เห็นญาติโยมพร้อมเพรียงกันตัดเย็บย้อมผ้าเป็นไตรจีวร ทำให้ระลึกถึงเรื่อง
พระอนุรุทธะตัดจีวร ซึ่งมีพรรณนาไว้ว่า เมื่อจีวรของท่านเก่าแล้ว ท่านจึงแสวงหาผ้าในที่ต่างๆ มาเพื่อเย็บเป็นจีวร ในกาลนั้น ภรรยาเก่าในอดีตชาติของพระอนุรุทธเถระ ซึ่งเกิดเป็นเทพธิดาชื่อ ชาลินี สถิต ณ ดาวดึงส์ นางรู้ข่าวของพระเถระโดยทิพยญาณ นางจึงถือผ้าทิพย์ ๓ ผืน ยาว ๑๓ ศอก กว้าง ๔ ศอก ลงจากวิมานเพื่อจะนำผ้ามาถวายท่าน แต่นางได้คิดว่า “ถ้าเราจักถวายผ้าแก่ท่านโดยตรง พระเถระจะไม่รับ” นางจึงวางผ้าไว้ในกองหยากเยื่อที่อยู่ข้างทางที่พระอนุรุทธเถระ จะเดินผ่าน โดยให้ชายผ้าพ้นออกมา
เมื่อพระอนุรุทธเถระเดินมาเห็นชายผ้านั้น ท่านก็จับที่ชายผ้านั้นและดึงออกมา พิจารณาทราบโดยญาณว่า เป็นผ้าทิพย์ จึงถือเอาด้วยคิดว่า “ผ้านี้เป็นผ้าบังสุกุลอย่างอุกฤษฏ์หนอ” แล้วก็กลับอาราม
ครั้นถึงวันที่พระอนุรุทธเถระจะทำจีวร พระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ รูปเป็นบริวาร เสด็จไปประทับนั่ง ณ ที่นั้น โดยมีพระเถระผู้ใหญ่ ๘๐ รูปไปนั่งอยู่ในที่นั้นเหมือนกัน อาทิพระมหากัสสปเถระ พระสารีบุตรเถระ พระอานนทเถระเพื่อช่วยเย็บจีวร เหล่าภิกษุสงฆ์กรอด้าย พระศาสดาทรงร้อยด้ายเข้ารูเข็ม พระมหาโมคคัลลานเถระช่วยจัดหาทุกสิ่งที่จำเป็นมาให้
เมื่อนางชาลินีเทพธิดาเห็นดังนั้นก็นิรมิตกายเข้าไปภายในหมู่บ้าน ชักชวนทายกว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระศาสดาทรงทำจีวรแก่พระอนุรุทธเถระ ผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลายวันนี้ อันพระอสีติมหาสาวกแวดล้อม ประทับนั่งอยู่ในวิหารกับภิกษุ ๕๐๐ รูป พวกท่านจงถือข้าวยาคูเป็นต้น ไปวิหาร”
แม้พระมหาโมคคัลลานเถระนำชิ้นชมพู่ใหญ่มาแล้วในระหว่างภัต ภิกษุ ๕๐๐ รูปไม่อาจเพื่อขบฉันให้หมดได้ ท้าวสักกะทรงทำการประพรมในที่อันเป็นที่กระทำจีวร พื้นแผ่นดินเป็นราวกะว่าย้อมด้วยน้ำครั่งกองใหญ่แห่งข้าวยาคู ของควรเคี้ยวและภัตอันภิกษุทั้งหลายฉันเหลือได้มีแล้ว
นี้ล่ะเป็นมหากุศลที่ปรากฏเป็นพุทธานุสสติแห่งสามัคคีแก่ชาวเราทั้งหลายในบัดนี้ ขออนุโมทนาในความขวนขวายทำกุศลกิจของท่านทั้งหลาย ที่บำเพ็ญตนตามรอยพุทธบาท สมกับที่บรรพชนได้สั่งสอนมาเป็นอย่างดี
เวลา ๑๕.๐๐ น. เผดียงสงฆ์ลงประชุมที่โรงอุโบสถ กำนันโตนำศรัทธาญาติโยมประกอบพิธีถวายผ้ากฐิน เมื่อสงฆ์ทำสังฆกิจเสร็จแล้ว ก็มอบให้พระที่ชำนาญการตัดเย็บจีวร นำผ้ากฐินไปตัดเย็บเป็นสบง กำนันโตก็ให้คนไปขึ้นธงจระเข้ เพื่อประกาศให้ชาวบ้านได้รู้ว่าพระสงฆ์ที่วัดนี้ได้รับผ้ากฐินแล้ว
ปรารภจุลกฐินมาโดยสังเขป ก็เพื่อให้เราทั้งหลายได้ระลึกถึงความสุขใจในการถวายผ้ากฐินในปีนี้ แม้งานจะดูเหมือนมาก แต่เมื่อเราร่วมแรงกายแรงใจเป็นสามัคคีธรรม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวนั้นก็เป็นพลังอำนวยผลให้งานได้สัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์ บ่งชี้ถึงการบำเพ็ญตนตามพระบรมราโชวาทที่ได้นำมากล่าวไว้ ณ เบื้องต้น เชื่อว่าเมื่อทุกคนได้เข้าใจถึงนัยยะที่สำคัญแห่งพระบรมราโชวาทนี้ ก็จะน้อมนำตนให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตน ให้เต็มกำลัง ด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิด และด้วยความสุจริตจริงใจโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น สุขอันเกิดจากปฏิบัติตนเช่นนี้ ก็จะเป็นกำลังให้สามารถนำตนไปสู่ความสำเร็จที่ตนปรารถนา ทั้งยังอำนวยผลให้สังคมมีแต่ความวัฒนาสถาพร อันจักส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบความสุข ความสวัสดี ได้เป็นนิตยกาล
ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการทำกิจการงานใดๆ ที่เป็นบุญเป็นกุศล ย่อมเป็นความพร้อมเพรียงกันที่ก่อให้เกิดสามัคคีธรรมในชุมชน อันนำให้เกิดความสุขสวัสดิ์ ที่เสมอกันทุกคน สมดังพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระภิกษุที่พระเชตวันวิหารว่า “...ความสุขนี้แม้ทั้งหมด นับเนื่องด้วยทุกข์ในวัฏฏะทั้งนั้น แต่เหตุนี้เท่านั้น คือ ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้า การฟังธรรม ความพร้อมเพรียงของหมู่ ความเป็นผู้ปรองดองกัน เป็นสุขในโลกนี้” แล้วตรัสพระคาถาว่า :-
สุโข พุทฺธานํ อุปฺปาโท สุขา สทฺธมฺมเทสนา
สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโข
ความเกิดขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นเหตุนำสุขมา การแสดงธรรมของสัตบุรุษ เป็นเหตุนำสุขมา ความพร้อมเพรียงของหมู่ เป็นเหตุนำสุขมา ความเพียรของชนผู้พร้อมเพรียงกัน เป็นเหตุนำสุขมา
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยในการบริหารราชการแผ่นดินให้ประเทศ มีความวัฒนาสถาพรตลอดไป พระองค์ทรงโปรดให้จารึก พุทธศาสนสุภาษิตความว่า สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโข ไว้ในตราแผ่นดิน น่าเสียดายที่คนไทยในภายหลังไม่ได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในส่วนนี้ จึงมุ่งแสวงหาสิ่งที่ตนปรารถนาด้วยความโลภ อยากได้ในจิตใจ ก่อให้เกิดมหันตภัยขึ้นในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง
วันนี้ญาติโยมทั้งหลายได้มาประพฤติตนให้พระราชประสงค์ที่ตราไว้ในตราแผ่นดินเป็นจริงขึ้น แม้จะเป็นเพียงงานจุลกฐิน แต่ก็เป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีในจิตใจของตน ให้ผู้อื่นได้ประจักษ์ และอาจจะนำให้เขาผู้หลงมืดด้วยความเขลา ได้รับพุทธิปัญญา นำตนให้สร้างสรรค์สิ่งที่ดีแก่ประเทศไทยสืบต่อไป
ขอปรารภถึงปฐมเหตุแห่งการถวายผ้ากฐินให้ได้ทราบ ทั่วกันว่า สมัยพุทธกาล ครั้งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ภิกษุปาไฐยรัฐจำนวน ๓๐ รูป ล้วนปฏิบัติในอารัญญิกธุดงค์บิณฑปาติกธุดงค์ และเตจีวริกธุดงค์ ได้ตั้งใจเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แต่ท่านเหล่านั้นไม่สามารถจะเดินทางเฝ้าได้ทันในวันเข้าพรรษา จึงต้องจำพรรษา ณ เมืองสาเกต ที่อยู่ห่างจากพระนครสาวัตถีเพียง ๖ โยชน์ ภิกษุเหล่านั้นจำพรรษาด้วยความไม่สงบใจ ด้วยความปรารถนา ที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อได้สดับพระธรรมเทศนา ครั้นถึงออกพรรษา ภิกษุเหล่านั้นทำปวารณาเสร็จแล้ว ก็เร่งเดินทางด้วยความลำบากกายฝ่าฝนที่ยังตกชุก พื้นดินเต็มไปด้วยน้ำ เป็นหล่มเลน จนไปถึงพระนครสาวัตถี แล้วเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ด้วยจีวรชุ่มชื้นด้วยน้ำ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาถึงความทุกข์ยาก ในการเดินทางของภิกษุเหล่านั้นแล้ว และด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระหฤทัย พระองค์ทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วได้กรานกฐิน เพื่อให้คณะสงฆ์ได้มอบผ้ากฐินถวายแด่พระสงฆ์ที่มีจีวรคร่ำคร่า
ในกาลนั้น นางวิสาขามหาอุบาสิกาได้เฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นด้วย นางจึงขอเป็นผู้ถวายผ้ากฐินแด่สงฆ์เป็นปฐม ทำให้พระพุทธองค์ทรงกำหนดสังฆกรรมเรื่องกฐินแก่พระภิกษุไว้เป็นแบบอย่างสืบมา
การถวายผ้ากฐิน จัดเป็นสังฆทานที่กำหนดกาล คือมีระยะเวลาเพียง ๑ เดือน หลังออกพรรษา เป็นกิจกรรมที่ปรารภความสามัคคีเป็นเบื้องต้น คือในส่วนทายกผู้ขวนขวายจะถวายผ้ากฐิน ก็ต้องพร้อมเพรียงกันจัดดำเนินการหาผ้ากฐินให้พรักพร้อม แล้วน้อมนำมาถวายแด่สงฆ์ เมื่อสงฆ์รับแล้วก็เป็นเสร็จกิจแห่งกฐินของโยม รับอานิสงส์แห่งกุศลสังฆทานนี้ไปตามควรแก่ตน
ในส่วนของพระสงฆ์ผู้รับผ้ากฐิน ต้องอยู่จำพรรษาในอารามนั้นถ้วนไตรมาส ๓ เดือน และต้องมีพระสงฆ์อยู่ร่วมกันอย่างน้อย ๕ รูป เมื่อรับถวายผ้ากฐินแล้ว ก็ต้องปรึกษาหารือกันเลือกพระสงฆ์ที่ควรแก่การรับผ้ากฐิน โดยทุกรูปมีอิสระในการพิจารณา เมื่อได้พระสงฆ์ผู้ควรรับผ้ากฐินแล้ว ก็ต้องช่วยกันตัดเย็บย้อมผ้านั้นให้เป็นสบง หรืออุตตราสงค์ หรือสังฆาฏิ ให้เสร็จภายในวันนั้น เมื่อเสร็จแล้วก็ต้องร่วมกันอนุโมทนาผ้ากฐินนั้น จึงเป็นเสร็จกิจแห่งกฐิน รับอานิสงส์ได้ตามพระพุทธานุญาต
ได้พรรณนาถึงการถวายผ้ากฐินที่ทุกคนได้ร่วมกันจัดทำ แล้วน้อมนำมาถวายแด่สงฆ์ในกาลนี้ด้วยตนเอง พอเป็นทางแห่งความเจริญสุขสวัสดิพิพัฒนมงคลแก่ทุกท่านแล้ว จึงขอให้ท่านทั้งหลายได้ตั้งใจระลึกถึงกุศลผลบุญแห่งการถวายผ้ากฐินนี้ ให้เป็นตบะเดชะแห่งสุขในจิตใจของตน แล้วตั้งจิตอธิษฐานขออำนาจแห่งบุญนี้ จงอำนวยผลให้ตนและครอบครัวเกิดสุขสวัสดิมงคลทุกเมื่อ แล้วตั้งใจน้อมนำกุศลนี้ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ แห่งเราทั้งหลาย
ขออำนาจแห่งบุญนี้จงอำนวยอิฏฐวิบุลมนุญผลให้พระองค์ทรงเจริญพระราชสิริสวัสดิพิพัฒนมงคลพระชนมสุขทุกประการ ขอพระพลานามัยจงแข็งแรง และขอให้พระองค์ทรงสัมฤทธิผลในพระราชกิจที่ทรงตั้งพระราชหฤทัยปรารถนาทุกประการ ขอให้ประเทศไทยและพระพุทธศาสนาได้วัฒนาสถาพรสืบไปจนชั่วลูกหลานด้วยเทอญ
อาตมภาพก็ขอให้ทุกท่านจงได้รับผลานิสงส์ในการถวายผ้ากฐินนี้ตามปรารถนาทุกประการ ขอยุติธรรมีกถาแต่เพียงนี้ เจริญพร
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 131 ตุลาคม 2554 โดย พระพจนารถ ปภาโส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม)