.“ตอบรสพจน์วาที ตัวเจ้านี้อหังการ
ไม่เกรงพระภูบาล ทั้งภัยพาลในอบาย
ถึงเป็นชายชาญสกา ไม่เจตนาอย่าพักหมาย
ฝ่ายเจ้าก็เลิศชาย สายสุริยวงศ์พงศ์เทวัญ
เสวยทิพยพิมานทอง ฝูงนางน้องล้วนสาวสวรรค์
ไม่ควรมาผูกพัน จะพากันตกนรกานต์..."
บทเห่เรื่อง กากี ...พระนิพนธ์ในเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร (เจ้าฟ้ากุ้ง)วัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สุสานรักต้องห้ามวัดไชยวัฒนาราม เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ไชยเชษฐสุริยวงศ์ หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า เจ้าฟ้ากุ้ง รัตนกวีแห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ฯ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา ประสูติแต่กรมหลวงอภัยนุชิต หรือพระพันวัสสาใหญ่ พระมเหสีเอกในจำนวน ๓ พระองค์ของสมเด็จพระบรมราชบิดา เมื่อปี พ.ศ.๒๒๔๘ ในแผ่นดินของพระเจ้าท้ายสระ ซึ่งเป็นพระปิตุลา (ลุง) ของพระองค์
พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นที่พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ (วังหน้าในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) เมื่อจุลศักราช ๑๑๐๓ ปีระกา ตรีศก ปี พ.ศ.๒๒๘๔ และโปรดให้สถาปนาเจ้าฟ้าหญิงนุ่ม หรือเจ้าฟ้าหญิงอินสุดาวดี พระขนิษฐภคินีร่วมพระชนนีเดียวกับพระองค์ เป็นกรมขุนยิสารเสนี เป็นที่พระอัครชายา
เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศก์ทรงเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในสมเด็จพระบรมราชชนกเกี่ยวกับงานด้านศิลปะต่าง ๆ ทรงโปรดให้เป็นแม่กองงานปฏิสังขรณ์วัดพระศรีสรรเพชญ์และวัดอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังทรงพระปรีชาสามารถในด้านวรรณกรรม ทรงเป็นกวีที่ยิ่งใหญ่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย
ผลงานด้านวรรณกรรมที่พระองค์ทรงนิพนธ์ไว้นั้นจัดเป็นวรรณกรรมอันเลอค่ายิ่ง โดยเฉพาะคำประพันธ์ประเภทกาพย์ห่อโคลงดูจะมีมากกว่างานพระนิพนธ์ชนิดอื่นๆ งานนิพนธ์ที่ยังหลงเหลือปรากฎในปัจจุบันนี้ ได้แก่ กาพย์เห่เรือ บทเห่เรื่องกากี ๓ ตอน บทเห่สังวาสและเห่ครวญอย่างละบท กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก กาพย์ห่อโคลงนิราศธารทองแดง (กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง) นันโทปนันทสูตรคำหลวง (ทรงพระนิพนธ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๙ ขณะทรงผนวช) พระมาลัยคำหลวง (ทรงพระนิพนธ์ พ.ศ.๒๒๘๐ ขณะทรงผนวช) และเพลงยาวบางบท
นอกจากพระปรีชาสามารถดังกล่าวแล้ว พระองค์ยังทรงเป็นที่รำลือถึงความเจ้าชู้ จนเป็นเหตุให้พระองค์ทรงถูกลงพระราชอาญาจนเสด็จทิวงคต เนื่องจากทรงลักลอบเข้าไปเล่นชู้กับเจ้าฟ้าสังวาลย์พระสนมเอกของสมเด็จพระราชบิดาถึงในพระบรมมหาราชวัง โดยทรงประพฤติพระองค์ดั่งพญาครุฑที่พระองค์ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่องกากี
เหตุการณ์นี้ทำให้ทรงถูกจับได้และมีพระบรมราชโองการให้ชำระความ เจ้าฟ้าสังวาลย์ยอมรับเป็นความสัตย์ จึงมีพระบรมราชโองการไปเชิญเสด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ ซึ่งขณะนั้นประชวรพระโรคสำหรับบุรุษ เป็นโรคคชราค (คุดทะราด) ครั้นกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์เสด็จมาถึง จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้พระมหาเทพเป็นผู้ชำระความ และเป็นผู้แทนพระองค์ในการลงพระราชอาญ กรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ทรงรับความเป็นสัตย์
เหตุการณ์ในการลงพระราชอาญากระทำขึ้นที่ตำหนักสองห้อง ณ พระบรมมหาราชวัง เมื่อปี พ.ศ.๒๒๙๘ ราวเดือนสิงหาคม ดังปรากฎในพระราชพงศาวดารโดยลำดับดังนี้
“.....วันแรมค่ำหนึ่ง เดือนห้า ให้เฆี่ยน ณ ริมตำหนักสองห้องได้ ๒๐ ที กรมหมื่นสุนทรเพทขึ้นไปกราบทูลว่า จุกนักให้แก้เสีย” ทรงพระกรุณาให้ริบ
“.....แรม ๒ ค่ำ เฆี่ยนอีกยกหนึ่ง ๒๐ ที”
“...แรม ๓ ค่ำ อีกยกหนึ่ง ๒๐ ที แล้วให้นาบพระบาท..”
การลงพระราชอาญายังดำเนินต่อไปมีรับสั่งให้เฆี่ยนเป็นยก ยกละ ๓๐ ที จนกว่าครบ ๒๓๐ ที เสร็จแล้วทรงโปรดฯ ให้คณะเสนาบดีและลูกขุน พิพากษาโทษลำดับต่อไป โดยทุกคนเห็นพ้องว่าการล่วงพระราชอาญาครั้งนี้ผิดต่อพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาล จึงกราบบังคมทูลให้สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ตามขัตติยราชประเพณี
พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงพิจารณาความกราบบังคมทูลก็ทรงมีพระกรุณาให้ลดโทษประหาร แต่ยังลงพระราชอาญา ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร
“ ...จึงทรงพระกรุณาตรัสขอชีวิตไว้ แต่ให้นาบพระนลาฎ กรมพระราชวังนั้นเฆี่ยนอีก ๔ ยก เป็น ๑๘๐ ก็ดับสูญสิ้นพระชนม์...”
ส่วนเจ้าฟ้าสังวาลนั้น ถูกถอนพระอิสริยยศลงเป็นไพร่แล้วลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๑ ยก ๓๐ ที และจับสนม (จองจำ) จนกว่าสิ้นชีพ แต่เจ้าฟ้าสังวาลอยู่ได้เพียง ๓ วันก็สิ้นพระชนม์
พระศพของทั้งสองพระองค์ มิได้รับการถวายพระเพลิงตามโบราณราชประเพณี เนื่องจากถูกลงพระราชอาญาจนสิ้นพระชนม์ ได้นำพระศพทั้งสองพระองค์ไปฝัง ณ วัดไชยวัฒนาราม
ในบทเห่เรื่องกากี....ปรากฏบทนางกากีได้ตอบเตือนพญาครุฑ
นัยว่า ต่างก็ทรงสุขสบายดีอยู่แล้ว หากยังขืนมีความสัมพันธ์กันต่อไป อาจนำไปสู่ความหายนะได้
ซึ่งมีความละม้ายกับพระราชประวัติจริงของกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์และเจ้าฟ้าสังวาลย์
วัดไชยวัฒนาราม หรือวัดชัยวัฒนาราม เป็นวัดตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา นอกเกาะเมืองอยุธยา มีปรางค์ประธานและปรางค์มุมอยู่บนฐานเดียวกัน พระปรางค์ประธานนำรูปแบบของพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นมาก่อสร้าง แต่ปรางค์ประธานที่วัดไชยวัฒนารามทำมุขทิศยื่นออกมามากกว่า บนยอดองค์พระปรางค์ใหญ่อาจเคยประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็ก สื่อถึงพระเจดีย์จุฬามณีบนยอดเขาพระสุเมรุ รอบพระปรางค์ใหญ่ล้อมรอบไปด้วยระเบียงคตที่เดิมนั้นมีหลังคา ภายในระเบียงคตประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่เคยลงรักปิดทองจำนวน ๑๒๐ องค์ เป็นเสมือนกำแพงเขตศักดิ์สิทธิ์ ตามแนวระเบียงคตตรงทิศทั้งแปดสร้างเมรุทิศ และ เมรุมุม (เจดีย์รอบๆพระปรางค์ใหญ่) ภายในเมรุทุกองค์ประดิษฐานพระพุทธรูป ภายในซุ้มเรือนแก้วล้วนลงรักปิดทอง ฝาเพดานทำด้วยไม้ประดับลวดลายลงรักปิดทองเช่นกัน
วัดไชยวัฒนารามเป็นวัดหลวงที่บำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ ได้รับการปฏิสังขรณ์สืบต่อมาทุกรัชสมัย เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระศพพระบรมวงศานุวงศ์เกือบทุกพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศสิ้นพระชนม์ก็ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพที่วัดนี้
ก่อนกรุงแตก พ.ศ.๒๓๑๐ วัดไชยวัฒนารามถูกแปลงเป็นค่ายตั้งรับศึก และเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยา วัดไชยวัฒนารามจึงได้ถูกปล่อยให้ทิ้งร้าง ผู้ร้ายเข้าไปลักลอบขุดหาสมบัติ เศียรพระพุทธรูปถูกตัดขโมย มีการรื้ออิฐที่พระอุโบสถ และกำแพงวัดไปขาย ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๐ กรมศิลปากรจึงได้เข้ามาอนุรักษ์ฟื้นฟูจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๔