[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 11:05:07 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: จิตวิวัฒน์ : รัญจวน อินทรกำแหง จากเหรียญตรามาสู่ธุลีดินอย่างสง่าสงบงาม  (อ่าน 1879 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
มดเอ๊ก
สุขใจ คนพิเศษ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +8/-1
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 5162


ระบบปฏิบัติการ:
Windows XP Windows XP
เวบเบราเซอร์:
Chrome 50.0.2661.272 Chrome 50.0.2661.272


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 02 กันยายน 2559 02:56:39 »



รัญจวน อินทรกำแหง จากเหรียญตรามาสู่ธุลีดินอย่างสง่าสงบงาม

โดย ประชา หุตานุวัตร
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2559

ชีวิต ๙๕ ปี ของอาจารย์รัญจวน อินทรกำแหง เป็นชีวิตที่มีค่าน่าศึกษายิ่งนักในหลากหลายมิติทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านอยู่ในโลกทั้งสมัยเก่าและสมัยใหม่ ทั้งไทยและเทศ คลุกคลีกับทั้งชนชั้นสูงและชาวบ้าน อยู่ในโลกฆราวาส และโลกนักบวช เป็นนักคิดนักเขียนและนักปฏิบัติ

ท่านเกิดปลายรัชกาลที่๖ เป็นลูกทหารระดับนายพันเอกชั้นพระยาฯ มารดาเป็นสตรีชาววัง แต่ชีวิตก็ไม่ได้ราบเรียบนัก บิดาออกจากราชการมาประกอบธุรกิจแล้วไม่ประสบความสำเร็จ แต่มารดาท่านมีวิสัยทัศน์ไกลก่อนยุคสมัย มุ่งมั่นจะให้ลูกสาวได้รับการศึกษาอย่างดีเพื่อจะได้เป็นตัวของตัวเอง ในที่สุดสาวน้อยรัญจวน อินทรกำแหงก็เรียนจบได้ประกาศนียบัตรวิชาครูเป็นก้าวแรก ได้เป็นครูหัวเมืองสิบกว่าปีตั้งแต่อายุ๑๙ปี แล้วก็ย้ายเข้ามาเป็นครูในกรุงเทพฯเพื่อดูแลมารดาไปด้วยเมื่อเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวแล้ว

จากนั้นไม่นานก็ย้ายเข้ามาทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ จนได้รับทุนไปศึกษาต่อด้านจนจบปริญญาโทด้านบรรณรักษ์ศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาหน้าที่การงานก็งอกงามขึ้นตามลำดับ แม้จะมีเรื่องให้ฟันฝ่าหลายอย่าง แต่ก็อาศัยความพากเพียรและซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้ง ตามแบบอย่างของคุณธรรมสมัยนั้นที่ยังไม่สั่นคลอนเท่าปัจจุบัน

นอกจากงานในหน้าที่ราชการแล้ว อาจารย์รัญจวนก็ใช้เวลาและพลังไม่น้อยในงานอาสาสมัครเกี่ยวกับสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย และสมาคมสตรีอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย ในที่สุดเมื่ออายุ ๔๘ ปี ก็ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุตถจุลจอมเกล้า อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพราะไม่ได้ขวนขวาย คนในระบบหรือคนที่เชื่อคุณค่ากระแสหลักย่อมถือว่านี่เป็นเกียรติประวัติที่สำคัญของชีวิต


งานด้านห้องสมุดทำให้อาจารย์ได้อ่านหนังสือและวิจารณ์หนังสือ จนกลายเป็นงานเขียนสำคัญในช่วงชีวิตฆราวาส และเป็นที่รู้จักกันในแวดวงวรรณกรรม ที่สำคัญคือ "ภาพชีวิตจากนวนิยาย " อันโด่งดัง และตามด้วย "วรรณกรรมวิจารณ์"ในเวลาต่อมา หนังสือทั้งสองยังใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบสำคัญของสถาบันการศึกษาต่างๆ ด้วย

เมื่ออายุ ๕๑ ปีก็ได้ลาออกมาเป็นข้าราชการบำนาญเพื่อรักษาหลักการของชีวิต และสอนพิเศษด้านบรรณารักษ์ศาสตร์และวรรณกรรมตามมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงอาจารย์ได้มาเป็นอาจารย์พิเศษที่ภาควิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมืองพอดี คือช่วง ๒๕๑๕-๒๕๒๔ และได้เป็นประธานสภาคณาจารย์ช่วงสำคัญที่สุดคือ ๒๕๑๗-๒๕๑๙

คุณธรรมของผู้ใหญ่แบบดั้งเดิมของไทยที่ถือเมตตาธรรมเป็นหลักเหนือการแบ่งแยกทางการเมือง ทำให้อาจารย์ได้เป็นที่ปรึกษาของนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้าหลายคน จนถูกทางสันติบาลสอบสวน แต่อาจารย์ก็มั่นคงไม่หวั่นไหว พร้อมๆ กันนั้นอาจารย์ก็สอนโรงเรียนนายทหารไปด้วย คุณธรรมแบบนี้ปรากฏให้เห็นที่อื่นๆ บ้างไม่มากนักในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมืองในสมัยนั้น เช่นที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์เป็นต้น

ช่วงนี้เอง อาจารย์รัญจวนได้เริ่มปฏิบัติธรรมตามสำนักวัดป่าบ้างแล้ว เริ่มต้นโดยบังเอิญที่วัดหินหมากเป้ง ต่อมาที่สำนักของก.เขาสวนหลวง ราชบุรี และที่วัดหนองป่าพง ภายใต้การดูแลของหลวงพ่อชา

ในปีพ.ศ.๒๕๒๔ ขณะนั้นอายุได้ ๖๐ ปี ก็ได้ลาออกจากตำแหน่งอาจารย์พิเศษ และโกนผมสละบ้านเรือนออกมาเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเต็มเวลากับหลวงพ่อชา แต่อยู่กับท่านได้ไม่นาน ปีต่อมาอาจารย์ชา อาพาธหนัก ไม่อาจสอนธรรมได้อีก จึงได้มาศึกษากับท่านอาจารย์พุทธทาสที่สวนโมกข์ และประจำอยู่ที่สวนโมกข์จนพ.ศ. ๒๕๓๘

หลังจากท่านอาจารย์พุทธทาสดับไปแล้วสองปี จึงย้ายไปอยู่วัดป่าหนองไผ่ จังหวัดสกลนคร จนสิ้นวาระสุดท้าย ได้มารักษาตัวที่ศิริราชพยาบาลและดับสังขารเมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ อีกไม่ถึงเดือนก็จะอายุครบ ๙๕ ปี

การออกจากเรือน เป็นคนไร้บ้านนั้น ย่อมเป็นการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว จริงจังมาก และเลือกก้าวออกมาขณะยังมีกำลังวังชาพอสมควรนี้ นับว่าฉลาดอย่างยิ่ง ที่สามารถเห็นทุกข์โทษของโลกธรรมทันเวลา ก่อนที่ร่างกายจะอ่อนแอเกินกว่าจะขวนขวายในทางธรรมได้ เข้าคติอาศรม๔แต่โบราณ ที่ถือว่าช่วงแห่งการศึกษาของคนเรานั้น ต้องมีสองครั้ง คือครั้งแรกในวัยต้น ก่อนตั้งครอบครัว และครั้งที่สอง หลังวัยกลางคน เมื่อธุระของครอบครัวเสร็จสิ้นแล้ว

คนสมัยใหม่จำนวนมากลืมคติข้อนี้ และพลาดโอกาสของการศึกษาครั้งที่สอง ที่จะเข้าใจธรรมะอย่างลึกซึ้งเพื่อจะได้ใช้ชีวิตให้คุ้มกับที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ตามคติของพระพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสว่าคนที่เกิดมาเป็นคนนั้น ถ้าไม่สามารถยังดวงตาให้เห็นธรรมได้ก่อนสิ้นชีวิต ก็นับว่าเสียชาติเกิด

การออกมาปฏิบัติธรรมนั้น สำหรับผู้หญิง ไม่ง่ายเหมือนผู้ชายที่มีสถาบันสงฆ์รองรับ อาจารย์รัญจวนจึงเลือกครูบาอาจารย์ด้วยความระมัดระวัง เมื่อเห็นการติดยึดในตัวพระอาจารย์ จนพากันวางตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ หรือถึงกับแย่งกันเอาหน้าเอาตากับพระอาจารย์ท่านนั้นอาจารย์รัญจวนก็ถอยออกมาทันที

การได้มาลงเอยที่สวนโมกข์นั้น เป็นการปะเหมาะที่พอดี เพราะได้ทั้งความรู้ทางปริยัติและปฏิบัติ ที่เหมาะกับนักแสวงหาตัวยงอย่างรัญจวน อินทรกำแหง แม้ระยะแรก วัฒนธรรมวัดป่า กับวัฒนธรรมสวนโมกข์จะไม่ลงเอยกันดีนัก แต่อุปายะของท่านอาจารย์พุทธทาสก็ทำให้อาจารย์รัญจวนได้ปฏิบัติธรรมที่นี่ ทั้งได้สอนคนอื่นที่ต้องการธรรมะไปด้วย แทนที่จะหลีกเร้น ปฏิบัติตนอย่างเดียวเหมือนที่ตั้งใจแต่แรกระยะแรกก็สอนคนที่มาสวนโมกข์จำนวนมากมายทั้งไทยทั้งฝรั่ง และต่อมาก็มีผู้มาเชิญอาจารย์รัญจวนออกไปสอนข้างนอกด้วย ท่านอาจารย์สวนโมกข์ถือสำหรับคนที่เอาจริงเอาจัง และไม่หลอกตัวเองนั้น ว่าการสอนคนอื่น เท่ากับเป็นการสอนตนเองไปด้วยเสมอ และท่านสนับสนุนศิษย์หลายคนให้เดินทางนี้ "เรียนให้รู้เป็นครูเขา"

ชีวิตที่ก้าวจากคุณหญิงเหรียญตรามาสู่ธุลีดินที่สวนโมกข์นั้น และการฝึกของท่านอาจารย์นั้น มีเรื่องเล่าน่าสนุกที่ให้ข้อคิดได้หลายเรื่องทั้งเรื่องการปรับตัวมาอยู่อย่างเรียบง่ายของอาจารย์รัญจวนก็น่านับถืออย่างยิ่ง

การออกจากสวนโมกข์ก็เป็นการตัดสินใจสำคัญอีกครั้งหนึ่งของชีวิตคนสมัครใจไร้บ้าน เมื่อผู้นำสวนโมกข์คณะใหม่ ไม่มีความเป็นผู้นำพอ และไม่มีความมั่นใจในตนเองพอ

การได้มาอยู่วัดป่าหนองไผ่นั้น ถือว่าเป็นสถานที่สัปปายะ และเจ้าอาวาสมีใจกว้างใหญ่อย่างยิ่งแม้บทบาทการเผยแพร่ธรรมะจะลดลงไปบ้าง แต่ก็ได้เป็นโอกาสสำหรับการฝึกตนเองไปด้วย ทำให้ไม่ตรากตรำกับการสอนเกินไป และได้ดูแลสุขภาพพอสมควร

ถ้าพูดภาษาโลกๆ อาจารย์รัญจวนก็มีบุญที่มีศิษย์ที่เป็นเสมือนลูกสาว ดูแลใกล้ชิดเป็นเวลาถึง ๒๗ ปี ศิษย์คนนี้ มีภูมิหลังเช่นเดียวกับอาจารย์ในแง่ที่เป็นผู้ประสบ "ความสำเร็จ" มาจากสังคมสมัยใหม่ และสมัครใจสละเรือนออกมา ด้วยความตั้งใจปฏิบัติธรรมตั้งแต่ยังเป็นสาว และได้ดูแลกันจนวินาทีสุดท้ายที่อาจารย์ของชีวิตอาจารย์

เธอตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจยิ่งเกี่ยวกับการรับมือกับความเจ็บปวดทางกายภาพว่า "นานนับ10ๆ ปีดิฉันเห็นตลอดเวลาว่า คุณแม่ท่านใช้ขันติ/โสรัจจะ อย่างยิ่งยวดจนเมื่อท่านสุดจะทน กับอาการเจ็บป่วยทางกายเมื่อใด ท่านจึงได้เอ่ยปากปรึกษาลูกศิษย์ที่เป็นแพทย์นั่นแหละ เราถึงได้ยินได้ทราบว่า ท่านทนทุกขเวทนานั้นๆ มานานนับเดือนแล้วโดยมิได้ปริปากบ่น หรือแสดงอาการผิดปกติแม้แต่น้อยให้ใครๆ ล่วงรู้เลยคงมีแต่ยิ้มละมัยงามสงบให้แก่ผู้พบเห็นเท่านั้นบางครั้งท่านเจ็บป่วยอย่างหนัก แล้วออกมานั่งพักที่หน้าระเบียงแต่มีผู้มากราบเยี่ยมคารวะ ท่านก็จะต้อนรับด้วยอาการปกติอย่างสงบ ไม่มีอาการเวทนาใดแสดงให้ใครล่วงรู้ได้เลยทุกคนที่มากราบท่าน จะพูดเหมือนกันหมดว่า "คุณแม่งามผ่องใสมาก"ท่านก็ได้แต่ยิ้มเย็นๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของท่าน ไม่มีคำพิรี้พิไรรำพันไม่ปริปากโอดครวญความเจ็บไข้ให้เป็นที่ร้อนใจของผู้มากราบเยี่ยมเลย”

การใช้ทุกขเวทนาเป็นตัวตั้งสำหรับเจริญสติอย่างยาวนานนี้เอง น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ท่านรับมือกับความเจ็บปวดแรงกล้าก่อนละสังขารอย่างสงบเย็น และท่านอาจจะใช้เป็นพาหนะสำหรับเดินบนอริยมรรคด้วยก็ได้

ศิษย์ท่านนี้เล่าว่า ในช่วงสุดท้ายของชีวิตนั้น แม้แขนขาจะอ่อนแรง และรับประทานอาหารแทบจะไม่ได้ อาจารย์ก็นิ่งสงบอย่างอาจหาญและเมื่อถึงวันจะจากไปก็รู้ล่วงหน้าและบอกคนใกล้ชิดว่าจะไปแล้วตั้งแต่ตอนเช้าของวันนั้นโดยสามารถรวบรวมสติ อย่างชัดเจน และเมื่อเวลามาถึงในวาระก่อนสุดท้าย กล่าวคำว่า "เห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระธรรมเจ้า เห็นพระสังฆเจ้า" อย่างช้าๆ สามครั้ง อย่างชัดเจนในครั้งแรก แล้วค่อยๆ แผ่วลงๆ แล้วก็จากไปอย่างสงบ

สำหรับเธอ ท่านอาจารย์ของเธอนั้นได้ตายให้ดูด้วยลีลาชั้นครู อย่างอาจหาญสง่างามจนลูกศิษย์สตรีอนาคาริกผู้ดูแลใกล้ชิดทั้งสามคนไม่มีใครรู้สึกเศร้าสร้อยแม้แต่น้อย กลับรู้สึกซาบซึ้งว่าครูแสดงธรรมอย่างชนิดสุดยอดของความเป็นครูก่อนจากไป เธอผู้ดูแลอาจารย์รัญจวนมา ๒๗ ปีกล่าวว่า ถ้าจะให้นิยามสามคำ สำหรับชีวิตครูของเธอแล้ว เธอผุดคำว่าคน "ไม่ลวงโลก" ซื่อตรงต่อพระธรรม เสมอต้นเสมอปลายทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้คน

จาก http://jitwiwat.blogspot.com/2016/05/blog-post_27.html#more

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

ทิ นัง มิไฮ นัง มิจะนัง ทิกุนัง แปลว่า
ที่นั่ง มีให้นั่ง มึงจะนั่ง ที่กูนั่ง ทิ้งไว้เป็น
ปริศนาธรรม นะตะเอง
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.358 วินาที กับ 32 คำสั่ง

Google visited last this page 23 พฤศจิกายน 2567 16:33:17