สาเหตุของเงาตะกอนวุ้นน้ำตาปกติช่องว่างภายในลูกตามีวุ้นเหมือนเยลลี่บรรจุอยู่เต็มไม่มีการเคลื่อนไหว แต่เนื่องจากการมีอายุที่มากขึ้น การมีสายตาสั้นมากๆ หรือการโดนกระแทกที่ศรีษะหรือบริเวณตา ทำให้น้ำวุ้นเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลวและตกตะกอน เงาของตะกอนอาจจะใสๆ หรือสีเทา ลอยไปลอยมาตามการไหลของน้ำวุ้นเมื่อมีการกลอกตา
อาการของตะกอนน้ำวุ้นที่มีอันตรายการที่น้ำวุ้นเปลี่ยนสภาพเป็นของเหลว เป็นปรากฎการณ์ตามปกติ ดังนั้น การมองเห็นเงาดำ 2-3 จุด ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในบางรายภาวะที่มีอาการตกตะกอนนี้ น้ำวุ้นตาจะหดตัว แยกออกจากจอประสาทตาไปพร้อมกัน บางครั้งดึงรั้งจนจอตาฉีกขาด และถ้าตำแหน่งที่ฉีกขาดตรงกับเส้นเลือดที่จอตา เลือดจะไหลเข้าไปน้ำวุ้นตาทำให้เห็นเงาดำเป็นจุดเล็กๆ จำนวนมาก ในกรณีนี้อันตรายมากเพราะจอตาอาจลอกหลุดได้ ในบางรายระหว่างที่น้ำวุ้นตากำลังดึงจอประสาทตา จะมีอาการมองเห็นไฟแลบเป็นรูปโค้งๆ (เหมือนถูกถ่ายรูปด้วยแฟลช) มักจะเห็นตอนค่อนข้างมืดในขณะกลอกตาไปทางใดทางหนึ่ง อาการเห็นไฟแลบนี้อาจจะเป็นอยู่ 2-3 วัน ถึง 6 เดือน โดยไม่มีอันตรายใดๆ
ฉะนั้น หากไม่ได้รับการตรวจตาอย่างละเอียด ก็ไม่มีโอกาสทราบได้ว่า ตะกอนน้ำวุ้นตาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยหรือไม่ ดังนั้น ถ้ามีเงาดำที่เกิดขึ้นทันทีทันใดหรือมีอาการเห็นแสงไฟแลบ ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์ทันที
วิธีการรักษาตะกอนน้ำวุ้นตาแม้ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาให้ตะกอนน้ำวุ้นตาละลายไปได้ แต่ให้เข้าใจว่า เฉพาะเงาดำที่เกิดจากการตกตะกอนตามธรรมชาติของน้ำวุ้นตานั้นไม่มีอันตรายใดๆ ต่อตา ไม่มีผลที่จะทำให้สายตามัวลง และทั่วๆ ไปจะไม่เป็นมากขึ้น นอกจากจะทำให้รำคาญ และวิตกกังวลเท่านั้น
เมื่อผู้ป่วยเข้าใจแล้วว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามวัยเช่นเดียวกับสีผมที่เปลี่ยนไป ความวิตกก็คลายลง และเกิดความเคยชินจนเงาดำค่อยๆ ลางหายไปเองจากความรู้สึก ดังนั้น จึงไม่ทำการผ่าตัดเพื่อเอาตะกอนน้ำวุ้นตาออก เพราะประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มกับการเสี่ยง
ผู้ป่วยบางรายต้องพบกับความรำคาญขณะอ่านหนังสือ เพราะเงาตะกอนน้ำวุ้นตามาบังรบกวนประสาทตา วิธีการแก้ไข คือ ให้กลอกตามองขึ้น มองลงไปรอบๆ จะทำให้น้ำวุ้นภายในลูกตาไหลวน ตะกอนก็จะเคลื่อนย้ายตำแหน่งไป ทำให้ไม่บังตา
ควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์หรือไม่? ถ้ามีเงาตะกอนน้ำวุ้นตาหรือไฟแลบผู้ป่วยที่เห็นเงาตะกอนน้ำวุ้นตาหรือไฟแลบเกิดขึ้น ประมาณร้อยละ 15 ของผู้ป่วยอาจมีความผิดปกติของจอประสาทตา คือ รูรั่ว หรือ รอยฉีกขาดเกิดขึ้นร่วมด้วย ถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที รอยนี้ก็จะลุกลามเป็นจอประสาทตาหลุดลอก ซึ่งต้องได้รับการผ่าตัดรักษา
การรักษารูรั่วหรือรอยฉีกขาดที่จอประสาทตาที่ยังไม่หลุดลอก ทำได้ง่ายโดยใช้เลเซอร์ไปอุดรอยรั่วเท่านั้นก็เพียงพอ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มองเห็นจุดลอย ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจว่า จอประสาทตาอ่อนแอและมีโอกาสเป็นรูรั่วหรือไม่ แต่ในรายที่เห็นไฟแลบและมองเห็นตะกอนจำนวนมาก ต้องรีบพบจักษุแพทย์ทันที เพราะมีอัตราเสี่ยงกับการมีรูรั่วที่จอประสาทตามากที่สุด
โรงพยาบาลจักษุรัตนิน (www.rutnin.com)
โทร 0-2639-3399 แฟกซ์ 0-2639-3311จากคอลัมน์ " รักสุขภาพ " ของหนังสือพิมพ์ คมชัดลึก ตอน โรควุ้นในลูกตาเสื่อม ซึ่งเขาได้อ้างอิงจาก fwdder.com/topic/9673