[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 18:40:15 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวประวัติ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) สมเด็จพระวันรัตรูปที่ ๑๒  (อ่าน 1363 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 103.0.0.0 Chrome 103.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 08 สิงหาคม 2565 15:13:00 »




ชีวประวัติ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)
สมเด็จพระวันรัตรูปที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


ชีวประวัติ สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ)  ตอนที่ ๑

สมเด็จพระวันรัต (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสวิหาร เป็นสมเด็จพระวันรัตรูปที่ ๑๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านเป็นมหาเถระองค์หนึ่งในจำนวนพระมหาเถระ ๑๐ องค์ ผู้เป็นต้นวงศ์ธรรมยุติกนิกาย เป็นเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายใต้ เป็นพระมหาเถระที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นนักกรรมฐานที่ชอบออกธุดงค์ เป็นผู้ที่มีปฏิปทามุ่งพระนิพพาน และเป็นนักปฏิบัติที่เคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยมาก ท่านมีอาจารสมบัติเป็นที่ประทับใจน่าเลื่อมใส และเป็นสมเด็จที่ทรงเกียรติคุณควรแก่การเคารพบูชามากองค์หนึ่งของประเทศไทย

ชาติภูมิ
สมเด็จพระวันรัต วัดโสมนัสวิหาร มีนามเดิมว่า ทับ มีฉายาว่า พุทฺธสิริ  ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๓๔๙ ในรัชกาลที่ ๑  ณ หมู่บ้านสกัดน้ำมันปากคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งตะวันออก ใกล้วัดเทวราชกุญชร กรุงเทพมหานคร โยมผู้ชายของท่านชื่อ อ่อน คนเป็นอันมากเรียกว่า “ท่านอาจารย์อ่อน”  โยมผู้หญิงของท่านชื่อ คง ท่านเป็นบุตรคนที่หนึ่งในตระกูลนี้ กล่าวกันว่าครอบครัวของท่านเป็นชาวกรุงเก่า แต่เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ก็ได้อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เนื่องจากท่านเป็นผู้มีแววฉลาดมาตั้งแต่เป็นเด็ก รักการศึกษาค้นคว้า และเกิดในสกุลผู้ดีในนครหลวง อันเป็นปฏิรูปเทศ จึงได้รับการศึกษามาตั้งแต่เป็นเด็ก

การศึกษาเมื่อปฐมวัย
ในรัชกาลที่ ๒ เมื่อท่านมีอายุ ๙ ขวบ ได้เข้าเรียนอักษรสมัยอยู่ที่วัดภคินีนาถ แล้วต่อมาได้เข้าเรียนบาลี โดยเรียนสูตรมูลกัจจายน์อยู่ที่วัดมหาธาตุ คือ ได้เรียนบาลีตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ได้บวช  ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังดำรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงพอพระราชหฤทัยในตัวท่าน จึงได้ทรงให้การอุปการะในการเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมของท่าน ทรงจัดสอบความรู้ผู้ที่เรียนสูตรเรียนมูลที่วังเนืองๆ ท่านได้ไปสอบถวาย โปรดทรงประทานรางวัล จึงได้ทรงพระเมตตาในตัวท่านตั้งแต่นั้นมา ท่านจึงนับว่าเป็นผู้มีบุญและเป็นผู้มีแววฉลาดมาแล้วตั้งแต่เยาว์วัย

อาจารย์และสำนักเรียนของท่านในสมัยเมื่อเป็นสามเณร
ท่านได้บรรพชาเมื่ออายุเท่าไร ยังไม่ปรากฏหลักฐาน ทราบแต่ว่าท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสังเวชวิศยาราม บางลำภู ครั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว  รัชกาลที่ ๓ ในสมัยที่ยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงโปรดให้ท่านไปอยู่ที่วัดราชโอรส อันเป็นวัดที่พระองค์ทรงสร้างขึ้น โดยให้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสำนักพระโพธิวงศ์ (ขาว) แต่เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระญาณไตรโลก  ต่อมาท่านได้เข้าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนักพระพุทธโฆษาจารย์ (คง) วัดอรุณราชวราราม แต่เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระวินัยมุนี และในสมัยที่ท่านอยู่ที่วัดอรุณนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสมัยที่ยังดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามหามกุฏราชกุมาร เสด็จประทับอยู่ที่วังเดิม ได้เสด็จไปที่วัดอรุณเนืองๆ จึงได้รู้จักคุ้นเคยกับท่านตั้งแต่ท่านเป็นสามเณรอยู่ในรัชกาลที่ ๒ นั้น ท่านจึงนับว่า ป็นผู้มีโชคดีมาตั้งแต่เป็นสามเณรที่ได้มีโอกาสศึกษาในสำนักของอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น และยังได้มีโอกาสคุ้นเคยกับเจ้านายชั้นสูง โดยเฉพาะกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้นในรัชกาลที่ ๓ ท่านได้เข้าแปลปริยัติธรรมแต่ยังเป็นสามเณรครั้ง ๑ แต่แปลตก หาได้เป็นเปรียญไม่


ที่มา : พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ, “ชีวประวัติสมเด็จพระวันรัต (ทับ)”

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08 สิงหาคม 2565 15:14:41 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 104.0.0.0 Chrome 104.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 16 สิงหาคม 2565 20:51:11 »



ชีวประวัติ สมเด็จพระวันรัต (ทับ) (๒)  

การอุปสมบท
ในรัชกาลที่ ๓ นั้นเอง ครั้นเมื่อท่านมีอายุครบอุปสมบทแล้ว คุณโยมของท่านจึงให้ท่านมาอุปสมบทที่วัดเทวราชกุญชร อันเป็นวัดที่ตั้งอยู่ใกล้บ้านเดิม ท่านจึงได้อุปสมบทเมื่อปีจอ พ.ศ.๒๓๖๙ ที่วัดเทวราชกุญชร โดยมี พระธรรมวิโรจน์ (เรือง) วัดราชาธิวาส (สมัยนั้นชื่อวัดสมอราย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมฬีโลกยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระวินัยมุนี (คง) วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอนุกรรมวาจาจารย์ เมื่อบวชแล้ว ก็ได้อยู่ในสำนักพระธรรมวิโรจน์ ที่วัดราชาธิวาส ตั้งแต่นั้นมา ท่านได้ไปอยู่และศึกษาเล่าเรียนในสำนักอาจารย์อาจ นพรัตน์ ที่วัดไทรทอง (วัดเบญจมบพิตร) บ้าง ที่พระมหาเกื้อ วัดชนะสงครามบ้างเนืองๆ

ท่านอุปสมบทถึงเจ็ดครั้ง
เรื่องการอุปสมบทของสมเด็จพระวันรัต (ทับ) นี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ยัง เขมาภิรโต เปรียญ ๘) วัดโสมนัสวิหาร ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของสมเด็จพระวันรัต ได้เขียนบันทึกไว้ในหนังสือ “มหาเถรานุปวัตติกถา”  ของท่านตอนหนึ่งว่า “ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ซึ่งได้ทรงผนวชแล้ว) เสด็จประทับอยู่วัดมหาธาตุ แต่ได้เสด็จขึ้นไปทำอุโบสถวัดราชาธิวาสเนืองๆ (เสด็จไปพบท่านอยู่ที่นั้น) จึงมีรับสั่งให้หาท่านมาตรัสแสดงพระอัธยาศัยเป็นที่ทรงยินดี รับสั่งให้แปลประโยคสารสงเคราะห์บ้าง ประโยคอื่นบ้าง เวลาเมื่อเสด็จไปทำอุโบสถ ท่านก็ได้ไปเฝ้าไม่ใคร่ขาด ภายหลังจึงมีรับสั่งให้พระยาพิพิธไอสูรย์ (ทับ) เมื่อยังเป็นพระพี่เลี้ยงอยู่มาชักชวนให้ท่านมาถวายตัวอยู่ที่วัดมหาธาตุนั้น ท่านว่าท่านกลัว พระองค์เป็นเจ้าเป็นนาย ไม่เคยรับราชการใกล้ชิดพระองค์ การนั้นก็เป็นอันสงบมา

แต่ภายหลัง เพราะเหตุที่ท่านต้องไปเรียนหนังสือนั้นเป็นทางไกล เมื่อเป็นฤดูฝนก็ลำบากด้วยหนทางเปรอะเปื้อนไปด้วยโคลนตมตลอดทาง ท่านจึงมารำพึงคิดไปว่า “พระพี่เลี้ยง (ทับ) มาชักชวนให้ไปถวายตัวในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนั้นก็เป็นการดีอยู่ เวลานี้ควรแล้วที่เราจะไปถวายตัว จะได้ขอรับประทานเรียนหนังสือ” ครั้นคิดเห็นความดีตกลงแล้ว จึงได้มากราบเรียนพระธรรมวิโรจน์ (ผู้เป็นอุปัชฌาย์) ตามความที่คิดนั้น พระธรรมวิโรจน์จึงอำนวยตามความนิยมยินดีนั้น แล้วได้นำท่านมาเฝ้าถวายตัว ที่เก๋งเรียนหนังสือในพระบรมมหาราชวัง เวลาที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับทรงเรียนหนังสืออยู่ที่นั้น พระองค์ก็ทรงรับโดยเต็มพระทัย แล้วท่านจึงได้กราบลาพระธรรมวิโรจน์มาอยู่ที่วัดมหาธาตุสืบมา ขณะเมื่อท่านบวชได้ ๒ พรรษา

ท่านได้ทูลขอรับประทานเรียนฎีกาสังคหะในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้เรียนคัมภีร์อื่นกับพระวิเชียรปรีชา (ภู่) ด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสั่งสอนชี้แจงโดยข้อปฏิบัติสิกขาบทวินัยบัญญัติต่างๆ ทรงแนะนำในพิธีอุปสมบทรามัญ และอักขรวิธีโดยฐานกรณ์ที่ถูกต้องตามพุทธบัญญัติโดยแท้ ให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธายิ่ง ๆ ขึ้นไป ท่านก็เห็นตามกระแสที่ทรงแนะนำสั่งสอนนั้น (ในที่สุดพระองค์) จึงรับสั่งให้นิมนต์ พระอุดมญาณ ซึ่งเป็นพระราชาคณะฝ่ายรามัญ วัดชนะสงคราม มาเป็นพระอุปัชฌาย์ กับนิมนต์พระภิกษุรามัญมาเป็นคณะปูรกะตามสมควร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระกรรมวาจารย์ อุปสมบทใหม่ตามรามัญวิธี ในพระอุโบสถวัดมหาธาตุนั้น ท่านจึงได้นามตามที่พระอุปัชฌาย์ตั้งให้โดยมคธภาษาว่า “พุทฺธสิริ” นับอุปสมบทเป็นครั้งที่สอง

ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งกับท่านว่า “พระองค์ท่านเป็นไทย สำเนียงและอักขระจะไม่ชัดเจนสนิทอย่างรามัญแท้ ถ้ากาลข้างหน้าเธอจะมีความรังเกียจเกิดขึ้นแล้ว จะร้อนใจเมื่อภายหลัง เธอจะไปหาพระที่เป็นรามัญแท้มาสวดเสียใหม่ก็ตามอัธยาศัย” ท่านได้รับกระแสรับสั่งอย่างนั้นแล้วจึงได้ไปที่วัดชนะสงคราม นิมนต์พระอุดมญาณเป็นพระอุปัชฌาย์ (และ) พระมหาเกื้อซึ่งเป็นเปรียญในวัดนั้นเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พร้อมด้วยภิกษุรามัญ ทำอุปสมบทกรรมในพระอุโบสถวัดชนะสงครามนั้น นับอุปสมบทเป็นครั้งที่สาม

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นไปประทับที่วัดราชาธิวาส ท่านก็ได้เสด็จตามขึ้นไปด้วย พอทราบข่าวว่าภิกษุรามัญเข้ามาปฏิญาณตนว่าได้บวชในพระอุโบสถที่พระอรหันต์ผูกพัทธสีมา (คือกัลยาณีสีมา) จึงมีรับสั่งให้นิมนต์พระรามัญเหล่านั้นมา ๑๘ รูป ทำอุปสมบทกรรมครั้งนี้หลายองค์ มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นประธาน (คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอุปสมบทใหม่ในครั้งนี้ด้วย) โดยอุปสมบทในแพ ในแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดราชาธิวาส ด้วยทรงเห็นว่าการใช้แพทำอุปสมบทกรรมนี้เป็นอุทกุกเขปสีมา เป็นสีมาอันบริสุทธิ์คล้ายอุโบสถที่พระอรหันต์ผูกฉะนั้น นับอุปสมบทกรรมของท่านเป็นครั้งที่สี่

เมื่อบวชใหม่แล้ว ท่านก็ได้เรียนพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนักพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาภายหลังท่านมานึกไม่ชอบใจพระกรรมวาจาจารย์ของท่าน ท่านจึงขึ้นไปที่เมืองปทุมธานี นิมนต์ภิกษุรามัญประชุมกันที่แพหน้าวัดปรัก ทำอุปสมบทกรรมอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งที่ห้า

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งว่า ที่ทำอุปสมบทกรรมรามัญแล้วนั้น เป็นแต่ทำทัฬหีกรรม สวดญัตติจตุตถกรรมเท่านั้น หาสวดบุพพกิจไม่ ทรงสงสัยว่าจะไม่เป็นอันทำ จึงรับสั่งให้พร้อมกันทำเสียใหม่อีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ท่านไม่อยู่ ครั้นท่านกลับมา ท่านจึงไปที่วัดดอนกระฎี นิมนต์พระภิกษุรามัญมาประชุมกันที่แพหน้าวัด ทำอุปสมบทกรรมอีกครั้งหนึ่ง นับอุปสมบทกรรมเป็นครั้งที่หก

ต่อมา เมื่อท่านไปนมัสการพระปฐมเจดีย์ ครั้นไหว้พระแล้ว จึงมารำพึงว่า พระเจดีย์องค์นี้เป็นของใหญ่โตมาก เป็นที่สำคัญหลักฐานพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง ผู้สร้างนั้นสร้างเฉพาะพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ข้าพเจ้าปฏิญาณตนว่าเป็นอุปสัมบันภิกษุเฉพาะต่อพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น นับอุทิศบรรพชาเป็นครั้งที่เจ็ด ด้วยประการฉะนี้

อุปสมบท ๗ ครั้งนี้ ท่านเล่าให้ฟังเอง ข้าพเจ้าก็ไม่ได้ไต่ถามท่าน จึงไม่ได้ความละเอียด จึงกล่าวไว้โดยสังเขปตามที่ได้ทราบ”

จากการที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระวันรัตได้อุปสมบทถึง ๗ ครั้งนี้ ย่อมบ่งให้เห็นชัดว่า ท่านมุ่งความบริสุทธิ์ในชีวิตพรหมจรรย์มากเพียงไร ท่านจึงเป็นผู้ที่สาธุชนพุทธบริษัทเคารพบูชากราบไหว้ด้วยความสนิทใจ เพราะท่านมุ่งบวชอุทิศต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง

เกี่ยวกับเรื่องสมเด็จพระวันรัตได้อุปสมบทใหม่นี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือเรื่องพระจอมเกล้าฯ ตอนหนึ่งว่า “การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาคันถธุระผิดกับผู้อื่น ด้วยตั้งพระทัยจำนงแต่จะเรียนพระพุทธศาสนาให้ถ่องแท้ มิได้หมายจะมีตำแหน่งฐานันดรอย่างใดในสังฆมณฑล เพราะฉะนั้น เมื่อทราบภาษามคธถึงสามารถอ่านพระไตรปิฎกเข้าพระทัยโดยลำพังพระองค์ ก็ทรงพยายามพิจารณาหลักฐานพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อทรงพิจารณาถึงพระวินัยปิฎกก็ปรากฏแก่พระญาณว่า วัตรปฏิบัติเช่นที่พระสงฆ์ไทยประพฤติกันเป็นแบบแผนผิดพระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติอยู่มาก

ยิ่งพิจารณาไป ก็ยิ่งทรงเห็นวิปลาสคลาดเคลื่อนมาช้านานแล้ว ก็เกิดวิตกขึ้นในพระทัยว่า หรือสมณวงศ์ที่เนื่องมาจากพระอริยสาวกของพระพุทธเจ้าก็จะสูญเสียแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การที่พระองค์ทรงผนวช ได้สมาทานว่าจะประพฤติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ถ้าทรงประพฤติปฏิบัติต่อไปในทางที่ผิดพระพุทธบัญญัติ เห็นว่าลาผนวชออกเป็นอุบาสกดีกว่า ในขณะเมื่อทรงวิตกดังว่ามา และยังไม่เห็นทางที่จะแก้ไข ได้กิตติศัพท์ทราบถึงพระกรรณว่า มีพระเถระมอญองค์หนึ่ง (ชื่อ ซาย นามฉายาว่า พุทธวํโส) บวชมาแต่เมืองมอญ มาอยู่วัดบวรมงคล ได้เป็นพระราชาคณะที่พระสุเมธมุนี เป็นผู้ชำนาญพระวินัยปิฎกและประพฤติวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงเสด็จไปทรงทำวิสาสะสนทนากับพระสุเมธมุนี ๆ ทูลอธิบายระเบียบวัตรปฏิบัติของพระมอญคณะกัลยาณี ที่ท่านอุปสมบทให้ทราบโดยพิสดาร ทรงพิจารณาเห็นไม่ห่างไกลจากพุทธบัญญัติเหมือนอย่างวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์สยาม ก็ทรงยินดี ด้วยตระหนักในพระหฤทัยว่า สมณวงศ์ไม่สูญเหมือนอย่างที่ทรงวิตกอยู่แต่ก่อน ก็ทรงเลื่อมใสใคร่จะประพฤติวัตรปฏิบัติตามแบบพระมอญ แต่มีความขัดข้องด้วยเสด็จประทับอยู่วัดมหาธาตุฯ อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช จะทรงประพฤติให้ผิดกับระเบียบแบบแผนของพระสงฆ์ในวัดนั้น ก็จะเป็นการละเมิดและคนทั้งหลายอาจจะเกิดความเข้าใจผิดต่อไป จึงได้เสด็จย้ายไปประทับ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) เมื่อปีฉลู พ.ศ.๒๓๗๒ เหมือนอย่างเคยเสด็จประทับเมื่อพรรษาแรกทรงผนวช เวลานั้นมีพระหนุ่มเป็นเจ้าบ้าง เป็นลูกผู้ดีบ้าง ที่ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ศึกษาอยู่ในสำนักและเลื่อมใสพระดำริอีก ๖ รูป ตามเสด็จไปอยู่วัดสมอรายก็มี อยู่วัดอื่นแต่ไปประชุมกัน ณ วัดสมอรายก็มี จึงเริ่มเกิดเป็นคณะสงฆ์ซึ่งแสวงหาสัมมาปฏิบัติอันมาได้นามในภายหลังว่า “ธรรมยุติกา” แต่นั้นเป็นต้นมา”

พระสงฆ์ที่ถือวัตรปฏิบัติอย่างธรรมยุต ในสมัยเริ่มแรกมีประมาณ ๒๐ รูป และในจำนวนนี้ก็มีสมเด็จพระวันรัต (ทับ) อยู่องค์หนึ่งด้วย

ท่านเป็นนักกรรมฐาน
สมเด็จฯ ชอบปฏิบัติกรรมฐาน ประกอบทั้งมีความเข้าใจสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานอย่างลึกซึ้ง ดังจะเห็นได้จากหนังสือสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานของท่าน ซึ่งทางคณะสงฆ์ใช้เป็นหลักสูตรการศึกษาในชั้นนักธรรมและธรรมศึกษาชั้นเอกอยู่ในปัจจุบัน และเห็นได้จากพระธรรมเทศนาและโอวาทที่ศิษย์ของท่านบันทึกไว้ในหนังสือหลายเล่ม เช่น สังขิตโตวาท และ ธรรมานุศาสน์ เป็นต้น และในสมัยเมื่ออยู่ที่วัดราชาธิวาสนั้น ท่านได้ตามเสด็จพระจอมเกล้าฯ ไปธุดงค์เสมอ ท่านเป็นผู้พอใจหาความสุขในทางสมณปฏิบัติ มักไปเที่ยวธุดงค์เนืองๆ  โดยเฉพาะเมื่อออกพรรษาแล้ว และมีศิษย์ของท่านติดตามไปด้วยเสมอ ทำให้ศิษย์ของท่านได้มีใจรักในการธุดงค์ไปด้วย เพราะเหตุที่ต้องธุดงค์เสมอ ท่านจึงไม่ได้มีโอกาสเข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง  ในสมัยแรกๆ กรรมฐานที่ท่านชอบมากที่สุด คือ อสุภกรรมฐาน ดังจะเห็นได้จากภาพฝาผนังในพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหาร ซึ่งท่านให้เขียนภาพอสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ อย่างไว้ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้พิจารณา เป็นภาพที่ให้คติสอนใจทางกรรมฐานได้ดีมาก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านชอบอัฏฐิกรรมฐาน คือ ชอบพิจารณากระดูก ดังจะเห็นได้จากภาพถ่ายภาพหนึ่งซึ่งท่านกำลังยืนพิจารณาร่างกระดูกอยู่ ณ ป่าช้าแห่งหนึ่ง และภาพเขียนอีกภาพหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพที่ท่านกำลังนั่งพิจารณาร่างกระดูกอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง ในลักษณะของพระธุดงค์ ภาพทั้งสองนี้เป็นภาพที่ประทับใจนักปฏิบัติ และบ่งให้เห็นชัดว่าท่านเป็นนักกรรมฐานอย่างแท้จริง


ที่มา : เล่าเรื่อง วัดบวรฯ - พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ, “ชีวประวัติสมเด็จพระวันรัต (ทับ)”
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21 สิงหาคม 2565 19:52:01 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 104.0.0.0 Chrome 104.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 21 สิงหาคม 2565 19:51:32 »




ชีวประวัติ สมเด็จพระวันรัต (ทับ) (๓)

ท่านบวชเพื่อพระนิพพาน
การบวชประพฤติพรหมจรรย์ของท่าน ก็เพื่อมุ่งพระนิพพาน ไม่ได้มุ่งลาภสักการะเกียรติยศชื่อเสียงอันใดเลย แต่ที่ท่านมีสมณศักดิ์ถึงชั้นสมเด็จนั้น เพราะเป็นพระราชประสงค์ของพระเจ้าแผ่นดินต่างหาก ซึ่งมุ่งหมายจะยกย่องผู้ปฏิบัติดี มีความสามารถให้เป็นผู้ปกครองหมู่คณะบริหารพระศาสนา ดังที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ตรัสไว้ตอนหนึ่ง ในหนังสือพระประวัติตรัสเล่าของพระองค์ว่า “พระผู้ที่เราเลื่อมใสและนับถือว่า เป็นหลักในพระศาสนา เป็นเครื่องอุ่นใจได้ เป็นผู้รับยศศักดิ์ทั้งนั้น สมเด็จพระวันรัต วัดโสมนัสวิหาร ที่แลเห็นว่าไม่มุ่งในทางโลกีย์แล้ว ยังยอมอยู่ในยศศักดิ์” หลักฐานนี้ก็เป็นเครื่องยืนยันข้อหนึ่งถึงจุดมุ่งหมายแห่งการบวชของท่าน

เหตุที่ทราบได้ว่าสมเด็จพระวันรัตบวชเพื่อนิพพานนั้น จะเห็นได้ชัดจากบทสวดมนต์แปลที่ท่านพร่ำสอนศิษย์ของท่านเนือง ๆ และแม้บัดนี้ ทางวัดโสมนัสวิหาร ยังใช้สวดในตอนทำวัตรเย็นทุกวันโกน ๑๔ ค่ำว่า “สพฺพทุกฺขนิสฺสรณนิพพานสจฺฉิกรณตฺถาย, อมฺหากํ ปพฺพชฺชา บรรพชาของเราทั้งหลาย เพื่อจะทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเป็นที่ออกจากทุกข์ทั้งปวง ตตฺถ โน ยาวชีวํ อุตฺสาโห กรณีโย อุตสาหะในบรรพชานั้น อันเราทั้งหลายพึงกระทำจนสิ้นชีวิต อยํ สพฺพทุกฺขนิสฺสรโณปาโย อันนี้เป็นอุบายเพื่อออกจากทุกข์ทั้งปวง”

เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติและคำสอนของท่านจึงมุ่งสู่พระนิพพาน อันเป็นที่ดับกองทุกข์ทั้งปวง ตรงตามจุดหมายที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้


ที่มา : เล่าเรื่อง วัดบวรฯ - พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ, “ชีวประวัติสมเด็จพระวันรัต (ทับ)”
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0 Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 104.0.0.0 Chrome 104.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 22 สิงหาคม 2565 13:44:01 »



ชีวประวัติ สมเด็จพระวันรัต (ทับ) (๔)

สอบได้เปรียญ ๙ ประโยค
ลุถึงปีวอก พ.ศ.๒๓๗๙ เมื่อท่านมีพรรษา ๑๑ อายุ ๓๑ ปี ยังเป็นพระอันดับอยู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอาราธนาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะที่ทรงผนวช) เสด็จไปครองวัดบวรนิเวศวิหาร และในสมัยนั้นพระสงฆ์วัดราชาธิวาสมีทั้งพระมหานิกายและพระธรรมยุตอยู่ด้วยกัน แต่อธิบดีสงฆ์เป็นมหานิกาย จึงโปรดให้ท่านอยู่ปกครองฝ่ายธรรมยุตที่วัดราชาธิวาส ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหารเรียบร้อยแล้ว จึงโปรดให้ท่านเข้าแปลพระปริยัติธรรมในสนามหลวง ครั้งแรกท่านแปลได้ถึง ๗ ประโยค แล้วท่านไม่แปลต่อ รอมาอีกระยะหนึ่งจึงเข้าแปลได้อีก ๒ ประโยค รวมเป็น ๙ ประโยค

ดังข้อความจากหนังสือมหาเถรานุปวัตติกถาตอนหนึ่งว่า “ครั้นถึงกาลสอบไล่พระไตรปิฎก เวลานั้นท่านที่ไปเที่ยวธุดงควัตรตามสมณกิจ พอกลับมาถึงก็มีรับสั่งในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้เข้าแปลหนังสือ ครั้งนั้นท่านแปลได้ ๗ ประโยค ท่านผู้ใหญ่เล่าว่า ถ้าท่านจะแปลต่อไปอีกก็ได้ กาลภายหลังมาสมกับสมเด็จพระสังฆราชตรัสว่า “สมเด็จพระวันรัต เมื่อท่านแปลประโยค ๗ ท่านไม่ได้ตกน่า แต่คราวนั้นสังฆบริษัทในวัดราชาธิวาสแปลได้ ๙ ประโยคบ้าง ๗ ประโยคบ้าง ได้ประโยคเอกหลายองค์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระดำรัสกะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ชีต้นศิษย์ของพระองค์ท่าน ล้วนแต่หนังสือดี ๆ มาก รู้อยู่แล้ว แต่แปลได้ ๙ ประโยคหลายองค์นัก เขาจะมีความครหาติเตียนในภายหลัง” เพราะเหตุนี้ท่านจึงได้แปลหยุดไว้เพียงประโยค ๗ เท่านั้น ครั้นถึงกาลสอบไล่พระปริยัติธรรม ท่านจึงเข้าแปลได้อีก ๒ ประโยค รวมเป็นเปรียญ ๙ ประโยค”

จากการสอบได้เปรียญ ๙ ประโยคของท่านในสมัยนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ท่านมีความรู้ดีในด้านปริยัติธรรมเพียงไร ท่านเป็นเปรียญ ๙ ประโยคอยู่ไม่นาน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งท่านเป็นพระราชาคณะที่พระอริยมุนี และท่านคงอยู่ที่วัดราชาธิวาสต่อมา

ในปี พ.ศ.๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ยังทรงผนวชอยู่ ได้รับสั่งให้พระธรรมยุตครองผ้าเสียใหม่ แบบอย่างพระมหานิกาย เพื่อมิให้ขัดพระราชอัธยาศัยพระนั่งเกล้าฯ ที่ทรงรังเกียจอยู่ว่า พระจอมเกล้าฯ ถืออย่างมอญ ถ้าเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็จะให้พระสงฆ์ห่มอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดิน เล่ากันมาว่า สมเด็จพระวันรัต (ทับ) ซึ่งเวลานั้นดำรงสมณศักดิ์เป็นพระอริยมุนีอยู่ที่วัดราชาธิวาส ท่านยังยึดมั่นในการครองผ้าแบบห่มแหวกตลอดมา ไม่ยอมเปลี่ยนไปห่มอย่างพระมหานิกาย

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระสงฆ์ธรรมยุตซึ่งต้องห่มผ้าคลุมอย่างมหานิกาย พากันถวายพระพรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกลับห่มแหวกอย่างเดิม พระจอมเกล้าฯ ตรัสตอบว่า “การปฏิบัติพระธรรมวินัย เป็นการของสงฆ์ แล้วแต่ศรัทธาอย่างไร ก็ปฏิบัติอย่างนั้น ไม่เกี่ยวด้วยฝ่ายอาณาจักร” เพราะฉะนั้น ไม่ทรงห้าม หรือทรงอนุญาตทั้งสองสถาน นับแต่นั้นมา พระสงฆ์ธรรมยุตก็กลับแหวกห่มเหมือนเดิม แต่สมเด็จพระวันรัตท่านห่มแหวกมาแต่ต้นไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เพราะท่านเห็นว่าการห่มแหวกนั้นถูกต้องตามพระวินัยแล้วทุกประการ


ที่มา : เล่าเรื่อง วัดบวรฯ - พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ, “ชีวประวัติสมเด็จพระวันรัต (ทับ)”
บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5800


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Chrome 105.0.0.0 Chrome 105.0.0.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 10 กันยายน 2565 20:33:19 »



ขอขอบคุณ www.matichon.co.th (ที่มาภาพประกอบ)

ชีวประวัติ สมเด็จพระวันรัต (ทับ) (๕)

เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดโสมนัสวิหาร
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงลาผนวชและขึ้นครองราชย์ในปี ๒๓๙๔ แล้ว พระองค์ได้ทรงสร้างวัดโสมนัสวิหารขึ้น ด้วยพระราชทรัพย์ของพระนางโสมนัสวัฒนาวดี อัครมเหสีของพระองค์ ได้พระราชทานนามว่า วัดโสมนัสวิหาร โดยทรงวางศิลาฤกษ์พระอุโบสถ เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ.๒๓๙๖ ทรงสร้างเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชั้นราชวรวิหาร ในเนื้อที่ ๓๑ ไร่เศษ พระราชทานเป็นวิสุงคามสีมาที่เป็นเขตวัดนั้น มีกำแพงล้อมรอบ ได้สมมติเป็นมหาสีมา เว้นนอกกำแพงไว้เป็นอุปจารสีมาและคู เพื่อกันเขตบ้านในที่ธรณีสงฆ์กับมหาสีมาที่อยู่ของสงฆ์ให้ห่างจากกัน

ครั้นสิ่งก่อสร้างสำเร็จลงบ้าง พอเป็นที่อาศัยอยู่จำพรรษาของพระภิกษุสามเณรได้บ้างแล้ว ใน พ.ศ.๒๓๙๙ พระองค์ก็ได้ทรงอาราธนาสมเด็จพระวันรัต ในสมัยที่ยังเป็นพระอริยมุนีจากวัดราชาธิวาส พร้อมด้วยคณะสงฆ์ประมาณ ๔๐ รูป โดยขบวนแห่ทางเรือ ให้มาอยู่ครองวัดโสมนัสวิหาร ท่านจึงได้เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนี้

เมื่อมาอยู่วัดโสมนัสวิหารแล้ว ท่านได้ดำเนินงานพระศาสนาทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งในด้านศึกษา ในด้านการปฏิบัติ การเผยแผ่ การปกครอง และการก่อสร้าง ทำให้วัดโสมนัสวิหารในสมัยของท่านรุ่งเรืองมาก

ในด้านการก่อสร้างนั้น ท่านได้ก่อสร้างสิ่งที่ยังไม่แล้วบริบูรณ์ซึ่งยังค้างอยู่ก็มี และที่ยังไม่เคยทำเลยก็มี ท่านก็สร้างต่อจนสำเร็จบริบูรณ์ โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้พูดกับท่านว่า “เจ้าคุณฯ จะทำการวัดอย่างไรก็ตามใจ ทุนรอนจะเบิกให้ (จากพระราชมฤดกของสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัสวัฒนาวดี” ท่านได้อาศัยทุนของหลวงนี้เอง ประกอบทั้งเป็นผู้มีหัวในการก่อสร้างอยู่ด้วย จึงได้ลงมือสร้างพระวิหาร พระอุโบสถ พระเจดีย์ จนเสร็จบริบูรณ์ จัดเป็นวัดที่สวยงามวัดหนึ่งในนครหลวง

สมเด็จพระวันรัต เมื่ออยู่วัดราชาธิวาส ท่านได้สร้างพระพุทธรูปไว้องค์หนึ่งได้อัญเชิญมาวัดโสมนัสวิหารด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดจึงได้ถวายพระนามว่า “พระสัมพุทธสิริ” ตามนามฉายาของท่าน และโปรดให้ประดิษฐานไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดโสมนัสวิหาร อยู่จนทุกวันนี้

ในปี พ.ศ.๒๔๐๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เลื่อนสมณศักดิ์ท่านเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ที่ พระพรหมมุนี

ถึงรัชกาลที่ ๕ โปรดให้เลื่อนตำแหน่งพระพรหมมุนี เป็น พระพิมลธรรม ในปี พ.ศ. ๒๔๑๕


ที่มา : เล่าเรื่อง วัดบวรฯ - พระเทพวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ, “ชีวประวัติสมเด็จพระวันรัต (ทับ)”
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 กันยายน 2565 20:35:27 โดย Kimleng » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.366 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 20 ธันวาคม 2567 02:57:54