คุณยายทวดนักเรียนนอกคนแรกของประเทศไทย
จากหนังสือ “ประวัติการแพทย์มิชชันนารี่ในประเทศไทย” ทำให้ได้ทราบว่าในอดีตก็เคยมีผู้หญิงไทยได้ไปเรียนเมืองนอกเมืองนากันมาแล้ว ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)
ในขณะนั้น มิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการแพทย์รวมอยู่ด้วย ได้ทำการรักษาคนไข้ จ่ายยา และแจกพระคัมภีร์ไปในคราวเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้ชาวบ้านได้เกิดความสนใจและหันมานับถือคริสต์ศาสนาตามอย่างตน คนไทยนิยมเรียกมิชชันนารีกลุ่มนี้ว่า
“หมอสอนศาสนา” ดังนั้น ที่เป็นหมอจริงๆ ก็มี เช่น แดน บีช บรัดเลย์ หรือหมอบรัดเลย์ ที่เราคุ้นเคยชื่อนี้อยู่จนทุกวันนี้ แดน บีช บรัดเลย์ เป็นชาวเมืองมาร์เซลลัส (Marcellus) สำเร็จวิชาการแพทย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้เข้ามาทำงานกับคณะหมอสอนศาสนาสมัยรัชกาลที่ 3 และได้เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2416 ในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือมิชชันนารีกลุ่มนี้ที่ไม่ได้เป็นหมอแต่คนไทยก็เรียกว่าหมอ เช่น หมอสมิธ
หมอแมททูน เป็นต้น
เกริ่นนำเรื่องมาเสียเนิ่นนาน กิมเล้ง กำลังจะบอกว่า ศาสนาจารย์แมททูนหรือมัตตูน ผู้นี้เองที่เป็นผู้นำเด็กหญิงไทยคนหนึ่งให้ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาที่อเมริกา ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ศาสนาจารย์แมททูนได้ตั้งชื่อเด็กหญิงคนนี้ว่า
“แอสเทอร์” คนไทยเรียกแบบไทย ๆ ว่า
“นางเต๋อ” เพราะชื่อ “แอสเทอร์” เป็นชื่อฝรั่ง ออกเสียงยาก
นางเต๋อ จึงนับเป็นสตรีไทยคนแรกที่มีหลักฐานปรากฎว่าเดินทางไปอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2401 แม่เต๋อ หรือนามเดิม "รอด" เกิดในสกุลพราหมณ์ เมื่อปีมะโรง ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2387 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 บิดาเป็นพราหมณ์มาจาก ลังกา มีอาชีพเป็นโหร มารดาเป็นชาวสวน นามบิดาและมารดาของแม่เต๋อไม่ปรากฏ ในปี พ.ศ. 2396 เมื่ออายุ 9 ขวบ บิดากลับลังกา และตกลงเลิกร้างกับภรรยา ก่อนกลับได้นำบุตรีไปฝากกับหมอและแหม่มแมททูนหรือมัตตูน (Rev. & Mrs.Stevens Mattoon) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ซึ่งท่านได้เปลี่ยนชื่อ "รอด" เป็น "เอสเตอร์" (Esther) หรือ "เต๋อ" ในปี พ.ศ.2401 แหม่มมัตตูน เดินทางไปเยี่ยมญาติที่อเมริกาได้พาท่านซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 14 ปี เดินทางไปด้วย
เด็กหญิงไทยคนนี้ได้ศึกษาวิชาพยาบาลผดุงครรภ์เป็นเวลา 3 ปี จนมีความรู้ความชำนาญเป็นอย่างดี จึงเดินทางกลับประเทศไทย ดังนั้น แอสเทอร์จึงได้ชื่อว่าเป็นพยาบาลผดุงครรภ์แผนปัจจุบันคนแรกของประเทศ แอสเทอร์หรือนางเต๋อได้รับเชิญให้ไปทำการคลอดบุตรและทำการพยาบาลตามวังเจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์เป็นประจำ
สมเด็จกรมพระบาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเขียนในคำนำหนังสือแจกงานฉลองอายุ 84 ปี ของท่านว่า เป็นผู้มารักษาพยาบาลพระโอรสธิดาและพระนัดดาคลอด มาจนหมดเรี่ยวแรง
นอกจากนั้น นางเต๋อยังได้เป็นผู้ถวายการอภิบาลแด่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ด้วย
นางเต๋อ เป็นต้นตระกูล “ประทีปะเสน” ซึ่งเป็นตระกูลที่มีชื่อเสียงตระกูลหนึ่งในเวลานี้ นางเป็นคนมีอายุยืนคนหนึ่ง และได้มีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 85 ปี จึงได้ถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2472
ที่มา: เทพชู ทับทอง. “กรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ 200 ปี” กรุงเทพ. เอนก นาวิกมูล. "แรกหญิงไทยไปเมืองนอก : เต๋อ ประทีปะเสน," แรกมีในสยาม 4. กรุงเทพฯ : แสงแดด, 2541. หน้า 107 . วีกิพีเดีย(Wikipedia®) สารานุกรมเสรี