หัวใจหลักของการปฏิบัติ ๔ ประการ (ต่อ)
ธรรมบรรยาย
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
ถ้าเรามีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรมอยู่ตลอดเวลามันเกิดขึ้นมาไม่ได้ จะเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ จะเป็นความเกียจคร้าน หรือว่าจะเป็นนิมิตก็ดี จะทำให้เราเหม่อไปตามอำนาจของนิมิตก็ดี เหม่อไปตามอำนาจของปีติก็ดี เหม่อไปตามอำนาจของปัสสัทธิก็ดี เหม่อไปตามโอภาสแสงสว่างก็ดี สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถที่จะทำให้เราเหม่อไปตามสิ่งเหล่านั้นได้ เพราะว่าบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมเมื่อเกิดปีติแล้วจะหลงในอำนาจของปีติ ชมปีติแล้วก็อิ่มเอิบไม่ยอมพิจารณา
ถ้าเรามีสติเราก็กำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม พองหนอ ยุบหนอ ปีตินั้นก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ผลักดันให้วิปัสสนาญาณของเราแก่กล้าไว หรือว่าบุคคลผู้เกิดปัสสัทธิ มีความสงบแน่นิ่งแล้วก็อยากจะอาศัยความสงบนั้นอยู่ตลอดเวลา ไม่อยากจะพิจารณาร่างกาย สังขารของตัวเอง เพราะอะไร ? เพราะว่าขาดปัจจุบันธรรม เหม่อลอยไปตามอำนาจของปัสสัทธิ อันนี้เราต้องกำหนดให้ทันปัจจุบันธรรม ดึงมาที่อาการพองอาการยุบ อาการขวาย่าง ซ้ายย่างทันที หรือว่าขณะที่เรานั่งไปๆ มันเกิดโอภาสขึ้นมา เกิดแสงสว่างขึ้นมา เท่าตารถไฟก็ดี เท่าตารถยนต์ก็ดี บางครั้งก็เหมือนกับแสงหิ่งห้อย บางครั้งนั่งไปแล้วเหมือนแสงสว่างมันผุดออกจากหัวใจของเราพุ่งขึ้นไป แตกเป็นสีเหลืองสีแดงสีเขียว
บางครั้งก็มีแสงพุ่งออกจากหูจากหัวแล้วแต่บุคคล บางคนก็มีแสงสว่างนั้นเวลาเดินจงกรมแล้วมันมีแสงสว่างเท่ากับแสงหิ่งห้อย พอกำหนดไป กำหนด “เห็นหนอ” แสงสว่างมันแตกออกมาเป็น ๒ เป็น ๓ กำหนดอีก แตกออก กำหนดอีก แตกออกไป ยิ่งแตกออกไปเรื่อย แตกออกไปจนแสงสว่างนั้นมันสะท้อนเข้ามาหาตา เดินจงกรมไม่ได้ จะก้าวเดินจงกรมก็ไม่เห็นทางเดินจงกรม ต้องเข้าไปเดินจงกรมในห้องแล้วก็เปิดไฟให้สว่าง เมื่อเปิดไฟสว่างแล้วแสงนั้นก็ลดลง มันไม่มากระทบที่ตา จึงสามารถที่จะเดินจงกรมได้ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเหม่อลอยไปตามอำนาจของโอภาส คือหลง ไม่มีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรม
แต่ถ้าเรากำหนดทันปัจจุบันธรรม เห็นหนอ หรือว่าพิจารณาว่ามันเห็นหนอขึ้นมา ไม่ส่งใจไปตามอำนาจของโอภาสที่มันมาปรากฏ ในลักษณะอย่างนี้ก็แสดงว่าเราทันปัจจุบันธรรม เพราะฉะนั้นการที่เรากำหนดให้ทันปัจจุบันธรรมนั้นจึงถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่ให้กิเลสคือราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฎฐิ ตัณหา อวิชชา อุปาทาน มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราได้ แต่ถ้าเราขาดปัจจุบันธรรมเมื่อไหร่การประพฤติปฏิบัติธรรมก็ไร้ผล เรียกว่า กิเลสมันเกิดขึ้นมาแทรกได้ เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสไว้ใน ภัทเทกรัตตสูตร ว่า
อตีตํ นานฺวาคเมยฺย นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ
ยทตีตมฺปหีนนฺตํ อปฺปตฺตญฺจ อนาคตํ
ปจฺจุปฺปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ.
ซึ่งแปลเป็นใจความว่า “บุคคลไม่ควรคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว ไม่ควรพะวงถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง เพราะสิ่งที่เป็นอดีตก็ล่วงมาแล้ว สิ่งที่เป็นอนาคตก็ยังไม่มาถึง บุคคลใดรู้ปัจจุบันธรรมอยู่ บุคคลนั้นจะเป็นผู้รู้แจ้งในที่นั้นๆได้”
อันนี้พระองค์ทรงตรัสไว้เป็นเครื่องยืนยัน เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมเราอยากจะรู้แจ้ง ตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามพระอรหันต์สาวกทั้งหลายทั้งปวง ตามพระอริยะสาวกทั้งหลายทั้งปวง เราต้องทำปัจจุบันธรรมนั้นให้เกิดขึ้นมาในจิตในใจ ในการประพฤติปฏิบัติธรรม เรื่องนี้มีตัวอย่างคือเรื่อง พระอานนท์
ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในสมัยที่พระองค์จะปรินิพพาน พระองค์ทรงมีพระวรกายบอบช้ำในการที่ได้ฉันภัตตาหารคือ สุกรมัทวะของนายจุนทะ เดินทางจากเมืองปาวาแล้วก็ข้ามแม่น้ำกุกุธานที ก็เข้าเขตเมืองกุสินารา เมื่อเข้าเมืองกุสินาราแล้วพระองค์ก็ทรงมีพระวรกายที่บอบช้ำ พระองค์ก็ไปพักที่สาลวโนทยานของมัลลกษัตริย์ ส่งพระอานนท์ให้ไปขออนุญาตพวกมัลลกษัตริย์ เพื่อที่จะจัดเป็นสถานที่ปรินิพพาน
ในขณะที่พระองค์ทรงนอนบรรทมสีหไสยาสน์นั้นแหละ พระอานนท์ก็เศร้าโศกเสียใจ คิดว่าเรานี้ติดตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกับเงาติดตามตัว เราเกาะชายจีวรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ เราก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์ กิเลส คือราคะ โทสะ โมหะ มันยังอยู่ในจิตในใจของเราอยู่ แล้วก็พระตถาคตก็จะจากเราไปในค่ำคืนนี้แล้ว ก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจบ่นพิไรรำพัน เพราะว่าพระโสดาบันนั้นยังมีความเศร้าโศกอยู่ พระตถาคตผู้รู้อัธยาศัยของพระอานนท์ ก็เลยตรัสเรียกให้พระอานนท์เข้าเฝ้า แล้วก็ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ เธออย่าเสียใจเลย ต่อเมื่อตถาคตปรินิพพานไปแล้วอีก ๔ เดือน เธอก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน เธออย่าเสียใจไปเลย” ก็เรียกว่าพยากรณ์พระอานนท์ แล้วพระอานนท์ก็คลายความเศร้าโศกเสียใจแล้วก็บริหาร
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ปรินิพพานในค่ำคืนนั้น แล้วเมื่อพระองค์ทรงปรินิพพานได้ ๓ เดือน ในวันนั้นก็จะเป็นวันที่พระมหากัสสปะผู้มีอาวุโสนั้นจะทำการสังคายนาพระธรรมวินัยเป็นครั้งแรก ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ก็เอาพระอรหันต์ผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ พระอรหันต์ที่ได้วิชชา ๓ ก็ดี อภิญญา ๖ ก็ดี ไม่ได้ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ นี้ไม่ให้เข้าไป คือไม่ให้เข้าไปที่ประชุม เอาแต่พระอรหันต์ที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ ล้วนๆ เข้าไป แต่เหลือไว้อีกที่หนึ่ง ได้พระอรหันต์ที่ได้ปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ นั้น ๔๙๙ เหลืออยู่องค์เดียวรูปเดียว เหลือไว้ให้พระอานนท์ รอพระอานนท์นั้นปฏิบัติธรรมอยู่
พระอานนท์นั้นก็ปฏิบัติธรรมตั้งแต่ปฐมยาม เดินจงกรมนั่งภาวนาสลับกันไป เดินแล้วก็นั่งๆ สลับกันไปก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จนมัชฌิมยามผ่านไปก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน จนถึงปัจฉิมยาม เดินจงกรมนั่งภาวนาไม่ได้หลับไม่ได้นอนก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะอะไร เพราะท่านตั้งใจ จิตใจของท่านแรงกล้าเกินไป จิตใจของท่านกระเพื่อมก็เลยไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ก็คิดว่าคำพยากรณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้จะไม่เป็นจริงแล้วกระมังหนอ ก็พิจารณาไป สงสัยคำพยากรณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคงจะผิดแล้วแหละ เพราะว่ามันจะสว่างแล้วก็เลยอ่อนเนื้ออ่อนใจก็เลยกำหนดจะนอนเอนกายจะนอน
แต่ขณะที่กำหนดเอนกายจะนอนนั้นท่านมีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรม อาจจะกำหนดว่า เอนหนอ ๆๆ ท่านยังไม่นั่ง จะว่าท่านนั่งก็ไม่ใช่ จะว่าท่านนอนก็ไม่ใช่ อยู่ในกึ่งอิริยาบถทั้ง ๔ ท่านก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง ๔ อันนี้เพราะอะไร เพราะว่าท่านมีปัจจุบันธรรมกำหนด เรียกว่า ปล่อยกายแต่ไม่ปล่อยสติ เรียกว่าร่างกายมันอ่อนเพลียแต่ท่านยังมีสติกำหนดอยู่ เมื่อเรามีสติกำหนดทันปัจจุบันธรรมอย่างนี้เราย่อมสามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ถ้ามันมีความพร้อม มีบารมีพร้อม มีบุญวาสนาบารมีสมบูรณ์แล้วก็สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ อันนี้เป็นหัวใจของการปฏิบัติข้อที่ ๒
หัวใจของการปฏิบัติข้อที่ ๓ ไม่อยู่ ไม่อยู่ในที่นี้คือเราไม่อยู่ในวิตกทั้ง ๓ ประการคือ กามวิตก พยาบาทวิตก แล้วก็ วิหิงสาวิตก คือวิตกทั้ง ๓ นี้ถือว่าเป็นอกุศลธรรม ถ้าจิตใจของเราตกอยู่ในฝ่ายอกุศลธรรมแล้ว กุศลธรรมคือศีล คือสมาธิ คือปัญญา ก็ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้ เปรียบเสมือนกับความมืดกับแสงสว่าง ถ้าแสงสว่างปรากฏขึ้นมาความมืดก็หายไป ความมืดปรากฏขึ้นมาแสงสว่างก็หายไป จิตใจของเราก็เหมือนกัน ถ้ากุศลธรรมเกิดขึ้นมาแล้วอกุศลธรรมก็จางหายไป ถ้าอกุศลธรรมเกิดขึ้นมา กุศลธรรมก็ดับไป มันเป็นของคู่กัน เป็นของที่ต้องลบล้างกัน
ถ้าจิตใจของเราตกอยู่ในอำนาจของกามวิตก พยาบาทวิตก แล้วก็วิหิงสาวิตก บุญกุศลคือศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราได้ เพราะฉะนั้นเวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องพยายามกำหนด คือขณะที่ประพฤติปฏิบัติธรรมไปนั้น บางคนผู้เป็นราคะจริต บุคคลนั้นมีจริตไม่เหมือนกัน ถ้าบุคคลผู้มีราคะเป็นเจ้าเรือน เวลาเดินจงกรมไป นั่งภาวนาไป จะคิดถึงราคะคิดถึงรูปที่สวยๆ คิดถึงเสียงที่ไพเราะ คิดถึงกลิ่นที่หอมๆ ชอบใจ คิดถึงสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งที่ตนเองชอบใจ เมื่อคิดไปแล้วก็เกิดอารมณ์ราคะขึ้นมา เดินก็เกิดราคะ นั่งก็เกิดราคะ จะนอนก็เกิดราคะ จะทำกิจอะไร ราคะครอบงำจิตใจอยู่ เพราะว่าตนเองนั้นมีราคะเป็นเจ้าเรือน
ถ้าในลักษณะอย่างนั้นเราก็กำหนดที่ใจของเรา “ราคะหนอๆ” “ราคะหนอๆ” ขณะที่เราจะเดินจงกรมราคะมันเกิดขึ้นมาเราหยุดทันทีเลยเรากำหนด “ราคะหนอๆ” เราภาวนา “พองหนอ ยุบหนอ” มันเกิดขึ้นมาเราก็กำหนด “ราคะหนอๆ” ที่ใจของเราทันที ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่า เราพยายามที่จะไม่อยู่ในอำนาจของราคะ หรือว่าบุคคลผู้เป็นเจ้าของโทสะ เดินจงกรมไปนั่งภาวนาไปก็เกิดคิดถึงแต่อารมณ์ที่เป็นโทสะ คนนั้นก็ทำให้ไม่พอใจ คนนี้ก็ไม่พอใจ เกิดหมั่นไส้บุคคลนั้น เกิดหมั่นไส้บุคคลนี้ คนนั้นก็เดินไม่ดี คนนี้ก็พูดไม่เพราะ คนนี้ก็ไม่ถูกตาเรา เรียกว่าเป็นคนเจ้าโทสะ โมโหโทโสไว เมื่อในลักษณะอย่างนี้ จิตใจเรามันจะเกิดอกุศลมาเราจะทำอย่างไร เราต้องกำหนดจิตของเราเสียก่อน กำหนดว่า “โกรธหนอๆ” “ไม่พอใจหนอๆ” “เคืองหนอๆ” “หมั่นไส้หนอๆ” เรากำหนดที่จิตใจของเรา
ขณะที่เรากำหนดที่จิตใจของเรา กำหนดจิตนี้เราต้องกำหนดอาการของจิตด้วย คือเราต้องกำหนดอาการของจิต ขณะที่เรากำหนดว่า “โกรธหนอๆ” เราต้องเพ่งลงไปที่อาการของจิตด้วย ว่าความโกรธที่มันเกิดขึ้นในจิตในใจของเรามันเพิ่มขึ้นหรือมันลดลงหรือว่าเบาลง แต่ถ้าบุคคลใดมีสมาธิกำหนดว่าโกรธหนอ ตอนจิตใจที่มันกำลังร้อนอยู่มันจะเย็นวาบเข้าไป เหมือนกับขณะที่เราร้อนๆ แล้วเราเดินเข้าไปในห้องแอร์มันเย็นวาบเข้าไป หรือว่าเราดื่มน้ำเย็นมันจะเย็นขึ้นมา ในลักษณะอย่างนี้ มันจะเย็นที่หัวใจของเรา
ถ้าเราตั้งใจกำหนดจริงๆ ความโกรธมันก็สามารถที่จะหายไปได้ เรียกว่าจิตใจของเราจะไม่ตกอยู่ในอำนาจของวิตก คือความโกรธ หรือว่าบุคคลใดที่ชอบหลง ชอบหลงในรูป หลงในเสียง หลงในกลิ่น หลงในรส หลงในลูก หลงในภรรยา หลงในสามี ยึดมั่นถือมั่นอยู่ในสิ่งเหล่านั้น มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ห่วงพ่อบ้าน กลัวพ่อบ้านจะไปกินเหล้า กลัวพ่อบ้านจะไปหาบ้านเล็กบ้านน้อยบ้านใหญ่ พ่อบ้านมาประพฤติปฏิบัติธรรม สามีภรรยาของเราอยู่บ้านจะเป็นยังไงหนอ มีใครไปเล่น มีใครไปด้วย ภรรยาของเราจะไปคบชู้สู่สมไหม เกิดความหลงในสามีภรรยามากเกินกว่าเหตุ เพราะอะไร ? เพราะอุปาทานนั้นเป็นเหตุ หรือว่าห่วงลูกเกินไป ห่วงหลานเกินไป ห่วงทรัพย์สินเงินทองเกินไป ห่วงการค้าการขายมากเกินไป จนไม่มีกะจิตกะใจที่จะเดินจงกรม นั่งภาวนา เราจะทำยังไง เราต้องกำหนดที่ใจของเราเสียก่อน กำหนดว่า “ห่วงหนอๆ” หรือว่า “คิดหนอๆ” “กังวลหนอๆ” จี้ลงไป
ขณะที่จิตมันกังวลเราก็ “กังวลหนอๆ” เราก็พิจารณาความกังวลในจิตในใจของเราด้วย ถ้าเราไม่พิจารณาอาการของความกังวลในใจก็ถือว่าเรานั้นกำหนดยังไม่ถูกต้อง แต่ถ้าเรากำหนดว่า “กังวลหนอ” คิดดูพิจารณาดูความกังวลนั้นเบาลง หรือว่ามันดับฟุบไป ถ้ามันดับลงไปในขณะนั้น ถ้ามันเป็นมรรคญาณก็ถือว่าเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานได้ การบรรลุมรรคผลนิพพานในทางจิตตานุปัสนานี้ก็มีเหมือนกัน ตามที่ได้สอบอารมณ์ที่วัดพิชโสภารามก็มีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นอันนี้แล้วแต่บุคคลบางคน บางคนเดินจงกรมนั่งภาวนา มีแต่ราคะ มีแต่โทสะ มีแต่โมหะเกิดขึ้นมาในจิตในใจอยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรก็เกิดขึ้นมา ไม่สงบกับเขาเสียที แต่พอกำหนดว่า “โกรธหนอๆ” “ราคะหนอๆ” จิตใจมันสงบเป็นสมาธิก็ดี บางคนไม่สงบเลย เดินจงกรมนั่งภาวนาตลอด ๓ เดือน ตลอด ๒ เดือนกว่า เดินจงกรมไม่สงบ แต่พอไปกำหนดตั้งใจกำหนดจิตจริงๆ แล้วมันสงบพรึบลงมาผ่านการประพฤติปฏิบัติธรรมไปเลยก็มี อันนี้เพราะอะไรเพราะว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่สั่งสมบารมีในทางจิตตานุปัสนามามาก
การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเราต้องกำหนด อย่าให้จิตใจของเราตกอยู่ในวิตกทั้ง ๓ ประการ คือกามฉันทะ คือความตรึกในกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แล้วก็อารมณ์ที่ตนเองชอบใจ แล้วก็พยาบาทวิตก คือไม่ให้เรานั้นตรึกไปในการที่จะโกรธ หรือว่าการที่จะเกลียด หรือว่าการที่จะไม่พอใจบุคคลอื่น วิหิงสาวิตกคือ ความตรึกในการที่จะเบียดเบียนบุคคลอื่น เราเบียดเบียนด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ ด้วยความเป็นผู้ใหญ่ หรือด้วยความเป็นผู้มีบุญญาวาสนาบารมีอะไรก็ตาม ถ้าเราไปเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เดือดร้อนก็ถือว่า เบียดเบียนเป็นอกุศลธรรม เพราะฉะนั้นความเบียดเบียนเหล่านี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถือว่าเป็นอกุศลธรรม ให้เราเว้น ให้เราห่าง ให้เราล้าง ให้เราเลิกให้ได้ แล้วก็วิตกทั้ง ๓ ประการนี้ถ้าเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราครั้งใด กุศลธรรมมันก็จะเหือดแห้งไปจากจิตจากใจของเราตราบนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามทำอกุศลธรรมคือ พยาบาทวิตก ทั้ง ๓ ประการนี้ให้หมดไปจากจิตจากใจของเรา เรื่องนี้มีตัวอย่างที่ท่านกล่าวไว้ในธรรมบทขุททกนิกาย
คือมีภิกษุผู้ที่เป็นโอรสของเจ้าวัชชีรูปหนึ่ง คือในสมัยนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรานั้น พระองค์ทรงประทับอยู่ที่เมืองไพสาลี ทรงอาศัยอยู่ที่ป่ามหาวัน เมื่อพระองค์ทรงอาศัยอยู่ที่ป่ามหาวันนั้นแหละมีโอรสของเจ้าวัชชีรูปใดรูปหนึ่งที่สละราชสมบัติที่จะมาถึงตนเองตามลำดับนั้นออกบวช เรียกว่าออกบวชในพุทธศาสนา เรียกว่า สาสเน อุรํ ทตฺวา มอบอกให้แก่พุทธศาสนา มอบใจให้แก่พุทธศาสนา เมื่อมอบหัวใจให้แก่พุทธศาสนาแล้วก็ตั้งใจเดินจงกรม นั่งภาวนา สมาทานธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัดอยู่ในป่ามหาวันนั้นแหละ เดินจงกรมนั่งภาวนา เดินจงกรมก็เดินจงกรมอยู่ที่ทางเดินจงกรมใหญ่ยาวตั้ง ๖๐ ศอก เดินจงกรมกลับไปกลับมาๆ
แต่ในสมัยนั้นเมืองไพสาลีนั้นเป็นเมืองที่กำลังมีกษัตริย์ กำลังจะจัดงานประจำปี กำลังจัดงานเอาบุญ มีเสียงกลองเสียงฆ้อง เสียงพิณ เสียงสังข์ ดังขึ้นมา ทางบ้านทางเมืองเขาก็ประดับประดาด้วยธงชัยด้วยแผ่นผ้า ทำให้เป็นเหมือนกับสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราช เรียกว่ามีความสวยงาม เหมือนกับสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราช ชนเมืองทั้งหลาย พระราชาทั้ง ๗,๗๐๗ พระองค์ ตามด้วยอำมาตย์ เสนาบดี ข้าราชบริพาร ทั้งหลายทั้งปวง ประชาชนชาวบ้านทั้งหลายทั้งปวงก็ออกมาฉลองมหรสพ สนุกสนาน มีเสียงพิณ เสียงกลอง มีเสียงสังข์ เสียงแตรดังขึ้นมา ไปถึงราวป่าที่ภิกษุที่เป็นโอรสของเจ้าวัชชีกำลังเดินจงกรมนั่งภาวนาอยู่
ขณะที่เดินจงกรมไปก็เกิดความวิตก ตรึกถึงอารมณ์ที่ตนเองเคยเป็นกษัตริย์แล้วก็เสพย์อารมณ์เหล่านี้ ก็คิดถึงเสียงกลอง คิดถึงเสียงสังข์ คิดถึงสาวน้อยทั้งหลายทั้งปวง บริวารทั้งหลายทั้งปวงที่เคยแวดล้อมข้างกายของตนเอง แต่ในขณะนี้ตนเองนั้นไม่มีอะไรมีแต่ผ้ากาสาวพัสตร์เก่าๆ ย้อมด้วยน้ำฝาดห่มกาย ไร้ซึ่งผ้าโพก ไร้ซึ่งเครื่องประดับอลังการของกษัตริย์ ก็เลยเกิดความเบื่อหน่าย เกิดความไม่ยินดีในเพศของนักบวชก็เลยไปยืนพิงอยู่กระดานในที่สุดทางเดินจงกรมตั้ง ๖๐ ศอกก็พิจารณาว่า เรานี้เป็นผู้ที่เศร้าหมองเหลือเกิน เป็นผู้ไม่มีอะไรเลย ก็ด้วยความไม่ยินดีในเพศของตนนั้นแหละก็เลยเปล่งอุทานขึ้นมา พูดขึ้นมาว่า เรานี้อยู่ผู้เดียวในป่า เรานี้เป็นคนผู้เดียวที่อยู่ในป่า เหมือนท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า ในราตรีพระจันทร์เต็มดวงเช่นนี้ ใครเล่าที่จะเลวกว่าเรา
เมื่ออุทานออกมานั้นเทวดาผู้ที่อาศัยอยู่ในไพรสณฑ์นั้น ก็ต้องการที่จะยังภิกษุผู้ที่ถือธุดงควัตรเป็นปกติเคร่งครัดในพระธรรมวินัยนั้นให้เกิดความสลดสังเวช ก็เลยกล่าวขึ้นมาว่า ท่านผู้เดียวที่อยู่ในป่า เหมือนท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า ชนทั้งหลายย่อมยินดีต่อท่าน เหมือนกับสัตว์นรกทั้งหลายยินดีต่อชนทั้งหลายผู้ไปสู่สุคติสวรรค์ฉะนั้น ภิ
กษุรูปนั้นก็เกิดได้ยินเสียงเทวดาพูดขึ้นมานั้นก็เกิดความสลดสังเวช ก็คิดว่าเราอาศัยความไม่ยินดีนั้นก็ไม่สามารถที่ประพฤติปฏิบัติธรรมได้ อย่ากระนั้นเลย พรุ่งนี้เช้าเราจะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีกว่า พอตอนรุ่งเช้าขึ้นมาก็ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงทราบอัธยาศัยของภิกษุรูปนั้น จึงตรัสทุกข์ ๕ ประการ ให้ภิกษุรูปนั้นคลายความยินดีในการสร้างบ้านสร้างเรือน สร้างครอบครัว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงประมวลทุกข์ ๕ ประการ คือพระองค์ทรงแสดงธรรมเรื่องทุกข์ ๕ ประการคือ ๑ การบวชนั้นก็ถือว่าเป็นการยาก ความยินดีในการบวชนั้นก็ถือว่าเป็นการยาก การครองเรือนไม่ดีนั้นก็เป็นทุกข์ การอยู่กับบุคคลผู้เสมอกันก็เป็นทุกข์ การที่จะเดินทางไกลก็เป็นทุกข์ คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทุกข์ ว่าการบวชนั้นถือว่าเป็นการยาก เพราะว่าบุคคลผู้ที่มาบวชในธรรมวินัยในพระศาสนานี้ถือว่าเป็นการยาก เพราะว่าการบวชนั้นต้องละครอบครัว
ถ้ามีเมียแล้วก็ต้องลาเมีย มีสามีแล้วก็ต้องลาสามี มีทรัพย์สมบัติแล้วก็ต้องห่วงทรัพย์สมบัติ ต้องสละสามี สละภรรยา สละทรัพย์สมบัติ สละบ้าน สละเรือน สละข้าวของเงินทองที่ตนเองหาสะสมมาได้ สละญาติพี่น้องทั้งหลายทั้งปวงที่เคยกินเคยนอนเคยกินเคยพูด เคยสนทนาปราศรัยกัน ต้องเสียสละหลายสิ่งหลายประการ เพราะฉะนั้นบุคคลที่จะมาบวชนั้นถือว่าเป็นการยาก
แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสว่า การยินดีในการบวชนั้นก็ถือว่าเป็นการยาก เพราะว่าบุคคลผู้จะยินดีในการบวชนั้นถือว่ายาก เพราะนักบวชนั้นต้องพึ่งบุคคลอื่น ไม่มีไร่มีนา ไม่มีการค้าการขาย นักบวชนั้นต้องอาศัยบุคคลอื่นนั้นเป็นสิ่งที่เลี้ยงชีวิต เหมือนกับปรทัตตูปชีวิเปรตนั้นต้องอาศัยบุคคลอื่นนั้นเลี้ยงชีวิต ถ้าญาติโยมเขาศรัทธาเขาก็เอาของมาถวาย เอาของมาใส่บาตร สามารถที่จะเลี้ยงชีพของตนเองไปได้ แต่ถ้าโยมเขาไม่ศรัทธาก็ไม่สามารถที่จะยังชีวิตของตนเองไปได้ แล้วก็นักบวชนั้น อยากร้อนก็ได้เย็น อยากเค็มก็ได้จืด อยากของเอร็ดอร่อยตามใจชอบไม่ได้ เขามาถวายอย่างไร เราก็ได้ทานอย่างนั้น
ความยินดีในนักบวชนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ยินดีได้ยาก ประการที่สาม พระองค์ทรงตรัสว่า การครองเรือนนั้นเป็นทุกข์ เรือนที่ครองไม่ดีนั้นเป็นทุกข์ เพราะว่าบุคคลผู้ครองเรือนนั้นถือว่าเป็นการที่จะประคับประคองให้สมบูรณ์ได้ยาก เพราะว่าบุคคลผู้มีกิเลสอยู่ด้วยกัน สามีก็มีกิเลส ภรรยาก็มีกิเลส ลูกเกิดมาก็ยังมีกิเลสอีก หลานเกิดมาก็ยังมีกิเลสอีก คนมีกิเลสอยู่ด้วยกันจะทำให้สมบูรณ์ทุกสิ่งทุกประการนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
บางครั้งสามีก็อาจจะเป็นคนขี้โกรธ บางครั้งภรรยาก็อาจจะเป็นคนขี้เล่นไพ่ หรือว่าสามีอาจจะเป็นคนกินเหล้าเมายาคบชู้สู่สม ภรรยาเป็นคนไม่ดี ในเมื่อมันเกิดขึ้นมาอย่างนี้มันจึงสมบูรณ์ได้ยาก การครองเรือนมันก็เป็นทุกข์ บางครั้งพ่อแม่ดี สามีดี แต่ลูกไม่ดี ไปกินเหล้าเมายา ไปเที่ยวเตร่เฮฮา ไม่ไปโรงเรียน หนีโรงเรียน โดดโรงเรียน เรียนหนังสือมาก็ไม่สามารถที่จะสอบบรรจุเป็นครู เป็นตำรวจ เป็นข้าราชการได้ ก็มาเป็นภาระของพ่อของแม่อีกก็เป็นทุกข์อีก เพราะฉะนั้นการครองเรือนนั้นเป็นสิ่งที่ลำบาก เป็นสิ่งที่ทำให้เต็มได้ยาก
ท่านกล่าวไว้ว่า เปรียบเสมือนกับเราตักน้ำใส่ถัง ใส่กระป๋องที่ก้นมันทะลุ เราตักยังไงมันก็ไม่เต็ม เพราะอะไร ? เพราะว่ามันมีรูรั่ว ถ้ามันมีรูรั่วหลายรูจะตักยังไงมันก็ไม่เต็ม เพราะฉะนั้นบุคคลจะตักน้ำใส่ถังรั่ว ตักยังไงมันก็ตักไม่เต็ม บุคคลผู้มีกิเลส เราจะทำดียังไงมันยังผิดพลาดมันเต็มได้ยาก เพราะฉะนั้นการครองเรือนมันเปรียบเสมือนกับว่าครองเรือนไม่ดีมันเป็นทุกข์ เปรียบเสมือนกับเราตักน้ำใส่ถังรั่ว เปรียบเสมือนกับเราทิ้งของลงเหว ทิ้งอย่างไรมันก็ไม่เต็ม เปรียบเหมือนกับทะเลมันไม่รู้จักเต็ม น้ำไหลไป น้ำปิง น้ำวัง น้ำยม น้ำน่าน น้ำแม่น้ำโขง น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำมูล แม่น้ำชี ไหลไปสู่ทะเล ทำยังไงก็ไม่เต็ม มันไม่อิ่มด้วยน้ำ
บุคคลผู้ที่จะครองเรือนให้สมบูรณ์นั้นก็เหมือนกับทะเลนั้นแหละไม่รู้จักเต็ม ทำได้ยาก เพราะฉะนั้นการครองเรือนนั้นก็เป็นทุกข์ ภิกษุรูปนั้นก็ฟังไปๆๆ เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงมาถึงข้อที่ ๔ ว่า การอยู่กับบุคคลผู้เสมอกันมันก็เป็นทุกข์ จะเป็นฆราวาสเสมอกันมันก็เป็นทุกข์ เป็นบรรพชิตเสมอกันก็เป็นทุกข์ เพราะว่าฆราวาสเสมอกันโดยโคตรโดยตระกูล โดยทรัพย์สินเงินทอง โดยยศถาบรรดาศักดิ์ หรือว่าบรรพชิตเสมอกันโดยศีลก็ดี โดยสมาธิก็ดี โดยคุณธรรมก็ดี ได้เป็นพระโสดาเหมือนกัน พระสกทาคามีเหมือนกัน พระอนาคามีเหมือนกัน หรือว่าเป็นพระปาติโมกข์เหมือนกัน เมื่อมีความเสมอกันอย่างนี้ มีพรรษาเสมอกันอย่างนี้ มันก็เกิดมานะทิฏฐิวัดกัน ว่าท่านเป็นใคร ผมเป็นใคร และคุณเป็นใคร แล้วก็ฉันเป็นใคร เกิดมานะทิฏฐิข่มกันขึ้นมา เพราะอะไรเพราะว่ากิเลสมันมีอยู่ในหัวจิตหัวใจ ท่านเป็นใคร เป็นศิษย์ของใคร ผมเป็นศิษย์ของใคร ท่านมีความรู้อย่างไร ผมมีความรู้อย่างไร ท่านมาจากไหน เรียกว่ามีความมานะทิฏฐิพองตัวขึ้น เหมือนอึ่งอ่างมันพองขึ้นมาใส่กัน เพราะอะไร ? เพราะว่าความอยู่ด้วยกันเสมอกันนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่าเป็นทุกข์
แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงเรื่องการที่บุคคลเดินทางไกลนั้นเป็นทุกข์ เดินทางไกลในที่นี้คือ เดินทางในวัฏสงสาร ต้องเกิด ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายอยู่เนืองๆ นี้มันเป็นทุกข์ ถ้าบุคคลใดเกิดบ่อยๆ มันก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นทุกข์แล้วนี่บุคคลเกิดครั้งใด ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายทั้งนั้น ต้องได้ประสบกับความโกรธ ความโลภ ความหลง ต้องประสบกับอารมณ์นานัปการจึงเป็นทุกข์ บุคคลผู้เดินทางไกล คือเกิดบ่อยๆ นี้เป็นทุกข์ พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์ทรงตรัสพระธรรมเทศนา แสดงไปๆ ภิกษุรูปนั้นก็ส่งจิตส่งใจไปตามพระสัทธรรมเทศนา ภิกษุก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ทำลายสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการ คือ สักยาทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลลัพพัตตปรมาส, กามราคะ, ปฏิฆะ, สังโยชน์เบื้องต่ำ ให้สิ้นไปในขันธสันดาน แล้วก็ทำสังโยชน์เบื้องสูง คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา หมดสิ้นไปจากจิตใจของตนเอง ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตรงหน้าพระพักตร์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้ถือว่าจิตใจ ถ้าเราพ้นจากวิตกเมื่อใด เราก็สามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานได้
ประการที่ ๔ คือเราไม่ไป ไม่ไปในที่นี้คือไม่ไปสู่อำนาจของกามตัณหา ทั้ง ๓ ประการ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา กามตัณหาก็คือ ความทะเยอทะยานอยากในกามคุณ กามคุณ ๕ คืออะไร คือความยินดีในรูป ความยินดีในเสียง ความยินดีในกลิ่น ความยินดีในรส ความยินดีในสัมผัสนี้ถือว่าเป็นกามคุณ คนทั้งหลายทั้งปวงนั้นตกอยู่ในอำนาจของกามคุณ ๕ ประการนี้ จะเป็นเด็กก็ดี จะเป็นวัยกลางคนก็ดี จะเป็นผู้ใหญ่ก็ดี จะเป็นคนไทยคนลาวคนเขมรคนญวน หรือว่าคนเอเชียคนยุโรปก็ตาม ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ๕ ประการนี้แหละ กามคุณทั้ง ๕ ประการนี้แหละ หลงอยู่ในรูป หลงอยู่ในเสียงนี้แหละ ที่ตายไปเกิดในเทวโลก ที่ตายไปเกิดในพรหมโลก ก็หลงอยู่ในนี้แหละ หลงอยู่ในรูปนี้แหละ หลงอยู่ในเสียง หลงอยู่ในกลิ่น หลงอยู่ในรสนี้แหละ หลงอยู่ในการสัมผัสธรรมารมณ์ที่ตนเองชอบใจนี้แหละ เพราะฉะนั้นกามคุณนี้ท่านจึงเปรียบเสมือนกับวังวนที่ดูดสรรพสัตว์ทั้งหลายให้จมอยู่ในวังวนแล้วก็เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในมหรรณพ ภพสงสารตลอดไป
การที่เรามาประพฤติปฏิบัติ เรายินดีในรูปเราต้องกำหนด มันจะยินดีในทางตา เรากำหนดว่า “เห็นหนอๆ” ไม่ให้ความยินดีทางตามันปรากฏขึ้นมา หรือว่ากำหนดว่า ได้ยินหนอๆ ไม่ให้ความยินดีในเสียงมันปรากฏขึ้นมา คือไม่ให้เสียงนั้นปรากฏเข้าไปสู่จิตสู่ใจ ความยินดี หรือขณะเรามกลิ่นก็ดี ลิ้มรสก็ดี สัมผัสก็ดี เราก็ต้องกำหนดว่า กลิ่นหนอ รสหนอ สัมผัสหนอ เย็นหนอ ร้อนหนอ แข็งหนอ เราต้องกำหนด ถ้าเราไม่กำหนด ความยินดีมันเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เรียกว่าตัณหามันเกิดขึ้นมาแล้ว เรียกว่าการประพฤติปฏิบัตินั้นถือละเอียด หรือว่าภวตัณหาคือความทะเยอทะยานอยากในภพ ความทะเยอทะยานอยากในความมีในความเป็น หรือว่าความทะเยอทะยานอยากในภพนี้เรียกว่า ภวตัณหา คือบุคคลนั้นไม่พอใจในสภาพที่ตนเองอยู่ ตนเองไม่สวยก็อยากสวย ก็ไปเสริมไปแต่งขึ้นมา หรือว่าตนเองไม่รวยก็ไปแสวงหาในทางกอบโกยโกงกินบุคคลอื่นเขามาก็ถือว่าเป็นตัณหา เรียกว่าหามาในทางที่ไม่ชอบมาพากล
หรือว่าบุคคลไม่มีปัญญาก็ไปจ้างเขาไปซื้อปริญญาปลอม ไปซื้อวุฒิบัตรปลอมมา เพื่อที่จะให้เขารู้ว่าตนเองมีปัญญาอันนี้ถือว่าเป็นภวตัณหา เรียกว่าความทะเยอทะยานอยากในความมีในความเป็น ตนเองไม่สวยก็ไปตบแต่ง ตนเองจมูกไม่โด่งก็ไปเสริมให้โด่ง ตนเองไม่มีลักยิ้มก็ไปเสริมให้มีลักยิ้ม ตนเองหน้าตามันเหี่ยวมันย่นก็ไปดึงไปตึงอะไรทำนองนี้ก็ถือว่าเป็นตัณหาเหมือนกัน เป็นภวตัณหาความทะเยอทะยานอยากในความมีในความเป็น หรือว่าตนเองเป็นชาวบ้านก็อยากเป็นผู้ใหญ่บ้าน อยากเป็นผู้ใหญ่บ้านแล้วก็คิดว่าผู้ใหญ่บ้านนั้นก็ไม่เท่ากำนัน ก็อยากเป็นกำนัน เป็นกำนันแล้วก็คิดว่า กำนันไม่เท่ากับ อบต. ก็อยากเป็น อบต. เป็น อบต. แล้วก็อยากเป็น อบจ. เป็น สจ. เป็น ส.ส. หรือว่าอยากเป็นรัฐมนตรี หรือว่าเป็นนายกรัฐมนตรี หรือว่า อยากขึ้นไปๆๆ ไม่รู้จักสิ้นสุด รวยก็ไม่พอ รวยเงินเป็นหมื่นล้านแสนล้านก็ยังอยากรวยขึ้นไปอีก เพราะอะไร ? เพราะว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหานั้นไม่มี
ตัณหาคือความอยากในจิตในใจของคนมีมาก แม่น้ำโขงก็ดีมันยังมีเวลาเต็มเวลาพร่อง แม่น้ำมูลมันก็ยังมีเวลาเต็มเวลาพร่อง แม่น้ำชีมันยังมีเวลาเต็มเวลาพร่อง แม่น้ำเจ้าพระยายังมีขึ้นมีลง แม่น้ำบางปะกงก็ยังมีขึ้นมีลง มีฤดูที่แห้ง มีฤดูที่เต็ม มีฤดูที่พร่องเป็นไปตามฤดูกาลของมัน ฤดูฝนมันก็เต็ม ฤดูแล้งมันก็แห้งเป็นธรรมดาแต่ตัณหาในจิตในใจของคนมันเต็มอยู่ตลอดเวลา กลางคืนมันก็เต็มกลางวันมันก็เต็มทั้งกลางวันกลางคืน เพราะอะไร ? เพราะว่าตัณหามันกินจิตใจของสรรพสัตว์นั้นเปียกชุ่มด้วยตัณหาอยู่ตลอดเวลาไม่รู้จักเหือดแห้งไป