ ถ้าเขียนไว้อาจเป็นเหตุกระทบกระเทือนแก่ผู้อื่นก็จำต้องงด

         ผู้เขียนประวัตินี้ ได้อยู่รับใช้เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนีมาตั้งแต่ครั้งเป็นเด็กวัด เป็นสามเณร และเป็นพระภิกษุ ติดต่อกันมาตลอดกาล แม้ต่างคนอยู่แล้ว ก็ยังติดต่อและทราบเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมากทราบจากถ้อยคำที่ เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี เล่าให้ฟัง ท่านจะทำกิจการใด ๆ เกี่ยวแก่ส่วนรวม ท่านชอบออกความเห็นให้ฟังเป็นเรื่องของอนาคต เมื่อฟังแล้วบางเรื่องก็หนักใจแทน แต่ครั้นแล้วเหตุการณ์ก็ย่อมเป็นไปตามที่ท่านได้ปรารภไว้เป็นอันรับรองว่าท่านมิได้ฝันเพื่อสร้างวิมานในอากาศ

         เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี ผู้มีความสำคัญในประวัตินี้ ศิษยานุศิษย์ท่านที่เคารพนับถือเรียกว่า "หลวงพ่อวัดปากน้ำ" ในที่ลับหลัง ถ้าต่อหน้าก็ชอบใช้คำแทนชื่อท่านว่า "หลวงพ่อ" ไม่มีใครใช้คำว่า เจ้าคุณ หรือ พระเดชพระคุณ มากนัก เป็นทั้งนี้ก็น่าจะเรียกกันมาจนชินปาก ถ้าใครออกชื่อว่า เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนีแล้ว แทบจะไม่มีใครรู้จัก เพราะชื่อนั้นท่านได้รับพระราชทาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ นับว่าเป็นเวลาอันสั้น จึงไม่ขึ้นปากขึ้นใจของท่านที่เคารพนับถือ ได้หันเข้าหาความสะดวกออกนามท่านว่า หลวงพ่อ ในที่ต่อหน้า เรียกนอกวัดในที่ลับหลังว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำ เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน ต่อไปจะออกนามเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนีว่า "หลวงพ่อวัดปากน้ำ" จนจบประวัติ

ประวัติก่อนบวช
         เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (สด) ท่านเกิดวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๗ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านตำบลนี้อยู่ฝั่งใต้ ตรงกันข้ามกับวัดสองพี่น้อง เป็นบุตรนายเงิน นางสุดใจ มีแก้วน้อย สกุลของท่านทำการค้าขาย มีพี่น้องร่วมมารดาบิดา ๕ คน คือ:-)

๑. นางตา เจริญเรือง
๒. เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (สด มีแก้วน้อย)
๓. นายใส มีแก้วน้อย
๔. นายผูก มีแก้วน้อย
๕. นายสำรวย มีแก้วน้อย

         ญาติพี่น้องของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำแทบทุกคนนั้น คนสุดท้องตายก่อนแล้วเลื่อนมาตามลำดับชั้น คนโตหัวปีตายทีหลังแทบทุกคน เช่นพี่น้องหลวงพ่อวัดปากน้ำคนที่ ๕ ตายก่อนแล้วถึงคนที่ ๔ คนที่ ๓ แล้วตัวหลวงพ่อสด อันดับที่ ๓ นั้นเพิ่งตายก่อนหลวงพ่อสดไม่ถึงเดือน คล้ายกับว่าจะรักษาระเบียบแห่งการตายไว้ มัจจุราชไม่ยอมให้ลักลั่นเป็นการผิดระเบียบ จนบัดนี้เหลือแต่คนที่ ๑

การศึกษาเมื่อเยาว์วัย
         เรียนหนังสือวัดกับพระภิกษุน้าชายของท่าน ณ วัดสองพี่น้อง เมื่อพระภิกษุน้าชายลาสิกขาบทแล้ว ได้มาศึกษาอักขรสมัย ณ วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ในปกครองของพระอาจารย์ทรัพย์ เพราะชาติภูมิของบิดาอยู่ที่บางปลา ปรากฏว่าหลวงพ่อเรียนได้ดีสมสมัย และการศึกษาขั้นสุดท้ายของเด็กวัดในสมัยนั้น ก็คือเขียนอ่านหนังสือขอมได้คล่องแคล่ว อ่านหนังสือพระมาลัยซึ่งเขียนเป็นอักษรขอมเป็นบทเรียนขั้นสุดท้าย อ่านกันไปคนละหลาย ๆ จบ จนกว่าจะออกจากวัด ซึ่งจะเรียกกันสมัยนี้ว่าจบหลักสูตรการศึกษาก็ได้ การศึกษาของหลวงพ่อวัดปากน้ำอยู่ในลักษณะนี้ ท่านมีนิสัยจริงมาแต่เล็ก ๆ คือตั้งใจเรียนจริง ๆ ไม่ยอมอยู่หลังใคร

การอาชีพ
         เมื่อเสร็จการศึกษาแล้ว ออกจากวัดช่วยมารดาบิดาประกอบอาชีพเกี่ยวแก่การค้าขาย โดยซื้อข้าวบรรทุกเรือต่อล่องมาขายให้แก่โรงสีในกรุงเทพฯ บ้าง ที่นครชัยศรีบ้าง เมื่อสิ้นบุญบิดาแล้ว ได้รับหน้าที่ประกอบอาชีพสืบต่อมา ท่านเป็นคนรักงานและทำอะไรทำจริง ทั้งขยันขันแข็ง อาชีพการค้าจึงเจริญโดยลำดับ ทั้งวงศ์ญาติก็อุปการะ แทบจะพูดได้ว่าการค้าไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก เพราะว่าตีราคาข้าวเปลือกตกลงราคากันแล้วขนข้าวลงเรือโดยยังไม่ต้องชำระเงินก่อน เมื่อขายข้าวแล้วจึงชำระเงินกันได้ อันเกี่ยวแก่การเชื่อใจกัน ท่านประกอบอาชีพนี้ตลอดมา จนปรากฏในยุคนั้นว่า เป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง

         ท่านเป็นคนมีนิสสัยชอบก้าวหน้า มุ่งไปสู่ความเจริญ ท่านพบกับญาติหรือคนชอบพอแล้วถามถึงการประกอบอาชีพ ถ้าทราบว่าผู้ใดเจริญขึ้นก็แสดงมุทิตาจิต เมื่อทราบว่าทรงตัวอยู่หรือทรุดลงท่านก็จะพูดว่า หากินอย่างไก่ หาได้ไม่มีเก็บ อย่างนี้ต้องจนตาย ควรหาอุบายใหม่

         เมื่ออายุ ๑๙ ปี ระหว่างที่ทำการค้าอยู่นั้น ความคิดอันประกอบด้วยความเบื่อหน่ายเกิดแก่ท่าน เป็นทั้งนี้ก็น่าจะลำบากใจอันเกี่ยวแก่อาชีพ เพราะต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำงานเลี้ยงมารดา และรับผิดชอบในกิจการต่าง ๆ โดยเกิดธรรมสังเวชขึ้นในใจว่า การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอายไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเราและตัวเราในบัดนี้ ก็คงทำอยู่อย่างนี้ ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า เมื่อได้โอกาสท่านได้จุดธูปเทียนบูชาพระ อธิษฐานว่า "ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต" นี้ท่านบอกว่าเริ่มอธิษฐานมาตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี

         หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ท่านเล่าต่อไปว่า เมื่อตกลงใจบวชไม่สึกแล้ว จิตคิดเป็นห่วงมารดาเกิดขึ้น จึงขะมักเขม้นทำงานสะสมทรัพย์เพื่อให้มารดาเลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิต เมื่อจะเทียบราคาเงินในบัดนี้กับสมัยก่อน ๕๐ ปีที่ล่วงมานั้น ไกลกันมาก เพราะเมื่อก่อน ๕๐ ปี กล้วยน้ำว้า ๑๐๐ หวี เป็นราคา ๕๐ สตางค์ สมัยก่อนใช้อัฐ เรียกว่า ๑๐๐ ละ ๒ สลึง บางคราว ๑๐๐ เครือ ต่อเงิน ๒.๕๐ บาท เพราะเงินจำนวนชั่งที่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำหาให้มารดานั้น ก็ย่อมมีราคาสูงสุดในสมัยนั้น และย่อมเป็นน้ำเงินที่อาจเลี้ยงชีวิตจนตายได้จริง ถ้าหากน้ำเงินไม่มีราคาต่ำลงเช่นปัจจุบันนี้ แต่ก็ประหลาดที่มารดาของท่านมีอายุยืนมาจนถึงยุคกล้วยน้ำว้าหวีละบาทกว่า

อุปสมบท
         เดือนกรกฎาคม ๒๔๔๙ ต้นเดือน ๘ ท่านได้อุปสมบท เวลานั้นอายุย่างเข้า ๒๒ ปี บวช ณ วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร พระอาจารย์ดี วัดประตูศาล อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ คู่สวด อยู่วัดเดียวกัน คือวัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา ปวารณาพรรษาแล้ว เดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ เพื่อเล่าเรียนพระธรรมวินัยต่อไป

         การศึกษาของภิกษุสามเณรสมัยนั้น การเรียนบาลีต้องท่องสูตรก่อน เมื่อท่องจบสูตรเบื้องต้นแล้ว จึงเริ่มจับเรียนมูล เริ่มแต่เรียนสนธิขึ้นไป หลวงพ่อวัดปากน้ำเริ่มต้นโดยวิธีนี้แล้ว เรียน นาม สมาส ตัทธิต อาขยาต กิตก์ แล้วเริ่มขึ้นคัมภีร์ จับแต่พระธรรมบทไป ท่านเรียนธรรมบทจบทั้ง ๒ บั้น เมื่อจบ ๒ บั้นแล้วกลับขึ้นต้นใหม่ เรียนมงคลทีปนีและสารสังคหะคามความนิยมของสมัย จนชำนาญและเข้าใจและสอนผู้อื่นได้

         เมื่อกำลังเรียนอยู่นั้น ท่านต้องพบกับความลำบากมาก สมัยนั้นเรียนกันตามกุฏิ ต้องเดินไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่าง ๆ เมื่อฉันเช้าแล้วข้ามฟากไปเรียนที่วัดอรุณราชวราราม กลับมาฉันเพลที่วัด เพลแล้วไปเรียนวัดมหาธาตุ ตอนเย็น ไปเรียนที่วัดสุทัศน์บ้าง วัดสามปลื้มบ้าง กลางคืนเรียนที่วัดพระเชตุพน แต่ไม่ได้ไปติด ๆ กันทุกวัน มีเว้นบ้าง สลับกันไป

         สมัยที่ท่านศึกษาอยู่นั้น กำลังนิยมใช้หนังสือขอมที่จารลงในใบลาน และนักเรียนที่ไปขอศึกษากับอาจารย์นั้น บทเรียนไม่เสมอกันต่างคนต่างเรียนตามสมัครใจ กล่าวคือบางองค์เรียนธรรมบทบั้นต้น บางองค์เรียนบั้นปลาย ยิ่งนักเรียนมาก หนังสือที่เอาไปโรงเรียนก็เพิ่มจำนวนขึ้น เช่นนักเรียน ๑๐ คน เรียนหนังสือกันคนละผูก นักเรียนที่ไปเรียนนั้นก็ต้องจัดหนังสือติดตัวไปครบจำนวนนักเรียน เป็นทั้งนี้ก็เพราะนอกจากเรียนตามบทเรียนของตนแล้วเอาหนังสือไปฟังบทเรียนของคนอื่นด้วย ช่วยให้ตนมีความรู้กว้างขวางขึ้น ฉะนั้นปรากฏว่านักเรียนต้องแบกหนังสือไปคนละหลายผูก แบกจนไหล่ลู่ คือว่าหนังสือเต็มบ่า

         หลวงพ่อวัดปากน้ำ เป็นนักเรียนประเภทดังกล่าว ท่านพยายามไม่ขาดเรียน แบกหนังสือข้ามฟากลงท่าประตูนกยูงวัดพระเชตุพนไปขึ้นท่าวัดอรุณฯ เข้าศึกษาในสำนักนั้น ท่านเล่าให้ฟังว่าลำบากอยู่หลายปี ความเพียรของท่านจนชาวประตูนกยูงเกิดความเลื่อมใสได้ปวารณาเรื่องภัตตาหาร คืออาราธนาท่านรับบิณฑบาตเป็นประจำและขาดสิ่งใดขอปวารณา ระยะนี้ท่านเริ่มมีความสุขขึ้น เรื่องภัตตาหารมีแม่ค้าขายข้าวแกงคนหนึ่งจัดอาหารเพลถวายเป็นประจำ แม่ค้าคนนี้ชื่อนวม เมื่อหลวงพ่อย้ายมาวัดปากน้ำ แม่ค้าผู้นี้ทุพพลภาพลงเพราะความชราขาดผู้อุปการะ ท่านได้รับตัวมาอยู่วัดปากน้ำได้อุปการะทุกวิถีทาง เมื่อสิ้นชีวิตก็ได้จัดการฌาปนกิจศพให้ หลวงพ่อว่าเป็นมหากุศล เมื่อเราอดอยาก อุบาสิกานวมได้อุปการะเรา ครั้นอุบาสิกานวมยากจน เราได้ช่วยอุปถัมภ์ ที่สุดต่อที่สุดมาพบกันจึงเป็นมหากุศลอันยากที่จะหาได้ง่าย ๆ


         ท่านเดินทางไปศึกษาในสำนักต่าง ๆ อยู่หลายปี ครั้นต่อมามีผู้เลื่อมใสในตัวท่านมากขึ้น พวกข้าหลวงในวังกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ซึ่งชาวบ้านใกล้เคียงเรียกว่า วังพระองค์เพ็ญ เลื่อมใสในท่าน เวลาเพลช่วยกันจัดสำรับคาวหวานมาถวายทุกวัน นับว่าเป็นกำลังส่งเสริมให้สะดวกแก่การศึกษาเป็นอย่างดี เมื่อได้กำลังในด้านส่งเสริมเช่นนี้ หลวงพ่อจึงจัดการตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดพระเชตุพน โดยใช้กุฏิของท่านเป็นโรงเรียน สมัยนั้นโรงเรียนวัดพระเชตุพนมีหลายแห่ง ใครมีความสามารถก็ตั้งได้ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำสมัยนั้น ท่านได้พระมหาปี วสุตตมะ เปรียญ ๕ ประโยคเป็นครูสอน โดยท่านจัดหานิตยภัตถวายเอง มหาปี วสุตตมะ ผู้นี้มาจากวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนคร ติดตามพระสมเด็จพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) มา เมื่อคราวสมเด็จฯ จากวัดมหาธาตุมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ท่านตั้งโรงเรียนเองและเข้าศึกษาด้วยตนเอง ด้วยเรียนขึ้นธรรมบทใหม่ ท่านว่าฟื้นความจำทบทวนให้ดีขึ้น มีภิกษุสามเณรเข้าศึกษา ๑๐ กว่ารูป

         ต่อมาการศึกษาทางบาลีเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม ทางคณะสงฆ์จัดหลักสูตรการศึกษา เริ่มให้เรียนไวยากรณ์ วัดพระเชตุพนดำเนินตามแนวนั้น และได้รวมการศึกษาเป็นกลุ่มเดียวกัน การศึกษาตามแบบเก่าต้องยุบตัวเองเพื่อให้เข้ายุคไวยากรณ์ โรงเรียนที่กล่าวถึงนี้ก็ระงับไป

         หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ได้ตั้งใจศึกษาจนเข้าใจตามหลักสูตรนั้น ๆ แต่ไม่ได้แปลในสนามหลวง แม้การสอบเปลี่ยนจากแปลด้วยปากมาเป็นสอบด้วยการเขียนตอบ ท่านก็ไม่ได้สอบ เพราะการเขียนของท่านไม่ถนัดมากนักและอีกประการหนึ่งท่านไม่ปราถนาด้วย แต่สำหรับผู้อื่นแล้วท่านส่งเสริมและให้กำลังใจ โดยพูดเสมอว่าการศึกษานั้นเปลี่ยนชีวิตผู้ศึกษาให้สูงกว่าพื้นเดิม คนที่มีการศึกษาดีจะได้อะไรก็ดีกว่า ประณีตกว่าผู้อื่น คนมีวิชาเท่ากับได้สมบัติจักรพรรดิ ใช้ไม่หมด

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กรกฎาคม 2554 16:34:03 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: ขนาดภาพค่ะ » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 5.0 Firefox 5.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 11 กรกฎาคม 2554 14:14:06 »




 ต่อจากนั้นท่านก็มุ่งธรรมปฏิบัติ เบื้องต้นอ่านตำราก่อน โดยมากใช้วิสุทธิมรรค ท่านศึกษาตามแบบแผนเพื่อจับเอาหลักให้ได้ก่อน ประกอบกับนักศึกษาทางปฏิบัติกับอาจารย์ท่านได้ผ่านอาจารย์มามาก เช่นเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (มุ้ย) อดีตเจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิ พระครูญาณวิรัต (โป๊) วัดพระเชตุพน พระอาจารย์สิงห์ วัดละครทำ จังหวัดธนบุรี พระอาจารย์ปลื้ม วัดเขาใหญ่ อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี ใครว่าดีที่ไหนท่านพยายามเข้าศึกษา เมื่อมีความรู้พอสมควร ได้ออกจากวัดพระเชตุพนไปจำพรรษาต่างจังหวัดเพื่อเผยแพร่ธรรมวินัยตามอัธยาศัยของท่าน แต่ส่วนมากแนะนำทางปฏิบัติการเทศนาท่านใช้ปฏิภาณ

         แหล่งสุดท้ายได้ไปอยู่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี คราวหนึ่ง โดยเห็นว่าวัดนั้นเป็นที่สงัดสงบเหมาะสมแก่ผู้ที่ต้องการความเพียรทางใจ ไกลจากหมู่บ้านเป็นวัดโบราณมีลักษณะกึ่งวัดร้างอยู่แล้ว พระพุทธรูปศิลาองค์ใหญ่น้อยนับจำนวนร้อย ถูกทำร้ายเพราะอันธพาลบ้าง เพราะความเก่าคร่ำคร่าบ้าง พระเศียรหัก แขนหัก ดูเกลื่อนกล่นไปหมด ท่านเกิดความสังเวชในใจ ใช้วิชาพระกรรมฐานแนะนำประชาชน แนะนำผู้มีศรัทธาให้ช่วยปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปเหล่านั้น พรรณนาอานิสงส์แห่งการเสียสละ พระพุทธรูปได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นบ้าง แต่เพราะมิใช่น้อยจึงต้องใช้เวลานาน การซ่อมนั้นยังไม่ทันสมความมุ่งหมาย ประชาชนได้เข้าปฏิบัติธรรมกันมาก

         สมัยนั้น การปกครองประเทศจัดเป็นมณฑล เจ้าเมืองสุพรรณบุรีและสมุหเทศาภิบาลเกรงว่าเป็นการมั่วสุมประชาชน วันหนึ่ง สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครชัยศรี ได้พบกับสมเด็จพระวันรัต (ติสฺสทตฺตเถร) วัดพระเชตุพน เวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะภาษีเจริญ ได้ปรารภถึงหลวงพ่อวัดปากน้ำ ไปทำพระกรรมฐานที่นั่นจะเป็นการไม่เหมาะสมแก่ฐานะ ขอให้ทางคณะสงฆ์พิจารณาเรียกกลับ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ จึงจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมาด้วยความเคารพในการปกครอง แล้วมาอยู่วัดสองพี่น้อง จังหวัดเดียวกัน

         วัดสองพี่น้อง พระเถระในวัดนั้นไม่เห็นความสำคัญในการศึกษา มีบางท่านสนใจแต่ไม่สามารถจะจัดการไปได้ เพราะพระเถระส่วนใหญ่ไม่ส่งเสริม ผู้สนใจก็ส่งภิกษุสามเณรผู้ใคร่ต่อการศึกษามาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ หลวงพ่อวัดปากน้ำมาอยู่วัดสองพี่น้อง ได้เป็นกำลังตั้งโรงเรียนนักธรรมขึ้นโดยไม่ครั่นคร้ามต่ออุปสรรคใด ๆ ได้ผลสืบต่อมาจนทุกวันนี้ และท่านได้ชักชวนตั้งมูลนิธิเพื่อการศึกษาขึ้น โดยมีคณะกรรมการมูลนิธินั้นได้เป็นทุนการศึกษามาจนทุกวันนี้ นับว่าท่านได้ทำความดีไว้แก่วัดสองพี่น้องเป็นเดิมมา

         สมเด็จพระวันรัต (ติสฺสทตฺตเถร) วัดพระเชตุพน ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ในยุคนั้นวัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงวัดหนึ่งในอำเภอนั้นว่างเจ้าอาวาสลง พระคุณท่านหวังจะอนุเคราะห์หลวงพ่อวัดปากน้ำให้มีที่อยู่เป็นหลักฐาน หวังเอาตำแหน่งเจ้าอาวาสผูกหลวงพ่อไว้วัดปากน้ำ เพื่อไม่ให้เร่ร่อนไปโดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ครั้งแรกท่านได้พยายามปัดไม่ยอมรับหน้าที่ แต่ครั้นแล้วก็จำต้องยอมรับด้วยเหตุผล ก่อนจะส่งไปนั้น สมเด็จพระวันรัตตั้งข้อแม้ให้หลายข้อ เช่นห้ามแสดงอภินิหารและทำการเกินหน้าพระคณาธิการวัดใกล้เคียง ให้เคารพการปกครองตามลำดับ ให้อดทนเพื่อความสงบและไม่ให้ใช้อำนาจอย่างรุนแรง

         การที่เจ้าคณะอำเภอเอาความมั่นสัญญากับหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เช่นนั้น เพราะเห็นว่าหลวงพ่อสด วัดปากน้ำชอบทำสิ่งที่ตนเห็นว่าดีงาม ไม่ชอบอยู่เฉย ๆ โดยไม่ทำกิจอะไรให้เป็นประโยชน์ขึ้นแม้แก่ตัวเอง อนึ่งเจ้าคณะอำเภอได้ปกครองอำเภอนี้มานาน ซาบซึ้งถึงอัธยาศัยและความเป็นไปในอำเภอนั้นได้ดี เพราะจิตปรานีจะได้ไม่เกิดความกระทบกระเทือนแก่ใครผู้ใด หวังความสงบในการปกครองเป็นหลักสำคัญ เบื้องต้นหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านยอมรับด้วยดี เป็นทั้งนี้ก็เนื่องด้วยยังไม่เคยประสบความขัดข้อง เนื่องด้วยยังไม่เคยปกครองวัดมาก่อน

         พ.ศ. ๒๔๕๙ วันเดือนจำไม่ได้ ท่านได้จากวัดพระเชตุพนในฐานะเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ โดยเรือยนต์หลวงซึ่งกรมการศาสนาจัดถวายเพื่อเป็นเกียรติยศแก่พระอารามหลวง มีพระอนุจรติดตามมา ๔ รูป ทางกรมได้จัดสมณบริขารถวายเจ้าอาวาสและนิตยภัตอีก ๔ เดือน เดือนละ ๓๐ บาท พระอนุจร ๔ รูป รูปละ ๒๐ บาท เจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญนำมาส่งถึงวัดปากน้ำพร้อมด้วยพระเถรานุเถระและพระคณาธิการในอำเภอนั้นมากรูป มีคฤหัสถ์ชายหญิงหลายคนมาต้อนรับ ก่อนจะมาวัดปากน้ำท่านได้เป็นฐานานุกรมของเจ้าคุณพระศากยยุตติยวงศ์ เจ้าคณะอำเภอในตำแหน่งสมุห์ด้วย

         สภาพของวัดปากน้ำสมัยนั้นทุกอย่างไม่เรียบร้อย มีสภาพกึ่งวัดร้าง เป็นที่ควรแก้ไขให้เป็นวัดสมสภาพ งานเบื้องต้น หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ได้ประชุมพระภิกษุสามเณรที่อยู่เดิมและมาใหม่ ท่านให้โอวาทปรับความเข้าใจแก่กันว่า

"เจ้าคณะอำเภอส่งมาเพื่อให้รักษาวัด และปกครองตักเตือนว่ากล่าวผู้อยู่วัดโดยพระธรรมวินัย อันจะให้วัดเจริญได้ต้องอาศัยความพร้อมเพรียงและเห็นอกเห็นใจกันจึงจะทำความเจริญได้ ถิ่นนี้ไม่คุ้นเคยกับใครเลย มาอยู่นี้เท่ากับถูกปล่อยโดยไม่รู้ว่าจะหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะต่างไม่รู้จักกัน

แต่ก็มั่นใจว่าธรรมที่พวกเราปฏิบัติตรงต่อพระพุทธโอวาทจะประกาศความราบรื่น และรุ่งเรืองให้แก่ผู้มีความประพฤติเป็นสัมมาปฏิบัติ ธรรมวินัยเหล่านั้นกำจัดอธรรมให้สูญสิ้นไป พวกเราบวชกันมาคนละมาก ๆ ปี ปฏิบัติธรรมเข้าขั้นไหน มีพระปาฏิโมกข์เรียบร้อยอย่างไร ทุกคนทราบความจริงของตนได้ ถ้าเป็นไปตามแนวพระธรรมวินัยก็น่าสรรเสริญ ถ้าผิดพระธรรมวินัยก็น่าเศร้าใจ เพราะตนเองก็ติเตียนตนเอง

         ได้เคยพบมาบ้าง แม้บวชตั้งนานนับเป็นสิบ ๆ ปี ก็ไม่มีภูมิจะสอนผู้อื่น จะเป็นที่พึ่งของศาสนาก็ไม่ได้ ได้แต่อาศัยศาสนาอย่างเดียวไม่ทำประโยชน์ให้เกิดแก่ตนและแก่ท่านซ้ำร้ายยังทำให้พระศาสนาเศร้าหมองอีกด้วย บวชอยู่อย่างนี้เหมือนตัวเสฉวน (เรื่องเสฉวนนี้หลวงพ่อท่านชอบพูดบ่อย ๆ ต่อมาก็หายไป) จะได้ประโยชน์อะไรในการบวช ในการอยู่วัด

         ฉันมาอยู่วัดปากน้ำ จะพยายามตั้งใจประพฤติให้เป็นไปตามแนวพระธรรมวินัย พวกพระเก่า ๆ จะร่วมกันก็ได้ หรือจะไม่ร่วมด้วยก็แล้วแต่อัธยาศัย ฉันไม่รบกวนด้วยอาการใด ๆ เพราะถือว่าทุกคนรู้สึกผิดชอบด้วยตนเองดีแล้ว ถ้าไม่ร่วมใจก็ขออย่าขัดขวาง ฉันก็จะไม่ขัดขวางผู้ไม่ร่วมมือเหมือนกัน ต่างคนต่างอยู่ แต่ต้องช่วยกันรักษาระเบียบของวัด คนจะเข้าออกต้องบอกให้รู้ ที่แล้วมาไม่เกี่ยวข้อง เพราะยังไม่อยู่ในหน้าที่ จะพยายามรักษาเมื่ออยู่ในหน้าที่
นี้เป็นโอวาทที่หลวงพ่อให้แก่ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา เมื่อไปปกครองวัดนั้นผู้เขียนได้ร่วมประชุมอยู่ด้วย

         ครั้นต่อไปถูกมรสุมขนาดหนัก โอวาทนั้นกลายเป็นคำพูดที่อวดดีไป แต่หลวงพ่อวัดปากน้ำท่านทำเป็นไม่รู้เท่าทัน ไม่ปริปากโต้แย้งอย่างไร แต่ภายในเร่งรัดกวดขันภิกษุสามเณรยิ่งขึ้น แต่กวดขันได้แต่พวกที่ติดตามและภิกษุสามเณรที่เข้าสำนักใหม่ เปิดการสอนกรรมฐานเป็นหลักฐานขึ้น ประชาชนต้อนรับด้วยปสาทะแต่ส่วนมากเป็นชาวบ้านตำบลเมืองอื่น และมาจากไกล ส่วนข้างเคียงก็มีบ้าง เวลาย่ำค่ำแล้วมีการอบรมภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกาทุกวัน แล้วบำเพ็ญสมณธรรมด้วย ความดีเริ่มฉายรัศมี ความเดือดร้อนก็เป็นเงาแฝงมา

         เด็ก ๆ ที่ไม่ได้รับการศึกษารบกวนวัดมากแทบไม่มีเวลาว่าง ที่ชวนกันมาเอะอะในวัดและยิงนกเล่นเป็นภัยแก่วัด ครั้นจะตักเตือนว่ากล่าวหรือใช้อำนาจก็ไม่แน่ว่าจะเกิดความราบรื่น เพราะชาวบ้านแถวนั้นยังไม่เกิดความนิยมในท่าน เขานิยมพระพวกเก่ามากกว่า
ท่านพูดออกมาคำหนึ่งว่า เด็ก ๆ ที่ไร้การศึกษาเป็นคนรกชาติ มาเที่ยวรังแกวัด ต่อไปก็กลายเป็นพาลไม่ช้าท่านได้ตั้งโรงเรียนราษฎร์สำหรับวัดขึ้น โดยหาทุนค่าครูเอง ได้อุปการะจากท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรี (กิมไล้ สุจริตกุล)บ้าง หลวงฤทธิ์ณรงค์รอน ธนบดีในคลองบางหลวง บ้านอยู่ข้างวัดสังข์กระจายบ้าง จากนายต่าง บุณยมานพ ธนบดีตลาดพลูบ้าง พระภิรมย์ราชาวาจรงค์ บ้านตรงข้ามหน้าวัดและท่านผู้มีศรัทธาอีกมากคน ทางกรรมการอำเภอส่งเสริมให้กิจการของโรงเรียนดำเนินไปโดยสะดวก

         นักเรียนจากจำนวนสิบ เป็นจำนวนร้อย จนถึงสามร้อยเศษ ให้ได้รับการศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ภาวะของวัดปากน้ำค่อยดีขึ้น ผู้ปกครองเด็กนักเรียนเห็นบุญคุณของท่านเกิดความเลื่อมใส บางคนมาพูดว่าหลวงพ่อดีมาก ลูกหลานผมได้เข้าโรงเรียนเพราะหลวงพ่ออนุเคราะห์ นโยบายของหลวงพ่อวัดปากน้ำเป็นเบื้องต้นให้คนเกรงใจวัดและเห็นบุญคุณของวัด การเกะกะระรานในวัดก็ค่อย ๆ จางไป บัดนี้แทบพูดได้ว่าไม่มีคนรังแกวัด ต่อมาทางปกครองได้ใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา ทางรัฐบาลได้จัดโรงเรียนสถานศึกษาทั่วถึงกัน ประจวบกับเจ้าอาวาสวัดขุนจันทร์ว่างลง เจ้าคณะจังหวัดธนบุรีมอบให้หลวงพ่อวัดปากน้ำรักษาการณ์วัดขุนจันทร์ ท่านได้ย้ายโรงเรียนภาษาไทยจากวัดปากน้ำไปตั้งการสอนที่วัดขุนจันทร์ ต่อมาทางวัดเห็นว่าหมดความจำเป็นจึงเลิกกิจการด้านนี้มอบให้รัฐบาลรับภาระ หลวงพ่อหันมาจัดการศึกษาทางบาลีและทางปฏิบัติธรรมต่อไป

        ต่อจากนั้นได้เริ่มจัดการศึกษานักธรรมและบาลีประจำสำนัก ครั้งแรกนักเรียนบาลีไปเรียนต่างวัด เช่น วัดอนงค์ วัดกัลยาณมิตร วัดประยุรวงศ์ วัดมหาธาตุ วัดพระเชตุพนจังหวัดพระนคร ตามแต่นักเรียนจะสมัครใจสำนักไหน

         สมัยนั้น การคมนาคมใช้เรือจ้างและเรือยนต์ จังหวัดธนบุรียังไม่มีถนน สะพานพุทธยอดฟ้าฯ ยังไม่ได้สร้าง นักเรียนต้องลำบากด้วยการเดินทาง แต่สำเร็จด้วยการพยายามของนักเรียน วัดเพียงแต่ส่งเสริมและอุปการะ มีนักธรรมและเปรียญประจำสำนักขึ้นและเป็นมาด้วยการลำบาก

         การอบรมจิตใจดำเนินคู่กันมา ใครต้องการเรียนปริยัติเรียน ใครต้องการปฏิบัติธรรมปฏิบัติ ย่อมศึกษาได้ตามอัธยาศัย ไม่ได้อย่างเดียวคือไม่ยอมให้อยู่เปล่า ไม่ศึกษาไม่ปฏิบัติก็ทำหน้าที่การบริหารไป กิจการของท่านอยู่ในความเพ่งเล็งของประชาชน โดยวิธีนี้ย่อมเป็นที่ภาคภูมิใจของท่านนัก ท่านพูดว่า ดอกไม้ที่หอมไม่ต้องเอาน้ำหอมมาพรมก็หอมเอง ใครจะห้ามไปได้ ซากศพไม่ต้องเอาของเหม็นมาละเลงใส่ ซากศพก็ต้องแสดงกลิ่นศพให้ปรากฏ ปิดกันไม่ได้ เพราะการขาดแคลนเรื่องอาหารการบริโภคมีอยู่เป็นประจำ หลวงพ่อวัดปากน้ำคิดแก้ไขด้วยวิธีเลี้ยงภิกษุสามเณรทั้งวัด โดยท่านรับภาระทั้งสิ้น ท่านเคยพูดว่ากินคนเดียวไม่พอกิน กินมากคนกินไม่หมด พวกแกคอยดู สำเร็จซีน่า อันความจริงส่วนตัว ท่านพอมีแก่สภาพแต่อัธยาศัยที่ทนอยู่ไม่ได้ จึงตั้งโรงครัวขึ้น เพื่ออุปการะแก่ผู้ปฏิบัติธรรมและนักศึกษาปริยัติ ท่านได้ปฏิบัติการเลี้ยงพระมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๙ จนถึง พ.ศ.๒๕๐๒ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว การเลี้ยงพระก็คงมีอยู่จนทุกวันนี้ นับเป็นเวลา ๔๔ ปี เริ่มต้นจนถึงวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ อันเป็นวันมรณภาพ เริ่มแต่จำนวนภิกษุสามเณร ๒๐-๓๐ รูป จนถึง ๕๐๐ รูปเศษ

         การอบรมภิกษุสามเณร คฤหัสถ์ บรรพชิตนั้น ถือเป็นกิจสำคัญของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เมื่อ พ.ศ. อะไรผู้เขียนจำไม่ได้ เกิดเรื่องอาชญากรรมขึ้นในวัด วันนั้น พระกมล ศิษย์ที่ถูกใจของท่านในด้านเทศนาใช้ปฏิภาณและด้านปฏิบัติชั้นดี ได้เทศนาหัวข้อธรรมเกี่ยวแก่พระกรรมฐานอยู่ หลวงพ่อฟังอยู่ด้วย (ต่อมา หลวงพ่อได้ส่งพระกมล นี้ไปอยู่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อเผยแพร่ธรรม ทำงานอยู่ ๓-๔ ปี ก็ถึงมรณภาพ) เมื่อเสร็จการอบรมแล้วประมาณเวลา ๒๐.๐๐ น. ต่างกลับยังที่พักของตน มีผู้ลอบสังหารหลวงพ่อสด วัดปากน้ำที่หน้าศาลาการเปรียญ ขณะที่ท่านออกมาจากศาลาจะกลับกุฏิ ผู้ร้ายใช้ปืนยิงท่านถูกจีวรท่านทะลุ ๒ รู ยิงนายพร้อม อุปัฏฐากผู้ติดตามหลัง ถูกที่ปากทะลุแก้มเป็นบาดแผลสาหัส แต่ไม่ถึงแก่กรรม ท่านรอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ น่าจักเป็นเทวดาผู้รักษาวัดปากน้ำยังต้องการท่านอยู่จึงให้แคล้วคลาดอันตรายแห่งชีวิตอย่างหวุดหวิด ถ้าท่านสิ้นชีวิตในขณะนั้น วัดปากน้ำก็น่าจักไม่มีความหมายอะไรสำหรับท่านและคนทั่วไป

         ระยะนี้ความตึงเครียดกับเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญทวีขึ้นอีก เข้ากันไม่ติดดุจขมิ้นกับปูน ทางเจ้าคณะอำเภอว่าวัดปากน้ำผิดสัญญาต่อกันไม่ทำตามโอวาท ทางวัดปากน้ำก็ว่า จะให้งอมืองอเท้าเท่านั้นไม่ได้ประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน ชีวิตเป็นหมัน ท่านพูดแข็งแรงมาก ฟังท่านแล้วก็หนักใจ แล้วท่านก็ดำเนินปฏิปทารุดหน้าต่อไป คำว่าถอยหลังท่านไม่เคยใช้

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 พฤษภาคม 2555 21:19:34 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: jpg » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 5.0 Firefox 5.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #2 เมื่อ: 11 กรกฎาคม 2554 15:10:12 »


         สมัยกำลังตั้งเนื้อตั้งตัว ท่านคิดก้าวหน้าไปไกลมาก กล่าวคือมีความตั้งใจมั่นในการศึกษา พูดมาไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี ว่าจะสร้างโรงเรียนถาวรขนาด ๓ ชั้น จุนักเรียนได้ ๑,๐๐๐ คน ๒ ชั้นล่างให้เรียนปริยัติ ชั้นที่ ๓ จะให้เรียนปฏิบัติธรรม ถ้าหลังเดียวไม่พอจะสร้างขึ้นอีก ๑ หลัง ขนาดเดียวกัน ได้ฟังท่านสร้างวิมานบนอากาศมานาน ฟังแล้วก็ไม่ได้ใส่ใจ เพราะเกิดความคิดเห็นว่าย่อมเป็นไปไม่ได้ และปรารภต่อไปว่า เมื่อสร้างโรงเรียนเสร็จแล้วจะจัดการฉลอง มีแจง ๕๐๐ โดยหาเจ้าภาพจัดสำรับคาวหวานองค์ละคู่ สมณบริขารพร้อม รวม ๕๐๐ ชุด เท่าจำนวนพระ ถ้าการเนิ่นช้าถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ จะจัดการฉลองโดยอาราธนาพระจำนวน ๒,๕๐๐ รูป พร้อมด้วยสมณบริขารดังกล่าวแล้วครบชุด เมื่อเสร็จแล้วสำรับคาวหวานขอถวายไว้สำหรับวัด วัดปากน้ำก็จะสมบูรณ์ด้วยเครื่องใช้เป็นประโยชน์แก่วัดต่อไป และพูดแถมท้ายว่า "แกคอยดู จะสนุกกันใหญ่"

เป็นความตั้งใจของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ดังนั้น ท่านชอบพูดเรื่องนี้แก่ผู้เขียน และท่านก็รู้ว่าผู้เขียนไม่ได้เลื่อมใสอะไรในท่านมากนัก แต่ชอบพูดฝากไว้

         หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ อยู่ในลักษณะพูดจริงทำจริง และไม่ใคร่ฟังเสียงใครคัดค้าน เมื่อท่านมองเห็นช่องจะสำเร็จ ฉะนั้น โรงเรียนทันสมัยหลังหนึ่งจึงเกิดขึ้นในวัดปากน้ำ เป็นตึก ๓ ชั้น จริงดังพูด พร้อมด้วยเครื่องประดับตกแต่งอย่างดียิ่ง และทันสมัย มีห้องเรียน ห้องน้ำ ห้องส้วมประจำชั้น มีเครื่องอุปกรณ์การศึกษาชั้นหนึ่งครบบริบูรณ์ สมแก่นักเรียนจำนวนไม่น้อยกว่าที่ได้ดำริไว้ ชั้นบนเปิดเป็นห้องโถง เพื่อปฏิบัติพระกัมมัฏฐาน สมจริงดังปณิธานที่ได้ตั้งไว้ เป็นโรงเรียนตึกคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๓ ชั้น ยาว ๒๙ วา ๒ ศอก กว้าง ๕ วา ๑ ศอก ค่าก่อสร้าง ๒,๕๙๘,๑๑๐.๓๙ บาท (สองล้านห้าแสนเก้าหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยสิบบาท สามสิบเก้าสตางค์) ติดไฟฟ้าและพัดลมทันสมัย โรงเรียนหลังนี้เป็นพยานแห่งความฝันของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ "มิใช่ดีแต่พูด ย่อมทำดีตามพูดด้วย" จึงควรแก่คำสรรเสริญยิ่งนัก แต่การฉลองนั้นท่านรอ ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อใกล้ ๒๕ พุทธศตวรรษ ท่านอาพาธ ไม่สามารถจะดำเนินงานตามเจตนาได้ โรงเรียนหลังนี้เป็นประโยชน์แก่คณะสงฆ์มาก เพราะเมื่อก่อนนั้น การสอบนักธรรมหมุนเวียนไปวัดโน้นบ้าง วัดนั้นบ้าง แล้วแต่เจ้าคณะอำเภอจะสั่งไป ได้รับความขัดข้องประการต่าง ๆ บางแห่งก็ใกล้ บางแห่งก็ไกล ไม่สะดวกด้วยสถานที่สอบ

         เมื่อโรงเรียนวัดปากน้าสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ทางคณะสงฆ์ได้ย้ายการสอบจากที่อื่นมาเปิดสนามสอบที่วัดปากน้ำ รวมสอบแห่งเดียวในอำเภอภาษีเจริญ ธนบุรี เป็นการสะดวกแก่นักเรียนทุกประการ บางวันก็มาฉันเพลที่วัดปากน้ำเสียทีเดียว เป็นสถานที่สอบประจำทุกปีมา

         เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๐๒ เป็นวันครบ ๑๐๐ วัน นับแต่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำถึงแก่มรณภาพ ศิษยานุศิษย์ ท่านที่เคารพนับถือได้บำเพ็ญกุศลสตมวารตามศาสนพิธี ได้มีเทศน์ปฐมสังคายนาแจง ๕๐๐ โดยหาเจ้าภาพรับเป็นองค์อุปถัมภ์ ๕๐๐ คน บริจาคจตุปัจจัยคนละ ๑๐๐ บาท เมื่อปัจจัยเหลือจากการใช้จ่ายแล้ว จะรวบรวมไว้เป็นทุนพระราชทานเพลิงศพต่อไป ทั้งนี้ ช่วยกันสนองความตั้งใจของหลวงพ่อวัดปากน้ำให้เป็นผลสำเร็จ แม้ท่านมรณภาพแล้ว ก็ยังภูมิใจว่าหลวงพ่อได้กระทำ เพราะปรารภคุณสมบัติของท่านเป็นมูลเหตุ และแจงห้าร้อยนี้ย่อมเป็นไปเรียบร้อยสมเกียรติของท่านทุกประการ

         การปฏิบัติธรรมด้านพระกัมมัฏฐาน ถือว่าเป็นงานใหญ่ในชีวิตของท่าน ด้านคันถธุระมอบให้ศิษย์ที่เป็นเปรียญดำเนินงานไป นักปริยัตินักปฏิบัติเพิ่มจำนวนยิ่งขึ้น เพราะท่านมีความปรารถนาไว้ตั้งแต่มาครองวัดปากน้ำ และได้ปฏิญาณในพระอุโบสถว่า "บรรพชิตที่ยังไม่มา ขอให้มา ที่มาแล้วขอให้อยู่เป็นสุข" ฉะนั้น ใครจะบ่ายหน้ามาพึ่งท่าน จึงไม่ได้รับคำปฏิเสธกลับไป ใครพูดถึงจำนวนภิกษุสามเณรว่ามากเกินไป ท่านดีใจกลับหัวเราะพูดว่า "เห็นคุณพระพุทธศาสนาไหมล่ะ" ถ้าพูดถึงเรื่องนี้เป็นถูกอารมณ์มากทีเดียว ท่านไม่พูดว่าเลี้ยงไม่ไหว มีแต่พูดว่า "ไหวซิน่า" แล้วก็หัวเราะ คิดว่าท่านคงปลื้มใจที่ความคิดความฝันของท่านเป็นผลสำเร็จขึ้น

         การบำเพ็ญสมณธรรม ด้วยการเจริญพระกัมมัฏฐาน กำลังแผ่รัศมีไปไกล ประชาชนต้อนรับการปฏิบัติ ภิกษุสามเณรต่างจังหวัดมากขึ้น เกียรติคุณก็แพร่หลาย วันธรรมสวนะจะเห็นคนลงเรือจ้างจากปากคลองตลาดมาวัดปากน้ำไม่ขาดสาย จนพวกเรือจ้างดีใจไปตาม ๆ กัน เพราะเพิ่มรายได้แก่ผู้มีอาชีพทางนั้น วันพฤหัสบดีเป็นวันเรียนและเริ่มปฏิบัติ วันนี้ก็มีคนมาก วันละหลาย ๆ สิบคนก็มี ยิ่งทางรถสะดวกคนยิ่งมากขึ้น

        ผู้ปฏิบัติคนใดเห็นธรรมด้วยปัญญาของตน ท่านบอกว่าได้ธรรมกาย อันคำว่าธรรมกายนั้น เป็นคำที่แปลกหูคนเอามาก ๆ เพราะเป็นชื่อที่ไม่มีใครสนใจ ผู้ไม่ทันคิดก็เหมาเอาว่า หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ อุตริบัญญัติขึ้นใช้เฉพาะวิธีการของท่าน คำว่าธรรมกาย เป็นที่เย้ยหยันของผู้ไม่ปรารถนาดีต่อใคร บางคนก็ว่าอวดอุตริมนุสฺสธรรม พูดเหยียดหยามว่าใครอยากเป็นอสุรกายจงไปเรียนธรรมกายวัดปากน้ำ ข่าวนี้ก็ทราบถึงหลวงพ่อวัดปากน้ำเหมือนกัน ท่านยิ้มรับถ้อยคำเช่นนั้น ไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ แสดงให้เห็น หลวงพ่อพูดว่าน่าสงสาร พูดไปอย่างไร้ภูมิ ไม่มีที่มาเขาจะบัญญัติขึ้นได้อย่างไร เป็นถ้อยคำของคนเซอะ ท่านว่าอย่างนั้น

         เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คำว่า "ธรรมกาย" เช่นนั้น และพูดไปในแนวที่ทำลายท่าน นิสัยที่ไม่ยอมแพ้ใครอันมีมาแต่กำเนิด หลวงพ่อวัดปากน้ำใช้คำว่า "ธรรมกาย" เป็นสัญญลักษณ์ของสำนักกัมมัฏฐานวัดปากน้ำทีเดียว เอาคำว่าธรรมกายขึ้นเชิดชู ศิษยานุศิษย์รับเอาไปเผยแพร่ทั่วทิศ และอิทธิพลของคำว่า "ธรรมกาย" นั้นไปแสดงความอัศจรรย์ถึงทวีปยุโรป ถึงกับศาสตราจารย์วิลเลียม ต้องเหาะมาศึกษาและอุปสมบท ณ วัดปากน้ำ เป็นคนแรกที่ชาวยุโรปมาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในประเทศไทย นายวิลเลียมนี้เป็นชาวอังกฤษ

         คำว่า "ธรรมกาย" เป็นคำที่ระคายหูของคนบางพวก จึงยกเอาคำนั้นมาเสียดสี เพื่อให้รัศมีวัดปากน้ำเสื่อมคุณภาพ หลวงพ่อวัดปากน้ำพูดว่า เรื่องตื้น ๆ ไม่น่าตกใจอะไร ธรรมกายเป็นของจริง ของจริงนี้จะส่งเสริมให้วัดปากน้ำเด่นขึ้นไม่น้อยหน้าใคร พวกแกคอยดูไปเถิด ดูเหมือนว่าไม่มีใครช่วยแก้แทนท่าน

         แต่คำว่า "ธรรมกาย" นั้น ย่อมซาบซึ้งกันแจ่มแจ้ง เมื่อหลวงพ่อวัดปากน้ำได้มรณภาพแล้ว กล่าวคือ เมื่อทำบุญ ๕๐ วัน ศพของพระคุณท่าน คณะเจ้าภาพได้อาราธนาเจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร วัดชนะสงครามมาแสดงธรรม เจ้าคุณพระธรรมทัศนาธรได้ชี้แจงว่า คำว่า "ธรรมกาย" นั้น มีมาในพระสุตตันตปิฎก ท่านอ้างบาลีว่า ตถาคตสฺส วาเสฏฺฐา เอตํ ธมฺมกาโยติ วจนํ ซึ่งพอจะแปลความได้ว่า "ธรรมกายนี้เป็นชื่อของตถาคต ดูกร วาเสฏฐะ" ทำให้ผู้ฟังเทศน์เวลานั้นหลายร้อยคนชื่นอกชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง ทุกคนกราบสาธุการแด่เจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร และประหลาดใจว่า ทำไมเจ้าคุณพระธรรมทัศนาธร จึงทราบประวัติและการปฏิบัติของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ได้ถูกต้อง

ผู้เขียนเรื่องนี้ก็แปลกใจมาก เมื่อแสดงธรรมจบ ลงจากธรรมาสน์แล้ว จึงถามว่าผู้แสดงธรรมว่า คุ้นเคยกับหลวงพ่อสด วัดปากน้ำหรือ จึงแสดงธรรมได้ถูกต้องตามเป็นจริง

         พระธรรมทัศนาธรตอบว่า "อ้าว ไม่รู้หรือ ผมติดต่อกับท่านมานานแล้ว หลวงพ่อสด วัดปากน้ำข้ามฟากไปฝั่งพระนครแทบทุกคราวไปหาผมที่วัดชนะสงคราม และผมก็หมั่นข้ามมาสนทนากับเจ้าคุณวัดปากน้ำ การที่หมั่นมานั้น เพราะได้ยินเกียรติคุณว่ามีพระเณรมาก แม้ตั้ง ๔ - ๕ ร้อยรูป ก็ไม่ต้องบิณฑบาตฉัน วัดรับเลี้ยงหมด อยากทราบว่าท่านมีวิธีการอย่างไรจึงสามารถถึงเพียงนี้ และก็เลยถูกอัธยาศัยกับท่านตลอดมา" เมื่อทราบความจริงเช่นนั้น ทุกคนก็หายข้องใจ ผู้เขียนก็เคยแปลกใจ โดยท่านเจ้าคุณมงคลเทพมุนี เคยพูดถึงเจ้าคุณพระธรรมทัศนาธรเสมอว่า องค์นี้ใช้ได้ ๆ โดยที่ไม่ทราบว่าท่านหมายความว่าอย่างไร

         หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ มีวาทะตรงกับใจ เมื่อจะพูดอะไรก็พูดโดยไม่สะทกสะท้านและไม่กลัวคำติเตียนด้วย เช่นครั้งหนึ่ง ผู้เขียนเรื่องนี้ได้มาฉันเพลที่วัดปากน้ำ วันนั้นมีประชาชนมาก ร่วมใจบริจาคทานแก่ภิกษุสามเณรทั้งวัดเป็นกรณีพิเศษ เมื่อทายกประเคนอาหารเรียบร้อยแล้ว มีพ่อค้าตลาดสำเพ็งผู้มั่งคั่งคนหนึ่งไปกราบและถามว่า "หลวงพ่อขอรับ วันนี้จะมีผู้บริจาคสร้างกุฏิเพื่อเจริญพระกัมมัฏฐานบ้างไหม" ชาวบ้านไม่น้อยกว่า ๒๐ คน ที่นั่งใกล้ ๆ ได้ยินคำถามนั้น คิดว่าคงตั้งใจฟังคำตอบของหลวงพ่อสด ต่างทอดสายตามองหลวงพ่อ เพื่อฟังคำตอบ

         เวลานั้นข้าพเจ้าผู้เขียน มีทั้งโกรธผู้ถาม ทั้งหนักใจแทนหลวงพ่อ และได้มองดูหน้าผู้ตอบ หลวงพ่อมีดวงหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส หลับตาสัก ๕ นาที ครั้นแล้วตอบทันทีว่า "มี" ผู้ถามได้ถามย้ำต่อไปว่ากี่หลัง ตอบว่า ๒ - ๓ หลัง และย้ำอีกว่าต้องได้แน่

         เวลานั้นผู้เขียนฉันภัตตาหารไม่มีรส โกรธผู้ถามว่าช่างไม่มีอัธยาศัย คำถามเช่นนั้นเท่ากับเอาโคลนมาสาดรดหลวงพ่อ เมื่อต้องการทราบ ควรถามเฉพาะสองต่อสอง และโกรธหลวงพ่อว่า ช่างไม่มีปัญญาแก้ปัญหาเฉพาะหน้า คิดว่าทำไมนะหลวงพ่อจึงไม่พูดว่า เวลานี้ยังไม่เป็นโอกาสที่จะพยากรณ์คำถามนั้น ที่ตอบออกไปว่าจะมีผู้บริจาค ๒ - ๓ หลังนั้น หมิ่นต่ออันตรายมากนัก อาจเป็นคำพูดที่ฆ่าตนเองได้ ดาบของตนฆ่าตนเอง เวลานั้นก็เอาใจช่วยหลวงพ่อขอให้มีผู้บริจาคจริง ๆ เถิด เสร็จการฉันของหวานแล้ว คำพยากรณ์ของหลวงพ่อก็ยังไม่ปรากฏเป็นความจริงขึ้น ผู้เขียนเรื่องนี้นั่งอยู่ด้วยความอึดอัดใจ นึกตำหนิท่านว่า ไม่รอบคอบพอ

         ได้เวลาอนุโมทนา มีคณะอุบาสกอุบาสิกากลุ่มหนึ่ง เข้ามากราบหลวงพ่อสด บอกว่าศรัทธาจะสร้างกุฏิเล็ก ๆ อย่างที่หลวงพ่อสร้างไว้แล้วสัก ๒ - ๓ หลัง ประมาณราคา ๓ - ๔ ร้อยบาทต่อหนึ่งหลัง ขอให้หลวงพ่อช่วยจัดการให้ด้วย ตอนนี้หลวงพ่อไม่หัวเราะ ยิ้มน้อย ๆ พอสมควรแก่กาละ ครั้นแล้วหลวงพ่อเรียกตัวผู้ถามมาบอกว่า "ได้แล้วกุฏิกัมมัฏฐาน ๓ หลัง เจ้าของนั่งอยู่นี่" แล้วท่านชี้มือไปยังเจ้าภาพผู้บริจาค ผู้ถามได้กระโดดเข้าไปกราบที่ตักหลวงพ่อพูดว่า "ยิ่งกว่าตาเห็น" ผู้เขียนดีใจจนเหงื่อแตก ที่ความจริงมากู้เกียรติของหลวงพ่อสดไว้ได้

         เกรงจะเป็นลูกไม้ จึงหาโอกาสสนทนากับผู้บริจาคว่า นัดกับหลวงพ่อไว้หรือว่าจะสร้างกุฏิถวาย ได้รับคำตอบว่า เพิ่งคิดเมื่อมาทำบุญวันนี้เอง เดินมาเห็นกุฏิเล็ก ๆ สวยดี อยากจะสร้างบ้างแต่ทุนไม่พอ จึงปรึกษากับพวกพ้องที่บังเอิญมาพบกันวันนี้เห็นดีร่วมกัน จึงได้มอบเงินแก่หลวงพ่อให้จัดการสร้างต่อไป นี่เป็นเรื่องก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ร่วม ๒๐ ปี


         เมื่ออุบาสกอุบาสิกากลับหมดแล้ว ผู้เขียนจึงได้พูดกับหลวงพ่อต่อไป เบื้องต้นยกย่องว่าหลวงพ่อพยากรณ์แม่นเหมือนตาเห็น แต่น่ากลัวอันตราย ไม่ควรตอบในเวลานั้น ควรจะบอกเฉพาะตัวหรือสองต่อสอง หลวงพ่อถามว่าอันตรายอย่างไร จึงเรียนท่านว่า ถ้าไม่เป็นความจริงดังคำพยากรณ์ ชาวบ้านจะเสื่อมศรัทธา หลวงพ่อสด พูดว่า "เรามันเซอะ พระพุทธศาสนาเก๊ได้หรือ ธรรมของพระพุทธเจ้าต้องจริง ธรรมกายไม่เคยหลอกลวงใคร" เมื่อได้ยินดังนั้นก็จำต้องนิ่ง และไม่คิดจะถามความเห็นอะไรต่อไป ที่นำมาเขียนไว้นี้เพื่อจะแสดงว่า ญาณะของหลวงพ่อให้ความรู้แก่หลวงพ่ออย่างไรในวิถีของผู้ปฏิบัติธรรม หลวงพ่อต้องพูดอย่างนั้น ถ้าญาณะไม่แสดงออกจะเอาอะไรมาพูดได้ ผู้เขียนก็รับเอาความหนักใจแทนมาโดยลำดับ ๆ หลวงพ่อรู้เต็มอกว่า ผู้เขียนเรื่องนี้ไม่เชื่อวิชาของท่าน และได้เคยพูดกับผู้อื่นหลายคนว่า "เขาไม่เชื่อเรา" คำว่า "เขา" นั้น หมายถึงผู้เขียนโดยเฉพาะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11 กรกฎาคม 2554 20:09:35 โดย เงาฝัน » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 5.0 Firefox 5.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #3 เมื่อ: 11 กรกฎาคม 2554 15:45:09 »




หลวงพ่อสด มีเมตตาปรานีเป็นนิสัย ใครเดือดร้อนมาไม่เคยปฏิเสธ ย่อมให้อุปการะตามสมควร แต่ไม่ชอบคนโกหก ถ้าจับโกหกได้แม้ครั้งเดียวท่านก็ว่าคนนี้เก๊ โกหกกระทั่งเรา ก็เป็นคนหมดดี เช่น คราวหนึ่งมีคนแก่มาเรียนกัมมัฏฐานมีศรัทธากล้า พอได้ผลแห่งการปฏิบัติบ้าง แต่ยังอ่อน กลับบ้านลาลูกเมียมาวัดปากน้ำอีก มีปลาแห้งตัวหนึ่งมาถวายหลวงพ่อ บอกว่ามีเท่านั้นเองเพราะเป็นความยากจน หลวงพ่อหัวเราะชอบใจ พูดว่า " เออ ! ให้มันได้อย่างนี้ซีน่า นี่แหละเขาเรียกว่าคนรวยแล้ว มีเท่าไรถวายจนหมด เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า นางปุณณฑาสี ถวายแป้งจี่ทำด้วยรำแก่พระพุทธเจ้า ต่อมากลายเป็นคนมั่งมี ปลาแห้งของเราตัวหนึ่งราคาสูงกว่ารำมากนัก เป็นกุศลมากแล้วที่นำมาให้" พูดกันไปมา ในที่สุดก็ขอร้องให้หลวงพ่อบวชให้ เพราะไม่มีสมณบริขารจะบวช หลวงพ่อก็ได้จัดการให้ความปรารถนาของเขาเป็นผลสำเร็จอย่างดียิ่ง

         เมื่อพระศากยยุติวงศ์ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชสุธี พระสมุห์สด ได้เป็นพระครูสมุห์ตามขึ้นไป ท่านได้ปกครองวัดจนถึง พ.ศ.๒๔๖๔ ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร มีพระราชทินนามว่า "พระครูสมณธรรมสมาทาน"

         เกียรติคุณขยายตัวกว้างออกไปเพียงไร ข่าวอกุศลก็ขยายเป็นเงาตามตนไป แต่เป็นของอัศจรรย์ที่ผู้นิยมการปฏิบัติก็เพิ่มจำนวนมากขึ้น ภิกษุสามเณรก็มากขึ้น การใช้จ่ายเรื่องภัตตาหาร ค่าน้ำค่าไฟก็ทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว หลวงพ่อสด วัดปากน้ำก็ต้องสละสมณบริขาร สบง จีวร อุปการะแก่ภิกษุสามเณรมากขึ้น แต่ก็ไม่มีใครได้ยินท่านบ่นและท้อใจ ยิ่งมากยิ่งยินดี ท่านพูดว่าเขามาพึ่งพาอาศัย เราไม่ปฏิเสธ อุปการะเท่าที่มี

         คำกล่าวร้ายป้ายสีที่เรียกว่า "อกุศล" รัดรึงตรึงตัวมากอยู่ แต่ก็ยังมีผู้มีใจเป็นกลางช่วยเหลือท่าน เช่น คุณพระทิพย์ปริญญา ได้สังเกตการณ์มาโดยลำดับและคุณพระได้เขียนหนังสือเกี่ยวแก่วัดปากน้ำเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นประหนึ่งเปิดภาชนะที่คว่ำให้หงายขึ้น ทำให้คำกล่าวร้ายฝ่ายอกุศลสงบตัวลง สงบอย่างไม่มีอิทธิพลมาประทุษร้ายวัดปากน้ำได้ หนังสือนั้นพิมพ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๔ ประเทศไทยกำลังอยู่ในสภาพสงคราม ภิกษุสามเณรวัดปากน้ำได้อพยพออกไป เพราะกลัวภัยสงคราม ไปหลบอยู่ตามอัธยาศัย หนังสือนั้นได้นำมาพิมพ์ตามต้นฉบับเดิม และที่นำมาพิมพ์นี้เฉพาะคำนำเท่านั้น มีสำเนาความดังต่อไปนี้ ;-

บท "คำนำ" ในหนังสือ "ธรรมกาย"
โดย พระทิพย์ปริญญา
๑๓ กันยายน ๒๔๘๙

            หนังสือเล่มนี้ ตั้งชื่อว่า "ธรรมกาย" มิใช่ข้าพเจ้าคิดตั้งเอาเอง ท่านเจ้าของผู้แสดงเรื่องนี้เป็นผู้ตั้ง ท่านเจ้าของที่ว่านี้คือ ท่านพระครูสมณธรรมสมาทาน (สด) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ คลองภาษีเจริญ ในปัจจุบันนี้ ซึ่งเรียกกันอยู่แพร่หลายในหมู่ศิษย์ที่เคารพนับถือว่า "หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ปัจจุบันเป็นที่ "พระมงคลราชมุนี"

            การแสดงเรื่องธรรมกายนี้ เป็นเรื่องที่ท่านแสดงแก่ ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ในวันพระและวันอาทิตย์ แสดงติดต่อกันเป็นลำดับไป ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ไปฟัง ได้จดบันทึกเอาแต่หัวข้อใจความไว้ แล้วเรียบเรียงไปขอให้ท่านตรวจเรื่อย ๆ มา เริ่มแต่วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ จนถึงวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ รวมเป็นเวลา ๓ เดือนเศษจึงจบ จุดหมายที่แสดงเป็นเรื่องสมาธิโดยตรง เป็นแต่ท่านยกเอา พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เป็นหลักแสดง และแสดงหนักไปในแนวทางปฏิบัติ ไว้แนวปริยัติบ้างพอควร แต่เมื่ออ่านดูให้จบแล้วจะจับใจความได้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวติดต่อกันหมด แต่สำนวนโวหารที่บันทึกไว้นี้รู้สึกอยู่ว่าข้างจะสั้นอยู่มาก โดยยกเทศนาโวหารออกเสีย บันทึกไว้แต่แก่นความ เพื่อให้รวมเป็นแนวปฏิบัติได้ง่าย ไม่ประสงค์ให้อ่านอย่างหนังสือเทศน์ต่าง ๆ ดังเคยพบเห็นมา อันจะทำให้เสียเวลาอันมีค่าของผู้อ่าน จึงหวังเอาละเอียดหมดจดไม่ได้ ข้อใดที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็ขอให้เป็นหน้าที่ของท่านผู้อ่านหาโอกาสไปไต่ถามผู้ที่ปฏิบัติดู เขาจะบอกท่านได้ หรือยังไม่หมดสงสัย จะไปไต่ถามท่านผู้แสดงเองก็ได้ ข้าพเจ้าเคยเห็นมีผู้สนใจในทางปฏิบัติไปไต่ถามท่านเนือง ๆ ท่านไม่มีความรังเกียจ

            มูลเหตุที่ข้าพเจ้าจะได้ไปฟังธรรมที่วัดปากน้ำนั้น ก็เพราะเวลานั้นประเทศไทยเราอยู่ในระหว่างสงครามโลก ในพระนครถูกเครื่องบินข้าศึกมาทิ้งระเบิดไม่หยุดหย่อน ข้าพเจ้าได้อพยพหลบภัยไปอยู่ตำบลวัดสิงห์ ข้าพเจ้าฉวยโอกาสนี้เที่ยวไปตามวัดต่าง ๆ เพื่อศึกษาหาความรู้ในทางพระพุทธศาสนา ไปหลายวัดได้ความรู้แปลก ๆ กัน แต่เมื่อหันเข้าหาแนวปฏิบัติแล้ว บางท่านไม่ใคร่ขยายโจ่งแจ้ง สังเกตดูเหมือนจะปิดกัน จนในบางวัด ข้าพเจ้าไปมองเห็นหีบหนังสือเป็นหีบไม้แบน ๆ และเขียนเป็นตัวหนังสือขอมบอกไว้ข้างหน้าหีบว่า "วิปัสสนา" ข้าพเจ้าอ่านออกเพราะข้าพเจ้าเคยเรียนหนังสือขอม ใจข้าพเจ้าอยากรู้เหลือเกินว่าในนั้นจะมีหนังสืออะไร แต่ไม่กล้าจะละลาบละล้วง จึงเป็นแต่กระทบถามท่านในเรื่องแนวปฏิบัติบ้าง ก็ไม่ได้ความ นาน ๆ เข้าพอจับเค้าได้บ้างว่าทางวิปัสสนามักจะเพ่งของขาว

            วันหนึ่งข้าพเจ้าไปนั่งคุยกับหญิงผู้มีอายุคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเพื่อนอพยพ พักอยู่ใกล้กัน มีชายคนหนึ่งมาพูดคุยกับข้าพเจ้า เล่าถึงว่า เขาเคยไปกับแม่ชีธุดงค์คนหนึ่งเคยสอนวิปัสสนาให้ ข้าพเจ้าซักถามก็เล่าให้พิจารณาสังขารร่างกายเทียบกับซากศพ หญิงผู้มีอายุขัดคอขึ้นทันทีว่า อย่างนั้นเขาเรียกว่าปลงอนิจจัง ไม่ใช่วิปัสสนา ข้าพเจ้าถามว่า วิปัสสนาเป็นอย่างไรเล่า แกเล่าต่อไปว่า วิปัสสนาเขาต้องเรียนเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นนิพพาน ทั้งต้องไปเที่ยวดูนรก สวรรค์ นิพพานได้ด้วย ข้าพเจ้างง ชายคนนั้นก็งง เพราะถ้อยคำเช่นนี้ไม่เคยได้ยิน แม้ข้าพเจ้าจะเคยเรียนพระปริยัติธรรมจนสอบได้ชั้น เปรียญธรรม ๖ ประโยค(ป.๖) ก็นึกได้แต่ว่าไปสวรรค์นรก ก็มีเรื่องพระมาลัยและพระโมคคัลลานะเป็นต้น แต่ข้อว่าไปเที่ยวนิพพานได้นั้นข้าพเจ้าหมดความคิด ทั้งหมดความรู้ด้วย จึงพูดอะไรต่อไปไม่ได้ หญิงคนนั้นยังท้าว่า เอาเถอะน่าวันหลังจะเอาหนังสือของหลวงพ่อวัดปากน้ำไห้ดู เขาเรียนกันอย่างนั้น ส่วนตัวแกว่าได้ลองบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ทันรู้ผลอะไร แกกลัวจะเป็นบ้า เลยเลิกเสีย

            ต่อมาวันหนึ่ง ข้าพเจ้าไปที่วัดแห่งหนึ่งในพระนคร พบนายทหารคนหนึ่งชื่อ หลวงจบฯ คุยให้ฟังว่าเขาเคยมาวัดปากน้ำ ได้ข่าวเล่าลือว่าพาไปสวรรค์นรกได้ เขาสองคนกับภรรยาไปหา ขอให้พาไปพบพ่อตาที่ตายไปนานแล้วว่าจะไปอยู่ที่ไหน หลวงพ่ออิดเอื้อน แกตัดพ้อต่อว่าต่าง ๆ นานาว่า ถ้าไม่ทำให้เห็นจริง เสียงที่เล่าลือนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่มีความจริง ในที่สุดแกว่า หลวงพ่ออดรนทนไม่ได้ จึงให้เรียกพระมาหนึ่งรูป ชีหนึ่งคน และบอกเรื่องที่หลวงจบฯ ต้องการให้ทราบ ทั้งพระและชีก็นั่งเข้าที่ หลวงจบฯ บอกชื่อพ่อตาให้ทราบ สักประเดี๋ยวพระตอบว่าไม่พบ หลวงพ่อบอกว่า ขอตรวจดูให้ถ้วนถี่ อีกประเดี๋ยวพระบอกว่าพบแล้ว ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่ในชั้นยามา หลวงพ่อบอกให้เชิญมา และบอกแม่ชีว่า ขอยืมร่างหน่อย ประเดี๋ยวบอกว่ามาแล้ว แม่ชีลืมตา หลวงพ่อก็ถามว่าทำบุญอะไรจึงไปเกิดเป็นเทวดา แม่ชีนั้นตอบว่าสร้างโบสถ์ หลวงจบฯ ว่าตอนนี้ชักตลึง เพราะความจริงพ่อตาได้สร้างโบสถ์ไว้จริง หลวงจบฯ ยังช่วยทำแต่ก็นานมาแล้ว แม่ชีนี้สังเกตดูอายุยังน้อย คะเนว่าจะเกิดไม่ทันเสียอีกแต่ไฉนบอกถูกต้อง แล้วหลวงพ่อซักต่อไปว่า เคยมีลูกกี่คน บอกถูกทั้งลูกผู้หญิงผู้ชาย แล้วหลวงพ่อชี้ให้ดูหลวงจบฯ กับภรรยา แล้วถามว่านี่ใคร แม่ชีมองดูสักประเดี๋ยว ตาหันตรงมาที่หลวงจบฯ ว่า นี่อ้ายแช่มใช่ไหม หลวงจบฯ ว่าใช่แล้ว ถามต่อไปอีกว่า นี่นางเครือใช่ไหม ภริยาหลวงจบฯ รับว่าใช่ ที่สุดทั้งตัวหลวงจบฯ และภริยา ร้องไห้โดยคิดถึงบิดา เพราะความจริงแม่ชีนี้ไม่รู้จักชื่อหลวงจบฯ และชื่อภริยาก็ไม่รู้ หลวงพ่อก็ไม่รู้ ไฉนแม่ชีพูดถูกต้อง นี่เป็นเรื่องที่หลวงจบฯ เล่าให้ข้าพเจ้าฟังเองว่า ตัวหลวงจบฯ แต่เดิมชื่อแช่ม แต่เป็นหลวงจบมานานแล้ว ไฉนแม่ชีเอามาพูดถูก ในที่สุดหลวงจบฯ ว่าเรื่องที่พบมาเป็นอย่างนี้ จะมีเหตุผลเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ นี่เริ่มเป็นปฐมเหตุให้ข้าพเจ้าครุ่นคิดอยู่ และเวลานี้มีท่านพระครูองค์หนึ่งอยู่วัดประดู่ มานั่งอยู่ที่นั่นพูดขึ้นว่า เมื่อวันวิสาขะนี้มีคนโจษกันมากว่า เวลาเวียนเทียนที่วัดปากน้ำมีคนเห็นเป็นรูปพระปฏิมากรลอยอยู่ ท่านว่าท่านได้ซักถามหลายคนก็รับว่าเห็นจริง ข้าพเจ้างงอีก เพราะคิดไม่ออกว่า เป็นแต่ข้าพเจ้าได้พูดต่อพระภิกษุที่นั่งอยู่นั้นหลายรูปว่า เรื่องที่เราไม่รู้ไม่เห็น ผู้อื่นเขาสามารถรู้เห็นได้หรือไม่ จะมีอะไรเป็นเครื่องวัด ไม่มีใครตอบ

            วันหลังข้าพเจ้าได้ไปสนทนากับแกอีก แกส่งหนังสือให้ดู ๓ เล่ม ข้าพเจ้าอ่านดูเป็นเรื่องวิธีเจริญสมาธิของหลวงพ่อวัดปากน้ำ มีภาพคนนั่งสมาธิ และบอกจุดที่ตั้งบริกรรมนิมิตรไว้โดยละเอียด และมีคำอธิบายย่อ ๆ ลงท้ายสุดเรื่องนิพพาน เมื่ออ่านไป ความมึนงงของข้าพเจ้าทวีขึ้นอีกหลายเท่า คิดไปต่าง ๆ นานา ว่ามีอะไรกัน ซ้ำในที่สุดว่าทำได้ตามวิธีนี้แล้ว ยังมีวิชาที่จะต้องเรียนอีกมาก ยิ่งงงใหญ่ ไม่รู้ว่าวิชาอะไร เพราะข้าพเจ้าเรียนปริยัติมาจนสอบไล่ได้ชั้น ป.๖ แล้วไม่ได้ความอย่างนี้เลย แต่ในที่สุดข้าพเจ้าได้คิดขึ้นมาว่า คนเราเขามีวิชาที่ต้องเรียนเรื่อย ๆ ไปจนตายไม่มีจบ ใครหยุดเรียนเมื่อใด โดยถือเสียว่าตนมีความรู้พอแล้ว เขาว่านั่นคือคนโง่ ทางพระเรียกว่าทิฏฐิ หากยังปล่อยให้ทิฏฐินี้ฝังแน่นอยู่ในสันดาน ไม่ต้องสงสัยว่า จะต้องเป็นโรคโง่ไปจนตาย สิ่งใดที่เราไม่รู้ ไม่ควรจะไปตั้งมานะทิฏฐิว่าคนอื่นก็คงไม่รู้วิเศษไปกว่าเรา สิ่งใดที่เราว่ารู้ดีแล้วก็ไม่ควรจะไปตั้งทิฏฐิว่าไม่มีคนอื่นจะดีกว่าเรา ซึ่งเป็นมูลเหตุให้ข้าพเจ้าต้องสืบเสาะมาหาหลวงพ่อวัดปากน้ำให้จงได้

            เหตุที่ทำให้ข้าพเจ้างงดังกล่าวมา ก็เพราะว่า นอกจากแนวปริยัติที่ข้าพเจ้าเคยผ่านมา รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ท่านผู้รู้ได้เขียนไว้ในที่ต่าง ๆ กัน ข้าพเจ้าก็ได้เอาใจใส่ค้นคว้าอ่านดูมามากต่อมากแล้ว มีรูปในทำนองตำราหรือเรียกว่าเป็นแนวทางปรัชญาเป็นส่วนมาก บางฉบับพูดทีแรกเหมือนจะเป็นแนวปฏิบัติ แต่ลงท้ายก็เป็นกล่าวตามตำราไปเสีย คิดไปคิดมารู้สึกว่าจะเป็นแต่คนดูแผนที่เสียแล้ว ถ้าเขาจะให้เดินไปจริงจังตามแผนที่ก็จะไปไม่รอดกระมัง ถ้ากระนั้นก็ควรศึกษาการเดินเองดูบ้าง คงจะได้ความรู้แปลก ๆ บางฉบับก็วิพากษ์วิจารณ์หันเหธรรมะลงมาเทียบกับวิทยาศาสตร์ทางโลกจนรู้สึกอึดอัดใจ แต่ส่วนฉบับของหลวงพ่อวัดปากน้ำที่กล่าวมานั้น ข้าพเจ้าอ่านแล้วตันเลย ไม่ใช่เพียงอึดอัด เพราะตามที่กล่าวไว้นั้นสั้นเหลือเกิน จนเห็นเป็นของแปลก ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงต้องมาหาให้พบท่านเจ้าของให้จงได้

            วันแรกข้าพเจ้าเข้ามาหาท่านเวลาฉันเพล เห็นมีคนนั่งล้อมรอบ ไปกราบ ๆ ท่านและบอกชื่อเสียงแก่ท่าน บอกความสนใจในทางธรรม ท่านบอกให้นั่งรออยู่ก่อน (ชี้ไปทางหลัง) ท่านก็ฉันเพลเงียบ ๆ เวลานั้นก็เห็นแม่ชีคนหนึ่ง อุบาสกคนหนึ่ง มีอุบาสกคนหนึ่งควบคุมแนะนำให้คนเหล่านั้นนั่งสมาธิตาม ๆ กันหมด (ต่อมาได้ความว่าเป็นคนไข้ที่มาขอให้ท่านรักษา) พอเสร็จจากการฉันเพล ท่านก็ให้โอกาสแก่ข้าพเจ้าเข้าไปนั่งใกล้ ๆ เมื่อเริ่มสนทนาปราศรัย ท่านก็ยกพุทธคุณขึ้นมาพูดเป็นข้อ ๆ ไป พร้อมทั้งคำแปลและคำอธิบาย หูของข้าพเจ้าก็ฟังดูรู้สึกว่ามีรสชาติซาบซึ้งกว่าที่ข้าพเจ้าเคยได้ยินหรือเคยอ่านมาในที่ต่าง ๆ นั้นมาก ข้าพเจ้าติดใจในอรรถรสมาก แต่นั้นมาก็พยายามไปฟังเวลาท่านลงแสดงธรรมในโบสถ์เสมอ ท่านลงแสดงเองทุกวันพระและวันอาทิตย์ ข้าพเจ้ารู้สึกจับใจมาก ส่วนมากแสดงหนักไปในทางปฏิบัติ ข้าพเจ้านึกเสียดายว่าที่ท่านแสดงนั้นแสดงด้วยปากเปล่า เราฟังแล้วก็มีแต่จะเสื่อมสูญไป เสียดายความเหน็ดเหนื่อยที่ท่านพยายามแสดงจึงคิดหาทางขอบันทึกไว้ ท่านเห็นชอบด้วย จึงได้เริ่มลงมือบันทึก

            เท่าที่ข้าพเจ้าเคยพบปะมา พระที่เป็นฝ่ายสมถะมักไม่ใคร่แสดงธรรม พระที่แสดงธรรมโดยมากเป็นฝ่ายปริยัติ แต่หลวงพ่อวัดปากน้ำนี้ไฉนจึงชอบแสดงธรรม ได้ความว่าเป็นนักปริยัติมาแต่เก่าก่อนแล้ว ฉะนั้น สังเกตดูแนวการแสดงในเบื้องต้น ท่านแสดงธรรมอยู่ในหลักนี้เสมอ ไม่ใช่นึกเอาตามใจชอบ ถ้าจะยกอะไรขึ้นเป็นต้องอ้างอาคตสถานที่มาแห่งธรรมเหล่านั้น ประกอบด้วย จริยาของท่าน

            ๑. คุมภิกษุสามเณรลงทำวัตร ไหว้พระในโบสถ์ทุกวัน วันละ ๒ เวลา คือ เช้าหนหนึ่ง เย็นหนหนึ่ง และได้ให้โอวาทสั่งสอนภิกษุสามเณรทั้ง ๒ เวลา
            ๒. วันพระและวันอาทิตย์ลงแสดงธรรมในโบสถ์เองเป็นนิจ
            ๓. ทำกิจภาวนาอยู่ในสถานที่ซึ่งจัดไว้เฉพาะ เป็นกิจประจำวันและควบคุมพระให้ไปนั่งภาวนารวมอยู่กับท่านทั้งกลางวันและกลางคืน ส่วนพวกชีก็ให้ทำกิจภาวนาเหมือนกัน
            ๔. ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๔.๐๐ น. ลงสอนการนั่งสมาธิแก่ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่ศาลา ซึ่งข้าพเจ้าเคยเห็นมีภิกษุสามเณรต่างวัด อุบาสก อุบาสิกาต่างถิ่นมาเรียนกันเป็นจำนวนมาก ๆ ทุกวันพฤหัสบดี สอบถามได้ความว่ามีผู้ไปเรียนกันมากแต่ต้นจนบัดนี้ไม่ต่ำกว่า ๔ หมื่นคนแล้ว เพราะสอนมากว่า ๑๕ ปีแล้ว
            ๕. จัดให้มีครูสอนปริยัติในวัดนี้อีกแผนกหนึ่งด้วย


            นอกจากจำเป็นจริง ๆ แล้ว ท่านมักไม่ยอมออกจากวัด การสวดมนต์ฉันเช้า ถ้าใครไปนิมนต์มักจะถูกถามว่า ให้พระอื่นไปแทนได้ไหม อย่างนี้โดยมาก เพราะท่านชอบหมกมุ่นอยู่แต่กิจภาวนาโดยมาก ออกรับแขกก็เป็นเวลา ตอนเพลครั้งหนึ่งไปพบได้เสมอ ถัดจากนั้นก็เวลา ๑๗.๐๐ น. อีกหนหนึ่ง ออกมานั่งพักผ่อนสนทนาปราศรัย นอกจากนี้ท่านอยู่ในห้องภาวนาซึ่งเรียกว่า "โรงงาน" ซึ่งใครไม่เข้าใจ ได้ยินคำว่าโรงงาน เลยเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปก็มี ข้าพเจ้าเองเคยได้ยินเหมือนกัน ว่าหลวงพ่อมีโรงงานทำบุ้งกี๋ขายจึงได้เลี้ยงพระทั้งวัด ซึ่งเป็นเสียงอกุศล ข้าพเจ้าได้สอบถามไวยาวัจกรของท่านดู ได้ความว่า เดิมเคยมีเจ๊กมาทำบุ้งกี๋ขายอยู่หน้าวัดคราวหนึ่งจริง จึงกลายเป็นข่าวอกุศลนี้ ความจริงวัดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย

            วัดนี้มีโรงครัวหุงอาหารเลี้ยงพระภิกษุสามเณรทั้งวัด รวมทั้งแม่ชีและอุบาสก อุบาสิกา ถ้าวันอุโบสถพวกที่ได้รับอุโบสถก็ได้รับการเลี้ยงดูด้วย ทำมาดังนี้ ๒๐ ปีเศษแล้ว เช้าเลี้ยงข้าวต้ม เพลเลี้ยงข้าวสวย เฉพาะปีนี้มีภิกษุสามเณรที่จำพรรษา ๑๕๐ รูป อุบาสก อุบาสิกา ๑๒๐ คนเศษ มักจะมีผู้เลื่อมใสศรัทธามารับเลี้ยงเนือง ๆ เช่นทำบุญวันเกิดหรืออะไรเป็นต้น วิธีทำไม่ยาก เอาเงินไปมอบให้ไวยาวัจกรกำหนดวันไว้ ถึงวันก็ไปแต่ตัว โรงครัวจัดไว้ให้เสร็จ และมีวิธีนำถวายเป็นแบบสังฆทานและโดยมากมักมีเทศน์ด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเคยพบบ่อย ๆ ถ้าวันใดไม่มีเจ้าภาพ ก็เป็นส่วนของหลวงพ่อ ข้าพเจ้าเคยสอบถามพระที่วัดนั้นว่า หลวงพ่อเห็นจะมีเงินทุนสำรองมาก ท่านบอกว่าเปล่า ทำหมดไปก็มีมาใหม่อย่างนั้นเอง แต่ไม่ขาด การที่มีคนไข้มารักษาก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร ข้าพเจ้าเห็นว่าแปลกกว่าวัดทั้งหลาย จึงนำมาเล่าสู่กันฟังไว้ในที่นี้ด้วย ภิกษุสามเณรในวัดนี้มี ๒ ประเภท คือ นักวิปัสสนาประเภทหนึ่ง นักเรียนปริยัติประเภทหนึ่ง หลวงพ่อเลี้ยงดูทั้งนั้น การขบฉันไม่ต้องกังวล

            เนื่องจากเหตุที่ว่า ผู้ที่หุงหาอาหารในโรงครัวของวัดนี้เป็นพวกอุบาสิกาและพวกปฏิบัติธรรม ถึงแม้จะมีอุบาสกปนบ้าง แต่ก็มีอุบาสิกาเป็นส่วนมาก จึงเป็นมูลเหตุให้ข่าวอกุศลอันนำความมัวหมองมาสู่สำนักนี้ขึ้นอีกทางหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าก็ได้ยินเข้าหูตั้งแต่ก่อนที่จะได้ไปติดต่อกับวัดนี้ แม้วันแรกที่ไปฟังลาดเลา ก็ได้พบพระรูปหนึ่งในวัดนั้น ท่านพูดขึ้นเองว่า ที่วัดนี้มักมีข่าวอกุศลต่าง ๆ อยู่เสมอ ถ้าได้มาเสียด้วยตนเองดังนี้ดีกว่า ท่านไม่ได้พูดอะไรมากไปกว่านี้ ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้ไต่ถามในเรื่องเหล่านี้ แต่เพื่อพิสูจน์หาความจริง วันหนึ่งข้าพเจ้าไปพบชายมีอายุคนหนึ่งที่วัดสิงห์ แกพูดว่า เคยอยู่วัดปากน้ำมา ๒ ปี แต่เดี๋ยวนี้ไปอยู่ที่อื่นแล้ว ข้าพเจ้าเห็นเป็นโอกาสจึงลองกระทบดูถึงข่าวอกุศลเหล่านี้ แกหัวเราะ แล้วตอบว่า แกก็เคยได้ยินเข้าหูมามากเหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงถามว่า ก็ความจริงเป็นอย่างไรเล่า แกว่าไม่เห็นมีวี่แววดังข่าวนั้นเลย ผมก็อยู่ที่นั่นมานาน และยังพูดต่อไปอีกว่า เรื่องอย่างนี้ถ้าเป็นความจริงแล้ว ไม่ต้องคนอื่นว่าดอก ตนของตนย่อมจะติตนเอง ที่ไหนจะทนอยู่ดูหน้าคนทั้งหลายได้ ในที่สุดแกยังท้าว่า ถ้าคุณยังไม่เคยไปก็ไปพิจารณาดูเถิด ท่านพระครูวัดปากน้ำองค์นี้มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง และยังกล่าวต่อไปว่า อันภิกษุที่ไม่บริสุทธิ์แล้วย่อมเศร้าหมอง พอจะดูกันออก ข้าพเจ้าถามต่อไปว่า ท่านเทศน์เป็นอย่างไรบ้าง แกตอบว่าพอฟัง ข้าพเจ้านึกในใจว่าตานี่พูดสูงอยู่เหมือนกัน จึงซักแกต่อไปว่า ที่ว่าพอฟังน่ะหมายความว่าอย่างไร แกตอบว่า ฟังที่นี่วันหนึ่งคุ้มกับฟังที่อื่นตั้งปี

            นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังเงี่ยหูฟังอีกหลายทาง ตลอดจนเสียงพระเถระผู้ใหญ่บางรูปในพระนครก็ไม่ติฉินประการใด แถมบางรูปยังพูดไปถึงมูลเหตุแห่งข่าวอกุศลเหล่านี้เสียอีกว่าเกิดจากคนที่มุ่งอิจฉา และยังได้ความต่อไปจนถึงว่า พวกที่อิจฉาเคยใช้คนมาลอบยิงเมื่อท่านไปอยู่ใหม่ ๆ เพราะท่านไม่ใช่คนถิ่นนี้ และกับถึงร้องเรียนเป็นข่าวอกุศลต่าง ๆ ไปยังสมเด็จพระสังฆราชครั้งกระโน้น ถึงแก่ส่งพระไปอยู่ประจำคอยสังเกตเหตุการณ์ และตำรวจก็ปลอมตัวไปสอดแนม ในที่สุดก็ไม่ได้ความจริงตามที่กล่าวหา นี่เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าสืบสวนได้ความว่าจะสมควรฟังเป็นความจริงได้เพียงใดหรือไม่ แล้วแต่ท่านผู้อ่านจะพิจารณาเอาเองเพื่อที่จะรู้ว่าข้าพเจ้าผู้สืบสวนและเขียนข้อความเหล่านี้เป็นใคร จึงขอบอกไว้ให้ปรากฏในที่นี้ว่า ข้าพเจ้า ชื่อพระทิพย์ปริญญย (ธูป กลัมพะสุต) ข้าพเจ้าเคยบวชเรียนมาแล้ว มีวิทยฐานะเป็นเปรียญ ๖ ประโยค และตอนสุดท้ายเคยรับราชการเป็นผู้พิพากษาอยู่ในชั้นศาลอุธรณ์ ๑๐ ปี ทั้งนี้เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้อ่านคิดเอาเองว่าข้าพเจ้าจะเชื่ออะไรง่ายยากเพียงใด ข้าพเจ้าสืบได้ความจนถึงต้นตอผู้ที่แพร่ข่าวอกุศล ตลอดทั้งตัวและชื่อผู้ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงแพร่ข่าวอกุศล ทั้งสาเหตุที่ท่านเหล่านั้นจะคิดอิจฉาด้วยทุกประการ ออกรู้สึกสลดใจเป็นอย่างยิ่ง แต่ฟังดูทางหลวงพ่อท่านไม่เห็นเอาใจใส่อะไร ไม่กล่าวขวัญถึงใครที่ข้าพเจ้าสืบได้ความดังกล่าวนั้นจากผู้อื่น

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 5.0 Firefox 5.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #4 เมื่อ: 11 กรกฎาคม 2554 16:27:56 »




เท่าที่ข้าพเจ้าสืบสวนและสังเกตการณ์โดยใกล้ชิดมาเป็นเวลาเกือบปี ได้ข้อเท็จจริงพอแล้วที่จะชี้ขาดว่า ข่าวอกุศลต่าง ๆ นั้นไม่มีมูลเหตุแห่งความจริงเลย ในทางตรงกันข้าม ข้าพเจ้าเชื่อเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซนต์ว่า ท่านเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ด้วยประการทั้งปวง และมีภูมิรู้ในทางปริยัติกว้างขวาง เป็นพระธรรมกถึกชั้นเยี่ยม ทั้งเป็นผู้ปฏิบัติอย่างดีเลิศ การปฏิบัติและแนวเทศนาของท่านดำเนินตามหลักในคัมภีร์วิสุทธิมรรคทั้งสิ้น

            เรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ตามคัมภีร์วิสุทธิมรรคนั้นเป็นเรื่องใหญ่เป็นเรื่องยาก ผู้ไม่ใช่นักปฏิบัติแล้ว ยากที่จะนำมาแสดงให้แจ่มแจ้ง ให้เป็นผลปฏิบัติได้ แต่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำแสดงได้แจ้งชัด และชี้ทางปฏิบัติให้โดยตรง จึงสมควรเทอดไว้ในฐานันดรพระธรรมกถึกชั้นเยี่ยม ซึ่งข้าพเจ้าขอกราบแสดงความเคารพอย่างสูงต่อท่านไว้ในที่นี้ด้วย

            ที่ข้าพเจ้าเอาเรื่องของวัดมาพูดโดยยืดยาวเช่นนี้ ความมุ่งหมายก็เพื่อบรรเทาบาปให้แก่ผู้แพร่ข่าวอกุศล เพราะการกล่าวเท็จใส่ไคล้ผู้มีศีลเช่นนี้เป็นบาปหนักหนา เพื่อว่าเขารู้ตัวจะยับยั้งกรรมอันชั่วนี้เสียได้ ข้าพเจ้าก็จะพลอยอนุโมทนา แล้วจะมีส่วนได้บุญอันนับเนื่องในปัตตานุโมทนามัยด้วย

            ท่านทั้งหลาย การที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นี้ มิได้มาตัวเปล่า ต่างมีบุญและบาปที่ทำไว้ในอดีตติดมาทุกคน ต่างกันแต่มากบ้างน้อยบ้าง ไม่ช้าเราก็ต้องตายดอก อย่ามาแบกเอาบาปเพิ่มไปอีกเลย ลาภสักการะอันหมุนลงได้เป็นราคาเงินนั้น เป็นสมบัตินอกกายตายแล้วเอาไปไม่ได้ดอก มันเป็นของใช้สอยประจำโลก เราตายแล้วก็ตกเป็นของคนอื่น เขาอาศัยใช้ต่อไป ใครจะว่าเป็นของใครไม่ได้ทั้งนั้น โลกมนุษย์เป็นแหล่งกลางสำหรับอาศัยสร้างบุญ สร้างบาป โลกนรก โลกสวรรค์ เป็นเพียงโลกที่คอยรับรองผลบุญ - บาป เท่านั้น เราได้มาเกิดอยู่ในโลกอันเป็นแหล่งกลางเช่นนี้แล้ว นับว่าเราได้มีโอกาสที่จะเพิ่มบุญผ่อนบาปให้เบาลง ให้เบาลงกว่าที่เราแบกมาจากอดีตนั้นเถิด อย่าเติมเข้าไปอีกเลย ไหน ๆ เราก็ต้องตายแน่ อย่ามาหอบเอาบาปเพิ่มไปอีกเลย

            อนึ่ง การอ่านหนังสือเรื่อง "ธรรมกาย" นี้ ถ้าได้รู้แนวปฏิบัติ บ้างแล้วจะเข้าใจได้แจ่มแจ้งดี เพื่อประโยชน์ดังกล่าวนี้
ข้าพเจ้าจึงเขียนบันทึกแนวสอน วิธีทำสมาธิ โดยย่อของท่านไว้ท้ายหนังสือเล่มนี้ ถ้าต้องการรู้ละเอียดอ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่ง ซึ่งท่านเคยแจกกับผู้ไปเรียนสมาธิกับท่าน หนังสือเล่มนั้นเป็นแบบเจริญสมาธิโดยตรง (คือที่ข้าพเจ้าใช้คำว่าตามแบบ)

            แต่ว่าการเรียนสมาธินั้น ถ้าจะเอากันให้ได้ผลจริงจังแล้วต้องมีอาจารย์ จะทำสุ่มไปไม่ใคร่ได้ผล แม้เราได้อ่านตำรับตำราในทางนี้ เช่นวิสุทธิมรรค เป็นต้น ถ้าไม่มีอาจารย์แนะนำวิธีปฏิบัติอีกชั้นหนึ่งแล้ว ก็ยากที่จะปฏิบัติให้ได้ผล เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่อาจารย์จะพึงแนะนำอีกมากหลาย

            สมาธิ เป็นยอดคำสอนในพระพุทธศาสนา ที่ว่ายอดนี้หมายความว่าเป็นหลักสำคัญยิ่งในจำพวกคุณธรรม ๓ ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญานั้น ศีลเป็นส่วนประกอบ คือเป็นเพียงเหตุที่จะให้ดำเนินไปสู่สมาธิ ส่วนปัญญานั้นเป็นผลของสมาธิ จุดมุ่งหมายสำคัญจึงอยู่ที่สมาธิตัวกลาง ซึ่งต้องทำให้เกิดมีขึ้น ดังบาลีในวิสุทธิมรรคยืนยันว่า นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน (นัตถิ ฌานัง อะปัญญัสสะ นัตถิ ปัญญา อะฌายิโน) ซึ่งแปลความว่า ฌานย่อมไม่มีแก่ผู้ไร้ปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน และอานิสงส์ของสมาธินั้นก็มีอยู่ว่า บุคคลผู้ได้สมาธิแล้วย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ คือ:-

            ๑. ความสุขในปัจจุบัน
            ๒. วิปัสสนาปัญญา
            ๓. ฌาน
            ๔. ภพอันวิเศษ
            ๕. นิโรธ

            ฉะนั้น สมาธิจึงเป็นเรื่องที่เราควรสนใจ

            เท่าที่ข้าพเจ้าได้ฟังมา วิธีปฏิบัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำ มีผู้กล่าวออกความเห็นกันไปหลายอย่างต่าง ๆ กัน พวกหนึ่งว่า เป็นฌานโลกีย์ พวกหนึ่งว่า ติดรูป บางพวกว่า ติดนรกสวรรค์ แต่อีกพวกหนึ่งว่า ท่านเลยเถิดไปถึงนิพพาน ซึ่งมองไม่เห็น

            ข้าพเจ้าเคยนำวาทะเหล่านี้ไปสนทนากับผู้ปฏิบัติในสำนักหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เขาตอบขบขันเหมือนกัน เขาว่าที่ว่าติดรูปนั้นดีนะ ให้มันรู้ว่าติดรูปเถอะจะได้มีโอกาสแกะรูปออก แต่ข้อสำคัญว่าเราไม่รู้ว่าติดรูปนี่ซี เมื่อไม่รู้ว่าติดเราก็ไม่รู้จักรูป เมื่อเราไม่รู้ว่าติดเราก็ไม่ได้แกะ เมื่อเราไม่แกะมันจะหลุดได้อย่างไร เหมือนของโสโครกติดหลังเสื้อที่เราสวมอยู่ เมื่อเราไม่รู้ว่ามันติดเราก็ไม่พยายามเอาออก แล้วมันจะไปไหน ฟังดูก็แยบคายดี

            แต่สำหรับความเห็นข้าพเจ้านั้น เห็นควรรวมวาทะที่ว่าติดรูปกับวาทะที่ว่าเป็นฌานโลกีย์ รวมวินิจฉัยเสียเป็นข้อเดียว เพราะตามที่ว่านี้คงหมายถึงรูปฌาน เมื่อเช่นนั้นทางที่จะปลดเปลื้องความสงสัยของเจ้าของวาทะเหล่านี้ก็ง่ายขึ้น สมเด็จพระบรมศาสดาก่อนที่จะได้ตรัสรู้นั้น พระองค์ผ่านรูปฌาน อรูปฌานหรือเปล่า ข้อนี้จะต้องรับกันว่าผ่าน ก็เมื่อเช่นนี้ ใครจะปฏิเสธได้ หรือว่าโลกิยะฌานนั้นจะไม่เป็นอุปการะแก่พระองค์ในการตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ความข้อนี้ข้าพเจ้าเคยนำไปสนทนาวิสาสะกับพระเถระบางรูป ซึ่งฝักใฝ่ทั้งปริยัติและปฏิบัติ ท่านได้กล่าวอุปมาให้ฟังว่าการข้ามแม่น้ำหรือมหาสมุทร ถ้าไม่ใช้เรือหรือเครื่องบินเป็นพาหนะแล้ว มันจะข้ามไปได้อย่างไร ในที่สุด ท่านยืนยันว่าฌานโลกีย์นั้นแหละยังพระองค์ให้ข้ามถึงซึ่งฝั่งโลกุตร เมื่อนำเอาบาลีข้างต้นมาประกอบการวินิจฉัย ความข้อนี้จะแจ่มใสยิ่งขึ้น เพราะคำว่า "นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน" นั้นเป็นหลักอยู่ ซึ่งแปลได้ความอยู่ชัด ๆ ว่า ปัญญาย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่มีฌาน ดังนี้ เราจะไปยกวาทะ ติฌานโลกีย์อย่างไรกัน

            อันวาทะที่ว่าติดนรกสวรรค์นั้น ข้อนี้น่าเห็นใจผู้สงสัย เธอคงจะไม่ได้มีโอกาสไปฟังการแสดงธรรมของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำเสียเลย เธอคงจะไปฟังหางเสียงของบางคนที่ฟังไม่ได้ศัพท์จับเอาไปกระเดียดเข้าแล้ว เพราะการแสดงธรรมนั้น เมื่อพูดถึงเรื่องบาปบุญคุณโทษก็ต้องอ้างเรื่องนรกสวรรค์ ท่านมีอะไรพิสูจน์แล้วหรือว่านรกสวรรค์ไม่มี ท่านมีปัญญาพอแล้วหรือว่านรกสวรรค์นั้นไม่มีผู้รู้ผู้เห็น ท่านได้เคยสนใจอ่านวิสุทธิมรรคบ้างหรือเปล่า ท่านเคยสนใจในคำว่า ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ ดีแล้วหรือว่ากินความเพียงไร หรือตัวท่านมีภูมิปัญญาเหนือพระคันถรจนาจารย์เหล่านั้น ขอจงใคร่ครวญเอาเอง

            ส่วนวาทะที่ว่าเลยเถิดไปถึงนิพพานนั้น ข้าพเจ้าจะขอพูดแต่โดยย่อ เพราะถ้าจะพูดกันกว้างขวางแล้ว จะเกินหน้ากระดาษหนังสือนี้ จะต้องเป็นอีกเล่มหนึ่งต่างหาก

            ท่านคงจะได้อ่านคำถวายวิสัชนาของพระเถรานุเถระ ๑๘ ความเห็น ที่พิมพ์แจกกันแพร่หลายอยู่แล้ว ในหนังสือนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชปุจฉาถึงเรื่อง "นิพพาน" ว่าคืออะไร พระเถรานุเถระ ๑๘ รูป ถวายความเห็นด้วยโวหารต่าง ๆ กัน แต่ในที่สุดมีรูปหนึ่งถวายวิสัชนาหลักแหลม โดยกล่าวว่า แปลคำว่านิพพานนั้นไม่ยาก ข้อยากอยู่ที่ ทำให้แจ้ง ท่านพูดทิ้งไว้แค่นี้เอง ขอให้เรามาคิดกันดูทีหรือ ทำให้แจ้ง หมายความว่ากระไร นี่ก็จะเห็นได้แล้วว่า เรื่องนิพพานนั้นเป็นของยากหรือง่าย คนซึ่งมีปัญญาอย่างสามัญจะพูดได้ไหม เราก็ต้องรู้ตัวดีว่าไม่สามารถ เพราะเป็นวิสัยของมรรคญาณ และการบำเพ็ญให้บรรลุมรรคญาณนั้นทำกันอย่างไรเรารู้ไหม ถ้าเราไม่รู้ จะแปลว่าคนอื่นก็ไม่รู้เหมือนกับเรากระนั้นหรือ สิ่งที่เราก็ไม่รู้ สมควรหรือที่เราจะยกวาทะกล่าวถึงผู้อื่น ในที่สุดข้าพเจ้าเห็นว่า ทางที่ดีที่สุดเราควรปฏิบัติตัวของเราเองให้รุดหน้าไปตามแนวปฏิบัติ ดีกว่าจะมามัววิจารณ์ผู้อื่น อย่าลืมคำว่า "สนฺทฏฺฐิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ" (สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ)

            การแสดงธรรมของหลวงพ่อวัดปากน้ำนั้น ตามที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาอยู่ในเรื่องทาน ศีล ภาวนา นรก สวรรค์ นิพพาน แต่โดยมากหนักไปทางปรมัตถ์ เวลานี้กำลังแสดงพระอภิธรรมว่าด้วยมหาปัฏฐาน อนันตนัยเรียงลำดับบทมาติกา วันพระที่แล้วมาถึงบทอินทรียปัจจโยแล้ว

            ในที่สุดนี้ ขออานุภาพพระรัตนตรัย จงคุ้มครองท่านผู้ประพฤติธรรมทั้งหลาย ให้มีความสุขทั่วกัน เทอญ.

พระทิพย์ปริญญา
บ้านเลขที่ ๑๑๖ ถนนสุริวงค์ พระนคร
๑๓ กันยายน ๒๔๘๙

บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 5.0 Firefox 5.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #5 เมื่อ: 11 กรกฎาคม 2554 18:04:48 »




(พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ ต่อ)

                แม้ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร แต่ไม่มีใครเรียกชื่อนั้น เรียกหลวงพ่อเสมอมา บางคนก็ไม่ทราบว่าท่านมีสมณศักดิ์ เพราะภิกษุสามเณรในวัดและคนวัดก็เรียก "หลวงพ่อ" เสียหมด บางคนเรียกว่า "เจ้าคุณพ่อ"

                นอกจากท่านจะสร้างคนให้เป็นคนแล้ว เสนาสนะก็ได้จัดทำรุดหน้าไป แต่เพราะท่านฝักใฝ่ในด้านกรรมฐานเสียมาก การก่อสร้างปฏิสังขรณ์ก็ไม่ใคร่สนใจมากนัก ท่านพูดว่าสร้างคนนั้นสร้างยาก เรื่องเสนาสนะไม่ยาก ใครมีเงินก็สร้างได้ แต่ความสำคัญต้องสร้างคนก่อน

                ๑. กุฏิ ๒ แถว สร้างก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชั้นบนเป็นไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน สร้างคู่กับโรงเรียน

                ๒. พ.ศ.๒๔๙๓ สร้างโรงเรียนปริยัติเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๓ ชั้น ยาว ๒๙ วา ๒ ศอก กว้าง ๕ วา ๒ ศอก สิ้นเงินค่าก่อสร้างประมาณ ๒,๕๙๘,๑๑๐.๓๙ บาท (สองล้านห้าแสนเก้าหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยสิบบาทสามสิบเก้าสตางค์)

                ๓. สร้างศาลาโรงฉันพอเหมาะแก่พระภิกษุสามเณร ๕๐๐ รูป ฉันภัตตาหารเช้า เพล เป็นเครื่องไม้มุงสังกะสี พื้นลาดปูนซีเมนต์        ภายในยกเป็นอาสนสงฆ์ มีช่องเดินในระหว่างได้ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๔๐๐,๐๐๐ บาทเศษ (สี่แสนบาทเศษ)

                ๔. สร้างกุฏิเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นตึก ๒ ชั้น พื้นฝ้าเพดานไม้สักทาสีขัดชันเล็ก มีห้องน้ำห้องส้วมและไฟฟ้า เป็นกุฏิทันสมัย ราคาก่อสร้างประมาณ ๘๐๐,๐๐๐ บาทเศษ (แปดแสนบาทเศษ)

                ๕. ก่อนมรณภาพสัก ๔-๖ เดือน ได้สร้างกุฏิอีกหลังหนึ่งสูง ๓ ชั้น เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กเช่นเดียวกัน มีเครื่องประกอบพร้อม ราคาก่อสร้าง ๓๒๗,๘๔๓.๓๐ บาท (สามแสนสองหมื่นเจ็ดพันแปดร้อยสี่สิบสามบาทสามสิบสตางค์)

สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ไม่มีงบประมาณ กุฏิบางหลังไม่มีแปลน ค่าก่อสร้างทวีขึ้นแล้วแต่ช่างจะเสนอ แต่เมื่อเสร็จแล้วก็ได้ของประณีตไว้สำหรับวัด หลวงพ่อก็ไม่ว่าไร สร้างกุฏิเสร็จแล้วหลวงพ่อสดได้สั่งให้พระรูปอื่นอยู่ต่อไป ตัวท่านเองหาได้อยู่อาศัยไม่ เช่นกุฏิหลังใหม่ให้พระศรีวิสุทธิโมลี และพระครูปลัดณรงค์เข้าอยู่อาศัย ใคร ๆ จะอาราธนาให้ขึ้นกุฏิใหม่ก็ไม่ฟังเสียง ท่านเพิ่งไปอยู่เมื่อก่อนมรณภาพสัก ๓-๔ เดือน ที่จำไปนั้นเนื่องด้วยที่อยู่เดิมมีการก่อสร้างกุฏิหลังใหม่ใกล้ชิด ท่านไม่ได้ความสงบ จึงจำยอมมาพักที่กุฏิใหม่และมรณภาพที่กุฏินี้

                การสร้างคนนั้นเป็นอัธยาศัยที่ท่านสนใจ ภิกษุสามเณรรูปใดมีสติปัญญาสามารถ เที่ยวนำฝากสำนักโน้นสำนักนี้ให้ได้รับการศึกษาชั้นดีต่อไป และเพื่อรับเอาขนบธรรมเนียมของสำนักนั้นมาปฏิบัติพอเหมาะสม เป็นการให้สังคมแก่ศิษย์เป็นอย่างดี วางแนวทางให้มีการติดต่อกัน ให้มีสัมพันธ์ต่อกัน ให้แสดงความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แม้ในคณะธรรมยุตท่านก็ส่งเสริมให้ได้บรรพชาอุปสมบท คือศิษย์สมัครใจก็อนุญาต ไม่มีความรังเกียจใครผู้ใด ท่านพูดว่า เรามองกันในแง่ดีจะมีสุขใจ เพียงเท่านี้ก็พอใจแล้ว สำนักที่หลวงพ่อสนใจเป็นพิเศษคือวัดเบญจมบพิตร จะทำอะไรก็ต้องอ้างสมเด็จสังฆนายกก่อน ต้องการอาราธนาในการกุศลเสมอ งานเล็กน้อยก็ต้องต้านทานไว้ บางคราวยอมสงบให้ด้วยความไม่พอใจก็มีเหมือนกัน และสมเด็จสังฆนายกได้เมตตาแก่หลวงพ่อสดวัดปากน้ำอย่างดีเสมอมา

ความเจริญในด้านสมณศักดิ์  http://img146.imageshack.us/img146/5930/lpsodstand1resize.jpg
ประวัติหลวงพ่อสด พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ


                ยุคก่อน หลวงพ่อสดไม่ได้รับยกย่องมากนัก ท่านมาอยู่วัดปากน้ำยุคสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร วัดพระเชตุพน เป็นเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ ต่อมา พระราชสุธี (พร้อม ป.๖) วัดสุทัศน์เทพวราราม ลาสิกขาแล้วต่อมาพระสุธรรมมุนี วัดพระเชตุพน ในสามยุคนี้ พระครูสมุห์สด ก็คงได้สมณศักดิ์เป็นพระครูสมณธรรมสมาทานเท่านั้น

                  เมื่อคณะสงฆ์ปกครองโดยพระราชบัญญัติปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอตกมาอยู่ในปกครองของเจ้าคุณพระวิเชียรกวี (ฉัตร ป.๕) วัดหนัง อำเภอบางขุนเทียน จังหวัดธนบุรี หลวงพ่อก็ยังคงเป็นพระครูตามเดิม ที่เป็นดังนั้นเพราะการปกครองของหลวงพ่ออยู่ในวงแคบ คือเป็นเพียงเจ้าอาวาสพระอารามหลวงตำแหน่งเดียว

                อันความจริงหลวงพ่อสดก็ไม่ได้กระตือรือร้นหรือเที่ยววิ่งเต้นและก็ไม่สนใจในเรื่องเช่นนั้น ท่านสนใจอย่างเดียว คือต้องการให้ภิกษุสามเณรมีปัจจัย ๔ บริบูรณ์ เพียงเท่านี้ก็พอใจ

                เรื่องที่คณะวัดปากน้ำเดือดร้อนใจอยู่อย่างเดียวในสมัยโน้น คือคณะวัดปากน้ำเห็นต้องกันว่า หลวงพ่อที่เคารพของตนมีคนนับถือมาก กุลบุตรสมัครใจมาบวชปีละหลาย ๆ สิบคน ทั้งหลวงพ่อก็มีภูมิพอจะอบรมให้เกิดความรู้ในการปฏิบัติไม่ยิ่งหย่อนกว่าวัดทั้งหลาย แต่ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะ ท่านครองวัดมาแต่ พ.ศ.๒๔๕๙ มาได้ตำแหน่งอุปัชฌายะเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๐ นับเป็นเวลา ๓๐ ปีเศษ จึงได้รับ อันความจริงวัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงย่อมมีสิทธิพิเศษในการได้รับแต่งตั้งเป็นอุปัชฌายะ แม้ในยุคใหม่ก็มีกฎหมายเปิดโอกาสถวายเพื่อเกียรติพระอารามหลวง

                เมื่อพิจารณาอัธยาศัย หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ หนักในกตัญญูกตเวทิตาธรรม เมื่อท่านมาปกครองวัดปากน้ำ ได้รับโยมหญิงผู้ชรามาไว้ สร้างที่อยู่อาศัยและอุปถัมภ์ด้วยเครื่องเลี้ยงชีวิตเป็นอย่างดีจนตลอดชีวิตของโยม แม้คนอื่นก็เหมือนกันท่านย่อมอนุเคราะห์ตามฐานะ

                เมื่อสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร อาพาธเป็นอวสานแห่งชีวิต หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ปฏิการะเป็นอย่างดี โดยจัดอาหารและรังนกจากวัดปากน้ำมาถวายทุกวัน ท่านตั้งงบประมาณไว้วันละ ๔๐ บาท พอได้เวลา ๐๔.๐๐ น. ให้คนลงเรือจ้างขึ้นปากคลองตลาด พอถึงวัดพระเชตุพนได้อรุณพอดี สมัยนั้น สะพานพุทธฯ ชำรุดเพราะภัยสงคราม ถนนฝั่งธนบุรีถึงตลาดพลูยังไม่เรียบร้อย รถโดยสารยังไม่มี การคมนาคมต้องใช้เรือจ้าง หลวงพ่อเพียรปฏิบัติฉลองพระคุณดังนี้เป็นเวลาหลายเดือน เมื่อผู้นำอาหารมาถวายกลับไปแล้วต้องรายงานให้หลวงพ่อทราบทุกวัน

                การทำคิลานุปัฏฐากเป็นอวสานปฏิการะนี้ น่าจะให้ผลแก่หลวงพ่อมากอยู่ เมื่อเจ้าคุณพระพิมลธรรม ฐานทตฺต วัดมหาธาตุ หมั่นมาเยี่ยมสมเด็จพระวันรัต ติสฺสทตฺตเถร ผู้กำลังอาพาธหนัก วันหนึ่งเป็นเวลาค่ำแล้ว เจ้าคุณสมเด็จพระวันรัต ได้ขอร้องให้ช่วยแต่งตั้งพระครูสมณธรรมสมาทานวัดปากน้ำเป็นอุปัชฌายะด้วย เจ้าคุณพระพิมลธรรมยินดีและรับรองว่าจะจัดการให้ตามประสงค์ และต่อมาไม่ช้าตราตั้งเป็นอุปัชฌายะ ก็ตกถึงพระครูสมณธรรมสมาทาน คือหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ เมื่อได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌายะแล้ว คณะวัดปากน้ำชื่นชมยินดี กุลบุตรพากันมาบรรพชาอุปสมบทในสำนักวัดปากน้ำทวีขึ้น

                อันเจ้าคุณพิมลธรรม ฐานทตฺต นั้น ท่านชอบพอกันมานานในส่วนตัว และพอใจในการปฏิบัติด้วย ท่านเคยพูดว่าท่านพระครูวัดปากน้ำ ถึงมีข่าวอกุศลอย่างไรก็ยังดีมีคนมาขอปฏิบัติธรรมเจริญพระกัมมัฏฐาน ทุกวัดน่าจะทำตามบ้าง

                หลวงพ่อสด วัดปากน้ำได้รับสมณสักดิ์เป็นพระครูสมณธรรมสมาทานแต่ พ.ศ.๒๔๖๔ นับแต่นั้นมาเป็นเวลา ๒๘ ปี จึงได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะสามัญที่ พระภาวนาโกศลเถระ ถือพัดยอดพื้นขาวอันเป็นตำแหน่งวิปัสสนาธุระ พ.ศ. ๒๔๙๒ การได้สมณศักดิ์ครั้งนี้ นัยว่าเป็นด้วยคณะสังฆมนตรีได้ทราบเกียรติคุณของท่านอยู่บ้าง จึงได้รับคะแนนส่งเสริมเป็นอันดียิ่ง พระพิมลธรรม (อาสภเถร) วัดมหาธาตุด้วยแล้วส่งเสริมเต็มที่ และได้พยายามส่งเสริมมาทุกระยะกาล เพราะพระพิมลธรรมพอใจในสุปฏิบัติของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

                พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานพัดยศเทียบเปรียญ
                พ.ศ.๒๔๙๘ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นราชาคณะชั้นราช มีราชทินนามว่า "พระมงคลราชมุนี"
                พ.ศ.๒๕๐๐ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ มีพระราชทินนามว่า "พระมงคลเทพมุนี"

                เมื่อได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระมงคลราชมุนีแล้ว ต่อมาท่านได้อาพาธเกี่ยวแก่ความดันโลหิตสูง เริ่มแต่เดือนมีนาคม ๒๔๙๙ เป็นต้นมา มีอาการขึ้น ๆ ลง ๆ พลเรือจัตวา เรียง วิภัตติภูมิประเทศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารเรือ แพทย์ประจำ ได้มาเยี่ยมอาการทุกเช้าเย็นและทำการพยาบาลด้วยตนเอง เมื่อเวลามาเยี่ยมตรวจอาการของโรคใดที่แพทย์สงสัย ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขามาตรวจรักษา เช่น นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางปอด ทางหัวใจ เป็นต้น โดยที่สุดได้เชิญ คุณพระอัพภันตริกาพาธ ผู้เชี่ยวชาญชั้นเยี่ยมของประเทศไทยมาตรวจและแนะนำ เพราะท่านผู้นี้เป็นอาจารย์ของนายแพทย์ทั้งหมดด้วย โรคนั้นมีแต่ทรงกับทรุด บางคราวก็ทำให้มีความหวังบ้าง

               การได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระมงคลเทพมุนี ก็อยู่ในระหว่างอาพาธ อาการของโรคเริ่มจะแสดงว่าหมดหวัง แต่กำลังใจของท่านยังแข็งแกร่ง พอเข้าวังรับพระราชทานสัญญาบัตรได้ คณะวัดปากน้ำก็มีหวังอยู่ว่าคงจะหายจากโรคสักวันหนึ่งนั้นเป็นแต่เพียงความหวัง ตั้งแต่เริ่มอาพาธจนถึงมรณภาพเป็นเวลา ๒ ปีเศษ หลวงพ่อไม่ได้แสดงอาการรันทดใจใด ๆ เลย ต้อนรับแขกด้วยอาการยิ้มแย้มเสมอ เวลาจะลุกจะนั่งไม่พอใจให้ใครไปช่วยเหลือ ท่านพอใจทำเอง ผู้อื่นคอยตามเพื่อช่วยเหลือเวลาท่านเซไปเท่านั้น

                นอกจากโรคดังกล่าวแล้ว ยังมีโรคไส้เลื่อนกำเริบขึ้นอีก ถึงกับต้องไปทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราชในระหว่างพรรษา แม้กระนั้นท่านก็ไม่ยอมขาดพรรษา ดิ้นรนมารับอรุณที่วัดปากน้ำจนได้ และได้มาอยู่โรงพยาบาลสงฆ์ ๒ ครั้ง ได้รับการพยาบาลเป็นอย่างดีทุกแห่ง

                เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ อาการของโรคกำเริบมากขึ้น ท่านก็คาดว่าจะมรณภาพ จึงได้จัดการฌาปณกิจศพโยมหญิงของท่าน เพื่อสนองคุณมารดาในอวสาน เวลานั้นอาการก็หนักมากอยู่แล้ว แต่ด้วยกำลังใจอันเข้มแข็ง จึงพยายามมาบำเพ็ญกุศลได้จนตลอดพิธี


                เวลานับเป็นปี ๆ ที่กำลังอาพาธ ท่านได้กำจัดความประมาททุกวิถีทาง ทุกเวลาเย็นได้เรียกพระไปทำกัมมัฏฐานใกล้ ๆ ท่านเป็นเวลา ๑ ชั่วโมงบ้าง ๒ ชั่วโมงบ้าง หรือเวลาอื่นก็มีเช่นนั้น เวลากลางคืนก็สั่งงานให้พวกปฏิบัติกระทำกิจกัมมัฏฐาน จิตใจของท่านผูกพันอยู่อย่างนี้ ใครจะทักท้วงประการใด ท่านเพียงแต่ฟัง แต่ไม่รับปฏิบัติตามคำทักท้วงนั้น

                เมื่ออาพาธครอบงำท่านได้ ๑ ปีเศษแล้ว วันหนึ่งท่านพูดกับผู้เขียนเรื่องนี้ว่า เจ็บคราวนี้ไม่หาย ไม่มียารักษา เพราะยาที่ฉันมีอยู่นั้นมันไม่ถึงโรค ท่านเปรียบว่ายาที่ฉันนั้นเหมือนมีแผ่นหินมารองรับกั้นไว้ ไม่ให้ยาซึมไปกำจัดโรคได้ ท่านบอกว่ากรรมมันบังไว้ เป็นเรื่องแก้ไม่ได้ ท่านพูดแล้วก็ยิ้มด้วยอารมณ์เย็น

                ตั้งแต่อาพาธจนมรณภาพ เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี ไม่มีอาการครวญครางแสดงอาการเจ็บปวดเว้นแต่ไม่รู้สึกตัว เมื่อได้สติก็กำจัดได้ ไม่จู้จี้บ่นเอาแก่ใคร จะแสดงความไม่พอใจบ้างก็เฉพาะผู้ไม่มาปฏิบัติธรรมกับท่าน การห่วงใยใด ๆ ไม่แสดงออก วางอารมณ์เฉย สิ่งใดต้องการ ถ้ามีก็เอา ถ้าไม่มีก็นิ่งเฉยและยิ้มรับความไม่มีนั้นด้วย

                เรื่องอาหารการขบฉันระหว่างอาพาธ ใครทำถวายอย่างไรฉันอย่างนั้น ที่ถูกปากก็ฉันมาก สิ่งใดที่มีผู้ห้ามก็เลิกฉันสิ่งนั้น แม้จะชอบก็ไม่พยายามฝืนคำห้ามของบุคคล อันผู้ที่ห้ามนั้นเกิดขัดใจกับผู้เขียนก็มีหลายครั้ง

                เป็นอันว่า หลวงพ่อสด วัดปากน้ำได้ทำพระกัมมัฏฐานและควบคุมการปฏิบัติด้วยตนเองตั้งแต่ต้นจนชีวิตเป็นอวสานสมัย เวลาป่วยไข้ก็ควบคุมและสนใจในการปฏิบัติ ท่านให้ภิกษุมานั่งสมาธิใกล้ ๆ ท่านทุกวัน เป็นงานที่หลวงพ่อสดห่วงมาก และสั่งไว้ว่า งานที่เคยทำอย่างไรอย่าให้ทิ้ง จงพยายามกระทำไป และจงเลี้ยงภิกษุสามเณรดังเคยทำมา.


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 พฤศจิกายน 2554 05:26:48 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: jpg » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 5.0 Firefox 5.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #6 เมื่อ: 11 กรกฎาคม 2554 19:08:50 »




ธรรมกาย

               การปฏิบัติธรรมตามหลักพระกัมมัฏฐาน อันเป็นปฏิปทาสูงสุดในพระพุทธศาสนา ถ้าการปฏิบัตินั้นเข้าขั้นปรมัตถ์ ผู้ปฏิบัติก็ย่อมเข้าถึงอมตสุข แม้ยังไม่เข้าขั้นปรมัตถ์ก็ยังอำนวยผลแก่ผู้ปฏิบัติให้มีกาย วาจา ใจ สงบระงับ อันผู้ปฏิบัติเข้าถึงธรรมย่อมมีกาย วาจา ใจ ไกลจาก โลภ โกรธ หลง เป็นบุคคลคงที่ต่อหลักธรรมไม่ก่อกรรมทำเวร

                หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทษเช่นนี้ มีปฏิปทาเดินสายกลาง ไม่ห่วงในลาภสักการะเพื่อตน
แต่ขวนขวายเพื่อส่วนรวม กิจการนิมนต์ทางไกลถึงกับค้างคืนแล้วท่านรับนิมนต์น้อยนัก โดยท่านเคยแจ้งว่าเสียเวลาอบรมผู้ปฏิบัติ ท่านมีความมุ่งหมายใช้ความเพียรติดต่อกันทุกวัน ชีวิตไม่พอแก่การปฏิบัติ จึงมีบางท่านตำหนิหลวงพ่อว่าอวดดี อันความจริงคนเรานั้นถ้ามีดีจะอวดก็ควรเอาออกแสดงได้ เว้นไว้แต่ไม่มีดีจะอวดใครแล้วเอาเท็จมาอวดอ้างว่าเป็นของดีลวงผู้อื่นให้หลงเข้าใจผิด อันหลวงพ่อไม่ใคร่รับนิมนต์ใครนั้นเป็นปณิธานในใจของท่านเอง ลงได้ตั้งใจแล้วก็ต้องทำตามตั้งใจเสมอมา มิใช่ว่าเป็นผู้หมดแล้วจากความปรารถนา ยังอยู่ในกลุ่มแห่งความปรารถนา แต่ท่านไม่หลงจนประทุษร้ายให้เสียธรรมปฏิบัติ

                ธรรมานุภาพให้ผลแก่หลวงพ่อทันตาเห็น ต้องการโรงเรียนประหนึ่งความฝัน ธรรมานุภาพก็ดลบันดาลให้สมประสงค์กลายเป็นความจริง ต้องการกุฏิ โรงฉันและการเลี้ยงพระวันละหลาย ๆ ร้อยรูปก็ได้สมความปรารถนา ต้องการให้มีผู้ปฏิบัติมาก ๆ นักปฏิบัติก็ติดตามมา ปัจจัยที่จ่ายเรื่องอาหาร เรื่องกุฏิ โรงเรียนในยุคของท่าน มีจำนวนมิใช่ล้านเดียว ถ้าคิดแต่ค่าอาหารอย่างหยาบ ๆ วันละ ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาท ปีหนึ่งเป็นจำนวนเงิน ๓๖๐,๐๐๐ บาท (สามแสนหกหมื่นบาท) สิบปีเป็นเงินเท่าไร นี้คิดอย่างต่ำ ถ้าหลายสิบปีจะเป็นเงินเท่าไร หลวงพ่อท่านพูดว่า เราเป็นลูกพระพุทธเจ้า เมื่อกาย วาจา ใจ บริสุทธิ์แล้ว ย่อมมีสิทธิ์ใช้มรดกของพระพุทธเจ้าได้ และใช้ได้จนตลอดชาติ ถ้าไม่บริสุทธิ์แล้ว แม้จะเอาไปใช้ก็ไม่ถาวรเท่าไร

                           

                การปฏิบัติของคณะกัมมัฏฐานวัดปากน้ำ ย่อมเป็นไปตามระเบียบที่หลวงพ่อได้วางไว้ ทุกคราวท่านพูดให้เกิดกำลังในการใช้ความเพียร ธรรมกายของวัดปากน้ำแพร่ปรากฏไปแทบทุกจังหวัด ยิ่งกว่านั้นยังไปแสดงธรรมานุภาพยังภาคพื้นยุโรปด้วย เกียรติศักดิ์ของธรรมกายแพร่หลายเช่นนั้น ย่อมแสดงความศักดิ์สิทธิ์อันเป็นสัจจธรรมแก่ผู้ปฏิบัติ ทั้งนี้เนื่องด้วยโดยมากผู้จะเดินทางไปเมืองนอกได้มาขอพรต่อหลวงพ่อก็มี โดยได้รับคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่ก็มี ชาวยุโรปเกิดความสนใจในเรื่องธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา นี้แสดงว่าธรรมกายของวัดปากน้ำได้ข้ามน้ำข้ามทะเลไปนอกประเทศแล้ว

                พ.ศ.๒๔๙๗ ศาสตราจารย์ วิลเลียม อาจารย์มหาวิทยาลัยในกรุงลอนดอนได้ล่องฟ้าข้ามทะเลจากยุโรปมาสู่ประเทศไทย เพื่อศึกษาธรรมปฏิบัติ ณ วัดปากน้ำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หลวงพ่อได้จัดการอุปสมบทให้ตามที่มุ่งหมาย ก่อนจะให้การอุปสมบทนั้น ได้อบรมจนเข้าใจพิธีและเรียนธรรมปฏิบัติฝึกหัดพระกัมมัฏฐานจนได้แนวมั่นคงเป็นที่พอใจแล้ว จึงได้จัดการให้อุปสมบท

                การที่ชาวอังกฤษมาบวช ณ สำนักวัดปากน้ำนั้น ได้รับอุปการะจากหลวงพ่อเป็นอย่างดี ท่านได้จัดการซ่อมตึกขาวซึ่งได้ใช้เป็นห้องสมุดให้เรียบร้อย มีห้องน้ำห้องส้วมทันสมัย ตีรั้วล้อมตึกมิให้ใครมาปะปน พระวิลเลี่ยมนี้มีฉายาว่า กปิลวฑฺโฒ เมื่อได้อุปสมบทแล้วทำการปฏิบัติพระกัมมัฏฐานต่อไป ได้ยินว่าได้ธรรมกายเบื้องต้น ต่อมาได้ไปประเทศอังกฤษอีก มีผู้เลื่อมใสในพระกปิลวฑฺโฒมาก ต่อมาได้นำผู้ศรัทธามาบวชอีก ๓ คน ล้วนแต่มีวิทยฐานะได้ปริญญาทั้งนั้น หลวงพ่อสด ได้ให้อุปการะเป็นอย่างดี เรื่องอาหารบริโภคไม่ฝืดเคือง ได้ทำงบประมาณไว้โดยเฉพาะ ตลอดถึงช่วยค่าพาหนะเวลากลับยุโรปตามสมควร

                ต่อมาเกิดความเข้าใจผิดกันขึ้น อันความเข้าใจผิดนั้นจะเป็นเพราะล่ามก่อกวนให้เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นเพราะภิกษุฝรั่งนั้นทำให้เกิดขึ้น ยังเอาเป็นความจริงไม่ได้แน่นอนจึงไม่สามารถจะเขียนลงได้ในโอกาสนี้ พระภิกษุฝรั่งและผู้เป็นล่ามเข้าหาหลวงพ่อขอสิทธิบางอย่าง หลวงพ่อชี้แจงให้เข้าใจอย่างไรก็ไม่ฟังเสียง ภิกษุเหล่านั้นได้ลุกออกจากที่ประชุมไปโดยไม่เคารพในฐานะเป็นอุปัชฌายะ ล่ามคงไม่ปรับความเข้าใจให้ดี ได้ยินว่าล่ามกับภิกษุฝรั่งนั้นได้ตกลงโครงการกันมาก่อนแล้วจึงไม่ฟังเสียงหลวงพ่อสด เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนั้น ภิกษุฝรั่งก็พากันออกจาก วัดปากน้ำ ไปและล่ามก็ออกไปด้วย

                ความไม่ราบรื่นเกิดขึ้นในวัดปากน้ำ เรื่องอื้อฉาวอยู่พักหนึ่ง ทั้งล่ามทั้งภิกษุฝรั่งได้เข้ามาหาผู้เขียนเรื่องนี้ เพื่อแจ้งว่าได้ออกจากวัดปากน้ำแล้ว เฉพาะล่ามได้ออกความเห็นว่า ถ้าจะให้เข้าอีกจะขอสิทธิบางอย่างจึงจะยอมเข้าสำนักตามเดิม

                หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ท่านไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับข้อกติกาใด ๆ ที่ทางล่ามเสนอมา เมื่อล่ามแสดงอาการแข็งแกร่งไม่สำเร็จก็ต้องหลบหน้าไป พระฝรั่งพักอยู่ในประเทศไทยพอสมควรแล้วชวนกันกลับยุโรปในเพศบรรพชิต

                ต่อมาพระกปิลวฑฺโฒ ได้กลับมาประเทศไทยเพื่อขอแสดงอัจจยะโทษ โดยมานึกถึงความบกพร่องอันเกิดแต่ความเข้าใจผิดของตน เวลานั้นเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนีกำลังอาพาธอยู่ จึงไม่ยอมให้พระกปิลวฑฺโฒเข้าพบ ตามเสียงพูดกันว่าหลวงพ่ออาพาธครั้งนั้นเกิดแต่เสียใจเรื่องเอาพระฝรั่งไว้ไม่อยู่ อันความจริงนั้นท่านอาพาธมาก่อนเกิดเรื่อง ท่านจะเสียใจอะไรในเรื่องเช่นนั้นเพราะท่านไม่ได้ก่อขึ้น พวกนั้นเป็นผู้ก่อขึ้นเอง

                ได้ถามหลวงพ่อสดว่า ทำไมไม่ให้พระกปิลวฑฺโฒเข้าพบ ท่านตอบว่าเขาลุกจากที่ประชุมไปโดยไม่สำคัญในเราเลย แสดงคารวะถึงเช่นนี้จะเลี้ยงกันได้อย่างไร เราก็ต้องจริงต่อเขาบ้าง มิฉะนั้นเขาจะดูหมิ่นพระพุทธศาสนา การที่เราปฏิเสธไปเช่นนั้นแหละจะสอนให้ฝรั่งรู้สึกตัวว่าต่อไปควรจะทำตนอย่างไรในภูมิของสมณะ เมื่อไปร่วมกับคณะอื่นจะได้ไม่เอาแต่ใจของตน ถ้าเราขืนให้พบต่อไปก็จะมาเหยียบย่ำกันอีก ให้เขาเห็นความจริงของเราเสียบ้างไม่เช่นนั้นเสียเหลี่ยม พระกปิลวฑฺโฒแม้จะพยายามเป็นอย่างดีแล้วก็ไม่ได้พบหลวงพ่อตามที่ปรารถนาและได้กลับไปสู่ประเทศอังกฤษตามเดิม ได้ทราบข่าวจากยุโรปว่าพระกปิลวฑฺโฒเสียใจมากต่อเหตุการณ์และเวลานี้ก็สนใจในธรรมกายนั้นอยู่

                        

                ธรรมกายนั้นให้ผลแก่ผู้ปฏิบัติเป็นมหัศจรรย์ จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ภิกษุหรือสามเณร เมื่อได้ปฏิบัติถึงขั้นก็ได้ธรรมกายเหมือนกัน หลวงพ่อชอบพูดแก่ใคร ๆ ว่า เด็กคนนั้นได้ธรรมกายและชอบยกเด็ก ๆ ขึ้นอ้าง ลักษณะนี้เป็นอุบายวิธีให้ผู้ใหญ่สนใจด้วย อาจนำไปคิดว่าเด็ก ๆ ยังปฏิบัติได้ทำไมผู้ใหญ่จะทำไม่ได้ คิด ๆ ไป ก็อาจเกิดอุตสาหะในการปฏิบัติธรรมหรือเกิดความละอายตัวเองที่ไม่แสวงหาสารธรรมแก่ตน มัวแต่สะสมกิเลสเข้าไว้ หลวงพ่อว่าเมื่อได้ธรรมกายแล้วย่อมทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ถ้าจิตเป็นกุศลแม้โรคภัยไข้เจ็บก็ช่วยแก้ได้ ในเมื่อโรคนั้นยังไม่เข้าขั้นอเตกิจฉา

                การใช้ธรรมกายแก้โรค หลวงพ่อเคยพูดว่าแก้ได้จริงถ้าได้ประกอบกันทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายแก้และฝ่ายเจ้าทุกข์มีความเชื่อมั่นคง กล่าวคือต้องเรียนพระกัมมัฏฐานปฏิบัติธรรมด้วย เพื่อให้กระแสจิตเชื่อมถึงกันลักษณะนี้มีหวังมาก ที่ไม่ได้ผลก็เนื่องด้วยผู้เจ็บไม่พยายามทำพระกัมมัฏฐาน ทางเชื่อมไม่ถึงกัน แต่ถึงอย่างไรนั้นก็มีผลบ้างในเมื่อโรคนั้นยังอ่อน และท่านพูดว่าถึงไม่หายก็จะเป็นไร เราไม่ได้เรียกค่ารักษาเอาแก่ใคร ช่วยด้วยเมตตา อย่างน้อยคนเจ็บจะต้องได้ความรู้วิธีปฏิบัติธรรม หรือเข้าใกล้พระรัตนตรัยพอสมควรแก่อุปนิสัย ท่านพูดว่าที่หายก็มากที่ไม่หายเพียงแต่บรรเทาเป็นครั้งคราวก็มี

                พูดถึงวิธีแก้โรค ผู้เขียนได้พบกับนักเรียนแพทย์คนหนึ่งซึ่งเขาสนใจในวิชาของหลวงพ่อสด ระหว่างเป็นนักเรียนแพทย์ปีปลาย ๆ เขาได้รักษาพยาบาลไข้ผู้หนึ่ง คนไข้นั้นก็เจ็บปวดมากหมดทางแก้ไข เขาได้ตัดสินใจพูดกับเพื่อน ๆ ว่าประเดี๋ยวจะแก้ให้หายขอเข้าในห้องสักครู่ก่อน นักเรียนแพทย์คนนั้น เข้าห้องทำสมาธิจิตตามหลักของวัดปากน้ำ สักครู่ใหญ่ ๆ ต่อมาคนป่วยสงบจากความเจ็บปวด พวกเพื่อนนักเรียนแพทย์ด้วยกันแปลกใจ ถึงผู้เข้าสมาธิเองก็แปลกใจและภูมิใจในการกระทำของเขา ได้ถามว่าทำไมจึงกล้าเช่นนั้น ตอบว่าสงสารคนเจ็บ ไม่รู้จะช่วยได้อย่างไรไม่มีทางอื่นก็ลองดู และยังได้พูดต่อไปว่า เขาได้เห็นตนเองว่าเมื่อชาติก่อนเขาเคยเป็นนักบวชมาเหมือนกัน นักเรียนแพทย์คนนี้ตามปกติชอบวัดและพิธีทางศาสนาตั้งแต่จำความได้ เพราะผู้ใหญ่สนใจในทางศาสนา เขาอาราธนาศีลอาราธนาพระปริตได้ตั้งแต่พูดชัด มีการทำบุญประจำปีเด็กคนนี้ได้อาราธนาศีลพระปริตเสมอมาและอาราธนาได้อย่างไม่กระดากอายเลย การเรียนดีสำเร็จปริญญาแพทย์โรงพยาบาลศิริราชเมื่ออายุได้ ๒๑ ปี

                มีคนโดยมากสงสัยในเรื่องเด็ก ๆ ได้ธรรมกาย คิดดูหมิ่นว่าผู้ใหญ่ยังปฏิบัติเข้าไม่ถึง ทำไมเด็ก ๆ จะมาได้ ต่อมาก็ต้องเชื่อเหตุที่เชื่อนั้น วันหนึ่งมีผู้นำเด็กพอคลานได้อย่างแข็งแรงมาขอให้ตั้งชื่อ เด็กคนนี้ซนขนาดหนักเห็นอะไรจะต้องคลานไปจับขว้างจนได้ ผู้เขียนเรื่องนี้ได้ส่งซองหนังสือให้เล่น ๑ ซอง แต่อยากจะล้อเด็กนั้นด้วย ส่งให้แล้วจับดึงไว้ข้างหนึ่งคะเนว่าเด็กฉุดไม่หลุดจากมือเรา เด็กน้อยคว้าซองอีกด้านหนึ่งไม่ยอมปล่อยดึงจนกระดาษซองขาดติดมือไป จึงประหวัดถึงคำหลวงพ่อว่าเด็กได้ธรรมกายนั้นอาจเป็นจริง เพราะว่าเด็ก ๆ มีอารมณ์ไม่ฟุ้งซ่านคืออารมณ์ต้องการอะไรก็ปักใจดิ่งลงไปไม่ยอมทิ้งจะเอาให้ได้ ถ้าแย่งของไปจากมือต้องร้องให้เอาของนั้นคืนเสมอ อนึ่ง เมื่อผู้ใหญ่สอนอะไรเด็ก ๆ มักจะจดจำและทำตาม เด็กปฏิบัติธรรมก็มีทางจะได้ธรรมกายเหมือนหลวงพ่อท่านพูดไว้ ใครเล่าจะพิสูจน์ เพราะผู้ใหญ่จะลดตัวและทำความรู้สึกเหมือนเด็กไม่ได้.


                  
                 พระสมเด็จวัดปากน้ำรุ่นแรก ไม่มีเคลือบ

การสร้างพระพุทธรูปเนื้อผง (พระสมเด็จ วัดปากน้ำ)
              
                 เมื่อการสร้างโรงเรียนปริยัติธรรมเริ่มขึ้น หลวงพ่อสด ได้สร้างพระพุทธรูปเป็นพระพิมพ์เล็ก ๆ ครั้งแรก ๘๔,๐๐๐ องค์ ผสมด้วยผงและสรรพดอกไม้หอม มีดอกมะลิเป็นต้นที่ได้บูชาพระประจำเช้าเย็นและนำออกตาก ได้มาผสมกับผง พิมพ์เป็นพระแจกแก่ผู้มาร่วมการกุศลในวัดนั้น ปรากฏว่าเป็นที่นิยมของประชาชน เพราะหลวงพ่อสดท่านเข้าสมาธิปลุกเศกด้วยตนเองและรวมศิษย์ที่ได้ธรรมกายช่วยบรรจุอิทธิฤทธิ์อันเกิดแก่ธรรมกาย ช่วยกันทำเป็นเวลาแรมปี

                การแจกนั้น มิใช่ให้ผู้ใดนำ พระสมเด็จ วัดปากน้ำ ออกไปนอกวัด และมิได้ลงแจ้งความชักชวนเป็นใบปลิว วัดปากน้ำทำอย่างเงียบรู้กันเป็นภายใน เกิดความนิยมภายในก่อน แล้วข่าวว่าหลวงพ่อสดทำพระผงก็แพร่หลายไป มีผู้มารับกันคับคั่งวันหนึ่งเป็นจำนวนร้อย ๆ หลวงพ่อเป็นผู้แจกเอง ผู้รับนั้นคือคนมาทำบุญที่วัด เมื่อบริจาคแล้วเอาใบเสร็จไปถวายหลวงพ่อ หลวงพ่อสดก็ให้พระ ๑ องค์ ประสิทธิ์ประสาทให้ตามพิธีของท่าน

                ตามต่างจังหวัดเดินทางมาเป็นหมู่โดยทางเรือเมล์บ้าง โดยเอาเรือแท็กซี่มาเป็นคณะบ้าง มีพระภิกษุนำมาบ้าง ครั้งแรก ๆ คนแน่นวัด ถ้ามาผิดเวลาต้องรอตั้งวันจึงได้รับพระที่ตนต้องการ พวกมารับพระนั้นไม่ได้พูดกันว่ามาเช่าพระ แต่พูดกันทุกคนว่ามารับของขวัญ

                เมื่อออกแจกเป็นของขวัญไม่ช้า วันหนึ่งมีผู้มารับพระของขวัญมีจำนวนถึง ๑,๕๐๐ คนเศษ ที่ทราบจำนวนดังนี้โดยนับใบปวารณาที่ผู้มารับของขวัญไปทำถวายแทบทุกวัน ต้องสิ้นเวลาแจกนับเป็นชั่วโมง ๆ แสดงความอัศจรรย์ในสมาธิจิตอันเกิดแก่ธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ

                การนำพระสมเด็จ วัดปากน้ำออกไป แจกตามนอกวัดนั้นไม่ได้เป็นเด็ดขาด ต้องมารับที่วัดปากน้ำและต้องรับจากหลวงพ่อสดด้วยจึงจะพอใจ ใคร ๆ จะแจกแทนไม่ได้ แม้จะมีผู้อื่นแจกแทนผู้ต้องการก็ไม่นิยม

                ผู้จะรับพระผงของขวัญได้เพียงองค์เดียวเท่านั้น คือคนหนึ่งรับได้ ๑ องค์ จะฝากกันไปรับหลวงพ่อสดก็ไม่ให้ใคร รับไปแล้วถ้าทำหายจะมารับอีกหลวงพ่อก็ไม่ให้เหมือนกัน แม้จะทำบุญสักเท่าไร ๆ ก็ไม่ให้อยู่นั่นเอง เว้นไว้แต่ไม่ทราบ

                ที่ประหลาดยิ่งกว่านั้น ก็คือว่าใครทำบุญมาก ๆ เช่น ๑,๐๐๐ บาท หรือ ๑๐,๐๐๐ บาท หลวงพ่อสด ก็ให้พระของขวัญเพียงองค์เดียวเหมือนกัน ได้เคยถามท่านว่า เมื่อเขามาทำบุญตั้งพันบาทเช่นนั้นจะให้ของขวัญสัก ๕ องค์ ๑๐ องค์ ไม่ได้หรือ หลวงพ่อสด ตอบว่าพระของเรามีคุณภาพสูงยิ่งกว่าราคาใด ๆ เงินพันบาทเงินหมื่นบาทนั้นยังไม่สมกับคุณภาพของพระเสียอีก แม้ท่านจะให้แก่ผู้ใดเป็นส่วนตัว ท่านก็จะต้องบริจาคปัจจัยให้แก่วัดเหมือนกัน ทั้งนี้ท่านถือว่าท่านทำให้แก่วัดมิใช่ทำเพื่อส่วนตัว จะเอาเปล่า ๆ ไม่ได้ ชั่วเวลาไม่ถึงปีพระผงของขวัญจำนวน ๘๔,๐๐๐ ก็หมดไป หลวงพ่อสด ต้องเข้าบริกรรมทำอีก เพื่อเป็นของขวัญแก่ประชาชน เมื่อก่อนท่านจะมรณภาพ คือเวลากำลังป่วย ท่านสั่งให้ทำพระอีกและก็แจกด้วยตนเองเรื่อยมา กว่าจะแจกทั่วถึงกันวันหนึ่ง ๆ ต้องเสียเวลาแจกตั้งชั่วโมง

                เมื่อหลวงพ่อสดป่วยหนัก ได้มอบภาระและประสิทธิ์ประสาทวิชาให้แก่พระครูสมณธรรมสมาทาน (มหาเจียก) ศิษย์ท่านแจกต่อไป โดยท่านพิจารณาเห็นแล้วว่าจะทำหน้าที่แทนท่านได้ เวลามอบของขวัญต้องเป็นพระครูองค์นี้ องค์อื่นไม่มอบ

                ที่ให้พระครูสมณธรรมสมาทานเป็นผู้แจกนั้น โดยท่านเห็นว่าได้ธรรมกายมาตั้งแต่เป็นสามเณร ได้ใช้สอยให้ถอนโรคแทนตัวท่าน ทำงานได้ผลดีเป็นที่พอใจหลวงพ่อสด มีความเชี่ยวชาญในทางสมาธิอยู่มาก จึงมอบให้รับภาระนี้ต่อมา พระที่ให้เป็นของขวัญนี้เวลานี้ก็ยังมีแจกและมีคนไปรับทุกวัน

                ความจริงในเรื่องคนเดียวให้องค์เดียวนั้น หลวงพ่อสด ถือขลังมาก ผู้เขียนเรื่องนี้ได้เคยรับจากหลวงพ่อมา ๑ องค์และได้มอบเป็นของขวัญแก่เด็กผู้มาขอตั้งชื่อไป วันหนึ่งไปขอหลวงพ่อใหม่ท่านไม่ยอมให้ บอกว่าต้ององค์เดียว ต่อมาไปพูดเลียบเคียงจะขออีก หลวงพ่อนิ่งเฉยไม่ยอมตอบ เป็นอันไม่ให้แน่

                ครั้งหนึ่งพูดกับหลวงพ่อสด ว่า จะเอาติดตัวไปตามหัวเมืองต่าง ๆ เมื่อใครต้องการจะได้ให้เป็นของขวัญต่อเขา หลวงพ่อว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ พระของเรามีคุณภาพจริง ผู้อยากได้ต้องมาเอง ถ้าเอาไปอย่างนั้นของดีก็กลายเป็นของเก๊ ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสและพูดแถมท้ายว่า อย่ากลัวเลย แปดหมื่นสี่พัน ๒ หนก็ไม่พอแจก และเป็นจริงดังคำพูดของหลวงพ่อ.

อาพาธ - มรณภาพ

                เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี เริ่มป่วยแต่ พ.ศ.๒๔๙๙ งานอย่างหนึ่งซึ่งได้ตั้งใจไว้คือการฉลองโรงเรียนปริยัติ พ.ศ.๒๕๐๐ หลวงพ่อจะมีแจง หรือนิมนต์พระ ๒,๕๐๐ องค์ มาเจริญพระพุทธมนต์ จะถวายสำรับคาวหวานและสมณบริขารองค์ละชุด รวมเป็น ๒,๕๐๐ ชุด แต่เพราะอาพาธมาขัดขวางเสีย ความคิดนั้นก็ไม่เป็นความจริงนับว่าเป็นโชคร้ายของวัดปากน้ำอย่างมหันต์ ซึ่งถ้าหลวงพ่อไม่อาพาธวัดจะได้ทุนเป็นค่าภัตตาหารอีกเป็นจำนวนมาก

                ตั้งแต่เริ่มอาพาธมา ได้รับความสะดวกในการอุปถัมภ์และพยาบาล ทุกอย่างไม่มีอะไรขัดข้อง มีพร้อมเท่าที่หลวงพ่อต้องการจนถึงมรณภาพ

                ทุกครั้งยิ้มรับแขกสนทนาปราศรัยพอสมควรแต่โดยมากเข้าเยี่ยมยาก เพราะหมอห้ามไม่ให้รบกวน เมื่อถูกห้ามบ่อย ๆ คนเยี่ยมก็ห่างไป เพียงมาถามข่าวข้างนอกแล้วก็กลับ

                ทุกอย่างชอบทำเองเมื่อเวลาป่วยไข้ เช่นจะพยุงลุกพยุงนั่งไม่ชอบ ลุกนั่งเอง เดินเอง สรงน้ำเอง ใครจะไปประคองไม่ถูกอัธยาศัย เป็นเพราะกำลังใจแข็ง เมื่อลุกนั่งไม่ไหวจริง ๆ เพราะอาพาธทวีขึ้นจึงยอมให้มีคนพยุงลุกนั่ง

                ผู้เขียนเรื่องนี้พยายามไปเยี่ยม ไปติด ๆ กันบ้าง ห่างไปนาน ๆ บ้าง ซึ่งทั้งนี้แล้วแต่อาการของโรค ถ้าทราบข่าวว่าหนักมากก็หมั่นมา และการไปก็ไม่ได้บอกกำหนดแน่นอนแก่ใคร ๆ บางวันไปเช้า บางวันบ่าย บางวันเย็นค่ำ ทั้งนี้เพื่อจะสังเกตการณ์ว่าภิกษุสามเณรเอาใจใส่ต่อหลวงพ่ออย่างไร ได้ทราบว่าจัดเป็นเวรมาปฏิบัติทุกวัน พวกมาเจริญกัมมัฏฐานต่างหาก

                วันหนึ่ง พอไปถึงที่พักของหลวงพ่อสด มีพระเวรมาแจ้งก่อนว่า หลวงพ่อสด ออกมารออยู่นานแล้ว จึงพูดว่า "ฉันไม่เคยบอกแก่ใครว่าจะมา พวกคุณไปโกหกหลวงพ่อไว้หรือว่าฉันจะมา"

                พระเวรตอบว่า "ผมก็ไม่ทราบ แต่หลวงพ่อสั่งให้จัดอาสนะไว้รับพระเดชพระคุณด้วยวาจา 'จัดที่ไว้ ธรรมดิลกจะมา' " ท่านสั่งดั่งนี้ไม่พลาดสักคราวเดียว ถ้าหายไปนานก็พูดขึ้นลอย ๆ ว่า "ธรรมดิลกวัดโพธิ์ไม่อยู่"

                หลวงพ่อสด ต้องอยู่โรงพยาบาลสงฆ์ ๒ ครั้ง ไปทำการผ่าตัดโรคไส้เลื่อนที่โรงพยาบาลศิริราช ๑ หน ทั้งโรคเก่าโรคใหม่มาซ้ำเติม ความหวังในชีวิตก็มีแต่สั้นเข้า

                ท้ายเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ ติดต่อกัน ผู้เขียนเรื่องนี้ไปทำการควบคุมการตรวจนักธรรมในภาค ๗ ประจำ พ.ศ.๒๕๐๑ งานนี้ได้ตรวจข้อสอบนักธรรมรวมแห่งเดียวกัน ๘ จังหวัด งานเสร็จสิ้นลง วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ คิดว่าจะอยู่ตากอากาศสัก ๒-๓ วัน เพื่อหาโอกาสเยี่ยมวัดต่าง ๆ ด้วย เกิดสังหรณ์ใจถึงเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนีขึ้น จึงเดินทางกลับวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ศกเดียวกัน ถึงวัดพระเชตุพน ๑๘.๐๐ น. มาโดยรถยนต์ รถวิ่งมาอย่างช้า ๆ

                รุ่งขึ้นวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ เวลา ๑๒.๐๐ น. โทรศัพท์มาจาก วัดปากน้ำ แจ้งว่าหลวงพ่อสด อาการหนักแล้ว ขอให้รีบไปวัดปากน้ำด่วน

                ถึงวัดปากน้ำ เวลา ๑๓.๐๐ น.เศษ ได้เข้านมัสการ หลวงพ่อสด มีอาการหอบ ทางวัดปากน้ำได้ตามหมอที่เคยประจำก็ไม่พบ หลวงพ่อสด หมดความรู้สึก มีแต่อาการหอบอย่างเดียว คุณหญิงชลขันธพินิจ มาเยี่ยมทนดูไม่ได้ ต้องไปตามหมออื่นมา หมอบอกว่าหมดความรู้สึก เส้นโลหิตสมองแตกแล้วหมดความหวัง หมอไม่ยอมทำอะไรเพียงแต่แนะนำว่าให้เอาน้ำแข็งห่อผ้าวางไว้บนศีรษะ เวลานั้นภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาแน่นห้อง ต่างมองดู หลวงพ่อด้วยน้ำตา หน้าสลดหมดความหวัง หมอพยากรณ์ไว้ว่าภายใน ๒๔ ชั่วโมงจะอยู่ได้เป็นอย่างดี หมอกลับไปแล้ว พวกศิษย์ก็ยังห้อมล้อมหลวงพ่ออยู่ เข้าใจว่าหลวงพ่อไม่รู้สึกเลยหลวงพ่อหลับตา หอบถี่ ๆ หนักขึ้นแล้วก็ค่อย ๆ น้อยลง ๆ วิญญาณของหลวงพ่อได้ทิ้งร่างกายอันทุพพลภาพนั้นไปด้วยอาการอันสงบ และสงบอย่างสมภูมิของนักปฏิบัติ เวลา ๑๕.๐๕ น. ของวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒

                เสียงสะอื้นก็ระงมขึ้นในห้องที่หลวงพ่อสด มรณภาพ ทุกคนหน้าซีดสลด แม้น้ำตาไม่ออกทางลูกตา จะปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นั้นไม่กลืนน้ำตาแห่งความสลดใจ

                เมื่อแน่ใจว่าดับสนิทแล้ว ระฆังทุกใบในวัดได้บันลือเสียงขึ้น กลองก็ดังขึ้นเป็นอันรับรู้กันว่า เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี ได้ละโลกนี้ไปสู่ปรโลกแล้ว ครู่ต่อมากุฏิตึกหลังใหญ่เนืองแน่นไปด้วยภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกา หน้าเศร้าน้ำตาคลอ บ้างทิ้งตัวลงกราบ บ้างยืนไหว้ บ้างสะอื้นเอามือปิดหน้า เวลานั้นไม่มีเสียงพูดมีแต่เสียงสะอื้นและเงียบสงัด แสดงว่าหมดที่พึ่งแล้วจนอวสานแห่งชีวิตของตน

                การมรณภาพของหลวงพ่อสด เวลา ๑๕.๐๕ น.นั้น คล้ายกับว่าพระคุณท่านยังมีความกรุณาอยู่ เพราะยังให้เวลาดำริและติดต่อเรื่องจัดการศพได้เป็นเวลาสะดวกจริง ๆ จะติดต่อกับใคร สั่งการอย่างไรอันเกี่ยวแก่ศพสำเร็จทุกทาง คล้ายกับว่าหลวงพ่อเปิดทางสะดวกไว้ให้ เครื่องใช้สอยมีทุกอย่างทันความประสงค์ ถ้ามรณภาพในเวลากลางคืนหรือใกล้รุ่งก็จะพากันเดือดร้อนและหนักใจเพียงไร คืนนั้นเราพิมพ์การ์ด อาบน้ำศพเสร็จ จัดสถานที่ตั้งศพเรียบร้อย เรียกอย่างไรได้อย่างนั้นและทันประกาศทางวิทยุและหนังสือพิมพ์

                เพื่อความเรียบร้อย ในวันรุ่งขึ้นได้จัดการให้ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกาและชาวบ้านใกล้เคียงหรือห่างไกลที่มาประชุมกันวันนั้น ได้อาบน้ำศพเสียก่อน ต้องจัดให้เข้าอาบน้ำศพคราวละ ๓ คนบ้าง ๔ คนบ้าง กว่าจะทั่วถึงสิ้นเวลากว่า ๒ ชั่วโมง

                จัดการปลงผมและเปลี่ยนผ้าครองใหม่ ฉีดยารักษาศพมิให้เน่าในวันนั้นเอง ได้สั่งให้เก็บผมของหลวงพ่อไว้เพื่อบรรจุพระแจกจ่ายแก่ชาวบ้านต่อไป แต่ได้สั่งช้าไป มีผู้เก็บไปหมดจะหาเหลืออยู่สักเส้นหนึ่งก็ไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นแม้ผ้าเช็ดมือเช็ดปาก สบงจีวรทั้งเก่าทั้งใหม่อันเป็นของใช้ของหลวงพ่อ ก็ถูกฉีกยื้อแย่งปันหมดสิ้นในคืนนั้นเอง จะหาเหลือสักนิ้วหนึ่งก็ไม่ได้ ดีไปอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องเก็บกวาดเอาไปทิ้ง ผู้ไม่ได้ก็พูดว่าจะรอเอากระดูกเมื่อเวลาเผา

                ทำความสะอาดแก่ศพเรียบร้อยแล้ว ยกไปไว้ที่โรงเรียนชั้น ๓ เตรียมต้อนรับผู้จะอาบน้ำศพในวันรุ่งขึ้น คืนนั้นภิกษุสามเณรแทบไม่ต้องจำวัด ทำงานกันคืนยังรุ่ง เพราะต้องทำความสะอาดให้เรียบร้อยทั่ววัด ขนเก้าอี้เสื่อสาดอาสนะกันโกลาหล ไม่มีใครบ่นว่าเหนื่อย เต็มใจทำ กราบหลวงพ่อด้วยความเคารพ ดีที่มีภิกษุสามเณรมากและพร้อมเพรียงกันกระทำ งานที่เต็มใจทำย่อมลุล่วงไปด้วยดี

                รุ่งขึ้นวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ การอาบน้ำศพได้มีตั้งแต่ ๑ โมงเช้า พากันมาเป็นสาย ๆ อาบกันไม่ขาดระยะ จนกระทั่งยกศพใส่หีบเวลา ๑๗.๐๐ น. ล่วงแล้ว ที่มาไม่ทันก็นับจำนวนหลายร้อย สมเด็จพระสังฆนายกได้กรุณามาประกอบพิธีเอาน้ำพระราชทานอาบศพและเป็นประธานตลอดพิธี

                ศพหลวงพ่อสดที่บรรจุแล้วในหีบทองของหลวงที่พระราชทานให้เป็นเกียรติยศแก่หลวงพ่อสดและได้ประดิษฐานอยู่มุมด้านตะวันออกของโรงเรียน ประดับตบแต่งด้วยเครื่องสักการะอันงดงาม เวลากลางคืนมีสวดพระอภิธรรม เป็นการกุศลตามประเพณีนิยม มีผู้มาเยี่ยมคืนละมาก ๆ เป็นจำนวนร้อยและได้รับเป็นเจ้าภาพสวดทุกคืน คืนละ ๑ เจ้าภาพ ตั้งแต่วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ มา การบำเพ็ญกุศลเช่นนั้นได้ติดต่อกันถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๐๒ ล้วนแต่มีผู้เต็มใจมาขอเป็นเจ้าภาพทั้งสิ้น บางคืนก็มีสวด ๒ สำรับ บางสัปดาห์ก็มีพระธรรมเทศนา บางวันก็มีแจง อาราธนาภิกษุสามเณรมาสวดแจงหมดวัด การบำเพ็ญกุศลเทศน์แจงนี้มีมาหลายคราวแล้ว

                เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี ชาตะ พ.ศ.๒๔๒๗ มรณภาพ พ.ศ.๒๕๐๒ อายุ ๗๕ โดยปี บวชอยู่ ๕๓ พรรษา สำนักที่หลวงพ่อเคยอยู่คือ :-

                ๑. วัดสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี
                ๒. วัดพระเชตุพน พระนคร
                ๓. วัดชัยพฤกษมาลา ธนบุรี
                ๔. วัดโบสถ์ นนทบุรี
                ๕. วัดปากน้ำ อำเภอภาษีเจริญ ธนบุรี

                ชีวิตของเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี หรือ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ มีที่สุดของชาตินี้อันถึงแล้ว รูปธรรม นามธรรม ของพระคุณท่าน แสดงเป็นความจริงดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสว่า:-

                รูปํ ชีรติ มจฺจานํ นามโคตฺตํ น ชีรติ

จบบริบูรณ์



นำมาแบ่งปันโดย...
แก้มโขทัย
: http://www.tairomdham.net/index.php/topic,1036.msg24155/topicseen.html#msg24155
Pics by : Google
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 พฤศจิกายน 2554 14:00:21 โดย เงาฝัน, เหตุผลที่แก้ไข: jpg » บันทึกการเข้า
เงาฝัน
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 15
*

คะแนนความดี: +58/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 7493


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Firefox 5.0 Firefox 5.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #7 เมื่อ: 14 กรกฎาคม 2554 07:56:44 »




กราบบูชาพระคุณพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์
ขอร่วมอุทิศอานิสงส์ผลบุญกุศลใดๆทั้งปวงที่พึงมี แด่ คุณกบ
(สมชัย รัตนาไพบูลย์ เวปอกาลิโก)



บันทึกการเข้า
คำค้น: ชีวประวัติ ปฏิปทา โดยละอียด 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.289 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 19 พฤศจิกายน 2567 05:13:04