The Revenge of Gaia : เมื่อโลกแก้แค้น (2) - คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์
คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์ โดย ดร.ไสว บุญมา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3907 (3107)
ในบทที่ 5 ผู้เขียนพูดถึงที่มาของพลังงานโดยเฉพาะในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่โลกปัจจุบันขาดไม่ได้ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม มุมมองของเขามักต่างจากแนวคิดกระแสหลักของนักวิทยาศาสตร์เป็นส่วนใหญ่
กลุ่มแรกได้แก่พลังงานจากฟอสซิลอันเกิดจากซากสัตว์และพืชซึ่งตายทับถมกันไว้ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์อันประกอบด้วย น้ำมันปิโตรเลียม ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ผู้เขียนมองว่าเนื่องจากฟอสซิลเกิดจากสิ่งมีชีวิต ฉะนั้นมันจึงเกิดขึ้นใหม่ได้เช่นเดียวกับที่มาของพลังงานชนิดอื่น เช่น ต้นไม้ และการเผาฟอสซิลเพื่อเอาพลังงานไม่ต่างจากการเผาท่อนไม้ ความจริงข้อนี้คนส่วนใหญ่มองข้าม ทำให้พากันคิดกันว่าฟอสซิลจะหมดไปโดยไม่มีการเกิดขึ้นใหม่มาแทน นั่นอาจเป็นความจริงหากเรามองในกรอบเวลาเพียงสั้นๆ แต่อายุของโลกต้องนับกันเป็นพันล้านปี
เราผลิตกระแสไฟฟ้าจากการเผาน้ำมันและถ่านหิน ในกระบวนการเผานี้เราเก็บพลังงานได้เพียงราว 40% ส่วนอีก 60% สูญเสียไปในในรูปต่างๆ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และไอน้ำ เท่าที่ผ่านมาเราไม่สามารถเก็บพลังงานได้มากกว่านี้ เพราะเทคโนโลยีมีข้อจำกัด ในขณะนี้เทคโนโลยีใหม่เริ่มเกิดขึ้นซึ่งจะเอื้อให้เก็บพลังงานได้มากขึ้น พร้อมกับฟอกควันให้สะอาด ก่อนที่มันจะถูกปล่อยออกไป อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเราผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาถึงปีละ 27,000 ล้านตัน หากเราทำให้มันเย็นลงถึงลบ 80 องศาเซนติเกรด มันจะแข็งเป็นภูเขาสูงขนาด 1 ไมล์ และมีเส้นรอบฐานยาว 12 ไมล์ เราจะไปเก็บมันไว้ที่ไหนยังเป็นปริศนา ฉะนั้นผู้เขียนจึงมองว่ายังอีกนานกว่าเทคโนโลยีใหม่จะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง
ส่วนก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและในบ้านเพื่อการหุงต้มและทำความร้อนก็มีปัญหามากเช่นกัน จริงอยู่การเผาผลาญก๊าซธรรมชาติจะสะอาดกว่าการเผาถ่านหิน แต่ก๊าซธรรมชาติมักรั่วไหลได้ง่ายซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้ ก๊าซที่รั่วออกไปเป็นมีเทน ซึ่งมีผลร้ายในการสร้างก๊าซเรือนกระสูงถึง 12 เท่าของคาร์บอนไดออกไซด์ ฉะนั้นการมองเพียงด้านเดียวจึงไม่พอ
กลุ่มที่ 2 เป็นก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งเราต้องผลิตขึ้นมาจากสิ่งอื่น เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติและน้ำ จริงอยู่ก๊าซไฮโดรเจนผลิตไม่ยาก แต่ผู้เขียนมองว่าโอกาสที่มันจะถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในอนาคตอันใกล้มีน้อย เพราะข้อจำกัดต่างๆ เช่น ราคาแพงและยากแก่การเก็บ นอกจากนั้นมันยังระเบิดง่ายอีกด้วย
กลุ่มที่ 3 เป็นสิ่งที่ไม่หมดไปหรือผลิตขึ้นมาทดแทนได้เมื่อนำมาใช้ซึ่งประกอบด้วยลม คลื่น น้ำ ชีวมวลและแสงแดด ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่าถ้ามนุษย์เราสามารถใช้พลังงานกลุ่มนี้แทนการเผาผลาญฟอสซิลได้แล้ว เราจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปโดยไม่สร้างปัญหาให้แก่โลก เขาเห็นว่านั่นอาจเป็นความจริง ถ้าเรามีประชากรต่ำกว่าในปัจจุบัน ณ วันนี้โลกมีประชากรมากถึงกว่า 6 พันล้านคน และทุกคนต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น พลังงานจากกลุ่มนี้จึงไม่สามารถที่จะสนับสนุนระดับการบริโภคนั้นได้โดยไม่สร้างปัญหาต่อโลก
ประเทศในทวีปยุโรปตั้งความหวังที่จะใช้พลังงานจากลมไว้สูงมาก แต่ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าความหวังนั้นอาจเป็นความฝันลมๆ แล้งด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น (1) การผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมมีต้นทุนสอง 2.5-3 เท่า ของการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ และจากพลังนิวเคลียร์ (2) ลมพัดในเพียงบางเวลา มันจึงผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 16-25% ของเวลาทั้งมดเท่านั้น ในช่วงเวลาที่เหลือเราต้องใช้พลังงานที่เก็บไว้หรือใช้จากแหล่งอื่น แต่การเก็บพลังงานในปริมาณมหาศาลยังทำไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นในช่วงเวลาที่มีลมพัดก็จะต้องสร้างกังหันลมจำนวนมาก จึงจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้พอใช้ เช่น อังกฤษจะต้องสร้างกังหันลมถึง 276,000 ตัว หรือ 3 ตัวต่อเนื้อที่ 1 ตารางไมล์ ซึ่งจะทำให้เนื้อที่ทั้งประเทศเต็มไปด้วยกังหันลม และ (3) กระแสลมที่เราเข้าใจในปัจจุบันว่าจะเกิดขึ้นนั้น อาจไม่เกิดอีกต่อไปเมื่อผิวโลกร้อนขึ้น ยังผลให้เขตร้อนขยายออกไปจนครอบคลุมเขตอบอุ่นในปัจจุบัน
ในด้านการใช้พลังงานจากคลื่นในมหาสมุทร ผู้เขียนมองว่าการค้นคว้าเพิ่งเริ่มต้นและคงต้องใช้เวลาอีกราว 20-40 ปีกว่าจะนำมาใช้ได้อย่างกว้างขวาง ส่วนพลังงานจากกระแสน้ำนั้นมีอันตรายน้อยกว่าจากฟอสซิลจริง แต่กระแสน้ำมีน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับจำนวนคนบนผิวโลก ตอนนี้มีการพูดถึงพลังงานจากชีวมวลกันมาก แต่ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าการผลิตชีวมวลจำนวนมากแฝงไว้ด้วยอันตรายที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึง นั่นคือ มันต้องการที่ดินซึ่งโลกใบนี้ไม่มีให้อีกแล้ว ฉะนั้นพลังงานจากแหล่งนี้จำกัดอยู่ที่การเผาผลพลอยได้จากการเกษตร เช่น ฟางและแกลบ ส่วนพลังงานจากแสงอาทิตย์ยังมีข้อจำกัดทั้งที่มีการพัฒนามาหลายสิบปีแล้ว เช่น ราคายังแพงมาก แสงแดดไม่มีตลอดเวลาและยังไม่สามารถเก็บพลังงานที่ผลิตได้ไว้ใช้ในยามที่ไม่มีแดด
กลุ่มที่ 4 เป็นพลังงานจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ซึ่งผู้เขียนมองว่าน่าจะเป็นแหล่งที่ถูกนำมาใช้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ความเห็นของเขาต่างจากของนักวิทยาศาสตร์และคนส่วนใหญ่ซึ่งเชื่อว่าพลังงานนิวเคลียร์มีอันตรายสูง เขานำข้อมูลมากมายมาเสนอเพื่อแย้งว่าความเชื่อนั้นไม่ได้วางอยู่บนฐานของข้อมูลที่แท้จริง และเพื่อแสดงว่าอันตรายที่อาจเกิดจากการผลิตไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์นั้นต่ำกว่าอันตรายที่เกิดจากการเผาผลาญฟอสซิล
อย่างไรก็ตาม เขาไม่เสนอให้ใช้พลังงานนิวเคลียร์ตลอดไป เขามองว่าในระหว่างที่เรามองหาแหล่งที่มาของพลังงานใหม่ ที่จะไม่สร้างอันตรายต่อโลก นิวเคลียร์เป็นพลังงานสำหรับใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่เหมาะสมที่สุด มิฉะนั้นเราจะต้องเปลี่ยนแนวการดำรงชีวิตกันขนานใหญ่เพื่อจำกัดการใช้พลังงาน แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่เต็มใจที่จะทำ
ในบทที่ 6 ผู้เขียนพูดถึงสิ่งที่เรากระทำในนามของการปกป้องสิ่งแวดล้อมหลังจากถูก Rachel Carson ปลุกให้ตื่นจากภวังค์ด้วยหนังสือชื่อ Silent Spring ซึ่งคงแปลว่า "เมื่อโลกนี้ไม่มีเสียงนก" เมื่อปี 2505 หนังสือเรื่องนี้ชี้ให้เห็นอันตรายของการใช้สารเคมีเพื่อฆ่าวัชพืชและแมลงที่ทำลายพืชผักผลไม้ในนา ในไร่และในสวน เมื่อนกตายจากการกินแมลงที่มีสารเคมีตกค้างอยู่
อันตรายนั้นนำไปสู่การห้ามใช้สารเคมีต่างๆ รวมทั้งดีดีทีซึ่งมีประโยชน์สูงมากในการกำจัดยุงที่มีชื้อมาลาเรีย ปราศจากดีดีทีประชาชนจำนวนมากต้องเสียชีวิตจากโรคนั้นทั้งที่ปัญหาไม่ได้เกิดจากการใช้สารเคมีเพื่อควบคุมโรคร้าย
หากเกิดจากการใช้สารเคมีมากเกินไปเพื่อผลิตอาหารเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง การห้ามใช้สารเคมีซึ่งมีประโยชน์จึงเป็นการมองแบบแยกส่วน แทนที่จะมองภาพรวมทั้งหมด เช่นเดียวกับการใช้ปุ๋ยคอกแทนปุ๋ยเคมี ที่มีสารไนเตรดซึ่งเราเข้ากันใจว่าเป็นอันตราย การใช้ปุ๋ยคอกเพียงเล็กน้อยไม่สร้างปัญหาหนักหนาสาหัส แต่การใช้จำนวนมาก ทำให้ส่วนหนึ่ง ไหลลงสู่สายน้ำยังผลให้น้ำสกปรกจนปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ อยู่ไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นผลการวิจัยซึ่งลงพิมพ์ในวารสาร Scientific American เมื่อเดือนกันยายน 2547 ชี้ให้เห็นว่าสารไนเตรดในอาหารและน้ำไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของคน ตรงข้ามมันช่วยในการย่อยอาหารและฆ่าแบคทีเรียในร่างกาย
การกระทำด้วยความตั้งใจดีแต่มองปัญหาแบบแยกส่วนและไม่ศึกษาต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริงนำไปสู่ความผิดพลาดได้ง่าย เช่น การกำจัดฝนพิษ เนื่องจากหมอกควันส่วนหนึ่งซึ่งก่อให้เกิดฝนพิษเป็นละอองของกำมะถันจากการพ่นแอโรโซล หมอกควันนี้มีประโยชน์เพราะมันช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์กลับไปทำให้ผิวโลกเย็นลงหลายองศา การกำจัดหมอกควันจึงทำให้ปัญหาโลกร้อนร้ายแรงยิ่งขึ้น
ในยุคนี้สิ่งที่เรากลัวกันมากที่สุดอย่างหนึ่งได้แก่โรคมะเร็ง เราพยายามจำกัดสารเคมีต่างๆ เพราะคิดว่ามันเป็นต้นตอของโรค แต่ผู้เขียนชี้ให้เห็นว่าปัจจัยที่ก่อเกิดโรคมะเร็งมากที่สุดมีอยู่แล้วในธรรมชาติ เช่น ก๊าซออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไปทุกวันนั้น เป็นตัวก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดมะเร็ง เช่นเดียวกับกัมมันตภาพรังสี ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในดิน ในอากาศและในบ้านของเราเอง ยิ่งไปกว่านั้นพืชที่เราคิดว่าเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นอาหารของเรานั้น อันที่จริงแล้วไม่ชอบให้เรากินมันเลย มันจึงพยายามผลิตสารพิษขึ้นมาต่อต้านเรา อาหารจึงเป็นต้นตอของโรคมะเร็งด้วย
หน้า 46