พุทธศาสนา
ศาสนาแห่งการบังคับตัวเอง เมื่อกล่าวสรุปให้สิ้นเชิง ในแง่แห่งการกระทำ หรือ การปฏิบัติแล้ว
"พุทธศาสนาคือ ศาสนา แห่งการบังคับตัวเอง":
มิใช่ศาสนา แห่งการ อ้อนวอน พระเป็นเจ้า ผู้มีอำนาจ
หรือ เป็น ศาสนาแห่งการแลกเปลี่ยน ทำนองการค้าขาย
ทำบุญทำทาน แลกนางฟ้าในสวรรค์
หรือ อะไรทำนองนี้ แต่ประการใดเลย และเพราะ
ความที่พุทธศาสนา เป็น ศาสนา แห่ง การบังคับตัวเอง
โดยมีเหตุผล เพียงพอแก่ตนเอง จึงได้ชื่อว่า เป็น
"ศาสนาแห่ง เหตุผล" ด้วย
พุทธศาสนา คือคำสั่งสอน อันเป็นแบบฝึกหัด บังคับตนเอง
แต่ว่า ลำพังคำสั่งสอน อย่างเดียว หาใช่เป็น แก่น
หรือ เป็นตัวพุทธศาสนา อันแท้ไม่
แม้ว่า คำว่า "ศา สนา" จะแปลว่า คำสอน ก็ตาม
ตัวศาสนาแท้ หรือ ตัวพรหมจรรย์ นั้น ได้แก่
การปฏิบัติ ตามคำสั่งสอน นั้นๆ
ซึ่งเรียกโดย ภาษาศาสนาว่า
สีลสิกขา - จิตตสิกขา - ปัญญาสิกขา
พุทธมามกะ เป็นอันมาก เข้าใจว่า "สิกขา" ตรงตามรูปศัพท์เกินไป
คือ สิกขา แปลตามรูปศัพท์ ว่า การศึกษา
แต่พระพุทธองค์ ตรัสไว้ เป็นหลักว่า
การศึกษาเล่าเรียนปริยัตินั้น ไม่ใช่ สิกขา
แต่ การกระทำจริงๆ ตามหลักที่เป็นการบังคับตนเอง
ในส่วนที่เป็นความเสื่อมเสียทางกายและวาจา เรียกว่า "สีลสิกขา"
ในส่วนใจ เรียกว่า "จิตตสิกขา" และ
ในส่วนที่เกี่ยวกับ ความคิดนึก
เพื่อรู้สิ่งที่ชีวิตจะต้องรู้ เรียกว่า "ปัญญาสิกขา"
ในส่วน สีลสิกขา โดยประเภท คือ
การบังคับตน ให้ตั้ง หรือดำเนิน ไปด้วย กาย วาจา ตามกฏ
อันเป็นระเบียบ มรรยาท หรือ จรรยา
อันตนจะพึงประพฤติ ต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และ
ต่อวัตถุสิ่งของ อันเกี่ยวเนื่องกัน เป็นข้อบังคับตายตัว
ในเบื้องต้น เรียกว่า ปาฏิโมกขสังวรสีล
[มีหลายพวก เกี่ยวกับขนบธรรมเนียมของนักบวชก็มี
เกี่ยวกับ อนามัยของร่างกายก็มี เกี่ยวกับการเคารพปฏิสันถาร
ปรนนิบัติ ฯลฯ ผู้อื่น ก็มี เกี่ยวกับ การรักษาสิ่งของเครื่องใช้สอย
ของตน หรือ หมู่ ก็มี และยังมีอย่างอื่นอีก ซึ่งเป็นส่วนต้องรู้แล้วทำ
ในเบื้องต้น อนุโลมทำนองเดียวกัน ทั้งฆราวาส และบรรพชิต]
การควบคุม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ให้ กำเริบ ไปตาม
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อันเป็นโลกธรรม
เรียกว่า อินทรียสังวรสีล
การควบคุมตน ให้มีการ แสวง การรับ การบริโภคปัจจัย
เครื่องอาศัย อันจำเป็น แก่ชีวิต อย่างบริสุทธิ์ จากการ
หลอกลวงตน และผู้อื่น เรียกว่า อาชีวปาริสุทธิสีล
และ การควบคุมตน ให้มีสติระลึก เพียงเพื่อยังอัตตภาพ
ให้เป็นไปในการบริโภค ปัจจัยนั้นๆ ไม่บริโภคด้วยตัณหา
เรียกว่า ปัจจยสันนิสสิตสีล
รวมเรียกว่า ปาริสทธิศีลสี่ หรือ จตุปาริสุทธศีล
เรียก ภาวะแห่ง การกระทำจริงๆ ตามนี้ว่า สีลสิกขา
อันได้แก่ การบังคับตัวเองโดยตรง
เป็นเหมือน ถากโกลน กล่อมเกลา ในขั้นต้น
แต่ประสงค์เฉพาะส่วน ที่เป็นไป ทางกาย และวาจา เท่านั้น
ในส่วน จิตตสิกขา คือ การบังคับจิตของตน
ให้อยู่ในวงความต้องการของตน
ภายในขอบขีดของวิสัยที่บังคับได้
คือ ให้หยุดแล่นไปตามความกำหนัด พยาบาท
หรือ ไม่ให้ง่วงซึม ฟุ้งซ่าน ง่อนแง่น คลอนแคลน
รวมความว่า ฝึกจนดีพอ ที่จะต้องการ ให้หยุดคิด ก็หยุด
ให้คิดก็คิด ให้คิดเฉพาะสิ่งนี้ ก็คิดเฉพาะสิ่งนี้
ด้วยกำลังของจิตทั้งหมดอย่างเต็มที่ โดยไม่กลับกลอกแต่อย่างใด
การ พยายามฝึกจนทำได้อย่างนี้ เรียกว่า จิตตสิกขา
ซึ่งเมื่อมีแล้ว ทำจิดให้สงบอยู่ใน อำนาจได้
ต่อนั้นก็ใช้เป็น อุปกรณ์ แก่ ปัญญาสิกขา อย่างจำเป็นยิ่ง
ในส่วน ปัญญาสิกขา คือ
การควบคุมจิตที่ฝึกจนอยู่ในอำนาจแล้วนั้น
ให้คิดแล้วคิดอีก จนแทงตลอดในข้อปัญหาของชีวิต
หรือ ที่จำเป็นแก่ชีวิตโดยย่อ คือ ปัญหาที่ว่า
อะไรเป็น เหตุให้เกิดทุกข์ ทำอย่างไร จึงจะพ้นทุกข์
ทั้งนี้ เพราะเหตุว่า
สิ่งทั้งปวง รวมทั้ง ทุกข์สุขของชีวิต เป็นเรื่องของใจ
คือ ทุกข์เพราะใจปลงไม่ตก
ในสิ่งที่ตนเข้าใจผิด แล้วหลงยึดถือไว้
จะสุขได้ ก็ด้วยบังคับแนวของความคิดอย่างแรงกล้า
ให้แล่นไปอย่างรู้แจ้งแทงตลอด
จนปลงตก ในสิ่งที่ตนยึดถือ
ถึงกับรัก โกรธ เกลียด กลัว มัวเมา ฯลฯ นั้นๆ เสีย
โดยไม่มีเชื้อเหลือ เพื่อความเป็นเช่นนั้น อีกต่อไป
การพยายาม ทำจนทำได้ เช่นนี้ เรียกว่า ปัญญาสิกขา
ซึ่งมีบริบูรณ์ แล้วก็จบกิจ แห่งพรหมจรรย์
จบพรหมจรรย์ คือจบศาสนา
ไม่มีเรื่องที่จะต้องทำอีกต่อไป นอกจาก การเสวยสุข
โดยนัยนี้จะเห็นได้ว่า พุทธศาสนาคือศาสนาแห่งการบังคับตัวเอง
ถ้าหมายถึง คำสอน ก็คือ คำสอน แห่งการ บังคับตัวเอง
ถ้าหมายถึงการทำหรือการปฎิบัติ ก็คือการกระทำการบังคับตัวเอง
และเมื่อหมายถึงผลสุดท้ายคือปฏิเวธ ก็คือซึมซาบรสแห่งผลของ
การบังคับตัวเอง อันเดียวกันนั่นเอง เมื่อเรียน หรือ เมื่อทำ หรือ
เมื่อได้รับผล ของการทำ ก็มีเหตุพร้อมพอ ที่จะให้ตนเชื่อถือมั่นใจ
ตนเองได้ โดยไม่ต้องเชื่อตามคำผู้อื่น จึงเป็นการบังคับตัวเอง
อย่างมีเหตุผล ของตนเอง โดยตนเอง เพื่อตัวเอง
อย่างที่เป็นอันแน่ใจได้ว่า ไม่เป็นศาสนาแห่งความโง่เขลา
ถึงกับต้องการล่อหลอก หรือ ขู่เข็ญ อย่างใดแม้แต่น้อย
ลัทธิศาสนาบางลัทธิ หวังความช่วยเหลือจากผู้อื่น
จนไร้หลักแห่งการช่วยตนเอง ไฉนจะมีการบังคับตัวเอง
บางลัทธิ มีการบังคับตัวเอง แต่ไร้เหตุผล
เพราะเป็นเพียง การนึกเอา อย่างตื้นๆ หรือเป็นการเดา
จึงเลยเถิด เป็น อัตตกิลมถานุโยค ไปก็มี
ที่อ่อนแอ เอาแต่ความสนุกสบาย กลายเป็น
อย่างที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ก็มี
จึงแปลกกับ พุทธศาสนา ซึ่งมีหลักการบังคับตัวเอง
อย่างมีระเบียบ เรียบร้อย ชัดเจน มั่นคง
ปรากฏเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ อัฏฐังคิกมรรค
และมีเหตุผลพร้อมอยู่เสมอ เป็นอันกล่าวได้ว่า
พุทธศาสนา คือ ศาสนา แห่งการบังคับตัวเอง
ชนะตัวเอง เชื่อตัวเอง พึ่งตัวเอง ฯลฯ โดยแท้
เนื้อความเท่าที่บรรยายมาแล้วนี้ เป็นเพียงมุ่งให้ผู้อ่าน
มองเห็น จุดสำคัญ อันเป็นที่สรุปรวมใจความ ของธรรมบรรยาย
อันกว้างขวาง ลึกซึ้ง ดุจมหาสมุทร เท่านั้น คือว่า
เมื่อมีหลัก ก็ไม่ฟั่นเฝือ รู้อะไรเพิ่มเติม เข้ามาอีกเท่าไร
ก็ไม่งงเงอะ จนไม่รู้ว่าจะจำไว้ อย่างไรไหว แต่อาจสงเคราะห์
รวมเข้าชั้น เข้าเชิง ของหลักธรรม ซึ่งที่แท้ ก็มีอยู่เพียง ๓
คือ ศึล สมาธิ ปัญญา เท่านั้นเอง จึงเมื่อถ้า ยังไม่เข้าใจ
ในส่วนไหน ก็พึงศึกษา ค้นคว้า จากเนื้อความที่ได้บรรยายในที่อื่น
เฉพาะส่วนนั้น สืบไปเทอญ
พุทธทาสภิกขุ
๒๗ กันยายน ๒๔๗๘