ดูกรพราหมณ์ ก็ธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะเป็นไฉน ? ดูกรพราหมณ์ ก็ธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะเป็นไฉน?
ภิกษุในพระศาสนานี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก
มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่.
แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะ.
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวกอยู่.
แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะ.
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข.
แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะ.
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุบรรลุจตุตถฌานไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับ
โสมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่.
แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะ.
อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งรูปสัญญาโดยประการทั้งปวง เพราะปฏิฆสัญญาดับไป
เพราะไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา ภิกษุย่อมบรรลุอากาสานัญจายตนฌาน ด้วยพิจารณาว่า
อากาศหาที่สุดมิได้.
แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะ.
อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุย่อมบรรลุ
วิญญาณัญจายตนฌาน ด้วยพิจารณาว่า วิญญาณหาที่สุดมิได้.
แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะ.
อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งวิญญาณัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุย่อมบรรลุ
อากิญจัญญายตนฌาน ด้วยพิจารณาว่า น้อยหนึ่งไม่มี.
แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะ.
อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งอากิญจัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุย่อม
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน.
แม้ธรรมข้อนี้ ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะ.
อีกข้อหนึ่ง เพราะล่วงเสียซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุย่อม
บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ. เพราะเห็นด้วยปัญญาของเธอ อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไป.
แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ญาณทัสสนะ.
ดูกรพราหมณ์ ธรรมเหล่านี้แล ที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่าญาณทัสสนะ.
เปรียบเหมือนบุรุษคนนั้นที่มีความต้องการแก่น แสวงหาแก่น เที่ยวเสาะหาแก่นอยู่
เมื่อต้นไม้ใหญ่มีแก่นตั้งอยู่ ตัดเอาแก่นนั้นแหละถือไป รู้อยู่ว่าแก่น และกิจที่จะพึงทำด้วยไม้
แก่นของเขา จักสำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด.
ดูกรพราหมณ์ เราเรียกบุคคลนี้ว่า มีอุปมาฉันนั้น.
[๓๖๐]
ดูกรพราหมณ์ ดังพรรณนามาฉะนี้
พรหมจรรย์จึงมิใช่มีลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นอานิสงส์
มิใช่มีความถึงพร้อมแห่งศีลเป็นอานิสงส์
มิใช่มีความถึงพร้อมสมาธิเป็นอานิสงส์
มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์
พรหมจรรย์นี้มีเจโตวิมุติอันไม่กำเริบ เป็นประโยชน์ เป็นแก่น เป็นที่สุด.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปิงคลโกจฉพราหมณ์ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่
คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยประสงค์ว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉันใด ธรรมที่
พระองค์ทรงประกาศแล้วโดยอเนกปริยาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน. ข้าพระองค์นี้ ขอถึงพระองค์กับ
พระธรรมและภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระองค์จงทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึง
พระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.
จบ จูฬสาโรปมสูตร ที่ ๑๐
จบ โอปัมมวรรค ที่ ๓
____________________________
( ย่อมาจากพระสูตร ๑๐. จูฬสาโรปมสูตร อุปมานักบวชกับผู้แสวงหาแก่นไม้)
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๒
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
หน้าที่ ๒๖๔/๔๓๐
จากเว็บไซท์ 84000.org