22 ธันวาคม 2567 20:19:41
ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
หน้าแรก
เวบบอร์ด
ช่วยเหลือ
ห้องเกม
ปฏิทิน
Tags
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
ห้องสนทนา
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!
[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
สุขใจในธรรม
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
.:::
ภาวนาภิรัตธรรม - โอวาทปาฏิโมกข์
:::.
หน้า: [
1
]
ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน
หัวข้อ: ภาวนาภิรัตธรรม - โอวาทปาฏิโมกข์ (อ่าน 1304 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 1117
[• บำรุงรักษา •]
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 88.0.4324.190
ภาวนาภิรัตธรรม - โอวาทปาฏิโมกข์
«
เมื่อ:
24 มีนาคม 2564 16:17:12 »
Tweet
โอวาทปาฏิโมกข์
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง แม้ปรินิพพานไปนานแล้ว พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ด้วยเศียรเกล้า ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผลจงบังเกิดมีแก่ญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่านทุกคน ณ โอกาสบัดนี้
วันนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสอันดี ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้นั่งสมาธิฟัง เพราะว่าการนั่งสมาธิฟังนั้นถือว่าเป็นการเคารพในการฟังธรรม เรียกว่าเคารพในพระธรรม เป็นการฟังด้วยปัญญา เป็นการฟังด้วยสติ เป็นการฟังด้วยสมาธิ เป็นการฟังเพื่อผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไพศาลคือการได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นท่านจึงกล่าวว่าให้เรานั้นนั่งสมาธิฟัง
ตั้งแต่สมัยก่อนโน้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่วัดพิชโสภาราม พระราชปริยัตยากร ท่านเกิดความสงสัยว่า ครั้งพุทธกาลฟังธรรมอย่างไรหนอ คนจึงได้สมาธิ สมาบัติ ฟังธรรมอย่างไรหนอ คนจึงได้บรรลุมรรคผลนิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งหนึ่งๆ คนได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นจำนวนมาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรก โกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม พระองค์ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตนสูตรลงไป พระสงฆ์องค์แรกก็ได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นพระโสดาบัน เป็นอริยบุคคล เป็นพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ปัญจวัคคีย์ที่เหลือนั้น ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน
แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงธรรมโปรด ยสะกุลบุตร พร้อมด้วยภรรยา พร้อมด้วยบิดามารดาของพระยสะกุลบุตร พร้อมด้วยบริวารอีก ๕๐ คน รวมกันเป็น ๕๕ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดาน พระองค์แสดงธรรมครั้งเดียวทำไมได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ฟังธรรมอย่างไรจึงได้บรรลุมรรคผลนิพพาน
พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่พวกภัททวัคคีย์ทั้ง ๓๐ ที่ตามหาหญิงแพศยาที่ไร่ฝ้าย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนเธอทั้งหลายจะแสวงหานางหญิงแพศยา หรือว่าพวกเธอจะแสวงหาตน” นี้พระพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสอย่างนั้น พวกกุมารทั้งหลายจึงตอบว่า “ข้าพระองค์ทั้งหลายจะแสวงหาตน” พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมให้ฟัง ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อย่างต่ำ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน อย่างสูงก็ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี อันนี้พระองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟังเพียงครั้งเดียวแต่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานมากมาย ครั้งพุทธกาลนั้นเขาฟังธรรมกันอย่างไร หรือในสมัยที่เราได้ศึกษาเรื่องพระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวารตั้ง ๑๒ หมื่น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงไปแสดงอนุปุพพิกถา พรรณนาเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องสวรรค์ โทษของกามคุณ แล้วก็เรื่องอานิสงส์ของการออกบวช ทำให้บริวารของพระเจ้าพิมพิสารนั้นได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ได้ดวงตาเห็นธรรมตั้ง ๑๑ หมื่น อีกหนึ่งหมื่นนั้นเป็นกัลยาณชน เลื่อมใสในพระพุทธ เลื่อมใสในพระธรรม เลื่อมใสในพระสงฆ์ เขาฟังธรรมกันอย่างไร
ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้เข้าใจในการฟังธรรม การฟังธรรมนั้นก็คือเรานั่งสมาธิฟัง ฟังธรรมให้จดกระดูก ฟังธรรมให้เข้าไปในจิตในใจของเรา ให้จิตให้ใจของเรานั้นแน่นิ่งอยู่กับเสียงฟังธรรมะ “ได้ยินหนอๆ” หรือว่า “เสียงหนอๆ” ข้างใดข้างหนึ่งที่ชัดเจนก็จะทำให้จิตใจของเรามีสมาธิในการฟังธรรม มีใจตั้งมั่นในการฟังธรรม มีใจจดจ่อต่อการฟังธรรม มีปัญญาในการฟังธรรม แล้วก็จะเกิดผลใหญ่อานิสงส์ใหญ่ในการฟังธรรม เพราะฉะนั้นการฟังธรรมนั้นฟังด้วยดีก็จะเกิดปัญญา สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ คือเกิดทั้งปัญญาที่เป็นโลกียะ เกิดทั้งปัญญาที่เป็นโลกุตตระ
ปัญญาโลกียะ ก็คือปัญญาอยู่กับโลก ปัญญาโลกุตตระ ก็คือปัญญาเหนือโลก คือถ้าผู้ใดเกิดโลกุตรปัญญาแล้วจะอยู่เหนือโลก โลกคืออะไร โลกคืออารมณ์ โลกคือรูป โลกคือเสียง โลกคือกลิ่น โลกคือรส โลกคือสัมผัส โลกคือธรรมารมณ์ต่างๆ ผู้ใดหลงโลกผู้นั้นชื่อว่าหลงอารมณ์ ผู้ใดหลงอารมณ์ผู้นั้นก็ชื่อว่าหลงโลก อันนี้ท่านกล่าวอย่างนั้น เพราะฉะนั้นการที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านให้เราตั้งใจฟัง ก็จะเกิดศีล เกิดสมาธิ เกิดปัญญา เกิดวิปัสสนาญาณ เกิดมรรค เกิดผลขึ้นมาตามลำดับ
วันนี้อาตมภาพก็จะขอน้อมนำเอาธรรมะพื้นๆ มากล่าวให้ญาติโยมฟังตามสมควรแก่เหตุปัจจัย ธรรมะที่จะมากล่าวในนี้ก็คือโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ ที่เวฬุวัน คือวัดแห่งแรกของโลก คือวัดแห่งแรกของพระพุทธศาสนาก็คือวัดเวฬุวันที่พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายแก่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์ เพื่อที่จะให้ภิกษุทั้งหลายนั้นตั้งอยู่ในธรรมะ ตั้งอยู่ในศีล ตั้งอยู่ในกรอบแห่งพระวินัยต่างๆ หลังจากที่พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ แล้วพระองค์ก็ทรงแสดงหัวใจของพระปาติโมกข์ หัวใจของพระปาติโมกข์นั้นท่านกล่าวว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตของตนให้ขาวรอบ อันนี้เรียกว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นหัวใจของพระธรรมวินัย เป็นหัวใจของพระปาติโมกข์ เป็นหัวใจของภิกษุผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนา
ที่พระองค์ทรงตรัสว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวงหมายถึงอย่างไร คำว่าบาปนั้นท่านแปลว่าลามก ถ้าผู้ใดทำบาปผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าลามก บาปนั้นแปลว่ายังบุคคลให้ตกไปในสถานที่เดือดร้อน คือถ้าผู้ใดทำบาปแล้ว บุคคลนั้นจะตกไปในสถานที่เดือดร้อน บาปทางกาย ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนทั้งหลายทั้งปวงติฉินนินทาเรา ทำให้เรานั้นต้องถูกปรับไหมใส่โทษจองจำพันธนาการติดคุกติดตะรางต่างๆ อันนี้เพราะอะไร เพราะเราไปลักเล็กขโมยน้อย ไปปล้น ไปจี้ ไปตีรันฟันแทง นี้เราก็จะถูกปรับไหมใส่โทษ จองจำพันธนาการ บางครั้งก็ถูกประหารชีวิตไปก็มี
หรือว่าบางครั้งบางคราวเราอาจจะทำบาปทางวาจา อาจจะไปด่าคนโน้น อาจจะไปพูดส่อเสียดอย่างนี้ อาจไปยุให้บุคคลโน้นแตกร้าวสามัคคีกัน เอาความข้างโน้นมาบอกทางนี้ เอาความข้างนี้ไปบอกทางโน้น ก็ทำให้คนทั้งหลายทั้งปวงแตกร้าวสามัคคีกัน ทำให้บ้านเมืองเดือดร้อน แบ่งพรรคแบ่งพวกเป็นสีเหลืองสีแดงสีเขียวอะไรต่างๆ อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะวาจาเป็นเหตุ พูดดีเป็นศรีแก่ปาก พูดมากก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน โบราณจึงได้กล่าวว่า พูดน้อยเสียน้อย ไม่พูดไม่เสีย นิ่งเสียโพธิสัตโต หรือว่านิ่งเสียตำลึงทอง อันนี้ท่านกล่าวไว้เป็นกลอนสอนให้บุคคลผู้ชอบพูดมาก ให้รู้จักสงบ ให้รู้จักระงับ การพูดบางครั้งก็ไร้ค่า การนิ่งบางครั้งก็เป็นเงินเป็นทอง เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าการพูด อันนี้โบราณท่านสอนบุคคลผู้ชอบพูดให้กล่าวอย่างนั้น
บางครั้งบางคราวเราอาจจะไม่ทำบาปทางกาย บางครั้งบางคราวเราไม่ทำบาปทางวาจา แต่เรานั้นทำบาปทางใจ เช่นเราอาจจะคิดไม่ดี อิจฉา ริษยา คิดเบียดเบียนบุคคลอื่น คิดข่มเหงบุคคลอื่นในใจ คิดไม่พอใจบุคคลอื่น อันนี้เราคิดเป็นประจำ บางคนบางท่านผู้ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนา ก็คิดว่าการทำบาปนั้นเราต้องทำบาปทางกาย บาปทางวาจา ใจคิดผิดไม่เป็นไร ใจคิดอิจฉาริษยาคิดเบียดเบียนดูหมิ่นเหยียดหยามไม่เป็นบาป บางคนบางท่านอาจจะคิดอย่างนั้น แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า เจตนาหํ ภิกฺขเว กมฺมํ วทามิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเรากล่าวว่าเจตนาเป็นตัวกรรม คือการคิดนี้แหละเป็นเหตุ มีผลร้ายแรงกว่าการกระทำในจิตวิญญาณ ในทางพุทธศาสนา เพราะอะไร เพราะใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ใจเป็นนายกายเป็นแหล่ง ใจเป็นผู้แต่งกายเป็นผู้กระทำ กายก็ดี วาจาก็ดี ก็ล้วนมาจากจิตจากใจ เพราะฉะนั้นความผิดแห่งใจจึงเป็นความผิดที่ยิ่งใหญ่กว่าความผิดทั้งหลายทั้งปวง
แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทของภิกษุ เรื่องปาราชิก ๔ ข้อ ปาราชิก ๔ ข้อนั้นเป็นสจิตตกะ เป็นสิ่งที่เนื่องด้วยกับจิตถ้าไม่มีเจตนา ไม่เป็นอาบัติ ในอาบัติทั้ง ๔ ข้อนั้น เพราะฉะนั้นภิกษุจึงเน้นไปที่ความคิด เน้นไปที่ความดำริ ถ้าไม่มีเจตนาที่จะถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ คือไม่มีเจตนาที่จะลักก็ไม่เป็นบาป แต่ถ้าผู้ใดมีเจตนาที่จะลักมันก็เป็นบาป เรียกว่าขาดจากความเป็นภิกษุเพราะมีเจตนาที่ไม่ดี เจตนาที่เป็นบาป เจตนาที่ลามก เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือต้องเว้นจากบาปทั้งหลายทั้งปวง
บาปทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นสภาพที่เราควรเว้น บาปนั้นท่านยังกล่าวว่ายังบุคคลผู้กระทำนั้นให้ตกไปสู่อบายภูมิ คือคนทั้งหลายทั้งปวง กระทำความประมาทแล้วก็กระทำบาปทางกาย วาจา ใจ ตายไปแล้วก็ไปเกิดในอบายภูมิ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน คืออบายภูมินั้นเป็นที่อยู่ เป็นเรือนนอน เป็นเรือนพัก เป็นเรือนผ่อนของบุคคลผู้ประมาท บุคคลผู้ตายไปเกิดในอบายภูมินั้นล้วนแต่ไปเกิดด้วยอำนาจของบาปธรรมทั้งหลายทั้งปวง
เพราะฉะนั้นการที่บุคคลมาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านจึงกล่าวว่าควรที่จะเว้นจากบาป สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง หมายความว่า การไม่ทำบาปทั้งทางกาย เราไม่ทำบาปทั้งทางวาจา เราไม่ทำบาปทั้งทางใจ ทำไมเราจึงต้องมารักษาศีล ประพฤติปฏิบัติธรรม ก็เพราะเรานั้นเว้นจากบาปทางกายแล้ว ถ้าเราไม่สมาทานศีล บางครั้งเราอาจจะพูดโกหกพกลม หรือเราอาจจะไปทำการค้าการขาย หรือว่าเราอาจจะไปทานข้าวเย็น หรือเราอาจจะดูหนังดูละคร ก็ทำให้เกิดบาปทางตา ทางหูนั้นมาก เพราะฉะนั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า ไม่ให้เราดูสิ่งที่เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์
สิ่งที่เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์คืออะไร ก็คือ เราดูละคร โขน หนัง แล้วเกิดความหลง เกิดความดีใจ เกิดความเสียใจ อันนี้ก็เป็นข้าศึกต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าผู้ใดดูละครแล้วเกิดความโกรธ ดูละครแล้วเกิดความหลง ก็จะทำให้จิตใจของบุคคลนั้นขึ้นๆ ลงๆ เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้ผล ดูไปด้วยเกิดอกุศลจิตไปด้วย เกิดอิจฉาตัวโกง เกิดดูหมิ่นตัวโกง เกิดยินดีในตัวพระตัวนาง ในลักษณะอย่างนี้ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ข้าศึกต่อการประพฤติปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นท่านจึงให้เรานั้นรักษาศีล ๘ เว้นจากการฉันอาหารในเวลาวิกาล เว้นจากการฟ้อน การรำ การประโคม การดนตรี การทัดทรงสวมใส่ การประดับตกแต่งตน การลูบไล้ของหอมต่างๆ การดู การเล่น ที่เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ต่างๆ นี้เราเว้นการนอนบนที่นอนสูง บนที่นอนใหญ่ก็เว้น เพราะอะไร เพราะจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดบาปได้ง่าย สิ่งใดที่เกิดบาปได้ง่ายพระองค์ทรงให้เว้น ไม่ให้ภิกษุทั้งหลายนั้นประพฤติปฏิบัติ เพราะฉะนั้นพระองค์จึงบัญญัติสิกขาบทนี้ขึ้นมา ก็เพื่อที่จะให้เราเว้นจากบาปทางกายเป็นเบื้องต้น
ถ้าเราเว้นจากสิ่งเหล่านี้แล้วก็ถือว่ากายของเรามันบริสุทธิ์แล้ว เมื่อกายของเราบริสุทธิ์แล้ว ความวิปปฏิสารทางใจของเราก็จะเริ่มเบาลง แต่ถ้าเรายังไม่มีศีลอยู่ มันจะเกิดความฟุ้งซ่าน เกิดความรำคาญต่างๆ มากมาย เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมท่านจึงให้เรานั้นเว้นจากบาปอย่างต่ำเสียก่อน คือสมาทานศีลเป็นเบื้องต้น แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงให้เราเว้นจากบาปอย่างกลาง
เว้นจากบาปอย่างกลางก็คือการเจริญสมาธิ เมื่อเราเจริญสมถภาวนาจนจิตเป็นสมาธิแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้นิวรณ์ธรรมคือ กามฉันทะ คือความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์นี้ ท่านกล่าวว่าเป็นกามคุณ เบญจกามคุณในทางพระพุทธศาสนา กามแปลว่าสิ่งที่น่าใคร่ กามเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา กามเป็นสิ่งที่ขวนขวาย น่าเอา น่าดู น่าชม น่ามอง ก็เรียกกามด้วยกัน เพราะฉะนั้นคนทั้งหลายทั้งปวงก็หลงอยู่กับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส กับสัมผัส เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า กามฉันทะคือพอใจกับสิ่งเหล่านี้ เรียกว่าพอใจกับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรส เพราะฉะนั้นจิตของคนจึงไม่สามารถเข้าสู่อารมณ์ของสมาธิได้ เรียกว่าจิตไม่ตั้งอยู่ในปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน
เมื่อจิตของเราไม่เข้าสู่อารมณ์ของปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌานแล้ว ความอัศจรรย์ในพุทธศาสนาก็เกิดขึ้นได้ยาก เพราะความอัศจรรย์ในพระพุทธศาสนาต้องมีมิติคือ ฌาน เสียก่อน ฌานนั้นเป็นเครื่องทำให้เกิดความอัศจรรย์ นอกเหนือจากการบรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าเราได้ฌานแล้ว ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราได้รู้ในสิ่งที่ควรรู้มากมาย เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็นเครื่องทำลายบาปอย่างกลาง คือกามฉันทะจะสงบลงได้ก็เพราะจิตเข้าสู่อารมณ์ของฌาน เมื่อจิตเข้าสู่อารมณ์ของฌานแล้วก็ระงับดับไป เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ไม่มีความยินดียินร้าย เพราะอะไร เพราะจิตใจของเรามีอารมณ์เดียว คือ เอกัคคตา มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ไม่วอกแวก ไม่ปรุง ไม่แต่ง ในรูปที่ได้เห็น ในเสียงที่ได้ยิน ในกลิ่นที่ได้สัมผัส เรียกว่ามีใจเป็นอารมณ์เดียวเรียกว่าเอกัคคตา ระงับกามฉันทะได้
หรือว่าบุคคลผู้เข้าสู่ปฐมฌานแล้ว ย่อมมีจิตใจระงับความพยาบาท คือเมื่อจิตเข้าสู่ปฐมฌานแล้วความพยาบาทคือการปองร้ายบุคคลอื่น เบียดเบียนบุคคลอื่น คิดประทุษร้ายบุคคลอื่น ผูกอาฆาตพยาบาท อยากกระทำเวรต่อกัน กระทำกรรมต่อบุคคลนั้น เรียกว่าผูกความพยาบาทอาฆาตต่างๆ เมื่อจิตเข้าสู่ปฐมฌานแล้วพยาบาทนั้นมันก็จะสงบระงับไปของมันเอง เพราะอะไร เพราะจิตอยู่ในอารมณ์เดียวเรียกว่า เอกัคคตา ไม่ปรุง ไม่แต่ง ไม่พยายามที่จะสร้างบาปขึ้นมาทางใจ พยาบาทก็สงบระงับไป
หรือเมื่อบุคคลได้ฌานแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ ถีนมิททะ ถีนะ ก็คือความง่วง มิททะ ก็คือ ความเซื่องซึม สิ่งเหล่านี้ก็จะระงับดับไปเมื่อจิตของเราเป็นเอกัคคตา หรือว่าถ้าผู้ใดยังจิตยังใจของตนให้เข้าถึงฌานแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ยังอุทธัจจะ กุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน ความรำคาญนั้นให้สงบระงับไป ฟุ้งก็คือจิตของเรามันฟุ้งขึ้น ซ่านคือมันแผ่ไปเหมือนกับรถวิ่งในฤดูแล้ง ขณะที่รถวิ่งหนทางที่มันเป็นฝุ่นเป็นลูกรังมันก็ฟุ้งขึ้นมา หลังจากฟุ้งขึ้นมาถูกลมพัดฝุ่นนั้นก็ซ่านออกไป จิตใจของคนทั้งหลายทั้งปวงของคนก็เหมือนกัน กระทบอารมณ์แล้วก็ฟุ้งขึ้นมาแล้วก็ซ่านออกไปตามอารมณ์ต่างๆ ได้แผ่ขยายไป ถ้าจิตใจของบุคคลใดเข้าถึงฌานแล้ว จิตของบุคคลนั้นก็จะสงบระงับเป็นเอกัคคตา ความฟุ้ง ความปรุง ความซ่านต่างๆ มันก็จะสงบระงับไป บาปอย่างกลางมันก็ไม่เกิด
แต่ก่อนโน้นเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เราก็เกิดความสงสัย สงสัยในเรื่องบุญ สงสัยในเรื่องบาป บุญมันมีจริงหรือเปล่าหนอ ใครรู้ว่าบุญมันมีจริง บาปมันมีจริงหรือเปล่าหนอ เราทำบุญทำทาน เราจะได้ไปเกิดในมนุษย์ เกิดในสวรรค์ เราจะได้อานิสงส์ของบุญหรือเปล่า บางคนอาจจะสงสัยว่าภพนี้มีจริงไหม ภพหน้ามีจริงไหม อาจจะสงสัยว่า นรกมีจริงไหม สวรรค์มีจริงไหม การประพฤติดีปฏิบัติชอบมีจริงไหม มรรคผลนิพพานมีจริงไหม บางคนก็คิดว่าพระพุทธเจ้ามีจริงไหม หรือบุคคลบางคนเขียนขึ้นมาเฉยๆ นี้เกิดความสงสัยขึ้นมา
ถ้ามันเกิดความสงสัยขึ้นมาอย่างนี้ ความสงสัยนี้ท่านกล่าวว่าเป็นบาป ความสงสัยนี้เป็นวิจิกิจฉา เป็นบาปเกิดขึ้นในจิตของบุคคลใด บุคคลนั้นควรที่จะกำหนดบาปนั้นออกไปจากจิตจากใจ เหมือนกับของสกปรกมาเปื้อนที่มือของเรา เราต้องพยายามชำระล้างด้วยสบู่ หรือว่าน้ำยาล้างมือต่างๆ เมื่อบาปคือวิจิกิจฉามันมาเปื้อนที่มือของเรา เราก็พยายามกำหนด “คิดหนอๆ” ลงไป “สงสัยหนอๆ” จี้ลงไปที่ใจของเรา เมื่อจิตใจของเราเป็นปฐมฌานแล้วจิตมันจะนิ่ง ไม่ปรุงไม่แต่ง ไม่สงสัยในโลกนี้โลกหน้า ไม่สงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป อันนี้เรียกว่าการเจริญสมาธิ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ระงับบาปอย่างกลางคือ กามฉันทะเป็นต้นนั้นให้สงบระงับลงไป
แต่ถ้าเราอยากจะระงับบาป อันเป็นบาปอันสูง บาปอันละเอียด เรียกว่าบาปอันเป็นกิเลสนอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานของเรา เราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เพราะว่าอนุสัยที่อยู่ในจิตในใจนั้นเป็นของละเอียดอ่อนเหมือนตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่ม ถ้าเราไม่ไปทำน้ำให้กระเพื่อม ไม่ไปกวนน้ำให้มันกระเพื่อมขึ้นมาตะกอนมันก็ไม่ขึ้นมา บาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่ละเอียดอยู่ภายใน เช่น ความโกรธ ความโลภ ความหลง มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อวิชชาอะไรต่างๆ มันนอนเนื่องอยู่ในจิตในใจของเรา เราก็ต้องพยายามเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระโสดาบัน ก็สามารถจะละกิเลสได้ ๓ ตัว คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส คือสามารถที่จะละความยึดมั่นถือมั่นในกายได้ แต่ก่อนโน้นคิดว่าร่างกายเป็นของเรา ตาเป็นของเรา หูเป็นของเรา จมูกเป็นของเรา ลิ้นเป็นของเรา มือเป็นของเรา เท้าเป็นของเรา ก็คิดว่าร่างกายอันยาววาหนาคืบกว้างศอกนี้เป็นของเรา ก็มีแต่เราๆๆๆ อะไรก็คิดว่าเป็นของเรา อันนี้เรียกว่าสักกายทิฏฐิของบุคคลนั้นยังมากอยู่
แต่ถ้าผู้ใดได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็จะเข้าใจว่าร่างกายของเรานั้นเป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นธาตุทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ผสมผสานกันมีจิตใจครองก็เคลื่อนไหวไปมาด้วยภาพทั้งหลายทั้งปวงที่มาประชุมกัน ถึงกาลเวลาก็ต้องแตกดับไป ธาตุดินก็ต้องไปเป็นดิน ธาตุน้ำก็ต้องไปเป็นน้ำ ไฟ ลม ก็ต้องแยกกันออกไป จะเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ก็จะคลายความยึดมั่นถือมั่น อันนี้เป็นวิสัยของพระโสดาบัน จะไม่ยึดมั่นถือมั่นในกายของตนเอง จะรีบสร้างสมอบรมคุณงามความดี คิดว่าร่างกายของเรามีแต่จะทรุดโทรมลงไปทุกวันๆ ไม่มีเวลาหนุ่มขึ้น มีแต่ทรุดลงไปๆ เหมือนกับบุคคลผู้เดินขึ้นสะพาน พอเดินขึ้นสะพานไปถึงจุดสูงสุดแล้ว เราก็ต้องเดินลงสะพาน คือสะพานนั้นจะมีการขึ้นไป แล้วตรงกลางสะพานนั้นจะเป็นที่เนินสูง หลังจากนั้นก็จะต่ำลงไปๆๆ
ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ตอนเป็นเด็กเราก็เดินขึ้นไป เจริญเติบโตขึ้นไป พอถึงวัยกลางคนเบญจเพศอายุ ๒๕, ๓๐ ปีแก่เต็มที่แล้วก็ค่อยเหี่ยวลงไป เสื่อมลงไป คล้อยลงไป มันเป็นลักษณะอย่างนั้น นี้เรียกว่าเข้าใจความเป็นจริง แล้วก็ไม่ยึดมั่นถือมั่น นี้สามารถละสักกายทิฏฐิ ความยึดมั่นถือมั่นในกายของตนเองได้
ผู้บรรลุเป็นพระโสดาบันนอกจากจะละสักกายทิฏฐิแล้ว ยังละวิจิกิจฉา คือความสงสัยในพระพุทธ ความสงสัยในพระธรรม ความสงสัยในพระสงฆ์ทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะอันตรธานไป แต่ก่อนโน้นสงสัยในเรื่องโลกนี้โลกหน้า สงสัยในเรื่องบุญเรื่องกุศล ถ้าผู้ใดได้บรรลุเป็นพระโสดาบันนั้นหมดความสงสัย มีจิตใจเป็นอิสระเชื่อมั่น มีศีลมั่นเป็นนิจก็เป็นผู้ที่ยินดีต่อมรรคผลนิพพาน ยินดีต่อการประพฤติปฏิบัติ ยินดีต่อการให้ทาน ยินดีต่อการรักษาศีล เป็นผู้มีอาจารศรัทธา เป็นผู้ไม่หวั่นไหวในพระศาสนา ถึงเขาจะเอาเงินมาจ้างเป็นแสน เป็นหมื่น เป็นล้าน เป็นหลายๆ ล้าน บอกว่าให้ไปนับถือศาสนาคริสต์นะ นับถือศาสนาอิสลามนะ ทำอย่างไรก็ไม่ไป เพราะอะไร เพราะว่าเป็นผู้เห็นธรรมแล้ว เป็นบุตรของพระพุทธเจ้า เป็นบุตรที่เกิดขึ้นมาจากอกของพระพุทธเจ้า เป็นโอรสของพระองค์ ที่เกิดขึ้นมาจากธรรมคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้นพระโสดาบัน จึงเป็นผู้ที่เที่ยง เป็นผู้ที่คลายความวิจิกิจฉาความลังเลสงสัยต่างๆ ได้
แล้วก็พระโสดาบันก็สามารถที่จะละสีลัพพตปรามาส การลูบคลำศีล หรือว่าการถือศีลที่ผิดๆ ไม่ถูกต้อง ถือศีลที่ข้างๆ คูๆ ถือศีลที่ไม่ตรงต่อพระธรรมคำสั่งสอน ถือศีลที่ไม่ตรงต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน นี้ก็เรียกว่าสีลัพพตปรามาสได้เหมือนกัน คือลูบคำศีล คือ ไม่ถูกต้องตามมรรคมีองค์ ๘ คิดว่าการยืนขาเดียวนี้จะเป็นการบรรลุมรรคผลนิพพานก็ยืนขาเดียว บางคนคิดว่าการนอนบนหนามนี้คนอื่นทำไม่ได้ เราทำแล้วจะบรรลุมรรคผลนิพพานก็นอนบนหนาม ก็ถือว่าเป็นสีลัพพตปรามาส เป็นอัตตกิลมถานุโยคได้เหมือนกัน บางท่านบางคราวก็นุ่งผ้าผืนหนึ่งไม่ซัก แล้วก็ถือมั่นว่าการนุ่งผ้าผืนหนึ่งที่ไม่ซักนี้ ก็เป็นสีลัพตตปรามาสได้เหมือนกัน ฉันเจอย่างเดียว ฉันอย่างอื่นไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ฉันมังสวิรัติอย่างเดียวฉันอย่างอื่นไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ถ้าผู้ใดถืออย่างนี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาสได้เหมือนกัน
แต่ถ้าเราคิดว่าเราฉันอะไรก็เพียงแต่ยังอัตตภาพร่างกายของเราให้แข็งแรง ฉันแล้วก็ยังร่างกายของเราให้มีพละกำลัง ถ้าเราคิดอย่างนี้เราฉันผัก ฉันปู ฉันปลา ฉันเนื้อ ฉันมังสวิรัติ ฉันเจก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพานหมด มันอยู่ที่ความคิดของเรา นี้ก็เป็นสีลัพตตปรามาส การถือศีลพรต การถือศีลที่ไม่ถูกต้องตรงกับมรรคมีองค์ ๘ ประการ
เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน บุคคลนั้นก็จะลืม หรือว่าละสิ่งเหล่านี้ได้ ทำไมจึงละสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะรู้แล้วว่าวิถีทางแห่งการบรรลุมรรคผลนิพพานมันต้องอย่างนี้ ปฏิบัติอย่างนี้ เดินจงกรมอย่างนี้ สมาธิอย่างนี้ ตั้งสติอย่างนี้แล้ววิปัสสนาญาณมันเกิดอย่างนี้ บรรลุอย่างนี้ มรรคผลนิพพานเกิดขึ้นอย่างนี้ เมื่อรู้แจ้งเห็นจริงในลักษณะอย่างนี้ก็คลาย คิดว่าได้บรรลุมรรคผลนิพพานไม่อยู่ที่อาหารเจ ไม่อยู่ที่อาหารมังสวิรัติ ไม่อยู่ที่หมู ไม่อยู่ที่วัว ไม่อยู่ที่ควาย ไม่อยู่ที่ร่างกายอัตภาพอันยาววาหนาคืบ ไม่อยู่ที่อย่างอื่น อยู่ที่สติสัมปชัญญะ กำหนดทันปัจจุบันธรรม เห็นความเกิดดับของรูปของนาม แล้วมันดับลงไปในขณะนั้นกิเลสมันก็ดับไปด้วย สักกายทิฏฐิก็ควายลงได้ สีลัพพตปรามาสก็คลายลงได้ วิจิกิจฉาต่างๆ ก็คลายลงได้
แต่ถ้าผู้ใดเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สูงขึ้นๆ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี พระสกทาคามีนั้นละกิเลสได้ ๓ ตัวเหมือนกัน แต่ทำกำลังของราคะให้เบาลง ทำกำลังของโทสะให้เบาลง เรียกว่าราคะโทสะนั้นหมดไปประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่ก่อนนั้นเคยโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เคยกำหมัดใครพูดอะไรไม่อดทนกำหมัดกัดฟันตีรันฟันแทงต่างๆ แต่เมื่อเป็นพระสกทาคามีแล้วก็จะสามารถบอกตนเองได้ รั้งตนเองอยู่ รู้ทันขบวนจิตของตนเอง ไม่ให้มันกำหมัดกัดฟันทำร้ายบุคคลอื่น แล้วมีสติหยุดยั้ง มีความเย็นเกิดขึ้นในใจ บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจะรู้เอง นี้ในลักษณะของการประพฤติปฏิบัติธรรมจะละกิเลสไปตามลำดับในลักษณะอย่างนี้
ถ้าผู้ใดได้บรรลุเป็นพระอนาคามีก็ละราคะโทสะนั้นได้ ราคะโทสะนั้นก็หมดไป นี้ลักษณะของการประพฤติปฏิบัติธรรมมันจะละไปตามลำดับๆๆ ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็ต้องละได้โดยเด็ดขาด ไม่มีกิเลสใดๆ เหลืออยู่ในขันธสันดานของท่าน สามารถที่จะละได้โดยเด็ดขาด อันนี้เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐานจะละ ละเอียดลงไปๆๆ คือถ้าเป็นพระอรหันต์แล้วก็จะสามารถละรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ วิจิกิจฉา นี้สามารถละกิเลสเบื้องบน หรือว่า อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องบนนี้ได้โดยเด็ดขาด แม้แต่พระอนาคามีนี้ก็ยังมีความปรุง มีความฟุ้ง พระอรหันต์เท่านั้นที่ละการปรุงแต่ง ความฟุ้งซ่านได้
เพราะฉะนั้นอนุสัยคือกิเลสทั้ง ๑๐ ประการนี้ ก็จะถูกละได้ด้วยโสดาบันบ้าง สกทาคามีบ้าง อนาคามีบ้าง พระอรหันต์นั้นแหละจึงจะทำให้หมดกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้ อันนี้เป็นการละบาปอย่างต่ำ อย่างกลาง อย่างสูง
ส่วนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า กุสลสฺสูปสมฺปทา ก็คือการทำกุศลให้ถึงพร้อม การทำกุศลก็คือการทำบุญ การทำบุญให้ถึงพร้อม บุญนั้นแปลว่าชำระ คือชำระกาย ชำระวาจา ชำระใจของเราให้สะอาด ให้ผ่องใส บุญคือการให้ทาน ชำระความตระหนี่ถี่เหนียว ออกไปจากจิตจากใจ แต่ก่อนโน้นเราเคยมัจฉริยะ เคยตระหนี่ เวลาจะให้ทานก็ห่วงโน้นห่วงนี้ ไม่อยากจะให้ทาน เมื่อจิตใจของเราเป็นบุญกุศลแล้วเราให้ทาน ทานนั้นก็ชำระความตระหนี่ได้ เพราะว่าทานนั้นท่านอุปมาอุปมัยเหมือนกับการเข้าสู่สนามรบ การเข้าสู่สนามรบนั้นถ้าบุคคลขี้ขลาด ถ้าบุคคลใจไม่กล้า ไม่เป็นจิตใจที่เด็ดเดี่ยวกับข้าศึก ก็ต้องทิ้งหอก ทิ้งดาบ ทิ้งทวน ทิ้งโล่หนีไป เพราะอะไร เพราะจิตใจนั้นขยาด ไม่กล้าที่จะต่อกรกับอริข้าศึก
บุคคลจะถวายทานก็เหมือนกัน เวลาจะถวายทานนั้นก็ห่วงนู้นห่วงนี้ผลสุดท้ายก็ถวายไม่ได้ ว่าจะถวาย ๑๐๐ ก็ให้เหลือ ๘๐ บาท ว่าจะถวาย ๘๐ บาทก็เหลือ ๕๐ บาท ว่าจะถวาย ๕๐ บาทก็เหลือ ๒๐ บาท จะถวาย ๒๐ บาทก็ไม่ถวายเลย ไม่กล้าที่จะถวายทาน เปรียบเสมือนคนขี้ขลาดเห็นอริข้าศึกศัตรูต่างๆ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าการให้ทานนั้นเสมอด้วยการรบ ทานญฺจ ยุทฺธญฺจ สมานมาหุ การให้ทานเสมอด้วยการรบ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าถ้าผู้ใดให้ทาน บุคคลนั้นได้ชื่อว่ารบกับความตระหนี่ ชำระความตระหนี่ออกไปจากจิตจากใจของเรา
หรือว่าบุคคลผู้รักษาศีล การรักษาศีลก็ชื่อว่าเป็นการชำระกาย วาจาของเราให้หายจากอาการเบียดเบียน ตามธรรมดาบุคคลผู้ไม่มีศีล อยากตบยุงก็ตบ อยากฆ่ามดก็ฆ่า อยากฆ่าปู ฆ่าปลาก็ฆ่า แต่คนที่มีศีลนั้นก็จะมีหิริ มีโอตตัปปะ จะฆ่ามดก็ดี จะตบยุงก็ดี ก็นึกถึงศีลของตนเอง ว่าศีลตนเองจะด่างไหม ศีลตนเองจะพร้อยไหม จะขาด หรือจะทะลุไหม นี้ก็พิจารณาก็เป็นการชำระศีลของตนเองให้บริสุทธิ์ เรียกว่าเป็นการชำระกายให้บริสุทธิ์ในเบื้องต้น เมื่อรักษาศีลแล้ววาจาของเราก็ไม่พูดไปในทางที่ยุยงหรือว่าโกหกพกลม ไม่หลอกลวง ไม่ต้มตุ๋นบุคคลอื่น พอเราจะหลอกลวงคนอื่นก็คิดถึงศีลของตนเอง จะโกหกบุคคลอื่นก็คิดถึงศีลของตนเองก็ไม่กล้าเพราะว่ามีกรอบ ศีลนั้นเป็นรั้วกั้น ศีลนั้นเป็นกำแพงกั้น ศีลนั้นเป็นเขตกั้นไม่ให้เรานั้นทำบาปทางกาย ศีลนั้นเป็นเบรก เบรกจิตเบรกใจของเราไว้ไม่ให้เราพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด ไม่ควรทำ ศีลนั้นเป็นสลักนิรภัยป้องกันไว้ไม่ให้ระเบิดมันระเบิดออกมา
แต่ถ้าเราไม่มีศีลแล้วเราอาจจะพูดเท็จก็ได้ หลอกลวงคนอื่นก็ได้ เป็นการระเบิดออกมา พูดส่อเสียดให้บุคคลอื่นก็ได้ เป็นการใช้ปากเป็นขวานเป็นหอกเป็นดาบทิ่มแทงบุคคลอื่นก็ได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าศีลนั้นเป็นสลักนิรภัยได้เหมือนกัน การที่บุคคลรักษาศีลจึงชื่อว่าเป็นการชำระ ชำระกาย ชำระวาจาของเราให้สะอาดขึ้น หรือว่าเป็นการเจริญภาวนาก็เป็นการชำระจิตชำระใจของเราให้ขาวขึ้นด้วยอานุภาพของบุญ บุญนั้นท่านกล่าวว่าเป็นเครื่องกรอง คือกรองจิตกรองใจของเรา บุคคลผู้ไม่เคยทำบุญก็จะไม่รู้ว่าบุญนั้นมันกรองอย่างไร ขณะที่เราทำบุญ อย่างเช่นเราเอาข้าวให้ไก่ก็ดี ข้าวให้เป็ดก็ดี ให้นกก็ดี เราจะเกิดความสุขใจ บุญมันจะกรองใจของเราให้เบาขึ้น สบายขึ้นในเมื่อเราให้ทาน เราเคยเอาอาหารไปให้ปลาเป็นร้อยเป็นพันสองพันสามพันสี่พันเราเอาไปให้ มันเกิดความสุขใจ เกิดความสบาย เราเคยเอาอาหารไปให้ลิงเยอะๆ อย่างนี้ก็เกิดความสุขใจ เกิดความอุ่นใจจิตใจมันฟูขึ้นเย็นขึ้น หรือว่าเราเคยเลี้ยงอาหารพระภิกษุสงฆ์สามเณรเป็นร้อยสองร้อยสี่ร้อยห้าร้อย มันเกิดความสุขใจขึ้นมา เราไปปล่อยปลาเป็นพันเป็นหมื่นเป็นเสน เกิดความสุขใจเกิดความเบาใจนี้มันกรองจิตกรองใจของเราในลักษณะอย่างนี้
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 24 มีนาคม 2564 16:19:09 โดย Maintenence
»
บันทึกการเข้า
[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 1117
[• บำรุงรักษา •]
ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 88.0.4324.190
Re: ภาวนาภิรัตธรรม - โอวาทปาฏิโมกข์
«
ตอบ #1 เมื่อ:
24 มีนาคม 2564 16:18:43 »
.
เพราะฉะนั้น การที่เราจะทำบุญให้ถึงพร้อม คือบุญทางกาย บุญทางวาจา บุญทางใจก็มีอย่างเดียวก็คือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ขณะที่เราเจริญวิปัสสนากรรมฐาน กายของเราก็เป็นบุญ วาจาของเราก็เป็นบุญ ใจของเราก็เป็นบุญ ขณะที่ขวาย่างหนอก็เป็นบุญซ้ายย่างหนอก็เป็นบุญ เราจะยืน เราจะเดิน เราจะนั่ง เราจะนอน เราจะกิน เราจะดื่ม เราจะพูด เราจะคิด เราจะทำกิจอะไรเป็นบุญตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะเราอยู่ด้วยสติ จะคู้ จะเหยียด จะก้ม จะเงย เดินหน้าถอยหลังยืนนั่งลุกนอนอะไรต่างๆ เรามีสติ ก็ถือว่าเป็นการที่บุญนั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เวลาเราจะคิดปรุงแต่งเราก็กำหนดที่จิต “คิดหนอ” ความโกรธ ความโลภ ความหลงไม่เกิดมันก็เป็นบุญ เวลามันปวด แทนที่เราจะหงุดหงิดรำคาญ เราก็ต้องกำหนดว่า “ปวดหนอๆ” ก็เป็นบุญอีก
เพราะฉะนั้นบุญที่ถึงพร้อมบุญที่สมบูรณ์ก็คือบุญเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เป็นบุญที่เกิดขึ้น ๒๔ ชั่วโมง เป็นบุญที่เกิดขึ้นได้ทั้งบุญที่เป็นกามาวจรบุญ รูปาวจรบุญ อรูปาวจรบุญ หรือเป็นโลกุตตรบุญก็เกิดขึ้นมาด้วยการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม ญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมก็ให้ภูมิจิตภูมิใจว่าเราได้มาทำบุญให้เกิดขึ้น ๒๔ ชั่วโมงแล้ว ถ้าผู้ใดระวังจิตระวังใจ มีความเพียรประพฤติปฏิบัติธรรม การที่ญาติโยมมาประพฤติปฏิบัติธรรม ๙ คืน ๑๐ วันนี้ถือว่าเป็นช่วงที่กันอบายภูมิให้แก่ญาติโยมแล้ว
มีโยมคนหนึ่งเป็นกำนันอยู่อำเภอเขมราฐ แต่ก่อนเป็นกำนันก็ออกสังคมกินเหล้าเมายาทำชู้สู่สมมากมาย แต่ว่าเมื่อมีโอกาสก็มาบวช แล้วก็ประพฤติปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้บรรลุมรรคผลนิพพานอะไร แต่มีศีลบริสุทธิ์ มีความเพียร เดินจงกรม นั่งภาวนาทุกวัน ครูบาอาจารย์ให้เดินท่านก็เดินให้นั่งก็นั่ง แต่พอถึงเวลาออกแล้วก็ทำพิเศษอะไรออกไปตามธรรมดาแต่พอสึกขาลาเพศแล้วก็ตายไป พระเดชพระคุณหลวงพ่อใหญ่ว่า ทำบาปทำกรรมมามาก ถ้าไม่มีบุญบวชช่วยก็อาจจะไปเกิดในอบายภูมิก็ได้ อันนี้เพราะอะไร เพราะบาปกรรมมันให้ผล บุญคือการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นเป็นบุญใหญ่เป็นอานิสงส์ใหญ่ เราประพฤติปฏิบัติธรรมชั่วช้างพัดหูงูแลบลิ้นไก่ตบปีกก็เป็นเหตุเกิดอานิสงส์มาก เกิดการป้องกันการไปเกิดในอบายภูมิได้
ท่านกล่าวไว้ว่า ให้ทานร้อยครั้ง ก็ไม่เท่ากับรักษาศีลครั้งหนึ่ง รักษาศีลร้อยครั้งก็ไม่เท่ากับการเจริญวิปัสสนาเพียงครั้งเดียว มันต่างกัน เราจะให้ทานขนาดไหนๆ ก็ตามก็ชื่อว่าเป็นการให้ทาน เราจะรักษาศีลขนาดไหนๆ ก็ตาม ก็ชื่อว่าเป็นการรักษาศีล เราจะให้ทานตลอดชีวิตตายแล้วเกิดเกิดแล้วตายก็ประมาณแค่การให้ทาน อานิสงส์นั้นก็ไม่เท่ากับการรักษาศีล เรารักษาศีลตลอดชีวิตเกิดแล้วตายตายแล้วเกิด รักษาศีลอยู่อย่างนั้นเราก็ไม่มีโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ การบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นจึงเกิดขึ้นมาจากการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสให้เราให้ทั้งทาน รักษาทั้งศีล เจริญทั้งสมถกรรมฐานทั้งวิปัสสนากรรมฐาน
ท่านกล่าวว่า สมถะนั้นเปรียบเสมือนกับเงิน วิปัสสนานั้นเปรียบเสมือนกับทอง ถ้ามีแต่ทองไม่มีเงินมันก็ไม่สวย มันต้องมีทั้งเงินทั้งทองประดับกัน เงินนั้นก็หมายถึงสมถกรรมฐาน หมายถึงวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทาญาณ ๔ อภิญญา ๖ ทองนั้นก็หมายถึงโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค อรหัตผล มันเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายนั้นได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นชื่อว่าเป็นการทำบุญ ทำกุศลให้ถึงพร้อมในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ ในทุกอิริยาบถก็มีแต่บุญเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
และประการสุดท้ายพระองค์ทรงตรัสว่า สจิตฺตปริโยทปนํ คือการชำระจิตของตนให้ขาวรอบ เราจะชำระจิตของตนให้ขาวรอบอย่างไร ถ้าเราพูดตามพระธรรมวินัย เรียกว่าเป็นอริยวินัย คือวินัยที่ห่างไกลจากกิเลสคือ ข้าศึก ท่านกล่าวว่าแม้เราไม่ทำบาปทางกาย ทางวาจา ทางใจ ไม่ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม ถ้าเรายินดีในการไปเกิดเป็นเทวดา เรายินดีไปเกิดในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง จะเป็นชั้นจาตุม ชั้นดาวดึงส์ ชั้นดุสิต ชั้นยามา หรือว่าชั้น นิมมานรดี หรือ ปรนิมมิตวสวัตดี สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นจะสนุกสนานเพลิดเพลินขนาดไหนก็ตาม ถ้าเป็นอริยวินัยท่านกล่าวไว้ว่าเป็นกามสังโยชน์ เป็นเมถุนสังโยชน์ เป็นการยินดีเพื่อการเวียนว่ายตายเกิด เป็นการยินดีเพื่อการหมุนเวียน เป็นการยินดีเพื่อการเกิด การก่อทุกข์นานาประการ
ขันธ์ ๕ มีอยู่ ณ ที่ใด ปรากฏ ณ ที่ใดที่นั้นก็มีแต่ความทุกข์ ขันธ์ใดขันธ์หนึ่งจะเป็นรูปพรหมก็ดี อรูปพรหมก็ดีขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง นามปรากฏอยู่ที่ใดก็เป็นทุกข์ รูปปรากฏอยู่ที่ใดก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าอริยวินัยนั้นท่านหมายถึงว่า ถึงเราจะไม่ทำบาปทางกายวาจาใจ แต่เรายินดีในการเวียนว่ายตายเกิดท่านก็ถือว่า นั้นแหละเป็นเหตุแห่งทุกข์ ถ้าเราไม่เกิดเราจะทุกข์ได้อย่างไร ถ้าเราไม่แก่เราจะเจ็บได้อย่างไร ถ้าเราไม่เจ็บเราจะตายได้อย่างไร ถ้าเราไม่ตายเราจะเกิดได้อย่างไร นี่ท่านกล่าวอย่างนั้น
ถ้าเรายินดีในการเกิดเป็นมนุษย์ ยินดีในการเกิดเป็นเทวดา ยินดีในการเกิดเป็นพรหม ชื่อว่าเรานั้นยินดีในเมถุนสังโยชน์ ยินดีในภพ ยินดีในชาติ ยินดีในการก่อ ยินดีในการเกิด ยินดีในการที่เราจะต้องทนทุกข์ทรมานอีกต่อไป เพราะฉะนั้นท่านจึงกล่าวว่าเป็นกามสังโยชน์ เป็นเมถุนสังโยชน์ เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นคณะครูบาอาจารย์ท่านจึงให้เรามีจิตใจเป็นกลาง เห็นก็กำหนดว่า “เห็นหนอๆ” อย่าให้ยินดีอย่าให้ยินร้าย ได้ยินก็ “ได้ยินหนอๆ” ไม่ให้ยินดีไม่ให้ยินร้าย เวลาโกรธก็ “โกรธหนอๆ” ไม่ให้จิตใจของเราปรุงแต่งในความโกรธ ให้จิตใจของเราปล่อย ให้จิตใจของเราวาง ให้จิตใจของเราว่างจากความโกรธ กำหนดลงไปที่ใจของเรา “โกรธหนอๆ”
เพราะว่าใจของเรานั้นเป็นต้นตอแห่งเหตุทั้งหลายทั้งปวง ในทางโลกเขาว่าสมองเป็นตัวคิด แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไม่ตรัสว่าสมอง พระองค์ว่าจิตเป็นตัวคิด จิตมีหน้าที่รับจำคิดรู้ จิตมีหน้าที่เป็นมูลเหตุ เราทำบาปเราทำกรรมมันจะลงไปในห้วงภวังคจิตของเรา เก็บสะสมไว้ในห้วงภวังคจิตของเรา นี้เรียกว่าความเห็นของพระพุทธเจ้าจะต่างกับความเห็นทางโลก แม้แต่จุดกำเนิดของมนุษย์ พวกนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายทั้งปวงว่า มนุษย์นั้นเกิดขึ้นมาจากวิวัฒนาการของลิง ลิงตัวใหญ่ๆ ลิงกอริลล่า ลิงตัวใหญ่ๆ ก็พัฒนา เราเรียนอยู่ใน ม.๑ ม.๒ ม.๓ เขาจะว่าวิวัฒนาการของมนุษย์นั้นมาจากสัตว์ป่า มาจากลิง แล้วก็วิวัฒนาการมาเรื่อยๆ อยู่ในถ้ำ อยู่ในหน้าผา พัฒนามาเรื่อยๆ หลังจากนั้นก็หน้าคล้ายๆ คนขึ้นมา แล้วกลายเป็นคน อันนี้เป็นหลักของนักวิทยาศาสตร์ที่คิดว่าตนเองฉลาดล้ำลึกมากนัก
แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ไม่ทรงตรัสอย่างนั้น สัตว์เดรัจฉานก็ต้องเป็นสัตว์เดรัจฉานวันยังค่ำ เราจะพัฒนาอย่างไร ลิงก็ต้องเป็นลิง หมาก็ต้องเป็นหมา จะกลายเป็นคนไม่ได้ เพราะอะไร เพราะภพของสัตว์เดรัจฉาน ภูมิของสัตว์เดรัจฉานก็เป็นภูมิของสัตว์เดรัจฉาน เรียกว่า ติรัจฉาโน มนุษย์ก็เป็นมนุษภูมิ มนุษย์ก็เป็นภูมิของมนุษย์ เดรัจฉานจะมากลายเป็นมนุษย์ได้อย่างไร นอกจากสัตว์เดรัจฉานตัวนั้นจะรักษาศีล ตายไปแล้วก็มาเกิดในภพใหม่ จะมากลายพันธุ์เป็นมนุษย์ในภพที่เป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นเป็นไปไม่ได้ อันนี้ถ้าเราศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนแล้วเราจะเข้าใจในวิวัฒนาการอย่างนั้น
การที่พวกเราทั้งหลายกำหนด ยืนก็ดี นั่งก็ดี นอนก็ดี จะทำอะไรก็ดี เรากำหนดนี้แหละจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยของเราไม่ให้ยินดี ไม่ให้ยินร้าย จิตใจของเราก็สะอาด เรียกว่า สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ขาวรอบ ขาวด้วยอำนาจของวิปัสสนา ไม่ใช่ขาวด้วยอำนาจของการรักษาศีลอย่างเดียว ขาวด้วยอำนาจของวิปัสสนา ขาวด้วยอำนาจของมรรค ขาวด้วยอำนาจของผล ขาวด้วยอำนาจของพระนิพพาน
ถ้าจิตใจของบุคคลขาวด้วยอำนาจของมรรคผลนิพพานแล้ว จิตใจของบุคคลนั้นก็ขาวอยู่ตลอด ถึงบุคคลนั้นบรรลุเป็นพระโสดาบันไม่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในชาตินี้ ตายไปแล้วความเป็นพระโสดาบัน กิเลสที่ละได้แล้ว สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ก็เป็นอันละแล้ว จะไม่ตามไปเกิดในภพหน้าชาติหน้าอีก เป็นผู้ละแล้ว อันนี้ท่านกล่าวอย่างนั้น คือละได้แล้วก็ละโดยเด็ดขาด ไปเกิดภพหน้าชาติหน้าเพียงแต่ฟังธรรมก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันทันที เพราะอะไร เพราะกิเลสมันละแล้ว เพราะฉะนั้นการที่พวกเราทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติธรรม มาเดินจงกรม นั่งภาวนาจึงชื่อว่ามากระทำตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งที่เป็น สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวงก็ดี ทั้งที่เป็น กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อมก็ดี ทั้งที่เป็น สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ขาวรอบก็ดี ก็บริบูรณ์ สมบูรณ์อยู่ที่การประพฤติปฏิบัติธรรม
ที่ญาติโยมทั้งหลายมาเดินจงกรมนั่งภาวนาแผ่เมตตานี้ก็ชื่อว่าทำตามพระธรรมคำสั่งสอนครบบริบูรณ์ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมอย่าได้ชะล่าใจ มีโอกาสดีเป็นโอกาสทองของชีวิตก็พยายามทำจิตทำใจของเราให้เจริญยิ่งขึ้นไป ให้เราพิจารณาอยู่ว่า ศีลของเราบริสุทธิ์หรือยัง สมาธิของเราเกิดขึ้นหรือยัง วิปัสสนาญาณของเราเกิดขึ้นหรือยัง มรรคผลนิพพานเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราหรือยัง นี้ให้เราพิจารณาอยู่อย่างนี้ เมื่อเราพิจารณาอยู่อย่างนี้แล้วเราจะเป็นผู้ไม่ประมาท เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วเราจะเกิดความเพียร เกิดความมุมานะ เกิดความขยัน เกิดความอดทน ไม่เกียจคร้าน ไม่หวั่นไหว ไม่ท้อแท้ ไม่ถอยหลัง อันนี้ก็ถือว่าเป็นหัวใจของนักประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเราคิดอย่างนี้จิตใจของเราก็สู้ ต่อสู้กับกิเลสได้ทันท่วงที
เพราะฉะนั้นวันนี้อาตมภาพได้กล่าวธรรมพอสมควรแก่เหตุปัจจัย เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมได้มีกำลังใจในการต่อสู้กับกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปด ก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ด้วยอานุภาพของพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยอานุภาพของพระธรรมทั้งปวง ด้วยอานุภาพของพระสงฆ์ทั้งปวง ด้วยอานุภาพของคุณศีล คุณทาน คุณภาวนา คุณแผ่เมตตา ที่ท่านทั้งหลายได้บำเพ็ญมาแล้วทั้งหมดทั้งสิ้นทุกคนทุกรูป ขอจงได้มาเป็น ตบะ เดชะ พลวปัจจัย ส่งเสริมให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมผู้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม จงเป็นผู้ที่มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ขอให้โชคลาภร่ำรวยมั่งมีศรีสุข ขอให้เงินไหลนอง ขอให้ทองไหลมา ขอให้แคล้วคลาดปลอดภัย จากอุปสรรคอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ขอให้หายจากทุกข์ หายจากโศก หายจากโรค หายจากภัย หายจากความเคราะห์ เสนียดจัญไรทั้งหลายทั้งปวง ขอให้มีสติมีปัญญา มีโอกาสได้ประพฤติปฏิบัติธรรม สามารถที่จะนำตนของตนให้พ้นไปจากความทุกข์ ถึงสันติสุขกล่าวคือมรรคผลนิพพานในอนาคตกาลอันใกล้ๆ นี้ด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
บันทึกการเข้า
[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [
1
]
ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
จากใจถึงใจ
-----------------------------
=> หน้าบ้าน สุขใจ
===> สุขใจ ป่าวประกาศ (ข้อความจากทีมงาน)
===> สุขใจ เสนอแนะ (ข้อความจากสมาชิก)
===> สุขใจ ให้ละเลง (มุมทดสอบบอร์ด)
-----------------------------
สุขใจในธรรม
-----------------------------
=> พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
===> พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
===> ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
===> ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
===> นิทาน - ชาดก
=====> ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
=> ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
===> ธรรมะจากพระอาจารย์
===> เกร็ดครูบาอาจารย์
=> ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
=> สมถภาวนา - อภิญญาจิต
=> จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
=> เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
===> เอกสารธรรม
===> เสียงธรรมเทศนา
=====> ธรรมะจาก สมเด็จโต
=====> ธรรมะจาก หลวงปู่มั่น
=====> เสียงบทสวดมนต์
=====> เพลงสวดมนต์
=====> เพลงเพื่อจิตสำนึก แด่บุพการี
=====> ธรรมะ มิวสิค (เพลงธรรมทั่วไป)
===> ห้อง วีดีโอ
=> เกร็ดศาสนา
=> กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
=> ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
=> บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
=> พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
===> พุทธวัจนะ ในธรรมบท
===> พุทธศาสนสุภาษิต
===> คำทำนายภัยพิบัติที่จะเกิด
===> รวมข่าวภัยพิบัติ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
===> รู้ เพื่อ รอด (การเตรียมการ)
=> ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม
===> ฐานข้อมูล มูลนิธิต่าง ๆ ในประเทศไทย (Donation Exchange Center)
-----------------------------
วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ
-----------------------------
=> วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ
===> เรื่องราว จากนอกโลก
=====> ประสบการณ์เกี่ยวกับ UFO
=====> หลักฐาน และ การพิสูจน์ยูเอฟโอ
=====> คลิปวีดีโอ ยูเอฟโอ
=> ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
=> เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ
===> ร้อยภูติ พันวิญญาณ
=====> ประสบการณ์ ผี ๆ
=======> เรื่องเล่าในรั้วมหาลัย
=====> ประวัติ ต้นกำเนิด ตำนานผี
===> ดูดวง ทำนายทายทัก
===> ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue)
===> กระบวนการ NEW AGE
=> เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
-----------------------------
นั่งเล่นหลังสวน
-----------------------------
=> สุขใจ จิบกาแฟ
=> สุขใจ ร้านน้ำชา
=> สุขใจ ห้องสมุด
===> สุขใจ หนังสือแนะนำ
===> สุขใจ คลังความรู้ลวงโลก
===> สยาม ในอดีต
=> สุขใจ ใต้เงาไม้
=> สุขใจ ตลาดสด
=> สุขใจ อนามัย
=> สุขใจ ไปเที่ยว
=> สุขใจ ในครัว
===> เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว
=> สุขใจ ไปรษณีย์
=> สุขใจ สวนสนุก
===> ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
===> เวที จำอวด (จำอวดหน้าม่าน)
===> หนังกลางแปลง (ดูหนัง รีวิวหนัง)
===> หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
=====> เพลงไทยเดิม
===> แผงลอยริมทาง (รวมคลิปโฆษณาโดน ๆ)
คุณ
ไม่สามารถ
ตั้งกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
ตอบกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความได้
BBCode
เปิดใช้งาน
Smilies
เปิดใช้งาน
[img]
เปิดใช้งาน
HTML
เปิดใช้งาน
กำลังโหลด...