การค้ากับการปฏิบัติธรรม
พวกกระผมมีภาระหน้าที่ในการค้าขาย
ซึ่งบางครั้งจะต้องพูดอะไรออกไปเกินความเป็นจริงบ้าง ค้ากำไรเกินควรบ้าง
แต่กระผมก็มีความสนใจและเลื่อมใสในการปฏิบัติทางสมาธิภาวนาอย่างยิ่ง
แล้วก็ได้ลงมือปฏิบัติมาบ้างแล้วโดยลำดับ
แต่บางท่านบอกว่าภาระหน้าที่อย่างผมนี้มาปฏิบัติภาวนาไม่ได้ผลหรอก
หลวงปู่เห็นว่าอย่างไรเพราะเขาว่าขายของเอากำไรก็เป็นบาปอยู่
หลวงปู่ว่า
“ เพื่อดำรงชีพอยู่ได้ ทุกคนจึงต้องมีอาชีพการงาน
และอาชีพการงานทุกสาขาย่อมมีความถูกต้อง ความเหมาะความควรอยู่ในตัวของมัน
เมื่อทำให้ถูกต้องพอเหมาะพอควรแล้ว ก็เป็นอัพยากตธรรม
ไม่เป็นบาป ไม่เป็นบุญแต่ประการใด
ส่วนการประพฤติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
เพราะผู้ประพฤติธรรมเท่านั้น ย่อมสมควรแก่การงานทุกกรณี ”
เรื่องกิน
กระผมได้ปฏิบัติทางจิตมานาน ก็พอมีความสงบอยู่บ้าง
แต่มีปัญหาทางอาหารบริโภคเนื้อสัตว์ คือ เพียงแต่เห็นก็นึกเวทนาไปถึงเจ้าของเนื้อนั้น
ว่าเขาต้องสูญเสียชีวิตเพื่อเราผู้บริโภคแท้ ๆ
คล้ายกับว่าเราผู้ปฏิบัติจะขาดเมตตาไปมาก
เมื่อเกิดความกังวลใจ เช่นนี้ ก็ทำความสงบใจได้ยาก
หลวงปู่ว่า
“ ภิกษุจะบริโภคปัจจัยสี่ต้องพิจารณาเสียก่อน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า การกินเนื้อสัตว์
คล้ายเป็นการเบียดเบียนและขาดเมตตาต่อสัตว์ ก็ให้งดเว้นการฉันเนื้อเสีย
พากันฉันอาหารเจต่อไป ”
เรื่องกินมีอีก
สมัยต่อมาประมาณสี่เดือน ภิกษุกลุ่มนั้นมากราบเรียนหลวงปู่อีกหลังจากออกพรรษาแล้ว
บอกว่าพวกกระผมฉันเจมาตลอดพรรษาด้วยความยากลำบากอย่างยิ่ง
เพราะญาติโยมแถวบ้านโคกกลาง อำเภอปราสาทนั้น ไม่มีใครรู้เรื่องอาหารเจเลย
ลำบากด้วยการแสวงหา และลำบากแก่ญาติโยมผู้อุปัฏฐาก บางรูปถึงสุขภาพไม่ดี
บางรูปเกือบไม่พ้นพรรษา การทำความเพียรก็ไม่เต็มที่เท่าที่ควร
หลวงปู่ว่า
“ ภิกษุเมื่อจะบริโภคปัจจัยสี่ต้องพิจารณาเสียก่อน ครั้นเมื่อพิจารณาแล้ว
เห็นว่าอาหารที่ตั้งอยู่เฉพาะหน้านี้แม้จะมีผักบ้างเนื้อบ้าง ปลาบ้าง ข้าวสุกบ้าง
แต่ก็เป็นของบริสุทธิ์โดยส่วนสาม คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน และเขาไม่ได้ฆ่าเพื่อเจาะจงเรา
และเราก็แสวงหามาโดยชอบธรรมแล้ว ญาติโยมเขาก็ถวายด้วยศรัทธาเลื่อมใสแล้ว
ก็พึงบริโภคอาหารนั้นไป ครูบาอาจารย์ของเราท่านก็ปฏิบัติอย่างนี้มาแล้วเหมือนกัน ”
เรื่องกินยังไม่จบ
เมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ พ.ศ. ๒๕๒๒ หลวงปู่พักอยู่ที่วัดป่าประโคนชัย
เวลา ๒ ทุ่มผ่านไปแล้ว มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง ซึ่งชอบเดินธุดงค์ไปตามที่ชุมนุมต่าง ๆ
ได้แวะเข้าไปพักที่วัดป่านั้นด้วย
หลังจากแสดงความคารวะตามสมณวิสัยแล้ว
ก็กล่าวถึงจุดเด่นที่เขายึดถือเป็นหลักปฏิบัติว่า
ผู้บริโภคเนื้อสัตว์คือผู้สนับสนุนให้คนฆ่าสัตว์ ผู้บริโภคผักมีจิตเมตตาสูง
สามารถพิสูจน์ได้ว่าเมื่อหันไปบริโภคผักแล้ว จิตใจสงบเย็นดีขึ้น
หลวงปู่ว่า
“ ดีทีเดียวแหละ ท่านผู้ใดสามารถฉันมังสวิรัติได้ก็เป็นการดีมาก ขออนุโมทนาสาธุด้วย
ส่วนท่านที่ยังฉันมังสะอยู่ หากมังสะเหล่านั้นเป็นของบริสุทธิ์โดยส่วนสาม
คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่สงสัยว่าเขาเจาะจง ได้มาด้วยความบริสุทธิ์แล้ว
ก็ไม่ผิดธรรม ผิดวินัยแต่ประการใด
อนึ่ง ที่ว่าจิตใจสงบเยือกเย็นดีนั้น
ก็เป็นผลเกิดขึ้นจากพลังของการตั้งใจปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย
ไม่เกี่ยวกับอาหารใหม่ อาหารเก่า ที่อยู่ในท้องเลย ”
อุบายคลายความยึด
เมื่อกระผมทำความสงบให้เกิดขึ้นแล้ว
ก็พยายามรักษาจิตให้ดำรงอยู่ในความสงบนั้นด้วยดี
แต่ครั้นกระทบกระทั่งกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
จิตก็มักจะสูญเสียสถานะที่พยายามธำรงไว้นั้นร่ำไป
หลวงปู่ว่า
“ ถ้าเช่นนั้น แสดงว่าสมาธิของตนเองยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ
ถ้าเป็นอารมณ์แรงกล้าเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นจุดอ่อนของเราแล้ว
ต้องแก้ด้วยวิปัสสนาวิธี จงเริ่มต้นด้วยการพิจารณาสภาวธรรมที่หยาบที่สุด คือ
กายแยกให้ละเอียด พิจารณาให้แจ่มแจ้งขยับถึงพิจารณานามธรรม อะไรก็ได้ทีละคู่
ที่เราเคยแยกพิจารณามาก็มี ความดำความขาว ความมืดความสว่าง เป็นต้น ”
จากหนังสือหลวงปู่ฝากไว้