[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 18:04:02 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: ศาสนา โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร) วัดพิชโสภาราม จ.อุบลราชธานี  (อ่าน 356 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1117


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« เมื่อ: 26 มีนาคม 2567 17:05:51 »




ศาสนา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี

          ขอโอกาสคณะสงฆ์ ขอเจริญพรญาติโยมสาธุชนทั้งหลาย ผู้ใฝ่ในการประพฤติปฏิบัติธรรมทุกท่าน วันนี้ก็ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมในราตรีของวันที่ ๘ พรุ่งนี้ก็ถือว่าเป็นราตรีของวันที่ ๙ มะรืนนี้เราก็จะต้องลาจากกันไป เพราะฉะนั้นค่ำคืนนี้ถือว่าเป็นคืนสุดท้ายที่เราจะต้องเดินจงกรม นั่งภาวนารวมกัน ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติในค่ำคืนสุดท้าย เพราะฉะนั้นวันนี้กระผมก็จะได้น้อมนำเอาธรรมะในเรื่อง ศาสนา มาบรรยายประกอบการประพฤติปฏิบัติธรรมของท่านทั้งหลายตามสมควรแก่สติและปัญญา

          คำว่า ศาสนา นั้นก็มีอยู่ทั่วไป ตามที่เราได้เห็นปรากฏ ตามข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ตามตำรับตำรา ตามปราชญ์อาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวไว้ว่า ศาสนาทั่วโลกนั้นมีมาก จะเป็นศาสนาพุทธก็ดี ศาสนาซิกข์ก็ดี ศาสนาคริสต์ก็ดี ศาสนาพราหมณ์ก็ดี ศาสนาฮินดูก็ดี หรือว่าศาสนาอิสลาม ที่เราได้ยินข่าวเกรียวกราวที่ภาคใต้นี้ก็ดี ศาสนาเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นทางเดินของศาสนิกชนทั้งหลาย ศาสนิกชนก็คือ ชนผู้นับถือศาสนา

          ถ้านับถือศาสนาพุทธ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงสอนอย่างไร ก็ต้องปฏิบัติตามทางที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์สอนไว้ ศาสนาคริสต์สอนอย่างไร พระเยซูสอนให้เว้นจากบาปอย่างไร เวลาทำบาปแล้วไปล้างบาป สารภาพกับพระเยซูแล้วหายจากบาปอย่างไรนี้ท่านสอนไว้ ศาสนาอิสลามสอนอย่างไน ศาสนาพราหมณ์สอนอย่างไร เวลาทำบาปแล้วลงไปล้างน้ำล้างตา แต่ละศาสนานั้นก็ถือว่าเป็นทางเดินของศาสนิกชนคือ ชนผู้นับถือศาสนานั้นๆ

          แต่ถ้าศาสนาใดเป็นศาสนาที่เป็นประเภท เทวนิยม คือศาสนาในโลกนี้มีอยู่ ๒ อย่าง คือศาสนาเทวนิยม กับศาสนาที่เป็นกรรมนิยม ศาสนาที่เป็นเทวนิยมก็คือศาสนาที่ถือเทพเจ้า

          อย่างศาสนาคริสต์ก็ถือว่าเป็นเทวนิยม ทำไมจึงถือว่าเป็นเทวนิยม เพราะว่าบุคคลผู้ที่ทำตามที่พระเยซูสอนแล้ว ตายแล้วก็จะได้ไปเกิดบนสวรรค์อยู่ร่วมกับพระเจ้า คืออยู่ร่วมกับพระเยซูนั้นเอง

          หรือว่าศาสนาอิสลาม ถ้าทำร้ายศาสนาอื่นให้ได้รับความเสียหาย หรือได้รับความตายไปข้างหนึ่ง บุคคลนั้นก็จะได้ไปเกิดอยู่บนสวรรค์อยู่กับพระเจ้า หรือว่าบุคคลใดพลีชีพเพื่อพระศาสนา จะเป็นการทำร้ายบุคคลอื่นให้ตายก็ตาม แต่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ศาสนาของตนเองนั้นแพร่หลายก็จะไปเกิดกับพระเจ้า อันนี้ก็ถือว่าเป็นเทวนิยม

          หรือว่าศาสนาพราหมณ์ที่บูชาพระเจ้าอิศวร หรือพระเจ้าศิวะ ที่อยู่ต้นน้ำ แม่น้ำคงคาอยู่บนภูเขาหิมาลัยเพราะว่าแม่น้ำคงคานั้นต้นกำเนิดนั้นไหลมาจากภูเขาหิมาลัย ก็บูชาพระเจ้าอิศวรตอนนี้ถือว่าล้างบาปเวลาทำบาปทำกรรม ฆ่าเป็ด ฆ่าไก่ ลักวัว ลักควาย หรือด่าพ่อ ด่าแม่ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ปล้นสะดมต่างๆ ก็สามารถที่จะลงอาบน้ำแม่น้ำคงคาแล้วก็ล้างบาปได้ อันนี้ก็ถือตามเทวนิยม ศาสนาในโลกนี้ส่วนมากเป็นเทวนิยม

          แต่พระพุทธศาสนาของเรานั้นเป็นกรรมนิยม คือนิยมกรรมเรียกว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

               ยาทิสํ วปเต พีชํ           ตาทิสํ ลภเต ผลํ

               กลฺยาณการี กลฺยาณํ      ปาปการี จ ปาปกํ

         แปลว่า บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น บุคคลทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี บุคคลทำกรรมชั่วก็ย่อมได้รับผลชั่ว

          กรรมอันนี้ทางพุทธศาสนาของเราสอนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นศาสนาในโลกนี้มีพุทธศาสนาของเราเท่านั้นที่เป็นกรรมนิยม ถ้าใครทำดีก็ได้รับผลดี เหมือนกันกับเราปลูกถั่ว เราก็ได้ถั่ว ปลูกมะละกอเราก็ได้มะละกอ ปลูกมะม่วงเราก็ได้มะม่วง ปลูกอ้อยเราก็ได้อ้อย ปลูกมันสำปะหลังเราก็ได้มันสำปะหลัง ปลูกยางพาราเราก็ได้ยางพารา เพราะอะไร เพราะว่าทำเหตุอย่างไรย่อมได้อย่างนั้น นี้เป็นเหตุที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์สอนไว้

          ถ้าบุคคลใดรักษาศีลบุคคลนั้นก็ย่อมไม่มีความเดือดร้อน บุคคลใดเจริญสมถะกรรมฐานก็ได้ฌาน เรียกว่าเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

          เมื่อเรามาพิจารณาศาสนา ๒ ศาสนา คือศาสนาฝ่ายกรรมนิยม เทวนิยม เราจะเห็นว่าถ้าเอาเทวนิยมมาเปรียบเทียบกับกรรมนิยม เทวนิยมนั้นก็จะเป็นศาสนาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ คือสอนผิดจากครรลองคลองธรรม สอนผิดจากพระธรรมคำสั่งสอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงตรัสรู้ ตามที่เราศึกษาในพระไตรปิฎก เราจะเห็นพวกเทพ พวกพรหม พวกพญามารต่างๆ นั้นมาขอฟังธรรม กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำไมจึงมาขอฟังธรรม เพราะว่าเทพทั้งหลาย จะเป็นท้าวสักกะก็ดี ท้าวยามาก็ดี ท้าวสันดุสิตก็ดี ท้าวนิมมานรดีก็ดี ท้าวปรนิมมิตวสวัตตีก็ดี ที่ครองสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น หรือว่าท้าวมหาพรหมนับไปจนถึงท้าวอกนิฏฐพรหมนั้นแหละ ก็มาขอฟังธรรมกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

          เพราะเทวดาเหล่านี้ยังไม่ได้บรรลุธรรม ยังไม่ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นผู้มีปัญญาน้อย ปัญญาของเทวดาก็ดี ปัญญาของเทพ ของพรหมก็ดี เปรียบเสมือนกับแสงหิ่งห้อย ปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเปรียบเสมือนกับดวงเดือน ดวงอาทิตย์ เรียกว่ามีปัญญามากกว่ากัน เพราะฉะนั้นชนทั้งหลายที่นับถือเทพนั้น ที่เราศึกษาดูมาเปรียบเทียบกับพุทธศาสนา ก็ถือว่าเป็นศาสนามิจฉาทิฏฐิ มิจฉาทิฏฐินี้มีบาปมาก มีโทษมาก มีโทษมากกว่าอนันตริยกรรม อนันตริยกรรมคือ การฆ่าพ่อก็ดี ฆ่าแม่ก็ดี ฆ่าพระอรหันต์ก็ดี ยังโลหิตตุปบาท โลหิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ห้อ หรือว่ายังสงฆ์ให้แตกจากกัน ถือว่าเป็นบาปหนักในทางพุทธศาสนา

          แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ทรงตรัสว่า อนันตริยกรรมนั้นยังมีวันพ้น แต่ว่ามิจฉาทิฏฐินี้ไม่มีวันพ้น เป็นกรรมที่ดิ่งลงไปในฝ่ายเดียวคือ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราไปเกิดในโลกันตมหานรก อนันตริยกรรมนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราไปเกิดในอเวจีมหานรก เหมือนกับพระเทวทัต พระเทวทัตนั้นไปเกิดในอเวจีมหานรก แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงตรัสว่า พระเทวทัตพ้นจากอเวจีมหานรกแล้วจะได้มาตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าอัฏฐิสสระ นี้เรียกว่ายังมีวันพ้น

          แต่บุคคลใดที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ อย่าง มักขลิ โคสาล อชิตะ เกสกัมพล นิครนถ์ นาฏบุตร พวกนี้ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิที่ดิ่งลงไปฝ่ายเดียว พวกนี้จะไปเกิดในโลกันตมหานรกที่มีแต่ความมืด ไม่มีแสงสว่าง มีน้ำเย็นเหมือนกับน้ำกรดถ้าตกลงไปแล้วก็เหมือนกับน้ำกรดเทราด มันจะเกิดความทุกข์ทรมานแล้วก็เดือดร้อน ไต่หนีน้ำกรดขึ้นไปตามหน้าผา อยู่ในความมืด มีเล็บเหมือนกับมีด ถ้าคลำเจอกันแล้วก็คิดว่าเป็นอาหารก็กัดกินกันตายลงไปๆ ก็เกิดขึ้นมาใหม่ แล้วก็กัดกินกันแล้วก็ตกลงไปในน้ำได้รับความทุกข์ทรมาน เป็นอยู่อย่างนี้ โลกันตมหานรกนั้นเลยลงจาก อเวจีมหานรกนั้นลงไปอีก ขุมนรกที่ลึกที่สุด อันนี้ท่านกล่าวไว้ในเรื่องนรก ในมาลัยสูตร

          เพราะฉะนั้นศาสนาพุทธของเรานั้นจึงถือว่าเป็นศาสนาที่เป็นกรรมนิยม แล้วก็ถ้าเราแปล ศาสนานั้นแปลว่าอะไร ศาสนานั้นแปลได้หลายอย่าง อย่างเช่นที่ท่านกล่าวไว้ว่าแปลว่าวาจา เครื่องพร่ำสอน ดังที่มีบทวิเคราะห์ว่า สาสติ เอเตนาติ สาสนํ ชื่อว่าศาสนา เพราะเป็นวาจา เป็นเครื่องพร่ำสอน คือเราจะสอนบุคคลอื่น เราก็ต้องมีเครื่องสอน อะไรเป็นเครื่องสอน ก็คือพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่พระองค์ทรงแสดงไว้ทั้ง ๔๕ พรรษา ถ้านับเป็นพระสูตร ก็ได้ ๓ พระสูตร คือ พระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก แล้วก็พระอภิธรรมปิฎก ถ้านับตามธรรมขันธ์ ก็ได้ถึง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เรียกว่าได้สอน ๔๕ พรรษา นับเป็นพระธรรมขันธ์ได้ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

          ถ้าย่อลงในหลักธรรมหมวดใหญ่ๆ ก็หมายถึงโพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ คือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ แต่ถ้าเราย่อจริงๆ ก็คือ โอวาทปาติโมกข์ คือ

          สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง

          กุสลสฺสูปสมฺปทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม

          สจิตฺตปริโยทปนํ  การทำจิตของตนให้ขาวรอบ

          ถ้าย่อให้ง่ายๆ ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อันนี้เป็นคำสั่งสอนรวมทั้งหมดเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าเราย่อ ศีล ย่อสมาธิ ย่อปัญญา ก็คือ ขันธ์ ๕ นั้นเอง ก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ศีลมันก็อยู่ที่รูป อยู่ที่เวทนา อยู่ที่สัญญา อยู่ที่สังขารนี้ เมื่อย่อขันธ์ ๕ ก็คือ รูปกับนาม คือกายกับใจนั้นแหละ เมื่อย่อลงไปอีก ก็คืออาการพอง อาการยุบ ที่เรากำหนดอยู่นี้แหละ

          ขณะที่เราเดินจงกรม ขวาย่างหนอ นี้เรียกว่าเรากำหนดถูกทั้งพระสูตร ทั้งพระวินัย ทั้งอภิธรรม ขณะที่เรากำหนดอาการพอง อาการยุบ พองหนอ ยุบหนอ ครั้งหนึ่งนี้ เราถือว่าเรากำหนดถูกทั้งพระสูตร ทั้งพระวินัย ทั้งพระอภิธรรม ถูกทั้งศีล ถูกทั้งสมาธิ ถูกทั้งปัญญา ถูกทั้งมรรค ถูกทั้งผล เพราะอะไร เพราะว่า ขณะที่มรรคผลมันจะเกิดนั้น ธรรมะทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ โพธิปักขิยธรรม ทั้ง ๓๗ ประการก็มารวมกัน มารวมกันแล้วก็เกิดอนุโลมญาณขึ้นมา เกิดโคตรภูญาณ แล้วก็เกิดมรรคเกิดผลขึ้นมา

          เพราะฉะนั้นธรรมะทั้งหลายทั้งปวงก็รวมอยู่ที่อาการพอง อาการยุบ เราบรรลุธรรมด้วยการกำหนดอาการพอง อาการยุบก็ได้ หรือขณะที่เราเดินจงกรมนี้ก็ถูกทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ เพราะอะไร เพราะเราสามารถที่จะได้สมาธิในขณะที่เดินจงกรมก็ได้ เราสามารถที่จะบรรลุมรรคผลในขณะที่เดินจงกรมก็ได้ เพราะฉะนั้นการเดินจงกรมนั้นจึงถือว่าเราประพฤติปฏิบัติตามวินัยทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์แล้ว

          เพราะฉะนั้นญาติโยมที่มาประพฤติปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ที่มาประพฤติปฏิบัตินี้ถือว่าเราเรียนพระพุทธศาสนาโดยทางลัด ไม่มีทางอื่นที่ลัดไปกว่านี้แล้ว พุทธศาสนาถ้าเราเรียนทางลัดอย่างนี้เราได้สมาธิ แล้วเราได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระโสดาบันเป็นต้น เขาจะมากล่าวว่าเรานั้นไม่รู้พระศาสนาไม่ได้ จะมากล่าวว่าเราไม่เข้าถึงพระพุทธศาสนาไม่ได้ เราเข้าถึงพุทธศาสนาแล้ว เพราะอะไร เพราะเรานั้นได้เข้าถึงแก่นโดยการประพฤติปฏิบัติธรรม ยังปฏิเวธธรรมให้เกิดขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นพระศาสนานั้นจึงมีวาจาเป็นเครื่องพร่ำสอน คืออาศัยพระสูตร อาศัยพระวินัย อาศัยพระอภิธรรม อาศัยพระไตรปิฎกทั้งหมดนี้แหละ มาสั่งสอนญาติโยมออกตนทั้งหลายให้เข้าใจในเรื่องพระศาสนา เพราะฉะนั้นศาสนาจึงแปลว่า วาจาเป็นเครื่องพร่ำสอน

          ประการที่ ๒ ศาสนานั้นแปลว่าเครื่องหมายหรือป้ายบอกทาง เครื่องหมายหรือป้ายบอกทางนั้นถือว่าเป็นสัญลักษณ์ ให้คนเดินทางไม่ผิด ให้คนเดินทางได้ถูกต้องแม่นยำ แล้วก็ใช้กาลเวลารวบรัด คือไม่ต้องเนิ่นช้า ไม่ต้องหลงทาง เสียเวลา หลงอารมณ์ก็เสียคนไป

          เพราะฉะนั้นเราจะไปอุบลก็ดี เราจะไปกรุงเทพก็ดี เราจะเห็นป้ายบอกทางว่าไปอุบลนะ ๔๐ กิโล หรือ ๕๐ กิโล ไปกรุงเทพกี่ร้อยโล เราจะมีบอกตามหลัก ตามถนนที่เป็นสายที่จะมุ่งไปสู่กรุงเทพ เขาจะบอกเป็นระยะๆ บอกเป็นจังหวัดไปว่าเหลืออีกกี่กิโลจะถึงจังหวัด เหลืออีกกี่กิโลจะถึงอำเภอ เหลืออีกกี่กิโลจะถึงหมู่บ้านนี้ก็จะบอกไปตามลำดับๆ

          บุคคลผู้เดินทางก็จะเดินไปตามทางที่เขาบอก หรือเขาบอกว่าไปอุบลเลี้ยวขวา ไปนครราชสีมาเลี้ยวซ้ายอะไรทำนองนี้เราก็ไปตามลูกศรของเขา อันนี้ป้ายบอกทางในทางโลก แต่ว่าป้ายบอกทางในพระธรรมวินัยนี้ก็เหมือนกัน บอกว่าโทสะนี้แหละเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในนรกนะ ถ้าบุคคลใดที่ประกอบไปด้วยโทสะชอบโกรธ เพื่อนว่านิดหน่อยก็ไม่ได้ ลูกว่านิดว่าหน่อยก็ไม่ได้ สามีว่านิดว่าหน่อยก็ไม่ได้ ชอบโมโห ชอบโทโสชอบใช้อารมณ์ต่างๆ ถ้าเราตายด้วยจิตที่ประกอบไปด้วยโทสะ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เราเกิดในนรก เพราะอะไร เพราะว่าโทสะนั้นมีชาติหยาบ เราก็ไปเกิดในนรกที่มีชาติหยาบ

          หรือพุทธศาสนาของเรามีป้ายเขียนบอกไว้ว่า บุคคลใดผู้มีความโลภมาก เป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว ไม่อยากจะทำบุญทำทาน มีที่ไร่ที่นาก็ไม่แบ่งให้ลูกให้หลาน มีที่ไร่ที่นาก็ไม่แบ่งให้พี่ให้น้อง โลภเอาเป็นของตัวเอง บางครั้งที่ของวัดก็โลภเอา บางครั้งที่ของคนอื่นก็โลภเอา เรียกว่ากอบโกยโกงกินเอาของบุคคลอื่นมาโดยที่มิชอบธรรม ในลักษณะอย่างนี้ตายไปแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรต อสุรกาย มีปากเท่ารูเข็ม มีท้องเท่าภูเขา มีมือเท่าใบตาล ที่ท่านกล่าวไว้ในมาลัยสูตร มีไฟลุกขึ้นอยู่ในท้องหิวกระหายอยู่ตลอดเวลา กินเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม เพราะอะไร เพราะว่าท้องมันเท่ากับภูเขาปากเท่ากับรูเข็ม กินทั้งวันทั้งปีก็ไม่เต็ม เพราะว่าท้องมันใหญ่ถึงขนาดนั้น แม้แต่ท้องของเราเล็กนิดเดียว กินเท่าไหร่มันก็ไม่เต็มเหมือนกับเราทิ้งลงเหว เปรตมันมีท้องใหญ่เท่ากับภูเขาแล้วก็มีปากเท่ารูเข็ม คิดดูสิว่ามันจะทุกข์ทรมานขนาดไหน ท้องของเปรตนั้นมีไฟร้อน เผาอยู่ตลอดเวลา เพราะอะไร เพราะอำนาจของความโลภ ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ตนเองนั้นต้องไปเกิดเป็นเปรตอสุรกาย

          หรือว่าถ้าบุคคลใดที่ประกอบไปด้วยโมหะ ลุ่มหลงมากมาย ลุ่มหลงในกามคุณ หมกมุ่นอยู่ในกามคุณ ลุ่มหลงอยู่ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในอารมณ์ต่างๆ พอตายไปแล้วบุคคลประเภทนี้ก็จะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน สัตว์เดรัจฉานนี้มีมากกว่ามนุษย์ มีมากกว่าเทวดา มีมากกว่าพรหม สัตว์น้ำมีมากกว่าสัตว์บก สัตว์บกนั้นมีน้อยกว่าสัตว์น้ำ บุคคลผู้ลุ่มหลงมากก็ไปเกิดเป็นสัตว์น้ำ เกิดเป็นสัตว์เล็กๆ ที่ห่างไกลจากผู้คน ห่างไกลจากเสียงของธรรมะ ห่างไกลจากศีล จากสมาธิ จากปัญญา ก็ห่างไกลจากการที่จะได้บำเพ็ญคุณงามความดี แม้แต่หมาก็ยังเกิดเป็นเทวดาได้ อย่างที่เราได้เห็นในเรื่อง โกตุหลิกะนั้นแหละ อนุโมทนาพระปัจเจกพุทธเจ้า ยินดีในพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ได้เป็นเทวดา หรือว่าในอานิสงส์ของการฟังธรรม

          มัณฑูกเทพบุตร เป็นกบ อาศัยอยู่ที่สระโบกธรณีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฟังเสียงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม ก็เกิดศรัทธา เกิดความเลื่อมใส เกิดความยินดีในเสียง ส่งจิตส่งใจไปในที่สุดก็ถูกไม้เท้าของคนเลี้ยงโคฆ่าตาย ตายไปแล้วก็เกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ชื่อว่ามัณฑูกเทพบุตร อันนี้สัตว์ที่เกิดอยู่ใกล้คนจะได้อานิสงส์

          หรือว่าแม่ไก่อาศัยพระที่ท่านสอนธรรมะ แม่ไก่หากินอยู่ที่ข้างศาลา หากินไปคุ้ยเขี่ยกินไป หากินไปหูก็ฟังธรรมไปเรื่อยในที่สุดก็ถูกแม่เหยี่ยวมาเฉี่ยวเอาไปแล้วก็ เอาไปเป็นอาหาร ขณะตายนั้นจิตยินดีในพระธรรมก็ได้เกิดเป็นธิดาของกษัตริย์ในเมืองนั้น ตายจากธิดาของกษัตริย์แล้วก็เวียนว่ายตายเกิด จนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอรหันต์ในชาติสุดท้าย อันนี้ก็เพราะอาศัยของสิ่งที่อาศัยอยู่ใกล้มนุษย์

          แต่ถ้าบุคคลใดมีโมหะมากก็จะไปเกิดเป็นสัตว์น้ำที่ไม่มีโอกาสที่จะได้ฟัง ได้เห็นพระพุทธเจ้า ถ้าเกิดเป็นสัตว์บกก็มีโอกาสที่จะได้เห็น ได้ฟัง หรือว่าได้อนุโมทนาในบุญในกุศล เหมือนกับนกเค้าที่มันเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ขณะที่พระปัจเจกพุทธเจ้าจะไปบิณฑบาต นกฮูก หรือนกเค้านี้มันเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าครองจีวรเป็นปริมณฑล มีใบหน้าผ่องใส เพราะออกจากสมาบัติใหม่ๆ เดินด้วยอาการสำรวม สัตว์มันก็เกิดความเคารพมันก็ผงกหัวให้ ผ่านมาก็ผงกหัวให้ๆ ด้วยความยินดี ตายไปแล้วก็ยังจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

          คิดดูซิว่าสัตว์ที่เขามีความเลื่อมใสเขาก็ยังได้อานิสงส์ขนาดนั้น เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่เกิดขึ้นมานั้นถ้าตายเป็นสัตว์น้ำ เป็นกุ้ง เป็นหอย เป็นปู เป็นปลา โอกาสที่จะบำเพ็ญบารมีนั้นไม่มี เพราะฉะนั้นบุคคลที่ลุ่มหลงต่างๆ นั้นจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้รับความทุกข์ทรมาน เราเกิดเป็นหมาชาติหนึ่งมันก็เกิดความทุกข์ทรมานมาก เกิดเป็นเป็ด เป็นไก่ เป็นวัว เป็นควายชาติหนึ่งก็ได้รับความทุกข์ทรมานมาก หวาดเสียวต่อการที่เขาจะเอาไปปาดคอ หวาดเสียวต่อการที่เขาจะเอาไปต้มไปแกง เรียกว่าเป็นสัตว์ที่มีความสะดุ้งอยู่เป็นประจำ

          แต่ถ้าบุคคลใดเป็นประเภทที่รักษากรรมบถ ๑๐ ประการ คือรักษาศีล ๕ ดีตายไปแล้วก็มาเกิดเป็นมนุษย์แต่รักษาศีล ๕ ไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์ ตายไปแล้วก็มาเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่เป็นมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์ เป็นคนขาเป๋มั่ง เป็นคนหูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ บ้า หรือว่าเสียจริตนิสัยต่างๆ ก็เพราะอานิสงส์ของศีล ๕ นั้นไม่บริสุทธิ์

          เพราะฉะนั้น เราจึงพยายามรักษาศีล ๕ นั้นให้บริสุทธิ์เพื่อเราจะเกิดมาแล้วมีอวัยวะครบ ๓๒ ประการ บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่เป็นง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่เป็นใบ้บ้าหนวกบอด หรือว่าเป็นผู้ที่มีสมบัติ ๓๒ ประการนี้เหมือนกับบุคคลอื่น จะไม่อายขายหน้าบุคคลอื่น อันนี้เป็นอานิสงส์ของการรักษาศีล ๕ เรียกว่าเป็นป้ายบอกทางว่าใครอยากจะมาเกิดเป็นมนุษย์ก็รักษาศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ ให้บริบูรณ์

          พระศาสนาของเรานั้นถือว่าเป็นป้ายบอกทางว่า ถ้าใครอยากจะไปเกิดบนสวรรค์ชั้นจาตุมก็ดี ชั้นดาวดึงส์ก็ดี ชั้นดุสิตก็ดี ชั้นยามาก็ดี นิมมานรดีก็ดี ปรนิมมิตวสวัตตีก็ดี เราก็ต้องไหว้พระ ทำวัตร สวดมนต์ ทำบุญทำทานเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แต่ยังไม่ได้ฌาน ยังไม่ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เราก็สามารถที่จะไปเกิดในสวรรค์ชั้นนั้นๆ ได้

          เหมือนกับท้าวสักกะ ท้าวสักกะที่จะไปเกิดเป็นพระอินทร์ เป็นท้าวสหัสนัย เป็นท้าวสักกะ ที่มีชื่อหลายชื่อก็หมายถึงผู้เดียวกัน พระอินทร์หรือท้าวสักกะหรือท้าวสหัสนัยนี้ก็บำเพ็ญวัตตบถ มีการเลี้ยงบิดามารดา มีการอ่อนน้อมถ่อมตน มีการไม่โกรธ มีการพูดวาจาอ่อนหวาน มีการเสียสละทำถนนหนทาง ทำศาลาที่พักริมทางเป็นต้น ให้แก่บุคคลผู้เดินผ่านไปผ่านมา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ไปเกิดเป็นท้าวสักกะ

          คือในสมัยหนึ่ง กระผมได้มีโอกาสได้เดินไปธุดงค์ ขณะที่เดินไปๆ ก็ไปพบหลวงตารูปหนึ่งกำลังถากหญ้าอยู่ที่ทาง ก็สังเกตดูว่าทางที่หลวงตาถากอยู่นี้มันไม่ใช่เขตวัด หลวงตานี้มาทำอะไรที่นี่หนอก็เกิดความสงสัยว่าหลวงตาแก่ๆ ทำไมมาถากทางอยู่ที่นี่ก็เลยไปถามว่า หลวงตาจะทำอะไร ทำไมถึงมาทำทางให้มันเรียบให้มันเตียนอย่างนี้

          หลวงตารูปนั้นตอบว่าผมตายไปแล้วไม่อยากจะเป็นเทวดานะ แล้วหลวงตาอยากจะเป็นอะไรครับผม กระผมอยากเป็นราชาของเทวดาเป็นท้าวสักกะ พอท่านพูดเช่นนี้ก็เข้าใจทันทีว่า หลวงตารูปนี้ปรารถนาเป็นท้าวสักกะหรือว่าปรารถนาเป็นเทพ ตั้งแต่บวชมาก็เห็นหลวงตารูปนี้แหละปฏิบัติธรรมเพื่อที่ปรารถนาความเป็นเทพ ถือว่าเป็นเมถุนสังโยชน์ เป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ปฏิบัติธรรมเพื่อที่จะเป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดในมหรรณพภพสงสาร ท่านเรียกว่าเมถุนสังโยชน์

          อันนี้ก็เรียกว่าเป็นความปรารถนา ถ้าเราปรารถนาจะเป็นเทวดาเป็นอะไรในพุทธศาสนานี้ก็มีให้เลือก หรือว่าเราจะปรารถนาเป็นพรหม ว่าเราตายแล้วเราจะเกิดเป็นพรหม เป็นท้าวมหาพรหมก็ดี ไล่ไปจนถึงชั้น อวิหา อตัปปา สุทัสสี สุทัสสา อกนิษฐกาพรหม เราก็ประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ตามหลักคือต้องให้ได้ฌาน ถ้าเราได้ฌาน ปฐมฌาน ปฐมฌานนี้ก็จะแบ่งออกเป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ถ้าอย่างหยาบก็ไปเกิดเป็นพรหมมีผิวพรรณมีแสงสว่างน้อย แต่ถ้าอย่างกลางก็มีผิวพรรณมีแสงสว่างมากขึ้นไปอีก ถ้าอย่างละเอียดก็จะมีอำนาจมีอะไรมากกว่านั้นอีก ถ้าเป็นทุติยฌานอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างประณีตก็มีแสงสว่างรุ่งเรืองไปอีก ไล่จนไปถึง เนวสัญญานาสัญญายตนพรหม ไล่ไปจนถึงพรหมลูกฟัก

          ถ้าเราอยากไปเกิดในพรหมลูกฟักก็เข้าฌานแล้วก็อธิษฐานเข้าไป ถ้าเรานั่งมรณภาพเราก็จะไปอยู่ท่านั่งอยู่อย่างนั้นไปเป็น ๘๐,๐๐๐ ปี ๑๐๐,๐๐๐ ปี ในพรหมโลก หรือว่าถ้าเรามาเจริญวิปัสสนากรรมฐานจนเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี เมื่อเราได้บรรลุเป็นพระอนาคามีแล้วเราก็ไปเกิดในสุทธาวาสพรหม สุทธาวาสพรหมนี้ก็มีชั้นอวิหา ชั้นอตัปปา ชั้นสุทัสสี ชั้นสุทัสสาแล้วก็ อกนิษฐพรหม

          ถ้าเป็นพระอนาคามีที่มากด้วยศรัทธาก็จะไปเกิดในชั้นอวิหา ถ้าเป็นผู้มากด้วยความเพียรก็ไปเกิดในชั้นอตัปปา แต่ถ้ามากไปด้วยสติคือ อาศัยสติมากจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีก็ไปเกิดในชั้นสุทัสสา แต่ถ้าบุคคลใดที่มากไปด้วยสมาธิ คืออาศัยสมาธิจึงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีก็ไปเกิดในชั้นสุทัสสี แต่ถ้าบุคคลใดที่มีปัญญามากตายไปแล้วก็จะไปเกิดในชั้นอกนิษฐ์พรหม เราแบ่งเขตของพระอนาคามี

          แต่ถ้าบุคคลผู้ที่ตายไปแล้วไปเกิดในชั้นอวิหาก็ดี อตัปปาก็ดี ถ้าไม่ปรินิพพานในชั้นนั้นก็จะเลื่อนขั้นขึ้นไปๆ จากชั้นอวิหาก็ไปชั้นอตัปปา ชั้นอตัปปาก็ไปชั้นสุทัสสา จากชั้นสุทัสสาก็ไปชั้นสุทัสสี จากชั้นสุทัสสีก็จะไปเกิดในชั้นอกนิษฐ์พรหมแล้วก็ปรินิพพานในชั้นอกนิษฐ์พรหม อันนี้เป็นหนทางที่จะไปสู่พรหมโลก

          หรือว่าบุคคลใดที่จะไปสู่พระนิพพานก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานเหมือนกับคณะครูบาอาจารย์กำลังทำอยู่นี้แหละ เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เรานั้นไปถึงพระนิพพานได้ อันนี้เป็นความหมายของคำว่า ป้ายบอกทาง

          ประการที่ ๓ ศาสนานั้นท่านถือว่าเป็นมรดก มรดกนั้นแบ่งออกเป็น ๒ ประการ คือมรดกภายนอก และมรดกภายใน มรดกภายนอกอย่างเช่น แก้วแหวนเงินทอง รัตนแก้ว ๗ ประการ นพรัตน์แก้ว ๙ ประการ เรือกสวนไร่นาต่างๆ นี้ก็ถือว่าเป็นมรดกภายนอก

          มรดกภายนอกนี้ไม่สามารถที่จะนำเรามาสู่ความเป็นมนุษย์ได้ ไม่สามารถที่จะนำเราไปสู่ความเป็นเทพ เป็นเทวดา เป็นพรหม หรือว่าไม่สามารถที่จะทำให้เราบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เป็นเพียงแต่อุปการะ ถ้าเราใช้เป็นมันก็เป็นประโยชน์ แต่ถ้าเราใช้ไม่เป็นมันก็ไม่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นทรัพย์ภายนอกหรือมรดกภายนอกนี้ ถ้าบุคคลใดใช้เป็นก็จะได้คุณมาก ได้คุณอนันต์ ถ้าใครใช้ผิดก็ได้โทษมหันต์ เรียกว่ามีทั้งคุณทั้งโทษอยู่ในตัวของมันเอง

          แต่ว่ามรดกในที่นี้นี่หมายถึงมรดกภายใน ไม่ได้หมายถึงมรดกภายนอก พระธรรมคำสั่งสอนนี้เป็นมรดกภายใน มรดกภายในนี้สามารถที่จะทำให้บุคคลนั้นไปเกิดเป็นมนุษย์อีกก็ได้ เกิดบนสวรรค์ก็ได้ ไปเกิดเป็นพรหมก็ได้ ทำให้บุคคลนั้นไม่เดือดร้อน ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่คิดถึงลูกเมียผัวเขา ไม่คิดเป็นชู้กับภรรยาสามีของบุคคลอื่น เพราะว่าผัวใคร ใครก็รัก แฟนใคร ใครก็หวง ก็ไม่อยากจะไปยุ่งเกี่ยว เราไม่พูดเท็จพูดเพ้อเจ้อพูดเหลวไหลไร้สาระ ไม่ดื่มสุราเมรัย ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นคนไม่โหดร้าย ไม่มือไว ไม่ใจเร็ว ไม่พูดปด ไม่หมดสติ อันนี้เป็นคำของศีล ๕

          บุคคลผู้ที่ได้รับมรดกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาประดับกาย ประดับวาจา ประดับใจแล้วจะเป็นผู้ห่างเหินจากความชั่ว เพราะฉะนั้นมรดกธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินกว่าทอง เงินทอง เรายังหาได้จากการค้าการขาย เรามีเงินเราก็ไปซื้อทองได้ ไปซื้อเพชรได้

          แต่คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ซื้อไม่ได้ ใครทำใครได้ ใครปฏิบัติใครถึง เป็นปัจจัตตัง รู้เฉพาะตน เพราะฉะนั้นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นจึงเป็นมรดกที่มีค่า ที่เราทั้งหลายจะได้ช่วยกันจรรโลงรักษา เราช่วยกันจรรโลงรักษาโดยอะไร โดยประการใด คือญาติโยมก็ช่วยกันมาสนับสนุน ข้าวปลาอาหารนี้ก็ถือว่าช่วยกันจรรโลงพระศาสนา ปะขาว แม่ชี มาช่วยกันฟังเทศน์ฟังธรรม มาช่วยกันเดินจงกรม นั่งภาวนานี้ก็ถือว่าช่วยกันจรรโลงพระศาสนา พระสงฆ์ สามเณร มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรม ครูบาอาจารย์มาสอนกรรมฐานก็ถือว่าช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนา

          เพราะว่าการที่เรามารวมกันอยู่นี้นี่เป็นเหตุเป็นเป็นปัจจัยให้ศีล สมาธิ ปัญญา มันเกิดขึ้นมาในจิตในใจ เราก็เผยแผ่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่ตนเองรู้ ตนเองได้ถึง ให้บุคคลอื่นได้รู้ ได้เข้าใจ ได้ถึง แล้วพระศาสนาก็จะเจริญแพร่หลาย

          แล้วก็ความหมายของพระศาสนาประการที่ ๔ ก็คือ ศาสนานั้นแปลว่าเบียดเบียน ดังที่มีบทวิเคราะห์ว่า หึสติ เอเตนาติ สาสนํ ชื่อว่าศาสนาก็เพราะว่าเป็นเครื่องเบียดเบียนกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ให้เบาไป ให้ลดไป ให้หมดไป จากขันธสันดาน เรียกว่าพระศาสนาที่มีอยู่ในจิตในใจของบุคคลใดแล้ว บุคคลนั้นก็ย่อมเบียดเบียน ความโกรธ ความโลภ ความหลง เบียดเบียนมานะ ทิฏฐิ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เรียกว่าเบียดเบียนกิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปด ตามอำนาจของความเพียรบารมีของตัวเอง

          คือถ้าเรามารักษาศีล อย่างญาติโยมมารักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ข้อนี้ก็ถือว่าเรามาเบียดเบียนกิเลสแล้ว คือเบียดเบียนกิเลสอย่างหยาบที่จะร่วงออกมาทางกาย ที่จะร่วงออกมาทางวาจา แต่ถ้าเรามาน้อมกายวาจาของเรามาเจริญสมถะกรรมฐานเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้ฌาน ก็ถือว่าเรามาเบียดเบียน นิวรณ์ ทั้ง ๕ ประการ คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา เรียกว่าเรามาเบียดเบียนกิเลส ๕ ประการนี้ ให้มันอ่อนลง ให้มันลดลง ให้มันหมดไป

          คือในขณะที่จิตใจของเราอยู่ในปฐมฌานเป็นต้น กามฉันทะคือความพอใจในกามคุณ ความพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสนั้นจะไม่มี เรียกว่าจิตใจของเราจะมีฌานเป็นอารมณ์ เรียกว่าอยู่ในอารมณ์ของฌาน จะไม่มีความพอใจ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ถ้าจิตใจของเราพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรสเมื่อไหร่แสดงว่าจิตใจของเราออกจากฌานแล้ว เรียกว่าตกลงมาจากฌานแล้ว เคลื่อนออกมาจากฌานแล้ว

          เพราะฉะนั้นบุคคลผู้ที่อยู่ในปฐมฌาน จึงไม่มีความใคร่ ไม่เกิดความรักในรูป ไม่เกิดความพอใจในเสียง หรือว่าบุคคลผู้อยู่ในฌานนั้นจะไม่เกิดความพยาบาท คือไม่เกิดความโกรธ แต่ก่อนเราโกรธ เห็นพระรูปนี้เราก็โกรธ เห็นหลวงปู่รูปนี้ก็โกรธ เห็นพระลูกพระหลานก็โกรธ ในลักษณะอย่างนี้ ก็ไม่พอใจ

          แต่ถ้าทำจิตทำใจให้มีสมาธิได้ เข้าฌานได้ ความโกรธมันก็ระงับไปชั่วคราว ในอารมณ์ที่เราอยู่ในฌาน ความโกรธมันก็ไม่มี หรือว่าขณะที่เราเกิดถีนะ ถีนะก็คือความท้อแท้ ความง่วงเหงาหาวนอน แต่ถ้าเราเข้าฌานได้ จิตใจของเราก็จะไม่มีความง่วงเหงาหาวนอน บางครั้งมีญาติโยมบางคนมาถามว่า อาจารย์ เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมไปแล้ว มันสว่าง จิตใจมันสว่าง อิ่มอยู่ตลอดเวลา สมองนี้มันใส จะง่วงก็ไม่ง่วง ไม่อยากนอน อยากจะเดินจงกรมนั่งภาวนาทั้งคืน มันเป็นอะไร มันเป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไร อันนี้ก็แสดงว่าจิตใจของบุคคลนั้นมันเกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิขึ้นมามาก เกิดโอภาส แสงสว่างขึ้นมาทำให้จิตใจของบุคคลนั้นมันตื่น

          หรือว่าบุคคลใดที่เกิดปีติ เวลาปีติมันเกิดขึ้นมามากๆ จิตใจมันจะอิ่ม อิ่มแล้วตามันจะสว่างใส เราหลับตาลงสมองนี้มันจะใส เรากำหนดอาการพองอาการยุบเห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบดี แต่มันไม่สงบเป็นสมาธิ เพราะว่าปีติมันมีกำลังกล้า เวลาเราเดินจงกรมนี่เราเห็นต้นยก กลางยก สุดยก ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบดี แต่ว่ามันไม่สงบ เพราะว่าอะไร เพราะว่าปีติมันมีกำลังกล้า บางครั้งปีติเกิดทั้งคืนก็มี เกิดตั้งแต่ ๕ โมงเย็น ๖ โมงเย็นโน้นกว่าที่ปีติมันจะคลายลงก็ตอน ๓ โมงเช้า ๔ โมงเช้าก็มีด้วยอำนาจของสมาธิมันมากมันน้อยต่างกัน

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
Maintenence
ผู้ดูแลระบบ
นักโพสท์ระดับ 10
*

คะแนนความดี: +0/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: ชาย
Thailand Thailand

กระทู้: 1117


[• บำรุงรักษา •]

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
Mozilla รองรับ Mozilla รองรับ


ดูรายละเอียด
« ตอบ #1 เมื่อ: 26 มีนาคม 2567 17:07:35 »


ศาสนา
โดย พระภาวนาสุตาภิรัต (ชอบ พุทฺธสโร)
วัดพิชโสภาราม ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ อ.อุบลราชธานี


          แต่ถ้าทำจิตทำใจให้มีสมาธิได้ เข้าฌานได้ ความโกรธมันก็ระงับไปชั่วคราว ในอารมณ์ที่เราอยู่ในฌาน ความโกรธมันก็ไม่มี หรือว่าขณะที่เราเกิดถีนะ ถีนะก็คือความท้อแท้ ความง่วงเหงาหาวนอน แต่ถ้าเราเข้าฌานได้ จิตใจของเราก็จะไม่มีความง่วงเหงาหาวนอน บางครั้งมีญาติโยมบางคนมาถามว่า อาจารย์ เวลาประพฤติปฏิบัติธรรมไปแล้ว มันสว่าง จิตใจมันสว่าง อิ่มอยู่ตลอดเวลา สมองนี้มันใส จะง่วงก็ไม่ง่วง ไม่อยากนอน อยากจะเดินจงกรมนั่งภาวนาทั้งคืน มันเป็นอะไร มันเป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไร อันนี้ก็แสดงว่าจิตใจของบุคคลนั้นมันเกิดปีติ เกิดปัสสัทธิ เกิดสมาธิขึ้นมามาก เกิดโอภาส แสงสว่างขึ้นมาทำให้จิตใจของบุคคลนั้นมันตื่น

          หรือว่าบุคคลใดที่เกิดปีติ เวลาปีติมันเกิดขึ้นมามากๆ จิตใจมันจะอิ่ม อิ่มแล้วตามันจะสว่างใส เราหลับตาลงสมองนี้มันจะใส เรากำหนดอาการพองอาการยุบเห็นต้นพอง กลางพอง สุดพอง ต้นยุบ กลางยุบ สุดยุบดี แต่มันไม่สงบเป็นสมาธิ เพราะว่าปีติมันมีกำลังกล้า เวลาเราเดินจงกรมนี่เราเห็นต้นยก กลางยก สุดยก ต้นเหยียบ กลางเหยียบ สุดเหยียบดี แต่ว่ามันไม่สงบ เพราะว่าอะไร เพราะว่าปีติมันมีกำลังกล้า บางครั้งปีติเกิดทั้งคืนก็มี เกิดตั้งแต่ ๕ โมงเย็น ๖ โมงเย็นโน้นกว่าที่ปีติมันจะคลายลงก็ตอน ๓ โมงเช้า ๔ โมงเช้าก็มีด้วยอำนาจของสมาธิมันมากมันน้อยต่างกัน

          เพราะฉะนั้นถ้าบุคคลใดมีปีติแล้วความง่วงเหงาหาวนอนมันจะไม่มี หรือว่าบุคคลผู้ที่เข้าฌานได้ อุททัจจะ กุกกุจจะ คือความฟุ้งก็ดี ความซ่านก็ดี มันจะไม่เกิดมี ความฟุ้งก็คือในขณะที่เรานั่งไปนี้ จิตใจมันคิดไปถึงอารมณ์ข้างนอกอันนี้เรียกว่าฟุ้งแล้ว เราก็ดึงกลับมา ถ้ามันดึงกลับมาแล้วมันคิดไปอีกถ้ามันคิดไปอีกเราดึงกลับมาอีก อย่างนี้เรียกว่ามันฟุ้ง แต่ที่ว่าซ่าน อารมณ์ที่ว่าซ่านนั้นหมายความว่าเรานั่งไปแล้วเราคิด ปรุงแต่งไปเรื่อย คิดถึงบ้านแล้วก็คิดว่าบ้านนี้ใครจะกวาดแล้วเราจะเก็บของอย่างไร เราจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราจะตกแต่งอย่างไร เราจะต่อเติมตรงนั้น ทำตรงนี้ คิดไปเป็นเรื่องเป็นราวนี้เรียกว่า ซ่าน ไปแล้ว เหมือนกับรถที่มันวิ่งผ่านฝุ่นในเวลาฤดูแล้ง เวลารถวิ่งไปแล้วฝุ่นมันก็ฟุ้งขึ้นมา ขณะฟุ้งขึ้นมาแล้วมันก็ซ่านออกไป แผ่ออกไป

          อารมณ์ของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน ถ้าคิดแล้วดึงกลับมานี้ถือว่าฟุ้ง แต่ว่าถ้าคิดไปแล้วก็ปรุงแต่งไปด้วยนี้ถือว่า ซ่าน ถ้าเราเข้าอยู่ในปฐมฌานแล้วอารมณ์เหล่านี้มันจะไม่ปรากฏขึ้นมา เรียกว่าข่มได้ หรือว่าบุคคลผู้ที่อยู่ในฌานนั้นสามารถที่จะตัดวิจิกิจฉา คือความลังเลสงสัยได้ แต่ก่อนเราลังเลสงสัยว่าพระพุทธเจ้านี้มีจริงหรือเปล่า พระธรรมนี้สามารถที่จะนำบุคคลที่ประพฤติตามนั้นไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ได้ถึงสันติสุขคือการบรรลุมรรคผลนิพพานจริงมั้ย พระสงฆ์นี้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบปฏิบัติตรงมั้ย เป็นเนื้อนาบุญของโลกจริงมั้ย บาปมีมั้ย บุญมีมั้ย นรกมีมั้ย สวรรค์มีมั้ย การประพฤติปฏิบัติธรรม คุณของศีล คุณของสมาธิ คุณของปัญญามีมั้ย เกิดความสงสัย

          แต่ถ้าเราได้ฌาน สิ่งเหล่านี้มันจะระงับไว้แต่ยังไม่สงสัย เพราะอำนาจของฌานมันจะระงับไว้แต่ยังไม่สงสัย เพราะอำนาจของฌาน เรียกว่า  วิกขัมภนปหาน เราสามารถข่มได้ด้วยการเข้าสมาธิ อันนี้เป็นลักษณะของการเบียดเบียนกิเลสอย่างกลาง

          แต่ถ้าเราจะเบียดเบียนกิเลสอย่างละเอียด เราก็ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เหมือนอย่างคณะครูบาอาจารย์ ที่กำลังเดินจงกรมนั่งภาวนานี้แหละ ถือว่าเรามาเบียดเบียนกิเลสอย่างละเอียด ถ้าเราสามารถได้บรรลุมรรคผลนิพพานเราก็จะเบียดเบียนกิเลส คือเบียดเบียนอนุสัยที่ดองเนื่องอยู่ในขันธสันดาน คือจะเบียดเบียนอนุสัย ๗ ประการ คือกามานุสัยคือ เครื่องหมักดองคือกามคุณ แล้วก็เบียดเบียนภวานุสัย คือเบียดเบียนอนุสัยคือภพ แล้วก็เบียดเบียนทิฏฐานุสัย คือเครื่องหมักดองคือความเห็นผิดอยู่ในขันธสันดานของเรา แล้วก็เบียดเบียนมานานุสัย คือความมีมานะ ความถือตัวว่าเราเกิดก่อน ว่าเรามีอายุมาก ว่าเรามีความรู้มาก หรือว่าเราเกิดในตระกูลที่ดี เกิดในตำบลอำเภอที่ดีอะไรทำนองนี้ เรียกว่ามีมานะทิฏฐิขึ้นมา เราเจริญวิปัสสนานี้ก็เบียดเบียนมานานุสัยนี้ให้หมดไป ให้สิ้นไปตามกำลังของมรรคของผลของเรา แล้วก็เบียดเบียนปฏิฆานุสัย คือปฏิฆะคือความโกรธนั้นให้หมดไปให้สิ้นไปจากจิตจากใจของเรา แล้วก็เบียดเบียนวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยให้หมดไปสิ้นไปจากจิตจากใจของเรา แล้วก็เบียดเบียนอวิชชา คือความไม่รู้ให้หมดไปจากจิตจากใจของเรา

          คือขณะที่เราเดินจงกรมนั่งภาวนานี้แหละ ถ้าบุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรมถึงพระอนาคามี ก็สามารถที่จะละกามราคะได้ เรียกว่าสามารถที่จะกำจัดกามราคานุสัยให้หมดไปจากจิตจากใจได้ แต่ถ้าบุคคลใดประพฤติถึงพระอรหันต์นั้นแหละ จึงจะสามารถที่จะตัดภวาราคานุสัยคืออนุสัยในภพนั้นให้สิ้นไปจากจิตจากใจได้ ถ้าบุคคลใดได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จึงสามารถที่จะละความเห็นผิดให้หมดไปจากจิตจากใจได้ แต่ถ้าบุคคลใดปฏิบัติถึงพระอรหันต์ จึงสามารถที่จะละมานานุสัยได้ ถ้าบุคคลใดปฏิบัติถึงพระอนาคามี จึงสามารถที่จะละความโกรธได้ ถ้าบุคคลใดปฏิบัติบรรลุเป็นพระโสดาบันก็สามารถที่จะละความสงสัยเรื่องพระพุทธ สงสัยเรื่องพระธรรม สงสัยเรื่องพระสงฆ์ให้หมดสิ้นไปจากจิตจากใจได้ หรือว่าบุคคลใดที่ประพฤติถึงพระอรหันต์ จึงสามารถละความไม่รู้คืออวิชชานั้นออกไปจากจิตจากใจ

          อันนี้เป็นการละเครื่องอนุสัยเครื่องหมักดอง ด้วยอำนาจของมรรค ของผล ของบารมีที่เราได้สั่งสมอบรมมา เป็นความหมายของศาสนาในข้อที่ ๔ ในคำว่าเบียดเบียน

          ศาสนาข้อที่ ๕ ท่านแปลว่า อาคมะ ซึ่งแปลว่าเป็นที่มาประชุมแห่งกุศลทั้งหลายทั้งปวง คือพระศาสนาของเรานี้เป็นที่เกิด เป็นบ่อเกิดแห่งบุญ เป็นบ่อเกิดแห่งกุศล เป็นบ่อเกิดแห่งศีล แห่งสมาธิ แห่งปัญญา หรือว่าใครอยากจะได้บุญอะไรๆ ก็มาทำเอาที่พระพุทธศาสนานี้แหละ

          ใครอยากจะมีอายุยืนก็มาทำเอาที่ศาสนาของเรานี้แหละ ใครอยากจะเป็นเศรษฐีก็มาทำเอาที่ศาสนาของเรานี้แหละ ใครอยากจะเป็นมหาเศรษฐี เป็นพระมหากษัตริย์ก็มาทำเอาที่ศาสนาของเรานี้แหละ ใครอยากจะเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็มาทำเอาที่ศาสนาของเรานี้แหละ ใครอยากจะเป็นเทวดาก็มาทำเอาที่พระศาสนาของเรา ใครอยากจะเป็นพรหมก็มาทำเอาที่พระศาสนาของเรา ใครอยากจะเป็นอสีติมหาสาวก ก็มาทำเอาที่พระศาสนาของเรา ใครอยากจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็มาทำเอาที่พระศาสนาของเรา ใครอยากจะเป็นพระอัครสาวก เหมือนพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ก็มาทำเอาที่พระศาสนาของเรา หรือ ใครอยากจะเป็นพระพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้าก็มาทำเอาที่พระศาสนาของเรานี้แหละ

          คือมาบำเพ็ญศีล บำเพ็ญสมาธิ บำเพ็ญปัญญา บำเพ็ญบารมีทั้ง ๓๐ ทัศ ทานบารมี สีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี ขันติบารมี วิริยะบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี เรียกว่ามาบำเพ็ญอยู่ที่นี่ อยู่ที่พระศาสนานี้แหละ

          เพราะฉะนั้นศาสนาของเรานั้นจึงถือว่าเป็นบ่อเกิดแห่งบุญ เป็นบ่อเกิดแห่งกุศลทั้งหลายทั้งปวง เพราะฉะนั้นพระศาสนานั้นจึงเปรียบเสมือนกับทะเล ทะเลนั้นเป็นที่น้ำทั้งหลายทั้งปวง จะเป็นแม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำโขง แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเล็ก แม่น้ำน้อยทั้งหลายทั้งปวงก็ไหลลงไปรวมที่ทะเล พระศาสนาของเราก็เหมือนกัน เป็นที่รวมแห่งบุญแห่งกุศลทั้งหลายทั้งปวงฉันนั้นเหมือนกัน

          เพราะฉะนั้น พระศาสนานั้นท่านจึงถือว่า เป็นที่เกิดแห่งบุญแห่งกุศลทั้งหลาย เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายที่นับถือพระพุทธศาสนาก็คงจะเข้าใจพระพุทธศาสนาบ้างตามสมควร ก็จะไม่ขอพูดพิสดารมากไปกว่านี้เพราะว่ากินเวลามามากแล้ว

          ก็จะขอสรุปว่า พระศาสนาของเรานั้น เมื่อสรุปโดยย่อแล้วก็มีอยู่ ๓ ประการ คือปริยัติศาสนา ปฏิบัติศาสนา แล้วก็ปฏิเวธศาสนา ปริยัติศาสนาก็คือการเล่าเรียน ศึกษาพระไตรปิฎก ตามที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ก็คือเรียนนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เรียนเปรียญธรรมประโยค ๑-๒ ประโยค ๓ ประโยค ๔ ประโยค ๕ ประโยค ๖ ประโยค ๗ ประโยค ๘ ประโยค ๙ เรียนอภิธรรมบัณฑิตคือ จุลตรี จุลโท จุลเอก มัชฌิมตรี มัชฌิมโท มัชฌิมเอก แล้วก็เรียนจนจบมหาอภิธรรมบัณฑิตเรียกว่าจบ อภิธรรมบัณฑิต อันนี้เป็นหลักสูตรของการเรียนปริยัติในทุกวันนี้

          ส่วนปฏิบัตินั้นท่านหมายถึงว่า การยังกาย วาจา ใจ ของผู้ปฏิบัตินั้นให้เข้าถึงเฉพาะซึ่งคุณงามความดี คือยังกาย วาจา ใจของบุคคลผู้ปฏิบัตินั้นให้เข้าถึงศีล เข้าถึงสมาธิ เข้าถึงปัญญา อันนี้หมายถึงปฏิบัติศาสนา

          ส่วนปฏิเวธศาสนานั้นท่านหมายถึงการแทงตลอดซึ่งอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค กล่าวโดยย่อก็คือ การบรรลุ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เรียกว่า นวโลกุตรธรรม ๙ ประการ อันนี้หมายถึงปฏิเวธธรรมคือการบรรลุมรรคผลนิพพาน

          เมื่อเราจะอุปมาอุปไมยปริยัติก็ดี ปฏิบัติก็ดี ปฏิเวธก็ดี เพื่อที่จะให้เข้าใจ

          ปริยัตินั้นเปรียบเสมือนกับการเรียนแผนที่ อย่างเราจะไปกรุงเทพ เราจะไปต่างจังหวัด ไปภาคเหนือ เราก็ดูแผนที่ว่าจะไปอำเภอไหนก่อน ไปทางหลวงหมายเลขที่เท่าไหร่ เราก็เรียนเป็นอย่างดี อันนี้หมายถึงปริยัติ   

          แต่เมื่อปฏิบัติก็คือ เราเดินทางตามแผนที่ ที่เราได้ศึกษามาดีแล้วนั้นแหละ ไปตามทางหลวงหมายเลขที่เราศึกษาดีแล้วแต่เรายังไปไม่ถึง อันนี้เป็นปฏิบัติ

          ส่วนปฏิเวธนั้นหมายถึงว่าเรานั้นไปถึงแล้ว ถ้าเราจะไปเชียงใหม่เราก็ไปเห็นเชียงใหม่ ว่าเชียงใหม่นั้นมีถนน ๔ เลนมีบ้านช่องตึกรามเป็นอย่างไร เรียกว่าเราไปเห็นกับหูดูกับตามาแล้ว

          แล้วก็ปริยัตินั้นท่านเปรียบเสมือนกับการเรียนตำราอาหาร คือปริยัตินั้นเปรียบเสมือนกับการเล่าเรียนตำราอาหารว่า แกงนี้เราจะใส่น้ำ ใส่ปลาเท่าไหร่ ใส่ไก่เท่าไหร่ ใส่เห็ดเท่าไหร่ ใส่น้ำพริกเท่าไหร่ ใส่น้ำปลา ใส่เกลือเท่าไหร่ เราต้องต้มไฟเดือดอย่างไร นานขนาดไหน เราเรียนเป็นอย่างดีแต่เรายังไม่เคยทำสักที ครั้งเดียวเราก็ไม่เคยทำ

          ส่วนปฏิบัตินั้นก็หมายเอาวิชา คือการเรียนต้มนั้นแหละมาใส่น้ำเท่าไหร่ ใส่ผักเท่าไหร่ ใส่ปลา ใส่เนื้อเท่าไหร่ ใส่พริก ใส่เกลือ ใส่น้ำตาล ต้มใช้ไฟแรงขนาดไหน เอามาทำ เราทำเสร็จเรียบร้อยแต่เรายังไม่ซด เรายังไม่ดื่ม เรายังไม่กิน เรายังไม่ฉัน

          ส่วนปฎิเวธนั้นหมายถึงว่า ตักเอาแกงมาใส่ถ้วยแล้วก็ชิมดูว่ามันมีรสชาติอย่างไร รู้เฉพาะตนเอง บุคคลใดชิมบุคคลนั้นก็รู้ว่ามันเอร็ดอร่อยอย่างไร มันมีรสเปรี้ยวหวานอย่างไร คนที่ไม่ชิมก็ไม่รู้ อันนี้เป็นปฏิเวธ

          แล้วก็ปริยัติธรรมนั้นท่านเปรียบเสมือนกับการเรียนลายแทงว่าที่วัดป่าน้ำท่วม มีขุมทรัพย์ ที่ฝังไว้อยู่ตรงโน้น อยู่ตรงนี้ แล้วก็เรียนลายแทงว่ามันมีต้นไม้ใหญ่อยู่ เป็นต้นบากหรือต้นอะไร มันฝังอยู่ตรงทิศตะวันออกหรือทิศตะวันตกเรียนอย่างดี เรียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ลงมือขุด ยังไม่ลงมือไปตามลายแทง

          แต่ปฏิบัตินี้นี่ลงมือขุดลงไปๆ แต่ยังไม่ถึงสมบัติที่ตนเองศึกษาตามลายแทง

          ปฏิเวธธรรมนั้นหมายถึง ขุดถึงแล้ว แล้วก็ยกเอาสมบัติ มีเพชร นิล จินดา มีพระทองคำอะไรขึ้นมาเชยชม อันนี้เป็นความหมายของปฏิเวธ

          แล้วก็ปริยัตินั้นท่านเปรียบเสมือนกับการเรียนตำรายา ว่ายานี้แก้โรคปวดหัว แก้โรคท้อง แก้โรคตับ แก้โรคหอบเหลือง ต้องฝนยารากไม้ตรงนี้ เอาตัวนี้มาผสมกับตัวนี้เรียนเป็นอย่างดี แต่ยังไม่เคยทำซักที ยังไม่เคยปรุงซักที

          ปฏิบัตินั้นหมายถึงเอาตำราเอารากไม้เอาส่วนประกอบของยามาผสมกัน แต่ยังไม่เอาไปใช้ทา ยังไม่เอาไปใช้กิน ยังไม่เอาไปใช้รักษา

          ความหมายของปฏิเวธนั้นก็คือ เอายาอันนั้นไปใช้ทา ไปใช้กิน ไปใช้รักษาคนป่วยแล้วคนป่วยก็หายจากโรค อาจจะเป็นโรคปวดหัว โรคตับก็ดี โรคหอบเหลืองก็หายจากโรคนั้น อันนี้เป็นความหมายของปฏิเวธ

          เพราะฉะนั้นพระศาสนาของเรานั้นจะเจริญรุ่งเรืองได้ก็ต้องอาศัยทั้งปริยัติ อาศัยทั้งปฏิบัติ อาศัยทั้งปฏิเวธ แต่ถ้าเราไม่ช่วยกันรักษา พระศาสนาของเราก็จะเสื่อมไปๆๆ ในที่สุดพระศาสนาของเราก็จะหมดไป รุ่นลูกรุ่นหลานก็ไม่สามารถที่จะได้มาอยู่ใต้ร่มพุทธธรรมให้ได้รับความร่มเย็น ประชาชนคนทั้งหลายก็จะเดือดร้อนด้วยอำนาจของกิเลส คือ ราคะ โทสะ โมหะ มีแต่ความเห็นแก่ตัว แก่งแย่งชิงกัน ได้รับความเดือดร้อนนานาประการ เพราะอะไร เพราะว่าไม่มีศาสนาเป็นเครื่องร่มเย็น ให้ประชาชนทั้งหลายมีความสุข มีความสบาย ศาสนาของเราก็จะสิ้นไป เสื่อมไป สูญไป

          เหมือนกับสมัยก่อน ศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ เสื่อมสิ้นไป คือในสมัยนั้นมีชาวบ้าน ๒ คน มีชาวตระกูล ตระกูลหนึ่ง พี่กับน้องออกบวชด้วยกัน ผู้พี่ชื่อว่าโสธนะ ส่วนน้องชายชื่อว่า กปิละมารดาของชนทั้ง ๒ นั้นชื่อว่า สาธนี น้องสาวของชนทั้ง ๒ ชื่อว่า ตาปนา คนทั้ง ๔ นั้นได้ออกบวชด้วยกัน ทางโสธนะก็ดี กปิละก็ดี ก็บวชเป็นพระ ส่วนมารดาคือนางสาธนีและน้องสาวชื่อตาปนาก็บวชเป็นภิกษุณี

          ภิกษุทั้ง ๒ รูปบวชแล้วก็อุปถัมภ์อุปัฏฐากอุปัชฌาย์นั้นครบ ๕ ปี แล้วทั้ง ๒ ก็เข้าไปกราบเรียนอุปัชฌาย์ว่า ท่านขอรับ ในพุทธศาสนานี้นี่มีธุระที่จะต้องศึกษากี่อย่าง อุปัชฌาย์ก็ว่ามีอยู่ ๒ อย่างคือ วิปัสสนาธุระแล้วก็คันถธุระ คือการศึกษาเล่าเรียน

          ภิกษุผู้เป็นพี่ชายชื่อว่า โสธนะ คดว่าตนเองบวชเมื่อแก่เราคงจะไม่มีเรี่ยวแรงจะศึกษาปริยัติธรรม ก็เลยศึกษาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เมื่อเรียนเอากรรมฐานจากพระอุปัชฌาย์แล้วก็ไปพากเพียรอยู่ในป่า เดินจงกรม นั่งภาวนา ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานของตน

          ส่วนกปิละน้องชายคิดว่าเรายังหนุ่มยังแน่นเราจะเรียนพระไตรปิฎก เรียนคันถธุระเสียก่อน ต่อเมื่อเราแก่เราเฒ่าเราจึงจะเรียนวิปัสสนากรรมฐาน ก็เริ่มตั้งความเพียร ศึกษาพระสูตร ศึกษาพระวินัย พระอภิธรรมจนเป็นผู้แตกฉานช่ำชองคล่องปาก สามารถที่จะอธิบายพระสูตรพระอภิธรรมนั้นได้ชำนิชำนาญมากมาย พิสดารมากก็เลยมีบริวารมาศรัทธามาอุ้มมาล้อมมาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมาก คนก็ศรัทธา

          กปิละภิกษุนั้นก็เลยมัวเมาในลาภ ในความสรรเสริญ เมื่อมัวเมามากขึ้นๆ คนมีกิเลสอยู่ก็เลยหลงตัวเอง เมื่อหลงตัวเองก็ไม่ยอมที่จะเชื่อฟังใคร บุคคลอื่นว่าอย่างไรก็ไม่ฟัง เพราะว่าตนเองนั้นเป็นอาจารย์สอนคนอื่นแล้ว คนอื่นจะมาเตือน คนอื่นเป็นลูกศิษย์จะมาเตือนเราได้อย่างไร เราเป็นอาจารย์ใครจะมาเตือนเราได้ เกิดมานะทิฏฐิความพองตัวเหมือนกับอึ่งอ่างมันพองตัว ก็คิดว่าตนเองนั้นเป็นผู้ที่มีความรู้มาก แต่ที่ไหนได้ตนเองมีความรู้แค่ปริยัติธรรมเท่านั้น ส่วนปฏิบัติหารู้ไม่ ส่วนปฏิเวธไม่ได้แทงตลอด ก็เหมือนกับว่า กบมันมีดินติดหัวนิดเดียวก็คิดว่าเป็นหงอนพญานาค ก็คิดว่าเป็นเกล็ดของพญานาค พองตัวขึ้นมา บุคคลผู้มีแต่ปริยัติก็เหมือนกัน ศึกษาได้รู้นิดๆ หน่อยๆ ก็คิดว่าตนเองนั้นเป็นผู้รู้มาก พองตัวเหมือนกับกบที่มีดินติดหัวนึกว่าเกล็ดของพญานาค นึกว่าหงอนของพญานาคก็อวดลำพองตัวเอง ในที่สุดภิกษุผู้มีศีลก็ไม่ค่อยจะชอบ ไม่อนุโมทนา ก็กล่าวพระธรรมวินัยคลาดเคลื่อนไป กล่าวสิ่งที่เห็นสมควรว่าไม่สมควร

          ภิกษุทั้งหลายว่าสิ่งนี้มันสมควรนะท่าน กปิละก็ว่าไม่สมควร

          ภิกษุกล่าวว่าสิ่งนี้มันไม่สมควรนะท่าน กปิละก็กล่าวว่าสมควร

          ภิกษุทั้งหลายว่าสิ่งนี้มันเป็นโทษท่านอย่าทำนะกปิละก็กล่าวว่าถูก เพราะว่าตนเองไม่ยอม มีแต่มานะทิฏฐิ ภิกษุทั้งหลายก็เลยไปฟ้องพี่ชายชื่อว่าโสธนะ

          พี่ชายก็มาตักเตือนน้องชายว่าท่านการประพฤติปฏิบัติดี ภิกษุอย่างท่านนี่ ถ้าประพฤติปฏิบัติดีแล้วจะชื่อว่าเป็นอายุของพระศาสนา จะเป็นการสืบทอดพระศาสนาเพราะท่านมีความรู้มาก ท่านจงปฏิบัติให้ตรงต่อพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเถิด แต่ภิกษุชื่อว่า กปิละก็ไม่สนใจ พี่ชายก็มาเตือน ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง น้องชายก็ไม่สนใจ พี่ชายก็เลยคิดว่า ท่าน ถ้าท่านไม่เชื่อคำของกระผม ท่านจะปรากฏด้วยกรรมของตนเอง แล้วพี่ชายก็เลยทิ้งน้องชายไป น้องชายก็เสียคน เมื่อเสียคนเพราะพี่ชายทิ้งแล้วก็ประมาท เมื่อประมาทแล้วก็วันหนึ่งคิดว่าตนเองจะลงอุโบสถ ก็ขึ้นไปอุโบสถประชุมพระสงฆ์ สามเณร แล้วก็จับพัตรอันวิจิตร คิดว่าจะแสดงอุโบสถก็ถามว่าอุโบสถนั้นเป็นไปในท่านทั้งหลายแล้วหรือ คือพวกท่านทั้งหลายตั้งใจจะฟังอุโบสถไหม ภิกษุทั้งหลายก็ไม่ตอบ ก็เพราะว่าจะตอบไปทำไม ไม่รักษาพระธรรมวินัย ไม่รู้จะฟังไปเพื่ออะไร ตนเองไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามวินัย

          ในที่สุดพระกปิละก็เลยพูดขึ้นในท่ามกลางสงฆ์ว่า พระธรรมไม่มี วินัยไม่มี พระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะก็เสื่อมสิ้นไปตั้งแต่บัดนั้นมา พี่ชายของพระกปิละคือ พระโสธนะก็ปรินิพพานในวันนั้นเอง เมื่อกปิละมรณภาพจากนั้นแล้วก็ไปเกิดในอเวจีมหานรก หมกไหม้อยู่ในอเวจีมหานรกสิ้นพุทธันดรหนึ่ง

          ในสมัยนั้นก็มีโจรห้าร้อย โจรห้าร้อยนี้เป็นคนที่ไปปล้นไปฆ่าคนอื่นมาเป็นประจำ วันหนึ่งพระราชาประชุมให้ทหารตามล่า พอทหารตามล่าโจร ๕๐๐ คนก็หลบหนีไปอยู่ในป่า ไม่รู้ว่าจะไปพึ่งใคร ก็ไปเห็นพระรูปหนึ่งกำลังนั่งบำเพ็ญธรรมอยู่ก็เลยว่า ท่านจงเป็นที่พึ่งของพวกกระผมทั้งหลายเถิด พระเถระรูปนั้นก็เลยบอกว่า ที่พึ่งอื่นยิ่งไปกว่าศีลไม่มี ถ้าท่านอยากจะได้ที่พึ่งพวกท่านจงสมาทานศีลเถิด หัวหน้าโจรพร้อมกับโจร ๕๐๐ ก็เลยสมาทานศีล เมื่อสมาทานศีลแล้ว พระเถระก็เลยบอกว่า ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์แล้ว ต่อไปนี้อย่าทำศีลของตนให้ขาด ให้ทะลุ ให้เศร้าหมอง แม้ชีวิตก็อย่าให้มันเศร้าหมอง แม้คิดร้ายก็อย่าไปคิดร้ายกับบุคคลอื่น

          พอดีทหารของพระราชาตามมา เมื่อตามมามาเห็นโจรแล้วก็ฆ่าโจรทั้งหลายตาย โจรที่เป็นหัวหน้าก็ไปเกิดเป็นเทวดา โจรทั้งหลายที่เป็นลูกน้องก็ไปเกิดเป็นบริวารในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยอานุภาพของการรักษาศีล ๕ ชั่วครู่ เทวดาทั้งหลายก็ท่องเที่ยวไปในมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง สิ้นพุทธันดรหนึ่ง ก็มาเกิดอยู่ที่หมู่บ้านชาวประมงทางเข้าประตูเมืองสาวัตถี

          ทางฝ่ายพระกปิละซึ่งตายไปเกิดในอเวจีมหานรกพุทธันดรหนึ่ง พ้นจากนรกนั้นก็มาเกิดในแม่น้ำ อจิรวดี อยู่หน้าทางเข้าเมืองสาวัตถีเหมือนกัน พอดีชาวประมงเหล่านั้นโตขึ้นมาแล้ว หัวหน้าโจรก็ไปเกิดเป็นลูกของหัวหน้าชาวประมง บริวารก็ไปเกิดเป็นลูกน้องของชาวประมง พอโตขึ้นมาแล้วก็ไปหว่านแหหาปลา ขณะที่หว่านแหลงครั้งแรกนั้นแหละ ไปถูกปลาตัวหนึ่งที่มีตัวใหญ่ มีสีเหมือนกับทองคำ ชาวประมงทั้งหลายก็มีเสียงเอ็ดอึงกันว่าปลานี้ มีสีแปลก มีสีเหมือนกับทองคำก็เลยยกปลานั้นขึ้นมาใส่เรือแล้วก็เรียกคนมาดู ผู้ที่เป็นชาวประมงก็คิดว่าปลานี้แปลก เราจะเอาไปถวายพระราชา พระราชาก็คงจะพระราชทานทรัพย์เป็นอันมากก็เลยเอาไปถวายพระราชา พระราชาเห็นแปลกก็เลยคิดว่าจะเอาไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าปลานี้ทำไมจึงเป็นสีเหมือนทอง ก็เลยเอาปลานี้ไปสู่พระเชตวัน

          ขณะที่ไปสู่พระเชตวัน ปลาก็อ้าปาก ขณะที่ปลาอ้าปากนั้นกลิ่นเหม็นก็ฟุ้งออกไปจากปากของปลาตลบอบอวลทั้งพระเชตวันทั้งสิ้น พระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งครองเมืองสาวัตถีในครั้งนั้นก็ไปกราบทูลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญทำไมหนอ ปลานี้จึงมีสีเหมือนทองคำ ทำไมหนอปลานี้จึงปากเหม็นเหลือเกิน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์จึงตรัสว่า มหาบพิตรต้องการจะฟังไหม ถ้ามหาบพิตรต้องการจะฟังตถาคตจะเล่าให้ฟัง แล้วพระตถาคตก็เลยเล่าให้ฟังว่า

          ปลานี้ชื่อว่า กปิละในสมัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสปะ แล้วพุทธเจ้าก็เลยตรัสถามว่า เธอชื่อว่ากปิละใช่ไหม ปลาก็ตอบว่าพระเจ้าข้า ข้าพเจ้าชื่อว่ากปิละแล้วเธอมาจากไหน ปลานั้นก็บอกว่า ข้าพเจ้ามาจากอเวจีมหานรก พี่ชายของเธอชื่อว่า โสธนะนั้นไปแล้ว ณ ที่ไหน ปลาก็ตอบว่าพี่ชายของข้าพเจ้าพระองค์นั้นปรินิพพานไปแล้ว มารดาของเธอชื่อว่าสาธนีล่ะไปไหน ปลาก้บอกว่า มารดาของข้าพเจ้าไปเกิดในอเวจีมหานรกเพราะไปด่าภิกษุถือทิฏฐานุคติตามข้าพระองค์ ไปด่าภิกษุด่าผู้มีศีลก็เลยไปเกิดในนรก แล้วก็ถามปลาว่าน้องสาวของเธอชื่อว่า ตาปนาล่ะไปเกิดในที่ไหน ปลาก็บอกว่าน้องสาวของข้าพระองค์ไปเกิดในนรกชื่อว่าอเวจีเพราะไปด่าภิกษุ ตามที่กระผมได้ด่าภิกษุทั้งหลายในคราวที่มีชีวิตอยู่

          แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ถามต่อไปว่า แล้วเธอล่ะจะไปที่ไหนต่ออีก ปลานั้นก็บอกว่าข้าพระองค์นั้นจะไปเกิดในอเวจีมหานรกอีก พูดจบแล้วก็เกิดความเดือดร้อน เมื่อเกิดความเดือดร้อนก็เอาหัวของตนเองฟาดลงที่เรือก็เลยตาย ตายแล้วก็ไปเกิดในอเวจีมหานรก

          ชนเป็นอันมากกำลังยืนมุงดูอยู่ก็เกิดขนพองสยองเกล้า เกิดขนชูชันมีจิตใจสลดสังเวช และคิดว่าบาปกรรมนี้มันมีจริงหนอๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก็ทรงพิจารณาจิตใจของพุทธบริษัททั้งหลายว่า จิตใจของพุทธบริษัททั้งหลายมีความสลดสังเวชแล้ว พระองค์ก็ทรงแสดงกปิลสูตรในสุตตนิบาต เป็นใจความว่านักปราชญ์ทั้งหลาย สรรเสริญว่าการประพฤติธรรมก็ดี การประพฤติพรหมจรรย์ก็ดีเป็นแก้วอันประเสริฐ

          เมื่อพระองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาจบแล้วก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ชาวประมงทั้ง ๕๐๐ เบื่อหน่ายในเพศของฆราวาส ออกบวช เมื่อออกบวชแล้วก็เจริญสมณธรรม ในที่สุดก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสขาดจากขันธสันดานทั้ง ๕๐๐

          อันนี้เป็นการเสื่อมเสียของพระศาสนาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสปะ เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายก็ขอให้ตั้งจิตตั้งใจ รักษาพระศาสนาของเราตราบเท่าที่เราจะรักษาได้ ตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่ เท่าที่กระผมได้น้อมนำเอาธรรมะ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบรรยายก็เห็นว่าพอสมควรแก่เวลา ในท้ายที่สุดนี้ก็ขอให้ญาติโยมผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมทั้งหลายจงเป็นผู้เพียบพูน สมบูรณ์ไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ ธนสารสมบัติ ธรรมสารสมบัติ ปรารถนาสิ่งใดก็ขอให้ได้สิ่งนั้นสมความมุ่งมาดปรารถนา ขอให้มีโอกาสได้มาประพฤติวัตรปฏิบัติธรรมนำตนให้พ้นจากทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือมรรคผลนิพพานด้วยกันจงทุกท่านทุกคนเทอญ.
บันทึกการเข้า

[• สุขใจ บำรุงรักษาระบบ •]
คำค้น:
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.903 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 06 ตุลาคม 2567 23:47:21