22 ธันวาคม 2567 19:04:03
ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
หน้าแรก
เวบบอร์ด
ช่วยเหลือ
ห้องเกม
ปฏิทิน
Tags
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
ห้องสนทนา
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!
[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
สุขใจในธรรม
ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
.:::
ธรรมอันเป็นยาอายุวัฒนะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลฯ
:::.
หน้า: [
1
]
ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน
หัวข้อ: ธรรมอันเป็นยาอายุวัฒนะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลฯ (อ่าน 1256 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 1117
[• บำรุงรักษา •]
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 103.0.5060.66
ธรรมอันเป็นยาอายุวัฒนะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลฯ
«
เมื่อ:
07 กรกฎาคม 2565 13:15:27 »
Tweet
ธรรมอันเป็นยาอายุวัฒนะ
(เทศน์วันที่ ๒๔ ธ.ค. ๕๒)
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระธรรม ขอนอบน้อมแด่พระสงฆ์ ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอความเจริญในธรรมจงมีแก่ญาติโยมสาธุชนผู้สนใจในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน ก่อนที่คณะญาติโยมคณะครูบาอาจารย์ทั้งหลายจะได้ฟังธรรมะ ก็ขอให้คณะครูบาอาจารย์ตลอดถึงญาติโยมได้ตั้งใจฟังธรรมโดยนั่งสมาธิฟัง เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น
เพราะว่าการฟังธรรมนั้นถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย ไม่ใช่ว่าเราเดินจงกรมนั่งภาวนาอย่างเดียว เพราะว่าการฟังธรรมนั้นมีหลายระดับ การฟังธรรมอย่างต่ำ การฟังธรรมอย่างกลาง แล้วก็การฟังธรรมอย่างสูง การฟังธรรมอย่างต่ำ เราทำการทำงานไปเราก็เปิดธรรมะฟังไปด้วย หรือว่าเรานั่งรถไปเราก็ฟังธรรมะไปด้วย หรือว่าเราจะอยู่ที่บ้านที่เรือนที่ทำงานเราก็ฟังธรรมะไปด้วย อันนี้เรียกว่าฟังธรรมะเป็นเครื่องชโลมจิตใจในขณะที่เราทำการทำงาน ประการที่สอง การฟังธรรมอย่างกลาง คือเราฟังแล้วเราพยายามทำจิตของเรานั้นให้เกิดความร่มเย็น เกิดความสงบ เหมือนกับญาติโยมทั้งหลายที่ได้มาประพฤติปฏิบัติธรรม ขณะที่ฟังธรรมนั้นก็อย่าคิดถึงบ้าน อย่าคิดถึงเรือน อย่าคิดถึงการงานต่าง ๆ ให้ดึงจิตดึงใจจากความฟุ้งซ่านทั้งหลายทั้งปวงนั้นมาตรงต่อธรรมะ ก็จะทำให้จิตใจมันร่มเย็นเป็นสุข
จิตใจของเราเกิดความเร่าร้อนเพราะอะไร ก็เพราะว่าจิตใจของเรามันคิดถึงบาป คิดถึงการงาน คิดถึงสิ่งที่เราจะต้องทำที่เป็นอดีตเป็นอนาคต หรือว่าเป็นสิ่งที่เราจะทำให้วันพรุ่ง ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรานั้นไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ไม่อยู่กับจิตกับใจ ก็เกิดความวุ่นวายสับสนขึ้นมา แต่ถ้าเราดึงจิตดึงใจของเราออกจากการงานเหล่านั้นก็จะทำให้จิตใจของเรานั้นมันเริ่มสงบเย็นลง ๆ เหมือนกับน้ำขุ่น ๆ ที่เราตักใส่ตุ่มใส่โอ่งไว้ ไม่นานตะกอนมันก็ค่อย ๆ จมลงไป ๆ ๆ น้ำก็จะใสขึ้นมา
ในขณะที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ บางคนประพฤติปฏิบัติธรรมที่ภูดินผ่านมาแล้ว ๓ ปี ๔ ปี ๕ ปี แต่ไม่เคยเดินจงกรม นั่งภาวนา ไม่เคยมาร่วมประพฤติปฏิบัติธรรม อย่างนี้ก็มี เรียกว่าไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม พอมาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ ๆ คนไม่เคยเข้ามาสู่ธรรมะ เมื่อเข้ามาสู่ธรรมะบาปมันก็ให้ผล ก็ทำให้จิตใจเร่าร้อน กระวนกระวาย กระสับกระส่าย จิตใจว้าวุ่นไม่อยู่กับเนื้อกับตัว อันนี้ในลักษณะของบุคคลผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรมใหม่ เพราะฉะนั้นตัองดึงจิตดึงใจของเรานั้นมาสู่อารมณ์ปัจจุบันให้ได้ จิตใจของเราก็สงบไป ๆ ถ้าจิตใจของเราสงบเป็นฌานเป็นสมาธิก็เรียกว่าเราฟังธรรมในขั้นกลางได้สมบูรณ์แบบแล้ว ประการที่สามก็คือการฟังไปด้วยแล้วก็กำหนด ได้ยินหนอ ๆ หรือว่า เสียงหนอ ๆ เห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของรูปนาม
ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าฟังธรรมะอย่างสูง ฟังแล้วได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ฟังแล้วเกิดปัญญา เกิดสติ เกิดความสามารถ สามารถประหารกิเลสได้ เรียกว่าฟังตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ เพราะว่าพระองค์ตรัสว่าพุทธบริษัทนั้นเป็นสาวกของพระองค์ จะเป็นภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกานั้นเป็นสาวกของพระองค์ สาวกนั้นแปลว่า “ผู้ฟัง” เป็นผู้ฟังที่ดี เพราะฉะนั้น พวกเราก็ถือว่าเป็นผู้ฟัง คือฟังคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เวลาประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ขอให้พวกเราทั้งหลายได้ตั้งใจฟัง
วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันขึ้นมานัต เมื่อขึ้นมานัตแล้วคณะครูบาอาจารย์ท่านก็จะให้เราเดินจงกรม ๑ ชั่วโมง นั่ง ๑ ชั่วโมง เรียกว่าเพิ่มการประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมา เพิ่มความเพียร เพิ่มความอดทน เพิ่มสติ เพิ่มปัญญา เพิ่มสมาธิขึ้นมามากกว่าเดิมอีกหนึ่งเท่าตัว เพราะฉะนั้น ผลของการประพฤติปฏิบัติธรรมก็จะปรากฏขึ้นมากับเราอีกหนึ่งเท่าตัว แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรมก็คล้อยลงไปเรื่อย ๆ ซึ่งการประพฤติปฏิบัติธรรมก็น่าอนุโมทนาสาธุการ ที่คณะเจ้าอาวาสตลอดถึงญาติโยมทั้งหลายได้มาร่วมกันประพฤติปฏิบัติธรรม ถึงจะมีจำนวนน้อย แต่ก็ถือว่าเป็นบุคคลตัวอย่างในสังคม เป็นบุคคลดีศรีสังคม เป็นบุคคลดีศรีประเทศ เรียกว่าเป็นสิริแห่งประเทศ สิริก็คือความเป็นมงคล
ถ้าบุคคลใดมาประพฤติปฏิบัติธรรม บุคคลนั้นก็จะระงับบาปทางกาย วาจา ใจ ไม่ไปทำบาปแก่บุคคลอื่น สังคมก็สงบร่มเย็น บ้านเมืองก็สงบร่มเย็น เพราะฉะนั้น ถึงจะน้อยแต่ก็มีคุณภาพ เพราะฉะนั้น ขอให้ญาติโยมทั้งหลายได้ภูมิอกภูมิใจ ซึ่งการประพฤติปฏิบัติธรรมในป่าช้าภูดินหรือว่าสำนักสงฆ์ภูดินนี้ก็ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรม ในเดือนธันวาคม การประพฤติปฏิบัติธรรมในเดือนธันวาคมนั้น ก็ถือว่าส่วนมากจิตใจของคนนั้นจะสับสนวุ่นวาย อยากจะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ก็ถือว่าพวกเราทั้งหลายได้มาประพฤติปฏิบัติธรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพราะว่าอีกไม่กี่วัน
วันนี้ก็เป็นวันที่ ๒๔ อีกไม่กี่วันปีใหม่ก็จะมาถึง ปีเก่าก็จะสิ้นไป ปีเก่าคือปี ๒๕๕๒ ก็จะค่อย ๆ สิ้นไป ๆ ไม่หวนกลับคืนมาอีก เราจะเอาเงินเอาทองมาแลกให้เวลามันหวนกลับมามันก็ไม่หวนกลับ ปีใหม่คือปี ๒๕๕๓ ก็จะย่างกรายเข้ามา อายุของเราก็จะเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ขอให้พวกเรานั้นดีอกดีใจว่าปีหนึ่งผ่านไปแล้วเรายังไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เรายังไม่เกิดอุปสรรคอันตราย ชีวิตของเรายังผ่านมาอีกปีหนึ่ง ก็ขอให้เรานั้นจงดีอกดีใจ ภูมิอกภูมิใจ ว่าเรารอดพ้นอันตรายมาแล้วอีก ๑ ปี บางคนก็รอดพ้นอันตรายมาแล้ว ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี ๖๐ ปี ก็มี แต่ว่าเราก็อย่ามั่นใจ ว่าเรานั้นจะมีชีวิตยืนยาวออกไปอีกกี่ปี อีกกี่เดือน อีกกี่วัน เราก็ไม่รู้ เพราะว่าความตายเราไม่รู้แม้ว่ามันจะเกิดในวันพรุ่งนี้
ความพลัดพรากจากสามีจากภรรยาจากบุตรจากทรัพย์สินเงินทองนั้น เราก็ไม่รู้ว่าเราจะพลัดพรากวันไหน เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถที่จะรู้ได้ เราไม่สามารถที่จะบังคับไม่ให้พ่อตายไม่ให้แม่ตาย ไม่ให้ทรัพย์สินนั้นมันสูญหายได้ บางครั้งอยู่ดี ๆ อาจเกิดอัคคีภัยเกิดไฟไหม้ขึ้นมา เกิดโจรปล้น หรือว่าเกิดธุรกิจล้มเหลวเป็นต้น อันนี้เราก็ไม่สามารถที่จะรู้ล่วงหน้าได้ เพราะฉะนั้น ชีวิตของเราที่ล่วงมาถึงขณะนี้ก็ถือว่าเป็นที่น่าดีอกดีใจ เรามาได้เพราะบุญของเราจริง ๆ ถ้าเราไม่มีบุญแล้ว เราก็คงไม่มีอายุมาถึงขณะนี้ แล้วเราจะมีอายุไปอีกกี่ปี อันนี้ก็แล้วแต่บุญกุศล แล้วแต่วาสนา แล้วแต่กรรม แล้วแต่เวร ที่เราได้สร้างสมอบรมไว้
บางคนทำบุญไว้มากอายุก็ยืน บางคนทำบุญไว้น้อยอายุก็สั้นพลันตาย เกิดมาแล้วก็มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน อันนี้เป็นลักษณะของสัตว์โลกทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา บางคนเกิดมามีผิวพรรณมีวรรณะมีอายุมีอะไรต่างกัน อันนี้ก็ล้วนแล้วเกิดขึ้นมาจากบุญ ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากอย่างอื่น เพราะฉะนั้น สิ่งที่จะทำให้เรานั้นมีอายุยืนก็คือต้องทำบุญทำทาน ไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ให้ทาน รักษาศีล เป็นต้น อันนี้เป็นบุญกุศล ถ้าบุคคลใดมีบุญมาก บุคคลนั้นก็สามารถที่จะอายุยืนได้ แต่ถ้าบุคคลใดมีบุญน้อย บุคคลนั้นก็ต้องพลันตาย เพราะว่าบุญนั้นเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังเรื่องของอายุวัฑฒนกุมารที่ท่านกล่าวไว้ว่า
กาลครั้งหนึ่ง เมื่อสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเรานั้นยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ มีดาบสสองคนออกไปบวช ละบ้านละเรือน ละอาชีพการงาน ละเงินละทอง ละครอบครัว ละญาติพี่น้องทั้งหลายออกบวชถือเพศเป็นดาบส เมื่อถือเพศเป็นดาบสแล้วก็บำเพ็ญตบะธรรมอยู่ ๔๘ ปี คิดดูสิบวชเป็นฤาษี ๔๘ ปี เมื่อบวชเป็นฤาษี ๔๘ ปีแล้ว คนหนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์ ก็คิดว่าตระกูลของเราที่เล่าเรียนศึกษามนต์ต่าง ๆ มา
ถ้าไม่มีใครสืบทอด ไม่มีบุตรสืบทอด ไม่มีศิษย์สืบทอด ตระกูลของเราวงษ์ของเราก็จะสูญสิ้นไป กลัววงษ์ของตนเองจะสูญสิ้นไปก็เลยสึก ลาเพศนักบวชออกมาครองเรือนแต่งการแต่งงานมีครอบครัว มีลูกคนหนึ่ง เมื่อมีลูกแล้วก็ได้ยินข่าวว่าเพื่อนที่เป็นดาบสนั้นมาเยี่ยมเมืองที่ตนเองอยู่ก็พาลูกพาเมีย มีลูกน้อย ๆ ที่เพิ่งคลอดมาใหม่ ก็พาไปไหว้เพื่อนของตนเอง ขณะที่สามีภรรยาไหว้นั้นแหละ ดาบสก็บอกว่าขอท่านทั้งหลายจงมีอายุมั่นขวัญยืนมีอายุยืนยาวนานเถิด แต่ว่าขณะที่พาบุตรของตนเองไหว้นั้นแหละ
ดาบสนั้นก็นิ่งไม่กล่าวอะไร ก็เลยเกิดความฉงนสนเท่ห์ ก็เลยกล่าวว่า ขณะที่เราทั้งสองไหว้ ท่านก็อวยพรว่าให้มีอายุมั่นขวัญยืนปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่ว่าขณะที่ลูกชายของกระผมไหว้ ทำไมท่านถึงนิ่งอยู่ ผู้ทีเป็นดาบสมีญาณวิเศษก็กล่าวว่า เด็กนี้จะมีอายุได้อีก ๗ วันเท่านั้นเอง เมื่อถึง ๗ วันแล้วเด็กนี้ก็จะถึงซึ่งความตาย ผู้เป็นมารดาบิดาก็เกิดความกลัว ก็เลยกล่าวว่ามีอะไรที่พอจะแก้ไขได้ไหม มีหนทางที่จะแก้ไขไหม ดาบสก็บอกว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ แต่พระมหาสมณะโคดมพระพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงรู้ ขอให้ท่านไปหาพระมหาสมณะโคดมเถิด
แต่ว่าพราหมณ์ผู้เป็นบิดาของเด็กนั้นไม่อยากไป เพราะว่าบุคคลใด จะเป็นพราหมณ์ที่มีชื่อเสียง จะเป็นนักบวชที่มีชื่อเสียงมากมายมีมนต์ศักดิ์สิทธิ์ขนาดไหนก็ตาม เมื่อเข้าไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็จะถูกพระพุทธเจ้านั้นกลืนเอาไปหมดและจะต้องยอมเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหมด ก็เลยไม่อยากจะไป กลัวตนเองจะได้นับถือพระพุทธเจ้า อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะว่าบุคคลผู้ใดที่เข้าไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะต้องถูกพระพุทธเจ้าเอาเป็นสาวกหมด เหมือนกับแสงหิ่งห้อย เมื่อแสงอาทิตย์ปรากฏขึ้นมา แสงหิ่งห้อยก็จางหายไป ความรู้ทั้งหลายทั้งปวงของพราหมณ์นั้นไม่สู้ความรู้ของพระสัพพัญญู คือไม่สู้ความรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้นพราหมณ์จึงไม่อยากไป
ดาบสก็เลยกล่าวว่า ท่านอย่าคำนึงถึงเรื่องความสูญเสียของเวทย์มนต์เลย ขอท่านจงรักษาชีวิตของบุตรท่านไว้เถิด ก็เลยพาลูกชายกับภรรยาไปไหว้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในขณะที่ไหว้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสว่า ขอท่านทั้งหลายจงมีอายุยืนยาวนานเถิด แต่พอดีเด็กไหว้ พระองค์ก็ทรงนิ่ง เป็นดุษณีภาพไม่ตรัสอะไร พราหมณ์ก็เกิดความสงสัย และพระพุทธองค์ก็ตรัสเหมือนกับที่ดาบสกล่าวไว้ในเบื้องต้น แล้วพราหมณ์ก็ถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่ามีหนทางที่จะแก้ไขไหมเพื่อให้เด็กนั้นมีอายุยืนยาวนานไปกว่า ๗ วัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่ามี ดูก่อนพราหมณ์ หนทางนั้นมีอยู่ แล้วพระองค์ก็ตรัสให้สร้างมณฑปขึ้นในระหว่างเรือนแล้วก็ปูลาดอาสนะ ๘ ที่ ๑๐ ที่ แล้วก็ให้เด็กนั้นนอนอยู่ตรงกลาง แล้วก็นิมนต์พระมา ๘ รูป ๑๐ รูป มาเจริญพระพุทธมนต์ไม่มีระหว่าง คือเจริญพุทธมนต์ตั้งแต่เช้าถึงค่ำ ตั้งแต่ค่ำไปตลอด ไม่เว้น ชุดนี้เข้าชุดนี้ออก ชุดนี้เข้าชุดนี้ออก ตลอด ๗ วัน พอวันที่ ๗ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาเอง พระองค์ก็ทรงเจริญพระพุทธมนต์ทั้งคืน
ขณะที่พระองค์เจริญพระพุทธมนต์ทั้งคืนนั้น เทวดาทั้งหมื่นจักรวาลก็มารวมกัน เมื่อเทวดาทั้งหมื่นจักรวาลมารวมกัน อาฬวกยักษ์ที่จะมาเอาเด็กคนนั้น ที่ได้รับพรจากท้าวเวสสุวัณว่าอีก ๗ วันท่านจงจับเด็กคนนี้เป็นอาหารได้ แต่เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับในวันที่ ๗ เทวดาหมื่นจักรวาลมาร่วมฟังธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสวด เทวดาผู้มีศักดิ์น้อยก็ถอยไปตามลำดับ เทวดาศักดิ์ใหญ่มาเทวดาศักดิ์น้อยก็ถอยลงไปตามลำดับ อาฬวกยักษ์นี้ก็เหมือนกัน ก็ต้องถอยไปเหมือนกัน เพราะว่าตนเองนั้นมีศักดิ์น้อย ในที่สุดก็ไม่มีโอกาสที่จะจับเอาเด็ก วันที่ ๘ ก็ต้องกลับไปสู่ที่บำรุงของท้าวเวสสุวัณ
แล้วก็วันที่ ๘ บิดามารดาของทารกนั้นก็ทำบุญกับพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อพาเด็กไปกราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ให้พรว่า ขอให้เด็กนั้นจงมีอายุยืนยาวนาน บิดามารดาของเด็กก็ถามว่าเด็กนี้จะมีอายุยืนยาวนานขนาดไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสว่ามีอายุยืนยาวนานถึง ๑๒๐ ปี อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่าเด็กนั้นทำบุญมีการไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ แล้วก็มีการทำบุญทำทาน เพราะฉะนั้นการทำบุญทำทานนั้นก็ถือว่าทำให้มีอายุยืนยาวนานได้ ในเมื่อเด็กนั้นไม่ตายเด็กนั้นก็เจริญวัยขึ้นมา เมื่อเจริญวัยขึ้นมาก็มีบริวารถึง ๕๐๐ คน
ในวันหนึ่งภิกษุสนทนาธรรมกันที่โรงธรรมสภาว่า เด็กคนนี้ธรรมดาจะตายในวันที่ ๗ แต่ว่าทำบุญทำทานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอายุยืนยาวนานมาได้ สงสัยว่าเหตุที่จะทำให้อายุยืนนั้นมีอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จมาที่โรงธรรม แล้วก็ตรัสธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน เป็นต้น ซึ่งแปลว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเกิดมีแก่บุคคลผู้มีความเคารพ มีความกราบไหว้ มีความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่อยู่เป็นนิตย์ อันนี้เป็นธรรมที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัส ดังที่ภิกษุทั้งหลายได้ให้พรอยู่เป็นประจำว่า
อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ
พรทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่ผู้มีความเคารพ
มีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์
อันนี้เป็นเหตุให้อายุมั่นขวัญยืน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ที่เคารพต่อผู้ใหญ่ก็ดี เคารพต่อบุคคลผู้เกิดก่อน ลูกเคารพต่อพ่อแม่ ลูกศิษย์เคารพต่อครูบาอาจารย์ ไพร่ฟ้าประชาชนเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้อายุมั่นขวัญยืน เกิดความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมา แล้วภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า บุคคลจะมีอายุมั่นขวัญยืนนั้นต้องตั้งอยู่ในธรรมอย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ตรัสธรรม ๔ ประการ คือ
๑. ปัญญา
๒. ความเพียร
๓. ความระมัดระวัง ความสำรวม
๔. การเสียสละ
ถ้าบุคคลใดถึงพร้อมด้วยธรรม ๔ ประการนี้ บุคคลนั้นก็จะมีอายุมั่นขวัญยืน อันนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้ภิกษุทั้งหลายได้สดับรับฟัง คำว่าปัญญาในที่นี้ไม่ได้หมายถึงปัญญาทางโลก แต่หมายถึงปัญญาทางธรรม ถ้าบุคคลใดมีปัญญาทางโลก บุคคลใดมีปัญญาดี บุคคลนั้นก็จะมีเงินไหลนองทองไหลมา ยศถาบรรดาศักดิ์ทุกสิ่งทุกอย่างจะมารวมกัน เรียกว่าบุคคลใดมีปัญญา บุคคลนั้นก็สามารถหาเงินหาทองหายศถาบรรดาศกัดิ์ได้ อันนี้ไม่ขอกล่าว
แต่ว่าปัญญาในทางธรรมนั้นก็หมายถึงความรอบรู้ ความรอบรู้ในที่นี้หมายถึงความรอบรู้ในกองสังขาร อย่างที่ญาติโยมสาธุชนทั้งหลายมาประพฤติปฏิบัติ บุคคลใดไม่สามารถที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมได้ มีความเบื่อหน่าย มีความอ่อนแอ มีความท้อแท้ บุคคลนั้นถือว่าปัญญายังไม่เกิด แต่ถ้าบุคคลใดมีปัญญาเกิดแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสไว้ว่า บุคคลนั้นเห็นร่างกายของตนเองนั้นเปรียบเสมือนกับซากศพ หรือว่าเห็นร่างกายของตนเองนั้นเปรียบเสมือนของปฏิกูลโสโครก อยากออกอยากหนีอยากหลุดอยากพ้น เหมือนกับบุคคลผู้ที่ไฟไหม้บนศีรษะ ต้องการที่จะดับไฟบนศีรษะ บุคคลใดมีปัญญาพิจารณาเห็นกองทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีปัญญา
การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นท่านหมายถึงว่าปัญญาคือความรอบรู้ คือรอบรู้ตั้งแต่พื้นเท้าถึงปลายผมจากปลายผมถึงพื้นเท้า เรารอบรู้ในกองสังขารของเรา รอบรู้ในกาย รอบรู้ในวาจา รอบรู้ในใจของเรา เพราะฉะนั้นเวลาเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เราก็ควรที่จะมีปัญญาเหนี่ยวรั้งกายวาจาใจของเราให้อยู่ โดยเฉพาะสภาพจิตใจของเรา บุคคลผู้มาประพฤติปฏิบัติธรรมส่วนมากจะระวังแต่กาย ระวังแต่วาจา แต่ไม่เคยระวังใจ แต่ว่าใจนั้นถือว่าเป็นตัวแห่งปัญญา ถ้าบุคคลใดไม่ระวังใจ บุคคลนั้นก็ถือว่าปัญญายังไมเกิด เรียกว่าจิตหรือว่าใจของเรานั้นถือว่าเป็นมหาเหตุเป็นต้นเหตุ เพราะฉะนั้นเราต้องหยุดจิตหยุดใจของเราให้ได้ รั้งจิตใจของเราให้อยู่รู้ให้ทันขบวนจิตของเราให้ได้ ถ้าเราหยุดจิตหยุดใจของเราไม่ได้ การประพฤติปฏิบัติธรรมของเราก็ไม่เป็นไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า บุคคลผู้ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นไม่สามารถที่จะหยุดเหตุ ๔ ประการนี้ได้ คือ
ประการที่ ๑ ความโกรธ ถ้าบุคคลใดไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อความโกรธเกิดขึ้นมาแล้วหยุดไม่ได้ รั้งไม่อยู่ รู้ไม่ทันความโกรธ ต้องโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ กำหมัดกัดฟัน ชกต่อยตีรันฟันแทงกัน เพราะอะไร เพราะว่าตนเองไม่รู้เท่าทันความโกรธ อันนี้ประการที่ ๑ เพราะไม่เคยกำหนด โกรธหนอ ๆ ตั้งสติกำหนดรู้ไม่ทัน
ประการที่ ๒ เมื่อราคะเกิดขึ้นมาครอบงำ หยุดไม่ได้ รั้งไม่อยู่ รู้ไม่ทันอำนาจของราคะ คือเมื่อราคะมันเกิดขึ้นมาแล้วก็หยุดไม่ได้ รู้อยู่ว่ามั้นเกิดขึ้นมาแต่ไม่สามารถหยุดการกระทำล่วงเกินบาปทางกายวาจานั้นได้ ต้องทำไปตามอำนาจของราคะ เพราะอะไร ? เพราะไม่รู้วิธีกำหนด แต่ถ้าบุคคลใดเคยประพฤติปฏิบัติธรรม ก็รู้วิธีกำหนด กำหนดว่า ราคะหนอ ๆ เท่านั้นราคะมันอ่อนไปเบาไปสิ้นไปหมดไปจากจิตจากใจของเรา อันนี้เรียกว่าบุคคลผู้เคยประพฤติปฏิบัติธรรมหยุดได้ แต่บุคคลที่ไม่เคยปฏิบัติธรรมจะหยุดไม่ได้
ประการที่ ๓ ก็คือ โมหะ ความหลง เราจะหลงรูป หลงกลิ่น หลงรส หลงธรรมารมณ์อะไรต่าง ๆ ก็ตาม ถ้าจิตใจหลงแล้ว บุคคลผู้ไม่เคยปฏิบัติธรรมก็ต้องทำตามอำนาจของความหลง หลงในเสียงก็ต้องพยายามไขว่คว้าหาเสียงให้ได้ หลงในรูปก็พยายามที่จะไขว่คว้าหารูปให้ได้ จะถูกหรือจะผิดเราต้องเอาให้ได้ เรียกว่าต้องพยายามทำให้ได้ อันนีเรียกว่าหลง ไม่สามารถที่จะหักห้ามจิตใจของตนเองได้
ประการที่ ๔ ท่านกล่าวว่า จิตคิดจะไป ถ้าบุคคลใดไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วจิตคิดจะไปนั้นกำหนดไม่อยู่ มันอยากจะไปโน่นไปนี่ เราเดินจงกรมอยู่ดี ๆ ก็คิดว่าเราเดินจงกรมอย่างนี้มันไม่สงบเลย ต้องไปอยู่ถ้ำอยู่เหว หรือว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้มันไม่ดีเลย เราต้องไปเดินธุดงค์ในป่าในถ้ำอย่างนั้นมันจะดี หรือว่าเราประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่นี้มันมียุงมีความหนาว เราไปนั่งอยู่ในห้องแอร์ อยู่ที่กุฏิอยู่ที่บ้านเราดีกว่า อะไรทำนองนี้ อันนี้ถือว่าเป็นจิตคิดจะไป บุคคลผู้ที่ไม่เคยกำหนดก็ปล่อยให้ล่วงเลยไป มันคิดถึงกรุงเทพก็คิดไปมันคิดถึงเชียงใหม่ก็คิดไป มันคิดถึงภาคใต้ก็คิดไป ไม่กำหนดจิตว่าคิดหนอ ๆ ไม่กำหนด ถ้าเรากำหนดว่าคิดหนอ ๆ สิ่งเหล่านั้นมันก็จะลดลง เบาลง แล้วก็หมดไป
เวลาเราประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อจิตคิดจะไป เราต้องหยุดมันให้ได้ รั้งมันให้อยู่ ต้องรู้ทันอำนาจของกิเลส ว่าสิ่งเหล่านี้มันไม่ใช่ธรรมะ แต่มันเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส อันนี้ให้เราพยายามกำหนดให้ได้ ถ้าเรากำหนดได้ จิตของเราก็จะนิ่ง เหมือนกับเราเอาเชือกไปล่ามไว้ที่คอวัวคอควาย มันก็ไปไหนไม่ได้ ในที่สุดมันก็หายพยศ จิตใจของเราก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเวลาสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาเราต้องพยายามกำหนด อันนี้เรียกว่าเป็นตัวปัญญา ตัวที่เรากำหนดรู้นี่แหละเป็นตัวปัญญา ตัวที่เราเห็นความโกรธ เห็นราคะ เห็นความหลง แล้วก็เห็นจิตที่คิดจะไปเนี่ย เรียกว่าเป็นตัวปัญญาในทางพระพุทธศาสนา ถ้าเราเห็นสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ในจิตใจของเรา เรารู้เท่า รู้ทัน รู้กัน รู้แก้ ในที่สุดศีลมันก็เกิดขึ้นมา สมาธิมันก็เกิดขึ้นมา มรรคผลมันก็เกิดขึ้นมา เมื่อมรรคผลมันเกิดขึ้นมาแล้วก็ถือว่าเป็นปัญญาสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่าให้เรานั้นเป็นผู้มีปัญญา
ประการที่สองคือพระองค์ทรงตรัสให้เรามีความเพียร ความเพียรนั้นเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เป็นสิ่งที่เลิศ บุคคลใดขาดความเพียร จะเป็นความเพียรทางโลกก็ดี จะเป็นความเพียรทางธรรมก็ดี บุคคลนั้นก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ อย่างที่บุคคลเกิดมาแล้วก็ต้องมีความเพียร ถ้าไม่มีความเพียรก็ไม่มีทรัพย์ เรียกว่าหาทรัพย์ไม่ได้ เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีความเพียรนั้นย่อมสามารถที่จะพ้นไปจากความทุกข์ได้
ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร จะเป็นความทุกข์ความยากจนทางโลกก็ดี อย่างเราเกิดมาเป็นคนยากจนข้นแค้นอนาถาลำบากฝืดเคือง แต่ถ้าเรามีความเพียร มีความขยัน มีความอดทน บางครั้งเราก็หายจากความยากจน มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย เป็นเศรษฐีเป็นกุฎุมพีขึ้นมาก็ได้
ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า อุฏฐาตา วินฺทเต ธนํ บุคคลผู้ที่มีความเพียรนั้นย่อมประสบกับทรัพย์ เรียกว่า คนมีความเพียรนั้นย่อมได้ทรัพย์ เพราะฉะนั้น เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีความเพียรในการเดินในการนั่งในการกำหนดในการประพฤติปฏิบัติ ตื่นแต่เช้านอนดึกตามที่คณะครูบาอาจารย์ได้แนะนำพร่ำสอน ความสำเร็จในทางธรรมมันก็ไม่ปรากฏขึ้นมา เพราะว่าความเกียจคร้านย่อมทำลายทุกอย่าง
ถ้าเราถูกความเกียจคร้านครอบงำเมื่อไหร่ การงานทั้งทางโลกทางธรรมก็ถูกทำลาย ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จะมีทรัพย์ก็ไม่มี จะมีศีลก็ไม่มี จะมีสมาธิก็ไม่มี จะมีวิปัสสนาหรือมรรคผลก็ไม่มี ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่าคนเกียจคร้านย่อมไม่มีศิลปะ คือคนเกียจคร้านนั้นไม่มีศิลปะ จะศึกษาก็ขี้เกียจ จะทำงานปูนก็ไม่อยากทำ ขี้เกียจทำ ก็เลยไม่มีศิลปะ จะเรียนหนังสือ ท่องนักธรรม ท่องบาลี ก็ขี้เกียจ ก็ไม่มีศิลปะในการเรียนรู้ หรือว่าจะประพฤติปฏิบัติเพื่อให้ได้สมาธิ ก็ไม่ปฏิบัติ ขี้เกียจ ก็ไม่มีศิลปะที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้สมาธิ หรือว่าจะเจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ขี้เกียจ ก็เลยไม่มีศิลปะ
ท่านจึงกล่าวว่าบุคคลผู้เกียจคร้านจึงไม่มีศิลปะ บุคคลไม่มีศิลปะก็ไม่มีทรัพย์ คือไม่มีศิลปะ ไม่มีความรู้ ไม่มีการงาน แล้วก็ไม่มีทรัพย์ คนไม่มีทรัพย์ก็ไม่มีมิตร บุคคลใดมีทรัพย์ บุคคลนั้นจะมีบริวารมาก เมื่อไม่มีทรัพย์ มิตรก็ไม่มี เมื่อมิตรไม่มี ความสุขก็ไม่มี เมื่อความสุขไม่มี บุคคลนั้นก็ไม่มีหนทางที่จะทำบุญ บุคคลที่ไม่มีบุญก็ไม่ถึงพระนิพพาน เรียกว่ามันเป็นเหตุสืบเนื่องติดต่อกันไป
ขอให้ญาติโยมสาธุชนทั้งหลายได้เข้าใจว่าเราต้องมีความเพียร เวลามาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนา อดตาหลับขับตานอน เพียรที่จะละบาปไม่ให้เกิดขึ้นมาภายในจิตในใจของเรา บาปจะเป็นบาปอย่างเล็กอย่างกลางอย่างละเอียด เราก็เพียรไม่ให้มันเกิดขึ้นมา แล้วก็เพียรทำบุญด้วยการเดินจงกรมนั่งภาวนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เราเคยให้ทานเราก็เพียรให้ทานต่อไปเรื่อย ๆ เรารักษาศีล ศีลของเราขาดตกบกพร่องด่างพล้อยทะลุตรงไหนเราก็เพียรรักษาศีลของเราให้ดี ๆ ขึ้นไป
สมาธิก็เหมือนกัน ขณะนี้สมาธิของเรายังไม่สามารถเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌานได้ เราก็ต้องเพียรให้เราเข้าสมาธินั้นได้ ตลอดถึงวิปัสสนาญาณของเราขณะนี้มันมีขนาดไหน วิปัสสนาญาณของเราสมบูรณ์ขนาดไหน เราเดินจงกรม นั่งภาวนามา ๓ วัน ๔ วันนี้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้นขนาดไหน เราสามารถที่จะได้บรรลุมรรคผลนิพพานไหมในการประพฤติปฏิบัติธรรมครั้งนี้ หรือเราจะประพฤติปฏิบัติธรรมนานขนาดไหน อันนี้เราต้องมีความเพียรพิจารณา มีความเพียรประพฤติปฏิบัติสืบเนื่องกันไป
เพราะฉะนั้น ความเพียรนั้นจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นทอดทิ้งไม่ได้ ต้องมีความเพียรอยู่เป็นประจำ บางคนมาประพฤติปฏิบัติธรรม คิดว่าการประพฤติปฏิบัติธรรม การเดินจงกรมนั่งภาวนามันลำบาก แต่เมื่อเราพิจารณาถึงการทำไร่ไถนาทำการค้าการขาย หรือว่าการประกอบอาชีพอย่างอื่นทางโลก ลำบากยิ่งกว่าการเดินจงกรมการนั่งภาวนามาก ไม่ได้ฆ่าปูฆ่าปลาฆ่าเป็ดฆ่าไก่ ไม่ได้เกิดบาปขึ้นมา เรามาเดินจงกรมนั่งภาวนา ลำบากเฉพาะจิตใจของเรา ถ้าเราชนะจิตใจของเรา เราก็สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้ เพราะฉะนั้น ความเพียรในการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นก็ขอให้เราจงมีความอดทนมีความเพียรบากบั่นกำหนดลงไปที่ใจของเรา อย่าให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำจิตใจของเรา
ประการที่สาม ต้องระมัดระวัง ไม่ให้ความเกียจคร้านเข้าครอบงำจิตใจของเรา ระมัดระวังการประกอบอาชีพของเราให้สุจริต คือเราประกอบอาชีพทางโลก บางครั้งก็ฆ่าสัตว์ บางครั้งก็ต้องพูดเท็จ พูดไม่ตรงความจริง บางครั้งก็เข้าสังคมดื่มเหล้าเมายา อันนี้เรียกว่าการดำรงชีพไม่บริสุทธิ์ ฉะนั้นเวลาเราอยู่ทางโลก เราก็ต้องระวังการงานของเราให้บริสุทธิ์ ไม่ประกอบสิ่งที่มันเป็นบาปเป็นกรรม ประการที่สามก็คือระวังกายวาจาใจของเราให้ดี ไม่ให้ยินดีในการทำความชั่ว ให้จิตใจของเราอยู่กับความดีตลอดเวลา อันนี้เรียกว่าระวังกายวาจาใจของเราไม่ให้ยินดีในบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวง รู้จักแยกแยะว่าอะไรเป็นบุญอะไรเป็นบาป แล้วก็ดึงกายวาจาใจของเราให้พ้นจากอำนาจของบาปกรรมทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ท่านให้เราระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ต้องระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือเราอยู่ทางโลก เราก็ต้องระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เหมือนกัน เพราะว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นถือว่าเป็นที่เดินของบาปและบุญ
ถ้าบุคคลใดอยู่ทางโลกไม่ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บางครั้งก็อาจจะไปเห็นภรรยาเขาสวย อยากได้ทรัพย์สมบัติของเขา อยากได้สิ่งนั้นอยากได้สิ่งนี้ เกิดความโลภ เกิดราคะ เกิดตัณหา เกิดความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมา ก็กอบโกยโกงกิน ทุจริตเอาสิ่งนั้นมาเป็นของตนเอง ก็จะเป็นบาปเป็นกรรมขึ้นมา เพราะฉะนั้นเราต้องสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นสิ่งใดก็ต้องให้พิจารณาสิ่งนั้น รู้จักแยกแยะสิ่งนั้น ฟังสิ่งใดก็ต้องให้รู้จักพิจารณาสิ่งนั้นแล้วก็แยกแยะสิ่งนั้น ได้ลิ้มรสอะไรเราก็ต้องรู้จักแยกแยะรสนั้น เราจะสัมผัสทางกายทางใจก็เหมือนกันเราต้องรู้จักแยกแยะ
อันนี้ท่านกล่าวไว้เป็นเหตุผลของผู้ประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมจะได้รับรูป เสียง กลิ่น รส อะไรก็ตามต้องรู้จักแยกแยะ ตัวรู้จักแยกแยะนี่แหละเป็นตัวปัญญาในทางพระพุทธศาสนา บุคคลจะประเสริฐหรือไม่ประเสริฐ บุคคลจะเลิศหรือไม่เลิศ บุคคลจะบริสุทธิ์บริบูรณ์นั้นก็รู้จักตรงที่แยกแยะนี้ เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงอยู่เหนืออารมณ์ของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของเทวดา ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของพรหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เหนือหมด อารมณ์เหล่านั้นไม่สามารถทำให้จิตของพระองค์เกิดความกำหนัด ไม่สามารถทำให้จิตของพระองค์เกิดความโกรธประทุษร้ายได้ ไม่สามารถทำให้จิตของพระองค์เกิดความลุ่มหลงได้ ไม่สามารถที่จะดึงจิตดึงใจของพระองค์ให้ไปถือปฏิสนธิในมนุษย์ ในเทวดา ในพรหม ได้อีก เพราะว่าจิตของพระองค์พ้นแล้ว อันนี้ถือว่าเกิดขึ้นมาด้วยการประพฤติปฏิบัติ
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 กรกฎาคม 2565 13:17:28 โดย Maintenence
»
บันทึกการเข้า
[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 1117
[• บำรุงรักษา •]
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 103.0.5060.66
Re: ธรรมอันเป็นยาอายุวัฒนะ - พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลฯ
«
ตอบ #1 เมื่อ:
07 กรกฎาคม 2565 13:17:00 »
ธรรมอันเป็นยาอายุวัฒนะ
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี
การที่พวกเราทั้งหลายจะพ้นจากความทุกข์ถึงสันติสุขเหมือนกับพระองค์นั้นต้องพิจารณา ถ้าบุคคลใดพิจารณาไม่ได้แสดงว่าบุคคลนั้นมีบารมีอ่อนแล้ว บารมียังไม่แก่กล้าปัญญายังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ต้องพยายามพิจารณาเรื่อย ๆ สอดส่องเรื่อยๆ คิดเรื่อยๆ ปัญญามันก็จะแก่กล้าขึ้นมาเอง เหมือนกับเราลับมีด ลับไปเรื่อยๆ มันก็คมขึ้นมาเอง เหมือนกับเราทำงานไม่เป็นแต่ว่าเราขยันทำหมั่นทำ ในที่สุดงานนั้นเราก็ชำนิชำนาญคล่องแคล่วขึ้นมา การประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน การสร้างบารมีก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่หยุดไม่ยั้งเราสร้างไปเรื่อย ๆ อย่างญาติโยมหลายๆ คน หลาย ๆ ท่าน ที่เราเห็นมาประพฤติปฏิบัติธรรมทุกปี ๆ เรียกว่าตักน้ำใส่ตุ่มทุกปี ๆ ไม่ช้ามันก็เต็ม เหมือนกับตุ่มที่เราเปิดไว้กลางแจ้ง ฝนตกลงมา ถึงจะตกรินก็ตาม ตกนิดตกหน่อยก็ตาม มันก็ค่อย ๆ เต็มขึ้นไป ๆ
บารมีที่เราสั่งสมนี้ก็เหมือนกัน เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของพวกเราสั่งสมบารมีตั้ง ๔ อสงขัยกับแสนมหากัป พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญบารมีมาให้เต็มบริบูรณ์ อสงขัยหนึ่งนับไม่ได้ว่ามันกี่ล้านๆๆ กัป นับไม่ได้ แต่พระองค์ก็ทรงเพียรสร้างสมอบรมคุณงามความดีนั้นจนเต็ม เพราะฉะนั้นเราผู้ปรารถนาความพ้นจากทุกข์ก็ควรที่จะสร้างสมอบรมคุณงามความดี เราอดทนในการเลี้ยงครอบครัวสร้างเนื้อสร้างตัว เราก็อดทนมามากแล้ว เราสร้างสมบัติภายนอก หาสมบัติภายนอก หาเงินหาทองซึ่งเป็นสมบัตินอกกายตายไปแล้วเอาไปไม่ได้ เราก็อดทนมานานแล้ว แต่นี่ขอให้อดทนเพื่อสร้างบารมีใส่ตัวเราเพื่อให้เกิดความสุขเกิดความร่มเย็นเกิดสติเกิดปัญญาขึ้นมา แล้วก็สามารถที่จะพ้นจากความทุกข์ได้
เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าบุคคลใดไม่มีบารมี ประพฤติปฏิบัติธรรมไปก็เกิดความสงสัยไป ประพฤติปฏิบัติธรรมไปก็เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ เกิดความทุกข์ เกิดความฟุ้งซ่าน เกิดความรำคาญ ไม่เกิดความสงบขึ้นมา อันนี้ก็ถือว่าบุญน้อยแล้ว แต่ถ้าบุคคลใดมีบุญมาก อย่างเช่น พระโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ ฟังธรรมะเพียงกัณฑ์เดียวได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ฟังกัณฑ์ที่สองได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ อันนี้เรียกว่ามีบารมีมาก เพราะว่าท่านทำไว้แต่ภพก่อนชาติก่อนมาก ถ้าบุคคลใดฟังธรรมแล้วยังไม่เข้าใจ ก็แสดงว่าบารมีของเรายังไม่แก่กล้า
แล้วก็การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ท่านให้เราระมัดระวัง อย่าประมาท ความไม่ประมาทก็คือการไม่เผลอ เราเป็นนักปฏิบัติธรรมต้องมีสติอยู่ทุกเมื่อ เราจะยืนจะเดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด นั้นต้องมีสติกำหนดรู้ ถ้าบุคคลใดขาดสติ บุคคลนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม ถึงเราจะเดินจงกรม ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ปากว่าขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ แต่ว่าจิตใจเราล่องลอยไปตามอารมณ์ต่าง ๆ อันนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม เพราะว่าการปฏิบัติธรรมก็หมายถึงการมีสติ
ถ้าเรามีสติเราจะอยู่บ้านก็ดี เราจะทำการทำงาน เกี่ยวข้าวก็ดี ค้าขายก็ดีก็ถือว่าเราปฏิบัติธรรมไปด้วย ไม่ใช่ว่าปฏิบัติธรรมต้องเดินจงกรมนั่งภาวนาอย่างเดียว ถ้าเรามีสติ เราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน อยู่ในอิริยาบถไหนก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมหมด เหมือนกับพระอานนท์บรรลุมรรคผลนิพพานในขณะกึ่งอิริยาบถทั้งสี่ จะอยู่ในอิริยาบถไหนก็ตาม ถ้ามีสติก็ถือว่ามีการประพฤติปฏิบัติธรรมควบคู่ไปด้วย เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมที่วัดพิชโสภาราม บางรูปบางท่านเดินจงกรมนั่งภาวนาอย่างไรๆ ก็ไม่ได้สมาธิ แต่พอคลายความยึดมั่นถือมั่น ผ่อนคลายการประพฤติปฏิบัติธรรมลงไป อาบน้ำชำระร่างกายกำหนดไปเรื่อย ๆ ขณะที่จะอาบน้ำก็ดีสรงน้ำก็ดีก็กำหนดไปเรื่อย บางครั้งก็เข้าสมาธิในขณะที่แปรงฟันก็มี บางครั้งก็เข้าสมาธิในขณะที่ตากผ้าก็มี บางครั้งก็เข้าสมาธิในขณะที่ม้วนกลดก็มี บางครั้งก็เข้าสมาธิในขณะที่นั่งเล่นก็มี
อันนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะว่ากำหนดทุกอิริยาบถ เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องมีสติกำหนดทุกอิริยาบถ ถ้าบุคคลใดกำหนดทุกอิริยาบถ บุคคลนั้นก็ถือว่าไม่ห่างจากการบรรลุมรรคผลนิพพาน เรียกว่าการบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นอยู่แค่เอื้อม เพียงรัดนิ้วมือเดียว เรียกว่าบุคคลนั้นขึ้นสู่หนทางที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา อันนี้เป็นธรรมะข้อที่ ๓ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงให้ระมัดระวัง
ประการที่สี่ คือเป็นผู้เสียสละ คือถ้าบุคคลใดเป็นผู้มีความเสียสละ อย่างเช่นเสียสละทางโลก มีช่วยเสียสละปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ สร้างถนน สร้างสะพาน สร้างโรงเรียน สร้างบ่อน้ำ ขุดบ่อน้ำ ทำให้ประชาชนคนทั้งหลายมีอยู่มีกินมีความร่มเย็น อันนี้ก็ถือว่าเป็นการสร้างชาติสร้างศาสนาของเราให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา เรียกว่าเป็นการเสียสละทางโลก
หรือว่าบุคคลใดที่มีปัญญาก็เสียสละขั้นสูงขึ้นมาคือเสียสละทางธรรม เสียสละทางธรรมก็คือการเสียสละความโลภ ความโกรธ ความหลง เสียสละความไม่ดีทั้งหลายทั้งปวง อย่างเช่นเรามารักษาศีลนี้ก็ถือว่าเราเสียสละ เสียสละกิเลสอย่างหยาบที่จะล่วงออกมาทางกายวาจา ถ้าเราอยู่บ้านเราอาจจะฆ่าสัตว์ เราอาจจะฆ่าปูฆ่าปลาเลี้ยงครอบครัวของเรา เราอาจจะทำไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เราเสียสละสิ่งนั้นไป เราไม่ทำด้วยการที่เรามารักษาศีลให้ดีบริสุทธิ์บริบูรณ์ตลอด ๙ คืน ๑๐ วัน หรือว่าเราเสียสละกิเลสอย่างกลาง
คือขณะที่เรามาประพฤติปฏิบัติธรรมนี้ เรามาเดินจงกรมนั่งภาวนา เมื่อจิตใจของเราเป็นสมาธิ กิเลสอย่างกลางคือความวิตกวิจารถึงเรื่องกามารมณ์ ความวิตกวิจารถึงความโกรธความโลภความหลง ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญ ความสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มี เพราะว่าจิตใจของเราเป็นสมาธิ หมดความสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป เรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะว่าจิตใจของเราอยู่ในอำนาจของฌาน ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิเลสอย่างกลางนั้นมันอ่อนไปมันหมดไป
แต่ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนา เจริญวิปัสสนา เหมือนกับญาติโยมคณะครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัตินี้ถือว่าเป็นการเสียสละอย่างสูงสุด เรียกว่าเสียสละกิเลสอย่างละเอียด เสียสละความโกรธความโลภความหลง เสียสละความยึดมั่นถือมั่นต่าง ๆ ออกไปจากจิตจากใจ อันนี้เรียกว่าเป็นการเสียสละตามแนวพระยุคลบาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงเสียสละสิ่งเหล่านี้ พระองค์จึงได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เราทั้งหลายอยากจะพ้นไปจากความทุกข์ อยากจะพ้นไปจากความเกิดมันเป็นทุกข์ ความแก่มันเป็นทุกข์ ความเจ็บมันเป็นทุกข์ อยากจะพ้นจากความโศกเศร้าพิไรรำพัน อยากจะพ้นไปจากความเสียอกเสียใจที่เกิดความทุกข์ขึ้นมาทุกวี่ทุกวัน เราก็ต้องมาประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมได้แล้ว บุคคลนั้นก็ประสบกับความเจริญรุ่งเรือง ไม่ใช่ว่าประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วทำการค้าการขายไม่ได้ ทำธุรกิจไม่ได้ เลี้ยงครอบครัวอยู่กับครอบครัวไม่ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น
นางวิสาขานั้นประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ตลอด นางก็ทำการค้าการขายอยู่ตลอดเวลา แล้วก็อยู่กับครอบครัว มีลูกตั้ง ๒๐ คน มีหลานตั้ง ๒๐๐ คน แล้วก็ทำบุญทำทานทุกอย่างอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เป็นคนดีศรีสังคม ก็ประพฤติปฏิบัติธรรมได้ เหมือนกับอนาถปิณฑิกเศรษฐีก็ทำการค้าการขาย มีลูกมีหลานทำธุรกิจทุกอย่างได้ แล้วก็ประพฤติปฏิบัติธรรม ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน อันนี้ก็อยู่กับบ้านอยู่กับเรือน
การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมแล้วก็อยู่กับบ้านกับเรือนได้ สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะฉะนั้น การเสียสละกิเลสอย่างละเอียดนั้นก็ต้องเกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติธรรม ถ้าเรายังไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ยังไม่เป็นพระอริยบุคคลเราก็ไม่สามารถเสียสละสักกายทิฏฐิ ไม่สามารถเสียสละความยึดมั่นถือมั่นในกายได้ ไม่สามารถเสียสละสีลัพพตปรามาสได้ คือไม่สามารถเสียสละทิษฐิที่ยึดมั่นถือมั่นในศีลพรตได้ เราไม่สามารถเสียสละความสงสัยได้ ถ้าเราไม่ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ทำอย่างไร ๆ เราก็ยังสงสัยในเรื่องบุญเรื่องบาป ยังสงสัยในเรื่องพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ยังสงสัยในเรื่องมรรคผลนิพพานว่ามันมีจริงไหม
แต่ถ้าบุคคลใดบรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วสิ่งเหล่านี้มันก็หมดไป หมดความสงสัยไป แต่ถ้าบุคคลใดยังไม่ได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ก็ยังสงสัยอยู่ว่าราคะโทสะโมหะมันจะลดกำลังลงได้หรือเปล่าหนอ มันจะลดลงได้หรือไม่ได้ แต่ถ้าบุคคลใดได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี ราคะโทสะมันแผ่วเบาลง เหมือนกับเรานั่งอยู่ใกล้กองไฟร้อน ๆ แต่เมื่อเราขยับออกไปจากกองไฟความร้อนมันก็ค่อย ๆ จางไปเกือบจะหมดไป การที่ได้บรรลุพระสกทาคามีก็เหมือนกัน บุคคลใดผ่านขั้นนี้ไปแล้วก็เหมือนกับว่าความร้อนของราคะก็ดี โทสะก็ดี ก็เบาไปเกือบหมดแล้ว บุคคลนั้นก็ไม่มีความสงสัยว่า เออ ราคะมันเบาลงไปได้ โทสะมันเบาลงไปได้ เมื่อมันเบาลงไปได้ มันก็ต้องหมดไปได้ ก็ไม่มีความสงสัยขึ้นมาอีก
แต่ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมไปถึงขั้นอนาคามี บุคคลนั้นก็จะหมดความสงสัยในเรื่องความโกรธ ในเรื่องราคะ ว่าการหมดความโกรธก็ดี หมดราคะก็ดีแล้วนั้น จิตใจมันเป็นอย่างไร จิตใจกับอาการกระทำนั้นมันอยู่คนละอย่างกัน เหมือนน้ำกับน้ำมัน มันไม่สามารถที่จะเข้ากันได้ ธรรมะที่ประพฤติปฏิบัติได้รู้แจ้งเห็นจริงแล้วก็เป็นธรรมะที่อยู่ในส่วนนั้น แต่อารมณ์ทางโลกการแสดงออกมาทางโลกก็เป็นอารมณ์อีกอารมณ์หนึ่ง เหมือนกับน้ำมันไม่ใช่น้ำ มันเป็นในลักษณะอย่างนี้ ก็คิดว่าเออ ความโกรธก็ดี ราคะก็ดี เกิดขึ้นมา มันก็สามารถที่จะดับไปได้ นี่มันเกิดความเข้าใจขึ้นมาในลักษณะอย่างนี้ ก็หมดความสงสัยในเรื่องการบรรลุมรรคผลนิพพาน ว่ากิเลสคือราคะก็ดี โทสะก็ดี สามารถหมดไปได้ไหม หรือว่าการประพฤติปฏิบัติธรรม
ถ้าใครสามารถประพฤติปฏิบัติธรรมผ่านขั้นสุดท้ายก็ไม่สงสัยในเรื่องอวิชชาคือความหลง หลงในที่นี้คือหลงในรูป หลงในเสียง หลงในกลิ่น หลงในรส หลงในสัมผัส หลงในอารมณ์ ถ้าบุคคลใดไม่หลงในอารมณ์เหล่านี้ ก็เรียกว่าตนเองนั้นหมดอวิชชาแล้ว แต่ถ้าบุคคลใดยังหลงอยู่ จะหลงน้อยก็ดี หลงมากก็ดี จะเป็นฝุ่นเป็นธุลีเล็กๆ น้อย ๆ ก็ดี ก็ถือว่าหลง ก็แสดงว่ายังไม่ถึงซึ่งความเป็นพระอรหันต์ ก็พยากรณ์ตนเองเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ เรียกว่าเป็นกิเลสอย่างละเอียด แต่ถ้าบุคคลใดถึงแล้วก็เรียกว่าชาติสิ้นแล้ว ความเกิดความแก่ความเจ็บความตายสิ้นแล้วเป็นต้น บุคคลนั้นก็จะได้ประสบความสุขเป็นนิรันดร เรียกว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ ความสุขอื่นยิ่งกว่าความสงบคือพระนิพพานนั้นไม่มี
เพราะฉะนั้น นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ นิพฺพานปจฺจโย โหตุ ที่เรากล่าวเป็นประจำ คือนิพพานนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง ขอให้ผลทานที่ข้าพเจ้าทานดีแล้วก็ดี ศีลที่ข้าพเจ้ารักษาดีแล้วก็ดี เจริญภาวนาดีแล้วก็ดี ขอจงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าถึงซึ่งพระนิพพาน ที่พวกเราปรารถนากัน อันนี้ก็เกิดขึ้นมาด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้นการประพฤติปฏิบัติธรรมนั้นจึงถือว่าเป็นเหตุให้เราทั้งหลายนั้นประสบกับความสุข ได้ประโยชน์ทั้งในโลกนี้และโลกหน้าและประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน
บันทึกการเข้า
[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [
1
]
ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
จากใจถึงใจ
-----------------------------
=> หน้าบ้าน สุขใจ
===> สุขใจ ป่าวประกาศ (ข้อความจากทีมงาน)
===> สุขใจ เสนอแนะ (ข้อความจากสมาชิก)
===> สุขใจ ให้ละเลง (มุมทดสอบบอร์ด)
-----------------------------
สุขใจในธรรม
-----------------------------
=> พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
===> พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
===> ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
===> ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
===> นิทาน - ชาดก
=====> ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
=> ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
===> ธรรมะจากพระอาจารย์
===> เกร็ดครูบาอาจารย์
=> ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
=> สมถภาวนา - อภิญญาจิต
=> จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
=> เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
===> เอกสารธรรม
===> เสียงธรรมเทศนา
=====> ธรรมะจาก สมเด็จโต
=====> ธรรมะจาก หลวงปู่มั่น
=====> เสียงบทสวดมนต์
=====> เพลงสวดมนต์
=====> เพลงเพื่อจิตสำนึก แด่บุพการี
=====> ธรรมะ มิวสิค (เพลงธรรมทั่วไป)
===> ห้อง วีดีโอ
=> เกร็ดศาสนา
=> กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
=> ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
=> บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
=> พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
===> พุทธวัจนะ ในธรรมบท
===> พุทธศาสนสุภาษิต
===> คำทำนายภัยพิบัติที่จะเกิด
===> รวมข่าวภัยพิบัติ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
===> รู้ เพื่อ รอด (การเตรียมการ)
=> ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม
===> ฐานข้อมูล มูลนิธิต่าง ๆ ในประเทศไทย (Donation Exchange Center)
-----------------------------
วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ
-----------------------------
=> วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ
===> เรื่องราว จากนอกโลก
=====> ประสบการณ์เกี่ยวกับ UFO
=====> หลักฐาน และ การพิสูจน์ยูเอฟโอ
=====> คลิปวีดีโอ ยูเอฟโอ
=> ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
=> เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ
===> ร้อยภูติ พันวิญญาณ
=====> ประสบการณ์ ผี ๆ
=======> เรื่องเล่าในรั้วมหาลัย
=====> ประวัติ ต้นกำเนิด ตำนานผี
===> ดูดวง ทำนายทายทัก
===> ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue)
===> กระบวนการ NEW AGE
=> เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
-----------------------------
นั่งเล่นหลังสวน
-----------------------------
=> สุขใจ จิบกาแฟ
=> สุขใจ ร้านน้ำชา
=> สุขใจ ห้องสมุด
===> สุขใจ หนังสือแนะนำ
===> สุขใจ คลังความรู้ลวงโลก
===> สยาม ในอดีต
=> สุขใจ ใต้เงาไม้
=> สุขใจ ตลาดสด
=> สุขใจ อนามัย
=> สุขใจ ไปเที่ยว
=> สุขใจ ในครัว
===> เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว
=> สุขใจ ไปรษณีย์
=> สุขใจ สวนสนุก
===> ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
===> เวที จำอวด (จำอวดหน้าม่าน)
===> หนังกลางแปลง (ดูหนัง รีวิวหนัง)
===> หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
=====> เพลงไทยเดิม
===> แผงลอยริมทาง (รวมคลิปโฆษณาโดน ๆ)
คุณ
ไม่สามารถ
ตั้งกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
ตอบกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความได้
BBCode
เปิดใช้งาน
Smilies
เปิดใช้งาน
[img]
เปิดใช้งาน
HTML
เปิดใช้งาน
กำลังโหลด...