[ สุขใจ ดอท คอม บ้านหลังเล็กอันแสนอบอุ่น ] ธรรมะ พุทธประวัติ ฟังธรรม ดูหนัง ฟังเพลง เกมส์ เบาสมอง ดูดวง สุขภาพ สารพันความรู้
22 ธันวาคม 2567 13:57:29 *
ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้ รหัสผ่าน และระยะเวลาในเซสชั่น
 
  หน้าแรก   เวบบอร์ด   ช่วยเหลือ ห้องเกม ปฏิทิน Tags เข้าสู่ระบบ สมัครสมาชิก ห้องสนทนา  
บุคคลทั่วไป, คุณถูกห้ามตั้งกระทู้หรือส่งข้อความส่วนตัวในฟอรั่มนี้
Fuck Advertise !!

หน้า: [1]   ลงล่าง
  พิมพ์  
ผู้เขียน หัวข้อ: พระธรรมปาโมกข์รูปที่ ๖ : สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)  (อ่าน 3834 ครั้ง)
0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
Kimleng
'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น อะไรที่ชอบก็บอกของนั้นดี
สุขใจ๊ สุขใจ
นักโพสท์ระดับ 14
*

คะแนนความดี: +5/-0
ออนไลน์ ออนไลน์

เพศ: หญิง
Thailand Thailand

กระทู้: 5797


'อกุศลธรรม' เป็นสิ่งเกิดขึ้นจากการตามใจคนทั้งนั้น

ระบบปฏิบัติการ:
Windows 7/Server 2008 R2 Windows 7/Server 2008 R2
เวบเบราเซอร์:
MS Internet Explorer 9.0 MS Internet Explorer 9.0


ดูรายละเอียด เว็บไซต์
« เมื่อ: 16 เมษายน 2555 13:42:31 »



พระธรรมปาโมกข์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)  วัดบรมนิวาส  กรุงเทพมหานคร


พระธรรมปาโมกข์
รูปที่ ๖
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน  ติสฺโส)

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน)  วัดบรมนิวาส  นามฉายาว่า ติสฺโส  มีนามเดิมว่า “อ้วน”  นามสกุล “แสนทวีสุข”  เป็นบุตรเพี้ยเมืองกลาง (เคน  แสนทวีสุข)  โยมมารดาชื่อบุตสี  แสนทวีสุข  เกิดในรัชกาลที่ ๔  เมื่อ ณ วันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๑๓ ค่ำ ปีเถาะ  จุลศักราช ๑๒๒๙  หรือตรงกับวันที่ ๒๑ มีนาคม  พุทธศักราช ๒๔๑๐  ณ บ้านหนองแคน  แต่โบราณเรียกว่าดอนมดแดง  แขวงจังหวัดอุบลราชธานี

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่านเคยเล่าชีวิตเมื่อเยาว์วัยให้มหาไชย จันสุตะ ฟังว่า เมื่อยังเด็กท่านชอบมีเพื่อนฝูงมาก เพื่อนฝูงทั้งหลายมักตั้งท่านให้เป็นหัวหน้า และเมื่อท่านทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแล้ว เพื่อนฝูงจะเชื่อฟัง ท่านจัด ท่านแบ่งอะไรทุกคนพอใจ ไม่เคยโต้แย้ง ท่านมีแววของความเป็นผู้นำมาตั้งแต่วัยเยาว์ทีเดียว    นอกจากลักษณะของความเป็นผู้นำแล้ว สมเด็จฯ  ยังสนใจในทางพระพุทธศาสนา  ในวัยเด็กท่านจะช่วยโยมมารดาทำบุญตักบาตรทุกๆ เช้าที่หน้าบ้านเสมอ

ในรัชกาลที่ ๕  เมื่ออายุ 19 ปี  บรรพชาเป็นสามเณร มหานิกายที่วัดสว่าง  อำเภอวารินชำราบ ใกล้กับบ้านเกิดของท่าน  แล้วไปบวชเป็นสามเณรธรรมยุติกาที่วัดศรีทอง (ปัจจุบันคือวัดศรีอุบลรัตนาราม)  ในเมืองอุบล   ครั้นอายุครบอุปสมบทได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดศรีทอง เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๓๒ โดยมีท่านเทวะธัมมี  (ม้าว)  ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระอุปัชฌาย์    และท่านโชติปาโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์  

เมื่ออุปสมบทแล้ว เล่าเรียนพระปริยัติธรรมอยู่ในสำนักพระอุปัชฌาย์อาจารย์ที่วัดศรีทอง ๓ พรรษา แล้วจึงเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ  มาอยู่ที่วัดพิไชยญาติการาม  เล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักพระสาสนโสภณ (อ่อน)  เมื่อยังเป็นที่พระเมธาธรรมรศบ้าง  เรียนต่อนายท้วมราชเมธีเมื่อยังเป็นเปรียญบ้าง  อาจารย์ทองบ้าง  ได้เข้าสอบความรู้ตามหลักสูตรของมหามกุฏราชวิทยาลัย  ได้ชั้นนักเรียนตรี เมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๓๗  ได้ชั้นนักเรียนเอก เทียบด้วย ๓ ประโยค เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๓๘  ได้เล่าเรียนอยู่วัดพิไชยญาติการาม ๔ พรรษา

หลังจากพระอุปัชฌาย์ท่านได้มรณภาพแล้ว   ได้ย้ายไปอยู่วัดเทพศิรินทราวาส  เล่าเรียนพระปริยัติธรรมในสำนักเจ้าคุณอาจารย์พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)       เมื่อครั้งเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ยังเป็นที่พระครูวิจิตรธรรมภาณีบ้าง  เรียนกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร)  แต่เมื่อยังเป็นเปรียญบ้าง  กับนายชูเปรียญบ้าง  ได้เข้าสอบความรู้ที่มหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๓๙ อีกครั้ง ๑  ได้ชั้นเปรียญตรี เทียบด้วย ๔ ประโยค  อยู่วัดเทพศิรินทร์ ๓ พรรษา

ย้ายมาอยู่วัดบวรนิเวศเล่าเรียนในสำนักพระยาวิจิตรธรรมปริวัตร (คำ  พรหมกสิกร)  แต่เมื่อยังบวชเป็นพระราชาคณะ ที่พระสาสนดิลกบ้าง เรียนต่อนายวันเมื่อยังบวชเป็นเปรียญอยู่บ้าง ได้เข้าสอบความรู้ที่มหามกุฏราชวิทยาลัยอีกครั้ง ๑  ได้ชั้นเปรียญโท เทียบด้วย ๕ ประโยค เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๔๒  แล้วทูลลากลับออกไปอยู่ที่วัดสุปัฏนารามในจังหวัดอุบลราชธานีต่อมา

ถึงปีมะโรง ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ ที่พระสาสนดิลก เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๗  เป็นตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานีมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕

ถึงรัชกาลที่ ๖  ทรงพระกรุณาโปรดให้มีสมณศักดิพิเศษเสมอพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔  ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๕๕ ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ ที่พระราชมุนี เมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม

และในระหว่างนี้ ทรงตั้งให้เป็นเจ้าคณะธรรมยุตสำหรับภาคอีสานอีกตำแหน่งหนึ่ง

ถึง พ.ศ. ๒๔๖๔  เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่พระเทพเมธี เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน แล้วเลื่อนขึ้นเป็นพระโพธิวงศาจารย์ เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘

มาในรัชกาลที่ ๗   เลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่พระธรรมปาโมกข์  เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒   แล้วโปรดสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ที่พระพรหมมุนีเจ้าคณะรองหนกลาง เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕  ดังสำเนาพระบรมราชโองการสถาปนาดังนี้


ประกาศสถาปนา
สมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก
มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี
พระปกเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม

ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนายุกาลเป็นอดีตภาค  ๒๔๗๕ พรรษา ปัจจุบันสมัย  มักกฎสมพัตรสร พฤศจิกายนมาส อัษฏมสุรทินภุมมวาร  โดยกาลบริจเฉท

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียมหาราชรวิวงศ อสัมภินพงศ์พีระกษัตร บุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรัตนบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสำศุทธเคราหณี จักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร มหามกุฏวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิธอุต์กฤษฏนิบุณ อดุลยกฤษฏาภินีร์หาร บูรพาธิการสุสาธิต ธันยลักษณวิจิตรเสาวภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานท สนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปริยานุรักษ  มงคลลัคนเนมาหวัย สุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษาเดชนาวุธ  วิชัยยุทธศาสตรโกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญานประดิภานสุนทร ประวรศาสโนปสดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพโพยมจร  บรมเชษฐโสทรสมมต  เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ  นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร  ศรีรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิษิกต์  สรรพทศทิควิชิตโดโชไชย  สกลมไหศวรยมหาสวามินทร  มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชันยาศรัย  พุทธาทิไตรรัตนศรณารักษ  วิศิษฏศักตอัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบุณยการ สกลไพศาลมหารัษฎราธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกรมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชดำริว่า พระธรรมปาโมกข์ เป็นผู้มีปรีชาญาณแตกฉานในพระไตรปิฎก สุตาคมสัทธรรม สำเร็จภูมิบาเรียน ๕ ประโยค ทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นพระราชาคณะตำแหน่งสามัญและเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ขึ้นไป คือ พระราชมุนี พระเทพเมธี พระโพธิวงศาจารย์ พระธรรมปาโมกข์ เป็นลำดับมา  ก็รักษาสมณาจารคุณสมบัติและขนบธรรมเนียมประเพณีราชการเรียบร้อย สมควรแก่ตำแหน่งด้วยดี มีศีลาจารวัตรน่าเลื่อมใส ขวนขวายในนานากรณียกิจเป็นหิตานุหิตคุณอเนกประการ แก่พระบวรพุทธศาสนาและอาณาจักร

ในการศึกษาพระปริยัติธรรม  พระธรรมปาโมกข์ ได้เป็นอาจารย์ผู้แรกเริ่มสอนพระปริยัติธรรม ในสำนักโรงเรียนอุบลวิทยาคม ณ วัดสุปัฏน์ จังหวัดอุบลราชธานี  ในการต่อมาโดยความอุตสาหวิริยะอันแรงกล้า ได้เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทการศึกษาภาษาบาลีและธรรมทั่วทุกนครคามนิคมชนบท ในมณฑลภูมิภาคอีสานแห่งสยามประเทศ ให้เจริญวัฒนาการเป็นลำดับมา ปรากฏมีพระภิกษุสามเณรทรงภูมิบาเรียนนักธรรมนวกะมัชฌิมะและเถรภูมิแพร่หลาย

ในการศึกษาส่วนภาษาไทย สมัยยังไม่มีเจ้าหน้าที่กระทรวงธรรมการออกไปจัดการศึกษา พระธรรมปาโมกข์ได้เป็นผู้แรกเริ่มประสิทธิ์ประสาทให้การศึกษาแก่กุลบุตรกุลธิดา  โดยจัดตั้งโรงเรียนและจัดหาครูอาจารย์มาสอน ตลอดถึงจัดการสอบไล่เองเสร็จ แม้มีเจ้าหน้าที่กระทรวงธรรมการออกไปจัดการศึกษาแล้วก็มิได้ละเมิน ยังช่วยเหลือในส่วนที่เกี่ยวถึงโดยประการต่าง ๆ  ซึ่งเป็นการอนุเคราะห์กุลบุตรกุลธิดา  ให้ได้รับการศึกษาและธรรมจริยาเป็นอย่างดียิ่ง ทั้งเป็นผู้มีอุตสาหะวิริยะเอาใจใส่ในการฝึกหัดอบรมแนะนำสั่งสอนประชาชนนิกรและบรรพชิตให้ประพฤติดำรงอยู่ในกุลศลสุจริตธรรมสมาทาน ตามสมควรแก่ภาวะ และให้จักกรณียกิจอันเป็นหน้าที่มีอาทิ คือ อบรมสั่งสอนพระภิกษุบริษัทให้ดำรงในศีลาจารวัตรอันดีงาม ตามสมควรแก่สมณสารูปแนะนำอบรมประชาชนพลเมืองให้รู้ทางประกอบอาชีพ อนามัยอารยธรรมจริยา โน้มนำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ตลอดถึงนำให้เด็กได้ทำพุทธมามกวิธีโดยพระราชนิยมสมควรแก่ภาวะวัย ทั้งได้จัดให้พระภิกษุผู้รู้ธรรมสามารถประกาศสั่งสอนอบรมธรรมจริยาแก่นักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งที่เป็นโรงเรียนรัฐบาลและโรงเรียนประชาบาล ตลอดทั้งประชาชนเพื่อให้เป็นพลเมืองดี ประจำอยู่ทั่วทุกจังหวัดทุกแขวงตำบลในมณฑลนครราชสีมา  นอกจากนี้ยังได้รจนาหนังสือต่าง ๆ อันประกอบด้วยสารประโยชน์คุณธรรม สำหรับแจกจ่ายประชาชนพลเมืองอีกเป็นอันมาก

พระธรรมปาโมกข์ ได้เป็นกรรมการสอบพระปริยัติธรรมในสนามหลวง เป็นแม่กองสอบธรรมสนามมณฑลนครราชสีมาเป็นลำดับมาจนถึงสมัยเปลี่ยนวิธีการสอบ ให้มีแม่กองแต่ผู้เดียวประจำอยู่ในพระนคร ก็ได้เป็นรองแม่กองประจำมณฑลอีก ในการบริหาร พระธรรมปาโมกข์ได้เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลอิสาณและทำการแทนเจ้าคณะมณฑล มาแต่ครั้งยังเป็นบาเรียน ต่อมาได้เป็นเจ้าคณะมณฑลและเจ้าคณะฝ่ายธรรมยุตในภาคอิสาณ ครั้นแยกมณฑลอิสานออกเป็นมณฑลร้อยเอ็ด และมณฑลอุบล ก็ได้เป็นเจ้าคณะมณฑลอุบล และรั้งตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลร้อยเอ็ด เมื่อยุบรวมมณฑลทั้งสองเข้าในมณฑลนครราชสีมาก็ได้เป็นเจ้าคณะมณฑลนั้นสืบมาจนกาลบัดนี้ อนึ่ง ในคราวที่มณฑลอุดรว่างเจ้าคณะมณฑลลง ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นผู้รักษาการตำแหน่งนั้น

พระธรรมปาโมกข์ รับภารธุระในการบริหารคณะ โดยน้ำใจอันหนักแน่นมั่นคง เห็นแก่พระพุทธศาสนา ตั้งแต่เป็นเจ้าคณะมณฑลมามิได้ลาออกลาพัก ตลอดกาลนานถึง ๒๙ ปี  ได้วางระเบียบแบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ในมณฑลภาคอิสาณ เป็นระเบียบเรียบร้อยสม่ำเสมอมาด้วยดี นอกจากนี้ยังเป็นผู้เห็นประโยชน์ของโบราณวัตถุ โบราณคดีเป็นพิเศษ ได้จัดส่งหนังสือคัมภีร์เรื่องราวต่าง ๆ และวัตถุโบราณของพื้นเมืองอิสาณ เข้ามาไว้ในพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครเป็นอันมาก

พระธรรมปาโมกข์ เป็นผู้มีปรีชาฉลาดสามารถในการเทศนาสั่งสอนด้วยญาณวิจิตรปฏิภาณให้เหมาะแก่บริษัทผู้ฟัง ถูกความต้องการแห่งศาสนาและอาณาจักร เป็นผู้มีขันติวิริยะสมรรถภาพในการบริหารคณะและนวกรรมเป็นอันดี ประกอบกรณียกิจอันเป็นหิตานุหิตคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติศาสนาอันยิ่งใหญ่ไพศาล  สมบูรณ์ด้วยสมณาจารคุณสมบัติ ถึงพร้อมด้วยศีลจารวัตรเป็นสาธุทัศนียและครุฐานียแห่งพุทธบริษัท มั่นคงในพรหมจริยวัตรปฏิบัติยั่งยืนนาน ประกอบด้วยอัตตหิตและปรหิตจริยาอเนกประการ บัดนี้ ก็เป็นผู้เจริญด้วยพรรษายุกาลวัยวุฒิ สมควรจะดำรงที่พระราชาคณะตำแหน่งเจ้าคณะรอง ในพระบวรพุทธศาสนาได้

จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสิงหนาทดำรัสสั่งให้สถาปนาพระธรรมปาโมกข์ เป็นพระราชาคณะ มัชฌิมมหาคณิศวรานุนายก มีราชทินนามตามจารึกในหิรัณยบัฏ ว่า พระพรหมมุนี ศรีวิสุทธิญาณนายก ตรีปิฏกธรรมมาลังการวิภูษิต มัชฌิมคณิศร บวรสังฆาราม ความวาสี สถิต ณ วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร พระอารามหลวง เจ้าคณะรองหนกลางมีฐานานุศักดิ์ควรตั้งฐานานุกรมได้ ๘ รูป คือ พระครูปลัดสุวัฒนพรหมจริยคุณ สมบุรณคณาธิปัติ มัชฌิมสังฆานุนายก ปิฎกธรรมรักขิต ๑ พระครูวินัยธร ๑ พระครูธรรมธร ๑ พระครูพุทธพากย์ประกาศ พระครูคู่สวด ๑ พระครูธรรมศาสนอุโฆษ พระครูคู่สวด ๑ พระครูสังฆบริหาร ๑ พระครูสมุห์ ๑ พระครูใบฎีกา ๑  

ขออาราธนาพระคุณจงรับธุระพระพุทธศาสนา เป็นภาระสั่งสอนช่วยระงับอธิกรณ์และอนุเคราะห์พระภิกษุสามเณรในคณะ และในพระอารามตามสมควรแก่กำลังและอิสสริยยศที่พระราชทานและขอจงเจริญอายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัสถิติ วุรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนา เทอญ

                                   ผู้รับพระบรมราชโองการ                                          
                                                  พระยามโนปกรณนิติธาดา
                                                  ประธานคณะกรรมการราษฎร

ถึง พ.ศ. ๒๔๘๒   ในรัชกาลที่ ๘   ทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์  เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกาย พ.ศ. ๒๔๘๒   และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสังฆนายก รูปแรก ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔
 
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)  ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๙   สิริชนมายุได้ ๘๙ ปี






รวบรวมเรียบเรียง โดย กิมเล้ง : http://www.sookjai.com
ข้อมูล
   - อังกุรปัญญานุสรณ์ : บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) , ๒๕๔๕
   - http://www.dhammajak.net











.

Share this topic on AskShare this topic on DiggShare this topic on FacebookShare this topic on GoogleShare this topic on LiveShare this topic on RedditShare this topic on TwitterShare this topic on YahooShare this topic on Google buzz

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28 เมษายน 2555 07:39:09 โดย กิมเล้ง » บันทึกการเข้า



กิมเล้ง @ สุขใจ ดอท คอม
สูตรอาหาร ทำกับข้าว เที่ยวไปทั่ว
คำค้น: พระธรรมปาโมกข์ 
หน้า: [1]   ขึ้นบน
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  


คุณ ไม่สามารถ ตั้งกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ ตอบกระทู้ได้
คุณ ไม่สามารถ แนบไฟล์ได้
คุณ ไม่สามารถ แก้ไขข้อความได้
BBCode เปิดใช้งาน
Smilies เปิดใช้งาน
[img] เปิดใช้งาน
HTML เปิดใช้งาน

Powered by MySQL Powered by PHP
Bookmark and Share

www.SookJai.com Created By Mckaforce | Sookjai.com Sitemap | CopyRight All Rights Reserved
Mckaforce Group | Sookjai Group
Best viewed with IE 7.0 , Chrome , Opera , Firefox 3.5
Compatible All OS , Resolution 1024 x 768 Or Higher
Valid XHTML 1.0! Valid CSS!
หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.418 วินาที กับ 31 คำสั่ง

Google visited last this page 16 พฤศจิกายน 2567 01:40:49