พระราชสรีรางคารของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
(รัชกาลที่ ๘) ซึ่งก่อนเสด็จสวรรคตได้กราบทูล พระราชมารดาให้บรรจุพระราชสรีรางคาร
พระบรมอัฐรัชกาลที่ ๘ ประดิษฐานที่วัดสุทัศน์ พระบรมอัฐิและพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ มิได้ประดิษฐานรวมอยู่ ณ อนุสรณ์สถาน “รังษีวัฒนา” สุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร (ภายในบรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของพระราชโอรสและพระราชธิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) รวมทั้งสมาชิกสายราชสกุลมหิดล) ทั้งนี้ เนื่องจากเมื่อสวรรคตนั้น ยังมิได้ทรงประกอบการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี แต่มีขึ้นในตอนหลัง
โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ขึ้นเป็น “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล อดุลยเดชวิมล รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราช” รวมทั้งยังได้ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์บางองค์ เช่น พระมหาเศวตฉัตรหรือพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ซึ่งใช้ในการกางกั้นพระบรมศพและพระบรมอัฐิ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ให้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐานไว้ ณ พระวิมานพระบรมอัฐิ หอพระธาตุมณเฑียร บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ส่วนพระบรมราชสรีรางคาร เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบบรรจุพระบรมราชสรีรางคารไปยังวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งถือเป็นวัดประจำรัชกาล และอัญเชิญบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ (ผ้าทิพย์ด้านหน้าพระพุทธบัลลังก์) “พระศรีศากยมุนี” พระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม
อีกส่วนหนึ่งของพระบรมราชสรีรางคาร อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พระเจดีย์ราชสกุลมหิดล วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ที่พระเจดีย์แห่งนี้ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณหน้ามุขด้านทิศตะวันออกของโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นที่บรรจุ
๑.พระบรมราชสรีรางคาร ส่วนหนึ่ง และพระตัจจะพระนลาฏ (ผิวหนังหน้าผาก) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
๒.พระทนต์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า อัญเชิญมาบรรจุไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ ทรงให้อัญเชิญมาบรรจุพร้อมกันกับพระราชสรีรางคารของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก โดยสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวีฯ ตรัสว่า “ไว้เป็นเพื่อนลูกแดง”
๓. พระราชสรีรางคารของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งก่อนเสด็จสวรรคตได้กราบทูล พระราชมารดาให้บรรจุพระราชสรีรางคาร ส่วนหนึ่งของพระองค์ไว้ ณ พระสถูปเจดีย์แห่งราชสกุลมหิดล เพื่อให้หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ได้มีโอกาสมาถวายสักการะได้โดยสะดวก โดยไม่ต้องเข้าไปถึงหอพระธาตุมณเฑียรบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งอาจจะเป็นการลำบากสำหรับหม่อมสังวาลย์
๔.พระอัฐิส่วนหนึ่งของพระโสณี (สะโพก) ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นพระอัฐิเมื่อคราวที่ทรงหกล้มและเสด็จเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช
๕.พระทนต์ของสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร และ
๖.พระทนต์และพระเกศาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
ดังนั้น พระสถูปเจดีย์แห่งราชสกุลมหิดล วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร จึงมีครบทุกพระองค์ที่ล่วงลับไปแล้วแห่งราชสกุลมหิดล ซึ่งสืบสายตรงจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระบรมราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยทรงสร้างพระสถูปเจดีย์แห่งนี้ มีลักษณะเป็นพระสถูปเจดีย์ครึ่งองค์ เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิ พระอัฐิ และพระราชสรีรางคารของพระประยูรญาติพระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๑๔๖ ถนนตีทอง แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงมีพระราชดำรัสให้สร้างขึ้น (ประมาณ พ.ศ.๒๓๕๐-๒๓๕๑) เดิมพระราชทานนามว่า “วัดมหาสุทธาวาส” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นก่อนเพื่อประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย อย่างไรก็ตามเมื่ออัญเชิญเข้ามาแล้วพระวิหารยังสร้างไม่เสร็จ สิ้นรัชกาลก่อนที่จะประดิษฐานเป็นสังฆาราม จึงเรียกกันว่า วัดพระโต วัดพระใหญ่ หรือวัดเสาชิงช้าบ้าง
ต่อมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงให้สร้างต่อไป และแสดงฝีพระหัตถ์ไว้เป็นอนุสรณ์ที่บานประตูกลางของพระวิหาร ร่วมกับกรมหมื่นจิตรภักดี ดังในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า “ปีมะเมียจัตวาศกนั้น มีพระราชดำริว่า พระโต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดให้อัญเชิญลงมาจากวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย และได้สร้างวัดประดิษฐานไว้กลางพระนครที่ใกล้เสาชิงช้า
โดยพระราชดำริจะสร้างวิหารใหญ่ขนาดวิหารวัดพนัญเชิงที่กรุงเก่า พระวิหารนั้นยังค้างอยู่ จึงโปรดให้สร้างพระวิหารนั้นต่อมา จนยกเครื่องบนเสร็จ ค้างอยู่แต่ยังไม่ได้ยกช่อฟ้าใบระกา อนึ่งบานประตูพระวิหารนั้นโปรดให้สลักลายขุดด้วยไม้แผ่นเดียว กรมหมื่นจิตรภักดี เป็นนายงาน เมื่อคิดอย่างสำเร็จแล้ว ให้ยกเข้ามาในท้องพระโรงทรงสลักด้วยฝีพระหัตถ์ก่อน แล้วจึงให้ช่างทำต่อไป” แต่ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อนที่การก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์
ถึงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะสร้างพระวิหารจนสำเร็จ รวมถึงให้สร้างพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ สัตตมหาสถานและกุฏิสำนักสงฆ์ประดิษฐานสังฆาราม พระราชทานนามว่า “วัดสุทัศนเทพวราราม”
ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในวันที่ ๙ มิถุนายนของทุกปี
“พระศรีศากยมุนี” พระประธานในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยเนื้อโลหะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดองค์หนึ่ง มีขนาดหน้าตักกว้าง ๓ วา ๑ คืบ นับเป็นพระพุทธรูปหล่อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยยุคก่อน ๒๕ พุทธศตวรรษ เดิมเป็นพระประธานอยู่ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ สุโขทัย สร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย ครั้นเวลาผ่านไปพระวิหารหลวงของวัดหักพังลงทำให้พระพุทธรูปองค์ต้องตากแดดกรำฝน
ล่วงถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาเพื่อประดิษฐานยังวัดที่จะสร้างขึ้นกลางพระนคร ใกล้เสาชิงช้า โดยมีพระราชดำริจะสร้างพระอารามที่มีพระวิหารใหญ่อย่างวัดพนัญเชิงที่อยุธยา
พระราชพงศาวดารกล่าวถึงการอัญเชิญพระศรีศากยมุนีมายังกรุงเทพฯ ในครั้งนั้นว่า “ลุจุลศักราช ๑๑๗๐ ปีมะโรง สำริดศก (พ.ศ.๒๓๕๑) เป็นปีที่ ๒๗ ในรัชกาลที่ ๑ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๖ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เชิญพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ ลงมาจากเมืองสุโขทัย หน้าตัก ๓ วาคืบ สมโภชที่หน้าตำหนักแพ ๓ วัน ครั้น ณ เดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เชิญชักพระขึ้นจากแพทางประตูท่าช้าง ไปทำร่มไว้ข้างถนนเสาชิงช้า
ประตูนั้นเรียกว่า ประตูท่าพระ มาจนทุกวันนี้ เหตุว่าต้องรื้อประตู จึงเชิญเข้าไปได้ พระพุทธรูปองค์นี้ภายหลังได้ถวายพระนามว่า พระศรีศากยมุนี”เก็บพระบรมอัฐิ พระอัฐิ จากหนังสือ “คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” จัดทำโดยกรมศิลปากร ดังนี้
เก็บพระบรมอัฐิ พระอัฐิ เป็นพิธีที่กระทำขึ้นหลังจากการถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว โดยประกอบพิธี ณ พระจิตกาธาน โดยเมื่อเสด็จขึ้นพระเมรุมาศ เจ้าพนักงานภูษามาลาเปิดผ้าคลุมพระบรมราชสรีรางคาร ทรงสรงพระบรมอัฐิด้วยน้ำพระสุคนธ์ เจ้าพนักงานแจงพระบรมอัฐิ โดยเชิญพระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรางคารเรียงเป็นลำดับให้มีลักษณะเหมือนรูปคน หันพระเศียรไปทางทิศตะวันตก
จากนั้นหันพระบรมอัฐิ พระบรมราชสรีรางคารที่แจงไว้มาทางทิศตะวันออก เรียกว่า แปรพระบรมอัฐิ แล้วจึงถวายคลุมด้วยผ้า เช่น พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายคลุมด้วยผ้า ๓ ชั้น คือ แพรขาว ผ้าตาด และผ้ากรองทอง
ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทองน้อย ทรงกราบถวายบังคมพระบรมอัฐิ แล้วเสด็จลงมาประทับพระที่นั่งทรงธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เหล่าราชนิกุล ข้าราชการ เดินสามหาบ ต่อมาเปลี่ยนเป็นการทำสำรับภัตตาหารสามหาบตั้งถวาย พระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฐิ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองน้อย ทรงทอดผ้าไตร สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะสดับปกรณ์ ทรงโปรยเหรียญทองเหรียญเงินพระราชทาน เจ้าพนักงานภูษามาลาเปิดผ้าคลุมพระบรมอัฐิ ทรงเก็บพระบรมอัฐิลงสรงในขันทรงพระสุคนธ์
การเก็บพระบรมอัฐิจะเลือกเก็บแต่ละส่วนของพระสรีระอย่างละเล็กน้อย พร้อมกันนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในที่ได้รับพระบรมราชานุญาตขึ้นรับพระราชทานพระบรมอัฐิไปสักการบูชา แล้วทรงประมวลพระบรมอัฐิบรรจุพระโกศ หลังจากนั้นเชิญพระโกศพระบรมอัฐิไปยังพระที่นั่งทรงธรรมทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย ส่วนพระบรมราชสรีรางคารเชิญลงบรรจุในพระผอบโลหะปิดทองประดิษฐานบนพานทองสองชั้นคลุมผ้าตาดพักรอไว้บนพระเมรุมาศ]”การเก็บรักษาพระบรมอัฐิ พระอัฐิ การนำพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ ที่ถวายพระเพลิง พระราชทานเพลิงแล้ว บรรจุใส่พระบรมโกศ พระโกศขนาดเล็กไปเก็บรักษานั้น ในสมัยอยุธยามีธรรมเนียมการสร้างพระสถูปเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิและพระอัฐิตรงที่ถวายพระเพลิง พระราชทานเพลิง และสถานที่อื่นๆ ต่อมาได้เชิญพระบรมอัฐิไปบรรจุไว้ ณ ท้ายจระนำพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญ์ ส่วนพระอัฐิก็เชิญบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดพระศรีสรรเพชญ์ และวัดแห่งอื่นในกรุงศรีอยุธยา
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกประดิษฐานไว้ ณ หอพระธาตุมณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง ในรัชกาลต่อๆ มาจึงโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการีประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียร รวมทั้งพระอัฐิพระบรมราชวงศ์ชั้นสูงบางพระองค์ ส่วนพระบรมวงศ์ฝ่ายในที่ทรงศักดิ์เสมอพระองค์เจ้าลูกหลวงที่ไม่มีเจ้าพี่เจ้าน้องที่ออกวังเป็นส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระอัฐิประดิษฐาน ณ หอพระนาก ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิของพระบรมชนกนาถจากหอพระธาตุมณเฑียรมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งมหิศรปราสาท ในรัชกาลต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญกลับไปประดิษฐาน ณ หอพระธาตุมณเฑียรตามเดิม
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จึงโปรดให้จัดชั้นบนภายใต้ยอดปราสาทองค์กลางเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุพการี ภายหลังจึงเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของรัชกาลต่อๆ มา รวมทั้งพระบรมอัฐิสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ ๔ และรัชกาลที่ ๕ ส่วนชั้นบนภายใต้ยอดปราสาทองค์ตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิพระประยูรญาติที่ทรงศักดิ์สูงและใกล้ชิดเดินสามหาบ จากหนังสือ "คำศัพท์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานพระราชพิธีพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร" จัดทำโดยกรมศิลปากร ดังนี้
เดินสามหาบ เป็นคำที่ปรากฏในเอกสารเก่าในหมายกำหนดการถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระราชทานเพลิงพระศพ รวมทั้งในงานปลงศพของสามัญชนในอดีต ก่อนการเก็บพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ได้จัดพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายหน้าออกเป็น ๙ ชุด ชุดละ ๓ คน ทำหน้าที่ถือและหาบสิ่งของต่างๆ คนที่หนึ่งถือผ้าไตร (ผ้าไตรสามหาบ) นำหน้า คนที่สองหาบสาแหรกซึ่งวางตะลุ่มและเตียบบรรจุภัตตาหารถวายพระสงฆ์ (ภัตตาหารสามหาบ) คนที่สามถือหม้อข้าวเชิงกรานซึ่งเป็นเตาไฟสำหรับตั้งหม้อหุงต้มในสมัยโบราณ ในหม้อใส่ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม กะปิ ฯลฯ เดินเวียนรอบพระเมรุมาศ พระเมรุโดยอุตราวัฏ (เวียนซ้าย) ๓ รอบ
จากนั้นพระมหากษัตริย์เสด็จฯ ขึ้นบนพระเมรุมาศ พระเมรุ ทรงทอดผ้าไตรสามหาบบนผ้าที่ถวายคลุมพระบรมอัฐิ พระอัฐิ สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะขึ้นสดับปกรณ์บนพระเมรุมาศ พระเมรุ จากนั้นทรงเก็บพระบรมอัฐิ พระอัฐิเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เสด็จฯ ยังพระที่นั่งทรงธรรม ทรงประเคนภัตตาหารสามหาบแด่สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะที่สดับปกรณ์ผ้าไตร เมื่อรับพระราชทานฉันเสร็จแล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ถวายพระพรลาทั้งนี้ ในพระราชพิธีปัจจุบันยกเลิกการเดินสามหาบรอบพระเมรุมาศ พระเมรุ คงไว้แต่เพียงการถวายผ้าไตรสามหาบก่อนเก็บพระบรมอัฐิ พระอัฐิ และถวายภัตตาหารสามหาบเมื่อเชิญพระโกศพระบรมอัฐิ พระอัฐิมาประดิษฐานบนบุษบก
เหนือพระแท่นแว่นฟ้าทอง ณ พระที่นั่งทรงธรรม โดยภัตตาหารสามหาบจัดตามพระเกียรติยศคือ พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี จัด ๓ ชุด (เก้าสำรับ) ชั้นเจ้าฟ้า จัด ๒ ชุด (หกสำรับ) ชั้นพระองค์เจ้าจัด ๑ ชุด (สามสำรับ)
มีข้อมูลจากสำนักราชบัณฑิตยสภาว่า เดินสามหาบเป็นคำเรียกพิธีกรรมอย่างหนึ่งที่ทำเมื่อเผาศพแล้ว วันรุ่งขึ้นเจ้าภาพจะต้องไปเก็บอัฐิเพื่อนำมาเก็บในที่อันควร และนำเถ้าที่เหลือไปลอยน้ำ เรียกว่าลอยอังคาร ในการเก็บอัฐิเดิมลูกหลานจะจัด๓ หาบ
ในสมัยโบราณจะให้ลูกหลาน ๓ คนแต่งกายสีขาว นำหาบทั้งสามไปเดินเวียนรอบที่เผาศพ กู่ร้อง ๓ ครั้ง แล้วนำหาบทั้ง ๓ นั้นไปถวายพระภิกษุ ๓ รูป พร้อมกับผ้าบังสุกุลอีกรูปละ ๑ ชุด เมื่อพระชักผ้าบังสุกุลและรับถวายหาบแล้วก็เสร็จพิธี
ปัจจุบันมักไม่ใช้หาบ แค่จัดอาหารใส่ปิ่นโต หรือถาดตามสะดวก ก็เรียกว่าทำสามหาบเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ คำว่าสาม ในเดินสามหาบ และทำสามหาบ ต้องเขียนเป็นตัวหนังสือ ที่มา : หนังสือพิมพ์รายวันข่าวสด