สำนึกของดอกไม้ : การแสดงตน และร่ายรำในพื้นที่ว่างโพสต์โดย วัชรสิทธา
บทความโดย KONG วัชรสิทธา
ในฐานะอดีตนักเรียนศิลปะคนหนึ่งซึ่งมีความรู้ความเข้าใจทางศิลปะผ่านการเรียนในสถาบันและประสบการณ์ทางโลกศิลปะมาแบบนึง เมื่อได้มีโอกาสร่วมคลาสเรียน “ดอกไม้สื่อใจ ขั้น 1” ในเดือนกุมภา ฯ ที่ผ่านมา ชั้นเรียนดังกล่าวว่าด้วยแนวทางของศิลปะการจัดดอกไม้แบบ “อิเคบานะ” ควบคู่ทั้งทางด้านเนื้อหาทฤษฎีและการปฏิบัติ ถือเป็นการเปิดโลกทัศน์ทางศิลปะที่เคยมี ชนิดที่ว่าพลิกผันมุมมองเชิงศิลปะ-ทัศนศิลป์จากประสบการณ์ที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง
ในโลกของงานศิลปะ ตัวผลงานโดยทั่วไปมักจะมีแนวความคิด หรือข้อความที่ต้องการสื่อสารให้ผู้ชมได้รับรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในศิลปะที่เน้นการใช้ความคิดเพื่อสื่อสารทัศนคติ ความเชื่อ หรือหลักปรัชญาบางประการ ก่อนที่จะออกผลสำเร็จมาเป็นชิ้นงานจริงนั้น จำต้องผ่านการร่างแบบ คัดสรรสื่อและวัตถุดิบที่ต้องการ การคำนึงถึงหลักองค์ประกอบศิลป์ ฯ เพื่อให้สอดรับกับแนวความคิดที่ต้องการสื่อสารออกไป ซึ่งในหลายต่อหลายครั้ง ท่าทีดังกล่าวมักมีแนวโน้มของการ “ยัดเยียดความคิดของผู้สร้างสรรค์แก่ผู้ชมอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการคล้อยตามความคิดของผู้สร้างสรรค์โดยใช้งานศิลปะเป็นสื่อกลางในการรับใช้ concept ที่ต้องการส่งต่ออีกทอดหนึ่ง ผ่านความชำนิชำนาญทางการจัดการเชิงศิลปะ
ในขณะที่เริ่มศึกษาการจัดดอกไม้อิเคบานะ มีความเป็นได้อย่างใหม่เกิดขึ้นเป็นหน่ออ่อน ๆ ซึ่งเริ่มแตกยอดแทรกผ่านความเข้าใจทางศิลปะแบบเดิมออกมา ทั้งทางด้านรูปแบบการเรียนที่ถือเป็นประสบการณ์อย่างใหม่สำหรับตัวผู้เขียน เพราะเป็นการศึกษาศิลปะแขนงนึงซึ่งจัดอยู่ในหมวด tradition อันมีปูมหลังทางวัฒนธรรมมาอย่างเข้มข้น มีพัฒนาการทางด้านรูปแบบและปรัชญามาอย่างยาวนาน ทว่ายังคงสามารถแสดงสุนทรียะในแนวทางของตนได้อย่างสง่างามและเป็นสากล จุดพลิกผันสำคัญซึ่งถือเป็นกุญแจในการไขสู่ความเข้าใจปรัชญาทางศิลปะประเภทนี้คือ การเปิดนิยามต่อมุมมองของ “ความก้าวร้าว” ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่การแสดงออกที่ดูรุนแรง เช่น การใช้กำลัง หรือ อาการหัวฟัดหัวเหวี่ยง เสมอไป หากคือแนวทางที่เราตีกรอบความคิด วางแผนสิ่งต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน การตั้งจินตภาพในหัวเบ็ดเสร็จ การตัดสินล่วงหน้า ฯ ซึ่งแง่มุมต่าง ๆ ข้างต้นเหล่านี้คืออะไรที่เราไม่เคยตระหนักเลยด้วยซ้ำว่าคือ “ความก้าวร้าว” นั่นเอง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันต่างแฝงอยู่ในกระบวนการทาง “ศิลปะ”
“เส้นทางคือจุดหมาย” หน่ออ่อนดังกล่าวได้ถูกบ่มเพาะให้ค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านการศิลปะการจัดดอกไม้ โดยมีหลักสำคัญสำหรับการตั้งต้นอยู่ที่ “วินัย 14 ขั้นตอน” เพื่อผ่านเข้าสู่บานประตูของโลกศิลปะจัดดอกไม้อิเคบานะ (เช่น การดูสถานที่ การยืนภาวนา 1 นาที เพื่อปล่อยวางความคิดเกี่ยวกับการจัดดอกไม้ การพินิจดอกไม้-แจกัน ไปจนจบขั้นตอนที่การชื่นชมความงาม) การตั้งต้นที่ขั้นตอนทางวินัยดังกล่าวนี้ถือเป็นภูมิปัญญาที่ควรค่าแก่การเคารพ ทั้งนี้เพราะเราต่างก็มีสิ่งที่สั่งสมมาต่างกัน ทั้งทางด้านแบบแผนความคิด ความรู้ ประสบการณ์ และสิ่งละอันพันละน้อยต่าง ๆ ดังนั้น หลักคิดของ “วินัย 14 ขั้นตอน” นี้เองจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เราละวางสิ่งต่าง ๆ ดังว่านั้นไว้ในที่ทางของมัน ทั้งก่อน-ในขณะ-และหลังการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อช่วยส่งเสริมการแปรเปลี่ยนแบบแผนของ “ความก้าวร้าว” สู่ “ความอ่อนโยน” เพื่อลด ละ ความคิดและการคาดเดา ประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เคยมีต่อการจัดดอกไม้ การมีใจฝักใฝ่เลือกเฉพาะดอกที่เราพึงใจ การตัดสินล่วงหน้า ความคาดหวังต่อตัวงาน ความกลัวว่าจะทำไม่ได้ดี ฯลฯ ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อให้เราได้เปิดออก และสามารถกระทำการโดยสัมพันธ์กับปัจจุบันขณะในแต่ละกระบวนการอย่างเปิดกว้างโดยธรรมชาติในฐานะเส้นทาง ซึ่งก็คือจุดหมายในขณะเดียวกัน
ภาพวาดลายเส้นผลงานสาธิตหลักการ ฟ้า ดิน มนุษย์ ผลงานจัดดอกไม้โดย อ. ดิเรก ชัยชนะ
ฟ้า-ดิน-มนุษย์เมื่อผ่านการเรียน-สร้างสรรค์ผลงานผ่านพัฒนาการของอิเคบานะในหัวข้อต่าง ๆ มาพอสมควรแล้ว ในที่สุดก็มาถึงปรัชญาการจัดดอกไม้แห่งสำนัก Kalapa Ikebana ซึ่งมีวิถีทางปรัชญาที่พัฒนาขึ้นมาผ่านสายธรรมShambhala โดย ตรุงปะ รินโปเช ชัมบาลาคือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ โลกของผู้ตื่นรู้หรือสังคมอริยะที่ทุกคนต่างดำรงตนอยู่ในสังคมและสัมพันธ์กับโลกแห่งปรากฏการณ์ด้วยพุทธภาวะเดิมแท้ภายใน แนวคิดที่ว่านำมาสู่ปรัชญาทางศิลปะแบบ “ธรรมศิลป์” ซึ่งมีจุดมุ่งหมายให้ผู้สร้างสรรค์และผู้ชมเข้าถึงสภาวธรรมได้ ผ่านการทำงานศิลปะและถ่ายทอดสภาวะของ “ความดีงามพื้นฐาน” (Basic Goodness) ซึ่งมีอยู่ในตัวเราทุกคนนั้นออกมา
* เรียนรู้แนวคิด “ธรรมศิลป์” เพิ่มเติมได้ใน “รู้เห็นเป็นธรรม”
สำหรับการจัดดอกไม้อิเคบานะของสำนัก Kalapa นั้น มีหลักการสร้างสรรค์ผลงานที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่ คือ หลักการ “ฟ้า ดิน มนุษย์” โดยสามารถอธิบายคร่าว ๆ ได้ดังนี้
•ฟ้า แทน “กิ่งหลัก” (กิ่งแรก) ทำหน้าที่เป็น vision ของงาน เปิดพื้นที่ว่าง (space) หรือความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่จะถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่ว่างนับจากนี้ เปรียบได้เป็นเฟรมผ้าใบว่างเปล่า
•ดิน แทน สิ่งแรกที่ผุดขึ้นบนพื้นที่ว่าง มีเซนส์ของความ grouding ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่เชื่อมโยงลงสู่เบื้องล่างของผืนดิน เปรียบได้กับรูปร่างหรือรูปทรงที่ปรากฎบนผืนผ้าใบ
•มนุษย์ แทน สิ่งที่ตามมาหลังจาก ดิน-ฟ้า ได้ปรากฏขึ้น เป็นความรื่นรมย์ของชีวิตที่ผุดขึ้นบนโลกเพื่อเล่นล้อไปกับสองสิ่งแรก เป็นแง่มุมของการชื่นชมในความงามและการเชื่อมโยงฟ้ากับดินเข้าสู่กัน ซึ่งในศิลปะอิเคบานะ มนุษย์ก็คือ ดอกไม้ นั่นเอง
ภาวนากับร่างกายสู่ผืนดิน (Yin Breathing)สิ่งหนึ่งที่ประทับใจเป็นพิเศษสำหรับการเข้าร่วมชั้นเรียนนี้ คือ การทำ bodywork คั่นระหว่างกิจกรรม เป็นการภาวนาแบบ Yin-Breathing เพื่อเชื่อมโยงกับ “จุดหยิน” บริเวณท้องน้อย โดยเน้นการ grouding ลงสู่ผืนดิน เป็นคุณลักษณะของพลังงานสตรี และมีความเชื่อมต่อกับร่างกายส่วนล่าง ไม่เน้นความคิด (ซึ่งเป็นส่วนบน) จุดหยินนี้มีความสัมพันธ์กับ root chakra ซึ่งเชื่อมโยงกับผืนโลก ความรู้สึกได้รับการโอบอุ้บและความรู้มั่นคง โดยในการภาวนาจะค่อย ๆ ใช้ลมหายใจแตะสัมผัสกับจุดหยิน รับรู้ถึงการมีอยู่ของพลังงานส่วนนี้อย่างละเมียดละไม มากขึ้นและมากขึ้น แล้วปล่อยให้ร่างกายมีเซนส์ของการจมลงสู่พื้นดิน ลึกขึ้น ลึกขึ้น และลึกขึ้นจนไม่อาจหยั่งประมาณ สำรวจลักษณะของ Space ที่เราเข้าไปสัมพันธ์ด้วย รวมทั้งการสำรวจขอบเขตของร่างกายและลองแผ่ขยายขอบเขตนั้นออกมาทั้งในแนวดิ่งและแนวราบ แล้วพากลับมาสู่ปัจจุบันขณะที่สดใหม่ คมชัด ยิ่งขึ้น
หลังจบเซสชั่นการภาวนา bodywork นี้แล้ว รู้สึกว่าส่งผลเป็นอย่างมากต่อการที่จะปฏิบัติงานสร้างสรรค์ต่อไป เพราะเมื่อการจัดดอกไม้นับตั้งแต่ช่วงเช้าได้ผ่านไป 3-4 กระถาง แบบแผนทางความคิดจะเริ่มแทรกตัวเข้ามาโดยไม่รู้ตัว เช่น การเริ่มรู้จัก-คุ้นตาดอกไม้และกระถาง การได้เห็นงานตัวเองและเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน ความคาดหวัง การวิเคราะห์เปรียบเทียบ ฯ อันนำไปสู่การวางแผน สร้างภาพในใจ และความคิดเกี่ยวกับความงาม-ไม่งาม ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินล่วงหน้า ณ จุดนี้เองที่แง่มุมของ “ความก้าวร้าว” ได้แทรกซึมเข้ามาโดยไม่รู้ตัว ทว่า Yin-Breathing จะช่วยให้เราตระหนักรู้ในส่วนนั้นได้แล้วปล่อยให้สิ่งเหล่านั้นกระจัดกระจายกลับสู่ที่ทางของมัน
ภาพวาดบันทึกผลงานจัดดอกไม้ของผู้เขียนในห้อง Hri : Dakini Space
ดิน-ฟ้า (ธรรมชาติ) ก็มีแปรปรวนเมื่อเข้าสู่วันที่สองของการเรียน โจทย์ของการสร้างผลงานก็จะเริ่มท้าทายมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการทำงานกับดอกไม้และแจกันแล้ว ปัจจัยเรื่องพื้นที่ก็ได้ถูกเสริมเข้ามา เพื่อให้การจัดดอกไม้นั้นมีความเชื่อมโยงกับ space ที่ต้องเข้าไปสัมพันธ์ด้วยโดยใช้ดอกไม้และกระถางเป็นสื่อ จากภาพตัวอย่างผลงานเป็นโจทย์ของการทำงานในวันสุดท้ายและชิ้นสุดท้ายของชั้นเรียน โดยเราจับฉลากได้ห้องโถงกิจกรรม “หรีะ” หรือ Dakini Space ด้วยตัวพื้นที่นั้นกว้างใหญ่และใช้เป็นสถานที่สำหรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงงานดนตรี
หลังจากผ่านการจัดดอกไม้มาสองวัน เราพยายามวางความคิดและความคาดหวังลง ซึ่งพอดีจังหวะกับเซสชันการภาวนาแบบ Yin Breathing ที่ได้กล่าวถึงข้างต้น มาคั่นระหว่างกิจกรรมก่อนจะเริ่มงานชิ้นสุดท้ายนี้พอดี ดังนั้นการเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ ที่ซึ่งความกลัวและความคาดหวังได้เจือจางลงก็ดำเนินต่อไป เริ่มจากการเดินสำรวจพื้นที่-แท่นวาง และมาเลือกกระถาง โดยใช้กระถางที่ตลอดมาเราหลีกเลี่ยงเสมอ ซึ่งจัดอยู่ในหมวด “กระถางทรงแปลก” และเข้าสู่ความ unknown ของพื้นที่ ตลอดการปฏิบัติงานชิ้นนี้ราว 30-40 นาที ปัญหาต่าง ๆ ก็เริ่มถาโถม แม้จะพอคาดเดาล่วงหน้าไว้บ้างแต่ก็ดูจะเหนือกว่าที่คาด เราเริ่มงานด้วยการใช้กิ่งแห้งแทนฟ้าเพื่อเปิด space ด้านบนให้ดูโปร่งโล่ง ทำงานไปกับหลักการ ฟ้า-ดิน-มนุษย์ ที่เพิ่งได้ร่ำเรียนมา ใช้ดอกและใบที่ไม่คุ้นเคยรวมทั้งสีโทนร้อนของดอกไม้ที่เรามักจะหลีกหนี เวลาผ่านเรื่อยไป เราทำงานกับข้อจำกัดของกระถางและของกิ่ง ใบ ดอก เมื่อเวลาผ่านไปเลยครึ่งทาง อาจารย์ผู้สอนที่เคารพเดินมาดูขณะเราจัดและถามว่า “เราต้องการให้เห็นด้านนี้ใช่ไหม? ด้านนี้เป็นด้านหลังของกระถางนะ” !? ทันใดนั้น แบบแผนทุกอย่างก็พังครืน เราแทบจะต้องรื้อทุกอย่างใหม่หมด สิ่งต่าง ๆ ใด ๆ ที่วาดหวังไว้ต้องมีอันแปรเปลี่ยนไปด้วยเวลาที่ยิ่งกระชั้นเข้ามา
ด้วยสถานการณ์เช่นว่านี้เองทำให้เราไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากทำให้สำเร็จในเวลาที่กำหนด เมื่อแยกส่วนต่าง ๆ ออกจากกันและเรียบเรียงใหม่ เราหยิบ ตัด ปัก ไปอย่างรวดเร็ว จัดวาง ปรับแต่งตามสมควร และปล่อยให้กิ่ง ใบ ดอก สื่อสารออกมาผ่านข้อจำกัดต่าง ๆ ด้วยการหาสมดุลของปัจจัยนานัปการ ณ ขณะนั้น ทั้งของภาพรวมผลงานเมื่ออยู่ในพื้นที่ ของเวลาอันน้อยนิด ของกระถาง (ไม่ให้ล้ม) ของเส้น-สี ของดอก กิ่งและใบ และละความหวังตั้งใจไว้ในที่ทางของมัน น่าแปลกใจ การจัดดอกไม้กระถางนี้ผลลัพย์กลับกลายออกมาในทางที่ดีและน่าประทับใจหลังได้รับ feedback จากอาจารย์และเพื่อน ๆ ดีกว่าหลายกระถางก่อนหน้าที่เราดูจะตั้งใจและมีเวลาให้มากกว่านี้ด้วยซ้ำ การทำงานกับพื้นที่นี้นับเป็นบทเรียนที่เข้มข้นมากสำหรับเราในชั้นเรียนครั้งนี้ ด้วยสถานการณ์ที่สืบเนื่องมาทำให้เราต้อง ละ วาง ปล่อย อย่างแท้จริง สถานการณ์ที่ดำเนินไปมีส่วนทำให้เราต้องสัมพันธ์กับพื้นที่และดอกไม้ด้วยความเป็นไป ณ ขณะนั้นจริง ๆ นั่นอาจเป็นเหตุให้ “ความคิด” เบาบางลงโดยปริยาย เมื่อนั้นพื้นที่ของ “ใจ” (space) ก็ว่างโล่งขึ้น เป็นเหตุให้เราได้สื่อสารกับพืชพันธุ์ด้วยความซื่อตรง แม่นยำ ชัด ลึก ยิ่งขึ้น
กระบวนการระหว่างการปฏิบัติงานอันทุลักทุเลและไม่อาจเดาทางได้นี้ในตัวมันเองก็คงคลับคล้ายการร่ายรำของเหล่าฑากินีบนท้องฟ้า เมื่อเราสื่อสารกับพื้นที่ผ่านดอกไม้ พื้นที่ก็ดูเหมือนจะสื่อสารกับเราดุจเดียวกัน
เหมือนตอนที่กลับไปถ่ายผลงานชิ้นนี้ กลีบดอกสีส้มในวงรีกลีบหนึ่งก็ร่วงหล่นลงตรงหน้างาน ดังคำทักทายของพื้นที่
ภาพวาดลายเส้นแสดงการเริงรำระหว่าง มนุษย์ พืชพันธุ์ และพื้นที่ว่าง (ฟ้า ดิน มนุษย์)
“ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนยอมรับได้ ทั้งใน อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต” ประโยคหนึ่งของ อ.เชค (ดิเรก ชัยชนะ) ในช่วงท้ายของชั้นเรียนวันที่สอง
ในความเข้าใจของผู้เขียนคือ สภาวการณ์ต่าง ๆ ล้วนเป็นที่ต้อนรับเข้ามาให้เราได้สัมผัส-สัมพันธ์ หากเราสามารถกระทำการไปกับปัจจัยต่าง ๆ ด้วยสภาวะของความเปิดกว้างมากพอ “ความก้าวร้าว” ก็ย่อมแปรเปลี่ยนไปสู่ “ความอ่อนโยน” ได้อย่างเป็นธรรมชาติ แล้วสำนึกของเรากับสำนึกของดอกไม้ก็อาจพบบรรจบกันตรงนั้นเอง
แล้วพบกันอีกใน “ดอกไม้สื่อใจ ขั้น 2”
วัชรสิทธา
สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน
จาก
https://www.vajrasiddha.com/article-kongikebana/จาก
http://tairomdham.net/index.php/topic,16382.0.html