ตะกรุด"
ถ้าจะสู้อาราธนาเอาไว้ด้านหน้าเป็นมหาอุด ถ้าหนีให้รูดเอาไว้ด้านหลัง เป็นแคล้วคลาด ถ้าจะหาผู้หญิงให้เอาไว้ด้านซ้าย เป็นมหาเสน่ห์ ถ้าจะหาผู้ใหญ่หรือเจ้านายให้เอาไว้ด้านขวา เป็นมหานิยม"
ตะกรุด หมายถึง แผ่นโลหะที่แผ่แล้วม้วนกลมๆ ลงอักขระเลขยันต์คาถาอาคม แล้วแต่ตำราของแต่ละเกจิอาจารย์ เป็นเครื่องรางของขลังที่มีอายุเก่าแก่ มักสร้างขึ้นในสมัยโบราณ เพื่อใช้เป็นวัตถุมงคลในการออกรบและพกพาแก้อาถรรพ์ต่างๆ นอกจากจะลงในแผ่นโลหะแล้วก็ยังลงในใบลาน ใบตาล หนังหน้าผากเสือ หนังควายเผือก แล้วม้วนกลมๆ ก็ย่อมเรียกว่า "ตะกรุด" ได้ทั้งสิ้น
ประโยชน์ของตะกรุด ก็คือ เป็นเครื่องรางของขลังใช้คุ้มครองตัว โดยการลงตะกรุดของแต่ละพระอาจารย์ก็จะลงตามสูตรของแต่ละสายที่ได้ศึกษาสืบต่อมา และมีอุปเท่ห์การใช้แตกต่างกันไป การเรียกชื่อก็แตกต่างกันไปตามแต่ละอาจารย์ ขนาดก็แตกต่างกันไป ส่วนมากอุปเท่ห์การใช้จะมีดังนี้ ถ้าจะสู้อาราธนาเอาไว้ด้านหน้า เป็น "มหาอุด" ถ้าหนีให้รูดเอาไว้ด้านหลัง เป็น "แคล้วคลาด" ถ้าจะหาผู้หญิงให้เอาไว้ด้านซ้าย เป็น "มหาเสน่ห์" ถ้าจะหาผู้ใหญ่หรือเจ้านายให้เอาไว้ด้านขวา เป็น "มหานิยม" เป็นต้น
ตะกรุดที่เป็นตะกรุดดอกเดียวจะเรียกว่าเป็น "
ตะกรุดโทน" ทำเป็นสองดอกคู่กัน ก็เรียก "
ตะกรุดคู่" หรือจะเป็นหลายๆ ดอก เช่น แปดดอก หรือเก้าดอกจนถึง 108 ดอกก็มี อีกชนิดหนึ่งเรียก "ตะกรุดลูกอม" ลักษณะจะเป็นดอกสั้นๆ ม้วนกลมๆ คล้ายลูกอม บางท่านก็ดัดแปลงทำเป็นเครื่องประดับ อย่างเช่น ตะกรุดท่านเจ้าคุณสนิมสมณคุณ วัดท้ายตลาด ทำเป็นสร้อยคล้องคอ ซึ่งปัจจุบันหาชมยากยิ่ง
ตะกรุดของพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดัง มีมากมายหลายท่านและหลายประเภท อาทิ ตะกรุดมหาโสฬสมงคลของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง ตะกรุดหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ตะกรุดหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตะกรุดมหาปราบ มหาระงับ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ตะกรุดใบลานบางปืน หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ตะกรุดไมยราพสะกดทัพ หลวงพ่อกุน วัดพระนอน ตะกรุดลูกอมหลวงปู่ยิ้ม วัดหนองบัว ตะกรุดลูกอมหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ ตะกรุดหลวงพ่อเนียม วัดน้อย ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ พระพิมลธรรม (นาค) วัดอรุณราชวราราม ฯลฯ
ยกตัวอย่างเช่น...ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี นับเป็นจักรพรรดิแห่งตะกรุดทั้งปวง ทำจากแผ่นทองแดง นำมาลงอักขระ ลงยันต์ โสฬสมงคลด้านหนึ่ง อีกด้านลงยันต์ไตรสรณคมน์ แล้วจึงปลุกเสกโดยหลวงปู่เอี่ยม 3 ไตรมาส เมื่อม้วนตัวตะกรุดแล้วจึงถักเชือก จากนั้นจึงโรยผงมหาโสฬสมงคล เป็นผงชนิดเดียวกับที่ทำพระปิดตา แล้วจึงนำมาลงรักปิดทับ ในสมัยนั้นทำบุญกับท่าน 1 บาท ได้รับตะกรุด 1 ดอก
ปัจจุบันตะกรุดนี้มีอายุการสร้างเกือบ 100 ปีแล้ว โปรดสังเกตว่า การทำตะกรุดจะมีแผ่นตะกรุดโผล่หัว-ท้าย ตัวตะกรุดมีทั้งทองแดง ตะกั่ว และเงิน ความยาวของตะกรุดมีตั้งแต่ 2 นิ้วครึ่ง, 3 นิ้วครึ่ง, 4 นิ้ว พุทธคุณดีทางเมตตามหานิยมคงกระพันสารพัดกัน และกันศาสตราวุธทั้งปวง
ตะกรุดมหาปราบ มหาระงับ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม มีความยาวประมาณ 4 นิ้ว อายุการสร้างเกือบ 100 ปีเช่นกัน ท่านทำแจกเฉพาะศิษย์ใกล้ชิดเท่านั้น แผ่นตะกรุดทำจากเนื้อตะกั่ว แล้วถักด้วยเชือกเป็นลายจระเข้ขบฟัน จากนั้นจึงลงรัก สาเหตุที่ได้ชื่อว่า "ตะกรุดมหาปราบ" เนื่องจากหลวงพ่อคงเน้นพระเวทวิทยาคม ไปในทางมหาอำนาจและคงกระพันชาตรี นอกจากนี้ยังมีตะกรุดดอกสั้น ยาวประมาณ 2 นิ้วครึ่ง ชื่อ "ตะกรุดมหาระงับ" มีลักษณะเหมือนกันทุกประการแต่สั้นกว่า ส่วน พุทธาคมจะเด่นทางแคล้วคลาด
เอกลักษณ์เฉพาะของตะกรุดมหาปราบ จะอยู่ที่ลายถัก และความเก่าของรักเป็นสำคัญ
ตะกรุดหนังหน้าผากเสือ พระพิมลธรรม (นาค) วัดอรุณฯ ธนบุรี มีอายุการสร้างประมาณ 100 ปี ความยาวประมาณ 1 นิ้วครึ่ง ทำจากหนังหน้าผากเสือ นำมาลงอักขระ พุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ ม้วนแล้วมัดด้วยด้าย 3 เปลาะ แล้วลงรักน้ำเกลี้ยง บางดอกจะปิดทองมาแต่เดิม มีพุทธคุณเด่นทางเมตตามหานิยม
ตะกรุดหลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี อายุการสร้างประมาณ 100 ปี ขนาดความยาวไม่แน่นอน ทำจากทองแดง พอกด้วยครั่งชันโรง ไม่ลงรักก็มี ลงรักทับอีกทีก็มี พุทธคุณเด่นทาง ป้องกันเขี้ยวงา เคยมีตำนานของชาวบ้านทะเลเล่าสู่กันว่า หากโดนงูกะปะกัด รวมถึง ตะขาบ แมงป่อง และสัตว์มีพิษทั้งหลาย ให้นำตะกรุดหลวงพ่อทองสุขมาปิดที่แผล สามารถดูดพิษได้
เอกลักษณ์เฉพาะตัวของตะกรุดหลวงพ่อสุข ก็คือ จะพอกด้วยครั่งชันโรงทุกดอก ครับผม
ราม วัชรประดิษฐ์