หลวงปู่จันทา ถาวโร เห็นทูตนรกเห็นทูตนรกที่บ้านเฉลียงลับ
...เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้กราบลา หลวงปู่ทับ ออกเที่ยววิเวกไปกับท่านพระอาจารย์จันทร์ ซึ่งเป็นคนบ้านกระไดใหญ่ จ.ยโสธร ท่านอาจารย์จันทร์ได้ ๑๑ พรรษา เป็นหัวหน้าพาไป ขณะนั้นเป็นฤดูแล้ง ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้ไปพักอยู่ที่ วัดบ้านเฉลียงลับ อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
อยู่มาวันหนึ่ง ก็เลยตั้งใจ ฝึกจิตตามวิธีการที่หลวงปู่ทับสอนให้ มีหลายประเด็น ประเด็นหนึ่งก็ ตั้งสัตย์ไว้ว่า จะไม่นอน วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ข้างก็ไม่ฉัน ทำความเพียรอยู่ในอิริยาบถ ๓ คือ เดิน ยืน นั่ง เท่านั้น แล้วตั้งใจมั่น อธิษฐานว่า
“ถ้านรก สวรรค์ นิพพานมีจริง ก็ขออำนาจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จงทรงบันดาลให้ได้เห็นในวันนี้ หรือ คืนนี้ จะได้สิ้นสงสัยว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นนายะโก ผู้นำโลก คือหมู่สัตว์ออกจากวัฏฏทุกข์ได้แท้จริง”
จากนั้นก็ออก เดินจงกรม ก้าวขวาว่า พุทโธ ก้าวซ้ายว่า ธัมโม ก้าวขวาว่า สังโฆ เมื่อครบ ๓ รอบแล้ว ก็ย่อคำบริกรรมเป็น ก้าวขวาว่า พุท ก้าวซ้ายว่า โธ ทำอยู่อย่างนั้น ไม่ได้กำหนดเวลา มีแต่เดินกับยืนวันยังค่ำ จนกระทั่งถึง ๖ โมงเย็นจึงหยุด ไปอาบน้ำชำระร่างกาย เสร็จแล้วก็ฉันน้ำร้อน
จากนั้น เวลาเกือบ ๖ โมง ๓๐ นาที แสงอาทิตย์จวนจะหมดแล้ว ก็เอากลดไปกางบนศาลา แล้วเข้าที่อธิษฐาน ตั้งใจมั่นว่า
“คืนนี้จะนั่งภาวนา เพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เอาบุญ และฝึกจิตให้จิตรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรมต่าง ๆ นรก สวรรค์ นิพพานมีไหม ขอให้รู้เห็นเป็นไป จะได้สิ้นสงสัย”
อธิษฐานแล้วก็ไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วก็อุทิศส่วนบุญ จากนั้นเข้าที่ นั่งสมาธิ ชำระจิตใจให้ผ่องใส ปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงให้หมดเสียสิ้น นั่งเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ทำกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่น เฉพาะหน้า บริกรรม พุทโธ เป็นอารมณ์ของสติ หายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ
พอจิตยึดมั่นกับ พุทโธ ได้ไม่นาน จิตก็ปล่อยวาง พุทโธ เหลือแต่ผู้รู้ อยู่กับสติ พอจิตรวมลงไปนั้น จะไปนึกฐานอะไรก็ไม่ทราบ มันเป็นฐานใหญ่กว่า ขณิกสมาธิ ที่เคยเป็นมาแล้ว จิตก็วางกาย วางลม วางขันธ์ ลงถึงฐานใหญ่แสงสว่างกระจ่างแจ้งเกิดขึ้น กลางคืน เหมือนกลางวัน สว่างรุ่งโรจน์
ในขณะนั้น มีความสุขและความเยือกเย็นร่าเริงบันเทิงเกิดขึ้นกล้าแข็ง จนรู้สึกแปลกประหลาดใจ นั่นแหละพอลงไปถึงฐานนั้นแล้ว จิตก็เสวยสุขอยู่ในที่นั้นนานพอสมควร ทีนี้ผู้รู้พูดขึ้นมาในหัวใจว่า
“นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ ฯ ความสุขอื่นเสมอด้วยจิตสงบ ไม่มี”
นี่แหละ พูดขึ้นมาอย่างนั้น อันนี้เป็น ภวังคภพภวังคจรณะ ภวังค์ใหญ่กว่าเมื่อครั้งที่อยู่ อ.กมลาไสย อันนี้ใหญ่กว่านั้น จะเป็นอะไรเล่า ถ้าพูดตามหลักธรรมก็เรียกว่า อุปจารสมาธิ พูดขึ้นมาอย่างนั้นว่า นี่แหละคืออุปจารสมาธิ สมาธิธรรมอันมั่นคงหนาแน่นนะ ซึ่งเป็นผลเกิดขึ้นจากการเจริญสมณธรรม
ทีนี้ผู้รู้พูดขึ้นมาอีกว่า “ความสุขนี้ยังเป็นโลกียสุขอยู่ซึ่งไม่แน่นอน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แสงสว่างนี่คือ แสงพระนิพพาน แต่ยังไม่ใช่ตัวจริง เป็นรูปเปรียบเทียบเฉย ๆฉะนั้นอย่าเพิ่งติดสุข นักปราชญ์ พระโยคาวจรเจ้าทั้งหลาย ผู้ได้พบพระนิพพานนั้น เป็นผู้ทำความเพียรเวียนหาความพ้นทุกข์ ไม่ติดสุขทั้งนั้น”
นั่นแหละ เมื่อตั้งมั่นพอสมควรแล้ว ก็มาพิจารณาธาตุขันธ์ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ น้อมลงสู่ไตรลักษณ์
อนิจจตา ไม่เที่ยง มันไม่เที่ยง แปรปรวน เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจ แปรปรวนเปลี่ยนแปลงยักย้ายกลายมาเป็นอื่น ตั้งแต่วันเกิดมาโน่น จนถึงวันนี้ จากวันนี้ก็จะแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอีกข้างหน้าโน้น
ทุกขตา ก็เป็นทุกข์ ทุกถ้วนหน้า โลก คือหมู่สัตว์ไม่ได้ตามใจหมายทั้งนั้น เพราะเป็นทุกข์ เพราะใจห่วง ใจยึด
อนัตตตา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่เราเสียสิ้น นั่นแหละ พิจารณาน้อมลงสู่ไตรลักษณ์ เห็นแจ้งประจักษ์เสมอ มันจึงจะเบื่อหน่าย คลายความกำหนัด ยึดธาตุขันธ์ว่า ขันธ์เป็นตน ตนเป็นขันธ์ ขันธ์มีในตน ตนมีในขันธ์ ไม่ใช่หรอก เป็นแต่เพียงสัมภาระปัจจัย เครื่องอาศัยชั่วคราว ไม่แน่นอน ไม่นานก็พลัดพรากจากกันไปเท่านั้น เพราะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทอดทิ้งไว้ อย่าเพิ่งสงสัย ยึดมั่นอยู่เลย ยึดไว้พอเป็นปัจจัย เครื่องอาศัยชั่วคราว เพื่อให้มันได้ตน ได้ธรรม ได้บุญ ได้กุศล มรรคผลที่เกิดขึ้นจากสมบัติอันนี้ แล้วก็พิจารณาอย่างนั้น อนุโลม ปฏิโลม เดินหน้า ถอยหลัง ตัวเองก็แจ้งชัด คนอื่นภายนอกก็แจ้งชัด ก็สิ้นสงสัย
อฑฺฒา เจว ทฬิทฺทา จ สพฺเพ มจฺจุปรายนา ฯ ทั้งจนและมี ดีและชั่ว นอกบ้าน ในบ้าน นอกเมือง ในเมือง ใต้น้ำ บนบก ใต้ดิน บนอากาศทุกถ้วนหน้า เกิดมาแล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลง แก่เจ็บตายทอดทิ้งไว้ทุกถ้วนหน้าทั้งหมด นั่นแหละ ได้ยิน ได้ฟังได้เห็นอย่างนั้น จิตก็สังเวชสลดใจจนน้ำตาไหล เกิดความขนัน หมั่นในการทำความเพียรไม่ลดละ
จนกระทั่ง ล่วงไปถึงตีสอง ๓๐ นาที มีนิมิตผ่านเข้ามา เป็น นายนิริยบาล ๘ คน เดินทางออกมาจากบ้านเฉลียงลับ รูปร่างสูงใหญ่มหึมา ขนาดมนุษย์เรา ๖ คน จึงจะเท่ากับเขา ๑ คนนะ ผิวเนื้อดำแดง สวมเสื้อผ้าสีแดง และมีผ้าแดงเคียนที่ศีรษะ มือถือง้าวปลายแหลม เดินเข้ามาหยุดยืนอยู่ตรงหน้า ห่างประมาณ ๒ - ๓ วาเท่านั้น
คนที่เป็นหัวหน้าก็กล่าวว่า “ท่านอาจารย์ พวกข้าพเจ้าทั้ง ๘ คนนี้เป็นนายนิริยบาล มาจากเมืองนรก มาเอาบุคคลผู้สิ้นอายุสังขาร ซึ่งเป็นหญิงสาวอายุ ๑๖ ปี หมดเกษียณภพชาติแล้ว พวกข้าพเจ้าได้ไปทำลายธาตุขันธ์ให้สิ้นลมแล้ว เดี๋ยวเขาจะตามมาภายหลัง”
“พวกท่านเป็น นายนิริยบาล มาจากเมืองนรกจริงหรือ ?”
“จริง ! ...ผู้ที่ทำงานอยู่ในเมืองนรกเหมือนกับพวกข้าพเจ้านี้ เรียกว่า นายนิริยบาล นายนิริยบาลเปรียบเสมือนกับพลตำรวจก็มี และมี จ่ายมบาล ซึ่งเปรียบเสมือนอธิบดีกรมตำรวจ คอยควบคุมบัญชาการอีกที”
ถามเขาไปอีกว่า “พวกท่านที่ได้ไปทำงานอยู่ในเมืองนรกนั้น ทำคุณงามความดีหรือความชั่วอย่างไร ?”
เขาก็บอกว่า “ความดีก็ทำ ความชั่วก็ทำ เอาหมดทั้งนั้น ไม่เลือก เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว กรรมดีและชั่วนั้นจึงพาไปอุบัติบังเกิดเป็นนายนิริยบาล ทำงานอยู่ในเมืองนรก”
จากนั้นก็ถามเขาอีกว่า “นรกนั้นอยู่ที่ไหนเล่า ?”
เขาก็บอกว่า “นรกนั้นอยู่ใต้ภูเขาเทวดาลงไป เป็นอีกเมืองหนึ่งต่างหาก อยู่ระหว่างกึ่งกลางของ ๓ จังหวัด คือ เลย ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์”
“นรกนั้น เป็นสุข หรือ เป็นทุกข์ ประการใด ?”
“เป็นทุกข์ หาสุขไม่มี”
“ทุกข์อย่างไร ?”
“ทุกข์เพราะถูกต้มด้วยน้ำร้อน และถูกสังหารด้วยหอกด้ามกล้า พร้าด้ามคม ของนายนิริยบาล เป็นทุกข์อย่านั้น หาสุขไม่มี”
“พวกท่านที่ทำงานอยู่ในเมืองนรกนั้นเล่า เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ ประการใด ?”
“เป็นทุกข์ครึ่งหนึ่งของสัตว์นรกเหล่านั้น”
“เป็นทุกข์อย่างไร ?”
“เป็นทุกข์ในขณะที่ไปสังหารสัตว์นรก ตรวจตราสัตว์นรก ถูกไฟนรกปลิวขึ้นมาไหม้ ถูกน้ำร้อนกระเด็นขึ้นมา ลวกแทบจะตาย นี่เป็นเพราะกรรมชั่วที่สะสมไว้เมื่อครั้งยังชาติเป็นมนุษย์โน้น จึงให้ผลเป็นทุกข์อย่างนั้น ครั้นพอเลิกจากงาน ก็กลับมาอยู่ปราสาทราชมณเฑียร กินของทิพย์อยู่สุขสบาย เพราะบุญกรรมดีสะสมไว้แต่ครั้งยังชาติเป็นมนุษย์ทั้งนั้น”
“คนในเมืองไทยนี่ ก็คงจะไปนรก กันหมดทุกคนใช่ไหม ?”
“เปล่า !... คนที่มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และศีลธรรมนั้น ไม่ได้ไป ถึงไปแล้วก็ไม่ได้ลงนรก”
“ฉะนั้น แสดงว่า คนในเมืองไทยนี้ ไม่ว่าอยู่ใกล้หรือไกล เมื่อตายแล้ว พวกท่านไปนำเขามาทั้งหมด ใช่หรือไม่ ?”
“ใช่ !... คนในเมืองไทยนี้ ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ทั้งนั้นมีรายชื่ออยู่ในบัญชีของจ่ายมบาลทั้งหมด เขาไปจดไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในที่ลี้ลับซับซ้อนอย่างไรก็ตามที จะโกหกพกลมไม่ได้ทั้งนั้น”
ถามเขาไปอีกว่า “นรกนั้น มีมากน้อยเท่าไหร่ ?”
เขาก็ตอบว่า “เฉพาะในเมืองไทยนี่ก็มีหลายขุม ๔ ภาค ก็คงจะ ๔ ขุมใหญ่ ๆ นั่นแหละ”
อาตมาก็เคยเห็นใน มหาวิบากสูตร และใน พระมาลัยสูตร กล่าวว่า นรกในโลกมนุษย์นี้มีทั้งหมด ๔๕๖ ขุม ทีนี้ก็เลยถามเขาต่อไปอีกว่า
“เอาเฉพาะคนในเมืองไทยนี่แหละ เพราะต่างคนต่างอวดว่า ศาสนาของตัวนั้นเป็นของดีเลิศประเสริฐแท้ ศาสนาพุทธ ก็ว่า ผู้ถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว อบายไม่ได้ไป ไฟนรกไม่ได้ไหม้ ส่วนศาสนาอื่น ๆ เขาก็ว่า ฆ่าสัตว์ไม่บาป และไปสวรรค์ได้ เมื่อทำบาปหยาบช้าทั้งหลายทั้งปวงลงไป พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์นั้นจะเป็นผู้รับแทนทั้งหมด และว่า พระผู้เป็นเจ้าบนสวรรค์เป็นผู้สร้างโลก มันจะเป็นจริงอย่างเขาว่านั้นหรือไม่ ?”
“ไม่หรอกท่าน...พูดอย่างนั้นก็เป็นเรื่องของคนหูหนวกตาบอดพูด พูดหลอกลวงโลก และคนอื่นให้หลงตามกันเท่านั้น เพราะเมื่อทำความชั่วลงไปแล้ว ก็ต้องได้รับผลของความชั่วนั้น และเมื่อทำความดีลงไปแล้ว ก็ต้องได้รับผลของความดีนั้น เรื่องของกรรมดีหรือบุญนั้น จะส่งผลให้เห็นว่า ทางไปมนุษย์และสวรรค์นั้น สะอาดเตียนดี เหมือนกับเขาถางไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องของบาปหรือกรรมชั่วนั้น จะส่งผลให้เห็นว่า ทางไปนรกนั้น สะอาด เตียนดี เปลวไฟในในนรกที่ลุกรุ่งโรจน์ ก็สำคัญว่าเป็นกองดอกไม้ สัตว์ร้องครางร้องไห้คร่ำครวญเลือดอาบตัวอยู่ ก็สำคัญว่า เป็นสายสร้อยสังวาลสนุกสนาน นั่นก็เพราะบาปกรรมทำให้เห็นเป็นอย่างนั้น ส่วนทางไปมนุษย์หรือไปสวรรค์นั้น กลับมองเห็นเป็นป่ารกชัฏ เป็นขวากหนาม นั่นแหละเรื่องของบาป”
ได้ซักถามเขาต่อไปอีกว่า “สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ ต่างศาสนากัน เมื่อตายไป และถูกท่านนำไปสู่เมืองนรกแล้ว ทำอย่างไรต่อไป ?”
เขาตอบว่า “เมื่อถึงสถานที่นั้นแล้ว จ่ายมบาล จะถามว่า เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทำกิจการงานใดเลี้ยงชีพ บางคนก็ตอบว่า ค้าขาย บ้างก็ว่า ทำไร่ ทำนา บ้างก็ว่า รับราชการ ต่าง ๆ กันไป”
จากนั้น จ่ายมบาลจะถามต่อไปว่า “นับถือศาสนาอะไร ?” บางพวกก็ตอบว่า ศาสนาพุทธ บางพวกก็ว่า ศาสนาคริสต์ อิสลาม สิกข์ และฮินดู แตกต่างกันไป
ทีนี้ จ่ายมบาลจะถามถึง เทวทูตทั้ง ๕ (ทูตะ แปลว่า เครื่องส่ง เครื่องรับรอง) คือ ๑. ชาติ ความเกิด ๒. ชรา ความแก่ ๓. พยาธิ ความปวดไข้ ๔. มรณะ ความตาย และ ๕. นักโทษในเรือนจำ นั้น ท่านพิจารณาเห็นเป็นอย่างไร โดยถามไปทีละศาสนา ตอนแรกก็ถามศาสนาพุทธก่อน
ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธทั้งหญิงชาย ก็ตอบว่า “เป็นทุกข์” ทั้งนี้เพราะอำนาจของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้น ฝังอยู่ที่ใจของเขา จึงดลบันดาลจิตใจให้เป็นปราชญ์ฉลาดรู้สิ่งทั้งปวงนั้น โดยไม่เก้อเขิน ไม่เดือดร้อนอาทรใจ องอาจกล้าหาญชาญชัยอย่างนั้น
ต่อจากนั้น จ่ายมบาล ก็จะถามอีกว่า “วัตร ๖ กก ๕ และสีมาทั้ง ๘ นั้นเป็นอย่างไร ตลอดจนหลักของพุทธศาสนาอื่น ๆ อีก เช่น วัตร ๓ วัตร ๔ วัตร ๕ วัตร ๖ โพชฌงค์ ๗ สมถวิปัสสนากรรมฐาน และ ศีล สมาธิ ปัญญา นั้น ท่านพิจารณาเห็นเป็นอย่างไร
ด้วยอำนาจของ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ฝังอยู่ในใจ ของผู้ที่นับถือ ศาสนาพุทธ เขาก็ตอบได้ว่า
“วัตร ๓ คือ พุทโธ ธัมโม สังโฆ”
“วัตร ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา”
“วัตร ๓ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา”
“วัตร ๓ คือ กาย (กายสุจริต) วาจา (วาจาสุจริต) ใจ (มโนสุจริต)”
“วัตร ๔ คือ อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย สิโรธ มรรค”
“วัตร ๕ คือ อินทรีย์ ๕ ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา”
“กก ๕ คือ หัว ๑ แขน ๒ ขา ๒”
“กก ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ”
ศาสนาพุทธสอนว่า เป็น อนิจจตา ไม่เที่ยง ทุกขตา ก็เป็นทุกข์ อนัตตา ก็ไม่ใช่เขา ไม่ใช่เรา
วัตร ๖ คือ อินทรีย์ ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ศาสนาพุทธสอนว่า ให้สำรวมให้ดี ตา เห็นรูป หู ฟังเสียง จมูก ดมกลิ่น ลิ้น ลิ้มรส เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม กาย จับต้องสัมผัส เย็นร้อน อ่อน แข้ง มโน น้อมนึกในธรรมารมณ์นั้น ๆ ศาสนาพุทธสอนให้สำรวมให้ดี ไม่ให้ยินดียินร้ายในของเหล่านั้น ถ้ายินดียินร้าย ก็เป็นเหตุให้ใจเศร้าหมอง เป็นทุกข์
วัตร ๗ คือ โพชฌงค์ ๗ เป็นองค์เครื่องตรัสรู้ ได้แก่ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ และ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
วัตร ๗ คือ อริยทรัพย์ ๗ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ และ ปัญญา
สีมา ๘ คือ มรรค ๘ เป็นเครื่องดำเนินให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ มรรค ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปโป ความดำริชอบ สัมมาวาจา กล่าววาจาชอบ สัมมากัมมันโต การงานชอบ สัมมาอาชีโว เลี้ยงชีวิตชอบเพียรละบาป บำเพ็ญบุญชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ และ สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ มรรค ๘ เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ผู้ใดดำเนินตาม จะนำให้ถึงซึ่งความดับทุกข์ ไปถึงปรมัตถสุข คือ พระนิพพานเป็นที่แล้ว
สมถวิปัสสนากรรมฐาน เป็นที่ตั้งสำหรับฝึกกาย และจิต ให้จิตมีสติ มีปัญญา ให้นำจิตเข้าสู่ความสงบได้ และเป็นเครื่องกลั่นกรองกิเลสทั้งหมดออกจากดวงจิตได้
นั่นแหละ ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ เขาก็ตอบได้ถูกต้องทุกอย่าง จากนั้น จ่ายมบาลจึงว่า
พวกท่านเป็นนักปราชญ์ลาดรู้ รู้จักศาสนาที่ดี เป็นศาสนาที่ล้างบาป เป็นศาสนาที่กลั่นกรองกิเลส เป็นศาสนาที่บำเพ็ญบุญกุศล คุณงามความดีให้เกิดมีขึ้น เป็นศาสนาที่ป้องกันโลก คือหมู่สัตว์ไม่ให้ไปอบาย ถึงไปก็ไม่ได้เสวยทุกขวิบากในอบายนั้น ฉะนั้น พวกท่านจึงไม่ต้องตกนรก แต่จะได้กลับไปเกิดในเมืองมนุษย์อีก”
นี่แหละ เพราะอำนาจของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และศีลธรรมที่ได้ประพฤตินั้นติดตามรักษาอยู่เป็นนิจ จึงสมกับคำกล่าวที่ว่า
ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ ผู้ประพฤติธรรม ธรรมย่อมรักษา ไม่ให้ตกไปในโบกที่ชั่ว
ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ ธรรมที่ประพฤติดีแล้ว อบายไม่ได้ไป ไฟนรกไม่ได้ไหม้ จะมีแต่สุคติเป็นที่ไปล้วน ๆ
จากนั้น จ่ายมบาล ก็สั่งให้นายนิริยบาล นำผู้ที่นับถือศาสนาพุทธนั้นกลับไปเกิดยังเมืองมนุษย์อีก
ต่อมา จ่ายมบาล ก็หันมาซักถามผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ๆ ว่า “ศาสนาของท่านสอนอย่างไร ?”
ผู้ที่นับถือศาสนาอื่นนั้นก็ตอบว่า “ไม่รู้”
จ่ายมบาล ก็ถามเรื่อง วัตร ๖ กก ๕ สีมาทั้ง ๘ และหลักพระพุทธศาสนาทั้งหมด ก็ตอบเขาไม่ได้ ดังนั้น จ่ายมบาล จึงว่า
“พวกท่านทั้งหลาย จะถูกหรือผิดก็เป็นเรื่องของพวกท่านนะ วันนี้จะได้ลงนรกแล้ว เพราะกรรมของพวกท่านทำเอง”
อตฺตนา ว กตํ ปาปํ อตฺตนา สงฺกิลิสฺสติ
อตฺตนา อกตํ ปาปํ อตฺตนา ว วิสุชฺฌติ
ทำบาปเองย่อมเศร้าหมองเองนะ ไม่ทำบาปเองย่อมหมดจดเอง ความหมดจดและความเศร้าหมองเป็นของเฉพาะตน คนอื่นยังคนอื่นให้หมดจดและเศร้าหมองหาได้ไม่ ฉะนั้น บุญก็ดี บาปก็ดี ตนของตนเองนะ เป็นผู้สะสมใส่ตนไว้ เมื่อสะสมใส่ตนไว้แล้วนั่น บุญนั่นแหละจะนำพาไปสู่สุคติ คือ สวรรค์ ส่วนบาปนั้น จะพาดวงจิตของโลก คือหมู่สัตว์ไปสู่ทุคติ มีอบายภูมิเป็นที่ไปเบื้องหน้า คือ นรก เปรต อสุรกาย และสัตว์เดรัจฉาน ๔ สถานนี้ เป็นที่ไปของบุคคลผู้ทำบาป ไม่มีศีล ไม่มีธรรม
ฉะนั้น พวกท่านวันนี้จะได้ลงนรกแน่นอน ไม่ได้กลับเมืองมนุษย์แล้ว เพราะเครื่องรับรองป้องกัน คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีในหัวใจของพวกท่าน ศีลธรรมคำสอนของนักปราชญ์ผู้ดีทั้งหลาย ไม่มีในหัวใจของท่าน พวกท่านเป็นโมฆมนุษย์ เพราะเมื่อไปเกิดเป็นมนุษย์ ก็ไปพบกับคนพาลสันดานหยาบ ชักนำให้ทำความชั่วช้าลามาก ถือศาสนาผิด ศาสนามหาโจรใหญ่ นั่นแหละ หลอกลวงตนและบุคคลอื่น ทำความชั่วอยู่เป็นนิจ เพราะครูผู้สอนนั้น ก็ล้วนแต่เป็นคนมีกิเลสทั้งนั้น
“เอ้า นายนิริยบาล คุมตัวไปลงนรก”
นายนิริยบาล ก็ขับลงนรกหมดเสียสิ้น เป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้านดวงวิญญาณของโลก คือหมู่สัตว์ไปอยู่ในสถานที่นั้น นั่นแหละ พวกที่นับถือศาสนาอื่น ๆ ที่ทำบาปหยาบช้า ก็ลงนรกหมดเสียสิ้น ไม่ได้กลับมาเมืองมนุษย์อีก หมดเพียงแค่นั้น
นั่นแหละ ไปเสวยวิบากอยู่ในนรกขุมนั้นนานเท่าใด ก็แล้วแต่กรรมของสัตว์นั้นว่ามีมากน้อยเพียงใด บางจำพวกก็พันปี บางจำพวกก็หมื่นปี บางจำพวกก็แสนปี ถูกต้มด้วยน้ำร้อนและถูกสังหารด้วยหอกด้ามกล้าพร้าด้ามคม ของนายนิริยบาล เป็นทุกข์ไปจนกว่าจะพ้นจากสถานที่นั้น
เมื่อพ้นจากนรกแล้วไปไหนอีก
พ้นจากนรกก็ไปเป็นเปรต พ้นจากเปรตแล้วไปเป็นอสุรกาย พ้นจากอสุรกายแล้วไปเป็นสัตว์เดรัจฉานต่าง ๆ นานา ท่องเที่ยวเกิดดับในภพน้อยภพใหญ่ ใช้กรรมใช้เวรอยู่อย่างนั้น ไม่มีวันจบสิ้นได้ เป็นทุกข์ยากลำบากเข็ญใจ ไร้ทรัพย์อับปัญญา เพราะความดีไม่มี
นั่นแหละ นายนิริยบาล ได้เล่าเรื่องเมืองนรกให้ฟังอย่างนั้น และก่อนจะจากไป เขาก็บอกว่า
“ท่านอาจารย์บวชในศาสนาแล้ว ก็จงไปเทศน์แนะนำพร่ำสอนพี่ป้าน้าอาทั้งหลาย ให้เขาทั้งหลายเอาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งเด๊อ บำเพ็ญ ทาน ศีล ภาวนา อย่าได้ลดละ พิจารณาธาตุขันธ์ว่าเป็น ของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่เสมอ จิตใจนั้นจึงจะเกิดความเบื่อหน่าย ไม่ยินดีในโลกสงสารอีกต่อไป จิตใจนั้น จะเห็นว่าธาตุขันธ์ไม่พอกับความต้องการ ไม่นานก็จะพลัดพรากจากกันไปเท่านั้น แล้วให้เร่งรีบ ตุริตะ ตุริตัง สีฆะสีฆัง รีบด่วน เร็วพลัน อย่าผัดวันประกันพรุ่ง รีบสะสมแต่บุญกุศล ทาน ศีล ภาวนา เดินจงกรม ยืนภาวนา นั่งสมาธิ กอบโกย เอาบุญกุศลใส่ตนไว้ อันนั้นแหละ เป็นของดีเลิศประเสริฐแท้”
“สำหรับผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ แม้เพียงน้อยนิดถึงไปแล้วก็ไม่ได้ตกนรก ส่วนผู้ที่นับถือมากนั้น ไม่ได้ไปนรก เพราะรายชื่อในบัญชีของ จ่ายมบาล ก็ถูกลบออกไปหมด เมื่อตายแล้ว เขาเหล่านั้นมีสวรรค์และพรหมโลกเป็นที่ไปเบื้องหน้า สำหรับผู้บุญพาวาสนาส่ง สะสมบุญกุศลไว้มาก ตั้งแต่ชาติปางก่อนโน้น และมาชาตินี้ ได้ประสบพบปะกับนักปราชญ์ชาติเมธี ใจดีมีศีลธรรม แล้วก็ประพฤติวัตรปฏิบัติบำเพ็ญสมถะวิปัสสนากรรมฐาน ยังจิตใจเข้าสู่อุปจารธรรมได้ และวิปัสสนาญาณก็เกิดขึ้น พิจารณาเห็นทุกข์ในภพน้อยภพใหญ่ ก็ล้วนมีแต่ตาย ตายแล้วก็เปื่อยเน่าสาบสูญ ไม่มีอะไรเป็นเขาเป็นเรา นั่นแหละ ก็รื้อถอนกิเลสออกจากดวงจิต หมดเหตุหมดปัจจัยเมื่อไร ก็จะได้บรรลุวิมุตติวิโมกขธรรมอันยิ่งใหญ่ ได้ชื่อว่าเป็น นิยโตมนุษย์ เป็นมนุษย์อันเยี่ยมเลิศประเสริฐแท้ เมื่อพวกเขาเหล่านั้นดับขันธ์แล้ว เข้าสู่พระนิพพาน พ้นทุกข์จากโลกสงสาร ไม่กลับมาเวียนเกิด เวียนตายอีก หมดเพียงแค่นั้น”
จากนั้นพวกนายนิริยบาลก็ลาจากไป
ต่อมาไม่นาน มีหญิงสาวคนหนึ่งเดินออกมาจากบ้านเฉลียงลับ มาถึงก็กราบแล้วพูดว่า “ท่านอาจารย์ ดิฉันหมดเกษียณภพชาติมนุษย์ จะได้ไปสู่เมืองนรก ใจร้อนเหมือนไฟ ขออนุโมทนาส่วนบุญกับท่านบ้างเถอะ”
ก็เลยอุทิศส่วนบุญให้ว่า “แม่หนูน้อย จงตั้งใจรับส่วนบุญกับหลวงพ่อนะ บุญกุศลที่ได้บำเพ็ญมา ขอแบ่งครึ่งให้นะ แม่หนูน้อย จงรับเอาไปเถิด”
“สาธุ ! ...” แล้วเขาก็ว่า
“ใจร้อน ๆ เมื่อได้รับส่วนบุญจากหลวงพ่อแล้วใจก็เย็นสบายดี จะไปตกนรกไหมหนอ ?”
“ไม่ตกหรอก แม่หนูน้อย จงบริกรรม พุทโธ ธัมโม สังโฆ ไปเสมอนะ อย่าได้ลดละ อย่าได้ประมาท เมื่อไปถึงนรกแล้ว จ่ายมบาล เขาจะซักไซ้ไต่ถามเรื่องเทวทูต ๕ นะ และอำนาจของ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ที่ฝังอยู่ที่ใจของแม่หนูน้อยนั้น จะตอบได้โดยเร็วพลัน สมบัติทั้งหลายทั้งปวงนั้นก็เกิดขึ้นจากพุทโธ ธัมโม สังโฆ ทั้งนั้น”
เขาก็ว่า “เจ้าค่ะ” จากนั้นก็กราบ ๓ ที แล้วขอลาออกเดินทางตามนายนิริยบาลไป
ก็จดจำ รูปร่างลักษณะของแม่หนูน้อยคนนั้นไว้ เป็นคนผิวขาว ไว้ผมยาว ใบหน้ารูปใบโพธิ์ สวมเสื้อผ้ากลางเก่ากลางใหม่ มีผ้าขาวเฉลียงบ่า นุ่งผ้าซิ่นมีลวดลายที่ปลายทั้งสอง
ขณะนั้นเป็นเวลาตี ๓ กว่าแล้ว จิตก็เลยถอน เมื่อจิตถอนออกแล้ว ได้ยินเสียงร้องไห้มาจากบ้านเฉลียงลับ วัดกับบ้านอยู่ไม่ไกลกันนะ
พอตื่นเช้า ก็ออกภิกขาจารบิณฑบาต พอกลับมาถึงวัด ก็มีโยมทายกนำอาหารมาถวาย แล้วก็พูดว่า
“ท่านอาจารย์ เมื่อคืนนี้ ลูกสาวของข้าพเจ้าขาดใจตายแล้ว เมื่อตอนตี ๓”
ตอนที่หญิงสาวไปหาในนิมิตนั้น ก็เป็นเวลาตี ๓ พอดี ถูกต้องตรงกันนะ ก็เลยพูดกับโยมไปว่า
“อาตมาเพิ่งมาอยู่ใหม่ ไม่เคยพบเห็นลูกสาวของโยม แต่ก็จะแถลงไขให้ทราบ ลูกของโยมคนนั้น หมดเกษียณภพชาติเพียงแค่นั้น เพราะบุญเก่าเขาเอามาน้อย มีนายนิริยบาล ๘ คน มาเอาตัวไป พวกนายนิริยบาลก็มาสนทนากับอาตมาอยู่ที่วัดนี่แหละ เขาบอกว่า หญิงสาว อายุ ๑๖ ปี หมดเกษียณภพชาติเพียงแค่นั้น ทีนี้ลูกสาวของโยมเป็นคนผิวขาว ไว้ผมยาว ใบหน้ารูปใบโพธิ์ สวมเสื้อกลางเก่ากลางใหม่ มีผ้าเฉลียงบ่า นุ่งผ้าซิ่นมีลายคล้ายงูเหลือม ใช่ไหม ?”
“ใช่แล้ว...ไม่ผิดหรอก”
“ลูกของโยมเป็นคนมีกิริยามารยาทเรียบร้อย ท่าทางเป็นนักปราชญ์ ใช่ไหม?”
“ใช่แล้ว...ลูกของข้าพเจ้า เมื่อเกิดมาพอรู้เดียงสา ถ้าไม่ได้ทำบุญแล้ว จะไม่ยอมไปโรงเรียน ไม่ว่าจะมีงานบุญบวช บุญกฐิน หรือบุญอะไรที่ไหน ใกล้หรือไกล ที่บ้านน้อยเมืองใหญ่ เป็นต้องไปร่วมทั้งนั้น บางทีก็ไปนานเป็น ๑๐ วัน ๒๐ วัน แล้วกลับมาด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม แจ่มใส พ่อแม่ก็ไม่ว่าไร เคยถามเขาว่า ทำไมจึงทำอย่างนี้ ?”
ลูกก็ตอบว่า “พ่อแม่ นี้เป็นสมบัติเบื้องหน้า สมบัติข้าวของเงินทองก็เป็นสมบัติมาหาได้ใหม่ ไม่ใช่เป็นสมบัติติดตามมาแต่ภพชาติปางก่อนโน้น ภพชาติปางก่อนโน้นของฉันเป็นเหตุ ถ้าฉันดีแล้ว อะไรก็ดีหมด พ่อแม่ก็ดี ถ้าฉันชั่วแล้ว อะไรก็ชั่วหมดทั้งนั้น ฉะนั้นฉันจึงไม่หวั่นไหว เห็นว่าบุญกุศลให้ผลเป็นสุข พาให้พ้นทุกข์ นั่นแหละ จะส่งผลมาให้ได้พ่อแม่ที่ดี ไม่อดไม่อยาก ไม่ยากไม่จน เพราะกรรมดีของฉันสะสมไว้แต่ปางก่อนโน้น มาชาตินี้ จึงมาได้พ่อแม่ที่ดี ส่วนสมบัติข้าวของเงินทองก็เป็นสมบัติมาหาได้ใหม่ ไม่นานก็จะจากกันไปเท่านั้น เมื่อจากกันแล้วก็ทอดทิ้งไว้ เอาไปด้วยไม่ได้ ทั้งสมบัติภายในและสมบัติภายนอก”
นั่นแหละ พอฉันเช้าเสร็จแล้ว เขานิมนต์ไปทำพิธีเผาศพลูกสาวที่ป่าช้า ไปแต่เช้าเลยนะ ถามเขาว่า
“ทำไมจึงรีบเผาแต่เช้า ?”
เขาก็ว่า “ต้องรีบปลงภาระหนัก เจ้าของร่างเขาปลงภาระหนักไปแล้ว เราผู้ยังอยู่ ก็ต้องรีบปลงภาระหนัก เมื่อเสร็จแล้ว ต่างคนต่างหมดภาระหนัก”
เมื่อไปถึงป่าช้า เปิดฝาโลงดู ก็เห็นศพมีรูปร่างเหมือนอย่างที่เขาไปหาในนิมิต เมื่อคืนนั่นแหละ พอทำกิจพิธีทุกอย่างเสร็จแล้ว ก็เผาทิ้ง ไม่มีอะไร หมดเพียงแค่นั้น นั่นแหละ ดีหรือชั่ว ก็หมดเพียงแค่นั้น ถูกไฟเผาแล้วก็หมดทุกอย่าง
นี่แหละ ไปเห็นเป็นอย่างนั้น ก็น่าอัศจรรย์ใจนะ เห็นว่านรกนั้นมีแท้แน่นอน เพราะได้เห็นทูตานุทูต คือ นายนิริยบาล เป็นผู้ส่งข่าวสารให้ทราบ พร้อมทั้งมีคนตายให้เห็นเป็นพยานอีก ก็สิ้นสงสัย…
ที่มา dharma-gateway.com