เทียบกรณีเกาหลีใต้กับการนิรโทษกรรม ไม่ง่าย แต่เป็นก้าวแรกที่ต้องทำ
<span class="submitted-by">Submitted on Mon, 2024-02-19 00:05</span><div class="field field-name-field-byline field-type-text-long field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><p>กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล : สัมภาษณ์/เรียบเรียง</p>
<p>กิตติยา อรอินทร์ : ภาพปก</p>
</div></div></div><div class="field field-name-body field-type-text-with-summary field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even" property="content:encoded"><p>ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำลังผลักดันกันอยู่ในขณะนี้ สำหรับสติธรที่ศึกษาการคลี่คลายความขัดแย้งในกรณีเกาหลีใต้ แม้จะเป็นความหวังในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อพูดคุย แต่เป็นเพียงก้าวแรกสำหรับก้าวต่อๆ ไป หากใช้แนวคิดกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านยังมีองค์ประกอบอื่นที่ต้องทำ สติธรแนะให้สร้างกลไกพิเศษที่ทุกฝ่ายยอมรับและอย่าเพิ่งคาดหวังว่าฝ่ายที่ต้องการนิรโทษกรรมจะได้ทุกอย่าง ขอเพียงเกิดความคืบหน้าก็ถือเป็นก้าวสำคัญในการไปต่อ</p>
<p>ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่เริ่มขึ้นในปี 2548 ถึงปัจจุบันก็เกือบ 20 ปี ทว่า ยังไม่เห็นวี่แววว่าจะยุติลงได้ ต่างฝ่ายต่างก็มีมุมมองต่อสาเหตุแตกต่างกันไป ผลพวงจากความขัดแย้งทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยถูกฟ้องร้อง ดำเนินคดี และจำคุก เครือข่ายนิโทษกรรมประชาชนจึงผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ประชาชนทุกฝ่ายรวมถึงคดี 112 โดยไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมเกินแก่เหตุและความผิดตามมาตรา 113 ที่เกี่ยวกับการล้มล้างรัฐธรรมนูญ</p>
<p>หลายฝ่ายเห็นพ้องว่านี่จะเป็นก้าวแรกของการสร้างความปรองดองในสังคมไทยอีกครั้ง แต่จะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่กฎหมายจะผ่านสภาและเมื่อผ่านแล้วจะสร้างความปรองดองได้ นั่นยังเป็นคำถามที่ต้องรอการพิสูจน์</p>
<p style="text-align: center;"><img alt="" src="
https://live.staticflickr.com/7832/45543426855_e336251b64_o.jpg" /></p>
<p style="text-align: center;"><span style="color:#e67e22;">สติธร ธนานิธิโชติ (แฟ้มภาพ)</span></p>
<p>สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อํานวยการสํานักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ผู้ศึกษาความขัดแย้งทางการเมืองและกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนในเกาหลีใต้ เห็นด้วยกับการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม แต่เขาอยากชวนดูบทเรียนจากเกาหลีใต้เพื่อสะท้อนกลับมายังประเทศไทย เพราะแม้จะเป็นการเริ่มต้นที่ดี หากการไปถึงเป้าหมายอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด</p>
<h2><span style="color:#2980b9;">จากเหลือง-แดงสู่คดี 112 ใจกลางปัญหาที่เปลี่ยนไป</span></h2>
<p>“จากประสบการณ์ของตัวเองซึ่งมีส่วนไปทํางานวิจัยเรื่องการสร้างความปรองดองในช่วงปี 54 ที่เป็นความขัดแย้งระหว่างเหลืองแดง ทําให้มีโอกาสได้คุยกับทุกฝ่ายที่ถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งคนหลักๆ ก็พบพบว่าเรื่องนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่เขาค่อนข้างจะเห็นตรงกันอยู่แล้ว โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมประชาชนผู้ชุมนุม”</p>
<p>ขณะที่ในระดับแกนนําควรพิจารณาเป็นรายๆ ไปว่ามีการกระทําเกินเลย ยั่วยุ ปลุกปั่นหรือไม่ และต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ส่วนคดี 112 ต่างฝ่ายก็เห็นว่าควรเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติเพราะเป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์</p>
<p>แต่ความพยายามนิรโทษกรรมในรอบนี้มีบริบทที่ต่างออกไปนั่นคือคดี 112 ได้กลายซึ่งเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งรอบล่าสุดคือในการชุมนุมปี 2563 ซึ่งมีความพยายามจะตั้งคณะทําการศึกษาโดยรัฐสภาสมัยชวน หลีกภัย แต่ไม่เห็นความคืบหน้าในทางสาธารณะจึงยังไม่มีคําตอบว่า ถ้าเป็นคดี 112 อันเป็นใจกลางของปัญหาในรอบหลังมีการตกผลึกออกมาอย่างไร</p>
<p>“มันได้คําตอบเดียวกับตอนยุคโน้นไหมว่าให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ซึ่งผมก็เดาใจว่าไม่น่าหรอกเพราะไม่อย่างนั้นแคมเปญออกคงไม่ออกมาโทนนี้ ในความเห็นผมเรื่องพวกนี้ต้องการการยอมรับจากทุกฝ่าย แปลว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษทั้งหมด ในกลุ่มประชาชนไม่ว่าจะเป็นฐานความผิดใด ผมคิดว่าอาจต้องมีกระบวนการพูดคุยกันก่อนที่จะตัดสินใจ”</p>
<p>หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่สภา สติธรเชื่อว่าจะเป็นเรื่องที่ดีเพราะเป็นการเปิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยประเด็นนี้กับอีกหลายประเด็นว่าสุดท้ายแล้วการนิรโทษกรรมควรจะครอบคลุมแค่ไหน เพราะหัวใจของเรื่องนี้คือการยอมรับของทุกฝ่ายและรัฐสภาคือที่ที่จะทําให้เกิดการยอมรับของทุกฝ่ายได้ ซึ่งการเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คือโอกาสเปิดเวทีของการคุยเรื่องนี้ให้ชัดและตกผลึก</p>
<p style="text-align: center;"><img alt="" src="
https://live.staticflickr.com/65535/53522890321_9ea11dbffd_b.jpg" /></p>
<h2><span style="color:#2980b9;">กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน</span></h2>
<p>อย่างไรก็ตาม การนิรโทษกรรม (ซึ่งต้องการการยอมรับจากทุกฝ่าย) ก็ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านเพื่อนำไปสู่การปรองดองและเดินหน้าต่อไป สติธรอธิบายว่าเมื่อเกิดความขัดแย้งที่สร้างผลกระทบในวงกว้าง ต่อเนื่องยาวนาน มีความยืดเยื้อ ลงลึก เข้าไปอยู่ในชีวิตประจําวันของผู้คน ความขัดแย้งลักษณะนี้กระบวนการยุติธรรมตามปกติอาจจะใช้ได้ไม่ทั้งหมดในแง่การสร้างการยอมรับ</p>
<p>เขายกตัวอย่างว่ามีผู้ชุมนุมไปปิดถนนซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย เช่น กฎหมายจราจร ข้อบังคับกรุงเทพมหานครเรื่องความสะอาด ถ้าใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติ ผู้ชุมนุมต้องเสียค่าปรับหรือถูกลงโทษในทางใดทางหนึ่ง ถ้าเป็นคดีอาญาก็ถูกจําคุก เหตุการณ์แบบนี้การใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติย่อมสร้างปัญหา</p>
<p>“มันจึงเกิดสภาวะที่ต้องมีการใช้กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งในประสบการณ์ของต่างประเทศพบว่าหลังจากที่เหตุการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นไปแล้ว มันจะมีวิธีจัดการกับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไรดี ซึ่งหนึ่งในนั้นต้องอาศัยมาตรการทางกฎหมายทต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมเข้าไปจัดการ แต่การใช้กระบวนการยุติธรรมตามปกติอาจจะไม่สร้างความยุติธรรมได้อย่างแท้จริงจึงต้องมีกระบวนการเฉพาะขึ้นมา”</p>
<p>สติธรอธิบายต่อว่าในหลายประเทศเมื่อเกิดความขัดแย้ง มันไม่ใช่สภาวะปกติ ผู้กระทำอาจสําคัญผิดจากการถูกยั่วยุจากสื่อของรัฐทําให้เกิดความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงและคิดว่าคนเหล่านั้นเป็นอาชญากร เป็นภัยภัยคุกคามต่อประเทศ และต้องการพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศโดยการทำร้ายหรือสังหารผู้อื่น ถ้าขึ้นศาลปกติย่อมผิดแน่นอน จึงต้องสร้างศาลพิเศษขึ้นมาเพื่อให้แต่ละฝ่ายกล้าให้ข้อมูล สมมติว่าศาลนี้ตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าใครให้ข้อมูลความจริงจะไม่ลงโทษเพื่อจูงใจให้คนยอมให้ข้อมูลที่เป็นจริง</p>
<p>“การใช้ศาลพิเศษ การใช้กระบวนการพิเศษในการค้นหาข้อเท็จจริง รวมไปถึงการนิรโทษกรรมคือการให้อภัยแม้เรารู้ว่ามีความผิดเกิดขึ้น แต่ทุกคนสํานึกและขอโทษกัน อีกฝ่ายหนึ่งก็ให้อภัย คืนความรู้สึกดีๆ ต่อกัน ส่วนใครที่เสียหายมีญาติพี่น้องบาดเจ็บล้มตายก็มีกระบวนการเยียวยา อันนี้คือสิ่งที่กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านต้องทําตั้งแต่หาความจริง พิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ว่าใครถูกใครผิด ใครต้องรับผิดชอบ แล้วใครทําดีก็ยกย่อง ใครทําผิดแล้วก็ต้องหาวิธีให้เกิดการสํานึกผิด แล้วในบางเรื่องที่มันจําเป็นต้องให้อภัยกันก็ให้อภัย”</p>
<h2><span style="color:#2980b9;">นิรโทษกรรมเป็นแค่ 1 ใน 4 องค์ประกอบของการคลี่คลายความขัดแย้ง</span></h2>
<p>การสร้างความปรองดองในในเกาหลีใต้จากเหตุการณ์การประท้วงที่กวางจูประกอบด้วยหลักการสําคัญอย่างน้อย 4 ข้อคือการดําเนินคดีกับผู้นํารัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงนับจากเหตุการณ์เมื่อเดือนพฤษภาคม ๑๙๘๐, การปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของมนุษย์ในการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยท่ามกลางการประกาศกฎอัยการศึก, การเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเหยื่อและ/หรือญาติของผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ และการค้นหาความจริงเพื่อนําไปสู่กระบวนการชําระสะสางความผิดพลาดที่รัฐเป็นผู้กระทําในอดีต</p>
<p>เมื่อดูจากองค์ประกอบทั้ง 4 พบว่าในไทยมีเพียงข้อ 3 ข้อเดียวซึ่งอาจไม่สามารถนำไปสู่กระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านและเดินหน้าประเทศต่อไปได้ สติธรกล่าวว่าความขัดแย้งในปี 2549 ปี 2553 และ 2554 มีความพยายามที่จะค้นหาความจริงและสร้างกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน แต่กรณีรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมากลับไม่เห็นกระบวนการเหล่านี้อย่างจริงจัง เมื่อไม่เกิดการค้นหาความจริงซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุดก็ไม่อาจเกิดองค์ประกอบข้อ 1</p>
<p>“ถ้าเกิดการชําระอย่างจริงจังแล้ว เชิงบวกสุดส่วนใหญ่พอสร้างองค์ประกอบที่ 4 ปุ๊บเขาจะรีบไปองค์ประกอบที่ 2 เพราะว่ามันชัดและเป็นผลเชิงบวก แล้วองค์ประกอบ 2 กับ 3 มันจะทําพร้อมกัน เพราะรู้แล้วว่าใครเสียหายก็ทำการเยียวยา รู้แล้วว่าที่ประชาชนออกมาเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เราก็ต้องยกย่องส่งเสริม ใครที่ออกมาโดยสุจริต เจตนาดีก็ก็ต้องปกป้องไม่ให้ถูกดําเนินคดี ส่วนที่ถูกดําเนินคดีไปแล้วก็ต้องหาทางนิรโทษกรรม แล้วค่อยไปองค์ประกอบข้อ 1 ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่</p>
<p>ถึงกระนั้น สติธรก็มีความเห็นว่าการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมจะเป็นประตูบานหนึ่งไปสู่การค้นหาความจริง เพราะการที่จะนิรโทษกรรมใครหรือไม่ อย่างไร ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องดำเนินการค้นหาความจริงควบคู่กันไปโดยใช้เวทีรัฐสภาเป็นพื้นที่พูดคุย</p>
<h2><span style="color:#2980b9;">รัฐบาลประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเดิม ความเหมือนของเกาหลีใต้และไทย</span></h2>
<p>เมื่อเทียบกับบทเรียนในเกาหลีใต้มีจุดหนึ่งที่คล้ายคลึงกับไทยในตอนนี้ กล่าวคือรัฐบาลของประธานาธิบดีคิม ยองซัมที่ตั้งขึ้นในปี 1993 ต้องเผชิญแรงกดดันจากประชาชนเกาหลีให้มีการสอบสวนและลงโทษอดีตผู้นำทหารทั้งสองคนคือชุน ดูวานและโร แดวู แต่คิม ยองซัมไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเนื่องจากเขาได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองที่เป็นอดีตนายทหาร โดยคิม ยองซัมอ้างว่าความจริงทั้งหมดควรถูกเก็บรักษาไว้สำหรับเป็นข้อพิจารณาทางประวัติศาสตร์ในอนาคต</p>
<p>กลับมาดูการจัดตั้งรัฐบาลของเศรษฐา ทวีสินก็ดูจะไม่ต่างกันกับรัฐบาลของคิม ยองซัมนักที่ประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเดิมที่เคยทำรัฐประหาร ซึ่งจุดนี้อาจเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับประชาชนถูกตีตก สติธรเห็นด้วยว่าเป็นอุปสรรค เขาอธิบายว่า</p>
<p>“ต้องดูบริบทเหมือนกันว่าเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้นในต่างประเทศเป็นเพราะอะไร พอโยงกลับมาเราจะพบว่าเขากระทํารัฐประหารและก็ยังอยู่ในอํานาจ เขายังไม่ได้ยอมรับว่าสิ่งที่เขาทําไปมันเป็นความผิด เขาอาจจะมองว่าตัวเองเข้ามาหยุดไม่ให้คนไทยฆ่ากันเองด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเวลาบอกว่าเราจะออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่มีข้อยกเว้น ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องปกติที่จะยกเว้นกลุ่มระดับนําของสังคมและหนึ่งในนั้นคือผู้ทํารัฐประหาร</p>
<p>“แต่ว่าถ้ามันมีกลิ่นอายของการประณามเขาตั้งแต่ต้น โอกาสที่เขาจะให้ความร่วมมือก็ยาก จริงๆ การกันคนที่เป็นระดับนำให้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความจริงตามปกติหรือจะเป็นหรือจะสร้างกระบวนการพิเศษมาให้เขาพิสูจน์ความจริง ในหลักการและประสบการณ์ต่างประเทศก็ทํากัน แต่เราอาจจะต้องมีวิธีการเขียนให้มันเกิดการยอมรับว่าคนเหล่านั้นต้องเข้าสู่กระบวนการแล้วก็เป็นกระบวนการที่เขาไม่รู้สึกว่าเหมือนตั้งธงตั้งแต่ต้นว่ายังไงเขาโดนแน่”</p>
<p>ในบริบทไทยสติธรคิดว่าคงไม่ใช่การรื้อฟื้นความผิดและลงโทษ เพราะจากประสบการณ์ในต่างประเทศที่พอจะได้ข้อยุติและยอมรับได้คืออย่างน้อยผู้กระทำต้องสํานึกว่าสิ่งที่ทําไม่ได้ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อเกิดผลเสียแล้วก็น้อมรับความผิดและเอ่ยคําขอโทษ ในหลายประเทศสุดท้ายศาลพิพากษาคดีจําคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แต่สุดท้ายเมื่อยอมรับความผิด เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่งก็จะเกิดกระบวนการนิรโทษกรรมในรูปแบบต่างๆ เช่น การอภัยโทษโดยประมุขของรัฐนั้น</p>
<p>“ของไทยก็เช่นเดียวกันครับคือนอกจากนิรโทษกรรมแล้วอาจจะมีการพระราชทานอภัยโทษได้ เรื่องพวกนี้มันต้องคิดไปทั้งกระบวนการ”</p>
<h2><span style="color:#2980b9;">สร้างกลไกพิเศษที่ทุกฝ่ายยอมรับ</span></h2>
<p>นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าการนิรโทษกรรมไม่เคยเกิดขึ้นโดยฝ่ายประชาชน อย่างการนิรโทษกรรมฐานเป็นคอมมิวนิสต์ก็เกิดจากคำสั่งที่ 66/2523 ในสมัยเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งสติธรเห็นว่าจะเรียกว่าเป็นการนิรโทษกรรมก็ไม่ใช่ความหมายที่ตรงความเป็นจริง เนื่องจากเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารต่อฝ่ายอัยการไม่ให้ฟ้องร้องดําเนินคดีซึ่งถือเป็นการตัดตอนคดีไม่ให้ไปสู่ศาล</p>
<p>แต่หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมามาตรการลักษณะนี้ไม่สามารถใช้ได้ เพราะอัยการเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ถ้าจะนำแนวคิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านมาใช้ก็ต้องออกกฎหมายพิเศษเฉพาะขึ้นมา ซึ่งก็มีความพยายามทำตลอดช่วงรัฐธรรมนูญปี 2550 จนนําไปสู่กฎหมายนิรโทษสุดซอย</p>
<p>“เพื่อสร้างกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านกับความขัดแย้งพวกนี้ แต่พอทําจริงกลายเป็นว่าคุณอยากจะลบความทรงจําเลย นิรโทษทุกคนไม่ต้องสนใจความจริงความเท็จ มันก็เลยไม่สําเร็จ แปลว่าวันนี้ถ้าเราจะทํากระบวนการนี้อีกครั้ง การเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็อยากให้คิดเสมอว่ามันคือส่วนหนึ่งของการสร้างกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านขึ้นมา ที่ไม่ใช่แค่ว่าเลิกแล้วต่อกันไป มองแต่ในมุมของตัวเอง ฝ่ายประชาชนบอกว่าประชาชนไม่ผิดทุกอย่างต้องเคลียร์ แต่ผู้นําต้องผิด ต้องหาทางลงโทษ ส่วนผู้นําก็จะบอกว่าไม่ ต้องเหมาหมด ถ้ามันอยู่อย่างนี้ก็เกิดกระบวนการไม่ได้ มันต้องยอมมีตรงกลางก่อน</p>
<p>“โอเคจุดจบมันอาจจะนำไปสู่การยกโทษทุกฝ่าย แต่ว่าระหว่างทางต้องใส่กระบวนการที่ทําให้เกิดการยอมรับ การนิรโทษกรรมต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนโอเคหมด ไม่ใช่การแลกเปลี่ยนด้วยฉันนิรโทษกรรมแก แกก็นิรโทษกรรมฉัน อย่างนี้มันไม่ใช่”</p>
<p style="text-align: center;"><img alt="" src="
https://live.staticflickr.com/65535/52332491637_a67c3574bb_b.jpg" /></p>
<h2><span style="color:#2980b9;">คดี 112 ศูนย์กลางความขัดแย้งใหม่ อาจใช้แนวทางอภัยโทษแทนนิรโทษ</span></h2>
<p>ทว่า ความท้าทายที่ถือเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของการนิรโทษกรรมครั้งนี้อยู่ที่คดี 112 เพราะแน่นอนว่าย่อมมีคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มาตรา 112 เปรียบได้กับเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งของการเมืองไทยในเวลานี้ สติธรชวนคิดต่องว่าจุดกึ่งกลางของเรื่องนี้จะอยู่ตรงไหน เขาเสนอว่าควรสร้างกลไกพิเศษขึ้นมาพิจารณาเพื่อแยกผู้กระทำว่าทำด้วยเจตนาอะไร</p>
<p>“พูดง่ายๆ คือโยนความยากไปที่การสร้างกลไกแทนที่จะโยนความยากไปที่การตัดสินว่าจะไปซ้ายหรือไปขวาหรือขาวกับดําซึ่งยากกว่าเพราะมันคือคําตอบแล้ว ซึ่งไม่มีใครยอมใครในแง่คําตอบ แต่ถ้าแค่ย้อนมาหาคนตัดสินว่าคนที่จะบอกว่านิรโทษหรือไม่นิรโทษ อันนี้อาจจะง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ได้ง่ายมากนะ แล้วสร้างกลไกนี้ให้ได้ก่อนและกลไกนี้จะเป็นตัวกรองเอง ถ้าเขายอมรับว่ากลไกนี้มันกรองได้แปลว่ามันพอทําหน้าที่ของมัน ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษคดี 112 คุณก็ต้องรับผลมัน”</p>
<p>สติธรย้ำอีกครั้งว่าจำเป็นต้องสร้างกลไกที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้รวมไปถึงศาล เพราะหากผ่านสภาได้แต่เสียงข้างมากของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญก็จบ</p>
<p>“แปลว่ากระบวนการนําเข้ากฎหมายสู่รัฐสภาเพื่อเป็นพื้นที่ที่เป็นทางการสําหรับการพูดคุยทุกเรื่องที่เป็นความขัดแย้งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์คือกฎหมายที่จะสามารถนําไปสู่การนิรโทษกรรมได้ มันเลยต้องเป็นกระบวนการใหญ่ที่ไม่ได้แค่คิดในมิติเดียวว่ายกโทษหรือไม่ยกโทษใคร มันต้องเอาเรื่องความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านทั้งหมดใส่เข้าไป ต้องมีกระบวนการว่ากว่าที่เราจะได้คําตอบ เราต้องได้ข้อมูลความจริงจากจากมุมมองของแต่ละฝ่าย แล้วก็ค่อยคัดฐานความผิดต่างๆ ว่าอะไรคือความผิดหรือการกระทําที่เป็นเจตนาทางการเมืองที่ควรจะได้รับการยกโทษ อะไรที่เป็นเจตนาแอบแฝงที่ควรจะต้องถูกลงโทษ</p>
<p>“พอแยกแยะได้แล้วจะต้องถูกลงโทษด้วยวิธีการอะไร ใครจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ตัวเองเพื่อจะบอกว่าฉันไม่ได้มีความผิดด้วยวิธีการอะไร มันก็เข้าสูตร พูดง่ายๆ ว่ามันไม่ใช่แค่คิดว่าจะนิรโทษใคร ไม่นิรโทษใคร แต่อาจจะต้องมีกลไกพิเศษสําหรับการจัดการเฉพาะเรื่องนี้และตีกรอบว่าเรื่องนี้ขอบเขตคืออะไร เงื่อนเวลาเอาปีไหนถึงปีไหน”</p>
<p>สติธรกล่าวอีกว่าสุดท้ายแล้วการนิรโทษกรรมอาจไม่เหมาะกับคดี 112 ก็ได้ แต่เหมาะกับอีกคําหนึ่งมากกว่าคือ อภัยโทษ เพราะเป็นความผิดที่มีต่อผู้มีความชอบธรรมในการให้อภัย เพียงแต่ประชาชนไม่สามารถเสนอกฎหมายได้เพราะเป็นพระราชอํานาจซึ่งก็เป็นอีกกลไกหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรเก็บไว้พิจารณา</p>
<h2><span style="color:#2980b9;">ศาลเข้าข้างฝ่ายชนะ</span></h2>
<p>อีกหนึ่งบทบาทที่จะลืมไม่ได้ในกรณีเกาหลีใต้ก็คือบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญและอัยการที่มีบทบาทต่อการตีความเพื่อใช้กฎหมายพิเศษจนสามารถคลี่คลายความขัดแย้งได้ ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญและอัยการของไทยกลับต่างออกไปและดูจะเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นในทางการเมืองทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือ ในมุมของสติธรแม้เขาจะด้วยว่าศาลรัฐธรรมนูญและอัยการมีบทบาทดังกล่าวจริง แต่ก็เป็นบทบาทภายหลังประชาชนได้รับชัยชนะแล้ว</p>
<p>“ศาลรัฐธรรมนูญของเกาหลีมีส่วนในตอนจบที่ช่วยทําให้กระบวนการสร้างความยุติธรรมเกิดขึ้นจริง ก็ต้องยอมรับว่าเขาเข้ามาหลังจากฝ่ายประชาชนชนะแล้ว ถามว่าเขาเอียงไหมเขาก็เอียงและเขาเอียงข้างผู้ชนะ แต่บังเอิญว่าผู้ชนะรอบหลังของเกาหลีคือประชาชนฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเวลาเราพูดถึงความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านเราจะพบว่าต่อให้เป็นระบบศาลยุติธรรมที่เป็นทางการ เป็นระบบปกติ ก็อาจจะไม่ใช่คําตอบ เพราะสุดท้ายเขาก็จะเข้ามาเลือกข้างผู้ชนะ”</p>
<p>ในหลายประเทศที่ระบบศาลปกติใช้การไม่ได้เพราะเขาต้องเอียงข้างผู้มีอํานาจ ณ เวลานั้น การสร้างศาลหรือกลไกพิเศษเฉพาะเรื่องจึงยังเป็นสิ่งที่สติธรเน้นย้ำอีกครั้งว่าต้องสร้างขึ้น</p>
<p>“ต้องยอมรับว่าฝ่ายตุลาการเองก็ถูกดีไซน์โดยการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หลังจากมีความขัดแย้ง เช่น รัฐธรรมนูญปี 2550 ย์ต่อเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งกลายเป็นว่าศาลอาจถูกมองเป็นคู่ขัดแย้งซะเองจนศาลตัดสินแล้วคนไม่ยอมรับทั้งหมด ถ้าเราอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นสิ่งที่ต้องทําก็คือต้องสร้างกลไกตัดสินที่ทุกคนยอมรับขึ้นมาใหม่ใช้ศาลตามปกติไม่ได้”</p>
<h2><span style="color:#2980b9;">นิรโทษกรรมที่อาจไม่ได้ทั้งหมด แนะก้าวที่ละก้าวเพื่อก้าวต่อไป</span></h2>
<p>มาถึงตรงนี้ความเข้มแข็งของภาคประชาชนจะเป็นตัวตัดสินว่าจะสามารถกดดันรัฐบาลให้สร้างกลไกพิเศษดั่งกล่าวขึ้นได้หรือไม่ สำหรับสติธรมีความเห็นว่าความเข้มแข็งภาคประชาชนอย่างเดียวไม่พอ จากบทเรียนในอดีตไม่ใช่แค่ประชาชนฝ่ายเดียว แต่ในระดับผู้นําเองก็ต้องยอมรับด้วย ต้องมีแรงจูงใจหรือแรงกดดันจากกลุ่มชนชั้นนําด้วยเหมือนกันที่จะทําให้เขารู้สึกว่าการนิรโทษกรรมคือคําตอบและความจําเป็นแล้วค่อยมาบวกกับภาคพลังของภาคประชาชน</p>
<p>ทว่า บริบทสังคมไทยนั้นต่างออกไป สติธรยกตัวอย่างอย่างเกาหลีใต้ที่เกิดความขัดแย้งจากระดับผู้นำจนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้นําอีกฝ่ายหนึ่งที่ถูกกระทำโดยไม่ชอบธรรม ขณะที่ปัญหาของไทยตั้งแต่ยุคเหลืองแดงมีความซับซ้อนตรงที่ผู้นําก็ขัดแย้งกันและประชาชนเองก็แบ่งฟากฝ่าย</p>
<p>“วันนี้เราถามว่าประชาชนมีพลังเข้มแข็ง เรากําลังพูดถึงประชาชนฝ่ายไหน คําถามคือมีประชาชนอีกกลุ่มที่เค้าไม่เอาด้วยกับประชาชนกลุ่มนี้ไหม คําตอบคือมี เพียงแต่ว่าวันนี้ยังไม่ออกตัวมาและในทุกครั้งความขัดแย้งที่มเกิดขึ้นไม่ว่าจะรอบเหลืองรอบแดง รอบเด็กเยาวชน มันก็มีคนอีกกลุ่มออกมาเสมอที่เป็นคู่ขัดแย้งในระดับภาคประชาชนด้วยกัน</p>
<p>“เรื่องนี้จะสําเร็จได้ภาคประชาชนอย่างเดียวไม่พอต้องถามด้วยว่าภาคประชาชนทุกฝ่ายหรือยัง หรือคู่ขัดแย้งสําคัญๆ ในภาคประชาชนเข้าสู่กระบวนการนี้ด้วยกันหรือยัง แล้วถึงจะมีแรงพอที่จะไปกดดันผู้นําที่มีความขัดแย้งกันให้ลงเอยได้”</p>
<p>อย่างไรก็ตาม สติธรยังเชื่อว่าการผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมครั้งนี้มีความหวังและเป็นก้าวแรกสำหรับก้าวต่อๆ ไปแต่ไม่ใช่ก้าวสุดท้ายก้าวเดียวแล้วจบ เขาเสนอว่าถ้าต้องการเห็นความคืบหน้าควรนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมที่มีเจตนาบริสุทธิ์ ไปชุมนุมเรียกร้องจริงๆ ซึ่งไม่มีใครปฏิเสธ แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้น</p>
<p>“ถ้าเทียบกับเคสเกาหลีใต้นอกจากต้องมีการนิรโทษกรรมแล้ว ต้องมีกฎหมายออกมายกย่องด้วยซ้ำว่านี่คือคนที่ออกไปเรียกร้องประชาธิปไตย ยังไม่มีเลยด้วยซ้ําเพราะเราติดกับ พอเราจะเข้าโหมดนิรโทษกรรม ให้อภัย เราคิดเป็นพวงไปหมด มันก็รุงรัง มันมีคนที่ยังไม่สมควร ถ้าเราก้าวทีก้าว ปลดไปทีละล็อก อะไรที่ยากอยู่ก็อย่าเพิ่ง แต่อย่างน้อยเอาเรื่องหลักก่อนให้ได้ไปหน่อยพอไปได้หนึ่งก้าวเดี๋ยวมันก็มีก้าวสองก้าวสามตามมาเอง ผมหวังอย่างนั้น สมมุติว่าถ้าเราจะมีความหวังกับมันได้มันน่าจะต้องค่อยๆ สําเร็จทีละก้าว</p>
<p>“ตัวนิรโทษเองก็ก็อย่าเพิ่งคิดการใหญ่ว่าจะได้ทั้งหมด อาจจะได้แค่บางเรื่องที่เห็นตรงกัน อย่างน้อยๆ มันจะเกิดความคืบหน้า ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นว่าเราพูดเรื่องนิรโทษปุ๊บ คนจะปฏิเสธทันทีโดยไม่ดูสาระ”</p>
<p>ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคือก้าวแรกสู่การคลี่คลายความขัดแย้งตลอด 2 ทศวรรษของการเมืองไทย แต่ไม่ใช่ก้าวที่ง่ายแน่นอน ถึงกระนั้นมันก็เป็นก้าวแห่งความหวังตามที่สติธรกล่าวไว้</p>
<p> </p>
</div></div></div><div class="field field-name-field-variety field-type-taxonomy-term-reference field-label-hidden"><div class="field-items"><div class="field-item even"><a href="/category/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%93%E0%B9%8C-0" typeof="skos:Concept" property="rdfs:label skos:prefLabel" datatype="">สัมภ
https://fb.me/prachatai : ทวิตเตอร์
https://twitter.com/prachatai : LINE ไอดี = @prachatai</div></div></div>
https://prachatai.com/journal/2024/02/108126