[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 20:46:25 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: โขน นาฏศิลป์ประจำชาติ และ “รามเกียรติ์” จากวรรณคดีอมตะสู่ นาฏกรรมไทย  (อ่าน 71619 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 10 ตุลาคม 2555 18:25:20 »

.

 
โขน
นาฏศิลป์ประจำชาติ ที่มีพัฒนาการสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  

ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารว่า  โขนเป็นมหรสพที่เล่นสมโภชน์ในงานหลวงและงานพระราชพิธีสำคัญ ๆ  ผู้แสดงโขนในสมัยโบราณคัดเลือกมาจากมหาดเล็ก ซึ่งเป็นบุตรของผู้ดีมีตระกูล  ผู้แสดงต้องฝึกฝนจนเกิดทักษะเชี่ยวชาญ  กระบวนท่ากระบวนรำและขั้นตอนในการแสดงมีจารีตแบบแผน  มีครูเป็นผู้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่อง


ทศกัณฐ์ (หน้าทอง)

ปฐมบทโขน
ความเป็นมาของโขน

โขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีระเบียบแบบแผน เป็นศิลปะและมหรสพประจำชาติ  ซึ่งบรรพชนไทยได้สร้างสรรค์หล่อหลอมและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน  องค์ประกอบต่าง ๆ นับตั้งแต่การเริ่มฝึกหัด จนถึงการแสดงล้วนเกี่ยวเนื่องด้วยขนบจารีตประเพณีพิธีกรรมอันละเอียดอ่อน ลึกซึ้งและศักดิ์สิทธิ์  โขนเป็นมหรสพหลวงที่แสดงในพระราชพิธีสำคัญ ๆ มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นเครื่องประกอบราชอิสริยยศอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์  และปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้นาฏศิลป์ชั้นสูงแขนงนี้รุ่งเรือง ยั่งยืนเป็นมรดกชิ้นเอกของชาติสืบมาจนถึงทุกวันนี้คือพระบารมีและพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์   นักวิชาการนาฏศิลป์เชื่อว่า โขนเป็นมหรสพที่ก่อรูปหล่อหลอมขึ้นจากศิลปวิทยาการหลายสาขาที่มีมาก่อน ได้แก่ ระบำ รำ เต้น กระบี่กระบอง  หนัง (หนังใหญ่)  การเล่นดึกดำบรรพ์หรือชักนาคดึกดำบรรพ์  รวมทั้งคติความเชื่อของสังคมในอดีตกาล



หนุมาน

• ระบำ รำ เต้น
การละเล่นระบำ รำ เต้น   เป็นการแสดงออกถึงภาวะทางอารมณ์หรืออาการอย่างใดอย่างหนึ่งของมนุษยชาติ  ระบำเป็นการร่ายรำที่แสดงพร้อมกันเป็นหมู่  มีท่วงท่าที่เหมือนกันหรือละม้ายกัน   รำเป็นการแสดงเดี่ยวหรือคู่ประกอบเพลง  หรือประกอบท่าในการแสดง  รำทำบท  รำใช้บท  รวมถึง การรำอาวุธ เช่น รำทวน  รำพัดชา  หรือรำขอพัดชา  การรำขอพัดชานี้เป็นราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา  ขณะเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการรอยพระพุทธบาท  เมื่อช้างถึงพระพุทธบาทแล้ว  ต้องทรงพระแสงของช้างรำพัดชาถวายเป็นพุทธบูชา  ราชประเพณีทรงรำพัดชาที่พระพุทธบาทครั้งหลังสุดมีขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เต้นเป็นศิลปะแห่งการยกขาขึ้นลง เช่น เต้นเขน  เป็นต้น

• กระบี่กระบอง
กระบี่กระบองเป็นการฝึกการใช้อาวุธสำหรับป้องกันตัวหรือต่อสู้ข้าศึก  มีทั้งอาวุธสั้น เช่น ดาบ กระบอง (ไม้สั้น) กระบี่ ฯลฯ  อาวุธยาว เช่น พลอง (ไม้ยาว) หอก ทวน ง้าว ฯลฯ  รวมทั้งการใช้เครื่องป้องกันอาวุธ เช่น โล่ เขน เป็นต้น

การฝึกศิลปะการใช้อาวุธและเครื่องป้องกันกำบังดังกล่าวเรียกว่า “วิชากระบี่กระบอง”  ผู้เรียนต้องฝึกฝนให้เกิดความคล่องแคล่วชำนิชำนาญจนเป็น “ศิลปะ”  นอกจากจะใช้ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวขณะเดินเท้าแล้ว ยังต้องสามารถใช้อาวุธขณะอยู่บนพาหนะได้ด้วย เช่น บนหลังม้า บนหลังช้าง หรือบนรถศึก เป็นต้น

การฝึกท่าทางต่าง ๆ ในวิชากระบี่กระบองมีทั้งเพลงรำ เพลงรบ เพลงกราย เพลงสกัด ฯลฯ เมื่อฝึกเดี่ยวจนคล่องแคล่วแล้วจึงประกบคู่ และต้องมีการซ้อมหรือแสดงเพื่อความพร้อมในสถานการณ์จริงและมีการแสดงประชันฝีมือในงานต่าง ๆ


• หนัง (หนังใหญ่)
การเล่นหนังในงานสมโภชต่าง ๆ มีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าหนังในครั้งนั้นเล่นเรื่องอะไร ในกฎมนเทียรบาล   ซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  กล่าวถึงมหรสพต่าง ๆ ในพระราชพิธีจองเปรียงว่า

“...ลูกขุนเฝ้าหน้าเรือเบญจา เรือตะเข้แนมทังสองข้าง ซ้ายดนตรี ขวามโหรี ตั้งเรือเอนเปนตั้งแพนโคมทุกลำ ถ้าเสดจ์ลงเป่าแตรโห่ ๓ ลา  เล่นหนังระบำ เลี้ยงลูกขุนแลฝ่ายใน  ครั้นเลี้ยงแล้วตัดถมอแก้เอน  โห่ ๓ ลา  เรือเอนตั้งแพนแห่  ตัดถมอลอยเรือพระธินั่งล่องลงไปส่งน้ำ  ครั้นถึงพุทไทสวรรคจุดดอกไม้เล่นหนัง”

หนังเป็นมหรสพโบราณที่มีขนบและจารีตพิธีกรรมหลายอย่างใกล้เคียงกับโขน  ตัวหนังทำด้วยแผ่นหนังวัวฉลุฉลักเป็นรูปบุคคลในเรื่องที่แสดง ยกเว้นตัว “หนังเจ้า” คือพระฤษีและพระแผลงที่ใช้สำหรับเชิด “เบิกหน้าพระ”  ซึ่งโบราณนิยมฉลุฉลักด้วย “หนังหมี”  เรื่องที่ใช้สำหรับแสดงหนังใหญ่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์คือ “รามเกียรติ์” เช่นเดียวกับโขน  แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานว่า มีการแต่งเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์และสร้างตัวหนังสือเรื่องสมุทรโฆษขึ้นโดยพระราชปรารภสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ดังปรากฏในตอนต้นเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ ว่า
   

          พระให้กล่าวกาพยนิพนธ์      จำนองโดยกล
ตระการเพรงยศพระ
          ให้ฉลักแสบกภาพอันชระ      เปนบรรพบุรณะ
นเรนทรราชบรรหาร
         ให้ทวยนักคนผู้ชาญ           กลเล่นโดยการ
ยเปนบำเทิงธรณี





อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ใช้เล่นหนังในงานสมโภชของหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายคือรามเกียรติ์ เช่นเมื่อคราวที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โปรดฯ ให้สมโภชพระพุทธบาท  ดังปรากฏในบุณโณวาทคำฉันท์ กล่าวถึงมหรสพกลางคืนว่า
          ครั้นสุริยเสด็จอัษฎงค์         เลี้ยวลับเมรุลง
ชรอุ่มชรอ่ำอัมพร
          บัดหนังตั้งโห่กำธร            สองพระทรงศร
ฉลักเฉลิมเจิมจอง
          เทียนติดปลายศรศรสอง     พากย์เพ้ยเสียงกลอง
ก็ทุ่มตระโพนท้าทาย
          สามตระอภิวันท์บรรยาย     ชูเชิดพระนารายณ์
นรินทรเริ่มอนุวัน
          บัดพาลาสองสองขยัน       ปล่อยวานรพัน-
ธนาก็เต้าเตียวจร
          ถวายโคบุตรบมิให้มรณ์      ปละปล่อยวานร
นิวาสสถานเทาคง            
          เริ่มเรื่องไมยราพฤทธิรงค์     สะกดอุ้มองค์
นเรศดลบาดาล

หนังใหญ่ที่เล่นสมโภชพระพุทธบาทคราวนั้น ดำเนินตามขนบการแสดงหนังใหญ่ คือมีการพากย์สามตระเบิกหน้าพระและปล่อยลิงหัวค่ำ  แล้วจึงเริ่มเรื่องรามเกียรติ์ตอนศึกไมยราพ

จารีตร่วมของหนังใหญ่กับโขนนอกจากจะเล่นเรื่องรามเกียรติ์เหมือนกันแล้ว ดนตรีที่ใช้ประกอบคือวงปี่พาทย์เครื่องห้า ซึ่งประกอบด้วย ระนาด ฆ้องวง ปี่ กลองทัด และตะโพน ทั้งเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบกิริยาอาการของตัวแสดงยังเหมือนกันอีกด้วย






"ชักนาคดึกดำบรรพ์"  ภาพศิลาจำหลักระเบียงปราสาทนครวัด

การเล่นดึกดำบรรพ์
การเล่นดึกดำบรรพ์หรือชักนาคดึกดำบรรพ์  คือการเล่นแสดงตำนานการกวนน้ำอมฤตหรือการกวนเกษียรสมุทร  ปรากฏหลักฐานในกฎมนเทียรบาล ตอนว่าด้วยพระราชพิธีอินทราภิเษก  มีการตั้งเขาพระสุเมรุประกอบด้วยสัตตบริภัณฑ์  ราชวัตรฉัตรธง  มีรูปพระอินทร์อยู่กลางพระสุเมรุ ซึ่งประกอบด้วย “...รูปพระนารายน์บันทมสิน  ในตีนพระสุเมรุ์ นาค ๗   ศีศะเกี้ยวพระสุเมรุ์   นอกสนาม  อสูรยืนนอกกำแพง โรงรำระทาดอกไม้  มหาดไทบำเรอห์สนองพระโอษฐ  ดำรวจเลกเปนรูปอสูร ๑๐๐ มหาดเลกเปนเทพดา ๑๐๐ เปนพาลี  สุครีพ  มหาชมภูแลบริวารพานร ๑๐๓  ชักนาคดึกดำบรร อสูรชักหัว  เทพดาชักหาง  พานรอยู่ปลายหาง”


พาลี

ตำนานการกวนเกษียรสมุทรมีที่มาจาก “กูรมาวตาร”  อันเป็นปางหนึ่งในนารายณ์ ๑๐ ปางของศาสนาพราหมณ์ไวษณพนิกาย  แสดงเรื่องราวเมื่อพระนารายณ์อวตารเป็นเต่า  รองเขามันทระในพิธีกวนน้ำอมฤตหรือกวนเกษียรสมุทร  ในพิธีดังกล่าวใช้เขามันทระเป็นแกนหรือไม้กวน  ใช้พญาเศษนาคแทนเชือกคล้องวนรอบเขามันทระ  พระนารายณ์อวตารเป็นเต่าหนุนอยู่ใต้เขา  เหล่าอสูรชักนาคอยู่ทางด้านหัวและเหล่าเทพยดาชักด้านหางนาค จนในที่สุดเกษียรสมุทร (แปลว่าทะเลน้ำนม)  กลายเป็นน้ำอมฤต  ผู้ที่ได้ดื่มกลายเป็นอมตะ (ไม่ตาย)  ผลพลอยได้จากการกวนน้ำอมฤตดังกล่าวทำให้เกิดสิ่งสำคัญหลายอย่าง เช่น พระลักษมีเทวีแห่งโชคลาภผู้เป็นชายาของพระนารายณ์ และนางอัปสรทั้งหลาย ฯลฯ



ชมภูพาน

ดึกดำบรรพ์สันนิษฐานว่ามาจากศัพท์ภาษาเขมรว่า ทึกตฺบาร (ทึก แปลว่า น้ำ  ตฺบาร แปลว่า ปั่น)  แปลว่า การปั่นน้ำหรือกวนน้ำ  เรื่องการชักนาคดึกดำบรรพ์ปรากฏในภาพศิลาจำหลักที่ระเบียงด้านตะวันออกปราสาทนครวัดประเทศกัมพูชา  ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒  เมื่อราวพุทธศักราช ๑๖๕๐  ปราสาทนครวัดนี้สร้างขึ้นตามคติของศาสนาพราหมณ์ไวษณพนิกาย  ระเบียงโดยรอบจำหลักเรื่องนารายณ์อวตาร เช่น รามาวตาร กฤษณาวตาร และจำหลักพระประวัติของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ไว้บริเวณระเบียงปราสาทด้วย  นครรัฐต่างๆ ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา เช่น อโยธยา ละโว้  สุพรรณภูมิและสุโขทัย เหล่านี้ล้วนมีการสัมพันธ์ติดต่อกับอาณาจักรเขมรโบราณ และคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นครรัฐเหล่านี้ต่างได้รับอิทธิพลอารยธรรมอันรุ่งเรืองของเขมรโบราณไว้ทุกแคว้น

การเล่นดึกดำบรรพ์ที่ปรากฏในกฎมนเทียรบาล ซึ่งตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พุทธศักราช ๑๙๙๑–๒๐๓๑)  อาจมีที่มาจากภาพจำหลักเรื่องตำนานการกวนน้ำอมฤตที่ระเบียงปราสาทนครวัด เพราะในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา)  พระราชบิดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงกรีธาทัพไปตีได้เมืองยโศธรปุระ หรือเมืองพระนครของราชอาณาจักรกัมพูชาได้เมื่อพุทธศักราช ๑๙๗๔

อนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่าการเล่นดึกดำบรรพ์ที่ระบุในพระราชพิธีอินทราภิเษกมีพาลี สุครีพ และท้าวมหาชมพูและบริวารวานร ซึ่งอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นส่วนหนึ่งของการชักนาค บุคคลเหล่านี้ไม่ปรากฏในภาพจำหลักศิลาที่ระเบียงปราสาทนครวัด  เขาที่ตั้งเป็นแกนก็เป็นเขาพระสุเมรุไม่ใช่เขามันทระ แสดงว่าเมื่อไทยรับเอาคติดังกล่าวเข้ามาได้มีการปรับเปลี่ยนประสมประสานกับเรื่องพระอินทร์ตามคติทางพระพุทธศาสนา

การเล่นดึกดำบรรพ์เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีอินทราภิเษก  ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญและมิได้มีขึ้นในทุกรัชกาล  ในพระราชพงศาวดารระบุว่ามีการเล่นดังกล่าวในสมัยกรุงศรีอยุธยา ๓ ครั้ง  คือในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒  แผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  และแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงสันนิษฐานไว้ว่า “.....บางทีที่เกิดมี “กรมโขน” ขึ้นจะมาแต่การเล่นดึกดำบรรพ์  ในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้เอง  โดยทำนองจะมีพระราชพิธีอื่น อันมีการเล่นแสดงตำนานเนือง ๆ  จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงนี้ขึ้นไว้สำหรับเล่นในการพระราชพิธี  และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผน  ซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก  เพราะเป็นลูกผู้ดีฉลาดเฉลียวฝึกหัดเข้าใจง่าย  ใครได้เลือกก็ยินดีเสมอได้รับยกย่องอย่างหนึ่ง  เพราะฉะนั้นจึงได้เป็นประเพณีสืบมาจนชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ที่พวกโขนหลวงนับอยู่ในพวกผู้ดีที่เป็นมหาดเล็ก...ฯลฯ ....แต่ปรากฏในชั้นหลังมาว่ามีความนิยมเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งว่า การฝึกหัดโขนนั้น ทำให้ชายหนุ่มที่ได้ฝึกหัดคล่องแคล่วว่องไวในกระบวนรบพุ่ง  เป็นประโยชน์ไปจนถึงการต่อสู้ข้าศึก  จึงพระราชทานอนุญาตให้เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่  ตลอดจนผู้ว่าราชการเมืองหัดโขนไม่ห้ามปรามดังแต่แรก.....”

ผู้แสดงโขนแต่โบราณเป็นชายล้วนทั้งพระ นาง ยักษ์ ลิ ทุกคนต้องสวม “หน้าโขน” หรือ “หัวโขน”  เป็นตัวแสดงต่าง ๆ ตามท้องเรื่องยกเว้นนางโขนซึ่งใช้ผู้ชายแสดง แต่เครื่องอย่างตัวนาง แต่ไม่สวมหน้า เรื่องราวที่แสดงเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้า  ผู้สวมบทต่าง ๆ จึงต้องแสดงด้วยความเคารพ  ทำให้ทุกขั้นตอนของมหรสพชนิดนี้ประกอบด้วยขนบจารีตและพิธีกรรม  จากหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ชวนให้สันนิษฐานว่า “โขน” ของไทย น่าจะได้รับอิทธิพลจาก “ละโขน” และ “โขล” ของเขมรโบราณทั้งรูปแบบและเรื่องราวที่แสดง รวมทั้ง “หน้าโขน” ที่สวมใส่ในการแสดงด้วย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาทขึ้น  ต่อมาพระมหาปราสาทดังกล่าวถูกเพลิงไหม้  จึงโปรดฯ ให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท  และในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทนี้มีพระฉากไม้เขียนลายรดน้ำ เรื่องพระราชพิธีอินทราภิเษกประดับอยู่ (ปัจจุบัน พระฉากนี้เก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม)  กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร  ทรงสันนิษฐานว่า พระฉากนี้เดิมน่าจะอยู่ในพระที่นั่งอินทราภิเษกมหาปราสาท  อาจเคลื่อนย้ายออกมาได้ทันคราวที่เพลิงไหม้  เรื่องพระราชพิธีอินทราภิเษกในพระฉากน่าจะโปรดฯ ให้เขียนขึ้นเพื่อเป็นแบบแผนของพระราชพิธี  มีภาพการเล่นดึกดำบรรพ์ปรากฏภาพพาลี  สุครีพ  ท่าวมหาชมพูและวานรบริวารชักอยู่ที่ปลายหางด้วย  ตรงกับที่ระบุในกฎมนเทียรบาล

ภาพศิลาจำหลักที่ระเบียงปราสาทนครวัดส่วนหนึ่งเป็นเรื่องรามเกียรติ์ มีภาพทศกัณฐ์จำหลัก หน้าทศกัณฐ์นั้นทำซ้อนกันเป็นชั้น ๆ คล้ายกับหน้าโขนของไทย  ลักษณะดังกล่าวน่าจะแสดงว่าไทยได้รับอิทธิพลมาสร้างสรรค์ปรับปรุงหน้าโขนไทยจนมีเอกลักษณ์งดงามวิจิตร  เนื่องจากเรื่องรามเกียรติ์เป็นเรื่องราวอันศักดิ์สิทธิ์  การจำลองเรื่องของพระผู้เป็นเจ้าจำหลักลงบนศิลาในสถานที่ซึ่งสร้างขึ้นถวายเป็นเทวบูชา  เป็นคติที่มีมาในอารยธรรมโบราณนับพันปีแล้ว  แต่การนำเรื่องราวของพระผู้เป็นเจ้ามาแสดงเป็นมหรสพ โดยเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์น่าจะเกิดขึ้นในรูปของหนังก่อน เนื่องมาจากเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์  ในสมัยโบราณจึงไม่เก็บตัวหนังไว้ในบ้านเรือน  แต่จะเก็บไว้ที่วังหรือวัดเท่านั้น




หน้าโขนฝ่ายวานร


หน้าโขนฝ่ายลงกา

• โขนสมัยกรุงศรีอยุธยา
ข้อมูลรายละเอียดของโขนสมัยกรุงศรีอยุธยาปรากฏหลักฐานไม่มากนัก  ในพระราชพงศาวดารซึ่งกล่าวถึงมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีต่างๆ ก็ไม่ระบุชัดเจนว่ามีวิธีแสดงอย่างไร  ข้อมูลเกี่ยวกับโขนจะปรากฏให้เห็นในบันทึกของชาวต่างชาติและวรรณคดีต่างๆ เท่านั้น


หนังใหญ่พระรามง่าศร

• โขนในลิลิตพระลอ
ลิลิตพระลอเป็นวรรณคดีเอกเรื่องหนึ่งของสมัยกรุงศรีอยุธยา  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระมติว่าเรื่องนี้แต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น  ระหว่างพุทธศักราช ๑๙๙๑– ๒๐๒๖  ในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ลิลิตพระลอ กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนท้าวพิไชยพิษณุกรจัดงานพระศพพระลอและพระเพื่อนพระแพงว่ามี “โขน” เป็นมหรสพอย่างหนึ่งในงานนั้นด้วย

“บรรเขบ็จภาพเรียงราย ขยายโรงโขน โรงรำ ทำระธาราวเทียน โคมเวียนโคมแว่นผจง โคมระหงฉลักเฉลา เสาโคมเรียงสล้าย เถลิงต้ายเตี้ยกำแพง แชลงราชวัติชวาลา บูชาศพสามกษัตริย์  

จากหลักฐานดังกล่าวแสดงว่า หากลิลิตพระลอแต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น โขนก็มีมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว แต่เรื่องที่เล่น วิธีเล่นและจารีตต่าง จะเหมือนกับโขนที่เล่นกันในยุคหลังมาหรือไม่นั้นไม่ปรากฏหลักฐาน แต่หากโขนในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเล่นเรื่องรามเกียรติ์ก็อาจเป็นไปได้ที่พาลี สุครีพ ท้าวมหาชมพู และวานรบริวารที่เล่นเป็นส่วนหนึ่งในการเล่นดึกดำบรรพ์จะได้รับอิทธิพลไปจากโขน  และโขนคงเป็นมหรสพที่มีมาก่อนการตรากฎมนเทียรบาล


 
(ซ้าย) พระสัตรุด  (ขวา) พญาครุฑ มงกุฏน้ำเต้า ๕ ยอด

• โขนในจดหมายเหตุลาลูแบร์
ลาลูแบร์เป็นพ่อค้าชาวฝรั่งเศส  เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  ได้บันทึกเรื่องราวที่ได้พบ ความตอนหนึ่งกล่าวถึงมหรสพของสยามไว้ว่า
“ชาวสยามมีมหรสพสำหรับเล่นในโรงอยู่ ๓ อย่าง  อย่างที่ชาวสยามเรียกว่า โขน เป็นรูปคนเต้นรำตามเสียงจังหวะพิณพาทย์ ตัวผู้เต้นรำนั้นสวมหน้าโขนและถือศัสตราวุธ (ทำเทียม) เป็นตัวแทนทหารออกต่อยุทธมากกว่าเป็นตัวละคร และมาตรว่าตัวโขนทุกๆ ตัวโลดเต้นแผ่นโผนอย่างแข็งแรง และออกท่าทางพิลึกพิลั่นเกินจริงก็ต้องเป็นใบ้จะพูดอะไรไม่ได้ ด้วยหน้าโขนปิดปากบนเสีย (บทจะพูดต้องมีผู้อื่นคนพากย์พูดแทน) และตัวโขนเหล่านั้นสมมติเป็นตัวสัตว์ร้ายบ้าง  ภูตผีบ้าง...”

เอกสารของลาลูแบร์ระบุว่า ผู้แสดงโขนทุกตัวสวม “หน้าโขน” ดังนั้น จึงต้องมีผู้พากย์เจรจาทำหน้าที่แทน ลักษณะดังกล่าวยังคงสืบทอดมาถึงโขนสมัยปัจจุบัน



• โขนในบุณโณวาทคำฉันท์
บุณโณวาทคำฉันท์ของพระมหานาค วัดท่าทราย บรรยายถึงมหรสพต่างๆ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ โปรดฯ ให้โดยเสด็จขึ้นไปสมโภชเป็นพุทธบูชาถวายพระพุทธบาทเมื่อพุทธศักราช ๒๒๙๓ กล่าวถึงโขนในครั้งนั้นว่า
     บัดการมโหรสพ               พก็โห่ขึ้นประนัง
กลองโขนตระโพนดัง              ก็ตั้งตระดำเนินครู
     ฤาษีเสมอลา                   กรบิลพาลสองสูง
เสวตตรานิลาดู                     สัประยุทธพันธนา
     ตระบัดก็เบิกไพ-              จิตรสูรอสูรา
ถวายดวงธิดาพงา                  อมเรศเฉลิมงาน


ลักษณะการแสดงโขนตามที่กล่าวในบุณโณวาทคำฉันท์ระบุว่า หลังจากปี่พาทย์ทำเพลง “ตระ” เชิญครูแล้ว มีการ “ปล่อยลิง”  คือปล่อยตัวแสดงลิงขาวและสิงดำให้ออกมาต่อสู้กัน  ลิงดำเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ถูกลิงขาวมัดไปถวายฤษี  การปล่อยลิงหัวค่ำนี้เป็นขนบในการเล่นหนัง  ซึ่งจะต้องเริ่มเล่นในตอนหัวค่ำ หรือ “เข้าไต้เข้าไฟ”  เมื่อปล่อยลิงหัวค่ำนั้นปี่พาทย์ทำเพลง “เชิดนอก”  สันนิษฐานว่าการปล่อยลิงหัวค่ำในโขนนั้น น่าจะดำเนินตามขนบของหนัง

โขนที่แสดงสมโภชพระพุทธบาทถวายเป็นพุทธบูชาที่ตามปรากฏในบุณโณวาทคำฉันท์นั้น แสดงตอนท้าวไพจิตราสูรนำนางสุจิตราผู้เป็นธิดาไปถวายพระอินทร์  ไม่ใช่เรื่องรามเกียรติ์  ดังนั้นจึงอาจอนุมานได้ว่า โขนในสมัยกรุงศรีอยุธยามิได้เล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์เพียงเรื่องเดียวดังเช่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  อาจจะนำเรื่องอื่นมาเล่นก็ได้  แต่ที่นิยมน่าจะเป็นเรื่องรามเกียรติ์เช่นเดียวกับหนังใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดฯ ให้เล่นเรื่องสมุทรโฆษ จึงปรากฏคำพากย์รามเกียรติ์ครั้งกรุงเก่าที่แต่งขึ้นสำหรับพากย์หนัง  ดำเนินเรื่องตั้งแต่สีดาหายจนถึงกุมภกรรณล้ม  บทพากย์ดังกล่าวยังใช้กันต่อมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์


โขนในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็น “มหรสพกลางวัน”  คือเล่นเฉพาะเวลากลางวัน  ส่วนหนังเป็น “มหรสพกลางคืน”  ดังปรากฏหลักฐานในบุณโณวาทคำฉันท์ ว่า
    ครั้นสุริยเสด็จอัษฎงค์          เลี้ยวลับเมรุลง
ชรอุ่มชรอ่ำอัมพร
     บัดหนังตั้งโห่กำธร             สองพระทรงศร
ฉลักเฉลิมเจิมจอง


นอกจากนี้ในคำพากย์สามตระ “เบิกหน้าพระ” ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยังระบุว่า โขนละครและหุ่นเป็นมหรสพกลางวัน  ส่วนหนังเป็นมหรสพกลางคืน
    กลางวันโขนละครโสภา        หุ่นเห็นแจ่มตา
ประดับด้วยเครื่องเรืองไร
     ราตรีอัคคีแจ่มใส               หนังส่องแสงไฟ
จึงเห็นวิจิรลวดลาย


และในคำพากย์เบิกหน้าพระอีกสำนวนหนึ่งว่า
    เครื่องเล่นโขนละครหุ่นประชัน เชิดชูกลางวัน
ด้วยเครื่องวิจิตรแต่งกาย
     ราตรีรัศมีเพลิงพราย           หนังงามลวดลาย
กระหนกกระหนาบภาพหาญ





ทศกัณฐ์
พระยาพรหมาภิบาล
(ทองใบ  สุวรรณภารต)

ในสมัยที่ยังไม่มีไฟฟ้า  มหรสพที่ประกอบด้วยเครื่องแต่งตัวที่มีรายละเอียดวิจิตรบรรจงอย่างโขน  ละครและหุ่น  ต้องเล่นกลางวัน  เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นความงดงามของเครื่องแต่งตัว  หากมหรสพดังกล่าวเล่นในเวลากลางคืนที่มีแสงสว่างไม่พอจะทำให้มองไม่เห็นความงาม  ส่วนหนังนั้นต้องเล่นในเวลา “เข้าไต้เข้าไฟ” คือกลางคืนเท่านั้น ภายหลังเมื่อมีไฟฟ้าใช้ ทำให้ข้อจำกัดเกี่ยวกับ “มหรสพกลางวัน” กับ “มหรสพกลางคืน” เปลี่ยนไป โขนและหนังจะเล่นกลางวันหรือกลางคืนก็ได้


• โขนสมัยกรุงธนบุรี
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในพุทธศักราช ๒๓๑๐ บ้านเมืองระส่ำระสาย ผู้คนและศิลปวิทยาการต่างกระจัดพลัดพราย กระทั่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกอบกู้อิสรภาพ สถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี (พุทธศักราช ๒๓๑๐-๒๓๒๕) ในรัชกาลของพระองค์มีศึกสงครามอยู่ไม่ขาด แม้กระนั้นก็ยังทรงมุ่งที่จะฟื้นฟูศิลปะวิทยาการด้านต่างๆ รวมทั้งโขนหลวงหรือโขนของราชสำนัก มีการแสดงโขนเป็นมหรสพในงานพระเมรุด้วย ดังปรากฏในหมายรับสั่งงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระเทพามาตย์ ว่า
กลางวัน : โขน หลวงอินทรเทพ ๑  โขน ขุนรามเสนี ๑  รวม ๒ โรง             งิ้ว พระยาราชเศรษฐี ๑
             เทพทอง ๑  ช่องระทา ๑ โขน ๔ โรง
             รำหญิง ๔ โรง  หนังกลางวัน ๒ โรง
กลางคืน : หนังไทยโรงใหญ่ ๓ โรง
             หนังไทยโรงช่องระทา  หนังจีน ๒ โรง

ลักษณะการแสดงโขนในสมัยกรุงธนบุรี คงเหมือนกับสมัยกรุงศรีอยุธยา  กล่าวคือมีทั้งโขนกลางแปลง และโขนแสดงบนโรง  ทั้งยังมีหลักฐานปรากฏว่า  มีการแสดงโขนบนแพล่องไปตามลำน้ำ  ดังความในจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวถึงกระบวนแห่อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมายังกรุงธนบุรี เมื่อเดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๔๒ ว่า “เรือประพาสดอกสร้อยสักวา มโหรี พิณพาทย์ ละคร โขน ลงแพ  ลอยเล่นมาตามกระแสชลมารค” โขนสมัยกรุงธนบุรีนี้ นอกจากโขนหลวงแล้วยังมีโขนของขุนนาง ที่ปรากฏหลักฐาน เช่น โขนของหลวงอินทรเทพ เป็นต้น


 

• โขนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช หลังจากทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๕ แล้ว โปรดฯ ให้ฟื้นฟูศิลปวิทยาการด้านต่างๆ ไว้สำหรับพระนคร ในส่วนของโขนนั้นนอกจากโขนหลวง ซึ่งนับเป็นเครื่องประกอบราชอิสริยยศอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์แล้ว ยังมีโขนของสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทอีกโรงหนึ่ง ในพระบรมมหาราชวังนั้น โปรดฯ ให้สร้างโรงมหรสพขึ้นทางด้านตะวันตกของวัดพระศรีรัตนศาสดารามสำหรับแสดงโขนละครในพระราชพิธีต่างๆ ถึงพุทธศักราช ๒๓๓๙ โปรดฯ ให้อัญเชิญพระบรมอัฐิสมเด็จพระปฐมบรมราชชนกออกถวายพระเพลิงอีกครั้งหนึ่ง ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง เนื่องจากเมื่อสมเด็จพระปฐมบรมราชชนกเสด็จสวรรคตที่เมืองพิษณุโลกนั้น บ้านเมืองระส่ำระสาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มิได้ถวายพระเพลิง  งานพระเมรุครั้งนั้นมีมหรสพสมโภช ๓ วัน ๓ คืน ความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ว่า “ในการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิครั้งนั้น มีโขนชักรอกโรงใหญ่ทั้งโขนวังหลวงและวังหน้า  แล้วประสมโรงเล่นกันกลางแปลง  เล่นเมื่อศึกทศกัณฐ์ยกทัพกับสิบขุนสิบรถ  โขนวังหลวงเป็นทัพพระราม  ยกไปแต่ทางพระบรมราชวัง  โขนวังหน้าเป็นทัพทศกัณฐ์ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา....”


ตามเรื่องเมื่อรบกันทัพทศกัณฐ์จะต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้  แต่โขนครั้งนั้นยักษ์ไม่ยอมแพ้  มีการนำอาวุธจริงเข้าต่อสู้กันอย่างดุเดือด ถึงขนาดลากปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนออกมายิงกัน การแสดงโขนหลวงหน้าพระที่นั่ง ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญที่บันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์


โครงถวายพระเพลิงพระบรมอัฐพระพุทธเจ้าหลวง พระนิพนธ์ในกรมหมื่นศรีสุเรนทร์กล่าวถึงโขนวังหลวงและโขนวังหน้าที่เล่นในงานถวายพระเพลิงสมเด็จพระปฐมบรมราชชนกว่า
          โรงหนึ่งโขนเหล้นเมื่อ       หนุมาน
          สมเด็จองค์อวตาร            ตรัสใช้
          ให้นำธำมรงค์กาญ           จนกับ สไบนา
          ไปส่งองค์อนุชไท้            ราพณ์ร้ายรุมตีฯ

          โรงหนึ่งเสียงเส้าเร่ง          กลองตึง
          พยุหยักษ์โยธาอึง            โห่ร้อง
          พลลิงวิ่งถับถึง                โจมจับ
          ราพณ์บุตรวางศรต้อง        ลักษณ์ล้มในสนาม ฯ



"โรงโขน" จิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ตุลาคม 2558 13:55:30 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 24 ตุลาคม 2555 15:06:16 »

.

โขนในสมัยรัชกาลที่ ๕ เล่นตอนพิธีอุโมงค์

โขนที่เล่นในงานพระเมรุเมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๙ ส่วนหนึ่งเป็น “โขนชักรอก” คือมีการใช้กว้านชักรอกตัวแสดงที่อยู่ในอิริยาบถ “เหาะ” ให้ลอยสูงขึ้น  โขนชักรอกนี้มีขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปรับปรุงจากโขนโรงนอกที่แสดงเป็นมหรสพฉลองในงานต่างๆ ดังปรากฏหลักฐานในโครงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย ซึ่งพระชำนิโวหารแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ ว่า
          โรงโขนแข่งฟ้าเพริด       ไพรศาล
          งามฉากช่องวิมาน          เมฆไม้
          ปราสาทพระพลาทวาร     หวังน่า ดูนา
          พระราชดำริห์ใช้            รอกกว้านแกว่นกลฯ


พระยาอนิรุทเทวา (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ)

โรงโขนชักรอกที่บรรยายในโคลงดังกล่าวน่าจะได้แก่ โรงโขนที่โปรดฯ ให้สร้างขึ้นบริเวณด้านหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะเห็นว่านอกจากกว้านที่ใช้ในการชักรอกตัวโขนแล้ว ยังมีการตกแต่งฉากเป็นพลับพลาของฝ่ายพระรามและปราสาทราชวังของฝ่ายลงกาด้วย โขนชักรอกนับเป็นพัฒนาการสำคัญของโขนที่เกิดขึ้นจากพระปรีชาญาณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนี้ ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่ามีการเล่นโขนในการมหรสพต่าง ๆ หลายคราว นอกจากงานพระเมรุและงานสมโภชพระอารามแล้ว ยังมีโขนฉลองสมโภชในพระราชพิธีอื่นๆ เช่น เมื่อพุทธศักราช ๒๓๒๙ โปรดฯ ให้หล่อปืนนารายณ์สังหารที่สนามในพระบรมมหาราชวัง ก็โปรดฯ ให้มีโขนกลางแปลงฉลองด้วย

“....ให้เกณฑ์เอาทองมาส่งตามเบี้ยหวัด ตั้งกองรับทองกองส่งทองที่โรงละครใหญ่ ที่หล่อปืนนั้น หล่อหน้าโรงละครมาข้างตะวันตก ริมถนนประตูวิเสศไชยศรีเมื่อสุมพิมพ์เวลาบ่ายนั้น โปรดให้จัดพวกโขนข้าหลวงเดิมกับพวกละครสมทบเข้าบ้าง  ให้เล่นโขนละครกลางแปลงตั้งแต่เวลาบ่ายจนค่ำ เสด็จทอดพระเนตรอยู่จนโขนละครเลิก รุ่งขึ้นเวลาเช้าจึงหล่อปืน ครั้งนั้นหล่อทีเดียวก็ได้บริสุทธิ์ดี พระราชทานชื่อนารายณ์สังหารคู่กับพระยาตานี....”

จะเห็นได้ว่าในสมัยรัชกาลที่ ๑ นั้น มี “โขนข้าหลวงเดิม” ซึ่งน่าจะแสดงว่าเป็นโขนของราชการในสังกัดของพระองค์มาตั้งแต่เมื่อยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติแล้วจึงมี “โขนข้าหลวงเดิม” และโขนเป็นมหรสพในพระราชนิยมในรัชกาลดังกล่าว จึงมีโขนหลวงทั้งโขนกลางแปลงและโขนโรงนอก ซึ่งทรงปรับปรุงเป็นโขนชักรอก



วงปี่พาทย์เครื่องห้า ที่ใช้สำหรับการแสดงโขนสมัยโบราณ
 

• แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒)
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำพากย์รามเกียรติ์ตอนพรหมาสตร์  นาคบาศ นางลอย และเอราวัณขึ้น บทพระราชนิพนธ์ดังกล่าวใช้สำหรับพากย์โขนและหนัง รัชสมัยนี้นอกจากโขนหลวงซึ่งสังกัดอยู่ในกรมโขนแล้ว ยังมีโขนของพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสองค์ใหญ่ ครูโขนข้าหลวงเดิมที่ต่อมาเป็นครูนาฏศิลป์คนสำคัญคือ ครูเกษพระราม ท่านผู้นี้เป็นครูครอบโขนละครของหลวงและของผู้มีบรรดาศักดิ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔


"ทศกัณฐ์นั่งเมือง" โขนของกรมศิลปากร แสดงเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๔


• แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓)
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์  เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ ๓ แล้ว มีพระราชหฤทัยใฝ่ในการบำรุงพระพุทธศาสนา โปรดฯ ให้เลิกโขนละครของหลวง แต่โขนข้าหลวงเดิมของกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ นั้น ได้ย้ายไปสังกัดพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าลักขณานุคุณ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้  มีโขนของกรมพระพิทักษ์เทเวศร (ต้นราชสกุลกุญชร) ตั้งแต่ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่น ทรงให้หัดโขนและละครขึ้นที่วังบ้านหม้อ ต่อมาโขนละครของกรมพระพิทักษ์เทเวศรนี้มีการสืบทอดมาโดยลำดับจนได้เป็นแบบอย่างของโขนละครในยุคต่อมา แม้ว่าจะมีรับสั่งให้เลิกโขนหลวงแต่ก็ยังมีขุนนางผู้ใหญ่หัดโขนขึ้นในสังกัดหลายโรงที่สำคัญ เช่น โขนของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นต้น



(ซ้าย) พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) (ขวา) พระยาพรหมาภิบาล (ทองใบ สุวรรณภารต)

• แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔)
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ฟื้นฟูการละครและโขนหลวงขึ้น  เมื่อกรมพิทักษ์เทเวศรสิ้นพระชนม์  พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์ได้ควบคุมคณะโขนละครเป็นสมบัติของราชสกุล “กุญชร” สืบมา  นายธนิต  อยู่โพธิ์  อดีตอธิบดีกรมศิลปากรกล่าวถึงคณะโขนละครของราชสกุล “กุญชร” ไว้ในหนังสือโขน ว่า “...โขนในสำนักนี้ปรากฏว่าได้ตัวครูบาอาจารย์ฝีมือดีๆ ไปจากพวกโขนของวังหลวงบ้าง เช่น ครูคุ้มพระราม กับครูแผน หนุมาน  และได้ไปจากโขนวังหน้าบ้าง เช่น ครูคง ทศกัณฐ์ เป็นต้น  ครูเหล่านี้และครูอื่นๆ ต่างได้ฝึกหัดศิษย์ให้เป็นศิลปินรับช่วงศิลปะโขนสืบต่อกันมา...”


(ซ้าย) หนุมานรบวิรุญจำบัง (ขวา) พระรามรบทศกัณฐ์

• แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕)
แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์สิ้นพระชนม์ในพุทธศักราช ๒๔๒๓  คณะโขนละครของราชสกุลกุญชรอยู่ในความควบคุมของ  เจ้าพระยาเทเวศรวงษวิวัฒน (ม.ร.วหลาน  กุญชร)  ซึ่งได้กำกับราชการกรมมหรสพ กรมหุ่น กรมโขน กรมรำโคมและกรมปี่พาทย์  กล่าวได้ว่าหน่วยราชการที่เกี่ยวกับมหรสพหลวงทั้ง ๕ กรม อยู่ในความควบคุมของเจ้าพระยาเทเวศรวงษวิวัฒน์


 เจ้าพระยาเทเวศรวงษวิวัฒน (ม.ร.ว.หลาน กุญชร)

ในตอนปลายรัชกาลที่ ๕ นั้น  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร  เสด็จพระทับอยู่ที่วังสราญรมย์ โปรดฯ ให้ฝึกหัดมหาดเล็กในพระองค์เล่นโขนตามแบบแผนที่มีมาแต่โบราณ ทรงให้ขอยืมตัวครูโขนมีฝีมือดีมาจาก “วังบ้านหม้อ” ของเจ้าพระยาเทเวศรวงษวิวัฒน เช่น ครูยักษ์ ขุนระบำภาษา (ทองใบ สุวรรณภารต)  ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ ๖  ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาพรหมาภิบาล ครูพระ ครูนาง ขุนนัฏกานุรักษ์ (ทองดี  สุวรรณภารต)  ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยานัฏกานุรักษ์  และครูลิง  ขุนพำนักนัจนิกร (เพิ่ม  สุครีวกะ)  ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระพำนักนัจนิกร โปรดฯ ให้เรียกโขนมหาดเล็กในพระองค์คณะนี้ว่า “โขนสมัครเล่น”  สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงควบคุมการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง  ได้ออกแสดงในงานสำคัญหลายครั้ง  ผู้แสดงโขนสมัครเล่นล้วนเป็นบุตรเจ้านายและขุนนาง  ซึ่งต่อมาหลายท่านได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนนางผู้ใหญ่ เช่น หม่อมราชวงศ์โป๊ะ  มาลากุล (พิเภก) เป็นพระยาชาติเดชอุดม  หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ (พระอรชุน)  เป็นเจ้าพระยารามราฆพ  หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ (พระลักษณ์) เป็นพระยาอนิรุทธเทวา  นายโถ สุจริตกุล (อินทรชิต) เป็น พระยาอุดมราชภักดี  และนายอู๊ด สุจริตกุล (สิบแปดมงกุฎ)  เป็นพระยาสุจริตธำรง เป็นต้น



พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงเครื่อง "พระรามเดินดง"

• แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
อาจกล่าวได้ว่านาฏศิลป์โขนเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในพุทธศักราช ๒๔๕๓ แล้ว โปรดฯ ให้โอนกรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการมหรสพมาขึ้นกับ “กรมมหรสพ” ที่ทรงตั้งขึ้นใหม่ ดังปรากฏในร่างหนังสือถึงเจ้าพระยาเทเวศรวงษวิวัฒน เดือนเมษายน ร.ศ. ๑๓๐ (พุทธศักราช ๒๔๕๔) ความตอนหนึ่งว่า “เห็นว่าราชการในส่วนกรมโขนและพิณพาทย์มหาดเล็กซึ่งอยู่ในปกครองของเจ้าพระยาเทเวศรฯ...ควรยกไปอยู่ในกรมมหรสพซึ่งให้หลวงสิทธินายเวรเป็นผู้ควบคุม...ด้วยเหตุที่คิดเห็นดังนี้จึงได้สั่งให้หลวงสิทธินายเวรเตรียมการที่จะรับราชการในกรมโขนและพิณพาทย์มารวมเสียในกรมมหรสพ...”

หมื่นพากย์ฉันทวัจน์ คนพากย์เจรจาโขนหลวงสมัยรัชกาลที่ ๖

หลวงวิลาศวงงาม (หร่ำ อินทรนัฏ)

ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทำนุบำรุงโขน ละครและดนตรีปี่พาทย์ ทรงประดิษฐ์ราชทินนามพระราชทานบรรดาศักดิ์แก่ศิลปินโขนที่มีฝีมือให้เป็นขุนนางในราชสำนัก โปรดฯ ให้สร้างเรือนพักประจำสำหรับศิลปินโขนขึ้นบริเวณโรงโขนที่สวนมิสกวัน

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในพุทธศักราช ๒๔๖๘ ศิลปะโขนละครก็เข้าสู่ภาวะตกต่ำ  ในปีนั้นเองที่ประชุมเสนาบดีให้ยุบกรมมหรสพ  ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะธำรงรักษาศิลปะการมหรสพแขนงต่างๆ จึงโปรดฯ ให้กรมมหรสพในสมัยรัชกาลที่ ๖ กลับมามีฐานะเป็นกองมหรสพ สังกัดกระทรวงวัง เมื่อพุทธศักราช ๒๔๖๙ พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี  สุวรรณภารต)  ครูโขนละครคนสำคัญซึ่งถูกให้ออกจากราชการ ก็ได้กลับเข้ารับราชการเป็นผู้กำกับปี่พาทย์และโขนหลวงในสังกัดกระทรวงวัง



โขนกรมศิลปากร

ถึงพุทธศักราช ๒๔๗๘ มีการปรับปรุงระบบบริหารราชการกระทรวงวังครั้งใหญ่ ให้โอนงานช่างกองวังนอกและกองมหรสพไปอยู่ในสังกัดกรมศิลปากร ข้าราชการที่เป็นศิลปินทั้งโขน ละคร ดนตรีปี่พาทย์และการช่างจึงย้ายมาอยู่ในสังกัดกรมศิลปากรตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๘ โขนของกรมมหรสพ กระทรวงวังจึงเป็น “โขนกรมศิลปากร” มาแต่ครั้งนั้น

ผู้แสดงโขนแต่เดิมเป็นผู้ชายล้วนทั้งพระ นาง ยักษ์ ลิง คนพากย์เจรจา และดนตรีปี่พาทย์  ผู้แสดงเป็นนางโขน เช่น นางสีดา  นางมณโฑ  นางเบญกาย นางตรีชฎา ฯลฯ ก็ใช้ผู้ชายทั้งหมด  นางโขนที่ใช้ผู้หญิงแสดงเพิ่งมีขึ้นเมื่อไม่นานมานี้  ศุภชัย  จันทร์สุวรรณ์  กล่าวไว้ในบทความเรื่องนางโขนว่า “โขนตัวนางยังคงใช้ผู้ชายแสดงอยู่สืบมาจนถึงยุคของโรงเรียนนาฏศิลปะ กรมศิลปากร เมื่อประมาณ ๕๐ ปีมานี้  การแสดงโขนของกรมศิลปากรเริ่มใช้ผู้หญิงเป็นตัวนาง  ทำให้รูปแบบเดิมของโขนเปลี่ยนแปลงไป  โดยเฉพาะโขนที่เล่นผสมกับละครเรียกว่า โขนโรงใน ยิ่งทำให้ศิลปะการแสดงโขนกลายเข้าหาละครมากขึ้น”

อนึ่ง โขนในสมัยโบราณต้องสวมหน้าทุกตัวยกเว้นนางโขนกับตลกโขน ศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ อธิบายว่า “ถึงแม้ในสมัยรัชกาลที่ ๖ จะให้โขนตัวพระเปิดหน้าจริงตามแบบอย่างโขนตัวนาง  แต่โขนตัวพระและตัวนางก็มีข้อจำกัดที่จะต้องวางสีหน้าให้เรียบเฉยประดุจหุ่นที่ครอบศีรษะ ผู้แสดงอยู่จะต้องวางสีหน้าเรียบเฉยไว้ทุกอารมณ์....”


เรื่องที่ใช้สำหรับเล่นละครในมีเพียง ๓ เรื่อง คือ รามเกียรติ์ อิเหนาและอุณรุท ทั้งห้ามเด็ดขาดมิให้ละครอื่นๆ นอกจากละครของหลวงนำเรื่องดังกล่าวไปเล่น เฉพาะเรื่องรามเกียรติ์นั้นนำไปเล่นทั้งโขน  ซึ่งผู้แสดงเป็นชายล้วน  และละครในซึ่งผู้แสดงเป็นหญิงล้วน  โขนเน้นความประณีต องอาจ สง่างาม ส่วนละครในเน้นความประณีต อ่อนหวาน เมื่อมีการนำโขนและละครมาเล่นประสมประสานกันเป็นโขนโรงในประกอบกับครูผู้ถ่ายทอดก็มีทั้งครูโขน ครูละคร  ทำให้รูปแบบของโขนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

โขนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นอกจากโขนหลวงแล้ว ยังมี “โขนเชลยศักดิ์” หรือโขนของเอกชนอีกหลายโรงที่รับเล่นในงานของราษฎร ปัจจุบันยังมีโขนของเอกชนเหลืออยู่บ้าง แต่เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง ไม่มีผู้จ้างหา ทำให้ต้องเลิกราไป






พิธี "ครอบครู" นาฏศิลป์
จารีตและขนบของมหรสพโขน

โขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูง ผู้แสดงต้องใช้ทักษะที่เกิดจากการฝึกฝนจนเข้าถึงอย่างถ่องแท้  มีครูเป็นผู้ถ่ายทอดกระบวนท่า กระบวนรำ ซึ่งผู้เรียนจะต้องเลียนแบบครูเป็นพื้นฐาน จนพัฒนาเป็นทักษะเฉพาะตัว ขั้นตอนต่างๆ มีการสืบทอดต่อเนื่องกันมาหลายชั่วอายุคน ศิลปะแบบแผนของไทยทุกสาขาจะมี “ครู”  ซึ่งมิได้หมายถึงผู้ที่ทำหน้าที่สั่งสอนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงเทพเจ้า ครูบาอาจารย์ และศิลปินที่เคยสร้างสรรค์งานศิลป์แขนงนั้นในอดีต ความเคารพนบนอบต่อ “ครู” ในหมู่ศิลปินดนตรีนาฏศิลป์เป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์ทุกรุ่นให้ความสำคัญยิ่งและถ่ายทอดมายังศิษย์โดยลำดับ  ดังนั้น การไหว้ครู จึงเป็นสิ่งที่ผู้เป็นศิษย์พึงกระทำเป็นกิจวัตร มิใช่กระทำเฉพาะในพิธีไหว้ครูเท่านั้น

การไหว้ครูสำหรับนาฏศิลป์โขนละครและดนตรีปี่พาทย์ยังมี “พิธีครอบ” ซึ่งครูบาอาจารย์ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ระเบียบปฏิบัติเป็นแบบแผนมาแต่โบราณ ครูผู้ใหญ่จะทำพิธี “ไหว้ครู” และ “ครอบ” ให้ต่อเมื่อศิษย์รำเพลงช้าเพลงเร็วหรือศิษย์สามารถฝึกปฏิบัติในระดับพื้นฐานได้แล้ว

ในพิธีไหว้ครูและพิธีครอบนั้น ครูผู้ใหญ่ซึ่งเป็นประธานในพิธีจะเป็นผู้อ่าน “โองการ” บูชาและเชิญครู โองการดังกล่าวครูศิลปินผู้ใหญ่มักหวงแหน จะ “มอบโองการ” ให้ผู้หนึ่งผู้ใดไปทำพิธีต่อจากท่านได้ ต้องพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และคุณธรรม ผู้ที่จะเป็นประธานอ่านโองการต้องเป็นผู้ชายเท่านั้น แม้ว่าครูศิลปินเป็นผู้หญิงจะบริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว ก็ไม่สามารถทำพิธีและเป็นผู้ครอบได้ ถือกันว่า “ครอบไม่ขึ้น”  และจะทำให้เกิดความอัปมงคลต่างๆ



ในพิธีไหว้ครูจะต้องจัดเตรียมสถานที่ ตั้งพระพุทธรูปและศีรษะครูต่างๆ บนที่บูชา เช่น เทพเจ้า พระพิราพ พระฤษี ครูพระ ครูนาง ครูยักษ์ เป็นต้น  ประกอบด้วยเครื่องบวงสรวงสังเวยตามตำราและต้องมีวงปี่พาทย์ทำเพลงหน้าพาทย์ประกอบการอ่านโองการ เช่นสาธุการ นมัสการพระรัตนตรัย ตระเชิญ เชิญพระอิศวร เหาะ เชิญพระนารายณ์และเทพเจ้าทั้งหลาย ตระปรโคนธรรพ เชิญพระปรโคนธรรพ แผละ เชิญพญาครุฑ เสมอ เทพเจ้าเข้าสู่มณฑลพิธี รัวสามลา ไหว้ครูยักษ์ เชิดกลอง ส่งเทพเจ้ากลับ เป็นต้น

เสร็จการบวงสรวงสังเวยแล้ว ครูผู้ใหญ่ ประธานในพิธีจึงเจิมหน้าผากและทำ “พิธีครอบ” ให้แก่ศิษย์ โดยนำเอาศีรษะฤษีหรือเทริดฯลฯ ที่เรียกว่า “ศีรษะครู” ที่ตั้งบูชาในพิธี  สวมลงไปบนศีรษะศิษย์ทีละคน เรียกพิธีนี้ว่า “พิธีครอบครูโขนละคร”





• ธรรมเนียมและเคล็ดลางที่ถือกันในการแสดงโขน
ของจมื่นมานิตย์นเรศร์ (เฉลิม เศวตนันท์)

โขนเป็นนาฏศิลป์ที่มีธรรมเนียมและเคล็ดลางที่ถือเป็นการปฏิบัติในเมื่อมีการแสดงอยู่มากมายหลายอย่าง บางอย่างก็ยังใช้กันอยู่  บางอย่างก็เสื่อมสูญไปตามภาวการณ์  ทั้งนี้ เนื่องด้วยการเคารพบูชาต่อพระรัตนตรัยอันเป็นหลักสำคัญของพระพุทธศาสนา  และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “ครู” เป็นสำคัญ  ศิลปินโขนนิยมนับถือสืบๆ กันมาว่า วิชานาฏศิลป์นี้ได้รับประสิทธิ์ประสาทสืบเนื่องมาจากพระเป็นเจ้าบนสรวงสวรรค์  ตลอดลงมาจนถึงพระฤษีผู้ทรงญาณ และบรรดาครูอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณโดยลำดับ ถ้าจะกล่าวว่าศิลปินโขนเป็นผู้หนักด้วยความเคารพนบนอบและกตัญญูกตเวทีเป็นอย่างยิ่งต่อครูอาจารย์ผู้มีคุณ และยึดมั่นในสิ่งเคารพบูชาในพระพุทธศาสนาอย่างสุดยอด ก็คงจะไม่ไกลต่อความเป็นจริงนัก ดังนั้น ตั้งแต่เริ่มจะรับการฝึกหัดสั่งสอน จะต้องมีการเคารพสักการะต่อพระรัตนตรัยและครูอาจารย์ก่อนเสมอไป อย่างน้อยต้องมีดอกไม้ธูปเทียนเป็นเครื่องสักการะเป็นประจำ ในสถานที่ประจำถาวรมักจะมีพระพุทธรูปและเครื่องบูชาอย่างน้อยเป็นหิ้งและมีหน้าครูอย่างน้อยหน้าฤษีไว้สักการบูชาแทบทุกแห่งไป


ถือเป็นแบบธรรมเนียมอยู่ว่า จะเริ่มหัดก็ตาม หรือจะฝึกเพื่อหาความชำนิชำนาญก็ตาม หรือจะแสดงก็ตาม จะต้องเคารพกราบไหว้ด้วยความนอบน้อม  แล้วระลึกถึงพระคุณรัตนตรัย ระลึกถึงคุณครูอาจารย์ ยึดเอาพระคุณของท่านเป็นเครื่องปกป้องเหนือหัว ดังจะสังเกตเห็นได้ว่า ขณะศิลปินแสดงการเคารพบูชา เมื่อประนมมือเหนือหน้าผากขึ้นแล้ว จะซ้องมือทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะ แล้วประลูบลงทั่วศีรษะ แล้วก็เสยขึ้นอีกครั้ง เป็นเชิงแสดงให้เห็นได้ว่าถือเอาพระคุณและคุณครูเป็นเครื่องปกเกล้าปกกระหม่อมอย่างนี้เป็นเนืองนิตย์  แม้แต่ขณะที่ได้ยินดนตรีบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ที่ถือว่าเป็นเพลงครู เช่น สาธุการ คุกพาทย์ รัว ๓ ลา ตระบองกัน เป็นต้น หรือเพลงตระต่างๆ เช่น ตระนิมิต ตระเชิญ ตระสันนิบาต เป็นต้น และเพลงเสมอสำคัญๆ เช่น เสมอเข้าที่ เสมอเถร เสมอมาร เสมอตีนนก (บาทสกุณี) พราหมณ์เข้า พราหมณ์ออก เป็นต้น ก็ต้องแสดงความเคารพ เมื่อจะหัด ซึ่งเรียกว่าต่อท่ารำ อันเป็นท่าครู แม้ตั้งแต่เพลงช้าเพลงเร็ว ออกท่าอะไรเหล่านี้ก็ต้องเคารพก่อนเสมอ เมื่อเสร็จแล้วไหว้กราบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วเข้าไปกราบครูอย่างใกล้ชิด บางทีบนตัก  ครูก็ต้องอวยชัยให้พรลูบหน้าลูบหลังลูบหัวด้วยความกรุณาปราณี  เมื่อจะต่อท่ารำเป็นอันท่าสำคัญ เช่นท่าหน้าพาทย์ดังกล่าวแล้ว ศิษย์จะต้องมีของคำนับครูอย่างปานกลาง เช่น ขันล้างหน้า ๑ สำรับ ผ้าเช็ดหน้า ๑ ผืน  ดอกไม้ธูปเทียน  หญ้าแพรก  ดอกมะเขือ  พร้อมด้วยเงิน ๖ บาท


เงินบูชาครูนี้นิยมกันเป็นธรรมเนียมว่าครูต้องนำไปทำบุญอุทิศให้ท่านบูรพาจารย์เหนือขึ้นไปอีก  โดยจ่ายเป็นค่าซื้อของใส่บาตรพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วกรวดน้ำอุทิศกุศลไปไห้ ถ้าไม่ทำดังนั้นถือเป็นการผิดครู จะได้ภัยพิบัติเป็นเสนียดจัญไร  เมื่อถึงคราวจะครอบในงานไหว้ครู ต้องมีของคำนับครูดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง  พิธีครอบนี้ถ้าจะเปรียบก็เท่ากับเป็นพิธีประสาทปริญญาอย่างแผนปัจจุบันของผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิชาโขนละคร คือหมายความว่า ครูยกย่องยอมรับว่าศิษย์เป็นผู้ที่มีความรู้พอใช้การได้ สมภาคภูมิโดยครอบหน้าฤษี  หน้าพระพิราพ  เทริดชาตรี  เป็นสามัญทั่วไป นอกจากนั้นพวกที่หัดพระก็ครอบชฎา พวกที่หัดนางก็ครอบมงกุฎกษัตริย์  พวกที่หัดยักษ์ครอบหน้ายักษ์  พวกที่หัดลิงครอบหน้าลิง  ตลกหรือจำอวดครอบหน้าฤษีอีกต่างหาก ตามประเภทที่ฝึกหัด  และครูสวมเชือกควั่นเป็นมงคลสวมหัวให้  แล้วประพรมน้ำพระพุทธมนต์จุณเจิมให้ ดอกไม้จัดมีใบสนฝอย ห่อด้วยใบเงินทองนาก ถ้าผู้ที่มีภูมิรู้สูงพอจะเป็นครูอาจารย์ได้ต่อไป ก็ครอบท่าครูให้ แล้วครูเจิมมือด้วยกระแจะลงอักขระประกาศอนุญาตให้กรรมสิทธิ์วิทยาการในการฝึกสอน  มอบศรพระขรรค์และอาวุธต่างๆ ให้กับมือ  ถ้าครูจะประสิทธิ์ประสาทวิชาไหว้ครูหรือมอบหน้าที่ให้ครอบศิษย์ต่อไป ครูต้องมอบสมุดตำราให้ด้วย  เสร็จพิธีศิษย์ต้องสรงน้ำเทวรูป แล้วรำถวายมือตามวิชาที่ฝึกหัด ถือเคร่งครัดเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ไม่ได้ครอบจะออกโรงแสดงไม่ได้  และถ้ามิได้ครอบหน้าพาทย์ใด  ถือว่าไม่ยอมออกรำหน้าพาทย์นั้น ถ้าขืนทำเป็นการผิดครู  ต้องโทษดังที่กล่าวมาแล้ว

การออกโรงแสดงต้องจัดเครื่องโรงให้ครบ เช่น เครื่องแต่งตัว เตียง รถ ม้า อาวุธและกลด เป็นต้น ในพิธีจำต้องมีหัวครูไปตั้งประดิษฐานเป็นเครื่องสักการะและมิ่งขวัญ ในกาละและเทศะอย่างนี้ถือว่าไม่ควรเชิญพระพุทธรูปไป เพราะเป็นการไม่สมควร เพียงแต่น้อมระลึกด้วยไตรทวารเท่านั้น  มีม้าหมู่ตั้งเครื่องบูชาครู จัดมาลัยสำหรับถวายครู บางทีก็มีเครื่องกระยาบวชเป็นเครื่องสังเวย บางทีก็ไม่มีแล้วแต่โอกาสและความสำคัญของงาน หน้าครูที่จำเป็นต้องเชิญไปมีหน้าฤษีกับหน้าพระพิราพ บางรายนิยมมีหน้าเทวดา เช่น พระอิศวร หรือพระวิศวกรรมด้วย แต่ที่ขาดมิได้ก็หน้าฤษี เรียกกันว่าหน้าพระครู หรือ “พ่อครู”  พอได้เวลาจะโหมโรงตั้งเพลงสาธุการ  ศิลปินทุกคนมาประชุมพร้อมกัน  ผู้อาวุโสในที่นั้นจุดธูปเทียนที่เครื่องบูชา  ทุกคนเคารพโดยกราบไหว้บูชารำลึกถึงคุณพระรัตนตรัยและครูอาจารย์  ผู้มีเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน ก็บูชาในตอนนี้ด้วย  ในคราวเดียวกันนี้ ก่อนปี่พาทย์จะโหมโรง ผู้ควบคุมต้องจัดดอกไม้ธูปเทียน พร้อมด้วยเงินกำนลบูชาครู ๖ บาท  ไปให้ครูคุมวงปี่พาทย์ เมื่อจุดบูชาแล้ว จึงจะเริ่มตั้งสาธุการ  เงินกำนลนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของคนเป่าปี่ และก็ต้องปฏิบัติอย่างเดียวกับเงินบูชาครูดังกล่าวข้างต้น



ในสมัยรัชกาลที่ ๖ สำหรับการแสดงของโขนบรรดาศักดิ์หรือโขนสมัครเล่นในงานสมโภชพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตประจำปี ที่สวนศิลาลัย ในพระบรมมหาราชวัง ต้องมีเครื่องสังเวยกระยาบวชครบบริบูรณ์  รวมทั้งบายศรีและเทียนเงินเทียนทอง  บางปีครูผู้ฝึกทั้งพระและนางต้องแต่งยืนเครื่อง  ซึ่งเรียกตามศัพท์ว่า “รัดเครื่อง” ออกรำเบิกโรงถวายเครื่องสังเวยด้วย  และพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้าทรงเครื่องนมัสการด้วยพระองค์เอง เจ้าหน้าที่สนมพลเรือนเป็นผู้จัด  และทรงเจิมหน้าครูและเจิมหน้าศิลปินด้วยพระราชหัตถ์ทุกคราวที่แสดง และทรงเป็นผู้บอกบทพากย์และเจรจา อำนวยการแสดงด้วยพระองค์เองโดยตลอด

ในการแสดงโขน ถ้าเป็นงานหา ต้องมีเงินโรงคือค่าจ้างการแสดง สมัยก่อนคิดเป็นชั่ง เช่น กำหนดด้วย ๕ ชั่ง ๑๐ ชั่ง  อย่างสูงสำหรับโรงนอกก็ไม่เกิน ๑๐ ชั่ง  แต่โขนบรรดาศักดิ์ ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ท่านทรงตั้งอัตราไว้ ๑๐๐ ชั่ง คือ ๘,๐๐๐ บาท เงินรางวัลต่างหาก  อัตรารางวัลตัวเลวคนละ ๔ ถึง ๑๐ ตำลึง  ตัวกลาง ๒๐ ตำลึง  ตัวดีตัวละร้อยตำลึงต่อคราวหนึ่ง  สำหรับเงินโรงต้องมีเศษ ๖ บาท คือหนึ่งตำลึงกึ่ง  แถมด้วยทุกจำนวน เช่น ๑๐ ชั่ง ๑ ตำลึงกึ่ง เป็นต้น  พอปี่พาทย์โหมโรง  ตัวโขนก็เริ่มผัดหน้าแต่งตัว  โดยทั่วไปการโหมโรงเป็นการโฆษณาชักชวนคนดูด้วย เรียกว่าโหมโรงเรียกคน  โหมโรงไปจนกว่าคนจะเต็มโรง  ถ้าเป็นงานที่เล่นตามโรงเรียกว่า วีค คือหมายถึงการแสดงงวดละ ๑ สัปดาห์ คือ ๗ วัน  เรียกตามภาษาอังกฤษว่า week เลยกลายเป็นชื่อเรียกการแสดงประจำโรงถาวรว่า โขนวีค ละครวีค ลิเกวีค และเลยเรียกโรงที่แสดงเป็นที่หมายรู้กันว่า “วีค” งานสมโภชพระแก้วมรกตซึ่งโขนสมัครแสดง สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ทรงเป็นเจ้าภาพ สมบูรณ์บริบูรณ์ทุกอย่างทุกประการ


สมัยก่อนพระ-นาง ต้องกันหน้าเพื่อให้เชิงผมหน้าได้วงกับครอบชฎาหรือรัดเกล้า และต้องโกนขนอ่อนตามหน้า โกนขนหน้าแข้ง (สำหรับชาย) เพื่อจะได้ผัดแป้งตบฝุ่นได้เรียบไม่ขรุขระเพราะขน  ตัวที่สวมศีรษะต้องกันต้นคอให้เชิงผมเกรียนเพื่อสวมหัวได้งาม ต้องผัดฝุ่นทั้งเท้าทั้งมือ เมื่อเลิกแสดงแล้วตัวผัดหน้ามักไม่ล้างหน้าเก็บไปล้างที่บ้าน คงจะเป็นด้วยรีบและหาน้ำยาก ก่อนแต่งตัวก็ต้องไหว้ครู เมื่อแต่งแล้วเสร็จก็ไหว้ครู เมื่อจะสวมหัวเช่นชฎา รัดเกล้า หรือมงกุฎกษัตริย์ ตลอดจนหน้าโขน คนหัดใหม่ยังไม่เคยออกโรงแสดงแม้เคยรับครอบมาแล้ว ครูก็ต้องเป็นผู้ครอบหัวครอบหน้าให้เป็นปฐม และต้องไหว้กันเป็นนิจสิน เมื่อจะออกจากฉากออกไปแสดง ต้องไหว้ไปทางทิศที่ประดิษฐานหน้าครู อธิษฐานขอความสวัสดีและเรียบร้อยสำเร็จงดงาม ป้องกันผิดพลาดและอุปสรรค แล้วไหว้เคารพครูผู้ฝึกและกำกับด้วย  การแสดงออกด้วยความเคารพต่อครูของศิลปินถือเป็นชีวิตจิตใจ และทำด้วยความเต็มใจ เพราะความเคารพนับถือจริง ๆ ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ ใครไม่ทำถือเป็นอัปมงคลเป็นเสนียดจัญไร ไม่มีใครคบหา พอได้เวลาจะแสดงเมื่อทุกสิ่งพร้อม ปี่พาทย์จะต้องลงด้วยเพลง “วา” เป็นหน้าพาทย์ สำหรับเดินออก ผู้ควบคุมโรงจะต้องแจ้งให้ปี่พาทย์ ซึ่งพวกปี่พาทย์ก็ต้องคอยดู เพราะไม่มีสัญญาณไฟอย่างสมัยนี้ แต่ถึงมีอย่างในรัชกาลที่ ๖ ท่านก็ไม่ใช้ โปรดฯ ให้ถือแบบธรรมเนียมโดยผู้ควบคุมยื่นมือกางออกมาทั้งสองข้างจากในฉากออกมานอกฉาก ให้ปี่พาทย์เห็น แสดงว่าเต็มสี่ศอกอย่างวัดผ้าด้วยแขนสมัยโบราณ สี่ศอกก็เป็นวา ปี่พาทย์จะลง “วา” ทันที ถ้าเป็นเสนาต้องออกก่อนตัวดี ดังนี้เป็นต้น



ในสมัยรัชกาลที่ ๖ โปรดฯ ให้ตัวพระใช้เสื้อแขนสั้น หนุมานไม่โปรดฯ ให้นุ่งผ้ายกขาว ให้ใช้ผ้ายกสี  เพราะถ้าแต่งขาวท่านว่าเป็นลิงแก้ผ้าอยู่ตัวเดียว  แต่โขนโรงนอกนิยมให้หนุมานนุ่งผ้าขาว ไม่ทราบว่ามีความคิดอย่างไร  ถ้าโขนสมัครตั้งแต่พระเอกนางเอกลงไปจนถึงเสนาผู้ใหญ่และพญาวานรสวมพวงมาลัยตัว  สะพายเฉวียงบ่าจากซ้ายมาขวา  ถ้าเป็นลิงต้องตรึงแน่นกับเสื้อเพราะต้องหกคะเมน  ถ้าแสดงในตอนที่มีรบต้องตรึงทั้งเครื่องประดับภายนอก เช่น ทับทรวง สังวาล และกรองคอ กันรุงรังหลุดลุ่ย อุบะและดอกไม้ทัด ใช้ดอกไม้สด มะลิ จำปา กุลาบ ทุกครั้งที่แสดงเสนายักษ์ผู้ใหญ่ เช่น มโหทร ปรรษวะ และพญาวานร เช่น สุครีพ ชมพูพาน เมื่อนั่งจะมีจำอวดนำเบาะยัดนุ่นออกมาให้รองนั่ง และเก็บเมื่อหมดบท สุครีพและชมพูพานใช้นำบทร้องว่า “เมื่อนั้น” แทน “บัดนั้น” อย่างเก่า เพราะท่านว่าเป็นพระยาสัมพันธมิตร

เวลาแสดงโขนในงานศพ  มักปล่อยชุดเบิกโรงเวลาเริ่มจุดเพลิงศพ ตอนบ่ายเรียกว่า “ชุดหน้าไฟ” เช่น ปล่อยสุกะสารัณทูตคอยเหตุ นางดาวมารีศ เป็นชุดสั้น ๆ พอสมควร ลาโรง ตอนหนึ่ง  พักกินอาหารเย็น ถ้าเป็นงานมงคล เช่น สมโภชสังเวย  จัดชุดระบำ เช่น ดอกไม้เงินดอกไม้ทอง ระบำเสี้ยวกาง หรือรำหางนกยูง เรียกว่า “ประเลง” โขนหน้าจอ มักใช้ชุดจับลิงหัวค่ำ หรือลิงเล่นไม้ ออกไปเล่นที่สนามหน้าโรง มีราวอย่างกายกรรม (Gymnastic)  ทำด้วยไม้ไผ่ แสดงห้อยโหนน่าดูมาก  โรงโขนหน้าจอหรือนั่งราว มีสิ่งสำคัญขาดไม่ได้คือกระพ้อด้ามยาว พาดไว้ที่มุมโรง เข้าใจว่าสำหรับป้องกันไฟ

เวลายกโรงโขนคือปลูกโรง มีพิธีเซ่นสรวงบูชาบอกเจ้าที่เจ้าทางปัดรังควานโพธัยธิบาทว์ กันเสนียดและการกระทำยำเยีย เรื่องนี้ถือกันว่า ถ้ามีการแสดงหลายอย่างแข่งขันประชันกัน มักมีพิธีอาถรรพ์กลั่นแกล้งให้ข้างตรงข้ามเสียเปรียบ จึงต้องมีพิธีถอนอาถรรพณ์และแก้กันไว้ด้วย

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 ตุลาคม 2558 15:24:33 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 24 พฤศจิกายน 2555 10:59:34 »


ท่าขึ้นลอย องคตรบเปาวนาสูร

เป็นธรรมเนียมเมื่อจุดเพลิงศพแล้ว โขนที่แสดงในงานนั้น ต้องลาโรงพักกินอาหารเย็น เวลากินอาหารต้องกินพร้อมกัน ซึ่งเจ้าภาพเป็นผู้จัดเลี้ยง โดยมากเป็นสำรับ ๆ ไม่ต้องถอดเครื่อง ถ้าล้อมวงเป็นสำรับ ครูใหญ่อยู่หัวสำรับต้น ก่อนลงมือกินครูต้องปั้นข้าวเป็นก้อนเสกกันกระทำเสียก่อนเหมือนกัน แล้วกล่าวคำถวายข้าวครู บางทีกล่าวเบาๆ ทุกคนนั่งสงบนิ่ง บางทีก็ประนมมือ พอครูยกมือไหว้ ทั้งหมดทำตามจึงลงมือ กินแล้วต้องไหว้อีกครั้งหนึ่งก่อนลุกจากวงสำรับและต้องลุกพร้อมกัน ใครไปก่อนถือว่าผิดมารยาทอย่างหนัก เมื่อถึงเวลาแสดงตอนค่ำ โหมโรงเช่นเคย ตกแต่งหน้าและเครื่องแต่งตัวให้เรียบร้อยและแสดงเข้าเรื่อง พอถึงเวลาโปรยทาน  ถ้าเป็นงานหลวงสมัยก่อนมักมีต้นกัลปพฤกษ์สี่มุมเมรุ ถ้าเป็นงานพระเมรุสำหรับโปรยทานทำเป็นพุ่มใหญ่มีลูกมะนาวแขวนไว้ เจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติแต่งเป็นเทวดานุ่งผ้าเกี้ยวสวมเสื้อแบบราชการมีรัตคตคาด สวมลอมพอก เป็นคนปลดลูกมะนาวโปรย โขนต้องหยุดแสดงชั่วคราวอีกขณะหนึ่ง เห็นจะเกรงว่าไม่มีคนดู เพราะคนคงเข้าไปรับกัลปพฤกษ์มากกว่าดูโขน หรือเปิดโอกาสให้โขนชั้นเล็ก เช่น เขนไปหาลำไพ่พิเศษได้ด้วย เพราะเงินสำคัญกว่าดู เพราะมะนาวแต่ละลูกบรรจุลูกละเฟื้อง เป็นเงินเฟื้องจริงๆ บางทีมีเงินสลึงปนด้วย เสร็จโปรยทานแล้วแสดงต่อ หยุดแสดงอีกตอนหนึ่งก็เวลาจุดดอกไม้เพลิง เช่น พุ่มดอกไม้เทียน เป็นต้น มีทั้งงานสมโภชอันเป็นมงคลและงานศพ  โขนต้องหยุดการแสดงแต่ไม่ลาโรง ตัวโขนก็อยู่บนโรง เป็นแต่ถอดหน้า เห็นจะเกรงว่ากลิ่นดอกไม้อันมีควันดินกำมะถัน จะเข้าไปทำให้หายใจไม่สะดวกเวลาแสดง เมื่อเลิกราโรง สรรเสริญพระบารมีแล้วใช้เพลงกราวรำบรรเลงต่อจนคนหมดหน้าโรง จึงลงรัวกลองเฉยๆ ไม่มีดนตรี

นนทยักษ์ เสนายักษ์กรุงลงกา

เมื่อเลิกการแสดงแล้ว ผู้แสดงทุกคนต้องไหว้เคารพครูอีกครั้ง แล้วต่างรีบเข้าไปหลังโรงขอขมาลงโทษซึ่งกันและกันตามลำดับอาวุโส  เพราะถือว่าได้มีการละเมิดล่วงเกินพลั้งพลาดไปบ้างในขณะแสดง วิธีปฏิบัติ ผู้น้อยไปคุกเข่าตรงเบื้องหน้าผู้ใหญ่  พนมมือแล้วลั่นวาจาขมาโทษเป็นใจความว่า “หากข้าพเจ้าพลั้งพลาด ด้วยกายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี โดยมิได้ตั้งใจ โปรดให้อภัยและอโหสิด้วย” แล้วก็กราบหรือไปไหว้ แล้วแต่ควรแก่ฐานะ ฝ่ายผู้ใหญ่ผู้มีอาวุโส หรือผู้รับ รับไหว้ โดยประคองมือผู้ขอขมาไว้แล้วตอบรับว่า “อโหสิ” และให้พร แล้วต่างซ้องมือเสยผมหรือลูบศีรษะตัวเองตามแบบเป็นเสร็จพิธี  ประเพณีนี้ไม่ควรให้สูญเสีย เป็นการแสดงน้ำใจและเยื่อใยผูกสัมพันธไมตรีมีสัมมาคารวะ อันเป็นวัฒนธรรมสำคัญของไทยเราส่วนหนึ่งอย่างดีมาก โดยเฉพาะในวงงานศิลปิน และทั้งเป็นการแสดงออกซึ่งการเคารพคารวะตามศักดิ์ศรีแห่งศิลปินตามฐานะผู้ใหญ่และเด็ก ในการเช่นนี้ตัวตลกหรือจำอวดเป็นผู้ได้รับขมามากที่สุด เพราะเป็นผู้ใหญ่ด้วยและเป็นผู้ที่ผู้แสดงมักล่วงเกินตัวตลกมากด้วย  ตลกต่อตลกก็เคารพกันตามฐานะเหมือนกัน อีกประเภทหนึ่งก็ผู้แสดงเป็นพาหนะ เช่น ครุฑ ช้าง ม้า มักถูกตัวพระซึ่งเป็นเด็กกว่าหรือเป็นผู้หญิง  แม้แต่การขึ้นลอยด้วย ก็ต้องถือว่าเป็นการล่วงเกิน ต้องขอขมาตามธรรมเนียม คนพากย์คนเจรจาก็ต้องขมาบางทีถึงพวกปี่พาทย์ด้วย

เป็นธรรมเนียมอีกอย่างหนึ่งคือ ศิลปินโดยมากมักเรียกกันเป็นเชิงเคารพนับถืออย่างญาติเสมอ เช่นเรียกผู้ใหญ่กว่า สูงอายุกว่า ว่าคุณพ่อ คุณลุง คุณป้า คุณอา คุณน้า คุณพี่ ท่านผู้ใหญ่เล่านั้นก็ถือว่าผู้อ่อนกว่าเสมือนน้องและลูกหลาน เพราะถือว่าเป็นผู้ร่วมอาชีพ เสมือนอยู่ในครัวเรือนเดียวกันและเครือญาติกันทั่วไป  จึงต่างเคารพรักใคร่กันอย่างสนิทสนม การช่วยเหลือเจือจุนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีต่อกันมากในวงงานศิลปินโขนละคร เช่น การช่วยเหลือทำกิจเสียสละทรัพย์และแรง ในคราวมีงาน มีทุกข์ร้อน คราวเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งตัวเองตลอดจนวงศ์ญาติ แม้แต่การต่อสู้ศัตรูที่มาเบียดเบียนข่มเหง เคยได้เห็นศิลปินป้องกันพวกพ้องเป็นหมู่คณะดีนักในเรื่องรักใคร่สามัคคี


การแสดงโขนเฉพาะหน้าพระที่นั่งหรือเฉพาะพระพักตร์เจ้านายและต่อหน้าข้าราชการผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้มีหน้าที่สำคัญในราชการหรือผู้มีหน้ามีตา หรือในงานหลวง เมื่อตัวละครออกไปแสดงหน้าฉาก ต้องวาดวงลงนั่งถวายบังคมหรือไหว้แล้วแต่กรณี ไปทางหน้าโรงก่อนทุกครั้ง เป็นการถวายราชสักการะหรือเคารพ ต่อจากนั้นเมื่อจะรำทำบททุกคราวต้องถวายบังคมหรือไหว้ก่อนเสมอไป ถ้านั่งอยู่แล้วบนเตียงก็ถวายบังคมหรือไหว้บนเตียงนั้น ถ้ายืนอยู่ที่พื้นโรงต้องวาดวงลงนั่งคุกเข่าถวายบังคมหรือไหว้ดังกล่าว นี่เป็นธรรมเนียมที่น่าดู เมื่อจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัล จะโปรดเกล้าฯ ให้ตำรวจหลวงรักษาพระองค์เข้ามาทางภายในโรงโขน แจ้งกระแสพระราชดำรัสแก่ผู้จะได้รับพระราชทานรางวัล แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจหลวงโดยมากเป็นชั้นปลัดกรม ก็เชิญพานทองรองเงินรางวัล ซึ่งเป็นเงินเหรียญบาทห่อผ้าขาวมีชายปมผูกเรียบร้อยตีตราครั่งประจำ  นำตัวโขนออกไปทางประตูฉาก ต้องออกไปโดยแต่งตัวครบชุด ผู้สวมหน้าต้องสวมออกไปด้วย ตำรวจหลวงนำไปยังหน้าพระที่นั่ง แล้วพร้อมกันนั่งลงถวายบังคม  ตำรวจนั่งทางเบื้องขวาของโรง ตัวโขนนั่งซ้ายถวายบังคมพร้อมกัน แล้วตำรวจหลวงส่งพานเงินให้ตัวโขน ตัวโขนเอางาน แล้วหยิบถุงหรือห่อเงินออกมาวางที่ข้างตัว แล้วทั้งตำรวจและตัวโขนถวายบังคมอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงกลับ การเข้าออกทางประตูฉาก และเดินไปกลับอย่างคนไม่ใช่อย่างละคร

ตัวโขนที่นั่งเป็นแถวกับพื้นโรง เช่น เสนา พญาวานร หรือสิบแปดมงกุฎ นางกำนัลตลอดจนเขน ต้องนั่งพับขาแบบพับเพียบไปทางเดียวกัน จะลักลั่นซ้ายบ้างขวาบ้างไม่ได้ และเมื่อใครเมื่อยจะพลิกกลับขาจะทำโดยอัตโนมัติคนละที ๒ ทีก็ไม่ได้ ไม่เป็นการสมควร ต้องทำพร้อมกันเป็นระเบียบ วิธีจะทำให้พร้อม ต้องมีสัญญาณ คือใช้มือตบลงที่พื้นถี่ๆ หลายๆ ครั้ง เมื่อหัวแถวได้ยิน ก็ทำพลิกขา คนเหล่านั้นก็พลิกตามเป็นจังหวะพร้อมกันงดงาม แต่เคยมีเหมือนกัน ที่มีผู้ชอบแกล้งตบเล่นโดยไม่เมื่อยจริงและก็มีเหมือนกันที่หัวหน้าแกล้งไม่ยอมพลิกเมื่อมีผู้ตบพื้น เมื่อเข้าโรงก็ต่อว่าต่อขานกันเป็นการครื้นเครง


 

ในการแสดงโขน ผู้บอกบทเป็นคนสำคัญ รองจากผู้ควบคุมโรง เรียกในสมัยนั้นว่า “ตั้วโผ”  ซึ่งเข้าใจว่าเป็นภาษาจีน เห็นจะนำมาจากผู้ควบคุมงิ้ว เพราะเป็นการอำนวยการทั้งด้านขับร้อง ด้านรำ ด้านบรรเลงปี่พาทย์ เช่น การเรียกหน้าพาทย์ คือ หมายถึงบอกให้ปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ตามบท สมัยก่อนคนบอกบทเป็นคนเรียกและนิยมใช้เครื่องหมายรหัสรู้กันในวงศิลปิน เช่น กางแขนออก ๒ ข้าง หมายถึงลง “วา” ทำนิ้วเป็นวงหมายถึงหน้าพาทย์กลม ทำท่าตีกลองตามจังหวะต่างๆ หมายถึง เชิดบ้าง รัวบ้าง เสมอบ้าง และเรียกเพลงเซ่นเหล้าว่านั่งกินดังนี้เป็นต้น คนบอกบทนี้เองเลยเป็นคนพากย์ คนเจรจาด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงกระทำหน้าที่นี้โดยตลอดตั้งแต่เริ่มตั้งโขนสมัคร จนถึงเมื่อออกทรงแสดงเป็นตัวบทด้วยพระองค์เองในคณะโขนสมัครหรือโขนบรรดาศักดิ์ จึงได้มอบหมายหน้าที่นั้นให้นายจ่ายวด รับหน้าที่สนองพระองค์จนตลอดรัชกาล

มีข้อห้ามสำคัญอยู่หลายประการ เท่าที่จำได้ คือห้ามนั่งเล่นบนเตียงหรือบนราวโขน (สำหรับโขนนั่งราว) ในเมื่อยังไม่ถึงบท ห้ามเจาะทะลวงตา หรือแก้ไขหน้าโขนโดยลำพัง ต้องให้ครูจัดทำให้ ห้ามนำอาวุธ เช่น ศร พระขรรค์ กระบองมาเล่นกันนอกเวลาแสดง ห้ามข้ามอาวุธ ห้ามข้ามกรายโกร่งสำหรับตี ห้ามจับกรับกระทุ้งเล่น ห้ามเล่นไม้ตะขาบ เมื่อผู้แสดงเกิดเจ็บป่วยในเวลาแสดง เช่น ปวดหัว ปวดท้อง แน่นจุกเสียดโดยกะทันหัน ครูมักสันนิษฐานว่าผิดครู ต้องขอขมาลาโทษโดยจุดธูปเทียนบูชาที่หน้าครูแล้วทำน้ำมนต์ธรณีสารให้คนป่วยกินมักหาย ถ้าผู้แสดงมีความกระดากอาย มีความประหม่า ไม่กล้าต่อการแสดง ครูจะทำน้ำมนต์อย่างที่กล่าว แล้วนำไปราดรดที่หน้าตะโพนจะทางหน้ามัดหรือหน้าลุ่ยก็ได้ แล้วรองน้ำกลับมาให้ผู้มีอาการดังกล่าวกินมักแก้ได้ น้ำมนต์ดังกล่าว บางทีครูใหญ่มักทำพิธีสะเดาะเสนียดโพยภัยอันตรายก่อนการแสดง ประพรมทั่วโรงละคร แล้วสาดขึ้นบนหลังคา หรือสาดข้ามจอโขน ถ้ามีอุปสรรคมาก ๆ บางทีจะใช้ข้าวสารเสกสาดด้วย


 การเก็บหรือวางเครื่องโรงทั้งเวลาแสดงและเวลาเก็บในคลังเครื่องโขน นิยมแบ่งเป็นพวกเป็นส่วนสัด เช่น อาวุธ มีกระบอกสำหรับเก็บไว้ในที่ที่สมควร ไม่ทิ้งเรี่ยราด หน้ายักษ์ หน้าลิง ต้องเก็บไว้คนละด้าน ไม่ให้ปะปนกัน มีหน้าฤษีคั่นกลาง  เคยมีเรื่องประหลาดที่วังจันทรเกษมอันเป็นที่ตั้งกรมมหรสพเดิม ในรัชกาลที่ ๖ และเป็นบริเวณกระทรวงศึกษาธิการเวลานี้  ในห้องคลังเครื่องโขน มีตู้ฝากระจกเป็นที่เก็บหน้าโขน และก็เก็บแบ่งปันเป็นฝักฝ่ายตามแบบอย่าง คราวหนึ่งมีใครอุตริยกหน้าฤษี ซึ่งคั่นไว้ตรงกลางแถวไปไว้ที่อื่น จะด้วยเจตนาหรือหลงลืมไม่ตั้งใจ ก็ไม่ทราบ  รุ่งขึ้นปรากฏว่าบานกระจกแตกเกือบหมด  หน้าโขนตกลงมาฉีกขาด กระจัดกระจายบุบสลาย จอนหูหัก เขี้ยวยักษ์หลุด  แต่โดยมากเป็นหน้าเสนากับสิบแปดมงกุฎ และส่วนมากหน้ายักษ์ชำรุดมากกว่าลิง ได้เคยมีคนที่อยู่ใกล้เคียงเล่าว่า ตอนกลางคืนได้ยินเสียงตึงตังโครมครามในห้องคลังเครื่องโขนเหมือนกัน แต่สำคัญเสียว่าเด็กโขนคงแอบเข้าไปเล่นซ่อนหากัน และไม่มีใครกล้าเข้าไปดูด้วย จนรุ่งเช้าจึงปรากฏเห็นปรากฏการณ์เช่นนั้น ชอบกลเหมือนกันประหลาดมาก

เรื่องธรรมเนียมและเคล็ดลางที่ถือกันในการแสดงโขนนี้ ได้รวบรวมเท่าที่นึกและจดจำได้ อาจไม่สมบูรณ์และถูกต้องโดยเรียบร้อย เพราะบางทีคณะหนึ่งก็มีวิธีการไปอย่างหนึ่ง ในส่วนภูมิภาคหนึ่งก็นิยมไปอีกอย่างหนึ่ง จึงใคร่เชิญชวนให้ผู้รู้และจำได้ช่วยกันต่อเติมเสริมใส่ให้ไพบูลย์ก็จะเป็นประโยชน์ และอย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่น่ารู้ไว้ประกับประกอบกับประวัติศาสตร์ต่อไปด้วย



.



การพากย์เจรจา
องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการแสดงโขนคือการพากย์เจรจา เนื่องจากตัวโขนในสมัยโบราณทุกตัวต้องสวมหน้าโขน (หัวโขน) ไม่สามารถสื่อสารด้วยเสียงหรือภาษาพูดจึงต้องมีผู้ทำหน้าที่พากย์และเจรจาแทน  คนพากย์เจรจานับว่ามีความสำคัญยิ่งในการแสดงโขน ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องราวและวิธีแสดงในตอนนั้น ๆ อย่างแจ่มแจ้ง ทั้งต้องจดจำ “คำพากย์”  ซึ่งแต่งเป็นกวีนิพนธ์สำหรับแต่ละตอน  และต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบในการเจรจาให้ถูกต้องตามเรื่องราว ผู้พากย์เจรจาต้องทำสุ้มเสียงให้เหมาะกับตัวโขนและใส่ความรู้สึกให้สอดคล้องกับอารมณ์ในเรื่อง เช่น เจรจาตัวพระก็ต้องทำเสียงให้สุภาพ  เจรจาตัวยักษ์ก็ต้องทำเสียงให้กร้าวดุดัน เมื่อตัวโขนแสดงอารมณ์อย่างไรก็ต้องเจรจาใส่ความรู้สึกลงในเสียงพากย์ให้สมบทบาท

การแต่งกายของผู้พากย์เจรจาโขนหลวงแต่เดิมนั้น นุ่งผ้าเกี้ยว สวมเสื้อและสวมหมวกหูกระต่าย ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเครื่องแบบมหาดเล็กซึ่งนุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงิน สวมเสื้อขาวติดแผงคอสีน้ำเงิน มีเครื่องหมายบอกยศและสังกัด ผู้พากย์เจรจาโขนหลวงแต่เดิมมีตำแหน่งและราชทินนามเป็นหมื่นพจนาเสนาะ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ราชทินนามเพิ่มขึ้นอีก ๔ ตำแหน่ง คือ sมื่นไพเราะพจมาน หมื่นขานฉันทวากย์ หมื่นพากย์ฉันทวัจน์ และ หมื่นชัดเจรจา

คำพากย์และเจรจานี้เหมือนกันทั้งการเล่นโขนและเชิดหนัง แต่งเป็น ยานี ๑๑ หรือ ฉบัง ๑๖  เมื่อพากย์จบแต่ละบทตะโพนจะต้องตีรับ ท้าให้กลองทัดตีตาม ๒ ที แล้วผู้แสดงที่อยู่ในโรงรับ “เพ้ย” พร้อมกันทุกๆ บท  ยกเว้นการ “พากย์โอ้” ที่เมื่อพากย์จบบทแล้วปี่พาทย์ต้องรับด้วยเพลง “โอ้ปี่” จนถึงท้ายเพลงตะโพนจึงตีท้า กลองทัดตีตามแล้วจึงรับ “เพ้ย” ให้จบลงพอดีกับเพลงปี่พาทย์  ในการแสดงโขนหลวงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ใช้คำว่า “ชโย” แทน “เพ้ย” สำหรับการพากย์ชมรถหรือชมกองทัพเฉพาะฝ่ายมนุษย์




การพากย์จำแนกตามเนื้อหาของคำพากย์หรือบทพากย์เป็น ๖ ประเภท ได้แก่
• พากย์เมือง หรือ พากย์พลับพลา
ใช้พากย์ในบทที่ตัวเอกประทับว่าราชการ เช่น ทศกัณฐ์ประทับในปราสาท หรือพระรามประทับในพลับพลา ดังตัวอย่าง
     ยานี ๑๑
ปางนั้นพระจักรี           
ผู้ทรงศรีอยุธยา
ประทับ ณ พลับพลา     
ณ ท่ามกลางพลากร
        ทั้งท้าวพิเภษณ์พงศ์     
        พรหมฤทธิ์อดิศร
        สุครีพขุนวานร           
        และพญาชมพูพาน
ยุวะราชองคต 
ยศไกรผู้ใจหาญ
กำแหงหนุมาน 
อีกทั้งนิลนนท์แขง
        อีกทั้งสิบแปดมง 
        กุฎกบี่ที่เริงแรง
        ต่างรอจะยอแย่ง 
        ยุทธสู้ศัตรูสลาย
               (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖)



กุมภกรรณ

• พากย์รถ
ใช้สำหรับพากย์ชมรถหรือพาหนะตลอดจนไพร่พลในกระบวน เช่น ชมรถของพระราม รถทรงมังกรกัณฐ์ ช้างเอราวัณ ม้าศึกวิรุญจำบัง ฯลฯ
     ฉบัง ๑๖
เสด็จทรงรถทรงสงคราม 
แสงแก้วแวววาม
สว่างกระจ่างพร่างพราย
พระที่นั่งบัลลังก์เลิศเฉิดฉาย
       งอนระหงธงปลาย
       ปลิวคว้างมากลางเมฆา
       เทียมราชสีห์เต้นเผ่นพา 
       รถเลื่อนเคลื่อนคลา
มากลางขนัดจัตุรงค์
ดุมวงกงดังก้องดง 
ดุมก้องฟัดกง
กงกลิ้งกระเดื่องโดดทะยาน
               (ประชุมคำพากย์รามเกียรติ)

• พากย์โอ้
ใช้สำหรับพากย์รำพันความเศร้าโศก ทำนองพากย์ต้นบทคงเดิม แต่ตอนปลายบทเป็นทำนองเพลงโอ้ปี่
     ยานี ๑๑
พระช้อนเกศขึ้นวางตัก 
พิศพักตร์แล้วรับขวัญ
ยิ่งคิดยิ่งกระสัน 
ยิ่งโศกเศร้าในวิญญา
       พิศพื้นศิโรโรตม์
       พระองค์โอษฐ์แลนัยนา
       กรแก้มพระกัณฐา 
       ก็เหมือนแม้นสีดาเดียว
พิศทรวงแลดวงถัน 
ในเบื้องบั้นพระองค์เรียว
ชะรอยรูปสีดาเจียว 
ประจักษ์แล้วนะอกอา
       พระเล็งลักษณเกศี 
       สินีน้องจนบาทา
       แทบท้าวจะมรณา 
       พินาศแนบพระศพลง
               (พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒)


• พากย์ชมดง
ใช้สำหรับพากย์ชมความงามของธรรมชาติป่าเขาลำเนาไพร ต้นบทเป็นทำนองร้องเพลงชมดงใน ปลายบทคงทำนองพากย์ปกติ
     ยานี ๑๑
พระชายชรเมียรชม 
คีรีรัตน์อลงกรณ์
เทิ้งแท่งทิฆัมพร 
ไพโรจน์ด้วยนิลาผกา
       ระยับน้ำมรกต 
       แสงใสสดตระการตา
       เรืองรุ่งทิวารา 
       ตรีจำรัสจำรูญงาม
ตรวยโตรกชะโงกง้ำ 
มีทางถ้ำชลาลาม
พุพุ่งหลั่งไหลหลาม 
ลงจากเงื้อมมณีลาย
       ดาษดูกระเด็นโดน 
       แทงถั่งโชนชลาขจาย
       ทบไหลลงหาดทราย 
       มาวิเชียรสาครควร
               (ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์)

• พากย์บรรยาย หรือ พากย์รำพัน
ใช้สำหรับบรรยายความเป็นมาของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือรำพึงรำพันถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มิใช่แสดงความโศก
     ฉบัง ๑๖
โลกสมมตินามดำกล 
สืบมาตราบดล
บัดนี้ว่านิลกาฬา
ฟูมคลื่นระลอกลั่นเลื่อนผกา 
กระทบซัดทรายมา
ก็ดอนขึ้นกลางชลธี
       พฤกษ์รุ่นเรียงร่มเรือนขจี
       กากายสิทธิ์มี
       มหิทธิอยู่อาศัย
จึงเรียกเกาะรังกาไกร 
ร้อยโยชน์ยาวใน
จังหวัดพิภพมณฑล
               (ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์)

• พากย์เบ็ดเตล็ด
ใช้พากย์เรื่องเบ็ดเตล็ดต่างๆ ที่ไม่เข้าประเด็นกับที่กล่าวมาแล้ว ทำนองพากย์เหมือนกันกับพากย์เมือง พากย์รถ และพากย์บรรยาย
     ฉบัง ๑๖
ครั้นถึงเชิงเขาสุรกานต์ 
ประทับทวยหาญ
ให้ตั้งพิธีเจษฎา
       จิตรการรับสั่งออกมา 
       เกณฑ์หมู่โยธา
       อสูรปลูกโรงรี
สามสิบเก้าห้องรูจี 
ดาดแดงดูดี
ด้วยพวงผกามาลัย
       ดำกลอาสน์รัตนฉัตรไชย 
       กลางโรงอำไพ
        มีกองหุดีกาลา
               (ประชุมคำพากย์รามเกียรติ์)




ผู้พากย์โขนต้องพากย์ตามบทซึ่งมีการประพันธ์ไว้แล้วและต้องทำหน้าที่เจรจาเมื่อถึงตอนที่เป็นบทสนทนาของตัวแสดงด้วย คำเจรจามีลักษณะเป็นร่ายยาว ส่งสัมผัสกันต่อไปเรื่อยๆ จนจบความ เช่น คำเจรจาของหนุมาน ตอนหนุมานอาสาไปลวงทศกัณฐ์แล้วยกทัพยักษ์ออกมาเจรจาทัพกับพระลักษณ์ว่า “หนอยแน่พระลักษณ์ อย่ามาพักพูดดี ตีประจบกลบเนื้อความ พระรามพี่เจ้าซิร้าย เจ้าเป็นน้องชายอย่ามาพูดแก้ตัว ใครเล่าเขาจะรักชั่วหามเสาไปสักกี่คน เราสู้เงือดงดอดทน กลืนเปรี้ยวเคี้ยวจนเข็ดฟัน จึงหวนจิตคิดบากบั่น มาเข้าด้วยเจ้าลงกา ออกศึกอาสาทำราชการ ท่านโปรดประทานเราสารพัดทั้งเศวตฉัตรและพัดวาลวิชนี ได้กินทั้งพานพระศรีขี่รถมณีนพรัตน์ มีเครื่องทรงสำหรับกษัตริย์ ทุกสิ่งพร้อม เป็นจอมจัตุรงค์ เครื่องต้นเครื่องทรงมงกุฎทองฉลองพระบาท ถือศรศาสตร์อาชญาสิทธิ์ ว่าที่ลูกเธอเสมอด้วยอินทรชิตเป็นสิทธิ์ขาด เทียบตำแหน่งมหาอุราชผู้เรืองยศ ทรงมอบสมบัติให้เราหมดทั้งลงกา เมื่ออยู่ในพลับพลาได้แต่ผ้าชุบอาบ เหม็นสาบเต็มทนก็เพราะความจนขมขื่นกลืนกิน เขารู้รสเสียหมดสิ้นแล้วละนะพระลักษณ์”

มังกรกัณฐ์

นายมนตรี  ตราโมท แสดงความเห็นเกี่ยวผู้เจรจาไว้ในบทความเรื่อง “วิธีพากย์ เจรจาและขับร้อง ในการแสดงโขน” ว่า “คำเจรจานี้แหละเป็นเครื่องวัดคนพากย์เจรจาว่ามีความสามารถเพียงใด เพราะคำเจรจามิได้มีบทแต่งสำเร็จไว้ ผู้พากย์เจรจาจะต้องคิดคำเจรจาของตนเอง ขึ้นในปัจจุบัน ถ้ามีปฏิภาณใช้ถ้อยคำให้สละสลวยรับสัมผัสกันได้แนบเนียน และได้เนื้อถ้อยกระทงความดีก็ถือว่าผู้พากย์เจรจาผู้นั้นเป็นผู้มีความสามารถ นอกจากใช้ปฏิภาณดังกล่าวแล้ว ผู้พากย์เจรจายังจะต้องจำคำเจรจาที่โบราณาจารย์ได้ผูกขึ้นไว้เป็นแบบเฉพาะตอนหนึ่ง ๆ ซึ่งเรียกว่า “กระทู้” ให้แม่นยำด้วย เมื่อแสดงมาถึงตอนนั้นคนพากย์และเจรจาอีกฝ่ายหนึ่งเขาเจรจาเข้ากระทู้มา ตนก็จะต้องเจรจาโต้ตอบให้เข้ากระทู้ด้วย หากจำคำเจรจาในกระทู้นั้นไม่ได้ เจรจาไปแต่ด้วยปฏิภาณก็อาจออกนอกทาง ทำให้เป็นที่อับอายแก่กัน”

ในการแสดงโขนจะแบ่งผู้แสดงออกเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายพระรามและไพร่พลวานรเรียกว่า ฝ่ายพลับพลา กับฝ่ายทศกัณฐ์และอสูรสัมพันธมิตรเรียกว่า ฝ่ายลงกา ต้องใช้วงดนตรีปี่พาทย์ประกอบฝ่ายละวง คนพากย์เจรจาต้องแบ่งเป็น ๒ ฝ่ายด้วยฝ่ายพลับพลาซึ่งตามขนบจะต้องอยู่ด้านขวา  ส่วนฝ่ายลงกาจะอยู่ทางด้านซ้าย สำหรับโขนนั่งราวและโขนหน้าจอที่เล่นบนโรง คนพากย์เจรจาจะยืนอยู่ชิดฉากริมประตูด้านขวาและด้านซ้ายข้างละคน ถ้าเป็นการแสดงโขนโรงใน คนพากย์เจรจาจะต้องนั่งเรียงอยู่กับคนร้องหน้าวงปี่พาทย์

ในการแสดงโขนโรงในซึ่งเป็นการประสมประสานระหว่างโขนละครต้องมีบทร้องประกอบการแสดงโขนแต่เดิมนั้นทั้งพระ นาง ยักษ์ ลิง คำพากย์เจรจาและดนตรีปี่พาทย์เป็นชายทั้งหมด เมื่อเกิดโขนโรงในขึ้น นักร้องยังคงเป็นหญิงตามแบบละครใน นักร้องแบ่งเป็น ๒ พวก คือ ต้นเสียงและลูกคู่ ต้นเสียงเป็นผู้ร้องต้นบทและร้องเดี่ยวไปจนจบวรรคแรกของคำกลอน จากนั้นลูกคู่จะร้องหมู่ไปจนจบวรรคที่ ๒ ของคำกลอน


   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 ตุลาคม 2558 19:18:57 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 22 กุมภาพันธ์ 2556 13:59:02 »

.


พระรามรบทศกัณฐ์
 
การจำแนกประเภทโขน
โขนเป็นมหรสพเก่าแก่ที่มีวิวัฒนาการมาโดยลำดับทั้งวิธีการแสดง สถานที่สำหรับแสดงและสิ่งที่ใช้ประกอบการแสดง ทำให้โขนจำแนกออกเป็น ๕ ประเภท ได้แก่ โขนกลางแปลง โขนโรงนอกหรือโขนนั่งราว โขนหน้าจอ โขนโรงในและโขนฉาก

• โขนกลางแปลง
คือการเล่นโขนบนพื้นดินกลางสนาม ตกแต่งภูมิทัศน์โดยรอบขึ้นเป็นฉาก ไม่ต้องปลูกสร้างโรง มีการพากย์เจรจา การแสดงโขนกลางแปลงนี้ น่าจะเน้นการยกรบและรบกันเป็นพื้น ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อโปรดฯ ให้จัดงานถวายพระเพลิงสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๙ “ครั้นนั้นมีโขนโรงใหญ่ทั้งโขนวังหลวงและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกันกลางแปลง”  แสดงว่าก่อนจะประสมโรงเล่นกลางแปลงนั้นเล่นบนโรงก่อน เมื่อถึงตอนยกรบและรบกันจึงลงเล่นกลางสนาม สันนิษฐานว่า การเล่นโขนในลักษณะดังกล่าวน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากการเล่นดึกดำบรรพ์

วงดนตรีปี่พาทย์ประกอบการเล่นโขนกลางแปลง ต้องมี ๒ วงเป็นอย่างน้อย ปลูกร้านยกพื้นขึ้นใกล้กับฝ่ายพลับพลาวงหนึ่ง ใกล้กับฝ่ายลงกาวงหนึ่ง หากสนามหรือพื้นที่แสดงกว้างมากก็ต่อเพิ่มลงปี่พาทย์และคนพากย์เจรจาได้อย่างชัดเจน




"ตีลิง" ตอนหนุมานอาสา

 
ตรีเศียร

• โขนโรงนอกหรือโขนนั่งรา
เป็นการเล่นบนโรงไม่มีเตียงสำหรับนั่ง แต่จะทำราวไม้ไผ่พาดตามยาวของโรง สำหรับเป็นที่ตั้งโขนนั่งตรงหน้าฉาก มีช่องว่างให้ผู้แสดงเดินได้รอบราว เมื่อตัวโขนแสดงบทบาทของตนแล้วก็กลับไปนั่งประจำที่บนราว มีแต่การพากย์เจรจา ไม่มีบทขับร้อง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้ว่า โขนโรงนอกได้แก่โขนที่มีในงานมหรสพหลวง “.....อย่างที่เคยมีในงานพระเมรุ หรืองานฉลองวัด เป็นต้น ที่เรียกตามปากตลาดว่า โขนนั่งราว” รูปแบบการจัดโรงแสดงโขนโรงนอกมีลักษณะคล้ายย่อเอาโขนกลางแปลงขึ้นไปเล่นบนเวที

วงดนตรีปี่พาทย์ประกอบโขนโรงนอก มี ๒ วงเช่นเดียวกับโขนกลางแปลง  ปลูกเป็นร้านยกพื้นขนาดย่อม สูงกว่าที่แสดง ทางด้านขวาและด้านซ้ายของโรง ตัวโขนแสดงอยู่หน้าวงปี่พาทย์ทั้ง ๒ วง ซึ่งจะผลัดกันทำเพลงเสมือนเป็นการประชันวงอยู่ในที



สหัสสเดชะ หน้า ๕ ชั้น

• โขนหน้าจอ
“จอ” ในที่นี้คือจอผ้าขาว มีระบายรอบ ทำด้วยผ้าดิบ สำหรับใช้ในการเล่นหนัง ต่อมามีการเจาะผ้าดิบ ๒ ข้างจอเป็นช่องประตูออก แล้วทำซุ้ม ๒ ด้าน ด้านซ้ายเป็นภาพกรุงลงกา ด้านขวาเขียนเป็นฝ่ายพลับพลา มีรูปเมขลารามสูรเหาะล่อแก้ว และมีพระจันทร์พระอาทิตย์อยู่ข้างบน จอหนังลักษณะดังกล่าวเรียกว่า “จอแขวะ” เกิดขึ้นในราวสมัยรัชกาลที่ ๔–๕ การเชิดหนังแต่โบราณนั้น บางครั้งมีการปล่อยตัวโขนออกมาเล่นสลับ แล้วปล่อยตัวหนังออกมาเชิดแกมกันไปจนลาโรงเรียกว่า “หนังติดตัวโขน” ตำราเล่นหนังในงานมหรสพฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ อธิบายถึงความเป็นมาของโขนหน้าจอว่า “ปัจจุบันเดี๋ยวนี้ มักจะเล่นปล่อยตัวโขนไปแต่เย็นตลอดกลางคืนจนเลิกทีเดียว เพราะตัวโขนเป็นตัวคน ชักให้คนดูสนุกสนานมากขึ้น ถ้าหนังโรงใดเล่นแต่ตัวหนังเปล่าแล้วดูเหมือนจะกร่อยๆ ไป สู้ติดตัวโขนหาได้ไม่ ส่วนจอนั้นก็ปักไว้พอเป็นพิธีว่าเล่นหนังเท่านั้น...”

โขนหน้าจอเป็นวิวัฒนาการอย่างหนึ่งของนาฏศิลป์โขนที่แสดงถึงการประสมประสานกลมกลืนกับการเล่นหนัง มีเพียงบทพากย์และเจรจาไม่มีบทร้อง วงปี่พาทย์ ที่บรรเลงประกอบการแสดงโขนหน้าจอใช้วงปี่พาทย์เพียงวงเดียว ตั้งอยู่ด้านข้างหน้าโรง หันหน้าก็หาตัวแสดง เช่นเดียวกับการบรรเลงประกอบการเล่นหนัง ไม่ต้องผลัดกันบรรเลงเหมือนโขนกลางแปลงและโขนโรงนอก


 
พญาขร


นางสำมนักขา

• โขนโรงใน
เป็นการประสมประสานโขนและละครในเข้าด้วยกัน มีการพากย์การเจรจาอย่างโขน และมีคนร้องต้นเสียงกับลูกคู่อย่างละครใน แสดงบนโรงและมีฉากหลังเป็นม่านอย่างละครใน นายมนตรี  ตราโมท ได้สันนิษฐานเรื่องโขนโรงในไว้ว่า “โขนโรงในนี้ คงจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เพราะในสมัยกรุงธนบุรีก็มีการแสดงอย่างโขนโรงในอยู่และไม่ปรากฏว่าได้ปรับปรุงขึ้นใหม่อย่างไร” เรื่องที่เป็นแบบแผนในการเล่นโขนคือ “รามเกียรติ์” ซึ่งเรื่องดังกล่าวนอกจากจะใช้สำหรับเล่นโขนและหนังแล้ว ยังเป็นบทสำหรับเล่นละครในมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ครั้นถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นสำหรับเล่นละครใน และต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์สำหรับเล่นละครในขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง ทั้งยังได้ทรงพระราชนิพนธ์คำพากย์รามเกียรติ์ขึ้นอีก ๔ ตอน ดังได้กล่าวมาแล้ว

โขนของกรมศิลปากรที่จัดแสดงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโขนกลางแปลง โขนหน้าจอและโขนฉาก แม้ว่าสถานที่หรือเวทีที่แสดงจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป แต่วิธีการแสดงดำเนินตามแบบแผนโขนโรงในทั้งสิ้น

วงดนตรีปี่พาทย์ที่ใช้ประกอบการเล่นโขนตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาลงมาคือปี่พาทย์เครื่องห้า ประกอบด้วย ระนาด ฆ้องวง ปี่ใน กลองทัด และตะโพน (ไม่นับฉิ่งซึ่งเป็นเครื่องกำกับจังหวะ) ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีการเพิ่มเครื่องดนตรีบางอย่างเข้าไป เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๑ เพิ่มกลองทัดเป็น ๒ ลูก (เดิมมี ๑ ลูก) สมัยรัชกาลที่ ๓ เพิ่มเป็นวงเครื่องคู่คือมีฆ้องวงเล็กและระนาดทุ้ม สมัยรัชกาลที่ ๔ วิวัฒนาการเป็นวงเครื่องใหญ่ เพิ่มระนาดเหล็กและระนาดทุ้มเหล็กฯลฯ วงปี่พาทย์ที่ประกอบการแสดงโขนก็เพิ่มขึ้นตามยุคสมัยที่กล่าวด้วย


 
ซ้าย : อินทรชิต แต่งเครื่องทำพิธีชุบศรพรหมาสตร์  ขวา : สุครีพรบพาลี

• โขนฉาก
เป็นการแสดงบนโรงหรือเวที มีการจัดฉากให้เปลี่ยนไปตามท้องเรื่องที่แสดง แต่วิธีแสดงเป็นแบบโขนโรงใน โขนฉากนี้สันนิษฐานว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงดำริขึ้นในรัชกาลที่ ๕ วิธีแสดงแบ่งเป็นฉากๆ ทำนองเดียวกับละครดึกดำบรรพ์

เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบการเล่นโขนกลางแปลง โขนนั่งราวและโขนหน้าจอแต่โบราณนั้น มีแต่เพลงหน้าพาทย์ (คือเพลงสำหรับประกอบกิริยาอาการ เช่น วา เสมอ เชิด ตระ รัว คุกพากย์ บาทสกุณี ฯลฯ)  ส่วนโขนโรงในและโขนฉากก็เพิ่มเพลงรับร้องแบบละครในขึ้นอีก เช่น โอ้ชาตรี ช้าปี่ใน และเพลงอัตรา ๒ ชั้น ต่างๆ เป็นต้น



หนุมาน(บวชเป็นฤษี)  

นาฏลีลา – ภาษานาฏศิลป์
การสื่อสารให้ผู้อื่นทราบความรู้สึกนึกคิดนอกจากภาษาพูดแล้ว ยังสามารถสื่อด้วยกริยาท่าทางที่แสดงออก ท่าทางที่แสดงออกมีทั้งท่าที่ใช้แทนคำพูด เช่น ตอบรับ ปฏิเสธ เรียก ขับไล่ ฯลฯ ท่าที่แสดงออกถึงกิริยาอาการ เช่น เคารพนบนอบ ข่มขู่ ฯลฯ ท่าทีแสดงออกถึงภาวะอารมณ์ เช่น รักโกรธ ดีใจ เสียใจ ฯลฯ กิริยาท่าทางต่างๆ บูรพาจารย์ได้ประดิษฐ์กำหนดเป็นแบบแผนสำหรับการแสดงออกอย่างงดงามในนาฏศิลป์

โขนต้องเต้นและรำไปตามเพลงดนตรีปี่พาทย์ บทพากย์ บทเจรจาและบทร้อง ตัวโขนต้องแสดงท่าทาง เต้นและรำไปตามบทและตามเพลง ซึ่งมีแบบแผนกำหนดไว้ ๒ อย่างคือ รำหน้าพาทย์ และรำบท หรือรำใช้บท

• รำหน้าพาทย์
คือการรำตามทำนองเพลงดนตรีปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบ ผู้เล่นโขนต้องเต้นและรำไปตามจังหวะทำนองดนตรี เช่น เพลงกราวใน ใช้เมื่อตรวจพลฝ่ายยักษ์ เพลงกราวนอก ใช้เมื่อตรวจพลฝ่ายพลับพลา เป็นต้น  เพลงกราวนอกมีท่วงทำนองฮึกเหิมสง่างามคล่องแคล่วว่องไว ส่วนเพลงกราวในมีท่วงทำนองห้าวหาญดุดัน เหมาะกับบาทบาทของตัวแสดงของแต่ละฝ่าย หากเป็นการแสดงตอนที่สำแดงอิทธิฤทธิ์ ตามปกติกำหนดใช้เพลงคุกพาทย์ซึ่งมีท่วงทำนองรุกเร้า กระชั้น น่าสะพรึงกลัว

ท่ารำหน้าพาทย์ที่ครูบาอาจารย์ทางนาฏศิลป์ไทยในอดีตได้ประดิษฐ์ขึ้นไว้เป็นแบบแผนล้วนมีความสอดประสานกับทำนองเพลง ทั้งมีการคัดสรรให้เหมาะกับฐานะของตัวแสดงและเนื้อหาของเรื่องแต่ละตอน  หากเพลงหน้าพาทย์แสดงความหมายถึงอาการคึกคักกระฉับกระเฉง ท่าเต้นท่ารำก็ต้องคึกคัก  ว่องไวไปตามนัยของเพลง หากเพลงหน้าพาทย์แสดงนัยถึงความเศร้าโศก ท่าเต้นท่ารำก็ต้องแสดงออกถึงอาการโศกตามนัยของเพลง หรือถ้าเพลงหน้าพาทย์แสดงถึงความสง่างาม ภาคภูมิ ท่าเต้นท่ารำก็ต้องประดิษฐ์ให้สมกับนัยของเพลงด้วย



วิรุญจำบัง

• รำบท
การรำบทหรือเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่ารำใช้บท เป็นการรำตามบทพากย์เจรจาและบทร้อง กล่าวคือประดิษฐ์ท่ารำไปตามถ้อยคำที่ปรากฏในบท แสดงออกถึงกิริยาอาการให้สอดคล้องกับถ้อยคำในบท เช่น
ปฏิเสธ ทอดแขนไปข้างหน้า งอศอกนิดๆ ตั้งข้อมือให้ฝ่ามือหันออกจากตัว
เรียก หงายมือทอดแขนแล้วกวักฝ่ามือเข้าหาตัว
สั่ง ม้วนมือแบบโบกออกไป
รัก แบบฝ่ามือทั้งสองไขว้ข้อมือก่ายซ้อนกัน แล้วเอาฝ่ามือทั้งสองประทับที่ทรวงอก
ร้อนใจ เอาฝ่ามือทั้งสองที่ประทับทรวงอก ตบหน้าอกถี่ๆ
ร้องไห้ ยกมือขวาขึ้น นิ้วทั้งสี่ชิดกัน กางนิ้วหัวแม่มือออก แล้วใช้ช่วงระหว่างนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้แตะไว้ที่หน้าผาก
ดีใจ  ใช้มือซ้ายจีบนิ้วยกขึ้นมาใกล้ริมฝีปากบน
โกรธ ใช้ฝ่ามือข้างใดข้างหนึ่ง สีไปมาที่ก้านคอ ใต้หู ส่วนอีกมือหนึ่งกำนิ้วทั้งสี่ไว้ แล้วชี้นิ้วฟาดไปข้างหน้า พร้อมกับกระทืบเท้าลงบนพื้น
          ฯลฯ
ท่าเต้นท่ารำของโขนเป็นประดิษฐการทางนาฏศิลป์ชั้นสูงที่โบราณบัณฑิตได้สร้างสรรค์ขึ้นเป็นแบบแผน  มีความงดงามวิจิตร เป็นมรดกล้ำค่าที่มีการสืบทอดอย่างไม่ขาดสายจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งจวบจนถึงปัจจุบัน



พระคเณศ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 ตุลาคม 2558 19:44:15 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 22 พฤษภาคม 2556 11:37:02 »

.


จิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ ตอน "หนุมานเข้าห้องทศกัณฐ์"
ที่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


ภาค ๒
"รามเกียรติ์"
จากวรรณคดีอมตะสู่ นาฏกรรมไทย

รามเกียรติ์ แปลว่าเกียรติของพระราม เรื่องราวของพระรามเป็นนิทานเก่าแก่ที่ชาวอินเดียโบราณรู้จักแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยก่อนพุทธกาล เชื่อว่าพระรามเป็นปางหนึ่งของพระนารายณ์อวตารคือรามาวตาร  ต่อมามีฤษีวาลมีกินำมาแต่งเป็นมหากาพย์รามายณะ มีเนื้อหาสรรเสริญพระราม นักปราชญ์ทางวรรณคดีสันสกฤตมีความเห็นว่า มหากาพย์รามายณะของฤษีวาลมีกิมีอายุเก่ากว่า ๒,๐๐๐ ปี

เรื่องราวของพระรามเผยแพร่ไปยังดินแดนสุวรรณภูมิ ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคทั้งไทย ลาว เขมร มลายู ชวาและพม่า ล้วนรับเรื่องรามเกียรติ์หรือเรื่องของพระรามไปสร้างเป็นวรรณกรรมหรือเล่าขานอยู่ในชาติของตน  ในประเทศอินเดียซึ่งเป็นต้นกำเนิดก็มีเรื่องของพระรามในหลายแคว้นหลายสำนวน  แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะมีที่มาเดียวกัน แต่เมื่อแพร่กระจายไปยังท้องถิ่นหรือดินแดนต่างๆ ก็ย่อมมีการปรับเปลี่ยนให้กลมกลืนกับบุคลิกภาพของสังคมนั้นๆ เช่น หนุมานของอินเดียเป็น “พรหมจาริณ” ไม่พึงสัมผัสสตรีเพศ แต่ในเรื่องศรีรามของมหลายู  หนุมานเป็นชู้กับชายาพระลักษณ์  หนุมานในรามเกียรติ์ไทยมีลักษณะเจ้าชู้มีเมียทั้งยักษ์ (นางเบญกายกับนางสุวรรณกันยุมา) ลิง (นางวานริน)  นางฟ้า (บุษมาลี)  และปลา (นางสุพรรณมัจฉา)  เมื่อเสร็จศึกลงกาแล้วพระรามยังประทานยศให้มีนางสนมอีก ๕,๐๐๐  รายละเอียดของพระรามที่มีในประเทศต่าง ๆ ก็แตกต่างกันไป

คนไทยน่าจะรู้จักเรื่องของพระรามมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยหรือก่อนหน้านั้นขึ้นไป  ในศิลาจารึก หลักที่ ๑ กล่าวถึง “ถ้ำพระราม” แม้แต่พระนามของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ก็มีคำว่า “ราม”  คำว่ารามเป็นส่วนสำคัญในพระนาม เช่น สมเด็จพระรามาธิบดี  สมเด็จพระรามราชาธิราช  สมเด็จพระราเมศวร เป็นต้น  ทั้งย่อมแสดงให้เห็นว่า เรื่องของพระรามเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิพลยิ่งต่อวิถีของสังคมไทยในอดีต



อสุรผัด


ซ้าย : อินทรชิต (หน้าทอง) ประดิษฐ์จากโลหะ ขวา : หนุมานทรงเครื่อง มงกุฏเดินหน

• วรรณกรรมรามเกียรติ์สมัยกรุงศรีอยุธยา
คำว่า “ราม” ที่ใช้เป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ไทยนั้น เริ่มมีมาตั้งแต่แรกสถาปนากรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอู่ทองผู้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีมีพระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี”  ในรัชกาลของพระองค์มีวรรณคดีสำคัญเกิดขึ้นเรื่องหนึ่ง คือ โองการแช่งน้ำ ซึ่งพราหมณ์จะเป็นผู้อ่านในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในโองการดังกล่าวมีบทขอให้เทพยดาและอมนุษย์ช่วยสอดส่องดูความซื่อสัตย์ของผู้ถือน้ำ ปรากฏชื่อทุณพี (ทรพี) สิบหน้าเจ้าอสูร (ทศกัณฐ์)  และพระรามพระลักษณ์ รวมอยู่ด้วย
     “ชื่อทุณพีตัวโตรด            ลมฝนฉาวทั่วฟ้า ช่วยดู
     ฟ้าจรโลดลิวขวาน            ขุนกล้าแกล้วขี่ยูง ช่วยดู
     เคล้าฟ้าเคลือกเปลวลาม     สิบหน้าเจ้าอสูร  ช่วยดู
     พระรามพระลักษณ์ชวักอร    แผนทูนเขาเงือกปล้ำ ช่วยดู”

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นในพุทธศักราช ๑๘๙๓ โองการแช่งน้ำน่าจะแต่งขึ้นในระยะเวลาใกล้เคียงกันกับการสถาปนาพระนคร และพระรามพระลักษณ์ก็คงเป็นที่รู้จักนับถือมาก่อนหน้านั้นช้านาน วรรณคดีสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหลายเรื่อง อ้างถึงเรื่องราวของพระราม มีการนำมาเปรียบเทียบในลักษณะต่างๆ เช่น โคลงยวนพ่าย ซึ่งแต่งขึ้นเพื่อสรรเสริญพระเกียรติคุณของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเปรียบเทียบว่า
     ชยชยอำนาจท้าว         คือราม
     รอนราพล่องลงกา        แผ่นแผ้ว
     ชยชยติ่งติดตาม          มารมารค นั้นฤา
     ชยชำนะได้แก้ว           ครอบครอง ฯ
และ
     พระคุณพระครอบฟ้า      ดินขาม
     พระเกียรติพระไกรแผน    ผ่านฟ้า
     พระฤทธิพ่างพระราม      รอนราพ ไส้แฮ
     พระก่อพระเกื้อหล้า        หลากสวรรค์ ฯ



พิเภก

นอกจากโคลงยวนพ่ายแล้ว ยังมีวรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้นเรื่องอื่นๆ ที่นำเอาการพลัดพรากของพระรามกับนางสีดาและการสงครามกับกรุงลงกามาเปรียบเทียบในสำนวนนิราศ เช่น
     ปางบุตรนคเรศไท้          ทศรถ
     จากสีดาเดียวลี             ลาสแล้ว
     ยังคืนสู่เสาวคต             ยุพราช
     ฤาอนุชน้องแคล้ว          คลาศไกลฯ  
                     (ทวาทศมาสโคลงดั้น)

     รามาธิราชใช้               พานร
     ถโกนสมุทรวายาม         ผ่านฟ้า
     จองถนนเปล่งศิลป์ศร      ผลาญราพณ์
     ใครอาจมาขวางข้า         ก่ายกอง ฯ
                         (โคลงกำสรวล)

ตัวอย่างจากวรรณคดีที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นเรื่องของพระรามโดยตรง ยังมีวรรณคดีที่กล่าวถึงรายละเอียดปลีกย่อยในรามเกียรติ์ เช่น เรื่องพาลีกับนางดารา  กล่าวไว้ในกาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถ ซึ่งแต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า
     เกลือกเกลื่อนเหมือนพาลี     ได้มารศรีปรี่ปรึงไป
     ฝากน้องต้องติดใจ             พิสมัยอยู่คู่เคียงเอง
 
     เกลือกเหมือนเงื่อนเมื่อครั้ง   พาลี
     รับนุชอุดมศรี                   ฝากน้อง
     เสียสัตย์ตัดชนม์พลี            พิตนาศ
     เอาเองเพลงปืนต้อง           ท่าวล้มไลลาญ ฯ

ข้อความจากวรรณคดีสมัยอยุธยาที่อ้างถึงเรื่องราวรามเกียรติ์ย่อมแสดงว่าเรื่องดังกล่าวต้องเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย  การนำรามเกียรติ์มาแต่งเป็นวรรณกรรมเอกเทศตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนกรุงรัตนโกสินทร์มีหลายสำนวนได้แก่

นิราศสีดา หรือ ราชาพิลาปคำฉันท์ สันนิษฐานว่าเรื่องนี้ น่าจะแต่งขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะหนังสือจินดามณี ของพระโหราธิบดี ซึ่งแต่งในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนำไปเป็นตัวอย่างคำประพันธ์ นิราศสีดาแต่งเป็นคำฉันท์มีเนื้อหาตั้งแต่พระรามพระลักษณ์ออกติดตามสีดาจบลงตอนพบหนุมาน




คำพากย์รามเกียรติ์ เป็นบทสำหรับพากย์หนังใหญ่ที่สามารถนำมาใช้พากย์โขนได้ด้วย เรื่องนี้แต่งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่ทราบระยะเวลาในการแต่งที่แน่นอน ประกอบด้วยคำประพันธ์ ๒ ชนิดคือ ยานี ๑๑ และ ฉบัง ๑๖ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์คำพากย์นางลอยก็ทรงได้เค้าไปจากคำพากย์ของเก่า
 
หอพระสมุดวชิรญาณรวบรวมคำพากย์รามเกียรติ์สมัยกรุงศรีอยุธยามาตีพิมพ์เมื่อรัตนโกสินทร์ศก ๑๒๒–๑๒๓ แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๙ ภาค ได้แก่ ภาค ๑ คำพากย์สามตระเบิกหน้าพระ คำพากย์เบ็ดเตล็ด คำพากย์ พระราชนิพนธ์ ในรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๖  ภาค ๒ ตอนสีดาหาย  ภาค ๓ ตอนพระรามได้ขีดขิน ภาค ๔ ตอนหนุมานถวายแหวน  ภาค ๕ ตอนหนุมานเผาลงกา  ภาค ๖ ตอนพระรามประชุมพล ภาค ๗ ตอนพระรามประชิดลงกา  ภาค ๘ ศึกไมยราพ  ภาค ๙ ศึกกุมภกรรณ

วรรณกรรมรามเกียรติ์สมัยกรุงศรีอยุธยานอกจากนิราศสีดาและคำพากย์แล้ว ยังมีบทละครรามเกียรติ์ เท่าที่พบต้นฉบับเป็นตอนพระรามประชุมพลถึงองคตสื่อสาร  การที่นำเรื่องนี้มาประพันธ์เป็นกวีนิพนธ์หลายสำนวนนั้นแสดงว่า สังคมอยุธยารู้จักเรื่องรามเกียรติ์อย่างแพร่หลาย นอกจากจะมีการสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรมแล้ว ยังมีการนำไปสร้างสรรค์งานวิจิตรศิลป์หลายสาขา ทั้งจิตรกรรมและประติมากรรม




หนุมาน

• วรรณกรรมรามเกียรติ์สมัยกรุงธนบุรี

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๑๓ มี ๔ ตอน คือ ตอนหนุมานเกี้ยววานริน ตอนท้าวมาลีราชว่าความ ตอนทศกัณฐ์ตั้งพิธีทรายกรด พระลักษณ์ต้องหอกกบิลพัสดุ์–ผูกผมนางมณโฑ และตอนพระมงกุฎประลองศร

สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นหลังจากเสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราชในพุทธศักราช ๒๓๑๒ แล้วทรงนำละครจากเมืองนครศรีธรรมราชมายังกรุงธนบุรี




จิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ "ตอนทศกัณฐ์นั่งเมือง"
ที่พระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


• วรรณกรรมรามเกียรติ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯ ให้สถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในพระบรมมหาราชวังและโปรดฯ ให้เขียนจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ไว้รอบพระระเบียงเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ดังปรากฏในโคลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ของพระชำนิโวหาร ว่า
     พระระเบียงระเบียบห้อม      ไพรหาร
     เรขเรื่องพระอวตาร            แต่ต้น
     มรฑปกุฎาคาร                 ทไวยสดูป
     หอแห่งพระนาคพ้น            แพ่งสร้างสบสถาน ฯ

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระราชศรัทธาในพระแก้วมรกตยิ่งนัก  นามของราชธานีที่ทรงสถาปนาขึ้นใหม่ก็โปรดฯ ให้ตั้งว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ซึ่งแปลความหมายโดยรวมว่า เมืองของพระแก้วมรกต อันเป็นที่สถิตของพระ (นารายณ์) อวตาร




หลักฐานทางวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ตลอดจนศิลปกรรมหลายสาขาที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ หลายอย่างมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องรามเกียรติ์ เช่น หน้าบันพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จำหลักไม้เป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ  หน้าบันพระมณฑปวัดมหาธาตุฯ  ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงสถาปนาจำหลักไม้เป็นรูปพระลักษณ์ทรงหนุมาน เป็นต้น แม้แต่พระนามของ “พระบรมราชวงศ์จักรี” ก็นำมาจากเทพศาสตราวุธของพระนารายณ์ด้วยเช่นกัน

หากพิจารณาจากพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทแล้ว จะเห็นว่าทั้ง ๒ พระองค์ทรงกรำศึกปราบอริราชศัตรูมาด้วยกัน เปรียบเหมือนพระรามพระลักษณ์ซึ่งอวตารมาปราบเหล่ามาร ในโคลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยของพระชำนิโวหาร กล่าวเปรียบพระเกียรติคุณของทั้ง ๒ พระองค์ ไว้ตอนที่หลวงสรวิชิต (หน) คุมพลปืนไปรับเสด็จฯ กลับพระนครว่า
     หลวงสรวิชิตเชื้อ           ชาญสนาม
     คุมไพร่พรานปืนสาม       สิบถ้วน
     เติมตั้งปีกกาตาม           เทินแทบ สกลนา
     รายรับรามลักษณ์ล้วน     ทะแกล้วทวยหาญฯ

พระชำนิโวหารผู้แต่งโคลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ  เป็นผู้ได้รู้เห็นเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วยตนเอง กล่าวเปรียบทั้ง ๒ พระองค์ไว้ในโคลงอีกบทหนึ่งว่า
     คือองค์หริรักษ์เรื้อง  รามา ธิราชเอย
     ปราบอสุรพาลา            เหล่าร้าย
     เสด็จแสดงมหิทธิมหา     สุรภาพ
     มาเตรียกตรีภพผ้าย        แผ่นฟ้าสุธาการฯ




บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑  
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯ ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตและทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๓๔๐  มีความยาวถึง ๕๐,๒๘๖ คำกลอน นับเป็นรามเกียรติ์ฉบับสมบูรณ์ มีเนื้อหาละเอียดลออที่สุด ตอนต้นของบทละครสำนวนนี้แต่งเป็นร่าย ระบุถึงพระราชประสงค์ที่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า แต่งขึ้นเพื่อสมโภชพระแก้วมรกต “ภูธรดำริดำรัส จัดจองทำนองทำนุก ไตรดายุคนิทาน ตำนานเนื่องเรื่องรามเกียรติ์ เบียนบรปักษ์ยักษ์พินาศ ด้วยพระราชโองการ ปานสุมาลัยเรียบร้อยสร้อยโสภิต พิกสิตสาโรชโอษฐ์สุคนธ์ วิมลหื่นหอม ถนอมถนิมประดับโสต ประโยชน์ฉลองเฉลิม....” ในตอนจบยังมีข้อความกล่าวถึงพระราชประสงค์ในการแต่งทำนองเดียวกับร่ายต้นเรื่องว่า
     “อันพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์
     ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย
     ใช่เป็นแก่นสารสิ่งใด
     ดั่งพระทัยสมโภชบูชา”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับบทละครเรื่องรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑ ว่า “พระราชนิพนธ์พระพุทธยอดฟ้า ตั้งใจจะให้ถ้วนถี่ต้องแบบอย่าง ด้วยต้องการจะให้ถ้อยคำลึกและไพเราะเป็นอัศจรรย์ด้วย ไม่รังเกียจข้อที่จะยืดยาวจนเล่นละครดูเบื่อ”


บทละครเรื่องรามเกียรติ์ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงทำนุบำรุงโขนละครอันเป็นมหรสพสำหรับพระนคร ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำพากย์รามเกียรติ์สำหรับเล่นโขนและหนังใหญ่ขึ้น ๔ ตอน  ได้แก่ พรหมาสตร์ นาคบาศ เอราวัณและนางลอย  นอกจากนี้ยังได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ขึ้นอีกสำนวนหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ดังกล่าวว่า “พระราชนิพนธ์พระพุทธเลิศหล้านภาลัยย่อให้สั้น ไม่ให้บทยาวเยิ่นเย้อดูละครเบื่อเป็นที่ตั้ง แต่เลือกคำให้เพราะ ให้ถูกต้องด้วยแบบธรรมเนียม แต่ไม่พยายามที่จะว่าให้ครบครัน”




บทละครเรื่องรามเกียรติ์  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๔
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์บทละครรามเกียรติ์ไว้ ๓ ตอนคือ ตอนพระรามเดินดง บทเบิกโรงตอนนารายณ์ปราบนนทุกและตอนพระพิราพเข้าสวน

โคลงเรื่องรามเกียรติ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงชักชวนกวีต่างๆ แต่งขึ้นเพื่อจารึกบรรยายภาพจิตรกรรมฝาผนังบริเวณพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นโคลงรวมทั้งสิ้น ๔,๙๘๔ บท  ส่วนที่ทรงพระราชนิพนธ์เป็นโคลง ๒๒๔ บท

บทพากย์และบทร้องเรื่องรามเกียรติ์  พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์บทพากย์และบทร้องเรื่องรามเกียรติ์ ดำเนินเรื่องตามคัมภีร์รามายณะของฤษีวาลมีกิ  มีเนื้อหาบางส่วนและชื่อบุคคลในเรื่องต่างไปจากเรื่องรามเกียรติ์ของไทย ตอนที่ทรงพระราชนิพนธ์ได้แก่ บทละครรามเกียรติ์ชุดเบิกโรง อรชุนกับทศกัณฐ์ อภิเษกสมรส สีดาหาย เผาลงกา พิเภษณ์ถูกขับ นางลอย จองถนน ประเดิมศึกลงกา พิธีกุมภนิยา นาคบาศ และพรหมมาสตร์

เรื่องรามเกียรติ์กระจายไปในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย นอกจากจะมีการนำมาสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรมแบบแผนหลายประเภทแล้ว ยังมีการสร้างเรื่องเป็นนิทาน ตำนานสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง เช่น เรื่องท้าวกกขนาก หรืออนุราชในนิทานตำนานเขาวงพระจันทร์เมืองลพบุรี เรื่องในรามเกียรติ์มีว่า อนุราชเดิมเป็นเทพบุตร ถูกพระอิศวรสาปให้เป็นรากษส เมื่อใดพระนารายณ์อวตารไปปราบอธรรมให้เอาต้นกกแผลงเป็นศรไปปักตรึงไว้กับหินทรมานอยู่แสนโกฏิปี อนุราชมีธิดาชื่อนางประจันหรือจันทวดี เมื่อพระรามเดินดงครั้งหลังแผลงศรต้นกกปักตรึงไว้ตามคำสาป และทุก ๓ ปี ให้หนุมานไปตอกศรมิให้เคลื่อนออก ในสมัยก่อนเชื่อกันว่าทุก ๓ ปี จะเกิดไฟไหม้เมืองลพบุรี  เพราะประกายที่เกิดจากการตอกศรของหนุมาน เป็นต้น







ท่าขึ้นลอย หนุมานรบทศกัณฐ์

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 13 ตุลาคม 2558 20:10:12 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 05 มิถุนายน 2556 13:46:08 »

.


เสนายักษ์

หัวโขน  
และ พงศ์รามเกียรติ์
การแสดงโขนแต่โบราณ ผู้แสดงต้องสวมหน้าโขนหรือหัวโขนปิดหน้า เว้นแต่ตัวตลกที่เรียกว่าตลกโขนเท่านั้นที่สวมหน้าโขนครอบไว้บนศีรษะไม่ปิดหน้าเพื่อให้สามารถเจรจาแสดง “มุข” ได้เอง  ผู้ที่สวมหน้าโขนอยู่ไม่พากย์เจรจาด้วยตนเอง แต่ต้องเต้นและรำให้เข้ากับจังหวะทำนองดนตรี กับต้องทำบทแสดงกิริยาอาการไปตามคำพากย์เจรจา ภายหลังการแสดงโขนมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง กล่าวคือผู้แสดงเป็นตัวยักษ์ ตัววานรกับสัตว์บางจำพวกเท่านั้นที่ยังสวมหน้าโขนอยู่ ส่วนผู้แสดงเป็นเทวดาและมนุษย์ชายหญิงไม่นิยมสวมหน้า แต่ยังคงไม่พูดไม่เจรจาเองตามแบบแผนของโขนดั้งเดิม


ภาพจากซ้ายไปขวา ทศกัณฐ์แปลง-พระปรคนธรรพ-พระปัญจสีขร


ภาพจากซ้ายไปขวา พระพรหม-ฤษี-อินทรชิต

• การสร้างหัวโขน
หน้าโขนหรือหัวโขนจัดสร้างขึ้นด้วยศิลปะชั้นสูง มีลักษณะและสีสันที่แตกต่างตามเรื่องรามเกียรติ์  ผู้ที่เป็นนาฏศิลปินและผู้ที่อยู่ในวงการดนตรีนาฏศิลป์ให้ความสำคัญเคารพนับถือว่าหัวโขนเป็นครู ช่างที่เป็นผู้สร้างหัวโขนก็ต้องดำเนินตามขนบที่สืบทอดมา

เมื่อจะเริ่มสร้างต้องตั้งเครื่องบัดพลี บวงสรวงอัญเชิญเทพยดาและครูบาอาจารย์ แล้วจึงลงมือขึ้นรูปปั้นหุ่นด้วยดินเหนียวเป็นรูปมนุษย์หรืออมนุษย์ต่างๆ ตามที่ต้องการ นำไปเผาให้สุก จากนั้นปิดทับด้วยกระดาษข่อยหลายๆ ชั้น จนมีความหนาพอเหมาะ กวดให้กระดาษที่ปิดยึดติดกันสนิทตามลักษณะของหัวโขนนั้นๆ เมื่อกระดาษที่ปิดแห้งสนิทแล้วจึงผ่าเอาหุ่นกระดาษออกจากหุ่นดิน นำมาติดลวดลายที่ทำด้วยขี้รัก ซึ่ง “กระแหนะ” หรือพิมพ์ลายจากแม่พิมพ์ ลวดลายที่นำมาติดจะแตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของหัวโขนแต่ละหัว ช่างผู้สร้างหัวโขนต้องพิจารณาตกแต่งให้ต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของหัวโขนแต่ละหัว ตกแต่งหุ่นกระดาษนั้นทั้งรูปหน้า ปาก จมูก คิ้ว ตา ฯลฯ ให้มีความงดงามคมชัดจากนั้นนำมาใส่เครื่องประกอบ หมายถึงส่วนที่ลอยตัวออกมาจากหัวโขนเช่นจอนหู ซึ่งแต่โบราณจะทำโครงด้วยหนังวัว ฉลุและติดลวดลายขี้รัก “กระแหนะ” จากนั้นจึงลงรักปิดทอง เขียนลายระบายสีตัดเส้นและติดกระจกหรือพลอยในส่วนที่เป็นเครื่องประดับตามรูปแบบ

ก่อนที่จะนำหัวโขนที่สร้างใหม่ไปแสดงต้องทำพิธีเบิกพระเนตร หมายถึงให้มีดวงตาอันเป็นทิพย์ เมื่อนำไปสวมแสดงครั้งแรกผู้สอนหรือครูจะเป็นผู้สวมให้ ผู้แสดงต้องพนมมือน้อมรำลึกถึงพระคุณครูบาอาจารย์ขณะที่ครูสวม




ภาพจากซ้ายไปขวา พระลักษณ์-พระวิษณุกรรม-องคต

 

หน้าโขนหรือหัวโขนในเรื่องรามเกียรติ์มีอยู่เป็นจำนวนมากทั้งเทพเจ้า ฤษี พระ ยักษ์และลิง มีสีสันและลักษณะที่แตกต่างกันตามที่โบราณาจารย์กำหนดรูปแบบและถือปฏิบัติสืบกันมา ในการแสดงโขนบางตอนตัวโขนตัวเดียวกันจะสวมหน้าที่มีสีต่างกัน เช่น ทศกัณฐ์ ปกติหน้าสีเขียว แต่ถ้าแสดงตอนทศกัณฐ์ลงสวนหรือฉุยฉายทศกัณฐ์ จะสวมหน้าสีทอง หนุมาน ปกติสวมมาลัยทอง แต่ถ้าแสดงตอนเป็นอุปราชกรุงลงกาสวมมงกุฎเดินหน ตอนเป็นพระยาอนุชิตสวมมงกุฎชัย ตอนบวชสวมชฏาฤษี เป็นต้น หน้าโขนหรือหัวโขนจำแนกออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้  

  - เทพเจ้าและเทวดาต่างๆ เช่น พระอิศวร พระพรหม พระนารายณ์ พระอินทร์ พระอรชุน พระมาตุลี เป็นต้น
  - พระครูพิราพและพระครูฤษี เช่น พระฤษีวสิษฐ์ พระฤษีกไลโกฏ พระฤษีโคบุตร เป็นต้น
  - พระ (มนุษย์) เช่น ท้าวอัชบาล พระราม พระลักษณ์ พระพรต พระสัตรุด เป็นต้น
  - วานร มีทั้งพญาวานรที่สวมมงกุฎ เช่น พาลี สุครีพ ชมพูพาน ฯลฯ ที่สวมมาลัยทอง เช่น หนุมาน นิลพัท ฯลฯ
    วานรสิบแปด มงกุฎ เตียวเพชรและเขนลิง เป็นต้น
  - ยักษ์ มีทั้งสวมมงกุฎเรียกว่า “ยักษ์ยอด” เช่น ทศกัณฐ์ พิเภก อินทรชิต มารีศ ฯลฯ
    ไม่สวมมงกุฎเรียกว่า “ยักษ์โล้น” เช่น กุมภกรรณ สำมนักขา ฯลฯ หน้าโขนยักษ์ยังมีลักษณะเฉพาะ
    แตกต่างกันไปอีก เช่น ปาก เขี้ยว ตา เป็นต้น
  - สัตว์ต่างๆ เช่น ครุฑ นกสดายุ นกสัมพาที เป็นต้น



พระลักษณ์-พระราม

หน้าโขนแต่ละหน้ามีรายละเอียดของศิราภรณ์ หรือเครื่องประดับศีรษะต่างกันไปตามฐานานุศักดิ์ เช่น เทพเจ้าสำคัญและวงศ์กษัตริย์จะสวมมงกุฎซึ่งมีหลายชนิด คือ มงกุฎชัย มงกุฎเดินหน มงกุฎสามกลีบ เสนาผู้ใหญ่ฝ่ายวานรสวมมาลัยทอง ฝ่ายยักษ์สวมกระบังหน้า ในส่วนของหน้าโขนยักษ์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากจะแสดงลักษณะเด่นของแต่ละตนด้วยสีแล้ว เครื่องศิราภรณ์ยังจำแนกออกเป็นหลายชนิด โดยเฉพาะพญายักษ์ เช่น มงกุฎกระหนก มงกุฎหางไก่ มงกุฎหรือชฎาจีบ ทั้งยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของปากและตาแตกต่างกันไป เช่น ปากขบ ปากแสยะ ตาโพลง ตาจระเข้ เป็นต้น

รายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของสี ศิราภรณ์ ปากและตา ฯลฯ นั้น โบราณกำหนดไว้เป็นแบบแผน ถือปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างเคร่งครัด ผู้ชมที่มีพื้นความรู้เมื่อได้เห็นตัวโขนตัวใดตัวหนึ่งออกมา จึงรู้ได้ทันทีว่าเป็นใคร และเมื่อได้ฟังคำพากย์เจรจาก็จะรู้ได้ว่าโขนแสดงตอนใด



ภาพจากซ้ายไปขวา องคต-นิลพัท

• สังเขปพงศ์รามเกียรติ์และลักษณะหน้าโขน
เรื่องที่นำมาเล่นโขนคือรามเกียรติ์ เรื่องดังกล่าวมีเนื้อหายาว แบ่งเป็นหลายตอน สาระสำคัญคือการสงครามที่ประกอบด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของฝ่ายพระราม ซึ่งเป็นพงศ์นารายณ์อวตารกับฝ่ายทศกัณฐ์และยักษ์สัมพันธมิตร บุคคลต่างๆ ทั้งฝ่ายพระรามและฝ่ายทศกัณฐ์ล้วนมีวงศ์ญาติและประวัติความเป็นมา ตลอดจนความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันมาแต่อดีต  ดังนั้น ผู้ที่จะดูโขนจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับความเป็นมา ตลอดจนลักษณะเด่นของบุคคลดังกล่าว

พงศ์นารายณ์
วงศ์กษัตริย์แห่งอยุธยา พระนารายณ์บรรทมสินธุ์ในเกษียรสมุทร มีดอกบัวผุดขึ้นจากพระนาภี ในดอกบัวนั้นมีกุมารผู้หนึ่ง พระนารายณ์จึงนำขึ้นไปถวายพระอิศวร ประทานนามว่าอโนมาตันและให้พระอินทร์ลงมาสร้างกรุงทวารวดีศรีอยุธยาให้ ท้าวอโนมาตันมีโอรสคือท้าวอัชบาล เป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๒  ท้าวอัชบาลมีโอรสคือท้าวทศรถ เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๓ ท้าวทศรถมีมเหสี ๓ องค์ ได้แก่ นางเกาสุริยามีโอรสคือ พระราม เป็นพระนารายณ์อวตาร นางไกยเกษีมีโอรสคือพระพรต เป็นจักรของพระนารายณ์อวตารมาเกิด นางสมุทรชามีโอรสคือพระลักษณ์ เป็นบัลลังก์นาคอวตารมาเกิด กับพระสัตรุด เป็นคทาอวตารมาเกิด พระรามเป็นกษัตริย์ลำดับที่ ๔ ของกรุงทวารวดีมีมเหสีคือนางสีดา ซึ่งเป็นพระลักษมีอวตารมาเกิด และมีโอรสคือพระมงกุฎ (ในรามายณะว่า กุศ และ ลว)




ลักษณะหน้าโขนพงศ์นารายณ์

ท้าวอโนมาตัน  หน้าพระ สีขาว มงกุฎน้ำเต้า
ท้าวอัชบาล  หน้าพระสีขาว  มงกุฎน้ำเต้า (บางตำราว่ามงกุฎชัย)
ท้าวทศรถ  หน้าพระ สีขาว มงกุฎชัย
พระราม  หน้าพระ สีขาวนวล มงกุฎชัยหรือมงกุฎเดินหน
พระพรต  หน้าพระ สีแดงชาด มงกุฎชัย
พระลักษณ์  หน้าพระ สีทอง มงกุฎเดินหนหรือมงกุฎชัย
พระสัตรุด  หน้าพระ สีม่วงอ่อน มงกุฎชัย



พงศ์มเหศวร
รามเกียรติ์เป็นเรื่องอวตารปางหนึ่งของพระนารายณ์ มีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าสำคัญๆ หลายองค์ เช่น พระอิศวร พระอุมา พระนารายณ์ พระพรหม พระสุรัสวดี และเทวดาอื่นๆ เช่น พระอินทร์ พระมาตุลี พระอรชุน เป็นต้น
ลักษณะหน้าโขนพงศ์มเหศวรและเทพเจ้าบางองค์
พระอิศวร  หน้าพระ สีขาว มงกุฎน้ำเต้ากาบ
พระนารายณ์  หน้าพระ สีดอกตะแบก มงกุฎชัย
พระพรหมธาดา  หน้าพระ หน้า ๒ ชั้น ๔ หน้า สีขาว มงกุฎชัย
พระคเณศ  หน้าเป็นช้าง สีแดง (บางตำราว่าสีสำริด) เทริดยอดน้ำเต้า
พระอินทร์  หน้าพระ สีเขียว มงกุฎเดินหน
เทวดาอำมาตย์พระอิศวร  หน้าพระ สวมกระบังหน้า มี ๔ องค์ สีกายต่างกันคือ
     จิตตุบท สีหงชาด
     จิตตุบาท  สีหงดิน
     จิตตุราช สีทอง
     และ จิตตุเสน สีเสน
เทวดาอำมาตย์พระอินทร์  หน้าพระ มี ๓ องค์ คือ
    มาตุลี สีขาว มงกุฎน้ำเต้ากลม
    วิษณุกรรม สีเขียว หัวโล้นหรือโพกผ้า ที่ผมเขียนลายดอกไม้ทอง
    เวสสุญาณ สีเหลือง มงกุฎน้ำเต้ากลม
พระอรชุน หน้าพระ สีทอง มงกุฎชัย
ท้าวธตรฐ หน้าพระ สีหงดินอ่อน มงกุฏหางไก่ จตุโลกบาล ทิศบูรพา เป็นใหญ่เหนือเหล่าคนธรรพ์
ท้าววิรุฬหก  หน้าพระ สีมอคราม หรือ สีม่วงแก่ มงกุฎชัย จตุโลกบาลทิศทักษิณ เป็นใหญ่เหนือเหล่ากุมภัณฑ์
ท้าววิรูปักษ์ หน้าพระ สีขาว หรือ สีม่วง มงกุฎเศียรนาค จตุโลกบาลทิศประจิม เป็นใหญ่เหนือนาคทั้งหลาย
     รูปวิรูปักษ์ท้าว          เทวินทร์ แทตย์นา
     เป็นใหญ่ในภุชคินทร์   ทั่วหล้า
     อยู่ทิศปัศจิมระบิล      บรรพ์บอก ชัดแฮ
     ใช้มงกุฎชัยหน้า        ม่วงต้องตามพงศ์ ฯ
                                        พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร



ภาพจากซ้ายไปขวา สุครีพ-ชมพูพาน

ท้าวเวสสุวัณ  หน้าพระ สีเขียว (บางตำราว่าสีทอง)
          มงกุฎน้ำเต้า ๔ เหลี่ยม จตุโลกบาลทิศอุดร เป็นใหญ่เหนือหมู่ยักษ์
พระปัญจสีขร  หน้าพระ สีขาว มงกุฎน้ำเต้า ๕ ยอด
         เทพคนธรรพ์ เจ้าแห่งการดนตรี
พระปรคนธรรพ  หน้าพระ สีเขียว ชฎายอดฤษี
          เทพคนธรรพ์ เจ้าแห่งการดนตรี




พงศ์วานร
วานรที่ร่วมอยู่ในกองทัพของพระรามมาจาก ๒ เมือง คือ ชมพูและขีดขิน จำแนกตามฐานานุศักดิ์ได้ดังนี้

พญาวานร คือ วานรกษัตริย์ เช่น ท้าวมหาชมพู พาลี วานรวงศ์กษัตริย์ เช่น นิลพัท นิลนนท์ องคต และวานรที่เกิดจากฤทธิ์ของพระเป็นเจ้า เช่น ชามพูวราช ชมพูพาน หนุมาน เป็นต้น พญาวานรเหล่านี้บางตนศีรษะสวมมงกุฎ บางตนสวมมาลัยทอง มีทั้งหมด ๑๑ นาย

วานรสิบแปดมงกุฎ ได้แก่ เสนาวานร ๑๘ นาย ที่เป็นเทพบุตรจุติลงมาเกิดช่วยพระรามรบกับเหล่าอสูร มงกุฎมาจากศัพท์ภาษาบาลีว่า มกฺกต แปลว่า ลิงหรือวานร สิบแปดมงกุฎมีความหมายว่า วานรสิบแปดนาย แบ่งเป็นจากเมืองขีดขิน ๙ นาย และจากเมืองชมพู ๖ นาย ไม่ปรากฏว่ามาจากเมืองใด ๓ นาย ทั้ง ๑๘ นาย ศีรษะสวมมาลัยทอง

วานรเตียวเพชร  ได้แก่ มุขมนตรีวานร ๙ นาย เป็นชาวเมืองขีดขิน ๗ นาย ชาวเมืองชมพู ๑ นาย และไม่ปรากฏว่ามาจากเมืองใด ๑ นาย คาดผ้าตะบิดโพกศีรษะ

นอกจากนี้ยังมีวานรจังเกียง คาดศีรษะด้วยผ้าขลิบทองและเขนลิงหรือพลทหารสวมมงคลที่ศีรษะร่วมอยู่ในกองทัพ




ลักษณะหน้าโขนและพงศ์วานร
พญาวานร
ชามพูวราช หรือ นิลเกสร เกิดจากไม้ไผ่หน้าอาศรมฤษีสุขวัฒน สีแดงชาด ปากอ้า มงกุฎชัย
พาลี หรือ อากาศ เจ้าเมืองขีดขิน โอรสพระอินทร์กับนางกาลอัจนา
 สีเขียวสด ปากอ้า มงกุฎเดินหน (ชฎายอดบัด)
     พาลีพานเรศเจ้า      ขีดขิน นครเฮย
     เอารสองค์อมรินทร์   ฤทธิ์กล้า
     ทรงชฎาลอออิน      ทรีย์สด เขียวแฮ
     ใครรบสบแรงล้า      กึ่งเปลี้ยเสียศูนย์
                               กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการ


สุครีพ อุปราชเมืองขีดขิน โอรสพระอาทิตย์กับนางกาลอัจนา สีแดงเสน
หรือ สีแดงชาด ปากอ้า มงกุฎเดินหน (ชฎายอดบัด) เป็นผู้จัดทัพฝ่ายพลับพลา
     สุครีพเอารสไท้        ทินกร
     สวมชฎาอาภรณ์       เพริศพร้อม
     อุปราชขีดขินนคร      เอกอมาตย์ งามแฮ
     สีสกนธ์กลย้อม        ชาดกลั้วสกลกาย ฯ
                         กรมหมื่นเทวะวงษ์วโรประการ


ชมพูพาน  พระอิศวรชุบขึ้นด้วยเหงื่อไคล เป็นโอรสบุญธรรมของพาลี สีหงชาด
ปากอ้า มงกุฎชัย เป็นแพทย์ เสนารักษ์ประจำกองทัพพระราม
     ขุนพานเรศชื่อชี้       ชมพู พานเฮย
     ไคลเหงื่ออิศวรถู      ชุบกล้า
     หงชาดสกนธ์ดู        แดงเทิด ขรรค์แฮ
     สวมมกุฎชัยเฉิดฟ้า   บุตรเลี้ยงพาลี ฯ
                         พระยาราชวรานุกูล

หนุมาน โอรสพระพายกับนางสวาหะ เป็นหลานน้าของพาลีและสุครีพ สีขาวผ่อง ปากอ้า สวมมาลัยทอง
ตอนเป็นอุปราชกรุงลงกาสวมมงกุฎเดินหน ตอนครองเมืองนพบุรีสวมมงกุฎชัย และตอนหนุมานบวชสวมชฎายอดฤษี
     กบินทร์บุตรมารุตนี้      นามหนุ มานแฮ
     ผิวเผือกตรีเทพอุ        กฤษฏ์แกล้ว
     แสดงเดชสี่พักตร์ดุ      แปดหัตถ์ หาญแฮ
     โลมเพชรอีกเขี้ยวแก้ว   อีกทั้งกุณฑล ฯ
                         หลวงบรรหารอัตถคดี

องคต  โอรสพาลีกับนางมณโฑ สีเขียวมรกต ปากหุบ มงกุฎสามกลีบ
     นามขุนกบี่นี้          องคต เสนอนอ
     กากาศราชเอารส    ฤทธิ์ล้ำ
     สีเขียวดุจมรกต      มกุฎกลีบ สามแฮ
     เถลิงยศอุปราชค้ำ   เขตด้าวขีดขิน ฯ
                         ขุนวิจิตรวรสาสตร

มัจฉานุ โอรสหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉา  หน้าเป็นวานร
มีหางเป็นปลา สีขาวผ่อง ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     หลานลมหลานราพณ์ทั้ง   หลานปลา
     หลานมนุษย์บุตรมัจฉวา   นเรศพ้อง
     ยลหางอย่างมัตสยา       กายเศวต  สวาแฮ
     นามมัจฉานุป้อง           กึ่งหล้าบาดาล ฯ  
                         กรมหมื่นพิชิตปรีชากร

อสุรผัด โอรสหนุมานกับนางเบญกาย ผมและตัวเป็นยักษ์
 หน้าเป็นวานร สีเลื่อมประภัสสร ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     วายุบุตรปิตุหน้า         กบินทร์หมาย เหมือนนอ
     กายเกศเพศเบญกาย   มาตุนั้น
     สมเญศอสุรผัดผาย     เกรียติเกริก ไกรแฮ
     อุปราชอัยยกากั้น        ศึกกั้งลงกา ฯ
                         กรมหมื่นพิชิตปรีชากร



ภาพจากซ้ายไปขวา : มหาชมพู-ทศกัณฐ์ (หน้าทอง)

ท้าวมหาชมพู  เจ้าเมืองชมพู สีขาบ หรือ สีปีกแมลงทับ ปากอ้า มงกุฎชัย
     ชุมพูพานเรศท้าว  จุลจักร
     สีขาบทรงสุรศักดิ์  ใหญ่ล้ำ
     สวมชฎาดุจองค์มัฆ  พานเปรียบ เสมอฤา
     ครองภพชมพูก้ำ  กึ่งหล้าฦาหาญ ฯ
                         ขุนภักดีอาษา

นิลพัท อุปราชเมืองชมพู  โอรสพระกาล สีน้ำรัก หรือ สีดำขลับ ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     ขุนพานเรศนี้          นิลพัท นามเนอ
     คือบุตรพระกาลชัด   สืบเชื้อ
     น้ำรักเทียบสีจัด       สิบแปด มกุฎแฮ
     เป็นเผ่าชมพูเกื้อ      เกิดด้วยเดชราม ฯ
                         ขุนศรีราชอักษร

นิลนนท์ โอรสพระเพลิง สิงหงสบาท หรือ สีหงเสนเจือเหลือง ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     นิลนนท์พานเรศนี้       ในพงศ์
     สิบแปดมงกุฎทรง       เดชก้อง
     สีกายก่ำดั่งหง           สบาท
     บุตรพระเพลิงเกิดพ้อง  เพื่อล้างพลมาร ฯ
                         หมื่นพากยโวหาร



วานรสิบแปดมงกุฎ
เกยูร  ฝ่ายขีดขิน ท้าววิรุฬหกแบ่งภาคมาเกิด สีม่วงแก่ หรือ สีม่วงชาดแก่ ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     เกยูรนามเยี่ยงนี้     ในสกนธ์ นั้นฤา
     สีม่วงแก่มัวมน       เผือดคล้ำ
     วิรุฬหกเวหน         หากแบ่งภาคแฮ
     ชูช่วยราเมศห้ำ      หั่นเสี้ยนศึกอสูร ฯ
                         กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช

โกมุท หรือโคมุท  ฝ่ายขีดขิน  พระหิมพานต์แบ่งภาคมาเกิด สีบัวโรย ปากหุบ สวมมาลัยทอง
     สมญาโกมุทผู้            พิสดาร
     สีปทุมโรยปาน           เปรียบได้
     คือองค์พระหิมพานต์    ปันภาค
     หวังรบราพณ์ฉลองใต้   บาทเบื้องอวตาร ฯ
                         พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค



ภาพจากซ้ายไปขวา : กุมภกรรณ-นางสำมนักขา

ไชยามพวาน ฝ่ายเมืองขีดขิน พระอีศาณแบ่งภาคมาเกิด เป็นผู้ถือธงชัยทัพพระราม สีเทา หรือ สีมอหมึกอ่อน ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     คนธงนำทัพไท้         อวตาร
     นามว่าไชยยามพวาน  ภาพนี้
     สีเทาพระอีศาน        เทวบุตร
     จุติจากสวรรค์ลี้        แบ่งเพี้ยงภาคผัน ฯ
                        พระเทพกวี

มาลุนทเกสร ฝ่ายเมืองขีดขิน พระพฤหัสบดีแบ่งภาคมาเกิด สีเมฆ หรือ สีม่วงครามอ่อน ปากหุบ สวมมาลัยทอง
     ทวยหาญพระกฤษณผู้    ชาญสมร
     คือพฤหัสบดีจร            จากฟ้า
     มาลุนทเกสร               นามกบี่
     มีเมฆเรืองฤทธิ์กล้า        กลั่นแกล้วกลางณรงค์   
                         พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต

วิมล หรือ นิลพานร ฝ่ายเมืองขีดขิน พระเสร์แบ่งภาคมาเกิด สีดำหมึก ปากหุบ สวมมาลัยทอง
     พานเรศรูปนี้          นามกร
     ว่าวิมลวานร          เนื่องอ้าง
      สีดำแบ่งภาคจร      จากพระ เสาร์แฮ
      เนาบุเรศเขตกว้าง   ชื่อพร้องขีดขิน ฯ
                          ขุนมหาสิทธิโวหาร

ไวยบุตร ฝ่ายเมืองขีดขิน  พระพิรุณแบ่งภาคมาเกิด สีเมฆครึ้มฝน หรือ สีมอครามแก่ ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     ไวยบุตรกบี่นี้              เพรงขาน นามเอย
     พิรุณเทพอวยพรรษธาร  ทั่วหล้า
     จุติช่วยพิษณุราญ         รอนราพณ์
     สีเฉกเมฆมัวฟ้า            มือคลุ้มชอุ่มฝน ฯ
                    ขุนพิสนทสังฆกิจ


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ตุลาคม 2558 14:13:40 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 13 มิถุนายน 2556 18:09:35 »

.


ภาพจากซ้ายไปขวา : พิเภก-รามสูร-อินทรชิต

สัตพลี ฝ่ายขีดขิน พระจันทร์แบ่งภาคมาเกิด สีขาวผ่อง ปากหุบ สวมมาลัยทอง

สุรกานต์  ฝ่ายขีดขิน  พระมหาชัยแบ่งภาคมาเกิด สีเหลืองจำปา หรือสีแดงชาด ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     สีเหลืองวานเรศร้าย     เริงแรง
     สุรกานต์นามแสดง      เดชห้าว
     มหาชัยเอกองค์แปลง   เปลี่ยนภาค
     มาช่วยวาสุเทพท้าว     ล่มล้างเหล่าอสูรฯ  
                         พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร

สุรเสน ฝ่ายเมืองขีดขิน พระพุธแบ่งภาคมาเกิด  สีแสด หรือ สีเขียว ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     วานรเตียวเพชรนี้       นามสุ รเสนแฮ
     คือพระพุธสุดดุ         เดชล้ำ
     อาจปราบอสูรลุ         ฦาฤทธิ์ เร็วเฮย
     สีแดงสุดเก่งก้ำ         เกือบแม้นหนุมาน ฯ
                         ขุนวิสูตรเสนี

นิลขัน ฝ่ายเมืองชมพู  พระพิเนศแบ่งภาคมาเกิด สีหงดิน ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     พานรตนนี้นี่            นามนิล ขันพ่อ
     กายเลื่อมสีหงดิน      เดชแกล้ว
     คือพระพิเนศผิน        ฝันภาค  มานา
     เปรียบดุจขุนพลแก้ว   เกิดด้วยบุณย์ราม ฯ
                         ขุนวิสูตรเสนี

นิลปานัน ฝ่ายเมืองชมพู พระราหูแบ่งภาคมาเกิด สีสำริด ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     นิลปานันอยู่ด้าว       ชมพู นครเฮย
     พวกสิบแปดมงกุฎชู   ชื่อไว้
     คือองค์พระราหู        มาจุ ตินา
     สีเล่ห์สัมฤทธิ์ไล้       เลิศล้ำฤทธิรงค์
                          พระยาศรีสิงหเทพ

นิลปาสัน  ฝ่ายเมืองชมพู พระศุกร์แบ่งภาคมาเกิด สีเลื่อมเหลือง หรือ สีหมากสุก ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     พระศุกร์อุบัติขึ้น           เป็นสวา
     เหลืองเลื่อมวรรณโลมา   คะมิ่นย้อม
     มีนามแน่นิลปา-           สันแหละ พ่อเฮย
     แรงฤทธิ์เดชเก่งพร้อม     แพร่ทั้งชมพู ฯ  
                          ขุนวิสูตรเสนี

นิลราช ฝ่ายเมืองชมพู พระสมุทรแบ่งภาคมาเกิด สีน้ำไหล หรือ สีฟ้าอ่อนเจือเขียว ปากหุบ สวมมาลัยทอง
     พานรนิลราชกร้าว      ฤทธิไกร
     สีเช่นชลไหลใส        สดแพร้ว
     คือพระสมุทรไคล      คลาศแบ่ง ภาคฤา
     เป็นทหารหริแกล้ว     เศิกกล้าราวี ฯ
                         พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค

นิลเอก  ฝ่ายเมืองชมพู พระพินายแบ่งภาคมาเกิด สีทองแดง ปากหุบ สวมมาลัยทอง
     นิลเอกตนนี้พระ       พินายลง อุบัตินา
     เป็นพวกสิบแปดมง   กุฎแกล้ว
     เนื่องขัตติยวงศ์       นครเขต  ชมพูเฮย
     สีดุจดามพะแผ้ว      ผ่องแม้นสุริยัน ฯ
                           พระยาศรีสิงหเทพ



ภาพจากซ้ายไปขวา : มังกรกัณฐ์-ทศคิรีวัน-ทศคิรี

วิสันตราวี  ฝ่ายเมืองชมพู  พระอังคารแบ่งภาคมาเกิด สีลิ้นจี่ ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     ขุนพานนเรศรูปนี้      นามมี
     คือวิสันตราวี           บอกสิ้น
     อังคารเทพลี           ลาศแบ่ง มาฤา
     กายก่ำเล่ห์สีลิ้น       จี่ล้วนแลงามฯ
                         กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช

กุมิตัน ไม่ปรากฎฝ่าย  พระเกตุแบ่งภาคมาเกิด สีทอง หรือ สีเหลืองรง ปากหุบ สวมมาลัยทอง
     รังภาพรูปบอกแจ้ง    เพศพรรณ
     ขุนกบี่กุมิตัน           ชื่ออ้าง
     ฉวีสีสุวรรณสรร        ส่อเหตุ เดิมพ่อ
     พระเกตุแบ่งภาคร้าง  โลกพ้นเป็นสวา ฯ
                         พระเทพกวี

เกสรทมาลา ไม่ปรากฏฝ่าย พระไพศรพณ์แบ่งภาคมาเกิด สีเหลืองอ่อน หรือ สีเลื่อมเหลือง ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     ไพศรพณ์ผันภาคตั้ง      ตัวสวา หนึ่งแฮ
     สีเลื่อมเหลืองเทียมทา   มาศแพร้ว
     เกสรทมาลา              ฦาเดช
     ทุกราพณ์รอฤทธิ์แล้ว    กลอกเกล้ากลัวมือ ฯ
                         พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร

มายูร ไม่ปรากฏฝ่าย  ท้าววิรูปักษ์แบ่งภาคมาเกิด สีม่วงอ่อน ปากอ้า สวมมาลัยทอง
     วิรูปักษ์มรุเจ้า           จุติลง
     เป็นกบี่มายูรยง         อาจอ้าง
     สีม่วงอ่อนพักตร์มง     กุฎสิบ แปดนา
     รองบาทนารายณ์ล้าง  เศิกสิ้นทมิฬศูนย์ ฯ
                          หลวงอินทรอาวุธ



ภาพจากซ้ายไปขวา : วิรุญจำบัง-อากาศตะไล-จักรวรรดิ

วานรเตียวเพชร
ญาณรสคนธ์ ฝ่ายเมืองขีดขิน ท้าวธตรฐแบ่งภาคมาเกิด สีขาวกระบัง หรือ สีขาวใส ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

ทวิพัท ฝ่ายเมืองขีดขิน  พระโสมราชแบ่งภาคมาเกิด สีดอกชบา ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

ปิงคลา ฝ่ายเมืองขีดขิน พระยมแบ่งภาคมาเกิด สีเหลืองแก่ หรือ สีแสดอ่อน ปากหุบ โพกผ้าตระบิด

มหัทวิกัน  ฝ่ายเมืองขีดขิน พระประชาบดีแบ่งภาคมาเกิด สีหงชาด ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

วาหุโรม ฝ่ายเมืองขีดขิน  พระสันดุสิตเทวบุตรแบ่งภาคมาเกิด สีเหลืองเทา หรือ สีเหลืองนวลเทา ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

อุสุภศรราม ฝ่ายเมืองขีดขิน  ท้าวเวสสุวัณแบ่งภาคมาเกิด สีขาบ ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

มากัญจวิก  ฝ่ายเมืองขีดขิน จิตตุบทแบ่งภาคมาเกิด สีมอคราม ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

โชติมุข ฝ่ายเมืองชมพู  จิตตุบาทแบ่งภาคมาเกิด สีก้ามปู หรือ สีหงเสนแก่ ปากหุบ โพกผ้าตะบิด

นิลเกศี ไม่ปรากฎฝ่าย พระวลาหกแบ่งภาคมาเกิด สีแดงดังดอกกมุทบาน หรือ สีแดงชาด ผมสีดำ ปากหุบ โพกผ้าตะบิด



หนุมาน ประดิษฐ์จากโลหะ
(จากทะเบียนเดิมขอพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)


พงศ์อสูร
ยักษ์และอสูรในเรื่องรามเกียรติ์มีหลายพงศ์ หลายตระกูล บางตนมีความเกี่ยวข้องกับทศกัณฐ์ในฐานะญาติ เช่น พญาทูษณ์ นางกากนาสูร กุมภกรรณ บางตนเป็นสหาย เช่น ท้าวจักรวรรดิ สัทธาสูร มูลผลัม บางตนไม่มีเรื่องเกี่ยวข้องกับทศกัณฐ์ เช่น ปักหลั่น กุมพล เป็นต้น ต้นวงศ์ของทศกัณฐ์เป็นพงศ์พรหม ท้าวสหบดีพรหม ลงมาสร้างกรุงลงกาให้ท้าวอัษฎามหาพรหมหรือ จตุรพักตร์ ครอบครอง จตุรพักตร์มีโอรส คือ ท้าวลัสเตียน มีมเหสี ๕ องค์ คือ นางศรีสุนันทา มีโอรสชื่อกุเปรัน นางจิตรมาลี มีโอรสชื่อทัพนาสูร นางสุวรรณมาลัย มีโอรสชื่ออัศธาดา นางวรประไพ (วรประภา) มีโอรสชื่อมารัน นางรัชฏา มีโอรสธิดา คือทศกัณฐ์ กุมภกรรณ พิเภก ขรทูษณ์ ตรีเศียร และ นางสำมนักขา  นอกจากนี้ยังมีวงศ์ญาติของทศกัณฐ์อีกหลายตน เช่น กากนาสูร มีโอรส คือ สวาหุและมารีศ

ทศกัณฐ์ครองกรุงลงกาต่อจากท้าวลัสเตียน ได้นางมณโฑกับนางกาลอัคคีเป็นมเหสี มีโอรสธิดาเกิดแต่นางมณโฑ คือ อินทรชิต ทศพินและนางสีดา มีโอรสธิดาเกิดแต่นางกาลอัคคีคือบรรลัยกัลป์ เกิดแต่นางสนม คือ สหัสกุมาร และ สิบรถ เกิดแต่นางปลา คือ สุพรรณมัจฉา เกิดแต่นางช้างคือ ทศคิรีวัน ทศคีรีธร เมื่อมีศึกประชิดกรุงลงกา ทศกัณฐ์ให้ญาติวงศ์ของตนออกสู้รบ ล้มตายลงเป็นอันมาก จึงขอให้สหายอสูรต่างเมืองมาช่วยรบ เช่น จักรวรรดิ ไมยราพ สหัสสเดชะ



ลักษณะหน้าโขนพงศ์อสูร
อสูรที่เป็นญาติและสหายของทศกัณฐ์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะที่มีบทบาทสำคัญ เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโขน

ทัพนาสูร พญายักษ์ เจ้าเมืองจักรวาล โอรสท้าวลัสเตียน เป็นพี่ของทศกัณฐ์ สีหงดิน มงกุฎสามกลีบ ปากขบ ตาจระเข้

อัศธาดา พญายักษ์ เจ้าเมืองวัทกัน โอรสท้าวลัสเตียน เป็นพี่ทศกัณฐ์
สีขาว (๔ หน้า ๘ มือ) มงกุฎชัย ปากแสยะ ตาจระเข้
     แปดหัตถ์สีเศวตนี้       อัศธา ดาเอย
     พักตร์สี่ทรงขรรค์ศรา   วุธห้าว
     มกุฎชัยสี่ยอดปรา       กฎเช่น พรหมแฮ
     ครองเขตวัทกันด้าว     หน่อไท้ลัสเตียน ฯ
                         นายทัด กุเรเตอ

มารัน พญายักษ์ เจ้าเมืองโสฬส โอรสท้าวลัสเตรียน เป็นพี่ทศกัณฐ์
สีทอง มงกุฎหางไก่ ปากขบ ตาจระเข้
     มารันกาญจนเนื้อ        นามตรง
     มงกุฎหางไก่ทรง        ฤทธิ์ห้าว
     โสฬสนครคง            เขตครอบ ครองแฮ
     บุตรวรประไภนางท้าว   ปิตุนั้นลัสเตียน ฯ
                         พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค

ทศกัณฐ์ พญายักษ์ เจ้ากรุงลงกา โอรสท้าวลัสเตียน สีเขียว หน้า ๓ ชั้น ๑๐ หน้า ๒๐ มือ  
มงกุฎชัย ปากแสยะ ตาโพลง สีทองใช้สำหรับแสดงตอนทศกัณฐ์ลงสวนและฉุยฉายทศกัณฐ์
     ทศกัณฐ์สิบพักตร์ชั้น  เศียรตรี
     ทรงมกุฏชัยเขียวสี    อาตม์ไท้
     กรยี่สิบพระศุลี         ประสาทฤทธิ์ ยิ่งนา
     ถอดจิตจากตนได้     ปิ่นด้าวลงกา ฯ
                         พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภาคย์

กุมภกรรณ พญายักษ์ อุปราชกรุงลงกา โอรสท้าวลัสเตียน เป็นน้องทศกัณฐ์
สีเขียว ไม่มียอด ทำหน้าเล็กไว้ด้านหลัง ๓ หน้า ปากแสยะ ตาโพลง
     รูปราพณ์ตนนี้ชื่อ           ปรากฏ นามเอย
     กุมภกรรณนุชาทศ         พักตร์ท้าว
     เป็นอุปราชเรืองยศ         ผิวพิศ เขียวแฮ
     ทองหอกโมกขศักดิ์ห้าว   มหิทธิ์เหี้ยมหาญณรงค์ ฯ
                         ขุนพิสนทสังฆกิจ



ภาพจากซ้ายไปขวา : กากนาสูร-นางสำมนักขา (หน้าทอง)

พิเภก พญายักษ์ โอรสท้าวลัสเตียน เป็นน้องกุมภกรรณ
สีเขียว มงกุฎน้ำเต้ากลม ปากแสยะ ตาจระเข้
     พิเภกน้องแทตย์        ทศกัณฐ์
     คือแว่นเวสสุญาณสรร  สืบสร้าง
     เพทางคศาสตร์ขยัน    ยลยวด ยิ่งเฮย
     ทรงมงกูฎน้ำเต้าอ้าง   อาตม์พื้นขจีพรรณ ฯ
                         นายทัด  กุเรเตอ

พญาขร พญายักษ์ เจ้าเมืองโรมคัล โอรสท้าวลัสเตียน เป็นน้องพิเภก สีเขียว มงกุฎจีบ ปากขบ ตาจระเข้

พญาทูษณ์ พญายักษ์ เจ้าเมืองจารึก โอรสท้าวลัสเตียน เป็นน้องพญาขร สีม่วงแก่ มงกุฎกระหนก ปากขบ ตาจระเข้

ตรีเศียร  พญายักษ์ เจ้าเมืองมัชวารี โอรสท้าวลัสเตียน เป็นน้องพญาทูษณ์ สีขาว มงกุฎ ๓ ยอดอย่างอสูร ปากขบ ตาจะเข้
     ตรีเศียรสามพักตร์แผ้ว    เศวตสี กายเฮย
     ครองภพมัชวารี           ฤทธิ์ห้าว
     หกหัตถ์มกุฎตรี           ยอดอย่าง  อสูรแฮ
     เรียงร่วมมารดาท้าว      แทตย์ไท้ทศเศียร ฯ
                         กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช

สำมนักขา  ยักษิณี  ธิดาท้าวลัสเตียน น้องหญิงสุดท้องของทศกัณฐ์ สีเขียวสด (หรือสีทอง) สวมกระบังหน้า ไว้ผมปีก ปากแสยะ ตาจระเข้
     สำมนักขาชื่ออ้าง      อสุรพันธุ์
     นางกนิษฐ์ทศกัณฑ์    แก่นไท้
     ฉวีกายสกลวรรณ      เขียวสด สะอาดนอ
     เป็นเอกชาเยศได้      อยู่ด้วยชิวหา ฯ
                         ขุนมหาสิทธิโวหาร

อินทรชิต (รณพักตร์) โอรสทศกัณฐ์ สีเขียว มงกุฎเดินหน จอนหูอย่างมนุษย์ ปากขบ ตาโพลง เขี้ยวดอกมะลิ
     อินทรชิตเดิมชื่ออ้าง      รณพักตร์
     เทพประสาทศรศักดิ์      สิทธิ์ให้
     ทรงมกูฏมนุษย์ลักษณ์    สีเท่ห์ เขียวนอ
     เขี้ยวงอกลับบุตรไท้       แทตย์ท้าวทศกัณฐ์
                         พระยาศรสิงหเทพ



ภาพจากซ้ายไปขวา : สัทธาสูร-ฤษี ประดิษฐ์จากโลหะ

ทศคิรีธร โอรสทศกัณฐ์ เกิดจากนางช้าง สีหงดิน มงกุฎกาบไผ่
มีงวงที่ปลายนาสิก ขี่ม้าผ่านขาว ปากขบ ตาจระเข้
     บุตรกรีเกิดกับท้าว    จอมลง กาเฮย
     นามทศคีรีธรทรง     ฤทธิ์ร้าย
     หงดินผ่องผิวมง-     กุฎกาบ ไผ่แฮ
     นาสิกเป็นงวงคล้าย   เงื่อนเค้าชนนี ฯ
                         พระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ

วิรุญจำบัง โอรสพญาทูษณ์ สีมอหมึก มงกุฎหางไก่ ปากขบ ตาจระเข้ มีม้านิลพาหุ ตัวขาวหัวดำ (บางตำราว่าตัวดำปากแดง)  เป็นพาหนะ หายตัวได้ทั้งคนทั้งม้า
     เอารสพญาทูษณ์รู้    เวทฉมัง
     นามวิรุญจำบัง         แก่นท้าว
     ครองชนบทมกุฎดัง   หางไก่ ฉลายแฮ
     กุมหอกหายตัวห้าว   มุขแม้นหมึกมอฯ
                         หลวงบรรหารอัตถคดี

กากนาสูรนางรากษสกรุงลงกา เป็นญาติชั้นยายของทศกัณฐ์ สีม่วงแก่ หน้าเป็นยักษิณี สัณฐานปากเป็นกา ตาจระเข้
     แถลงนามนางราพณ์ร้าย  ฤทธี
     กากนาสูรสี                ม่วงคล้ำ
     สัณฐานโอษฐ์อสุรี        ดุจปาก กานา
     พักตร์เพศยักษิณีน้ำ      จิตห้าวฮึกเหิม ฯ
                         หลวงฤทธิ์พลไชย

มารีศ บุตรนางกากนาสูร  เป็นญาติชั้นน้าของทศกัณฐ์ สีขาว มงกุฎสามกลีบ ปากขบ ตาโพลง
     มารีศบุตรยุพแก้ว      กากนา สูรฤา
     ขาวผ่องสีกายา        อย่างนี้
     มีมงกุฎโสภา           สามกลีบ  ซ้อนแฮ
     ชีพละบัดคราวเมื่อลี้   ลาศเต้าตามกวาง ฯ
                         พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค

ชิวหา บุตรของมารีศ เป็นสามีนางสำมนักขา สีหงชาด มงกุฎน้ำเต้ากลม ปากแสยะ ตาจระเข้
     แสดงรูปภาพนี้           ชิวหา
     ผัวนาฏสำมนักขา        คู่เคล้า
     ผิวพักตร์เทียบเทียมทา  หงชาด แลแฮ
     สามมกุฎรูปน้ำเต้า        ฤทธิ์ลิ้นแผ่โพยม ฯ
                        ขุนโอวาทวรกิจ



ภาพจากซ้ายไปขวา : พระพิราพทรงเครื่อง-พระพิราพ

กุมภกาศ บุตรชิวหากับนางสำมนักขา สีหงดิน มงกุฎน้ำเต้าเฟือง ปากแสยะ ตาจระเข้

เสนายักษ์กรุงลงกามีจำนวน ๒๐ ตน ได้แก่ มโหทร เปาวนาสูร การุณราช กาลสูร นนทจิตร นนทไพรี นนทยักษ์ นนทสูร พัทกาวี ภาณุราช มหากาย อิทธิกาย รณศักดิ์ รณสิทธิ์ โรมจักร ฤทธิกาสูร สุกรสาร ไวยวาสูร สุขาจาร และอสูรกำปั่น นอกจากนี้ยังมีกองลาดตระเวนรักษากรุงอีก ๗ ตน ได้แก่ กุมภาสูร ฤทธิกัน สารัณทูต วิชุดา วายุภักษ์ อากาศตะไล และผีเสื้อสมุทร

มโหทร เสนาบดีกรุงลงกา สีเขียว มงกุฏน้ำเต้ากลม ปากแสยะ ตาโพลง

เปาวนาสูร เสนาบดีกรุงลงกา สีขาว มงกุฎน้ำเต้ากลม ปากแสยะ ตาโพลง

อากาศตะไล นางอสูรเสื้อเมือง รักษาด่านทางอากาศ สีแดงเสน (๔ หน้า ๘ มือ) มงกุฏน้ำเต้า ๕ ยอด ปากแสยะ ตาโพลง

ผีเสื้อสมุทร  นางยักษิณีผู้รักษาด่านทางน้ำ สีหงดิน ไม่มียอด ปากแสยะ ตาจระเข้
     อสุรีผีเสื้อสมุทร      มหึมา
     ผิวดุจหงดินทา       ทาบเนื้อ
     รักษาด่านชานมหา   สมุทรใหญ่
     แขวงเกาะลงกาเชื้อ  ชาติแท้ทมิฬมาร ฯ
                         หมื่นพากยโวหาร

ยักษ์และอสูรต่างเมืองที่ทศกัณฐ์ขอให้มาช่วยทำศึกกับพระรามในที่นี้นำมากล่าวรายละเอียดเฉพาะบางตนเท่านั้น

จักรวรรดิ พญายักษ์ เจ้ากรุงมลิวัน สหายของทศกัณฐ์ สีขาว (๔ หน้า ๘ มือ)
หน้า ๒ ชั้น มงกุฎหางไก่ ปากแสยะ ตาโพลง
     จัตุรพักตร์สองชั้นชื่อ     จักรวรรดิ
     ทรงมกุฎหางไก่รัตน      ฤทธิ์ล้ำ
     อาวุธครบแปดหัตถ์       สหายทศ กัณฐ์แฮ
     ขาวผ่องครองนครค้ำ     เขตแคว้นมลิวัน ฯ
                        พระยาราชวรานุกูล

สุริยาภพ โอรสท้าวจักรวรรดิ สีแดงชาด มงกุฎและสัณฐานหน้าเหมือนอินทรชิต
     สุริยาภพบุตรท้าว      จักรวรรดิ
     กุมหอกนามเมฆพัท   กาจเกรี้ยว
     ทรงเครื่องขัตติยจรัส  ชฎามนุษย์  งามนา
     กายเฉกสีชาดเขี้ยว   งอกงุ้มงอนลง ฯ
                         พระยาศรีสิงหเทพ

บรรลัยจักร โอรสท้าวจักรวรรดิ  เป็นน้องสุริยาภพ สีม่วงอ่อน มงกุฎหางไก่ ปากขบ ตาจระเข้

ไมยราพ พญายักษ์ เจ้ากรุงบาดาล สีม่วงอ่อน มงกุฎกระหนก รู้เวทสรรพยาเป่ากล้องสะกดทัพ ปากขบ ตาจระเข้
     วิรูปมัยราพณ์เจ้า          กรุงบา – ดาลแฮ
     สีม่วงอ่อนอสุรา           ฤทธิ์แกล้ว
     เป็นโอรสมหา             ยมยักษ์  นั้นนอ
     ทรงมงกุฎกระหนกแพร้ว  เผ่าพ้องพรหมินทร์ ฯ
                         หลวงอินทรอาวุธ

สหัสสเดชะ พญารากษส  เจ้าเมืองปางตาล สีขาว (๑,๐๐๐ หน้า ๒,๐๐๐ มือ)
หน้า ๔ ชั้น หรือ ๕ ชั้น มงกุฎชัย ปากแสยะ ตาโพลง
     กุมภัณฑ์พันพักตร์เกล้า   เบญจ ปดลฤา
     นามสหัสสเดชะ           เศวตแผ้ว
     สองพันหัตถ์พรหมประ   สาทอริ  แกลนแฮ
     คทาเพชรศรแก้ว         ปกเกล้าปางตาล ฯ
                         พระองค์เจ้าเกษมสันต์โสภา

สัทธาสูร  พญายักษ์ เจ้าเมืองอัสดงค์ สีหงเสน มงกุฎจีบ ปากขบ ตาจระเข้

อัศกรรณมาลาสูร พญายักษ์ เจ้าเมืองดุรัม สีม่วงแก่ (หน้า ๒ ชั้น ๗ หน้า) มงกุฎชัย ปากขบ ตาจระเข้
     ปิ่นดุรัมธิราชเชื้อ       พรหมา
     นามอัศกรรณมาลา    บอกไว้
     สองปดลเจ็ดพักตรา   มงกุฎ มนุษย์แฮ
     กายม่วงแก่มิตรไท้    แทตย์ท้าวทศกัณฐ์ ฯ
                         กรมหมื่นอดิศรอุดมเดช





ฤษี
ฤษีที่ปรากฏในเรื่องรามเกียรติ์มีจำนวน ๓๓ ตน ปรากฏในเรื่อง “พงศ์ในเรื่องรามเกียรติ์” ฉบับของประพันธ์ สุคนธะชาติ ดังนี้

“อนึ่ง นามพระดาบส คือพระฤาษี เมื่อตั้งกรุงศรีอยุธยานั้น ชื่อ อจนคาวี ๑ ยุทธอักขร ๑ ทะหะ ๑ ยาคะ ๑ พระฤาษี ตั้งกำเนิดนางมณโฑ ชื่อ มหาโรมสิงหะ ๑ วตันตะ ๑ วชิระ ๑ วิสุทธิ ๑ พระฤาษีตั้งกำเนิดพาลี สุครีพ ชื่อ โคดม ๑  พระฤาษี เชิญพระนารายณ์ให้อวตาร ชื่อบรรลัยโกฏิ (กไลโกฏ) มีศีรษะเป็นหน้ามฤค ๑ วัชอัคคี ๑ วสิษฐ์ ๑ สวามิตร ๑ ภารัทวาช ๑ เป็น ๕ องค์ พระฤาษีเมื่อพระรามเดินป่า ชื่อ สุทรรศน์ ๑ นางสุไขดาบสินี ๑ อัคตะ ๑ สรภังค์ ๑ เป็น ๔ องค์ พระฤาษี อาจารย์ท้าวชนกจักรวรรดิ ชื่อ พระสุธามันตัน ๑ พระฤาษี พระอาจารย์พาลี ชื่อ อังคตะ ๑ พระฤาษี อาจารย์ทศกัณฐ์ ชื่อ โคบุตร ๑ พระฤาษีอาจารย์ไมยราพณ์ ชื่อ สุเมธ ๑ พระฤาษี เมื่อหนุมานไปพบครั้งถวายแหวนชื่อ พระชฏิล ๑ พระนารท ๑ พระฤาษี ซึ่งบอกพระรามให้จัดเอาไชยามพวานถือธงไชยนำทัพ ชื่อ อมรเมศวร ๑ พระฤาษี ซึ่งสาปนิลราช ชื่อ คาวิน ๑ พระฤาษี อาจารย์หนุมาน ชื่อ พระทิศไภย ๑ พระฤาษีอาจารย์ท้าวไกยเกษ ชื่อ พระโควินทร์ ๑ พระฤาษีอาจารย์ทศพิน ชื่อ พระกาลดาบส ๑ พระฤาษีอาจารย์ท้าวจักรวรรดิ ชื่อ ปรเมศร์ ๑ พระฤาษีอาจารย์บุตร ลบ ชื่อ วัชรมฤค ทศกัณฐ์แปลงเป็นดาบสเข้าไปลักนางสีดา ชื่อ มหาธรรม ๑ แปลงเข้าไปหาพระรามที่เขาคันธมาทน์ ชื่อ กาลสิทธิโคดม ๑”

ในพิธีไหว้ครู “โขน” หรือดนตรีนาฏศิลป์จะต้องมีศีรษะครูฤษีอยู่ด้วยทุกครั้ง  ตาตำนานกล่าวว่าศีรษะครูฤษีในพิธีไหว้ครูนั้นหมายถึงพระพรตมุนีผู้รจนาคัมภีร์นาฏยศาสตร์ นอกจากคติความเชื่อตามตำนานดังกล่าวแล้ว พระฤษีในเรื่องรามเกียรติ์ยังเป็นครูและผู้มีอุปการคุณต่อบุคคลต่างๆ ในเรื่องทั้ง พระ นาง ยักษ์และลิง




พระพิราพ
หน้าพาทย์สูงสุดของโขน


     พิราพพิโรธร้าย         เริงหาญ
     แรงราพณ์คอนคชสาร  สิบได้
     สีม่วงแก่กายมาร        วงทัก ษิณานอ
     สวนปลูกพวาทองไว้    สถิตแคว้นอัสกรรณฯ
                            พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย)

หน้าพาทย์ หมายถึง การบรรเลงดนตรีประกอบกิริยาอาการ ทั้งของเทพเจ้า ฤษี มนุษย์ อมนุษย์และสัตว์อื่นๆ เพลงที่บรรเลงนั้นเรียกว่า “เพลงหน้าพาทย์” และหากมีการร่ายรำตามท่วงทำนองของเพลงหน้าพาทย์ก็เรียกว่า “รำหน้าพาทย์” ดนตรีที่บรรเลงหน้าพาทย์ประกอบในพิธีกรรมและการแสดงทั้ง หนัง โขน ละคร คือ วงปี่พาทย์ หน้าพาทย์สูงสุดของเพลงดนตรีและท่ารำคือ “หน้าพาทย์องค์พระพิราพ”

พิราพ ตามพระราชนิพนธ์และบทละครเรื่องรามเกียรติ์ในรัชกาลที่ ๑ เป็นอสูรที่พระอิศวรมอบหน้าที่ให้เป็นผู้ดูแลป่าที่เชิงเขาอัศกรรณ มีอุทยานปลูกชมพู่พวาทองอยู่ในครอบครอง ได้รับกำลังจากพระเพลิงและพระสมุทร มีอิทธิฤทธิ์เป็นที่กลัวเกรงของเหล่าเทพยดา คราวหนึ่งพิราพขึ้นไปแย่งเครื่องทรงของเทวดานางฟ้ามาสวมใส่ (เป็นที่มาของการสร้างหน้าโขน “พระพิราพทรงเครื่อง” คือสวมมงกุฎอย่างเทวดา เมื่อพระราม พระลักษณ์ นางสีดา ผ่านเข้าไปและเก็บผลไม้ในบริเวณที่พิราพดูแลอยู่ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น พิราพตายด้วยศรพระราม)

ฐานะของพิราพในเรื่องรามเกียรติ์ของไทยแตกต่างจากพระพิราพ ซึ่งเป็นครูสำคัญยิ่งของวงการดนตรีนาฏศิลป์ ประเมษฐ์ บุณยะชัย อ้างถึงการศึกษาของ ดร. มัทนี รัตนิน ไว้ในบทความเรื่อง ความเป็นมาของท่ารำองค์พระพิราพ ว่า “...พระพิราพที่ศิลปินไทยนับถือว่าเป็นครูนาฏศิลป์นั้น น่าจะเป็นองค์เดียวกับไภรวะ หรือ ไภราพ ซึ่งเป็นปางดุร้ายของพระศิวะและเป็นผู้ให้กำเนิดนาฏศิลป์...”

อาจเป็นด้วย ไภราพ ปางหนึ่งของพระศิวะกับพิราพในเรื่องรามเกียรติ์ไทย เป็นศัพท์ที่มีเสียงใกล้กันมาก โบราณจารย์จึงผนวก “เทพเจ้า” และ “หัวโขน” เข้าด้วยกัน ประเมษฐ์ บุณยะชัย กล่าวว่า “หน้าพาทย์หรือท่ารำองค์พระพิราพเป็นหน้าพาทย์สูงสุดทางด้านนาฏศิลป์และดุริยางค์ กล่าวได้ว่าเป็นหน้าพาทย์ประจำเฉพาะองค์พระพิราพในฐานะเป็นเทพ ซึ่งไม่มีโอกาสที่ใช้กับการแสดงอื่นใด ด้วยเหตุนี้โบราณาจารย์จึงนำมาบรรจุไว้ในการแสดงตอนพระรามเข้าสวนพิราพ...ฯลฯ...ท่ารำหน้าพาทย์ ขององค์พระพิราพในการแสดงโขน ตอนพระรามเข้าสวนพิราพ มีลักษณะเป็นเอกเทศ เปรียบเสมือนการเบิกโรงด้วยหน้าพาทย์ จากนั้นจึงเข้าสู่เรื่องที่แสดง...”

เพลงหน้าพาทย์ที่เกี่ยวกับองค์พระพิราพมีทั้งพระพิราพเต็มองค์ พันพิราพ พิราพรอนหรือรอนพิราพ สำหรับเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพหรือพระพิราพเต็มองค์นั้นถูกกำหนดเป็นเพลงสุดท้ายของการบรรเลงหน้าพาทย์อัญเชิญครู  ซึ่งผู้อ่านโองการในพิธีจะเป็นผู้ “เรียกเพลง” ในพิธีไหว้ครู “ในการศึกษาวิชานาฏศิลป์และดุริยางค์ หน้าพาทย์องค์พระพิราพ เป็นหน้าพาทย์ที่ได้รับการจัดอันดับว่ามีความศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญสูงสุด เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ครูอาจารย์จะถ่ายทอดให้กับศิษย์ที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิที่เหมาะสม”

ศิลปินดนตรีและนาฏศิลป์มีความเคารพยำเกรงเพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพยิ่งนัก การถ่ายทอดทั้งเพลงและท่ารำประกอบด้วยจารีตพิธีกรรมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาอย่างเคร่งครัด สถานที่ถ่ายทอดต้องเป็น “วัด” หรือ “วัง” เท่านั้น จะไม่ต่อเพลงและท่ารำในบ้านอย่างเด็ดขาด




การสืบทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ
การสืบทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพเท่าที่ปรากฏหลักฐานเก่าที่สุด คือ พระยานัฏกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) เป็นผู้ถ่ายทอดให้แก่ นายรงภักดี (เจียร  จารุจรณ) เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๐ ประกอบพิธีไหว้ครูและครอบที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง และถ่ายทอดท่ารำที่พระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อให้นายรงภักดี (เจียร  จารุจรณ) เป็นผู้แสดงหน้าพาทย์องค์พระพิราพ ในพระราชพิธีสมโภชขึ้นระวางช้างสำคัญ “พระเศวตคชเดชน์ดิลก” เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ พระราชวังดุสิต

การถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพเต็มองค์จะต้องเป็นไปโดยพระบรมราชโองการหรือพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๗๐ เป็นต้นมา มีผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพเพียงผู้เดียวคือ นายรงภักดี (เจียร  จารุวรรณ) กระทั่งถึงพุทธศักราช ๒๕๐๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีพระราชทาน โดยมีนายรงภักดี (เจียร  จารุจรณ) เป็นผู้ครอบและต่อท่ารำหน้าพาทย์ให้แก่ศิลปินอาวุโสของกรมศิลปากร ณ บริเวณโรงละคร พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๖ มีศิลปินอาวุโสได้รับการครอบท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพจำนวน ๔  ท่านคือ
     นายอาคม     สายาคม
     นายอร่าม     อินทรนัฏ
     นายหยัด      ช้างทอง
     นายยอแสง   ภักดีเทวา




อินทรชิตแผลงศรนาคบาศมัดหนุมาน
จิตรกรรมในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับเป็นองค์ประธานในพิธี ประเมษฐ์ บุณยะชัย อธิบายถึงขั้นตอนหนึ่งของพิธีว่า “ครูผู้ถ่ายทอดท่ารำ นายรงภักดี แต่งยืนเครื่องครึ่งท่อน (ยืนเครื่องเฉพาะท่อนล่าง) ถอดเสื้อ คาดปูน สวมมาลัยคอ มาลัยข้อมือ (ดอกเข็มแดง) สวมศีรษะพระพิราพถือหอกและกำใบมะยม ศิษย์ทั้ง ๔ ท่าน มี ๒ ท่าน คือ นายหยัด ช้างทอง และนายยอแสง ภักดีเทวา แต่ยืนเครื่องครึ่งท่อน ไม่สวมศีรษะ คาดปูน ส่วนนายอาคม สายาคม และนายอร่าม อินทรนัฏ แต่งกายนุ่งขาวห่มขาว (นายอาคม นุ่งผ้าคองตะพัด ห่มพันทะนำ นายอร่าม นุ่งโจงกระเบน ห่มพันทะนำ) ถือหอก กำใบมะยม”

ถึงพุทธศักราช ๒๕๒๗ ผู้ได้รับการถ่ายทอดเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๖ ถึงแก่กรรมไป ๓ ท่าน เหลือเพียงนายหยัด ช้างทอง เพียงผู้เดียว ประกอบกับนายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) มีอายุมากถึง ๘๖ ปี กรมศิลปากรจึงนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีพระราชทานต่อท่ารำองค์พระพิราพ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๗ ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา มีศิลปินอาวุโสของกรมศิลปากร ได้รับการถ่ายทอดท่ารำหน้าพาทย์จากนายรงภักดี (เจียร  จารุจรณ) จำนวน ๗ ท่าน คือ
     นายราฆพ     โพธิเวส
     นายไชยยศ   คุ้มมณี
     นายจตุพร     รัตนวราหะ
     นายจุมพล    โชติทัตต์
     นายสุดจิตต์   พันธุ์สังข์
     นายศิริพันธ์   อัฏฏวัชระ
     นายสมศักดิ์   ทัดติ

พระราชพิธีพระราชทานครอบและต่อท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครอบศีรษะพระพิราพ ทรงเจิมพระราชทานใบมะตูมและช่อใบไม้มงคล แก่นายรงภักดี (เจียร  จารุจรณ) และศิษย์ผู้ได้รับการถ่ายทอดทั้ง ๗ ท่าน

ถึงพุทธศักราช ๒๕๔๕ กรมศิลปากร ได้จัดพิธีครอบและต่อท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพให้แก่ศิลปินในสังกัดกรมศิลปากร ประกอบพิธีต่อท่ารำที่พระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส และทำพิธีครอบเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๕ ณ โรงละครแห่งชาติ ครูผู้ถ่ายทอดได้แก่ นายราฆพ  โพธิเวส นายจตุพร รัตนวราหะ นายจุมพล โชติทัตต์ นายสุดจิตต์ พันธุ์สังข์ และนายสมศักดิ์ ทัดติ มีศิลปินได้รับการถ่ายทอด ๑๔ ท่าน ได้แก่
     นายประเมษฐ์    บุณยะชัย
     นายปรีชา        ศิลปสมบัติ
     นายมนัส         สงค์ประพันธ์
     นายดิษฐ์         โพธิยารมย์
     นายสุรเชษฐ์     เฟื่องฟู
     นายประดิษฐ์     ศิลปสมบัติ
     นายสมรักษ์      นาคปลื้ม
     นายสถาพร       ขาวรุ่งเรือง
     นายเจตน์         ศรีอ่ำอ่วม
     นายวราวุธ       ศิลาพันธ์
     นายดำรงศักดิ์   นาฏประเสริฐ
     นายจุลชาติ      อรัณยะนาค
     นายวิธาร         จันทรา
     นายเชาวนาท    เพ็งสุข

แบบแผนอันศักดิ์สิทธิ์ของท่ารำหน้าพาทย์องค์พระพิราพ อันเป็นหน้าพาทย์สูงสุดของนาฏศิลป์โขน มีการถ่ายทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันอย่างไม่ขาดสาย และจะดำรงอยู่เป็นมรดกของชาติสืบไป
......

จบภาค ๒"รามเกียรติ์" จากวรรณคดีอมตะสู่ นาฏกรรมไทย
คัดจาก : หนังสือ โขน อัจฉริยลักษณ์แห่งนาฏศิลป์ไทย กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๒

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ตุลาคม 2558 14:18:39 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 14 มิถุนายน 2556 12:22:27 »

.


"ท่าปฐม" เปรียบเทียบท่ารำกระบี่กระบองกับท่ารำละคร

จาก "รามายณะ" สู่นิทาน "รามเกียรติ์"

รามเกียรติ์ มีที่มาจากเรื่อง รามยณะ เชื่อว่าเป็นนิทานที่เล่าสืบต่อกันมายาวนานในหลากหลายพื้นที่ของชมพูทวีป กระทั่ง ฤๅษีวาลมิกิ ชาวอินเดีย รวบรวมแต่งขึ้นเป็นภาษาสันกฤต เมื่อราว ๒,๔๐๐ ปีมาแล้ว และแพร่หลายจากอินเดียไปยังประเทศใกล้เคียง รวมถึงอาเซียน เช่น ไทย ลาว พม่า เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละพื้นที่เพิ่มเติมรายละเอียดเข้าไปจนแตกต่างออกไปจากต้นฉบับเดิม

รามยณะเป็นปางหนึ่งในสิบปางของการอวตารมาปราบยุคเข็ญของพระนารายณ์ ที่มีชื่อว่า รามาวตาร โดยประพันธ์ไว้เป็นบทร้อยกรองประเภทฉันท์ เรียกว่า โศลก จำนวน ๒๔,๐๐๐ โศลก แบ่งเป็น ๗ ภาค หรือกัณฑ์ ได้แก่ พาลกัณฑ์ อโยธยากัณฑ์ อรัณยกัณฑ์ กีษกินธกัณฑ์ สุนทรกัณฑ์ ยุทธกัณฑ์ อุตตรกัณฑ์

รามายณะเมื่อแพร่หลายมาไทย คนไทยแต่งใหม่เรียกว่า รามเกียรติ์ ซึ่งมีหลายฉบับด้วยกัน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการทำศึกสงครามระหว่างฝ่ายพระราม กับฝ่ายทศกัณฐ์ เพื่อชิงตัวนางสีดา ทางฝ่ายพระรามมีน้องชาย ชื่อ พระลักษมณ์ และหนุมาน (ลิงเผือก) เป็นทหารเอกช่วยในการทำศึก รบกันอยู่นานท้ายที่สุดฝ่ายยักษ์ก็ปราชัย

รามเกียรติ์มีมาแต่สมัยอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ทรงพระราชนิพนธ์สำหรับให้ละครหลวงเล่น ปัจจุบันมีอยู่ไม่ครบ

ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเพื่อรวบรวมเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งมีมาแต่เดิมให้ครบถ้วน สมบูรณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์เพื่อให้ละครหลวงเล่น ทรงเลือกมาเป็นตอนๆ รามเกียรติ์นี้มีสำนวนกลอนที่ไพเราะที่สุด

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ โดยดัดแปลงจากพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ เพื่อใช้ในการเล่นโขน ซึ่งจะมีอยู่เพียงบางตอนที่คัดเลือกไว้เท่านั้น เช่น ตอนนางลอย ตอนหักคอช้างเอราวัณ ตอนสีดาลุยไฟ เป็นต้น

รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีที่สำคัญของไทย เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เนื้อเรื่องและสำนวนกลอน ในเรื่องรามเกียรติ์มีความไพเราะ มีคติสอนและแง่คิดในด้านต่างๆ อยู่เป็นอันมาก สอดแทรกเอาไว้ตลอดทั้งเรื่อง ตามหลักนิยมของอินเดียในเนื้อเรื่อง และหลักนิยมของไทยในสำนวนกลอน

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ที่รอบพระระเบียงวัดพระแก้ว เขียนขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ จำนวน ๑๗๘ ห้อง โดยจิตรกรที่มีฝีมือยอดเยี่ยมของไทย เป็นภาพวิจิตรงดงาม ทรงคุณค่าทางศิลปกรรมเป็นอย่างยิ่ง

จากข้อมูลในวิกิพีเดียระบุถึงความแตกต่างระหว่างรามายณะและรามเกียรติ์ ว่า

๑. ในรามายณะ หนุมานเป็นอวตารปางหนึ่งของพระอิศวร ชื่อรุทรอวตาร หนุมานในรามายณะไม่เจ้าชู้เหมือนหนุมานในรามเกียรติ์

๒. ในรามายณะ ชาติก่อน ทศกัณฐ์กับกุมภกรรณเป็นนายทวารเฝ้าที่อยู่ของพระนารายณ์ ชื่อชัยกับวิชัย ซึ่งพระนารายณ์ห้ามใครเข้าในเวลาที่ทรงเกษมสำราญ ต่อมามีฤๅษีมาขอเข้าพบพระนารายณ์ นายทวารทั้งสองไม่ยอมให้เข้า ฤๅษีจึงสาปให้ชัยกับวิชัยต้องไปเกิดในโลกมนุษย์ได้รับความทรมาน

ชัยกับวิชัยจึงไปขอความเมตตาจากพระนารายณ์ ว่าตนเพียงทำตามคำสั่งเท่านั้น พระนารายณ์บอกว่าแก้คำสาปฤๅษีไม่ได้แต่บรรเทาให้ได้ โดยให้ทั้งสองไปเกิดเป็นยักษ์เพียงสามชาติ และทั้งสามชาติพระนารายณ์จะลงไปสังหารทั้งสองเองเพื่อให้หมดกรรม

๓. กุมภกรรณในรามายณะมีลักษณะคล้ายกุมภกรรณในรามเกียรติ์ คือเป็นคนซื่อสัตย์เที่ยงธรรม แต่ในรามายณะ กุมภกรรณเคยขอพรพระพรหมให้ตนเองมีสภาพคล้ายพระวิษณุ คือนอนหลับอยู่เป็นเวลานานจึงตื่นเพียงวันเดียว และหยั่งรู้ความเป็นไปของโลกในการนอนหลับนั้น ดังนั้นเมื่อทศกัณฐ์ปลุกกุมภกรรณให้ไปรบกับพระนารายณ์นั้น ย่อมรู้ว่าพระรามนั้นที่แท้คือพระวิษณุ ไม่มีทางรบชนะเด็ดขาด แต่ด้วยหน้าที่ของการเป็นทหาร กุมภกรรณยังคงตัดสินใจไปรบ

๔. ในรามายณะไม่มีตัวละครหลายตัวที่รามเกียรติ์แต่งเพิ่มขึ้นมา เช่น ท้าวจักรวรรดิ ท้าวสหัสเดชะ ท้าวมหาชมพู และมีตัวละครหลายตัวที่รวมเป็นตัวเดียว



ข้อมูล : "รามเกียรติ์-รามายณะ" หน้า ๒๔ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 14 ตุลาคม 2558 14:30:28 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Sub
มือใหม่หัดโพสท์กระทู้
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

Thailand Thailand

กระทู้: 1


ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Firefox 23.0 Firefox 23.0


ดูรายละเอียด
« ตอบ #8 เมื่อ: 28 สิงหาคม 2556 16:26:41 »

 แบร่
บันทึกการเข้า
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 05 พฤศจิกายน 2558 15:18:55 »

.



โขน : มหรสพสมโภช

โขนเป็นเสมือนเครื่องราชูปโภคอย่างหนึ่งของพระมหากษัตริย์ไทย ในอดีตพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝึกหัดบรรดามหาดเล็กหลวงไว้เพื่อแสดงโขนในงานพิธีหลวงต่างๆ ทั้งในและนอกพระราชวัง โขนจึงเป็นของต้องห้ามสำหรับผู้อื่นที่จะแสดง แต่ในชั้นหลังปรากฏความนิยมว่าการฝึกหัดโขนนั้นทำให้ชายหนุ่มที่ได้ฝึกหัดแคล่วคล่องว่องไวในกระบวนรบ จึงมีพระบรมราชานุญาตให้เจ้านาย ขุนนางผู้ใหญ่และเจ้าเมืองมีโขนในครอบครองได้เพราะเป็นประโยชน์ต่อราชการแผ่นดิน โอกาสที่แสดงโขนจึงกว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ดังมีหลักฐานต่อไปนี้

๑.มหกรรมบูชา ได้การฉลองหรือสมโภชทางพระพุทธศาสนา เช่น ในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ มีโขนสมโภชพระบรมธาตุชัยนาท รัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ มีโขนสมโภชพระพุทธบาทสระบุรี ครั้งสมโภชพระแก้วมรกตในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีโขน ๗ โรง เป็นโขนโรงใหญ่ ๒ โรง และโขนช่องระทา ๕ โรง  ในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีโขนชุดหนุมานลักท้าวมหาชมพู ครั้งฉลองวัดพระเชตุพนฯ มีโขนชุดพิธีอุโมงค์ และมีโขนบนรถล้อเลื่อนในงานผนวชสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโขนสมโภชพระแก้วมรกต ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีโขนฉลองผ้าป่าคราวเสด็จบางปะอิน เป็นต้น

๒.เนื่องในพระราชพิธี ในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชพิธีออกสนามคือคเชนทรัศวสนานและมีมหรสพต่างๆ สมโภช และกล่าวถึงโขนเป็นการแสดงอย่างหนึ่งในนั้น โขนมีความเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ใน ตำนานละครอิเหนา ว่า ...การเล่นแสดงตำนานเป็นส่วนหนึ่งในการพิธี เกิดเพิ่มเติมขึ้นโดยลำดับมาจนการเล่นแสดงตำนานกลายเป็นการที่มีเนืองๆ จึงเป็นเหตุให้ฝึกหัดโขนหลวงขึ้นไว้สำหรับเล่นในการพระราชพิธี และเอามหาดเล็กหลวงมาหัดเป็นโขนตามแบบแผนซึ่งมีอยู่ในตำราพระราชพิธีอินทราภิเษก เพราะเป็นลูกผู้ดีฉลาดเฉลียวฝึกหัดเข้าใจง่าย ใครได้เลือกก็ยินดีเสมอได้รับความยกย่องอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น จึงได้เป็นประเพณีสืบมาจนชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้

ในสมัยประชาธิปไตยยังคงมีการแสดงโขนในงานรัฐพิธีหลายครั้ง นายธนิต อยู่โพธิ์ กล่าวไว้ในหนังสือโขนว่า “ดูประหนึ่งถือเป็นประเพณีที่ต้องจัดให้มีแสดงโขนเป็นประจำปี ณ ท้องสนามหลวงปีละ ๓ คราว คือ ในวันมีงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในงานฉลองวันขึ้นปีใหม่ ในรัฐพิธีฉลองวันสงกรานต์ นอกจากนี้ยังมีการแสดงโขนรวมอยู่ในนาฏศิลป์ประเภทอื่นๆ ไปเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ณ ต่างประเทศ เป็นเสมือนทูตสันถวไมตรีกับนานาประเทศจนกระทั่งทุกวันนี้

๓.งานศพ จดหมายเหตุลาลูแบร์ กล่าวว่า “โขนและระบำนั้นมักหากันไปเล่น ณ งานปลงศพ และบางทีก็หาไปเล่นในงานอื่นๆ บ้าง” แสดงว่ามีการแสดงโขนในงานพระศพมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  ในสมัยธนบุรีมีโขนในงานพระศพกรมขุนอินทรพิทักษ์ เป็นโขนโรงใหญ่ ๒ โรง โขนช่องระทา ๗ โรง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช คราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐสมเด็จพระชนกาธิบดี พระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อเชิญพระบรมอัฐิออกสู่พระเมรุแล้ว มีการมหรสพครบทุกสิ่ง

...โขนชักรอกโรงใหญ่ ทั้งโขนวังหลวงและวังหน้า แล้วประสมโรงเล่นกลางแปลง เล่นเมื่อศึกทศกรรฐ์ยกทัพกับ ๑๐ ขุน ๑๐ รถ โขนวังหลวงเป็นทัพพระราม ยกไปแต่ทางพระบรมมหาราชวัง โขนวังหน้าเป็นทัพทศกรรฐ์ยกออกจากพระราชวังบวรฯ มาเล่นรบกันในท้องสนามหน้าพลับพลา ถึงมีปืนบาเหรี่ยมรางเกวียนลากออกมายิงกันดังสนั่นไป

โคลงของกรมหมื่นศรีสุเรนทร์บันทึกไว้ว่า มีโขนโรงประชันกัน โรงหนึ่งเล่นชุดถวายแหวน อีกโรงหนึ่งเล่นชุดศึกอินทรชิต

งานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีโขน งานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ งานพระศพพระองค์เจ้าดวงจันทร์ พระองค์เจ้าสำอางในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวล้วนมีโขนด้วยกันทั้งสิ้น ความนิยมเรื่องการแสดงโขนในงานศพยังคงอยู่กระทั่งปัจจุบัน



"โขนสดในสมัยอยุธยา" ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดประดู่ทรงธรรม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

๔.งานบรมราชาภิเษกและอภิเษกสมรส ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คราวงานบรมราชาภิเษกครั้งหลัง ปีระกา พุทธศักราช ๒๔๑๖ “ในวัน ๑๓-๑๔-๑๕ ค่ำ มีโขน...” และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๔๕๔ “เวลาค่ำวันนี้มีมหรศพวิเศษโขนหลวงเฉพาะการบรมราชาภิเษก สมโภชเฉลิมพระเกียรติยศที่โรงโขนหลวง ณ สวนมิสกวัน” ส่วนงานอภิเษกสมรสปรากฏในบทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ตอนงานอภิเษกบุษบากับจรกา กล่าวว่ามีการแสดงโขนในงานมหรสพสมโภชดังนี้
     พวกโขนเบิกโรงแล้วจับเรื่อง
     สื่อเมืององคตพดหาง
     ตลกเล่นเจรจาเป็นท่าทาง
     ทั้งสองข้างอ้างอวดฤทธี

ในเรื่องพระอภัยมณี กล่าวถึงโขนเป็นหนึ่งในมหรสพสมโภชตอนพระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี

๕.งานบันเทิงและบำรุงศิลปะ การแสดงโขนมีจุดประสงค์อย่างหนึ่งคือเพื่อความบันเทิง ในขณะเดียวกันเป็นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไปด้วย เช่นโขนสมัครเล่นของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ แสดงในงานเปิดโรงเรียนนายร้อย (ทหารบก) ชั้นมัธยม พุทธศักราช ๒๔๕๒ ระบุจุดประสงค์ในการแสดงว่า...จะให้ผู้ที่คุ้นเคยชอบพอกันและที่เป็นคนชั้นเดียวกัน มีความรื่นเริงและเพื่อจะได้ไม่หลงลืมว่า ศิลปวิทยาการเล่นเต้นรำไม่จำจะต้องเป็นของฝรั่งจึงจะดูได้ ของโบราณของไทยเรามีอยู่ไม่ควรจะให้เสื่อมสูญไปเสีย...

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงจัดแสดงโขนชุดนางลอย ณ สวนจิตรลดารโหฐาน พุทธศักราช ๒๔๖๔ เพื่อเก็บเงินบำรุงเสือป่า

ในรัชกาลปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชประสงค์ที่จะทรงอนุรักษ์การแสดงโขนให้คงอยู่เป็นสมบัติอันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงโขนพระราชทาน ตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นต้นมาดังนี้ พุทธศักราช ๒๕๔๐ และพุทธศักราช ๒๕๕๓ ชุดนางลอย พุทธศักราช ๒๕๕๔ ชุดศึกมัยราพณ์ และพุทธศักราช ๒๕๕๕ ชุดจองถนน ทั้งนี้มีพระราชเสาวนีย์ให้จัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนขึ้นใหม่ ปรับปรุงวิธีการแต่งหน้าโขนให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย

หน่วยงานของรัฐคือกรมศิลปากรมีหน้าที่จัดการแสดงโขนให้ประชาชนเป็นประจำ นับแต่ตั้งโรงเรียนนาฏดุริยางคศาสตร์ ในพุทธศักราช ๒๔๗๗ และเปลี่ยนเป็นโรงเรียนนาฏศิลป ในพุทธศักราช ๒๔๘๘ นักเรียนได้มีส่วนร่วมแสดงโขนในงานสำคัญหลายครั้ง รายการที่กรมศิลปากรจัดแสดงให้ประชาชนชม เช่นในพุทธศักราช ๒๔๙๐ แสดงชุดนางลอย ในพุทธศักราช ๒๔๙๕ แสดงชุดหนุมานอาสา เป็นต้น การแสดงโขนสำหรับประชาชนยังมีต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เช่นในปฏิทินการแสดงประจำปี ๒๕๕๖ ของกรมศิลปากรโดยสำนักการสังคีต กำหนดแสดงโขนชุดหนุมานชาญสมรและชุดอินทรชิตฤทธีที่โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพฯ และมีการแสดงโขนชุดนางลอย-ยกรบ ที่โรงละครแห่งชาติ ภาคตะวันตก สุพรรณบุรี เป็นต้น ทั้งนี้เป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติโดยเฉพาะการแสดงโขนจะบรรจุอยู่ในรายการประจำปีตลอดมา



"การแสดงโขนและมหรสพต่างๆ ในงานพระเมรุทศกัณฐ์"
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ ณ พระระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

๖.งานรับรอง เมื่อมีอาคันตุกะจากต่างประเทศมาเยือนประเทศไทย โขนมักเป็นการแสดงที่ใช้ในการรับรองเสมอ เช่น พุทธศักราช ๒๕๐๕ แสดงโขนชุดหนุมานอาสา รับรอง ฯพณฯ พลเอกเนวิน ประธานสภาปฏิวัติแห่งสหภาพพม่า พุทธศักราช ๒๕๐๗ แสดงโขนชุดมัยราพณ์สะกดทัพถวายสมเด็จพระราชาธิบดีโบดวงและสมเด็จพระราชินีฟาบิโอลาแห่งเบลเยี่ยม เมื่อพุทธศักราช ๒๕๑๐ แสดงโขนชุดศรเหราพต รับรอง ฯพณฯ ฟรานซ์ โยนาส ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย เป็นต้น

นอกจากรับรองอาคันตุกะแล้ว โขนยังใช้แสดงรับบุคคลสำคัญของชาติด้วย เพราะถือเป็นเครื่องหมายแสดงความยินดี ดังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช ๒๔๔๐ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ซึ่งมีกรมหมื่นปราบปรปักษ์ (พระยศขณะนั้น) กับเจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์เป็นแม่งานจัดโขนกลางแปลงที่ท้องสนามหลวงสมโภช และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โขนแสดงในวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ จับตอนเสร็จศึกลงกา พระรามคืนนครอยุธยา พระชนนีเสด็จออกไปรับพระรามเข้าเมืองแล้วให้มีงานสมโภช หนังสือพิมพ์สยามไมตรีฉบับวันอังคารที่ ๘ และวันอังคารที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๑๖ รายงานว่างานโขนกลางแปลงนี้ใหญ่กว่างานอื่นๆ เท่าที่เคยมีมา มีผู้แสดงถึง ๘๐๐ คนเศษ เครื่องแต่งตัวทำขึ้นใหม่ทั้งหมด การตกแต่งสถานที่ทำเหมือนจริงทุกอย่าง เช่น
[…] ฝ่ายกรุงศรีอยุธยานั้น ทำเป็นปราสาทราชฐาน มีกำแพงเมือง มีประตู หอรบ ป้อม เสมา ธง เหมือนเมืองจริงๆ ถึงเวลาใครมีบทปีนต้นไม้ก็ปีนต้นไม้ขึ้นไปจริงๆ ถึงตอนที่พวกกะเหรี่ยงได้ยินเสียงเป่าเขาควาย ก็มีพวกกะเหรี่ยงออกมาจากช่องเขา

ตอนพระรามจะยกเข้าเมือง พวกชาวเมืองมีความยินดี จัดให้ยกเอาโต๊ะตั้งเครื่องบูชาออกมาตั้งจริงๆ และในเมืองนั้นก็ได้ทำการรับเสด็จผูกผ้าแดงมีธงทิวเช่นที่นิยมปฏิบัติ

ในปัจจุบันอาจมีผู้เข้าใจว่าโขนแสดงแต่เฉพาะในงานศพ ที่จริงตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วเห็นว่ามีการแสดงโขนในหลายโอกาสอย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่าทุกคราวที่มีงานใหญ่และสำคัญจะมีโขนอยู่ด้วยเสมอ ควรนับว่าเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดสวัสดิมงคล ประการหนึ่งเพราะจากต้นกำเนิดของโขนคือการชักนากดึกดำบรรพ์หรือการเล่นดึกดำบรรพ์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นมงคล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงกล่าวไว้ว่าการเล่นในพระราชพิธีอินทราภิเษกนี้ “ก็คือการเล่นแสดงตำนานในไสยศาสตร์เพื่อแสวงสวัสดิมงคล มาแต่มูลเหตุอันเดียวกันกับที่เล่นโขนเรื่องรามเกียรติ์...” ดังนั้น การแสดงโขนซึ่งเป็นตำนานของพระนารายณ์อวตารจึงไม่มีความอัปมงคลอันใด การแสดงโขนนั้นเกี่ยวกับการสมโภช แม้ในงานศพดังที่ปรากฏในงานพระเมรุตั้งแต่อดีตก็เรียกว่า “มหรสพสมโภช” เช่น คราวงานถวายพระเพลิงพระบรมอัฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี พระราชพงศาวดารกล่าวว่า “เครื่องมหรสพสมโภชเหมือนอย่างการพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงเก่า” ในเรื่องอิเหนา ตอนงานพระเมรุหมันหยา มีกลอนตอนกล่าวถึงการมหรสพในงานว่า “สมโภชพระศพเสร็จเจ็ดทิวา” การจัดงานเป็นการบูชาผู้ที่เคารพนับถือและรักใคร่ของคน ผู้ที่มีชีวิตอยู่ย่อมกระทำสิ่งที่ดีไม่ใช่สิ่งอัปมงคลให้แก่ผู้ตาย อีกประการหนึ่งผู้ประดิษฐ์ศิลปะใดๆ คงไม่มีจุดมุ่งหมายให้ศิลปะของตนเป็นสิ่งอัปมงคลอย่างแน่นอน ที่มีผู้รังเกียจว่าโขนแสดงในงานศพไม่บังควรนำมาแสดงในงานมงคลเป็นความคิดของคนชั้นหลังทั้งสิ้น


ที่มา (เรื่อง-ภาพ) : นิตยสารศิลปากร สำนักบริหารกลาง กรมศิลปากร จัดพิมพ์เผยแพร่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04 มกราคม 2561 11:20:37 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #10 เมื่อ: 04 มกราคม 2561 11:37:49 »


ภาพจาก : งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์
ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
ถ่ายภาพ : Mckaforce แอ็ดมิน สุขใจดอทคอม

‘โขนไทย-โขนกัมพูชา’
เป็นพิธีกรรมดึกดำบรรพ์ของอุษาคเนย์

โขน นับเป็นประเภทหนึ่งของการแสดงหน้ากาก (masked play) ซึ่งพบอยู่ทั่วไปในอุษาคเนย์ ทั้งบนผืนแผ่นดินใหญ่และในภาคหมู่เกาะ

เพียงแต่ว่า โขน จะเล่นเฉพาะรามเกียรติ์ เช่นเดียวกับ “ลฺโขน โขล” (Lakorn Khol) ของกัมพูชา

ที่เล่นเฉพาะมหากาพย์ที่อิมพอร์ตมาจากอินเดียเรื่องนี้เหมือนกัน หมายความว่า ถึงเรื่องที่เล่นจะเอามาจากอินเดีย แต่ก็เอามาเฉพาะเรื่องที่เล่นเท่านั้น ส่วนการแสดงหน้ากากเป็นของพื้นเมือง

และถึงแม้ว่าการแสดงหน้ากากน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีป ที่เราเรียกว่าสมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว หลักฐานที่เขาจดกันเป็นลายลักษณ์ไว้ว่า มี “หน้ากาก” (ส่วนจะเล่นอย่างไร? เล่นเรื่องไหน? และใช้แสดงอะไรอย่างโขนหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เก่าแก่ที่สุด มีอยู่ในจารึก K.๑๒๒๙ กำหนดอายุอยู่ในช่วงระหว่าง พ.ศ.๑๓๕๐-๑๔๕๐ (คริสต์ศตวรรษที่ ๙) ซึ่งพบในประเทศกัมพูชา แต่ก็ไม่มีรายละเอียดอะไรนัก

หลักฐานที่บอกชัดๆ ว่ามีการสวมหน้ากากแล้วร่ายรำ มีอยู่ในเอกสารที่อายุอ่อนกว่านั้นมากคือ หนังสือโบราณ ทำนองเป็นพงศาวดารของราชวงศ์มัชปาหิต ในภาคตะวันออกของเกาะชวา ที่ชื่อ “นาครเกียรตาคม” ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อราวๆ พ.ศ.๑๘๐๐

เรื่องของเรื่องก็คือในหนังสือนาครเกียรตาคมได้บันทึกเอาไว้ว่า กษัตริย์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์นี้ ที่ทรงพระนามว่า หะยัม วูรุค ทรงสวมหน้ากากทองคำ และร่ายรำโตเป็ง (Topeng)

โตเป็ง” ที่ว่านี่ก็คือระบำหน้ากาก บางทีก็เรียกว่า วาหยัง เกด็อก (wayang gedok) หรือ วาหยัง โตเป็ง ปัจจุบันในชวาก็ยังมีการละเล่นชนิดนี้อยู่

แต่เรื่องที่น่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ทำไมกษัตริย์ชวาถึงต้องมารำหน้ากาก?

เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงธรรมเนียมในสยามประเทศ อย่างการที่พระมหากษัตริย์จะทรงพระแสงของ้าว รำพัดชา บนกระพองช้างพระที่นั่ง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาต่อพระพุทธบาท (ก็พระพุทธบาท ที่สระบุรีนั่นแหละ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แต่ดั้งเดิมนั้นสิ่งที่เราในปัจจุบันเรียกว่า “การละเล่น” หรือ “การแสดง” นั้น มันเป็น “พิธีกรรม” ต่างหาก

ร่องรอยที่เห็นอยู่ชัดๆ ก็มาจากเกาะชวาอีกนั่นแหละ เพราะเรื่องเล่าเก่าแก่ที่ผู้คนคงจะหลงลืมไปนานแล้วถ้ามันไม่ได้ถูกบันทึกเอาไว้ในใบลาน ทางภาคตะวันออกของเกาะชวา (อีกแล้ว) มีเรื่องทำนองอภินิหาริย์ตำนานเทพ ซึ่งมีใจความโดยย่อว่า

พระศิวะกับพระอุมาต้องคำสาปจนถูกเนรเทศลงมายังโลกมนุษย์ในรูปของปีศาจ โดยที่พระอุมากลายเป็นปีศาจที่ชื่อว่า “ทุรคา” (ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นชื่อ พระภาคที่ดุร้ายพระภาคหนึ่งของพระแม่อุมา ไม่ใช่ปีศาจ) และให้กำเนิดบุตรอีกหลายตนที่ล้วนแล้วแต่มีรูปร่างผิดปกติและผิดสัดส่วน (เหมือนรูปร่างบนตัวหนังตะลุงของไทย)

พระพรหม พระวิษณุ และพระอิศวร (ในคัมภีร์นี้ดูเหมือนว่าพระศิวะ กับพระอิศวร จะเป็นเทพคนละองค์กัน แต่โดยปกติแล้วหมายถึงเทพเจ้าองค์เดียวกัน) ต้องการที่จะช่วยพระศิวะ และพระแม่อุมาให้พ้นคำสาปจึงสร้างการแสดง “วาหยัง กุลิต” ซึ่งก็คือการเล่นเงา (แบบหนังตะลุง หนังใหญ่ของเรานั่นเอง) ขึ้นมาบนโลก โดยเทพทั้งสามองค์ เป็นองค์ประกอบหลักของการแสดง

พระอิศวรทำหน้าที่เป็น “ดาหลัง” คือผู้เชิดตัวหนัง พระพรหมเป็นตะเกียงให้แสงสว่างขณะแสดง ส่วนพระวิษณุเป็นดนตรี ซึ่งในการแสดงจะต้องมีการเซ่นสังเวยให้แก่ปีศาจด้วย

ตำนานเล่าต่อไปว่า มหาเทพทั้งสามไม่ประสบความสำเร็จในการแสดงครั้งแรกนี้ พระศิวะและพระแม่อุมายังคงต้องคำสาปอยู่ไม่คลาย

ทวยเทพทั้งสามจึงต้องจัดการแสดงขึ้นใหม่อีกรอบ และคราวนี้เองที่มีการแสดง “ระบำ” กับ “หน้ากาก” เพิ่มเติมเข้าไปด้วย

และเมื่อมหาเทพทั้งสามอุตส่าห์จัดเต็มกันขนาดนี้แล้ว พระศิวะและพระอุมาจึงหลุดพ้นออกจากคำสาปได้ในที่สุด เรียกได้ว่าจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง
 
แต่ตำนานเรื่องนี้ไม่มีในอินเดีย เป็นเรื่องแต่งใหม่ในท้องถิ่น ที่นำเอาความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เข้ามาผนวกเข้ากับเรื่องผีพื้นเมือง ดังจะเห็นได้จากการที่ต้องทำการเซ่นสรวงเหล่าปีศาจไปด้วย

ในกรณีนี้ การละเล่นจึงเป็นพิธีกรรมที่เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นระบำ การละเล่นหน้ากาก หรือการเล่นเงา เพราะมีลักษณะของตัวละครเป็นอภิมนุษย์เหมือนกัน

ศิลาจารึกเก่าแก่จากประเทศกัมพูชาอีกหลักหนึ่งคือจารึก K.๕๖๖ ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง พ.ศ.๑๔๕๐-๑๕๕๐ (คริสต์ศตวรรษที่ ๙) ดูจะเป็นหลักฐานยืนยันเกี่ยวกับกรณีนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะมีข้อความระบุในทำนองที่ว่า พระอีศาน (พระภาคหนึ่งของพระอิศวร) เป็นองค์ประธานของหน้ากากทั้งหลาย นี่แสดงให้เห็นว่า หน้ากากเคยถูกใช้งานในฐานะของเครื่องมือศักดิ์สิทธิ์

และก็ไม่เห็นจะน่าแปลกที่ตรงไหนเมื่อนึกถึงฐานะอันสูงส่ง และศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างยิ่งของ “หน้ากากพรานบุญ” ในพิธีไหว้ครูละคร และดนตรีการต่างๆ

จิตสำนึกแต่เดิมของอุษาคเนย์ “หน้ากาก” จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการเปลี่ยนผ่านสภาวะจากมนุษย์ธรรมดา อย่างคุณ หรือผม ไปเป็นร่างทรงของความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างในพิธีกรรม

ไม่ใช่การละเล่นของเด็ก หรือว่าใครที่ไหนก็เล่นได้หรอกนะครับ

ในกรณีของประเทศไทย โขนมีตั้งแต่ในยุคอยุธยาแล้ว (ซึ่งก็ร่วมสมัยกับราชสำนักกัมพูชา ที่เมืองอุดงมีชัย ซึ่งมีหลักฐานการแสดงละโขน โขล ซึ่งสวมหน้ากาก และเล่นเฉพาะรามเกียรติ์เหมือนกับโขนของสยาม) แต่ที่เก่าแก่ไปกว่านั้นก็คือ พิธีกรรมที่ปรากฏอยู่ในกฎมณเฑียรบาล กฎหมายตราสามดวง ที่เรียกว่า การชักนาคดึกดำบรรพ์ ในพระราชพิธีอินทราภิเษก ที่เก่าไปถึงยุคต้นอยุธยา ในช่วงราวๆ พ.ศ.๑๙๐๐ หรือก่อนหน้านั้น

คำว่า ดึกดำบรรพ์ ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าเก่าแก่โบร่ำโบราณ แต่เขียนเลียนเสียงคำว่า “ตึ๊กตะบัน” ในภาษาเขมร ที่แปลว่าการ “ตำน้ำ”

รวมความแล้วการชักนาคดึกดำบรรพ์ ก็คือการจำลองเรื่องราวในเทพปกรณัมของพราหมณ์ ที่หมู่เทวดาและอสูรมาช่วยกันจับนาคพันไว้รอบภูเขากลางทะเลจักรวาลที่ชื่อ เกษียรสมุทร แล้วคั้นเอา “น้ำอมฤต” ที่กินแล้วเป็นอมตะไม่ตาย

กษัตริย์อยุธยาก็อยากดื่มน้ำอมฤต (แน่ล่ะ ก็กินแล้วมันไม่ตายนี่ครับ) แต่ไม่รู้จะไปหาเกษียรสมุทร พญานาค เทวดา หรืออสูรที่ไหน ก็ต้องจำลองเหตุการณ์ด้วยการทำภูเขาจำลอง พญานาคจำลอง ส่วนเทวดาและอสูร ก็จับเอาตำรวจเล็กมาแต่เป็นอสูร และเอาพวกมหาดเล็กมาแต่งเป็นเทวดาและบรรดาลิงนับร้อยๆ ตัว

(ในอินเดีย เรื่องกวนเกษียรสมุทรนี่ไม่ได้มีลิงจากรามายณะ ไปนั่งปั้นจิ้มปั้นเจ๋อตอนเขากวนน้ำกันนะครับ มีเฉพาะในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะที่ไทยกับกัมพูชา เห็นได้จากภาพสลักที่ปราสาทนครวัด กับเนื้อความในรามเกียรติ์ฉบับกัมพูชาเขานี่แหละ)

และคำถามที่สำคัญก็คือ เวลาที่พวกมหาดเล็กกับตำรวจเล็ก เขาแต่งเป็นอสูรกับลิงนี่เขาแต่งกันอย่างไร?

ถ้าต้องใส่ “หน้ากาก” ก็นี่แหละชัดเลยว่าเป็นต้นกำเนิดโขน ที่เล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์อย่างในปัจจุบัน ส่วนหน้ากากนั่นก็ไปลอกแบบมาจากภาพสลักปราสาทขอมนั่นไง สังเกตง่ายๆ ว่าศีรษะโขนไทย เอาหน้าเยอะๆ ของทศกัณฐ์และยักษ์ตนอื่นซ้อนสูงไว้ข้างบนหัวตนเอง เหมือนภาพสลักขอม ไม่แยกออกมาด้านข้างเหมือนของออริจินอลในอินเดีย

แน่นอนว่า การเอาสารพัดหน้าของบรรดายักษ์ไปกองรวมกันไว้ข้างบน ย่อมสวมใส่ง่ายสบายดีกว่าให้การแผ่ออกทางด้านข้างเหมือนของแขก นั่นแปลว่าในอารยธรรมของชาวเขมรในสมัยที่ยังสร้างปราสาทหินอยู่นั้น ก็อาจจะมีหน้ากาก หรือศีรษะโขนแบบนี้อยู่ด้วย ซึ่งก็ไม่เห็นจะแปลก ก็ขนาดชื่อพิธีชักนาคดึกดำบรรพ์ยังเลียนเสียงเขมรเขามากันทื่อๆ อย่างนั้น

คำว่า “โขน” และ “ละคร” ของไทยก็เอามาจาก “ลฺโขน โขล” ของเขมรนี่เหมือนกัน เพียงแต่เราแยกต่างหากออกจากกันว่า ใส่หน้ากาก (หรือศีรษะโขน) เล่นเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เรียกว่าโขน ไม่สวมหน้ากาก เล่นสารพัดเรื่องอื่นๆ เรียกว่าละคร แต่เขมรเองก็เอาคำนี้มาจากคำว่า “เลกอง” (legong) ในภาษาชวา ซึ่งก็หมายถึง ละคร ที่เล่นกันในชวาตะวันออกและเกาะบาหลี

โขน จึงเป็นแขนงหนึ่งของการแสดงหน้ากาก ที่เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ของคนทั่วทั้งอุษาคเนย์ในยุคดึกดำบรรพ์

เรื่อง : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ‘โขนไทย-โขนกัมพูชา’
เป็นพิธีกรรมดึกดำบรรพ์ของอุษาคเนย์





ภาพจาก : งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์
ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
ถ่ายภาพ : Mckaforce แอ็ดมิน สุขใจดอทคอม
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 19 กุมภาพันธ์ 2561 18:52:02 »

โขนเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทย มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามหลักฐานจากจดหมายเหตุของลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงการเล่นโขนว่า เป็นการเต้นออกท่าทางเข้ากับเสียงซอและเครื่องดนตรีอื่นๆ ผู้เต้นสวมหน้ากากและถืออาวุธ  โขนเป็นที่รวมของศิลปะหลายแขนงคือ โขนนำวิธีเล่นและวิธีแต่งตัวบางอย่างมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์  โขนนำท่าต่อสู้โลดโผน ท่ารำท่าเต้นมาจากกระบี่กระบอง  และนำศิลปะการพากย์การเจรจา หน้าพาทย์เพลงดนตรี   การแสดงโขน ผู้แสดงสวมศีรษะคือหัวโขน ปิดหน้าหมด ยกเว้น เทวดา มนุษย์ และมเหสี ธิดาพระยายักษ์  มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องบทให้และมีคนพากย์และเจรจาให้ด้วย เรื่องที่แสดงนิยมแสดงได้แก่ เรื่องรามเกียรติ์และอุณรุฑ  ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงโขนใช้วงปี่พาทย์

ประเภทของโขนแบ่งออกเป็น ๕ ประเภท คือ
๑.โขนกลางแปลง
๒.โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว
๓.โขนหน้าจอ
๔.โขนโรงใน
๕.โขนฉาก

๑.โขนกลางแปลง คือ การเล่นโขนบนพื้นดิน ณ กลางสนาม ไม่ต้องสร้างโรงให้เล่น นิยมแสดงตอนยกทัพรบกัน โขนกลางแปลงได้วิวัฒนาการมาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เรื่องกวนน้ำอมฤต เรื่องมีอยู่ว่า เทวดาและอสูรใคร่จะเป็นอมตะ จึงไปทูลพระนารายณ์ พระนารายณ์จึงแนะนำให้กวนน้ำอมฤต โดยใช้เขามนทคิรีเป็นไม้กวน เอาพระยาวาสุกรีเป็นเชือกพันรอบเขา เทวดาชักทางหาง หมุนเขาไปมา พระยาวาสุกรีพ่นพิษออกมา  พระนารายณ์เชิญให้พระอิศวรดื่มพิษนั้นเสีย พระอิศวรจึงมีศอสีนิลเพราะพิษไหม้  ครั้นกวนต่อไป เขามนทคิรีทะลุลงไปใต้โลก พระนารายณ์จึงอวตารเป็นเต่า ไปรองรับเขามนทคิรีไว้  ครั้นได้น้ำอมฤตแล้ว เทวดาและอสูรแย่งชิงน้ำอมฤตกันจนเกิดสงคราม พระนารายณ์จึงนำน้ำอมฤตไปเสีย พวกอสูรไม่ได้ดื่มน้ำอมฤตก็ตายในที่รบเป็นอันมาก เทวดาจึงเป็นใหญ่ในสวรรค์  พระนารายณ์เมื่อได้น้ำอมฤตไปแล้ว ก็แบ่งน้ำอมฤตให้เทวดาและอสูรดื่ม พระนารายณ์แปลงเป็นนางงามรินน้ำอมฤตให้เทวดา แต่รินน้ำธรรมดาให้อสูร  ฝ่ายราหูเป็นพี่น้องกับพระอาทิตย์และพระจันทร์แต่ราหูเป็อสูร  ราหู เห็นเทวดาสดชื่นแข็งแรงเมื่อได้ดื่มน้ำอมฤต แต่อสูรยังคงอ่อนเพลียอยู่ เห็นผิดสังเกต จึงแปลงเป็นเทวดาไปปะปนอยู่ในหมู่เทวดา จึงพลอยได้ดื่มน้ำอมฤตด้วย  พระอาทิตย์และพระจันทร์ จึงแอบบอกพระนารายณ์ พระนารายณ์โกรธมากที่ราหูตบตาพระองค์ จึงขว้างจักรไปตัดกลางตัวราหู ร่างกายท่อนบนได้รับน้ำอมฤตก็เป็นอมตะ แต่ร่างกายท่อนล่างตายไป ราหูจึงเป็นยักษ์มีกายครึ่งท่อน ราหูโกรธและอาฆาตพระอาทิตย์และพระจันทร์มาก พบที่ไหนก็อมทันที เกิดเป็นราหูอมจันทร์หรือจันทรคราสและสุริยคราส ต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้ามาเทศนาให้ราหูเลิกพยาบาทจองเวร ราหูจึงได้คลายพระอาทิตย์หรือพระจันทร์ออก  

การเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ เล่นในพิธีอินทราภิเษก มีปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยกรุงศรีอยุธยา  โขนกลางแปลงนำวิธีการแสดงคือการจัดกระบวนทัพ การเต้นประกอบหน้าพาทย์ มาจากการเล่นชักนาคดึกดำบรรพ์ แต่เปลี่ยนมาเล่นเรื่องรามเกียรติ์ และเล่นตอนฝ่ายยักษ์และฝ่ายพระรามยกทัพรบกัน  จึงมีการเต้นประกอบหน้าพาทย์ และอาจมีบทพาทย์และเจรจาบ้างแต่ไม่มีบทร้อง

๒.โขนโรงนอก หรือโขนนั่งราว เป็นการแสดงบนโรงมีหลังคา ไม่มีเตียงสำหรับตัวโขนนั่ง แต่มีราวพาดตามส่วนยาวของโรงตรงหน้าฉาก (ม่าน)  มีช่องทางให้ผู้แสดงเดินได้รอบราวแทนเตียง มีการพากย์และเจรจา แต่ไม่มีการร้อง ปี่พาทย์บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ มีปี่พาทย์ ๒ วง เพราะต้องบรรเลงมาก ตั้งหัวโรงท้ายโรง จึงเรียกว่าวงหัวและวงท้ายหรือวงซ้ายและวงขวา วันก่อนแสดงโขนนั่งราวจะมีการโหมโรง และให้พวกโขนออกมากระทุ้งเส้าตามจังหวะเพลง  พอจบโหมโรงก็แสดงตอนพิราพออกเที่ยวป่า จับสัตว์กินเป็นอาหาร พระรามหลงเข้าสวนพวาทองของพราพ แล้วก็หยุดแสดง พักนอนค้างคืนที่โรงโขน รุ่งขึ้นจึงแสดงตามเรื่องที่เตรียมไว้ จึงเรียกว่า "โขนนอนโรง"

๓.โขนหน้าจอ  คือ โขนที่เล่นตรงหน้าจอ ซึ่งเดิมเขาขึงไว้สำหรับเล่นหนังใหญ่ ในการเล่นหนังใหญ่นั้น มีการเชิดหนังใหญ่อยู่หน้าจอผ้าขาว การแสดงหนังใหญ่มีศิลปะสำคัญ คือการพากย์และเจรจา มีดนตรีปี่พาทย์ประกอบการแสดง  ผู้เชิดตัวหนังต้อง เต้นตามลีลาและจังหวะดนตรี นิยมแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ต่อมามีการปล่อยตัวแสดงออกมาแสดงหนังจอ แทนการเชิดหนังในบางตอน เรียกว่า "หนังติดตัวโขน" มีผู้นิยมมากขึ้น เลยปล่อยตัวโขนออกมาแสดงหน้าจอตลอด ไม่มีการเชิดหนังเลย จึงกลายเป็นโขนหน้าจอ และต้องแขวะจอเป็นประตูออก ๒ ข้าง เรียกว่า "จอแขวะ"

๔.โขนโรงใน คือโขนที่นำศิลปะของละครในเข้ามาผสม โขนโรงในมีปี่พาทย์บรรเลง ๒ วงผลัดกัน  การแสดงก็มีทั้งออกท่ารำเต้น ทีพากย์และเจรจาตามแบบโขน กับนำเพลงขับร้องและเพลงประกอบกิริยาอาการของดนตรีแบบละครใน และมีการนำระบำรำฟ้อนผสมเข้าด้วย เป็นการปรับปรุงให้วิวัฒนาการขึ้นอีก การผสมผสานระหว่างโขนกับละครในสมัยรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒  ทั้งมีราชกวีภายในราชสำนักช่วยปรับปรุงขัดเกลา และประพันธ์บทพากย์บทเจรจาให้ไพเราะสละสลวยขึ้นอีก  โขนที่กรมศิลปากรนำออกแสดงในปัจจุบันนี้ ก็ใช้ศิลปะการแสดงแบบโขนโรงใน ไม่ว่าจะแสดงกลางแจ้งหรือแสดงหน้าจอก็ตาม

๕.โขนฉาก เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อมีผู้คิดสร้างฉากประกอบเรื่องเมื่อแสดงโขนบนเวที คล้ายกับละครดึกดำบรรพ์ ส่วนวิธีแสดงดำเนินเช่นเดียวกับโขนโรงใน แต่มีการแบ่งเป็นชุดเป็นตอน เป็นฉาก และจัดฉากประกอบตามท้องเรื่อง จึงมีการตัดต่อเรื่องใหม่ไม่ให้ย้อนไปย้อนมา เพื่อสะดวกในการจัดฉาก กรมศิลปากรได้ทำบทเป็นชุดๆ ไว้หลายชุด เช่น ชุดปราบกากนาสูร ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดชุดนางลอย ชุดนาคบาศ ชุดพรหมาสตร์ ชุดศึกวิรุญจำบัง ชุดทำลายพิธีหุงน้ำทิพย์ ชุดสีดาลุยไฟและปราบบรรลัยกัลป์ ชุดหนุมานอาสา ชุดพระรามเดินดง ชุดพระรามครองเมือง

การแสดงโขน โดยทั่วไปนิยมแสดงเรื่อง "รามเกียรติ์" กรมศิลปากรเคยจัดแสดงเรื่องอุณรุฑ แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าเรื่องรามเกียรติ์  เรื่องรามเกียรติ์ที่นำมาแสดงโขนนั้นมีหลายสำนวน ทั้งที่ประพันธ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์  โดยเฉพาะบทในสมัยรัตนโกสินทร์ นิยมแสดงตามสำนวนของรัชกาลที่ ๒ ที่กรมศิลปากรปรับปรุงเป็นชุดเป็นตอน เพื่อแสดงโขนฉาก ก็เดินเรื่องตามสำนวนของรัชกาลที่ ๒  รัชกาลที่ ๖ ก็เคยทรงพระราชนิพนธ์บทร้องและบทพากย์ไว้ถึง ๖ ชุด คือ ชุดสีดาหาย ชุดเผาลงกา ชุดพิเภกถูกขับ ชุดจองถนน ชุดประเดิมศึกลงกา และชุดนาคบาศ

การแต่งกายโขน แบ่งออกเป็น ๓ ฝ่าย คือ ฝ่ายมนุษย์เทวดา(พระ นาง) ฝ่ายยักษ์ ฝ่ายลิง
ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล...เว็บไซต์ กรมศิลปากร



สุดยอดศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย
โขน
งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ณ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี
๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑
ถ่ายภาพ : Mckaforce แอ็ดมิน สุขใจดอทคอม
















« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 20 กุมภาพันธ์ 2561 07:18:48 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น: โขน 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 1.444 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 20 ธันวาคม 2567 07:19:25