โทษละเมิดพระวินัยโดย...พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)ขอขอบคุณที่มา เว็บไซต์วัดท่าซุงดอทคอม
คำนำ
ก่อนอื่นต้องขออนุโมทนา คุณทวีทรัพย์ ศรีขวัญ ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย ที่ช่วยถอดเทปเรื่อง "โทษละเมิดพระวินัย" จากคำแนะนำของพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ในแผ่นซีดีของวัด จำนวน ๖ แผ่น การที่ได้นำเรื่องนี้มาลงในเว็บไซด์แห่งนี้ เพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ สำหรับผู้ที่อุปสมบทในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะฆราวาสก็ควรศึกษาเรื่องพระวินัยของพระด้วย ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ เคยแนะนำไว้
ด้วยเหตุนี้ ทางทีมงานฯ จึงได้นำเรื่องนี้มาให้อ่านกัน เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านทั่วไป แต่ผู้ที่บวชหลวงพ่อท่านก็แนะนำให้อ่าน "หนังสือวินัยมุข" ไปด้วย เดิมท่านได้สอนพระไว้หลายชุด โดยเปิดเสียงตามสายภายในวัดอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ศีกษาพระวินัยบัญญัติในเวลาเย็น โดยท่านได้นำหัวข้อมาจาก หนังสือนวโกวาท แล้วได้อธิบายประกอบไปด้วย
ฉะนั้น ถ้าใครได้ฟังหรือได้อ่าน จะเห็นว่าพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ท่านอธิบายให้ง่ายขึ้น และทำความเข้าใจในแง่ของการนำไปปฏิบัติ หมายความไม่ใช่เพื่อแค่ศึกษาเท่านั้น โดยเฉพาะการต้องอาบัติ ท่านจะอธิบายไว้ชัดเจนว่า การปลงอาบัติบางทีก็ไม่หมดโทษ หรือว่าเรื่องพระที่จับเงินจับทอง เป็นต้น ท่านจะทำความเข้าใจในเหตุผลเป็นอย่างดี ว่าสมัยนี้ทำไมพระจึงต้องรับเงินรับทองเป็นของตนเอง
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม การศึกษาคำสอนของท่านนี้ มิได้ให้นำมาเป็นประเด็นเปรียบเทียบกับสำนักอื่น เพราะข้อวัตรปฏิบัติของพระวินัย เป็นไปตามกาลสมัยและตามจารีตประเพณีของแต่ละท้องถิ่น เพื่อให้ผู้รักษาพระวินัยนั้น จะไม่เป็นขี้ปากของชาวบ้าน หมายถึงไม่เป็นโลกวัชชะ คือทำแล้วชาวบ้านติเตียน แต่ชาวบ้านก็ต้องรู้พระวินัยของพระด้วย ไม่ใช่ทำตามใจของตนเอง โดยไม่รู้ว่าพระก็ต้องรักษาพระวินัยไปด้วย
เป็นอันว่า พระวินัยที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงสั่งสอน ต้องรักษาไว้ด้วยดีคือ คือรักษาพระวินัยไว้ให้อยู่ในขอบเขต และเป็นไปตามกาลสมัย ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย หรือรักษาแล้วมีแต่ความเร่าร้อน ต้องรักษาไว้ด้วยความพอดี คือมีความเข้าใจตามสายพระโบราณาจารย์ ที่ท่านสั่งสอนไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อฯ ได้รับการอบรมสั่งสอนไว้ตั้งแต่สมัยหลวงปูปาน วัดบางนมโค
ฉะนั้นความรู้ในข้อขอวัตรปฏิบัติเหล่านี้ บางข้ออาจจะแตกต่างจากตำราที่เรียนกันบ้าง ต่อไปถ้าคัดลอกเสร็จ อาจพิมพ์รวมเป็นเล่มเล็กๆ บางๆ สำหรับแจกให้แก่ผู้บวชธุดงค์ของวัดก็เป็นได้ เพื่อให้สามารถเล่าเรียนทัน ในเวลาก่อนบวชอันน้อยนิดแค่นั้น
โทษละเมิดพระวินัย
ตอนที่ ๑ สุวรรณมัจฉา
สำหรับตอนนี้ ...ก็ขอได้โปรดฟัง "โทษที่ละเมิดวินัย" ทว่าตามธรรมดาที่การประพฤติปฏิบัติพระวินัย หรือพระที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา มักจะได้รับการอบรมจากครูบาอาจารย์ที่มีอาการเต็มไปด้วยมิจฉาทิฐิ สั่งสอนกันให้ประพฤติชั่วอยู่เสมอ
โดยที่แนะนำกันว่าอาบัติเล็กน้อย เช่น อาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ก็ดี อาบัติปาจิตตีย์ก็ดี อาบัติทุกกฏ อาบัติทุพภาษิต ก็ดี เป็นอาบัติเล็กน้อย เมื่อต้องแล้วก็แสดงอาบัติได้ หมายความถึงหมดโทษ
แต่ความจริงการแสดงอาบัตินี้ไม่ได้มีประโยชน์สำหรับพระที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่ายังต้องมีอาบัติสำหรับแสดง ก็แสดงว่ายังมีความชั่วอยู่มาก สำหรับคนชั่ว ลองไปถามชาวบ้านเขาดูทีซิ ว่าเขาอยากให้ข้าว ให้น้ำกินไหม การบูชา เขาบูชาความดีกัน เขาไม่ได้บูชาความชั่ว
ที่เขาเห็นว่าเรานุ่งผ้าเหลือง โกนหัว ถือหม้อคอรุ่นบิณฑบาต เขาคิดว่าเราดี เขาถึงได้ให้กิน ทั้งนี้ถ้าเราประพฤติชั่วจะเป็นยังไง ก็ขอนำเรื่องราวที่องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงตรัสไว้ใน พระธรรมบทขุททกนิกาย ความมีอยู่ว่า
เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเสด็จประทับยับยั้งอยู่ที่เมืองสาวัตถี องค์สมเด็จพระมหามุนีทรงปรารถเรื่องของ กปิลมัจฉา ขอโทษ สุวรรณมัจฉา คือปลาทองให้เป็นเหตุ องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์จึงได้นำพระสูตรนิทานนี้มา
คือเรื่องราวที่ปรากฏมาแล้วเฉพาะพระองค์ ท่านกล่าวว่าในการแห่งศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าพระพุทธกัสสป ยังทรงพระชนม์อยู่ สมัยนั้นองค์สมเด็จพระบรมครู แต่ว่าองค์สมเด็จพระบรมครูแก้วดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว
ก็มีมานพสองคนพี่น้อง นี่หมายความว่า พระพุทธกัสสป เป็นศาสนาของท่าน แต่ว่าท่านนิพพานไปแล้ว มีมานพสองคนพี่น้อง ออกบวชในพระพุทธศาสนา ประกาศตนว่าเป็นพระ เวลาที่ออกบวชจริงๆ ออกบวชด้วยศรัทธา มีความเลื่อมใสจริง ๆ อยากจะเป็นพระกับเขา อยากจะประพฤติดี อยากจะประพฤติชอบ แต่เหมือนๆ กับพระของเราเวลานี้
เวลาบวชก็อยากจะประพฤติดี อยากจะประพฤติชอบ แต่ทว่า บางทีบวชเข้ามาแล้ว ไม่ได้มองดูตัวเองเป็นสำคัญ เข้าใจว่าความประพฤติชั่วเป็นการประพฤติดี ยังตินั่น ยังตินี่ ยังติโน่น คนมักติ นี่คนเลว ไม่ใช่คนดี การจะติของอื่น จงอย่าติ ถ้าจะติก็ติตนเอง ตามพระบาลี ที่ว่า อัตตนา โจทยัตตานัง จงกล่าวโทษโจทความผิดของตนเองไว้เสมอ
อารมณ์ที่ต้องการติก็เพราะว่าใจเราเลว เราจึงต้องการติ ความเรื่องนี้มีอยู่ว่า ในบรรดามานพที่ออกบวชสองพี่น้องเป็นพระนี้ สำหรับท่านผู้เป็นพี่มีนามว่า ท่านโสธนะภิกขุ ส่วนท่านผู้น้อง มีนามว่า กปิลภิกขุ พระกปิลนั่นเอง เมื่อภิกษุทั้งสองออกบวชแล้วไม่นานนัก
ท่านมารดาของท่านมีนามว่า นางสาธนี และน้องสาวของท่านซึ่งมีนามว่า นางสาวตาปนา ก็พากันออกบวชเป็นภิกษุณี ในพระพุทธศาสนา เวลาที่จะออกบวชก็ออกบวชด้วยศรัทธา เลื่อมใสจริงๆ เหมือนกัน นี่เป็นอารมณ์แรกที่ออกบวช เขาออกบวชด้วยศรัทธา
ในขณะที่บวชเข้ามาแล้ว บรรดาภิกษุสองพี่น้อง ทั้งสองท่าน ครั้นบวชแล้วอุตส่าห์ปฏิบัติทำวัตร แก่พระอุปัชฌายะ และครูบาอาจารย์ ตามธรรมเนียมของภิกษุเป็นอย่างดียิ่ง ถือว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบทุกอย่าง วันหนึ่งหลังจากที่ได้ทำวัตรปฏิบัติแล้ว
ก็ได้กราบเรียนกับพระอุปัชฌายะว่า ท่านขอรับ ธุระในพระศาสนามีอะไรเป็นที่สำคัญบ้างขอรับ
ท่านอุปัชฌาย์ได้รับฟัง ก็จึงได้ถามว่า นี่คุณ คุณยังไม่รู้หรือ เมื่อคุณยังไม่รู้ ผมก็จะบอกให้ฟัง เป็นถ้อยคำของพระอุปัชฌาย์กล่าวขึ้น
แล้วท่านก็สั่งสอนต่อไปว่า ธุระสำคัญในพระพุทธศาสนา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้มีอยู่สองอย่าง
คือ คันถธุระ 1 ได้แก่ การเล่าเรียนพระพุทธพจน์บทพระบาลี คือ พระธรรมวินัย ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสั่งสอนไว้นี่หนึ่ง หรือว่าขุททกนิกายอย่างหนึ่ง เขาว่าขุททกนิกายหมายความว่าทำงานทุกอย่าง ที่เป็นงานส่วนกลางระหว่างของสงฆ์ต้องทำ อย่างนี้ชื่อว่า เป็นคันถธุระ เป็นกิจที่พระจำจะต้องทำ
และก็ประการที่สองวิปัสสนาธุระ ได้แก่ การพิจารณาสังขาร คือ ขันธ์ 5 ได้แก่ พิจารณาว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นปัจจัยของความทุกข์ และก็รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อย่ายึดถือมัน อย่ายึดถือร่างกายของเราด้วย อย่ายึดถือร่างกายของบุคคลอื่นด้วย อย่ายึดถือสิ่งหนึ่งสิ่งใด ทุกอย่างในโลกนี้ด้วย วางภาระทั้งหมด จัดว่าเป็นสังขารุเบกขาญาณ ทำจิตให้สงบ มุ่งพระนิพพานเป็นอารมณ์ ทั้งนี้ก็เพื่อความหลุดพ้นจากกองกิเลส อันนี้เป็นประการหนึ่ง จัดว่าเป็น วิปัสสนาธุระ
ทั้งนี้กล่าวต่อไปว่า ธุระทั้งสองประการนี้มีความสำคัญมาก เป็นหน้าที่โดยตรงของบรรดาภิกษุ สามเณรที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา จะต้องปฏิบัติอย่างยิ่ง เมื่อท่านทั้งสองได้รับฟังคำของพระอุปัชฌาย์แล้ว
สำหรับท่านผู้เป็นพี่ ก็คิดว่า คือท่านโสธนะภิกขุ จึงได้มีความคิดในใจว่า เรานี่อายุมากแล้ว ควรที่จะบำเพ็ญวิปัสสนา วิปัสสนาธุระดีกว่า แล้วก็อุตส่าห์ปฏิบัติพระอุปัชฌายะ ครูบาอาจารย์จนครบห้าพรรษา ความจริงห้าพรรษา นี่ก็เป็น นิสัยมุตตกะ พ้นจากการที่รับคำสั่งสอนได้แล้ว อยู่เป็นอิสระได้
แต่ทว่าเมื่อบวชครบห้าพรรษาแล้ว ยังไม่ประพฤติดี ไม่ประพฤติชอบ ยังต้องอยู่ในโอวาทอยู่ เขาเรียกว่าเลี้ยงไม่โต บวชถึงห้าพรรษาแต่มีความรู้ไม่ครบ มีความประพฤติไม่ดี อย่างนี้ก็คนเลี้ยงไม่โต ตายแล้วลงอเวจีมหานรกกันแน่นอน เพราะว่าพระลงอเวจีมหานรกเป็นของไม่ยาก พอที่ท่านกล่าวว่าเมื่อครบห้าพรรษาแล้ว
พอที่จะอยู่แต่รูปเดียวได้ หมายความว่า ศึกษาปริยัติ ปฏิบัติ ครบถ้วน อยู่ครบห้าพรรษาแล้วต้องศึกษาดีด้วยนะ ไม่ใช่แค่อยู่ ปัดกวาด พ้นบาทาครูบาอาจารย์อย่างนี้ไม่คิด ใช้ไม่ได้ ต้องครบถ้วนพระธรรมวินัย ทั้งปริยัติ ทั้งปฏิบัติ ต้องมีความรู้ครบถ้วน เมื่อท่านมีความรู้ครบถ้วนพอที่จะเลี้ยงตัวรอด ครบห้าพรรษา
จึงได้รับ จึงได้เรียน เข้าไปเรียนพระกรรมฐานในสำนักของพระอุปัชฌายะ ขออุปัชฌายะสั่งสอนวิธีปฏิบัติสมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ให้ครบถ้วน ถึงขั้นอรหัตผล อย่างในสำนักของเรานี่ ในสำนักของเรานี่ ไม่ต้องถึงห้าพรรษาแล้ว เพียงแค่อาทิตย์เดียวแค่สองอาทิตย์ก็เรียนกันจบ ถึงอรหัตผลแล้ว
ทว่าน่ากลัวจะเรียนมากไปนะ เรียนมากไปพระบางองค์ รู้สึกว่า ไม่มีความรู้สึกตัว มีความเข้าใจว่า ตัวดีและมีมานะอยู่ ยังมีอะไร อะไร อยู่บางอย่าง ก็ขอให้ท่านพิจารณาตัวกันเองนะ ถ้าท่านพิจารณาไม่ไหว สักวันหนึ่งข้างหน้าเวลาสมควร ผมจะเป็นผู้พิจารณาเอง และก็ไม่มีการอุทธรณ์ ฏีกา ใด ๆ ทั้งหมด
อย่าเอาใครเข้ามาอ้างว่า ลูกคนนั้น หลานคนนี้ ทำประโยชน์อะไรไว้บ้าง อันนี้ผมไม่คิดหรอก เรื่องความดีเป็นเรื่องของความดี เรื่องความชั่ว เป็นเรื่องของความชั่ว พระพุทธเจ้าทรงมีพระพุทธบัญญัติ มีจริยาสองอย่าง คือ นิคหะ ปัคคหะ ใครดีพระองค์ก็ทรงยกย่องสรรเสริญ ใครชั่วพระองค์ก็ทรงขับออกจากสถานที่
(นี่วันนี้ถ้ามีเสียงอะไรก้องเข้ามาก็โปรดทราบ ว่าเขามีบวชนาคกัน เขามีกลองยาว มีมโหรี เสียงจะเข้ามาในห้องบันทึกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ เป็นการกันไว้)
เป็นอันว่า เมื่อท่านเข้าไปหาพระอุปัชฌายะ แล้วขอศึกษาจนครบ แล้วก็กราบลาพระครูอุปัชฌายะเข้าไปสู่ป่า ความจริงคำว่าป่า เขาว่าไม่จำเป็นนัก อยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลายครบไปด้วยบารมีสิบประการ ระมัดระวังไว้ทุกลมหายใจเข้าออก เรื่องความเป็นพระอริยะ ผมว่าประเดี๋ยวเดียวก็เจอ
เมื่อเข้าไปสู่อยู่ป่า ก็พยายามบำเพ็ญวิปัสสนาธุระอย่างอุกฤษฏ์ คำว่าอย่างอุกฤษฏ์ คือไม่ละในอารมณ์ของท่าน ไม่ละ ทรงอารมณ์ภาวนา พิจารณาไว้ตลอดเวลา ไม่ยอมให้นิวรณ์ห้าประการเข้ามายุ่งกับจิต แล้วก็กล่าวโทษตำหนิติตัวเองอยู่เสมอ มีสติสัมปชัญญะ ครบถ้วน ว่าอะไรมันผิด อะไรมันถูก จำให้ดีนะ
ฟังแล้วก็จำ อย่าทำตาเป็นตากระทู้ อย่าทำหูเป็นหูกระทะ ไอ้ตากระทู้นะมองอะไรไม่เห็น หูกระทะฟังอะไรไม่ได้ยิน หูคนฟังได้ยินแล้วไม่สนใจ คนแบบนี้ควรจะอยู่ในอเวจีมหานรกเป็นที่อยู่แน่นอน เพราะว่าไม่มีสวรรค์ชั้นไหนเขาต้องการ และวัดนี้ก็ไม่ต้องการ วัดอื่นก็ไม่ต้องการ
ทั้งนี้เมื่อท่านเรียนอย่างอุกฤษฏ์แล้ว ก็ไม่ช้า ไม่มีความอาลัยในชีวิตและร่างกาย จำไว้ให้ดีนะ ท่านไม่มีความอาลัยในชีวิตและร่างกาย ว่าชีวิตและร่างกายนี้มันไม่จีรังยั่งยืน มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันจะตายเมื่อไหร่ก็เชิญ เมื่อมันจะตาย มันจะพัง เมื่อไหร่ นิพพานย่อมเป็นที่ไปของเรา พวกเราจำได้ไหม ฟังกันทุกวัน จำได้ไหม
หรือเคยคิดหรือเปล่า อารมณ์จิตยังตำหนิสิ่งภายนอก ก็แสดงว่าอารมณ์จิตของเราเลว ลืมติตน ถ้ารู้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมดาเสียแล้ว ความอาลัยในชีวิตมันก็ไม่มี เราศึกษาพระธรรมวินัยกัน ปฏิบัติทั้งวิปัสสนาธุระกัน ก็เพื่อความดับไม่มีเชื้อ คือการตัดอาลัยในชีวิตเท่านั้น
อารมณ์ที่จะตัดอาลัยในชีวิตได้ คืออารมณ์รับธรรมดา คือยอมรับนับถือกฎของธรรมดา อย่าไปสนใจเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้มากนัก ไอ้เรื่องที่จะทำให้ถูกใจเราทุกอย่างมันไม่มี ถ้าใจเราเลว ถ้าใจเราดีซะอย่างเดียว ทุกอย่างในโลกมันไม่มีอะไรถูกใจเรา เพราะว่าเราทราบว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา
เป็นอันว่าต่อมาท่านก็ได้บรรลุอรหัตผล คือว่าจบกิจในพรหมจรรย์ ท่านได้บรรลุอรหัตผลภายในไม่ช้า นี่เขาเรียนกันเดี๋ยวเดียว แล้วเขาก็ไปปฏิบัติกัน และเป็นอรหัตผลภายในไม่ช้า เราเรียนกันมากี่วัน พระเรวัตรท่านปฏิบัติเท่าไหร่ พระนางปฏาจาราเถรี ท่านปฏิบัติเท่าไหร่ ท่านมีทุกข์ขนาดไหน ท่านยังมีกำลังใจสามารถทำตนให้เป็นพระอรหันต์ได้
และพวกเราที่เข้ามาอยู่ในสำนักนี้ รับฟังกันแล้วเท่าไหร่ มีความรู้ขนาดไหน ดีบ้างแล้วหรือยัง อัตนาโจทยัตถานัง เตือนตนด้วยตนเองไว้เสมอ ๆ อย่าต้องให้ผมใช้ปากเตือนอีก ถ้าผมต้องเตือนใคร ท่านผู้นั้นก็ทราบว่า ท่านเลวเกินไปสำหรับที่จะอยู่เป็นคน เพราะว่าคำสั่งก็ดี คำสอนก็ดี มีแล้วทุกวัน
เมื่อท่านเป็นอรหันต์ ได้เป็นพระอริยบุคคลสูงสุดในพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวว่า มีทุกคนบูชาเคารพ สรรเสริญท่านมาก แต่ว่าท่านไม่ติดในการบูชา ผมก็ว่าควรแก่การสรรเสริญอย่างยิ่ง พระองค์นี้ผมไม่รู้จักตัวก็ยังกราบท่านอยู่เสมอเป็นปกติ เพราะว่าในฐานะที่เป็นพระอริยสงฆ์อยู่ที่ไหน ผมไม่สนใจ สนใจอย่างเดียว เอาใจของผมไปจับที่ท่าน นึกถึงท่าน ไหว้เมื่อไหร่ก็ถึงท่าน
ไอ้ที่ไหว้...ไม่ได้ไหว้ขันธ์ห้า คือไหว้ความดี ไหว้ปฏิปทาที่ท่านปฏิบัติ ก็รู้สึกว่า การปฏิบัติอุกฤษฏ์ ๆ แบบนี้ ควรจะมารอยเดียวกัน แต่ทั้งนี้ผมไม่ได้พยากรณ์ตัวผมว่า ผมเป็นพระอรหันต์ เป็นแต่เพียงว่า ปฏิบัติคล้ายคลึงกัน ผมก็ชอบแบบนี้
คำว่า "อุกฤษฏ์" คือทรงสติยิ่ง ทรงสัมปชัญญะยิ่ง ใช้ปัญญายิ่ง คลุมศีลยิ่ง ระมัดระวังจริยา ไม่มีจิตกังวล ไม่เกลือกกลั้วกับเดรัจฉานคถา คือว่าไม่ยอมคุยกับใคร ไม่ยอมเข้าห้องใคร ผมบวชในพระพุทธศาสนามาสี่สิบปีเศษ การเข้าห้องไปธุระเฉย ๆ การไปนั่งคุย นอกจากธุระสำคัญแล้วไม่เคยเข้าห้องใครเลย การไม่ให้ท่านเข้าห้องคนอื่น ผมถือว่าเป็นเรื่องปกติ นี้คุยกันต่อไป
สำหรับพระน้องชายที่ชื่อว่า กปิลภิกขุ เมื่อพระอุปัชฌายะอบรม บอกธุระ สองประการในพระพุทธศาสนาแล้ว เธอจึงคิดว่า ตัวเรายังเป็นคนหนุ่ม นี่ความประมาทเกิดขึ้นแล้ว คิดว่าคนหนุ่มมันไม่ตาย ควรที่จะเรียนคันถธุระ คือเล่าเรียนพระพุทธวจนะ คำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ก่อนดีกว่า เรื่องวิปัสสนาต่อไปเมื่อแก่แล้วจึงค่อยทำ
เมื่อคิดถึงตอนนี้ ก็คิดถึงเรื่องนางปฏาจารา ที่เธอราดน้ำลงไป ครั้งหนึ่ง..หยุด ครั้งที่สอง...เลยไปอีกนิดหนึ่ง..หยุด ครั้งที่สาม..เลยไปอีกนิดหยุด เธอพิจารณาน้ำเพียงเท่านี้ได้บรรลุอรหัตผล สำหรับท่านกปิละนี้มีความประมาทมาก คิดว่าเราหนุ่ม ยังไกลต่อความตาย พอแก่ซะก่อนจึงค่อยเรียนวิปัสสนาธุระ
เมื่อคิดดังนี้แล้วจึงได้เรียนคันถธุระ หมายถึงว่าศึกษาพระธรรมวินัย จนจบพระไตรปิฎก ในไม่ช้าก็มีชื่อเสียงปรากฏเลื่องลือ ว่าพระองค์นี้จบพระไตรปิฎก อย่างสมัยนี้ก็เรียนจบเปรียญเก้าประโยคบ้าง เป็นปริญญาอะไร เอ็ม เอ เอ็มแซด อะไรพวกนี้น่ะ พวก เอ็ม เอ็ม นะแซดกันไปหมด เวลานี้มีกันหลายเอ็ม
คำว่าแซดนี่ ผมไม่ได้ตำหนิท่าน หมายความว่าเมื่อก่อนเราไม่เคยมีกัน เวลานี้มีพระจบปริญญาทางพระศาสนาเยอะ ผมก็โมทนา จบเปรียญเก้าประโยคก็เยอะ ผมก็โมทนา ทว่าท่านมีวิริยะ อุตสาหะดี ทว่าการปฏิบัติในเขตพระพุทธศาสนา ถ้าเราขาดปริยัติปฏิบัติ ก็แย่ สำหรับของเรามีทั้งปฏิบัติและปริยัติ ท่านได้ดีแล้วหรือยัง
ในการต่อมาก็มีภิกษุ สามเณรมาสมัครเป็นลูกศิษย์ ลูกหามากมาย มีศิษย์มาก ลาภ สักการะ ก็ย่อมเกิดขึ้นมากเป็นของธรรมดา นี่ทำท่าจะเป็นสัญชัยปริพาชกแล้ว ฟังให้ดีต่อไปนะ เมื่อท่านจะว่า จะกล่าวสิ่งใด ก็ไม่มีใครเขาคัดค้าน ถือว่าท่านเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก
ถามว่าทรงพระไตรปิฎก คือจำพระไตรปิฎกได้ เขาเรียกว่า เสือกระดาษ เขาถือว่าเป็นผู้มีความรู้ ไม่มีใครเขาคัดค้าน ภายในไม่ช้า ท่านกปิลภิกขุ ก็ถูกโลกธรรมเข้าครอบงำ ทำให้กลายเป็นคนผู้เมาในความรู้
โลกธรรมมีอะไรบ้างรู้ไหม คือ
หนึ่ง ลาภเกิดขึ้นมาก ติดใจในลาภ
สอง ยศถาบรรดาศักดิ์ เขายกย่องให้เป็นผู้ใหญ่ ติดในความเป็นใหญ่
สาม คำสรรเสริญเยินยอเกิดขึ้น ติดในคำสรรเสริญ คิดว่าตนเป็นผู้เลิศ
และก็สี่ ความสุขเนื่องจากการสรรเสริญเยินยอลาภสักการะการยกย่องเกิดขึ้น
นี่เป็นโลกธรรมในส่วนที่ได้มาเป็นปัจจัยให้ลืมตัว ท่านก็เลยเมา เพราะใจมันชอบเมาอยู่แล้ว เมาในความรู้ หนักยิ่งขึ้น ท่านมีความสำคัญตนว่าเป็นอติบัณฑิต คือบัณฑิตชั้นยอด ถือว่าใครหนอที่จะมีความรู้ ใครจะวิเศษกว่าฉัน นั้นไม่มีแล้ว ในโลกนี้จะมีอีกไหม ฉันคนเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้มีความรู้ชั้นยอด มีความรู้เลิศ เวลาที่จะพูด จะสั่ง จะสอนบุคคลใด บุคคลหนึ่ง หรือบุคคลทั้งคณะ
อีตอนนี้ลืมแล้วซินะ ระบบเทวทัตเข้ามาแล้ว ก็ชักจะไม่คำนึงถึงบาลี หลักฐาน สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งหมด เรื่องคำสอน พระพุทธเจ้าถือว่าไม่สำคัญ ของฉันนี่แน่ ตีความในพระธรรมวินัยเอาเอง ด้วยปัญญาที่เป็นปุถุชน คือเป็นคนที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส เรื่องพระธรรมวินัย ท่านทั้งหลายต้องระวังขอรับ
ถ้ากำลังจิตของเราเป็นปุถุชน มันตีความหมายไม่ถูก ถึงแม้ว่าจะมีความรู้ด้านปริยัติ ขั้นใดก็ตาม มันยัดไม่เต็มหรอก เพราะปริยัติเป็นด้านของวัตถุ และข้อวัตรปฏิบัติเป็นนามธรรม อันนี้ต้องมีความเข้าใจ หนังสือเล่มเดียวกัน ถ้าจิตเรายังหยาบ อ่านแล้วมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง ถ้าจิตเราละเอียด อ่านแล้วมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง
อันนี้ต้องสนใจให้ดี ท่านใช้ปัญญาที่เป็นปุถุชนของท่าน ท่านบอกว่าก็เป็นธรรมดา เพราะว่า พระพุทธพจน์ บทพระบาลี คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมทรงไว้ซึ่งภาวะอัศจรรย์ และลึกซึ้งหนักหนา ตามพระบาลีท่านกล่าวอย่างนี้ ยากที่ปัญญาของคน ยากที่ปัญญาของคนธรรมดาหรือปุถุชนธรรมดา จะตีความเอาได้ด้วย
ปัญญา ๓
สุตมยปัญญา หมายความว่า ฟังมาแล้ว ใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าถึงนั้นยาก แล้ว
จินตามยปัญญา หมายความว่า เอามาคิดด้วยอารมณ์ที่เกลือกกลั้วไปด้วยกิเลสนี่เข้าใจยาก ใช้ให้ถูกต้องไม่ได้ ดังนั้นเมื่อท่านกปิลภิกขุ ผู้ซึ่งแม้จะเล่าเรียนจบพระไตรปิฎกมาแล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงว่า
มีปัญญาแค่ สุตมยปัญญา คือปัญญาเกิดจากการฟัง ซึ่งเราเรียกว่า สัญญา จินตามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการจำ ซึ่งเรียกกันว่า สัญญา มันไม่ใช่เป็นปัญญา แต่มันเป็นสัญญา ไม่ใช่ปัญญา เท่านั้น
หาได้ขึ้นถึงขั้นภาวนามยปัญญาไม่ เรื่องภาวนามยปัญญา คือการใคร่ครวญภาวนาเป็นเรื่องใหญ่ จำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องปฏิบัติให้ได้ อันเป็นปัญหาที่แท้จริงเด็ดขาด ซึ่งไม่สามารถเข้าใจปัญหาที่แท้จริงเด็ดขาดได้
ก็ได้กล่าว เวลาสอนก็สอนตามชอบใจของตน ตีความหมายอื่น บางคราวก็ตีความในพระธรรมวินัยผิดพลาด เวลานี้แถมหลอกลวงด้วย ในการใดเมื่อท่านตีความหมายพระวินัยผิดพลาด ย่อมจะถูกพระภิกษุสงฆ์ผู้มีความฉลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยนั้น ทักท้วง
ท่านทั้งหลายสำหรับวันนี้ ดูเวลาก็หมดแล้วนะขอรับ สำหรับวันพรุ่งฟังต่อกันใหม่ จะได้ทราบโทษสำหรับการละเมิดพระวินัย แสดงอาบัติตก ผมได้บอกแล้วว่าแสดงแล้วมันตกนรก อย่าแสดงกันต่อไป สำหรับวันนี้ขอยุติกันเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคล สมบูรณ์พูนพล จงมีแก่ทุกท่าน ที่ประพฤติดี ประพฤติชอบ ตามระบอบพระธรรมวินัย
สวัสดี