ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.comการกลับมาของหนังแอ็กชันเรื่อง Mad Max : Fury Road ซึ่งเป็นภาคที่ ๔ ของหนังชุด Mad Max ผลงานกำกับของ จอร์จ มิลเลอร์ ได้สร้างความฮือฮาอย่างยิ่งด้วยสองเหตุผลใหญ่ๆ ประการแรกคือความมันระเบิดของฉากแอ็กชันที่แทบไม่ได้หยุดตลอดเรื่อง ซึ่งถ่ายทำโดยวิธีดั้งเดิม เช่น ใช้สตันต์แมนและการแสดงจริง ซึ่งตรงกันข้ามกับหนังแอ็กชันในปัจจุบันที่ใช้วิชวลเอฟเฟกต์ ประการที่ ๒ เป็นหนังแอ็กชันที่ยั่วล้อขนบทางเพศในหนังแอ็กชัน (ซึ่งให้ความสำคัญแก่บุรุษนิยม) ด้วยการใส่แนวคิดสตรีนิยม แม้แมกซ์ (รับบทโดย ทอม ฮาร์ดี) จะเป็นเจ้าของชื่อเรื่อง แต่ไม่ได้เด่นที่สุดในเรื่อง เพราะตัวละครที่เด่นเท่า/เด่นกว่าคือ ฟูรีโอซา (รับบทโดย ชาร์ลีซ เทอรอน) นักรบหญิงแขนด้วน (ต้องต่อแขนเหล็ก) ผู้แม่นปืนกว่าแมกซ์ เนื้อเรื่องคร่าวๆ ของภาคนี้คือ ฟูรีโอซาฉกตัวนางทาสหลายคนของจอมเผด็จการ อิมมอร์ทัน โจ แล้วพาพวกเธอหนีขึ้นรถขนน้ำมัน นั่นทำให้โจขนกองทัพรถมาไล่ล่า แมกซ์กับฟูรีโอซาและบรรดานางทาสก็ร่วมมือกันต่อสู้พร้อมการเดินทางไปยังดินแดนสีเขียว หนังตอบสนองและยั่วล้อขนบทางเพศในหนังแอ็กชันไปพร้อมกัน แง่หนึ่งนางทาสก็เซ็กซี่ราวกับนางแบบยกทรง แต่อีกแง่พวกเธอก็ต่อสู้เพื่อให้หลุดพ้นจากสภาพดังกล่าว หนังยังนำเสนอแก๊งหญิงชราที่ร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่แมกซ์ด้วย
อย่างไรก็ดีประเด็นเหล่านี้มีการพูดคุยอย่างมากแล้ว บทความนี้จึงขอละไว้ เปลี่ยนไปขบคิดในประเด็นภาพยนตร์นิเวศแทน ภาพยนตร์นิเวศ (ecocinema) เป็นแขนงหนึ่งของการวิเคราะห์ที่แพร่หลายในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา โดยมิได้มุ่งศึกษาเพียงภาพยนตร์ที่มีแนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างชัดแจ้ง (เช่นสารคดีรณรงค์ต่างๆ) แต่ขยายวงกว้างไปยังภาพยนตร์ทั่วๆ ไป เพราะหนังทุกเรื่องย่อมมีมิติเกี่ยวกับนิเวศวิทยาไม่มากก็น้อย ด้วยหนังเป็นส่วนหนึ่งของโลก เป็นสื่อบันทึกโลกซึ่งสร้างโลก (ของเรื่องเล่า) ขึ้นมาใหม่โดยใช้ทรัพยากรของโลกจริง การทับซ้อนของโลกจริงและโลกที่ถูกปรุงแต่งนั้นทำให้เกิดมิติหลากหลายระหว่างภาพยนตร์กับสิ่งแวดล้อม กรอบคิดแบบภาพยนตร์นิเวศจึงได้รับการพัฒนาเพื่อเป็นเลนส์ศึกษาแขนงหนึ่ง เช่นเดียวกับกรอบการวิเคราะห์อื่นๆ เช่น เพศ สีผิว ชนชั้น
ในแง่ตระกูลความรู้ ภาพยนตร์นิเวศเป็นดอกผลจากการเหลื่อมกันระหว่างกรอบวิชาการของภาพยนตร์ศึกษากับกรอบวิชาอื่นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทั้งมนุษยศาสตร์สิ่งแวดล้อม ธรณีวิทยา และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ในกลุ่มวิชาการเหล่านี้มีคำฮิตที่สุดในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ anthropocene ผู้เขียนขอแปลกว้างๆ ว่า “ยุคสมัยมนุษย์” ซึ่งความหมายหยาบๆ ของคำนี้เกิดจากการแบ่งยุคทางธรณีวิทยา เช่น สมัยไพลสโตซีน (Pleistocene Epoch) ช่วง ๑.๖ ล้านปีถึง ๑ หมื่นปีก่อน มีน้ำแข็งปกคลุมเป็นระยะ สมัยโฮโลซีน (Holocene Epoch) ตั้งแต่ ๑ หมื่นปีก่อนเป็นต้นมา โลกอุ่นขึ้นจนมนุษย์สร้างอารยธรรมได้ ทว่าตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศของโลกนั้นไม่ได้มาจากมนุษย์ แต่มาจากตัวธรรมชาติเอง เมื่อไม่นานมานี้นักวิชาการเสนอว่า ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๖๑๐ (บางกลุ่มก็เสนอว่า ค.ศ. ๑๙๔๕) ให้นับยุคทางธรณีวิทยาใหม่ โดยเรียกว่ายุคสมัยมนุษย์ (anthropocene) ซึ่งมีนัยว่าตั้งแต่ ค.ศ. ดังกล่าว (๑๖๑๐ เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะสมัยใหม่-modernity ส่วน ๑๙๔๕ คือจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาหลังสงครามโลก) การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีโดยมนุษย์นั้นทำให้มนุษย์กลายเป็นตัวการสำคัญในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทางนิเวศและธรณีวิทยาของโลกด้วยการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในระดับสูงมากอย่างไม่เคยปรากฏ เมื่อมนุษย์เป็นตัวการสำคัญก็ต้องรับผิดชอบ ความหมายกว้างๆ ของการนิยามยุคสมัยมนุษย์คือการตระหนักสำนึกของเวลาแบบใหม่ที่เกิดจากฐานเวลาทางธรณีวิทยา การมองประวัติศาสตร์และภาวะสมัยใหม่โดยเพิ่มมิติทางสิ่งแวดล้อม การตระหนักถึงสภาพปัจจุบันว่ามนุษย์สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร รวมถึงการมองอนาคตกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์จะต้องเผชิญ คำถามใหญ่คือ มนุษย์ใน “ยุคสมัยมนุษย์” ควรจะคิดและทำอย่างไรต่อโลก ในฐานะที่เป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดาวเคราะห์นี้
มองในแง่ดังกล่าว โลกใน Mad Max : Fury Road คือการนำเสนอภาพเลวร้ายที่สุดของยุคสมัยมนุษย์ เพราะมนุษย์ได้ถลุงทรัพยากรจนแทบไม่เหลือ ซึ่งตรงกับการคาดการณ์แบบเลวร้ายของคณะกรรมการระหว่างรัฐว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ภูมิประเทศเป็นทะเลทรายที่เกือบไม่มีต้นไม้เหลืออยู่ อุปกรณ์ประกอบฉากแทบไม่ใช้วัสดุที่ทำจากไม้เพราะหาได้ยากยิ่งในโลกของหนัง อากาศเป็นพิษจนต้องสวมหน้ากาก หรือผิวหนังของมนุษย์แปรเปลี่ยน พายุทะเลทรายผสมด้วยสารพิษ สัตว์ก็สูญพันธุ์จนเหลือเพียงบางชนิด อย่างกิ้งก่า แมลง ซึ่งเปลี่ยนสถานะเป็นอาหารของมนุษย์ มีฉากหนึ่งที่นกปรากฏตัว มันเหมือนความมหัศจรรย์เล็กๆ เพราะตัวละครมองนกราวกับสัตว์ในตำนานที่ไม่เคยเห็น เมื่อทรัพยากรแทบไม่เหลือ ที่เหลืออยู่จึงมีค่ามากกว่าเงินซึ่งไม่มีมูลค่าใดๆ ในระบบใหม่ที่ตั้งขึ้นโดยผู้มีทรัพยากรอยู่ในมือคือผู้คุมอำนาจ
สิ่งที่มาแทนเงินคือของเหลวอันเป็นกลจักรสำคัญของระบอบอำนาจนิยมใหม่ ของเหลวในที่นี้กินความตั้งแต่น้ำบริสุทธิ์ซึ่งหาได้ยากมากและอยู่ในการครอบครองของโจ ผู้มีอำนาจตัดสินใจเปิด-ปิดท่อน้ำขนาดยักษ์ ซึ่งผู้คนนับพันยืนรอคอยราวกับเป็นขอทาน ถือขันถือชามคนละใบ มิได้ขอเงิน แต่เพื่อรองน้ำ ของเหลวอย่างที่ ๒ คือน้ำมันซึ่งโจก็ยึดครองอีก หนังผูกเรื่องให้ฟูรีโอซาเป็นคนขับรถส่งน้ำมันให้กลุ่มกองกำลังที่เป็นพันธมิตรกับโจ จะเห็นได้ว่าน้ำมันเป็นเครื่องต่อรองและเชื่อมสัมพันธ์ในหมู่ผู้มีอำนาจ ของเหลวแบบที่ ๓ และ ๔ คือน้ำนมและเลือด (ตามลำดับ) เมื่อโลกขาดแหล่งน้ำธรรมชาติ น้ำนมและเลือดในตัวมนุษย์จึงถูกรีดออกมาใช้ โดยโจเลี้ยงนางทาสอ้วนๆ หน้าอกโตเพื่อเป็นแม่พันธุ์ผลิตน้ำนม ส่วนเลือดนั้นหนังนำเสนอในตอนที่แมกซ์ถูกจับไปเป็นเชลยช่วงต้นเรื่อง เขาถูกรีดเลือดเพื่อเป็นธนาคารเลือดส่วนตัวของลูกสมุนของโจ ในตอนท้ายเลือดของแมกซ์ก็ใช้ช่วยชีวิตฟูรีโอซา
เส้นเรื่องหลักของหนังคือการที่ฟูรีโอซา แมกซ์ และนางทาสที่หนีรอดร่วมเดินทางไปยังดินแดนสีเขียว อันมีนัยแห่งพระแม่ธรณี หรือการมองโลกในสถานะของแม่ หนังให้เหตุผลว่าเป็นดินแดนที่ฟูรีโอซากับแม่เคยอยู่ในสมัยเด็กๆ แถมยังเป็นดินแดน “หญิงล้วน” ด้วย จุดหักมุมคือหนังไม่ได้ให้คำตอบง่ายๆ ว่าพวกเขาเดินทางไปค้นพบพระแม่ธรณีแล้วอยู่กับโลกธรรมชาติดังเดิม ตรงกันข้าม ฉากสะเทือนอารมณ์ที่สุดคือฟูรีโอซาตระหนักว่าไม่มีดินแดนสีเขียวเหลือแล้ว มนุษย์มาช้าไป ธรรมชาติตายหมด พระแม่ธรณีตายแล้ว มนุษยชาติกลายเป็น “ลูกกำพร้าแม่”
เมื่อระบบนิเวศแปรเปลี่ยน มโนทัศน์เรื่องร่างกายก็แปรเปลี่ยนไปด้วย สิ่งน่าสนใจที่สุดคือหนังนำเสนอร่างกายในสถานะของ “ร่างกายกลุ่ม” (assemblage) ซึ่งปฏิเสธความเป็นปัจเจกและความเป็นเอกเทศของร่างกายมนุษย์ หากเป็นการประกอบกันระหว่าง “ร่างมนุษย์” และ “ร่างของสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์” (nonhuman) เช่น ตัวละครหลักทั้งสามมีร่างที่ต่อกับสิ่งอื่น ฟูรีโอซามีแขนเหล็กต่อแทนแขนที่ขาดหายไป แมกซ์โดนเชื่อมกับตัวรถ โจต้องสวมหน้ากากที่มีสายยางเชื่อมโยงตลอดเวลา
มากไปกว่านั้น ร่างของมนุษย์ (ที่แม้จะต่ออวัยวะที่ไม่ใช่มนุษย์) ก็ยังไม่ใช่ร่างอันสมบูรณ์ รถยนต์ในเรื่องนี้มิใช่พาหนะ แต่มีสถานะเป็นส่วนขยายของร่างมนุษย์ (หรือมองในทางกลับกัน ร่างมนุษย์คือส่วนขยาย-อะไหล่ชิ้นใหม่ของรถ) รถและมนุษย์เป็นอวัยวะ/อะไหล่ส่วนเติมเต็มของกันและกัน ในฉากสำคัญ นุกซ์ ทหารหนุ่มบรรลุศรัทธาของชีวิตเมื่อหยิบพวงมาลัยต่อกับรถ ร่างเอกเทศของนุกซ์คือความไม่สมบูรณ์ เขาจะรู้สึกสมบูรณ์ในระดับจิตวิญญาณก็ต่อเมื่อร่างของตนต้องต่อ-สวม-ขับรถยนต์เท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น “ร่างกายกลุ่ม” อันเกิดจากร่างมนุษย์และรถยนต์ประกอบกันก็ยังไม่ใช่ร่างกายสมบูรณ์ที่สุด มันอาจขยายความเชื่อมโยงเป็นลักษณะ “ร่างฝูง” ซึ่งหนังวางตำแหน่งให้อยู่เหนือร่างกายแบบปัจเจก ฟูรีโอซา แมกซ์ นุกซ์ และนางทาสทั้งหลายไม่ได้เพียงแค่นั่งอยู่บนรถในฐานะผู้โดยสาร แต่พวกเขาและตัวรถเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ทุกคนเปรียบดั่งอวัยวะชิ้นหนึ่งของร่างใหญ่ ฝั่งผู้ร้ายก็เป็นร่างแบบฝูงที่ใหญ่กว่า แต่ละตัวมีรถประจำตัวซึ่งส่วนใหญ่มีคนเป็นส่วนประกอบในตำแหน่งต่างๆ รถทั้งหมดขับเป็นหมู่คล้ายแมลงฝูงใหญ่ไล่ล่าแมลงฝูงเล็ก หนังทั้งเรื่องคือการเสนอภาพการไล่ล่าระหว่างแมลงฝูงใหญ่กับแมลงฝูงเล็ก มีตัวละครหล่นตายบ้าง รถคว่ำบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้ร่างกายแบบฝูงพังทลายลง (ยกเว้นตอนท้ายเรื่อง เพื่อขนบของหนังแอ็กชัน) การตายรายทางของตัวละครและรถก็คล้ายนกหรือแมลงที่หลุดจากฝูงแล้วโดนฆ่า แต่ไม่ได้ทำให้ทั้งฝูงหยุดวิ่ง หนังเองก็ไม่พิรี้พิไรเสียใจต่อการตายของตัวละคร นั่นก็เพราะความเป็นฝูงสำคัญกว่าปัจเจก
ความสัมพันธ์แบบฝูงนั้นล้อกับความเป็นเครือข่ายของระบบนิเวศ เพราะในระบบนิเวศไม่มีใครอยู่ผู้เดียว ชีวิตจะเกิดขึ้นได้ต้องเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นทั้งที่เป็นมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ การเสนอเรื่องสถานะเครือข่ายหรือฝูงหรือการเป็นกลุ่มนี้มิใช่เรื่องใหม่ นักทฤษฎีในยุโรปและอเมริกาได้พูดคุยกันมานานแล้ว สำหรับผู้เขียน สิ่งน่าสนใจใน Mad Max คือการสอดแทรกเรื่องดังกล่าว (ซึ่งเป็นการกระจายคุณค่าในเครือข่าย) ในหนังแอ็กชัน (ซึ่งมักเชิดชูคุณค่าแบบปัจเจก เช่น การเน้นความเป็นฮีโร่ของพระเอก) เรื่องนี้ลดบทบาทร่างกายแบบมนุษย์ปัจเจกลงและขับเน้นร่างกายแบบกลุ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีเพื่อรักษาขนบของหนังแอ็กชัน จึงต้องเชิดชูคุณค่าแบบปัจเจกของแมกซ์เป็นระยะ ที่เห็นชัดมากคือฉากจบซึ่งแมกซ์ปฏิเสธการเป็นส่วนหนึ่งของฝูง เขาเดินสวนฝูงชนออกไปจากเมืองเพื่อเดินทางอย่างโดดเดี่ยวอีกครั้ง แต่ภาพในช็อตเกือบสุดท้ายแมกซ์เองก็ยังอยู่ในฝูงชน เขาออกจากฝูงไม่ได้ง่ายนัก ในทางตรงกันข้าม ช็อตจบจริงๆ ของหนังเป็นภาพของฟูรีโอซากับหมู่นางทาสยืนอยู่บนลิฟต์ในตรรกะคล้ายร่างมนุษย์เชื่อมกับรถยนต์ ร่างของฟูรีโอซาและนางทาสคนอื่นๆ เชื่อมต่อลิฟต์ พวกเธอกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างใหม่ที่ต้องเอาตัวรอดในโลกยุคสมัยมนุษย์ต่อไป
อ่านประเด็นน่าสนใจเพิ่มเติมที่
บทความ “บันทึกหลังดู ‘Mad Max : Fury Road’” ใน facebook.com/konmongnangweekly
บทสัมภาษณ์ จอร์จ มิลเลอร์ “Fury Road : All Your Darkest Environmental Nightmares Come True” ใน
http://www.sierraclub.org/sierra/2015-3-may-june/feature/fury-road-all-your-darkest-environmental-nightmares-come-trueบทความ “Mad Max : Fury Road may be the Anthropocene at its worst – but it makes for pretty sick cinema” ใน
http://grist.org/living/mad-max-fury-road-may-be-the-anthropocene-at-its-worst-but-it-makes-for-pretty-sick-cinema/ ตีพิมพ์ใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 364 มิถุนายน 2558
จาก
http://www.sarakadee.com/2015/07/09/mad-max-fury-road/https://www.youtube.com/v/hEJnMQG9ev8