22 ธันวาคม 2567 00:00:01
ยินดีต้อนรับคุณ,
บุคคลทั่วไป
กรุณา
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
1 ชั่วโมง
1 วัน
1 สัปดาห์
1 เดือน
ตลอดกาล
เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
หน้าแรก
เวบบอร์ด
ช่วยเหลือ
ห้องเกม
ปฏิทิน
Tags
เข้าสู่ระบบ
สมัครสมาชิก
ห้องสนทนา
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!
[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
สุขใจในธรรม
ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
.:::
พระสัทธรรมกำลังจะเลือนหาย โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
:::.
หน้า: [
1
]
ลงล่าง
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
พิมพ์
ผู้เขียน
หัวข้อ: พระสัทธรรมกำลังจะเลือนหาย โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) (อ่าน 364 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 1117
[• บำรุงรักษา •]
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 121.0.0.0
พระสัทธรรมกำลังจะเลือนหาย โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
«
เมื่อ:
31 มกราคม 2567 14:06:40 »
Tweet
พระสัทธรรมกำลังจะเลือนหาย
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี
เจริญพรสาธุชนผู้ใคร่ในการสดับรับฟังพระธรรมเทศนาในธรรมะก่อนนอน วันนี้อาตมภาพก็ได้มีโอกาสมาบรรยายธรรมะให้ญาติโยมผู้ที่สนใจในการรับฟังธรรมะในภาคปฏิบัติได้เอาไปพินิจพิจารณาในหัวข้อเรื่องว่าด้วยพระสัทธรรมกำลังจะเลือนหาย
ญาติโยมทั้งหลาย พระสัทธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกวันนี้กำลังจะเลือนหายไปจากโลกของเรา ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? ก็เพราะว่า มนุษย์เรา ชาวโลกของเราทั้งหลายทุกวันนี้พากันนิยมวัตถุ นิยมสิ่งที่มันเป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม เห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมนั้นเป็นของมีค่า เป็นสิ่งที่จะดลบันดาลให้ความสุขเกิดขึ้นมาให้ได้ แต่ลืมคิดถึงนามธรรมคือสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจของเรา เพราะฉะนั้น ธรรมะหรือพระสัทธรรมนั้น จึงค่อย ๆ เลือนหาย หรือว่าค่อย ๆ จางไปจากจิตใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ในสมัยหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ที่พระเชตวัน ซึ่งเป็นอารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี อยู่ที่เมืองสาวัตถี ในครั้งนั้น พระมหาเถระเจ้าองค์หนึ่ง ชื่อว่าพระมหากัสสปะ เข้าไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัย เมื่อก่อนสิกขาบทมีน้อย แต่ภิกษุตั้งอยู่ในอรหัตตผลนั้นมีมาก และในบัดนี้ สิกขาบทมีมาก แต่ภิกษุที่ตั้งอยู่ในอรหัตตผลนั้นมีน้อย” องค์สมเด็จพระประทีปแก้วซึ่งเป็นศาสดาเอกของโลกนั้น พระองค์ทรงตรัสว่า “ดูก่อนกัสสปะ หมู่สัตว์ทั้งหลายนั้นเลวลง พระสัทธรรมกำลังจะเลือนหาย สิกขาบทจึงมีมาก ภิกษุที่ตั้งอยู่ในอรหัตตผลนั้นจึงมีน้อย ดูก่อนกัสสปะ สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นตราบใด ตราบนั้นพระสัทธรรมคำสั่งสอนของเราจักไม่หายไป ดูก่อนกัสสปะ สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงจะเลือนหาย” อันนี้เป็นพระดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสแก่พระมหากัสสปะ
พระองค์ทรงตรัสว่า หมู่สัตว์ทั้งหลายนั้นเลวลง พระสัทธรรมกำลังจะเลือนหาย หมู่สัตว์เลวลงนั้นหมายความว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายนั้นมีจิตใจหยาบลง มีจิตใจกระด้างลง เพราะในสมัยก่อนนั้น ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น สัตว์ทั้งหลายเป็นผู้บำเพ็ญบารมีมามาก จึงได้เกิดทันเห็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พร้อมไปด้วยอสีติมหาปุริสลักษณะ เป็นผู้ที่เห็นลักษณะอันงดงามขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เห็นฤทธิ์ เห็นความอัศจรรย์ใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกได้ว่าเป็นผู้บำเพ็ญบารมีมาร่วมกับพระองค์ แต่ในสมัยนี้บารมีของคนลดน้อยลงมาตามลำดับ ๆ
ดังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ศาสนาของพระองค์นั้นจะเสื่อมลงไปเรื่อย ๆ จนถึง ๕,๐๐๐ ปี ศาสนาของพระองค์ก็จะจืดจางแล้วก็หายไปจากโลก อันนี้มีหลักฐานไว้ในอรรถกถาที่ท่านกล่าวไว้ แต่คำว่าพระสัทธรรมกำลังจะเลือนหายนั้น พระสัทธรรมนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงหมายถึงพระสัทธรรม ๓ ประการ คือ ปริยัติสัทธรรม ปฏิปัตติสัทธรรม แล้วก็ปฏิเวธสัทธรรม แต่พระสัทธรรมนั้นจะเลือนหายได้ ก็เพราะว่ามีสัทธรรมปฏิรูป สัทธรรมปฏิรูปคือของปลอม คือธรรมปลอมไม่ใช่ธรรมแท้ คล้าย ๆ กับว่า ธรรมปลอมยังไม่เกิดขึ้น ธรรมแท้ก็ยังคงอยู่
แต่เมื่อธรรมปลอมเกิดขึ้น ธรรมแท้ก็หายไปจากโลก คล้าย ๆ กับว่าทุกวันนี้คนไม่นิยมของแท้ แต่ดันไปนิยมของปลอม เพราะอะไร ? เพราะว่าของแท้มันหายาก คนที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ นั้นหายาก จะปฏิบัติได้บรรลุคุณธรรมนั้นหายาก คนก็เลยไม่สนใจ เพราะว่าการประพฤติปฏิบัตินั้นมันลำบาก ต้องอดตาหลับขับตานอน ต้องเดินจงกรม ต้องนั่งภาวนา ต้องใช้ความเพียรมาก ไม่เหมือนกับของปลอม ของปลอมคือของที่ไม่จริง เป็นของเก๊ คือสิ่งที่มันเป็นอุปกิเลส ปฏิบัติเดินจงกรมนั่งภาวนามันก็เกิดขึ้นมา
เพราะฉะนั้นของปลอมนั้นคนจึงมีความต้องการ เหมือนกับทองปลอม ทองปลอมนั้นเป็นของที่มีขายอยู่ทั่วทุกมุมตลาด เป็นของที่ไม่มีราคาแพง แต่ก็มีความสวยไม่แพ้ของจริง เมื่อทองปลอมมันมีมาก แล้วก็ราคาถูก หาได้ง่าย ประดับประดาตกแต่งร่างกายสวยเหมือนกัน คนก็เลยไม่อยากจะซื้อทองแท้ อยากจะหาทองปลอมไปประดับชั่วคราวก็สวยได้เหมือนกัน ในที่สุดคนก็เมินทองแท้ ทองคำแท้ที่เป็นทองนพคุณ ทองนพเก้า หรือว่าทองชมพูนุช อันเป็นทองบริสุทธิ์บริบูรณ์นั้นคนก็ไม่ต้องการ อันนี้ฉันใด ธรรมะในภาคปฏิบัติก็เหมือนกัน ในเมื่อการประพฤติปฏิบัติที่จะยังวิปัสสนาญาณให้เกิด ยังการบรรลุเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ นั้นมันลำบากยากเย็น ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน ต้องอาศัยบารมีจริง ๆ จึงจะสามารถยังคุณธรรมเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมาได้ เมื่อการประพฤติปฏิบัติมันลำบากอย่างนั้น คนก็เลยไม่ต้องการ คนก็เลยหันไปยึดอยู่ในอุปกิเลส เรียกว่าสัทธรรมปฏิรูป คือการบรรลุธรรมปลอม เห็นธรรมปลอม บรรลุธรรมปลอม สัทธรรมปฏิรูปนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ๑๐ ประการ คือ
ประการที่ ๑ ท่านกล่าวไว้ว่า โอภาสคือแสงสว่าง โอภาสนี้ท่านกล่าวว่าเป็นสัทธรรมปฏิรูป คือขณะที่เราเดินจงกรมไป นั่งภาวนาไป จิตใจของเราเริ่มสงบลงเป็นสมาธิ เริ่มสงบลงไป ๆ เมื่อมันสงบลงไปถึงขั้นอุปจารสมาธิ ขณะที่มันจะลงไปอุปจารสมาธินั่นแหละ มันเกิดแสงสว่างขึ้นมา แสงสว่างอาจจะเป็นแสงเดียวเท่ากับแสงไฟฉายก็ดี เท่ากับตารถยนต์ก็ดี เท่ากับตารถไฟก็ดี เป็นแสงเดียวก็ตาม บางครั้งเราภาวนายุบหนอพองหนอไป ภาวนาไปดี ๆ จิตมันเริ่มสงบลง ๆ แสงมันก็ปรากฏอยู่ที่สะดือ อยู่ที่อาการพองอาการยุบก็มี เมื่อเอาจิตไปเพ่งมัน ขณะที่เอาจิตไปเพ่งมัน แสงนั้นมันก็ลอยขึ้นมาอยู่หน้าอก แล้วก็หลุดออกไปข้างหลังก็มี หรือว่าลอยขึ้นมาแล้วก็หลุดออกไปทางกระหม่อมก็มี บางคนก็เห็นแสงอยู่ภายนอก ขณะที่เดินจงกรม เดินไปเดินมา ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ พุทโธ ๆ ไปก็เกิดแสงขึ้นมา ปรากฏแสงขึ้นมา ทำให้แสงนั้นมันมากระทบตาของเรา เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้การเดินจงกรมนั้นมันไม่ถนัด พอกำหนดว่าเห็นหนอ ๆ แสงนั้นมันแตกออกเป็นหลายแสงก็มี
บุคคลผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็อาจจะว่าเห็นเป็นดวงธรรม คิดว่าเราบรรลุธรรมแล้ว เห็นคุณวิเศษแล้ว แสงนี้คงจะเป็นการบรรลุมรรค ก็เกิดการเห็นผิดที่ว่าการเห็นอุปกิเลสเห็นโอภาสแค่นี้เป็นการบรรลุมรรคผล ก็อยากเห็นเรื่อย ๆ อยากเห็นเนือง ๆ อยากเห็นเป็นประจำ ไม่สำเหนียกพิจารณาถึงรูปถึงนาม ว่ารูปนามมันเกิดขึ้นมายังไง มันตั้งอยู่ยังไง มันดับลงไปยังไง วิปัสสนาญาณมันก็ไม่เกิด ในที่สุดมันก็ติดแค่อุปกิเลสคือโอภาสแสงสว่างเท่านั้น อันนี้ก็ถือว่าเป็นสัทธรรมปฏิรูปเป็นธรรมปลอมเหมือนกัน เหมือนอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้แหละ
บางสำนักที่มีลูกศิษย์ลูกหา สอนลูกศิษย์ลูกหาทั่วประเทศแล้วก็มี ดังทั่วประเทศแล้วก็มี ดังไปถึงต่างประเทศก็มี ดังไปทั่วโลกก็มี เพราะอะไร เพราะว่าหลง หลงในแสงสว่าง เห็นว่าพระนิพพานนั้นเป็นเมือง เป็นที่อยู่ เป็นที่อาศัย มีวิมาน มีปราสาท มีนางกำนัลล์ มีอาหารทิพย์ มีอะไรเต็มไปหมด เรียกว่านิพพานปลอม เห็นนิพพานเป็นอัตตา เป็นตัวเป็นตน นิพพานไม่ใช่อัตตา เรียกว่ามีความเห็นผิด เพราะว่าไปยึดถือในแสงสว่าง เห็นแสงสว่างเป็นดวงแก้ว แล้วก็อธิษฐานให้แสงสว่างนั้นมันเคลื่อนมาอยู่ตรงโน้นตรงนี้ แล้วก็สามารถที่จะอธิษฐานให้เห็นโน่นเห็นนี่ เห็นปราสาท เห็นวิมาน ก็คิดว่านั่นแหละเป็นธรรมวิเศษ นั่นแหละเป็นพระนิพพาน แต่ที่จริงไม่ใช่ พระนิพพานนั้นคือการดับกิเลส เกิดขึ้นที่ใจของเรา ตั้งอยู่ที่ใจของเรา แล้วก็ดับลงที่ใจของเรา เพราะฉะนั้นนิพพานนั้นจึงไม่ใช่โอภาสหรือแสงสว่าง โอภาสคือแสงสว่างนั้นจึงถือว่าเป็นสัทธรรมปฏิรูป เป็นของปลอม
ประการที่ ๒ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ญาณ ณาณะ คือความรู้ ความรู้นี้ก็เป็นสิ่งที่ทำให้คนเห็นผิดได้เหมือนกัน เพราะขณะที่เดินจงกรมนั่งภาวนาไป เกิดความรู้ขึ้นมา ทำไมถึงเกิดความรู้ขึ้นมา เพราะว่าขณะที่เดินจงกรม จิตใจของเรามันมุ่งอยู่กับอาการขวาย่างซ้ายย่าง ขณะที่นั่งภาวนาอยู่ มันอยู่กับอาการพองอาการยุบ มีจิตมุ่งตรงอยู่กับรูปกับนาม จิตใจไม่ซัดส่ายไปถึงอดีต ไม่ซัดส่ายไปถึงอนาคต อยู่กับปัจจุบันธรรม จิตใจมันก็เป็นอิสระ
เมื่อจิตใจมันเป็นอิสระ มันปลอด มันโปร่ง มันว่าง มันสงบ เมื่อจิตใจมันปลอดโปร่งว่างสงบ ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาขึ้นมา เกิดความรู้ขึ้นมา สามารถที่จะเทศน์ได้กว้างขวางพิศดาร อย่างเรานึกว่าจะเทศน์เรื่องความอดทน เรานึกเรื่องความอดทน ไม่รู้ว่าคำเทศน์คำสอนมันมาจากไหน เราจะเทศน์เรื่องความเพียร ไม่รู้ว่าคำเทศน์คำสอนมันมาจากไหน เรานึกทั้งวันมันก็ไม่หมด นึกเป็สองสามวันสี่วันห้าวันมันก็ไม่หมด ผลสุดท้ายจิตใจมันก็เหม่อลอยไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ลืมพิจารณารูป ลืมพิจารณานาม วิปัสสนาญาณมันก็ไม่เกิด มันมีแต่จะคิดไปเรื่อย ๆ ๆ คิดว่าตนเองนั้นคงจะบรรลุธรรมแล้ว ถ้าไม่บรรลุธรรมมันก็คงไม่แตกฉานถึงขนาดนี้ มันคงไม่เข้าใจสภาวธรรมมากมายถึงขนาดนี้ เราคงบรรลุธรรมแล้ว เกิดความเห็นผิด เอาไปเทศน์ไปสั่งสอนญาติโยม สามารถเทศน์ได้คล่องแคล่วว่องไวดี เพราะอะไร ? เพราะว่าในขณะนั้น จิตใจมันเป็นอิสระ จิตใจมันไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ มันก็เลยสามารถที่จะเทศน์ได้กว้างขวาง สุขุม คัมภีรภาพ คล่องแคล่วว่องไว แต่นั่นมันเป็นธรรมปลอม คือมันไม่ตั้งอยู่ได้นาน ในเมื่อสมาธิมันเสื่อม การปฏิบัติลดลง ไม่เดินจงกรม ไม่นั่งภาวนา สิ่งเหล่านี้มันก็เสื่อมไป เมื่อเสื่อมไปจิตใจมันก็ตกเข้าสู่สภาวะเดิม อันนี้เรียกว่าธรรมปลอม
ประการที่ ๓ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ปีติ ปีตินี้ก็ถือว่าเป็นธรรมปลอม เป็นของปลอม เป็นสัทธรรมปฏิรูป ที่ปลอมก็เพราะว่าเราไปยึดมั่นถือมั่น แต่ปีตินั้นก็เป็นของจริง เป็นสิ่งที่ทำให้เราเกิดความเอิบอิ่มจิตใจ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรามันชุ่มชื่น เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจของเรามันกระปรี้กระเปร่า กายของเราเวลามันหิวข้าวนี่มันทุรนทุราย กระวนกระวาย อยากจะรับประทานอาหาร แต่เมื่อเรารับประทานอาหารแล้ว ได้รับประทานอาหารที่เอร็ดอร่อย ร่างกายของเราก็มีความสุข มีความอิ่ม มีความระงับการทุรนทุรายกระวนกระวาย อันนี้ฉันใด ใจของเราก็เหมือนกัน มันทุรนทุรายไปด้วยรูป ด้วยเสียง ด้วยกลิ่น ด้วยรส ด้วยราคะ ด้วยตัณหา ด้วยมานะ ด้วยทิฏฐิ ทุรนทุรายอยู่เป็นประจำ
แต่เมื่อปีติมันเกิดขึ้นมา ความทุรนทุรายเหล่านั้นมันระงับสงบลง เกิดความอิ่มเอิบ จิตใจมันเย็นฉ่ำแช่อยู่ในอำนาจของปีติ เมื่อมันเป็นลักษณะอย่างนี้ บุคคลผู้ไม่เคยเสพปีติก็คิดว่า โอ ธรรมวิเศษนั้นคงจะเกิดแก่เราแล้ว ตามธรรมดาจิตใจของเรามันวุ่นวายกวัดแกว่งไปอยู่ตลอดเวลา แต่วันนี้ทำไมจิตใจของเราชุ่มฉ่ำเย็น มีความสุข คนในโลกนี้จะสุขเหมือนเราหรือเปล่า หรือว่าเราสุขคนเดียว สงสัยว่าเราคงจะบรรลุธรรมแล้ว คงจะเห็นธรรมวิเศษแล้ว อาจจะคิดอย่างนั้นก็ได้ ปีตินี้ถือว่าเป็นธรรมปลอม เพราะอะไรจึงเป็นธรรมปลอม เพราะว่า มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถ้าสมาธิของเราลดลง ปีติมันก็หายไป สมาธิของเราไม่มี ไม่ตั้งมั่น ปีติของเราก็หายไป สภาวะจิตใจของเราก็สู่ปกติ เพราะฉะนั้น เมื่อปีติเกิดขึ้นมาเราอย่าหลงว่ามันเป็นของแท้ ว่ามันเป็นการบรรลุมรรคผล อันนี้เป็นการกล่าวโดยย่อ
ประการที่ ๔ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ปัสสัทธิ ปัสสัทธิคือความสงบกาย แล้วก็ความสงบเจตสิกคือใจของเรา สงบแน่นิ่งลงไป ร่างกายของเราแข็ง แข็งเหมือนกับท่อนไม้ แข็งเหมือนกับปลาแช่แข็ง บางคนก็แข็งครึ่งตัวมาถึงเอว บางคนก็แข็งถึงหน้าอก บางคนก็แข็งถึงไหล่ บางคนก็แข็งหมดทั้งตัว จะเหลียวซ้ายแลขวา หันซ้ายหันขวาไม่ได้ เพราะอะไร ? เพราะว่ากายมันสงบมาก ใจมันสงบมาก ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ร่างกายของเรามันแข็ง เราสามารถที่จะยกได้ เวลานั่งอยู่เราสามารถที่จะจับขายกขึ้นไปได้เลย โดยที่มันไม่หลุดออกจากกัน เวลานอนเข้าสมาธิไป ร่างกายมันเป็นปัสสัทธิมาก บุคคลหนึ่งจับเท้า อีกคนหนึ่งจับหัว ก็สามารถที่จะยกไปเหมือนกับท่อนไม้ได้ อันนี้มันเป็นอำนาจของปัสสัทธิ
บุคคลผู้ที่มีปัสสัทธิมาก ๆ เวลาปัสสัทธิเกิดขึ้นมาแล้ว ร่างกายมันจะแข็งทื่อไปหมด จิตใจจะไม่ฟุ้งซ่าน จิตใจมันจะนิ่งอยู่กับอาการพองอาการยุบ จิตใจมันจะนิ่งอยู่กับรูปกับนาม ในลักษณะอย่างนี้กิเลสมันก็ไม่เกิด ราคะก็ไม่เกิด โทสะก็ไม่เกิด โมหะก็ไม่เกิด มานะ ทิฏฐิ ตัณหา อุปทาน อะไรต่าง ๆ นั้นไม่เกิด เมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่เกิด บุคคลผู้ที่เกิดปัสสัทธินั้นแหละก็คิดว่า ตามธรรมดาจิตใจของคนนั้นต้องแออัดยัดเยียดไปด้วยความโกรธ ความโลภ ความหลง ไม่ว่างไปจากความโกรธ ความโลภ ความหลง กิเลสนั้นไม่เคยว่างไปจากจิตใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย แต่ขณะนี้ทำไมจิตใจของเรามันจึงละเอียด จิตใจของเรามันจึงสงบแน่นิ่งขนาดนั้น สงสัยเราคงจะบรรลุธรรมแล้วหนอ อาจจะคิดอย่างนั้นก็ได้ เพราะอะไร เพราะว่าไม่เคยรู้ว่าอาการเช่นนี้มันเป็นอำนาจของปัสสัทธิ มันเป็นอำนาจของการสงบกายสงบเจตสิกเพียงชั่วครู่ชั่วคราวเท่านั้น ในเมื่อเราออกจากสมาธิมา สมาธิมันลด หรือว่าสมาธิมันคลาย ปัสสัทธิมันก็คลายทันที เมื่อคลายทันทีมันก็เสื่อม เรียกว่ามันไม่เป็นของจริง บางคนไม่เข้าใจการบรรลุมรรคผลก็คิดว่า แค่การสงบเป็นปัสสัทธินั้นเป็นการบรรลุมรรคผล อย่างนี้ก็มี อันนี้ก็ถือว่าเป็นสัทธรรมปฏิรูปข้อที่ ๔
ประการที่ ๕ ก็คือ สุข สุขนั้น ขณะที่บุคคลเดินจงกรมนั่งภาวนานั้น มันเป็นสุขที่ละเอียดอ่อนเหลือเกิน บุคคลผู้ที่ไม่เคยได้รับความสุขก็อาจจะหลงได้ คือเมื่อเราเดินจงกรมก็ดี นั่งภาวนาก็ดี ขณะที่เราเดินเรามีจิตใจจดจ่ออยู่กับอาการขวาย่างซ้ายย่าง ยกขึ้นก็รู้ ย่างไปก็รู้ เหวี่ยงเท้าลงก็รู้ เหยียบลงก็รู้ มีสติแนบแน่นอยู่กับอาการยก อาการย่าง อาการเหยียบ ขณะที่นั่งภาวนาเราก็มีสติกำหนดอยู่ที่อาการพองอาการยุบ ลมหายใจเข้า ท้องมันพองขึ้นมา ต้นพองเราก็รู้ กลางพองเราก็รู้ สุดพองเราก็รู้ เวลาเราหายใจออก ขณะที่เราหายใจออกนิดหนึ่ง เริ่มหายใจออก ท้องเราก็เริ่มยุบหนึ่งเส้นขนบ้าง สองเส้นขนบ้าง ท้องเริ่มยุบลง ต้นยุบเราก็รู้ กลางยุบเราก็รู้ สุดยุบเราก็รู้ มีสติแนบแน่นอยู่กับรูปกับนามอยู่ในลักษณะนี้ จิตใจมันไม่เผลอไปอดีต ไม่เผลอไปอนาคต ไม่เหม่อลอยไปตามอารมณ์ ไม่เหม่อลอยไปตามเวทนาต่าง ๆ จิตใจแน่นิ่งอยู่กับปัจจุบันธรรม
เมื่อจิตใจแน่นิ่งอยู่กับปัจจุบันธรรม ความสุขมันเกิดขึ้นมาคราวนี้ ความสุขที่เป็นอุปกิเลสเนี่ย เป็นธรรมปลอม มันเกิดขึ้นมา ขณะที่ความสุขมันเกิดขึ้นมานั้นมันรู้สึกว่ามันสุขมาก ยืนมันก็สุข นั่งมันก็สุข นอนอยู่ก็สุข อาบน้ำอยู่มันก็สุข ฉันอยู่มันก็สุข เราถ่ายอุจจาระปัสสาวะมันก็มีความสุข เราจะทำยังไงมันก็มีความสุข จนคิดว่า ถ้าไม่บรรลุธรรมมันคงไม่สุขอย่างนี้แน่นอน เราก็ไปเดินจงกรมตากแดด ไปนั่งตากแดด แทนที่จิตใจมันจะหงุดหงิด แทนที่จิตใจมันจะรำคาญ
แต่ในขณะที่นั่งตากแดดนั้นจิตใจมันชุ่มฉ่ำเย็นสบาย มีความอิ่มเอิบ มีความสุขเหลือเกิน คล้าย ๆ กับว่าตนเองนั้นนั่งอยู่ในห้องแอ จิตใจมันเย็นฉ่ำ คล้าย ๆ ว่าความโกรธมันดับไปแล้ว โมหะมันดับไปแล้ว โทสะมันดับไปแล้ว กิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดมันหมดไปจากจิตจากใจแล้ว คิดถึงความโกรธไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร คิดถึงราคะไม่รู้ว่ามันเป็นอย่างไร คิดถึงความหลง ไม่รู้ว่าอะไรมันเป็นความหลงแน่นอน คือจิตใจมันมีความสุขมาก คิดถึงบุคคลผู้ที่ทำให้เราโกรธ แต่ก่อนถ้าคิดถึงบุคคลที่ทำให้เราโกรธมันต้องกำหมัดกัดฟันคิดจะแก้แค้น
แต่เมื่อจิตใจของเรามันเป็นลักษณะนั้น คิดถึงบุคคลที่ทำให้เราโกรธแล้ว จิตใจของเรามันเย็น จิตใจของเรามันมีความสุข แทนที่จะอาฆาตพยาบาท ความอาฆาตพยาบาทไม่รู้ว่ามันหายไปไหน บุคคลผู้ที่ไม่เคยเป็น บางครั้งมันก็เป็นหนึ่งวันบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง สี่วันบ้าง ห้าวันบ้าง เป็นอาทิตย์ก็มี แล้วแต่บุญวาสนาบารมี แล้วแต่สมาธิของแต่ละรูปแต่ละท่าน แต่เมื่อมันเกิดขึ้นมาแล้ว คล้าย ๆ กับว่าหมดกิเลส มีความสุขทุกอิริยาบถ เราจะทำยังไงมีความสุขหมด ไม่มีใครที่จะสามารถพรากความสุขออกไปจากจิตจากใจของเราได้ แต่เมื่อสมาธิมันเสื่อม วิปัสสนาญาณมันเสื่อม คราวนี้ ความสุขมันหายแว็บไปเลย คล้าย ๆ กับว่าเราเทน้ำลงทะเลทราย หายแว็บไปเลย ไม่รู้ว่ามันหายไปไหน ไม่รู้ว่าความสุขที่เกิดขึ้นมาในจิตในใจของเราอยู่ดี ๆ เนี่ยมันหายแว็บไปเลย
เหมือนกับเงาของเรา ในเมื่อเราเข้าไปสู่แสงไฟ ขณะที่เราเดินไป ขณะที่เราเดินตากแดด เงาของเรามันก็เดินตามเราไปด้วย เราเดินเร็ว เงาของเราก็เดินเร็วด้วย เดินช้า เงาของเราก็เดินช้าด้วย เราหยุด เงาของเราก็หยุดด้วย ความสุขที่มันเกิดขึ้นมาก็เหมือนกัน เราเดินเร็วมันก็สุข เรานั่งมันก็สุข เรายืนมันก็สุข เราอยู่ยังไงมันก็สุข แต่เมื่อเราเดินเข้าไปในร่ม ไม่รู้ว่าเงามันหลบไปไหน ความสุขที่มันหายไปในขณะที่มันเกิดขึ้นมานี่แหละ ไม่รู้ว่ามันหายไปไหน อันนี้ฉันใด อุปกิเลสคือธรรมะของปลอม คือความสุขที่มันปลอมเนี่ย มันไม่รู้มันหายไปไหน เรียกว่ามันเสื่อมไป มันไม่เป็นของจริง มันไม่เป็นสุขที่ถาวรเหมือนกับการบรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ที่ปฏิบัติไป ๆ แล้วเกิดความสุขขึ้นมาจึงไม่ควรหลงของปลอม เพราะอาจจะเป็นความสุขที่เกิดขึ้นมาจากอุปกิเลสก็ได้ ไม่ใช่เป็นความสุขที่เกิดจากการบรรลุมรรคผล เพราะฉะนั้น ก็ขอให้ผู้ฟังทั้งหลายนั้นจงพยายามให้ความละเอียดต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม อย่าหลงง่าย ๆ อันนี้เป็นอุปกิเลส หรือว่าเป็นสัทธรรมปฏิรูปข้อที่ ๕
ประการที่ ๖ ก็คือ อธิโมกข์ อธิโมกข์ คืออะไร ? อธิโมกข์ก็คือน้อมใจเชื่อเกินไป เป็นศรัทธาอธิโมกข์ น้อมใจเชื่อเกินไป คือบุคคลผู้ที่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติธรรม จิตใจหมกมุ่นอยู่กับความโกรธ ความโลภ ความหลง หมกมุ่นอยู่กับความเห็นแก่ตัว หมกมุ่นอยู่กับรูป กับเสียง กับกลิ่น กับรสที่น่าชอบใจ สิ่งไหนน่าชอบใจก็ไขว่คว้าเอา ขวนขวายเอา โกงเอา แต่ว่าสิ่งไหนที่ไม่ชอบใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ไหนที่ไม่ชอบใจก็ไม่เอา ต้องการที่จะหนี ต้องการที่จะหลีก ต้องการที่จะพ้นไปจากสิ่งเหล่านี้ จิตใจมันหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา หมกมุ่นอยู่กับสิ่งสกปรกคือกิเลสพันห้าตัณหาร้อยแปดอยู่ตลอดเวลา
เมื่อจิตใจมันหมกมุ่นอยู่กับสิ่งเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา พอเดินจงกรมนั่งภาวนา จิตใจมันเป็นไท จิตใจมันเป็นอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส มันก็เกิดศรัทธาขึ้นมา แต่มันเป็นศรัทธาที่ขาดปัญญา เป็นศรัทธาที่ไม่ประกอบไม่สัมปยุตไปด้วยความรู้คือญาณ เป็นวิปปยุต คือไม่ประกอบไปด้วยญาณ ไม่ประกอบไปด้วยความรู้ ไม่ประกอบไปด้วยความรู้แจ้งเห็นจริง มันจึงหลง เมื่อศรัทธาตัวนี้เกิดขึ้นมามันก็เดินจงกรมมาก เดินจงกรมนั่งภาวนามาก เดินเป็นหนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง สามชั่วโมง สี่ชั่วโมง ห้าชั่วโมง หกชั่วโมง เดินไม่หยุด แดดออกก็เดินตากแดด ฝนตกก็เดินตากฝน ยุงมันจะมากมายขนาดไหนก็ตาม ก็เดินฝ่าดงยุงอยู่นั่นแหละ ไม่มีอะไรที่จะทำให้สะทกสะท้านในการประพฤติปฏิบัติได้ เพราะอะไร ? เพราะว่าศรัทธามันเกิดขึ้นมามาก
เวลานั่งก็เหมือนกัน นั่งไปเป็นหนึ่งชั่วโมง สองชั่วโมง สามชั่วโมง แดดมันจะมารบกวนก็ตาม แดดมันจะส่องมาถึงก็ตาม ก็นั่งตากแดดอยู่นั้น ฝนตกก็ไม่หนี นั่งอยู่นั่นแหละ ยุงมากัดเต็มก็ไม่ลุกก็ไม่หนี เพราะอะไร ? เพราะว่าศรัทธามันเกิดมาก เกิดความศรัทธามาก เอาชีวิตของตนเองนี่บูชาพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยากจะขายไร่ ขายนา ขายทรัพย์สินที่มีอยู่มาเป็นงบประมาณในการเผยแผ่ ในการเดินจงกรมนั่งภาวนา อยากจะให้คนทั้งโลกรู้ว่าการประพฤติปฏิบัติธรรมนี้มันประเสริฐจริง มันดีจริง มันมีความสุขจริง มันเกิดความรู้จริง อยากจะให้เขารู้ อยากจะให้คนทั้งโลกรู้ อยากจะทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ ทรัพย์สินสมบัติทุกอย่างที่มีอยู่นั้นมาให้การปฏิบัติหมด เรียกว่าเกิดศรัทธาขึ้นมามากจนไม่สามารถที่จะระงับตัวเองไว้ได้ เรียกว่าศรัทธามากเกินไป
บุคคลผู้เกิดศรัทธามากขึ้นมาในลักษณะนี้อาจจะคิดว่า ตามธรรมดาจิตใจของปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยอำนาจของกิเลส ตามธรรมดาจิตใจของปุถุชนผู้มืดไปด้วยอวิชชาคือความไม่รู้ จะศรัทธาถึงขนาดนี้คงเป็นไปไม่ได้ จิตใจของเราคงบรรลุธรรมแล้ว ถ้าไม่บรรลุธรรมคงจะไม่ศรัทธามากถึงขนาดนี้หรอก เราเกิดมาเราไม่เคยศรัทธามากขนาดนี้ จิตใจของคนมันถูกความตระหนี่มัจฉริยะนั้นรึงรัดอยู่ การที่จะบริจาคทานไปห้าบาทสิบบาดคิดแล้วคิดอีก จะถวายทานแต่ละครั้งก็คิดแล้วคิดอีก กว่าที่จะถวายทานได้ แต่เมื่อเรามาปฏิบัติธรรมแล้วทำไมเราสามารถที่จะทำได้หมด แม้แต่ชีวิตของเราก็บูชาได้ ถ้าเราไม่บรรลุธรรมแล้ว จิตใจของเราคงจะไม่เป็นอย่างนี้ คิดว่าตนเองบรรลุธรรมแล้ว อย่างนี้ก็มี แ
ต่เมื่อศรัทธามันลดลง ความตระหนี่มันก็ครอบงำจิตใจเหมือนเดิม ความเหนียวแน่น ความห่วงหาอาลัยไม่อยากตายมันก็เกิดขึ้นมาเหมือนเดิม ความห่วงทรัพย์สินเงินทอง ห่วงบุตร ห่วงสามี ห่วงภรรยา ห่วงเรือกสวนไร่นา มันก็เกิดขึ้นมาเหมือนเดิม ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่ามันเป็นของปลอม ยังไม่เป็นศรัทธาที่ประกอบไปด้วยญาณ เรียกว่าศรัทธาญาณสัมปยุตต์ ประกอบไปด้วยมรรค ประกอบไปด้วยผล เป็นอจลศรัทธา คือศรัทธาไม่หวั่นไหว คือศรัทธาของผู้บรรลุมรรคผล นับตั้งแต่พระโสดาบันไป ก็ถือว่าเป็นอจลศรัทธา เพราะฉะนั้น ศรัทธาที่พูดในลักษณะเบื้องต้นนั้นจึงเป็นของปลอม เป็นสัทธรรมปฏิรูป
ประการที่ ๗ คือ ปัคคัยหะ ปัคคัยหะนั้นก็คือความเพียร ความเพียรเมื่อเกิดขึ้นมาในจิตใจของผู้ประพฤติปฏิบัติ สามารถที่จะอดนอนก็ได้ อดนอนเป็นหนึ่งวัน สองวัน สามวัน สี่วัน ห้าวัน สิบวัน สิบห้าวัน ยี่สิบวัน ยี่สิบห้าวัน เป็นต้น สามารถที่จะอดได้ อดนอนจนเดินชนต้นไม้ อดนอนเดินจงกรมจนเซซ้ายเซขวา หรือว่านั่งภาวนาจนคอพับไปพับมาก็ไม่ยอมนอน เพราะอะไร ? เพราะว่าความเพียรมันกล้า บางครั้งก็อดอาหาร หนึ่งวันบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง สี่วันบ้าง ห้าวันบ้าง
บางครั้งก็อดอาหารฉันวันเว้นวัน ฉันวันเว้นวัน ฉันหนึ่งวันเว้นสองวัน ฉันสองวันเว้นไปสามวัน ฉันสามวันเว้นไปสี่วัน ฉันสี่วันเว้นไปห้าวันก็มี เพราะอะไร เพราะว่าศรัทธามันกล้า เพราะว่าความเพียรมันกล้า มันคิดว่าเราเดินจงกรมขนาดนี้ เราอดอาหารขนาดนี้ เราอดนอนขนาดนี้ เรายังไม่ได้บรรลุธรรมเลย บุคคลเดินจงกรมธรรมดาจะบรรลุธรรมได้อย่างไร มันคิดขึ้นมาอย่างนั้น เราอดอาหารขนาดนี้ เราอดนอนขนาดนี้ เราทำความเพียรขนาดนี้ เรายังไม่บรรลุมรรคผล นับประสาอะไรกับคนที่ฉันปกติ ปฏิบัติปกติ จะบรรลุมรรคผล คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะมรรคผลนั้นมันต้องเหนือตาย มันต้องอยู่ฟากตาย มันต้องอยู่เหนือความตาย มันคิด เพราะอะไร ? เพราะว่าความเพียรมันมาก คิดเห็นความเพียรของบุคคลอื่นเป็นของกระจอก ไม่สามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะว่าตนทำมามาก ในลักษณะอย่างนั้น
บางคนก็เข้าใจผิดเลยว่า ตามธรรมดาจิตใจของปุถุชน จิตใจของคนที่ไม่บรรลุธรรมแล้ว จะทำความเพียรถึงขนาดนี้มันเป็นไปได้หรือ เราคงจะบรรลุธรรมแล้วแหละ เราจึงจะสามารถที่จะอดอาหารได้ถึงขนาดนี้ สามารถที่จะอดหลับอดนอนได้ถึงขนาดนี้ สามารถที่จะทำความเพียรได้ถึงขนาดนี้ หรือว่าเราบรรลุธรรมไปแล้ว อาจจะคิดอย่างนั้นก็ได้ ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเป็นของปลอม เพราะว่าความเพียรในขณะที่ศรัทธามันเกิดมันก็ทำได้ แต่เมื่อศรัทธามันลดลง มันก็ไม่สามารถที่จะทำได้ มันก็ห่วงหาอาลัย กลัวโรคภัยไข้เจ็บมันเบียดเบียน กลัวโรคภัยไข้เจ็บมันแซกซ้อน ในลักษณะอย่างนี้เรียกว่าเป็นของปลอม
ประการที่ ๘ คือ อุปัฏฐานะ คือจิตของเราเข้าไปปรากฏชัด คือขณะที่เราเดินจงกรมนั้น สติของเรามันปรากฏชัดมาก เมื่อจิตของเราปรากฏชัดมากมันก็คิดมาก สติปรากฏชัดในหลักทางการประพฤติปฏิบัตินั้นมันไม่เหมือนทางโลก ทางโลกสติมันปรากฏชัดก็ถือว่าดี แต่ว่าในทางการประพฤติปฏิบัตินั้น เมื่อสติปรากฏชัดแล้วมันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คิดมาก เรานั่งภาวนาอยู่นี่ เราคิดเป็นร้อย ๆ เรื่อง พัน ๆ เรื่อง ไม่รู้ว่ามันคิดมายังไง เรานั่งภาวนาอยู่คิดไปเป็นร้อย ๆ เรื่อง พัน ๆ เรื่อง แค่นั่งภาวนาห้านาทีสิบนาที ไม่สามารถที่จะหยุดความคิดของตัวเองได้
ความคิดของเรามันไหลออกมาเป็นกระแสเหมือนกับสายน้ำ มันเกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ ดับไป เรื่องใหม่เกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ ดับไป เรื่องใหม่เกิดขึ้นมา ตั้งอยู่ ดับไป มันสืบเนื่องไปไม่มีช่องว่าง แล้วเราก็ไม่สามารถที่จะหยุดความคิดของตัวเองได้ เห็นความคิดของตัวเองไหล ๆ ๆ ออกจากสมอง ไหลออก ๆ ๆ ไม่รู้วิธีว่าจะหยุดมันยังไง ไม่มีสติบังคับความคิดของตัวเอง ก็เลยคิดว่าตัวเองนั้น คล้าย ๆ กับว่าจะเป็นบ้าไปในช่วงนั้น เพราะว่ามันบังคับไม่ได้ มันไหลออก ๆ ๆ ความคิดมันไหลออก เราคิดเรื่องใดมันก็ไหลไป บางครั้งเราไม่ได้คิด มันไหลออกไปเองของมันโดยอัตโนมัติ คิดไป ๆ ๆ บางครั้งก็ขาดสติ เพราะว่าเดินก็คิด นั่งก็คิด ฉันก็คิด เว้นแต่นอนหลับ หรือว่ามีจิตใจเหม่อลอยไปตามอำนาจของความคิด บางคนคิดในลักษณะอย่างนี้ ถ้ากำหนดไม่อยู่ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เสียผู้เสียคนได้ อันนี้ถือว่าเป็นสัทธรรมปฏิรูปข้อที่ ๘
«
แก้ไขครั้งสุดท้าย: 31 มกราคม 2567 14:09:08 โดย Maintenence
»
บันทึกการเข้า
[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
คะแนนความดี: +0/-0
ออฟไลน์
เพศ:
Thailand
กระทู้: 1117
[• บำรุงรักษา •]
ระบบปฏิบัติการ:
Windows NT 10.0
เวบเบราเซอร์:
Chrome 121.0.0.0
Re: พระสัทธรรมกำลังจะเลือนหาย โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
«
ตอบ #1 เมื่อ:
31 มกราคม 2567 14:08:03 »
พระสัทธรรมกำลังจะเลือนหาย
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี
ประการที่ ๙ อุเบกขาอาวัชชนะ คือความวางเฉย ความวางเฉยนี้ทำไมจึงถือว่าเป็นสัทธรรมปฏิรูป เป็นของปลอม เพราะว่ามันเกิดอยู่ในขั้นของอุปกิเลสเฉย ๆ มันไม่ได้เกิดด้วยอำนาจของมรรคของผล ถ้ามันเกิดด้วยอำนาจการบรรลุมรรคผลจนหมดกิเลสแล้ว เป็นการวางเฉยของพระอรหันต์นั้นก็ถือว่าเป็นของแท้ แต่เมื่อเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เดินจงกรม นั่งภาวนา ขวาย่าง ซ้ายย่าง พองหนอ ยุบหนอ จนวิปัสสนาญาณที่ ๑ คือนามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นมา
เมื่อวิปัสสนาญาณที่ ๑ นามรูปปริจเฉทญาณเกิดขึ้นมาแก่กล้า มันก็ส่งต่อให้ปัจจยปริคคหญาณ ญาณที่ ๒ เกิดขึ้นมา เมื่อวิปัสสนาญาณที่ ๒ คือปัจจยปริคคหญาณแก่กล้าขึ้นมา ก็ส่งต่อให้สัมมสนญาณ คือญาณที่ ๓ เมื่อญาณที่ ๓ เกิดขึ้นมาแล้วนี่แหละ มันจะเกิดอุเบกขาที่อยู่ในอุปกิเลส มันจะเกิดขึ้นมา มันจะมีความวางเฉยมาก ความวางเฉยนี่ มันวางเฉยมาก จนไม่รู้ว่าราคะก็ดี โทสะก็ดี มันเป็นยังไง ถ้ามีคนมาถามในขณะที่เราวางเฉยนั้น ถ้ามีคนมาถามว่าเรามีความโกรธไหม เราก็บอกว่าไม่มี เรามีความโลภไหม ? ไม่มี เรามีโทสะไหม ? ไม่มี
ไม่ใช่เราอวดอุตตริมนุสสธรรม แต่เราเอาภาวะของจิตใจในขณะนั้น มันไม่มีจริง ๆ แต่มันไม่ใช่ด้วยอำนาจของมรรคของผล แต่มันเป็นด้วยอำนาจของอุปกิเลส เราก็ตอบตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่ามันไม่มีราคะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ บุคคลผู้ที่เป็นผู้สอบอารมณ์ ไม่รู้ว่ามันเป็นสภาวะของอุปกิเลส ก็อาจจะว่าบุคคลนี้คงจะบรรลุธรรมแล้วแหละ ก็เลยพยากรณ์ลูกศิษย์ลูกหาตัวเองว่าลูกศิษย์ลูกหาตัวเองบรรลุธรรมแล้ว ความโกรธไม่มี ความโลภไม่มี ความหลงไม่มี มันจะเป็นอะไร มันก็ต้องบรรลุธรรมแน่นอน ก็พยากรณ์ ผลสุดท้ายอาจจะตกนรกทั้งลูกศิษย์ทั้งครูบาอาจารย์ก็ได้ อาจจะพากันไปตกนรกก็ได้ เพราะอะไร ? เพราะว่าพยากรณ์ผิด
บุคคลผู้ถูกพยากรณ์ก็หลงตัวเอง โฆษณาไปว่าตัวเองได้บรรลุมรรคผลนิพพาน สุดท้ายก็ไม่ทำความเพียรต่อ คิดว่าตัวเองนั้นหมดความโกรธ ความโลภ ความหลงไปแล้ว เพราะอะไร ? เพราะว่าอุเบกขานั้นมันอุเบกขาจริง ๆ มันวางเฉยจริง ๆ เราเดินจงกรมอยู่ มีคนมายืนอยู่ที่หัวที่จงกรมกับท้ายที่จงกรม พูดกันไปพูดกันมา เราก็เดินจงกรมอยู่ในระหว่างนั้นแหละ ไม่ให้เกียจเราถึงขนาดนั้น จิตใจของเราก็วางเฉย เฉยเลย ไม่มีความโกรธ ไม่มีความโลภ ไม่มีความคิดที่จะพยาบาทอาฆาตบุคคลที่เขามาคุยกัน
เราคิดดูสิว่า เราเดินจงกรมเนี่ย เราเดินจงกรมขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ตั้งใจทำความเพียรที่จะบรรลุมรรคผลจริง ๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน แล้วมีคนมายืนอยู่ท้ายที่จงกรมและหัวที่จรงกรมคุยกันข้ามหัวเรา แล้วเราไปเดินใกล้ ๆ ไปหยุด กลับหนอ ๆ เขาก็คุยกันกลับไปกลับมา ไม่ยอมหนี มันจะเป็นเพราะเทวดามิจฉาทิฏฐิดลจิตดลใจ หรือว่าเป็นมารดลจิตดลใจเขาก็ไม่รู้ แต่มันเป็นอย่างนั้นมา บุคคลผู้ปฏิบัติถึงนี้แหละ มันก็วางเฉยได้ เฉย ไม่โกรธ ไม่ผูกพยาบาท ไม่อาฆาต เพราะอะไร ? เพราะว่าในขณะนั้นอุเบกขาในอุปกิเลสมันเกิดขึ้นมา
บุคคลผู้ที่ปฏิบัติถึงนี้ เพียงแต่เป็นอุปกิเลสเฉย ๆ อย่าไปหลง อย่าหลงคิดว่าตนเองนั้นหมดกิเลสไปจริง ๆ แล้ว อย่าไปคิด ในเมื่อสมาธิมันเสื่อมลง สมาธิมันคลายลง อุเบกขาตัวที่เราเป็นอยู่ปรากฏอยู่นั้นมันก็หายไปด้วย เมื่อหายไปจิตใจของเรามันก็เต็มไปด้วยความโกรธ ความโลภ ความหลง เต็มไปด้วยมานะ ทิฏฐิ ตัณหา อวิชชา อุปาทาน เหมือนเดิม ในลักษณะอย่างนี้แสดงว่าเป็นของปลอม
ประการที่ ๑๐ ก็คือ นิกันติ ความใคร่ ความพอใจ ในสิ่งที่ตนเองเกิด จะเป็นโอภาสแสงสว่างก็ดี จะเป็นญาณความรู้ก็ดี จะเป็นปีติ ความอิ่มเอิบจิตใจก็ดี จะเป็นปัสสัทธิ ความสงบนิ่งของกายของเจตสิกก็ดี จะเป็นความสุขคือสุขกายสุขใจก็ดี จะเป็นศรัทธา น้อมใจเชื่อก็ดี เป็นความเพียรก็ดี เป็นสติก็ดี เป็นความวางเฉยก็ดี ถ้าเราเข้าไปชอบในสิ่งเหล่านี้ ผูกพันยึดมั่นเป็นอุปาทานขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นนิกันติ เป็นสัทธรรมปฏิรูปข้อที่ ๑๐
เมื่อสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นมาแล้วนั่นแหละ คล้าย ๆ กับว่าของปลอมมันเกิดขึ้นมามาก คนยินดีมาก คนไม่สนใจในการที่จะปฏิบัติเพื่อยังวิปัสสนาญาณให้เกิด ไม่สนใจที่จะยังวิปัสสนาญาณให้แจ่มแจ้ง ก็หลงอยู่แค่อุปกิเลส ๑๐ ข้อ อย่างที่อาตมภาพได้กล่าวไว้เบื้องต้น เมื่อคนหลงอยู่ในสิ่งเหล่านี้ ก็ไม่ถึงธรรมะที่แท้จริง ก็ไม่สามารถที่จะบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน ไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระสกทาคามี ไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอนาคามี ไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอรหันต์ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานได้ ในที่สุดก็ไม่สามารถที่จะยกตนพ้นไปจากอบายภูมิ ไม่สามารถที่จะปิดประตูอบายภูมิได้
เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บุคคลหลงใหล เมื่อหลงใหลแล้วก็ไม่ยินดีในของแท้ เปรียบเสมือนกับคนหลงใหลในทองปลอมไม่ยินดีในทองแท้ เพราะฉะนั้น การหลงใหลในสัทธรรมปฏิรูป จึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมของเรานั้นมันเสื่อมไปจากจิตจากใจของพุทธบริษัท ถ้าพุทธบริษัทมีจิตใจหมกมุ่นหลงอยู่กับของปลอมเหล่านี้ จิตใจไม่ถึงธรรม เมื่อจิตใจไม่ถึงธรรม ศรัทธามันก็ไม่บริบูรณ์ เมื่อศรัทธาไม่บริบูรณ์ การที่เราจะปกครองหรือว่าบริหารพระศาสนามันก็เป็นไปไม่ได้ เวลาเกิดข่าวคราวมาในพุทธศาสนา พระรูปนั้นไปเสียศีลกับสีกา หรือว่าไปยักยอกเอาเงินของสงฆ์ ไปกินเหล้าเมาสุรา ดื่มเบียร์ เป็นต้น เราก็ไม่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ไม่อยากจะใส่บาตร ไม่อยากจะไปฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่อยากจะไปเข้าวัดเข้าวา เดินจงกรม นั่งภาวนา นี่เรียกว่าศรัทธาของเรามันตกแล้ว
แต่ถ้าบุคคลใดได้บรรลุธรรมจริง ๆ นับตั้งแต่พระโสดาบัน ถึงธรรมจริง ๆ แล้ว ในเมื่อข่าวคราวอย่างนี้เกิดขึ้นมาเขาก็ไม่หวั่นไหว เรียกว่าเป็นอจลศรัทธา ศรัทธาที่ไม่หวั่นไหวแล้ว ทำไมจึงไม่หวั่นไหว เพราะว่าการบรรลุธรรมนั้นแหละ มันปรากฏชัดเจนแจ่มแจ้งอยู่ในจิตในใจของบุคคลนั้น แล้วก็ทำให้บุคคลนั้นเข้าใจว่าธรรมะหรือว่าพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นไม่ขึ้นอยู่กับบุคคล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงตรัสมอบพระพุทธศาสนาให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่มอบให้พระสารีบุตร ไม่มอบให้พระโมคคัลลานะ ไม่มอบให้พระมหากัสสปะ
แต่พระองค์ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ พระศาสนาคือพระธรรมวินัยของตถาคตนี้ บุคคลใดปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย บุคคลนั้นย่อมรู้แจ้งเห็นจริงในพระธรรมวินัย” เรียกว่าบุคคลใดปฏิบัติตามพระธรรมวินัยตามเหตุตามปัจจัยสมบูรณ์แล้ว บุคคลนั้นก็สามารถที่จะรู้ธรรมได้ เป็นผู้ทรงธรรมได้ เป็นผู้ทรงพระวินัยได้ เรียกว่าผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรมได้
เพราะฉะนั้น ความผิดของบุคคลจึงเป็นส่วนของบุคคล ไม่เกี่ยวกับพระศาสนา สมมติว่าพระสองรูปสามรูป บุคคลหนึ่งไปต้องอาบัติเป็นปาราชิก บุคคลหนึ่งไปเดินจงกรมนั่งภาวนา บุคคลผู้ต้องอาบัติปาราชิกก็ตกนรกไป แต่บุคคลผู้ที่ปฏิบัติตามธรรมอยู่ก็สามารถที่จะได้บรรลุสมาบัติ วิปัสสนาญาณ ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เพราะว่ามันเป็นส่วนของบุคคล
เหมือนกับกฎหมายของบ้านเมือง กฎหมายของบ้านเมืองนั้น คนอยู่ในบ้าน อยู่ในประเทศ อยู่ในตำบลอำเภอ บางคนทำผิดกฎหมาย ไปลักเล็กขโมยน้อยก็ถูกเขาจับไป แต่บุคคลผู้ไม่ลักเล็กขโมยน้อยเขาก็องอาจกล้าหาญ เพราะอะไร ? เพราะว่าไม่มีความผิด พระที่มีความผิด ก็ย่อมเศร้าหมองไป ย่อมตกนรกไป ย่อมสึกขาลาเพศออกไปจากพระศาสนาไป แต่พระที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบก็ยังมีอยู่ เพราะฉะนั้นก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายจงเข้าใจพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนาของเราทุกวันนี้ มีสิ่งที่มากัดกร่อน มีสิ่งที่มาทำลาย มีสิ่งที่จะมาทำให้ศาสนาของเรานั้นเสื่อมหายไปนั้นมีมากมายหลายประการ
พระพุทธศาสนาของเรานั้นตกอยู่ในวงล้อมของสิ่งอันตรายทั้งหลายทั้งปวง ศาสนาอื่น ๆ เขาก็เผยแผ่เพื่อที่จะเอาญาติโยมนั้นไปเป็นสาวกของเขา ถ้าเราไม่มาสนใจในภาคประพฤติปฏิบัติธรรมจริง ๆ แล้ว เราไม่มีจิตใจหนักแน่นจริง ๆ แล้ว ในที่สุดศาสนาของเราอันเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้จิตใจของเรามีความสุข มีความเย็นกายเย็นใจจริง ๆ ก็จะเสื่อมไป ลูกหลานของเราที่เกิดมาก็จะไปนับถือศาสนาอื่นหมด ในที่สุดโลกของเราก็จะไม่มีพุทธศาสนา ศาสนาที่จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้คนรู้แจ้งเห็นจริง ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน มีจิตใจประกอบด้วยเมตตาอารีย์เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ นำสันติสุขมาสู่โลกจริง ๆ นั้นก็จะอันตรธานไป เพราะอะไร ? เพราะว่าเราไม่สนใจในภาคปฏิบัติธรรม
วันนี้อาตมภาพ ได้น้อมนำเอาธรรมะในเรื่องพระสัทธรรมกำลังจะเลือนหาย มาแสดง ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลายนั้นตื่นตัว ตื่นตัวในการนับถือพุทธศาสนา เราอย่านับถือพุทธศาสนาแต่ในสำมะโนครัว หรือว่านับถือแต่ปากเฉย ๆ เราต้องน้อมกาย น้อมวาจา น้อมใจของเราเข้ามาศึกษาพุทธศาสนาด้วย เพราะพระพุทธศานานั้น ไม่สำเร็จเฉพาะการฟังเฉย ๆ ไม่สำเร็จเฉพาะการศึกษาตามตำรับตำรา แต่พระพุทธศาสนานั้นสำเร็จด้วยการปฏิบัติธรรม เหมือนกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั่นแหละ พระองค์ทรงศึกษาจบ ๑๘ ปริญญา ได้ปริญญาถึง ๑๘ สาขา แต่ยังไม่สามารถที่จะบรรลุเป็นพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้
แต่เมื่อพระองค์ทรงนั่งคู้บัลลังก์ เดินจงกรม นั่งภาวนา ที่ใต้ต้นโพธิ์นั่นแหละ จึงสามารถได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สามารถสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้บรรลุธรรมตามพระองค์ได้ เพราะฉะนั้น การที่จะดำรงพระพุทธศาสนานั้น ไม่ใช่เพียงแต่การฟังอย่างเดียว การอ่านตำรับตำราอย่างเดียว ต้องประพฤติปฏิบัติด้วย เพราะฉะนั้น อาตมภาพก็เป็นห่วงเป็นใย อยากให้พระศาสนานั้นดำรงอยู่ไปนาน ๆ จึงขอบอกข่าวในธรรมะก่อนนอนในวันนี้ ให้ญาติโยมผู้ที่เป็นพุทธบริษัททั้งหลาย ที่นับถือแล้วก็ดี ที่ยังไม่นับถือก็มาศึกษาประพฤติปฏิบัติเพื่อที่จะทำศาสนาของเราให้มั่นคง เป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นสิ่งที่จะทำให้โลกของเราร่มเย็นต่อไปชั่วกาลนาน.
บันทึกการเข้า
[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [
1
]
ขึ้นบน
พิมพ์
« หน้าที่แล้ว
ต่อไป »
กระโดดไป:
เลือกหัวข้อ:
-----------------------------
จากใจถึงใจ
-----------------------------
=> หน้าบ้าน สุขใจ
===> สุขใจ ป่าวประกาศ (ข้อความจากทีมงาน)
===> สุขใจ เสนอแนะ (ข้อความจากสมาชิก)
===> สุขใจ ให้ละเลง (มุมทดสอบบอร์ด)
-----------------------------
สุขใจในธรรม
-----------------------------
=> พุทธประวัติ - ประวัติพระสาวก
===> พุทธประวัติ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
===> ประวิติพระอรหันต์ พระสาวก ในสมัยพุทธกาล
===> ประวัติพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ในยุคปัจจุบัน
===> นิทาน - ชาดก
=====> ชาดก พระเจ้า 500 ชาติ
=> ธรรมะทั่วไป ธารธรรม - ธรรมทาน
===> ธรรมะจากพระอาจารย์
===> เกร็ดครูบาอาจารย์
=> ห้องวิปัสสนา - มหาสติปัฏฐาน 4
=> สมถภาวนา - อภิญญาจิต
=> จิตอาสา - พุทธศาสนาเพื่อสังคม
=> เสียงธรรมเทศนา - เอกสารธรรม - วีดีโอ
===> เอกสารธรรม
===> เสียงธรรมเทศนา
=====> ธรรมะจาก สมเด็จโต
=====> ธรรมะจาก หลวงปู่มั่น
=====> เสียงบทสวดมนต์
=====> เพลงสวดมนต์
=====> เพลงเพื่อจิตสำนึก แด่บุพการี
=====> ธรรมะ มิวสิค (เพลงธรรมทั่วไป)
===> ห้อง วีดีโอ
=> เกร็ดศาสนา
=> กฏแห่งกรรม - ท่องไตรภูมิ
=> ไขปัญหาโลก ธรรม และความรัก
=> บทสวด - คัมภีร์ คาถา - วิชา อาคม
=> พุทธวัจนะ - ภาษิตธรรม
===> พุทธวัจนะ ในธรรมบท
===> พุทธศาสนสุภาษิต
===> คำทำนายภัยพิบัติที่จะเกิด
===> รวมข่าวภัยพิบัติ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
===> รู้ เพื่อ รอด (การเตรียมการ)
=> ห้องประชาสัมพันธ์ ทั้งทางโลก และทางธรรม
===> ฐานข้อมูล มูลนิธิต่าง ๆ ในประเทศไทย (Donation Exchange Center)
-----------------------------
วิทยาศาสตร์ทางจิต เรื่องลี้ลับ
-----------------------------
=> วิทยาศาสตร์ - จักรวาล - การค้นพบ
===> เรื่องราว จากนอกโลก
=====> ประสบการณ์เกี่ยวกับ UFO
=====> หลักฐาน และ การพิสูจน์ยูเอฟโอ
=====> คลิปวีดีโอ ยูเอฟโอ
=> ไขตำนาน - ประวัติศาสตร์ - การค้นพบ อารยธรรม
=> เรื่องแปลก - ประสบการณ์ทางจิต - เรื่องลึกลับ
===> ร้อยภูติ พันวิญญาณ
=====> ประสบการณ์ ผี ๆ
=======> เรื่องเล่าในรั้วมหาลัย
=====> ประวัติ ต้นกำเนิด ตำนานผี
===> ดูดวง ทำนายทายทัก
===> ไดอะล็อก คือ ดอกอะไร - พลังไดอะล็อก (Dialogue)
===> กระบวนการ NEW AGE
=> เครื่องราง ของขลัง พุทธคุณ
-----------------------------
นั่งเล่นหลังสวน
-----------------------------
=> สุขใจ จิบกาแฟ
=> สุขใจ ร้านน้ำชา
=> สุขใจ ห้องสมุด
===> สุขใจ หนังสือแนะนำ
===> สุขใจ คลังความรู้ลวงโลก
===> สยาม ในอดีต
=> สุขใจ ใต้เงาไม้
=> สุขใจ ตลาดสด
=> สุขใจ อนามัย
=> สุขใจ ไปเที่ยว
=> สุขใจ ในครัว
===> เกร็ดความรู้ งานบ้าน งานครัว
=> สุขใจ ไปรษณีย์
=> สุขใจ สวนสนุก
===> ลานกว้าง (มุมดูคลิป)
===> เวที จำอวด (จำอวดหน้าม่าน)
===> หนังกลางแปลง (ดูหนัง รีวิวหนัง)
===> หน้าเวที (มุมฟังเพลง)
=====> เพลงไทยเดิม
===> แผงลอยริมทาง (รวมคลิปโฆษณาโดน ๆ)
คุณ
ไม่สามารถ
ตั้งกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
ตอบกระทู้ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แนบไฟล์ได้
คุณ
ไม่สามารถ
แก้ไขข้อความได้
BBCode
เปิดใช้งาน
Smilies
เปิดใช้งาน
[img]
เปิดใช้งาน
HTML
เปิดใช้งาน
กำลังโหลด...